The Midnight University
ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญฉบับเข้าใจง่าย
ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา
(๒)
รองศาสตราจารย์
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้นำมาจากประชาไทออนไลน์
ในหัวข้อเรื่อง -ใครอยากรื้อระบอบทักษิณ ฝากรื้อศาลรัฐธรรมนูญด้วย-
อันเป็นบทสรุปจากเเรื่อง -ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา-
ของรองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
สัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๑
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๔๘
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 853
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7.5 หน้ากระดาษ A4)
ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
บทนำจากประชาไทออนไลน์
"ศาลรัฐธรรมนูญ
หรือศาลปกครองนั้น ความจริงมีภารกิจที่จะต้องอุดช่องว่างของกฎหมาย การใช้หรือตีความจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของภารกิจหน้าที่
เพราะเหตุว่ากฎหมายมหาชนที่เราเกี่ยวข้องอยู่นั้นมีวัตถุประสงค์ เป้าประสงค์
ปรัชญาที่แตกต่างจากกฎหมายแพ่งพาณิชย์ที่เราใช้ เพราะว่าเจตนาวัตถุประสงค์ของกฎหมายมหาชนที่เรากำลังพูดถึงทุกวันนี้เป็นเรื่องประโยชน์ของคนส่วนรวม
"วัตถุประสงค์มุ่งไปที่ความสำเร็จของเจตนารมณ์ของประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว
เพราะฉะนั้นการใช้การตีความกฎหมายต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ นี่คือศาสตร์ของการใช้และการตีความกฎหมาย
การอุดช่องว่างของกฎหมาย
"เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายมหาชนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าไปใช้ตัวหนังสือ ไม่มีไปยาลน้อยไปยาลใหญ่ ไปหยุดอยู่ตรงนี้เถียงกันไปมาก็ได้ แต่มันตรงกับเจตนารมณ์หรือการใช้กฎหมายที่แท้จริงหรือไม่"
ข้างต้นเป็นคำพูดของ ศ.ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548. วันนั้น ประธานศาลปกครองสูงสุด ไปในฐานะผู้วิจารณ์การเสนองานวิชาการของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่อง 'ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา'
แม้ว่ากระแสแก้รัฐธรรมนูญจะแผ่วปลายลงไปเนื่องจากช่วงหลังๆ มานี้ กระแสขับไล่นายกฯ กลายเป็นเสียงเรียกร้องที่ก้องดังกว่ามากมายหลายเท่า ส่วนหนึ่ง เนื่องเพราะเริ่มมีการแยกแยะประเด็นปัญหาระหว่างตัวนายกรัฐมนตรีกับปัญหาของข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญชัดเจนยิ่งขึ้น คำอธิบายอารมณ์ของกระแสจาก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง วุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยตลอดกาล อาจจะเป็นคำอธิบายที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ เมื่อพระรูปหนึ่งต้องปาราชิก ไฉนจึงจะโยนความผิดให้พระวินัยไปเสียได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว. ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 209 หรือไม่ ซึ่งมาตรา 209 บัญญัติว่า
"รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
"ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว"
การไม่รับคำร้องครั้งนี้กลายเป็นการยืนยันความไม่ 'เวิร์ก' ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าอีกจนได้ เป็นการกระทำที่ได้ย้ำความกังขาในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มีมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยการปฏิเสธที่จะรับวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว นั่นอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะลดกระแสการขับไล่นายกรัฐมนตรี และลากยาวเพื่อผ่อนความหนักไปได้อีกเป็นเดือน
เมื่อย้อนกลับไปดู การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีปัญหาในหลายๆ กรณี พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ คือ หลายๆ คดีที่สำคัญๆ จะมีลักษณะ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชัดเจนกลับไม่รับวินิจฉัย ส่วนเรื่องที่ไม่มีอำนาจชัดเจนก็กลับยื่นมือเข้าไปวินิจฉัย เช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับพิจารณา และเมื่อรับไปพิจารณาแล้วก็มีคำวินิจฉัยออกมาให้เป็นเรื่องวุ่นวายในแผ่นดินอยู่เป็นเวลาเกือบ 2 ปี
กรณีก้าวล่วงมาวินิจฉัยพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏซึ่งวุฒิสภา มีความเห็นขัดกันกับสภาผู้เทนราษฎร ทั้งที่ไม่มีอำนาจรับรองชัดเจน กลับไปรับมาวินิจฉัย มิหนำซ้ำยังมีตุลาการบางท่านออกมาให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาช่วย เพราะกระบวนการนิติบัญญัติไปต่อไม่ได้...ว่าไปนั่น
กรณีที่ 57 ส.ว. ร้องขอให้วินิจฉัยกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. ไม่ชอบ มีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (http://www.kodmhai.com/m1/m1-255-270.html) ....ไม่รับ. กรณี ป.ป.ช. ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง มีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266....ไม่รับ. และกรณีล่าสุด 27 ส.ว. ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209.....ไม่รับ
หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น
คือการอุดช่องว่างของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความขัดกันของกฎหมาย และการขัดกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนั้นถือเป็นยุติและไม่มีช่องทางอื่นใดในอันที่จะอุทธรณ์ได้อีก
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงเสมือนที่พึ่งสุดท้าย แต่ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญก็กลายเป็น
ฟางเส้นสุดท้ายไปจริงๆนั่นคือ เบาหวิว ไร้น้ำหนัก และพึ่งพาไม่ได้ไปเสียแล้ว
สิ้นคำวินิจฉัยไม่รับวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ตามที่ 27 ส.ว. ยื่นคำร้อง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานคำสัมภาษณ์ของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเสียที นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่อาจารย์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นี้เสนอประเด็นดังกล่าว เขาเคยนำเสนอเรื่องนี้เป็นบทความและการบรรยายทางวิชาการประจำปีของคณะนิติศาสตร์ไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2548
ประชาไทขอนำท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปวันที่ 9 ธ.ค. 2548 อีกครั้งหนึ่ง ไปฟังว่า ดร.วรเจตน์ เสนออะไรสำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญไทย. อนึ่ง ประชาไทขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านทำใจให้สบาย และผ่อนคลายให้มากๆ เพราะข้อเสนอของ ดร.วรเจตน์ นั้นเป็นเรื่องที่ว่าไปตามหลักการ ซึ่งเป็นการมองระยะยาว และอาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา 'ความรู้สึก' ของสังคมไทยขณะนี้ เพราะที่เรากำลังเผชิญคือปัญหาที่ว่ากันด้านสำนึกของบุคคลเสียมากกว่าอื่น
อย่างไรเสีย ประชาไทเห็นว่าข้อเสนอของ ดร.วรเจตน์ นั้นเป็นรูปธรรมที่สุดแล้วหากจะต้องมีการ 'รื้อ' หรือ 'ซ่อม' ศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ จังๆ ส่วนเรื่องความหงุดหงิดรายคดีนั้น ประชาไทไม่รับประกันว่า บทวิเคราะห์ของ ดร.วรเจตน์ จะช่วยบรรเทาเบาบางลงได้อย่างไร เพราะแม้แต่ผู้เสนอยังมีอาการ 'หลุด' หลังคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นจากการพูดบนเวทีที่ลานโพธิ์เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา
"จากที่อ่านคำร้องแล้วนั้น ไม่ว่าใครหากไม่อ่านมั่ว หรือเป็นคนมีสติจะอ่านเข้าใจว่าคำร้องดังกล่าวพูดว่าอย่างไร แสดงว่าสู้คดีทางศาลได้ ส่วนศาลเพียงดูว่ามีพฤติการณ์ และไปพิสูจน์ต่อ โดยศาลสามารถเรียกข้อมูลตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเอกสาร การชี้แจงจากทุกฝ่าย หรืออื่นๆ
"ส่วนกรณีที่ระบุว่าคำร้องไม่เข้าเกณฑ์
เมื่ออ่านแล้วก็ไม่พบว่าไม่เข้าเกณฑ์ข้อไหน กลายเป็นสรุปคำวินิจฉัยของศาลต่างหากที่ไม่ชัด
เพราะไม่ได้ระบุว่าไม่เข้าเกณฑ์ตรงไหนอย่างไร ในคำร้อง มีทั้งชื่อ ข้อกล่าวหา
หรือแม้แต่การบรรยายพฤติการณ์
"มาตรา 209 จะเป็นหมันทันที และต่อไปจะใช้ไม่ได้ ก็ให้ลบออกไปเสียจากรัฐธรรมนูญ
เพราะหากเอาเกณฑ์ที่ใช้กับการพิจารณาเพื่อเอาคนเข้าคุกมาใช้ มาตรานี้ก็ใช้ไม่ได้
และถ้าใช้ไม่ได้ ควรจะมีศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ และมีไปทำไม" (http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=2605&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai)
-------------------------------------------------------------------------------
บรรทัดต่อจากนี้ไปคือเสนอของ ดร.วรเจตน์ เมื่อวันที่
9 ธ.ค. 2548
ศาลรัฐธรรมนูญคือศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ
ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ เพียงแต่แตกต่างจากองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอื่นๆ เนื่องจากจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ศาลปกครองก็ดี ศาลยุติธรรมก็ดี ไม่ถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติประกันความเป็นสถาบัน หมายความว่าระบบกฎหมายต้องจัดให้มีศาลปกครองกับศาลยุติธรรมแยกออกจากกัน อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กฎหมายจัดตั้งศาลนั้นๆ กำหนดเอาไว้
แต่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นต่างออกไป โดยที่ใช้อำนาจในศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญโดยตรง ในเวลาเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่องค์กรอิสระ เพราะองค์กรอิสระคือองค์กรที่ใช้อำนาจในทางการบริหารการปกครองที่ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีกี่คน
ดร. วรเจตน์ เสนอว่า ในปัจจุบันเรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ
1 คน และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน ถ้าเราดูจากโครงสร้างองค์ประกอบแล้วลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ดร. วรเจตน์กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน
จะพบว่าส่วนใหญ่ จะมีจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประมาณ 9-16 คน
อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนไม่เรื่องใหญ่เท่ากับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานกับปริมาณงานประกอบกัน ซึ่งพิจารณาจากประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและปริมาณงาน และจากการศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีการแบ่งองค์คณะ คือองค์คณะที่จะทำการวินิจฉัยแต่ละคดีนั้นจะน้อยกว่าจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั้งหมด และส่วนมากจะแบ่งแล้วไม่เกิน 10 คนต่อหนึ่งองค์คณะ
สำหรับศาลรัฐธรรมนูญของไทยนั้น การพิจารณาคดีด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คนนั้น ถือว่าเป็นองค์คณะที่ใหญ่เกินไปและอาจกระทบกับกระบวนการและวิธีการทำงานของศาลได้ เนื่องจากในบางคดีศาลต้องทำหน้าที่สอบพยาน หรือข้อเท็จจริง เช่น คดียื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน "ผมจึงมีความเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในแง่ขององค์ประกอบควรจะมีไม่เกิน 9 คน ถ้าในอนาคตมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยประชาชนโดยตรง เราอาจจะต้องสร้างอีกองค์คณะหนึ่งขึ้นมารองรับปริมาณคดี ในปัจจุบันนี้ผมคิดว่าจำนวน 9 คน น่าจะเป็นจำนวนที่ทำให้ศาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามสมควร"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรจะมาจากไหน
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (มาตรา 255) กำหนดไว้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง
15 คนจะมาจาก 3 ส่วนคือ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกาได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่โดยวิธีลงคะแนนลับ
5 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมโดยวิธีลงคะแนนลับ
2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ได้รับเลือกโดยวุฒิสภา 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์
ได้รับเลือกโดยวุฒิสภา 3 คน
ดร. วรเจตน์ เสนอว่า หากเปลี่ยนองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญเหลือเพียง 9 คนตามที่เสนอในเบื้องต้นแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนควรจะมีที่มาจาก 3 ทาง คือจากผู้พิพากษา จากผู้ประกอบวิชาชีพในทางกฎหมายที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา และผู้ที่ประกอบวิชาชีพในทางวิชาการทางกฎหมายอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงตัดสายรัฐศาสตร์ออกไปเลยนั้น เขากล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์อาจจะเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แต่โดยผ่านช่องทางการเป็นตัวแทนจากศาลปกครอง
เขาเสนอองค์ประกอบใหม่ดังนี้ ศาลฎีกาควรจะเป็น 2 คน เท่ากับศาลปกครองสูงสุด อีก 2 คน ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายทั้งหมดที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั่วไป เช่น ทนายความ อัยการที่มีประสบการณ์ที่มีความรู้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วก็ผู้บริหารระดับสูงที่มีความรู้ทางด้านนี้อีก 3 คน และกลุ่มสุดท้ายคือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอีก 2 คน โดยหวังว่าประสบการณ์จากทั้ง 3 กลุ่มจะรวมกันหรือผสมกันเพียงพอที่จะทำให้งานในทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมได้ และสามารถวินิจฉัยปัญหาในทางกฎหมายให้เป็นที่ยุติได้โดยที่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมา
กระบวนการสรรหาตุลาการจะทำอย่างไร
"ในทัศนะของผม ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากเรื่องการสรรหาและการคัดเลือก
มันเกิดจากการออกแบบในแง่ของกระบวนการสรรหาและคัดเลือกนั้นซับซ้อนเกินไป ผมคิดว่าวิธีที่น่าจะดีในแง่ของการคัดเลือกคนเป็นตุลาการ
น่าจะมีการจัดทำบัญชีรายชื่อของคนซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งแน่นอนในรายละเอียดต้องไปดูในคุณสมบัติอีกว่า
จะต้องมีรายละเอียดคุณสมบัติอย่างไร แต่คนที่มีคุณสมบัติทั้ง 3 กลุ่มควรจะต้องไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ
ถ้าเขายินยอมที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และบัญชีรายชื่อนั้นก็เปิดเผยต่อสาธารณชนว่ามีใครบ้างในประเทศนี้
ที่มีคุณสมบัติจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
"ในแง่ของการเลือกนั้นไม่ควรมีระบบของการสรรหาขึ้นมาซ้อนอีก แต่ให้องค์ที่คัดเลือกนั้นคัดเลือกตัวบุคคลจากบัญชีรายชื่อจากบัญชีนั้นนั่นเอง ซึ่งในแง่มุมนี้อาจเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่เป็นรายละเอียด แล้วเรื่องการคัดเลือกนั้นคะแนนเสียงของคนที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านการคัดเลือกจากสภา ควรจะมากพอที่ทำให้เกิดการประสานความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันในสภาได้ ถ้าเราให้วุฒิสภาเป็นคนเลือก
"โดยโครงสร้างอย่างนี้ผมคิดว่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสภาพของการทำงานที่มีลักษณะเป็นศาลเต็มรูปมากขึ้น ทั้งนี้โดยให้คนที่มีประสบการณ์ทางกฎหมายเป็นคนวินิจฉัยชี้ขาด ส่วนคนซึ่งสำเร็จการศึกษาทางด้านอื่นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็จะผ่านไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยช่องทางของศาลปกครอง ที่เห็นว่าจะมีประสบการณ์ในการพิจารณาคดีต่อในระดับหนึ่ง"
ปัญหาการว่างเว้นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ดร.วรเจตน์ ระบุว่าปัญหาอีกประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันก็คือ ตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งว่างเว้นอยู่
ซึ่งตัวเขาเองมองว่า องค์กรทุกองค์กรต้องมีผู้แทน จะว่างจากผู้แทนไม่ได้ ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ
เป็นตำแหน่งซึ่งต้องมีอยู่ตลอดเวลา และหากไม่มีตัวประธานก็ต้องมีคนทำหน้าที่แทน
มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาเช่น หากกฎหมายกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกรรมการสรรหาคณะกรมการการเลือกตั้ง
สำหรับปัญหาประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ว่างเว้นลงโดยไม่มีผู้ทำหน้าที่แทนนั้น
เป็นเพราะไม่มีบทบัญญัติ
"คำถามว่าแล้วทำไมบ้านเราจึงเป็นแบบนี้ คำตอบเพราะว่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญของเรานั้นมีบัญญัติเอาไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
เราไม่มีตัวกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่กำหนดในรายละเอียด รวมทั้งระบบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย"
ปัญหาของวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องเพราะไม่มีระดับพระราชบัญญัติที่กำหนดระบบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญของเรากำหนดเอาไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนด ว่าด้วยวิธีพิจารณาเองโดยมติเอกฉันท์
"ท่านคงนึกภาพดูได้ว่า คนประชุมกัน 15 คนออกกฎเกณฑ์บางอย่างที่จะลงวิธีพิจารณาและต้องการมติเอกฉันท์ ย่อมเห็นได้ว่ามันยากอย่างยิ่ง และไม่น่าประหลาดใจ อันนี้โทษศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ด้วยว่าข้อกำหนดวิธีพิจารณานั้นมี 37 ข้อ แล้วก็ขาดรายละเอียดในหลายส่วน ที่จำเป็นแก่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปโดยอย่างมีประสิทธิภาพ. "ผมเองมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญในส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องแก้ ทุกประเทศที่ผมไปสำรวจตรวจสอบมานั้น มีกฎหมายที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเอง"
ดร. วรเจตน์ ให้เหตุผลว่า การที่ให้รัฐบาลเป็นคนดำเนินการออกกฎหมายกำหนดวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อดีตรงที่รัฐสภาจะสามารถกำหนดเกณฑ์ในหลายส่วนที่จำเป็นแก่การพิจารณาของศาลได้ เพราะกฎเกณฑ์บางอย่างถ้าให้ศาลไปกำหนดเอง อาจจะเป็นปัญหาว่าเกิดการขัดกันในทางประโยชน์ เช่น กฎเกณฑ์ว่าด้วยการคัดค้านตุลาการ หรือกรณีที่ตุลาการมีส่วนได้เสียในคดี ถ้าให้ศาลออกกฎหมายเองอาจจะเกิดข้อครหาว่าศาลออกข้อกำหนดอันนี้เอง แล้วก็ใช้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นการให้สภาเป็นคนออกกฎหมายดังกล่าวนี้ ก็จะช่วยทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป แล้วสภาก็อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไปถึงตำแหน่งรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วย
การทำคำวินิจฉัยเฉพะตัว
ถ้ายังจำกันได้ กรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ออกมาเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนที่เห็นต่างจากคำวินิจฉัยกลาง
กรณีพิจารณากระบวนการสรรหา ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งแม้การเผยแพร่นั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสสังคม
แต่นั่นก็ถือเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน
ดร. วรเจตน์ กล่าวว่าการกำหนดให้ตุลาการแต่ละท่านต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนนั้น เป็นการการสร้างภาระเกินสมควรให้กับตุลาการเพราะคดีที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน แต่อีกด้านหนึ่งทำให้ขาดตุลาการที่จะมารับผิดชอบคำวินิจฉัยกลาง คือแต่ละคนต้องไปทำคำวินิจฉัยส่วนตน ตุลาการที่จะมาดูคำวินิจฉัยที่มีผลทางกฎหมายคือคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มี เขาอ้างอิงประสบการณ์ของต่างประเทศว่า ในแต่ละคดีที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะมีระบบตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน เมื่อคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีตุลาการท่านหนึ่งจะรับผิดชอบสำนวนในคดีนั้น เป็นคนที่จะดูข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วก็เตรียมสำนวนให้องค์คณะวินิจฉัย แล้วก็มีการเขียนคำวินิจฉัยไปตามมติขององค์คณะ ด้วยระบบแบบนี้ตุลาการก็จะต้องเข้ามารับผิดชอบในคำวินิจฉัยกลางโดยตรง
การกำหนดความผูกพันของตุลาการในการวินิจฉัยประเด็นต่างๆ
ประเด็นสุดท้าย ที่ ดร.วรเจตน์ เสนอ คือการกำหนดความผูกพันของตุลาการในการวินิจฉัยประเด็นต่างๆ
ซึ่งพบที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการลงมติเสียงข้างมาก เนื่องจากข้อเท็จจริงทีเกิดขึ้นนั้น
ไม่ได้ผูกพันให้ตุลาการต้องลงมติ บางคดีจึงมีการลงมติโดยไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างแท้จริง
เพราะไม่ได้ลงมติกันครบทุกคน
"ถ้าเราได้ติดตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเห็นหลายเรื่องที่ท่านวินิจฉัยเอาไว้ถูกต้อง แล้วก็น่าชมในเรื่องสิทธิเสรีภาพหลายเรื่องเหมือนกัน แต่ในอีกหลายเรื่องถ้ามองจากระบบวิธีพิจารณาแล้วท่านยังมีปัญหาในแง่ของ การดำเนินกระบวนพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย โดยวิธีการกำหนดประเด็นของคดีและความผูกพันของตุลาการมีการลงมติในประเด็นต่างๆ
"ถ้าใครได้ไปสำรวจตรวจสอบการตั้งประเด็นในคำวินิจฉัย และการลงมติของในประเด็นของคดีแล้ว จะพบว่าคดีนี้มีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากว่า คดีที่ตัดสินออกมาในคำวินิจฉัยนี้เกิดจากเสียงข้างมากหรือไม่ เพราะในเบื้องต้นพอคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีการลงมติกันก่อนว่าจะรับคดีพิจารณาหรือเปล่า เสร็จแล้วเมื่อตุลาการจำนวนหนึ่งบอกว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจไม่รับพิจารณา ท่านก็จะนั่งประชุมคดีต่อไป แต่พอถึงคราวที่ต้องลงมติวินิจฉัยในประเด็นหลักของคดี ท่านจะไม่ลงมติวินิจฉัยในประเด็นหลักของคดี จึงทำให้คะแนนเสียงที่ออกมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน
"แล้วในบางคดีไม่ได้เกิดขึ้นจากเสียงข้างมากของตุลาการด้วย
ไม่ได้เกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะทั้งหมด เพราะมีตุลาการจำนวนหนึ่งปฏิเสธไม่ลงมติวินิจฉัยดำเนินคดี
เรื่องนี้คงต้องแก้โดยการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง"
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
มีข้อสังเกตว่า หากองค์กรที่คุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมือง การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญย่อมไม่จำเป็นที่องค์กรนั้นจะต้องใช้เกณฑ์ในทางกฎหมายเท่านั้นในการวินิจฉัยชี้ขาด หรือหากองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นองค์กรที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเป็นองค์กรทางการเมืองและองค์กรตุลาการ เช่น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ลักษณะและวิธีการในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในลักษณะทำนองเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล