นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



นายกทักษิณกับเส้นแบ่งจริยธรรม
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง

รวบรวมจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดหน้าสำหรับการรวบรวมความรู้
เกี่ยวกับการเทขายหุ้นชินคอร์ป ๗๓,๐๐๐ ล้านบาทโดยไม่เสียภาษี(sales tax)
ขอเชิญนักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และผู้สนใจทุกท่าน
เสนอความรู้เพื่อสื่อสารเรื่องดังกล่าวต่อสังคมไทย โดยไม่ต้องลงชื่อจริง
ผู้สนใจสามารถส่งข้อมูล บทความ รายละเอียด หลักฐาน ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องไปยัง
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 823
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 35 หน้ากระดาษ A4)




ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป

รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ข้อมูลเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
823. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๑) (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวมและเรียบเรียง)
824. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๒) (รายการวิทยุ - ทักษิณคุยกับประชาชน - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)
825.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป)
826.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (ต่อ) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก)

828. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๔) (แก้วสรร อติโพธิ, คำสารภาพกลางเมืองของนายกฯทักษิณ)
831. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๕) (มายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป)
832. Ideas are free: คำชี้แจงของทักษิณเรื่องความสุจริต (ถอดเทปโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

834. เรารักในหลวงถึงวาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)
836. การชุมนุมเป็นบ่อเกิดประชาธิปไตย ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดความเสมอภาค (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, เกษียร เตชะพีระ)
838. ทักษิณคุยกับประชาชน : เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพบและเรื่องข่าวลือกับเอกสารปลอม (ถอดเทป)
839. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๖) (วิพากษ์ยับกรณีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลเจ้ารัฐบาล)
844. Law of the Few และทฤษฎีฟิสิกส์-สังคมศาสตร์ กรณีการขับไล่ทักษิณ (ประสาท มีแต้ม คณะวิทยาศาสตร์ มอ.)
845.
แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรียุบสภา และคำแถลงของนายกทักษิณ (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
)

846. รายการถึงลูกถึงคน คุยกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังยุบสภาฯ (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
847. ณ วันนี้ที่ย้อนกลับไปของนายกทักษิณ (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
848. กับปัญหาคาใจในการเมืองไทยไล่ทักษิณ (ชำนาญ จันทร์เรือง, อาจารย์พิเศษ นักวิชาการทางด้านกฎหมาย)


1. คิดถึง "ประเสริฐ นาสกุล" ตุลาการที่รู้ธาตุแท้ทักษิณก่อนใคร ?

ประชาชาติธุรกิจ
นายประเสริฐ นาสกุล เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย 7 ต่อ 8 ที่เห็นว่า "ทักษิณ" มีเจตนาจงใจ ซุกหุ้น หลังตัดสินคดีซุกหุ้น ประเสริฐใช้ชีวิตแบบราษฎรเต็มขั้น มีปัญหาเรื่องสุขภาพบ้างอันเป็นไปตามวัย แต่หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ครั้งหนึ่งอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์นักข่าวถึงเบื้องหลังคำวินิจฉัยที่ฟันธงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น ว่า "ผมไม่เคยขออะไรใคร จึงไม่มีใครมากล้าขออะไรผม ทุกคนก็รู้จักนิสัยดี ผมเห็นว่าหากเราเคยไปขออะไรใคร ถึงเขาจะไม่ให้เรา แต่ก็ถือว่ามีบุญคุณแล้ว เขาก็จะมาทวงบุญคุณภายหลังได้ สู้เป็นตัวของตัวเองดีกว่า" นี่คือคนจริงและความจริงที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการตกแต่ง สร้างนิยายเพื่อหลอกคนอื่น

"ประชาชาติธุรกิจ" ย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยส่วนตัวของนายประเสริฐ นาสกุล ที่เขียนไว้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 อีกครั้ง เพราะเห็นว่าคำวินิจฉัยฉบับนี้ มิได้มีแต่หลักกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังเจาะทะลวงลงไปถึงก้นบึ้งของ "ธนกิจการการเมือง" อย่างแจ่มแจ้งดั่งแสงตะวัน

ลอกเลียนระบบทุนนิยม
ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยเขียนว่า การพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลอกเลียนความรู้จากกฎหมายของต่างประเทศในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ใช้สติและปัญญานำเอาวิธีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนวิธีการป้องกันการเอาเปรียบ การเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ มาใช้ด้วย ประกอบกับการเอาความสะดวกสบายโดยไม่รู้จักคิด ปล่อยหรือยอมให้ผู้อื่นคิดแทนโดยไม่มีการพิจารณาว่าระบบดังกล่าวสอดคล้องกับศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยหรือไม่

เพราะผู้นำเข้า มุ่งแต่การมีระเบียบแบบแผน กฎหมาย และหวังในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ ไม่ทราบหรือคาดคิดมาก่อนว่าความรู้ที่นำมานั้น อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเตรียมการป้องกันไว้ด้วย เช่น การประกอบธุรกิจแบบครอบครัวได้พัฒนาเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน และกลุ่มบริษัท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นแหล่งระดมเงินทุน และต่อไปจะมีตลาดกลางสินค้าเกษตรล่วงหน้า

แต่มีผู้คิดหาช่องทางต่างๆ ของกฎหมาย เช่น การค้าเสรีเปิดโอกาสให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยใช้ความได้เปรียบในฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่และการศึกษา การเอาประโยชน์โดยใช้ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัท แล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแกคนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัทและกลุ่มบริษัทเพื่อขยายกิจการ การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม (มีการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวลือ การอำพราง การใช้ข้อมูลภายใน - ดูรายละเอียดผู้ถูกคณะกรรมการ ก.ล.ต. ปรับและจำนวนเงินค่าปรับ กรณีการใช้ข้อมูลภายในได้จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันจันทร์ที่ 29 - วันพุธที่ 31 มกราคม 2544)

ความร่ำรวยท่านได้แต่ใดมา ?
ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) จะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้น และใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน นั้น "เป็นการประกอบธุรกิจตามปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น" ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศ เป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภและความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) อ้างว่าเลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้วตั้งแต่ปี 2537 และมองการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (2)) บุตรและเครือญาติดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สินในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับประเทศไทย)

และผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) เข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคสอง เพราะประชาชน 11 ล้านกว่าคนนั้น ไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้อง และคู่สมรสดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียง 2 คนของผู้ถูกร้อง และคู่สมรสเพราะเป็นคนละเรื่องกัน

การกระทำคือผลของอดีต
การกระทำของผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ซึ่งเป็นผลของอดีตยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่นในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้อง เป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย "เงิน" อย่างเดียว

ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) โฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจมีเงินทอง มากมาย ไม่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมืองโดย โอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) รู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) มิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัว กับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่างอาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีโดยการคิด พูด และทำตรงกัน ชี้นำประชาชนในชาติว่าปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขด้วยการลด ละ และเลิก "ความเห็นแก่ตัว" เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวังเพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้

ธาตุแท้-ความเห็นแก่ตัว ?
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้ร้อง (ป.ป.ช.) กล่าวหาผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบว่ามีข่าวที่ค่อยๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ถูกกล่าวหาทีละน้อยๆ และเป็นระยะๆ ว่าผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย

ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) เป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) สมัครใจยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่าผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท. ทักษิณ) กระทำผิดก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน 10 กว่าล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้

และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคนจนกระทั่งมีผู้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น

ข่าวต่างๆ ดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหากมิใช่เป็นการแสดง "ความเห็นแก่ตัว" ของคน

2. "จะปล่อยความบกพร่องโดยสุจริตไปตลอดชีวิตได้อย่างไร"
ผู้จัดการ : สัมภาษณ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : 2 กุมภาพันธ์ 2549, 21:03 น.
"..ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า มีรายชื่อเศรษฐีหุ้น ที่มีความใกล้ชิดกับนายกฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บางรายไม่เคยติดอันดับเศรษฐีหุ้นมาก่อน"
หนึ่งหทัย อินทขันตี : สัมภาษณ์

ขณะนี้ แทบทุกมหาวิทยาลัย แทบทุกสถาบันการศึกษา ต่างตื่นตัว ตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อยื่นขอเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเสียงเดียวกัน เพื่อให้พิจารณาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในนามคณะเศรษฐศาสตร์ก็เช่นกัน ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และศาสตราจารย์ปราณี ทินกร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เข้าชื่อเรียกร้องครั้งนี้ว่า

ศ.รังสรรค์ กล่าวว่า ที่เข้าชื่อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พิจารณาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมตรี ก็เพราะว่า นายกรัฐมนตรีนั้นควรที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน แต่ในการซื้อขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น กลับมีการดำเนินการที่มีวิธียอกย้อน ดังที่รู้กันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปตั้งบริษัทแอมเพิล ริช ที่เกาะบริติช เวอร์จิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นสถานที่ฟอกเงินนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม เพราะหากต้องการนำหุ้นไปจดทะเบียนที่ตลาดแนสแดค(NASDAQ ) จริง ทำไมถึงไม่ไปตั้งบริษัทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

"การดำเนินการซื้อขายหุ้นมันยอกย้อน ถ้าเป็นนายกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี แล้วจะไปสอนเยาวชนอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีทำตัวลับๆ ล่อๆ อย่างนี้" ศ.รังสรรค์ กล่าว อาจารย์ยังกล่าวต่ออีกว่า ครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดพ้นข้อกล่าวหาคดีซุกหุ้น ในช่วงที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ นั้น ประชาชนก็ยังอาจจะยอมรับได้ ด้วยหวังว่าจะบริหารประเทศโดยดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้บริหารประเทศแล้ว ยังมีกรณีการขายหุ้นครั้งนี้อีก จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถยอมรับได้

"ครั้งแรกประชาชนอาจจะยอมได้ เพราะหวังว่าคุณทักษิณจะบริหารแผ่นดินและสร้างประโยชน์ แต่เมื่อขึ้นมาบริหารแล้ว มีเรื่องแบบนี้ จะบกพร่องโดยสุจริตตลอดชีวิตได้อย่างไร ตอนนี้ประชาชนก็เริ่มตั้งข้อกังขากันแล้วว่า จะเป็นการบกพร่องโดยสุจริต หรือบกพร่องโดยทุจริต"

ส่วนที่ผ่านมา คำชี้แจงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูล เป็นการพยายามชี้แจงบนพื้นฐานของความชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้ว ขณะนี้ประชาชนกำลังตั้งคำถามว่า กฎหมายการยกเว้นภาษีการขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดานั้น มีความชอบธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีหุ้น ซึ่งรวมทั้งนักการเมืองบางคนมาตั้งแต่อดีต

"การยกเว้นไม่เก็บภาษี เอื้อต่อการหาประโยชน์ในยุคที่เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น จึงไม่มีรัฐบาลไหนริเริ่มแก้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ ให้ญาติพี่น้อง เก็งกำไร เล่นหุ้น จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ทั้งนายกฯ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มักจะบอกว่าดัชนีหลักทรัพย์จะต้องสูงกว่านี้ ก็เพราะถ้าเศรษฐกิจขยายตัว นักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ประโยชน์" ศ.รังสรรค์ กล่าว

ศ.รังสรรค์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า มีรายชื่อเศรษฐีหุ้นที่มีความใกล้ชิดกับนายกฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้บางรายไม่เคยติดอันดับเศรษฐีหุ้นมาก่อน ซึ่งการที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยสนใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและยังปล่อยให้เครือญาติและผู้ที่เกี่ยวข้องหาประโยชน์นี้ในที่สุดจะทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้

ด้าน ดร.ปราณี ทินกร กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านจริยธรรมให้แก่ประชาชน ดร.ปราณี กล่าวว่า หากพิจารณาถึงนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา ของรัฐบาลชุดนี้ บางด้านเป็นนโยบายที่มีหลักการดี เช่น นโยบายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งให้ประโยชน์กับคนยากจน เพราะคนจนยังไม่มีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ อีกทั้งยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะรักษาตัวในยามที่เจ็บป่วย แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายหลายด้านมุ่งกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายแม้จะเป็นหนี้ก็ยอม ซึ่งจะก่อเกิดผลเสียในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยได้

ส่วนกรณีการขายหุ้น แต่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนต่างของราคาตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรนั้น ดร.ปราณี กล่าวว่ากระทรวงการคลัง ควรเริ่มคิดปรับระบบการเสียภาษีนี้ได้แล้ว เนื่องจากการยกเว้นภาษีนี้ เดิมมีเจตนาเพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ แต่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ดังนั้น จึงควรพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ภาษีนี้ได้แล้ว

"อาจจะให้มีการยกเว้นภาษีให้กับกำไรเพียงแค่ระดับหนึ่ง แต่หากผู้ขายหุ้นมีกำไรเกินกว่าระดับที่กำหนด ก็ควรจะนำรายได้นั้นมารวมกับเงินได้ เพื่อเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องมีรายได้มาใช้จ่ายในด้านต่างๆ อีกทั้ง โดยหลักการด้านภาษี หรือ Ability to Pay นั้น คนที่มีรายได้มาก ก็ควรจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย" ดร.ปรานี ระบุ

3. "เนติบริกร" สุวรรณ วลัยเสถียร ตบหน้าประชาชนอย่างรุนแรง
กาแฟดำ : กรุงเทพธุรกิจ : 2 กุมภาพันธ์ 2549, 15:05 น.
ฟัง "เนติบริกร" สุวรรณ วลัยเสถียร แถลงเรื่องตระกูลชินวัตรเกี่ยวกับหุ้นชินคอร์ปและบริษัท Ample Rich บนเกาะบริติช เวอร์จินแล้ว เหมือนคนไทยทั้งประเทศถูกตบหน้าอย่างรุนแรง "วันนี้ ผมไม่ได้มาพูดเรื่องจริยธรรม...เพราะผมไม่ได้รับมอบหมาย ต้องขออภัย..." (สุวรรณ วลัยเสถียร)

ประโยคนี้ประโยคเดียวจะต้องจารึกประวัติศาสตร์ไทยไปไว้อีกยาวนาน เพราะแปลว่า คนที่พูดแทนตระกูลร่ำรวยที่สุดของประเทศ, ตระกูลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงที่สุดของชาติบอกว่า เรื่องจริยธรรมไม่ใช่ประเด็น
ประหนึ่งว่าจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่เลือกพูดได้ เลือกวันได้...วันนี้ไม่อยากพูดเรื่องจริยธรรมก็ไม่ต้องพูด, พรุ่งนี้ถ้าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ก็จะพูด

คุณสุวรรณนึกว่า คนไทยทั้งประเทศงี่เง่าเต่าตุ่น พูดอย่างไรก็ได้ คนไทยต้องเชื่อเพราะเขาคือ "โฆษก" ของตระกูลที่ทรงอำนาจที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นนักกฎหมายแพงที่สุดของประเทศ แต่ไม่สนใจจริยธรรมของอาชีพ และไม่ไยดีต่อความรู้ "ความชอบธรรม" ของสังคมเลย แม้แต่น้อย

คำอธิบายของสุวรรณเต็มไปด้วยร่องรอยของความพยายามที่จะหลบเลี่ยงภาษี และเงื่อนไขที่ต้องแจ้งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องรับรู้ มีการถามหาเอกสารประกอบ, นายสุวรรณอ้ำอึ้ง บอกว่าจะไปขอจากตระกูลชินวัตรมาให้ แปลว่า เอกสารที่พิสูจน์ความจริงต่อสาธารณชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ผู้เสียภาษีของชาตินั้นอยู่ที่ว่าคนของตระกูลจะให้หรือไม่ให้ก็ได้

มีคำถามค้างคาใจตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ทักษิณ ชินวัตรไปตั้ง บริษัท Ample Rich Investment ที่เกาะฟอกเงินและเลี่ยงภาษีแห่งนี้เมื่อ 2 มีนาคม 2542 (7 ปีก่อน) โดยที่ทักษิณถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์คนเดียว เหตุผลที่ไปตั้งบริษัทนี้ที่เกาะแห่งนี้นั้น นายสุวรรณอ้างว่า เพราะ "เตรียมเข้าไปซื้อขายที่ตลาดหุ้นแนสแด็กที่นิวยอร์ก" จำนวนหุ้นตอนนั้นราคาพาร์ 10 บาท ต่อมามีการแตกพาร์ออกมาจาก 10 บาทเหลือ 1 บาท ฉะนั้น จำนวนหุ้นในภายหลังจึงอยู่ที่ 329.29 ล้านหุ้น (จากเดิม 32.92 ล้านหุ้น) ในเวลาต่อมา

นายสุวรรณอ้างด้วยว่า ที่ต้องให้ Ample Rich ถือหุ้นจำนวนนี้ เพราะตลาดหุ้นที่นั่นบังคับว่า ถ้าจะนำหุ้นเข้าไปเทรด (ซื้อขาย) จะต้องอยู่ในกระดานต่างประเทศ ข้อแรกนี้ก็มีประเด็นน่ากังขามากมายแล้ว

การจะ "เตรียมตัวเข้าซื้อขายหุ้นในแนสแด็ก" นั้น มิใช่อยู่ที่การโอนหุ้นของตัวเองไปอยู่ในต่างประเทศก่อน เพราะขั้นตอนที่แท้จริงนั้น คณะกรรมการของบริษัท Shin Corp ต้องทำรายละเอียดเสนอต่อแนสแด็กให้พิจารณา เข้ามาตรวจสอบ มาสอบถาม และประเมินว่าธุรกิจและสถานภาพของบริษัทเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะให้หุ้นตัวนี้เข้าไปซื้อขายได้หรือไม่

ตอนที่ทักษิณไปตั้งบริษัทบนเกาะแห่งนี้ แล้วโอนหุ้นของตัวเองในชินคอร์ปไป ก็เท่ากับบริษัทที่ทักษิณถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ซื้อหุ้นของทักษิณเองไป โดยที่ไม่มีการยืนยันว่า บริษัทชินคอร์ปได้ยื่นสมัครเข้าแนสแด็กแล้วหรือยัง เท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างทักษิณล่วงรู้ข้อมูลภายในของคณะกรรมการบริษัทและเอาหุ้นตัวเองไป "ตั้งแท่น" เอาไว้ก่อน

ถามว่า ผู้ถือหุ้นคนอื่นของชินคอร์ป โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหลายมีข้อมูลภายในเรื่องนี้หรือไม่? ไม่มี

การที่ทักษิณเอาหุ้นไปเก็บไว้ที่หมู่เกาะแห่งนี้ เป็นการเตรียมให้ชินคอร์ปสมัครเข้าไปซื้อขายหุ้นในแนสแด็กเป็นเหตุผลฟังขึ้นหรือไม่?

ทนายหน้าหออย่างสุวรรณพูดถึงเรื่องนี้เหมือนคนไทยต้องเชื่อตามนั้นน่าอดสูยิ่งนัก เพราะเขาบอกต่อด้วยว่า เมื่อทักษิณตัดสินใจไม่เอาหุ้นเข้าแนสแด็กแล้ว ก็พยายามเหลือเกินที่จะเอาหุ้นนั้นกลับมาเมืองไทย "พยายาม" จะเอาหุ้นชุดนี้กลับเมืองไทยอยู่ตั้ง 5 ปีไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์เพียง 3 วัน จู่ๆ ลูกชายกับลูกสาว (ถือคนละร้อยละ 80 และ 20 ตามลำดับ) ขายหุ้นชินคอร์ปใน Ample Rich ให้กับตัวเอง (คราวนี้คนละ 50 เปอร์เซ็นต์) ที่ราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วขายต่อให้กับเทมาเส็กหุ้นละ 49.25 บาท

เนติบริกรระดับชาติจะอธิบายอย่างไร ก็ไม่สามารถตอบได้กระจ่าง เพราะเห็นร่องรอยของการซิกแซ็กเพื่อเลี่ยงภาษี, เลี่ยงการต้องแจ้ง, เลี่ยงการตรวจสอบอย่างเห็นได้

แปลกใจไหมว่า ทำไมสุวรรณจึงบอกว่า "วันนี้ ผมไม่ได้รับมอบหมายให้ตอบเรื่องจริยธรรม..."
ไม่ต้องแปลกใจ, เพราะตอบยังไงก็ตอบไม่ได้

4. "ปรากฏการณ์ซุกหุ้น ภาค 2" ในสายตาเหยี่ยวข่าว
ประชาชาติธุรกิจ
ถึงวันนี้คนไทยทั้งประเทศยังคงสงสัยว่า ที่สุดแล้วการขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้าน ของครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ให้กับกลุ่ม เทมาเส็กจากสิงคโปร์ ตรงไปตรงมาจริงหรือ ?

อาทิตย์ที่ 29 มกราคม "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" นักข่าวมติชนที่ติดตามข่าวการซื้อขายหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นอย่างใกล้ชิด ได้วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป เบื้องหลัง และตั้งข้อสังเกตในฐานะนักข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ผ่านรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว สถานีวิทยุ อสมท 100.5 ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ถาม - จะอธิบายปมปริศนาขายหุ้นชินคอร์ป อย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ

ตอบ - จริงๆ แล้วต้องดูกระบวนการว่า เรื่องนี้มีการกำหนดหรือ "วางแผน" มาตั้งแต่ปี 2543 ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านและภรรยาได้โอนหุ้นทั้งหมด (เน้นเฉพาะชินคอร์ป) ประมาณ 100 ล้านหุ้น ให้ คุณพานทองแท้ ชินวัตร ประมาณ 73 ล้านหุ้น ส่วนประมาณ 26 ล้านหุ้น โอนให้ คุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และอีก 2 ล้านหุ้น ก็โอนให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ก่อนที่จะโอนส่วนหนึ่งของคุณทักษิณ ประมาณปี 2542 ท่านก็โอนหุ้นส่วนของท่านครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 32.9 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท แตกพาร์แล้วก็เป็น 329 ล้านหุ้น ในปัจจุบันให้กับบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนต์ (Ample Rich Investments Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบริติชเวอร์จิน

เกาะบริติชเวอร์จินซึ่งอยู่แถบทะเลแคริบเบียนเป็นเกาะซึ่งเรียกกันว่า เป็นสวรรค์ของนักเลี่ยงภาษี ผมจำได้ว่า พฤษภาคมปี 2535 ท่านายกฯทักษิณไปปาฐกถากับนักธุรกิจแห่งหนึ่งว่า อยากจะรักชาติก็ต้องจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย และไม่ควรไปตั้งบริษัทบนเกาะแถบแคริบเบียน แต่บริษัทในเครือชินคอร์ปก็ดี หรือ ปตท.ก็ดี ไปตั้งบริษัทบนเกาะนี้ทั้งหมดเลย

เมื่อท่านได้โอนหุ้นให้กับแอมเพิล ริช ท่านก็ได้แจ้งกับ คุณบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะประธานชินคอร์ป แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ว่า การที่ท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปไม่เปลี่ยน เนื่องจากแอมเพิล ริช ถือหุ้นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการโอนให้แอมเพิล ริช ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น นอกจากนั้นชินคอร์ปยังมีแผนที่จะนำหุ้นไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา การโอนหุ้นให้แอมเพิล ริชของท่านนายกฯ ก็คล้ายเป็นเครื่องมือหรือกลไกส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การจดทะเบียนบริษัทชินคอร์ป ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นเรื่องราวของแอมเพิล ริชก็เงียบหายไป เรื่องเข้าตลาดในสหรัฐอเมริกาก็เงียบไป แต่การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของท่านนายกฯ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2544 กลับปรากฏว่าชื่อแอมเพิล ริชหายไป โดยท่านไม่ได้ถือหุ้นแอมเพิล ริช แม้แต่หุ้นเดียวเลย แสดงว่าท่านได้โอนหุ้นออกไปแล้ว ให้ใครก็ไม่รู้

หลังจากพ้นคดีซุกหุ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็เข้ามาตรวจสอบเพราะมีข้อกล่าวหาหลายข้อ เช่น การเอาหุ้นไปไว้กับคนใช้หรือคนขับรถ มีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นข้ามเส้นร้อยละ 5 ซึ่งตามกฎหมายต้องแจ้งกับ ก.ล.ต.ด้วย ก็มีการแจ้งว่า แอมเพิล ริชท่านไม่ได้ถืออยู่แล้ว ท่านโอนให้กับใครก็ไม่รู้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 แล้ว ซึ่งเป็นการโอนในช่วงที่ใกล้เคียงกับโอนหุ้นให้ลูกและคุณบรรณพจน์ในช่วงกันยายน ก่อนที่จะเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544

เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า โอนให้ใคร ทีมงานของผมที่ทำกันอยู่ก็พยายามหาสมมติฐาน แต่ก็ยังหาคำตอบไม่เจอ นักข่าวที่ไปทำข่าวที่สิงคโปร์ก็พบว่าเป็นที่เช่าเล็กๆ ไม่มีสำนักงานอย่างจริงจัง

หลังจากที่แอมเพิล ริชหายไปจากแวดวงหุ้น แต่ก็ยังถือหุ้นอยู่ในชินคอร์ปมาตลอด กระทั่งก่อนที่จะขายให้เทมาเส็กก็ปรากฏ จากการค้นเอกสารที่เขาแจ้ง ก.ล.ต. ว่าแอมเพิล ริชได้ขายหุ้น 329 ล้านหุ้น ให้กับคุณพานทองแท้และคุณพิณทองทา คนละครึ่ง (164 ล้านหุ้น) ในราคาหุ้นละ 1 บาท ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า จริงๆ แล้วแอมเพิล ริชไม่ได้ถูกโอนไปไหน แต่ถูกโอนอยู่ในแวดวงชินวัตรนั่นเอง แต่จะเป็นชื่อใครนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

ผมก็สงสัยว่า ถ้าเกิดโปร่งใส ตรงไปตรงมาอย่างที่พูดกัน ทำไมถึงบอกไม่ได้ว่าแอมเพิล ริชเป็นของใคร ก็ไม่เสียหายอะไร สมมติว่าเป็นของพานทองแท้ ก็บอกมาว่าเป็นของพานทองแท้ หรือเป็นของคุณบรรณพจน์ ก็บอกมาว่าเป็นของคุณบรรณพจน์ ไม่เห็นเสียหายอะไร ทำไมจะต้องปกปิด

แต่เบื้องหลังจริงๆ คงตอบไม่ได้ ได้แต่เพียงตั้งสมมุติฐานว่า จริงๆ แล้วตอนแอมเพิล ริช เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2543 ของคุณทักษิณโอนไปให้ใคร แล้วโอนมาขาย 1 บาท เพื่ออะไร แต่ถ้าพูดง่ายๆ ตามแนวคิดในเรื่องภาษี ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นด้วยว่า วิธีคิดอย่างนี้ คือ ขายเท่าไหร่ก็ได้ตามความพอใจ แล้วถ้าเกิดว่าบริษัทนิติบุคคลขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯถูกหักค่าใช้จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ขายนอกตลาดต้องเป็นเงินได้นิติบุคคลธรรมดา วิธีการก็คือ ขายให้เท่าทุนจะได้ไม่ต้องเสียภาษี แล้วก็ให้บุคคลธรรมดาเอาไปขายตลาดหลักทรัพย์ฯอีกทีหนึ่ง จะได้ไม่ต้องเสียภาษี

วิธีคิดอย่างนี้ หากผมเป็นบริษัทต่างประเทศแล้วผมถือหุ้นอยู่จนมีกำไร เรื่องอะไรผมจะไปขายในตลาดหุ้น เพราะผมถูกหักค่าใช้จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ผมก็โอนให้ "นอมินี" ผม ซึ่งเป็นนาย ก. นาย ข. 1 บาท แล้วคนที่รับซื้อก็ไปขายต่อในตลาดราคาพาร์นั้น ผมก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งวิธีคิดแคบๆ โดยไม่ดูเจตนารมณ์ อีกหน่อยคนก็จะทำเช่นนี้หมดเลย แล้วรัฐก็จะสูญเสียภาษีอย่างมหาศาล เพราะที่บอกว่า ผู้บริหารสรรพากรบางคนตีความกฎหมายแบบนี้ ผมว่าประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล และจะทำให้เกิดลัทธิเอาอย่างมหาศาล

ถามว่าตอนนี้เป็นของใคร ก็คงตอบไม่ได้แต่ปัจจัยแวดล้อมทั้งหลาย มันก็ไม่หนีแวดวงชินวัตร เพราะไม่อย่างนั้นใครจะขายหุ้น 1 บาท ให้กับครอบครัวชินวัตร นี่ก็ชัดเจนแล้วว่าแอมเพิล ริชไม่ได้เป็นของใคร

ถาม - ท่านนายกฯพูดว่า ชี้แจงไปแล้วแต่ทำไมไม่เข้าใจ

ตอบ - เพราะท่านไม่เคยชี้แจงเรื่องนี้เลย ท่านเคยพูดถึงแอมเพิล ริชหรือไม่ บริษัทที่ปรึกษาเคยพูดมั้ย ไม่มีใครพูดถึงเลย เพราะฉะนั้นอย่าหลงประเด็น อย่าไปฟังภาพรวม อยากให้พินิจพิเคราะห์กลไกทั้งหมด ว่าทำไมถึงทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2543

ถาม - ดูเหมือนตัวละครเมื่อครั้งคดีซุกหุ้นเริ่มกลับมา

ตอบ - ไม่ใช่ตัวละครเก่า แต่เรียกว่า มหากาพย์ ผมจำได้ว่าตอนปี 2543 เขาโอนหุ้นให้คุณพานทองแท้ คุณบรรณพจน์ และคุณยิ่งลักษณ์ โดยกรอกแบบฟอร์มแจ้ง ก.ล.ต.ว่า โอนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อมาอีก 3 วัน แจ้งใหม่ว่าโอนนอกตลาด โดยอ้างว่ากาผิด ขณะที่ตอนแอมเพิล ริช ก็อ้างว่าโอนผ่านตลาดเหมือนกัน แต่ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2549) ว่า ติ๊กผิด (การทำเครื่องหมายข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ตามแบบรายงาน ก.ล.ต.) ซึ่งผมว่าแปลก

ถาม - คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง พูดว่า ทำไมต้องจับผิดแต่หุ้นชินคอร์ป

ตอบ - เพราะเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯเหมือนหน้าที่ของตำรวจ เวลาตำรวจยืนอยู่ 4 แยก มีรถฝ่าไฟแดงหลายคันพร้อมๆ กัน ถามว่าตำรวจจะจับคันไหน ก็จับไม่ถูก ฉะนั้นก็ต้องจับคันที่คิดว่าจับได้ก่อน ก็ต้องจับคันที่ฝ่าคาหนังคาเขาที่สุด เพราะไม่มีทางที่จะจับรถได้พร้อมกัน แต่ประเด็นคือ จะกล้าจับหรือเปล่า

ถาม - กลไกจากการตรวจสอบดีลนี้ ประชาชนจะได้เห็นความจริงหรือไม่

ตอบ - ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะรู้ว่าทุกคนกลัวหมด หลบหมด แม้ขนาดเรื่องผิดที่ว่า ไม่มีใครออกมากล้าพูดสักคน ผมให้นักข่าวติดต่อหลายครั้ง ก็ไม่มีผู้บริหารคนไหนออกมาชี้แจง

ถาม - รัฐบาลหงุดหงิดสื่อว่าทำไมกรณีเจเอฟ หรือดีแทค ไม่เห็นตรวจสอบ แต่ทำไมตั้งข้อสังเกตกับเรื่องนี้นักหนา ?

ตอบ - ต้องถามว่าเขาใช้อำนาจทางการเมืองมาเกี่ยวข้องหรือไม่ ที่คนสงสัยก็เพราะการขายหุ้นจริงๆ รัฐธรรมนูญมาตรา 209 ได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามรัฐมนตรีทำธุรกิจ โดยห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ถ้าเกินร้อยละ 5 ต้องโอนให้ทรัสตี หรือบริษัทหลักทรัพย์เข้าไปดูแลผลประโยชน์แทน แล้วนักการเมืองหรือรัฐมนตรีห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นนั้นๆ ก็เพื่อไม่ให้เข้าไปใช้อิทธิพลในทางการเมือง แต่เมื่อคุณไม่เดินตามรัฐธรรมนูญ มันก็เป็นปัญหา ทำให้คนไม่เชื่อใจคุณ

ถาม - ประเด็นอื่นที่น่าติดตาม

ตอบ - อยากให้มองว่า การขายหุ้นครั้งนี้ ช่วงปลายปี 2548 ก็มีข่าวการขายหุ้นชินมาตลอด แต่ก็ถูกปฏิเสธมาเรื่อย ต้นปีก็จะประกาศขายหุ้นแต่ก็เลื่อนมาเรื่อย ทุกคนก็ลืมไปดู โดยเฉพาะนักข่าวไม่ได้ให้ความสนใจกับการผ่านกฎหมายในบางเรื่อง เช่น พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2544 และก็มาถูกแก้เมื่อปลายปี 2548 โดยรัฐสภา ซึ่งเป็นข่าวที่เงียบมาก ไม่มีใครสนใจว่ากฎหมายฉบับนี้แก้แล้ว ซึ่งเหตุผลในการแก้เขียนไว้ในท้ายพระราชบัญญัติว่า เพื่อให้ต่างชาติมาลงทุนได้ และเอาเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามา

กระทั่งไปดูในราชกิจจานุเบกษาปรากฏว่า กฎหมายตัวนี้เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของข่าวที่ว่า จริงๆ แล้วดีลครั้งนี้น่าจะรอให้กฎหมายตัวนี้ออกมาก่อน เพื่อจะได้ให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างประเทศมันขยายได้สูงขึ้น 23 มกราคมก็ประกาศเลย อันเป็นวันแถลงขายดีลประวัติศาสตร์ 73,000 ล้าน

5. คณบดีรัฐศาสตร์นำทีมตั้งโต๊ะล่ารายชี่ออาจารย์ขับไล่ "ทักษิณ"
ผู้จัดการออนไลน์ : 2 กุมภาพันธ์ 49
คณบดีรัฐศาสตร์นำทีมตั้งโต๊ะล่ารายชี่ออาจารย์ นิสิตนักศึกษา ประชาชน ขับไล่ "ทักษิณ" พร้อมผนึกกำลังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศร่วมแจม คาดเป็นจุดเริ่มขบวนการนักศึกษา

วันนี้ (2 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์ร่วมกันเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกที่ 1 เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมยังได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่ออาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อแสดงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญร่วมกัน

ภายในจดหมายระบุว่า ด้วยในขณะนี้ได้มีการก่อตัวของปรากฏการณ์ "วิกฤตการณ์ความไม่ชอบผู้นำประเทศ" ที่รุนแรงและชัดเจน โดยในช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมในการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย หลายเรื่อง อาทิ การทำลายความเป็นอิสระของประชาชน การไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการนิติบัญญัติ การครอบงำบั่นทอนความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระตามระบบรัฐธรรมนูญ การปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวก ขาดความเป็นผู้นำประเทศที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

การขาดจริยธรรมในการบริหารบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดความชอบธรรมของผู้นำประเทศ เป็นผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถทำหน้าที่ของผู้นำประเทศอีกต่อไป หาก พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จะยิ่งเป็นการทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประชาชน พลเมือง และจะนำไปสู่วิกฤตอื่นๆ ตามมา ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และคณะอื่นๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอยื่นขอเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนดังต่อไปนี้

1. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม โดยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที

2. สนับสนุนให้สถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญ องค์กรและกลุ่มของประชาชน ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกฎเกณฑ์มาตรฐานทางการเมืองและจริยธรรมทางการเมืองใหม่ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยโดยเร็ว

ด้าน อ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การออกมารวมตัวของอาจารย์ นักศึกษาจำนวนหนึ่งในครั้งนี้นั้นเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ โดยหลังจากนี้จะมีการล่ารายชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป จะทำให้เกิดขบวนการรวมตัวของนักศึกษาตามมาอย่างแน่นอน เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่มีการรวมตัวของคณาจารย์ขึ้นมาก่อนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันที่ 4 ก.พ. 49 นี้ ทางองค์กรไม่ได้มีมติให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมในครั้งนี้ แต่การตัดสินใจที่จะร่วมชุมนุมเป็นสิทธิของทุกคนที่จะพิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเอง

รศ.ดร.พิทยา บวรพัฒนา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนของความเป็นคณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาฯ ที่เน้นสอนการเมืองการปกครอง และสอนให้เป็นคนดี ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจากการปกครองของนายกฯ เป็นการปกครองที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมภิบาลตามตำราที่สอนนักศึกษาที่สอนว่า การเป็นนายกฯ ที่ดีนั้นมีคุณสมบัติ 4 ประการ

1. ควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง
2. มีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
3. จิตใจกว้างขวางมีความเป็นประชาธิปไตย
4. เป็นคนถ่อมตน ไม่เยาะเย้ยถากถาง

ด้าน ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ชาวรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่ไม่อยากปล่อยให้เหตุการณ์รุนแรงต่อไป และไม่มีใครหาทางออกให้สังคมที่เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา ดังนั้น จึงควรเริ่มกระบวนการสรรหานายกฯ คนใหม่ โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง

แหล่งข่าวจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ก็จะเป็นการลงจากตำแหน่งในฐานะคนร้ายของสังคม ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะอยู่ในประเทศไทยอย่างมีความสุขไม่ได้ ซึ่งคงต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ

ทางด้าน อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการที่เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในช่วง 3 ปี แรก แต่หลังจากสาเหตุที่ต้องถอนตัวออกมาเนื่องจากเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำการตามที่เคยพูดไว้ นอกจากนี้ ในช่วงระยะหลังเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโดยส่วนตัวคิดว่านายกฯ ขาดความชอบธรรมไปนานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งรัฐเห็นช่องโหว่กฎหมายของการเลี่ยงภาษี คนดูแลรัฐหรือรัฐบาล ควรอุดช่องโหว่ตรงนั้น แต่ในกรณีนี้ นอกจากจะไม่อุดช่องแล้วยังขยายให้ใหญ่เพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าไม่ควรที่จะบริหารรัฐบาลอีกต่อไป มันหมดความชอบธรรมแล้ว

ขณะที่ อ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์การร่วมตัวของคณาจารย์ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เป็นปรากฏการณ์ที่ป้องกันไม่ให้รัฐบาลมากัดกร่อนประเทศไทยอีกเหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับ เครือข่ายที่ร่วมในการล่ารายชื่อขับไล่ นายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ที่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการแล้วประกอบด้วย ม.ธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.รามคำแหง, ม.ศิลปากร, ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, ม.อุบลราชธานี, และ ม.บูรพา เป็นต้น

6. ผนึกกำลังล่าชื่อไล่ "ทักษิณ"
ผู้จัดการรายวัน : 2 กุมภาพันธ์ 2549, 11:22 น.
ผู้จัดการรายวัน - กลุ่มนักวิชาการอาวุโส-อาจารย์มหาวิทยาลัย - ส.ว. สุดทน "อัครยำแม้ว" เคลื่อนไหวล่ารายชื่อยื่นหนังสือกดดันให้ "ทักษิณ" ลาออกจากตำแหน่งเพราะหมดความชอบธรรม ทำลายหลักการสำคัญรัฐธรรมนูญ ปล่อยเครือญาติบริวารคอร์รัปชั่น ฉุดลากชาติให้พินาศหนัก เตรียมแถลงข่าวใหญ่ 11.00 น.วันนี้ ที่รัฐสภา

ความไม่พอใจในการบริหารประเทศภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่คุกรุ่นอยู่ก่อนแล้วขยายวงออกไปอย่างรวดเร็ว หลังดีลขายหุ้นชินคอร์ป ล่าสุด กลุ่มนักวิชาการอาวุโส อาจารย์มหาวิทยาลัย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรภาคประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อในหนังสือยื่นต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งเพราะหมดความชอบธรรมแล้ว

เนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการสนับสนุนจากประชานให้ปกครองประเทศ การสนับสนุนนั้นเกิดจากความคาดหวังว่าและความเข้าใจว่า นายกฯ และพรรคพวกจะบริหารราชการโดยยึดมั่นในระบอบรัฐธรรมนูญ อาศัยความชอบธรรมและเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ สร้างความสมานฉันท์ และดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

แต่การณ์กลับปรากฎว่า นายกฯ ได้อาศัยความชอบธรรมนั้นทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญจนหมดสิ้น ใช้อำนาจเสียงข้างมาก และแทรกแซง ครอบงำวุฒิสภา บั่นทอน ล้มล้างความเป็นอิสสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำให้องค์กรเหล่านั้นไม่อาจตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารได้ ซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการปฏิรูปการเมือง และปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน

รวมถึงปิดกั้นการชุมนุมอย่างสันติ ใช้นโยบายหว่านเงินไปทุกหย่อมหญ้า ทำให้ชุมชน ต้องเป็นหนี้ สร้างความเคยชินในการบริโภค ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญ กับความวิบัติอย่างไม่เคยเกิดขึ้น และยังก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในภาคใต้จนยากจะเยียวยา

หนังสือดังกล่าวยังระบุว่า รัฐบาลยังปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้ผู้ใกล้ชิด และญาติพี่น้อง หาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐ และอาศัยนโยบายของรัฐต่อรองกับต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างคับแคบ ขาดจิตสำนึกการเป็นผู้นำที่ดี จึงขอเรียกร้องให้ท่านแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม เพราะท่านหมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศแล้ว เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ท่านควรยุติบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก่อนที่จะฉุดลากประเทศให้ถึงความพินาศยิ่งไปกว่านี้

กดดันนายกฯ ลาออก
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อกล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อของนักวิชาการและผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม เพื่อเสนอกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งจริง

"ผมคิดว่ากระแสสังคมในตอนนี้ คนในทุกระดับชั้นต่างรู้สึกอึดอัดใจกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มคนในสายนักธุรกิจรายใหญ่ และคนบางกลุ่มในสายทหาร ซึ่งเริ่มต่อสายพูดคุยกันถึงประเด็นนี้" นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าวต่อว่า สายนักวิชาการซึ่งมีตนรวมอยู่ด้วยนั้น ต่างมองกันว่านายกฯ และรัฐบาลชุดนี้หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไปแล้ว เพราะหากจะทำงานต่อไปก็จะต้องมีการปรับปรุงการทำงาน และชี้แจงรายละเอียดที่สังคมยังกังขากันขนานใหญ่ ที่ผ่านมาแม้มีการชี้แจงแต่ก็เป็นการชี้แจงเพื่อการปกป้องตัวเองเท่านั้น

"ส่วนนักธุรกิจรายใหญ่ที่ต่อสายมาพูดคุยกัน เขาก็มองกันว่าในสมัยรัฐบาลชุดนี้มันเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ใครที่เป็นสายของรัฐบาลก็มักจะได้โครงการไปทำ ส่วนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามก็มักจะโดนไล่เก็บภาษี เป็นการจำกัดช่องทางของธุรกิจของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้พวกเขาหงุดหงิดกัน"

เขาบอกต่อว่า ข้อห่วงกังวลของสายทหารเป็นประเด็นที่อิงกับแนวคิดแบบชาตินิยม เขามองกันว่ากระแสชาตินิยมที่รัฐบาลพยายามปลุก เป็นไปเพื่อการหาเสียงเท่านั้น ขณะที่ความเป็นจริงกลับเห็นได้ชัดผ่านการขายกิจการให้ต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทหารรับไม่ได้

ผิดหวังพรรคไทยรักไทย อย่างแรง
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวที่เคยทำงานให้กับพรรคไทยรักไทยถึง 3 ปีครึ่ง และรู้สึกผิดหวังกับพรรคการเมืองที่ระบุว่าจะพัฒนาการเมือง ทำให้ตนมีเหตุผลที่จะแสดงจุดยืนดังกล่าวมากกว่านักวิชาการคนอื่นๆ กล่าวคือ

ประการแรก พรรคไทยรักไทยประกาศในช่วงแรกว่าต้องการจะพัฒนาการเมืองไทย ไปสู่การเมืองที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพ และประกาศต่อต้านนักการเมืองยุคเก่าที่เล่นการเมืองสกปรก แต่จู่ๆ 3-4 ปีให้หลังนักการเมืองที่ไทยรักไทยอยู่เมื่อวันก่อน กลับอยู่ในพรรคไทยรักไทยหมดแล้ว แล้วจะมาพูดทำไมว่าจะทำให้การเมืองสะอาด
"ทั้งๆ ที่เขาน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำอะไรได้เยอะมาก ทั้งการพัฒนาการเมืองตามที่เขาว่า แต่เขาก็ไม่ทำ"

ประการที่สอง คือ งานวิชาการซึ่งเป็นฐานการทำงานของกลุ่มนักวิชาการอย่างพวกตน ถูกพรรคไทยรักไทยนำไปบิด จากการศึกษาแต่พอนำไปใช้จริงกลับเป็นอีกแบบ เข้าทำนอง "ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา" ยกตัวอย่าง กรณีโอทอป ที่อยู่บนแนวคิดทางวิชาการที่ว่าต้องการแสวงหาผลประโยชน์เชิงเปรียบเทียบ หรือการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่มีความสามารถในการผลิตที่แตกต่างกัน แต่พอนำไปปฏิบัติกลับกลายเป็นรูปแบบแชมเปี้ยน โปรดักต์ คือมีการแข่งขันกันเอง หรือ หนึ่งพันตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

หรือในกรณีของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งงานวิชาการเสนอให้นำไปปฎิบัติกับชุมชนที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการก่อน เช่น กลุ่มสัจจะ แต่ในทางปฏิบัติกลับไปแจกเสียทั่ว ซึ่งส่งผลกระทบตามมา

ส่วนประการสุดท้าย นายณรงค์ ระบุว่า เป็นประเด็นที่เห็นร่วมกันหลายฝ่ายนั้นคือการคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิชาการหลายคนรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก

เตือนระวังรัฐบาลแหลก

ทางด้าน นายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการที่จะร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกว่า การรวมตัวกันของนักวิชาการครั้งนี้ ไม่ใช่การจัดตั้ง แต่เพราะเรารู้สึกเป็นห่วงบ้านเมือง การรวมตัวดังกล่าวจึงไม่มีแกนนำ ทุกคนเป็นแกนนำเหมือนกัน ทั้งนี้จะมีการรวมกันหลายมหาวิทยาลัย เพื่อรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุด โดยจะยื่นให้กับโฆษกรัฐบาล หรือใครก็ได้ที่หน้าบ้านพิษณุโลก เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและทบทวนตัวเองตั้งแต่วันนี้

"การกดดันครั้งนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรต่อนายกฯ จนถึงขั้นต้องลาออก ไม่มีผลตรงนี้ แต่อาจจะมีผลภายหลัง ถ้าเหตุการณ์บานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ เราจะได้บอกคุณว่า เราเตือนคุณแล้ว แต่คุณไม่ออก คุณต้องรับผิดชอบมากหน่อย ทั้งนี้ บอกไม่ได้ว่าวันที่ 4 จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครบอกได้ แต่เหตุการณ์อาจจะพลิกได้ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่อยากให้มีมือที่ 3 เพราะถ้าเขาทำการปราบปรามอย่างรุนแรง รัฐบาลแหลกแน่" นายไชยยันต์ ระบุ

นายไชยันต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ถือว่าเป็นการช่วงชิงประชาชนกันทุกนาที การชุมนุมที่สวนลุมฯ มีปัญหา ว่าไม่สามารถประเมินคนที่มาฟังนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ แต่ที่ลานพระรูปทรงม้าจะเห็นคนจำนวนชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถ้าเกิน 5 หมื่นคนก็เป็นเรื่องอันตราย เพราะเป็นจำนวนที่มีนัยตามรัฐธรรมนูญว่าสามารถล่าลายชื่อถอดถอนได้นายกฯ ได้

ร่วม 40 รายชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัย
สำหรับการล่ารายชื่อเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) มีคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงรายชื่อ 19 คน ประกอบด้วย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย, ดร.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ, วัชรียา โตสงวน, ศ.ดร.ปราณี ทินกร, ดร. ดวงมณี เลาวกุล, ดร.วิไลวรรณ วรรณนิธิกุล, ดร. ดาว มงคลสมัย, รศ.ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน, ผศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรมัย, รศ.ภราดร ปรีดาศักดิ์, .รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย, รศ.ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์, รศ.ดร.สมนึก ทับพันธุ์, รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง, ดร.เณศรา สุพานิช, รศ.ดร.สมชาย สุขสิริเสรีกุล, ผศ.ดร.อรวรรณ รัตนภากร

ส่วนกลุ่มอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา, รศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร, ผศ.ตระกูล มีชัย, รศ. สุชาย ตรีรัตน์, ผศ.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี, อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, อ.นฤมล ทับจุมพล จากภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์

นอกจากนั้น ยังมีจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย อ.พฤกษ์ เถาถวิล, ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์, อ.เสนาะ เจริญพร, อ.พลวิเชียร ภูกองไชย, อ.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ, อ.ธีระพล อันมัย, อ.สุระสม กฤษณะจูฑะ, อ. ธวัช มณีผ่อง จากคณะศิลปศาสตร์ และรศ.ดร อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีนักวิชาการ เช่น อ.เขียน ธีระวิทย์ และอ.ปราโมทย์ นาครทรรพ ที่ร่วมลงชื่อในครั้งนี้

เปิดแถลงวันนี้ที่รัฐสภา
นางกาญจนี วัลยะเสวี หนึ่งในคณะกรรมการคอร์รัปชันวอตช์ ดอทเนต เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 ก.พ.49 เวลา 11.00 น. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา จะเป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ อาจารย์ และองค์กรภาคประชาชนอย่างน้อย 100 รายชื่อ รวมทั้งกลุ่มคณะกรรมการคอรัปชั่นฯเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้อำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า ตนคงไม่ได้ไปแถลงข่าว เพราะวันนี้ (2 ก.พ.) ติดภารกิจสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ของวิทยาลัยฯ

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (2 ก.พ.) อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะประชุมร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีผู้ร่วมลงรายชื่อเพิ่มมากขึ้น

นอกเหนือจากกลุ่มนักวิชาการข้างต้นแล้ว การเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้ได้กระจายไปตามสายต่างๆ ทั้งในส่วนของราษฎรอาวุโส เช่น นพ.ประเวศ วะสี นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รวมทั้งนายชัยอนันต์ สมุทวนิช, นายอานันท์ ปันยารชุน, นายณรงค์ โชควัฒนา ฯลฯ ซึ่งในช่วงแถลงข่าวจะทราบชัดเจนว่าจะมีผู้ร่วมลงนามจำนวนเท่าใด

7. "ชัยอนันต์" นำทีมล่าชื่อจี้ "ทักษิณ" ออก-นัดแถลง 11.00 น.วันนี้
ผู้จัดการออนไลน์ :
"ชัยอนันต์ สมุทวณิช" นำทีม "คอร์รัปชันวอตช์ ดอทเน็ต" รวบรวมชื่อจากนักวิชาการ-องค์กรภาคประชาชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกจี้ "ทักษิณ" ลาออก ชี้หมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศ

วันนี้ (2 ม.ค.) นางกาญจนี วัลยะเสวี หนึ่งในคณะกรรมการคอร์รัปชั่นวอตช์ ดอทเน็ต เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 11.00 น. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา จะเป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ อาจารย์ และองค์กรภาคประชาชน ขณะนี้ได้รายชื่อ 100 คนแล้ว รวมทั้งกลุ่มคณะกรรมการคอร์รัปชันฯ ด้วย เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หนังสือดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการสนับสนุนและคาดหวังจากประชาชนให้ปกครองประเทศ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของชาติ แต่กลับอาศัยความชอบธรรมทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญจนหมดสิ้น โดยใช้เสียงข้างมากและแทรกแซง ครอบงำวุฒิสภา บั่นทอน ล้มล้างความเป็นอิสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำให้องค์กรเหล่านั้นไม่อาจตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารได้ ซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการปฏิรูปการเมือง และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงปิดกั้นการชุมนุมอย่างสันติ ใช้นโยบายหว่านเงินไปทุกหย่อมหญ้า ทำให้ชุมชนต้องเป็นหนี้ สร้างความเคยชินในการบริโภค ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความวิบัติอย่างไม่เคยเกิดขึ้น และยังก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในภาคใต้จนยากจะเยียวยา

จดหมายเปิดผนึก ยังระบุอีกว่า รัฐบาลยังปล่อยให้เกิดคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้ผู้ใกล้ชิด และญาติพี่น้องหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐและอาศัยนโยบายของรัฐต่อรองกับต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างคับแคบ ขาดจิตสำนึกการเป็นผู้นำที่ดี จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม เพราะหมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศแล้ว เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ควรยุติบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ยุติบทบาทก่อนที่ประเทศจะเสียหายมากไปกว่านี้

มีรายงานว่า ที่รัฐสภา วันนี้ (2 ม.ค.) เวลา 11.00 น. กลุ่มนักวิชการ องค์กรประชาธิปไตย และคณาจารย์จะร่วมกันแถลงข่าวถึงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก

8. วิกฤตรัฐบาล - แก้วสรร'งัดมาตรา216 ถอดถอนนายกฯทักษิณ
โพสต์ทูเดย์ : วิกฤตรัฐบาล 'แก้วสรร'งัดมาตรา 216 ถอดถอนนายกฯทักษิณ
"แก้วสรร" ล่าชื่อ 20 ส.ว.ยื่นถอดถอน "ทักษิณ" ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 ถือหุ้นในบริษัทโดยไม่แจ้ง ป.ป.ช. นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. กล่าวว่า ได้ร่วมกับเพื่อน ส.ว.จำนวน 20 คน เข้าชื่อกันยื่นถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่นายกฯ กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (6) ที่บัญญัติว่า ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อกระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา 209 ที่บัญญัติว่า นายกฯ ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ

ส.ว.กทม. กล่าวต่อว่า มาตราดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดว่า หากนายกฯ ประสงค์ที่จะรับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ก็ต้องแจ้งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วัน และต้องโอนหุ้นให้นิติบุคคลเป็นผู้บริหารแทน โดยห้ามไม่ให้เข้าไปกระทำการใดอันเป็นลักษณะบริหารจัดการเกี่ยวกับหุ้น หรือกิจการของบริษัทนั้นๆ เอง ซึ่งในมาตรานี้เข้าข่ายกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มทุนเทมาเซกในครั้งนี้ ส่วนในรายละเอียดจะแถลงในวันนี้

ขณะที่ท่าทีของนักวิชาการที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงเป็นไปในลักษณะการเผชิญหน้ากัน โดยวานนี้นักวิชาการได้ออกมาประสานเสียงปฏิเสธที่จะเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ตามคำเชิญของรัฐบาล เพื่อปรับความเข้าใจกัน โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะเชิญนักวิชาการที่เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกเข้าพบทำไม เพราะการเรียกร้องให้ลาออกแสดงว่าไม่มีอะไรที่จะต้องหารือด้วย การเข้าพบจึงไม่มีประโยชน์

ด้าน นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่เคยเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ผมคงไม่เข้าไปอีกแล้ว"

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ไม่มีทางที่จะไปเข้าพบนายกฯ เพราะมันไม่ใกล้ชิดเหมือนในอดีต บัดนี้นักวิชาการ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่คนละข้างแล้ว และ นักวิชาการเหล่านั้นได้เสนอปัญหาของประเทศไปแล้วว่า ปัญหาของประเทศคือบุคคลและองค์กรหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ รวมทั้งได้เสนอทางในการแก้ปัญหาไปแล้วคือการสละอำนาจและลงจากอำนาจนั้นเสีย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปการเมือง

"ผมไม่มีทางที่จะเข้าไปคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณเด็ดขาด เพราะผมไม่คุยกับคนที่หมดความชอบธรรม การอ้างว่าให้ไปร่วมหาทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศนั้นรัฐบาล ก็มีสิทธิคิดได้ว่าจะอยู่ต่ออีก แต่วันนี้นักวิชาการรู้หมดแล้วว่าใคร เป็นปัญหาของประเทศ" นายสมเกียรติ กล่าว

9. ลาออก!ชาติหน้าตอนสายๆ'ทักษิณ'โหน19ล้านเสียง/แห่ลงชื่อไล่/สหรัฐเตือนอเมริกันห่างม็อบ
กองบรรณาธิการไทยโพสต์ : 3 กุมภาพันธ์ 2549 กองบรรณาธิการ
พรึ่บ! แย่งลงชื่อไล่ "ทักษิณ" รัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมขับเคลื่อน ส่งจดหมายเปิดผนึกจี้ต่อมสำนึกเสียสละเพื่อชาติ วอนคนตุลาถอนตัวจากไทยรักไทย รัฐบาลงัดแผนเดิม จะเชิญคนไล่เข้าหาลือ

ไม่เว้นขาประจำเสื้อกั๊กปรับความเข้าใจ อ้างได้ข้อมูลด้านเดียว นายกฯ ทุ่มพันล้านซื้อจริยธรรมมาเพียบ กลับถูกตัดใยเลยเวลาเจรจาแล้ว ผู้นำเดือดโพล่ง ประกาศชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก แค่คนส่วนน้อยไม่เท่า 19 ล้านเสียง อาจารย์ถูกจูง ด่าสื่อ 3 ฉบับจงใจบิดเบือน สถานทูตสหรัฐเตือนคนอเมริกันห่างม็อบสนธิ ประเมินชุมนุมเรือนแสนหวั่นบานปลาย

"ชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก ทุกอย่างเป็นไปตามกติกาบ้านเมือง ไม่ต้องห่วง" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนเมื่อเย็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวนายกฯ จะลาออกจนทำให้หุ้นตกมาก นายกฯ ยังกล่าวว่าไม่มีทางที่จะกังวลเรื่องการชุมนุมวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ของกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์

ท่ามกลางกระแสขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ที่ก่อตัวขยายขึ้นเป็นลำดับ ก็ยังมีกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณไปให้กำลังใจ เช่น นางสุนีย์ สินธุเดชะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต นำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรเลย น่าเสียดายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทให้ทุกฝ่ายปรองดองกัน มันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รับฟังคนส่วนน้อย ตอนนี้คนส่วนน้อยบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อความสะใจของเขาไม่ได้หรอก จะต้องเลือกคนส่วนใหญ่ เพราะตนมีภารกิจเพื่อคนส่วนใหญ่เยอะ คนส่วนใหญ่ยังรอความหวังอีกเยอะ

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า วันเสาร์นี้ตนจะพูดในรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชนมากหน่อย จะต้องอธิบายให้เข้าใจ บางทีมันถูกบิดเบือน บางทีสื่อบางฉบับเขาตั้งใจมาก บิดเบือนลงข่าวตัดหัวตัดท้าย ตรงกลางใส่เอาเอง อะไรแบบนี้ ตนดูแล้วสื่อไม่เป็นสื่อ "สื่อส่วนใหญ่ดี แต่สื่อ 3 รายไม่ดีเลย ตั้งใจมาก ตั้งใจบิดเบือน มันไม่ไหว สื่อมีหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะนำความจริงให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่ถ้าอยากวิจารณ์มันต้องมีช่องวิจารณ์ ไม่ใช่หน้า 1 ก็วิจารณ์เสียแล้ว มันตั้งใจ ไม่ไหวเลย มันก็เลยเหนื่อย

คนที่ไม่เข้าใจโดยบริสุทธิ์มันก็มี แต่ยังไงๆ คนที่ไม่เข้าใจมันก็มี ก็ไม่เป็นไร เพราะเราอยากทำงานให้ส่วนรวม ฉะนั้นผมไม่สนใจ ทำงานต่อไป เพราะคนเลือกเรามา 19 ล้านคน แต่แน่นอนคนที่ไม่เลือกเราก็มี เลือกประชาธิปัตย์อย่างเดียวก็ 7 ล้านกว่า แต่นั่นมันคือประชาธิปไตย ฉะนั้นคนที่ไม่เลือกเราก็มีจำนวนไม่น้อย แต่มันก็น้อยกว่าคนที่เลือกเรา มันก็เป็นระบบ ถ้าเราไม่ยอมรับกติกาก็ไม่รู้จะอยู่กันยังไง ไม่มีกติกาสังคม บ้านเมืองเราต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยเฉพาะการเป็นอาจารย์ต้องประสิทธิ์ประสาทวิชาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ว่าโดนใครจูงไปเรื่อยเยอะแยะ" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถูกขอร้องแกมบังคับให้ร่วมลงชื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ต่อไป โดยมีการล่ารายชื่อได้ประมาณ 100 คนแล้ว และมีการระบุว่า นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นแกนนำล่ารายชื่อ แต่ นพ.จรัลปฏิเสธในเวลาต่อมา ส่วนข้อความในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า "เราไม่สนับสนุนการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ขอสนับสนุนการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องการล่ารายชื่อข้าราชการ ส่วนการขายหุ้นชินคอร์ป เห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย

หลายฝ่ายผนึกไล่ "ทักษิณ"
ตลอดวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักวิชาการ นักการเมืองและกลุ่มพลังต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อหาไร้จริยธรรมในการบริหารประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 73,000 ล้านบาทให้สิงคโปร์ โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหลบเลี่ยงภาษี

ทั้งนี้ คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประชาชนชาวไทยทุกคน ระบุถึงการก่อตัวของปรากฏการณ์ "วิกฤตการณ์ความชอบธรรมและจริยธรรมของผู้นำประเทศ" ที่รุนแรงและชัดเจน โดยช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมในการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยหลายเรื่อง เช่น

การทำลายความเป็นอิสระของสื่อมวลชน การไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการนิติบัญญัติ การครอบงำบั่นทอนความเข้มแข็ง และความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การปล่อยให้เกิดคอรัปชั่นเล่นพรรคเล่นพวกในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้กุศโลบายแจกเงินเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง

"กรณีล่าสุดคือการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวนายกฯ เป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาทโดยไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งแม้จะดูเหมือนชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็มีเงื่อนงำว่ากระบวนการที่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น กลับไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา และมิได้ปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างของผู้นำประเทศที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า จะใช้เป็นหลักดังกล่าวในการปกครองประเทศ" จดหมายระบุ

ท้ายจดหมายได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ

1. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมโดยการลาออกจากตำแหน่งทันที

2. สนับสนุนให้สถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญ องค์กร และกลุ่มของประชาชนร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกฎเกณฑ์มาตรฐานทางการเมืองและจริยธรรมทางการเมืองใหม่ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ ตามหลักการประชาธิปไตยโดยเร็ว

นางอมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะรัฐศาสตร์จะล่ารายชื่ออาจารย์จากคณะอื่นด้วย แต่จะไม่ไปร่วมชุมนุมกับม็อบนายสนธิวันที่ 4 ก.พ.เว้นแต่อาจารย์คนไหนจะไปก็ถือเป็นสิทธิส่วนตัว

นายพิทยา บวรวัฒนา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการออกมาแสดงจุดยืนทางวิชาการ แต่หากนายกฯ ไม่ลาออกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในฐานะที่พวกตนสอนการเมืองการปกครอง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้สังเกตการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของนักการเมืองที่ดี ไม่ได้เป็นไปตามตำราที่สอน ซึ่งในตำราบอกว่านายกรัฐมนตรีที่ดีควรมีบุคลิกลักษณะเช่นนี้ คือ เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีที่ดีไม่ควรใช้อำนาจรัฐทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง นายกฯ ที่ดีต้องซื่อสัตย์ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจารู้เรื่อง มีจิตใจกว้าง มีประชาธิปไตย มีนิสัยชอบฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ใช่ถือความเห็นของตนเป็นสำคัญ และต้องถ่อมตนไม่อวดดี ออกมาเยาะเย้ยถากถางบอกว่าข้าพเจ้าทำถูกต้องกฎหมายทุกประการ

"เผอิญคณะนี้ไม่ได้สอนกฎหมาย เราสอนด้านจริยธรรมการปกครอง"

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วันที่ 4 ก.พ.เชื่อว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดทั้งหมด อยู่ที่ท่าทีของรัฐบาลและผู้นำว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ หากนายกฯ ไม่ตอบสนองข้อเสนอที่ผู้เคลื่อนไหวต้องการ สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอน

นายณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลขาดความชอบธรรม เวลาผ่านไป 3-4 ปี พรรคไทยรักไทยเอานักการเมืองที่เลวทรามมานั่งกันหน้าสลอน นโยบายประชานิยมก็นำไปรับใช้นักการเมืองมากกว่าประชาชน คนจนขายของต้องเสียภาษี ขณะที่คนรวยขายของได้เงิน 7.3 หมื่นล้านแต่ไม่ต้องเสียภาษี แบบนี้มันหาความยุติธรรมให้สังคมไม่ได้เลย รัฐบาลในฐานะผู้ดูแลรัฐแทนที่จะปิดช่องว่างของกฎหมาย กลับไปขยายให้ใหญ่ขึ้น แบบนี้มันหมดความชอบธรรมจึงไม่สมควรดูแลรัฐอีกต่อไป

นายเอนก ตั้งทรัพย์วัฒนา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า มีคำพูดที่ว่าอำนาจที่สมบูรณ์แบบคือคอรัปชั่นที่สมบูรณ์แบบ บางคนบอกว่ากลัวการใช้อำนาจซึ่งถือว่าเป็นการคอรัปชั่นอีกแบบหนึ่ง เพราะเรากลัวที่จะตรวจสอบผู้ที่มีอำนาจ มันจึงเกิดการคอรัปชั่นหลายชั้น ทำให้การคอรัปชั่นสมบูรณ์มากขึ้น

นายจรัส สุวรรณมาลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า นักวิชาการต้องช่วยกันเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบถึงการขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาทไม่ชอบธรรม เพราะมิเช่นนั้นรัฐบาลก็จะให้ข้อมูลว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด นายกฯ ทักษิณเหมือนผู้ร้ายที่เมื่อถึงวันประหารก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโจร

วันที่ 6 ก.พ.49 นี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะจัดเสวนาภาคภาษาอังกฤษเรื่อง Shincorp Deal : International Relation มีนายสุจิตต์ บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินรายการ ส่วนผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันทีดีอาร์ไอ, นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และวันที่ 9 ก.พ.49 จะมีการเสวนาภาคภาษาไทยเรื่อง นวัตกรรมการคอรัปชั่นของไทย...ไม่ได้อิจฉา มีนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันทีดีอาร์ไอ จัดที่คณะรัฐศาสตร์ ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี

ส่วนจดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการแถลงไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์ร่วมลงชื่อ 19 คนนั้น ปรากฏว่าวันที่ 2 ก.พ.นี้ ได้มีคณาจารย์ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ส.ว. และตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา, นายต่อตระกูล ยมนาค, นายเขียน ธีระวิทย์, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายสมชาย หอมลออ, นายระวี ภาวิไล ร่วมลงชื่อรวมทั้งสิ้น 129 คน

นายสุเทพ อัตถากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกฯ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณสิ้นความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงที่จะปกครองประเทศอีกต่อไป ขณะนี้ยังมีผู้ที่จะร่วมลงชื่อขับไล่อีกจำนวนมาก รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศด้วย ดังนั้นผู้ที่มีความคิดเห็นในแนวทางนี้ ให้ส่งรายชื่อไปที่ตู้ ปณ.140 คลองจั่น กรุงเทพฯ "แม้ท่านจะร่ำรวยเงินทอง แต่ยากจนจริยธรรม จึงหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ เพื่อความสงบของบ้านเมือง ท่านควรยุติบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะฉุดลากประเทศให้พินาศยิ่งไปกว่านี้" นายสุเทพกล่าว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะคนเดือนตุลา กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องไล่นายกรัฐมนตรี เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณมีบาปฉกรรจ์ 4 ประการ คือ

1. บาปโกงบูรณาการ กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปที่ไม่มีการเสียภาษี และการขายหุ้นแอมเพิลริช เป็นการโกงบูรณาการที่อธิบายไม่ได้ คนชนชั้นกลาง ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน หาบเร่แผงลอย ถูกสรรพากรรีดภาษีทุกเม็ดเหงื่อ แต่รายได้ 73,000 ล้านบาทไม่ต้องจ่ายภาษีแม้แต่สตางค์แดงเดียว ข้ออ้างทางกฎหมายเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้

2. บาปทำลายการตรวจสอบ โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายเข้าแทรกแซงการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ เตะถ่วงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ ป.ป.ช. ปปง. ศาลรัฐธรรมนูญ และ คตง.กลายเป็นองค์กรเป็ดง่อยที่ไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบอิสระได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

3. บาปครอบงำสื่อและปิดกั้นการชุมนุมโดยสงบ

4. บาปสร้างหนี้และความยากจนให้สังคมไทย, โดย 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนละ 40,000 บาท

นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีมา ที่ร่วมลงชื่อ กล่าวว่า ขณะนี้มี ส.ว.จำนวนหนึ่งร่วมลงชื่อ และจะมีเพิ่มอีก พฤติกรรมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณท้าทายการปฏิรูปการเมืองหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ขณะนี้สังคมไทยต้องการกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้ทำลายสิ่งเหล่านี้

นายวิทยา วิเศษรัตน์ กรรมการองค์กรอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีความจริงใจ เห็นได้จากที่บอกชาวโลกว่าจะใช้วิธีสมานฉันท์ แต่พอเอาเข้าจริงกลับส่งกำลังทหารไปใช้ความรุนแรงอีกหลายพันนาย "วันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าคนใต้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เอารัฐบาลพรรคไทยรักไทย เชื่อว่าถ้านายตำรวจยศพันตำรวจโทเพียงคนเดียวลาออก ปัญหาภาคใต้น่าจะสงบ"

นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ หัวหน้าพรรคพลังธรรม กล่าวว่า จะรวบรวมรายชื่อผู้ขับไล่นายกฯ ให้มากกว่านี้ เพื่อยื่นผ่านสื่อมวลชนถึงนายกฯ ที่ไม่ยื่นถึงนายกฯ โดยตรง เพราะนายกฯ ไม่เคยให้เกียรติประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการออกมารับรู้ปัญหาของประชาชน

วอนคนตุลาเลิกพายเรือให้โจรนั่ง
ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ชมรมตุลาประชาธิปไตย ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัย จัดเสวนา "ยกเครื่องการเมืองไทย ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีมา, นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย, นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์, นายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญกุล รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต, นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำ 30 องค์กรเอกชนต้านคอรัปชั่น, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น, นายธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ อดีตอัยการ, นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม, นายบำรุง คะโยธา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงเสวนากล่าวโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณอย่างรุนแรงว่าหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ขอให้ลาออกไป และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อวางกรอบจริยธรรมผู้นำประเทศให้เคร่งครัดกว่านี้

นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังเพื่อนฝูงเดือนตุลาคมที่อยู่ในรัฐบาลนี้ให้ลาออกมา เพราะการนำประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณขาดความชอบธรรม เอื้อประโยชน์ให้แก่เพื่อนพ้องและครอบครัว จนส่งผลให้วันนี้ความรู้สึกของประชาชนเริ่มรับไม่ได้แล้ว เพื่อนฝูงในรัฐบาลนี้ที่เคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ผ่านความรุนแรง หลบกระสุนมาด้วยกัน เรียกร้องความเป็นธรรมมาด้วยกัน มาวันนี้เลือดในใจของคนเดือนตุลามันพุ่งฉีดบ้างหรือยัง

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้แปลงประเทศให้กลายเป็นทุนของตัวเอง เงินกว่า 7 หมื่นล้านบาทเป็นของประชาชนที่ถูกธนกิจการเมืองยึดเอาไป โดยหุ้นของชินคอร์ปที่เพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปีเกิดจากนโยบายของรัฐที่ไปเอื้อทั้งสิ้น การขายหุ้นกว่า 7 หมื่นล้านบาทที่ผ่านมายิ่งชัดเจนว่าไม่ชอบมาพากลทำให้ประชาชนรับไม่ได้ ทั้งนี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องห้ามไม่ให้ครอบครัวของนักการเมือง คณะรัฐมนตรี รับสัมปทานใน 7 ชั่วโคตร และเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นจะต้องไม่มีอายุความ

นายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญกุล รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตจะล่ารายชื่ออาจารย์ทุกคณะ เพื่อแสดงเจตจำนงว่า พ.ต.ท.ทักษิณหมดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะบ้านเมืองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติและหวังพึ่งไม่ได้อีกต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเสวนา วิทยากรได้ลุกขึ้นยืนคล้องแขนกัน ตะโกนว่า "ทักษิณออกไป" ก่อนจะร่วมกันลงชื่อประกาศเจตจำนงเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีรายงานด้วยว่า นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น พร้อมด้วยนายทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญกุล รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม นำคณะเดินทางไปยังสถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ถนนสาทร วางพวงหรีดกองทุนเทมาเซกที่เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป พร้อมกับเรียกร้องให้สิงคโปร์ยุติการเข้ามาเทกโอเวอร์ประเทศไทย

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนตุลา และองค์กรพันธมิตร แถลงข่าวแสดงจุดยืนขับไล่คนเดือนตุลาที่ปฏิบัติงานในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณให้ลาออกจากตำแหน่ง

นายณัฐพรรษ กรึงไกร กรรมการเครือข่ายและอดีตรองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2518 กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้เบียดบังผลประโยชน์ของชาติมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะการขายหุ้นชินคอร์ปเลี่ยงภาษี ดังนั้นทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเดือนตุลาที่รับใช้สมควรต้องลาออก "เราขอฝากถึงเพื่อนรักเดือนตุลาทั้งหลาย รวมทั้งเพื่อนที่เป็นรัฐมนตรีต้องมองถึงผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่ามองถึงเจ้านายตัวเอง เพื่อนๆ ควรรีบที่จะพิจารณาลาออกโดยทันที เราบอกพวกท่านเผื่อว่าวันหนึ่งอาจเกิดอะไรกับรัฐบาลนี้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน"

"แก้วสรร" เตรียมยื่นถอดนายกฯ
นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า วันที่ 3 ก.พ. เวลา 11.00 น. ตนจะยื่นหนังสือถึงนายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216(6) ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเมื่อกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 209 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีใดประสงค์จะรับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ก็ให้แจ้งประธาน ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน และโอนหุ้นให้นิติบุคคลเป็นผู้บริหารให้ และห้ามมิให้เข้าไปกระทำการอันเป็นลักษณะบริหารจัดการเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของบริษัทนั้นๆ

นายแก้วสรรกล่าวว่า กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเซกน่าจะเข้าความผิดตามมาตรานี้ ตนจึงได้เตรียมการรวบรวมรายชื่อ ส.ว.ครบ 20 คนเพื่อยื่นถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า เรื่องหุ้นชินคอร์ป หากนายกฯ ไม่ขายหุ้นแอมเพิลริช คนก็คงไม่รู้ เรื่องราวก็จะไม่บานปลาย กรณีนี้เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต.ที่จะต้องตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัย "น้องไปทำอะไรไว้ไม่ยอมบอกพี่ ถ้ามาบอก พี่ก็จะได้ช่วยถูก"

รายการข่าวของเนชั่นทีวีค่ำวันที่ 2 ก.พ. เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ TTV ได้เปิดให้ประชาชนโหวตผ่านทางเอสเอ็มเอสว่านายกฯ ควรลาออกจากตำแหน่งตามคำเรียกร้องของกลุ่มนักวิชาการหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้โหวตให้นายกฯ ลาออกถึงเกือบร้อยละ 90

รัฐบาลแก้เกมนัดคุยอีกแล้ว
ท่ามกลางการขับเคลื่อนของกลุ่มขับไล่นายกฯ ก็มีความพยายามแก้เกมจากรัฐบาลเมื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ขอน้อมรับความเห็นของนักวิชาการทุกคน แต่น่าจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้เกิดประโยชน์ เพราะข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือที่ทางนักวิชาการส่งมานั้น มีบางอย่างแตกต่างกัน อย่างเรื่องความเข้าใจผิดว่ามีการสั่งปิดเว็บไซต์คอรัปชั่นวอตซ์ (www.corruptionwatch.net) โดยรัฐบาล ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของเจ้าของเว็บไซต์ ที่ไม่อาจรองรับคนจำนวนมากที่ใช้บริการ รัฐบาลไม่ได้ไปข่มจู่คุกคามแต่อย่างใด

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า นายกฯ มีดำริว่าหลังทำงานมาครบ 5 ปี ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ หรือเลยจากนั้น ก็น่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เพื่อช่วยกันเสนอแนะว่าหลังจากที่รัฐบาลฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจมาได้แล้ว เราจะเดินหน้ากันอย่างไร จะแก้ปัญหาทั้งด้านสังคม คอรัปชั่นกันอย่างไร รัฐบาลเองก็ได้พยายามเชิญฝ่ายที่มีความตั้งใจและมีความเห็นที่หลากหลายมาช่วยกัน อย่างนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ประชุมเรื่องความยากจน ท่านก็เข้ามาช่วย หรืออดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็มาช่วยเรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่าครั้งนี้จะเชิญนักวิชาการมาทั้งหมดหรือไม่ เพราะรัฐบาลเคยเชิญนักวิชาการมาแล้ว แต่เชิญมาไม่หมด อย่างเช่น นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาล นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เวลาเชิญรัฐบาลก็ไม่ได้เลือกฝ่าย เราเชิญหมด แต่บางคนติดภารกิจก็อาจจะไม่มาบ้าง ยืนยันว่าเชิญหมด จะเชิญทั้งนายธีรยุทธ และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ด้วย ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล หากจะขอพบนายกฯ ก็ยินดี

"กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปก็ดี ถ้าถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือในแง่ของความโปร่งใสในการบริหารงานในตลาดหลักทรัพย์ ท่านนายกฯ ได้แสดงความจำนงชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานทางการเมือง ต้องการให้บริษัทที่ครอบครัวของท่านถือหุ้นอยู่นั้น เป็นบริษัทที่มีการตรวจสอบ มีความโปร่งใส การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่บริษัทชินคอร์ปเท่านั้น แต่บริษัทอื่นๆ ก็เป็นโอกาสที่จะได้รับการตรวจสอบและมีความโปร่งใสอย่างชัดเจน" นพ.สุรพงษ์กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะยกมาตรฐานนักการเมืองขึ้นมาอีกระดับในเรื่องจริยธรรม ซึ่งตัวอย่างที่นายกฯ จะทำต่อไปคือการตั้งมูลนิธิวงเงินพันล้านบาท และจะมีวงเงินก้อนอื่นๆ ต่อมาที่จะทุ่มเทเรื่องการศึกษา ผู้ด้อยโอกาสและแก้ปัญหาความยากจน

ถามถึงเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปว่าเหตุใดนายกฯ ไม่ออกมาชี้แจงเอง นพ.สุรพงษ์ตอบว่านายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศ ท่านไม่มาชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของบุตรชายและบุตรสาวที่จะต้องมาชี้แจง และหน่วยงานต่างๆ ที่ตรวจสอบดูแล เช่น กรมสรรพากรและ ก.ล.ต. รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ฟังดูว่าคำชี้แจงฟังขึ้นหรือไม่ ถ้าฟังไม่ขึ้นก็ต้องหาหลักฐานเพิ่ม ถ้าหาไม่ได้ คำชี้แจงฟังไม่ได้ ถ้าจะปรับก็ทำไปตามกติกา

"หลังวันที่ 4 ก.พ.49 เหตุการณ์น่าจะคลี่คลาย และวันนี้ที่มีข้อมูลไหลบ่าออกมา ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากผลวันที่ 4 ก.พ. ทำให้หลายฝ่ายเร่งเสนอข้อมูลออกมา รัฐบาลก็ต้องชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจกระจ่างทุกด้าน" นพ.สุรพงษ์กล่าว และว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับ ครม. และทุกฝ่ายก็คงไม่อยากให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะกดดันอย่างนี้ ถ้อยแถลงของ นพ.สุรพงษ์มีขึ้นก่อนที่นายกฯ จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวด้วยการประกาศว่าชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก

อาจารย์ยันไม่พบแล้ว-ถูกต้ม
นายอนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากนายกฯ จะเชิญไปพบ คำตอบคือไม่ไป ไม่รู้จะไปทำไม เพราะเลยเวลาที่จะหารือกันแล้ว ส่วนนางอมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จะรอดูว่ามีจดหมายเชิญมาหรือไม่ หากเชิญมาก็ต้องดูเนื้อหาว่าเชิญเพื่ออะไร

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า นายกฯ เคยเชิญนักวิชาการที่เรียกร้องใช้สันติวิธีแก้ปัญหาภาคใต้ไปพบที่ทำเนียบฯ มาครั้งหนึ่งแล้ว สุดท้ายก็แสดงให้เห็นว่านายกฯ ไม่มีความจริงใจในสิ่งที่ได้รับปาก เป็นแค่กระบวนการสร้างความสำคัญให้ตัวเอง ขณะนี้นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อขับไล่นายกฯ คงไม่มีทางเข้าพบ เพราะไม่ใกล้ชิดเหมือนในอดีต บัดนี้นักวิชาการกับ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่คนละข้างแล้ว

"ผมไม่มีทางที่จะเข้าไปคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณเด็ดขาด เพราะผมไม่คุยกับคนที่หมดความชอบธรรม การอ้างว่าให้ไปร่วมหาทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศนั้นรัฐบาลก็มีสิทธิ์คิดได้ว่าจะอยู่ต่ออีก แต่วันนี้นักวิชาการรู้หมดแล้วว่าใครเป็นปัญหาของประเทศ" นายสมเกียรติกล่าว

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยเข้าพบนายกฯ ตามคำเชิญมาแล้ว กล่าวว่า ไม่เข้าใจรัฐบาลจะเชิญผู้ที่เข้าชื่อให้นายกฯ ลาออกไปพบทำไม เพราะการเรียกร้องให้ลาออกแสดงว่าไม่มีอะไรที่จะต้องหารือด้วย "ตอนที่ผมเข้าพบนายกฯ ก็ตอบรับข้อเสนอดีมาก แต่พอออกมาแล้วนายกฯ ก็ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นนักวิชาการกลุ่มนี้ต้องคิดให้ดีว่าจะเข้าพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เพราะเราเองก็มีบทเรียนมาแล้ว"

นายบรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยพบนายกฯ เช่นกัน กล่าวเพียงว่าจะไม่ไปพบนายกฯ อีกแล้ว, นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คงไม่มีนักวิชาการคนไหนที่จะกล้าไปร่วมหารือด้วย เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ไปไกลเกินกว่าที่จะมานั่งหารือกันแล้ว ไม่ใช่ว่านักวิชาการจะไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเรารู้มากกว่าที่รัฐบาลคิด ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอและแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจหรือรับฟังทั้งสิ้น มักถูกมองในแง่ร้าย ทุกอย่างให้รอดูสถานการณ์ในวันที่ 4 ก.พ.นี้เท่านั้น

ตร.วางมาตรการเข้มคุมม็อบสนธิ
ด้านการเตรียมรับมือม็อบนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่นัดชุมนุมวันที่ 4 ก.พ. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกประชุมนายตำรวจระดับสูงของ บช.น. เพื่อหามาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการก่อกวนจากมือที่สาม นอกจากนี้ได้จัดทำใบปลิว 20,000 แผ่น แจกจ่ายผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุม แนะนำให้ชุมนุมโดยสงบ เคารพกฎหมาย ไม่ก่อความวุ่นวาย แยกย้ายโดยสันติ

ขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ได้ส่งหนังสือถึง พล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แจ้งเรื่องการเตรียมความพร้อมการรักษาความสงบเรียบร้อย มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุม ติดตามสถานการณ์ กำหนดมาตรการรักษาสถานที่สำคัญ เช่น บ้านพักประธานองคมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งตรวจสถานการณ์ล่อแหลมพื้นที่เสี่ยง เช่น ร้านขายอาวุธปืน ปั๊มน้ำมัน ร้านแก๊ส สถานีขนส่ง จัดเตรียมกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชน ประมาณ 4,500 นาย

มีรายงานว่า การชุมนุมวันที่ 4 ก.พ. ได้ตกเป็นที่จับตาของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหลายกลุ่มประกาศเข้าร่วมด้วย ซึ่งจะกลายเป็นม็อบขนาดใหญ่ที่ควบคุมฝูงชนได้ยาก ทั้งนี้สมาพันธ์ครูนครราชสีมา ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด และแกนนำตัวแทนครู 7 เขตพื้นที่การศึกษาได้ประชุมตกลงว่าจะนำสมาชิกเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเมื่อรวมกับองค์กรครูทุกภาคแล้ว จะมีสมาชิกเข้าร่วมชุมนุมราว 50,000-80,000 คน เพื่อถวายฎีกาคัดค้านการโอนย้าย ผ่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ยังมีกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ก็ประกาศจะไปร่วมชุมนุมกับนายสนธิด้วย

สถานทูตสหรัฐประเมินเรือนแสน
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกคำแถลงเตือนพลเมืองอเมริกันที่อยู่ในประเทศไทยให้ระมัดระวังการชุมนุมครั้งนี้ คำเตือนระบุว่า การเดินขบวนในกรุงเทพฯ ปกติแล้วเป็นไปด้วยความสงบ ทว่าการเดินขบวนทุกอย่างย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และเงื่อนไขต่างๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่คาดหมาย มีความเป็นห่วงกันด้วยว่า กลุ่มต่อต้านนายสนธิอาจจะพยายามก่อการเผชิญหน้ากับผู้เดินขบวน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประเมินว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนี้น่าจะมีผู้เข้าร่วม 1 แสนคน และคาดว่าจะมีกำลังตำรวจ 4,500 คน มารักษาความสงบเรียบร้อย "สถานเอกอัครราชทูตสนับสนุนให้ชาวอเมริกันทั้งมวลหลีกเลี่ยงจากบริเวณดังกล่าว"

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาโต้แย้งการแถลงเตือนของทางสถานทูตสหรัฐนี้ทันที โดยยืนยันว่าทางการสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างมีการชุมนุมได้ เพราะประมาณว่าจำนวนผู้ประท้วงจะอยู่ในระดับหลักหมื่นเท่านั้น

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ปัญหามือที่สามไม่น่ากลัวเท่ามือที่สอง คือคนในรัฐบาลที่จะขยายสถานการณ์ม็อบนายสนธิให้บานปลาย อย่างเช่นการที่ ส.ส.ไทยรักไทยออกมาข่มขู่ประชาชนว่ามีโจรใต้ขนระเบิดมาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร พล.อ.ธรรมรักษ์กล่าวว่า การที่ นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ส.ส.อุดรธานี พรรคไทยรักไทย อ้างว่ากลุ่มโจรใต้เตรียมขนระเบิดและอาวุธสงครามมาสร้างสถานการณ์วันที่ 4 ก.พ. ถือเป็นการคาดการณ์ของคนช่างพูดเท่านั้น แต่ตนจะไม่พูดเพราะไม่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของตำรวจเขา.

10. ชาตินี้'ไล่' ชาติหน้า'ลา'
ผู้จัดการออนไลน์ : 2 กุมภาพันธ์ 2549, 21:12 น.
'เอกยุทธ'ขาประจำ งัดแงะร่องรอยที่ปกปิดหุ้นชินคอร์ปว่า นายกฯ ไม่น่าเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในแอมเพิล ริช ตัวจริงอย่างที่เคยอ้าง เขาเชื่อว่าน่าจะมี'นอมินี' ตัวจริงอยู่เบื้องหลัง และไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ แต่หากไปเปิดบริษัทนอมินีจริง ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะ"โง่โดยสุจริต" ขนาดนี้

ถึงขาประจำอย่าง เอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของกิจการโอเรียนเต็ลมาร์ทกรุ๊ป และเจ้าของเวบไซต์ Thaiinsider.com จะถูกให้ราคาต่ำ เพราะประวัติสีเทาเรื่องคดีแชร์ในอดีต แต่วันนี้การออกโรง มาไขปริศนาการขายหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยประสบการณ์ของนักเล่นหุ้นระดับอินเตอร์ ว่าดีล ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เป็นดีลแหกตาประชาชน ที่ต้องพิสูจน์ความจริง ว่าใครคือไอ้โม่งตัวจริง

ประเด็นที่เอกยุทธ "จับผิด" ความลึกลับซับซ้อน ที่เป็นข้อสงสัยมากมาย ที่ยังตอบสังคมไทยไม่ชัดเจนถึงการขายหุ้นชินคอร์ป โดยเฉพาะกรณีบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสต์เม้นท์ จำกัด ของนายกฯ ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน เอกยุทธ ชี้ว่าในหลักความจริง นายกฯ ทักษิณไม่น่าจะเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในแอมเพิล ริช ได้ เพราะก่อนหน้านั้นเคยบอกว่าโอนหุ้นนี้ไปให้บุคคลที่สามในต่างประเทศ แต่ต่อมากลับกลายเป็นการโอนให้ตัวเอง และโอนให้ลูกชาย ซึ่งเชื่อว่า น่าจะมี'นอมินี' ตัวจริงอยู่เบื้องหลัง และไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ แน่นอน

หากนายกฯ ทักษิณ ไปเปิดบริษัทนอมินีเช่นนั้นจริง ก็ไม่น่าเชื่อว่า นายกฯจะ "โง่โดยสุจริต"
"..ดีลนี้เชื่อว่าสิงคโปร์ถือหุ้นชินคอร์ปจริงตั้งแต่ต้น เพราะสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้ ที่ดูแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณไปไม่รอด เทมาเส็กจึงจะเอาหุ้นคืน จึงจัดฉากทำการซื้อขายให้สมน้ำสมเนื้อ การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่มีการโอนเงินเลยเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนกระดาษเท่านั้น เท่ากับว่าดีลพิสดารนี้ เป็นเกมแหกตาระดับชาติ ไม่มีเงินผ่านเข้ามาจริง แต่เป็นกลลวงเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่ง"

สิงคโปร์ก็ได้หุ้นคืนไปแล้ว ...ยามนี้ก็เลยถึงเวลาที่คนไทยต้องการเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคืนเหมือนกัน

ถาม - สำหรับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมา การพร้อมใจกันของหลายกลุ่มในประเทศ ออกมาไล่นายกฯ ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม เรื่องซุกหุ้นแอมเพิล ริช ภาค 2 นี้

ตอบ - ก็ส่งผลให้สถานการณ์ในรัฐบาลไทยรักไทยเองก็ไม่สู้ดีนัก ทั้งรัฐมนตรี และบรรดาแกนนำพรรค กลุ่มก๊วน และ ส.ส. ชิ่งเอาตัวรอด เช็คกระแส เพื่อหาทางหนีทีไล่กันไว้แล้ว เพราะไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ไล่นายกฯ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะเป็นอย่างไร กลุ่มก๊วนการเมืองที่ไม่พอใจนายกฯ ทักษิณ มาตลอด ก็รอจังหวะที่จะตัดสินใจหลังจากเหตุการณ์นี้ โดยไม่สนเงื่อนไข 90 วันกันแล้ว

วงจรการเมือง กำลังจะย้อนไปเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพฤษภาทมิฬ ที่ก่อนเกิดเหตุการณ์ ในระยะ 2 เดือน กลุ่มการเมืองในพรรคสามัคคีธรรม ก็เผ่นหนี จนพรรคต้องล่มสลาย โดยเวลานี้ กลุ่มวังน้ำเย็นของ เสนาะ เทียนทอง กำลังเตรียมออกมาแถลงข่าวใหญ่ หลังจากเหตุการณ์ 4 กุมภาพันธ์ เอาไว้แล้ว ขณะที่กระแสข่าวการปรับ ครม.ก็เริ่มกลับมาอีก คราวนี้มีการขอ "ล้างไพ่ใหม่" เพื่อแก้สถานการณ์การเมือง ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ถึงนายกฯ ทักษิณ จะออกมาเย้ยกลุ่มที่ออกมาขับไล่ว่า "ชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก" แต่...ชาตินี้เค้า "ไล่ท่านออก" ต่างหาก

11. จดหมายจากกลุ่มนักเรียนไทยในมลรัฐฮาวาย ถึงประธานรัฐสภาฉบับที่ ๑

กราบเรียนท่านประธานรัฐสภา
ตามที่ได้มีกระแสการชุมนุมแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อปฏิเสธรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นั้น กลุ่มนักเรียนไทยในมลรัฐฮาวาย ใคร่ขอกราบเรียนแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้

ประการแรก ขอเรียกร้องให้ท่านประธานรัฐสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพฤติกรรมอันแสดงว่าพ.ต.ท.ทักษิณ บริหารประเทศโดยปราศจากความโปร่งใส และขาดจริยธรรมของผู้นำ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง มากกว่าผลประโยชน์ของชาติ อันรวมไปถึงการแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติ และการดำเนินการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

ประการที่สอง ขอเรียกร้องให้ท่านประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสถาบันนิติบัญญัติ อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของระบอบประชาธิปไตย แสดงความห่วงใยและป้องปรามไปยังรัฐบาล มิให้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนยับยั้งการยั่วยุและการใช้กลไกรัฐบาลสกัดการชุมนุมแสดงความเห็นอย่างสันติในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์นี้

ในโอกาสนี้ กลุ่มนักเรียนไทยขอฝากความหวังกับท่าน ในฐานะประธานฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้กระบวนการรัฐสภาได้ทำหน้าที่ตามกลไกทางการเมือง ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่จะนำมาซึ่งความเสียหายอันมิอาจบรรเทาได้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
กลุ่มนักเรียนไทยในมลรัฐฮาวาย

ผู้ประสานงานกลุ่มนักเรียนไทยในมลรัฐฮาวาย
เฉลิมชัย ทองสุข, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, บัณฑิตย์ จันทร์โรจนกิจ, ดาวเด่น เหลาภา

12. กป.อพช. สนับสนุนการชุมนุมแสดงออกให้นายกทักษิณลาออกจากตำแหน่งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี
3 กุมภาพันธ์ 2549
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และพันธมิตร ๑๑ เครือข่าย พร้อมสมาชิกมากกว่า ๒๕๐ องค์กร สนับสนุนการใช้สิทธิชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนในการปฏิเสธรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ พร้อมเรียกร้องให้นายกทักษิณลาออกจากตำแหน่ง และให้หน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการชุมนุม พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี

วันนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้จัดประชุมองค์กรเครือข่ายและองค์กรพันธมิตรทั่วประเทศ จำนวน ๑๑ เครือข่าย มากกว่า ๒๕๐ องค์กร ได้มีมติ สนับสนุนการใช้สิทธิชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อปฏิเสธรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ กับผู้ชุมนุม ซึ่งจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2549 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นสอดคล้องกับนักวิชาการ และองค์กรประชาชนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมดความชอบธรรมแล้วโดยสิ้นเชิงที่จะบริหารประเทศต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้บริษัทต่างชาติเข้ามายึดครองกิจการโทรคมนาคม ดาวเทียม และสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความยากจน และได้สร้างเงื่อนไขให้ประชาชนอยู่ในภาวะที่ยากจนเพิ่มขึ้น เช่น นโยบายการค้าเสรีแบบผูกขาดเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้องของตนเอง การส่งเสริมการบริโภคแบบไร้ขีดจำกัด รวมทั้งการดำเนินการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และขยายความขัดแย้งในสังคมไปทุกภูมิภาค

พฤติกรรมดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ชัดว่า ไม่เคารพต่อกฎหมายและไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ การพัฒนาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานปัญหาและความต้องการของประชาชน แต่อยู่บนผลประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้องตนเอง เห็นได้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การออกโฉนดทะเลเพื่อพวกพ้อง การตัดสินใจนำการไฟฟ้าขายในตลาดหลักทรัพย์ การแปรรูปการสื่อสาร สาธารณูปโภค รวมถึงกิจการโทรทัศน์ เป็นกิจการที่สงวนเอาไว้เพื่อความมั่นคงของชาติและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งได้สร้างแบบอย่างให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการทั้งปวงได้โดยไม่ต้องเคารพกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงหมดความชอบธรรมแล้วโดยสิ้นเชิงที่จะบริหารประเทศ

จากพฤติกรรมข้างต้น และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรพันธมิตรเห็นสมควรว่า รัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐบาลที่นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป และขอเรียกร้องให้ลาออกเพื่อนำมาซึ่งการปฏิรูปการเมือง

13. ฉ้อฉลโดยกฎหมาย
โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การให้เหตุผลว่า "ถูกต้องตามกฎหมาย" กำลังเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ท้าทายต่อสังคมไทยอย่างสำคัญ

นับตั้งแต่การเถลิงอำนาจของรัฐบาลภายใต้การนำโดยพรรคไทยรักไทย ได้ปรากฏการตัดสินใจ, การดำเนินนโยบาย, การให้สัมปทาน หรือการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ ที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของการกระทำว่าจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม หรือว่าเป็นการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเองในลักษณะที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน

ดังเช่น การตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายค่าตอบแทนจากสัมปทานมาเป็นภาษีสรรพสามิต, การเปิดเสรีทางการบินที่ทำให้สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งมีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลเข้ามาดำเนินธุรกิจ, การตีความของกรมสรรพากรในกรณีการโอนขายหุ้นระหว่างตระกูลชินวัตรกับบุคคลในครอบครัวและวงศาคณาญาติว่าไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ทั้งที่ก่อนหน้าเคยจัดเก็บกับบุคคลอื่นมาก่อนแล้ว ฯลฯ

และล่าสุดการออกพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคม ที่เปิดช่องให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมได้ หลังการบังคับใช้กฎหมายแค่ข้ามคืนผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือบุคคลที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีแบบทั้งสิ้น การกระทำในลักษณะเช่นนี้ถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่กระทำไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขายหุ้นก็เป็นไปตามกฎหมาย สัมปทานก็เป็นไปตามกฎหมาย สรรพากรตีความก็อาศัยกฎหมายทั้งนั้น เมื่อถูกต้องตามกฎหมายก็จงอย่ามีคำถามหรือข้อสงสัยให้มากนัก ก็บอกแล้วไงว่าถูกกฎหมาย

การกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือสิ่งที่สังคมจำต้องยอมรับอย่างเชื่องๆ โดยไม่สามารถปริปากอะไรได้แม้แต่น้อยเลยหรือ

ในการพิจารณาถึงความชอบธรรมของกฎหมายในโลกปัจจุบัน สามารถที่จะพิจารณาได้จาก 2 แง่มุมสำคัญ คือ ในเชิงกระบวนการและเชิงเนื้อหา

ประการแรก การพิจารณาความชอบธรรมในเชิงกระบวนการ สำหรับระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับโดยหลักจะต้องมาจากองค์กรนิติบัญญัติซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากประชาชน กระบวนการคัดเลือกตัวแทนหรือการเลือกตั้งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ตามอุดมคติแล้วเชื่อว่า จะทำให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม

การเขียนกฎหมายขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติจึงมิใช่เป็นสิ่งอื่นใดเลย นอกจากการบัญญัติกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้น การปฏิบัติตามกฎหมายจึงย่อมเป็นการกระทำที่ควรนับว่าเป็นความชอบธรรมจากสังคม เพราะได้ผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนแล้ว (อันแตกต่างไปจากการบัญญัติกฎหมายขึ้นโดยเผด็จการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยปราศจากตัวแทนประชาชนในการให้ความเห็นชอบ เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่ปราศจากความชอบธรรมในเชิงกระบวนการ)

แต่ระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงนั้นอยู่ใกล้กันเพียงใด

ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่รับเอารูปแบบการเลือกตั้งมาจากตะวันตกการเลือกตั้ง อาจไม่ใช่เรื่องของการเลือกตัวแทนเพื่อไปเป็นปากเสียงแทนตัวเองในองค์กรนิติบัญญัติแต่อาจเป็นการขายเสียงให้กับนักการเมือง, การเลือกเอาเจ้าพ่อท้องถิ่นที่คุ้มหัวตนจากการรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการเลือกเอาคนเลวน้อยที่สุดในสายตาเข้าไป

หากเป็นเช่นนี้ กฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนหากเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ออกก็เป็นไปได้

ประการที่สอง การพิจารณาความชอบธรรมในเชิงเนื้อหา แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติที่มาจากตัวแทนของประชาชน ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาของกฎหมายเหล่านั้นต้องมีลักษณะที่เป็นธรรมหรือยุติธรรมเสมอไป มาตรฐานในเชิงกระบวนการเพียงแต่พอให้ไว้วางใจว่ากฎหมายที่เขียนขึ้น "ควร" ต้องมีเนื้อหาที่ดีหรือเป็นที่ยอมรับได้ในมาตรฐานของสังคมอารยะทั่วไป

แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอย่างมั่นคงว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยตัวแทนประชาชนอาจมีลักษณะที่บิดเบี้ยวได้ ซึ่งอาจเกิดในระดับที่เล็กน้อยไปจนกระทั่งถึงระดับรุนแรงได้

ดังตัวอย่างในประเทศเยอรมนี ในยุคที่ฮิตเลอร์เป็นผู้นำได้มีการออกกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น การให้อำนาจกับตำรวจลับในการจับกุมและลงโทษบุคคลโดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล, การยึดทรัพย์สินของบุคคลโดยอาศัยเหตุทางเชื้อชาติ, การจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ของประชาชน เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้ล้วนถูกบัญญัติขึ้นด้วยองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งสิ้น

ต้องยอมรับอย่างไร้หนทางออกเลยหรือว่านี่คือกฎหมายที่สามารถใช้บังคับได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดวิวาทะครั้งสำคัญระหว่างปรัชญาทางกฎหมายแบบ Legal Positivism และ Natural Law School ในประเด็นที่ว่ากฎหมายซึ่งเขียนขึ้นในลักษณะเช่นนี้จะนับว่าเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ได้หรือไม่

เพราะถึงแม้จะเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเนื้อหาของกฎหมายนั้นเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรงและไม่เป็นธรรมศาสตราจารย์ H.L.A. Hart ผู้มีแนวความคิดแบบ Legal Positivism เห็นว่ากฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงเป็นกฎหมายแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่เลวร้ายก็ตาม

แต่สำหรับแนวความคิดแบบปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสนอว่า ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของกฎหมายไม่อาจจำกัดไว้เพียงความถูกต้องในเชิงกระบวนการเท่านั้น หากยังต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมายด้วย หากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นแล้วเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรงก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นกฎหมาย

แนวความคิดนี้ต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐานในการปฏิเสธความชอบธรรมของกฎหมายยุคฮิตเลอร์โดยศาลยุติธรรมของเยอรมัน

เช่นเดียวกันกับที่สังคมไทยกำลังอยู่กับการอ้างอิงถึงการกระทำที่ "ถูกต้องตามกฎหมาย" โดยนักการเมือง ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ต้องถูกยอมรับอย่างปราศจากข้อสงสัย กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างชัดเจน, กฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างภาระแก่ประชาชน ในขณะที่ตนสามารถเสวยผลประโยชน์อย่างไร้ความอาย ก็ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นพื้นฐานในการยอมรับแทบทั้งสิ้น

พึงสังเกตว่าเฉพาะกับบุคคลที่ล้มละลายทางศีลธรรมไปแล้วเท่านั้นที่มักอ้างเอากฎหมายที่ไร้ความชอบธรรมมาเป็นเกราะกำบังตน เช่น เผด็จการที่กำลังตกกระป๋อง นักการเมืองที่ถูกจับทุจริตได้หรือกับบุคคลที่ประจักษ์ชัดว่ามุ่งหาประโยชน์ใส่ตนเป็นหลัก ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถจะหาเหตุผลอื่นใดมาอธิบายได้อีกแล้ว

คลิกไปอ่านต่อ "ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๒)

ข้อมูลเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
823. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๑) (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวมและเรียบเรียง)
824. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๒) (รายการวิทยุ - ทักษิณคุยกับประชาชน - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)
825.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป)
826.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (ต่อ) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก)

828. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๔) (แก้วสรร อติโพธิ, คำสารภาพกลางเมืองของนายกฯทักษิณ)
831. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๕) (มายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป)

832. Ideas are free: คำชี้แจงของทักษิณเรื่องความสุจริต (ถอดเทปโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
834. เรารักในหลวงถึงวาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)
836. การชุมนุมเป็นบ่อเกิดประชาธิปไตย ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดความเสมอภาค (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, เกษียร เตชะพีระ)
838. ทักษิณคุยกับประชาชน : เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพบและเรื่องข่าวลือกับเอกสารปลอม (ถอดเทป)
839. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๖) (วิพากษ์ยับกรณีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลเจ้ารัฐบาล)

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
040249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

นายกฯ ทุ่มพันล้านซื้อจริยธรรมมาเพียบ กลับถูกตัดใยเลยเวลาเจรจาแล้ว ผู้นำเดือดโพล่ง ประกาศชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก แค่คนส่วนน้อยไม่เท่า 19 ล้านเสียง อาจารย์ถูกจูง ด่าสื่อ 3 ฉบับจงใจบิดเบือน สถานทูตสหรัฐเตือนคนอเมริกันห่างม็อบสนธิ ประเมินชุมนุมเรือนแสนหวั่นบานปลาย
"ชาติหน้าสายๆ ถึงจะลาออก ทุกอย่างเป็นไปตามกติกาบ้านเมือง ไม่ต้องห่วง" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนเมื่อเย็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวนายกฯ จะลาออกจนทำให้หุ้นตกมาก นายกฯ ยังกล่าวว่าไม่มีทางที่จะกังวลเรื่องการชุมนุมวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ของกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์

The Midnightuniv website 2006