นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University



การเมืองเรื่องวุ่นๆ และชุลมุน
ณ วันนี้ที่ย้อนกลับไปของนายกทักษิณ
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ
ข้อมูลในหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยร่วมสมัย
๑. วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ ๒. เชลย ๓. ภาษี, กฎหมาย และความชอบธรรม

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 847
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




ณ วันนี้ที่ย้อนกลับไปของนายกทักษิณ
การเมืองเรื่องวุ่นๆ และชุลมุน

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

๑. วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ
จนถึงเดี๋ยวนี้ ผมก็ยังไม่ได้ร่วมลงชื่อขับไล่ทักษิณ ไม่เคยร่วมแถลงข่าวกดดันให้นายกฯ ลาออก
และแน่นอนว่าไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะที่สวนลุมฯ ลานพระบรมรูป หรือสนามหลวงเลยสักครั้งเดียว ไม่ใช่เพราะผมเห็นว่า คุณทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความบกพร่องอะไรในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นะครับ

ตรงกันข้ามเลย ผมเห็นว่าคุณทักษิณขาดความชอบธรรมทางการเมืองมานานเต็มทีแล้ว นับตั้งแต่ปล่อยให้มีคนถูกประหาร โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมกว่า 2,000 คน ในสงครามปราบยาเสพติด ตั้งแต่ทำโครงการนานาชนิดกับประชาชนระดับล่าง แล้วไม่ติดตามสนับสนุนให้ลุล่วงเป็นมรรคผลสักโครงการเดียว

ตั้งแต่ผิดคำพูดกับสมัชชาคนจน อันเป็นกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างชะตากรรมของคนจนกับของอุตสาหกรที่ไม่มีกึ๋นจะแข่งกับใคร นอกจากเบียดเบียนทรัพยากรของเพื่อนร่วมชาติเพื่อผลิตพลังงานราคาถูกให้ผลาญ คุณทักษิณเลือกเพื่อนของตัวในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมก่อน

ตั้งแต่ประเมินสถานการณ์ภาคใต้ผิด แล้วปล่อยให้มีการอุ้มฆ่าผู้คน ด้วยความคิดตื้นเขินว่าอำนาจดิบ สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ง่ายและเร็ว จนทำให้เกิดการสังหารหมู่ที่กรือเซะโดยไม่ขยับลงโทษผู้กระทำผิด แม้เป็นเรื่องที่ปิดลับต่อไปไม่ได้แล้ว ปล่อยให้กระทำทารุณต่อประชาชนถึงกับต้องล้มตายร่วมร้อยในกรณีตากใบ และจนถึงทุกวันนี้คุณทักษิณก็ยังเห็นเรื่องร้ายแรงขนาดนั้นว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคเท่านั้น คือมีรถไม่พอขนคน

ตั้งแต่ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ส่อให้เชื่อได้ว่าเอื้อต่อธุรกิจตนเองและพวกพ้อง แม้มาตรการเหล่านั้นหลายเรื่องสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ประชาชนบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรผู้ปลูกหอมกระเทียมไปจนถึงผู้เลี้ยงโคนม ฯลฯ

ตั้งแต่ทำให้องค์กรและกระบวนการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยง่อยเปลี้ยเสียขา เอาเครื่องมือของรัฐเช่น ปปง. ซึ่งควรมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการตรวจสอบทรัพย์สมบัติของนักการเมืองฉ้อฉล ไปใช้ในทางข่มขู่คุกคามศัตรูทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่หน่วยราชการอื่นๆ เช่นสรรพากรไปจนถึงองค์กรนอกราชการ เช่น ก.ล.ต. ซึ่งสังคมกำลังเขียนเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเฮิ่มอยู่เวลานี้

โอ๊ยพรรณนาไปก็หมดหน้ากระดาษเปล่าครับ

แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้เห็นว่าคนที่กำลังล่ารายชื่อถอดถอนคุณทักษิณ คนที่ออกมาแถลงข่าวความไม่ชอบธรรมในตำแหน่งนายกฯ หรือคนที่เคลื่อนไหวชุมนุมขับไล่ ฯลฯ ทำอะไรนอกกติกาอย่างที่รัฐบาลพยายามสร้างภาพอยู่เวลานี้ กติกาของระบอบประชาธิปไตยต้องมีพื้นที่สำหรับทุกคน ทุกความเห็น ที่จะแสดงออกได้เสมอ มีแต่กติกาของคุณทักษิณเท่านั้นที่ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับใครเลยนอกจากพรรคพวกและขาเชลียร์

คงไม่ลืม ทนายสมชาย นีละไพจิตร นะครับ นั่นแหละเคลื่อนไหวตาม "กติกา" เปี๊ยบเลย แต่กลับถูกอุ้มหายไปโดยหาคนรับผิดชอบอะไรไม่ได้ แม้แต่นายกรัฐมนตรี (ซึ่งเคยแสดงความอวดรู้ว่าเขาทะเลาะกับเมีย) ก็ไม่อายต่อความล้มเหลวที่จะรักษาพื้นที่ใน "กติกา" ให้ปลอดภัย

คนที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันและขับไล่คุณทักษิณ ยังไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายหลักๆ สักข้อ

ถ้าจะบอกว่าวิถีทางของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะอยู่หรือไปอยู่ในสภาเท่านั้น ผมก็อยากถามว่าใครสั่งสอนคุณมาอย่างนี้ สภาเป็นหนึ่งในวิถีทางเท่านั้น พื้นที่ข้างนอกไม่ว่าจะเป็นสื่อ (ที่ไม่ถูกครอบงำ) ในไซเบอร์สเปซ, ในข่าวลือ, ในถนน ฯลฯ ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางของการควบคุมกำกับรัฐบาลทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นการเลือกตั้งที่พรรค ทรท. ฝากความหวังไว้อย่างเหนียวแน่นจะมีความหมายอะไร นอกจากการแสดงปาหี่ให้ดู 60 วันก่อนการตัดสินใจสำคัญทางการเมืองของประชาชน

ถ้าจะหาข้อละเมิดกฎหมายของผู้เคลื่อนไหวในตอนนี้ให้ได้ ก็อาจมีกฎหมายป่าเถื่อน เช่น การชุมนุมเกิน 10 คน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการจลาจลขึ้นได้ โดยอาศัยวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะเกิดหรือไม่เกิดจลาจล กฎหมายนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ยังคงใช้สืบเนื่องมา ตามแต่วินิจฉัยของตำรวจว่า หัวชาวบ้านกลุ่มใดควรถูกตีให้แตกเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

กฎหมายสับปะรังเคของเผด็จการฉบับเดียว ยังไม่มีปัญญาจะยกเลิก อุตริจะมาคิดแก้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แม้เชียร์อยู่ในใจให้เขาประสบความสำเร็จ ผมก็ไม่ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่คือเพื่อนฝูงที่รักใคร่นับถือกันทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะไม่เห็นด้วยนะครับ แต่เพราะเป้าหมายของผมไม่ได้อยู่ที่เอาคุณทักษิณออกไป เท่ากับเอาประเทศไทยคืนมา คืนมาให้ใคร?

ต้องคืนมาให้แก่ประชาชนซึ่งประกอบด้วยคนหลายจำพวก นักธุรกิจแบบคุณทักษิณ, บริวาร และพันธมิตรก็มี, เกษตรกรรายย่อยก็มี, กรรมกรก็มี, นักบวชก็มี, คนพิการก็มี, นักวิชาการก็มี, ช่างตัดผมก็มี ฯลฯ ถ้าคืนมาให้เฉพาะคนชั้นกลางในเมือง ผมไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ต่างกันมากนัก เพราะสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งนั้นไม่ใช่ทักษิณ แต่คือ "คนอย่างทักษิณ" ต่างหาก

และคนอย่างทักษิณนั้นไม่ได้มีเฉพาะเศรษฐี ซึ่งยังอธิบายธนสารสมบัติของตัวไม่ได้เป็นที่กระจ่างใจแก่คนไทยจำนวนมากเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนอื่นๆ อีกมากที่อยู่ในกลุ่มคนชั้นกลาง ทั้งที่อยู่ในสภาพัฒน์, ในตลาดหลักทรัพย์ฯ, ในวงการเมือง หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในที่เหล่านั้นเลย แต่ถูกครอบงำด้วยอุดมคติและโลกทรรศน์แบบนั้น เช่น คุณชวน หลีกภัย, คุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ ก็อาจมีความเป็นคนอย่างทักษิณผสมปนเปอยู่ในตัวมากทีเดียว

ทั้งนี้ เพราะความเป็นคนอย่างทักษิณนั้นเป็นวัฒนธรรมครับ คือเป็นวิถีคิดและโลกทรรศน์ของคนจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดอยู่กับคนไม่กี่คน จะพูดว่าเป็น "กระแสสังคม" ก็ได้ แพร่หลายอยู่ในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งผ่านระบบการศึกษาที่เสี้ยมสอนให้เป็นอย่างนี้, ผ่านระบบเศรษฐกิจที่ประสานผลประโยชน์ของคนชั้นกลางบางส่วนเข้ากับธุรกิจใหญ่ และผ่านระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้เฉพาะคนชั้นกลางเท่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างเป็นผล

ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องขับไล่ออกไปจากการเมืองของเรา ขับไล่ออกไปจากตำแหน่งผู้นำทางการเมือง ขับไล่ออกไปจากวิถีคิดและโลกทรรศน์ของสังคมไทยคือ วัฒนธรรมของคนอย่างทักษิณ ซึ่งแม้ว่าคุณทักษิณอาจหลุดจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว ก็ยังมีคนอย่างทักษิณที่พร้อมจะเข้ามาเป็นนายกฯ ต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ด้วยเสียงเชียร์ในตอนแรกเหมือนเดิม

วัฒนธรรมหรือวิถีคิดและโลกทรรศน์ดังกล่าว ในทัศนะของผม มีสองส่วนสำคัญคือ อำนาจนิยม และเสรีนิยมใหม่

อํานาจนิยมไม่ได้หมายความถึงระบอบเผด็จการเพียงอย่างเดียว แม้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในชีวิตปกติ ก็อาจมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมได้ เพราะอำนาจนิยมหมายถึงความเชื่อว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพมีอยู่อย่างเดียว คือการใช้อำนาจเด็ดขาด

ความนิยมที่คุณทักษิณเคยได้รับอย่างท่วมท้นมาจากไหน โพลสำนักต่างๆ สำรวจแล้วได้ผลตรงกันว่า ประชาชนนิยมคุณทักษิณที่ความเด็ดขาดและกล้าตัดสินใจ แปลออกมาให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือ แก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการตัดสินใจแต่ผู้เดียว แล้วใช้อำนาจเด็ดขาดดำเนินการ

อำนาจนั้นจำเป็นแน่ครับในการจัดการ แต่อำนาจที่เด็ดขาดของเถ้าแก่ไม่เปิดโอกาสให้มีการไตร่ตรองจากหลายฝ่าย ใครโดนเหยียบเท้าก็ร้องบอกไม่ได้ หรือถึงบอกได้ก็จะได้รับแค่คำปลอบโยนว่าทนไป แล้วจะดีเอง ไม่ดีแก่ลื้อ ก็ดีแก่บริษัทของอั๊ว และด้วยเหตุดังนั้น คนอย่างคุณทักษิณจึงไม่ยอมรับการตรวจสอบ ไม่ว่าจะตรวจสอบโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรภาคประชาชน อำนาจที่ถูกตรวจสอบทัดทานได้ ทำให้ไม่อาจจัดการอะไรด้วยอำนาจเด็ดขาดได้

นั่นคือที่มาของเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญของการฆาตกรรมในสงครามยาเสพติด (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมสืบมา เพียงแต่สื่อไม่ปล่อยให้เสียงบ่นเล็ดลอดออกมามากเกินไปเท่านั้น) แม้แต่นักวิชาการระดับเคยบริหารสำนักวิจัยใหญ่บางแห่ง ยังเคยสรรเสริญเอฟทีเอกับจีนและอินเดีย ซึ่งทำกันขึ้นอย่างรวบรัดแบบกล้าตัดสินใจและเด็ดขาด ที่อยู่ในวัฒนธรรมคนแบบทักษิณนี่แหละครับ

การมองแต่อำนาจเป็นหนทางแก้ปัญหาทุกอย่างไปหมด จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับทักษิณ แต่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของคนชั้นกลางไทย ซึ่งเคยชินแต่กับการเมืองเผด็จการมาตลอด และผมคิดว่าเราต้องล้มวัฒนธรรมนี้ ซึ่งในปัจจุบัน คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุด แต่ล้มคุณทักษิณคนเดียว ไม่กระเทือนอะไรกับวัฒนธรรมนี้เลย เดี๋ยวคนอย่างคุณทักษิณก็กลับมาใหม่

อีกส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนอย่างทักษิณก็คือ คนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า ควรให้โอกาสอย่างไม่อั้นแก่นักลงทุน เพราะผลกำไรของนักลงทุนจะทำให้บ้านเมืองเจริญ และคนอื่นๆ ก็จะได้ผลดีตามไปด้วย โอกาสที่ต้องเปิดให้นักลงทุนหมายถึงโอกาสที่นักลงทุนไปแย่งเอาทรัพยากรของชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ โดยไม่จ่าย, จ่ายไม่คุ้ม, หรือเอาไปแฝงไว้ในงบประมาณแผ่นดิน ทั้งหมดนี้รัฐไม่ควรแทรกแซงเพื่อปกป้องประชาชน ถ้ารัฐจะแทรกก็คือแทรกเข้าไปตีหัวชาวบ้านที่ออกมาปกป้องทรัพยากรของชุมชน

ผมเรียกวัฒนธรรมส่วนนี้ว่าเสรีนิยมใหม่ เพราะมีลักษณะตรงกันกับปรัชญาเสรีนิยมใหม่ที่แพร่หลายในโลกทุนนิยมตะวันตก แต่ไม่ได้แปลว่าคนชั้นกลางไทยรับจากฝรั่ง เพราะเราถูกกล่อมให้คิดอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มนโยบายพัฒนา ก่อนหน้าที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะระบาดในโลกตะวันตกเสียอีก วัฒนธรรมอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีความหมายแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เฉพาะคนชั้นกลางซึ่งสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างได้ผลเท่านั้น ที่อาจได้ประโยชน์บ้าง

และวัฒนธรรมอย่างนี้ ก็อยู่กับชนชั้นนำไทยมาตั้งแต่สมัยเริ่มการพัฒนาเป็นต้นมาจนบัดนี้ ทักษิณ ชินวัตร แสดงส่วนที่หยาบที่สุดของวัฒนธรรมเสรีนิยมใหม่ให้เห็นได้ชัดเท่านั้น ไม่ได้แปลว่า นายกฯ คนอื่นยึดถือวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป

ฉะนั้น การกดดันขับไล่ทักษิณให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จึงเป็นเพียงการขับไล่สัญลักษณ์ ไม่ใช่ขับไล่ความอยุติธรรมและความป่าเถื่อนของอำนาจ ซึ่งพร้อมจะกลับมาครอบงำคนไทยได้อีกเสมอ

๒. เชลย
ผมกับเพื่อนเถียงกันว่า การที่นายกรัฐมนตรีตกเป็นเชลยของกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรค จะเป็นผลให้นายกฯต้องหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ ผมว่าไม่ เขาว่าหลุด ต่างอ้างเหตุผลนานาขึ้นมาหักล้างกัน

เพราะควันบุหรี่กลบสมองให้มัว ผมจึงเถียงเพื่อเอาชนะด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงร้อยแปดที่มาจากการมองข้างเดียว จนเมื่ออากาศสดใสขึ้นในภายหลังแล้ว ผมจึงสามารถมองประเด็นได้ชัดขึ้น และคิดว่าประเมินได้รอบด้านขึ้น

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อคุณสรอรรถ กลิ่นประทุม ยื่นใบลาออกตามคุณอุไรวรรณ เทียนทอง ไป กลุ่มวังน้ำยมก็เรียกประชุมด่วน ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองอย่างมาก เพราะหากกลุ่มวังน้ำยมประกาศถอนตัวจากรัฐบาล ก็แทบจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ และน่าจะมีผลให้วังอื่นๆ ในพรรคต้องถอนตัวไปด้วย

แต่ในที่สุดแกนนำก็ออกมาแถลงว่าจะยังสนับสนุนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อไป แน่นอนว่าคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ก็เข้าร่วมประชุมด้วย ในฐานะหนึ่งในแกนนำของกลุ่ม และเป็นผู้ซึ่งใกล้ชิดกับนายกฯที่สุด และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจเป็นช่องทางของการต่อรองทางการเมืองของกลุ่มไปพร้อมกัน อันเป็นสิ่งที่คำแถลงของกลุ่มเมื่อเสร็จการประชุมไม่ลืมที่จะปฏิเสธอย่างแข็งขัน

พรรค ทรท.ซึ่งคุณทักษิณตั้งขึ้นเพื่อรองรับเป้าหมายทางการเมืองคือเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคนสองประเภทคือ "คนของทักษิณ" หนึ่ง และนักเลือกตั้งที่เจนจัดกับสนามเลือกตั้งหนึ่ง

- "คนของทักษิณ" มีหลายจำพวก นับตั้งแต่ลูกน้องเก่า, เครือข่ายเก่าที่มีความศรัทธาต่อคุณทักษิณเป็นส่วนตัว, นักวิชาการที่พบว่าไม่สามารถผลักดันความคิดของตัวผ่านไปยังรัฐบาลที่มาจากนักเลือกตั้งได้, อดีตผู้บริหารองค์กรรัฐและเอกชน, กับนายทุนที่ร่วมลงขันในการสร้างพรรค

- ส่วนนักเลือกตั้งคือคนที่เกาะกันเป็นกลุ่มภายใต้ผู้นำระดับท้องถิ่น อาจเป็นเจ้าพ่อ หรือเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่เข้าสู่วงการเมืองมานาน จนสะสมทั้งเงินและอำนาจได้มากมาย และมีเครือข่ายของนักเลือกตั้งในสังกัดจำนวนมาก

คนประเภทหลังนี่แหละที่ทำให้พรรค ทรท.ได้ที่นั่งในสภามากที่สุด ทั้งในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรกและครั้งที่สอง แต่คนเหล่านี้ไม่มีบารมีระดับชาติ ว่ากันที่จริงแล้วออกจะเป็นที่รังเกียจด้วยซ้ำ คงจำได้ว่า หนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้ถูกกีดกันออกไปจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญมานานแล้ว และคุณทักษิณก็ประสบความสำเร็จ ที่จะยกบุคคลผู้นี้ไว้เหนือเก้าอี้รัฐมนตรี

เพื่อนในวงการอุตสาหกรรมของผมเรียกอีกบุคคลหนึ่งในกลุ่มคนประเภทนี้ว่า "ไอ้หูบี้" - ผมไม่นิยมที่จะยกเอารูปกายของคนอื่นเป็นข้อบกพร่อง เพราะเชื่อโบราณว่าของพรรค์นี้เป็นเรื่องรูปธรรมนามธรรม แต่เล่าให้ฟังเพื่อชี้ให้เห็นถึงระดับความศรัทธาเชื่อถือที่คนในวงการ มีต่อรัฐมนตรีที่มาจากคนประเภทหลัง

แม้กระนั้น รัฐบาลทักษิณในสมัยแรกก็ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น กลุ่ม "คนของทักษิณ" เข้าไปกุมตำแหน่งสำคัญๆ ใน ครม.ที่เป็นโควต้าของ ทรท.เกือบทั้งหมด แม้ว่านักเลือกตั้งซึ่งเป็นที่รังเกียจได้รับตำแหน่งในกระทรวงใหญ่อยู่บ้าง แต่คุณทักษิณก็ทำให้ผู้คนเชื่อว่า คุณทักษิณจะสามารถควบคุมพฤติกรรมเลวร้ายต่างๆ ของนักเลือกตั้งได้...ไม่ต้องมีใบเสร็จ แค่กลิ่นไม่ดีก็จะเอาออกแล้ว

และนี่คือเหตุผลที่คุณทักษิณต้องเป็นนายกฯแบบมาเวอริค คือเอาเด่นเอาดังคนเดียว จนคนเกือบทั้งสังคมฝากความใสสะอาดและประสิทธิภาพในการบริหารไว้กับนายกฯคนเดียว คุณทักษิณประสบความสำเร็จในแง่นี้มากทีเดียว เพราะนักเลือกตั้งซึ่งเคยจับนายกฯทุกคนเป็นเชลยของตัวตลอดมา กลับตกเป็นเชลยของนายกฯทักษิณ จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็ไม่มีแอะอยู่หลายปี แม้แต่หลั่งน้ำตาก็คงต้องซบอกเมียหลั่ง แทนที่จะหลั่งต่อหน้าม็อบ

น่าประหลาดที่คนซึ่งไม่ตกเป็นเชลยของนายกฯ กลับมาจากกลุ่ม "คนของทักษิณ" เอง นักวิชาการและคนมีชื่อเสียงเป็นที่ศรัทธาของผู้คนในแวดวงต่างๆ เริ่มตีตัวจาก หลังจาก ทรท.เป็นแกนนำรัฐบาลได้ไม่ถึงปีดี แม้แต่ "คนของทักษิณ" ที่ถูกเลือกมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียังยื่นใบลาออก ผ่านไป 2 ปี "คนของทักษิณ" ประเภทดังหรือดีด้วยตัวเอง แทบจะไม่รักษาบทบาทของตัวในพรรคหรือในรัฐบาลอีกเลย บางคนรีบปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรค บางคนได้แต่ยิ้มๆ

ที่เหลืออยู่เป็นแค่ "กะเป๋ง" ซึ่งสังคมไม่เคยรู้จักเลยด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงความศรัทธาเชื่อถือ ถึงได้เป็นรัฐมนตรีให้คนรู้จักทั่วเมือง แต่มีใครในโลกนี้หรือที่นับถือ "กะเป๋ง" ได้ลงคอ

ฉะนั้น ว่ากันที่จริงแล้ว อำนาจของคุณทักษิณเหนือเชลยที่เป็นนักเลือกตั้ง ได้ถูกสั่นคลอนมาตั้งแต่สมัยแรกแล้ว เพียงแต่สังคมอาจยังไม่สำเหนียกชัดนักเท่านั้น การเกาะกลุ่มเป็น "วัง" ต่างๆ แข็งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอาจมีการแข่งขันกันในระหว่าง "วัง" อยู่บ้าง เพื่อชิงตำแหน่ง รมต.สำคัญให้แก่หัวหน้าแก๊ง แต่ก็ยังรักษาการแข่งขันไว้ในระดับที่ไม่ทำให้พรรคแตก เช่นไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจสวนมติพรรค แม้อยู่คนละ "วัง" ก็ยังอิงอาศัยกันอยู่ในสภา ทำให้ช่องทางที่จะกลับมาร่วมมือกันดิ้นรนให้หลุดจากความเป็นเชลยเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อมีโอกาสอันเหมาะ นักเลือกตั้งเริ่มจะไม่จ๋องอย่างเก่า เถ้าแก่สั่งให้ไปกินตำแหน่งอะไร ก็อาจมีปฏิกิริยาแบบน่าเอ็นดูบ้าง แบบเหี้ยมเกรียมบ้าง

แม้กระนั้น ประชาชนก็ยังคิดว่าคุณทักษิณมีอำนาจเหนือเชลยได้เหมือนเดิม จึงเลือกคุณทักษิณเป็นนายกฯด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อต้นปีที่แล้ว (เลือกคุณทักษิณเป็นนายกฯ ไม่ใช่เลือกพรรค ทรท. อย่าลืมว่า ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ส.ส.เขตจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ทุกคนยังหวังว่า อำนาจของนายกฯจะคุมเชลยนักเลือกตั้งให้สวาปามได้ไม่มากหรือน่าเกลียดจนเกินไป

ผมคิดว่ากรณีซีทีเอ็กซ์ เป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทย ความเชื่อความหวังที่เคยฝากไว้กับคุณทักษิณหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะถึงที่สุดแล้ว คุณทักษิณไม่สามารถควบคุมกำกับเชลยได้ ตรงกันข้าม คุณทักษิณต้องต่อรองประนีประนอมกับนักเลือกตั้ง แม้ว่าถูกจับได้คาหนังคาเขาก็ตาม - ในความเป็นจริงนั้น คุณทักษิณต่างหากที่ตกเป็นเชลยของนักเลือกตั้ง -

ฉะนั้น ความซื่อสัตย์ของคุณทักษิณ (ถ้ายังเชื่อว่าคุณทักษิณซื่อสัตย์ --- ซื่อสัตย์แปลว่าซื่อสัตย์น่ะครับ ไม่ได้แปลว่าไม่ผิดกฎหมาย) ถึงจะมีสักเพียงไร ก็ไม่อาจยุติหรือบรรเทาการโกงกินของนักเลือกตั้งได้ ไม่ต่างอะไรจากคุณชวน หลีกภัย (ซึ่งผมอยากจะเดาว่า มีคนเชื่อในความซื่อสัตย์ซึ่งแปลว่าซื่อสัตย์ของคุณชวนมากกว่าคุณทักษิณเสียอีก) คือต่างตกเป็นเชลยของนักเลือกตั้งอย่างดิ้นไม่หลุด

เสน่ห์ของคุณทักษิณหายวับไปกับตา โพลทุกโพลชี้ว่าความนิยมของคุณทักษิณเสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่โครงการซึ่งคุณทักษิณโฆษณาก็ยังอยู่ครบ ไม่ว่าโครงการเอื้ออาทรนานาชนิดไปจนถึงโอท็อป กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ (และกำลังเริ่มโครงการช่วยคนงานคอปกขาวอยู่เวลานี้) เพราะคนไทยถูกสอนให้เชื่อมานาน (อย่างผิดๆ หรืออย่างถูกๆ ก็ไม่ทราบ) ว่า เมืองไทยนั้นไม่โกงกันเสียอย่างเดียวก็ไปโลดแล้ว

กรณีขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีจึงทำให้หลังลาหักเป๊าะตรงกลางเลย นอกจากตกเป็นเชลยอย่างดิ้นไม่หลุดของนักเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนเชื่อแล้วว่าหาดีไม่ได้ คุณทักษิณเองยังถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องของความซื่อสัตย์ (ซึ่งแปลว่าซื่อสัตย์) ขึ้นมาอีกคนหนึ่ง จะให้เหลืออะไรอีกล่ะครับ ที่จะหาประโยชน์จากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ได้

การประชุมของกลุ่มวังน้ำยมในครั้งนี้ (ประชุมเพื่อตกลงใจสนับสนุนหัวหน้าพรรค แสดงว่าทางเลือกยังมีอีกทางหนึ่งที่ไม่เลือก คือไม่สนับสนุน) ทำให้ทุกคนมองเห็นสภาพความเป็นเชลยของคุณทักษิณได้กระจะตา จะถือว่าเป็นหมุดไว้หมายเส้นแบ่งระหว่างใครเป็นเชลยของใครก็ได้

ผมเดาไม่ถูกหรอกว่า คุณทักษิณจะหลุดจากตำแหน่งนายกฯเมื่อไร แต่วงจรได้หมุนกลับมาที่เดิมอีกแล้ว นั่นก็คือคุณทักษิณก็จะเป็นนายกฯ เหมือนนายกฯคนอื่นที่ได้เป็นมาแล้ว กล่าวคือหลังจากสองปีผ่านไปแล้วน่าเบื่อฉิบเป๋งทุกคน โครงการพิลึกพิลั่นต่างๆ ซึ่งเคยเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่ง ก็จะไม่มีความหมายมากไปกว่าปาหี่ ซึ่งนายกฯทุกคนล้วนเคยแสดงมาแล้วทั้งนั้น ก็คนโกงที่อยู่ข้างๆ ทำไมไม่จัดการให้เด็ดขาดไปเสียที จะมาซีอีโออะไรกันให้เมื่อย

พื้นที่แคบลงๆ สำหรับคุณทักษิณ ในฐานะเชลย เส้นที่คุณทักษิณจะเดินต่อไป คือเส้นที่คนอื่นขีดไว้ให้ คุณทักษิณมีหน้าที่เพียงเติมสีสันลงไปให้น่าดูขึ้นเท่านั้น

๓. ภาษี, กฎหมาย และความชอบธรรม
หลักการของภาษีและการบริจาคเพื่อสาธารณกุศลแตกต่างเป็นตรงกันข้าม มาจากการมองโลกคนละมุม ไม่เกี่ยวกัน และอันตรายมากที่จะเอามาแทนกันและกัน

โดยพื้นฐาน ภาษีคือ "ค่าเช่า" ที่บุคคลต้องจ่ายให้แก่สังคม เนื่องจากประโยชน์ที่เขาได้รับจากสังคมและรัฐ เช่น ได้รับความปลอดภัย, ได้รับหลักประกันแห่งความยุติธรรม, ได้รับความสะดวกในการดำเนินชีวิตและการงาน ฯลฯ ประโยชน์นี้ทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน แต่ความสามารถในการจ่าย "ค่าเช่า" มีไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงใช้รายได้เป็นเกณฑ์วัดว่า ใครได้ใช้ประโยชน์ไปมากกว่ากัน

ฉะนั้น โดยหลักการแล้วสังคมมีอำนาจเด็ดขาดที่จะตัดสินว่า จะนำเอาเงินที่รัฐเก็บได้จากภาษีไปใช้อย่างไร ไม่เกี่ยวกับความเห็นส่วนตัวของผู้เสียภาษีด้วยประการทั้งปวง ผู้เสียภาษีอาจมีอคติกับโสเภณีด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม แต่สังคมก็อาจเอาภาษีไปใช้เพื่อประกันสุขภาพให้โสเภณีเป็นพิเศษกว่าโครงการ 30 บาทก็ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้สุขภาพของร่างกายในการทำงาน

ภาษีมาจากการมองโลกว่า ทุกคนที่ไม่ใช่ฤษีชีไพร คืออยู่ร่วมกันในสังคมมี "หน้าที่" ต้องช่วยกันจรรโลงสังคม และอาศัยอำนาจในโลกนี้เป็นเครื่องมือบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติ "หน้าที่" นั้น ทำแล้วจะได้ไปสวรรค์หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถ้าไม่ทำก็จะถูกลงโทษในชาตินี้

ส่วนเงินบริจาคเพื่อสาธารณกุศลเป็นเรื่องจิตใจของแต่ละบุคคล บางคนอาจรู้สำนึกบุญคุณของคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม จึงอยากแบ่งปันส่วนเกินในชีวิตของตนแก่คนอื่นๆ บ้าง บางคนอาจอยากไถ่บาปที่เอาเปรียบสังคมมาตลอดชีวิต คิดว่าเงินบริจาคจะช่วยสร้างพาหนะนำไปสู่สวรรค์ได้บ้าง บางคนอาจมองการบริจาคเป็นการลงทุนเพื่อการยอมรับของสังคม หรือเพื่อตำแหน่งทางการเมืองหรือทางศีลธรรม ฯลฯ

ผู้บริจาคในฐานะเจ้าของเงิน จะใช้เงินนั้นย่อมมีสิทธิที่จะตัดสินการใช้เงินนั้นไปในทางใดก็ได้ จึงทำให้เงินบริจาคมีเสน่ห์มากขึ้น เพราะสามารถเอาไปใช้ได้ตามแต่จุดมุ่งหมายของการบริจาค อยากไปสวรรค์ก็อาจไปซื้อพาหนะที่วัด อยากดังก็แจกตังค์หน้ากล้องทีวี อยากเป็นนายกฯ ก็อาจแจกให้ ส.ส.ที่จนๆ ฯลฯ แล้วแต่บุญและบาปของแต่ละคนจะชักนำไป และด้วยเหตุดังนั้น เงินบริจาคอาจเหมือนน้ำพริกที่ถูกตำละลายแม่น้ำ และสังคมไม่มีสิทธิจะมาต่อว่าต่อขานเจ้าของเงินแต่อย่างไร

การบริจาคมาจากการมองโลกที่ไม่เกี่ยวอะไรกับ "หน้าที่" ทางสังคม เป็นเรื่องของการหาผลตอบแทนของแต่ละบุคคล คนที่มีใจสูงก็หวังผลตอบแทนทางใจและทางจิตวิญญาณ คนที่มีใจหยาบช้า ก็หวังผลเป็นลาภ, ยศ, สรรเสริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ร้ายไปกว่านั้น สังคมใดที่เห็นว่าภาษีและการบริจาคย่อมแทนที่กันได้ ก็เท่ากับสังคมนั้นยอมรับโดยปริยายว่า ทรัพย์คืออำนาจ คนที่ไม่มีทรัพย์ย่อมต้องพึ่งพาคนมีทรัพย์ตลอดไป เลิกพูดกันได้เลยถึงความเสมอภาค, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, หรือนิติธรรม

ถ้าคนอย่างมหาจำลองจะเรียกร้องให้คนที่ทำรายได้ชิ้นใหญ่บริจาคกำไรของตัวแก่สังคม โดยคำนวณว่าหากต้องเสียภาษีจะมีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะท่านเป็นมหาจำลองซึ่งมองโลกจากแง่ดี-ชั่วทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่หากคนที่เป็นนักกฎหมายเรียกร้องอย่างเดียวกัน ไม่น่าจะยอมรับได้ เพราะนักกฎหมายไม่ควรเป็นมหาจำลอง และสิ่งสุดท้ายที่นักกฎหมายควรเป็นคือผู้ประกาศิตความดี-ชั่วทางศีลธรรม

ภาษีเป็นเรื่องของกฎหมาย ถ้ามีคนทำกำไรมหาศาลได้จากตลาดหุ้นโดยไม่ต้องชดใช้อะไรแก่สังคมเลย ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นก็ตาม, ธุรกิจที่เอาไปซื้อขายในตลาดก็ตาม, หลักประกันความมั่นคงของธุรกิจนั้นๆ และหลักประกันความมั่นคงของสัญญาการซื้อขาย ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะสังคมทั้งนั้น แสดงว่ากฎหมายมีปัญหาเสียแล้ว การพิจารณาด้านภาษีคือ การพิจารณาความถูกต้องของกฎหมายไปพร้อมกัน

หากพิจารณาจากทุกแง่มุมของกฎหมายแล้ว กรณีเช่นนี้ไม่ต้องเสียภาษีจริง (พิจารณาจริงๆ ไม่ใช่พิจารณาจากแง่มุมของนักกฎหมายที่เป็นลูกจ้างทางตรงหรือทางอ้อมของธุรกิจที่ทำกำไร) แสดงว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีช่องโหว่มากมาย เสียจนคนชั่วสามารถเล็ดลอดไปได้สบายๆ (ตามเพลงของเบิร์ด) ฉะนั้นต้องหาทางอุดช่องโหว่ในทางกฎหมาย ยิ่งกว่านี้หากพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาเพื่อช่วยให้คนรวยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ก็ควรต้องทบทวนและรื้อกฎหมายส่วนนี้ทั้งระบบ

มูลค่าและคุณค่าจากการได้ทบทวน, รื้อ และสร้างใหม่ซึ่งระบบกฎหมายภาษี ให้มีความเป็นธรรม ย่อมมีแก่สังคมมากกว่าเงินบริจาคอย่างเทียบกันไม่ได้ ไม่ว่าเงินบริจาคนั้นจะมีมูลค่ากี่หมื่นล้านบาทก็ตาม

เรามีนักกฎหมายก็เพื่อประโยชน์แก่สังคมตรงนี้ แม้ไม่ได้ปฏิเสธว่านักบุญก็มีคุณค่าแก่สังคมเหมือนกัน แต่สังคมจะประกอบด้วยนักบุญอย่างเดียวไม่ได้

การขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรแก่บรรษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ จะถูกหรือผิดกฎหมายและกฎของ ก.ล.ต.ประการใด น่าจะศึกษากันอย่างถ่องแท้ จะฟังความข้างเดียวจากนักกฎหมายที่รับใช้ครอบครัวชินวัตรอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะดูเฉพาะจากที่สื่อรายงานไว้ ก็มีความเห็นของนักกฎหมายอื่นที่คิดไม่เหมือนกัน เช่นซื้อหุ้นนอกตลาดในราคาพาร์แล้วมาขายในตลาด ไม่น่าจะได้สิทธิการไม่เสียภาษีเป็นต้น นักกฎหมายมีหน้าที่ทำให้กฎหมายชัดเจน หรือชี้ให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมาย เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงได้

หากการซื้อขายหุ้นในลักษณะนี้ไม่ผิดกฎหมายและกฎของ ก.ล.ต.เลย เพราะได้หาช่องไว้สำหรับหลบเลี่ยงอย่างรัดกุมแล้ว ก็แปลว่าครอบครัวชินวัตรไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย กำไรที่พวกเขาได้มาจะเอาไปใช้ทำอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีใครมีสิทธิไปเรียกร้องให้เขาใช้กำไรนั้นไปในทางใด

อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญกว่ากฎหมายอยู่ด้วย นั่นคือความชอบธรรม (decency) แต่ความชอบธรรมเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน ต้องการความเข้าใจกระบวนการที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อนเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอย่างหน้าด้านๆ ให้ดี

จนถึงนาทีที่เขียนบทความนี้ สื่ออิสระที่เหลืออยู่คือหนังสือพิมพ์ยังทำการบ้านเรื่องนี้ไม่ดีพอ เพราะมัวไปเล่นเรื่องแต่เรื่องภาษีและกฎหมาย สองเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ แต่ข้อมูลที่สื่อควรไปขุดคุ้ยให้มากกว่าการให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองและแอ๊คติวิสต์คือนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎและจริยธรรมการค้าในตลาดหลักทรัพย์

ยิ่งเรื่องของความชอบธรรมด้วยแล้ว สื่อมีหน้าที่ต้องกลับไปตรวจสอบกระบวนการอันยอกย้อนของการขายหุ้นครั้งนี้อย่างละเอียด ทั้งในแหล่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้เขียนได้พบบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการอันยอกย้อนนี้ ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย (หรือปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น) กันอย่างไร แต่น่าเสียดายที่ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ไม่พอจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้

จับความได้แน่นอนเพียงว่า ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างไรทั้งสิ้น หากทั้งสองฝ่ายมีความสุจริตใจที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันตามปกติธรรมดา รวมทั้งข้อสงสัยว่า ก.ล.ต.อาจ "เลือกปฏิบัติ" กับการซื้อขายของผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย (แม้ทำโดยไม่ผิด "กฎ" อีกตามเคย)

บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างดี และพร้อมจะให้ข้อมูลแก่สื่อยังมีอีกมาก หลายคนคงไม่อยากให้อ้างชื่อในสื่อ อย่างน้อยก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในหน้าที่การงานของตน แต่สื่อสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ แล้วตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลอื่น ทั้งที่เป็นบุคคลและเอกสาร จนแน่ใจว่าได้เรื่องจริงมาแล้ว ก็สามารถนำมาเขียนอย่างที่ชาวบ้านพึงเข้าใจได้ เพื่อเสนอให้ประชาชนได้เห็นว่า การซื้อขายหุ้นครั้งมโหฬารนี้ มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด

อันที่จริงความชอบธรรมมีอำนาจยิ่งกว่ากฎหมายเสียอีก โดยเฉพาะแก่บุคคลซึ่งเป็นนักการเมืองและต้องได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน เครื่องมือการตรวจสอบผู้บริหารทางการเมืองของประชาชนไม่ได้มีแต่กฎหมาย แม้การกระทำที่ถูกต้องตามตัวอักษรของกฎหมาย ก็ต้องมีความชอบธรรมควบคู่ไปด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแยกนักการเมืองสุจริตออกจากโจรเสื้อนอกได้

ประชาชนจะมีเครื่องมือนี้ได้อย่างไร ถ้าสื่อไม่สนใจประเด็นความชอบธรรม ซึ่งไม่อาจประกาศออกมาเฉยๆ โดยไม่สอบสวนและรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อชี้แจงให้สาธารณชนได้เข้าใจ


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
270249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ถ้าจะบอกว่าวิถีทางของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะอยู่หรือไปอยู่ในสภาเท่านั้น ผมก็อยากถามว่าใครสั่งสอนคุณมาอย่างนี้ สภาเป็นหนึ่งในวิถีทางเท่านั้น พื้นที่ข้างนอกไม่ว่าจะเป็นสื่อ (ที่ไม่ถูกครอบงำ) ในไซเบอร์สเปซ, ในข่าวลือ, ในถนน ฯลฯ ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางของการควบคุมกำกับรัฐบาลทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นการเลือกตั้งที่พรรค ทรท. ฝากความหวังไว้อย่างเหนียวแน่นจะมีความหมายอะไร นอกจากการแสดงปาหี่ให้ดู 60 วันก่อนการตัดสินใจสำคัญทางการเมืองของประชาชน
(นิธิ เอียวศรีวงศ์)

The Midnightuniv website 2006