นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



วิกฤตการเมืองไทยร่วมสมัย
รัฐบาล รัฐธรรมนูญ และรัฐประชาธิปไตย
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในสิ่งพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. มาตรา ๗, ๒. ทางสองแพร่งประชาธิปไตยไทย, ๓.
อย่าปล่อยให้รัฐธรรมนูญถูกปล้น
ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ย
งคืน ได้รวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่
เพื่อสะดวกต่อนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ ที่จะทำการศึกษา ค้นคว้า
และทำความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาการเมืองไทยร่วมสมัย
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 863
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




รัฐบาล รัฐธรรมนูญ และรัฐประชาธิปไตย

ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. มาตรา ๗ (ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐)
มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญหมายความว่าอย่างไร?
จะรู้ว่าหมายความอย่างไร อย่านึกเอาเอง แต่ควรเริ่มต้นหาความหมายด้วยการดูว่ามันมาจากไหน

น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ข้อความอย่างนี้เกือบจะเหมือนกันทุกคำ เริ่มปรากฏครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2502 อันเป็นธรรมนูญของเผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่น่าสนใจกว่านั้นขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อไม่มีบทบัญญัติในธรรมนูญในกรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามจารีตการปกครอง "ในระบอบประชาธิปไตย" เฉยๆ ครับ คือไม่มีความต่อไปว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อย่างที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน. นอกจากนี้ธรรมนูญของสฤษดิ์ยังมีวรรคสองกำหนดว่า หากเกิดปัญหาที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารก็ให้สภา (นิติบัญญัติ) วินิจฉัยชี้ขาด

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญใดๆ ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้เขียนออกมา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญของเผด็จการทุกกลุ่ม จะมีข้อความอย่างเดียวกับมาตรา 7 เสมอ เช่นเมื่อจอมพลถนอม ยึดอำนาจตัวเองแล้วออกรัฐธรรมนูญ 2515 เนติบริกรของเขาก็บรรจุมาตรานี้ไว้. รัฐธรรมนูญ 2519 สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกฯ ก็มีข้อความนี้. รัฐธรรมนูญฉบับ 2520 เมื่อเปลือกหอยออกแรงบีบจนเนื้อหอยทะเล็ดออกไปแล้ว ก็มีข้อความนี้

และทุกฉบับจนถึง 2520 ล้วนไม่มีวลี"อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"ต่อท้ายคำว่าประชาธิปไตยทั้งนั้น วลีนี้มาปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญเผด็จการที่คณะ รสช.ให้เนติบริกรร่างขึ้น และออกใช้ในปี พ.ศ.2534

ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญของเผด็จการ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยมีกลุ่มอำนาจเข้าไปมีส่วนร่วมหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เช่นรัฐธรรมนูญ 2518, 2521 ไม่มีข้อความนี้เลย แม้แต่รัฐธรรมนูญที่คณะทหารจำเป็นต้องนำออกมาใช้ หลังจากแก๊งสฤษดิ์ยึดอำนาจไปถึง 12 ปี คือรัฐธรรมนูญ 2511 ก็ไม่มีข้อความนี้

เหตุใดเผด็จการจึงต้องบรรจุข้อความนี้ไว้ในธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญของตัว?
ผมคิดว่าคำตอบมีสองประการ

1. เพราะธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญของพวกเขา มักมีข้อความสั้นๆ เพียงไม่กี่มาตรา จึงต้องมีข้อความนี้ไว้ใช้ ในกรณีที่อาจจะดูเหมือนไม่มีกฎหมายรองรับ อันจะเป็นเหตุให้พวกเขามีภาพเป็นแก๊งโจรป่าเข้ามายึดบ้านยึดเมืองชัดเจนเกินไป อย่าลืมด้วยว่า อะไรคือจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขาเองเป็นคนตีความโดยผ่านปากของเนติบริกร ซึ่งหาซื้อบริการได้ง่ายในเมืองไทยมานานแล้ว

2. มันสวยดีครับ ธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปล่อยให้มีการใช้อำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล หรือการรับรองจากใครสักคนเลย นอกจากปากกระบอกปืน แต่ถ้ายังมีช่องโหว่ในการใช้อำนาจเหลืออยู่ที่ไหนสักเท่ารูเข็ม ตรงนั้นจึงค่อยใช้จารีตประเพณีของประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับดึงพันธมิตรจากกลุ่มที่ตัวตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเองด้วย เพราะจารีตประเพณีของประชาธิปไตยก็ตาม วรรคสองของธรรมนูญสฤษดิ์ก็ตาม ย่อมให้บทบาทความสำคัญแก่คนเหล่านี้ อย่างน้อยบนตัวหนังสือ

(อันที่จริงผมออกจะสงสัยด้วยว่า ข้อความนี้รวมทั้งวรรคสองในธรรมนูญสฤษดิ์ เป็นพินัยกรรมของสฤษดิ์ซึ่งสุขภาพไม่ดี และอาจเสียชีวิตได้ทุกขณะ ด้วยความหวังว่าการสืบทอดอำนาจของคณะปฏิวัติ อาจทำได้ด้วยการเจรจาต่อรองโดยสันติในสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีนายทหารคุมกองกำลังอยู่พร้อมแล้ว แทนที่จะต้องขับรถถังออกมาเจรจากันบนท้องถนน)

ความหมายของข้อความทำนองมาตรา 7 จึงไม่ได้หมายถึงพระราชอำนาจในระบอบปกครองราชาธิราชของไทยอย่างแน่นอน แม้แต่ข้อความที่โยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่เคยมีมาก่อนจนถึงรัฐธรรมนูญของ รสช.2534 หัวใจของความหมายจึงอยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนอกจากกติกาจะถูกเขียนขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายต่างๆ แล้ว ยังมีอีกส่วนที่เป็นประเพณีซึ่งต้องเชื่อถือปฏิบัติ (นี่ว่ากันตามความหมายตัวอักษร เพราะสถาบันและกลไกของระบอบประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการนั้นไม่มีอยู่แล้ว ประเพณีของระบอบประชาธิปไตยจึงทำงานโดยไม่มีสถาบันและกลไกรองรับไม่ได้อยู่เอง)

รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวที่ไม่ได้เกิดจากเผด็จการ แต่กลับบรรจุข้อความในมาตราเจ็ดไว้ด้วย คือรัฐธรรมนูญที่ได้สมญาว่าฉบับประชาชน 2540 นี่แหละครับ. ส.ส.ร.บรรจุข้อความนี้ไว้ด้วยจุดประสงค์อะไร ไม่มีใครตอบได้ เข้าใจว่าผู้ยกร่างบรรจุข้อความนี้ไว้โดยลอกมาจากรัฐธรรมนูญของ รสช. ครั้นนำเข้าพิจารณาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีสมาชิกคนใดติดใจอภิปรายมาตรา 7 เลย จึงผ่านออกไปเงียบๆ และเมื่อไม่มีการอภิปราย ก็ทำให้ไม่รู้เจตนารมณ์ซึ่งก็คือไม่รู้ความหมายที่ชัดเจนนั่นเอง. แม้กระนั้นก็จะใส่ความหมายลงไปตามใจชอบไม่ได้ จำเป็นต้องเอามาตรา 7 ใส่กลับลงไปในเงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความพยายามอย่างจริงจังที่จะสถาปนาระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างแยบคาย (แต่กลไกเหล่านั้นอาจถูกทำให้เป็นหมันไปเกือบหมดภายใต้รัฐบาลทักษิณ) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ปล่อยให้มีอำนาจอันหนึ่งอันใดที่อาจใช้ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งพระราชอำนาจด้วย

ฉะนั้นจึงไม่อาจเข้าใจมาตรา 7 ว่าหมายถึงการคืนพระราชอำนาจ หรือการพึ่งพระบารมีให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชอัธยาศัยได้ ไม่ว่าวลีที่ว่า"ประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จะมีความหมายอย่างไรแก่เหล่าเผด็จการที่สร้างความในมาตรานี้ขึ้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สองส่วนของวลีนี้แยกออกจากกันไม่ได้ การแก้วิกฤตใดๆ อันเป็นผลให้ประเทศไทยปราศจากประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ย่อมทำไม่ได้ เท่ากันกับที่เป็นผลให้ระบอบปกครองของประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ย่อมทำไม่ได้เหมือนกัน…ทั้งเหมือนกันและเท่ากันด้วย

ถ้าอย่างนั้น มาตรานี้จะใช้ได้ในความหมายอย่างไร?
มีแบบปฏิบัติที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้มากมาย โดยเฉพาะในทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นรัฐบาลรักษาการไม่พึงดำเนินการที่จะเป็นการผูกมัดเชิงนโยบายแก่รัฐบาลที่จะมาใหม่ เช่นเมื่อรัฐบาลแพ้โหวตกฎหมายสำคัญในสภา ควรกราบถวายบังคมลาออกไป เพราะแสดงอยู่แล้วว่าเสียงสนับสนุนในสภาของรัฐบาล มีไม่พอจะบริหารต่อไปอย่างราบรื่นได้ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ รัฐธรรมนูญที่ไหนๆ ในโลกย่อมฉลาดพอจะไม่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พิจารณาเลือกปฏิบัติได้เหมาะสมตามกรณี

เช่นเดียวกับที่หากนายกฯ รักษาการตายหรือลาออก (นักกฎหมายบางคนอ้างว่า ลาออกไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ โชคดีที่ผมไม่เคยเรียนกฎหมายจึงไม่เชื่อ เพราะทุกตำแหน่งในโลกนี้ หากอนุญาตให้ตายได้ ก็ต้องอนุญาตให้ลาออกได้เสมอ เนื่องจากมนุษย์ย่อมประกอบด้วยสองส่วนคือกายกับใจ หากกายตาย ย่อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ หากใจไม่อยากจะปฏิบัติหน้าที่เสียแล้วด้วยเหตุใดก็ตาม ใจย่อม"ตาย"ไปจากตำแหน่งนั้นแล้ว และไม่อาจดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปเหมือนกัน)

คำถามคือจะให้ใครขึ้นมาเป็นนายกฯ รักษาการ ในเมื่อไม่มีสภาเสียแล้ว ซ้ำ ครม.ยังสิ้นสุดลงเพราะการลาออกของนายกฯ เสียอีก มาตรา 7 หรือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คือให้ใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลที่มาจากสภาได้ นั่นก็คือให้รองนายกฯ ขึ้นมารักษาการต่อไป

ผมมองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่า เมื่อตำแหน่งนายกฯ รักษาการว่างลง พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเป็นนายกฯ ได้ ไม่เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามมาตรา 7 แต่อย่างไร

เหตุการณ์ 14 ตุลาก็ตาม 6 ตุลาก็ตาม ไม่ใช่ประเพณีการปกครอง (ใครอยากให้สองเหตุการณ์นั้นเป็นประเพณีหรือ?) แต่เป็นเหตุการณ์ยกเว้นที่เราควรภาวนาว่าไม่พึงเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย ในทั้งสองเหตุการณ์ ประเทศไทยไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่เลย เหตุการณ์แรกคณะบุคคลที่อ้างว่าเป็นรัฐบาล ส่งทหารตำรวจออกมาเข่นฆ่าประชาชนกลางถนน ก็แปลว่าไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่อีกแล้ว

ในเหตุการณ์ที่สอง รัฐบาลในขณะนั้นปล่อยให้อันธพาลเข่นฆ่าประชาชนอย่างเหี้ยมโหดกลางเมือง โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แปลว่าไม่มีรัฐบาลเหลืออยู่อีกแล้วเช่นกัน เหตุดังนั้นจึงถูกต้องแล้วที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะอำนวยให้เกิดรัฐบาลขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง (อันเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐ)

ไม่นานมานี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในรัฐธรรมนูญอังกฤษระบุว่าในกรณีคับขันไม่มีทางออกอย่างอื่น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลออกจากตำแหน่ง ด้วยการแจ้งให้นายกฯและรัฐบาลทราบ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีการกราบบังคมทูลจากรัฐบาล. ผมไม่ทราบว่าท่านไปเอาความข้อนี้จากรัฐธรรมนูญอังกฤษ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี และไม่เป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างไร

อันที่จริงรัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น อาจย่นย่อลงเหลือมาตราเดียว คือมาตรา 7 ของเรานี่แหละครับ ฉะนั้นจะเข้าใจรัฐธรรมนูญอังกฤษได้ จึงต้องเข้าใจประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษให้ดี

จริงอยู่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้นเคยมาจากการแต่งตั้งของราชบัลลังก์ ฉะนั้นจะทรงปลดออกเมื่อไรก็ได้ และก็ได้ทรงปลดมาหลายคนแล้ว แต่ในสมัยไหนครับ? โน่นครับ ต้นอยุธยาโน่น ทว่านับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประมาณรัชกาลพระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีอังกฤษล้วนมาจากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎรทั้งนั้น และไม่เคยมีนายกฯ คนใดถูกปลดออกโดยพระบรมราชโองการอีกเลย แม้ในยามที่อังกฤษต้องเผชิญภัยคุกคามของนโปเลียนและฮิตเลอร์อย่างโดดเดี่ยวในยุโรป

ฉะนั้นถ้า"อ่าน"รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็น ก็จะรู้ได้ทันทีว่าพระราชอำนาจข้อนี้ของราชบัลลังก์ได้หมดไปเกือบสามศตวรรษแล้ว. เพราะเป็นรัฐธรรมนูญประเพณีและไม่เป็นลายลักษณ์นี่แหละ ที่ทำให้รัฐธรรมนูญอังกฤษแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งหมดแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะเข้าใจประเพณีการปกครองนี้ได้ ต้องดูจากประเพณีที่ถูกใช้จริงในประวัติศาสตร์ และแปรเปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์

ในอังกฤษวิชาประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ซึ่งนักเรียนกฎหมายต้องเรียน เขาเรียกว่า Constitutional History แปลว่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐและสังคมอังกฤษ และนี่แหละคือรัฐธรรมนูญอังกฤษ คือประเพณีการปกครองที่เกิดจากการใช้จริงในสังคม

นักเรียนไทยถูกสอนว่ารัฐธรรมนูญอังกฤษไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วก็ท่องจำกันต่อๆ มาโดยไม่เข้าใจนัยสำคัญของข้อเท็จจริงตื้นๆ ข้อนี้ ผมขออนุญาตสอนรัฐศาสตร์ (ที่ไม่เคยเรียน) ในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าด้วยนัยะสำคัญเพียงข้อเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา

รัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกนี้เปิดช่องให้มีการแก้ไขได้ทั้งนั้น (ถ้าการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไม่ใช่กีฬาประจำชาติ) จะแก้โดยเพิ่มลดขยายทอนมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือแก้โดยการทำบทเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ หรืออาศัยคำพิพากษาของศาลสร้างบรรทัดฐานที่ชัดขึ้น สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันก็ตาม

รัฐธรรมนูญประเพณีที่ไม่เป็นลายลักษณ์ของอังกฤษ เปิดให้มีการแก้ไขด้วยกระบวนการทางสังคม จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรประชาธิปไตยที่สนามหลวง หรือการเสนออย่างราบเรียบของนักวิชาการ หรือคำตัดสินของศาลสูงก็ตาม เกิดการถกเถียงโต้แย้งจนในที่สุดสังคมเองนั่นแหละที่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

และรัฐธรรมนูญอังกฤษก็ถูกแก้ไขด้วยกระบวนการทางสังคมเช่นนี้มามากแล้ว เช่นสิทธิเลือกตั้งซึ่งต้องขยายให้แก่พลเมืองทุกคน ก่อนที่ ส.ว.ชุดนี้จะตายไปจากโลก สภาขุนนางอังกฤษจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อาจถูกยกเลิกไป อาจกลายเป็นสภาเลือกตั้ง อาจจำกัดแวดวงของผู้มีสิทธินั่งในสภาให้แคบลง ฯลฯ สังคมเปลี่ยนเร็ว รัฐธรรมนูญอังกฤษก็เปลี่ยนเร็ว เพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขจากกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่จากกลุ่มคนหัวเหม่งไม่กี่คน

ผมได้แต่หวังว่า คนที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เวลานี้ ให้ความสนใจแก่กระบวนการมากกว่าสนใจอยู่แค่เนื้อหา คิดให้ดีเถิดว่ากระบวนการอะไรที่จะทำให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม, มีเวทีสำหรับการถกเถียงอภิปรายอย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ เป็นต้น

เรื่องสุดท้ายที่ต้องพูด เพราะไม่พูดก็จบบทความนี้ไม่ได้ก็คือ จะทำอย่างไรดีกับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร
คำตอบของผมก็คือ ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าที่ควรทำตามระบอบประชาธิปไตย ช่วยกันระวังรักษาให้กระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดำเนินต่อไปให้ได้ ประชาชนที่ชุมนุมกันขับไล่คุณทักษิณอยู่ที่สนามหลวงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ที่เราต้องช่วยกันประกันสิทธิของเขาให้มั่นคง และปลอดภัยแก่ตัวเขา

นายกฯ ที่ไม่อาจตอบปัญหาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของตนเองให้เป็นที่พอใจของประชาชนกลุ่มใหญ่ นายกฯ ที่ขึ้นครองอำนาจโดยไม่มีฝ่ายค้านในสภาที่มีประสิทธิผลสักคนเดียว อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้หรอกครับ เพราะฟังค์ชั่นไม่ได้ ข้าราชการเริ่มไม่แน่ใจว่าจะทำตามคำสั่งดีหรือไม่ นักการเมืองกระโดดเรือหนี คุณทักษิณเป็นมะม่วงเน่าคาต้นที่รอเวลาร่วงเท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อคุณทักษิณร่วงไปแล้ว สังคมไทยเข้มแข็งขึ้นพอจะสามารถกำกับควบคุมนายกฯ ได้หรือไม่ต่างหาก หากผู้คนยังพร้อมจะเรียกหาอัศวินควายดำกันง่ายๆ อย่างนี้อีก นายกฯ คนใหม่ก็พร้อมจะแทรกแซงสื่อ, แทรกแซงองค์กรอิสระ, และหาคะแนนเสียงจากประชาชนด้วยนโยบายเหี้ยมโหด ไร้ผลในทางปฏิบัติต่อไปเหมือนเดิม เพราะลัทธิอัศวินควายดำนั้นใช้ได้ทางเดียว คือยกเว้นกฎหมายและความชอบธรรมแก่บุคคลบางคน (ซึ่งเป็นที่นิยมก็ตาม หรือเป็นบุคคล"พระราชทาน"ก็ตาม) แต่ไม่สามารถใช้กลับกันในการทำให้บุคคลอยู่ภายใต้กฎหมายและความชอบธรรมได้ จึงไม่ใช่ลัทธิที่ให้อำนาจกำกับควบคุมการบริหารแก่สังคมแต่อย่างใด

๒. ทางสองแพร่งประชาธิปไตยไทย
ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบที่เป็นประชาธิปไตยก็คือ เมื่อเกิดความผิดพลาดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ระบบสามารถแก้ไขตัวมันเองได้ (self-correction)

แน่นอนว่าไม่ใช่ในทันทีทันใด แต่ต้องใช้เวลา บางเรื่องอาจเป็นเวลาหลายปี แน่นอนว่า ในกระบวนการแก้ไขตัวเองนั้น ย่อมมีความเจ็บปวดของคนบางกลุ่ม และไม่ราบรื่นสะดวกสบาย หากมีความตึงเครียดอย่างสูง แน่นอนว่า ความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งเคยถูกเก็บกดไว้ หรือเคยถูกระงับด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือการตกลงกันในทางลับต่างๆ กลับเผยตัวเองออกมาในที่สาธารณะ แต่ก็บิดผันตัวเองให้กลายเป็นความขัดแย้งเชิงหลักการ เพื่อดึงเอาคนกลุ่มอื่นเข้ามาเป็นพันธมิตรในความขัดแย้ง

ในสภาพของความตึงเครียดอย่างสูงนี้ บางสังคมไม่เข้มแข็งพอจะรับได้ ก็จะเรียกร้องผลักดันให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยเข้ามาจัดการ อำนาจดังกล่าวอาจเป็นอำนาจดิบของกำลังอาวุธ หรืออำนาจทางวัฒนธรรม หรืออำนาจของฝูงชน หรือทั้งสามอย่างร่วมมือกันก็ได้

หากความผิดพลาดของระบบเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด และเป็นที่เห็นพ้องกันในหมู่คนทั่วไปของสังคม การแก้ไขด้วยอำนาจนอกระบบก็อาจทำได้ง่าย (แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นอย่างนั้น การแก้ไข"ในระบบ"ก็อาจทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน จนไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ)

ในทางตรงกันข้าม หากความผิดพลาดของระบบเป็นสิ่งที่ยังไม่มี"ฉันทามติ"ของสังคมรองรับ อำนาจนอกระบบก็มักไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะการแก้ไขที่แท้จริงจะเกิดได้จากการเรียนรู้เท่านั้น และการเรียนรู้เป็นไปได้ดีที่สุดในระบบที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ภายใต้อำนาจที่ปราศจากการทัดทาน ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจนอกระบบจึงมักจะกวาดเอาปัญหาทั้งหมดไปไว้ใต้พรม เพื่อสร้างบรรยากาศของความราบรื่น, สงบ และรุ่งเรืองจอมปลอมขึ้น ปล่อยให้ปัญหาคุกรุ่นสั่งสมอยู่ข้างล่าง รอวันระเบิดออกมาเป็นสภาพที่ไม่มีใครคุมได้

ผมคิดว่า สังคมไทยในเวลานี้กำลังเผชิญกับทางเลือกของประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวแล้วนี้ จนอาจถือได้ว่าอย่างแหลมคมกว่าที่เคยต้องเผชิญมาแล้วทุกครั้งในอดีต หากเราไม่ปล่อยให้ประชาธิปไตยของเราได้มีโอกาสแก้ไขตัวเองไปตามครรลองของมัน ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีวันยืนบนขาตัวเองได้ ต้องมีอำนาจนอกระบบเข้ามาชี้นำค้ำจุนอยู่ตลอดไป

หากสักวันหนึ่งในอนาคตอันยาวไกล อำนาจนอกระบบนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เช่นเกิดความเน่าเปื่อยผุพังในตัวของมันเอง (corrupt) จนเป็นที่รังเกียจของสังคม ระบบจะแก้ไขตัวเองโดยสงบไม่ได้ กลายเป็นสภาพจลาจลที่ไม่มีทางออก ดังที่เกิดขึ้นในบางประเทศของเอเชียใต้ปัจจุบัน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แสดงเป็นตัวนำอยู่ในเวลานี้ เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนความบกพร่องบางด้านของระบบการเมืองไทย เช่นนักคิดที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชี้ว่า การปิดกั้นสื่อในทุกรูปแบบของรัฐบาลเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้น

เราอาจมองปรากฏการณ์นี้ได้ทั้งสองอย่าง กล่าวคือปรากฏการณ์สนธิ เป็นความพยายามของระบบประชาธิปไตยที่จะแก้ไขตัวเอง ดังที่นักคิดคนสำคัญกล่าวถึงสาเหตุไว้ นั่นก็คือสังคมขยับเข้ามาแก้ไขการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ที่ถูกลิดรอนไป หรือเราอาจมองปรากฏการณ์สนธิว่าเป็นทางตันของระบบประชาธิปไตย ซึ่งต้องการทางออกที่อยู่นอกระบบ

ตามธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับนี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่จำกัดประเด็นความขัดแย้งไว้เพียงประเด็นเดียว จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรจากหลายประเด็น ฉะนั้นปรากฏการณ์สนธิจึงรวมเอาการต่อสู้ทางการเมืองในคณะสงฆ์, ผู้ต่อต้านการนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์, ผู้ที่ต้องการรักษาความเป็นอิสระของ คตง., ผู้ต่อต้านคอร์รัปชั่นในระดับสูง, ฯลฯ ไว้ร่วมกัน อย่างห่างๆ หรืออย่างใกล้ชิด

ถ้าคุณสนธิยังสามารถรักษาความเคลื่อนไหวนี้ได้ต่อไป เชื่อว่าจะยังมีผู้ร่วมทาง (อย่างห่างๆ หรืออย่างใกล้ชิด) กลุ่มอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่นกลุ่มต่อต้านหรือตรวจสอบเอฟทีเอ, กลุ่มทรัพยากร, กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กลุ่มทุนนอกเครือข่ายรัฐบาลทักษิณ, กลุ่มข้าราชการที่ไม่ได้อยู่ร่วมกับข้ารับใช้รัฐบาลทักษิณ, จนแม้แต่กลุ่มต่อต้านเขื่อนและกลุ่มปฏิรูปที่ดิน ก็อาจเข้าร่วมด้วยได้ในอนาคต

และตามธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับใหญ่ขนาดนี้ ย่อมต้องมีอุดมการณ์ร่วมบางอย่างที่ผูกเอาคนที่มีทัศนคติ, ประสบการณ์ และความคาดหวังทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดกู่เช่นนี้ไว้ด้วยกันได้ ในสังคมไทยจะหาอุดมการณ์ร่วมเช่นนั้นได้จากอะไรดีไปกว่าความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ นั่นคือที่มาของเสื้อเหลือง (สีของธงมหาราช) และคำขวัญที่เกี่ยวข้องกับ"ในหลวง"ต่างๆ ซึ่งปรากฏการณ์สนธิ แสดงความหมายออกมาให้สังคมยึดถือ

ทั้งหมดนี้จะมองปรากฏการณ์สนธิได้เป็นสองอย่างตามเดิม นั่นก็คือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขตัวเองของระบบประชาธิปไตย หรือเป็นทางตันของระบบจนต้องใช้อำนาจนอกระบบมาแก้
จนกระทั่งเป้าหมายของความเคลื่อนไหวทางการเมืองของปรากฏการณ์สนธิ (ซึ่งไม่สู้จะชัดเจนนักตั้งแต่แรก) เริ่มถูกนิยามโดยนักวิชาการบ้างและโดยใครก็ไม่รู้บ้างว่า คือรัฐธรรมนูญพระราชทานบ้าง รัฐบาลพระราชทานบ้าง และกำลังคลี่คลายไปในทางที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ. ปรากฏการณ์สนธิจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขตัวเองของระบบประชาธิปไตยอีกต่อไป

ในทัศนะของผม นี่เป็นการมองการณ์ระยะสั้นของคนสายตาสั้นเท่านั้น เพราะถ้าเกิดขึ้นเช่นนั้นจริง ก็นับว่าเป็นอันตรายต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างยิ่ง

อันตรายประการแรก ก็คือคุณทักษิณ ชินวัตรจะกลายเป็นวีรบุรุษของสังคมไทย ถึงไม่กลายไปในบัดดลก็จะกลายไปในอนาคต ผมไม่ห่วงที่สังคมไทยจะมีวีรบุรุษจอมปลอมเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง เพราะในทำเนียบวีรบุรุษของเราที่มีอยู่เวลานี้ ก็มีคนจอมปลอมอยู่มากแล้ว แต่ที่ผมห่วงก็คือแนวการบริหารที่รวบอำนาจ, ไม่โปร่งใส, ไร้หลักการ และไม่อาจเชื่อได้ในความซื่อสัตย์สุจริต จะกลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ที่สังคมไทยพร้อมจะหันเข้าหาในอนาคต เมื่อเกิดวิกฤตบางอย่างขึ้น (เหมือนสฤษฎิ์ ธนะรัชต์)

อันตรายประการที่สอง ก็คือ "รัฐธรรมนูญพระราชทาน"จะหมดพลังในการแก้ไขตัวเองตลอดไป ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือระบบปกครองที่ไหนในโลกไม่ต้องเผชิญวิกฤต สังคมไทยจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อแก้วิกฤตตลอดไปกระนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ตั้งนานแล้วว่า หากจะดำรงรักษาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้สูงสุดดังเดิมแล้ว ก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญจะดีกว่า อันเป็นพระบรมราชวินิจฉัยที่ตรงไปตรงมา ถูกต้องตามหลักตรรกะเสียยิ่งกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดให้ทำขึ้น

ส่วน"รัฐบาลพระราชทาน"คือการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามา"รับผิด"กับรัฐบาลด้วยโดยตรง รัฐบาลพลเรือนหลังเหตุการณ์นองเลือดหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งสังคมเชื่อว่าเป็นรัฐบาล"พระราชทาน" กลับบ่อนเซาะความไว้วางใจทางการเมืองของสังคมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอย่างมาก จนทำให้เกิดเหตุการณ์ในรัฐประหารซึ่งเรียกกันว่า"เมษาฮาวาย"ขึ้น

หากจะหลุดรอดจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหน้าที่ของผู้มีความเห็นเช่นนั้นจะรณรงค์ทางสังคม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันไปสู่เป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะมีพลังอันแข็งแกร่งของสังคมหนุนหลัง ถึงอย่างไรก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธีการ"ในระบบ"ได้แน่ เพราะนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมุนโจรก๊กใดก็ตาม ไม่มีพลังที่จะต่อต้านกระแสสังคมได้อย่างแน่นอน ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

๓. อย่าปล่อยให้รัฐธรรมนูญถูกปล้น
คงจำกันได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้สมาชิกจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่เกี่ยวกับกระบวนการร่าง

แรงกดดันจากประชาชนทำให้รัฐบาลขณะนั้นต้องยอมให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ.ที่จะเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว เสนอต่อสภาร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. สภาร่วมจะต้องลงมติรับหรือไม่รับเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะไปตั้งกรรมาธิการขึ้นมาแก้ไขปรับปรุง

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นฉบับแรกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเกี้ยเซี้ยกันของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ เนติบริกรของคนกลุ่มนี้ก็ไม่มีโอกาสเข้าไปรับใช้เจ้านายในสภาร่างรัฐธรรมนูญเสียด้วย ส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาร่างฯ ประกอบด้วย นักวิชาการ สื่อ บุคคลสาธารณะ และผู้มีบทบาททางสังคมในท้องถิ่น จะว่าไปคือ คนหน้าใหม่ในเกมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเล่นกันในเมืองไทยมานาน

ความเห็นของคนกลุ่มนี้จะผิดหรือถูกก็ตาม แต่เกิดขึ้นจากเจตนาดีที่จะสร้างหลักอันมั่นคงของประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย ไม่ได้มีเจตนาจะรักษาอำนาจฉ้อฉลของคนกลุ่มใด หรือไม่มีเจตนาที่จะลิดรอนอำนาจของประชาชน. ในตอนนั้น ต่างให้เหตุผลของการกีดกันนักการเมืองออกไปจากกระบวนการร่างว่า เมื่อเป็นผู้เล่นเอง ก็ไม่ควรมากำหนดกติกาของการแข่งขันเองด้วย

แต่ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญมีหน้าที่มากกว่าการกำหนดกติกาของการแข่งขันทางการเมืองในระบบเท่านั้น ยังต้องรวมถึงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งของหลักประกันดังกล่าว นำมาซึ่งอำนาจและบทบาททางการเมืองของภาคประชาชน

8 ปีผ่านไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า การณ์ไม่เป็นไปตามความคาดหวังในรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่าย-รวมทั้งฝ่ายประชาชนเอง-ผิดหวัง ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งที่รับได้ทั่วไป และในบรรดากลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญนี้ เหล่านักการเมืองในสภาทั้งสองดูจะมีเสียงดังที่สุด และโดยไม่ต้องละอายแต่อย่างใด ข้อเสนอแก้ไขของคนเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น เช่น ส.ว.เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ม.126(3) เพื่อตนจะได้สามารถสมัครรับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกได้อีกในสมัยหน้า

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ข้อเสนอของ ส.ส.ที่จะ "ปลดล็อค 90 วัน" (ม.107(4) กำหนดว่าผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะต้อง "เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน" เหล่า ส.ส.ที่ต้องการ "ปลดล็อค 90 วัน" อ้างว่า ส.ส.ไม่ควรจะตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคที่ตนสังกัดมากเกินไป เพราะจะทำให้ไม่สามารถใช้วิจารณญาณอิสระของตนในการปฏิบัติงานได้

อิสรภาพในการใช้วิจารณญาณมีความหมายอย่างไรแก่ ส.ส. 8 ปีที่ผ่านมา อิสรภาพนี้ไม่เคยมีความหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น คงจำกันได้ว่า ส.ส.ใช้หลักการพวกมากลากไปตลอดเวลา แม้ในการผ่านร่างกฎหมายที่มีความสำคัญมากๆ เช่น พระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตแทนการจ่ายค่าสัมปทานบริษัทมือถือ, พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.งบประมาณที่ไม่โปร่งใส เพราะกระจุกเงินจำนวนมากไว้ภายใต้การตัดสินใจของคนคนเดียว, การลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่มีเหตุอันแจ้งชัดว่าไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ ทั้งหมดต่างอ้างมติพรรค โดยแทบจะหาคนที่แหกคอกไม่ได้เลย ถ้าจะมีก็ยอมให้พรรคอ้างว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคอย่างเซื่องๆ

อันที่จริงการลงมติที่สวนทางกับมติพรรคนั้น เป็นสิ่งที่นักการเมืองในต่างประเทศทำกันเป็นปกติ และทำอย่างเปิดเผยด้วย เพราะไม่มีความผิดแต่อย่างใดทั้งสิ้น แม้พรรคอาจมีมติให้ออกจากสมาชิกภาพ(ซึ่งพรรคการเมืองไทยก็ไม่มีกึ๋นจะทำอย่างนั้นได้ด้วยซ้ำ) ก็อาจร้องต่อศาลได้ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตใจ

หากพรรคกดขี่จนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้ ก็ชอบที่จะลาออกจากสมาชิกภาพมาตั้งแต่แรกแล้ว การไม่ได้เป็น ส.ส.ในช่วงหนึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง ถ้าแค่นี้ก็เสียสละไม่ได้ ก็ไม่น่ากระเสือกกระสนเป็นผู้แทนราษฎร เว้นแต่จะมุ่งหมายผลประโยชน์แฝงอย่างอื่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมเสียยิ่งกว่า

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อเสนอของนักการเมือง, ศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., และหน่วยงานอื่นๆ ไม่มีข้อเสนอของใครเลยที่มุ่งจะตอบปัญหาทางการเมือง ซึ่งภาคประชาชนเผชิญอยู่ หลังจากใช้รัฐธรรมนูญมา 8 ปี

สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างแข็งแรงถูกคุกคามอย่างหนัก สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินอย่างป่าเถื่อน ซ้ำยังถูกตั้งข้อหาหนัก หรือมิฉะนั้นก็ใช้กฎเทศบาลมาขับไล่ผู้ชุมนุมออกไปจากที่ตั้ง กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ก็ยังถูกตำรวจนำมาใช้กับประชาชนเป็นปกติ เช่น ห้ามชุมนุมเกิน 10 คน โดยไม่ขออนุญาต ร้ายไปกว่านั้น สภาที่เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญนี่แหละ ที่ออกกฎหมายห้ามการชุมนุมประท้วงในท้องถนน

สิทธิของประชาชนตามมาตรา 56 ถูกละเมิดอยู่เป็นประจำ โดยการหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญด้วยกฎหมายสวนสัตว์บ้าง, การซอยงบประมาณให้เล็กลงบ้าง และความไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(EIA ที่ชาวบ้านจับผิดได้ ล้วนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดนี้ทั้งนั้น) กฎหมายสิ่งแวดล้อมเอง ก็กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเอื้อให้เจ้าของโครงการ สามารถทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น (ซึ่งก็จะผ่านสภาชุดที่เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อีก)

อันที่จริง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการมีส่วนร่วมตรวจสอบฝ่ายบริหาร ที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น ล้วนถูกทำให้เป็นหมัน เพราะกฎหมายลูกและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ก็สามารถที่จะรื้อฟื้นกลับคืนมาได้ หากสภาจะสนใจผลประโยชน์ของประชาชนให้มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว โดยการนำเอากฎหมายเหล่านี้กลับมาทบทวน หรือพิจารณายกเลิกเสีย

ยังมีอำนาจของฝ่ายบริหารที่ขาดการถ่วงดุล ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นโดยไม่เจตนา อีกส่วนหนึ่งมาจากระบบการเมืองและวัฒนธรรมซึ่งต้องแก้ไข แม้ปัญหานี้เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป แต่น่าประหลาดที่ไม่มีข้อเสนอของฝ่ายใดที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญพูดถึงเลย

จริงอยู่ฝ่ายค้านเสนอให้ลดจำนวนของ ส.ส.ที่จะลงชื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจลงจาก 125 ให้เหลือเพียง 100 เดียว แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเดียวของการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซ้ำยังเป็นการถ่วงดุลที่ไม่มีประสิทธิภาพมากไปกว่า การบีบให้นายกฯต้องปรับ ครม. อันเป็นช่องว่างของการจัดแถวทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองทุกฝ่ายสามารถใช้เป็นเครื่องมือการต่อรองผลประโยชน์กันได้เท่านั้น ไม่ใช่การปรับนโยบาย หรือการสร้างมาตรการที่มั่นคงในการป้องกันความผิดพลาดในอนาคต หรือการเพิ่มอำนาจตรวจสอบของภาคประชาชน

นักการเมืองเล่นกันเอง และเสวยผลกันเอง มากกว่าการป้องกันการทุจริต หรือความไร้ประสิทธิภาพในระยะยาว

ฉะนั้น กระแสแก้รัฐธรรมนูญในตอนนี้จึงเป็นกระแสที่ไม่ได้มุ่งประโยชน์ของประชาชน เป็นเพียงเกมต่อรองอำนาจของพวกที่หากินอยู่กับการเมืองเท่านั้น และตราบเท่าที่ภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมยังไม่กลับมาเข้มแข็งเหมือนเมื่อ พ.ศ.2540 ก็ไม่ควรปล่อยให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปได้ โดยประชาชนไม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงดังที่เคยเป็นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ

ขนาดรัฐธรรมนูญวางอยู่บนพาน ยังถูก "มัน" ปล้นสะดมทั้งด้วยกฎหมายเก่า กฎหมายใหม่ การปฏิบัติฉ้อฉล คำพิพากษาเบี้ยวๆ บูดๆ หากถอยเอารัฐธรรมนูญลงมาจากพาน โดยประชาชนไม่มีพลังจะเฝ้าระวัง จะมิถูกปล้นยับเยินไปหรอกหรือ

 





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
150349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

จริงอยู่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้นเคยมาจากการแต่งตั้งของราชบัลลังก์ ฉะนั้นจะทรงปลดออกเมื่อไรก็ได้ และก็ได้ทรงปลดมาหลายคนแล้ว แต่ในสมัยไหนครับ? โน่นครับ ต้นอยุธยาโน่น ทว่านับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประมาณรัชกาลพระเจ้าท้ายสระต่อพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีอังกฤษล้วนมาจากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎรทั้งนั้น และไม่เคยมีนายกฯ คนใดถูกปลดออกโดยพระบรมราชโองการอีกเลย แม้ในยามที่อังกฤษต้องเผชิญภัยคุกคามของนโปเลียนและฮิตเลอร์อย่างโดดเดี่ยวในยุโรป

The Midnightuniv website 2006