The Midnight University
สื่อสารมวลชนในสภาวะสงคราม
ประวัติการโฆษณาชวนเชื่อกับการขายสงคราม
สมเกียรติ
ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เรียบเรียงจากเรื่อง Selling War / Selling Peace
จากหนังสือเรื่อง The Media and Political Process
ซึ่งนำเสนอเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วย Selling War เท่านั้น
อันเป็นการสำรวจถึงสื่อต่างๆว่า
ได้เข้าไปเกี่ยวพันในสงครามการสู้รบเพิ่มมากขึ้นอย่างไร
ในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๒๐
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 864
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
20.5 หน้ากระดาษ A4)
ประวัติการโฆษณาชวนเชื่อกับการขายสงคราม
สมเกียรติ ตั้งนโม :
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
Selling
War : สื่อกับการขายสงคราม
บทนำ
ในสหรัฐอเมริกามีการให้เหตุผลว่า
เรื่องของสงครามเกี่ยวข้องกับคำอธิบาย 3 ประการด้วยกันในศตวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ
1. สงครามต่างๆ พัวพันกับการฆ่าผู้คนจำนวนมากที่ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในพัฒนาการของเครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสงครามเหล่านั้น
2. การปราศจากความชอบธรรมของสงคราม ในสงครามเวียดนาม
3. การให้ความชอบธรรมขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับสงคราม โดยการทำประชาสัมพันธ์ในเรื่องของสงคราม
บทความที่กำลังอ่านอยู่นี้จะเริ่มต้นด้วยการสำรวจถึงข้อความหรือคำอธิบายทั้ง 3 ประการข้างต้นเกี่ยวกับสงคราม ความเอาใจใส่เป็นพิเศษที่จ่ายให้กับเทคนิคทั้งหลายในการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2. หลังจากนั้น ความสนใจจะเปลี่ยนไปสู่ผลกระทบของโทรทัศน์ที่มีต่อเรื่องสงคราม และเทคนิควิธีการของการทำให้สงครามผ่านจอโทรทัศน์เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์
เนื้อความ
สงครามต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด และมันไม่ต้องการคำอธิบายหรือคำแก้ตัวในการใช้ความรุนแรง,
รวมไปถึงการชักชวนผู้คนเพื่อไปต่อสู้ในสงคราม, และการสร้างความชอบธรรมเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆของชัยชนะ(นั่นคือสันติภาพ).
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการ 3 ประการได้เปลี่ยนแปลงเรื่องสงครามและพฤติกรรมของการชักชวน
รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
- การทำให้เป็นอุตสาหกรรม
- การปรากฏตัวขึ้นมาของสื่อสารมวลชน
- การปรากฏตัวขึ้นมาของประชาธิปไตยมวลชน
ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ จะถือกำเนิดขึ้นในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 19 แต่อย่างไรก็ตามในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 พวกมันได้ผลิตเรื่องของสงครามและการโฆษณาชวนเชื่อใหม่ๆ ขึ้นมา โดยจะเห็นได้จากสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอันดับแรก. ช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 20 ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของสงคราม, สื่อที่เสนอภาพของสงครามทั้งหลาย และความพยายามต่างๆ ที่จะสร้างความยอมรับของมวลชนขึ้นมาสำหรับความรุนแรงทางการเมือง เหล่านี้ได้กระทำโดยผ่านคำอธิบายดังต่อไปนี้
- การปรากฏตัวขึ้นมาของเครื่องจักรฆ่าคนจำนวนมาก ซึ่งอันนี้เรียกร้องต้องการความยอมรับของผู้คนและ"ทหารที่ไปตายในสงคราม" ("cannon fodder" - หมายถึง ทหารธรรมดาทั่วไปที่ไม่ถูกคิดว่าสำคัญมากนักในสงคราม ทหารเหล่านี้คล้ายๆกับเบี้ยที่จะถูกใช้เพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ของผู้กระหายสงคราม ซึ่งไม่กังวลใจอะไรเลยเกี่ยวกับการที่ทหารเหล่านี้ต้องไปเผชิญหน้ากับอันตราย)
- สงครามเวียดนาม ทำให้เรื่องของสงครามไม่เป็นที่นิยมชมชอบ
- การสร้างความชอบธรรมของสงครามขึ้นมาใหม่โดยผ่านการทำประชาสัมพันธ์
ยุคสมัยแห่งการยอมรับการฆ่าคนจำนวนมาก
ในยุคอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสงครามของเราตลอดไป เพราะมันได้ผลิตเทคโนโลยีการฆ่าคนที่มีประสิทธิภาพสูงมาก.
การฆ่าสามารถถูกทำให้เป็นการผลิตมวลรวมได้. ผลในช่วงแรกสุดของสิ่งนี้ก็คือ
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสงครามที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบเห็นได้ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่ 1 ถือว่าเป็นสงครามในยุคอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์. อัตราการฆ่านับว่าสูงเป็นพิเศษ ซึ่งได้ให้กำเนิดความต้องการสำหรับการตระเตรียมทหารเพิ่มขึ้นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ. ซึ่งการตระเตรียมดังกล่าว ต้องการเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความรักชาติขึ้น การบำรุงขวัญประชาชน, และธำรงรักษาการไหลบ่าของอาสาสมัครต่างๆอย่างต่อเนื่อง
เพื่อสามารถทำให้สงครามยังคงต่อสู้อยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ชาวอังกฤษจะต้องได้รับการตระเตรียมขึ้นมา(อย่างไม่เต็มใจ) เพื่อการบูชายัญกับสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้ไม่อาจที่จะกระทำได้ ถ้าหากว่าเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับแนวหน้าทางด้านตะวันตกเป็นที่รับรู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง. ด้วยเหตุดังนั้น จึงเริ่มมีการสมคบคิดกันครั้งใหญ่ กล่าวคือ มีการผลิตคำโกหกที่แนบเนียนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่ายิ่งกว่ายุคใดๆในประวัติศาสตร์ และเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดเกี่ยวกับรัฐ พร้อมที่จะปฏิบัติการเพื่อระงับยับยั้งความเป็นจริงอันนี้
ความเต็มใจและความสมัครใจของบรรดาเจ้าของหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ที่จะยอมรับการควบคุมนี้ และการทำงานร่วมกันในการโฆษณาชวนเชื่อที่แพร่กระจายออกไป ทำให้พวกเขาให้รางวัลกับตำแหน่งสถานะที่สูงทางสังคม รวมถึงอำนาจทางการเมืองแก่พวกเขา (Knightley, 1982: 64)
ในทำนองเดียวกัน
สหรัฐอเมริกาค่อนข้างประสบความสำเร็จในปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อ
บันทึกลงไปอย่างอาจหาญได้เลยว่า การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเรื่องที่เก่าแก่เท่าๆ
กันกับ"ศิลปะของการสงคราม"(The Art of War)ทีเดียว. (The Art of
War ถือเป็นหนังสือคลาสสิกเกี่ยวกับเรื่องทางด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการทำสงคราม
เขียนโดยนายพลซุนวู ของจีนเมื่อประมาณ 2400 ปีมาแล้ว). แต่อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่
1 ได้มองเห็นประโยชน์ของเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อมวลชน และได้ถูกรวบรวมขึ้นมาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก
อังกฤษถือว่าเป็นผู้นำทางด้านนี้
คำถามคือว่า ทำไมช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 จึงถูกถือว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อมวลชนอย่างเป็นระบบขึ้นมาเป็นครั้งแรก? คำตอบวางอยู่บนการปรากฏตัวขึ้นมาของเรื่องเสรีประชาธิปไตย. เมื่อมวลชนได้รับสิทธิและมีเสรีภาพ การทำสงครามต้องการความยินยอมพร้อมใจของประชาชน. การก่อเกิดเครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญเติบโตอย่างกว้างขวางของการประชาสัมพันธ์ ในช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในการจัดการและขับเคลื่อนมวลชนที่เป็นอิสระทั้งหลาย (Ewen 1996: 60-5)
โดยสาระแล้วในประชาธิปไตยมวลชน การชักนำเรื่องสงคราม ต้องการการตระเตรียมสาธารณชนให้พร้อม เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนสำหรับการทำสงคราม ดังนั้นพลเมืองทั้งหลายจึงต้องบูชายัญความเป็นอยู่ของพวกเขา และจ่ายภาษีเพื่อเป็นทุนให้กับการทำสงคราม อันนี้คือสิ่งซึ่งเป็นฐานรากหนุนนำเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อมวลชนโดยตรงของรัฐบาล โดยการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อระดมผู้คนทั้งหลายในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
แต่อย่างไรก็ตาม
สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ได้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สื่อสารมวลชนได้ถูกนำมาใช้เพื่อตระเตรียมการสนับสนุนของประชาชนสำหรับการทำสงคราม
ทั้งนี้เพราะหนังสือพิมพ์อเมริกันได้ถูกใช้เพื่อก่อกำเนิดโรคประสาทสงครามกับมวลชน
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1898 ซึ่งเป็นสงคราม Spanish - American War รวมถึงภาพข่าวที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อครั้งแรก
ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงปี 1899-1902 ในสงคราม Boer War (Young and Jesser, 1997:
28).
[Boer War - Either of two wars: the first when the
Boers fought England in order to regain the independence they had given
up to obtain British help against the Zulus (1880-1881); the second when
the Orange Free State and Transvaal declared war on Britain (1899-1902)]
ในปี 1898 พลทหาร William Randolph Hearst ใช้หนังสือพิมพ์ของเขาเพื่อตระเตรียมผู้คนให้มาสนับสนุนการทำสงครามกับสเปน โดยมีการแสดงถึงศักยภาพของการสนับสนุนการทำสงครามในสื่อสารมวลชน ที่มีไปถึงมวลชนประชาธิปไตยทั้งหลาย. แบบจำลองของ Hearst เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำสงครามท่ามกลางสาธารณชน ได้รับการทำให้เป็นสถาบันขึ้นมาในเครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
เครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ถูกนำไปเกี่ยวพันกับการกำหนดประเด็น นั่นคือ - ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอต่อมวลชน จะได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังและสื่อสารอย่างเหมาะสมแพร่หลาย. มวลชนจะได้รับการตั้งกระทู้ในเรื่องโลกทัศน์ เพื่อทำให้พวกเขาพร้อมที่จะเสียสละและบูชายัญความเป็นอยู่ของพวกเขา. การจัดการด้านข้อมูลข่าวสารนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน
1. ข่าวที่เป็นไปในด้านลบจะถูกขจัดออกไป
2. ส่งเสริมและกระตุ้นข่าวที่เป็นไปเชิงบวก
3. จัดหาเรื่องราวของวีรบุรุษต่างๆ มาป้อนให้กับมวลชน สร้างความเป็น"เรา"เป็น"เขา"ที่ตรงข้ามกันขึ้นมา และปลุกระดมความรักชาติ
กลไกดังกล่าวได้พัฒนาข้อมูลข่าวสารที่มีการจัดการให้แพร่กระจาย และมีการเซ็นเซอร์หรือตรวจสอบเนื้อหาสาระที่เชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อความพยายามทำสงคราม. พร้อมกันนั้น ข้อมูลที่เป็นไปในเชิงบวกได้ถูกผลิตออกมาอย่างรอบคอบสุขุม แม้ว่าอันนี้จะคลุมไปถึงการโกหกต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่จำนวนมากของข่าวสารข้อมูลอันนี้ จะประกอบด้วยการเน้นย้ำเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เป็นไปในเชิงบวก (นั่นคือ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า"ข่าวดี"ได้รับการโฆษณาเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง) หรือมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ด้วยเทคนิคประชาสัมพันธ์ที่เป็นไปในเชิงบวก
บรรดานักหนังสือพิมพ์จะได้รับการป้อนข่าวแนวใดแนวหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ. นี่คือรูปแบบแรกๆ อันหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสื่อสารมวลชน(และสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย) กลายเป็นการสมคบคิดกันในการเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ที่ทางด้านการทหารต้องการให้มวลชนทั้งหลายรับรู้
เครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อ ยังผลิตภาพยนตร์ข่าวเชิงสารคดีที่ให้การสนับสนุนในเรื่องสงคราม โดยนำเสนอภาพของวีรบุรุษ (รูปแบบหนึ่งของการยกย่องสรรเสริญ) และแบบจำลองของคนที่น่าเอาอย่าง ซึ่งมวลชนทั้งหลายรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปกับเขา และเผยแพร่เรื่องราวทั้งหลายของศัตรูที่ดุจภูติผีปีศาจ - เพื่อทำให้ศัตรูเหล่านั้นกลายเป็นภัยคุกคาม และเป็นคนที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย
การโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่
1 ของอังกฤษ
แบบแผนต่างๆมากมายได้มีการกำหนดขึ้นมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งได้รับการจำลองซ้ำในสงครามครั้งต่อๆมา.
เครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีประสิทธิผลมากที่สุดเป็นของอังกฤษ
กล่าวคือ เครื่องไม้เครื่องมือของอังกฤษได้ถูกลอกเลียนต่อมาโดยหน่วยงานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกา
หรือที่เรียกว่า Committee on Public Information (CPI); และโดยกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่
2 (Knightley, 1982: 66)
ปัญหาหลักที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งเผชิญหน้ากับบรรดานักโฆษณาชวนเชื่ออังกฤษ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือ การสลับปรับเปลี่ยนความซื่อสัตย์ต่างๆของอังกฤษ ที่มีต่อเยอรมันนีไปสู่ฝรั่งเศส : อันนี้เป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานเหตุการณ์หนึ่ง เกี่ยวกับความขัดแย้งของอังกฤษกับฝรั่งเศสที่ยังดำรงอยู่, ขณะที่ในทางตรงข้าม ความผูกพันที่อ่อนไหวต่างๆของอังกฤษและเยอรมันกลับค่อนข้างที่จะเข้มแข็ง. สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ในหัวสมองของคนอังกฤษในช่วงปี ค.ศ.1914 - ดังนั้น เพื่อนเก่าจึงต้องถูกทำให้เป็นภูติผีปีศาจ และศัตรูเก่าก่อนกลับได้รับการแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กลายเป็นมหามิตร
เพื่อให้เรื่องนี้บรรลุผลสำเร็จ บรรดานักโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายได้เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับความมีมลทิน และความผิดพลาดของสงครามเยอรมันอย่างเป็นระบบ - ทำให้ชนชาวอังกฤษเชื่อมั่นได้สำเร็จที่ว่า เยอรมันนีเป็นผู้เริ่มต้นทำสงคราม (Bramster, 1965: xx). ความสามารถในการสร้างสรรค์และธำรงไว้ซึ่งมายาคติอันนั้น ค่อนข้างสร้างความประทับใจต่อ Goebbels (รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันในสมัยนาซี) ซึ่งเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของอังกฤษเป็นพิเศษ และในท้ายที่สุด เขาได้ใช้วิธีการของอังกฤษเพื่อสร้างกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของนาซีเยอรมันขึ้น
แต่บรรดานักโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษได้ไปไกลเกินกว่ามายาคติผิดๆ. พวกเขาได้สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับความทารุณโหดร้าย และเผยแพร่มันออกไปอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้เยอรมันกลายเป็นพวกภูติผีปีศาจ(Knightley, 1982: 67). ผลลัพธ์ที่ตามมา สงครามได้รับการสร้างขึ้นให้ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเที่ยงธรรม - การโฆษณาชวนเชื่อทำให้อังกฤษเชื่อมั่นว่า จักรวรรดิ์เยอรมันนีเป็นผู้รุกรานซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องถูกขจัดไม่ว่าจะใช้ต้นทุนมากมายมหาศาลเท่าใดก็ตาม. สงครามได้ถูกทำให้เปลี่ยนไปในจิตใจของสาธารณชน สู่"สงครามศาสนาเพื่ออารยธรรม"(a crusade for civilization) (Haste, 1995: 106)
อย่างมีนัยสำคัญ เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของอังกฤษ ได้หยิบเอาบรรดานักเขียน และนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่มีพรสวรรค์มากที่สุดของประเทศบางคนมาใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น H.G.Wells, John Buchanan, Rudyard Kipling, Hugh Walpole และ Lord Northcliffe (1995: 109). ความคิดเกี่ยวกับการระดมหรือกะเกณฑ์คนที่มีความสามารถเหล่านี้ ได้ถูกเลียนแบบต่อมาโดยคนอื่นๆ
อังกฤษได้ปฏิบัติการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการเซ็นเซอร์ และระบบการนำเสนอการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งมีเป้าหมายทั้งในอังกฤษเองและจักรวรรดิ์เยอรมันนี. นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปยังแนวหน้าได้ถูกควบคุม และเรื่องราวรายงานของพวกเขาก็ถูกเซ็นเซอร์ด้วย (Knightley, 1982: 80-1). การโฆษณาชวนเชื่อได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วทั้งจักวรรดิ์ ภายใต้โล่ป้องกันและความช่วยเหลือของสมาคมเจ้าของหนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวรอยเตอร์ อันนี้ได้มีการตระเตรียมอย่างเหมาะสมเพื่อทำให้สงครามดังกล่าว ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของความกล้าหาญและความมีเกียรติ เพื่อที่จะธำรงและสนับสนุนการไหลบ่าของบรรดาอาสาสมัครทั้งหลาย ให้เข้าสู่สงครามอย่างต่อเนื่อง
อังกฤษยังดำเนินการทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ที่พุ่งตรงไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย (เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกสนับสนุนเยอรมันที่มีนัยสำคัญในสหรัฐฯ) และมุ่งตรงไปยังฝ่ายศัตรูด้วยเช่นกัน. สุดท้าย เครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู. Grant (1994: 11-12) เสนอแนะว่า มันค่อนข้างที่จะประสบผลสำเร็จที่ว่า เครื่องจักรอันนี้มีส่วนรับผิดชอบต่อหนทางที่ศัพท์คำว่า"propaganda"ได้เปลี่ยนแปลงความมายของตัวมันไป
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คำว่า propaganda (เกิดขึ้นมาจากชุมชนของโบสถ์คาธอลิค มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภารกิจของมิชชันนารี ในการเผยแพร่หรือโฆษณาทางศาสนา) ซึ่งโดยสาระแล้ว ไม่ได้มีความหมายแฝงไปในเชิงลบหรือเลวร้ายแต่อย่างใด. อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1920s การตีพิมพ์เรื่องของบันทึกความทรงจำส่วนตัว และรายงานอันไม่น่าเชื่อถือต่างๆ ทำให้ชาวอังกฤษรู้สึกว่า พวกเขาถูกหลอกและถูกควบคุม. อันนี้ได้สร้างสิ่งที่ไม่ง่ายดายนักขึ้นมาอย่างมากต่อการโฆษณาชวนเชื่อ - และมีความหมายแฝงไปในเชิงลบ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น
อย่างไม่ต้องสงสัย ประชาธิปไตยของชาวแองโกล ไม่ได้ดำเนินการในทางโฆษณาชวนเชื่อ(propaganda)อีกต่อไปแล้ว - แต่พวกมันได้รับการปิดป้ายใหม่ในฐานะ psy-ops (psychological operations - ปฏิบัติการทางจิตวิทยา)(Taylor, 1997: 150). Psy-ops ได้รับการหนุนส่งและยกระดับขึ้นอย่างสำคัญโดยสงครามเย็น ด้วยการก่อตั้งเกี่ยวกับศูนย์สงครามจิตวิทยา(the Psychological Warfare Center)ที่ Fort Bragg ในปี ค.ศ.1952 (1997: 165). ในเวลาต่อมา Fort Bragg ยังคงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของปฏิบัติการทางจิตวิทยาของสหรัฐฯ ที่มีความชำนิชำนาญสูงมาก
การโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่
1 ของสหรัฐอเมริกา
ในปี ค.ศ.1917 เมื่อตอนที่อเมริกาได้เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาในสงครามโลกครั้งที่
1 - คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ (the CPI : Committee on Public Information)
- ลักษณะที่สำคัญหลายประการเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวของอังกฤษได้รับการก็อปปี้เอามาใช้.
THE CPI ได้รับการดึงมาร่วมโดยอยู่ภายใต้หลังคาองค์กรหนึ่ง, ซึ่งเป็นที่รวมของเหล่าบรรดานักหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศ,
นักขุดคุ้ยข้อมูล(muckrakers), นักเผยแพร่สื่อต่างๆ, นักโฆษณามืออาชีพ, บรรดานักเขียนนวนิยายและนักวิชาการ
(Jackall and Hirota, 1995: 137)
อันนี้เพื่อที่จะได้ทำให้เกิดความมั่นใจว่า
ผลผลิตที่ออกมาเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อจะคงความมีคุณภาพนั่นเอง. Goebbels
ได้ลอกเลียนแบบจำลองอันนี้ - เพื่อสร้างเครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่
2 ของเขาขึ้น โดยการดึงเอานักหนังสือพิมพ์ของเยอรมันนี, นักโฆษณามืออาชีพ,
ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย, และคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เข้ามาอยู่ในกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของเขา.
หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของกองกำลังแอฟริกาใต้เช่นกัน ได้กระทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ในช่วงระหว่างทศวรรษที่
1980s เพื่อต่อสู้และต่อต้านคนผิวขาว ซึ่งมีสิทธิและอำนาจทางการเมือง(anti-aparthied)
บรรดานักเขียนนวนิยายและนักเขียนเรื่องสั้นของ CPI ได้ผลิตและธำรงกระแสเกี่ยวกับการสนับสนุนสงครามอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งในรูปแบบสารคดีและบทความสำหรับสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา และบรรดานักหนังสือพิมพ์ของ
CPI ยังได้เขียนข่าวจ่ายแจกอย่างไม่มีวันจบสิ้น เกี่ยวกับเรื่องราวทำนองดังกล่าว
เผยแพร่บนสิ่งพิมพ์ตลอดเวลา. นั่นคือ The CPI ได้กระทำในสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ได้ผลิตและเผยแพร่การ์ตูนต่างๆ เพื่อส่งสารในเรื่องราวเหล่านี้ (Jackall and Hirota, 1995: 141)
- มีการเรียนรู้ที่จะหล่อหลอมความเห็นสาธารณชนขึ้นมา โดยการสร้างองค์กรแนวหน้าต่างๆขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น สมาคมเกี่ยวกับประชาชาติต่างๆที่ได้รับการกดขี่ (the League of Oppressed Nations)(1995: 155-8)
- มีการผลิตภาพถ่ายที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก และมีการนำภาพถ่ายเหล่านั้นออกแสดงในรูปของนิทรรศการไปทั่วสหรัฐอเมริกา (1995: 141)
- มีการสร้างทหารคนหนึ่งขึ้นมาท่ามกลางทหารจำนวน 75,000 นาย ให้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีการวางแผนมาอย่างดี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างในโรงภาพยนตร์ (1995: 140)
- ได้สร้างภาพยนตร์ต่างๆ ที่สนับสนุนการทำสงครามที่ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก (1995: 143-4) มีการใช้ผู้หญิงท่าทียั่วยวน แพรวพราวไปด้วยเสน่ห์ เพื่อชักชวนผู้ชายทั้งหลายพิสูจน์ความกล้าและความเป็นชายโดยการไปร่วมกับกองทัพ (1995: 141)
- มีการเสนอข่าวอย่างรวดเร็วมากในช่วงหลังสงครามอเมริกา
- โดยทั่วไปแล้วมีการพัฒนาเทคนิควิธีการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อหันเหหรือคัดท้ายความเห็นของสาธารณชน
คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกา(Committee on Public Information) หรือ The CPI ได้ประสบความสำเร็จในการส่งสารต่างๆ ไปถึงชาวอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งเป็นสารอย่างเดียวกันกับที่ชาวอังกฤษได้รับรู้ นั่นคือ สงครามเป็นสิ่งจำเป็นเพราะว่า มันคือการต่อสู้เชิงศีลธรรม ที่ต่อต้านทรราชย์ซึ่งมีแต่ความโหดร้าย เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน และการแผ่ขยายของลัทธิจักรพรรดินิยมเยอรมัน
Goebbels
(รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันในสมัยนาซี)
ชาวอังกฤษและอเมริกันอาจพัฒนาเครื่องจักรการโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างน่าประทับใจ
และประสบความสำเร็จในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1, แต่เครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อของนาซี
โดย Goebbels ดูจะแวววาวกว่าอังกฤษและอเมริกันมากทีเดียว. แรกเริ่มเดิมที Goebbels
ได้ลอกเลียนการโฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองประเทศข้างต้นมาใช้ แต่ในท้ายที่สุด
ก็มีการนำเอาเทคนิคของพวกเขาเองที่นำไปสู่การพัฒนาในระดับสูงใหม่ๆ นั่นคือ
มีกระบวนการส่งสารที่ดีกว่า, ซึ่งทำให้ผู้คนชาวเยอรมันเป็นล้านๆ ต่างเป็นผู้ให้การสนับสนุนต่อพรรคนาซีในช่วงทศวรรษที่
1930s-40s.
Goebbels เป็นผู้บุกเบิกที่แท้จริงคนหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีการสื่อสารล่าสุดเพื่อระดมมวลชน ซึ่งได้กลายเป็นปรมาจารย์ที่สำคัญคนหนึ่งทางด้านการเมืองมวลชน และหล่อหลอมความเห็นของสาธารณชนโดยผ่านสื่อสารมวลชน. Bramsted ได้ให้เหตุผลว่า Alfred Harmsworth (Lord Northcliff) และ Goebbels คือนักพัฒนาชั้นนำทั้งคู่เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ ต่อสาธารณชนในคริสตศตวรรษที่ 20
เขาบันทึกว่า ทั้งสองคนนี้ต่างปันส่วนคุณลักษณ์เด่นๆ จำนวนมาก - ทั้งได้รับการกระตุ้นจากกันและกันในด้านหนังสือพิมพ์อันเป็นที่นิยมของผู้คน ซึ่งไม่ใช่มาจากหนังสือพิมพ์ของพวกชนชั้นสูง และไม่ได้เกิดขึ้นมาจากชนชั้นปกครองเก่า หรือบรรดาข้าราชการทั้งหลาย. ทั้งคู่ต่างทำขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเอง ซึ่งเข้าใจความรู้สึกของมวลชนทั่วๆไป ที่สามารถได้รับการสร้างขึ้นมาได้โดยการทำให้เป็นอุตสาหกรรม. ทั้งคู่คิดในกรณีต่างๆของส่วนรวม ไม่ใช่ในลักษณะส่วนตัว. ทั้งคู่ต่างเข้าใจโดยสัญชาตญานว่า ทำอย่างไรจึงจะหันเหความคิดและทำให้สาธารณชนเชื่องได้ (1965: xiii)
Goebbels ได้สร้างเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อของเขาขึ้นบนหลักการที่ว่า มวลชนทั้งหลายสามารถที่จะถูกจัดการและควบคุมได้ เพราะว่าพวกเขาต่างเป็นพวกที่ยอมจำนน(passive) และขี้เกียจในทางความคิด(mentally lazy) และด้วยเหตุดังนั้น จึงยินยอมให้ตัวของพวกเขาเองถูกจัดการหรือควบคุมและนำไปสู่หนทางต่างๆ. เขา(ค่อนข้างประสบความสำเร็จ)ในการใช้หลักการเกี่ยวกับการเสนอความคิดซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งผู้คนทั้งหลายทึกทักเอาว่ามันเป็น"ความจริง" (1965: 26-7)
เทคนิคในการจูงใจของ Goebbels รวมถึงความเข้าใจอย่างช่ำชองเกี่ยวกับสิ่งที่ในทุกวันนี้ ได้รับการเรียกว่า "ตลาดต่างๆที่เจาะจงเป้าหมาย"(niche target markets) (1965: 28) และการใช้ประโยชน์สิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่าการวิจัยความเห็นสาธารณชน(public opinion research) เพื่อเตรียมการโดยเฉพาะในการทำความเข้าใจสาธารณชนที่แตกต่าง และวิธีการที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับพวกเขา(1965: 53-4). Goebbels ยังบุกเบิกเทคนิคอย่างอื่นๆด้วย ซึ่งในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาและไม่น่าสนใจไปแล้ว อย่างเช่น เขา
- ได้จัดให้มีการเดินทางทางอากาศในช่วงเลือกตั้ง เพื่อทำให้ฮิตเลอร์สามารถกล่าวสุนทรพจน์ได้ถึง 4 เมืองภายในวันเดียว (1965: 23)
- ได้สร้างกองงานโฆษก(ที่ได้รับการฝึกฝน)อันหนึ่งขึ้น โฆษกเหล่านี้สามารถที่จะถูกส่งตัวไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าในพื้นที่ใด เมื่อการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาเป็นที่ต้องการ (1965: 73)
- ให้การยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของภาพยนตร์, วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้าถึงผู้คนได้
- ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภาพยนตร์ข่าว เพื่อหล่อหลอมความเห็นสาธารณชนขึ้นมาโดยผ่านการใช้ภาพที่เร้าอารมณ์ความรู้สึก
- ทำให้การสื่อสารไร้สายในสมัยนั้นหาได้และราคาถูก และทำให้มันกลายเป็นที่นิยมในการซื้อหา ด้วยเหตุนี้ วิทยุจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติอันหนึ่งขึ้นมา
Goebbels ได้ผสมผสานแนวความคิดต่างๆของ Le Bon ในเรื่องจิตวิทยามวลชน กับ ยุทธวิธีของ Machiavelli เข้าด้วยกัน - มวลชนทั้งหลายได้ถูกปลุกเร้าโดยผ่านการเป็นนักแสดงที่ดึงดูดความสนใจ และความน่าตื่นตาตื่นใจ เกี่ยวกับการแสดงผ่านม่านควันและกระจกเงา(มายา). ดังที่ Bramsted (1965: 22) เสนอ, Goebbels ได้ใช้การแสดงอันเป็นที่ดึงดูดของละครสัตว์ Barnum (1810-1891) ของอเมริกามาเป็นประโยชน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เป็นสิ่งปรากฏเด่นชัดในการปลุกระดมมวลชน โดยได้รับการจัดการเพื่อสนับสนุนลัทธิฟูเลอร์(Fuhrer cult)ของฮิตเลอร์. สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้รับการวางแผนเอาไว้เป็นอย่างดี และอย่างค่อนข้างระมัดระวังมาก, การจัดการบนเวทีที่ฉลาดหลักแหลมเพื่อทำให้คนที่มีส่วนร่วมนับพันๆ คนมาหลอมรวมพวกเขาเองเข้าด้วยกัน ในการชุมนุมกึ่งศาสนา(1965: 214-15).
Goebbels ได้ใช้ประโยชน์จากสื่อสิ่งพิมพ์ - โปสเตอร์ต่างๆ และโปสการ์ด - เพื่อโฆษณาการปลุกระดมเหล่านี้และชักจูงฝูงชนทั้งหลาย. เขาเป็นปรมาจารย์คนหนึ่งที่มีการใช้ประโยชน์จากสื่อผสม - มีการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับรูปแบบของการสื่อสารในช่วงวันเวลาของเขามาเป็นประโยชน์
Goebbels รู้สึกประทับใจกับการที่อังกฤษได้มีการควบคุมและเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ เพื่อหล่อหลอมความเห็นของสาธารณชนในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นเขาจึงนำเอาวิธีการดังกล่าว มาใช้กับสิ่งพิมพ์ทั้งหลายของเยอรมันให้มาอยู่ภายใต้การควบคุม แต่ไม่ได้ทำในลักษณะตรงๆ ตรงกันข้าม เขากระทำโดยผ่านการข่มขู่คุกคาม และใช้กฎที่ประชุมของบรรดานักหนังสือพิมพ์เข้ามาควบคุม(1965: 89)
แผนกสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ - ดำเนินการโดยศาสตราจารย์ Karl Bonner - ซึ่งทำงานอยู่ในกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ(Knightlay, 1982: 204). นี่คือหน่วยงานประชาสัมพันธ์องค์กรหนึ่ง ซึ่งมีภารกิจในการทำให้บรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่เป็นกลาง ได้รับความสะดวกง่ายดายเท่าที่จะเป็นไปได้ - รวมทั้งมีการจัดการให้พวกเขาเดินทางไปยังแนวหน้าในสนามรบต่างๆ. หน่วยงานสิ่งพิมพ์ต่างประเทศได้สร้างนโยบายของเยอรมันนีจำนวนมาก เกี่ยวกับการไม่มีการเซ็นเซอร์ขึ้น - freie berichterstattung หรือให้อิสรภาพเกี่ยวกับการรายงานข่าว (1982: 204). บรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะถูกควบคุมโดยผ่านการช่วยเหลือ(PR-การประชาสัมพันธ์) หรือโดยผ่านการข่มขู่คุกคามอย่างหลักแหลม
Goebbels ยังได้มีการกะเกณฑ์บรรดานักหนังสือพิมพ์และช่างภาพทั้งหลาย เข้ามาสู่สายงานโฆษณาชวนเชื่อของทหารด้วย และได้มีการก่อตั้งหน่วยงานพันธมิตรการโฆษณาชวนเชื่อขึ้น เรียกว่า Propaganda Kompanien หรือ PKs (1982: 205). หน่วยงานนี้ได้ถูกส่งไปยังแนวหน้าต่างๆ เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามอย่างรวดเร็ว - พวกเขาเหล่านั้นเดินทางไปกับรถถัง หรือบินไปกับเครื่องบินทิ้งระเบิดต่างๆ และกระโดดร่มไปกับกองทหารพลร่ม รวมถึงเดินแถวไปพร้อมกับกองทหารทั้งหลาย(1982: 212)
เพราะหน่วยงาน PKs คือบรรดานักหนังสือพิมพ์และช่างภาพมืออาชีพ คนเหล่านี้จึงผลิตงานและรายงานข่าวชั้นเลิศและมีคุณภาพ รวมไปถึงภาพของสงครามต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อมีการตีพิมพ์ออกมา. สิ่งเหล่านี้ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งโดยการออกเผยแพร่ผ่านสื่อของเยอรมันเองและสื่อต่างประเทศ. ขณะที่เยอรมันนีกำลังได้ชัยชนะในสงคราม เรื่องราวข่าวสารต่างๆของ PK จะทำหน้าที่ให้แรงบันดาลใจชาวเยอรมัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมันนีเริ่มพ่ายแพ้สงคราม หน่วยงานพันธมิตรการโฆษณาชวนเชื่อ ได้ถูกกดดันให้คอยทำหน้าที่แก้ข่าวและเรื่องราวต่างๆ ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม เยอรมันไม่ใช่เป็นเพียงหนึ่งเดียว ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เหล่านี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 - อันที่จริงแล้ว อังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็กระทำในสิ่งนี้เช่นเดียวกัน
การโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลกครั้งที่
2 ของอังกฤษและอเมริกา
กระทรวงประชาสัมพันธ์ของอังกฤษ ได้เผชิญหน้ากับสงครามที่เอาชนะได้ยากในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่
2 เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษค่อนข้างมีประสิทธิผลมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
1 แต่อย่างไรก็ตาม นั่นมันเป็นเหตุการณ์ในช่วงปีทศวรรษที่ 1920s. สื่อของอเมริกัน,
เป็นตัวอย่าง, ซึ่งไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของอังกฤษในช่วงปีแรกๆ
ของสงครามโลกครั้งที่ 2 (Knightley, 1982: 212)
Goebbels ได้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความไม่วางใจนี้ของแหล่งข้อมูลอังกฤษ - กระทั่งเมื่อตอนที่เยอรมันนีเริ่มที่จะพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ชักชวนให้ชาวเยอรมันทั้งหลายอย่าได้ไปสนใจรายงานข่าวต่างๆ ที่เป็นไปในเชิงลบ เพราะเขาให้เหตุผลว่ามันเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษ ที่เคยกระทำมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1. แต่อย่างไรก็ตาม ภายในอังกฤษและจักรวรรดิ์, บรรดานักโฆษณาชวนเชื่อค่อนข้างประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดภาพที่เหมะสมของสงคราม ให้กับมวลชนทั้งหลายของพวกเขา
อีกคำรบหนึ่ง
การเซ็นเซอร์ได้ถูกใช้อย่างได้ผล ในฐานะที่เป็นการควบคุมและจัดการกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย
อย่างมีนัยะสำคัญสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ใช้ประโยชน์วิธีการใหม่อันหนึ่งในการควบคุมพวกนักหนังสือพิมพ์ต่างๆ
- นั่นคือระบบเครือข่ายที่ปันข้อมูลกัน(the pool system)(1982: 203). บรรดานักหนังสือพิมพ์อังกฤษ
ได้ถูกเลือกโดยระบบการลงคะแนนเสียงเพื่อไปสู่แนวหน้าของสนามรบต่างๆ ที่ซึ่งพวกเขาจะได้รับการคุ้มกันโดยบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
ซึ่งผูกอยู่กับหน่วยข่าวกรองของทหาร. เรื่องราวทั้งหลายของนักข่าวชาวอังกฤษที่รายงานออกมา
ได้ถูกเผยแพร่และกระจายไปยังเครือข่ายสำหรับนำไปใช้ประโยชน์โดยสื่อต่างๆทั้งหมด.
วิธีการนี้สำหรับบรรดานักหนังสือพิมพ์ระดับสูง และผู้อำนวยการข่าวช่วงระหว่างสงคราม
นับว่าเป็นวิธีการที่ป๊อปปูล่าร์และเป็นที่นิยมมากกับโลกเสรีประชาธิปไตยในสมัยนั้น
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาสร้างเครื่องมือในการเซ็นเซอร์
และการโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมา ซึ่งได้ระดมผู้เชี่ยวชาญการประชาสัมพันธ์ทั้งหลายของตนมาร่วมงาน.
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวสารต่างๆ ได้รับการเซ็นเซอร์มากกว่าทัศนะหรือความคิดเห็นต่างๆอย่างมีนัยสำคัญ
นั่นคือยอมให้สื่อทั้งหลายถกเถียงอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์ และให้การสนับสนุนมายาภาพ
ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่มีการเซ็นเซอร์แต่อย่างใด (Taylor, 1997: 107)
สหรัฐอเมริกาได้มีการบูรณาการการควบคุมจัดการความเห็นของสาธารณชน โดยผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและการเซ็นเซอร์สู่ใจกลางของปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมีประสิทธิภาพ. ดังที่นายพล Eisenhower ได้พูดเอาไว้ในปี ค.ศ.1944 ว่า "ความเห็นของสาธารณชนเป็นผู้ชนะสงคราม (และต่อด้วย) ข้าพเจ้ามักคิดคำนึงเสมอว่า ตัวเองทำงานกึ่งๆ ในสต๊าฟของบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยประสานงานอย่างน่าเชื่อถือ กับกองบัญชาการใหญ่ของข้าพเจ้า"(Knightley, 1982: 299)
ขนาดของเครื่องจักรการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐฯ เป็นตัวชี้วัดบางอย่างถึงความเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหนของสหรัฐฯ ในการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมจัดการความคิดเห็นของสาธารณชน: "โดยในช่วงปลายปี ค.ศ.1944 กองอำนวยการประชาสัมพันธ์ของฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงปารีส มีสต๊าฟและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เข้ามาจัดการกับคำต่างๆ ประมาณ 3 ล้านคำ และมีการติดต่อทางจดหมายกว่า 1000 ฉบับ, ผนวกกับภาพถ่ายต่างๆอีกราว 35,000 ภาพ และภาพยนตร์ข่าวยาวถึง 1 แสนฟุตในแต่ละสัปดาห์(1982: 299) และนั่นคือเซกเตอร์ทางทหารในภาคส่วนของยุโรปตะวันตก - อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรการประชาสัมพันธ์หลักของกองทัพสหรัฐฯ ยังคงปฏิบัติการจากกรุงวอชิงตัน ที่ซึ่งแถลงการณ์ต่างๆของกองทัพได้ถูกผลิตขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล
สหรัฐอเมริกาได้สร้างเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาอย่างมีประสบการณ์ และความชำนาญ ซึ่งความรอบรู้และความเข้าใจในสื่อ(media-savvy)ของบรรดานายพลต่างๆของสหรัฐฯ ได้ถูกนำไปใช้ในการส่งเสริมในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของสงครามเท่านั้น แต่ยังได้ถูกนำไปใช้สนับสนุนตัวของพวกเขาเองด้วย
นายพล Bradley และ Patton ได้ผันตัวของพวกเขาเองเข้าสู่ความมีชื่อเสียง โดยการแสดงอย่างไม่รู้สึกอับอายใดๆกับสื่อต่างๆ. พวกเขายังใช้ประโยชน์จากสื่อทั้งหลายเหล่านี้ในการต่อสู้ดิ้นรนของตัวพวกเขาเองด้วย (ยกตัวอย่างเช่น การต่อสู้ของ Bradley - Monty)(1982: 307-8). โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายพล MacArthur นับเป็นคนซึ่งมีความเชี่ยวชาญคนหนึ่งในการเล่นกับสื่อต่างๆ เหล่านี้
ความพ่ายแพ้ในฟิลิปปินส์, ทำให้ MacArthur ต้องหนีไปยังออสเตรเลีย ที่ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการรบของสหประชาชาติ ทางด้านแปซิฟิคตอนใต้. โดยไม่มีกองทหารใดๆเลย นายพล MacArthur หันไปหาการประชาสัมพันธ์แทน - โดยการจัดตั้งทีมประชาสัมพันธ์ทีมหนึ่งขึ้นมา ภายใต้การกำกับโดยตัวของเขาเอง ณ กองบัญชาการใหญ่ที่ Brisbane (ออสเตรเลีย). ทีมประชาสัมพันธ์นี้ได้ทำการส่งเสริม(อย่างประสบผลสำเร็จ)ไอเดียเกี่ยวกับนายพลที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ในตำแหน่งของนายพลทหารที่เป็นผู้นำ และทำให้เป็นที่นิยมชมชอบเกี่ยวกับคำพูดอันฮึกเหิมของเขาที่ว่า "ผมจะกลับมา(ยังฟิลิปปินส์)อีก"(1982: 264)
นายพล MacArthur ยังดำเนินการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดด้วย - เรื่องราวทั้งหมดจะถูกเคลียร์โดยการตรวจสอบควบคุม และทหารคนใดก็ตามภายใต้การบังคับบัญชาของเขา ที่ให้สัมภาษณ์กับบรรดานักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ก็จะได้รับการนำขึ้นศาลทหารทันที. ระบบการเซ็นเซอร์นี้ได้ช่วยปิดบังซ่อนเร้นเกี่ยวกับการไร้ความสามารถของ MacArthur ในการปกป้องออสเตรเลีย และแผนการถอยทัพต่างๆถ้าหากว่าถูกโจมตี. และเมื่อ MacArthur ได้ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหาร เขาจะต้องมั่นใจว่ามีสื่อต่างๆอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งจะมองเห็นเขา
เขากลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเขาสามารถควบคุมภาพลักษณ์ที่ฉายออกไปได้ - ณ การปฏิบัติการที่ Milne Bay (New Guinea), ซึ่ง MacArthur ใช้ส่งเสริมตัวของเขาเอง "เจ้าหน้าที่ทางการคนหนึ่งของออสเตรเลียกล่าวว่า เขาไม่รู้มาก่อนเลยว่า มันมีภาพถ่ายมากมายมหาศาลอยู่บนโลกใบนี้"(1982: 265). ดังที่ Knightley (1982: 266)ชี้แจงเอาไว้, การโฆษณาเผยแพร่สไตล์แบบฮอล์ลีวูดของ MacArthur ได้พิสูจน์ถึงความมีประสิทธิภาพที่แท้จริงของสื่อได้อย่างไร"
โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกันได้ขยับขยายเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางออกไป เพื่อที่จะจัดการควบคุมความเห็นของมวลสาธารณชนทั้งหลาย พวกเขาได้ใช้เครื่องจักรอันนี้เพื่อสร้างสรรค์ความประทับใจเกี่ยวกับอเมริกาที่มีความเที่ยงธรรมและความสมบูรณ์ นำโดยบรรดาอัจฉริยบุคคลซึ่งชนะสงครามโดยไม่เคยทำอะไรผิดพลาดมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว(1982: 260-1) สื่อได้ทำหน้าที่ไปกับเรื่องราวต่างๆอันนี้ โดยทำให้มั่นใจในฐานะที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติ(1982: 261)
ในท้ายที่สุด สื่อในประเทศอังกฤษ, เยอรมันนี, และสหรัฐอเมริกาช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ร่วมขบวนไปกับบรรดานักโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลาย - ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นบรรดาผู้สมคบคิดโดยเจตนา ในเกมเกี่ยวกับการจัดการควบคุมมวลชน เพื่อที่จะทำให้สงครามที่ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นไปได้
30 ปีหลังจากนั้น,
Charles Lynch
ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ร่วมไปกับทหารอังกฤษในฐานะผู้สื่อข่าวรอยเตอร์,
ซึ่งได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาที่สลับซับซ้อนทางการเมือง. เขากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่น่าขายหน้า
เมื่อมองย้อนกลับไปยังสิ่งที่พวกเราเขียนในช่วงระหว่างสงคราม มันเป็นเรื่องที่ห่วยแตกจริงๆ
พวกเราเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลพวกเรา. ในตอนเริ่มต้น บรรดาคนที่ทำหน้าที่เซนเซอร์ทั้งหลายจะคอยบังคับและจับตาดูพวกเรา
แต่สุดท้ายพวกเรากลายเป็นคนที่ทำหน้าที่คนเซ็นเซอร์เสียเอง พวกเราเป็นได้แค่เพียงบรรดาเชียร์ลีดเดอร์เท่านั้น"
(1982: 317)
อย่างมีนัยสำคัญ ผู้สื่อข่าวสงครามคนหนึ่งได้ให้เหตุผลว่า การเซนเซอร์คือเหตุผลที่กองทัพและสื่อต่างๆ
ได้สร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันอันหนึ่งขึ้นมา. Drew Middleton เขียนไว้ว่า:
"ตราบเท่าที่สำเนาทั้งหมดได้รับการเสนอให้บรรดาคนทำหน้าที่เซ็นเซอร์พิจารณาก่อนการเผยแพร่,
ผู้คนในสนามรบ, นับจากนายพลทั้งหลายเรื่อยลงมาตามลำดับ, ต่างรู้สึกเป็นอิสระที่จะพูดคุยในเรื่องราวเกี่ยวกับความลับสุดยอดทางด้านการทหารกับบรรดานักข่าวทั้งหลาย
กองทัพพิจารณาว่าบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังของพกวเขา
และมันชัดเจนเท่าๆ กันที่ว่า บรรดาผู้สื่อข่าวเป็นจำนวนมากก็รู้สึกในทำนองเดียวกันนั้น(Knightley,
1982: 299-300)
นี่เป็นหนึ่งในแกนหลักที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันไปเลยทีเดียว
ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม - นั่นคือ การปลดการเซ็นเซอร์ทิ้งไป หมายความว่า
บรรดานายพลทั้งหลายและทุกๆคน ต่างรู้สึกกังวลมากเกี่ยวกับการพูดคุยกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย
(1982: 300)
เวียดนาม : สงครามที่ปราศจากการเซ็นเซอร์ทางโทรทัศน์
คริสตศตวรรษที่ 20 ได้ผลิตเครื่องจักรฆ่าคนต่างๆ ขึ้นมาด้วยความกระหายและไม่รู้จักพอในการกลืนกินพลทหารที่พร้อมที่จะไปตายโดยไม่มีผู้ใดสนใจ
ในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสงครามเกาหลี กองทัพสหรัฐฯ จัดการมวลชนของพวกเขาโดยผ่านปฏิบัติการต่างๆ
ทางด้านสื่อสารมวลชน(อย่างมีประสิทธิผล) (นั่นคือ การโฆษณาชวนเชื่อ / การเซ็นเซอร์)
แต่ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม สิ่งต่างๆ กลับดำเนินไปอย่างผิดพลาด นั่นคือ
เครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อล้มเหลวที่จะควบคุมวิถีแห่งสงคราม โดยเฉพาะข่าวสารต่างๆที่ถูกรายงานไปสู่สาธารณชน และประชาชนอเมริกันจำนวนมากกลับเป็นผู้ต่อต้านสงครามเสียเอง. สงครามเวียดนามได้แสดงให้เห็นสิ่งที่ Lippmann ได้พูดเอาไว้อย่างถูกต้องว่า ในเชิงการสื่อสาร มันล้มเหลวที่จะจัดการมวลชน ในโลกเสรีประชาธิปไตยสามารถที่จะก่อเกิดภาวะแห่งการแตกแยกขนานใหญ่ และจริงจังขึ้นมาได้
ด้วยเหตุดังนั้น อะไรล่ะที่ทำให้สงครามเวียดนามแตกต่างออกไป? สิ่งที่มีนัยะสำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่ การไม่มีการเซ็นเซอร์ของกองทัพ. อันนี้หมายความว่ากองทัพค่อนข้างระมัดระวังและคอยเฝ้าจับตาดูบรรดานักหนังสือพิมพ์ ซึ่งอันนี้ได้แปรไปสู่การที่บรรดานักหนังสือพิมพ์ ล่วงรู้สิ่งต่างๆน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ยิ่งกว่ากรณีสงครามต่างๆ ก่อนหน้านั้น
ภาวะเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง สงครามเวียดนามเริ่มกลายเป็นปฏิบัติการเล็กๆ อันหนึ่งบนชายขอบต่างๆ ของโลกอเมริกัน. ผลที่ตามมา บรรดาผู้สื่อข่าวหนุ่มๆได้ถูกส่งตัวไปประกบกับสงครามนี้(1982: 348). คนหนุ่มๆดังกล่าวในสงครามเวียดนาม เป็นบรรดานักอุดมคติที่ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาสดๆ เกี่ยวกับอุดมการณ์ของวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน(watchdog) และทำงานให้กับสื่อในเชิงพาณิชย์ที่แสวงหาข่าวต่างๆ ที่เร้าอารมณ์ความรู้สึก
John Mecklin, หัวหน้าข่าวของนิตยสาร Time ในซานฟรานซิสโก ได้สรุปผลลัพธ์ดังกล่าวว่า - บรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลายเป็นพวกที่ไม่มีประสบการณ์และไม่ช่ำชองเพียงพอ และรายงานของพวกเขาก็ขาดความรับผิดชอบและถูกทำให้เร้าความรู้สึกมากจนเกินไป (Knightley, 1982: 346). เพราะว่าผู้คนจำนวนมากในเวียดนามต่างไม่เป็นสุขกับสงคราม, บรรดานักข่าวทั้งหลายมักจะค้นหาแหล่งข้อมูลต่างๆอยู่เสมอ - พวกเขาไม่ต้องการปรึกษาหารือกับแหล่งข้อมูลที่กว้างขวาง และ/หรือ กับแหล่งข้อมูลของทางการแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังนั้น บรรดานักข่าวหนุ่มๆ ที่ไม่มีประสบการณ์จึงโดดเข้าสู่สถานการณ์อันหนึ่ง ซึ่งพวกเขาไม่เข้าใจ โดยได้รับการกระตุ้นจากแนวคิดการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน(watchdogism) และแหลมคมมากที่จะใช้สงครามนี้เพื่อยกระดับอาชีพของพวกเขาเอง - ซึ่งนั่นไม่ใช่มาจากตำรับตำราสำหรับการรายงานข่าวที่ดี
พวกเขายังปฏิบัติการในลักษณะการรวมกลุ่มนักข่าว(pack-journalism) - การนั่งรายล้อมกันในบาร์(เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น)(1982: 391) และปรึกษาหารือกันในแหล่งข่าวต่างๆ ที่มาจากที่เดียวกัน. พวกเขาได้กระทำในสิ่งที่บรรดานักข่าวทั้งหลายมักจะกระทำกันอยู่บ่อยๆ เมื่อเผชิญหน้ากับสถานที่ในต่างประเทศซึ่งมีความสลับซับซ้อน กล่าวคือ พวกเขารวมกลุ่มกันเป็นชุมชนชาวตะวันตกที่มาจากต่างประเทศ และได้สร้าง closed-shop (สมาชิกกลุ่มเดียวกัน) และการตีความต่างๆ ขึ้นมา(Louw, 2001: 194)
ดังที่ Louw (2001: chapter 9)นำเสนอ, การรายงานเกี่ยวกับบริบทต่างประเทศ มักจะมีข้อบกพร่องอยู่เสมอๆ. เวียดนามนับเป็นกรณีหนึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ - ดังที่ถูกให้ภาพโดยข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯได้ปิดบังนักข่าวเกี่ยวกับสงครามกับชาวกัมพูชาเป็นปี. อย่างน่าสนใจ ในช่วงต้นของสงคราม บรรดาบรรณาธิการข่าวสหรัฐฯ ทราบถึงข้อจำกัดต่างๆของบรรดานักข่าวของพวกเขา ซึ่งชื่นชอบและโอนเอียงที่จะเชื่อถือเรื่องราวที่เป็นทางการต่างๆ ที่ได้รับการนำเสนอโดยการประชาสัมพันธ์ของเพนตากอน(กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวต่างๆ จากบรรดาสต๊าฟของพวกเขาเอง(Knightley, 1982: 344)
เรื่องที่มาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์นี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และนั่นมันได้ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เท่าๆกันกับเรื่องราวที่เร้าอารมณ์อย่างน่าตื่นเต้นที่ถูกบรรจุอยู่ในแฟ้มที่มาจากไซง่อน. ท้ายที่สุดอันนี้ได้ให้ภาพปัญหาเกี่ยวกับการรายงานข่าวสงคราม และความรุนแรงทางการเมือง - เพราะมันมีคนอยู่สองพวกซึ่งรู้สึกรุนแรงพอที่จะฆ่ากันและกันได้
ทุกๆคนได้ถูกนำเข้าไปพัวพันกับข้อมูลที่ผิดพลาดและการโฆษณาชวนเชื่อที่เผยแพร่อยู่ และผูกพันอยู่กับการพยายามที่จะจัดการควบคุมบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย อย่างน้อยที่สุดในบางเวลา บางคนก็ประสบผลสำเร็จ. ด้วยเหตุเพราะ นักโฆษณาชวนเชื่อของเพนตากอน ล้มเหลวที่จะควบคุมประเด็นข่าวต่างๆ จากเวียดนาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า "ความจริง"ได้ถูกรายงานออกมาแต่อย่างใด
แต่นั่นยังคงไม่ได้อธิบายว่า ทำไมการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเวียดนามจึงได้ส่งผลกระทบต่อมวลชนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่ง อันนี้เกิดขึ้นเพราะเวียดนามถือว่าเป็นข่าวสงครามทางโทรทัศน์ครั้งแรก. ทุกๆเย็น ภาพที่เร้าอารมณ์เกี่ยวกับความตาย และทหารที่เสียเลือดเนื้อได้รับการถ่ายทอดไปสู่บ้านเรือนของคนอเมริกัน เวียดนามกลายเป็นการสื่อสารที่สร้างความหายนะให้กับกองทัพสหรัฐฯ เพราะพวกเขาล้มเหลวที่จะจัดการประเด็นข่าวต่างๆ สัดส่วนของมวลชนขนาดใหญ่ชาวอเมริกันได้เปลี่ยนไปต่อต้านสงคราม
อย่างมีนัยสำคัญ คนระดับสูงในด้านการทำนโยบายสหรัฐฯ ไม่ปรองดองกันเกี่ยวกับการต่อสู้ในสงครามนี้. มวลชนที่เจริญเติบโตมากขึ้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจ และได้ถูกเติมเชื้อไฟโดยภาพเชิงลบทางโทรทัศน์ ซึ่งได้เพิ่มน้ำหนักมากขึ้นในการต่อสู้กันระหว่างนักทำนโยบายทั้งหลาย และได้หนุนเสริมฐานะตำแหน่งของนักนโยบายสายพิราบ ซึ่งต้องการยุติสงครามดังกล่าวลง
ทางฝ่ายกองทัพค้นพบว่า ภาพเชิงลบทางโทรทัศน์ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมากสำหรับพวกเขา ที่จะจัดการกับเครื่องจักรการทำนโยบายของวอชิงตัน - และในตอนจบ นักทำนโยบายสายพิราบก็ประสบชัยชนะเหนือสายเหยี่ยว. นโยบายสายเหยี่ยวประสบความพ่ายแพ้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงความคิดของกองทัพ เกี่ยวกับปฏิบัติการชี้นำของสงครามในยุคโทรทัศน์ (Young and Jesser, 1997: 275)
ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนี้
กองทัพสหรัฐฯเชื่อว่าตนได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญ 2 ประการจากเวียดนาม
ประการแรก, ถ้าความสำนึกเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามพัฒนาขึ้นในท่ามกลางพลเมืองของตน
สงครามจะประสบกับความพ่ายแพ้ เพราะแรงกดดันทางการเมืองเจริญงอกงามขึ้นมาเพื่อให้มีการยุติสงคราม
(อันนี้ได้รับการเรียกว่า เวียดนามซินโดรม - อาการโรคเวียดนาม)
ประการที่สอง, ภาพทางโทรทัศน์สามารถส่งเสริมสำนึกเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามได้
และ/หรือ สามารถที่จะทำลายความถูกต้องชอบธรรมเกี่ยวกับการใช้วิธีการบีบบังคับ.
ยิ่งกว่านั้น ถ้าสงครามไม่ระมัดระวังในเรื่องการประชาสัมพันธ์มากพอ ภาพต่างๆจากโทรทัศน์เกี่ยวกับสงครามก็จะมีสมรรถนะ
ในการที่จะสร้างปัญหาให้กับความชอบธรรมเกี่ยวกับระเบียบความเป็นเจ้าโลกต่างๆ
กองทัพจึงประณามโทรทัศน์อย่างรุนแรงสำหรับการพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม เพราะโทรทัศน์ไม่สามารถที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความสลับซับซ้อนของการทำสงครามได้.
ความรวดเร็วของโทรทัศน์ได้ทิ้งให้ผู้ดูรู้สึกประทับใจในแง่ลบ และก่อให้เกิดอารมณ์ที่เป็นไปในทิศทางตรงข้ามแทน
(MacArthur, 1992: 82). Hallin (1986: 213) เสนอว่าการตำหนิประณามโทรทัศน์สำหรับการพ่ายแพ้สงคราม
เป็นเรื่องที่ง่ายเกินไป เพราะการรายงานข่าวทางโทรทัศน์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง
ในกระบวนการน้อมนำไปสู่การล่มสลายของเจตจำนงของอเมริกาที่จะสู้รบ
คำอธิบายของ Hallin(1986) เกี่ยวกับเนื้อหาสื่อต่างๆยังแสดงให้เห็นว่า การรายงานข่าวของสื่ออเมริกันเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม มันไปไกลเกินกว่าเรื่องลบที่เหมือนๆกัน. อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวเป็นไปในด้านลบของโทรทัศน์ ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำนโยบายของวอชิงตัน โดยการทำให้มือของผู้ที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านสงครามแข็งแรงขึ้น
ผลลัพธ์ดังกล่าว ได้ก่อเกิดความงอกงามขึ้นของการทำประชาสัมพันธ์ในกิจการเกี่ยวกับสงคราม ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยกองทัพ ในฐานะที่เป็นยุทธวิธีในการตอบโต้อันหนึ่งต่อการรับรู้ของนายพล Westmoreland (1980: 555) ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ที่รายงานข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับสงครามดังกล่าว โดยผลิตภาพมุมมองที่บิดเบือนไปอย่างเป็นธรรมชาติ
กองทัพสหรัฐฯเชื่อว่า โทรทัศน์เป็นมูลเหตุของการพ่ายแพ้สงครามของกองทัพ อันนี้ออกจะเกินเลยไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามอย่างไม่ต้องสงสัยว่า โทรทัศน์คือปัญหาตัวหนึ่งสำหรับสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกใช้โดยผู้ยึดถืออำนาจซึ่งใช้วิธีการบีบบังคับด้วยกำลัง (เช่น ทหาร และตำรวจ). ปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือว่า ความรวดเร็วของภาพข่าวโทรทัศน์ทำให้ภาพเหล่านั้น ปรากฏออกมาอย่างไม่มีการจัดการหรือควบคุม บรรดาผู้ชมโทรทัศน์ได้รับความประทับใจที่พวกเขารู้สึกเป็นส่วนตัวจริงๆ กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น - นั่นคือ ภาพบนจอทีวีมันดูเหมือนว่า"จริง"
แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบว่าภาพทางโทรทัศน์ได้รับการผลิตขึ้น. บรรดาผู้ดูทั้งหลายเพียงได้เห็นแต่สิ่งที่กล้องได้ไปจับภาพต่างๆ เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังช่างกล้อง หรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นเมื่อกล้องยุติการถ่ายภาพ. พวกเขาไม่ได้เห็นสิ่งที่ถูกตัดออกไป หรือภาพอื่นๆอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ที่คนซึ่งทำหน้าที่ตัดต่อภาพเป็นผู้ตัดสินใจนำเสนอ
ดังที่ Knightley (1982: 381-3) บันทึกไว้ว่า ภาพทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการสงคราม (หรือข่าวอื่นๆเกี่ยวกับสาระข้างต้น) ไม่ได้พรรณา"ความเป็นจริง" (หรือ ตรงไปตรงมา ด้วยมุมมองที่ปราศจากอคติเกี่ยวกับสงคราม); พวกมันเพียงดูเหมือนถ่ายทอดความเป็นจริงเท่านั้น. และเมื่อความขัดแย้งและความรุนแรงได้ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง เกือบจะรับประกันได้เลยว่าโทรทัศน์จะบิดเบือนการให้ภาพหรือพรรณาเกี่ยวกับข่าวนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าโทรทัศน์อาจไม่ต้องถูกตำหนิหรือประณาม สำหรับการพ่ายแพ้ของอเมริกาในสงครามเวียดนาม แต่มันได้ช่วยสนับสนุนให้นักการเมืองสายพิราบประสบชัยชนะในการโต้เถียงกันในเชิงนโยบาย. ข่าวคราวของสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการรุกรานในช่วงวันตรุษปีใหม่ของเวียดนาม เป็นการประชาสัมพันธ์ในเชิงหายนะสำหรับกองทัพสหรัฐฯ. เหตุการณ์ในวันตรุษปีใหม่ดังกล่าว ได้ไปขุดเซาะทำลายการสนับสนุนสำหรับการทำสงคราม และมันยังไปสกัดกั้นความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับแถลงการณ์สั้นๆ ของกองทัพลงด้วย
เพราะในปี 1967 แถลงการณ์สั้นๆของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯเกือบจะชนะสงครามแล้ว. แต่ถัดมาในปี 1968 เวียดกงได้เริ่มการโจมตี รวมถึงที่ไซง่อน (ที่ซึ่งนักข่าวโทรทัศน์สหรัฐฯ ติดค้างอยู่กับการรายงานถึงผลลัพธ์เกี่ยวกับการต่อสู้กันตามท้องถนนต่างๆ). เหตุการณ์วันตรุษดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์ในเชิงหายนะ เพราะ :
- มันได้ให้ภาพข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับความโหดร้ายของกองทัพสหรัฐฯ
- ในภาพข่าวโทรทัศน์เหล่านี้ เวียดกงดูไกลห่างไปจากความพ่ายแพ้หรือกำลังจะหมดเรี่ยวแรง (แม้ว่าในเชิงตรงข้าม พวกเขาเป็นรัฐที่อ่อนแอในด้านกำลังทหารก็ตาม)
- มันน้อมนำไปสู่การสนทนากันเกี่ยวกับพลเรือนชาวเวียดนาม ที่ให้การสนับสนุนพวกเวียดกง - นั่นคือ ความคิดที่ว่าสหรัฐฯ ซึ่งกำลังปกป้องพลเรือนชาวเวียดนามจากพวกคอมมิวนิสท์ ภาพดังกล่าวนี้ได้ถูกทำลายลงไป
- เหตุการณ์วันตรุษปีใหม่เวียดนาม เป็นกรณีหนึ่งของช่วงเวลาที่เลวร้าย - มันเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ชนชั้นหัวกะทิที่ปกครองสหรัฐฯ ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันภายใน. มันอาจไม่ใช่ผลกระทบในเชิงลบในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านั้น
กองทัพสหรัฐได้เก็บเอาบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์วันตรุษเอาไว้ ณ กึ่งกลางหัวใจ และก่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่ยินยอมให้การประชาสัมพันธ์ในเชิงหายนะดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นอีก - นั่นคือพวกเขาเรียนรู้ถึงการทำประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสงครามที่ไปถึงสาธารณชน และให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจังที่จะตัดทอนภาพข่าวโทรทัศน์ที่เป็นไปในเชิงลบลง เพื่อไม่ให้ไปถึงการรับรู้ของสาธารณชน
เพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯตัดสินใจว่า ถ้าพวกเขาไม่สามารถจัดการเกี่ยวกับระบบเซนเซอร์ได้ พวกเขาจะต้องเป็นนักปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ขึ้นมาแทน
++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
สงครามเวียดนามเริ่มกลายเป็นปฏิบัติการเล็กๆ อันหนึ่งบนชายขอบต่างๆ ของโลกอเมริกัน. ผลที่ตามมา บรรดาผู้สื่อข่าวหนุ่มๆได้ถูกส่งตัวไปประกบกับสงครามนี้ คนหนุ่มๆดังกล่าวในสงครามเวียดนาม เป็นบรรดานักอุดมคติที่ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาสดๆ เกี่ยวกับอุดมการณ์ของวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน(watchdog) และทำงานให้กับสื่อในเชิงพาณิชย์ที่แสวงหาข่าวต่างๆ ที่เร้าอารมณ์ความรู้สึก