นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทความทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
(ก) ทรราชในทางปรัชญาการเมือง
(ข) กระบวนการยุติธรรมต้องนิ่ง

(ก) รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ข) ศ.ดร. คณิต ณ นคร

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิจย์

บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
(ก) เกร็ดความหมายทรราชในทางปรัชญาการเมือง
(ข) กระบวนการยุติธรรมต้องนิ่ง

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 906
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)




บทความทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
(ก) ทรราชในทางปรัชญาการเมือง (ข) กระบวนการยุติธรรมต้องนิ่ง
(ก) ไชยันต์ ไชยพร : (ข) คณิต ณ นคร

(ก) เกร็ดความหมาย 'ทรราช' ในทางปรัชญาการเมือง
ไชยันต์ ไชยพร : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษอธิบายความของคำว่า despot ไว้ว่าหมายถึง "ผู้ปกครองหรือใครก็ตามที่มีอำนาจมาก และใช้อำนาจนั้นอย่างไม่เป็นธรรม (unfairly) และโหดร้าย ส่วนคำคุณศัพท์ despotic ใช้บรรยายถึงผู้คนหรือพฤติกรรมของคนเหล่านั้น ที่ใช้อำนาจที่เหนือคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรมและโหดร้าย และ despotism หมายถึงระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมและโหดร้าย โดยผู้ปกครองหรือกลุ่มผู้ปกครองที่มีอำนาจมากมาย

คำประเภทเดียวกันนี้ยังมีคำว่า tyranny ซึ่งหมายถึงการปกครองที่อยุติธรรม (unjust) และโหดร้าย โดยที่ผู้ปกครองอาจจะเป็นคนๆเดียว หรือกลุ่มคนที่ผูกขาดอำนาจเหนือคนอื่นๆในบ้านเมือง และ tyrant หมายถึงตัวบุคคลที่มีผูกขาดอำนาจอยู่เหนือคนอื่นๆ และใช้อำนาจนั้นอย่างไม่เป็นธรรมและโหดร้าย

สังเกตได้ว่าทั้งคำว่า tyrant, tyranny และ despot, despotism นั้นมีความหมายใกล้เคียงกันมาก หรือแทบจะไม่แตกต่างกันเลยก็ว่าได้ ซึ่งในภาษาไทยเรามักจะรวมแปล tyrant และ despot ว่า "ทรราช"

การเมืองไทยในอดีต คำว่า "ทรราช" ถูกใช้เป็นคำประณามผู้ปกครองเผด็จการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, และพันเอกณรงค์ กิตติขจรที่ผูกขาดการครองอำนาจทางการเมืองแต่เพียงกลุ่มของตนกลุ่มเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2506 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเวลาถึง 10 ปีเต็ม แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากก็เป็นพรรคพวกของสามทรราช ถนอม-ประภาส-ณรงค์ นั่นเอง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านมาโดยตลอด และวันดีคืนดี จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ทำรัฐประหารตัวเองเพื่อหลีกหนีปัญหา และดำเนินการปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญไปจนกระทั่งเกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา จนบานปลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

จากนั้นเป็นต้นมา คำว่า "ทรราช" จึงถูกผูกติดอยู่กับภาพของผู้ปกครอง หรือนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ใช้กำลังอำนาจทหารของตนในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง และผูกขาดการใช้อำนาจนั้นแต่เพียงผู้เดียว หรือในวงศาคณาญาติพวกพ้องของตน

แต่ถ้าพิจารณาคำว่า "ทรราช" ในบริบทความคิดเกี่ยวกับ "despotism" และ "tyranny" ในทฤษฎีการเมืองตะวันตก โดยเฉพาะทฤษฎีการเมืองของ เดสตู เดอ เทรซี (Desttut de Tracy) นักคิดฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติสร้างชาติสร้างประชาธิปไตย ผู้เขียนหนังสือ "A Commentary of Montesquieu's Spirit of Laws" ("ข้อคิดเกี่ยวกับหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมายของมองเตสกิเออ" ค.ศ. 1811) เขาได้อธิบายไว้ว่า…

การปกครองแบบทรราช หรือ despotism, tyranny นี้มิได้เป็นรูปแบบการปกครองเฉพาะแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า การปกครองแบบทรราชมิได้จะต้องปรากฏตัวเฉพาะแต่การปกครองโดยทหาร หรือการปกครองที่ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ แท้จริงแล้ว การปกครองแบบทรราชมิได้เป็นการปกครองที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เช่น ต้องเป็นการปกครองโดยคนๆเดียว หรือเป็นการปกครองโดยกลุ่มคน หรือแม้กระทั่งการปกครองโดยมหาชนก็ตาม เพราะโดยแท้จริง การปกครองแบบทรราชนั้นบ่งบอกหรือส่อนัยถึงความฉ้อฉล (abuse) หรือความชั่วร้ายทั้งหลาย ที่สามารถปรากฏหรือเกิดขึ้นในรูปแบบการปกครองใดก็ได้

ด้วยเหตุผลที่ว่า สถาบันทางการเมืองหรือรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นหรือสร้างกำหนดขึ้นมาด้วยน้ำมือมนุษย์ ย่อมไม่ต่างจากตัวมนุษย์ผู้สถาปนามันขึ้นมา นั่นคือ ย่อมไม่มีทางจะสมบูรณ์แบบได้ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและความฉ้อฉลในการใช้อำนาจ ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในระบอบการปกครองทุกรูปแบบและทุกหนแห่ง

การปกครองแบบทรราชจึงย่อมไม่ใช่รูปแบบการปกครอง หรือสภาพสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะอย่างที่มักจะเข้าใจกัน เพราะการกดขี่หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดย่อมสามารถเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใดก็ได้ ในยามที่ระเบียบกฎหมายที่วางไว้ปราศจากซึ่งพลังในการควบคุมให้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ หรือกฎหมายมีช่องโหว่เปิดโอกาสให้ผู้กุมอำนาจทางการเมือง - ไม่ว่าจะมีจำนวนหนึ่งคนหรือกี่คนก็ตาม - ใช้อำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรม

เทรซียืนยันว่า เราสามารถประจักษ์เห็น "การปกครองแบบทรราช" เกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย เราย่อมเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ในหลายๆประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศที่มีการเลือกตั้งหรือได้ชื่อว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ตาม. เทรซีได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดการฉ้อฉลและการใช้อำนาจในทางที่ผิดว่าเกิดจากการที่ "ประชาชนไม่สุขุมรอบคอบพอ หรือไม่ก็โง่และเขลาเกินไปที่จะสามารถป้องปรามหรือระแวงระวังความชั่วร้ายนี้ได้ หรือในบางแห่ง วิธีการในการป้องกันอาจจะไม่เพียงพอ

ประเด็นสำคัญที่เทรซี (และตัวผู้เขียนด้วย) ต้องการสื่อถึงคนอ่านก็คือ การปกครองแบบทรราช ไม่ใช่ระบอบที่ถูกกำหนดให้มีรูปแบบเฉพาะตายตัว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มีก็ตาม

เทรซียกตัวอย่างการปกครองของเดนมาร์กในอดีต หลังจากประเทศได้ปลดแอกจากอำนาจของพระและชนชั้นสูงแล้ว ด้วยความกลัวอิทธิพลของอำนาจเก่าดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในสภา จึงได้มีการขอร้องให้กษัตริย์ปกครองโดยมีอำนาจสูงสุดแต่ลำพังแต่ผู้เดียว และให้ความไว้วางใจในพระองค์ในการดูแลการออกกฎหมาย ตามแต่ที่พระองค์ทรงเห็นจำเป็นสำหรับสิ่งที่ดีสำหรับบ้านเมือง โดยพระองค์ไม่ต้องแสดงเหตุผล หรืออธิบายการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ เพราะถือว่า พระองค์ได้ทรงไตร่ตรองแล้ว

เทรซีกล่าวว่า ถ้าพิจารณาตามเกณฑ์ความเข้าใจทั่วไป เราก็มักจะเรียกระบอบการปกครองดังกล่าวนี้ของเดนมาร์กว่าเป็น "ระบอบทรราช" ก็ได้ แต่กระนั้น เขายืนยันว่า แม้การปกครองของเดนมาร์กในขณะนั้นดูจะไม่มีข้อจำกัดในการออกกฎหมายของกษัตริย์ แต่ก็ได้ดำเนินไปอย่างละมุนละม่อม ดังนั้น มันไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่จะเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่าเป็นการปกครองของทรราช เพราะมันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการปกครองที่ไม่สามารถควบคุมการใช้อำนาจได้แต่อย่างใด เนื่องพราะกษัตริย์เดนมาร์ก พระองค์ทรงใช้พระราชวินิจฉัยและพระราชอำนาจอย่างระมัดระวัง ซึ่งเทรซีตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าการปกครองดังกล่าว จะมีความพอดี (moderation) ก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงตัดสินว่า การปกครองของเดนมาร์กในขณะนั้นเป็นระบอบทรราชอยู่ดี ทั้งๆที่มันไม่ใช่ !

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาที่มาของคำว่า tyranny ที่มาจากภาษากรีกโบราณ "tyrannos" โดยทำความเข้าใจถึงนัยความหมายของคำดังกล่าว ในประสบการณ์การเมืองกรีกโบราณจะพบว่า ทรราชกำเนิดขึ้นยามเมื่อกลไกที่มีอยู่ของรัฐ ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกรัฐ ความชอบธรรมของการเกิดทรราชก็คือ การนำมาซึ่งการปกครองที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพในการใช้อำนาจ

สถานการณ์หรือวิกฤต อาจเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจริงหรือถูกสร้างขึ้นก็ได้ แม้ว่าความต้องการผู้นำที่ผูกขาดการใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ แต่ตัวทรราชก็มักจะใช้อำนาจเกินขอบเขตความจำเป็นในการแก้วิกฤตปัญหาที่ดำรงอยู่. ขณะเดียวกัน ทรราชจะพยายามทำให้เกิดความพร่ามัวยากที่จะแยกแยะระหว่าง "ความกระหายอยากส่วนตัว" และ "ความจำเป็นที่ต้องมีตัวเขาอยู่ต่อไป" เพื่อยังประโยชน์ต่อสาธารณะ

ทรราชจะกอบโกยเพิ่มพูนทรัพย์สินของตนอย่างไม่หยุดยั้ง และใช้มันในการให้คุณหรือสยบผู้คนรอบข้าง ขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจอันไม่จำกัดของตนในการให้โทษทำร้ายคนที่ต่อต้านตน และที่สำคัญคือ ไม่มีทรราชใดในประวัติศาสตร์จะยอมลาออกจากตำแหน่งอำนาจของตนโดยง่ายดาย !

ประสบการณ์การเมืองกรีกโบราณสอนให้เรารู้ว่า การต่อสู้กับผู้ที่เป็นทรราชแท้ๆนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะทรราชที่แท้ย่อมมีภาพสองภาพปรากฏต่อสาธารณะในเวลาเดียวกัน

- ภาพแรกคือภาพของผู้นำอันประเสริฐเลิศแท้ อัศวินม้าขาวขวัญใจประชาชน
- อีกภาพหนึ่งคือ ภาพแห่งความชั่วร้ายฉ้อฉล

เห็นได้ว่า ช่วงก่อนที่ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรจะขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2544 สังคมไทยกำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าก็ดูจะไม่สามารถให้หลักประกันความหวังแก่ประชาชน ดังนั้น ด้วยภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีไหวพริบในทางการค้า และแถมยังมีพรรคการเมืองที่เป็นของตนเอง ผู้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์ในวงการตำรวจ และทหารเป็นอย่างดี ดังนั้น พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จึงเป็นคำตอบสำหรับมหาชนผู้อยู่ในสภาวะที่สิ้นหวังทางการเมือง คะแนนเสียงมหาศาลที่เทให้กับพรรคไทยรักไทยคือเสียงสะท้อนความหวังให้ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ กอบกู้ภาวะเศรษฐกิจไทยให้กลับฟื้นคืนมา

ประกอบกับการที่นายกฯทักษิณใช้นโยบายประชานิยมในหลายๆกรณี โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและความพร้อม ก็ทำให้ประชาชนยิ่งเพิ่มการสนับสนุนด้วยความคาดหวังให้นายกฯแก้ปัญหาต่างๆ ทำให้อำนาจความชอบธรรมของนายกฯทักษิณยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่เรียกว่า "ตัดตอน" และกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งสร้างตัวเลขผลงานในการจับกุม เพื่อสร้าง "ภาพเชิงการตลาด" ในลักษณะประชานิยม ซึ่งได้ผลยิ่ง

ดังที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบจากการสำรวจโพลต่างๆ ซึ่งเป็นการทำลายกรอบการใช้อำนาจทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย และทำให้นายกฯทักษิณเกิดอาการ "ย่ามใจ" ในวิธีการใช้อำนาจของตนในการแก้ปัญหาบ้านเมือง และความย่ามใจในการใช้อำนาจก็เกิดมากขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุด ก็นำมาสู่วิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง ภาพของความเป็น "ทรราชสมัยใหม่" ของนายกฯทักษิณก็เริ่มเด่นชัดขึ้นในที่สุด อันเป็นผลจากสภาพจิตวิทยาของมหาชนและตัวเขาเองประกอบกัน

เกี่ยวกับทรราชในสมัยโบราณ นักเขียนโรมันชื่อ Quintilian ได้ตั้งเป็นโจทย์คำถามขึ้นมาในงานเขียนที่ชื่อว่า "ฟ้าผ่าทรราช" (Tyrannus fulminatus) โดยจินตนาการถึงกรณีที่มีสายฟ้าจากเบื้องบน ผ่าลงที่ตัวทรราชจนถึงแก่ความตาย ดังมีใจความว่า:

"ตามจารีตประเพณีของชาวโรมันเชื่อว่า ฟ้าผ่าเป็นการกระทำของเทพจูปีเตอร์ ถือเป็นการกระทำที่มีนัยและจุดประสงค์ ขณะเดียวกัน คนธรรมดาสามัญที่ถูกฟ้าผ่าตาย จะต้องฝังศพของเขา ณ ที่ๆเขาถูกฟ้าผ่าตาย ด้วยความเชื่อที่ว่า ฟ้าผ่าเป็นพระประสงค์ของเทพที่ต้องการให้คนๆนั้นตาย ณ ที่นั้น ขณะเดียวกัน เมื่อทรราชตาย ศพของเขาจะต้องถูกโยนออกไปนอกเขตเมือง เพราะศพทรราชนั้นน่ารังเกียจขยะแขยง ด้วยถ้าฝังในเมืองแล้ว ก็รังแต่จะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองด้วยการแพร่ระบาดของความสกปรก เน่าเสีย ชั่วร้าย ของศพของทรราชผู้ชั่วช้าเลวทราม แต่ปัญหาคือ ถ้าทรราชถูกฟ้าผ่าตาย ณ ที่อันทรงเกียรติศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ฝังศพเฉพาะของรัฐบุรุษ ศพของทรราชตนนั้นควรที่จะถูกฝังที่ไหน ?"

จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ทรราชจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวน่ารังเกียจอย่างยิ่งในการเมืองกรีกและโรมันโบราณ

ลีโอ สเตราส์ ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาการเมืองเคยกล่าวไว้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยากที่นักวิชาการทั่วไปจะสังเกตเห็นว่า การขึ้นสู่อำนาจของระบอบนาซีของฮิตเลอร์นั้น จะนำไปสู่การปกครองแบบทรราชสมัยใหม่ เพราะฮิตเลอร์มาจากระบอบประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้ง และทำตามกติกากฎหมายทุกประการ องค์ความรู้รัฐศาสตร์สมัยใหม่และกฎหมาย ก็ไม่สามารถช่วยให้นักวิชาการเหล่านั้นได้ตระหนักรู้หรือสังเกตได้ว่า ระบอบการปกครองที่ปรากฏต่อหน้าเขานั้นคือระบอบทรราช

แม้ว่าจะมีนักวิชาการเยอรมันบางคนเริ่มเห็นเค้าลางของระบอบทรราช และออกมาเตือนสังคมของเขา แต่ก็ไม่มีใครฟัง แม้แต่นักวิชาการด้วยกัน สังคมไทยเราก็เช่นกัน เมื่อห้าปีที่แล้วก่อนที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรจะชนะการเลือกตั้งครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เสียงเตือนก็เริ่มเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่งเท่านั้น

บัดนี้ เราต่างตระหนักดีแล้วว่า ทั้งระบอบนาซีและปัญหาระบอบทักษิณไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากเราเข้าใจความหมายของคำว่าทรราชในทางทฤษฎี และปรัชญาการเมืองสมัยก่อน การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะทำให้เรารอดพ้นจากการเกิดทรราชได้ และถ้าเราเข้าใจระบอบทรราชแล้ว เราย่อมตระหนักดีว่า พันธกิจในการต่อสู้กับระบอบทรราชนั้นต้องอาศัยปัญญา ความสุขุมรอบคอบ ความอดทน และ...เวลา !

นำมาจาก : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000036663


(ข) กระบวนการยุติธรรมต้อง"นิ่ง"
คณิต ณ นคร : อดีตอัยการสูงสุด
การใช้หรือพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเป็น "เครื่องมือ" ในทางการเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรกในบ้านเรา หรือเพิ่งเกิดขึ้นในเทศกาลการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549

ผู้เขียนเป็นชาวพุทธ บวชเรียนแล้วด้วย แต่ผู้เขียนก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาลึกซึ้งมากนักเพราะไม่ได้ศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนเคยอ่าน คือ หนังสือ "แก่นพุทธศาสน์" ของท่านพุทธทาส ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อหลังเหตุการณ์ที่ผู้เขียนต้องต่อสู้กับฝ่ายการเมืองในคดี ส.ป.ก. ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

เมื่อปัจจุบันนี้คนในบ้านเมืองของเราแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ ผู้เขียนจึงได้ถือโอกาสอ่านหนังสือ "แก่นพุทธศาสน์" ของท่านพุทธทาสอีกครั้ง ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ในหนังสือดังกล่าวสรุปความตามที่ผู้เขียนเข้าใจได้ว่า โรคของมนุษย์มี 3 โรค คือ โรคทางกาย (physical disease) โรคทางจิต (mental disease) และโรคทางวิญญาณ (spiritual disease). โรคทางวิญญาณนั้นเป็นกันทุกคนไม่ยกเว้นใคร ส่วนโรคทางกาย โรคทางจิตนั้นเป็นกับคนบางคน การป้องกันรักษาโรคทางวิญญาณก็คือ ลด ละ และเลิก "ตัวกูของกู"

เห็นจะต้องยอมรับกันว่าอาการโรคทางวิญญาณของคนในสังคมเราขณะนี้ หนักมากเอาการ และทำท่าว่าจะระบาดเข้าไปสู่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ กรณีนี้จึงทำให้ผู้เขียนชักเป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่อาจจะไม่ "นิ่ง" พอที่จะประสาทความยุติธรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักกฎหมาย

กระบวนการยุติธรรมของไทยเรานั้น ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า ไม่สู้จะ "นิ่ง" เท่าใดนัก บ่อยครั้งที่หวั่นไหวไปกับอิทธิพลของฝ่ายการเมืองและกระแสสังคม. ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยแสดงให้เห็นถึงความไม่ "นิ่ง" และได้กระทำผิดหลักกฎหมายมาแล้วในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะในคดีนั้น เห็นกันทั่วไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะคดีด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แพ้คดีด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 6 เพราะอีกสองเสียงนั้นได้วินิจฉัยว่าเรื่องที่ ป.ป.ช. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเองได้วินิจฉัยให้รับเรื่องไว้พิจารณาโดยเสียงข้างมากมาแล้ว

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคน ใช้กฎหมายโดยผิดหลักการแห่งกฎหมายโดยแท้ เพราะปัญหาอำนาจศาลซึ่งเป็น "เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก่อน" (prerequisite) ได้ตกไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ตุลาการสองคนนั้นยังไม่ยอมลงไปวินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องของ ป.ป.ช. กรณีน่าจะเป็นการวินิจฉัยคดีอย่างกล้าๆ กลัวๆ ตามกระแสสังคม เพราะอาจจะเกรงว่า "อัศวินควายดำ" จะเป็นอันตรายไปเสียก่อนเวลาอันควร และแล้วอัศวินควายดำในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

คงจะต้องพูดความจริงกันได้กระมังว่า องค์กรในกระบวนยุติธรรมทางอาญาของรัฐที่มีความหวั่นไหวต่อฝ่ายการเมืองและกระแสสังคมมากที่สุด คือ "ตำรวจ" รองลงมาก็คือ "อัยการ" ส่วน "ศาลยุติธรรม" นั้นดูจะ "นิ่ง" ที่สุด ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงยังได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนอยู่อย่างมาก และยังเป็นหลักชัยของสังคมอยู่อย่างมั่นคง

ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มีและจะมีคดีอาญาเกิดขึ้นในแผ่นดินไทยของเรามากมายหลายคดี คดีอาญาทั้งหลายนั้นเป็นทั้งคดีอาญาในความผิดอันยอมความได้ และคดีอาญาในความผิดอาญาแผ่นดิน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีอาญาทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นต่อไป เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวข้องโยงใยกับการเมือง

ผู้เขียนเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐทุกองค์กร ต้องมีหลักการในการทำงานและยึดมั่นในหลักการนั้นให้มั่นคง มิฉะนั้นแล้วจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมส่วนรวม จนอาจถึงมีการหลั่งเลือดกันอีกครั้งก็ได้หากกระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งของสังคมได้

ตามกฎหมายของไทยเรานั้น คดีอาญาเริ่มต้นจากการสอบสวนโดยตำรวจ ซึ่งตำรวจนั้นในทางวิชาการเห็นกันว่า เป็นองค์กรที่อาจถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองในการทำหน้าได้ง่ายที่สุด จนนักวิชาการกล่าวว่า ตำรวจเป็น "Political Officer" เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากการกล่าวหาของนักวิชาการ ตำรวจจึงต้องทำหน้าที่ในทางคดีตามหลักกฎหมายที่ถูกต้อง

ตำรวจจักต้องไม่ลืมว่า ตามกฎหมายการสอบสวนต้องเริ่มด้วยการรวบรวมหลักฐานทั้งปวงในคดีอย่างมีความเป็นภาวะวิสัย ไม่ใช่เริ่มที่การเรียกการจับหรือการขอให้ศาลออกหมายจับแล้วค่อยหาหลักฐาน หรือค่อยหาหลักฐานเพิ่มเติมเอาทีหลัง ดังนั้น ก่อนการเรียกการจับหรือการขอให้ศาลหมายจับตำรวจต้องสอบสวนรวบรวมหลักฐานจนแน่ใจมากตามควรในข้อเท็จจริงและต้องมั่นใจในข้อกฎหมายด้วย จากนั้นจึงจะเรียกหรือจับหรือขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อสอบสวนปากคำเพื่อให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสแก้ข้อหาได้อันเป็นไปตามหลักฟังความทุกฝ่าย

ที่ผู้เขียนต้องเน้นย้ำกับตำรวจดังกล่าวมานั้น เพราะในทางปฏิบัติที่ผ่านมา การจับหรือการขอให้ศาลออกหมายจับ ได้กระทำกันก่อนมีความจำเป็นในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ ทางปฏิบัตินี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งๆ ที่กติกาบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทางปฏิบัตินี้จึงผิดหลักกฎหมาย

ฉะนั้น หากการสอบสวนคดีทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมได้กระทำไปตามความเคยชินในทางปฏิบัติแล้ว บ้านเมืองจะหาความสงบสุขยาก ตำรวจเองก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง หรือประจบนักการเมืองและอาจจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้ด้วย

ในประเทศที่เจริญแล้วนั้น ในการสอบสวนคดีสำคัญโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้อง และโยงใยโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการเมือง ผู้สอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนอย่างโฉ่งฉ่าง แต่จะกระทำอย่างเงียบเชียบที่สุด และระมัดระวังในการให้ข่าวเกี่ยวกับคดีที่กำลังดำเนินอยู่อย่างมาก

ในระหว่างการสอบสวนคดีทั้งหลายดังกล่าวนั้น และก่อนที่คดีจะถึงมือพนักงานอัยการ กรณีนี้อาจมีความจำเป็นต้องสอบสวนปากคำผู้ต้องหา ซึ่งการที่จะได้ตัวผู้ต้องหามาทำการสอบสวนปากคำนั้น พนักงานสอบสวนก็มักจะขอให้ศาลออกหมายจับ

การขอให้ศาลออกหมายจับในประเทศที่เจริญแล้วนั้น ตำรวจจะตรงไปศาลเลยทีเดียวไม่ได้ ต้องกระทำโดยผ่านพนักงานอัยการและให้พนักงานอัยการเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานอัยการได้ช่วยกลั่นกรองทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในเบื้องต้นเสียก่อนชั้นหนึ่ง แต่การขอให้ออกหมายจับในประเทศไทยเราไม่ได้เป็นเช่นที่กล่าวมา กฎหมายของไทยเราในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่มากเมื่อเทียบกับกฎหมายของอารยะประเทศทั้งหลาย

ตามกฎหมายของไทยเราในปัจจุบัน การออกหมายจับหรือเหตุที่จะออกหมายจับ หรือเหตุที่จะเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ ประกอบด้วยเงื่อนไขในทางเนื้อหา 2 ประการประกอบกัน คือ

(1) การมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และ
(2) การมีเหตุที่เป็นการเฉพาะเจาะจง

การที่กฎหมายในอารยะประเทศกำหนดให้การขอให้ศาลออกหมายจับ ต้องผ่านพนักงานอัยการเสียก่อนนั้น ก็เพื่อให้พนักงานอัยการได้ตรวจสอบหลักฐานตามข้อ (1) และตรวจสอบข้อกฎหมายด้วยว่า การกระทำที่กล่าวหานั้นเป็นความผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อกล่าวหาว่าเป็นความผิดจริงหรือไม่นี้สำคัญมาก เพราะหากที่สุดพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะการกระทำไม่ผิดกฎหมายแล้ว สิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาก็ย่อมถูกกระทบ

ในส่วนของเงื่อนไขเกี่ยวกับเหตุที่เป็นการเฉพาะเจาะจงนั้น ตามกฎหมายปัจจุบันมีอยู่ 4 เหตุ คือ

(1) เหตุอันเนื่องจากความร้ายแรงของความผิดอาญา
(2) เหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี
(3) เหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และ
(4) เหตุอันควรเชื่อว่าจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น

เหตุอันเนื่องจากความร้ายแรงของความผิดอาญาของไทยเรายังมีปัญหาอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ (ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 7 สำนักพิมพ์วิญญูชน 2549 หน้า 287-289)

แม้ผู้พิพากษาหรือศาลจะเข้าใจในภารกิจของตนดีอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนใคร่ขอย้ำว่าศาลเป็นองค์กรสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เมื่อกฎหมายของไทยเราในปัจจุบันยังบกพร่องอยู่ ความรับผิดชอบในส่วนนี้ของศาลซึ่งเป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิที่สำคัญจึงมีอยู่สูงมาก การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ศาลออกหมายจับนั้น ก็เพื่อให้ศาลตรวจสอบอำนาจของเจ้าพนักงาน

ดังกล่าวมาแล้วว่าศาลเป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิ ผู้ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองสิทธิจึงต้องมีความเป็นเสรีนิยม การอนุญาตให้เจ้าพนักงานใช้มาตรการบังคับ ต้องไม่เป็นไปในลักษณะเป็นการให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในการใช้อำนาจ มิฉะนั้นแล้วสภาพการณ์ของคดียิงตู้เย็นของชาวบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ทำให้นักการเมืองไทยรับฉายาจะเกิดขึ้นซ้ำอีกได้

ทีนี้เมื่อคดีมาถึงพนักงานอัยการแล้วพนักงานอัยการชอบจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร? พนักงานอัยการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความเป็นภาวะวิสัยที่สุด และต้องยืนอยู่บนความเป็นอิสระของพนักงานอัยการอย่างแท้จริง จะปล่อยให้ฝ่ายการเมืองหรือกระแสสังคมเข้ามาชี้นำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้น กรณีน่าจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ข้อกฎหมายและการใช้กฎหมายนี่ซิผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก

ผู้เขียนใคร่ขอให้บุคคลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้ช่วยกันกลับไปพิจารณาคำสัมภาษณ์ของ ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 เมษายน 2549 และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2548 ให้ละเอียดรอบคอบอย่างเข้าใจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดโดยสรุปก็คือ องค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมต้อง"นิ่ง", ต้องดำเนินคดีไปตามเหตุตามผล, อย่าได้ใช้อัตตวิสัย (Subjective) ของตนในการดำเนินคดีและในการใช้กฎหมาย, ต้องระมัดระวังไม่ให้ฝ่ายการเมืองและกระแสสังคมเข้ามาครอบงำในการปฏิบัติหน้าที่, ต้องกล้าเผชิญกับความถูกต้อง

ต้องใช้กฎหมายในทางแก้ปัญหาไม่ใช่สร้างปัญหา เพราะมิฉะนั้นแล้วบ้านเมืองจะขาดที่พึ่ง

ถ้าทำได้ดังนี้แล้ว ความสงบสุขในบ้านเมืองก็ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วเราทุกคนก็จะทุเลาหรือหายจาก "โรคทางวิญญาณ" ด้วยกัน

นำมาจาก นสพ.มติชนรายวัน : ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
290449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

การปกครองแบบทรราช หรือ despotism, tyranny นี้มิได้เป็นรูปแบบการปกครองเฉพาะแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า การปกครองแบบทรราชมิได้จะต้องปรากฏตัวเฉพาะแต่การปกครองโดยทหาร หรือการปกครองที่ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ แท้จริงแล้ว การปกครองแบบทรราชมิได้เป็นการปกครองที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เช่น ต้องเป็นการปกครองโดยคนๆเดียว หรือเป็นการปกครองโดยกลุ่มคน หรือแม้กระทั่งการปกครองโดยมหาชนก็ตาม เพราะโดยแท้จริง การปกครองแบบทรราชนั้นบ่งบอกหรือส่อนัยถึงความฉ้อฉล (abuse) หรือความชั่วร้ายทั้งหลาย ที่สามารถปรากฏหรือเกิดขึ้นในรูปแบบการปกครองใดก็ได้

 
The Midnightuniv website