นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

The Midnight University



เก็บตกบรรยากาศการเมืองหลังไล่ทักษิณ
การเมืองของชนชั้นนำ VS การเมืองชนชั้นตาม
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหลังนายกฯ ทักษิณลาออก และสิ่งที่ประชาชนต้องทบทวน
และคำนึงถึงการปฏิรูปการเมืองรอบที่ ๒


บทความขนาดสั้นบนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วย

๑.
ไกลสุดที่การเมืองของชนชั้นนำจะพาไปได้
๒.
บ้านนอกคอกนาและประชานิยม (โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์)
๓.
เสียสละทักษิณเพื่อรักษาระบอบทักษิณไว้ (โดย เกษียร เตชะพีระ)
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 894
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)




การเมืองของชนชั้นนำ VS การเมืองชนชั้นตาม
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
เกษียร เตชะพีระ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


1. ไกลสุดที่การเมืองของชนชั้นนำจะพาไปได้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
แม้มีเวลาเตรียมตัวอันสั้น แม้การเรียบเรียงถ้อยคำอาจไม่ราบรื่นไปทุกตอน แต่คำแถลงไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อค่ำวันที่ 4 เม.ย. กลับเป็นสาธารณกถาที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง ทั้งของคุณทักษิณเองและของการเมืองไทย ข้อด้อยกลับกลายเป็นข้อเด่น เช่นน้ำเสียงและสีหน้าที่ระงับความรู้สึกภายในไว้ไม่อยู่ก็ตาม การเลือกสรรและเรียบเรียงถ้อยคำที่ไม่ราบรื่นอย่างเคยก็ตาม กลับทำให้คำแถลงของคุณทักษิณฟังดูจริงใจใสซื่อ อันเป็นคุณสมบัติที่คุณทักษิณอ่อนที่สุด อย่างน้อยก็ในสายตาของฝ่ายต่อต้าน

ตอนที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมกันต่อต้านการเลือกตั้ง (และนายกฯทักษิณไปพร้อมกัน) ตลอดจนกลุ่มพันธมิตร (ซึ่งมีหลายกลุ่มมาก) จะมีปฏิกิริยาต่อการตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯของคุณทักษิณอย่างไร แม้กระนั้น ผมก็อยากประเมินว่าพวกเขาว่าไม่มีทางเลือกให้เดินได้อีกมากนัก แต่ในขณะเดียวกันผมก็สำนึกได้ดีว่า ผมอาจประเมินผิด เพราะคนเหล่านี้คิดอะไรได้ประหลาดมหัศจรรย์เกินกว่าสติปัญญาของผมจะหยั่งถึงได้เสมอ

คำที่สื่อใช้บรรยายการกระทำของคุณทักษิณในครั้งนี้คือ "ถอย" ผมคิดว่าเป็นคำที่อยู่ในความรู้สึกของสังคมด้วย แม้แต่ในหมู่คนชั้นกลางซึ่งส่งเสียงร้องด้วยความปราโมทย์ในท้องถนน ฉะนั้น เมื่อคุณทักษิณ "ถอย" พวกเขาจะทำอะไรได้นอกจาก "ถอย" อย่างเดียวกัน

แม้การ "ถอย" ของคุณทักษิณอาจไม่เป็นรูปธรรมนัก เช่นเมื่อครบ 30 วันแล้ว(ตามมาตรา 159 ในรัฐธรรมนูญ) ก็อาจยังเปิดสภาไม่ได้ ทำให้ต้องมีรัฐบาลรักษาการต่อไป หรือถึงเปิดสภาได้ก็จะเป็นสภาของพรรค ทรท.ซึ่งตั้งรัฐบาล ทรท.ขึ้น โดยมีคุณทักษิณเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรค (ซึ่งในการเมืองไทยแปลว่า นายทุนใหญ่สุดของพรรค) และรัฐบาลกับสภา ทรท.นี่แหละที่จะเป็นผู้จัดการปฏิรูปการเมือง ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะทำอะไร

แต่ฝ่ายปฏิปักษ์ของคุณทักษิณก็ไม่มีทางเลือกอื่นให้เดินได้อีก นอกจากยุติการกระทำที่เรียกกันด้วยคำภาษามองโกลบวกอารยันว่า "ขัดขืนอารยะ" เสียงร้องด้วยความปราโมทย์ของคนชั้นกลางที่เชื่อว่าได้ชัยชนะแล้ว แสดงว่าถึงเวลาแห่งการเสวยผลของชัยชำนะแล้ว นั่นคือกลับไปนอนตากแอร์ที่บ้านได้แล้ว

หากจะมียกเว้นบ้าง ก็คงเป็นกลุ่มของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งคำแถลงของคุณทักษิณแทบจะไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องอย่างหนักแน่นของคุณจำลองแต่อย่างใด เพราะคุณจำลองเรียกร้องนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งในพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือ คุณทักษิณ ชินวัตร แต่นายกฯพระราชทานนั้น มีคำตอบมานานแล้วว่าไม่ได้ หากคุณจำลองยังทำการประท้วงขัดขืนต่อไปหลังคำแถลงของคุณทักษิณ สังคมจะสงสัยว่า คุณจำลองกำลังกดดันใคร? นายกฯ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าคุณจำลองจะชอบหรือไม่ก็ตาม ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแคบๆ แบบที่คุณจำลองเรียนมาในโรงเรียนทหาร ไม่ช่วยให้คุณจำลองสามารถเลือกเดินในหนทางอื่นใดได้มากไปกว่าหนทางที่คุณทักษิณขีดให้เดิน

ทางพรรคฝ่ายค้านก็ตกที่นั่งเดียวกัน หรืออาจจะยิ่งอึดอัดกว่าด้วยซ้ำ ไม่มีเวทีในท้องถนน และไม่มีที่นั่งในสภา พรรคฝ่ายค้านจะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดทิศทางของการเมืองได้อย่างไร ไพ่ใบเดียวที่พรรคฝ่ายค้านมีอยู่คือ ฐานคะแนนเสียงที่มั่นคงในภาคใต้และภาคกลางบางจังหวัด แม้ไพ่ใบนี้มีความสำคัญ เพราะถึงอย่างไรฝ่ายรัฐบาลซึ่งต้องการความชอบธรรมทางการเมือง ก็ยังต้องการบทบาทที่เป็นรองของฝ่ายค้านในระบบอยู่ดี แต่เป็นไพ่ที่ยังใช้การในตอนนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีการเลือกตั้ง

วิธีเดียวที่จะทำให้ไพ่ใบสำคัญนี้เพิ่มบทบาททางการเมืองแก่พรรคฝ่ายค้านในภาวะเช่นนี้ก็คือ ประนีประนอม เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ในขณะเดียวกันการปฏิรูปการเมืองก็จะใช้เวลามากไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านจะดิ้นเถลือกไถลอยู่นอกสภานานไม่ได้ ต้องมีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ระดับความประนีประนอมที่ฝ่ายค้านจะต้องเดินยิ่งมีระดับสูงขึ้นไปอีก

เว้นอยู่อย่างเดียวคือ อย่าปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองเริ่มขึ้น จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และมีสภาที่มีการถ่วงดุลพอสมควร แต่นั่นทำได้ยากมากทั้งในเงื่อนไขของกฎหมายและสังคม อีกทั้งพรรคฝ่ายค้านก็ไม่มีช่องทางให้กดดันไปสู่เป้าหมายนี้เสียอีก เพราะการชุมนุมอาจเลิกไปแล้ว ทางเดินที่พรรคฝ่ายค้านจะเดินได้จึงเหลืออยู่ไม่มากนัก และเกือบทุกทางคุณทักษิณกำหนดไว้ให้แล้วทั้งสิ้น ความจริงผมเชื่อว่า ทางเดินของฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณที่เหลืออยู่ทุกกลุ่ม ได้ถูกคุณทักษิณขีดให้เดินไว้ไม่กี่ทางแล้วด้วยการประกาศไม่รับตำแหน่งในครั้งนี้

การเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สภาที่ไม่ชอบธรรม รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม การสอบสวนกรณีขายหุ้นที่ไม่โปร่งใส ปฏิบัติการนอกกฎหมายที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนระดับรากหญ้า การทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการสอบสวนอย่างจริงจังมากไปกว่าคะแนนเสียงข้างมากในสภา ฯลฯ ทั้งหมดนี้เทลงชักโครกได้เลย เพราะบัดนี้คุณทักษิณได้ประกาศแล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ถ้าความเสียสละยอมลำบากกายทั้งหมดที่คนชั้นกลางได้อุทิศให้แก่การต่อสู้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีจุดมุ่งหมายเพียงไล่คุณทักษิณออกไปจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นการถาวรหรือชั่วคราวก็ตาม ก็ถือว่าประสบชัยชนะแล้ว แต่สังคมไทยได้อะไร? ประชาชนได้อะไร นอกจากมีนายกฯ คนใหม่ที่ไม่ได้ชื่อทักษิณ น่าประหลาดที่การเมืองในท้องถนน กลับดำเนินไปด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของการเมืองของชนชั้นนำ (elite politics)

ระหว่างการประท้วงยังร้อนแรงอยู่ ผมได้ร่วมอภิปรายในเวทีหนึ่งที่นิสิตจุฬาฯ จัดขึ้นร่วมกับหนึ่งในผู้นำพันธมิตร ผู้ฟังคนหนุ่มคนสาวถามท่านผู้นำว่า หากกลุ่มของท่านไม่รับนายกฯพระราชทาน เหตุใดจึงเกิดแถลงการณ์ฉบับที่สองของพันธมิตรได้ คำตอบของท่านก็คือ ท่านได้จัดการแล้วด้วย "ศิลปะ" และจะไม่มีแถลงการณ์เช่นนั้นออกมาอีก หากมีกลุ่มของท่านจะถอนตัวจากพันธมิตรทันที (ซึ่งบัดนี้ก็รู้แล้วว่าไม่จริง) ท่านได้กล่าวเตือนผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งได้ลุกขึ้นอภิปรายโจมตีกลุ่มของท่านอย่างรุนแรงว่า การเล่นหมากรุกนั้นต้องมองดูทั้งกระดาน ไม่ใช่ดูแต่ตาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ผมให้รู้สึกคันปากเต็มประดา แต่เพราะได้สัญญากับตัวเองไว้แล้วว่า จะไม่ทำอะไรที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรอ่อนแอลง แม้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรหลายประเด็น ก็จะพูดเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสังคมไทยเท่านั้น จึงสู้นั่งฟังเฉยๆ

สิ่งที่กระตุ้นปากผมให้คันก็คือ หมากรุกการเมืองนั้น มีอะไรที่จะต้องพิจารณามากไปกว่า 64 ตาบนกระดานหรือไม่ กติกาคือ ไล่ขุนให้จนกลางกระดานเท่านั้นหรือ ที่สำคัญกว่าอะไรที่อยู่นอก 64 ตาบนกระดาน ก็คือสิ่งนั้นมีบทบาทในกระดานหมากรุกบ้างหรือไม่ หรือเพียงแต่นั่งดูเฉยๆ แล้วปล่อยให้นักเล่นโขกตัวหมากรุกไปตามแต่ "ศิลปะ" ของการเล่นหมากรุกจะชี้นำไป เท่านั้นเองหรือ?

ที่ผ่านมาเป็นศตวรรษในเมืองไทยก็คือ การเมืองเป็นเพียงกระดานหมากรุกของกลุ่มชนชั้นนำ บางคนก็เป็นคนดี บางคนก็ไม่ดี แต่คนอื่นที่อยู่นอก 64 ตา ไม่เกี่ยว การเมืองของชนชั้นนำ (elite politics) ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ คือเป็นศิลปะที่จะผนึกกำลัง และปะทะกำลังกับส่วนที่ผนึกไม่ได้ ฉะนั้น ความเห็นของคนอยู่นอกกระดานหมากรุก จึงเป็นความเห็นของคนไร้เดียงสา เสียงของคนไม่รู้ (อย่างที่คุณทักษิณใช้โจมตีศัตรูทางการเมืองของตนอยู่เสมอนั่นแหละ) ที่ไม่รู้จักศิลปะ และมองหมากรุกไม่เต็มกระดาน

คงจำได้ว่า กว่าครึ่งของผู้นำพันธมิตรคือคนที่ขยับม้าทักษิณ ชินวัตร มากินเรือชวน หลีกภัย เมื่อห้าปีที่แล้ว ด้วยการออกมาปกป้องคุณทักษิณจากคดีซุกหุ้น ถึงตอนนี้ก็จะขยับม้าทักษิณออก คิดจะเลื่อนโคนเข้ามาแทน
การเมืองของชนชั้นนำ (elite politics) นำเราไปได้แค่นี้แหละครับ คือวนเวียนไปมากับ 64 ตาบนกระดานหมากรุก

ผมได้แต่หวังว่า ผลที่สุดของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนชั้นกลางในการขับไล่คุณทักษิณครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนแก่คนชั้นกลางในอนาคตว่า ตราบเท่าที่ท่านยังไม่สามารถร่วมมือด้วยความเคารพและความเข้าใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ตัวท่านเองก็เป็นเพียงเหยื่อบนกระดานหมากรุกของ "ชนชั้นนำ" ไม่กี่คนตลอดไป

2. บ้านนอกคอกนาและประชานิยม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในงานวันฮ้องขวัญวาระครบ 6 รอบอายุแด่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งจัดโดยองค์กรภาคประชาชน อาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ได้อภิปรายถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทที่น่าสนใจ และหากนำมาขยายความต่อ ก็อธิบายบทบาททางการเมืองของคนบ้านนอกคอกนาที่คนชั้นกลางในเมืองดูหมิ่นได้ดี

ท่านกล่าวว่า แท้จริงแล้วเราไม่อาจขีดเส้นแบ่งเมืองและชนบทในสังคมไทยปัจจุบันได้อีกแล้ว อย่างน้อยก็เส้นในวิถีชีวิตของคนสองกลุ่มนี้ เพราะโดยทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ชนบทได้เคลื่อนเข้ามาอยู่แนบชิดกับเมือง ต้องพึ่งพิงงานจ้างประเภทต่างๆ ของเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต ในกระบวนการที่เมืองและชนบทเคลื่อนเข้าไปสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นขึ้นนี้ คนที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเมืองและชนบทคือคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด

คนเหล่านี้คือใครในทางเศรษฐกิจ? ท่านอธิบายว่าคือผู้รับเหมารายย่อยซึ่งสามารถจ้างแรงงานคนในหมู่บ้านได้ คือพ่อค้าพืชผลการเกษตร คือนายหน้าแรงงาน คือตัวแทนของเศรษฐีเงินกู้ในเมือง คือตัวแทนหรือหัวหน้ากลุ่มของการเกษตรตามพันธสัญญา หรือของการค้าปุ๋ย ฯลฯ เป็นต้น ผมอยากขยายความภาพที่ท่านอาจารย์อรรถจักรได้วาดไว้นี้ต่อไป

หากถามต่อไปว่า คนเหล่านี้คือใครในทางสังคม? ผมคิดว่าเราจะงุนงง เพราะคนที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและชนบทไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านเหมือนคนที่เป็นตัวเชื่อมทางเศรษฐกิจ ครูได้ถอนรากถอนโคนตัวเองออกไปจากหมู่บ้านนานแล้ว ฉะนั้นบทบาทด้านนี้ของครูจึงไม่เหลืออีกต่อไป พระในหมู่บ้านหมดบทบาทการเชื่อมต่อกับเมืองไปนานแล้วเหมือนกัน ในขณะที่ตัวเชื่อมทางเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวเชื่อมทางสังคม

ช่องโหว่ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่าคนสองกลุ่มโผล่เข้ามาทำหน้าที่ ทั้งๆ ที่อยู่นอกโครงสร้างหมู่บ้าน กลุ่มแรกคือเอ็นจีโอ ซึ่งบทบาทด้านนี้กำลังเริ่มถูกแทนที่มากขึ้นโดยคนที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือองค์กรภาคประชาชนจริงๆ เช่น หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านบางคน, อสม.บางคน, ปราชญ์ชาวบ้านบางคน, หัวหน้ากลุ่มประท้วงบางคน เป็นต้น กลุ่มที่สองคือคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมในสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ฉะนั้นดารานักแสดงและนักร้องจึงเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยไม่ได้ตั้งใจ

ที่น่าสังเกตก็คือ คนกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทางสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกหมู่บ้าน ไม่ได้พัฒนาการจัดองค์กรของตนไปสู่การเมืองในระบบ ไม่เจตนาจะพัฒนาก็มี ไม่มีศักยภาพจะพัฒนาได้ก็มี ตรงกันข้ามกับคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นตัวเชื่อมกับอำนาจทางการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นไปจนถึงระดับประเทศ

นี่คือคนที่เข้าไปเป็นสมาชิกสภาตำบล, สภาเทศบาล, เทศมนตรีและนายก, อบต., อบจ. และนายกของสององค์กรนั้น อีกส่วนหนึ่งได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ในขณะที่คนกลุ่มเดียวกันนี้ยังเป็นหรือเชื่อมโยงกับคนที่ดำรงตำแหน่งบริหารท้องถิ่นเดิม เช่น ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เป็นต้น

การจัดองค์กรทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ ถ้าเรียกโดยสรุปก็คือเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินของทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว แต่สามารถแปรมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองได้ พูดอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือใช้ในการเป็นหัวคะแนนได้นั่นเอง คนที่อาจเรียกได้ว่า "หัวคะแนน" กลุ่มนี้แหละ คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลทักษิณในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามากที่สุด การกระจายงบประมาณลงไปยังองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ย่อมทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งนั่งอยู่ใน อบต.และ อบจ.มีทรัพยากรในอำนาจการตัดสินใจของตนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หากจะใช้อำนาจนั้นไปเสริมกลุ่มอุปถัมภ์ของตน (และธุรกิจของตนซึ่งแยกจากกันไม่ได้) ให้เข้มแข็งขึ้น ก็ทำได้ง่าย

และคนกลุ่มนี้นี่เองที่มีศักยภาพพอจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากนโยบายด้านอื่นๆ พักชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. ก็ทำให้หนี้ของเขาได้รับการชำระอย่างมั่นคงขึ้น เขาคือคนที่นั่งในกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จึงเป็นธรรมดาที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ในโครงการเงินกู้ของญาติพี่น้อง และคนในกลุ่มอุปถัมภ์ของเขามากกว่าคนอื่น งานวิจัยของนักวิชาการท่านหนึ่งเกี่ยวกับโครงการเอสเอ็มแอล ชี้ไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ที่สุดคือกลุ่มคนที่มีสมรรถนะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนทำอะไรได้

ผมไม่ทราบว่า เหตุใดจึงเรียกนโยบายเหล่านี้ว่า "ประชานิยม" เพราะประชานิยมที่ใช้กันในปัจจุบันน่าจะหมายถึงนโยบายที่ส่งผลให้มวลชนผู้ด้อยโอกาส ได้รับส่วนแบ่งทรัพยากรเพิ่มขึ้นโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเข้ามาดักกินหัวคิวไปเกือบหมด ถ้าเป็นกรณีของประเทศไทย ก็น่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน, การเปิดโรงเรียนให้เด็กจากครอบครัวยากจนได้เรียนก่อนและฟรี, การเพิ่มภาษีทางตรงและลดภาษีทางอ้อม ฯลฯ อะไรทำนองนี้

แท้จริงแล้ว นโยบายของรัฐบาลทักษิณคือการใช้เงินของรัฐกว้านซื้อกว้านต้อนเอาหัวคะแนนของทั้งประเทศมาไว้ในมือของคุณทักษิณต่างหาก ปลดปล่อยหัวคะแนนเหล่านี้ให้หลุดจากพันธนาการของเจ้าพ่อนักเลือกตั้งประจำท้องถิ่น แต่หันมาสนับสนุนนโยบายอย่างนี้ และคนที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้นโยบายอย่างนี้ดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน และคนนั้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร

แม้ว่าในความเป็นจริง นโยบายดังกล่าวยังไม่สำเร็จเด็ดขาด จนกระทั่งไม่มีเครือข่ายหัวคะแนนของคนอื่นเหลืออยู่เลย นอกจากของคุณทักษิณเพียงคนเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครือข่ายหัวคะแนนเท่าที่อยู่ในมือของคุณทักษิณและบริวารเวลานี้ ก็เพียงพอที่จะสร้าง "ประชาชน" ผู้สนับสนุนคุณทักษิณขึ้นมาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

การระดมคนออกมาทำอย่างอื่นที่มากกว่าหย่อนบัตรในหีบเลือกตั้งได้แค่นี้ ต้องถือว่าไม่เบา และอาจเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองระดับชาติสามารถทำได้ระดับนี้ แน่นอนว่า ต้องมีผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ไม่ควรเข้าใจผิดเป็นอันขาดว่า ทุกคนออกมาเพื่อรับค่าจ้าง อย่าพูดถึงชาวบ้านที่เดินทางไกลจากอีสานและภาคเหนือมาชุมนุมที่สวนจตุจักรเลย เพียงแค่ชาวบ้านที่ไปรอรับนายกรัฐมนตรีพร้อมดอกกุหลาบ ก็ถือเป็นงานหนักกว่าไปหย่อนบัตรเลือกตั้งอยู่มาก เช่น คนจากหลายหมู่บ้านบอกผมว่า ต้องไปยืนตากแดดรอเป็นชั่วโมง เป็นต้น ผมเชื่อว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่าเงินที่ได้รับอย่างแน่นอน

ผมไม่ทราบว่าเป็นความรักความผูกพันกับคุณทักษิณสักเพียงไร แต่ผมเชื่อว่า ประชาชนภายใต้เครือข่ายหัวคะแนนย่อมยินดีจะ "ร่วมมือ" กับหัวคะแนน ซึ่งเป็นหัวหน้าในกลุ่มอุปถัมภ์ของเขา ไม่ใช่เพื่อค่าจ้าง แต่เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในกลุ่มเดียวกัน และกับตัวหัวหน้ากลุ่มเอง เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของเขา ไม่ใช่ความกลัว, ไม่ใช่ความโง่, ไม่ใช่ความโลภ แต่เป็นการคำนวณผลดีผลเสียของการกระทำ อย่างเดียวกับสัตว์เศรษฐกิจในเมืองทำเป็นประจำนั่นเอง

เขาไม่ได้กลัวคุณทักษิณ, เขาไม่ได้โง่ เพราะถ้าโง่ก็หมายความว่าเขาถูกหลอกให้ยึดอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่เป็นของคุณทักษิณ แต่คุณทักษิณและพวกไม่เคยมีอุดมการณ์อะไรสักอย่างเดียว และเขาไม่ได้โลภมากไปกว่าคนอื่นๆ ร่วมยุคสมัย เพราะการกระทำเหล่านี้ ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มเท่าไรนัก เพียงแต่เป็นเรื่อง "ขอกันกิน" ในกลุ่มอุปถัมภ์ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องเล็ก

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า โดยธรรมชาติของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ผลประโยชน์ของกลุ่มหัวคะแนนที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและชนบท ย่อมโน้มเอียงไปสอดคล้องกับผลประโยชน์ของเมืองมากกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนเหล่านี้มีอะไรที่ใกล้กับคนชั้นกลางในเมือง มากกว่าลูกน้องของเขาในชนบท แม้เวลานี้ยังพูดภาษาการเมืองกันคนละภาษาก็ตาม ข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า ผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ผูกพันอย่างแยกไม่ออกกับนโยบายที่คนชั้นกลางเรียกอย่างเหยียดๆ ว่า "ประชานิยม"

ฉะนั้น ผมจึงอยากเดาว่า หลังจากที่คุณทักษิณย้ายก้นออกไปแล้ว รัฐบาลใหม่ (ถ้ายังต้องอาศัยการเลือกตั้งเป็นทางเข้าสู่อำนาจอยู่) จะหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่ามีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งพอจะฝ่าหัวคะแนน นำเอาผลประโยชน์ไปให้ถึงมือของประชาชนโดยตรงได้ บางส่วนของนโยบายเช่นนี้จะนำมาซึ่งการต่อต้านของคนชั้นกลางในเมือง เว้นแต่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประชาชนในชนบทกับเมืองสัมพันธ์กันโดยตรงมากขึ้น หมายความว่าเมืองกับชนบทมาต่อกันโดยตัวเชื่อมมีบทบาทน้อยลง หรือองค์กรภาคประชาชนขยายเครือข่ายไปได้กว้างขวางขึ้นในหมู่ประชาชน แต่ไม่มีรัฐบาลไหนชอบองค์กรประชาชนที่ตัวคุมไม่ได้ ฉะนั้นจึงมักขัดขวางการเติบโตขององค์กรภาคประชาชน

แต่เมืองไทยปัจจุบันไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขนาดนั้น ฉะนั้นตัวเชื่อมของเมืองและชนบทในทางเศรษฐกิจก็จะมีบทบาทเป็นกลุ่มหัวคะแนนที่มีความสำคัญต่อไป

3. "เสียสละทักษิณเพื่อรักษาระบอบทักษิณไว้"
โดย เกษียร เตชะพีระ
หากนิยามระบอบทักษิณว่าหมายรวมถึง [วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยม+เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ] ตามอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แล้ว สิ่งที่ชนชั้นปกครองไทยกำลังพยายามดำเนินการให้ลุล่วงไปหลังเลือกตั้ง 2 เมษาฯ อย่างขะมักเขม้นก็คือ การเสียสละทักษิณเพื่อรักษาระบอบทักษิณไว้นั่นเอง!

ทั้งนี้ เพราะในเงาอำมหิตของอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่แห่งระบอบทักษิณนั้น เอาเข้าจริงมีลายนิ้วมือของชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางไทยปนเปื้อนอยู่เต็ม-ลองไปส่องดูให้ดีๆ เถอะ และยิ่งปล่อยคุณทักษิณให้รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่อ้อยอิ่งเนิ่นช้าออกไปเท่าไร มันก็จะยิ่งยั่วกระตุ้นการเคลื่อนไหวของม็อบแอนตี้ทักษิณ ให้ยกระดับข้อเรียกร้องของตนให้คมชัดนี้ ไต่สูงขึ้นและไกลออกไปมากขึ้นเท่านั้น

เผลอๆ สายใยเครือข่ายเอื้ออาทรทางอำนาจและผลประโยชน์ที่พัวพันอย่างสลับซับซ้อน ซ่อนปมซ่อนเงื่อนระหว่างกลุ่มทักษิณ ณ ไทยรักไทยกับกลุ่มฝ่ายอื่นๆ ในชนชั้นปกครองไทย และกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ต่างชาติก็จะยิ่งพลอยรับความเสี่ยงและผลกระทบกระเทือนเสียหายมากขึ้นเท่านั้น เพื่อเห็นแก่ระบอบทักษิณ คุณทักษิณจึงต้องออกไปจากตำแหน่งนายกฯ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

ดูเหมือนคุณทักษิณก็จะเข้าใจความข้อนี้ดังที่ได้เอ่ยปากขอรับฟังข้อเสนอสมานฉันท์ทุกชนิด แบบไม่มีข้อแม้ว่าตนต้องอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไปออกมา แน่นอน ผลการเลือกตั้งที่เสียงไม่ลงคะแนนให้พรรคใด + บัตรเสียสูงลิ่วเกินคาดหมาย ย่อมมีส่วนส่งผลสะเทือนต่อเงื่อนไขการประเมินสถานการณ์และตัดสินใจครั้งนี้ พูดให้ถึงที่สุดแบบเลือดเย็นและไม่เกรงใจ การเลือกตั้ง 2 เมษาฯที่ผ่านมานับเป็นยาบ้าทางการเมืองขนานหนึ่ง

มันถูกออกแบบมาให้เพิ่มพลังบ้าทางการเมืองแก่รัฐบาล ในรูปความชอบธรรมอย่างน้อยก็อีกหนึ่งอึดใจ คะแนนที่โหวตออกมา 16 ล้านเสียงแก่ฝ่ายไทยรักไทยและ 10 ล้านเสียงแก่ฝ่ายไม่เลือกพรรคใดรวมกับพรรคเล็กอื่นๆ หลังเลือกตั้งแล้วก็กลายสภาพเป็นชิปทางการเมืองให้พรรครัฐบาล, พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มชนชั้นปกครองอื่นๆ ใช้ต่อรองเกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกันในบ่อนพนันชิงอำนาจ

พรรคไทยรักไทยเชิญชวนให้ทุกพรรคฝ่ายมาร่วมก๊วนแห่งชาติ, พรรคประชาธิปัตย์เกทับ, พรรคชาติไทยทอดไมตรี, ส่วนพรรคมหาชนเบี้ยน้อยหอยน้อย บลั๊ฟฟ์แล้วขอแทงด้วยมือหนึ่ง ขณะที่บ่อนพนันชิงอำนาจจะเปิดการเจรจาต่อรองหน้าฉากและหลังฉากรอบใหม่ ผู้เล่นฝ่ายต่างๆ ค่อยเผยแสดงความปรารถนาจะให้คนดูที่ร้องแย้วๆ อยู่ข้างบ่อนริมถนนมาแรมเดือนหุบปากรักษาความสงบซะ

พวกท่านได้ทำหน้าที่มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงบนท้องถนนตามระบอบเสรีประชาธิปไตยมาพอสมควรแล้ว พลังการต่อสู้กดดันของท่านได้พลิกเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมือง - ทำให้ต้องยุบสภาก่อนกำหนด จัดเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน บอยคอตการเลือกตั้งเกิด ผลการเลือกตั้งที่ลดทอนความชอบธรรมหรือชิปของพรรครัฐบาลลง - นำมาสู่สถานการณ์ใหม่ที่อาจเปลี่ยนตัวนายกฯได้แล้ว

ฉะนั้น ขอเชิญพวกท่านกลับบ้านกลับช่องไปทำมาหากินตามปกติเถิด, การเมืองของพวกท่านควรจบแล้ว, POLITICS ASUSUAI ของนักการเมืองอาชีพและชนชั้นปกครองกลุ่มอื่นๆ กำลังจะเริ่มใหม่แล้ว ลิเกแห่งวิกประชาธิปไตยกำลังจะเริ่มแสดงอีกครั้งเตรง...เตรง...เตร่ง...เตร๊ง... ที่นี่ไม่ใช่ที่ทางของพวกท่าน ไม่มีที่ทางสำหรับพวกท่าน กลับบ้านเถอะมือสมัครเล่นทั้งหลายนี่เป็นธุระของมืออาชีพ

เชื่อว่านอกจากเปลี่ยนตัวนายกฯ ประชาชนคงได้บำเหน็จความชอบที่อุตส่าห์ช่วยไล่ทักษิณเป็นของชำร่วยเล็กๆ น้อยๆ ติดมือไปบ้าง. กฟผ.คงอีกพักใหญ่แหละกว่าจะลองแปรรูปใหม่..., FTA กับอเมริกาคงทอดระยะห่างออกไปไม่รีบเร่ง..., กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ อาจชะลอไว้ก่อน...

แต่เรื่องจะให้ถอดรื้อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน โดยเอาเข้าตลาดหุ้นที่ทำมาแล้ว ไม่ว่ากรณี ปตท., กสท, ทศท, อสมท ฯลฯ นั้นอย่าหวัง - นี่เป็นฉันทามติร่วมของชนชั้นปกครองไทยว่า ต้อง PRIVATIZE & GLOBALIZE & NEO-LIBERALIZE ประเทศไทยต่อไป มิอาจเป็นอื่นได้ TINA (THERE IS NO ALTERNATIVE!) (ฉะนั้นศาลปกครองระวังตัวให้จงดี!)

ต่างแต่ตรงแบบทักษิณออกจะแคบไปหน่อย ประเจิดประเจ้อไปนิด แบ่งปันกันกินกันใช้ไม่ทั่วถึงถูกถ้วนในหมู่ชนชั้นปกครอง ฉะนั้นต้องจัดระเบียบการจัดสรรทรัพยากรประเทศไทยกันใหม่ ให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้นสำหรับชนชั้นปกครองไทย แล้วเรียกมันว่า "ปฏิรูปการเมืองรอบ 2"

กิจกรรมจัดระเบียบประเทศทำนองนี้ จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเกินไปไม่ได้ มันจะวุ่นวายและไม่ดี ต้องหาทางจำกัดวงตีกรอบให้อยู่ในหมู่ผู้รู้ผู้เหมาะสม ผู้มีอำนาจในแวดวงชนชั้นปกครอง ที่เป็นนักแสดงมืออาชีพประจำวิกลิเกประชาธิปไตย ลิเกชนชั้นปกครองกำลังจะเริ่มแล้ว ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนควรหยุดได้ ฉะนั้นต้องหาทางให้ม็อบหยุด การเสียสละคุณทักษิณเป็นเหตุผลที่ดีที่จะให้ม็อบหยุด

ถ้าเหตุผลแค่นั้นไม่พอ และถ้าจำเป็น ก็งัดข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ออกมาเพื่อเบรกม็อบเสีย โดยเริ่มที่ตัวผู้นำม็อบสำคัญซึ่งกุมสื่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขและธำรงรักษาระบอบทักษิณ ให้พัฒนาสถาพรเป็นผลดีแก่ประโยชน์สุขของชนชั้นปกครองไทย และกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ต่างชาติทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยรวมสืบไป

การเคลื่อนไหวแอนตี้ทักษิณรอบนี้ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมืองอื่นๆ ได้ค้นพบหรือรื้อฟื้นความจำเกี่ยวกับม็อบที่ห่างหายไปนับสิบๆ ปี ได้เข้าร่วมม็อบ สนุกกับม็อบ เสี่ยงกับม็อบ ผจญภัยกับม็อบ หัวเราะกับม็อบ ร้องไห้กับม็อบ ให้แก่ม็อบ รับจากม็อบ - ซึ่งก็คือบรรดาคนแปลกหน้าที่เอื้อมมือมาสัมผัสใจของคุณ เป็นพวกเดียวกับคุณ เป็นเพื่อนคุณในนามม็อบ

การมาม็อบให้ความหฤหรรษ์แห่งการมีส่วนร่วม การแสดงพลังร่วมกัน การเปล่งเสียงร้องตะโกนสุดเสียงว่า "ท้าาาากษิณ ออกไป!" การเสียสละแบ่งปัน การทำดีเพื่อส่วนรวมโดยไม่เห็นแก่ตัว มิตรภาพ สมานฉันท์ เอกลักษณ์ใหม่ จิตใจเป็นเจ้าของชาติ ฯลฯ ที่ชีวิตเห่ยๆ ของคนชั้นกลางในเมืองไม่มีให้มาก่อน คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมืองต่างๆ จึงเสพติดม็อบกันงอมแงมเป็นล้านๆ คน ไปม็อบแล้ว ไปม็อบเล่าม็อบเป็นสัปดาห์เป็นเดือนไม่ยอมเลิก

แต่ปัญหาของม็อบก็คือเดี๋ยวเรียก เดี๋ยวก็เลิก ต่อให้เรียกชุมนุมถี่หรือนานขนาดไหน...แต่ในที่สุด มันก็ไม่ใช่ชีวิตปกติ ในที่สุด คนชั้นกลางในเมืองก็ต้องเดินออกจากม็อบกลับไปสู่บ้านช่องห้องหอ ที่ทำงาน รถติด ญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งธุรกิจแห่งชีวิตเห่ยๆ ของตนตามเดิม ม็อบไม่ถาวร มันเป็นสิ่งชั่วคราว ต่อให้ชอบแค่ไหนในที่สุดคุณก็ต้องกลับจากมัน

ถ้าส่วนที่ดีที่สุดของม็อบคือ "ท้าาาาากษิณ ออกไป!" ส่วนที่เศร้าที่สุดของม็อบคือ...แหะๆ แล้วเราก็ต้องกลับออกมากลับสู่ตัวตนเดิมของเรา จะ INSTITUTIONALIZE หรือทำให้เป็นสถาบันที่มั่นคงยั่งยืนซึ่งอำนาจประชาชนโดยตรงที่ปรากฏในรูปม็อบอย่างไร? จะผดุงยกระดับให้พลังประชาชนกลายเป็นสถาบันหลักอย่างหนึ่งของชาติ นอกเหนือจากสถาบันหลักทางการเมืองอื่นๆ อย่างวิกลิเกประชาธิปไตย อย่างไร?

จะช่วงชิงนิยามความหมาย ระเบียบวาระและกระบวนการทำ "ปฏิรูปการเมืองรอบ 2" ให้มาเป็นของการเมืองภาคประชาชนชั้นต่างๆ อย่างไร?


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
170449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เรื่องจะให้ถอดรื้อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน โดยเอาเข้าตลาดหุ้นที่ทำมาแล้ว ไม่ว่ากรณี ปตท., กสท, ทศท, อสมท ฯลฯ นั้นอย่าหวัง - นี่เป็นฉันทามติร่วมของชนชั้นปกครองไทยว่า ต้อง PRIVATIZE & GLOBALIZE & NEO-LIBERALIZE ประเทศไทยต่อไป มิอาจเป็นอื่นได้ TINA (THERE IS NO ALTERNATIVE!) (ฉะนั้นศาลปกครองระวังตัวให้จงดี!) ต่างแต่ตรงแบบทักษิณออกจะแคบไปหน่อย ประเจิดประเจ้อไปนิด แบ่งปันกันกินกันใช้ไม่ทั่วถึงถูกถ้วนในหมู่ชนชั้นปกครอง ฉะนั้นต้องจัดระเบียบการจัดสรรทรัพยากรประเทศไทยกันใหม่ ให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้นสำหรับชนชั้นปกครองไทย แล้วเรียกมันว่า "ปฏิรูปการเมืองรอบ ๒"