The Midnight University
ข้อคิดพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า
คิดนอกกรอบ
ว่าด้วยการค้า การพัฒนา และการลดปัญหาความยากจน
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปล
"Thinking
Outside the Box about Trade, Development, and Poverty Reduction,"
(Silver City, NM & Washington, DC: Foreign Policy In Focus, January
18, 2006).
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้นำเสนอเพื่อเป็นฐานคิดในการพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า
ข้อมูลส่วนใหญ่ของบทความชิ้นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ WTO
แต่อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของงานชิ้นนี้สามารถปรับใช้ได้กับการเจรจาทวิภาคี
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเปิดให้มีการเจรจาแบบทวิภาคีกับหลายๆประเทศ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 820
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
17 หน้ากระดาษ A4)
คิดนอกกรอบ:
ว่าด้วยการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
ผลงานชิ้นนี้แปลจาก
Thomas I. Palley, "Thinking Outside the Box about Trade, Development,
and Poverty Reduction," (Silver City, NM & Washington, DC: Foreign
Policy In Focus, January 18, 2006). Web location: http://fpif.org/fpiftxt/3050
ประวัติผู้เขียน
ดร. โธมัส แพลลีย์ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล
มีงานเขียนจำนวนมากในวารสารทางวิชาการ และเขียนเป็นประจำให้นิตยสาร The Atlantic
Monthly, American Prospect และ Nation ส่วนใหญ่เกี่ยวกับประเด็นด้านทฤษฎีและนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค,
การเงินและการค้าระหว่างประเทศ, การพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน
เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ ประจำคณะกรรมาธิการพิจารณาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ Globalization Reform Project ของ Open Society Institute และเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะของสหภาพแรงงาน และสมัชชาองค์กรอุตสาหกรรมอเมริกัน (AFL-CIO)
มีผลงานเป็นหนังสือ
2 เล่มคือ
1. Plenty of
Nothing: The Downsizing of the American Dream and the Case for Structural
Keynesianism (Princeton University Press)
2. Post Keynesian Economics (Macmillan Press)
บทความชิ้นนี้เดิมเขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อวิจารณ์ต่อบทความเรื่อง "Linkages between Trade, Development, and Poverty Reduction: Stakeholders' Views from Asia on Pro-Poor Trade Policies" by Marc P. Mealy (October 2005) ซึ่งเผยแพร่เพื่อการถกเถียงกันในการสัมมนาระหว่างประเทศหัวข้อ "Exploring Linkages between Trade, Development, and Poverty Reduction" ที่จัดโดยองค์กร CUTS international (Consumer Unity & Trust Society) ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2005.
บทคัดย่อ
เสียงกล่าวอ้างของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ว่า การค้าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน
นับวันจะยิ่งแผ่วลงทุกที ๆ แนวทางใหม่ที่นำมาใช้คือวาระทางการค้าแบบเอื้ออาทรที่ระบุว่า
การเปิดเสรีการค้าจะช่วยลดปัญหาความยากจนได้ ถ้าดำเนินไปโดยขนาบข้างด้วยการลงทุนสาธารณะในโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์
อย่างไรก็ตาม วาระใหม่นี้ก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายข้อ อาทิเช่น จะจัดหาเงินลงทุนด้านสาธารณะมาอย่างไร การลงทุนในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ควรดำเนินการก่อนเปิดเสรีหรือไม่ และการเปิดเสรีการค้าควรกระทำหรือไม่หากยังไม่มีการลงทุนในด้านดังกล่าว ดังนี้เป็นต้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ วาระทางการค้าแบบเอื้ออาทรยังไม่ใช่คำตอบต่อข้อวิพากษ์เชิงโครงสร้างที่ว่า การเปิดเสรีการค้าเป็นตัวการขัดขวางการพัฒนา เพราะมันทำลายเครื่องมือทางนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการพัฒนา
บทความเชิงนโยบายชิ้นนี้นำเสนอกรอบวิธีคิดในแนวทางอื่นเกี่ยวกับการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน กรอบทางเลือกนี้เน้นหนักไปที่การส่งเสริมการค้าภายในประเทศ และการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องลูกโซ่มูลค่า (value-chain) เพื่อมองหาว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรทำอย่างไร จึงจะดักเก็บมูลค่าสินค้าที่ตนสร้างขึ้นได้มากกว่าเดิม
บทความนี้ยังนำเสนอข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าการเปิดเสรีอย่างขนานใหญ่ ในโลกของความไม่แน่นอน ทฤษฎีการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดแนะนำว่า "ถ้าไม่รู้ก็จงไปช้า ๆ" ในประการสุดท้าย บทความนี้เสนอให้มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ ว่าด้วยผลผลิตเขตร้อน (tropical-products trade round) ที่น่าจะสร้างผลลัพธ์แบบ win-win ให้ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
คำถามคืออะไร?
มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนที่เกอร์ทรูด สไตน์นอนป่วยใกล้สิ้นลมอยู่ในปารีส เธอหันไปหาเพื่อนสนิท
อลิซ โทคลาส และถามว่า "คำตอบคืออะไร?" เมื่อโทคลาสตอบว่า "ฉันไม่รู้"
สไตน์ย้อนถามทันทีว่า "ถ้าอย่างนั้น คำถามคืออะไรล่ะ?" ในหลาย ๆ
ด้าน การวิวาทะทางนโยบายเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน
ถูกตีกรอบด้วยปัญหาอย่างเดียวกัน นั่นคือ การตั้งคำถามและแว่นส่องทางทฤษฎีที่ใช้เข้าใจโลกเป็นตัวกำหนดคำตอบที่เราสร้างขึ้นมา
การค้าในทุกประเทศถูกใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนว่า การค้าระหว่างประเทศจะก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คำถามไม่ใช่ประเด็นของการค้ากับการไม่ค้า แต่คำถามที่ถูกต้องกว่าคือ "ระบบและกฎเกณฑ์ทางการค้าแบบไหนที่ดีที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการลดปัญหาความยากจน?"
นี่เป็นคำถามง่าย ๆ แม้ว่าคำตอบอาจไม่ง่ายก็ตาม กระนั้นก็ตาม กลับเป็นเรื่องยากอย่างน่าประหลาดที่จะยึดกุมประเด็นนี้ไว้ ใครที่ตั้งคำถามและแสดงความกังขาต่อกฎเกณฑ์การค้าในปัจจุบันขององค์การการค้าโลก (WTO) มักถูกตีตราว่าเป็นนักลัทธิกีดกันที่ต่อต้านการค้า (anti-trade protectionism) การตีตราเช่นนี้เท่ากับปล่อยให้ฝ่ายที่สนับสนุน WTO อย่างไม่ลืมหูลืมตา สามารถหลบเลี่ยงประเด็นคำถามที่สำคัญมาก ๆ ไปได้เสมอ
บทความชิ้นนี้จะกล่าวถึงการวิวาทะเกี่ยวกับการค้าและการพัฒนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นจะชี้แนะถึงทางเลือกทางเศรษฐกิจอื่น ๆ งานเขียนชิ้นนี้ตั้งใจเขียนให้แก่กลุ่มผู้อ่านที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ จุดใหญ่ใจความมุ่งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการค้า-การพัฒนา แต่บทความมิได้นำเสนอกรอบการพัฒนาที่เป็นทางเลือกอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะนั่นเป็นภารกิจที่ใหญ่กว่าและยากกว่านี้ (1)
การค้า,
ความเติบโตและความอยู่ดีกินดี: วิวาทะในปัจจุบัน
เมื่อทศวรรษที่แล้ว เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอ้างเหตุผลอย่างแข็งขันว่า การค้าส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา
(2) หากข้ออ้างนี้ถูกต้อง เมื่อดูจากการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารของการค้าในโลกตลอด
25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกน่าจะมีการเติบโตในอัตราเร่งเร็วขึ้น แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น
ความเติบโตของเศรษฐกิจโลก กลับชะลอลงเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงก่อนหน้านี้
นี่ชี้ให้เห็นว่า ความเกี่ยวพันระหว่างการค้ากับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าหากมีอยู่จริง
ก็ถือว่ามีความเกี่ยวพันกันน้อยมาก
ต่อให้เรายอมรับว่าสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวพันในเชิงบวก แต่ข้อนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงได้อยู่ดี เพราะการมีสหสัมพันธ์กัน (correlation) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเป็นสาเหตุ-ผลลัพธ์ (causation) ของกันและกัน ในแง่นี้ ผลงานการวิจัยข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้านของ Rodrik and Rodriguez (2001) จึงมีความสำคัญ เนื่องจากมันชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่ค้นพบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการค้า นั่นหมายความว่า การค้าเป็นผลพวงที่ตามมาจากการพัฒนา ไม่ใช่เป็นสาเหตุของการพัฒนา
นอกเหนือจากข้อโต้แย้งในเชิงข้อมูลวิจัยแล้ว ยังมีข้อโต้แย้งทางทฤษฎีต่อข้ออ้างที่ว่า การค้ากระตุ้นให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทฤษฎีความเติบโตทางเศรษฐกิจแจกแจงบ่อเกิดของความเติบโตออกเป็น: การสะสมทุน, ความเติบโตของกำลังแรงงาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี. สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ดูเหมือนมีเหตุผลน้อยมากให้เชื่อได้ว่า การค้าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปัจจัยเหล่านี้ ดังนั้น การค้าจึงไม่เกี่ยวกับความเติบโต
ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้น เนื่องจากล้าหลังในการสะสมทุนและเทคโนโลยี การค้าอาจช่วยกระตุ้นปัจจัยสองประการนี้ให้มีมากขึ้น ในเงื่อนไขที่ต้องมีการส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงจะหนุนให้ความเติบโตพุ่งทะยานขึ้น แต่นี่กลับไม่เป็นความจริง เมื่อดูจากอัตราส่วนเปรียบเทียบ ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นระหว่างซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้. แน่นอน อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่า ทุกอย่างอาจแย่กว่านี้หากไม่มีการเปิดเสรีการค้า แต่ช่องว่างของความมั่งคั่งที่ถ่างกว้างขึ้น เป็นหลักฐานชั้นต้นที่เชื่อถือได้ว่า ข้ออ้างว่าการค้าจะก่อให้เกิดผลดีนั้นเป็นข้ออ้างที่อ่อนมาก
ในประการสุดท้าย การวิวาทะเรื่องการค้ามักพุ่งเป้าไปที่ความเติบโต แต่ความอยู่ดีกินดีที่เพิ่มขึ้นต่างหากที่เป็นเป้าหมายแท้จริงของนโยบายเศรษฐกิจ หาใช่ความเติบโตไม่ ความเติบโตอาจจำเป็นต่อการเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีก็จริง แต่ความเติบโตอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เรายังต้องพิจารณาถึงคุณลักษณะของความเติบโตและหลักประกันว่าความเติบโตนั้นจะต้องเปิดกว้างให้คนทุกคนควบคู่ไปด้วย ประเด็นเรื่องคุณลักษณะนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อคำนึงถึงการพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน
ในเมื่อการพัฒนาและการลดปัญหาความยากจนมีแต่จะล้าหลัง ทั้ง ๆ ที่มีการเปิดเสรีการค้ากันอย่างกว้างขวาง ข้ออ้างของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการเปิดเสรีการค้า จึงมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ (3) ทัศนะที่ปรับใหม่ก็คือ การค้ายังคงดีต่อการเติบโต แต่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและลดปัญหาความยากจน การค้าต้องดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายคู่ขนาบที่เป็นหลักประกันว่า
1. มีการลงทุนในด้านสาธารณสุขและการศึกษา (ทรัพยากรมนุษย์) และ
2. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการกระจาย (สินค้า,รายได้) และการทำตลาด (4)
นี่เป็นวาระทางนโยบายที่เปิดกว้างกว่าและโน้มน้าวใจได้มากกว่าเดิมก็จริง แต่เมื่อพิจารณาในเชิงวิเคราะห์ ทัศนะนี้เป็นแค่การนำเอาวาระการเปิดเสรีการค้าแบบเดิม มาผนวกเข้ากับวาระการพัฒนาแบบเดิม แล้วอ้างว่า 2+2 = 5 อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่จะเป็นการพยายามกอบกู้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้พ้นจากข้อกล่าวอ้างที่เกินความจริงว่า การค้าส่งผลดีต่อการพัฒนาก็ตาม แต่จุดยืนใหม่ทางเศรษฐศาสตร์นี้ก็ยังไม่ตอบข้อข้องใจในเชิงทฤษฎีที่เป็นหัวใจสำคัญว่า มีนโยบายการค้าแบบอื่นที่ดีกว่านโยบายที่เป็นแกนหลักใน WTO หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจมีนโยบายการค้าทางเลือกอื่น ซึ่งถ้านำมาผนวกกับการลงทุนคู่ขนาบนั้นแล้ว อาจส่งผลให้ 2+2 = 6?
ในระดับปฏิบัติการ นโยบายการลงทุนแบบคู่ขนาบนั้นก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก
ประการแรก อะไรคือผลที่ตามมาของการเปิดเสรีการค้าแบบ WTO หากไม่มีการดำเนินนโยบายลงทุนคู่ขนาบนั้นควบคู่ไปด้วย?
ประการที่สอง นโยบายการลงทุนคู่ขนาบนั้นจะจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร?
ประการที่สาม มีความจำเป็นต้องทำก่อนหลังหรือไม่ จำเป็นต้องลงทุนคู่ขนาบก่อนแล้วค่อยเปิดเสรีหรือเปล่า?
หากการลงทุนสาธารณะคู่ขนาบ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การค้าก่อให้เกิดการพัฒนา และลดปัญหาความยากจนตามมา ถ้าเช่นนั้น การเปิดเสรีตามข้อตกลง WTO ก็สมควรต้องมีพันธกิจผูกมัดให้สนับสนุนเงินทุนแก่การลงทุนคู่ขนาบไปพร้อม ๆ กัน แต่ข้อผูกมัดนั้นยังขาดหายไปในขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่ามิติการพัฒนาของการเจรจาการค้ารอบโดฮายังขาดหายไป เมื่อพิจารณาตามตรรกะของผู้สนับสนุนการเจรจา (5)
ปัญหาของการเปิดเสรีการค้าแบบเอื้ออาทร
(Compassionate Trade Liberalization)
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ โมเดลใหม่ของการเปิดเสรีการค้าแบบเอื้ออาทร (กล่าวคือเพิ่มการลงทุนในภาคสาธารณะลงไปด้วย)
ก็ยังตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์หลายประการ ไม่แตกต่างจากโมเดล "การค้าเสรีเท่ากับการพัฒนา"
ที่ตื้นเขินก่อนหน้านี้
ปัญหาหนึ่งก็คือ
ประเด็นที่ภาษีศุลกากรเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล การเปิดเสรีการค้าของ WTO มุ่งลดภาษีศุลกากรลง
เท่ากับลดรายได้ของรัฐบาลลงไปด้วย ในขณะที่โมเดลใหม่ของการเปิดเสรีการค้าแบบเอื้ออาทรเรียกร้องให้มีการลงทุนภาคสาธารณะเพิ่มขึ้น
ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ภาษีศุลกากรเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากที่สุด
ในการสร้างรายได้ให้รัฐ ดังนั้น การเก็บภาษีศุลกากรจึงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดหาเงินทุนสาธารณะ
การเก็บภาษีอื่น ๆ อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจ และเป็นไปได้ที่ต้นทุนเหล่านี้อาจไม่คุ้มกับผลได้ที่ประมาณการไว้จากการเปิดเสรีการค้า
ภาษีศุลกากรนั้นเป็นไปตามกราฟเส้นโค้งเหมือนหลังอูฐของ Laffer (6) ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ย่อมก่อให้เกิดรายได้จากภาษีศุลกากรเป็นศูนย์
ในขณะเดียวกัน ภาษีศุลกากรสูงมากอาจก่อให้เกิดรายได้ต่ำ เพราะทำให้สินค้านำเข้าราคาแพงเกินไปและทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาด
ภาษีศุลกากรที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดจะอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งเหนือศูนย์ แต่ระบบเปิดเสรีการค้าของ
WTO กลับยึดมั่นอยู่กับหลักการมุ่งยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมด
ปัญหาประการที่สอง
ของกรอบการค้าและการพัฒนาแนวใหม่ก็คือ
มันยังคงปักหลักอยู่กับกระบวนทัศน์การเติบโตแบบเน้นการส่งออก (export-led growth
paradigm) ซึ่งครอบงำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การพัฒนาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา กระบวนทัศน์นี้มีปัญหามาก
(ดู Palley, 2003; Blecker and Razmi, 2005) ในขั้นต้นสุด ยังมีข้อกังขาว่า
ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดจะสามารถเติบโตด้วยการผลิตที่เน้นการส่งออกได้จริง
ๆ หรือไม่
ตลาดโลกมีจำกัด การเน้นการส่งออกมากเกินไปย่อมก่อให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศต่าง
ๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งรังแต่จะทำให้สภาพเลวร้ายลง ประเทศเหล่านี้จะพบว่าตัวเองต้องเบียดเสียดแก่งแย่งกันและต้องกดราคาสินค้าที่ตนขายลง
เมื่อ 56 ปีก่อน Raul Prebisch (1950) และ Hans Singer (1950) ชี้ให้เห็นปัญหาความตกต่ำทางด้านการค้าเป็นเวลายาวนานของประเทศกำลังพัฒนา
ในสมัยนั้น ปัญหานี้เกิดขึ้นกับสินค้าวัตถุดิบ เมื่อพิจารณาจากกระบวนทัศน์ความเติบโตที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออกในปัจจุบัน
ปัญหาเดียวกันย่อมเกิดกับสินค้าที่เป็นการผลิตขั้นต่ำสุด
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากโมเดลที่เน้นการส่งออกต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากกว่าตลาดในประเทศ ระบบเศรษฐกิจโลกจึงกลายเป็นระบบแบบ "ขอทานข้างบ้านท่าน" ระบบแบบนี้จะให้ผลรวมเป็นศูนย์หรืออาจติดลบด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกต้องอยู่บนเส้นทางความเติบโตที่เชื่องช้าและซบเซา
ปัญหาประการที่สาม
ของโมเดลใหม่ของการค้าแบบเอื้ออาทรก็คือ
การใช้สมมติฐานแบบเดิม ๆ ว่า คนทุกคนย่อมมีที่ทางอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ของการค้าเสรี
โมเดลนี้มีรากเหง้ามาจากแนวคิดว่าด้วยความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative
advantage) ซึ่งอ้างว่า ผู้ค้าทุกคนย่อมหาช่องทางค้าขายของตนได้เสมอ ต่อให้ประเทศหนึ่งไม่มีความได้เปรียบจริง
ๆ ในเรื่องอะไรเลย ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ยังเปิดช่องให้ทุก ๆ คนได้ ด้วยการกระตุ้นให้ประเทศนั้น
ๆ เชี่ยวชาญเฉพาะการผลิตสินค้าที่ทำได้ดีที่สุดโดยเปรียบเทียบก็พอ
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปแบบนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มีการจ้างงานทั่วโลกเต็มอัตราและทั่วทั้งโลกมีแรงงานขาดแคลน
ข้อสรุปนี้ใช้ไม่ได้เลยในโลกที่มีการว่างงานและแรงงานล้นเกินจำนวนมาก
ผลที่ตามมานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประเทศอย่างเคนยาและแซมเบียต้องนั่งตาปริบ ๆ ดูอุตสาหกรรมสิ่งทอของตนหดตัวลงเพราะการนำเข้าเสื้อผ้ามือสอง ข้ออ้างของการนำเข้าก็คือ เสื้อผ้านำเข้ามีราคาถูกกว่าและคนงานสิ่งทอที่ตกงาน น่าจะหาการจ้างงานที่มีค่ามากกว่าได้ในอุตสาหกรรมอื่น แต่นี่ย่อมไม่เป็นจริงถ้ามีภาวะแรงงานล้นเกิน คนงานกลับต้องกลายเป็นคนว่างงานถาวร และประเทศต้องสูญเสียอุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การพัฒนาภาคการผลิต
ปัญหาอย่างเดียวกัน ยังเกิดกับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่กดราคาและทำลายเกษตรกรที่ผลิตเพื่อยังชีพ จริงอยู่ อาจมีข้อดีอยู่บ้างสำหรับคนงานในเมืองที่ซื้ออาหารได้ในราคาถูกลง แต่ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนของการล่มสลายทางสังคมขนานใหญ่ในชนบทด้วย เมื่อชุมชนเกษตรกรรมถูกทำลายลงและอดีตเกษตรกรต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง คราวนี้คนงานในเมืองจะต้องเสียเปรียบถึงสองซ้ำสองซ้อน ทั้งในแง่ที่อุปทานแรงงานในเมืองที่เพิ่มขึ้นจะกดค่าแรงต่ำลง และยังต้องสูญเสียโครงข่ายสังคมในชนบทที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันในชีวิตของครอบครัวขยาย
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวกับตลาดนี้อาจไม่คุ้มกับผลได้ทางการตลาดที่เกิดจากราคาสินค้าที่ต่ำลง บทเรียนสำหรับนโยบายการค้าก็คือ การได้ราคาต่ำอาจมีต้นทุนที่สูงมากก็ได้
ปัญหาประการสุดท้าย
ของโมเดล "การค้าเท่ากับการพัฒนา" ก็คือ โมเดลนี้ขาดการพิจารณาถึงความพร้อมของแต่ละประเทศในการเข้าร่วมการค้าสากล
การอุปมากับกีฬาน่าจะช่วยให้เข้าใจข้อวิพากษ์นี้ดียิ่งขึ้น การจับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท
มาต่อยกับนักมวยรุ่นไลท์เวทย่อมเป็นคู่ชกที่ไม่ยุติธรรม เพราะนักมวยไม่ได้ถูกจับคู่อย่างเท่าเทียมกัน.
การอุปมานี้ใช้ได้กับการค้า ประเทศต่าง ๆ จำต้องเตรียมตัวให้ดีเพื่อเข้าสู่สังเวียนการค้าระหว่างประเทศ
การเตรียมตัวอาจหมายรวมถึงการใช้ภาษีศุลกากรเพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ และการใช้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม
Chang (2003) วิจัยให้เห็นว่า นโยบายแบบนี้เป็นสิ่งที่ประเทศอุตสาหกรรมเคยใช้มาก่อน
ในสมัยที่ประเทศอุตสาหกรรมกำลังก้าวเข้าสู่เส้นทางการพัฒนา นอกจากนั้น งานวิจัยของ
O'Rourke (2000) ยืนยันถึงการมีสหสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างภาษีศุลกากรกับความเติบโตทางเศรษฐกิจในปลายศตวรรษที่
19
กล่าวโดยสรุป โมเดลใหม่ของ "การค้าเท่ากับการพัฒนา" เสริมด้วยการลงทุนภาคสาธารณะ ก็ยังตกอยู่ภายใต้ข้อวิพากษ์เดิม ๆ ที่มีต่อการค้าเสรีอยู่ดี เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องระลึกเสมอว่า การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เหตุผลเพื่อต่อต้านการค้า แต่เป็นเหตุผลที่โต้แย้งกฎเกณฑ์การค้าชุดหนึ่ง เพราะกฎเกณฑ์การค้าชุดนี้ไปสร้างข้อจำกัดต่อชุดเครื่องมือทางนโยบายเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อวิจารณ์เหล่านี้ท้าทายต่อข้ออ้างที่ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเร่งการพัฒนาและลดปัญหาความยากจนทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ลดอัตราภาษีศุลกากรตามลัทธิเปิดเสรีการค้าของ WTO
คิดนอกกรอบเกี่ยวกับการค้าและการพัฒนา
การค้าระหว่างประเทศเป็นแค่การค้ารูปแบบหนึ่ง นั่นคือ การค้าข้ามพรมแดน วิวาทะว่าด้วยการเปิดเสรีการค้าของ
WTO มุ่งเน้นไปที่การค้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ยังมีการค้ารูปแบบอื่น
ๆ อีก ซึ่งรวมถึงการค้าภายในประเทศ, การค้าระหว่างประเทศแบบทวิภาคี, และการค้าระหว่างประเทศแบบภูมิภาค.
การมองออกนอกกรอบชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ดีกว่าน่าจะเป็นการส่งเสริมการค้าภายในประเทศและตลาดภายในประเทศ
การค้าแบบนี้เชื่อมโยงกับการพัฒนาในระดับที่ลึกกว่าความเติบโตที่มุ่งเน้นการส่งออก เพราะอย่างหลังส่งเสริมการพัฒนาแบบอาณาจักรปิด (enclave development) ซึ่งเปรียบได้กับระบบเศรษฐกิจแบบอาณานิคมสมัยใหม่ เหตุผลหลักสองประการที่แสดงถึงความตื้นเขินของการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกมีดังนี้:
(1) การพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าอย่างมาก และ
(2) ไม่มีการพัฒนาการกระจายสินค้าและรายได้, การทำตลาด, การค้าปลีกหรือการบริการภายในประเทศให้ดีขึ้น
ทั้งนี้เพราะตลาดอยู่นอกประเทศ
ไม่เพียงแต่การมุ่งเน้นการค้าภายในประเทศจะช่วยให้เกิดตัวทวีคูณ (multiplier) ทางด้านการพัฒนามากกว่า เรายังมองได้ด้วยว่า มันเป็นการจัดลำดับก่อนหลังที่จำเป็นรูปแบบหนึ่ง เมื่ออุปมากับนักมวยเฮฟวีเวทและไลท์เวทข้างต้น นี่เป็นการเตรียมระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้พร้อมเพื่อเข้าสู่สังเวียนเศรษฐกิจสากล
ตรรกะอย่างเดียวกันยังใช้ได้กับการทำข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค เช่น Mercosur ในอเมริกาใต้ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการค้ากระแสหลักมักไม่ชอบใจและไม่สนับสนุนการค้าแบบนี้ โดยให้เหตุผลว่ามันก่อให้เกิดการบิดเบือนการค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ว่าไม่มีประสิทธิภาพนั้นสืบเนื่องมาจากการค้าขายกับเพื่อนบ้าน แทนที่จะค้าขายกับผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สุดในระดับโลกตามหลักการของความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ
กระนั้นก็ตาม ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคมีข้อดีหลายประการด้วยกัน
ประการแรก เพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันมักอยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน
จึงช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการจับคู่ข้ามรุ่นแบบเฮฟวีเวท-ไลท์เวทได้
ประการที่สอง มูลค่าที่เกิดขึ้นในการผลิตและการค้าจะไหลเวียนอยู่ภายในภูมิภาค แทนที่จะถูกดูดไปสู่ซีกโลกเหนือ
ประการที่สาม การค้าภายในภูมิภาคสามารถช่วยประหยัดการใช้สำรองเงินตราต่างประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนแพงได้
ทางเลือกประการที่สองอยู่ที่การวิเคราะห์ลูกโซ่มูลค่า (7) ทฤษฎีการค้ากระแสหลักมีสมมติฐานว่า ประเทศและผู้ประกอบการต่างได้รับตามที่สมควร โดยอ้างว่าตลาดที่มีการแข่งขันช่วยป้องกันการขูดรีด และให้หลักประกันว่า ผู้ผลิตและคนงานได้รับผลตอบแทนตามความเหมาะสม (ผลผลิตส่วนเพิ่ม หรือ marginal product) การวิเคราะห์ลูกโซ่มูลค่าจะติดตามผลผลิตหนึ่งจากขั้นพื้นฐานที่สุดไปจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย และชี้ให้เห็นว่าใครได้มูลค่าไปเท่าไรเมื่อดูจากสายโซ่ทั้งหมด
นักเศรษฐศาสตร์การค้าส่วนใหญ่พูดถึงแต่การไต่ลูกโซ่มูลค่าขึ้นไป โดยมุ่งเน้นอยู่ที่ขั้นตอนการผลิตและการเพิ่มมูลค่า ยังมีวิธีคิดที่เป็นทางเลือกอื่นอีก นั่นคือ การพิจารณาที่เน้นอำนาจการต่อรองและการดักเก็บมูลค่า (value-capture) ไว้ ซึ่งจะทำให้เห็นว่า แบบแผนของการดักเก็บมูลค่านี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ สืบเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์และการสร้างยี่ห้อสินค้า ซึ่งมีผลต่ออำนาจการต่อรองที่เปลี่ยนไปในขั้นตอนของการผลิต (8)
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ก็คือ มันทำให้บรรษัทของซีกโลกเหนือเข้ามามีบทบาทในการกำหนดการผลิต และการว่าจ้างการผลิตในระดับโลก ผู้ซื้อจึงสามารถทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องแข่งขันกันเองเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้ผลิต ด้วยเหตุนี้ บริษัทและคนงานเม็กซิกันจึงต้องแข่งขันกับบริษัทและคนงานอินโดนีเซียหรือจีน และยังต้องแข่งขันกับบริษัทและคนงานที่รับจ้างผลิตในซีกโลกเหนือด้วย นี่ทำให้ฝ่ายผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองล้นเหลือ
ลักษณะเด่นประการที่สองของยุคโลกาภิวัตน์
คือ การเกิดขึ้นของการสร้างยี่ห้อให้ผลิตภัณฑ์ เท่ากับย้ายมูลค่าไปที่หน้าร้าน
ซึ่งเป็นปลายลูกโซ่แล้ว
ลักษณะสำคัญสองประการนี้มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากบริษัทอย่างไนกี้และแก็ป
ซึ่งว่าจ้างผลิตไปทั่วโลกด้วยต้นทุนต่ำติดดิน เอามาแปะตรายี่ห้อเข้าไป แล้วก็ดักเก็บมูลค่ามหาศาลไว้ที่การขายปลีก
ซึ่งเป็นลูกโซ่ข้อสุดท้ายในสายโซ่การผลิต
ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนงานและนโยบายการพัฒนา ลองดูตัวอย่างจากการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ สามสิบปีก่อน ก่อนที่จะมีการว่าจ้างผลิตระดับโลก ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ ดังนั้นจึงสามารถดักเก็บมูลค่าได้มากกว่าปัจจุบัน ทำให้คนงานสามารถจัดตั้งสหภาพและต่อรองเพื่อขอแบ่งมูลค่ามาดักเก็บให้ตนเองได้บ้าง แต่ในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ผู้ผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอสูญเสียอำนาจต่อรองในการดักเก็บมูลค่า จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมการจัดตั้งสหภาพแรงงานในภาคการผลิตนี้ทำได้ยากมาก
ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจให้ผลดีด้านราคาแก่ผู้บริโภคในซีกโลกเหนือได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลได้จำนวนมากที่สุดตกอยู่กับบริษัทที่สร้างยี่ห้อและบริษัทขายปลีกที่มีอำนาจล้นเหลือตรงปลายสุดของลูกโซ่มูลค่า (9)
สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาเห็นได้ชัดมาก ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ตรงจุดเริ่มต้นของลูกโซ่มูลค่า ยิ่งระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นโลกาภิวัตน์มากเท่าไร ประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งดักเก็บมูลค่าได้น้อยลง ๆ เท่านั้น การเปิดเสรีการค้าตามแบบกระแสหลักไม่ได้แก้ไขปัญหานี้แม้แต่น้อย อันที่จริงกลับยิ่งซ้ำเติมให้เลวร้ายลงด้วยซ้ำ
เลนส์แฝดที่ส่องให้เห็นการส่งเสริมการค้าภายในประเทศกับการดักเก็บมูลค่า ชี้ให้เห็นการตั้งคำถามเชิงนโยบายชุดใหม่ คำถามแรกคือ นโยบายรัฐบาลสามารถส่งเสริมการค้าภายในประเทศได้อย่างไร? ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคระหว่างซีกโลกใต้-ซีกโลกใต้เป็นวิธีการที่ดีกว่าในการกระตุ้นการค้าและรักษามูลค่าไว้หรือไม่?
ซีกโลกใต้สามารถทำงานโดยตรงร่วมกับเอ็นจีโอและผู้บริโภคในซีกโลกเหนือเพื่อดักเก็บมูลค่าไว้ โดยเรียกร้องมาตรฐานทางจริยธรรมจากบรรษัทข้ามชาติ และพัฒนายี่ห้อของซีกโลกใต้ขึ้นมาได้หรือไม่?
มาตรฐานแรงงานโลกจะช่วยดักเก็บมูลค่าไว้ ด้วยการกำหนดเพดานขั้นต่ำสุดที่รับประกันให้แต่ละประเทศรักษามูลค่าขั้นต่ำเอาไว้ได้หรือไม่? มาตรฐานแรงงานนั้นยังจะช่วยกระตุ้นการค้าภายในประเทศไปในตัวด้วย เพราะคนงานจะมีรายได้สูงขึ้น คำถามสุดท้ายคือ
กฎเกณฑ์ของ WTO เป็นการบ่อนทำลายเครื่องมือทางนโยบายที่มีคุณค่าบางอย่างหรือเปล่า เช่น การบังคับให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศและนโยบายด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น?
นโยบายการค้า:
ทารกกับน้ำในอ่าง
การปฏิวัติทางความคิดมักเททารกทิ้งไปพร้อมกับน้ำในอ่าง แนวคิดเชิงปฏิกิริยาที่ต่อต้านการปฏิวัติก็เช่นเดียวกัน
ในประวัติศาสตร์ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาค นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนเชียน (แต่ไม่ใช่ตัวเคนส์)
มักโยนทั้งเรื่องแรงจูงใจและพลังของตลาดทิ้งไป แล้วหันไปมุ่งเน้นแต่ผลของอุปสงค์รวมของประเทศ
(aggregate demand) อย่างคับแคบ การปฏิวัติซ้อนของนักการเงินในทศวรรษที่ 1970
หันไปรื้อฟื้นความสำคัญของแรงจูงใจและตลาด แต่กลับโยนปัจจัยเรื่องอุปสงค์รวมของเคนส์ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี
เศรษฐศาสตร์การพัฒนาก็เดินตามรอยเดียวกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงแนวคิดในช่วงทศวรรษ 1980 จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นความเติบโตที่เน้นการส่งออก จึงเททารกทิ้งไปพร้อมกับน้ำในอ่างเช่นกัน การหันมาเน้นการส่งออก ทำให้ละเลยการพัฒนาตลาดภายในประเทศ ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างมากในแนวคิดการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กรอบความคิดแบบเดิมจำเป็นต้องยกเครื่องเสียใหม่ ในหลาย ๆ ประเทศ การหาประโยชน์จากความคุ้มครองของรัฐบาล (rent-seeking) นำไปสู่การตั้งกำแพงภาษีเป็นเวลายาวนาน และทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นไม่มีวี่แววเลยว่าจะพัฒนาตัวเองให้แข่งขันในระดับนานาชาติได้ หลายประเทศโหมสร้างโครงการอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้ทุนเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีต้นทุนสูง ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของขนาดกับประสิทธิภาพ และไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในระดับโลกเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ โครงการประเภทนี้จึงขาดทั้งเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจและการค้า ประเทศเหล่านั้นน่าจะนำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดไปลงทุนในสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่านี้
กระนั้นก็ตาม กรอบความคิดของการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าก็มีองค์ประกอบในด้านที่ดี อาทิ การพัฒนาภายในประเทศที่เข้มแข็ง ส่งเสริมความสามารถทางการผลิตและพัฒนาการค้าในระดับชาติ ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตถูกนำมาขายในตลาดภายในประเทศ แทนที่จะโยนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ประเทศกำลังพัฒนาควรหามาตรการ เพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากการคุ้มครองและส่งเสริมการแข่งขันให้มากขึ้น
อันที่จริง นโยบายบางอย่างจากยุคทดแทนการนำเข้าควรนำมาใช้ให้มีบทบาทในวันนี้ นโยบายหนึ่งคือการแบ่งแยกระหว่างภาษีศุลกากรของสินค้าอุปโภคบริโภคกับสินค้าทุน ภาษีของสินค้าประเภทแรกสามารถเป็นแหล่งรายได้ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยให้ประเทศมีดุลการชำระเงินที่ดีไปด้วย ส่วนภาษีของสินค้าประเภทหลังไม่ควรมีเลย (อัตราเป็นศูนย์) เพราะมันจะเป็นภาระต่อต้นทุนการผลิตและเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันระหว่างประเทศ
การมีภาษีศุลกากรเปิดช่องให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการคุ้มครองของรัฐ การแก้ไขในเชิงสถาบันที่ทำได้อย่างหนึ่งคือ จัดตั้งคณะกรรมการภาษีศุลกากรอิสระที่โปร่งใส โดยดำเนินงานอยู่ภายใต้การสอดส่องของสาธารณชนและวางระยะห่างจากพวกนักการเมือง คณะกรรมการภาษีศุลกากรนี้สามารถใช้รูปแบบตามอย่างธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระ โดยมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบจากภายนอก
ควรมีการรื้อฟื้นคณะกรรมการกำกับตลาดขึ้นมาด้วย ในสมัยอาณานิคม คณะกรรมการกำกับตลาดทำหน้าที่ในเชิงสร้างสรรค์ โดยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตลาด ด้วยการบริหารเครือข่ายการกระจายสินค้าจากศูนย์กลาง คณะกรรมการจะช่วยสร้างให้เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economies of scale) ลดต้นทุนด้านการตลาดและได้ราคาสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้มูลค่าสูงขึ้นจากผลผลิต คณะกรรมการนี้ควรตั้งควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่เกษตรกรรายย่อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับตลาดมักตกเป็นเครื่องมือของผู้นำทางการเมืองที่ฉ้อฉล ซึ่งอาศัยคณะกรรมการนี้ขูดรีดภาคเกษตร และโกงเอารายได้จากการส่งออกเป็นเงินตราต่างประเทศไป เช่นกัน ข้อแนะนำในประเด็นนี้คือ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่อิสระ เปิดกว้างและรับผิดต่อสาธารณะ โดยใช้รูปแบบตามอย่างธนาคารกลาง และถูกตรวจสอบจากสถาบันภายนอก เช่น IMF และธนาคารโลก
การแทรกแซงทางนโยบายเช่นนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความเติบโตและการพัฒนา ทั้งยังเคยทำได้สำเร็จเป็นตัวอย่างมาแล้วในอดีต อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้จะใช้ได้ผล ต่อเมื่อกำจัดการคอร์รัปชั่นและการแสวงผลประโยชน์จากการคุ้มครองของรัฐให้หมดสิ้นไปเสียก่อน นั่นย่อมหมายถึงความซื่อสัตย์สุจริตทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญ คำถามอมตะจึงผุดขึ้นมาอีกครั้งว่า "ใครจะปกครองพวกผู้ปกครอง?"
กฎหมายเกี่ยวกับความโปร่งใสและความรับผิดคือกุญแจสำคัญ เช่นเดียวกับเสรีภาพของสื่อและโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย เพื่อคงไว้ซึ่งการตรวจสอบทางการเมืองและการเลือกตั้ง เอ็นจีโอควรมีบทบาทสำคัญ เช่นเดียวกับการมีองค์กรอย่าง IMF และธนาคารโลกที่คอยให้คำปรึกษาอย่างเปิดกว้างและโปร่งใส
หากปราศจากเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะคอยตรวจสอบการคอร์รัปชั่น และการแสวงผลประโยชน์จากการคุ้มครอง นโยบายที่กล่าวมาข้างต้นจะสร้างผลร้ายยิ่งกว่าผลดี หากรัฐบาลมีแต่ความฉ้อฉลจนเน่าเฟะ ถ้าอย่างนั้นก็ควรจำกัดอำนาจของรัฐบาล ลดรายได้จากภาษี แล้วปล่อยให้เงินอยู่ในมือของภาคเอกชนดีกว่า
ทั้งหมดนี้นำไปสู่ประเด็นสำคัญ การเปิดเสรีการค้ามักถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกำจัดการคอร์รัปชั่นและการแสวงผลประโยชน์จากการคุ้มครอง นี่เป็นความเข้าใจผิด ถ้าปัญหาคือการคอร์รัปชั่นและการแสวงผลประโยชน์จากการคุ้มครองของรัฐ การแก้ไขที่ถูกต้องก็คือ สร้างมาตรการทางการเมืองและสถาบันที่จัดการโดยตรงกับปัญหานี้ โดยยังรักษานโยบายที่เกื้อหนุนความเติบโตและการพัฒนาไว้
การเปิดเสรีการค้าอาจลดการคอร์รัปชั่นได้ก็จริง แต่มันก็ทิ้งขว้างนโยบายการพัฒนาที่มีประโยชน์ไปด้วย นี่คือข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของวาระการเปิดเสรี การค้าไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อทำหน้าที่ทดแทนธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และภาคประชาสังคมที่ตื่นตัว นโยบายสาธารณะต่างหากควรส่งเสริมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้โดยตรง
ไปช้า
ๆ: นโยบายในโลกที่ไม่แน่นอน
ในเศรษฐศาสตร์มหภาค มีสัจพจน์ที่มีชื่อเสียงข้อหนึ่ง (Brainard, 1967) บอกไว้ว่า
"ถ้าไม่รู้ก็จงไปช้า ๆ" ตรรกะของสัจพจน์นี้ก็คือ ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงนโยบายขนานใหญ่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ (ที่ดีหรือเลวร้าย) อย่างสุดขั้ว
โดยหลักการแล้ว ความสุดขั้ว (เช่น มีกินจนล้นเหลือหรืออดอยากจนตาย) ล้วนไม่น่าพึงปรารถนา
การมีรายได้และการจ้างงานพอประมาณไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้น นโยบายจึงควรหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงฉับพลัน
สุภาษิตนี้ใช้ได้กับการเปิดเสรีการค้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับผลกระทบอยู่มาก
โลกาภิวัตน์ยังมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง นั่นคือ เงื่อนตาย มีอันตรายอย่างยิ่งในการวางนโยบายที่กลับตัวได้ยาก ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อาจทำให้เกิดนโยบายที่ผลปรากฏว่าไม่พึงปรารถนา แต่กลับเป็นเงื่อนตายที่ปิดกั้นทางเลือกอื่นที่พึงปรารถนามากกว่า
ข้อสรุปที่ได้จากเหตุผลสองประการข้างต้นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยและก้าวไปทีละขั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด นี่เป็นแนวทางที่แตกต่างอย่างมากจากคำอุปมาเกี่ยวกับ "โมเมนตัมของจักรยาน" ที่ฝ่ายสนับสนุน WTO ถีบกันอย่างสุดเหวี่ยง ข้ออ้างของฝ่ายนั้นคือ จำเป็นต้องมีการเปิดเสรีการค้าขนาดใหญ่อีกรอบหนึ่ง (รอบโดฮา) เพื่อให้ล้อจักรยานการค้าหมุนต่อไป ไม่เช่นนั้น จักรยานจะเสียโมเมนตัมและเสียหลักล้มลง ในทางตรงกันข้าม ทัศนะที่สนับสนุนการไปช้า ๆ คิดว่า การเสียหลักล้มลงก็ยังดีกว่าปั่นจักรยานจนตกหน้าผา
การเจรจารอบผลผลิตเขตร้อน
แนวคิดของการเปิดเสรีการค้าแบบก้าวไปทีละขั้นเสนอให้มีการเจรจาการค้ารอบผลผลิตเขตร้อน
โดยเกี่ยวข้องกับสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล ฝ้ายและน้ำส้ม เป็นต้น จุดเน้นอยู่ที่สินค้าที่เป็นผลประโยชน์มากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา
และเป็นสินค้าที่การอุดหนุนการเกษตรของซีกโลกเหนือก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุด
ในการวิวาทะทางทฤษฎี นี่เป็นประเด็นที่ทุกฟากฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ และน่าจะสร้างสถานการณ์ win-win ร่วมกันทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ในซีกโลกใต้ อาจมีผู้เสียประโยชน์บ้างในประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิต แต่ต้องนำเข้าสินค้าเขตร้อนเหล่านี้ เพราะราคาจะสูงขึ้นเนื่องจากการยกเลิกการอุดหนุนในซีกโลกเหนือ แต่การผลิตจะให้ผลตอบแทนมวลรวมเพิ่มมากขึ้นในซีกโลกใต้ ดังนั้น จึงมีแรงสนับสนุนทางการเมืองในซีกโลกใต้ต่อประเด็นนี้
เมื่อมองการเมืองในซีกโลกเหนือก็พอเห็นช่องทางที่ดีด้วย
ประการแรก การเจรจาการค้ารอบผลผลิตเขตร้อนจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้มีมากขึ้น เพราะมันย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนา (ความจริงการเจรจารอบโดฮาก็ถือว่าเป็นการเจรจารอบพัฒนาอยู่แล้ว)
ประการที่สอง ซีกโลกเหนือย่อมประหยัดงบประมาณของผู้เสียภาษีไปได้ก้อนใหญ่ จากการยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรบางอย่าง
ประการที่สาม ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าได้ในราคาต่ำลงเพราะการยกเลิกโควตา
ประการที่สี่ แรงงานในซีกโลกเหนือจะได้ผลประโยชน์ ทั้งในแง่ของผู้บริโภคและผู้เสียภาษี ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตก็ไม่กระทบกระเทือน กลุ่มอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนืออาจไม่พอใจที่ตนไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากข้อตกลง แต่พวกเขาก็ไม่เสียอะไรเลย และข้ออ้างอย่างเดียวที่จะบ่นได้คือ พวกเขาเสียโอกาสไปในการเจรจารอบหนึ่ง
ประการสุดท้าย ผู้ผลิตผลผลิตเขตร้อนในซีกโลกเหนืออยู่ในสถานะที่ต่อต้านประเด็นนี้ได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีประวัติทางการเมืองไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ตรงกันข้ามกับธุรกิจฟาร์มโคนมและธัญพืชที่มีประวัติทางการเมืองดีกว่ากันมาก
แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าการผลักดันให้เปิดการเจรจารอบผลผลิตเขตร้อนถูกบอกปัด
การสนับสนุนประเด็นนี้ก็อาจนำมาใช้ให้มีประโยชน์ต่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้
ประการแรก มันจะแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายที่วิจารณ์ WTO ไม่ได้ต่อต้านการค้า แต่สนับสนุนการค้าเช่นกัน
ประการที่สอง มันจะเปิดโปงให้เห็นว่า ฝ่ายที่แสดงตนสนับสนุนการค้าเสรี แท้ที่จริงแล้วต่อต้านการค้าเสรีเมื่อตนเองไม่ได้อย่างที่ต้องการ
บทสรุป:
ยุทธศาสตร์สำหรับนโยบายการค้าและการพัฒนาที่ก้าวหน้า
ข้อเสนอข้างต้นเกี่ยวกับการผลักดันการเจรจาการค้ารอบผลผลิตเขตร้อนเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า
การคิดออกนอกกรอบจำต้องใช้ยุทธศาสตร์ประสมประสานกันอย่างหลากหลาย การพยายามเข้าไปหันเหทิศทางการเจรจาจากข้างใน
WTO อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดนโยบายการค้าที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างแท้จริงได้
ยุทธศาสตร์ประการที่สองที่ต้องทำควบคู่ไปคือ ส่องไฟให้เห็นข้อบกพร่องขั้นรากฐานในทัศนะทางเศรษฐศาสตร์ของ WTO ที่มีต่อการค้า แน่นอน ข้อพึงสังวรที่มีอยู่เสมอคือ การก้าวเข้าไปพัวพันอยู่ใน WTO โดยตรง อาจเท่ากับตอกย้ำความชอบธรรมของทัศนะทางด้านการค้าของ WTO เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางข้อนี้ การเข้าไปมีส่วนร่วมใน WTO จะต้องปฏิเสธการแลกเปลี่ยนที่บูชายัญสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใด และข้อเสนอภายในทุกครั้งต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการวิจารณ์จากภายนอก ที่ท้าทายต่อวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ฝังรากอยู่ใน WTO
อย่างไรก็ตาม เราต้องพูดให้ชัดเจนว่า การท้าทายของคนนอกนี้มิใช่การปฏิเสธการค้า แต่เป็นการวิจารณ์วิธีคิดของ WTO ที่มีต่อการค้าและการพัฒนา
+++++++++++++++++++++++++++++++
1. ในปี 2002 ผมเคยเขียนถึงกรอบการพัฒนาที่เป็นทางเลือกอื่น ซึ่งหาอ่านได้ใน www.thomaspalley.com และ www.fpif.org.
2. ดู Bhagwati and Srinivassan, 1999.
3. Winters et al. (2004) เขียนไว้ว่า: "ไม่มีทางสรุปเหมารวมได้ง่าย ๆ ว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเสรีการค้ากับความยากจน ทฤษฎีตั้งสมมติฐานเบื้องต้นไว้ว่า การเปิดเสรีการค้าจะช่วยบรรเทาความยากจนในระยะยาวและโดยถ้วนหน้า กระนั้นก็ตาม มันไม่ได้ยืนยันว่า นโยบายการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการลดปัญหาความยากจน หรือผลกระทบในระยะสั้นและในระดับจุลภาคของการเปิดเสรีจะเป็นคุณต่อคนยากจนเสมอไป" (อ้างใน Mealy, 2005).
4. ดู World Bank Institute (2003).
5. มีการพูดกันอยู่บ้างถึง "ความช่วยเหลือแลกกับการค้า" โดยที่รัฐบาลในซีกโลกเหนือจะให้ความช่วยเหลือแลกกับการเปิดเสรีการค้าในซีกโลกใต้ แต่ต้องให้เป็นจำนวนเท่าไรยังไม่ลงตัว รวมทั้งระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือด้วย ยิ่งกว่านั้น การเมืองของความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศอาจอาศัย "ความช่วยเหลือแลกกับการค้า" นี้มาแทนที่การให้ความช่วยเหลือที่มีอยู่เดิม ซึ่งย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ขั้นสุดท้ายเพียงน้อยนิด ด้วยเหตุนี้ วาระของ "ความช่วยเหลือแลกกับการค้า" จึงมีข้อบกพร่องอยู่มากมาย
6. กราฟเส้นโค้ง Laffer ตั้งชื่อตาม Arthur Laffer ซึ่งเป็นคนแรกที่ชี้ให้เห็นเส้นความสัมพันธ์เหมือนหนอกบนหลังอูฐระหว่างอัตราภาษีกับรายได้จากภาษี
7. เอกสารสัมมนาว่าด้วยการวิเคราะห์ลูกโซ่มูลค่าของ Gereffi (1994).
8. นักเศรษฐศาสตร์พูดถึงการไต่ขึ้นไปตามลูกโซ่ของการเพิ่มมูลค่าสินค้า แต่จุดเน้นของนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ขั้นตอนการผลิต ส่วนจุดเน้นในที่นี้เกี่ยวข้องกับทัศนะในเรื่องอำนาจการต่อรอง ซึ่งระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และการสร้างยี่ห้อให้สินค้าเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนอำนาจการต่อรองระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิต
9. ความเปลี่ยนแปลงในการดักเก็บมูลค่าสะท้อนออกมาให้เห็น ในส่วนแบ่งค่าแรงที่ลดลงโดยทั่วไปในเกือบทุกประเทศของกลุ่ม OECD ปรากฏการณ์นี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 (OECD, Annex Table 23, 2003).
R.A. Blecker and A. Razmi, "Moving Up the Ladder to Escape the Adding-up
Constraint: New Evidence on the Fallacy of Composition," Unpublished
paper, 2005.
W. Brainard, "Uncertainty and the Effectiveness of Policy," American Economic Review, Vol. 57, pp. 411-25, 1967.
H-J. Chang, Kicking Away the Ladder: Development Strategy in Historical Perspective (London: Anthem Press, 2002).
G. Gereffi, "The Organization of Buyer-driven Global Commodity Chains: How U.S. Retailers Shape Overseas Production Networks," in G. Gereffi and N. Korzeniewicz(eds.), Commodity Chains and Global Capitalism (Westport: Praeger, 1994).
M.P. Mealy,
"Linkages between Trade, Development, and Poverty Reduction: Stakeholders'
Views from Asia on Pro-poor Trade Policies," Report prepared for CUTS-CITEE,
October 2005.
OECD Economic Outlook 2003 (Paris: Organization of Economic Cooperation
and Development, 2003).
K. H. O'Rourke, "Tariffs and Growth in the Late 19th Century," Economic Journal, Vol. 110, pp. 456-83, April 2000.
T.I. Palley, "Export-Led Growth: Is There Any Evidence of Crowding-Out?," in Arestiset al. (eds.), Globalization, Regionalism, and Economic Activity (Cheltenham, U.K.: Edward Elgar, 2003).
T.I. Palley, "A New Development Paradigm: Domestic Demand-Led Growth,"Foreign Policy In Focus, September 2002, at: http://www.fpif.org/ and also available at www.thomaspalley.com.
R. Prebisch, The Economic Development of Latin America and its Principle Problem (Santiago: UNECLA, 1950).
D. Rodrik and F. Rodriguez, "Trade Policy and Economic Growth: A Skeptic's Guide to the Cross-National Evidence," in B.Bernanke and K.S.Rogoff, eds.,Macroeconomics Annual 2000 ( Cambridge , MA : MIT Press for NBER, 2001).
H. W. Singer, "The Distribution of Gains Between Investing and Borrowing Countries," American Economic Review, Vol. 40, pp. 473-85, 1950.
L.A. Winters, N. McCulloch, and A. McKay, "Trade Liberalization and Poverty: The Evidence So Far," Journal of Economic Literature, Vol. XLII, pp. 72-115, March 2004.
World Bank Institute, "Trade for Development," Development Outreach, (Washington : July 2003).
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ปัญหาอย่างเดียวกัน
ยังเกิดกับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่กดราคาและทำลายเกษตรกรที่ผลิตเพื่อยังชีพ จริงอยู่
อาจมีข้อดีอยู่บ้างสำหรับคนงานในเมืองที่ซื้ออาหารได้ในราคาถูกลง แต่ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนของการล่มสลายทางสังคมขนานใหญ่ในชนบทด้วย
เมื่อชุมชนเกษตรกรรมถูกทำลายลงและอดีตเกษตรกรต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง คราวนี้คนงานในเมืองจะต้องเสียเปรียบถึงสองซ้ำสองซ้อน
ทั้งในแง่ที่อุปทานแรงงานในเมืองที่เพิ่มขึ้นจะกดค่าแรงต่ำลง และยังต้องสูญเสียโครงข่ายสังคมในชนบทที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันในชีวิตของครอบครัวขยาย
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวกับตลาดนี้อาจไม่คุ้มกับผลได้ทางการตลาดที่เกิดจากราคาสินค้าที่ต่ำลง
บทเรียนสำหรับนโยบายการค้าก็คือ การได้ราคาต่ำอาจมีต้นทุนที่สูงมากก็ได้