นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



คู่มือการชุมนุมในยามวิกฤต
การชุมนุมโดยสงบ เพื่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยอย่างสันติ
กลุ่มสันติอาสา ได้จัดทำคู่มือการชุมนุมอย่างสันติ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวบรวม


ข้อความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากสมาชิกสันติศึกษา มอ.
ประกอบด้วยคู่มือ บทความ และบทสมาทานศีล
ในแนวทางสันติวิธีเพื่อต่อสู่กับอำนาจอันไม่เป็นธรรม
๑. คู่มือการชุมนุมด้วยสันติวิธี
๒. พลังของสันติวิธี ๓. สมาทานศีลเพื่อการชุมนุมอย่างสันติ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 867
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)




เพื่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยอย่างสันติ
โดยกลุ่มสันติอาสา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม

๑. คู่มือการชุมนุมด้วยสันติวิธี
พลังของประชาชนมิได้อยู่ที่พละกำลังหรืออาวุธ แต่อยู่ที่ปฏิบัติการสันติวิธี สันติวิธีนอกจากจะทำให้การต่อสู้ของประชาชนมีความชอบธรรมแล้ว ยังสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากผู้คนและขยายแนวร่วมได้อย่างกว้างขวาง หากผู้ชุมนุมยึดมั่นในสันติวิธี แม้จะถูกกระทำด้วยความรุนแรง แต่ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับไป ยิ่งจะทำให้มหาชนเห็นใจและให้ความสนับสนุนอย่างท่วมท้น จนอาจทำให้ฝ่ายที่ใช้กำลังต้องประสบกับความพ่ายแพ้หรือสูญเสียความชอบธรรม

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ชุมนุมจะยึดมั่นในสันติวิธีอย่างเคร่งครัด โดยปฏิบัติดังนี้

๑. ไม่พกพาอาวุธหรือสิ่งที่เป็นอาวุธได้ เช่น มีดพก คัตเตอร์ พึงระลึกว่าอาวุธเหล่านี้อาจเป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุมได้
๒. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุม เพราะอาจทำให้ขาดสติและการยับยั้งชั่งใจ

๓. ไม่มองผู้ที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม ปฏิบัติกับทุกคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความสุภาพ
๔. ใช้ถ้อยคำที่สุภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชี้แจงด้วยเหตุผลกับผู้ที่เห็นต่างจากเรา และเดินหนีห่างหากอีกฝ่ายชวนทะเลาะวิวาทหรือส่งเสียงดัง

๕. อยู่ในความสงบหรือนั่งลงทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีการชกต่อยหรือทะเลาะวิวาทกัน ไม่ควรเข้าไปมุงดูหรือลุกฮือเข้าร่วม ควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเข้าไประงับเหตุ
๖. หากเห็นผู้น่าสงสัยว่าจะมาก่อกวนแทรกตัวอยู่ในที่ชุมนุม ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือผู้รักษาความปลอดภัยทราบ เพื่อจับตาดูเป็นพิเศษ

๗. อดทนต่อการยั่วยุจากผู้ที่ต้องการก่อกวนการชุมนุม มีการตักเตือนไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมลุแก่โทสะ หรือตอบโต้ด้วยถ้อยคำและการกระทำที่รุนแรง
๘. มีการดูแลซึ่งกันและกันหากมากันเป็นกลุ่ม รวมทั้งมีการนัดแนะล่วงหน้าว่าจะติดต่อกันอย่างไร หากพลัดหลงหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

๙. บอกกล่าวให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มทราบเมื่อออกไปทำกิจส่วนตัวชั่วคราว เช่น ไปซื้อน้ำหรือเข้าห้องน้ำ
๑๐. พร้อมเพรียงกันให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำการชุมนุมบนเวทีหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

๑๑. ชักชวนและแนะนำผู้ร่วมชุมนุมที่อยู่ข้าง ๆ ให้ยึดมั่นในสันติวิธีตามที่กล่าวมาข้างต้น
๑๒. ช่วยกันเผยแพร่คู่มือนี้ ด้วยการอัดสำเนาหรือส่งต่อทางอีเมล พร้อมกับเชิญชวนเพื่อน ๆ ให้มาร่วมชุมนุมอย่างสันติ

๒. พลังของสันติวิธี
ประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จของสันติวิธี สันติวิธีประสบผลสำเร็จได้มิใช่เพราะคู่กรณีเกิดใจอ่อน มีเมตตาสงสารผู้ใช้สันติวิธี หรือเพราะเป็นสุภาพชน แม้ว่ากรณีเช่นนั้นจะเคยปรากฏอยู่บ้าง แต่นั่นมิใช่ปัจจัยชี้ขาดหรือเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้สันติวิธีบรรลุผล แท้ที่จริงแล้วความสำเร็จของสันติวิธีเกิดจากพลังในตัวที่ส่งผลต่อคู่กรณี หาได้เกิดจากการริเริ่มหรือความสมัครใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ แต่เป็นเพราะคู่กรณีมิอาจฝืนทานพลังของสันติวิธีต่างหาก

พลังของสันติวิธีมี ๒ ประการคือ
๑. พลังทางการเมือง
พลังของสันติวิธีอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า อำนาจเกิดจากการยอมรับและยินยอมเชื่อฟัง จะโดยสมัครใจหรือจำยอมก็แล้วแต่ บุคคลหรือระบอบใดจะมีอำนาจได้ก็เพราะได้รับการยอมรับและเชื่อฟังจากผู้อื่น เช่น ยอมทำตามคำสั่ง ยอมปฏิบัติตามระเบียบ ยอมจ่ายภาษี เป็นต้น กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ผู้ปกครองมีอำนาจได้ก็เพราะประชาชนเชื่อฟัง แม่ทัพนาย
กองมีอำนาจได้ก็เพราะทหารชั้นผู้น้อยเชื่อฟัง เจ้าของโรงงานมีอำนาจได้ก็เพราะกรรมกรเชื่อฟัง แต่เมื่อใดก็ตามที่การยินยอมเชื่อฟังนั้นลดน้อยถอยลงหรือปลาสนาการไป อำนาจของบุคคลหรือระบอบเหล่านั้นก็หายไปด้วย ไม่ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

สันติวิธีมีพลังตรงที่มันสามารถลดทอนอำนาจของบุคคลหรือระบอบที่ทรงอำนาจได้ โดยเพียงแต่ประชาชนเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟัง หรือปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือแก่บุคคลหรือระบอบเหล่านั้น (ที่เรียกว่า "การแข็งขืนอย่างอารยะ") หากการเพิกถอนนั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง บุคคลหรือระบอบเหล่านั้นจะสูญเสียอำนาจอย่างฮวบฮาบ จนไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

ผู้ใช้สันติวิธีอาจเป็นฝ่ายปฏิเสธที่จะยินยอมเชื่อฟังโดยลำพังฝ่ายเดียว หรือกระตุ้นให้ฝ่ายที่สามร่วมมือในการเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟังด้วยก็ได้ ฝ่ายที่สามอาจได้แก่พลทหารในกองทัพ ที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาปราบปรามประชาชนที่ใช้สันติวิธีก็ได้ ตัวอย่างเด่นชัดได้แก่กรณีต่อต้านพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย (ปี ๒๔๔๘) การคัดค้านรัฐประหารในเยอรมนี (๒๔๖๓) ในอัลจีเรีย (๒๕๐๑) การต่อต้านรัสเซียในเชโกสโลวะเกีย (๒๕๑๑) การขับไล่มาร์คอส (๒๕๒๙) และการโค่นล้มเผด็จการในยูโกสลาเวีย (๒๕๔๓)

นอกจากการลดทอนอำนาจของคู่กรณีแล้ว สันติวิธียังมีพลังตรงที่มันสามารถเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ฝ่ายที่ใช้สันติวิธีด้วย กล่าวคือทำให้ประชาชนทั่วไปเปลี่ยนจากการยินยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจที่เป็นคู่กรณี (ซึ่งอาจเป็นผู้ปกครอง นายทุน หรือผู้มีอิทธิพล) มาเป็นการให้ความยอมรับแก่กลุ่มคนที่ใช้สันติวิธี จนสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจต้องโอนอ่อนผ่อนตามตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้สันติวิธี ดังกรณีขบวนการเรียกร้องเอกราชของคานธี ขบวนการเพื่อสิทธิของคนผิวดำนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง หรือขบวนการโซลิดาริตี้ในโปแลนด์

๒. พลังทางใจ
พลังทางการเมืองของสันติวิธีดังกล่าวมา เป็นพลังที่เกิดจากการแสดงออกในเชิงปฏิเสธ (เช่น การปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง และปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรง) แต่ยังมีพลังอีกประการหนึ่งที่เกิดจากคุณภาพภายในเชิงบวกของผู้ใช้สันติวิธี ซึ่งนอกจากจะไม่มุ่งร้ายแล้ว ยังมีความปรารถนาดีต่อคู่กรณี รวมทั้งยึดมั่นในสัจจะและความดีงาม นี้คือพลังทางใจที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้อื่น และสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

สำหรับคนเป็นอันมาก สันติวิธีมิใช่เป็นเพียงยุทธวิธีในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ หากเป็นการกระทำที่ออกมาจากชีวิตด้วยจิตใจที่ใฝ่อหิงสธรรม คือการไม่คิดเบียดเบียนมุ่งร้ายและไม่แบ่งฝ่าย กล่าวคือมิได้เห็นคู่กรณีเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นปรปักษ์ แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมโลก และที่สำคัญคือเป็นเพื่อนมนุษย์ซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ มีรอยยิ้มและน้ำตาเหมือนเรา จุดร่วมระหว่างเรากับเขานั้นมีมากยิ่งกว่าจุดต่าง

สันติวิธีในแง่นี้จึงมิได้มีความหมายโดยนัยลบ คือการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีนัยบวกคือ การตั้งมั่นในความรักและความปราถนาดี แรงบันดาลใจอีกประการหนึ่งคือความใฝ่ในสัจจะ ความรักในสัจจะทำให้บุคคลเข้าหาผู้อื่นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปรารถนาที่จะแสวงหาสัจจะแม้กระทั่งในหมู่คู่กรณี พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเขา ขณะเดียวกันก็กล้าหาญพอที่จะยอมทุกข์ทรมาน เพื่อยืนหยัดในสัจจะของตนให้อีกฝ่ายได้รับรู้ และถอนตนออกจากความเท็จและอสัตย์ที่ปกคลุมใจ

ใจที่ปรารถนาดี ใบหน้าที่แย้มยิ้ม ริมฝีปากที่อำนวยพรด้วยเสียงเพลงและบทสวด มือที่หยิบยื่นดอกไม้และผ้าเย็นให้ ตลอดจนการยืนหยัดในประเด็นที่ชอบธรรม มั่นคงในสัจจะ ย่อมมีผลโน้มน้าวชักชวนให้ผู้คนแวดล้อมที่เคยอยู่กลาง ๆ หันมาเป็นมิตร และเข้าร่วมสนับสนุนปฏิบัติการสันติวิธีด้วย

ที่สำคัญก็คือใจที่เปี่ยมด้วยคุณภาพดังกล่าวยังมีผลทางใจต่อฝ่ายคู่กรณี ทั้งนี้เพราะกิริยาภายนอกและภาวะภายในที่เป็นมิตรดังกล่าว ถึงที่สุดแล้วย่อมสามารถทำลายอคติและความรู้สึกในทางร้ายที่คู่กรณีมีต่อผู้ใช้สันติวิธี สามารถซึมผ่านเกราะกำบังชั้นนอกที่ฉาบทาด้วยความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ เกลียดชัง เข้าสู่จิตส่วนลึก ซึ่งกอปรไปด้วยความรัก ความเมตตา และสามารถปลุกเร้าจิตส่วนดีนี้ให้มีพลังเอาชนะจิตชั้นนอกอันหยาบกระด้างได้ เกิดความรู้สึกเป็นมิตรเข้ามาแทนที่

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดดังกล่าว มักเกิดขึ้นเป็นพิเศษกับฝ่ายคู่กรณี (เช่นทหารหรือตำรวจ)ที่ถูกส่งให้มาประจันหน้ากับผู้ที่ใช้สันติวิธี การเผชิญหน้าดังกล่าวเปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวได้พัฒนาขึ้นมาระหว่างบุคคลสองฝ่าย ผลก็คือเมื่อผู้มีอำนาจสั่งให้ปราบปรามผู้ใช้สันติวิธี ทหารหรือตำรวจอาจไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้คำสั่งของผู้มีอำนาจเป็นหมันไป ดังกรณีที่เกิดกับมาร์คอสเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่การปราบปรามด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้น จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แต่นั่นมิอาจถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของสันติวิธี ตรงกันข้ามกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของผู้มีอำนาจ เพราะการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้ไร้อาวุธ ย่อมทำให้ผู้ปราบปรามสูญเสียความชอบธรรมในสายตาของคนทั่วไป ยิ่งผู้ถูกกระทำนั้นยังยืนหยัดมั่นคงในสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนที่ยังเป็นกลางหันไปให้ความเห็นใจแก่ผู้ถูกปราบปราม ผลก็คือความรุนแรงนั้นเองย้อนกลับไปบั่นทอนอำนาจของผู้ใช้อาวุธ และกลายเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจ ดังคานธีได้เขียนว่า "อำนาจของทรราชจะวกกลับมาที่ตัวเขาเองเมื่อไม่พบกับการตอบโต้ เช่นเดียวกับเมื่อสะบัดแขนฟาดกับอากาศอย่างรุนแรง ผลคือกระดูกเคลื่อนและปวดร้าว"

นี้คือเหตุผลที่ทำให้ระบอบถนอม-ประภาสต้องล้มพังครืนหลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เช่นเดียวกับรัฐบาลของพลเอกสุจินดา จากเหตุการณ์พฤษภาหฤโหด

ระบอบทักษิณจะพบกับกาลวิบัติเช่นกันหากขืนใช้ความรุนแรงกับประชาชน ตราบใดที่ประชาชนยังมั่นคงในสันติวิธี ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง และยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม

๓. สมาทานศีลเพื่อการชุมนุมอย่างสันติ
ข้าพเจ้าทั้งหลายได้มาร่วมกันในที่นี้ด้วยความมุ่งหมายที่จะรักษาธรรมะ
คือความถูกต้องดีงามให้เป็นหลักของแผ่นดิน
ดังนั้นจึงขอสมาทานเอาธรรมะเป็นข้อปฏิบัติในการชุมนุมดังต่อไปนี้

-. ข้าพเจ้าจะไม่ใช้กำลังทำร้ายผู้ใด
-. ข้าพเจ้าจะไม่ทำลายหรือล่วงละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น ตลอดจนสมบัติสาธารณะ
-. ข้าพเจ้าจะกล่าวแต่ความจริง ไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
-. ข้าพเจ้าจะรักษาสติให้มั่นคง อดทนต่อการยั่วยุ และไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้
-. ข้าพเจ้าจะเคารพในศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมทั้งผู้ที่เห็นต่างจากข้าพเจ้า

นัตถิเม สะระณัง อัญญัง
ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พุทโธ เม สะระณัง วะรัง
พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
โสตถิเม โหตุสัพพะทา
ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้า
(ท่องบทสวดนี้ ๓ จบ)
ชัยชนะจงมีแด่ผู้ประพฤติธรรม

--------------------------------------------------------------

- ในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี มหาชนมีอาวุธ ซึ่งเอื้อให้เด็ก ผู้หญิง หรือแม้แต่คนชราผู้ทุพพลภาพ สามารถต้านทานคัดค้านรัฐบาลที่ทรงพลังที่สุดได้อย่างสัมฤทธิผล หากจิตใจของท่านกล้าแกร่ง การขาดพละกำลังทางกายก็ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป … คานธี

- ไม่จำเป็นต้องสู้รบเพื่อเอาชนะทรราชคนใดคนหนึ่ง เพราะเขาย่อมศิโรราบโดยอัตโนมัติหากทั้งประเทศปฏิเสธ ไม่ยอมเป็นทาสอีกต่อไป ไม่จำต้องลิดรอนอะไรเขา เพียงแต่ไม่ให้อะไรเขาสักอย่างเดียว เท่านั้นก็พอ
ถ้าเราไม่ให้อะไรแก่ทรราช ไม่ยอมเชื่อฟังเขา โดยไม่ต้องลงมือต่อสู้เขาแม้แต่ครั้งเดียว
ทรราชก็จะดูเปล่าเปลือยและทำอะไรไม่ได้ต่อไป เฉกเช่นรากไม้ ซึ่งหากปราศจากดินและอาหารแล้ว ต้นไม้ก็จะเฉาตายไปในที่สุด …

เอเตียง เดอ ลาโบเอตี


 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
190349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผู้ใช้สันติวิธีอาจเป็นฝ่ายปฏิเสธที่จะยินยอมเชื่อฟังโดยลำพังฝ่ายเดียว หรือกระตุ้นให้ฝ่ายที่สามร่วมมือในการเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟังด้วยก็ได้ ฝ่ายที่สามอาจได้แก่พลทหารในกองทัพ ที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาปราบปรามประชาชนที่ใช้สันติวิธีก็ได้ ตัวอย่างเด่นชัดได้แก่กรณีต่อต้านพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย (ปี ๒๔๔๘) การคัดค้านรัฐประหารในเยอรมนี (๒๔๖๓) ในอัลจีเรีย (๒๕๐๑) การต่อต้านรัสเซียในเชโกสโลวะเกีย (๒๕๑๑) การขับไล่มาร์คอส (๒๕๒๙) และการโค่นล้มเผด็จการในยูโกสลาเวีย (๒๕๔๓) ข้อความบางส่วนจากบทความ

The Midnightuniv website 2006