The Midnight University
บทความเชิงวิชาการ นิธิวิพากษ์รัฐบาล
ย้อนรำลึกถึงผลงานรัฐบาลทักษิณ (ตอนที่ ๑)
รวบรวมผลงาน นิธิ เอียวศรีวงศ์
จัดทำโดยกองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชน
เขียนโดย ศ.ดร.นิธิเอียวศรีวงศ์ อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ถึงผลงานของรัฐบาลไทยรักไทย ประกอบด้วย
๑.
การตลาดหรือการไม่ฉลาด
๒. กระเช้าพัฒนา ๓. บ๊าย
บาย ๔. ทักษิณิสต์ตัวจริง
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 883
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12.5 หน้ากระดาษ A4)
ย้อนรำลึกถึงผลงานรัฐบาลทักษิณ
(ตอนที่ ๑)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1. การตลาดหรือการไม่ฉลาด
รมต.เกษตรฯให้สัมภาษณ์ว่า กำลังจะเชิญให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านน้ำ
ดังนั้นท่านจึงจะเผยแพร่โครงการน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการอนุรักษ์น้ำ,
การสร้างเขื่อน การป้องกันน้ำท่วม ผ่านไปทางสถานทูตต่างๆ คงจะด้วยความหวังว่าทูตย่อมเผยแพร่โครงการเหล่านี้ในประเทศของตนเอง
ดึงดูดให้บริษัทก่อสร้างของตัวเข้ามาประมูลทำโครงการในประเทศไทย
ท่านรัฐมนตรีอธิบายว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยได้รับเทคโนโลยีการจัดการน้ำใหม่ๆ เข้ามา ดูเหมือนคำสัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีเกษตรฯจะสะท้อนความคลั่งไคล้เทคโนโลยีอย่างไม่ลืมหูลืมตาของรัฐบาลชุดนี้ ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี ปฏิรูปการศึกษาคือคอมพิวเตอร์ ทั้งในโรงเรียนและในบ้าน การแก้ปัญหาจราจรซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ แล้วคือระบบราง ประหยัดพลังงานคือเอ็นจีวี การท่องเที่ยวคือไนท์ซาฟารี ฯลฯ
ผมไม่เคยรู้เลยว่า มันจะมีปัญหาอะไรในโลกนี้ได้ถ้าไม่มีคน แต่เหตุใดคนจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ก็เพราะความนับถือเทคโนโลยีจนคิดว่าคนควรอยู่ภายใต้กำกับของมันให้ราบคาบ แล้วปัญหาก็จะหมดไปเอง
แม้แต่ไม่คำนึงถึงคนเลย น้ำในแต่ละประเทศก็มีที่มาและที่ไปแตกต่างกันตามภูมิประเทศและภูมิอากาศ ชลประทานระบบเขื่อนของเมืองฝรั่งไม่ต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของน้ำ เพราะมันคือยอดเขาซึ่งถูกหิมะปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปี แต่ระบบเขื่อนของเรากลับไม่ใส่ใจต่อการรักษาแหล่งน้ำเหนือเขื่อน เริ่มต้นก็สนามกอล์ฟริมเขื่อน ซึ่งทำลายป่าไปส่วนหนึ่ง แล้วก็ขยายไปตามเส้นทางคมนาคมจนถึงยอดเขาหลายต่อหลายลูก
การอนุรักษ์น้ำกับการอนุรักษ์ป่ากลายเป็นเรื่องเดียวกัน และการอนุรักษ์ป่าหลีกเลี่ยงคนไม่ได้ เพราะมีคนอยู่ในป่านับเป็นล้านครอบครัว ยังไม่พูดถึงคนที่เข้าไปใช้ทรัพยากรของป่าอย่างยั่งยืนอีกไม่รู้จะกี่ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของเกษตรเชิงพาณิชย์ที่มีการใช้น้ำอย่างหนัก ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวกับคนทั้งนั้น
เทคโนโลยีที่นำเข้าได้อย่างทื่อๆ โดยไม่ค่อยมีเงื่อนไขของคนเข้ามาเกี่ยว เช่น รถไฟ, โทรเลข, โทรศัพท์, ถนน, ฯลฯ หมดไปตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้ว เทคโนโลยีอะไรก็ตามที่เหลืออยู่นำเข้าอย่างทื่อๆ อย่างนั้นไม่ได้ เราจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวเองให้ดีพอ เพื่อจะสามารถเลือกเทคโนโลยี และปรับเทคโนโลยีได้
ฉะนั้นการเรียนรู้จักเทคโนโลยีน้ำที่ไม่ว่าทันสมัยเท่าไร เราจำเป็นต้องรู้ก่อน (และเมืองไทยและกระทรวงเกษตรฯก็มีความสามารถในขั้นนี้อย่างแน่นอน) ไม่อย่างนั้นจะเลือกให้เหมาะกับคนของเราได้อย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำตอบเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้ตัวเอง จะให้ดีวิเศษไปกว่านั้น กระบวนการสร้างคำตอบเกี่ยวกับน้ำต้องรวมเอาคนหลากหลายประเภท (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ) เข้ามามีส่วนร่วมในการแสวงหาคำตอบ และในที่สุดก็มีส่วนร่วมในการเลือกเทคโนโลยีและเลือกปรับเทคโนโลยีด้วย
พ่อค้าฝรั่ง, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ฯลฯ ที่อยากจะขายเขื่อน, ขายเทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วม, รวมทั้งเทคโนโลยีอนุรักษ์น้ำ ล้วนไม่รู้จักคนไทย ไม่รู้ว่าเราทำมาหากินอย่างไร สัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ไม่รู้ว่าเราใฝ่ฝันอะไรในชีวิต ย่อมไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เราได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างสินค้าที่ทำกำไรได้มากที่สุด กับสินค้าที่มีประโยชน์ต่อลูกค้าที่สุด พ่อค้าจะเลือกอะไร?
วิธีบริหารน้ำของชาติด้วยการเปิดสีข้างให้พ่อค้าแทงเช่นนี้ ผมคิดไม่ออกเหมือนกันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากเดาว่าเป็นการตัดสินใจลวกๆ เพื่อสร้างผลงานและความประทับใจให้แก่ประชาชน ในยามที่ความนิยมของรัฐบาลกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ
ที่ต้องเดาเช่นนั้น ก็เพราะไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรฯเท่านั้นที่สร้างผลงานกันอย่างลวกๆ เช่นนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ทำอย่างเดียวกัน เมื่อท่านพูดกับประชาชนในรายการวิทยุของท่าน(และขยายความโดยโฆษกรัฐบาล)ว่า เส้นทางรถไฟฟ้าสิบสายของกรุงเทพฯ นั้น ไม่ได้เป็นเส้นทางที่มาจากการสำรวจ-วิเคราะห์-ต่อรอง(กับประชาชนจนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย)อย่างละเอียดมาแล้ว เป็นการวางแผนอย่างเคร่าๆ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลจะประกาศเรียกประมูลแบบประหลาดๆ คือให้พ่อค้าเสนอทั้งราคาและโครงการละเอียดมาเสร็จ รัฐบาลจะเลือกเอาในภายหลัง รวมทั้งอาจต่อรองเปลี่ยนเส้นทางเดินและราคาได้ด้วย ก็คงต้องถามคำถามเดิมว่า แล้วพ่อค้าจะเสนอโครงการที่ทำกำไรได้มากที่สุด หรือโครงการที่มีประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตแก่กรุงเทพฯ ที่สุด?
ในขณะเดียวกัน ถ้าพ่อค้าต้องเป็นผู้ร่างโครงการเอง ต้นทุนที่จะเสนอโครงการย่อมแพงขึ้นมาก ถ้าโครงการไม่ได้รับเลือกจากรัฐบาล เงินลงทุนที่ลงไปแล้วก็สูญเปล่า ฉะนั้นหากจะต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางเท่าไร พ่อค้าก็ยินดีจะเสียเพื่อให้โครงการได้รับเลือก (ในราคาที่พ่อค้าคำนวณแล้วว่าได้กำไร) ยิ่งคิดว่าจะจ่ายราคาโครงการกันด้วยยางพารา ก็ดูเหมือนโครงการรถไฟฟ้า 10 สายจะกลายเป็นคำสัญญาก่อนการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก
อย่าคิดนะครับว่า เฉพาะตวงน้ำยางส่ง ก็ได้รถไฟฟ้า 10 สายมาเลย เนื่องจากยางเป็นสินค้าที่ราคาผันผวน ฉะนั้นจึงต้องมีการตีราคายางต่อกิโลเป็นราคาที่แน่นอนในระยะ 20 ปี หากปีใดที่ราคายางต่ำกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ รัฐบาลก็ต้องควักเงินมาชดเชยให้ครบ แม้กระนั้น พ่อค้าไทยจำนวนมากก็คิดว่า นายทุนต่างชาติไม่สนใจโครงการนี้ หากจะจ่ายกันเป็นยางพารา
ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างสำคัญซึ่งไม่ควรลืมก็คือ ยางพาราไม่ได้มีแต่น้ำยางและเนื้อไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น ยางยังต้องการที่ดินสำหรับเพาะปลูก เพื่อให้ได้น้ำยางมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทนั้น ต้องการที่ดินสักแค่ไหนผมก็คำนวณไม่ถูก แล้วจะอยู่ที่ไหนของประเทศ จำเป็นต้องกระจุกตัวหนาแน่นสักเพียงใดให้คุ้มกับกระบวนการผลิต จะมีผลต่อระบบนิเวศอย่างไร เอาแรงงานที่ไหนมากรีดยาง ฯลฯ มันไม่ง่ายเหมือนพูดส่งกระจายเสียงวิทยุหรอกครับ
ลงท้าย ผมก็สรุปไม่ได้ว่า เรื่องมันอย่างไรกันแน่ ถ้ารัฐบาลไม่โง่ถึงกับไปเปิดสีข้างให้พ่อค้าแทงตามใจชอบอย่างนั้น ก็แสดงว่าโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องไม่จริงทั้งนั้น แต่ถ้าโครงการเหล่านี้เป็นเรื่องจริง ก็น่าตกใจว่าเรามีรัฐบาลเขลาขนาดนี้ได้อย่างไร
2. กระเช้าพัฒนา
ในโลกนี้มีที่ซึ่งคนแก่ไม่ควรไปหลายที่ด้วยกัน เช่นโรงอาบอบนวด, เธค, บันจี้จั๊มพ์,
หลังคาโลก ฯลฯ และยอดภูกระดึง อย่างน้อยก็เพื่อหลีกเลี่ยงหัวใจวาย ใครบอกกันว่า
หนุ่มสาวเขาไปไหน ตายายจะต้องตามไปด้วยทุกแห่ง
อันที่จริงภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นยอด ซึ่งให้ความรู้แก่ผู้ที่ได้สัมผัสอย่างที่ไม่อาจหาจากที่อื่นได้ง่ายๆ ผมหมายความถึงความรู้เชิงข้อมูล เช่นระบบนิเวศ, พันธุ์พืชและสัตว์, วิถีชีวิตของผู้คน เป็นต้น และยังมีความรู้ในเชิงความรู้สึกและประสบการณ์ การเดินขึ้นเขา 8 กม.เพื่อไปนอนค้างบนยอดภูเป็นประสบการณ์ที่ให้บทเรียนแก่ชีวิตหลายอย่าง การได้นอนอย่างสงบในราวป่า ท่ามกลางเสียงจักจั่นเรไรและเสียงเพรียกของสัตว์ป่า เหล่านี้ล้วนสอนให้นักท่องเที่ยวมองลึกลงไปในชีวิตของตนเอง ได้มีโอกาสจ้องหน้าความโลภ ความโกรธ ความหลงในความมืด แล้วสำนึกได้ว่าชีวิตต้องการอะไรกันแน่
ถ้าเที่ยวเป็น กลับจากภูกระดึงอาจกลายเป็นคนใหม่ที่มีความสุขมากขึ้น อาจรู้สึกว่าเงินเดือนที่เคยนึกว่าไม่พอกลับมีมากจนใช้ไม่หมด คนที่เป็นคู่แข่งแท้จริงก็เป็นคนที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ นายที่ไม่เอาไหนคนนั้นยิ่งน่าเห็นใจกว่าทุกคน เพราะเขามีทุกข์มากเสียกว่าที่ใครควรไปเพิ่มทุกข์ให้เขาอีก
แต่ภูกระดึงจะให้อะไรดีๆ แก่นักท่องเที่ยวได้ก็ต้องจัดการท่องเที่ยวอย่างฉลาด คือรู้ว่าคุณค่าของการท่องเที่ยวมีมากกว่าการทำเงิน ฉะนั้น จะปล่อยให้นักท่องเที่ยวขึ้นภูกันวันละหมื่นไม่ได้ เนื่องจากระบบนิเวศของภูกระดึงรองรับได้เพียงวันละ 1,500 คนเท่านั้น การขึ้นภูจึงต้องมีคิวไว้จองกันเป็นแรมเดือน เพราะภูกระดึงไม่ได้มีไว้ให้ไปตั้งแคมป์ดีดกีตาร์กันทั้งคืน หรือเป็นเพียงสถานที่สำหรับไว้เปลี่ยนที่กินเหล้า คนที่ไม่พร้อมจะไปสัมผัสอะไรดีๆ อย่างนั้นที่ภูกระดึงก็ไปหาที่อื่นเที่ยว
แต่การจัดการท่องเที่ยวในเมืองไทย ไม่เคยคิดถึงคุณค่าอะไรอื่นของการท่องเที่ยว นอกจากทำเงิน ร้ายไปกว่านั้น ยังเป็นการทำเงินของคนกลุ่มหยิบมือเดียวด้วย เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยว เอื้อให้เฉพาะคนมีทุนเท่านั้นที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวแบบนี้ได้
เช่นถ้ามีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อย่างไรเสียก็น่าจะมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมภูกระดึงมากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทำให้ใครได้ประโยชน์ เฉพาะคนที่มีทุนทำโรงแรมห้าดาวที่ตีนภูเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ ก็คงมีตายายไปพัก เพื่อขึ้นกระเช้าไปดูพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า หรือขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกตอนพลบ กินอะไรในโรงแรมและซื้อของฝากลูกหลานในอาร์เขตของโรงแรม วันรุ่งขึ้นก็นั่งรถเช่าของโรงแรมไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แล้วก็บินกลับกรุงเทพฯ
จะมีคนท้องถิ่นสักกี่คนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวของคุณตาและคุณยาย แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขมวลรวมทางเศรษฐกิจของจังหวัดเลยคงสูงขึ้น แต่เงินที่งอกเงยขึ้นนั้นย่อมไหลกลับกรุงเทพฯ แล้วเลยไปยังสิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, สหรัฐ, ยุโรปไปกว่าครึ่ง
แม้กระนั้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว ก็เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลไทยสืบมาหลายยุคสมัย เมื่อไรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ไม่ว่าจะเป็นประเภทซีอีโอหรือไม่ก็ตาม) เสนอแผนงานเศรษฐกิจ ก็จะต้องมีส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ติดมาด้วยเสมอ แม้แต่รัฐบาลในกรุงเทพฯก็คิดได้เท่านี้ จะหวังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคิดอะไรมากไปกว่านี้ได้อย่างไร
การจัดการท่องเที่ยวในเมืองไทยทำอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น คือส่งเสริมกันด้วยการเอาภาษีมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนท่องเที่ยวเพียงไม่กี่ราย และหลายรายในจำนวนนั้นก็เป็นเพียงนายหน้าของนายทุนต่างชาติเท่านั้น
ว่ากันที่จริงแล้ว นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวนี้ ก็นับว่าสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยทำตลอดมา นั่นก็คือลงทุนเปลี่ยนวิถีทางการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม เพื่อให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาใช้ทรัพยากรนั้นทำเงิน เช่นเปลี่ยนแม่น้ำให้กลายเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า, เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเดิม ซึ่งมีคนใช้เก็บเกี่ยวอาหารและเพาะปลูกตามฤดู ให้กลายเป็นไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว, เปลี่ยนพรุให้กลายเป็นที่แห้ง เพื่อเปิดให้มีการเพาะปลูก, เปลี่ยนทะเลใกล้ฝั่งให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์, เปลี่ยนวนอุทยานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว, เปลี่ยนป่าธรรมชาติให้กลายเป็นสวนป่า, เปลี่ยนการศึกษาให้กลายเป็นการเตรียมแรงงานแก่ภาคอุตสาหกรรม, เปลี่ยนงานประเพณีท้องถิ่นให้กลายเป็นมหกรรมท่องเที่ยว ฯลฯ
ผู้คนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกไปจากฐานทรัพยากร ในขณะที่คนกลุ่มใหม่ซึ่งเข้ามาใช้ทรัพยากรเหล่านั้นก็ไม่สนใจจะใช้อย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายมีแคบๆ เพียงการทำกำไรเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม นโยบายพัฒนาอาจมีความหมายในอีกทางหนึ่งก็ได้ คือการพัฒนาการใช้ทรัพยากรของคนกลุ่มเก่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น คนปากมูลน่าจะเป็นประชากรกลุ่มแรกๆ ที่สามารถส่งออกปลาร้าไปได้ทั่วโลก หากเขามีความชำนาญในด้านการทำหีบห่อ และการตลาดของโลก เช่นเดียวกับชาวประมงชายฝั่งอีกมาก สามารถพัฒนาผลผลิตของเขาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อีกมาก หากทะเลของเขายังอุดมสมบูรณ์ คนเหล่านี้แหละที่จะเป็นฐานอันแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทย บางคนในพวกเขาอาจเป็นนายทุนเอง อีกหลายคนเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวสามารถส่งเขาเข้าเรียนหนังสือไปได้สูงๆ
เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว หากจัดการในลักษณะที่จะเพิ่มศักยภาพของคนในท้องถิ่น ในการทำธุรกิจท่องเที่ยวเอง ไม่ใช่ไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนท้องถิ่นไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ ต้องรอนายทุนต่างถิ่นมาจ้างงานในราคาถูกเพราะเป็นแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น
หลังนโยบายพัฒนาและจัดการท่องเที่ยวมาหลายทศวรรษ คนไทยส่วนใหญ่ก็ได้แต่แหงนคอตั้งบ่าชะเง้อดูเทวดาเหาะไปมาบนโบกี้กระเช้าไฟฟ้าเท่านั้น
3. บ๊าย
บาย
วันที่ยานอวกาศของรัสเซียพานักบินอวกาศไทยคนแรกขึ้นสู่อวกาศ เราคงชักธงชาติกันทั้งประเทศ
อาจหยุดราชการแล้วร่วมกันจุดเทียนร้องเพลงชาติที่สนามหลวง ส่งใจให้แก่วีรบุรุษของไทยที่อยู่ข้างบนโน้น
ผมนั่งนึกอยู่นานกว่าจะนึกออกว่า การส่งคนไทยขึ้นไปสู่อวกาศจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างไร
เพราะประโยชน์อะไรที่จับต้องได้นั้นไม่มีนะครับ ถ้าพยายามจะสร้างให้มีขึ้นสักวันหนึ่งข้างหน้า
ก็ยังไม่จำเป็นต้องซื้อตั๋วให้ใครขึ้นสู่อวกาศในตอนนี้
ความสามารถที่จะส่งคนขึ้นไปสู่อวกาศนั้นประกอบด้วยสองส่วน หนึ่งคือมีแรงที่จะเขวี้ยงหมอนั่นให้หลุดออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ และสองมีคำถามบางอย่างที่จะให้หมอนั่นตอบ อันเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้บนพื้นโลก
ส่วนที่หนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากแรงผลักดันด้านการทหาร ลองนึกไปเถิดครับว่าจรวดที่สามารถนำเอาดาวเทียมหรือยานกระสวยอวกาศขึ้นไปสู่วงโคจรได้นั้น ต้องใช้ความรู้ความสามารถหลากหลายด้านแค่ไหน และลงใครมีจรวดที่ทำอย่างนั้นได้ เขาก็ย่อมมีจรวดที่ติดหัวรบนิวเคลียร์สำหรับไปหย่อนที่มุมไหนของโลกก็ได้
ไม่ใช่แค่มุมไหนเท่านั้นนะครับ ต้องพูดว่าซอกไหนของโลกถึงจะถูก เพราะการยิงดาวเทียมหรือยานอวกาศให้เข้าสู่วงโคจร หรือลงตรงจุดไหนของดวงจันทร์นั้น จะผิดพลาดแม้แต่เศษเสี้ยวขององศาหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างสุดยอดจึงจะทำได้ ฉะนั้นแสนยานุภาพที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่จรวดหรือดาวเทียมเท่ากับฐานความรู้ของสังคมนั้นๆ
ที่สหภาพโซเวียตไม่กล้าแข่งโครงการสตาร์วอร์กับสหรัฐนั้น ก็เพราะโซเวียตรู้ดีว่าฐานความรู้ตรงนี้ของตัวสู้สหรัฐไม่ได้ ฉะนั้น ใครที่มีจรวดยิงอะไรขึ้นไปสู่อวกาศ แล้ววางไว้ในจุดที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้ จึงเป็นการประกาศแสนยานุภาพทางทหารที่สร้างความระย่อแก่คนอื่นได้หมด เช่นจรวดของจีนซึ่งเพิ่งส่งคนออกไปสู่อวกาศ บอกสหรัฐว่าจะให้นิวเคลียร์ตกลงที่ถนนหมายเลขไหนของนิวยอร์กก็บอกมาได้เลย รับรองผล
และอย่าลืมนะครับว่าอาวุธที่ดีที่สุดคืออาวุธที่มีสมรรถนะสูงเสียจนไม่ต้องใช้ ดังนั้นการมีจรวดขึ้นสู่อวกาศได้จึงเป็นเครื่องมือทางการทหารที่วิเศษ จนอาจหวังได้ว่าไม่ต้องใช้จรวดนั้นยิงไปยังจุดใดบนพื้นโลก
สมมุติว่าชาวยโสธรคนหนึ่งสามารถยิงบั้งไฟไปพ้นแรงดึงดูดของโลกได้ จึงไม่น่ากลัวแก่ใคร และไม่มีความหมายด้านการทหาร เพราะสังคมไทยไม่มีฐานความรู้พอที่จะใช้ประโยชน์บั้งไฟในด้านการทหารได้
สถิติที่อาจทราบกันอยู่แล้วก็คือ 80% ของดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่เวลานี้มีภารกิจด้านการทหารทั้งนั้น ในส่วนที่หนึ่งที่เกี่ยวกับการทหารนี้ ก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าประเทศไทยไม่มีทางหาประโยชน์อะไรได้จากโครงการอวกาศเลย แม้แต่จะขอแค่ได้มีชื่อว่าคนไทยได้ขึ้นสู่อวกาศแล้วก็แทบจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
เพราะคนเอเชียคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศคือพลอากาศโท(ปัจจุบัน) ฟาม ตวน ชาวเวียดนาม ขึ้นไปประจำสถานีอวกาศโซลยุต 6 ของโซเวียตเมื่อ พ.ศ.2523 เป็นเวลา 8 วัน เพื่อร่วมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ชาวอัฟฆานชื่อนายอับดุล อาฮัด โมห์มานด์ ขึ้นไปสู่สถานีอวกาศเมียร์ตั้งแต่ พ.ศ.2531
แม้ว่าการยิงจรวดขึ้นสู่อวกาศมีจุดมุ่งหมายทางการทหารเป็นหลักดังที่กล่าวแล้ว แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่ามีผลพลอยได้ด้านอื่นอย่างกว้างขวางเหมือนกัน เฉพาะด้านวัสดุศาสตร์อย่างเดียวซึ่งต้องเตรียมการสำหรับการเดินทางก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ด้านอุตสาหกรรมและอื่นๆ บนพื้นโลกได้อีกมากแล้ว
แต่จะติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ สามารถทำได้ดีกว่า, ง่ายกว่า, และมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อนั่งทำบนพื้นโลกนี่แหละครับ และถ้าประเทศไทยจะลงทุนกับการศึกษาเล่าเรียนเรื่องเหล่านี้ ผมก็เห็นว่าคุ้ม เพราะแม้เราคงไม่สามารถเป็นต้นคิดด้านการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ในเวลานี้ แต่การรับจ้างทำของให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้สูงๆ นั้น ต้องมีฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง เพราะมันไม่ง่ายเหมือนการก๊อบปี้โปรแกรมวินโดวส์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผลพลอยได้ของส่วนที่หนึ่งนี้สัมพันธ์กับส่วนที่สองอย่างแยกไม่ออก นั่นคือการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพราะอวกาศเป็นสภาพเงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นบนโลกไม่ได้ จึงต้องไปทดลองศึกษากันข้างบนโน่น แน่นอนว่าแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าดังกล่าว มาจากการเก็งกำไรของบริษัทธุรกิจ ส่วนที่มาจากความอยากรู้อยากเห็นบริสุทธิ์ของนักวิชาการก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าไม่อิงกับการหากำไร หรือการสร้างแสนยานุภาพทางการทหารเลยแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะบำบัดความอยากรู้อยากเห็นดังกล่าวได้
ในแง่วิชาการที่เรียกกันว่า "การสำรวจอวกาศ" ไม่เหมือนการเที่ยวบุกป่าฝ่าดงหาดูอะไรแปลกๆ เพราะโครงการทั้งโครงการมีคำถามที่อยากจะตอบตั้งแต่เริ่มแล้ว คำถามเหล่านี้มีพื้นฐานจากความรู้ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ จนกว่าจะพ้นออกไปจากพื้นโลกก่อน หรือสมมติฐานทางฟิสิกส์, เคมี หรือชีววิทยา หรือจิตวิทยาที่พิสูจน์ได้ด้วยสภาพเงื่อนไขของอวกาศเท่านั้น
แม้แต่ฐานความรู้ตามจารีตก็อาจนำมาซึ่งคำถามสำหรับการท่องอวกาศได้ เช่น นายราเกษ ศรมา ชาวอินเดียซึ่งขึ้นไปสู่สถานีอวกาศโซลยุต 7 เป็นเวลา 8 วันใน พ.ศ.2527 เพื่อทดลองใช้การทำโยคะในการเผชิญกับสภาพไร้น้ำหนัก แล้วสังคมไทยมีคำถามอะไรที่ไม่อาจตอบได้บนพื้นโลกหรือครับ?
เราควรจะเริ่มที่ไหนดี ระหว่างการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของเราให้ไปถึงพรมแดนที่จำเป็นต้องหาคำตอบข้างบน หรือส่งคนออกไปข้างบนโดยไม่มีฐานความรู้อะไรที่จะถามเลย เราจะเลือกอย่างไหน ระหว่างสังคมที่มีฐานความรู้แข็งแกร่งพอจะเก็บซับความรู้ที่จะขึ้นไปสู่อวกาศ และที่ได้มาจากอวกาศ แต่ไม่ส่งคนขึ้นไปเลย (เช่น สวีเดน, เยอรมนี, อิตาลี หรือน้องใหม่อย่างไอร์แลนด์) หรือสังคมกลวงๆ ที่มีนักบินอวกาศไว้ฉลองกันกลางสนามหลวง
อันที่จริง การท่องอวกาศกำลังเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจมากขึ้น การรับจ้างส่งอะไรขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเป็นธุรกิจที่ทำกันหลายประเทศ แม้แต่ส่งเศรษฐีขึ้นไปเที่ยวเล่นก็ทำกันแล้ว ประเทศไทย(ขอย้ำประเทศไทย ไม่ใช่นายทุนไทย) ควรใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไร เพียงแค่ซื้อตั๋วให้คนไทยได้ขึ้นไปบ้างเท่านั้นหรือ หรือเราควรสร้างฐานความรู้ในสังคมของเราให้ก้าวหน้าและกว้างขวาง จนกระทั่งเรามีคำถามของเราเอง สามารถเตรียมการสำหรับไปตอบคำถามข้างบนของเราเอง แล้วลงทุนจ้างแท็กซี่อวกาศพาเราขึ้นไปส่งข้างบนนั้น(อย่าลืมจ้างให้เขารับกลับด้วย)
วิสัยทัศน์อย่างไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยจริง?
แม้ผมพูดเหมือนว่ายังหาประโยชน์อะไรไม่ได้กับการส่งคนไทยออกไปอวกาศ แต่ที่จริงแล้วการที่ใครได้ออกไปข้างนอกโน่น แล้วมองกลับมายังดวงดาวสีน้ำเงิน เขาจะกลายเป็นบุคคลคนใหม่ไปเลย ที่เคยสำคัญตนว่าตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็จะหายไป เพราะอย่าว่าแต่ตัวเองเลย แม้แต่โลกทั้งใบก็เป็นเพียงฝุ่นธุลีที่ลอยคว้างอย่างไร้ความหมายในเอกภพ
ที่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวก ถือเขาถือเรา ก็จะมองเห็นความเปราะบางของสรรพชีวิตบนพื้นโลก มองเห็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างชีวิตคนพืชและสัตว์ อันจะเป็นหลักประกันให้ชีวิตที่โดดเดี่ยวในจักรวาลนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ที่เคยศรัทธาในวิธีการรุนแรงก็จะหันมาศรัทธาสันติวิธี ที่เคยศรัทธาอำนาจ ก็จะหันมาศรัทธาคุณธรรมความดี
ที่เคยโลภมาก โลภทั้งเงิน โลภทั้งอำนาจ โลภทั้งชื่อเสียงเกียรติยศก็จะมองเห็นความไร้สาระของสิ่งเหล่านี้ ความถือดีในตัวเองจนปล่อยให้โทสะเข้าครอบงำเป็นเจ้าเรือนก็จะคลายลง เกิดความชื่นชมในความสมดุลของสรรพสิ่งเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลในความสัมพันธ์กับคนอื่น, สิ่งอื่น, หรือธรรมชาติ รู้จักปล่อยวางและสงบ
ฉะนั้นประเทศไทยคงได้ประโยชน์จากการซื้อตั๋วส่งคนไปอวกาศอย่างแน่นอน ถ้าเลือกส่งให้ถูกคน อันความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเขาจะเป็นคุณแก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงที่สุด อย่าห่วงเรื่องอายุอานามหรือสุขภาพร่างกายมากนัก เชื่อมือพี่รุสกี้เถิด พี่เขาเตรียมคนขึ้นอวกาศมาแล้วหลายประเภท รับรองว่าทำได้แน่
ส่งขึ้นไปเลยครับ ส่งขึ้นไปเลย
4. ทักษิณิสต์ตัวจริง
ใครไม่ชอบคุณวัฒนา เมืองสุข อย่างไรก็ตาม แต่ผมชอบครับ นี่แหละฮีโร่ตัวจริงเลย
เป็นทักษิณิสต์เสียยิ่งกว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เองเสียอีก คุณวัฒนาไม่เคยไปนั่งเฉยๆในตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ
โดยไม่พยายามจะแก้ปัญหา เพราะคุณวัฒนาไม่ใช่คนที่คอยระวังรักษามิให้ผิวตัวเองถลอกปอกเปิกเหมือนรัฐมนตรีบางคน
และก็อย่างที่รู้อยู่แล้วนะครับว่า ในโลกนี้ปัญหามันแยะ เพราะวิธีแก้ปัญหาประการแรกและอาจเป็นประการเดียวที่มนุษย์ที่ไหนๆ ก็ใช้เหมือนกันได้แก่การบ่นครับ การบ่นเป็นบันไดขั้นต้นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ของการทำตัวให้คุ้นชินกับปัญหา พอคุ้นชินได้สนิทแล้ว ปัญหานั้นก็หมดความเป็นปัญหาแก่เราไปโดยปริยาย ฉะนั้นจึงไม่มีความยากลำบากแก่คุณวัฒนาแต่ประการใด ในการหาปัญหามาแก้
ถ้าใครจับพลัดจับผลูได้เป็นลูกเขยเศรษฐีแล้ว อาจเกรงว่า ถึงคราวเคราะห์ที่ต้องไปนั่งเป็นรัฐมนตรีสักวันหนึ่ง แล้วไม่รู้จะไปหาปัญหาที่ไหนมาแก้ ผมก็ขอแนะนำว่าอย่าวิตกไปเลย วันที่จะต้องไปไหว้ผีประจำกระทรวงเพื่อรับตำแหน่งนั้น ก่อนไปพลิกหน้าสี่ของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใดก็ได้ รับรองต้องเจอเสียงบ่นที่คุณอาจนำไปประกาศพันธะอันยิ่งใหญ่ในการแก้ปัญหานั้นแก่ผู้สื่อข่าวได้แน่
เพราะหน้าสี่ของหนังสือพิมพ์รายวันคือสโมสรการบ่นที่กว้างขวางที่สุดของประเทศนี้ คนไทยนับล้านๆ คน นั่งลงหน้าถ้วยกาแฟและปาท่องโก๋ พลิกหน้าสี่ออกมาฟังเสียงบ่นของกันและกันขรมไปหมด แล้วทุกคนก็สบายใจขึ้นหน่อยว่า อย่างน้อยก็ได้เริ่มแก้ปัญหาที่ตัวต้องเผชิญในชีวิตไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะได้บ่น เดี๋ยวก็คุ้นชินกับปัญหานั้นเอง
เพื่อดำรงรักษาความเป็นสโมสรการบ่นของแฟนานุแฟน หน้าสี่จะไม่มีวันเสียพื้นที่และสมองเพื่อไปวิเคราะห์ปัญหาให้ลึกไปกว่าความอึดอัดลำบากใจลำบากกายที่มนุษย์ต้องเผชิญ ก็บ่นน่ะครับ จะมีใครบ่นโดยวิเคราะห์ปัญหาให้ลึกไปกว่านี้หรือครับ นอกจากพวกนักวิชาการที่ไม่มีอะไรทำ วันๆ ได้แต่นั่งบ่นแบบลึกชนิดที่ไม่มีใครร่วมบ่นด้วย
เมื่อไม่วิเคราะห์ปัญหาให้ถึงรากถึงโคน ฉะนั้นถ้าหน้าสี่จะเสนอทางแก้ปัญหาก็เสนอแบบปลายจมูก เหมือนท่อแตกก็อุดเสีย ปวดท้องก็ไปขี้ ไม่มีเงินก็ไปหาเงินมา และใครที่ไม่แก้ปัญหาแบบโต้งๆ อย่างนี้ จิกหัวด่ามันเลยครับ เพราะการบ่นที่จะมีรสชาติได้ถึงขนาด ก็ต้องมีตัวผู้ร้ายไว้แทนกระโถน สำหรับถ่ายเทความอึดอัดขัดใจลงไปบ้าง ใจจะได้เบาลง ไม่งั้นจะตั้งเป็นสโมสรบ่นใหญ่ขนาดนี้ได้หรือ
ผมไม่ทราบหรอกว่าคุณวัฒนาจับปัญหาขึ้นมาแก้จากสโมสรการบ่นในหน้าสี่หรือไม่ แต่คุณวัฒนาทำอย่างเดียวกันโน่นตั้งแต่ว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว คนไทยไม่นิยมใช้สินค้าไทยเป็นปัญหาหนึ่ง อย่างน้อยนี่ก็เป็นเสียงบ่นมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะแผ่มาถึงไทยเสียอีก แต่นักบ่นทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และรัฐบาล ไม่สนใจจะวิเคราะห์วิจัยว่า เอ้อแล้วทำไมคนไทยถึงไม่นิยมใช้ของไทยล่ะครับ ยกสาเหตุง่ายๆ ให้แก่อะไรที่เบลอๆ เช่น "ค่านิยม"
ฉะนั้นทางแก้ก็ง่ายนิดเดียว เพราะว่ากันว่าคนไทยมี "ค่านิยม" เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ฉะนั้นผู้ใหญ่ก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง เช่นแต่งกายแบบไทยหรือผลิตภัณฑ์ของไทย ผมก็เห็นผู้ใหญ่ไทยแต่งตัวเก้ออย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งหลังยุคพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปัญหายิ่งสลับซับซ้อนขึ้นไปอีกว่าอะไรคือสินค้าไทยล่ะครับ? แอร์มิตซูบิชินี่ใช่หรือไม่ใช่ครับ?
วิธีแก้ปัญหาของคุณวัฒนาก็มาอีหรอบเดียวกันนี่แหละ คือผูกความนิยมไทยเข้ากับคอนเสิร์ตที่วัยรุ่นหลงใหลหัวปักหัวปำ ก็มันเรื่องของ "ค่านิยม" ก็ต้องแก้กันด้วย "ค่านิยม" แต่น่าเสียดายที่คอนเสิร์ตเป็นเวทีประลองยุทธ์ของวัยรุ่นด้วย ผลคือตีกันเละไปพร้อมกับ- "นิยมไทย" กับเพลงไทยที่ก๊อปคนอื่นมา คุณวัฒนาจึงตอบโต้เหมือนคอลัมนิสต์หน้าสี่ทั้งหลาย จิกหัวด่ามันเละกลับไปเลย ไอ้พวกสมองหมาปัญญาควายเอ๊ย
แต่อย่านึกนะครับว่า ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เราจะนิยมไทยหรือไม่ก็ตามเถิด แต่เราเริ่มจะคุ้นชินกับปัญหามากขึ้นแล้วนะครับ เห็นไหมครับว่า สิ่งที่คุณวัฒนาได้ริเริ่มเอาไว้ในสมัยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนเอามาสานต่ออีกเลย ก็มันไม่จำเป็นต้องสานต่อสิ่งที่สำเร็จไปแล้วนี่ครับ
ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อคุณวัฒนาได้มานั่งว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เหมือนจระเข้ได้มาประสบบึงอันใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ของเสียงบ่นที่ปรากฏในหน้าสี่ ย่อมเป็นเรื่องที่กระทบชีวิตของคนชั้นกลางผู้ซื้อหนังสือพิมพ์มากที่สุด ล้วนเกี่ยวกับพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ทั้งนั้น และนั่นคือขุมทรัพย์ของปัญหาที่คุณวัฒนาจะหยิบมาจัดการแก้ไขได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแข่งมอเตอร์ไซค์บนถนน, ขอทาน, มารหัวขนที่ถูกทิ้งตามกองขยะ ฯลฯ
ปัญหามันโต้งๆ ก็แก้มันอย่างโต้งๆ สิครับ วิธีแก้อย่างโต้งๆ ก็ติดปลายจมูกของทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะหาคนใจกล้าที่ไหนมาหยิบคำตอบจากปลายจมูกไปทำเท่านั้น และเขาก็มาแล้วในนามของอัศวินวัฒนา เมืองสุข
ชอบซิ่งกันนักหรือ ถ้างั้นจัดที่ให้ซิ่งเลย จะได้ไกลหูไกลตาชาวบ้านชาวเมือง ถนนที่ไม่ใช้ตอนกลางคืนเยอะแยะไป เอาสักสายหนึ่งไปเล้ย ถ้าชาวบ้านไม่ยอม ก็เอาสนามแข่งที่ไหนสักแห่งซึ่งเขาอยากโฆษณาสถานที่อยู่แล้ว ไปเลย ไปซิ่งให้ตับแลบกันเล้ย
ขอทานมันน่ารำคาญนักใช่ไหม ทางแก้มีอยู่ทางเดียวคือขจัดมันออกไป ขจัดน่ะครับรู้จักคำว่าขจัดไหม คือเอาออกไปน่ะ อย่ามัวถามว่าเอาออกไปไหน นั่นมันเรื่องของขอทาน ไม่ใช่เรื่องของเรา ไปให้พ้นจากถนนหนทางที่เราใช้อยู่ก็แล้วกัน เห็นไหมครับปัญหามันง่ายแค่นี้เอง แล้วจะหาใครละครับที่สามารถขจัดคนออกไปจากถนนได้ดีไปกว่านักเรียนอาชีวะ ขนาดคนที่ไม่ใช่ขอทานยังต้องวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน สาอะไรกับขอทานซึ่งทั้งผิดกฎหมายและไร้อำนาจขนาดนั้น ขอกำลังน้องๆ ช่วยลุยหน่อย เดี๋ยวก็หมด
มารหัวขนตามกองขยะหรือ ก็แม่มันเลี้ยงไม่ไหว เพราะไม่มีเงินหรือไม่มีใจก็ตามเถิด ก็หาคนอื่นเลี้ยงแทนสิครับ รัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างคนที่อยากเลี้ยงกับคนที่อยากทิ้ง ก็แค่นั้นเอง ไม่เคยได้ยินเรื่องของมูลนิธิที่รับหมาข้างถนนมาเลี้ยงไว้ ส่งต่อให้คนที่อยากได้หมาไปเลี้ยงบ้างหรือ ก็ทำอย่างนั้นแหละ ฉะนั้นใครท้องแล้วไม่อยากเลี้ยง เอามาให้รัฐไว้ ทำสัญญากันหน่อยว่าจะไม่เอาคืน เดี๋ยวรัฐจะผ่องถ่ายไปให้คนรักเด็กเอง
แน่นอนครับ ปัญหาสังคมทั้งหมดเหล่านี้มีมิติอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่าที่แปะอยู่ปลายจมูกมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านจิตวิทยา, ด้านสังคม, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ และที่จริงก็มีหน่วยงานทั้งของเอกชนและของรัฐเองที่เข้าใจความซับซ้อนนี้ พยายามแก้ไขด้วยวิธีที่รอบด้านกว่า ขุดลึกลงไปถึงรากเหง้าต้นตอของปัญหากว่า และแก้ไขแบบยั่งยืนกว่า
เช่นเปิดที่พักให้แก่หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ให้โอกาสและหนทางแก่เธอในการหันมาพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และทบทวนศักยภาพในการเป็นแม่ของตนเองอย่างแท้จริง ก่อนที่จะตัดสินใจทิ้งลูกหรือเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และถ้าตัดสินใจเลี้ยง ควรต้องเตรียมใจกายของตัวอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความสุขทั้งแก่ตนเองและลูก เพราะเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในคอก คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ปากคอก
แต่ก็นั่นแหละครับ แล้วอ้ายพวกช่างคิดเหล่านี้แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ก็ยังมีการซิ่งแมงกะไซค์อยู่บนถนนเหมือนเดิม, ยังมีขอทานเต็มเมือง และยังมีมารหัวขนตามกองขยะอยู่แทบทุกวัน คนเขาจะแก้ปัญหาให้สำเร็จเด็ดขาดไปเสียที อ้ายพวกนี้กลับมาค้านโน่นติงนี่ตลอดเวลา จึงควรถูกจิกหัวด่าให้สะใจชาวบ้าน ซึ่งคุณวัฒนาในฐานะวีรบุรุษหน้าสี่ ก็ใช้ความห่ามเหี้ยมจิกหัวด่าไว้แล้วว่า "ดัดจริต"
ตรงกันข้ามกับที่ไปเข้าใจผิดกันว่า ความเป็นวีรบุรุษหน้าสี่ของคุณวัฒนาแปลกแยกจากรัฐบาลทักษิณ ผมกลับคิดว่าลักษณะนี้ของคุณวัฒนานี่แหละครับคือแก่นแท้ของรัฐบาลทักษิณ มองปัญหาได้ลึกเท่าเสียงบ่น และด้วยเหตุดังนั้น จึงออกแบบการแก้ปัญหาจากปลายจมูก แก้ปมด้วยการตัดมันทิ้งเสีย ยากจนนักหรือ ก็แสดงว่าไม่มีตังค์น่ะสิ ฉะนั้นเอาตังค์ยัดใส่มือ ก็จะหายจนภายใน 6 ปี
ระบบการศึกษาของเราห่วยแตกนักหรือ งั้นไปเรียนเมืองนอกกันอำเภอละคน โรงเรียนไม่ดีหรือ งั้นเอาเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์ คนไทยไม่อ่านหนังสือหรือ งั้นเดี๋ยวนายกฯจะว่าให้ฟังว่าได้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง เพราะการอ่านหนังสือนั้นต้องเริ่มที่อยากอ่านก่อน พออยากแล้วเดี๋ยวก็ได้อ่าน ไม่ว่าจะมีหนังสือให้อ่านหรือไม่ก็ตาม
น้ำท่วมหรือ แสดงว่าน้ำไหลช้าไป ถ้าให้มันไหลเร็วๆ มันก็ไม่ท่วมเอง เคยเห็นน้ำท่วมน้ำตกไหม ไม่มีหร็อก ก็มันไหลเร็วนี่ ฝนแล้งไม่มีน้ำใช้หรือ ก็เห็นๆ อยู่แล้ว ไม่มีน้ำก็ต้องหิ้วน้ำไปให้ใช้ แต่หิ้วไม่ไหว ฉะนั้นปิดแม่น้ำวางท่อส่งน้ำไปให้ถึงคนที่อยากใช้น้ำ แค่นั้นก็ได้อาบน้ำสระผมกันสบายไป ไฟใต้หรือ ดับได้ เดี๋ยวจะสั่งลุยมันเอง ขอแค่สามเดือน ขี้คร้านจะเงียบสงบจนขนหัวลุกไปเสียอีกล่ะสิ
คิดไปเถิดครับทุกเรื่องของนโยบายรัฐบาลทักษิณ อะไรๆ ก็อยู่ปากคอกนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรือคำตอบ และถ้าใครชี้อะไรที่ไกลเกินคอกออกไป ก็จิกหัวด่ามันเลย ซึ่งนับเป็นความกรุณาแล้ว ไม่งั้นพ่อให้ ปปง.ตรวจสอบทรัพย์สินเสียนี่
แฟนานุแฟนของคุณทักษิณ
ชินวัตร วิตกว่า เมื่อคุณทักษิณวางมือทางการเมืองแล้ว เกรงว่าจะไม่มีทายาทมารับช่วงต่อ
ไม่ต้องห่วงหรอกครับ คุณวัฒนา เมืองสุข นี่แหละที่เป็นทักษิณิสต์ตัวจริง ถึงคุณวัฒนาจะห้าวจนดูห่ามเกินไปในตอนนี้
แต่ไม่เป็นไรหรอกครับ ก็เพราะคุณวัฒนาเป็นแค่รัฐมนตรีตามโควต้า เมื่อไหร่เป็นนายกฯ
ก็จะมีเนติบริกร, ลิ่วล้อ, องครักษ์, นักวิชาการ, และสื่อในสังกัด ฯลฯ ออกมาช่วยลบความห่ามให้เหลือแต่ห้าวอย่างเดียว
และกลายเป็นวีรบุรุษในสโมสรการบ่นหน้าสี่ไปเองแหละ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แม้ผมพูดเหมือนว่ายังหาประโยชน์อะไรไม่ได้กับการส่งคนไทยออกไปอวกาศ
แต่ที่จริงแล้วการที่ใครได้ออกไปข้างนอกโน่น แล้วมองกลับมายังดวงดาวสีน้ำเงิน
เขาจะกลายเป็นบุคคลคนใหม่ไปเลย ที่เคยสำคัญตนว่าตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็จะหายไป
เพราะอย่าว่าแต่ตัวเองเลย แม้แต่โลกทั้งใบก็เป็นเพียงฝุ่นธุลีที่ลอยคว้างอย่างไร้ความหมายในเอกภพ
ที่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวก
ถือเขาถือเรา ก็จะมองเห็นความเปราะบางของสรรพชีวิตบนพื้นโลก มองเห็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างชีวิตคนพืชและสัตว์
อันจะเป็นหลักประกันให้ชีวิตที่โดดเดี่ยวในจักรวาลนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ที่เคยศรัทธาในวิธีการรุนแรงก็จะหันมาศรัทธาสันติวิธี
ที่เคยศรัทธาอำนาจ ก็จะหันมาศรัทธาคุณธรรมความดี