The Midnight University
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมเปรียบเทียบ
พื้นฐานวัฒนธรรมมุสลิมและการละเมิดในนามของเสรีภาพ
โชคชัย
วงษ์ตานี
สถาบันสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หมายเหตุ
: บทความเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้วัฒนธรรมมุสลิม
และการละเมิดต่อความเชื่อศาสนาชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน ประกอบด้วย
๑. วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. สื่อ ศิลปินและรัฐ : ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จากสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 854
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
13.5 หน้ากระดาษ A4)
พื้นฐานวัฒนธรรมมุสลิมและการละเมิดในนามของเสรีภาพ
โชคชัย
วงษ์ตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
1. วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความหมายและความสำคัญของ
"วัฒนธรรม"
คำว่า "วัฒนธรรม" มาจาก culture" วัฒนธรรม ไม่ใช่คำไทย ดั้งเดิม
แต่เป็นคำบัญญัติขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ 6 หรือหลังจากนั้น โดยแปลจาก culture
ของศัพท์ตะวันตกที่หมายถึง การเพาะปลูก การเกษตรกสิกรรม ถือเอาเหตุเมื่อมนุษย์หยุดร่อนเร่แสวงหาอาหารตามธรรมชาติ
แล้วตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนเป็นชุมชนถาวรขนาดเล็ก และเริ่มเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์
ฯลฯ
คำว่า culture หรือวัฒนธรรม นักปราชญ์แต่ก่อนเอาคำบาลีว่า วฑฺฒน รวมเข้ากับคำสันสกฤตว่า ธรฺม เป็น วัฒนธรรม มี ในพจนานุกรมมติชนว่า หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตและขนบประเพณีของสังคม แต่โดยทั่วไปคนมักเข้าใจแคบๆ ว่า หมายถึง ความมีระเบียบ ความสวยงาม ความเจริญ ที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นสูงเท่านั้น (ที่มา : คอลัมน์ สยามภาษา นสพ. มติชนรายวัน)
การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชุมชน สังคม ขึ้นมา ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม ทั้งที่เป็นชาวบ้านและชาวเมือง การที่จะอยู่ร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขต ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้ เราเรียกว่า "วัฒนธรรม" ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือน "อาภรณ์" ห่อหุ้มร่างกาย ตกแต่ง ประดับคนให้น่าดูชม เป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความเป็นที่รู้จัก เป็นวิถีชีวิตที่ถูกเลือก ที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยความรู้ เป็นเกราะป้องกันการรุกรานจากภายนอก และเป็นการแสดงถึงการยืนยันในความเป็น "ตัวตน" ของกลุ่มชน ที่มีความหลากหลายทั้งความรู้ วิธีคิด ความเชื่อถือ และศรัทธา วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนและกลุ่มชนเสมอไป
หลักการและที่มาของวัฒนธรรมอิสลาม
หลักการและที่มาของวัฒนธรรมอิสลาม ที่นำสู่การกำหนด กรอบวัฒนธรรมหรือแนวทางปฏิบัติของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า
"มุสลิม" ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้น มีที่มาจากหลักฐานที่ถูกระบุในพระมหาคัมภีร์อัล
กุรอ่าน ดังนี้
"โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้ามีเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นหมู่เหล่า เผ่าและตระกูล เพื่อที่พวกเจ้าจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน" (อัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺ อัลหุญุร๊อต 49 :13)
"..เรา(อัลเลาะฮ)ได้ให้สวยงามแก่ทุกชาติ ซึ่งการงานของพวกเขา "(อัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺ
อัล-อันอาม 6 :108)
บทบัญญัติข้างต้นบ่งบอก"หัวใจ" ของวัฒนธรรม คือ พระเจ้าสร้างความแตกต่างทั้งมวลสำหรับมนุษยชาติมาเพื่อให้เราทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่างที่สวยงาม ที่มาจากความเมตตาของพระองค์ "การรู้จักและเรียนรู้ความหลากหลาย" จึงเป็น เรื่องหลักของวัฒนธรรมทุกวัฒนธรรม ส่วนในเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยเป็นความแตกต่างของแต่ละกลุ่มชนที่ วัฒธรรมอาจได้รับอิทธิพลมาจาก ความเชื่อ ความศรัทธา วิธีคิด ภูมิปัญญาและลักษณะเฉพาะของความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ
ที่สำคัญทั้งสองบทบัญญัติข้างต้น พระผู้เป็นพระเจ้าไม่ได้กล่าวถึงเพียงเพื่อ "มวลมุสลิม"เท่านั้น แต่กล่าวถึง "มวลมนุษยชาติ" ทั้งหมดในการยอมรับในความหลากหลายในการอยู่ร่วมกัน บทบัญญัติข้างต้นประทานลงมาเพื่อ "เรา" ทั้งหมด จะได้เรียนรู้ การทำความรู้จัก เข้าใจ ตระหนักและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางด้านเพศ หมู่ เหล่า เผ่า ตระกูล ร่วมทั้งความต่างทั้งชาติและศาสนา เพื่อมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และเกิดการยอมรับในการไม่เหมือนกัน ความหลากหลายในแนวทางการดำเนินชีวิต
การทำความเข้าใจวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก่อนที่เราจะเข้าใจ "วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ " เราต้องทำความเข้าใจความหมายของ
"วัฒนธรรมอิสลาม" เป็นเบื้องต้นก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานเพราะ"วัฒนธรรมมุสลิม"
ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก ล้วนแล้วได้รับอิทธิพลและวางอยู่บนรากฐานของ "วัฒนธรรมอิสลาม"
ทั้งสิ้น ประเด็นนี้เป็นการยืนยันว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาสากล ที่สามารถปรับใช้กับชนทุกหมู่เหล่าในทุกภูมิภาคต่างๆได้
อ.อารง สุทธาศาสน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า "วัฒนธรรมอิสลาม" หมายถึง การดำเนินชีวิต หรือรูปแบบของพฤติกรรม (แนวปฏิบัติ)ของมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งล้วนมีส่วนผูกพันกับข้อปฏิบัติทางศาสนาอิสลามอย่างใกล้ชิด เนื้อหาของวัฒนธรรมอิสลามแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. วัฒนธรรมอิสลามประเภทที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งมีการระบุแน่นอนตายตัวไว้ เป็นกฏข้อบังคับ เช่น การนมัสการหรือการละหมาดวันละ 5 เวลา,การถือศีลอด(ปอซอ)ในเดือนรอมฎอน,การต้องไปจารึกแสวงบุญที่เรียกว่า ฮัจย์ ณ นคร เมกกะห์อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต หรือ การที่มุสลิมต้องรับประทานทานอาหารที่ "ฮาลาล" เท่านั้น เป็นต้น
2. วัฒนธรรมอิสลามประเภทที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมักจะระบุไว้กว้าง ๆ หรือไม่ระบุเลยทั้งจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและวัจนะของท่านศาสดา แต่ให้มุสลิมใช้วิจารณญาณเอาเองว่าสิ่งไหนควร ไม่ควรเลือกปฏิบัติ เช่น การเลือกอาชีพ, เลือกที่พำนักอาศัย, การเลือกระบบการศึกษา, เลือกลักษณะการให้ความช่วยเหลือ, การเลือกสวมอาภรณ์สีสรร รูปแบบต่างๆที่เหมาะกับภูมิประเทศและวิถีชีวิตความเป็นท้องถิ่น โดยจะต้องอยู่หลักการที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับ เป็นต้น (อ.อารง สุทธาศาสน์ 2525 : 18)
ถ้าจะกล่าวเฉพาะวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้โดยเฉพาะการละหมาดนั้น ทัศนะของอิสลามมองว่า หากมุสลิมคนใดขาดการละหมาด ความเป็นมุสลิมของเขาก็จะบกพร่องไปทันที อันนี้ทำให้เพื่อนต่างศาสนิกที่นับถือศาสนาต่างจากมุสลิมหรือรัฐบาล จะต้องทำความเข้าใจและอำนวยความสะดวกในเรื่องของเวลาระหว่างทำงาน และสถานที่ ที่สะอาด เพื่อเขาสามารถปฏิบัติได้ตามความเชื่อและศรัทธา
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการ สืบสาน เรียนรู้ สืบทอด ส่งต่อ บ่มเพาะและงอกเงย ในหมู่เหล่ามุสลิมผู้ศรัทธา ที่มาจากหลักการในศาสนาอิสลาม ที่ถูกประทานลงมาในรูปแบบของการดำเนินชีวิต พระเจ้าในศาสนาอิสลาม ได้กำหนดหลักศรัทธาและหลักการปฏิบัติ ได้อย่างครอบคลุมในทุกเรื่อง เริ่มตั้งแต่ มนุษย์อยู่ในท้องแม่ การใช้ชีวิตในขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลก จนถึงเวลาที่มนุษย์ได้รับการพิจารณาผลการใช้ชีวิตหลังความตายในหลุมในฝังศพ
อิสลามกำหนดรายละเอียดตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงของการใช้ชีวิต อิสลามเสนอรูปแบบหรือแนวทางที่ดีเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติตาม แล้วจะก่อเกิดความสันติในการอยู่ร่วมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกอากัปกิริยาในชีวิตของมุสลิมที่ศรัทธาที่แท้จริง จึงผูกโยงอยู่กับวิถีชีวิตที่อิสลามกำหนด
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งความเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น คือ มีเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น และ มีวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะร่วมของวัฒนธรรมสากล วัฒนธรรมในพื้นที่แห่งนี้ ถูกผลิตและแสดงมาในลักษณะของ ภาษา ศาสนา กติกาการอยู่ร่วมกัน การดำเนินชีวิต อาชีพ การศึกษา อาหาร การละเล่น ศิลปะ ประเพณี วรรณคดี ประดิษฐ์กรรมและการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทางสังคม เป็นต้น
"ชาวมุสลิม"
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัฒนธรรมอะไรบ้าง ?
วัฒนธรรมของชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหลากหลาย และมีความเกี่ยวข้องทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม
ทั้งหลักปฏิบัติและหลักศรัทธารวมเข้าด้วยกัน คนในพื้นที่สามจังหวัดมี วัฒนธรรมชุมชนที่เป็น
"อัตลักษณ์เฉพาะ" ที่มักเรียกกันว่า วัฒนธรรมแข็ง คือ ปรับเปลี่ยนยากและมีความยึดติดสูง
เช่น วัฒนธรรมการเลือกผู้นำ (ทั้งตัวแทนชุมชน ที่เป็นผู้นำทางศาสนาและทางการปกครอง)
บางชุมชนใช้วิธีการที่เรียกว่า "ซูรอ" (เลือกตัวแทนมาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้นำอีกที)
การได้มาซึ่งผู้นำ ที่อาจจะต่างจากระบบลงคะแนนกากระบาทรายชื่อ ที่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ซึ่งสำหรับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว อาจมีเนื้อหาสาระที่ต่างออกไป อีกทั้งมารยาทในการเลือกตั้งของชุมชนอาจรวมถึง การเสนอตัวแทนเข้าไปทำงานส่วนรวม ในบางชุมชน "วัฒนธรรมการเลือกผู้นำ" จะส่งผลต่อการให้เกียรติผู้นำ การยอมรับและให้การเคารพ ดูแล รวมทั้งการมอบสิทธิ์ในการตัดสินชี้ขาดข้อวินิฉัยทางศาสนา
วัฒนธรรมชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะครอบคลุมทั้ง วัฒนธรรมด้านภาษา การสื่อสาร การอาชีพ การค้าการลงทุน การหารายได้ วัฒธรรมเรื่องวิถีชีวิต ศาสนา การเกิด การตาย วัฒนธรรมที่เกิดจากวันสำคัญตามเทศกาล เช่น วันศุกร์ เทศกาลรายอปอซอ เทศกาลรายอฮายี วัฒนธรรมเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์เรื่องเพศ/วัย ชาย/หญิง เด็ก/ผู้ใหญ่/คนชรา วัฒนธรรม ในเรื่องของวิธีการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ทั้งเรื่องครอบครัวมรดกและผลประโยชน์ร่วมต่างๆ รวมถึงวัฒนธรรมที่มักถูกทำให้เข้าใจผิด จากเพื่อนต่างศาสนิก คือ การที่มุสลิมสามารถมีภรรยาได้ถึงสี่คน โดยไม่ได้เรียนรู้ถึง ความสามารถด้านศักยภาพ กฏเกณ์และการให้ความยุติธรรม ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างบางส่วนของวัฒนธรรมชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับภาษาและระบบการศึกษา วัฒนธรรมด้านภาษาของชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะสื่อสารกันด้วยภาษาพูดภาษาไทยแล้ว ยังมีการใช้ภาษาพูดที่เป็นภาษามลายูที่เรียกว่า "ภาษามาเลย์/ภาษามลายู" หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า"ภาษายาวี" ทั้งที่เป็นภาษามลายูถิ่นและภาษามลายูกลาง เป็นหลัก
ในส่วนภาษาเขียนนอกจากเขียนภาษาไทยแล้ว ยังมีภาษาเขียนในท้องถิ่น ทั้งภาษามลายูกลางและมลายูถิ่นปัตตานี ในสองลักษณะคือ ภาษายาวี (ภาษามลายูที่ใช้เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับ)ภาษารูมี (ภาษามลายูที่ใช้เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ)
ส่วนการเรียกตนเองของชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับชาวบ้านมักนิยมเรียกตนเองว่า "ออแฆนายู" ซึ่งหมายถึง (คนมลายู) มากกว่าจะเรียกตัวเองว่า "ออแฆอิสแล" (คนอิสลาม) แต่กลับไม่นิยมเรียกตนเองในภาษามลายูว่า"ออแฆมุสลิม"(คนมุสลิม) ส่วนผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามจะถูกเรียกว่า"มาโซะนายู" (เข้ารับมลายู) มากว่าที่จะเรียกว่า "มาโซะอิสแล" (เข้ารับอิสลาม) ซึ่งควรจะเรียกชื่ออย่างหลัง จึงจะถูกต้องตามหลักวิชาการ ตัวอย่างข้างต้น เป็นเหตุผล ที่มาของความเคยชินของคนในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาพูดในของระดับชาวบ้าน ที่อาจจะไม่ถูกต้องความหลักวิชาการ
ส่วนระบบการศึกษาในพื้นที่ นอกจากจะมีระบบการศึกษาภาคสามัญทั่วไป(ซึ่งหมายถึง อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา) ในทั้งถิ่นยังมีระบบการศึกษาภาคศาสนาที่เรียกว่า ระบบตาดีกา(ระดับอนุบาลเด็กเล็ก) ระบบซือกอเลาะฮ(เรียนศาสนาในระดับประถม เรียนหลังเลิกเรียนภาคสามัญในวันธรรมดา หรือเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์แล้วแต่ชุมชน) ระบบปอเนาะ (เรียนได้ตลอดชีวิต)
ระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ซึ่งแบ่งการศึกษาศาสนาออกเป็น สามระดับ ระดับอิบตีดาอีห์(ชั้น 1-4) ระดับมูตาวัตสิต(ชั้น
5-7) และระดับซานาวี(ชั้น 8-10) โดยศึกษาควบคู่ไปกับวิชาสามัญในระดับมัธยมศึกษา(ม.1-6)
และสุดท้ายคือ ระดับกุลลิยะฮ คือ ระดับคณะของวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เช่น
วิทยาลัยอิสลามศึกษาหรือวิทยาอิสลามยะลา เป็นต้น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับการเกิด
ด้วยศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส
รวมถึงภาคใต้ตอนบนคือ สงขลา สตูล มักจะมีวัฒนธรรม ที่สืบเนื่องมาจาการการเกิดของบุตรที่คล้ายคลึงกัน
โดย วิธีการปฏิบัติกับเด็กแรกเกิด เช่น พิธีโกนผมไฟ การตั้งชื่อ(ทั้งไทยและอาหรับ
บางครอบครัวใช้ภาษาอาหรับอย่างเดียว) และการเชือดสัตว์ (อากีเกาะฮ) พลีสัตว์เพื่อรับขวัญเด็ก
รวมถึง เพลงกล่อมเด็กทั้งภาษาอาหรับและภาษามลายูถิ่น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับการตาย จากเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมในพื้นที่นั้น
พบว่า มีพิธีการปฏิบัติแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. สิ่งที่เป็นฟัรดูกีฟายะห์ ได้แก่ การอาบน้ำคนตาย (อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันบ้างในแต่ละท้องถิ่น เช่น การใช้เครื่องหอมผสมน้ำที่ใช้อาบเพื่อดับกลิ่นมัยยิตอาจต่างกันบ้าง ระหว่างพิมเสน ใบพุทรา การบูร) การห่อมัยยิต(ศพ) การละหมาดญานาซะหฺที่มัสยิด และการฝังมัยยิตที่กุโบร์
2. เป็นประเพณีปฏิบัติประจำท้องถิ่นที่มีความคลุมเครือในหลักการอิสลาม มีทั้งผู้ปฏิบัติและไม่ปฏิบัติ เช่น การอ่านตะละเก็นตฺที่ปากหลุมฝังคนตาย การแจกเงินให้กับผู้มาร่วมละหมาดญานาซะหฺ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย เป็นต้น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดเกี่ยวกับการแต่งกาย
เป็นวัฒนธรรมสำคัญที่อิสลามกำหนดรูปแบบของการแต่งกายที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับมุสลิม
ทั้งชายและหญิง ซึ่งมีทั้งข้อพึงปฏิบัติและข้อพึงละเว้น ทำให้สามารถชี้ได้ชัดว่าการแต่งกายของมุสลิม
ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ต้องมีการแต่งกายในรูปแบบที่เป็นไปตามหลักศาสนา เช่น
การคลุมฮิญาบ ของสตรีเป็นเพราะคำสอนของศาสนาที่กำหนดให้สตรีต้องปกปิดอวัยวะทุกส่วนของร่างกายให้มิดชิดยกเว้น
ใบหน้าและมือเท่านั้น ซึ่งเป็นการห้ามอวดสัดส่วนของร่างกายหรือแม้แต่การสวมชุดว่ายน้ำในที่สาธารณะที่มีทั้งชายและหญิง
การห้ามเพศชายสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากไหมและทองคำ รวมทั้งการที่ต้องปกปิดระหว่างสะดือถึงหัวเข่า
เป็นต้น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับการแต่งงาน
ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวิถีปฏิบัติเรื่องการแต่งงานที่เป็นไปตามหลักคำสอนของอิสลามเป็นส่วนใหญ่
ได้แก่ พิธีการ นิกอฮ หรือ นิกะหฺ (อาจจะจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาวหรือบ้านเจ้าบ่าว)
ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการแต่งงานที่ศาสนากำหนด บางท้องที่ยังมีลักษณะ การตั้งขบวนแห่ขันหมาก
จะมีเครื่องขันหมาก เช่น ข้าวเหนียวเหลือง ไข่ต้ม ไก่ย่าง ตามประเพณีปฏิบัติ
และมีงานจัดเลี้ยงในแบบมลายู ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "มาแกปูโละ"
"กินเหนียว" บางที่นิยมเรียกในภาษาอาหรับว่า "งานวาลีมะห์"
ซึ่งหมายถึงงานฉลองสมรสเช่นกัน ในระยะหลังมีการส่งเสริมให้มีการประกอบพิธีต่างๆ
ข้างต้น ทั้งที่บ้านและที่มัสยิดมากขึ้น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับอาหาร การทำอาหารตำหรับมลายู
เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของเหล่าบรรดามุสลิมะห์(สตรีมุสลิม)ที่เป็นการเรียนรู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
อาหารส่วนใหญ่ในสำรับอาหารของมุสลิมในสามจังหวัดชายนแดนภาคใต้ นอกจากอาหารไทยทั่วไป
เช่น แกงส้ม ซุป และผัดผักทั่วไปแล้ว อาหารมลายูมุสลิมมักจะเน้นผัก เครื่องเทศ
กระทิ และอาหารทะเลจำพวกปลา อาทิ อีแก(ปลา)ปีจิ,น้ำบูดู, ซามาอีแก, ซอเลาะลาดอ,
อาแยกอแลาะ(ไก่ย่างกอและ), ซาแตดาฆิง(สะเต็ะฮเนื้อ) นาซิกาแปะ(ข้าวทับ), รอเยาะฮ,
ตาแป(ข้าวหมัก) และประเพณีการกวนข้าวอาซูรอ(ข้าวกวน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
ในเดือนแรกตามปฏิทินอาหรับ) เป็นต้น
วัฒนธรรมมุสลิมสามจังหวัดที่เกี่ยวกับการละเล่นและการประดิษฐ์
เช่น มะโย่ง ดิเกฮูลู ดิเกบาเฆาะ การรำรองเง็ง ศิลปะการป้องกันตัว สิละ การประดิษฐ์กริซ
การวาดลวดลายบนเรือกอเลาะ และประดิษฐ์เรือกอเลาะจำลอง การสานเสื่อกระจูด เป็นต้น
สรุป :
การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น กลุ่มชน ศาสนิกอื่นสำคัญอย่างไร
จากเนื้อหาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า
"วัฒนธรรม" วัฒนธรรมต่างๆของชาวไทยมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตร ตามกาลเวลา การสืบทอด ส่งต่อ จากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ
มารุ่นลูกหลาน อาจจะมีการปรับเปลี่ยน ลดทอน ประยุกต์ตามสภาพ เศรษฐกิจ สังคมและยุคสมัย
บางส่วนอาจหลงลืม บางส่วนยังอนุรักษ์ ยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง
อีกทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนในทางวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่าการผสมผสานทางวัฒนธรรม (acculturation) และการผสมกลมกลืน (assimilation) ไปมาหาสู่กัน การร่วมงานบุญ งานศพ การแต่งงานข้ามศาสนากัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเกิดการแลกเปลี่ยน การรับเอาวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่อยู่ใกล้เคียงกันหรือมีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นเวลานาน ที่ทำให้รับเอาวิถีปฏิบัติของวัฒนธรรมอื่นที่ต่างจากตนเข้ามาปรับประยุกต์ เช่น ประเพณีกินเหนียว(มาแกปูโละ) งานบุญงานการกุศล ดื่มน้ำชา(มาแกแต) ที่มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าการปฏิบัติตนด้านต่าง ๆ ของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในพื้นบางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน
การเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ต่างจากเรา นอกจากจะสร้างความรัก ความผูกผัน ทำความรู้จักต่อกันแล้ว ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและพัฒนาความเป็น ชาติ ศาสนา ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งยังสามารถเกิดการพัฒนาในระดับบุคคล คือ การพัฒนาความรู้ สติปัญญา ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการหล่อหลอมให้เกิดการใช้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อ"เข้าใจผู้อื่น" เข้าใจความเป็นอยู่ของคนในที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่ห่างไกลและอยู่ใกล้ชุมชนรอบตัวเรา รวมทั้งรู้ "วิธีการ" ที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชน ศาสนิกอื่น มีประโยชน์และกำไรสำหรับผู้ที่รู้ เป็นผู้รู้กาละเทศะ การปรับตัวเพื่อการเข้าใจกัน สามารถลดความขัดแย้ง สร้างสันติสุขในการอยูร่วมกัน นอกจากนั้นการรู้วัฒนธรรม ยังทำให้เรารู้อีกว่า อะไรที่ควรทำหรืออะไรที่ไม่ควรทำ เรื่องใดที่เขาถึดถือ เคารพ ห้ามละเมิดและยอมได้หรือยอมไม่ได้ ในบางเรื่องผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะเป็นคนบอกเองว่า อะไร ที่เป็นข้อผ่อนปรนได้ อะไรที่ผ่อนปรนไม่ได้ อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง
การศึกษาเรียนรู้ "วัฒนธรรม" ที่เขาเชื่อ คิด ปฏิบัติ จะทำให้เราเข้าใจและรู้ว่าควรปฏิบัติต่อเขาที่ต่างจากเราอย่างไร ด้วยความต่างทั้งเรื่อง เพศ วัย ครอบครัว การศึกษา ศาสนา ความเชื่อ ต่างถิ่น ต่างชาติ ว่าเรา(ทั้งในฐานะรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ)จะอยู่ร่วมกับเขา หรือสัมพันธ์กับเขา(ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่) ในลักษณะของ การช่วยเหลือ การวางนโยบายทางการปกครอง การส่งเสริมและแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการค้าขาย การให้การศึกษา กับเขาได้อย่างไร ในแบบที่เรียกว่า ตรงกับความต้องการ ตรงกับกาละเทศะ และสอดคล้องกับหลักศรัทธาในศาสนาที่เขาเหล่านั้นยึดถือ ปฏิบัติ
ผู้ที่ศึกษาวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชนอื่นอย่างลึกซึ้งแล้ว จะส่งผลทำให้สามารถสะท้อนความเข้าใจต่อกลุ่มชนของตนเองมากขึ้น เพราะการที่เราจะเข้าใจ "ตัวตน" ของตนเองได้ จะต้องมองผ่านผู้อื่น สะท้อน "ตัวตนของเรา" ให้เรารู้และให้เราเห็น และเมื่อเข้าใจและรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเองและผู้อื่นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเขาเหล่านั้น จะเลือกใช้วัฒนธรรมในฐานะ "กำแพง" ที่ก่อเพื่อปิดกั้นและอยู่เฉพาะกลุ่มชนตนเอง หรือมุ่งที่จะสร้างเป็น "สะพาน" เพื่อที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อการแลกเปลี่ยน สังสรรค์ เป็นที่รู้จักและนำสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
2. สื่อ
ศิลปินและรัฐ : ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จากสิ่งที่เรียกว่า "เสรีภาพ"
ขอความสันติสุข(จากพระผู้เป็นเจ้า)จงประสบแด่ทุกท่าน
ประเด็นข่าวที่สะท้อนปรากฎการณ์ทางสังคมในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมา อันส่งผลกระทบที่นำไปสู่ความขัดแย้งในระดับสาธารณะ
ปรากฏอยู่หลายข่าวในสังคมข่าวสาร อันก่อให้เกิดความตระหนก วิตกกังวลต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
และน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายตรงกันข้าม ข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของสื่อ
ศิลปินและรัฐ ที่มีประเด็นทางจริยธรรมทางสังคมและสะท้อนภาพการนำเสนอเนื้อหา
ที่ส่งผลกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความหลากหลายในสังคมไทย สังคมของเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ปรากฏจากสื่อ
ทั้งในเรื่องของเสรีภาพ ความรับผิดชอบและความชอบธรรม กับสิ่งที่ผลิตที่นำออกสู่สาธารณะ
บทความนี้มุ่งทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ ที่มิได้มีเจตนาตอกย้ำบาดแผลทางสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แต่มีเจตนาสร้างความเข้าใจต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ปรากฏการณ์ที่จะกล่าวถึง สามารถนำมาเป็นบทเรียน ที่จะไม่ทำให้เรื่องเช่นนี้ถูกผลิตเป็นประเด็นความขัดแย้งทางสังคมขึ้นอีกในอนาคต ถ้าเราเชื่อว่าสังคมสามารถเรียนรู้ผ่านบทเรียนและบาดแผลทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ ทั้งความขัดแย้งที่ปรากฏชัดและความขัดแย้งที่ซ่อนเร้น
ปรากฏการณ์ข่าว
หนึ่ง ปรากฎการณ์การเดินขบวนประท้วงของชาวมุสลิมในหลายประเทศ
ซึ่งแสดงออกในการประณามการกระทำของสื่อมวลชนเดนมาร์ก ที่เผยแพร่ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม
ในหลากหลายอิริยาบถ เช่น ภาพนบีมูฮัมหมัดนั่งประชุมกับนักรบระเบิดพลีชีพในสวรรค์
และภาพอื่นๆ รวม 12 ภาพ นับว่าเป็นภาพที่แสดงความดูหมิ่นศาสดาของชาวมุสลิมอย่างรุนแรง
และถือเป็นการไม่ให้เกียรติต่อผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
กรณีดังกล่าวเป็นที่มาของความขัดแย้งที่บานปลาย ทำให้มุสลิมส่วนใหญ่คิดว่า
จำเป็นต้องออกมาปกป้อง ผลที่ตามมาคือประชากรในประเทศมุสลิมเรียกร้องการบอยคอตสินค้าจากเดนมาร์ก
เกิดการเดินขบวนประท้วงที่ปานปลายถึงขั้นเผาอาคารสถานทูต รวมทั้งในประเทศไทยที่มุสลิมแสดงความเคลื่อนไหวโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า
"มุสลิมรักสันติ" (ซึ่งโดยความหมายแล้วคำว่า "มุสลิม"
ก็หมายถึง ผู้ศรัทธาในอิสลามที่รักในสันติอยู่แล้ว)
สอง
กรณีการนำเอาบทหนึ่งจากคัมภีร์อัลกุรอาน ไปบรรจุไว้ในส่วนเริ่มต้นของเพลงที่ชื่อว่า
"เฉย" ของศิลปินนักร้องแร็ปชื่อดังของเมืองไทย ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวมุสลิมในหลายๆ
ส่วน ถึงความไม่เหมาะสม โดยมุสลิมไทยบางส่วนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงสำนักจุฬาราชมนตรีในประเด็นดังกล่าว
อีกทั้งเกิดการแสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่แสดงถึงความขุ่นเคือง
และความไม่พอใจต่อการกระทำในครั้งนี้ ขณะที่ทางฝ่ายนักร้องเองได้ออกมาบอกว่าตนไม่ทราบจริงๆ
และรู้สึกตกใจมากๆ ที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากเพลงดังกล่าวเป็นเพลงเก่าที่ตนทำไว้กับค่ายเพลงเก่าเมื่อประมาณ
8 ปีที่แล้ว
สาม กรณีสุดท้ายคือ กรณีที่รัฐบาลและกองบัญชาการทหารสูงสุด
ได้นำเสนอและจัดทำ "โครงการศาสนิกสัมพันธ์สร้างสรรค์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้"
โดยระดมบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำเงินมาถวายผ้าป่ามหากุศลจำนวน 219
วัด และปรับปรุงมัสยิดจำนวน 1,687 แห่ง โดยตั้งกล่องรับบริจาคทั่วประเทศ รวมทั้งบริจาคผ่านบัญชีธนาคารทหารไทยและธนาคารอิสลาม
รวมทั้งจัดทำของที่ระลึกศาสนิกสัมพันธ์จำหน่าย จัดกิจกรรมหารายได้ทางสถานีโทรทัศน์
จัดหารายได้จากต่างประเทศ โดยสถานทูตไทยเชิญชวนคนไทยในต่างแดนร่วมบริจาค ส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์คือ
เพื่อปรับความคิดและความเชื่อของประชาชน ประเด็นดังกล่าวเกิดการทักท้วงจากปัญญาชนมุสลิม
ว่าควรต้องพิจารณาถึงวิธีการและรายละเอียดให้รอบคอบโดยคำนึงถึงหลักศาสนาอิสลาม
มุมมองต่อปรากฏการณ์
ถ้าเลือกที่จะมองอย่างผิวเผินหรือผ่านเลย กรณีทั้ง 3 ดูเหมือนจะไม่สำคัญเท่ากับข่าวกระแสการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน
ความความพยายามที่จะทำให้ผู้นำประเทศลงจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ปรากฏชัด
แต่เนื้อหาสาระจากข่าวทั้ง 3 กรณีข้างต้น อาจบ่มเพาะความขัดแย้งที่ซ่อนเร้นและรอวันเกิดการประทุได้อีกครั้ง
หากไม่ได้รับการป้องและแก้ไข ที่สำคัญอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่ใหญ่กว่า
คำถามที่ตามมาคือ ทั้งสามกรณีข้างต้น บ่งบอกอะไรจากความขัดแย้งถูกผลิตจากสื่อ ศิลปินและรัฐ และความขัดแย้งดังกล่าว สัมพันธ์อย่างไรกับศรัทธาความเชื่อของศาสนิกที่แตกต่างกันที่อยู่ร่วมสังคมไทย
กรณีที่หนึ่ง
นับเป็นปรากรการณ์ความขัดแย้งระดับโลกาภิวัฒน์ จากปัญหาที่เกิดที่หนึ่งแต่ส่งผลต่อคนที่มีสำนึกร่วมของคนศรัทธาเดียวกันอีกที่หนึ่งที่อยู่ร่วมโลก
หรือจะเรียกว่ามุสลิมมีสำนึกความเป็นชุมชนจินตนากรรมก็เป็นได้ คำถามคือ กรณีเช่นนี้ทำไมมุสลิมถึงยึดถืออะไรกันขนาดนั้น
ไม่แสดงออกไม่ได้หรือ?
การตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดาที่มีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างเคร่งครัด แม้จะอ้างว่าเพื่อปกป้อง
"เสรีภาพของสื่อมวลชน" ในการแสดงความคิดเห็นหรือเพื่อเป็นส่วนประกอบให้ผู้อ่านเข้าใจในประเด็นที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่
ย่อมเป็นการกระตุ้นให้เข้าใจว่า "เสรีภาพ" ถูกใช้เพื่อการหมิ่นศาสนาของผู้ศรัทธาที่ต่างจากตนได้ด้วยหรือ
การตีพิมพ์ภาพหรือเผยแพร่ภาพของศาสดามูฮัมหมัด จึงนับเป็นการหมิ่นต่อผู้ที่มีผลทั้งในทางศรัทธาและแบบอย่างในการปฏิบัติของคนจำนวนมาก
สร้างความรู้สึก "ยอมรับไม่ได้" เพราะผิดหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
ที่ระบุว่า ห้ามการมีวาดหรือจินตนาการภาพนบีมูฮัมหมัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม
ยิ่งเป็นการลบลู่ออกสาธารณะอย่างกรณีสื่อในประเทศเดนมาร์ก ย่อมกระตุ้นต่อมความขัดแย้งให้เกิดขึ้นและจะไม่ถูกปล่อยให้ผ่านโดยไม่การโต้แย้ง จากผู้ที่เขารู้สึกว่าเรื่องนี้เรายอมไม่ได้ สำหรับมุสลิมแม้ว่าจะยึดในพระวจนะของศาสดาที่ว่า "ความขันติ/อดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา" แต่กับเรื่องการถูกกดูหมิ่นเหยียดหยามเช่นนี้ อาจถูกแปลเปลี่ยนความรู้สึกสู่การแสดงออกเพื่อการปกป้องและต่อสู้ ในสถานะที่เป็นผู้ถูกกระทำ
อีกส่วนหนึ่งของข่าว ซึ่งเป็นผลกระทบจากการไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบของสื่อเดนมาร์ก คือการแสดงออกซึ่งความเหลือทนของผู้ชุมนุมในบางประเทศ ที่เลยเถิดถึงขั้นเผา ทำลายอาคารสถานฑูต สร้างความไม่เห็นด้วยแม้ว่าผู้ที่รับข่าวจะเป็นมุสลิมบางส่วนเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ของผู้ประท้วงที่เลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการต่อปัญหา แต่ถ้าเป็นการชุมนุม เดินขบวน เรียกร้อง แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยในลักษณะที่ไม่สร้างผลกระทบที่ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่น หรือเป็นไปโดย "สันติวิธี" เป็นความชอบธรรมที่ผู้ได้รับผลกระทบ เป็นที่ยอมรับในอิสลามและสอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึ่งมีตามระบอบประชาธิปไตย
กรณีที่สอง
จาการที่นักร้องเร็ปไทยชื่อดังและอดีตผู้บริหารต้นสังกัดเก่าได้ออกมากแถลงข่าวแสดงความรับผิดชอบ
รวมถึงชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากกลัวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะบานปลายและกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนา
และยอมรับว่าชิ้นงานที่ผลิตออกมาไม่ได้มีเจตนาลบหลู่แต่เป็นการผลิตงาน "ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์"
ด้วยการ "แสดงความรับผิดชอบ"ของผู้เป็นศิลปินพร้อมทั้งบอกมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตามมา
ด้วยการจัดเก็บ งานชิ้นดังกล่าวที่ถูกวางแผงทั้งหมด สามารถลดกระแสความไม่พอใจในหมู่มุสลิมไทยได้พอสมควร
กรณีนี้สร้างแบบอย่างที่ดีในการออกมาแสดงความรับผิดชอบของศิลปินเพื่อนต่างศาสนิกที่กล้าออกมารับผิดชอบ
ภายใต้สังคมสมาฉันท์ที่เกราะความสัมพันธ์ที่สามารถกลับมาเป็นดังเดิม ด้วยการยอมรับที่ต่างจากสื่อของเดนมาร์กที่อาจไม่เข้าใจว่า"เสรีภาพ"จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
การออกมารับผิดชอบ แสองออกซึ่งความเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นพร้อมทั้งมีข้อเสนอที่เป็นมาตรการแก้ไขที่ไม่ใช่เพียงแค่กล่าว "คำขอโทษ" นับว่าเป็นวิธีการที่น่าชื่นชม การให้สัมภาณ์ของศิลปิน ในภายหลังการเข้าพบจุฬาราชมนตรี สร้างความพึงพอใจต่อมุสลิมที่รู้สึกว่าถูกละเมิด พร้อมทั้งเอ่ยถึงสิ่งที่ได้รับไมตรีสมานฉันท์ คือ "การให้อภัย" ซึ่งสวยงามยิ่งใหญ่กว่าความโกรธเคือง ชิงชังและทรงคุณค่าที่สุดในการอยู่ร่วมกัน
ศิลปินกับศิลปะย่อมเป็นสิ่งคู่กัน การผลิตงานศิลปะหลายชิ้นส่งผลต่อการสร้างสรรค์และกระแสสังคม แม้ว่าจะมีวิธีการและเนื้อหาที่แปลกแยก แหวกแนว ซับซ้อน สร้างทางเลือกใหม่ หรือจะสะท้อนความนัยได้ซักกี่ชั้นก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ควรเกินขอบเขตของความพอดีและเป็นที่รับได้ของคนร่วมสังคม ศิลปะจะได้รับการยอมรับชื่นชมยกย่องหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่เนื้อหาของงานที่สร้างสรรค์ขึ้น
การรู้สึกรับได้และรับไม่ได้ของแต่ละคน กลุ่มชน ศาสนิกย่อมเข้มงวดไม่เท่าเทียมกัน เหตุผลความเชื่อ และเอกลักษณ์ทางศาสนาเป็นสิ่งสูงค่า การศึกษาความต่างที่เคารพให้เกียรติและความเคารพเชื่อศรัทธา เป็นเรื่องสำคัญที่มักนำไปสู่ การทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน
กรณีที่สาม
เป็นประเด็น"ความชอบธรรมจากนโยบายรัฐ"
ในการดำเนินโครงการแบบเหมารวม เน้นตัวเลขจำนวนปริมาณของวัดและมัสยิด แต่กลับไม่แยกแยะในเชิงคุณภาพทั้งรายละเอียดและเนื้อหา
เพราะโครงการนี้ส่งผลกระทบกับกลุ่มศาสนิก ที่มีความต่างด้านความเชื่อและศรัทธา
โครงการ"ศาสนิกสัมพันธ์" ที่รัฐเลือกอาจมีเจตนาที่ดี แต่ที่ยังขาดรายละเอียดในวิธีการที่ละเอียดรอบคอบ
หรือผ่านการปรึกษาหารือกับผู้รู้ทางศาสนาอิสลามจึงสื่อให้มุสลิมเข้าใจว่า เงินที่ใช้สร้างวัดและสร้างมัสยิดเป็นเงินกองเดียวกัน
อันนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า มีการแยกวัตถุประสงค์การให้จากผู้บริจาคหรือไม่?
และถ้ารวมกันเป็นกองทุนเดียวแล้วจะแยกเงินออกอย่างไร ย่อมจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง
เพราะเป็นกองทุนที่ ควรสามารถตรวจสอบมาของเงิน
เพราะในเรื่องนี้ อิสลามที่มีกรอบชัดเจนในเรื่องที่มาของเงินเพื่อนำมาสร้างมัสยิดต้องมาจากรายรับที่สุจริต
ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ดอกเบี้ยหรือภาษีบาปเช่นเงินจากกองฉลากฯ และที่สำคัญที่ของเงินบริจาคต้องมาจากมุสลิมเท่านั้น
เพราะมุสลิมเชื่อกันว่ามัสยิดเป็น"บ้านของพระผู้เป็นเจ้า" และหน้าที่ในการสร้างหรือบูรณะศาสนสถานที่เรียกว่า
มัสยิด เป็นสิทธิและหน้าที่ของมุสลิมเท่านั้น ไม่ควรที่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นจะมาดำเนินการในเรื่องนี้
การเลือกใช้วิธีการ "ศาสนิกสัมพันธ์" ย่อมไม่ใช่การมองข้ามกรอบกติกาที่ศาสนากำหนด แล้วมาสร้างสัมพันธ์กัน แต่หมายถึงการที่ต้องเข้าใจ กติกาและขอบเขตของศาสนาก่อน แล้วจึงมาสร้างสัมพันธ์ ในรูปแบบที่ศาสนากำหนด
ที่สำคัญถ้ามีวัตถุประสงค์ว่า "เพื่อปรับความคิดและความเชื่อของประชาชน" ทางหนึ่งอาจมองได้ว่าประชาชน อาจถูกทำให้กลายกลืนความเชื่อความศรัทธาที่เขามีอยู่ และยิ่งเป็นการสะท้อนว่ารัฐเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่นั้นคิดในทางลบต่อรัฐ สิทธิอำนาจของรัฐในการกำหนดโครงการหรือนโยบายต่างๆ ย่อมต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน(ไม่ใช่แค่เฉพาะการเลือกตั้ง) และรัฐจะต้องไม่ทำลายสิทธิพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพในการปฏิบัติตามกรอบประเพณีของศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำตามกติกาของระบบประชาธิปไตย
สรุป
:
จอห์น ล็อค(ค.ศ.1632-1704) นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ที่เป็นที่ยอมรับแนวคิดในเรื่อง"รัฐและระบอบประชาธิปไตย"
กล่าวว่า กฎธรรมชาติมีอำนาจเหนือมนุษย์และถ้ามนุษย์ใช้เหตุผล ก็จะมองเห็นได้
นอกจากนั้นมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล มีความเสมอภาค และมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะมีชีวิตอยู่
มีเสรีภาพ มีทรัพย์สิน และไม่มีสิทธิละเมิดสิทธิของผู้อื่น ด้วยคำกล่าวที่ว่า
"เหตุผลสอนมนุษย์ทุกคน มนุษย์จะใช้เหตุผล และมีความเสมอภาค มีเสรีภาพ
และไม่ควรก่อความเสียหายต่อชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ และทรัพย์สินของผู้อื่น"
ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐประชาธิปไตย จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจต่อความขัดแย้งในหลายกรณีที่เกิดขึ้น โดยอ่านปรากฏการณ์และสรุปบทเรียน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก สำหรับผู้ได้รับผลกระทบหรือรู้สึกว่าถูกละเมิด ทางออกของการจัดการต่อปัญหาในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" ย่อมมีทางเลือกมากมายให้เลือกใช้แสดงออก การเลือกการแสดงออกด้วยสติที่กลั่นกรองจากวิทยปัญญาที่ถูกระบุไว้ในหลักการศาสนา ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า บางเรื่องผู้ได้รับผลกระทบสามารถเลือกที่จะใช้การยื่นหนังสือ นั่งคุยเจรจา อดอาหาร สนทนาแลกเปลี่ยนพอที่จะสื่อสารกัน บางเรื่องสร้างเวทีสาธาณะสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเปิดกว้าง
กรอบของความมีเสรีภาพและการสร้างสรรค์ ย่อมไม่ใช่ความมีอิสรภาพอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และคงไม่ใช่จะทำอะไรออกมาสู่สังคมใหญ่อย่างไรก็ได้ แต่อยู่ที่ความพอดีและการเคารพความสวยงามของความสัมพันธ์อันดี เข้าใจ คำว่าความหลากหลาย ทั้งในการนำเสนอข่าว การผลิตงานของศิลปินหรือการออกมาตรการ โครงการ นโยบายใดนโยบายหนึ่งของภาครัฐ เพราะมีผลกระทบกับแต่ละกลุ่มชนไม่เหมือนกัน ความแตกต่างในการนับถือศาสนาทางหนึ่งดูเหมือนเป็นกำแพงเกราะป้องกัน แต่ไม่สามารถปฏิเสธเช่นกันว่า ความแตกต่างทางการนับถือศาสนา ก็สามารถเป็น "สะพาน" ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์อันดีได้เช่นกัน
หากพิจารณาจากสิ่งที่เรียกว่า "ยอมไม่ได้" ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อของทุกศาสนิกย่อมหมายความว่า ถ้าเป็นคนอื่นหรือศาสนาอื่นถูกกระทำเช่นเดียวกัน ก็ยอมไม่ได้เช่นเดียวกัน การเรียนรู้ความหนาบางของกรอบและเส้นแบ่ง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน รวมทั้งสื่อมวลชน ศิลปินหรือรัฐ ควรพินิจและคำนึงกับสิ่งที่เรียกว่า ความต่างหลากหลายที่ไม่อาจเหมารวม ซึ่งบางครั้งเรื่องที่เกิดขึ้นอาจดูเป็นเรื่อง"เล็ก" สำหรับเรา แต่เป็นเรื่อง "ใหญ่" สำหรับคนบางกลุ่มก็เป็นได้ การเอาใจใส่และคอยตั้งคำถามสิ่งที่ทำอยู่ว่า "แล้วเขา (ที่ต่างจากเรา)จะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร กับสิ่งที่เราทำ ?" ย่อมหมายถึง การเอาใจใส่หรือห่วงใยต่อการกระทำของตนเองที่มีผลต่อผู้อื่น และการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง การคำนึงถึงผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เพราะในเรื่องนี้ อิสลามที่มีกรอบชัดเจนในเรื่องที่มาของเงินเพื่อนำมาสร้างมัสยิดต้องมาจากรายรับที่สุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ดอกเบี้ยหรือภาษีบาปเช่นเงินจากกองฉลากฯ และที่สำคัญที่ของเงินบริจาคต้องมาจากมุสลิมเท่านั้น เพราะมุสลิมเชื่อกันว่ามัสยิดเป็น"บ้านของพระผู้เป็นเจ้า" และหน้าที่ในการสร้างหรือบูรณะศาสนสถานที่เรียกว่า มัสยิด เป็นสิทธิและหน้าที่ของมุสลิมเท่านั้น ไม่ควรที่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นจะมาดำเนินการในเรื่องนี้