The Midnight University
เกี่ยวเนื่องกับศาลจำลองคดีอาญานักการเมือง
ฟ้องศาลจำลองไต่สวนคดีทักษิณ
และแถลงการณ์ศูนย์นิติศาสตร์ มธ.
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์
และแถลงการณศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 862
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
5.5 หน้ากระดาษ A4)
ฟ้องศาลจำลองไต่สวนคดีทักษิณ และแถลงการ์ศูนย์นิติศาสตร์
มธ.
รวบรวมโดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: สืบเนื่องจากทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้รับแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับ การฟ้องร้องศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีการนำเสนอศาลจำลอง มาทาง email แต่เนื่องจากในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว
ไม่ได้ระบุว่าเป็นการทำศาลจำลองไต่สวนคดีใดโดยชัดเจน ดังนั้นทางกอง บก.ม.เที่ยงคืนจึงได้รวบรวมประเด็นข่าวก่อนหน้านี้มานำเสนอประกอบคำแถลงการณ์
เพื่อให้สมาชิกและผู้อ่านได้ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยสังเขป
1. ทรท.ฉุนขู่ฟ้อง"ศาลจำลอง"
ด่า มธ.ทำตัวเป็นศาลเตี้ย
จาก มติชน / 12 มีนาคม 2549
นายสุรนันทน์
เวชชาชีวะ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ณ ที่ทำการพรรคไทยรักไทย
ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรณีที่ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวที
"ศาล จำลอง ไต่สวนมูลฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำผิดอะไร" โดยสมมุติโจทย์และพยานขึ้นมาไต่สวน
พ.ต.ท.ทักษิณว่า การจัดเวทีนี้ถือเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนมาก น่าจะเป็นละครเชิงดรามามากกว่าศาล
โดยเนื้อหาทำให้ผู้อื่นเสียหาย เป็นการสืบพยานข้างเดียว ถือว่าส่งเสริมให้มีการทำผิดข้อหาหมิ่นประมาท
มธ.ทำตัวเป็นศาลเตี้ย ดูไม่เหมาะสม หวังว่าผู้บริหาร มธ.จะเข้ามาดูแลในจุดนี้ด้วย ทั้งนี้ ทางทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ปรึกษากันแล้วเห็นว่า ผู้ร่วมงานในวันดังกล่าวทุกคนคงได้เบิกความอีกครั้งในศาลจริง ในฐานะพยานและจำเลยตัวจริง โดยฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาตรวจสอบ แกะเทปทุกคำพูด และจะดำเนินการทันที ไม่รอหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะดำเนินการกับทุกคนที่เข้าร่วม
"มีการกล่าวหาหลายอย่าง หาว่ามีการเกณฑ์คนมาฟัง พ.ต.ท.ทักษิณปราศรัยที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 3 มีนาคมนั้น ยืนยันว่าไม่จริง ไม่มีการจ้างใครมา ความจริงเราก็สามารถกล่าวหาได้เหมือนกัน แต่ไม่อยากทำ จุดนี้ต้องให้เกียรติกันบ้าง แต่ที่รู้สึกผิดหวังที่สุดคือ นายเสนาะ เทียนทอง และนายประมวล รุจนเสรี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ที่กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่างหนัก โดยไม่สำนึกบุญคุณ สำนึกถึงสิ่งที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมา" นายสุรนันทน์กล่าว
นายสุรนันทน์ยังกล่าวตอบโต้นายเสนาะที่กล่าวหาว่า มีการชักเปอร์เซ็นต์เข้าพรรคไทยรักไทยในโครงการต่างๆ ว่า ไม่มีแน่นอน กระบวนการใช้งบฯทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว อาจมีคนที่ผิดหวังเรื่องการวิ่งงาน บริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่ได้งานก็ออกมาโวยวาย ก็ไม่รู้ว่านายเสนาะเป็นตัวแทนบริษัทรับเหมาหรือไม่
นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า รู้สึกเวทนาและสงสารนักการเมืองผู้ใหญ่ คือ นายเสนาะ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ที่หมดอาชีพนักการเมืองเลยต้องไปหากินเล่นจำอวด เป็นตลกคาเฟ่กับนักการเมืองเด็กๆ อย่างนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย การจัดฉากเปิดศาลจำลอง สมมุติผู้พิพากษา อัยการ ทนายปลอมๆ ขึ้นมา เพื่อแสดงเรื่องเพี้ยนๆ ให้ผู้ชมหัวเราะสนุกสนานถือเป็นเพียงความบันเทิงเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่อยากให้เอาเรื่องตลกมาเสนอเป็นสาระทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด
2. ท้าทรท.ฟ้อง"ศาลจำลอง"
นิติฯ มธ. ยินดีพิสูจน์
มติชน / 13 มีนาคม
2549
ยันไต่สวน"หุ้นชิน"เป็นความรู้ มือกฎหมายยังกั๊ก-ขอดูเนื้อหาก่อน
ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ยินดีให้ ทรท.ฟ้องร้อง"ศาลจำลอง"ไต่สวนชินคอร์ป ระบุเป็นเรื่องดีจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล เพราะที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบถูกปิดมาโดยตลอด ฝ่ายกฎหมาย ทรท.รอถอดเทปก่อนพิจารณาว่าจะฟ้อง"ประมวล-เสนาะ-สนั่น-ชูวิทย์"ในข้อหาหมิ่นประมาทหรือไม่
นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคมชี้แจง กรณีที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เตรียมฟ้องพยานบนเวที "ศาลจำลอง ไต่สวนมูลฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำผิดอะไร" ว่า หากนายสุรนันทน์ ดำเนินการฟ้องร้อง ทางศูนย์ฯก็ยินดีให้ฟ้องร้องเพื่อให้ข้อเท็จจริงและผลประโยชน์ของแผ่นดินได้พิสูจน์กันในชั้นศาล
เพราะสิ่งที่พูดบนศาลจำลองก็ไม่มีประเด็นส่วนตัว มีแต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศ และก่อนการจัดเวทีทุกครั้งก็ได้แถลงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเพื่อตรวจสอบในเบื้องต้นว่ามีมูลหรือไม่ เพราะขณะนี้ฝ่ายผู้ถูกร้องรวมทั้งหน่วยงานของรัฐมีโอกาสชี้แจงมาโดยตลอด ในขณะที่อีกฝ่ายไม่มีโอกาสโต้แย้ง และเพื่อเป็นการพิสูจน์สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าถูกสังคมกลั่นแกล้งมีมูลความจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบในเบื้องต้น
นายบรรเจิดกล่าวว่า การจัดทำศาลจำลอง ไม่ใช่ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด แต่เป็นที่ว่ามีมูลหรือไม่ ดังนั้น หากนายสุรนันทน์ จะฟ้องร้องคนที่เป็นพยานซึ่งถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องโดยตรง ก็ถือเป็นหนทางที่ดีเพื่อให้เรื่องเข้าสู่ศาล เพราะที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบก็ถูกปิดมาโดยตลอด ส่วนการตั้งศาลจำลองจะมีต่อไปหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าเรื่องที่เป็นปัญหาเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบได้หรือไม่ ซึ่งสภาทนายความจะแถลงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
"ทางศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทางกฎหมายต่อนักศึกษาและประชาชน การที่ศูนย์นิติศาสตร์ได้จัดศาลจำลองครั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ที่สังคมมีการกล่าวหาต่อผู้นำประเทศ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากข้อมูลที่ผู้นำประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงฝ่ายเดียว
หากทางพรรคไทยรักไทยเห็นว่า การดำเนินการที่ผ่านมาไม่เป็นกลางเพราะมิได้เชิญฝ่ายที่ถูกกล่าวหามาให้ข้อเท็จจริงด้วย หากทางพรรคไทยรักไทยพร้อม ทางศูนย์นิติศาสตร์ยินดีที่จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายมาแสดงข้อเท็จจริงในประเด็นกล่าวเพื่อพิสูจน์ความจริงต่อสังคม" แถลงการณ์ระบุ
นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า ศาลจำลองดังกล่าวเหมือนการแสดงจำอวด และเหมือนเป็นการพาดพิงต่อพรรคและ พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง เช่นกรณีที่ระบุว่า รัฐมนตรีคนไหนทำโครงการ 5,000 ล้านบาท ให้นำเงิน 10% เข้าพรรค ซึ่งทั้งนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น นายประมวล รุจนเสรี อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ชาต รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เป็นพยานในศาลจำลอง อาจเข้าข่ายกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีการใส่ความผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งอยู่ในความผิดฐานหมิ่นประมาท
เมื่อถามว่า นายบรรเจิดได้เสนอให้พรรคไทยรักไทยดำเนินการฟ้องร้องเพื่อให้เรื่องทุกอย่างเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล นายวิชิตกล่าวว่า กำลังดูอยู่ว่าจะฟ้องร้องหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาอีกครั้งและหารือกับคณะผู้บริหารของพรรค ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังถอดเทปศาลจำลองอยู่ และจะเสร็จภายใน 1 สัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ทางกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้ง ยืนยันว่าจะดำเนินการดีลซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 14 มีนาคมนี้ สืบเนื่องจากบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดและบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัดได้ทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นรายย่อยบริษัท ชินคอร์ป ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึง 9 มีนาคม 2549 และหลังจากปิดการรับซื้อแล้ว ทั้งสองบริษัทจะต้องรายงานผลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 5 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม และเป็นวันที่ทั้งสองบริษัทจะชำระเงินค่าหุ้นให้กับรายย่อยที่นำหุ้นมาเสนอขายให้พร้อมกันทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พบว่านักลงทุนรายย่อยนำหุ้นมาขายให้รวม 16.51% ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนหุ้นที่ซื้อมาจากตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ จำนวน 49.59% ซึ่งมีการชำระราคากันแล้วภายใน 3 วันทำการ ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ทั้งสองบริษัทข้างต้น ถือหุ้นในชินคอร์ป รวม 65.80%
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
แถลงการณ์
ของ
ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สภาทนายความ
เรื่อง การฟ้องร้องศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอศาลจำลองต่อนักศึกษาและประชาชน
จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการจะฟ้องร้องศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำศาลจำลองเสนอต่อนักศึกษาและประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนมาโดยตลอดนั้น ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสภาทนายความใคร่ขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจอันด ีโดยเฉพาะหลักการและเหตุผลของการนำเสนอศาลจำลองต่อนักศึกษาและประชาชนในมาตรฐานของการศึกษา การเรียนรู้ของนักกฎหมายและโดยเฉพาะการเข้าถึงซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องของกฎหมายและกระบวนพิจารณาความโดยลำดับ ดังนี้
1. การจัดทำศาลจำลอง (Moot Court) นั้น เป็นกรณีปกติที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการศึกษาของนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ของเกือบทุกมหาวิทยาลัยในโลก การจัดทำศาลจำลองมีรวมไปถึงการศึกษาและซักซ้อมวิธิการดำเนินคดีในศาล ในชั้นการทดสอบผู้เข้ารับการอบรมเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นทนายความ การจัดการแข่งขัน Moot Court มีทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศเป็นประจำ
ดังนั้นการทำศาลจำลองจึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางนิติศาสตร์ โดยเฉพาะกระบวนพิจารณาคดีให้กับนักศึกษารวมทั้งประชาชนผู้สนใจในวิชาการนิติศาสตร์เป็นสำคัญ ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกสภาทนายความจะยังสร้างสรรค์งานศาลจำลองอย่างนี้ต่อไปเฉกเช่นในนานาอารยประเทศที่ถือปฏิบัติกัน2. การจัดทำศาลจำลองนอกเหนือจากในโรงเรียนสอนกฎหมายแล้ว การเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้าถึงสาระและวิธีการดำเนินคดีในศาล จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถมองเห็นภาพรวมของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี โดยเฉพาะในการจัดทำศาลจำลองครั้งนี้ ยังมีผู้เข้าใจผิดอีกว่าการไต่สวนคดีของศาลจะต้องมีพยานของฝ่ายจำเลยมาร่วมการพิจารณาคดีด้วย
ความจริงแล้วการไต่สวนนั้นเป็นแต่เพียงการรับฟังพยานโจทก์ผู้กล่าวหาในเบื้องต้นว่าศาลจะรับฟ้องคดีหรือไม่ วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อตรวจสอบดูว่าคดีมีมูลที่พอจะรับเป็นคดีเพื่อดำเนินคดีต่อไปในศาลหรือไม่เท่านั้น การพิจารณาคดีจึงเป็นการฟังพยานของโจทก์ผู้กล่าวหาแต่ฝ่ายเดียวในทุกระบบของศาล แต่ทั้งนี้ก็ไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะตั้งทนายความมาร่วมการไต่สวนและซักถามพยานโจทก์ได้ การทำศาลจำลองครั้งนี้จึงเป็นแต่เพียงการไต่สวนเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะผู้เป็นวิทยากรจากสภาทนายความก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ให้กับผู้เข้าฟังการไต่สวนของศาลจำลองในครั้งนี้แล้ว3. ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นนำมาสู่การจัดทำศาลจำลองครั้งนี้ กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันและเป็นข้อมูลสาธารณะที่นำมาจัดเรียบเรียงเป็นรูปคดีเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและสาธารณชน โดยฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่นำไปสู่การไต่สวนในคดีนี้ เพราะมีที่มาจากความน่าสงสัยในหลายเหตุ จึงชอบที่จะมีการไต่สวนเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับประชาชนด้วย และอีกทางหนึ่งก็คือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวกับผู้บริหารประเทศซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะและต้องใจกว้างเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นได้
4. ประเด็นที่พยานหลายท่านได้กล่าวพาดพิงถึงผู้บริหารประเทศในหลาย ๆ ประเด็นก็เป็นข้อเท็จจริงที่พยานท่านนั้นได้รู้ได้เห็นจากการที่เคยได้ร่วมรัฐบาล จากการที่อยู่ในการตรวจสอบของการทำงานของรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส การตรวจสอบซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ทุกระดับ
5. ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสภาทนายความ จะยังคงให้การศึกษากับนักศึกษาและประชาชนตามรูปแบบและมาตรฐานดังกล่าวนี้ตลอดไป โดยเฉพาะการนำเสนอให้กับนักศึกษานิติศาสตร์ ได้เห็นถึงกรอบจริยธรรมของนักการเมืองที่เป็นบุคคลสาธารณะ กับนโยบายการทำงานว่าสอดคล้องกับการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศหรือไม่ แนวทางของการคอร์รัปชั่นในปัจจุบันเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นงานทางวิชาการที่ให้ประโยชน์แก่นักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ
ศูนย์นิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสภาทนายความจึงแจ้งมาเพื่อขอให้ทราบโดยทั่วกัน
13 มีนาคม พ.ศ. 2549, กรุงเทพมหานคร
ศูนย์นิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สภาทนายความ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การจัดทำศาลจำลองนอกเหนือจากในโรงเรียนสอนกฎหมายแล้ว
การเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้าถึงสาระและวิธีการดำเนินคดีในศาล จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถมองเห็นภาพรวมของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี
โดยเฉพาะในการจัดทำศาลจำลองครั้งนี้ ยังมีผู้เข้าใจผิดอีกว่าการไต่สวนคดีของศาลจะต้องมีพยานของฝ่ายจำเลยมาร่วมการพิจารณาคดีด้วย
ความจริงแล้วการไต่สวนนั้นเป็นแต่เพียงการรับฟังพยานโจทก์ผู้กล่าวหาในเบื้องต้นว่าศาลจะรับฟ้องคดีหรือไม่
วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อตรวจสอบดูว่าคดีมีมูลที่พอจะรับเป็นคดีเพื่อดำเนินคดีต่อไปในศาลหรือไม่เท่านั้น
การพิจารณาคดีจึงเป็นการฟังพยานของโจทก์ผู้กล่าวหาแต่ฝ่ายเดียวในทุกระบบของศาล