นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทบาทของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทสัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งนโม : การเมืองเรื่องสื่อ
สุขุม ชีวา และ สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

สัมภาษณ์และเรียบเรียง
www.localtalk2004.com

หมายเหตุ : บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้ว
บนหน้าเว็บไซต์
www.localtalk2004.com
นอกจากนี้ ในส่วนของภาคผนวกเป็น แถลงการณ์ชี้แจงของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรณีได้รับการตำหนิว่าเสนอข่าววิกฤตทักษิณอย่างไม่รอบด้าน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 859
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)




บทสัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งนโม : การเมืองเรื่องสื่อและเรื่องเกี่ยวเนื่อง
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย สุขุม ชีวา, สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

1. บทสัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งนโม : การเมืองเรื่องสื่อ
10 มีนาคม 2549 - www.localtalk2004.com
โลคัล ทอล์ค - ท้องถิ่นสนทนา 77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
email : [email protected]

ความย่อ : บทสัมภาษณ์ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงบทบาทการแสดงออกทางการเมืองในระบอบทักษิณ โดยเน้นอธิบายถึงการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมกับช่องทางการสื่อสาร เพื่อจุดประเด็นสาธารณะ และการไม่พึ่งพิงสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว แต่หันมาผลิตสื่อเอง ดังเช่น เว็บไซต์ที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

กระแสการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองดังขึ้นเรื่อย ๆ หลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่ายในสังคมกลับถูกปิดกั้น โดยเฉพาะทีวี และวิทยุ จนแทบจะเรียกว่าประชาชนถูกปิดหูปิดตา คำถามที่ผุดขึ้นมาว่าแล้วเราจะสื่อสารเรื่องราวอีกด้านหนึ่งได้อย่างไรท่ามกลางความมืดมนของสื่อกระแสหลัก แต่ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลับมองต่างมุมว่า ทุกวันนี้สื่อเปิดกว้างอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับเราใช้ความคิดกับสื่อเพียงพอแล้วหรือ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำงานและมีบทบาททางการเมืองในช่วงนี้อย่างไร?
ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำงานทางการเมืองมานานพอสมควร ไม่ใช่เพิ่งจะมาทำในระยะนี้เท่านั้น จะเห็นว่าเราเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทวงสิทธิคืน ในทรัพยากรดิน น้ำ ป่า มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ลำพูนก็ดี(การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน) สมัชชาคนจนก็ดี หรือแม้แต่บ้านกรูด บ่อนอก(โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประจวบคีรีขันธ์) สนับสนุนชาวจะนะในการคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เหล่านี้คือการทวงสิทธิคืนให้กับประชาชนที่จะคุ้มครองปกป้องทรัพยากรของพวกเขาเอง

ปัญหาพวกนี้ล้วนเป็นปัญหาการเมืองทั้งนั้น ซึ่งเราทำมาตลอด สิ่งที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเน้นคือ ปัญหาของชาวบ้านเป็นประเด็นหลัก ปัญหาที่ไม่ถูกจุดขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะมาก่อน เพื่อให้ปัญหาของชาวบ้านต่าง ๆ เป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนจับตามอง สนใจ และเร่งเร้าให้บรรลุผล

ประเด็นส่วนใหญ่ของเราเป็นประเด็นของชาวบ้านคนชายขอบ ประมาณ 70% ของประชากรไทยที่ถูกช่วงชิงทรัพยากรหรือถูกจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ยุติธรรม ปกติคนที่ได้ทรัพยากรมากที่สุดในสังคมไทยคือ กลุ่มของชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 20 - 30% ใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศ คุณจะเห็นว่างบประมาณต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดสรรให้ มันลงมาสู่เมืองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และด้านบริการต่างๆ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพียงแต่เข้ามา เพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการกระจายจัดสรรทรัพยากรไปถึงชาวบ้านให้มากกว่านี้ ดังนั้นเราจึงเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขหรือเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น ในขณะที่คนกลุ่มอื่นอาจจะเรียกร้องให้มีการปรับปรุงที่เป็นเงื่อนไขผลประโยชน์สำหรับกลุ่มของเขา แต่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำหน้าที่เป็นตัวแทน และเคียงข้างชาวบ้านส่วนใหญ่ที่จะช่วยให้เขาได้เข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีรูปแบบการสื่อสารเพื่อเสนอเป็นประเด็นสาธารณะอย่างไร?
เราทำหลายอย่างเช่น บางทีถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน เราใช้วิธีแถลงการณ์ ถ้าเป็นประเด็นที่ต่อสู้ในพื้นที่ เราก็จะลงไปในพื้นที่ โดยการพยายามชักชวนสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ เราเลือกเชิญเพื่อนสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้ที่เดือดร้อนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงอภิปราย ซึ่งเราจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมจากพื้นที่เฉพาะ ไปสู่สาธารณะ

การทำงานของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใครบ้าง?
เท่าที่ผ่านมาการเคลื่อนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับความสนใจพอสมควร เราทำหน้าที่เป็นสื่อด้วย ในขณะเดียวกันเราทำหน้าที่เป็นนักวิชาการโดยตัวของเราเอง เพราะเราลงไปวิจัย ค้นหาความรู้ แล้วเอาสิ่งที่เราค้นพบออกไปสู่สาธารณชน ผมคิดว่า คนที่สนใจเราไม่ใช่เป็นเซลล์นอนหลับ ไม่ใช่เป็น sleeping cell ส่วนใหญ่คนที่สนใจเราคือ นักศึกษา นักวิชาการ บุคคลทั่วไปที่ค่อนข้างสนใจปัญหาสังคมและการเมือง

ช่องทางการสื่อแบบไหนที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเลือกใช้แล้วได้ผล?

มันได้ผลทุกอย่าง คือเราต้องเข้าใจว่า สาร หรือ message ที่เราจะเสนอคืออะไรชนิดใด เช่น สารมันเย็น มันร้อน หรือว่าธรรมดา หลังจากนั้นเราจะเลือก channel หรือช่องทางในการสื่อ ซึ่งมีหลายระดับ เช่น วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต การพูดคุยกันก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับสาร เช่น สารนี้ร้อนไหม เป็นเรื่องของ conflict issue (ประเด็นขัดแย้ง) หรือเปล่า ต้องทันทีไหม ถ้าเป็นประเด็นแบบเย็น ๆ คนเรียนรู้ educate (ให้การศึกษา) ไปเรื่อย ๆ ก็เลือกอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นเวลาที่เราอยู่กับสื่อ เราต้องเข้าใจสื่อพอสมควรว่า ช่องทางสื่อชนิดใดเหมาะกับสารชนิดไหน

อย่างพ็อคเก็ตบุ๊คของมหาวิทยาลัยเที่ยง เราผลิตไปแล้ว 2 ชุด เรียกว่า ชุดความรู้เที่ยงคืน ชุดแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องโลกาภิวัตน์ ชุดที่สองเป็นเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของอุดมศึกษาในทัศนะที่แตกต่างไปจากการอุดมศึกษาแบบกระแสหลัก ชุดต่อไปที่เราจะผลิตเกี่ยวกับมลายูศึกษา ซึ่งถ้าคุณสนใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ คุณกลับไปค้นดี ๆ จะพบว่ามลายูศึกษาในประเทศไทยไม่กว้างขวาง และลึกซึ้งเท่าที่ควร มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงอยากทำในสิ่งที่คนยังไม่รู้ให้รู้มากขึ้น รู้ในสิ่งที่แคบให้กว้างขวางมากขึ้น ในแง่นี้ให้การศึกษา

และอีกประเด็นหนึ่งคือประเด็นที่สังคมสนใจเกี่ยวกับชาวมลายูมุสลิม ปัจจุบันคือความพยายามหาทางออกและสร้างความสงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ จากปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาประมาณ 2 ปี ทุกคนมองไปที่ทางออกซึ่งมีคนพูดกันเยอะแล้ว แต่เราสนใจสาเหตุ เราช่วยเติมเต็มในสิ่งที่สังคมไม่มี พยายามถมช่องของความขาดหรือไม่มีอยู่ในสังคม คือความรู้เกี่ยวกับมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ การพัฒนาของท้องถิ่น และการเมืองในท้องถิ่น เป็นต้น

แม้ว่าเราจะเสนอประเด็นจุดประกายแก่สังคม แต่การปิดกั้นของสื่อกระแสหลักเป็นขั้น ๆ อย่างทุกวันนี้ ทำให้ข่าวสารไม่ได้สื่อออกไป อาจารย์คิดว่าเราจะมีทางแก้ไขอย่างไร?
ผมคิดว่ามันแก้ได้ง่ายนิดเดียว และทุกคนก็แก้ได้มาแล้วหลายประเทศ เช่น คุณปิดกั้นสื่อกระแสหลัก สมัยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ในรัสเซียเขาก็ใช้แฟ็กซ์ เราจะเห็นว่าการปลดนายกฯชวลิต ในช่วงที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงในปี 2540 ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลาง เราก็ใช้แฟ็กซ์ ปัจจุบันผมว่ายิ่งง่ายใหญ่ เราใช้อินเทอร์เน็ต คุณจะถ่ายทอดเราหรือไม่ถ่ายทอดเรา เรามีกระบอกเสียงของเราเอง เรามีช่องทางสื่อของเราเองที่จะถ่ายทอดสารของเราออกไปข้างนอก อินเทอร์เน็ตมีราคาถูกด้วย ถ้าคุณเก่งหน่อยก็ขอใช้ฟรีในระยะเวลาสั้น ๆ ก็เสนอข่าวสารได้

ผมว่าเรารณรงค์ได้เยอะแยะที่จะส่งสารออกไป เพียงแต่ว่าเราเริ่มคิดหรือยัง ถ้ามัวแต่คิดจะพึ่งสื่อกระแสหลักตลอด เราเข้าไม่ถึงแน่นอน ถึงแม้เราจะทำเองก็ต้นทุนสูงมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตสื่อขนาดนั้นได้ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือใช้ความคิดว่าคุณจะสื่อได้อย่างไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าเราจะต่อต้านทักษิณ ณ วันนี้ คุณแค่ทำสติ๊กเกอร์ง่าย ๆ ติดไว้หลังรถว่า "ถ้าคุณคิดว่าทักษิณเลี่ยงภาษี กรุณากดแตร" แล้วขี่ไปรอบเมือง ผมคิดว่าคุณจะได้ยินเสียงแตรบีบตามท้ายรถตลอด หรือว่าเราอยากจะสื่อให้กว้างกว่านี้ ก็ใช้อินเทอร์เน็ต เรายังมีวิธีการอีกเยอะแยะที่เราจะต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม โดยการพยายามสร้างสื่อของเราเองขึ้นมาต่อรอง แล้วกระจายไปสู่สังคมโดยไม่พึ่งพิงสื่อส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

อาจารย์ทำเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมานานแล้ว นำมาอธิบายในแง่สื่อที่ผลิตเอง ไม่ใช่สื่อกระแสหลักได้อย่างไร?
ระยะแรกเราลงทุนด้วยเงินจำนวนศูนย์บาท คือขอใช้เนื้อที่ฟรีของ yahoo การตอบรับสื่อเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีคนสนใจเยอะเพราะว่า bandwidth* เต็มบ่อยๆ หมายถึงว่าคุณไม่สามารถ log เข้ามาพร้อม ๆ กัน แล้ว download ข้อมูลไปใช้ในเวลาเดียวกันได้ ภายหลังเราจึงย้ายมาอยู่กับ www.thaiis.org ซึ่งเป็นเว็บธุรกิจที่ทำงานเพื่อสังคม ซึ่งเขาให้ใช้เนื้อที่ฟรี อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ วันที่ 27, 28, 29 ของทุกๆเดือน bandwidth ก็จะเต็มเหมือนกัน ปัจจุบันมีคนเข้ามาดูเว็บของเราประมาณ 2 ล้านคลิก หรือมากกว่านั้นต่อเดือน แล้ว IP* ไม่ซ้ำกันประมาณเป็นแสนๆ IP ( bandwidth คืออัตราการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต, IP หรือ Internet Protocol คือมาตรฐานการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีหมายเลขประจำตัวผู้ส่งและผู้รับอยู่ด้วย)

ถ้าบอกว่าจำนวนผู้เข้าเว็บของเราเป็นใคร เราแยกแยะได้หมดเพราะว่าเรามีแบบสอบถามสมาชิกของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือ นักศึกษาปริญญาตรี 70% ปริญญาโท 20 - 25% และปริญญาเอกประมาณ 5% และที่เรารู้ว่าเป็นกลุ่มเหล่านี้เพราะระบบสมาชิกของเรา และส่วนใหญ่เวลา log in เข้ามาเวลาบ่าย 2 - 3 โมง หมายถึงเรียนหนังสือแล้วตอนบ่ายเริ่มว่าง หรือถ้าเป็นคนทำงาน หรือคนที่อยู่ภาคบริการ บ่ายสามก็เริ่มว่าง ก่อนกลับบ้านนิดหน่อยก็จะเข้ามาดูหน่อยว่า วันนี้เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปถึงไหน เสนอเรื่องอะไร มีความรู้อะไรใหม่ๆให้นำไปใช้ประโยชน์ฟรี

สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ อาจารย์มีมุมมองในการปฏิรูปการเมืองอย่างไร?
ผมคิดว่าประการแรกสุดคือการปฏิรูปการเมืองทุกวันนี้ ไปตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางโดยส่วนใหญ่ ผมอยากจะย้อนกลับไปให้เราได้เห็นภาพรูปธรรมที่แท้จริง จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมานี้แน่นอนว่าเป็นเรื่องความรุนแรง มีการเสียเลือดเนื้อ สำหรับการลงทุนขนาดนั้นโดยลงทุนถึงชีวิต

สิ่งที่ได้กลับมาโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของชนชั้นกลาง คือเรามีเสรีภาพมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ได้มากขึ้น เรากำกับรัฐบาลได้มากขึ้น แต่ย้อนกลับไปดูชาวบ้านยังอยู่ที่เดิม ชาวบ้านยังคงเข้าไม่ถึงทรัพยากรตั้งแต่วันนั้น และ ณ วันนี้ 30 ปีชาวบ้านยังยืนอยู่ที่เดิม ใครจะเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า 30 ปีของการพยายามปฏิรูปการเมือง ชาวบ้าน 70% ยังยืนอยู่ที่เดิม

สิ่งที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอยากจะทำในการปฏิรูปการเมืองคือว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านสามารถมีสิทธิ คุ้มครอง ปกป้องและเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน หรือขยายพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้มากขึ้น เราอยากขยับให้ชาวบ้านเข้ามีสิทธิมีเสียงในการเข้าถึงทรัพยากร ผมคิดว่านี่เป็นช่องว่างที่เราไม่ได้คิดกันส่วนใหญ่

ประเด็นที่สอง ที่เราสนใจคือเราปฏิเสธอำนาจนอกระบบ เพราะว่าอำนาจนอกระบบไม่วางอยู่ในมาตราใดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย เราไม่สามารถกำกับ ดูแลหรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทหาร หรือแม้แต่อำนาจของรัฐบาลพระราชทานก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เราควรต้องระวังเวลาที่เราเรียกร้องอำนาจคืน เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยคืนคิดคือ พลังอำนาจของประชาชน หรืออธิปไตยของประชาชน การมีสิทธิมีส่วนในการกำกับ ควบคุม และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ไปตามทิศทางที่ประชาชนต้องการ

อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยที่ท้องสนามหลวง?
ผมคิดว่าถูกต้อง สนับสนุนส่งเสริม และเห็นด้วย คืออย่างนี้บนขบวนรถไฟที่มุ่งไปสู่ความหายนะ คุณควรกระโดดลงมา การเมืองที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ การอิงแอบแฝงเอาธุรกิจเข้าไปบิดเบือนนโยบายการพัฒนาของรัฐ เพื่อเอื้ออำนวยต่อเครือญาติและเพื่อนฝูง ผมถือว่าเป็นขบวนรถไฟสายมรณะ คุณควรกระโดดออกจากรถไฟขบวนนี้ แล้วหยุดมันซะ หรือถ้าคุณอยู่บนขบวนรถไฟ หมายถึงอยู่ในระบบนี้ ซึ่งเราก็อยู่ไม่ได้เพราะเราไม่ใช่นักการเมือง คุณควรจะห้ามล้อรถไฟไหม ถ้าอยู่นอกระบบ คุณควรจะขวางทางมันไว้

ผมคิดว่าอำนาจนอกระบบ (การชุมนุมทางการเมืองโดยสันติ - ผู้สัมภาษณ์) เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการควบคุมรัฐได้ชนิดหนึ่งด้วย ผมยกตัวอย่างสิ่งที่ทักษิณชอบยกตัวอย่างคือเกมฟุตบอล เอาง่าย ๆ ว่าเรามีเกมกติกาในการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้อง และมีกรรมการคอยเป่าให้เล่นถูกกติกา หลายครั้งที่เราเห็นว่ากรรมการเป่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อำนาจนอกระบบเหมือนกับคนเชียร์ที่คอยโห่กรรมการว่า เฮ้ย คุณเป่าไม่ยุติธรรม เราอยู่ในสนามเดียวกัน แต่เราไม่ได้อยู่ในสนามสีเขียวที่กำลังเตะฟุตบอลอยู่ เราเป็นคนดูรอบ ๆ สนาม เรากำกับเกมได้โดยการเชียร์ เช่นเวลาที่ข้างเราบุก เราพยายามเชียร์ มันเป็นการส่งเสริมกำลังใจ เวลากรรมการเป่าไม่ยุติธรรมเราโห่เพื่อให้กรรมการระวังมากขึ้น กรรมการก็ตกใจพอสมควรเพราะคนดูเลือกโห่ กรรมการจะเริ่มตระหนักรู้ว่ามีคนจับตามองอยู่ ฉะนั้นจริง ๆ

คือว่าหากเราจะแบ่งว่าการเมืองในระบบหรือนอกระบบ เราจะแบ่งก็แบ่งได้ ถ้าถามว่าแบ่งแล้วมันแยกขาดจากกันเลยไหม คำตอบคือมันไม่แยกขาดจากกัน เหมือนอย่างกับเกมฟุตบอล นี่แหละสิ่งที่เราสนใจก็คือการเมืองแบบอำนาจของประชาชนหมายถึงอย่างนี้ เราเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและตรวจสอบได้ แม้ว่าเราจะอยู่วงนอก เราก็สามารถกำกับการเมืองได้ ผ่านเสียงโห่ร้องและไม่พอใจผ่านสื่อต่างๆ ที่เรามี ไม่ว่าจะสื่อกระแสหลักหรือสื่อกระแสรอง

2. ภาคผนวก :
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ปกป้องสื่อทีวี ทำหน้าที่เหมาะสมแล้ว
เจาะกรอบเล็กถ่ายทอดสดข่าวม็อบเวลาละครไพร์มไทม์ พร้อมสนับสนุนสื่อ รายงานอย่างครบถ้วน รอบด้านและเป็นธรรม

วันนี้ (9 มี.ค. 49) คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้มีการประชุมประจำเดือนมีนามคม 2549 และมีวาระสำคัญในการพิจารณาคือ บทบาทหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อมูลของสื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะล่าสุด กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวหาว่า สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบก ช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี รายงานข่าวไม่เป็นกลาง โดยให้พื้นที่กับกลุ่มพันธมิตรฯและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมากจนเกินไป

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯเห็นว่าการที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ รายงานเหตุการณ์อย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารอย่างทันท่วงที ถือเป็นการแสดงบทบาทสื่อมวลชนที่เหมาะสมแล้ว กรณีของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่ยอมเจาะกรอบเล็กๆระหว่างรายการละครและบันเทิงช่วงไพร์มไทม์ เพื่อถ่ายทอดความเคลื่อนไหวชุมนุม นับเป็นความกล้าหาญ ที่ควรยกย่องและชื่นชม เพราะสื่อวิทยุและโทรทัศน์สามารถรายงานข่าวสารไปถึงผู้ฟัง ผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีใครสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ ดังนั้นการให้ข้อมูลสดที่ทันต่อเหตุการณ์ จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ผู้ที่อยู่ทางบ้านได้รู้ความเคลื่อนไหว อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง และไม่ปิดกั้นช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชนซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาชีพสื่อสารมวลชน

จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พัฒนาการเพื่อเพิ่มพื้นที่ข่าวให้กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น มีมากขึ้นจากเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะเป็นกำลังใจและสนับสนุน ยืนเคียงข้างเพื่อนสื่อมวลชนทุกแขนงที่ปฏิบัติงานโดยยึดหลักความถูกต้อง เป็นกลาง เป็นธรรม ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะไปยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรี เชิญมาร่วมเวทีพบปะกับสื่อมวลชน หลังจากอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเสนอข่าวรัฐบาล

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
9 มีนาคม 2549

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
110349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผมคิดว่าอำนาจนอกระบบ (การชุมนุมทางการเมืองโดยสันติ) เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการควบคุมรัฐได้ชนิดหนึ่งด้วย ผมยกตัวอย่างสิ่งที่ทักษิณชอบยกตัวอย่างคือเกมฟุตบอล เอาง่าย ๆ ว่าเรามีเกมกติกาในการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้อง และมีกรรมการคอยเป่าให้เล่นถูกกติกา หลายครั้งที่เราเห็นว่ากรรมการเป่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อำนาจนอกระบบเหมือนกับคนเชียร์ที่คอยโห่กรรมการว่า เฮ้ย คุณเป่าไม่ยุติธรรม เราอยู่ในสนามเดียวกัน แต่เราไม่ได้อยู่ในสนามสีเขียวที่กำลังเตะฟุตบอลอยู่ เราเป็นคนดูรอบ ๆ สนาม เรากำกับเกมได้โดยการเชียร์ เช่นเวลาที่ข้างเราบุก เราพยายามเชียร์ มันเป็นการส่งเสริมกำลังใจ เวลากรรมการเป่าไม่ยุติธรรมเราโห่เพื่อให้กรรมการระวังมากขึ้น กรรมการก็ตกใจพอสมควรเพราะคนดูเลือกโห่ กรรมการจะเริ่มตระหนักรู้ว่ามีคนจับตามองอยู่ ฉะนั้นจริง ๆ

The Midnightuniv website 2006