นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทสนทนากับนักแปลอิสระ
ภัควดี วีระภาสพงษ์: พูดเรื่องทฤษฎีการแปล (ตอนที่ ๑)
โครงการเชียงใหม่สำนึก
จิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความถอดเทปที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นการสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีการแปล
นำสนทนาโดยภัควดี วีระภาสพงษ์
ต้นฉบับนำมาจาก
บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๗
วันเสาร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.
ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 904
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)




ภัควดี วีระภาสพงษ์ : พูดเรื่องทฤษฎีการแปล (ตอนที่ ๑)
จิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
๑. คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ
๒. รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักวิชาการอิสระ
๔. อ. จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๕. ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๖. คุณรวิมาศ เปรมศิริ อาชีพอิสระ และนักแปลอิสระ
๗. คุณชลนภา อนุกูล ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
๘. คุณณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก

พูดเรื่องทฤษฎีการแปล : ความนำ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : ขอแนะนำตัวก่อนว่าจบปรัชญา ความสนใจจริง ๆ ดั้งเดิมชอบอ่านนิยาย ครั้งแรกสนใจด้านนิยายมากกว่า งานวิชาการก็สนใจอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ตอนเด็ก ๆ แปลงานเศรษฐศาสตร์ การเมือง ปัจจุบันทำงานอยู่กับบ้าน ตอนที่เริ่มต้นทำงานแปล ช่วงแรกจะหนักไปทางแปลนิยาย มาในระยะหลังส่วนใหญ่หรือปัจจุบันทำงานวิชาการมากกว่า ส่วนทางดานวรรณกรรมก็ยังทำอยู่

ตอนที่ได้รับการชวนมาคุย เรื่องเกี่ยวกับการแปล มันมีวิธีคุยได้หลายอย่าง คือ เกี่ยวกับเรื่องว่าประสบการณ์การแปลหรือคุยในเชิงแนวคิดเกี่ยวกับการแปลคือทฤษฎี แต่พอคุยกับน้องเขา ขอคุยเรื่องทฤษฎีการแปลเพราะเป็นความสนใจส่วนตัว ระยะหลังก็หันมาอ่านเรื่องพวกนี้อยู่บ้างพอสมควร เรื่องทฤษฎีการแปลในเมืองไทย ก็ยังมีน้อย จริง ๆ แล้วจะว่าไปก็มีน้อยในโลกนี้

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการแปล
การพูดเรื่องทฤษฎีการแปล งานเขียนทางด้านนี้มีน้อย ทั้งที่กิจกรรมการแปลเป็นกิจกรรมที่มีมานาน ภาษิตฝรั่งเขาบอกว่า อาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมี ๒ อาชีพ คือ อาชีพโสเภณีกับอาชีพล่าม จะตรงข้ามกับคนจีน เขาบอกว่าอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมี ๒ อาชีพ คือ โสเภณี และอีกอาชีพคือ นักฆ่ารับจ้าง แต่ว่าในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นอาชีพเก่าแก่ มันก็เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้รับการยกย่องมากเท่าไหร่ เพราะว่าเป็นอาชีพที่บางคนเรียกว่าปิดทองหลังพระ บางคนก็เรียกว่า เป็นนักแสดงที่ไม่มีเวที คือเป็นนักแสดงที่อยู่หลังฉาก ไม่มีเวทีในการแสดงออก

บางคนก็พูดในเชิงดูถูกดูแคลนก็มี อย่างสำนวนภาษาอิตาเลียนที่บอกว่า "การแปลก็คือการทรยศ" เพราะว่ามันไม่มีการแปลอะไรที่จะได้เทียบเท่ากับภาษาเดิม นี่เป็นความเชื่อของเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนเป็นจำนวนมากที่ยกย่องงานแปล อย่างเช่น คนที่ยกย่องมาก คือ เกอเต้ ยกย่องงานแปลมากและในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นนักแปลด้วย เกอเต้จะเกี่ยวข้องกับงานแปลมาก และก็มีนักเขียนบางคนอย่าง ดับบลิว เอช อาร์เดน เขาบอกว่านักแปลที่ดีต้องมีคุณสมบัติ ๒ อย่างในตัว และต้องมีควบคู่กัน

- อันที่หนึ่ง คุณจะต้องมีความเป็นบัณฑิตอย่างที่สุด
- อีกด้านหนึ่ง คุณจะต้องเป็นคนที่โง่บัดซบเลยที่จะมาทำงานนี้

นี่เป็นแนวคิดของนักเขียน ในการแปลในเชิงเกี่ยวกับทฤษฎีการแปล

การแปล และการเป็นล่าม
มักจะมีคำถามที่เขาตั้งกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถึงแม้ว่ากิจกรรมการแปลจะเกิดขึ้นตลอด ก็มักจะมีคำถามมาตลอดเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีการแยกการแปลออกเป็น ๒ ประเภท

- อย่างหนึ่งคือ การเป็นนักแปลงานเขียน เช่น งานเขียนด้านวรรณกรรมหรือวิชาการ
- อีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นล่าม ส่วนใหญ่จะใช้กับทางด้านธุรกิจ พ่อค้า การติดต่อสื่อสาร โดยที่เขาว่าการเป็นล่าม ถึงแม้ว่าบางทีจะเป็นการแปลเอกสารที่เขียน แต่ก็ถือว่ามันเป็นแปล ซึ่งเป็นการล่าม

ในขณะที่งานวิชาการหรือว่างานวรรณกรรม ที่เป็นลายลักษณ์อักษรถึงจะเป็นนักแปล ต่างประเทศเขาจะใช้คำ ๒ คำ ภาษาอังกฤษใช้ translator กับ interpreter เขาจะถือว่า ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นงานที่แยกกัน อย่างเช่น งานที่เป็นแปลเป็นล่าม เป็นคนวิชาการที่พูด ต้องถือว่าเป็นการแปลไม่ใช่เป็นล่าม เพราะเป็นการแปลในเชิงความคิด แทนที่จะเขียนแต่ใช้วิธีพูด ถือว่าเป็นงาน ๒ ระดับ แต่ถ้าคนที่แปลเพียงแค่ติดต่อการค้าหรือทั่วๆ ไป เป็นไกด์ เป็นอะไร ถือว่าเป็นล่าม

แต่คนไทยส่วนใหญ่ คำ ๒ คำนี่เราจะใช้นักแปลโดยใช้กับหนังสือ ล่ามใช้กับการพูดมากกว่า แต่ว่าวิธีแยกก็มีอย่างที่บอกก็คือ จะดูว่าเป็นงานระดับไหน บางครั้งการพูดเป็นล่าม อาจจะถือเป็นการแปลได้

งานแปลที่เกี่ยวกับศาสนา
ต่อมาคือคำถามที่มันมีในวงการแปลมานาน ประเด็นพื้นฐานอันแรกสุดที่คน มักจะถามกันก็คือ "การแปลเป็นเรื่องที่ไปได้หรือไม่?" คือแนวคิดนี้มันมีรากเหง้าดั้งเดิมโบราณ กล่าวคือมีรากเหง้ามาจากทางศาสนา ในศาสนาคริสต์ถือว่าพระวจนะ เป็นธรรมสัจจะขั้นสูงสุด เป็นสิ่งลี้ลับหรือรหัสยนัย หรือว่าในทางพุทธด้วยเหมือนกัน เขาถือว่าเทศน์ต้องเป็นภาษาบาลี สำหรับภาษายิวจะมีคำพูดในเรื่องพวกนี้ เขาก็เลยบอกว่าการแปลเป็นบาป ในคำพูดของศาสนา เป็นการทำให้เสื่อมทราม คือ ทำให้พระวจนะหรือสัจธรรมนั้นเสื่อมทรามลง

อย่างในศาสนายิว ในคัมภีร์ของยิวมีบันทึกความเชื่อว่า โลกตกอยู่ในความมืดมิดถึง ๓ วัน the law คือ "กฎ" ทางศาสนาของยิวถูกแปลเป็นภาษากรีก มันทำให้โลกมืดไปถึง ๓ วัน และความเชื่อว่าการแปลเป็นไปไม่ได้ เกิดจากความเชื่อที่ว่า มันไม่มีทางที่ต้นฉบับกับงานแปลมันจะเกิดความสมมาตรกัน นั่นคือการแปลจะทำให้ต้นฉบับตกต่ำลง เป็นการทำลายคุณค่าของต้นฉบับ เพราะว่าเขาเชื่อว่าในภาษามนุษย์ ความหมายไม่มีทางแยกออกจากรูปแบบการแสดงออก คือ คน ๒ คน ต่อให้พูดภาษาเดียวกัน การแสดงออกทำให้ความหมายเปลี่ยนไป แล้วคำแต่ละคำในแต่ละภาษา มันไม่มีความหมายที่เป็นกลาง แต่มีความหมายที่ฝังรากอยู่ในภาษาศาสตร์ในนิรุกติศาสตร์

อย่างคำว่าพี่ เวลาเรารู้จักกันเราเรียกพี่ มันก็ไม่สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า brother sister ได้ เพราะว่าพี่ของเรามันมีวัฒนธรรมบางอย่างอยู่ ที่ทำให้คำนี้มีความหมายอีกแบบหนึ่ง เหตุผลนี้ ที่เชื่อว่าการแปลเป็นไปไม่ได้ มักจะใช้มากที่สุดในกวีนิพนธ์

งานแปลที่เกี่ยวกับกวีนิพนธ์และปรัชญา
มีความเชื่อว่า การแปลบทกวีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากวีนิพนธ์ ถือว่าเป็นการใช้ภาษาที่เนื้อหากับรูปแบบการแสดงออกมีความผูกพันกันมากที่สุด ส่วนในร้อยแก้ว งานที่ถือว่าแปลไม่ได้ ก็คืองานทางปรัชญา ถือว่าคำในปรัชญาแปลไม่ได้ เพราะว่า งานเขียนของนักปรัชญาส่วนใหญ่ มันเป็นความพยายามที่จะคลายกรอบทางด้านภาษาศาสตร์ คำอย่างเช่นของไฮเดกเกอร์ หรือคำของคานซ์ ที่เป็นศัพท์เฉพาะของปรัชญาเมธีเหล่านี้ มันไม่สามารถที่จะแปลออกมา หรือหาคำที่เทียบเคียงกันได้ แม้แต่ศัพท์ใกล้เคียงกันก็ไม่ได้ นี่เป็นความเชื่อของคนที่พูดว่าการแปลเป็นไปไม่ได้

การแปลเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความเชื่อว่า การแปลเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ฝ่ายที่สนับสนุนว่าการแปลเป็นไปได้ ก็มาจากฝ่ายศาสนาเช่นกัน นอกจากการแปลเป็นไปได้ ยังเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่งด้วย อย่างเช่น ในศาสนาคริสต์ มีอยู่ครั้งหนึ่งในยุคก่อนพระเยซู ในยุคต้น ๆ ที่มีการสร้างหอคอยแห่งบาร์เบลขึ้นมา ในสมัยก่อนเขาเชื่อว่าคนทุกคนในโลกพูดภาษาเดียวกันหมด คนได้มาชุมนุมกันว่า อย่างนี้เราน่าจะสร้างหอคอยขึ้นไปหาสวรรค์เรียกว่า "การสร้างหอคอยแห่งบาร์เบล" แต่อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการลบหลู่พระเจ้า พระเจ้าก็เลยทำลายหอคอยนี้ลง และลงโทษมนุษย์ด้วยการให้มนุษย์ทั้งหมดพูดกันไม่รู้เรื่อง ทำให้ภาษาแตกออกไปมากมาย

ในทางศาสนาคริสต์เขาก็บอกว่า แม้ว่าความพินาศของหอคอยบาร์เบล เป็นการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่ได้หมายความว่าการลงโทษของพระเจ้าถือเป็นที่สุดของคำตัดสิน เพราะว่าหลังจากนั้น พระเจ้าได้ทรงส่งผู้ไถ่บาปมาให้เรา คือ"พระเยซู" เพราะฉะนั้นหมายความว่า การลงโทษของพระเจ้า ไม่ใช่การตัดสินขั้นสุดท้าย มนุษย์ยังมีความหวังอยู่ในการไถ่บาป ดังนั้นกลุ่มนี้เขาก็เลยมองว่า การแปลเป็นเสมือนการกอบกู้ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูความเป็นเอกภาพของศาสนาขึ้นมาใหม่

ถึงขนาดที่มีคำกล่าวของคนที่แปลไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันพูดว่า "การแปลเป็นการไถ่บาป" เพราะฉะนั้นงานแปลที่สำคัญของศาสนาก็คือ"การแปลพระคัมภีร์" โดยเฉพาะในศาสนาคริสต์ การแปลพระคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาอะไรก็ตามเป็นภาษาท้องถิ่น ถือว่าเป็นการทำกุศลกรรมขั้นเอกอุ คือเป็นการทำความดีขั้นสุดยอด และทุกครั้งที่มีการปฏิรูปศาสนาในศาสนาคริสต์ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้แปลไบเบิลใหม่

เพราะว่าปฏิรูปศาสนาในศาสนาคริสต์(reformation - A religious movement of the 16th century that began as an attempt to reform the Roman Catholic Church and resulted in the creation of Protestant churches) ไม่รู้ว่าเกิดจากการที่ลูเธอร์แปลไบเบิลใหม่ หรือเกิดหลังอันนี้ไม่แน่ใจ ลูเธอร์ที่เขาปฏิรูปจนทำให้เกิดนิกายโปรเตสแตนท์ขึ้นมา

ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนการแปลในทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ ทำให้เกิดการแปลจำนวนมาก บางทีเขาเปรียบเทียบว่ากรุงโรม คือวาติกัน ศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ เป็นโรงงานผลิตภาษากรีกมาเป็นภาษาละติน และยุคการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการทางปัญญาที่เขาเรียก "เรอเนสซองค์" ก็เกิดจากการแปลโดยเฉพาะการแปลงานของอริสโตเติลมา แต่ความจริงมันเป็นการแปลที่ผิด

เรื่องนี้ตลกดีก็คือว่า ยุคเรอเนสซองค์เกิดมาจากการแปลผิดคือ เกิดมาจากการแปลอริสโตเติล ครั้งแรก เขาไม่ได้แปลจากภาษากรีกโดยตรง แต่เขาเขาแปลมาจากภาษาอาหรับ คือเขาแปลอริสโตเติลจากภาษาอาหรับ และคนแปลเข้าใจอริสโตเติลผิดด้วย แต่มันก็ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผล นำไปสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

การแปลเฟื่องฟูมากตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา จนกระทั่งมีคำพูดบอกว่า ศาสตร์ทุกศาสตร์ในโลก หมายถึงศาสตร์ทุกศาสตร์ทางตะวันตกเกิดมาจาการแปล หรือว่าที่เกอเต้ เขาเคยพูดในศตวรรษที่ ๑๙ ว่า ใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่การแปลก็ยังเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด และมีค่าที่สุด ในกิจกรรมทั้งหมดของโลก

ความคิดโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการแปล
ถ้าจะพูดถึงในเชิงความคิดเห็น การโต้แย้งระหว่างคนที่บอกว่าแปลได้ กับแปลไม่ได้ มีบางคนบอกว่าไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่แปลได้ เช่น กวีนิพนธ์หรือบทละครหรืออะไรก็ตาม มันก็มีข้อขัดแย้งอยู่อย่างหนึ่ง คือ ภาษาของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่เคยอยู่กับที่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็มีทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาที่จะแปล ถึงแม้ว่าบางยุคบางสมัย บางอย่างแปลไม่ได้ แต่ก็ไม่แน่ว่ายุคอีกยุคหนึ่งอาจแปลได้

มันมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่น่าสนใจซึ่งอันนี้อ่านมา เกี่ยวกับสุขนาฏกรรมของนักเขียนกรีกที่ชื่อ อริสโซฟาเนส เคยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีวันแปลได้ในศตวรรษหนึ่ง คือในช่วงศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ แต่หลังจากนั้นพอผ่านมาไม่ถึง ๑๐๐ ปี สุขนาฏกรรม มันเป็นละคร comedy ของอริสโซฟาเนส กลับกลายเป็นสิ่งที่แปลได้และแปลง่าย

เพราะว่าในยุคที่เคยคิดว่าละครตลกของอริสโซฟาเนสแปลไม่ได้เพราะคนไม่เข้าใจอารมณ์ขันของเขา แต่พอผ่านมาไม่ถึงร้อยปี รสนิยม อารมณ์ขัน วิธีการเสียดสีของอริสโซฟาเนสที่เป็นนักเขียนกรีก กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมเข้าใจได้ง่ายและแปลได้ง่าย เพราะฉะนั้น คนที่อ้างหรือวิจารณ์ว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่แปลได้ การพูดอย่างนี้วันนี้ มันไม่แน่หรอกว่า ข้างหน้ามันอาจจะแปลได้ นี่ก็เป็นแนวคิดอันหนึ่ง

มีอีกกลุ่มหนึ่งที่วิจารณ์เรื่องการแปลก็คือบอกว่า ไม่มีคนสองคนในโลกที่พูดอะไรเหมือนกัน เพราะว่าถึงแม้จะใช้คำ ๆ เดียวกัน ก็ไม่เคยมีใครสื่อสารกันได้สมบูรณ์แบบ ไม่เคยมีใครเข้าใจอะไรเหมือนกัน แม้แต่คนในภาษาเดียวกัน พูดกันไม่เข้าใจ คนยิ่งต่างภาษา จะพูดกันเข้าใจได้ยังไง

คนที่เข้ามาโต้แย้งความคิดนี้เขาก็จะบอกว่า คำพูดนี้ขัดแย้งกันในตัวเอง เพราะว่าเวลาคนเราพูด เราต้องเชื่อว่าคำพูดเรา มันมีความสำคัญต่อโลกภายนอกและสื่อสารได้ในระดับหนึ่งแล้ว คนที่บอกว่า ในโลกนี้ไม่มีใครพูดกันรู้เรื่องแล้วพูดทำไม คนที่มาวิจารณ์นี่พูดทำไม ก็แสดงว่าตัวเองที่พูดวิจารณ์นี่ต้องคิดว่ามีคนรู้เรื่อง หรือคิดว่าคำพูดตัวเองมีความหมายซิ แต่ความคิดนี้ก็ยังมีอยู่ปัจจุบันว่าที่เชื่อว่าในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่สื่อสารกันได้ ก็มีถึงปัจจุบัน แต่ถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อยเสมอที่คิดแบบนี้

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่โต้แย้งเขาก็มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราแปลมาตลอดตั้งแต่มีมนุษยชาติเกิดขึ้น เราก็ทำกิจกรรมการแปลมาตลอด ฉะนั้นการเชื่อว่ามนุษย์สื่อสารกันไม่ได้ ก็ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ เพราะยังไงเขาก็ทำการแปลมาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษย์ และข้อวิจารณ์ที่ว่าการแปลไม่มีวันสมบูรณ์ คือไม่มีทางที่จะทำได้ดีได้ ๑๐๐ % หรือเกิดความสมมาตรระหว่างต้นฉบับกับงานแปล ก็มีคนโต้แย้งว่า ในโลกนี้ก็ไม่เคยมีอะไรที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิเสธเพราะเห็นว่า การแปลไม่มีความสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องไร้สาระ

สิ่งที่น่าจะพูดกันมากกว่าคือ "มาตรฐานการแปล", "ระดับของความซื่อสัตย์ในงานแปล"แต่ละชิ้น คุณจะมีแค่ไหน ตรงนี้มากกว่า ไม่ควรจะมาวิจารณ์ว่างานแปลไม่มีทางเทียบเท่าต้นฉบับ เพราะเป็นคำวิจารณ์ที่ไร้สาระ เนื่องเพราะในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว นี่เป็นการพูดรวมกว้างๆ เกี่ยวกับความคิดเรื่องที่ว่าคนมีทัศนะต่างๆ ต่อการแปล

ทฤษฎีการแปล
ต่อไปจะพูดเรื่องทฤษฎีการแปล ทฤษฎีการแปลที่พูดกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปลจริงๆ เสียทีเดียว เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแปลว่าการแปลควรจะเป็นยังไง ซึ่งทฤษฎีการแปลจะมีการแบ่งยุค แต่การแบ่งยุคมันก็ไม่ได้แบ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือว่าถ้าบอกว่ายุคนี้ แล้วหมายความว่ามันจบแค่ยุคนั้น ที่ทำแล้วมันไม่มีต่อมาถึงคนอื่น ก็ไม่ใช่ ก็มีการเหลื่อมล้ำกัน อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปลที่ทำจริงๆ เท่าไหร่ แต่มันเป็นแนวคิดของนักคิดหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการแปล เขาแบ่งยุคทฤษฎีการแปลออกเป็น ๔ ยุคด้วยกัน

ยุคแรก ยุคเริ่มต้นเป็นยุคที่ยาวนานมาก คือ เริ่มมาจากซิเซโร ตั้งกฎที่มีชื่อเสียงอันหนึ่ง คือพูดว่า "จงอย่าแปลคำต่อคำ" หลังจากนั้น ๒๐ ปีต่อมา ฮอเรสซึ่งก็เป็นนักคิดโรมัน เขาก็พูดคล้ายๆ กัน ยุคนี้ยาวนานมากที่มีทฤษฎีการแปลว่า จงอย่าแปลคำต่อคำ คนที่ดังมากที่เขียนเรื่องนี้เกี่ยวกับทฤษฎีการแปลว่าจงอย่าแปลคำต่อคำคือ จอห์น ไดเดน

ไดเดนเป็นกวีชาวอังกฤษเป็นนักแปลด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะแปลงานของฮอเรส ลักษณะของทฤษฎีการแปลในยุคนี้เขาจะบอกว่า "อย่าแปลคำต่อคำ" แต่ให้"แปลโดยการถ่ายทอดความหมาย" ลักษณะเด่นก็คือว่า มันเป็นทฤษฎีการแปลที่เกิดมาจากคนที่ทำงานแปลจริงๆ เอาประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมาพูด

คำพูดที่ดังมากของไดเดนก็คือคำพูดที่ว่า คนเราควรจะแปล, สมมติแปลฮอเรสก็ควรจะแปลให้เปรียบเสมือนฮอเรสพูดภาษาอังกฤษในยุคสมัยนี้ ส่วนใหญ่ไดเดนไม่ได้เขียนบทความแต่จะเขียนคำนำ ในคำนำเขาจะเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลเอาไว้ เขาบอกว่าในการแปลมันมี ๓ อย่าง คือ

๑. แปลคำต่อคำ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการแปลที่แย่มาก

๒. การแปลง มีการแปลอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า "การแปลง" การแปลงคือ คล้ายๆ การเขียนเลียนแบบขึ้นมาใหม่ เช่นที่เราเห็นชัดที่สุดที่ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเรื่อง"ไผ่แดง" กับเรื่อง"กาเหว่าที่บางเพลง" เป็นการแปลง โดยทั่วไปการแปลง ประเทศที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการแปลง คือฝรั่งเศส

การแปลงนั้นไดเดนบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่เสียหายในยุคหนึ่ง การแปลงมีประโยชน์มากถ้าหากว่าเป็นยุคที่สองชนชาติเพิ่งติดต่อกันใหม่ๆ แล้วในชนชาติที่จะแปลไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม หรือความคิดประเพณีของอีกชนชาติเลย การแปลตรงๆ มันจะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ยกตัวอย่าง สมมติว่าย้อนไป ๒๐๐ ปี เราจะแปลนิยายของตะวันตกมาเป็นไทยแล้วเราแปลตรงๆ เช่น ฝรั่งทักทายกันด้วยการจูบ ถ้าเราแปลตรงๆ นักอ่านไทยในยุคโบราณไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมประเภทนี้ได้ว่า เอ๊ะ ทำไมนางเอกในเรื่องนี้ไปจูบกับตัวร้าย แปลว่าอะไร? ความเข้าใจมันจะไม่เกิด ในยุคแบบนี้ การเขียนแปลงขึ้นมาใหม่อาจจะเป็นประโยชน์เพื่อเป็นการเตรียมให้คนในชนชาติ เริ่มทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมหรือประเพณีที่แตกต่างออกไป

แต่ว่าการแปลงประเภทนี้ เมื่อชนชาตินั้นๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอีกชนชาติหนึ่งมากพอแล้ว การแปลงเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำอีก ไดเดนให้เหตุผลว่ามันไม่มีรสนิยม ไม่สมควรทำ คือ มันควรจะก้าวไปอีกขั้น คือมีการแปลที่แท้จริง

๓. การแปลที่แท้จริง คือการแปลแบบที่รักษาต้นฉบับเอาไว้ ไดเดนเขาเปรียบเปรยว่า การแปลคำต่อคำ (เขาใช้คำเปรียบเทียบ ไดเดนเขาจะภาษาสวยมาก ดิฉันแปลมาอาจจะไม่สวยเหมือนเขา) เขาเปรียบเทียบว่า "การแปลคำต่อคำ เปรียบเสมือนการเต้นรำ บนเส้นเชือก ด้วยขาที่ผูกมัดไว้ นักเต้นรำ อาจประคองตัวไม่ให้ตกลงไปด้วยความระมัดระวัง แต่อย่างคาดหวังเลยว่า จะมีความสง่างามของท่วงท่า และหากจะกล่าวถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นภารกิจที่โง่เขลา เพราะไม่มีคนสติดีคนไหน จะเสี่ยงชีวิตเพียงเพื่อเสียงปรบมือ ที่ปรบมือให้เขาเพราะเขาเอาตัวรอดได้ โดยที่เขาไม่ตกลงมาคอหักตาย" นี่คือเขาวิจารณ์การแปลคำต่อคำอย่างแบบว่าเถรตรง

ในขณะที่ไดเดนบอกว่าการแปลที่ดี คือ"การแปลอย่างอิสระในขอบเขตจำกัด" โดยที่นักแปลต้องคำนึงถึงผู้ประพันธ์อยู่เสมอคือ เหมือนกับว่าแปลไป ตามองผู้ประพันธ์อย่างไม่ให้คลาดสายตา กล่าวคือ นักแปลไม่ได้แปลจากถ้อยคำแบบตายตัว แต่แปลตามความหมายมากกว่า และความหมายนั้นอาจจะมีการขยายความได้บ้าง แต่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ. แล้วเขาก็สรุปว่า อย่างที่เขาแปล"เวอร์จิน" ตัวไดเดนบอกว่า "ผมพยายามทำให้เวอร์จิน พูดภาษาอังกฤษอย่างที่เวอร์จินน่าจะพูด หากว่าเขาเกิดในอังกฤษและอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็คือในสมัยของไดเดนเอง" นี่เป็นวิธีคิดของทฤษฎีการแปลในยุคนี้

ในภาษาไทย วิธีคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลแบบนี้มีเป็นภาษาไทยออกมา เป็นของอาจารย์นพพร ประชากุล เล่มบางๆ ขายอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชื่อ"ทฤษฎีการแปล" อาจารย์นพพรแปลมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เป็นทฤษฎีในยุคปัจจุบัน เป็นลักษณะแนวคิดเดียวกับไดเดน ในยุคแรก

ยุคที่สอง ขึ้นมายุคนี้จะเกี่ยวข้องกับยุคทฤษฎีความหมายของการแปล เริ่มต้นมาในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ โดยเฉพาะบทความที่สำคัญมาก และก็คนได้อ้างถึงเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลนี้ก็คือ บทความของชไลเออร์มาเคอร์ ที่จริงเขาเป็นนักชีววิทยาชาวเยอรมัน เป็นนักคิดทางด้านการตีความ เขาเขียนบทความนี้

ถ้าเราไปอ่านทฤษฎีการแปลต่างประเทศ เกือบทุกเล่มยังไงๆ ก็ต้องพูดถึง ชไลเออร์มาเคอร์ ในยุคนี้มีนักคิดอยู่หลายคน นอกจากชไลเออร์มาเคอร์ ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็จะมี เกอเต้, โชเปนฮาวเออร์, วอเตอร์ เบนจามิน… แต่ชไลเออร์มาเคอร์มีคนอ้างถึงมากที่สุด เนื่องจากว่ายุคนี้มีการศึกษาค้นคว้า มีแนวคิดทฤษฎีทางด้านปรัชญาและภาษาศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ทฤษฎีการแปลก็ได้รับอิทธิพลมาจากทางด้านปรัชญาและภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะทฤษฎีความหมายหรือการตีความ

สมัยก่อนในยุคแรก ทฤษฎีการแปลจะเกิดมาจากนักแปลจริงๆ พูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง แต่พอมาถึงยุคนี้ทฤษฎีการแปล บางทีไม่ได้เกี่ยวกับการแปลจริงๆ จะเป็นนักคิดหรือนักปรัชญามองเรื่องการแปลโดยเชื่อมโยงเกี่ยวกับทฤษฎีทางด้านภาษา ปรัชญา และความคิดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทฤษฎีการแปล เริ่มปรับเปลี่ยนและมีระเบียบวิธีคิดเป็นของตัวเอง โดยที่อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับการแปลจริงๆ หรือว่าต้นฉบับเฉพาะชิ้นไหนหรือว่านักแปลคนไหน แต่ว่าส่วนใหญ่ทฤษฎีการแปลในยุคนี้ จะเกี่ยวกับการทำความเข้าใจว่า คำว่าเข้าใจหมายถึงอะไร มันทำให้การแปลมีแง่มุมทางปรัชญาขึ้นมามาก

ชาวเยอรมันถือว่ามีบทบาทมากในเรื่องทฤษฎีการแปล กล่าวกันว่าชาวเยอรมันให้ความสนใจมากกับเรื่องการแปล ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า "การแปลเป็นชะตากรรมของภาษาเยอรมัน" วิวัฒนาการของภาษาเยอรมันสมัยใหม่ มีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับการแปล โดยเฉพาะการแปลที่ลูเธอร์แปลพระคัมภีร์ไบเบิล แล้วก็มีการแปลงานของโฮเมอร์ และเชคสเปียร์ มาเป็นภาษาเยอรมัน ทำให้ภาษาเยอรมันเกิดวิวัฒนาการ และกลายมาเป็นภาษาเยอรมันในปัจจุบัน ทำให้นักคิดทางด้านเยอรมันสนใจทฤษฎีการแปลมากพอสมควร คือชไลเออร์มาเคอร์

ในบทความนี้ถ้าจะพูดถึงก็คือ พูดแบบสรุปๆ เลยคือวา การแปลมี ๒ วิธี คือ
๑. ดึงผู้อ่านไปหานักเขียน
๒. ดึงนักเขียนไปหาผู้อ่าน

วิธีหลังที่ว่าดึงนักเขียนไปหาผู้อ่านคือ หมายถึงว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านได้อ่านงานของนักเขียนคนนั้นอย่างราบรื่น ไม่รู้สึกติดขัด ไม่รู้สึกว่าแปลกแยกจากงานแปล เหมือนวิธีการที่ไดเดนพูดในตอนแรกว่า เหมือนทำให้เวอร์จินพูดภาษาอังกฤษในยุคนั้นๆ แต่ ชไลเออร์มาเคอร์บอกว่า การคิดแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าภาษาความคิด หรือความหมายทุกอย่างในโลกมันก่อรูปในภาษาและผ่านภาษา แล้วในเมื่อภาษามันมีประวัติศาสตร์ มีรากศัพท์ มีวัฒนธรรม มีบริบทที่แตกต่างกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไปถอดงานเขียนชิ้นหนึ่ง ออกจากภาษาดั้งเดิม แล้วเอาแต่ความหมายแก่นแท้ที่เป็นสากล แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยที่เหมือนกับจับแต่งตัวเข้าไปใหม่

เขาบอกว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมันเท่ากับว่า (โดยที่เขาเชื่อว่า) ความคิดที่เป็นแก่นแท้ที่ไม่ผูกติดอยู่กับภาษาเลย มันไม่มี เพราะความคิดทุกอย่างมันก่อรูปในภาษา เพราะฉะนั้นเขาเลยมองว่า อันนั้นไม่ใช่การแปลที่แท้จริง การแปลที่แท้จริงในความคิดชไลเออร์มาเคอร์ก็คือว่า คุณจะต้องดึงผู้อ่านเข้าไปหาผู้เขียน พูดง่ายๆ ก็คือว่าทำให้ภาษาในการแปลที่ดี มันอาจจะไม่ได้ราบรื่นหรือว่า เป็นเสมือนภาษาต้นฉบับ คือไม่มีความสละสลวย ความสละสลวยอาจจะหายไป แต่ในขณะเดียวกันมันจะรักษาความคิดที่แตกต่างกันของคนละวัฒนธรรมเอาไว้ได้ คือนักแปลอาจจะต้องทำในที่สิ่งที่ผู้อ่านไม่พอใจหรือไม่ยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความซื่อสัตย์ต่อความหมายดั้งเดิมที่แปลกแยกออกไปจากสังคมของตัวเองมากกว่า

ยุคที่สาม หลังยุคที่ ๒ เข้าสู่ยุคที่ ๓ นับเป็นยุคที่มีเวลาอยู่สั้นมากเลย มันเป็นยุคที่เกิดมาจากอิทธิพลแนวคิดที่เขาเรียกว่า "formalism" ของพวกรัสเซียและเชค ที่เขาเรียกว่าพวกโครงสร้างนิยม การเกิดขึ้นของทฤษฎีภาษาศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์และความเฟื่องฟูของแนวคิดทางด้านสถิติ นักคิดคนสำคัญของกลุ่มนี้ที่เขียนทฤษฎีการแปลที่คนจะอ้างถึงมากมาย คือ โรมัน ยาคอร์ปสัน จริงๆ พยายามแปลยาคอร์ปสัน แล้วแต่ติดปัญหาเรื่องภาษาศาสตร์ เขาจะใช้ศัพท์ภาษาศาสตร์มาก เราไม่แม่นก็เลยหยุดไปไม่ได้แปลต่อ

ยุคนี้มีเวลาค่อนข้างสั้นมาก เขามองว่ายุคนี้มันมาจากแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วยคือ มีความเชื่อว่า มันน่าจะมีการทำตารางแผนผังของการเทียบเคียงของภาษา ๒ ภาษาได้ โดยที่เขาจะพยายามใช้ศัพท์วิทยาสัญลักษณ์เข้ามาเปรียบเทียบกับการถอดความหมายทางด้านภาษาศาสตร์ พยายามใช้ความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง กับทฤษฎีข้อมูลมาใช้ในการแปลระหว่างภาษา

อิทธิพลที่ยุคนี้ทำให้เกิดวารสารทางวิชาการเกี่ยวกับนักแปลอาชีพ และการแปลเป็นประเด็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นวารสารโดยเฉพาะในทางวิชาการขึ้นมา แต่ว่ายุคนี้มันอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าส่วนหนึ่งมันถูกล้มไป เพระว่าแนวคิดภาษาศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์มันล้มไป เพราะการเกิดขึ้นของภาษาศาสตร์สำนักนอม ชอมสกี้

ภาษาศาสตร์ในพฤติกรรมศาสตร์ เขาจะมองว่าคนเหมือนผ้า ความรู้ทางภาษาเกิดจากการสอนแต่ชอมสกี้ เขาปฏิวัติแนวความคิดของภาษาศาสตร์ของพวกพฤติกรรมศาสตร์ โดยเขาเขาเรียกว่า "generative grammar" เขาบอกว่า ในมนุษย์ทุกคนมันจะต้องมีกลไกอันหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถที่จะเรียนรู้ภาษในตัวเองอยู่แล้ว อันนี้ชอมสกี้สังเกตจากเด็ก ดูถึงเรื่องของการเรียนรู้ทางภาษาของเด็กซึ่งสามารถก้าวกระโดดไปได้ และจากการสอนภาษา

ถ้ามนุษย์มีลักษณะเป็นเด็กแบบที่พฤติกรรมศาสตร์พูดว่าเป็นเหมือนผ้าขาว แล้วทุกอย่างเกิดจากการสอน เหตุใด? ทำไม? ความรู้ที่จำกัดในเรื่องไวยากรณ์ของมนุษย์ แต่ทำไมทำให้มนุษย์ใช้ไวยากรณ์ที่จำกัด สามารถสร้างการแสดงออกของภาษาได้อย่างไม่จำกัด จริงๆ ชอมสกี้มองและ มีทฤษฎีว่า มันจะต้องมีอะไรบางอย่างในตัวมนุษย์ที่พูดง่ายๆ ว่า ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่ได้เกิดจากการสอน เขาบอกว่าเด็กไปอยู่ในสังคมไหนๆ ก็สามารถเรียนรู้ภาษาได้ทันที แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรบางอย่างในตัวเด็กที่พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว แนวคิดแบบนี้มันทำให้วิธีคิดแบบกลไกในเรื่องภาษาศาสตร์ตกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทฤษฎีการแปลในยุคนี้ มันอยู่ได้ไม่นานและหมดไป คือไม่มีอิทธิพลต่อมาอีก

ยุคที่สี่ ปัจจุบันนี้คือ ต้องเรียกว่าเป็นยุคของสัญญวิทยา คนที่มีอิทธิพลในทฤษฎีการแปลยุคนี้ ก็คือ อูมเบอร์โต้ เอโก้ เขาเขียนหนังสือเป็นทฤษฎีการแปลเล่มหนึ่งชื่อ "mouse or rat" และคนที่เขียนที่เป็นพวก postmodern ส่วนใหญ่แนวคิดในด้านทฤษฎีการแปลของกลุ่มนี้ ก็คือ เน้นไปทางด้านสหสัมพันธบท (intertextuality) ความหมายขึ้นอยู่กับบริบทที่แวดล้อม แล้วก็เอโก้เขียนหนังสือทฤษฎีการแปลเล่มหนึ่งพูดว่า " การแปลคือการต่อรอง" การต่อรองระหว่างนักแปลกับต้นฉบับ มันจะเป็นการต่อรองประโยคต่อประโยคและคำต่อคำ หรือความหมายต่อความหมาย

แต่ว่าโดยส่วนตัว คิดว่ามีคนหนึ่งที่นิยามเรื่องการแปลได้ดีคือวิกเก็นสไตล์ เป็นนักปรัชญา เขาบอกว่า การแปลเป็นเสมือนปัญหาทางคณิตศาสตร์ มันแก้ได้ แต่มันไม่มีระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการแก้ นี่เป็นคำพูดของวิกเก็นสไตล์

(คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒)

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
270449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

บางคนก็พูดในเชิงดูถูกดูแคลนก็มี อย่างสำนวนภาษาอิตาเลียนที่บอกว่า "การแปลก็คือการทรยศ" เพราะว่ามันไม่มีการแปลอะไรที่จะได้เทียบเท่ากับภาษาเดิม นี่เป็นความเชื่อของเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนเป็นจำนวนมากที่ยกย่องงานแปล อย่างเช่น คนที่ยกย่องมาก คือ เกอเต้ ยกย่องงานแปลมากและในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นนักแปลด้วย เกอเต้จะเกี่ยวข้องกับงานแปลมาก และก็มีนักเขียนบางคนอย่าง ดับบลิว เอช อาร์เดน เขาบอกว่านักแปลที่ดีต้องมีคุณสมบัติ ๒ อย่างในตัว และต้องมีควบคู่กัน - อันที่หนึ่ง คุณจะต้องมีความเป็นบัณฑิตอย่างที่สุด
- อีกด้านหนึ่ง คุณจะต้องเป็นคนที่โง่บัดซบเลยที่จะมาทำงานนี้

The Midnightuniv website