The Midnight University
ชีวิต
กฎหมาย และอินเทอร์เน็ต
นิติปรัชญาว่าด้วยกฎหมายมีชีวิต
กฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร (๑)
โดย
เดวิด อาร์. จอห์นสัน (David R. Johnson)
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
: แปล
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้เป็นการเปรียบเทียบระบบกฎหมายกับระบบของสิ่งมีชีวิต
อันเป็นแนวคิดใหม่ที่แตกต่างจากแนวคิดที่เห็นว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกทางสังคม
อันเป็นแง่มุมที่ช่วยส่งเสริมให้เรามองระบบกฎหมายด้วยความเข้าใจ
และให้ความสำคัญกับภาพรวมของระบบกฎหมาย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 850
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
นิติปรัชญา
ว่าด้วยกฎหมายมีชีวิต กฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร (๑)
ชีวิต กฎหมาย และอินเทอร์เน็ต
โดย เดวิด อาร์ จอห์นสัน (David R. Johnson)
แปลโดย ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
คำนำผู้แปล
บทความนี้ผู้แปลได้อ่านมาจากเวปไซต์ "First Monday", volume 11,
number 2 (February 2006), <http://firstmonday.org/issues/issue11_2/johnson/index.html>
โดยพบว่าบทความเรื่องนี้ มีความน่าสนใจอยู่อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษากฎหมาย
ดังนี้
ประการแรก คือ การเปรียบเทียบระบบกฎหมายกับระบบของสิ่งมีชีวิต อันเป็นแนวคิดใหม่ที่แตกต่างจากแนวคิดที่เห็นว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกทางสังคม อันเป็นแง่มุมที่ช่วยส่งเสริมให้เรามองระบบกฎหมายด้วยความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับภาพรวมของระบบกฎหมาย โดยเฉพาะระบบของความสัมพันธ์ที่มีภายในระบบ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ซึ่งไม่อาจส่งผลดีแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะต่อสถานการณ์บ้านเมืองของไทยในยามนี้ ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ ผู้แต่งได้นำหลักการดังกล่าวมาเน้นย้ำให้เห็นถึงผลเสียของแนวคิดและการวิเคราะห์แบบแยกส่วน โดยเฉพาะการวิเคราะห์แยกส่วนระบบกฎหมาย
ประการที่สอง บทความนี้ได้เสนอแนวทางใหม่เกี่ยวกับพัฒนาการทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโลกาภิวัตน์และอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เกิดสภาวะไร้พรหมแดนอันมีผลกระทบต่อประเด็นเขตอำนาจทางกฎหมายอย่างสำคัญ ซึ่งในความเห็นของผู้แปลแล้วเห็นว่า สิ่งที่ผู้แต่งเสนอขึ้นมานั้น เป็นกรอบความคิดใหม่ทางกฎหมายที่มีความเป็นไปได้ แม้จะยังมีตัวอย่างให้เห็นจริงอยู่ไม่มากนักก็ตามในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับบริบทของอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบได้อย่างรวดเร็วทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในบริบทดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้า
คำนำผู้แต่ง
(David R. Johnson)
ผมอยากจะกล่าวว่า "กฎหมาย (ทั้งระบบโดยทั่วไป เช่นเดียวกับระบบกฎหมายของสหรัฐฯ)
มีชีวิตของมันเอง" (Law has a life of its own) และกฎหมายก็ยังมีความเป็นสิ่งมีชีวิต
(organism) มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือหรือกลไก (mechanism) ใดๆ ซึ่งผมจะได้สำรวจตรวจสอบนัยยะของเรื่องนี้ต่อไปเพื่ออาจเป็นพัฒนาการทางกฎหมาย
ที่ใช้บังคับบนขอบเขตของอินเทอร์เน็ตที่กว้างไกลทั่วโลก
1. ชีวิตเป็นอย่างไร
โรเบิร์ต โรสเซน (Robert Rosen )(1) เป็นบุคคลที่ได้รับสมญาว่าเป็น นิวตันแห่งวงการชีววิทยา
แต่ผลงานของเขาก็ยังเป็นที่รู้จักในหมู่นักชีววิทยาจำนวนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เขาศึกษานั้นไม่ใช่ประเด็นพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
(evolution) ที่นักชีววิทยาส่วนใหญ่มุ่งศึกษาค้นคว้า แต่เขากลับถามคำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางชีววิทยา
ได้แก่คำถามที่ว่า "อะไรเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ?"
หรือ "สิ่งมีชีวิต (organism) แตกต่างจากเครื่องยนต์กลไก (mechanism)
อย่างไร?"
โรสเซนพบว่า การจะตอบคำถามนี้ได้ต้องเริ่มจากการศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย (causal relationship) ภายในสิ่งมีชีวิต ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างของเครื่องยนต์กลไกที่อธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์แบบแยกส่วน (reductionism - การลดทอน)(2) ผลงานชิ้นสำคัญของเขาได้แก่ "Life Itself" เขาได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตแตกต่างจากเครื่องยนต์กลไก ตรงที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยเพิ่มเติมที่จำเป็นจากภายนอก (external entailment)
การทำงานของเครื่องยนต์กลไกนั้นเป็นการทำงานตามปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ระบบที่ไม่มีชีวิตจึงเป็นการแปรเปลี่ยนสถานะจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ตามปัจจัยที่มีอยู่ในสภาวะแวดล้อมภายนอกของระบบ เครื่องจักรกลที่ซับซ้อนจึงถูกสร้างขึ้นและซ่อมแซมโดยผู้สร้างจากภายนอก ระบบที่ไม่มีชีวิตจึงจำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้เปลี่ยนสถานะกลับเข้าสู่สมดุลเมื่อเอนโทรปี (entropy - ความพร่องหรือไม่สมบูรณ์ของระบบ) เพิ่มขึ้น
ในทางตรงข้าม ภาวะสมดุลที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตเกิดจากปัจจัยเฉพาะจากภายในตัวมันเอง ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งมีชีวิตจึงดำรงอยู่และพัฒนาขึ้นโดยประกอบด้วย
(1) กระบวนการเผาผลาญพลังงานจากการกระตุ้น (catalyzed metabolism),
(2) กระบวนการซ่อมแซม,
(3) การดำรงอยู่และการปรับเปลี่ยนเอกลักษณะ (identity) ของสิ่งมีชีวิต (ซึ่งจำเป็นต่อการกระตุ้นและการซ่อมแซมของกระบวนการซ่อมแซมอีกทีหนึ่ง) รวมกันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวงจรชีวิต ชีวิต จึงนับได้ว่าเป็นวงจรของเหตุปัจจัยที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด(3) กระบวนการภายในที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดเป็นระบบที่ซับซ้อน ประกอบด้วยส่วนที่มีหน้าที่ต่างๆกันซึ่งจะสามารถอธิบายการทำงานนั้นได้ก็ต่อเมื่อ อ้างอิงถึงส่วนอื่นๆและความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆทั้งหมด เราอาจสามารถแยกชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไกและทำความเข้าใจการทำงานของกลไกแต่ละชิ้นส่วนได้ แต่ถ้าเราแยกชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะตาย
ตามที่โรสเซนได้กล่าวเอาไว้ ชีวิตจึงเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์แบบหนึ่ง (ซึ่งอธิบายได้ในเชิงนามธรรม) ทางคณิตศาสตร์ เขายังอธิบายว่าโครงสร้างแบบนี้ทำให้เราสามารถตอบคำถามว่า "ทำไมส่วนต่างๆของสิ่งมีชีวิตจึงเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่" ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงคำถามที่ว่า "ส่วนต่างๆของสิ่งมีชีวิตนั้นทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป" (what it cause?) มากกว่าที่จะตอบคำถามว่า "อะไรทำให้เกิดส่วนต่างๆของสิ่งมีชีวิตนั้นขึ้นมา" (what causes it?) การอธิบายเชิงเหตุปัจจัยแบบก้าวหน้า (forward-looking causation)
ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ตามแนวทางวิทยาศาสตร์แบบแยกส่วนในสายของนิวตัน ซึ่งโรสเซนแย้งว่าการศึกษาแบบแยกส่วนตามเดิมนั้น เป็นการศึกษาเฉพาะแก่กรณีเท่านั้น ทั้งที่โครงสร้างที่มีความสัมพันธ์มากๆเป็นระบบที่พบได้ธรรมดาทั่วไป เขาจึงไม่ได้ตอบคำถามว่าชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร (ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากคำถามของเราทั้งหลายที่ถามกันมานาน) แต่เขาแย้งว่า เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่มีชีวิต เราต่างหากที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆมากมาย เพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตนี้จึงเป็นอย่างที่มันเป็น
ขอย้ำว่าความมีชีวิตมีความแตกต่างอย่างมากกับความไม่มีชีวิต เมื่อเครื่องยนต์กลไกมีสนิมและแตกหักไป การซ่อมแซมย่อมต้องมาจากการกระทำจากภายนอก แต่สิ่งมีชีวิตมีวิธีการที่เหนือกว่า กล่าวคือ ตราบเท่าที่กระบวนการเผาผลาญ (metabolism) สามารถหาวัตถุดิบและพลังงาน และตราบเท่าที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจากภายนอก วงจรความสัมพันธ์ภายในจะทำการซ่อมแซมโดยจะสามารถจำและตัดสินใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นต้องการเป็นอย่างไร วงจรเหล่านั้นประกอบด้วยส่วนต่างๆมากมายที่ไม่มีทางเข้าใจได้โดยสมบูรณ์ หากพิจารณามันแบบแยกส่วนออกจากระบบของสิ่งมีชีวิต และวงจรนี้ยังประกอบด้วยความความสัมพันธ์มากมาย ที่นำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ (เป็นการอธิบายโดยอ้างอิงถึงเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของระบบ)
มุมมองของโรสเซน จึงมีนัยยะที่สำคัญต่อวงการชีววิทยาและวงการวิทยาศาสตร์ในภาพรวม เพราะเราไม่สามารถเข้าใจสิ่งมีชีวิตได้โดยสมบูรณ์ หากแบ่งแยกสิ่งมีชีวิตออกเป็นส่วนๆ การศึกษาระบบพื้นฐานตามแนวทางวิทยาศาสตร์แบบแยกส่วนเดิม จึงอาจเป็นเพียงการศึกษาเฉพาะกรณีพิเศษจำนวนหนึ่งเท่านั้น ในบรรดาระบบซับซ้อนที่มีอยู่มากมาย มุมมองของโรสเซนยังทำให้เราอาจตอบคำถามได้ว่า "ทำไมสิ่งหนึ่งๆจึงเป็นอย่างที่มันเป็น" ด้วยการอ้างอิงถึงเป้าหมายของระบบใหญ่โดยรวมที่สิ่งนั้นๆมีส่วนร่วมอยู่ด้วย ส่วนประกอบต่างๆแต่ละอันจึงมีเป้าหมายอันเป็นลักษณะเฉพาะที่มีผลกระทบต่อระบบทั้งหมด
2. กฎหมายเป็นอย่างไร
เราสามารถนำเอาหลักการข้างต้นทางชีววิทยามาปรับใช้กับกฎหมายได้ และโรสเซนก็ไม่ได้จำกัดการศึกษาของเขาไว้แค่สิ่งมีชีวิตทางกายภาพเท่านั้น
คำอธิบายว่าด้วยความมีชีวิตของเขายัง สามารถปรับใช้ได้อย่างดีกับระบบอื่นๆ
ที่ไม่ใช่ระบบของโมเลกุลทางอินทรีย์ และยังปรับใช้ได้ดีเช่นกันกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและประชาชนด้วย
โรงเรียนกฎหมายสอนมาโดยตลอดเกี่ยวกับ การวิเคราะห์หลักการทางกฎหมาย การสร้างกฎหมาย การออกแบบองค์กรทางสังคมและสถาบันทางกฎหมาย แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยหากได้ศึกษาว่ากฎหมายนั้นดำรงอยู่อย่างสิ่งมีชีวิต มากกว่าจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกของสังคม และหากองค์กรทางสังคมและสถาบันทางกฎหมาย เป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตมากกว่าเครื่องยนต์และกลไกแล้ว ก็อาจนำไปสู่การค้นพบว่าเราไม่สามารถวิเคราะห์หลักการทางกฎหมาย สร้างหลักกฎหมาย และออกแบบองค์กรทางสังคมและสถาบันทางกฎหมายได้อย่างที่เข้าใจ
และถ้าหากว่ากฎหมายมีชีวิตของมันเองจริง และในบางกรณีก็มีรูปแบบของตัวเองตามระเบียบวิธีการและการดำรงอยู่ของมันเองแล้ว เราก็ควรที่จะได้ศึกษาชีววิทยาของมันมากกว่าจะแสร้งทำเป็นว่าเราสามารถออกแบบและซ่อมแซมกลไกของมันได้จากภายนอก และถ้าหากว่ากฎหมายเป็นระบบประเภทหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับปัจจัยที่จำเป็นจากภายนอกแล้ว การออกแบบทางสังคมก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่เราจะต้องคอยมองหาว่าเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมอย่างไรที่จะเอื้อต่อการพัฒนาสิ่งมีชีวิตทางกฎหมายชนิดหนึ่งๆ (เหมือนเช่นนักชีววิทยาได้ทำ) เราทุกคนจึงเสมือนเป็นเพียง คนทำสวน ไม่ใช่ คนออกแบบสังคม ดังที่เคยเข้าใจกันมา
อย่างไรก็ตาม ในขั้นแรก กล่าวได้ว่า กฎหมายเสมือนว่ามีชีวิต ตามที่โรสเซนว่าไว้ กล่าวคือ เป็นที่ชัดเจนพอสมควรว่ากฎหมายมีกระบวนการเผาผลาญที่ใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆกัน เช่น การปรับข้อเท็จจริงเข้าเป็นคดี การปรับถ้อยคำเข้าเป็นกฎ การปรับกฎเข้าเป็นการปฏิบัติ และการปรับทางปฏิบัติเข้าเป็นสถาบันทางสังคม เป็นต้น และที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่กฎหมายสามารถซ่อมแซมตัวเองอย่างเป็นระบบได้ กล่าวคือ สามารถซ่อมแซมกระบวนการเผาผลาญใช้พลังงาน และรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองท่ามกลางแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดี ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป
โดยเหตุที่ระบบกฎหมายเป็นเรื่องของความยุติธรรมและคุณค่าทางสังคมร่วมกัน (ซึ่งมันจะยังคงดำเนินอยู่อย่างนั้นตราบเท่าที่เรายึดถือคุณค่านั้นเอาไว้) สถาบันทางกฎหมายทั้งหลายที่นับได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีกระบวนการเผาผลาญที่เข้มแข็งจากการใช้ข้อเท็จจริงและประเด็นโต้แย้งต่างๆ ประกอบกับการดำเนินการด้วยกองทัพนักกฎหมาย ตุลาการ บุคลากรทางนิติบัญญัติ และบุคลากรทางการกำกับดูแล ผสานรวมกันเป็นโครงสร้างทางกฎหมายที่ซับซ้อน
สถาบันทางกฎหมายจึงไม่ใช่สถาบันที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญตามสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย หากแต่เป็นสถาบันที่มีการดำรงอยู่ในขั้นสูงกว่านั้น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เช่น การเปลี่ยนแปลงพนักงาน ประชากร ผู้แทนของสังคม การจากไปของนักกฎหมายหรือตุลาการแต่ละคน หรือการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายบางส่วน เป็นต้น
ระบบกฎหมายยังสามารถดำรงอยู่ได้ในขั้นสูงด้วยการซ่อมแซมตัวเอง เช่น การสร้างส่วนต่างๆขึ้นมาแทนที่ส่วนที่เสียไป (ซึ่งได้มาจากกระบวนการเผาผลาญพลังงานของมันอีกต่อหนึ่ง) วิธีการนี้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับ การปรับใช้หลักกฎหมายจากคดีอุทาหรณ์หนึ่งเข้ากับข้อเท็จจริงในอีกคดีหนึ่ง(4) ซึ่งไม่เป็นเพียงหลักกฎหมายเฉพาะแก่คดีหรือสถานการณ์หนึ่งๆเท่านั้น แต่ยังถือว่า การปรับใช้หลักกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายทั้งระบบอีกด้วย
และย่อมหมายความว่าเราสามารถเปลี่ยน หรือปรับใช้หลักกฎหมายอื่นที่เหมาะสมกว่าได้ ถ้าหากพบว่าไม่สามารถใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมในอนาคต ทั้งนี้เป็นไปตามดุลยพินิจของศาลและคุณค่าร่วมกันทางสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงไป และยังหมายความต่อไปอีกว่า กฎหมายที่ออกใช้บังคับใหม่ และสถาบันทางกฎหมายใหม่ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายทั้งระบบ ที่เราไม่สามารถกล่าวอย่างจำกัดได้ว่า หลักกฎหมายต่างๆที่ออกมาเป็นตัวบทนั้นมีที่มาจากศาลหรือสภานิติบัญญัติเท่านั้น
กล่าวสำหรับสถาบันทางกฎหมาย ย่อมพบว่าสถาบันดังกล่าวสามารถดำรงคงอยู่ได้แม้ว่าสมาชิกขององค์กรจะแปรเปลี่ยนไป แม้ว่าขั้นตอนและกระบวนการต่างๆจะแปรเปลี่ยนไป แม้ว่าโครงสร้างองค์กรจะแปรเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ประเด็นข้อกฎหมายขององค์กรจะแปรเปลี่ยนไป และสอดคล้องกับที่เราสอนนักศึกษากฎหมาย ให้สามารถตีความหลักกฎหมาย และสามารถปรับใช้หลักกฎหมายต่อสถานการณ์หนึ่งๆได้ แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติในเรื่องนั้นเอาไว้ สามารถปรับใช้เพื่อสร้างเป็นบทบาทหน้าที่ทางกฎหมายใหม่ๆได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายนั้นเอาไว้ และสร้างพัฒนาการทางกฎหมายได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการคิดค้นพัฒนาการนั้นเอาไว้
ในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่ามีการปรับใช้หลักกฎหมายของคดีหนึ่งเข้าสู่ข้อเท็จจริงของอีกคดีหนึ่ง(5) ต่อเนื่องกันกลายเป็นวงจรที่หาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดไม่ได้(6) อันเป็นการบรรจบอย่างสมบูรณ์ของวงจรชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อดำรงรักษาเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตทางกฎหมาย การอุดช่องว่างของกฎหมาย (การซ่อมแซมด้วยตัวเองของกฎหมาย) ก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรเดียวกันนี้ โดยมีความชอบธรรมมาจากบ่อเกิดสำคัญ อันได้แก่ ความเป็นประชาชนของเราทุกคน และเราทุกคนมีอธิปไตยอันทำให้เกิดความชอบธรรมในการตราและใช้กฎหมาย ซึ่งกล่าวในที่สุดแล้วก็คือ ความยินยอมพร้อมใจของประชาชน และคุณค่าทางสังคมที่เราทุกคนมีร่วมกัน
การปรับใช้ข้อเท็จจริงกับหลักกฎหมายเช่นว่านี้ย่อมเป็นการดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางโครงสร้างที่สำคัญของระบบกฎหมาย และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมของระบบซ่อมแซมตัวเองอีกชั้นหนึ่ง และยังย้อนกลับเป็นการซ่อมแซมกระบวนการการใช้กฎหมายที่เปรียบเหมือนกระบวนการเผาผลาญ (metabolism) ของระบบกฎหมายอีกด้วย การจะอธิบายการทำงานของส่วนหนึ่งๆในระบบที่ซับซ้อนนี้ จึงจำเป็นต้องอ้างอิงถึงความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆทุกส่วน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาทางอธิบายระบบกฎหมายด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆจากภายนอก ระบบกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องได้รับปัจจัยเพิ่มเติมจากภายนอก และระบบกฎหมายก็ไม่ใช่เครื่องยนต์กลไกที่สร้างโดยคนภายนอก ซึ่งหากจะกล่าวตามแนวความคิดของโรสเซนแล้วย่อมกล่าวได้ว่า "กฎหมายมีชีวิต"
อาจมีข้อคัดค้านว่า ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย และผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายย่อมเป็นผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งย่อมหมายความว่า "กฎหมายเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม" และยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่า หลักกฎหมายที่สร้างขึ้น ผลคำพิพากษาที่สร้างขึ้น และสถาบันทางกฎหมายต่างๆที่สร้างขึ้น เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจ แล้วทำไมเราจะมองว่าระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่เป็นผลงานการออกแบบทางสังคมไม่ได้?
แต่ข้อคัดค้านเช่นนี้ต่างหากที่ชี้นำเราออกนอกประเด็นสำคัญของระบบกฎหมาย เพราะว่าทุกคนที่เป็นคนสร้าง ประเด็นทางกฎหมาย หลักกฎหมาย และสถาบันทางกฎหมาย ล้วนแสดงบทบาทที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ และที่สำคัญกว่านั้นคือ อยู่ภายใต้ข้อจำกัดภายในของระบบอีกชั้นหนึ่งด้วย ประเด็นที่สำคัญของระบบกฎหมายจึงอยู่ที่ว่า เมื่อโครงสร้างของระบบนำไปสู่การซ่อมแซมและรักษาเอกลักษณ์ของตัวเอง ปัจจัยที่ทำให้เกิดการซ่อมแซมนั้นมาจากภายในระบบของตัวมันเอง ทุกๆคนที่สร้างหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงแสดงบทบาทไปตามที่ระบบกำหนดเอาไว้
สิ่งที่ทุกๆคนได้กระทำไปจึงพิจารณาได้ว่าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากมายของระบบ การกระทำทั้งหลายเหล่านั้นไม่อาจแบ่งแยกออกจากความสัมพันธ์อื่นๆของระบบได้ และไม่สามารถแบ่งแยกสถาบันทางกฎหมายออกจากระบบเพื่อทำความเข้าใจเป็นส่วนๆได้
ระบบกฎหมายจึงไม่ใช่เครื่องยนต์กลไกที่จะได้รับการซ่อมแซมโดยช่างเทคนิคจากภายนอก ความชอบธรรมทางกฎหมายย่อมต้องเกิดจากภายใน โดยประชาชนที่รับบทบาทต่างๆกันตามที่กำหนดในระบบ พร้อมๆกันกับพิจารณาทบทวนเป้าหมายของตัวระบบเองโดยตลอด เราทั้งหลายจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเผาผลาญ และกระบวนการซ่อมแซมตัวเองตราบเท่าที่เรายังแสดงบทบาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายจึงดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ดังเช่นว่า ย่อมไม่มีโจทก์โดยปราศจากผู้พิพากษา ย่อมไม่มีผู้พิพากษาโดยปราศจากสภานิติบัญญัติ ย่อมไม่มีสภานิติบัญญัติโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีรัฐธรรมนูญโดยปราศจากประชาชน หรืออาจยกตัวอย่างของบริษัทเอกชนที่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายได้ เพราะเราปฏิบัติต่อมันเช่นนั้นตามกฎหมาย ที่รับรองให้บริษัทมีลูกจ้างและตัวแทนที่รับบทบาท ซึ่งอ้างอิงไปถึงบริษัทอีกทีหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายจึงดำเนินการไปภายใต้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ของผู้ทำหน้าที่ของส่วนอื่นๆทุกส่วนของระบบ
ถึงตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบบกฎหมายจะไม่สามารถรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้เลย แม้ในสภาพความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตอาจตายได้ แต่ก็จะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อการดำรงชีวิต เช่นนี้แล้วอุปัทวเหตุจากภายนอกก็อาจทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ด้วยเช่นกัน
การกระทำใดๆโดยประชาชนที่ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่ตามกฎหมาย ก็อาจผลักดันให้ระบบกฎหมายเปลี่ยนรูปร่างไป การใช้อำนาจที่มิชอบตามกฎหมายเช่นกรณีของทรราชก็อาจทำลายระบบกฎหมายได้ โดยในที่สุดแล้วก็กล่าวได้ว่า ปัจจัยภายนอกทั้งหลายรังแต่จะสร้างความสูญเสียอย่างสำคัญต่อระบบ และปัจจัยภายนอกเหล่านั้น ก็ไม่อาจสร้างคุณความดีอันเป็นการเพิ่มพูนแก่ระบบที่กฎหมายต้องการสร้างขึ้นมาได้เลย
คำถามที่โรสเซนถาม จึงมุ่งไปที่โครงสร้างความสัมพันธ์เป็นหลัก ไม่ใช่รายละเอียดมากมายของปฏิกิริยาใดๆที่เกิดขึ้น การศึกษาของเขาไม่จำกัดแค่ระบบทางกายภาพเท่านั้น แต่เขายังให้ความสำคัญกับแนวความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่นที่เขาระบุว่าระบบหนึ่งๆในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อระบบในอนาคต โดยตั้งข้อสังเกตว่า "เราอาจทำได้แค่จินตนาการถึงระบบต่างๆทางกายภาพ แล้วสร้างแบบจำลองในใจขึ้นมา จากนั้นก็เป็นภาระของวิทยาศาสตร์ที่จะนำเอาผลลัพธ์จากแบบจำลองในใจออกมาให้เกิดผลจริงทางกายภาพ และบางทีเราก็อาจสร้างแบบจำลองของระบบจิตใจขึ้นมาบ้างก็ได้" ดังนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ที่เราจะนำชุดความคิดทางคณิตศาสตร์ของโรสเซน มาใช้กับสถาบันทางสังคมได้เช่นเดียวกับระบบอื่นๆทางกายภาพ
ระบบกฎหมายหนึ่งๆจึงประกอบด้วยความสัมพันธ์มากมาย เช่นที่ ประเด็นกฎหมายต่างๆได้แสดงนัยยะไปสู่หลักกฎหมายขึ้นมามากมาย สังคมในช่วงเวลาต่างๆสร้างสถาบันทางสังคมขึ้นมามากมาย และหลักกฎหมายเรื่องต่างๆ ก็นำไปสู่ผลลัพธ์แก่คดีขึ้นมามากมาย คำถามที่ว่า "แล้วจะเกิดอะไรขึ้นโดยผลตามกฎหมาย?" ต่อสถานการณ์และข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่ง ย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับความสัมพันธ์และผลกระทบภายในระบบกฎหมาย ตามเหตุปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในลักษณะเดียวกันกับความสัมพันธ์ และผลกระทบจากโครงสร้างทางข้อมูลทางกายภาพที่วัดค่าได้ทางวิทยาศาสตร์
แม้ในสายตาของแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์แบบแยกส่วน จะชี้นำให้เราหาคำตอบที่อ้างอิงกับเหตุปัจจัยภายนอกของระบบ และเราก็อาจแบ่งแยกระบบเป็นส่วนๆเพื่อทำการศึกษานั้นโดยมั่นใจว่า จะสามารถทำความเข้าใจตามแนวทางเช่นนั้นได้ แต่ในทางชีววิทยา โรสเซนได้บอกเราแล้วว่า เราจะต้องมองเข้าไปในระบบเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมระบบมันจึงดำเนินอยู่เช่นนั้น และเราจะต้องศึกษามันด้วยกันทั้งระบบ อันจะเป็นหนทางให้เราพิจารณาความมีชีวิตตามแนวความคิดของโรสเซนนี้ได้
ด้วยเหตุที่ระบบกฎหมายจึงมีโครงสร้างความสัมพันธ์อย่างเดียวกันกับสิ่งมีชีวิต แนวคิดของโรสเซนจึงสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างดี เพราะระบบกฎหมายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ และดำรงรักษาเอกลักษณ์ของตัวมันเอง ถ้าหากว่าเราจะสามารถทำนายอนาคตได้ เราก็จะต้องทำนายจากเป้าหมายและโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบมันเองเท่านั้น เราจึงอาจทำความเข้าใจระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมาย รวมถึงสถาบันทางสังคมอื่นๆ ได้ด้วยการอธิบายแบบก้าวหน้าว่า "สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป" ไม่ใช่ความพยายามที่จะอธิบายว่า "อะไรทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้น"
เช่นนี้แล้ว ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของระบบกฎหมายที่เราเรียนรู้ถึงตรงนี้ แสดงนัยยะอะไรให้เราบ้าง?
ประการแรก คือ เราจะต้องตระหนักว่า เราไม่สามารถแบ่งแยกและวิเคราะห์ระบบกฎหมายเป็นส่วนๆได้
ประการที่สอง คือ เราจะต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถออกแบบสถาบันทางกฎหมายต่างๆ และไม่สามารถปรับโครงสร้างของระบบได้ ด้วยคนที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายของระบบที่เราศึกษา
ประการที่สาม เราจะต้องยอมรับว่า ระบบกฎหมายในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิต อาจตายจากไปได้หากวงจรชีวิตไม่อาจซ่อมแซมตัวเอง และดำรงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองได้อีกต่อไป
นัยยะ 3 ประการนี้สามารถปรับใช้เป็นบทเรียนที่สำคัญแก่ปัญหาทางกฎหมายและสังคมในปัจจุบัน
นัยยะประการแรก ช่วยให้เราเข้าใจจุดกำเนิดและสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาความซับซ้อนทางกฎหมาย และความซับซ้อนทางโครงสร้างที่เราสร้างไว้มากเกินไป
นัยยะประการที่สอง ช่วยให้เราทราบถึงภัยอันตรายของการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นัยยะประการที่สาม ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของอินเตอร์เน็ต ที่อาจมีต่อระบบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแนะแนวทางใหม่ที่เราควรจะทบทวนเกี่ยวกับเขตอำนาจตามกฎหมายที่ครอบคลุมทั่วโลก (global jurisdiction) รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ตามแนวทางของโรสเซน ได้แนะนำหนทางใหม่ให้เราคิดหาและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาแก่สิ่งมีชีวิตทางกฎหมายให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
3. ระบบกฎหมายมีความซับซ้อนเกินไปหรือไม่?
เป็นปกติอยู่เองที่กฎหมายในที่หนึ่งๆ จะเติบโตและซับซ้อนจนยากที่ใครคนหนึ่งจะทำเข้าใจกฎหมายทั้งหมดโดยง่าย
เพราะจำนวนบทกฎหมายนับวันจะเพิ่มขึ้น จนแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด
ส่วนใหญ่ก็ทำได้เพียงจดจำหลักการทางทฤษฎีเท่านั้น แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะสรุปย่อตัวบทจำนวนมากเหล่านั้นให้มีจำนวนน้อยลงแล้วก็ตาม
แต่ก็กลายเป็นแค่การสร้างแง่มุมทางกฎหมายเพิ่มขึ้นมาใหม่ และในที่สุดแล้ว การใช้กฎหมายก็เป็นไปในรูปแบบการใช้อำนาจอยู่บ่อยครั้ง
มากกว่าที่จะเป็นการฟ้องร้องให้พิจารณาตามความเป็นธรรม
สาเหตุพื้นฐานก็เนื่องมาจากผู้ร่างกฎหมาย มีแนวโน้มที่จะพิจารณาร่างกฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาหนึ่งๆแยกออกมาเป็นส่วนๆ ผู้ร่างฯจึงคิดเสมือนว่าพวกเขากำลังออกแบบเครื่องมือหรือกลไกชิ้นหนึ่งทางสังคมเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ผู้ร่างฯจะได้ออกแบบให้มีส่วนประกอบพื้นฐาน ที่สามารถทำความเข้าใจการทำงานของแต่ละส่วนได้โดยง่าย และนำมันมาประกอบกันเป็นขั้นตอนสุดท้าย
แต่ถ้าหากมองกันตามแนวความคิดของโรสเซนแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนของระบบกฎหมาย จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อส่วนประกอบทุกๆส่วนได้ทำงานร่วมกัน กรณีที่มีการสร้างสิทธิ (rights) ใหม่ๆขึ้นมา ก็เท่ากับเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้นให้แก่นักกฎหมาย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นักกฎหมายเหล่านั้นก็พยายามที่จะสร้างสิทธิใหม่ๆขึ้นมาอยู่ตลอด (ทั้งเพื่อเพิ่มเติมหนทางให้เลือกปฏิบัติได้มากขึ้น และเพื่อการจัดหาทุนแก่องค์กรสาธารณะ)
กรณีที่มีการสร้างหน้าที่ (duties) ใหม่ๆ แม้ว่าอาจดูมีความสมเหตุสมผลหากจะแยกพิจารณาเป็นหน้าที่ๆไป แต่ก็เป็นการสร้างภาระต้นทุนที่จะเบี่ยงเบนการลงทุนให้ไปหาช่องทางที่มีการกฎเกณฑ์น้อยกว่า ซึ่งก็จะทำให้เป้าหมายทางสังคมที่ต้องการนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จได้น้อยมากอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้แล้วก็ยังไม่มีใครตั้งข้อสงสัยเลยว่า หากมีการสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาแล้ว ควรที่จะล้มเลิกกฎหมายเก่าไปด้วยหรือไม่ และยังไม่มีใครรับหน้าที่คอยดูภาพรวมของระบบกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถพิจารณาได้ว่า ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่นั้นมีการจัดโครงสร้างที่ดีแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ไม่มีใครจากภายนอกระบบจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ นอกจากผู้ที่อยู่ในระบบเองเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
ระบบกฎหมายนั้นจะต่อต้านและกำจัดส่วนประกอบของระบบที่ไม่สามารถทำงานได้ทิ้งไป และระบบก็จะกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกครั้ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในอนาคต แต่ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะมีการวิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และหากกล่าวโดยเฉพาะแก่สหรัฐอเมริกาแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย จะสามารถใช้ข้อเท็จจริงในคดี มาเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายได้ (สิ่งนี้แตกต่างจากระบบกฎหมายของฝรั่งเศส(7) ที่อาจอ้างอิงหลักกฎหมายจากบทความทางกฎหมายในบางครั้งในลักษณะเดียวกัน กับการฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ)
แต่เป็นเพราะตัวระบบพยายามพัฒนาตัวเองไปตามหลักความชอบธรรมของกฎหมาย ที่ไม่ใช่การวิเคราะห์ตามตรรกะเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับหลักความยินยอมของประชาชนที่ส่งผลมาโดยตรง ทำให้เกิดการพัฒนาด้วยกระบวนการที่สร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย นักวิชาการทางกฎหมายอาจทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสภาพสังคมให้เห็นตัวระบบของมันเอง แต่การเปลี่ยนแปลงภาพที่เห็นจากในกระจกนั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกระบวนการที่มาจากภายในระบบเองเท่านั้น
ระบบที่ซับซ้อนย่อมเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ สิ่งมีชีวิตหลายเซลก็แตกตัวอย่างรวดเร็ว ออกเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเฉพาะต่างๆกัน กล่าวสำหรับระบบกฎหมายแล้ว ก็มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและองค์กรชำนัญพิเศษต่างๆ ประเด็นสำคัญก็คือระบบกฎหมายในปัจจุบัน ขาดกลไกพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต เพื่อที่จะสามารถปรับตัวทางชีววิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะสามารถจัดการควบคุมความซับซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้
กล่าวคือ ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ขาดกระบวนการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของระบบ ซึ่งเมื่อพิจารณาในทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตที่มีความสลับซับซ้อนมากเกินไปก็จะไม่สามารถสืบพันธุ์และต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด แล้วมีสิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีระบบใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่ แต่เพราะธรรมชาติโดยเฉพาะของระบบกฎหมาย ที่มีการสร้างหลักกฎหมายจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ ทำให้ระบบกฎหมายเป็นพัฒนาการเฉพาะของประเทศหนึ่งประเทศใดเท่านั้น ธรรมชาติแบบนี้จึงทำให้ปราศจากกระบวนการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด
การแข่งขันที่อาจพอจะมองเห็นได้ก็มีเพียงการแข่งขันระหว่างระบบกฎหมายกับระบบเผด็จการเท่านั้น พัฒนาการของระบบกฎหมายที่ค่อยๆเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ (ตามกาลเวลาโดยผู้ร่างฯ สร้างหลักกฎหมายจากวิธีการวิเคราะห์แบบแยกส่วน) จึงไม่ถูกทดสอบจากกระบวนการแข่งขัน เช่นเดียวกับที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆถูกทดสอบจากธรรมชาติ เราจึงเห็นกฎหมายระบบเดิมในมุมมองแตกต่างกันไป ตามแต่ที่ใครจะกล่าวในแง่มุมส่วนไหนอย่างไร แต่ไม่เคยเห็นการปรับปรุงระบบกฎหมายให้กระชับดีขึ้น เพราะระบบนั้นไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับระบบอื่นใดเพื่อความอยู่รอด
แต่โชคยังดี ที่เราเริ่มมองเห็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงบางอย่างตอนนี้แล้ว
กระนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ว่า อาจหมายถึง การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ทำให้เกิดการแทนที่ระบบสิ่งมีชีวิตทั้งหมดด้วยระบบสิ่งมีชีวิตที่ดีกว่า
(คลิกไปอ่านต่อตอนที่
2)
++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) โรเบิร์ต โรสเซน (Robert Rosen) เป็นนักชีววิทยาชาวอเมริกัน ผลงานที่สำคัญของเขาได้แก่ การพัฒนานิยามเฉพาะว่าด้วยความซับซ้อน และกรอบหลักการความซับซ้อน ที่เรียกว่า "Rosennean Complexity" โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบคำถามว่า "ชีวิตคืออะไร?" (ทำไมสิ่งมีชีวิตจึงมีชีวิต?)
(2) เป็นแนวความคิดบนหลักการที่เชื่อว่าจะสามารถอธิบายสิ่งที่มีความซับซ้อน (complex things) ได้ด้วยการอธิบายองค์ประกอบขั้นมูลฐาน (fundamental things) ตัวอย่างเช่น "The selfish gene" งานของ Richard Dawkins ที่ศึกษาการทำงานของหน่วยพันธุกรรมเพื่ออธิบายพฤติกรรมตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต, <http://en.wikipedia.org/wiki/Reductionism>
(3) ต้นฉบับของผู้แต่งอ้างถึงการไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดว่าเป็นแบบเดียวกับ Mobius Strip ในทางคณิตศาสตร์, <http://en.wikipedia.org/wiki/M%C3%B6bius_strip>
(4) ผู้แต่งใช้คำว่า "meta-story" ซึ่งน่าจะหมายถึงการปรับใช้หลักการจากเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
(5) ผู้แต่งใช้คำว่า "meta-meta-story" ซึ่งเป็นไปในความหมายเดียวกับ "meta-story" และเน้นเพื่อให้เห็นถึงวงจรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา, โปรดดู เชิงอรรถที่ 4
(6) ผู้แต่งอ้างอิงถึง mobius strip อีกครั้ง, โปรดดู เชิงอรรถที่ 3
(7) ผู้เต่งต้องการอ้างอิงถึงระบบกฎหมายแบบ civil law ที่อาจอ้างอิงใช้ผลงานวิชาการทางกฎหมายมาใช้เป็นบ่อเกิดหนึ่งของกฎหมาย (source of law) ได้
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ความมีชีวิตมีความแตกต่างอย่างมากกับความไม่มีชีวิต เมื่อเครื่องยนต์กลไกมีสนิมและแตกหักไป การซ่อมแซมย่อมต้องมาจากการกระทำจากภายนอก แต่สิ่งมีชีวิตมีวิธีการที่เหนือกว่า กล่าวคือ ตราบเท่าที่กระบวนการเผาผลาญ (metabolism) สามารถหาวัตถุดิบและพลังงาน และตราบเท่าที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจากภายนอก วงจรความสัมพันธ์ภายในจะทำการซ่อมแซมโดยจะสามารถจำและตัดสินใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นต้องการเป็นอย่างไร วงจรเหล่านั้นประกอบด้วยส่วนต่างๆมากมายที่ไม่มีทางเข้าใจได้โดยสมบูรณ์