นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ความซับซ้อนทางการเมืองของสังคมไทย

จากพฤษภาทมิฬถึงการปฏิรูปการเมือง ๔๙
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
ซึ่งได้รับการนำมาจัดกลุ่มเพื่อนำเสนอภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

จากเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ ถึงเหตุการณ์ขับไล่นายกฯ ทักษิณและการปฏิรูปการเมือง ๔๙
ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องคือ
๑. วัฒนธรรมความรุนแรงของไทย
๒. วัฒนธรรมที่แตกต่างในการเมืองใหม่
๓. ทางตันทางการเมืองของใคร
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 857
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)




จากพฤษภาทมิฬถึงการปฏิรูปการเมือง ๔๙
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. วัฒนธรรมความรุนแรงของไทย
"ไทยนี้รักสงบ" เป็นคำพูดที่คงหาคนเชื่อได้ยากเสียแล้วหลังการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ

วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่แฝงความรุนแรงไว้มากทีเดียว คนเก่าคนแก่ในภาคใต้คนหนึ่งเคยบอกผมว่า การปกป้องเกียรติยศของครอบครัว, เครือญาติ และชุมชนที่ใช้กันมากคือตีหัวสั่งสอนสักแผลหนึ่ง ฉะนั้น การยอมรับในหมู่คนกว้างขวางขึ้นว่า ไทยนี้ไม่ได้รับสงบสักเท่าไรนัก จึงเป็นที่น่ายินดี เพราะอย่างน้อยเราก็เริ่มยุติกระทำความรุนแรงต่อความจริง...คือหลอกคนอื่นและตัวเอง...ไปข้อหนึ่ง ถ้ายุติไปได้หลายๆ ข้อ ก็อาจเป็นเหตุให้ไทยนี้รักสงบได้จริงสักวันหนึ่งข้างหน้า

อันที่จริง การใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางสังคมไม่ได้เป็นสมบัติของวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ผมเชื่อว่าทุกวัฒนธรรมล้วนอนุญาตหรือแม้แต่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงในบางกรณีทั้งนั้น จนกระทั่งในบางยุคสมัย นักปราชญ์เชื่อว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมุนษย์ไปเลย กรณีไหนพึงใช้ความรุนแรง กรณีไหนไม่พึงใช้ แต่ละวัฒนธรรมคิดไม่เหมือนกัน แต่ไหนจึงถือเป็นความรุนแรงก็ต่างกัน ฉะนั้น ถึงแม้แต่เชื่อว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความรุนแรงที่ประจักษ์เป็นรูปธรรมก็ยังเป็นวัฒนธรรม คือถูกสังคมปรุงแต่งขึ้น เหมือนความหิวเป็นธรรมชาติ แต่การกินเป็นวัฒนธรรม

ในฐานะวัฒนธรรม ความรุนแรงไม่เคยถูกใช้โดดๆ อย่างชนิดที่ลอยออกมาจากวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ที่แวดล้อมมันอยู่ในสังคมนั้นๆ หากแต่ดำเนินไปและแสดงออกโดยมีวัฒนธรรมส่วนอื่นกำกับ และร่วมไปกับความรุนแรงเสมอ ฉะนั้น จะเข้าใจความรุนแรงในสังคมหนึ่งๆ ได้ ก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ที่เป็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงด้วย

เช่นการกระทำอันป่าเถื่อนต่อศพของนักศึกษาที่เสียชีวิต ในการสังหารหมู่กลางสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เอาเชือกผูกคอศพแล้วลากไปเผาก็ตาม, เอาไม้ทิ่มแทงอวัยวะเพศก็ตาม ฯลฯ ล้วนมีความหมายถึงการกระทำต่อ "ซากสัตว์" ที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ (เช่นงูพิษ) น่าสังเกตด้วยนะครับว่า การกระทำป่าเถื่อนทั้งหมดเหล่านี้ ร่างกายของผู้กระทำจะไม่สัมผัสศพเลย (หยุดกระทืบเมื่อรู้ว่าตายแล้วเป็นต้น) แต่ต้องมีวัตดุอื่นเป็นตัวกลางระหว่างผู้กระทำ และศพเสมอ ในบางวัฒนธรรมและในบางเงื่อนไข เขาอาจบั่นคอศพแล้วหิ้วหัวติดตัวไปด้วย ความหมายของความรุนแรงที่แสดงออกในแต่ละวัฒนธรรมจึงสลับซับซ้อน และบอกอะไรแก่เรามากกว่าตัวพฤติกรรมความรุนแรงเสมอ

ผมรำพึงเรื่องนี้ขึ้นเมื่อได้ยินเสียงหนาหูว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยพาคนไปตายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทั้งนี้ หลังจากเขาประกาศตัวว่าจะเข้าร่วมประท้วงรัฐบาลที่สนามหลวงแล้ว

ถ้าผู้ที่พูดเรื่องนี้เป็นคนของรัฐบาลก็คงเข้าใจได้ง่ายนะครับ แต่นี่ไม่ใช่ฝ่ายลิ่วล้อของรัฐบาลเท่านั้น ตรงกันข้าม คนที่พูดกลับเป็นสื่อ ซึ่งวางตัวเป็นกลางคือค่อนข้างเอนเอียงไปทางผู้ประท้วงด้วยซ้ำ ลิ่วล้อเสียอีกที่พูดทีหลัง แล้วถือโอกาสสร้างกระแสความหวาดวิตกว่าจะเกิดความรุนแรงไปพร้อมกัน ส่วนผู้คนที่ได้ฟังทั้งจากสื่อและจากรัฐบาลก็พากันหวาดวิตกเพิ่มขึ้นจริง คุณจำลองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง

ผมออกจะแปลกใจกับเรื่องนี้จริงๆ ครับ จะว่าผู้คนเกิดไม่ทันพฤษภาทมิฬ จึงไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปแค่ 14 ปีเอง - ครึ่งหนึ่งของช่วงอายุคน - เท่านั้น "จำลองพาคนไปตาย" เป็นคำขวัญหนึ่งที่ประชาธิปัตย์ใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อลดคะแนนของคู่แข่งในกรุงเทพฯ คือ พรรคพลังธรรม และต่อมา คุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีฐานเสียงในกรุงเทพฯ เหมือนกันก็ร่วมใช้ด้วย (ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับ ที่คุณสมัครเคยเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน)

ที่น่าประหลาดก็คือ เขาว่ากันว่า การกล่าวหาครั้งนั้นเป็นผลให้พรรคพลังธรรมไม่สามารถกวาดที่นั่งในกรุงเทพฯ ไปได้หมด นั่นก็คือเป็นที่เชื่อถือของคนไทยที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสดๆ ร้อนๆ เลย จึงจะอ้างว่าคนไทยลืมเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้เป็นอันขาด

แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นได้อย่างไร? เริ่มต้น คุณฉลาด วรฉัตร ประท้วง พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการอดอาหาร (หลังจากให้สัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ และหลังจากพรรคพวกของเขาได้ลงทุนสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ และตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นใหม่เพื่อเป็นฐานเสียงในสภา) ต่อมา พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็เข้าร่วมสนับสนุนการประท้วง มีการชุมนุมของฝูงชนจำนวนมากกดดันรัฐสภาให้แก้รัฐธรรมนูญ บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย แต่ไม่เป็นผล

ฝูงชนพากันออกมาชุมนุมมากขึ้น จากเรือนหมื่นกลายเป็นเรือนแสน สื่อของรัฐบิดเบือนข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองในส่วนภูมิภาค จัดม็อบสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในจังหวัดต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศก็เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่เขาเห็นว่า ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมเหมือนกับในกรุงเทพฯ

เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างหน่วยทหารที่รัฐบาลส่งมาควบคุมฝูงชนในกรุงเทพฯ ฝ่ายผู้ประท้วงก็ไม่ยอมถอย เพราะการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นซึ่งเนติบริกรอาวุโสร่างให้แก่เผด็จการ รสช. ด้วย) กฎหมายเดียวที่ผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ ละเมิดคือ กฎหมายจราจร คือกีดขวางการจราจรของถนนราชดำเนิน และเพียงเท่านี้แหละ ที่รัฐบาลในสมัยนั้นสั่งทหารลั่นกระสุนกราดใส่ฝูงชน ในขณะที่รุกกินพื้นที่ขับไล่ฝูงชนไปเรื่อยๆ พร้อมกับสังหารผู้คนแบบไม่เลือกหน้าอยู่หลายชั่วโมง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณจำลองเป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วง และถูกจับกุมไปก่อนหน้าที่จะมีการสังหารหมู่ ในขณะถูกจับกุม คุณจำลองตะโกนบอกพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียงให้อยู่ในความสงบ เพราะเกรงว่าจะเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น คุณจำลองก็ลุกขึ้นมาให้เขาจับไปโดยดี

จากบทบาทอย่างนี้แหละครับที่คุณจำลองถูกกล่าวหาว่า "พาคนไปตาย" แต่คนที่สั่งให้ทหารลั่นกระสุนใส่ฝูงชน ฆ่าและทำทารุณกรรมต่อ "เชลยศึก" ที่จับได้ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร (ไม่รับผิดชอบทางกฎหมายนั้นง่ายมาก เพราะเนติบริกรช่วยให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อนพ้นตำแหน่ง แต่ไม่ต้องรับผิดชอบทางสังคมนี่สิเข้าใจยากจริงๆ)

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนในสังคมอยู่ไม่น้อย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่เคยกล้าปริปากถึงความรับผิดชอบของเขาต่อเพื่อนคนไทย และครอบครัวซึ่งเสียชีวิต, พิการ หรือชีวิตพังพินาศไปอย่างกู้คืนไม่ได้สักคำ

หากคำขวัญเพียงเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์สร้างขึ้น กลับอยู่ติดปากติดหัวคนไทยสืบมาจนทุกวันนี้ ปัญหาที่ผมสนใจก็คือ มีอะไรในวัฒนธรรมไทยที่ทำให้คนลั่นไกปืนไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรง แต่คนที่ถูกปืนต่างหากที่ต้องรับผิดชอบแทน

คำอธิบายของผม (ซึ่งไม่อ้างว่าดีกว่าของคนอื่น) คือวัฒนธรรมความรุนแรงของไทยนั้น เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-ผู้น้อย อย่างแยกออกจากกันไม่ได้. อย่างที่กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมไทยไม่รังเกียจความรุนแรงในตัวของมันเอง แต่เหมือนกับวัฒนธรรมอีกหลายแห่งที่มองความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่จำเป็น หรือแม้กระทั่งมีประสิทธิผลดี เพียงแต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ใช้ได้กับผู้น้อย ไม่ใช่ใช้ได้เท่าๆ กันทุกคน

เพราะมีสมมติฐานที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่า ผู้ใหญ่ย่อมใช้ความรุนแรงเพื่อประโยชน์ของผู้น้อยเอง หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี หรือ รมต.มหาดไทย หรือผู้ใหญ่ในรัฐบาล สั่งให้ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับผู้ประท้วง จึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ความรุนแรงได้เกิดขึ้นจริง ความไม่ดีไม่งามได้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีใครรับผิดชอบสักคน และคนคนนั้นต้องเป็นผู้น้อย จึงจะหาใครมาเป็นแพะให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมความรุนแรงของไทยได้ไม่ดีไปกว่าคนที่ "พาคนไปตาย"

วัฒนธรรมความรุนแรงที่ซ้อนอยู่กับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำ อาจไม่ทำให้การใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสมัยโบราณ เพราะผู้คนยอมรับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำถูกผู้คนปฏิเสธมากขึ้น อย่างน้อยเราก็อยู่ภายใต้ระบบปกครองที่อ้างว่า ไม่มีความเหลื่อมล้ำ หรือไม่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำ

วัฒนธรรมความรุนแรงที่ซ้อนอยู่กับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำในโลกปัจจุบัน จึงยิ่งเป็นเหตุให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้น เพราะสิ่งที่ไม่เอื้อต่อความรุนแรงอย่างยิ่งคือความยุติธรรม, ความเสมอภาค, ประชาธิไตย และเสรีภาพ ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น

2. วัฒนธรรมที่แตกต่างในการเมืองใหม่
ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนไม่ถูกนินทาหรือวิพากษ์วิจารณ์ ทำต่อหน้าไม่ได้ก็ทำลับหลัง พูดดังๆ ไม่ได้ก็ซุบซิบนินทา จนกลายเป็นข่าวลือที่หยุดไม่อยู่ นายกฯ คนปัจจุบันก็โดนอย่างเดียวกัน แต่ผมรู้สึกว่าคำนินทานายกฯ กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมไทย ขณะเดียวกันก็สะท้อนความไม่ลงรอยกันของมาตรฐานดังกล่าว ระหว่างคนชั้นกลางกับคนในชนบทมากขึ้นกว่าที่เคยทำให้เกิดสองนคราประชาธิปไตยด้วย

ผมควรสารภาพไว้ก่อนว่า ผมได้แต่ "รู้สึก" ในเรื่องนี้ มองไม่ชัดนักหรอกครับว่าเปลี่ยนในเรื่องอะไรบ้าง และมีความแตกต่างระหว่างคนชั้นกลางและชนบทอย่างไร ท่านผู้อ่านที่อุตส่าห์อ่านจบต้องช่วยคิดต่อเอง เอาเรื่องที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดก่อนนะครับ นายกฯ คนนี้ไม่ถูกวิจารณ์เรื่องส่วนตัวเลย

ผมใช้คำว่าเรื่องส่วนตัวอาจทำให้ไขว้เขว ขอนิยามให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณะแล้วกันครับ เช่น รูปกายภายนอก, ชีวิตทางกามารมณ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (ความชอบส่วนตัวทางกามารมณ์ ไปจนถึงคู่นอน ฯลฯ), เรื่องภายในครอบครัว, บุคลิกภาพ ฯลฯ คิดย้อนกลับไปถึงนายกฯ คนอื่นๆ เถิดครับ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ล้วนเคยถูกนินทาด้วยเรื่องส่วนตัวมาแล้วทั้งนั้น และในบรรดาเรื่องส่วนตัวทั้งหมด ดูเหมือนเรื่องกามารมณ์จะเป็นเรื่องฮิตที่สุด

ยกเว้นคนเดียวคือ คุณบรรหาร ศิลปอาชา (ระหว่างเป็นนายกฯ) ผมไม่เคยได้ยินคำซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องนี้ของคุณบรรหารจากใครเลย เพิ่งมาได้ยินเอาเมื่อท่านพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่เป็นคำนินทาที่ไม่ยั่งยืนอะไรนัก และเกิดขึ้นเพราะคุณบรรหารเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเองเกินไป จึงแสดงความเอ็นดูสมาชิกพรรคที่สวยๆ บางคน จนทำให้คนหาเรื่องนินทา

ตัวผมเองนั้นคิดในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าคุณบรรหารมีอะไรกับสมาชิกพรรคคนนั้นจริง คงไม่กล้าแสดงความเอ็นดูเปิดเผยถึงแค่นั้นแน่ แต่คุณบรรหารก็ถูกนินทาด้วยเรื่องส่วนตัวอื่นๆ แยะมากนะครับ นับตั้งแต่ตระหนี่เกินไปในชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงพูดภาษาฝรั่งไม่ได้ ต้องท่องเอา ฯลฯ

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยได้ยินเสียงนินทา คุณทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องส่วนตัวเลย คุณทักษิณได้แต่ซุกหุ้น ไม่เคยซุกกิ๊ก ไม่นานมานี้มีความพยายามจะปั้นคำนินทาทำนองนี้ขึ้น โดยกล่าวหาว่า ส.ส.หญิงของพรรค ทรท. คนหนึ่งตั้งครรภ์กับผู้ใหญ่ในพรรค แต่ก็ไม่สามารถกระพือคำนินทาเรื่องนี้ให้เกิดแก่คุณทักษิณ หรือ ส.ส.หญิงคนนั้นได้

ที่น่าสนใจกว่าเรื่องจริงหรือไม่จริงในกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางเพศของนักการเมืองก็คือ ผมรู้สึกว่าคนชั้นกลางเริ่มรับไม่ได้มากขึ้น ไม่ใช่รับไม่ได้เพราะมันไม่จริงนะครับ เพราะหลายข้อกล่าวหา เราไม่มีวันพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริงได้ แต่รับไม่ได้กับการ "รังแกผู้หญิง" ผมคิดว่านี่เป็นมาตรฐานใหม่ เพราะคำนินทาเกี่ยวกับเรื่องพรรค์นี้ ย่อมสร้างความเสียหายไม่ใช่แก่ตัวนักการเมืองโดยตรง แต่รวมถึงคนที่สาม (ซึ่งมักเป็นผู้หญิง) ไม่ว่าเธอจะเป็นนักการเมืองด้วยหรือไม่เสมอ

แต่ก่อนคนคิดเรื่องนี้น้อย และผู้หญิงที่มีเรื่องพัวพันกับนักการเมืองก็โดนมาจนอ่วม แต่บัดนี้กลับมีคนจำนวนมากขึ้นที่เห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้หญิงที่เกี่ยวข้อง สังคมไม่มีสิทธิ์เอาชีวิตส่วนตัวของเธอมาประจานเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้กล่าวหา เป็นความคิดที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับแนวคิดสิทธิสตรี ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เป็นความรู้สึกซึ่งมีกับคนชั้นกลางมากสักหน่อย ในขณะที่หนังสือพิมพ์ชาวบ้านยังเสนอสินค้าเชิงซุบซิบนินทาเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่าจริงหรือไม่จริง ทำเงินได้ไม่รู้จะกี่ล้านบาทกว่าจะซาไป นี่ก็เป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างมาตรฐานทางศีลธรรมของคนชั้นกลางกับชาวบ้านทั่วไป

การทุจริตคดโกงก็เป็นคำนินทาอีกอย่างหนึ่งที่นายกฯ ทุกคนโดนมาแล้วทั้งนั้น ไม่โกงเองก็ปล่อยให้คนใกล้ชิดโกงเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง คุณทักษิณโดนคนชั้นกลางในเมืองนินทาเรื่องนี้มานาน เช่น เอฟทีเอที่ไปเที่ยวทำกับประเทศต่างๆ ใกล้บ้านนั้น ล้วนมุ่งหมายจะหาประโยชน์ให้แก่ดาวเทียมดวงใหม่ของตัวเองที่กำลังจะส่งขึ้นไปทั้งนั้น จึงพร้อมจะเอาประโยชน์ของคนอื่น เช่น คนปลูกหอมกระเทียม, ผลไม้, ผู้เลี้ยงโคนม ฯลฯ ไปสังเวย เพื่อแลกกับโอกาสการขายบริการดาวเทียมแก่ประเทศนั้นๆ

แต่ผมไม่เคยได้ยินคำนินทาอย่างนี้จากชาวบ้าน ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่มีคำนินทาเกี่ยวกับการหาประโยชน์ใส่ตัวของนายกฯ เลยนะครับ ถนนหลายสายในเชียงใหม่ที่ตัดขึ้นใหม่ตามคำสั่งของนายกฯ นั้น ชาวบ้านบอกว่า ก็ที่ดินของนายกฯ หรือญาติโกโหติกากว้านซื้อเอาไว้เยอะแยะไปหมด ล้วนแต่ต้องการถนนตัดผ่านเพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งนั้น

ปัญหาที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ชาวบ้านรู้สึกว่าการกระทำอย่างนี้เป็นการโกงหรือไม่ ผมไม่เคยได้ยินคำว่าโกงออกมาจากปากชาวบ้าน เพียงแต่พูดเหมือนรู้ไส้ว่าของจริงคืออะไร ไม่น่านับถือ แต่ไม่น่ารังเกียจ เพราะมันก็สะดวกแก่ชาวบ้านดีเหมือนกัน ผมสงสัยว่าการกระทำอย่างนี้ ชาวบ้านไม่ได้จัดอยู่ในประเภทโกง ถ้าโกงก็ต้องเอาเงินไปสร้างถนน แล้วไม่มีถนนเกิดขึ้นเลยสิครับ

ฉะนั้น การไปทำเอฟทีเอแล้วบริษัทของตัวได้ประโยชน์ จึงไม่ใช่การโกงในทัศนะของชาวบ้านในชนบท เว้นแต่เขาปลูกกระเทียมหรือเลี้ยงโคนมเท่านั้นจึงอาจนินทาได้ว่าเห็นแก่ตัว แต่ชาวบ้านในชนบทที่เลือก ส.ส. ของ ทรท. ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกกระเทียมหรือเลี้ยงโคนม ฉะนั้น ชาวบ้านจึงไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไรกับคำนินทาของคนชั้นกลางในเมือง

ในบรรดาความแตกต่างระหว่างคนชั้นกลางและชาวบ้านในชนบท ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจ, สังคม หรือด้านอื่นๆ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในความหมายที่รวมไปถึงโลกทรรศน์และค่านิยม ผมออกจะสงสัยว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ว่านี้แหละครับ ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเดิมสองฝ่ายไม่อาจรวมตัวกันปฏิบัติการทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะผ่านหีบบัตรเลือกตั้งหรือท้องถนน ปัจจุบันยิ่งรวมตัวหรือร่วมมือกันยากขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะชาวบ้านในชนบทยังขาดข้อมูลความรู้, ต้องอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์จึงตกเป็นเครื่องมือของนักเลือกตั้ง, หรือขาดจริยธรรมของประชาธิปไตย ฯลฯ อะไรอีกร้อยแปดที่ผมได้ยินในช่วงที่คนชั้นกลางลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกขับไล่ทักษิณอยู่ในเวลานี้

ผมคิดว่าชาวบ้านในชนบทรังเกียจการทุจริตคดโกงเหมือนคนชั้นกลางแหละครับ เพียงแต่นิยามต่างกันว่าอะไรคือโกงอะไรคือไม่โกง ชาวบ้านรู้จักและซาบซึ้งกับ "การทุจริตเชิงนโยบาย" มาก่อนคนชั้นกลางเสียอีก ก็เราเก็บพรีเมียมข้าวมาเกือบสองทศวรรษเพื่อกดราคาข้าวในประเทศให้ถูกลงไว้ จนชาวนาล้มละลายไปแทบหมด นี่ก็ทุจริตเชิงนโยบายชัดๆ เพราะมุ่งจะให้ผลประโยชน์ตกแก่นายทุน จะได้กดค่าแรงกรรมกรให้ต่ำสุดเอาไว้ได้เป็นสิบปี แล้วนายทุนเหล่านั้นคือใครล่ะครับ ก็คือคนที่จ่ายค่าต๋งให้แก่ผู้วางนโยบาย ทั้งเผด็จการทหารและข้าราชการ

ฉะนั้น ถ้าคนชั้นกลางอยากเป็นผู้นำทางการเมืองต่อไป คนชั้นกลางต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้านในชนบทให้ดี อย่าเริ่มต้นด้วยการเหยียดหยามดูหมิ่นถิ่นแคลนอะไรที่แตกต่างจากมาตรฐานของคนชั้นกลาง แล้วพยายามจะไปเสี้ยมสอนให้เขาเปลี่ยนมาตรฐาน

ตรงกันข้ามกับที่ คุณทักษิณ ชินวัตร บอกว่า การเมืองของพรรค ทรท. ได้ก้าวพ้นทฤษฎีของนคราประชาธิปไตย ผมคิดว่าพรรค ทรท. ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้ได้ถึงแก่นกว่าพรรคอื่นๆ ต่างหาก หมายความว่าพรรค ทรท. ประกันความมั่นคงของคะแนนเสียงด้วยจำนวนของชาวบ้านในชนบท ที่เหลือกับคนชั้นกลางใช้การต่อรองเป็นกรณีๆ ไป

ฉะนั้น คนชั้นกลางไทยกำลังเผชิญกับการเมืองใหม่ที่ตัวจะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น มีเสียงดังในสื่อและในเมือง แต่ไม่มีเสียงในหีบบัตรเลือกตั้ง รัฐบาลพร้อมจะ "คืนอำนาจแก่ประชาชน" ได้เสมอ

การทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวบานในชนบทจึงมีความสำคัญมาก อำนาจทางการเมืองของคนชั้นกลางไม่ได้อยู่ที่เสียงดัง เพราะเป็นผู้อุปถัมภ์สื่อเพียงผู้เดียวอีกแล้ว แต่อยู่ที่การขับเคลื่อนทางการเมืองที่สอดคล้องกับมหาชนในชนบท พันธมิตรที่แท้จริงของท่านไม่ได้อยู่ที่คนคุ้นเคยซึ่งเห็นหน้าค่าตากันมาหรอก แต่คือชาวบ้านที่ไร้หน้าตา (เพราะท่านไม่เคยมอง) ที่อยู่ในชนบทต่างหาก

เมื่อตอนที่คนแต่งตัว "สกปรก" เข้ามาร้องเรียนความเเดือดร้อนของตนเองในกรุงเทพฯ อาจทำให้รถติด อาจทำให้กรุงเทพฯ ดูไม่เรียบร้อยสง่างามตามมาตรฐานของท่าน อาจยากที่จะทำความเข้าใจกับความเดือดร้อนของเขา ฯลฯ ท่านต้องเลิกเห็นแก่ตัว ขอแต่แสดงความสะดวกสบายเฉพาะหน้า ใครจะเดือดร้อนเลือดตาแทบกระเด็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน เพราะนั่นคือพันธมิตรที่จะเพิ่มพลังทางการเมืองให้ท่าน

สรุปก็คือ หากคนชั้นกลางจะยังรักษาอำนาจต่อรองทางการเมืองภายใต้การเมืองใหม่ต่อไปได้ จำเป็นต้องก้าวเดินไปพร้อมกับชาวบ้านในชนบท จึงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้ดี และอย่างเห็นใจกันและกัน

3. ทางตันทางการเมืองของใคร
จากวิกฤตศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรี มาสู่วิกฤตของสภา และมาลงท้ายที่วิกฤตของรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมาจากการที่ไม่มีฝ่ายใดตั้งใจจะแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ฝูงชนจำนวนมากในเขตเมืองต่อต้านนายกรัฐมนตรี เพราะเขาไม่เชื่อในความซื่อสัตย์สุจริตของนายกรัฐมนตรี ข้อกล่าวหานั้นชัดเจน โดยเฉพาะการขายหุ้นทำกำไรมหาศาลแก่กิจการลงทุนของรัฐบาลต่างชาติโดยไม่ต้องเสียภาษี

นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญกับข้อกล่าวหานั้นอย่างตรงไปตรงมาด้วยตนเอง เพราะการบริภาษก็ตาม การตีโวหารก็ตาม การให้ข้าราชการหรือ ก.ล.ต.ออกมาปกป้องแทนก็ตาม ไม่ทำให้ศรัทธาที่หายไปในบรรดาผู้ประท้วงกลับคืนมาได้ (ก็คนเหล่านั้นได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชนน้อยกว่าตัวนายกฯ เองเสียอีก) จึงไม่อาจแก้วิกฤตศรัทธาได้

คนที่นายกรัฐมนตรีต้องกู้ศรัทธากลับคืนมาให้ได้ ไม่ใช่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือขาประจำ ขาจรทั้งหลายที่ขึ้นเวทีอภิปราย แต่คือคนชั้นกลางซึ่งเจ็บปวดกับการเสียภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ และได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินมากที่สุดเสมอมา จึงทนการโกงของนักการเมืองได้น้อย เพราะไม่โกงเขาได้ ในขณะที่ชาวบ้านระดับล่างทนได้มากกว่า เพราะถึงไม่โกง เขาก็ไม่ค่อยได้อะไรอยู่แล้ว

ถ้านายกรัฐมนตรีกู้ศรัทธาจากคนที่เข้าร่วมต่อต้านคืนมาได้ คุณสนธิและขาประจำ-ขาจรทั้งหลายก็หมดพลังไปเอง

การเปิดอภิปรายในสภาเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญวิกฤตศรัทธา ถึงไม่มีการลงมติในสภา แต่ต้องมีการลงมติในสังคมอย่างแน่นอน เพราะประชาชนทั้งฝ่ายที่ยังศรัทธานายกฯ และฝ่ายที่ต่อต้านนายกฯย่อมจ้องทีวีตาไม่กะพริบตลอดการอภิปรายถ้านายกฯ แสดงความสุจริตของตนให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้ท่ามกลางการซักฟอกอย่างหนักของฝ่ายค้าน ฝูงชนที่ต่อต้านจะหายไปครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยในทันที

แล้วท่านนายกฯก็ยุบสภาเปลี่ยนวิกฤตศรัทธาที่มีต่อตัวท่านเองให้กลายเป็นวิกฤตของสภา ผลที่เล็งเอาไว้ก็คือ พรรคของท่านจะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด (แม้ไม่มากเท่าเดิมก็ตาม) และเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นการเล็งผลที่ไม่น่าจะพลาด และเพราะไม่น่าจะพลาดนี่แหละที่ทำให้วิกฤตศรัทธาที่ผู้คนมีต่อท่านนายกฯ ยิ่งวิกฤตหนักข้อขึ้นไปกว่าเดิม เพราะทำให้ความสงสัยในความสุจริตของนายกฯ หนักแน่นขึ้นไปอีก ก็ไม่กล้าเผชิญการซักฟอกต่อหน้าสาธารณชน

ผลที่เล็งเอาไว้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ก็จะชำระล้างความสงสัยแคลงใจในความสุจริตของท่านนายกฯออกไปด้วย "เสียงสวรรค์" ที่ผ่านหีบเลือกตั้ง ผลอันนี้เล็งผิดอย่างค่อนข้างหูป่าตาเถื่อน การชนะเลือกตั้งยืนยันสิ่งที่ทุกคนเชื่ออยู่แล้วว่า ท่านนายกฯได้รับความนิยมจากพลเมืองไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรีสูงสุด โพลสำรวจเรื่องนี้ทีไรก็ได้ผลเหมือนกันอย่างนี้ทุกที แม้กระนั้นความสงสัยระแวงในความสุจริตของท่านนายกฯ ในหมู่คนที่เขาสงสัย (ซึ่งถึงแม้เป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม) ก็ไม่เคยจืดจางลงเลย กลับยิ่งเพิ่มพูนทั้งความสงสัยและคนสงสัยขึ้นไปเรื่อยๆ

ระบบการเมืองประชาธิปไตยยอมให้เสียงข้างมากยึดกุมการบริหาร และการตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่ไม่ได้ยอมให้ยึดกุมความสงสัยหรือความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย ฉะนั้น ถึงจะชนะเลือกตั้งมาสักเท่าไหร ก็ไม่สามารถทำให้วิกฤตศรัทธาที่มีต่อตัวท่านนายกฯ ลดลงแต่อย่างใด มันเป็นคนละเรื่องกัน ที่นั่งในสภาไม่สามารถทำให้การชุมนุมขับไล่นายกฯ หมดไป ก็เวลานี้ท่านนายกฯก็มีเสียงสนับสนุนในสภามากอย่างที่ไม่มีวันที่จะได้มากอย่างนี้อีกแล้ว เขาก็ชุมนุมกันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่หรือ

ยิ่งถ้าสภาไม่มีฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายค้านจริงๆ (ไม่ใช่นายกฯตั้งขึ้นด้วยการปล่อยที่นั่งให้สัก 100 ที่) วิกฤตศรัทธาของตัวท่านนายกฯจะยิ่งรุนแรงขึ้น ลองคิดเถิดว่าหาก ทรท.ได้ 500 ที่นั่งในสภา ความรังเกียจ, ความระแวงสงสัย, ความไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะยิ่งเพิ่มพูนไปสักเพียงไร ไม่ว่าจะขยับทำอะไร ก็จะต้องเผชิญกับความระแวงสงสัยและความไม่ไว้วางใจในข่าวลือ ในสื่อ (ที่ยังไม่ถูกซื้อ) ในวงสัมมนา และแน่นอนในการชุมนุมซึ่งใหญ่ขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การบริหารงานตามปกติก็เป็นไปไม่ได้ แม้แต่จ่ายเงินเดือนเลื่อนขั้นข้าราชการยังกลายเป็นเรื่องใหญ่ เติมน้ำมันรถยนต์ประจำตำแหน่งแต่ละทีกลายเป็นข้อครหา

นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรในสภาวะนั้น ถ้าไม่ลาออกก็ต้องเหยียบฝ่ายต่อต้านให้ราพณาสูร ประเทศไทยก็จะกลายเป็น "เมียนมาร์ 2" เศรษฐกิจไทยรองรับการถูกแซงชั่นแบบนั้นได้ไม่เกินเดือนเดียว หากไม่มองด้วยโลภาคติ, ฉันทาคติ และภยาคติแล้ว ไม่เคยมีครั้งไหนที่นายกรัฐมนตรีไทยต้องการฝ่ายค้าน (จริงๆ) เท่าครั้งนี้

ฝ่ายค้านก็เข้าใจ และไพ่ใบสุดท้ายที่มีในมือคือ บอยคอตการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านก็มีภาระต้องพิสูจน์เหมือนกันว่า การเดินในแนวนี้มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่เป็นแค่เกมการเมืองเพื่อกดดันนากยฯ ให้ต้องลาออก (เดี๋ยวนี้ หรือชาติหน้าตอนสายๆ ซึ่งก็คือเมื่อกลับเป็นรัฐบาลใหม่) และด้วยเหตุดังนั้นฝ่ายค้านจึงตกลงร่วมกันที่จะชูประเด็นปฏิรูปการเมือง อย่างน้อยก็เพราะมีคนจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องปฏิรูปการเมืองกันอีกครั้งหนึ่ง

แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีความชัดเจนว่าปฏิรูปการเมืองนั้นจะต้องทำอะไร และทำอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือปฏิรูปการเมืองมีสองด้านคือ เนื้อหาและกระบวนการ ทั้งสองด้านไม่ชัดเจนในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร แม้มีผู้เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองกันอย่างกว้างขวางก็ตาม

ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น เช่นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเมือง เรียกร้องให้ "คืนพระราชอำนาจ" แต่ไม่ชัดนักว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเนื้อหาหรือเป็นกระบวนการ กล่าวคือจะแปรเปลี่ยนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้ควบคุมฝ่ายบริหารโดยตรง หรือเป็นเพียงผู้อำนวยอำนาจนอกระบบให้เกิดกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และออกแบบโครงสร้างทางการเมืองของสังคมกันใหม่ ฉะนั้น แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับการ "คืนพระราชอำนาจ" ก็อาจเห็นกันคนละอย่างเป็นตรงกันข้ามเลยก็ได้

ปฏิรูปการเมืองจึงยังเป็นแค่คำขวัญกลวงๆ แม้เป็นคำขวัญที่มีคนสนับสนุนอยู่มากก็ตาม แต่เนื้อหาข้างในต่างคนต่างใส่ลงไปตามใจชอบ ไม่มีอะไรตรงกันสักอย่างเดียว

และในบรรดาผู้ใส่เนื้อหาลงไปตามใจชอบนั้น กลุ่มคนที่มองแคบที่สุดคือนักการเมือง เพราะมองกันแค่กติกาสำหรับเกมการเมืองในการแย่งกันมีอำนาจในฝ่ายบริหาร (จัดตั้งหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาล) ไม่มีใครสนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่มีใครศรัทธาที่จะเพิ่มอำนาจของประชาชน ไม่มีใครอยากเพิ่มอำนาจการตรวจสอบให้แก่สังคม ไม่มีใครอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและตัดสินใจกิจการสาธารณะ ไม่มีใครสนใจสร้าง "ประชาธิปไตยที่กินได้" อย่างที่สมัชชาคนจนเรียกร้องอยู่เวลานี้

พรรคการเมืองทุกพรรค (ซึ่งเคยได้ที่นั่งในสภา) แล้วมีประวัติอันเลวร้ายของการละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาแล้วทั้งนั้น ด้วยเนื้อหาที่แคบอย่างนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงสรุปการปฏิรูปการเมืองลงเหลือเพียงแก้รัฐธรรมนูญ แล้วเสนอให้ลงสัตยาบันร่วมกัน ขอเปิดการเจรจาแบบ "จับเข่าคุยกัน" ซึ่งจะลงลึกถึงรายละเอียด รัฐบาลถูกบีบให้เล่นเกมปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่หลีกเลี่ยงการลงสัตยาบันด้วยการเสนอให้ใช้เป็นคำสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้งแทน เรียกว่าสัญญาประชาคม

ปฏิรูปการเมืองหดแคบลงเหลือการแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญหดแคบลงไปอยู่ในกำมือของนักการเมือง ซึ่งไม่เคยมองรัฐธรรมนูญมากไปกว่ากติกาของเกมแย่งอำนาจ ประชาชนต้องร่วมกันถามให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่า "ใครบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นสมบัติของพวกมึง"

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลวจริงในบางเรื่อง แต่ในหลายเรื่องไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ หากมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อมรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญอะไรในโลกนี้ที่ถูกใช้ในสุญญากาศ แต่ถูกใช้ในสังคมซึ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกำกับควบคุมอย่างได้ผลอยู่แล้วทั้งนั้น ฉะนั้น การซัดความล้มเหลวทั้งหมดให้แก่รัฐธรรมนูญก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่มองปัจจัยให้รอบด้านก็ตาม จึงเป็นการมองปัญหาอย่างตื้นเขิน เหมาะสำหรับนักการเมืองและสถาบันที่รับเงินวิจัยมาเสนอรายงานตื้นเขินแก่ผู้ให้ทุน

คนที่พบทางตันทางการเมืองที่สุดเวลานี้คือประชาชนไทย อยากรักษาระบบไว้ให้มีโอกาสแก้ความบกพร่องของตนเอง อันเป็นคุณสมบัติของระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไม่มีทางเลือก ครั้นจะยอมให้มีการแก้ไขนอกระบบ ก็หมายถึงปล่อยให้ระบบถูกไขไปตามผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งไม่เคยเห็นหัวคนจนมาก่อนทั้งนั้น (นอกจากการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อเคลือบความอยุติธรรมในระบบเอาไว้)

ประชาชนต้องเชื่อตัวเองว่า ไม่มีใครผ่าทางตันนี้ให้เราได้ นอกจากตัวเราเอง

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
100349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างหน่วยทหารที่รัฐบาลส่งมาควบคุมฝูงชนในกรุงเทพฯ ฝ่ายผู้ประท้วงก็ไม่ยอมถอย เพราะการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นซึ่งเนติบริกรอาวุโสร่างให้แก่เผด็จการ รสช. ด้วย) กฎหมายเดียวที่ผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ ละเมิดคือ กฎหมายจราจร คือกีดขวางการจราจรของถนนราชดำเนิน และเพียงเท่านี้แหละ ที่รัฐบาลในสมัยนั้นสั่งทหารลั่นกระสุนกราดใส่ฝูงชน ในขณะที่รุกกินพื้นที่ขับไล่ฝูงชนไปเรื่อยๆ พร้อมกับสังหารผู้คนแบบไม่เลือกหน้าอยู่หลายชั่วโมง

The Midnightuniv website 2006