The Midnight University
คำประกาศยุบสภาของรัฐบาลไทยรักไทย
รายการถึงลูกถึงคน คุยกับอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ หลังยุบสภาฯ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
ข้อมูลในหน้านี้ ถอดเทปมาจากรายการถึงลูกถึงคน
ซึ่งถ่ายทอดทางโทรทัศน์ช่อง 9 เวลาประมาณ 23.30 - 24.30 น.
หลังจากมีการประกาศยุบสภาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี
และคำแถลงของนายกรัฐมนตรี
ตอนหัวค่ำในคืนวันที่
24 กุมภาพันธ์ 2549
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 846
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
24.5 หน้ากระดาษ A4)
รายการถึงลูกถึงคน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
/ เวลา 23.30-24.40
สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา : ผู้ดำเนินรายการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ผู้รับเชิญในรายการ
เริ่มต้นรายการโดยมีการนำเสนอภาพคำแถลงของนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร
(เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ที่ผ่านมา) ซ้ำบนจอโทรทัศน์ในสตูดิโอรายการถึงลูกถึงคน
เกี่ยวกับการประกาศยุบสภาในค่ำวันเดียวกัน (กรุณาดูคำแถลงประกอบ ในบทความลำดับที่
845 ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประกอบ)
-
สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา :
ครับ นั่นคือเสียงนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ครับ ถามก่อนว่ายอมรับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีไหม?
๐ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ผมคิดว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายในแง่ของการวิเคราะห์ทางการเมือง
ถ้าใช้ศัพท์แสงก็ต้องบอกว่าเรื่องของการยุบสภา เป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมือง
เพราะว่าท่านนายกเองเคยพูดเอาไว้เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนว่า จริงๆแล้ว การยุบสภาน่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความขัดแย้งกัน
จนกระทั่งถึงขั้นที่ว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ แม้ว่าจะมีบางคนมาพูดถึงเรื่องของการใช้ช่วงจังหวะของเวลาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง
แต่ท่านบอกว่าท่านไม่เชื่อถือในแนวคิดแบบนั้น
- อันนี้ก่อนที่ครบวาระในสมัยที่แล้ว
๐ ถูกต้องครับ เราก็ได้ยินมาโดยตลอดที่ท่านนายกบอกว่า ไอ้เรื่องที่จะให้ใครมาบีบบังคับ จะยุบสภาลาออก ชาติหน้าตอนบ่ายๆ แต่ว่าเราก็วิเคราะห์กันมาโดยตลอดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มันลุกลามบานปลายมานี่ ท่านก็คงต้องเลือกวิธีนี้ แต่ว่าก็ได้มีการพูดกันล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้น ว่าวิธีนี้เป็นคำตอบสำหรับสังคม เป็นคำตอบของประเทศชาติจริงหรือเปล่า เพราะข้อเรียกร้องต่างๆของผู้ชุมนุมมันลุกลามมาด้วยหลายสาเหตุ เริ่มต้นจากความไม่พอใจเกี่ยวกับการทุจริต คอรัปชั่น และไม่มีการตรวจสอบ หรือทำให้กลไกการตรวจสอบต่างๆ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมันถูกบิดเบือนไป
หนึ่งในกลไกของการตรวจสอบก็คือกลไกของการที่จะให้ประชาชนสามารถใช้สื่อสารมวลชน ซึ่งต้องเป็นทรัพย์สมบัติของสาธารณะ ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเท่าเทียมกัน ผมเตือนเรื่องนี้กับรัฐบาลมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และก็บอกว่าถ้าไม่แจ้งเงื่อนไขเรื่องนี้ เท่ากับเป็นการผลักไสการเมืองออกสู่ท้องถนน แต่ว่าหลังจากที่มีบางช่วงประมาณเดือนธันวาคม สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายลงไป พอเริ่มต้นปีใหม่มาก็เจอกับสถานการณ์ยั่วยุการเผชิญหน้า ซึ่งเกิดมาจากตัวท่านนายกเองไม่น้อย ทั้งคำพูดคำจาเวลามีการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์
แล้วก็จริงๆ แม้กระทั่งถึงนาทีสุดท้ายคือตัวแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีก็ดี หรือจะเป็นคำแถลงของนายก ซึ่งเมื่อเราฟังสักครู่ก็ดี หรือจะเป็นจดหมายเปิดผนึกที่ส่งไปถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยก็ดี ก็เป็นวิธีการที่จะกล่าวร้ายกับผู้อื่น ซึ่งยืนอยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนายก แล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้มาชี้แจงแถลงไข หรือตอบกันต่อสาธารณะให้เห็นประเด็น ให้มันขาด
ท่านนายกเองบอกว่าจะเปิดสภา พวกผมเองก็ได้เสนอวิธีการที่จะให้มันตรงที่สุด ก็คือมาตอบคำถามกันในสภา เสร็จแล้วหลังจากนั้น เราบอกว่าคำตอบมันจะตามมา เพราะอะไรครับ เพราะว่าต้องเอาข้อเท็จจริงทุกฝ่ายมาเสนอต่อประชาชน แล้วก็ไปตัดสินใจว่าต้องเดินอย่างไรต่อไป
แต่ว่าการยุบสภาในครั้งนี้เป็นการยุบสภาซึ่ง ในที่สุดประเด็นที่ค้างคาใจประชาชน ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะไปตอบกันตรงไหน แล้วก็ข้อกล่าวหาที่มีต่อที่ชุมนุมบ้าง พรรคการเมืองบ้าง ต่อส่วนบุคคลต่างๆบ้าง ที่จริงคนเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสเพราะว่าคนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในสนามของการเลือกตั้ง และวันนี้ผมต้องขอพูดก่อนว่าผมไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
วันที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหลายเรื่องผมจะเห็นด้วยกับผู้ชุมนุม ผมก็จำกัดบทบาทชัดเจนอยู่ในสภา แล้วก็เรียกร้องโดยตลอดว่าให้เอาเรื่องนี้เข้าสู่สภา รัฐบาลก็ปฏิเสธรูปแบบการนำเข้าสู่สภาอย่างตรงไปตรงมา พยายามที่จะเบี่ยงเบนแล้วก็บอกว่าเปิดประชุมร่วม พอเราซักถามไปว่า ประเด็นที่ค้างคาใจของสังคมเราพูดในสภาได้ไหม? ก็มีการส่งสัญญานออกมาชัดว่า ไม่ให้พูด ญัตติที่รัฐบาลส่งไปที่รัฐสภาก็อยู่บนคนละสมมุติฐานกับคำถามของสังคม ซึ่งก็เป็นการแสดงออกของการปฏิเสธกระบวนการวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย
วันนี้ท่านนายกก็อ้างหลักประชาธิปไตย แต่เราต้องมองเห็นว่าหลักประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี ของคุณทักษิณนี่เป็นเรื่องของการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นปัญหามาโดยตลอด ที่ปัญหามันลุกลามมาก็เพราะท่านอ้าง 19 ล้านเสียงมาโดยตลอด โดยไม่เคยเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยมันมากไปกว่าการเลือกตั้ง มันไม่ใช่เกี่ยวกับการไปลงคะแนนกันเพียงแค่หนึ่งวัน แล้วอีก 4 ปีใครจะทำอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของการบริหารประเทศบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ของทุกฝ่าย
แล้วก็วันนี้ ถ้าท่านบอกว่ากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ผมก็กล้าท้าให้กลับไปดูว่า ในช่วงที่ผ่านมา ใครทำผิดกฎหมายมากกว่ากัน ฝ่ายค้าน ผู้ชุมนุม หรือจะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ใช้วิธีการ รูปแบบของกลการเมืองมาโดยตลอด และวันนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า เป็นขบวนการที่คงตระเตรียมเอาไว้พอสมควร
- วันยุบสภานี่หรือ?
๐ วันยุบสภานี้แหละ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีความรวดเร็วพอสมควรในการขานรับว่า วันพฤหัสบดีหน้า จะต้องไปสมัครกัน บัญชีรายชื่อพร้อม แล้วเข้าใจว่าหลังจากนั้นอีก 2 วัน ก็ต้องมีผู้สมัครเขตเลือกตั้ง 400 เขตไป
- วันนี้ผมให้โอกาสคุณอภิสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเต็มที่ครับ ท่าทีของนายกรัฐมนตรีวันนี้ คุณอภิสิทธิ์ก็ไล่มา ผมอยากจะย้อนกลับไปถามว่า อันนี้เป็นการตัดสินใจที่อยู่ในระบบ อยู่ในกติกาไหม?
๐ อยู่ในกติกา แต่วันนี้นายกทราบว่า ผู้เรียกร้องเขาบอกว่ากติกาเริ่มมีปัญหา กติกาที่เริ่มมีปัญหาก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งผมยืนยันเลยว่า ร่างขึ้นมาและมีแนวคิดหลักการที่ดี บางเรื่องที่ท่านนายกพูดว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมก็เห็นด้วย ก็คือเรื่องของการที่จะมีรัฐบาลที่มีความมั่นคง สามารถบริหารประเทศได้ และผมก็ไม่เคยเสนอว่าให้ยุบเลิกเรื่อง 90 วัน
แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขามีเจตนารมย์ที่คู่ขนานกันไป ในเรื่องของการที่ว่ารัฐบาลที่มีความมั่นคงแล้ว ต้องยอมรับการตรวจสอบ วันนี้ความรู้สึกที่ชัดเจนและผมคิดว่าเหตุการณ์หลายๆอย่าง มันชี้ให้เห็นว่าองค์กรอิสระต่างๆ ไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมย์ มีข้อเรียกร้องที่จะปฏิรูปทางการเมือง นายกเองเพิ่งขานรับการปฏิรูปการเมืองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ใช่หรือครับ แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่เปลี่ยนกติกา ทั้งๆที่บอกว่าให้มาปรึกษากันก่อนว่าระบบมีปัญหาหรือเปล่า แต่ก็ชิงที่จะบอกว่าเอาอย่างนี้ไปก่อน แล้วก็กลับเข้ามาและวันนี้ก็มาบอกว่า เลือกตั้งทุกๆอย่างไม่เปลี่ยน ผมถามว่ามันยุติได้หรือเปล่า
- แต่กติกาเลือกตั้งมันไม่ได้เป็นโครงสร้าง ให้ไปเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นโครงสร้างเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่จะแก้ไข
๐ แต่พวกแก้ไข มาจากจำนวนของการเลือกตั้ง ผมเรียนว่าการปฏิรูปการเมืองที่เราเสนอตั้งแต่ประมาณ 2-3 เดือนที่แล้ว ผมเป็นคนเริ่มต้นบอกว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือว่า เอาผู้มีส่วนได้เสียกันออกไปจากระบบนี้ก่อน คือทำอย่างไรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมาเสนอการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ หรืออาจจะมีส่วนในการพิจารณาร่าง แต่ถ้าเรายังบอกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับเสียงข้ามากในรัฐสภาอย่างเดียว แล้วก็คนที่อยู่ในรัฐสภาเท่านั้นที่จะเสนอได้ จะเริ่มต้นได้อย่างไร และคำถามที่ถูกถามมาโดยตลอดก็คือว่า ผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บิดเบือนการปฏิรูปทางการเมือง มีความชอบธรรมที่จะนำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหรือไม่
- ทีนี้ผมอาจจะบอกว่า ถ้ากลับไปเลือกตั้ง แล้วก็ประชาชนเลือก สมมุติว่าเลือกคุณอภิสิทธิ์ เลือกคุณบรรหาร หรือเลือกคุณทักษิณ ถ้าประชาชนเลือกกลับมาก็เป็นความชอบธรรม เพราะว่าประชาชนได้ตัดสินเขาแล้ว
๐ ก็กำลังจะดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน คืออย่างน้อยที่สุด ที่ผมเห็นแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีก็ดี คำพูดของท่านนายกก็ดี และวันพรุ่งนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า ท่านยังจะมีสิทธิ์ออกวิทยุและพูดฝ่ายเดียวอีกครั้งหรือไม่ ก็เป็นลักษณะของการกล่าวหาฝ่ายเดียว แล้วข้อเท็จจริงก็บิดเบือน ยิ่งจดหมายเปิดผนึกยิ่งไปกันใหญ่ มีการบิดเบือนว่าพรรคฝ่ายค้าน ว่าผม ว่าสมาชิกของพรรค ก็ว่ากันไป
อันนี้มันเป็นตัวบ่งบอกว่าพื้นฐานของผู้นำประเทศ เชื่อจริงหรือเปล่าเรื่องของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณสรยุทธ์ ซึ่งเมื่อสักครู่บอกให้ผมพูดถึงความรู้สึก ผมบอกว่าวันนี้ผมไม่ได้กังวลถึงความเลือกตั้ง แต่ว่าผมติดใจคำพูดของคุณทักษิณเมื่อสักครู่ว่า วันนี้เป็นเรื่องของการเลือกระบบ แต่ว่ามันไม่ใช่กฎหมู่กฎหมายอย่างที่คุณทักษิณพูด เพราะว่าคนที่เข้าไปแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ก็เป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในระบบทั้งนั้น แต่ระบบที่ต้องเลือกวันนี้ก็คือว่า "ระบบทักษิณ"หรือว่า"ระบบประชาธิปไตย"ตามเจตนารมย์เดิมของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด
- ที่นายกพูดตอนท้ายว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนสำคัญมาก ถูกไหมครับ
๐ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณสรยุทธ์ก็คือว่า ปัญหาต่างๆของประเทศจะยุติได้ในวันที่ 2 เมษายนหรือไม่ มันอยู่ที่การเคารพเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญคือ การยอมรับการตรวจสอบ ถ้าเลือกตั้งเสร็จ ใครจะชนะเลือกตั้งก็ตาม จะเป็นคุณทักษิณชนะ จะเป็นคุณบรรหาร หรือเป็นผม หรือจะเป็นใครก็ตาม แล้วคนเลือกตั้งที่จะเข้ามา มีทัศนคติเหมือนกับคุณทักษิณเข้ามา จะกี่ล้านเสียงแล้วบอกว่าผมจะทำอะไรก็ได้ มันก็จะเหมือนกับปัญหาที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้
เพราะฉะนั้นวันนี้โจทย์ของการเมืองสังคมไทยมันยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งที่คุณทักษิณพยายามบอก มันเป็นเรื่องของระบบ ก็อาจจะใช่ แต่มันไม่ใช่ระบบกฎหมายกับกฎหมู่ มันเป็นระบบทักษิณกับระบบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ 2540
- ฝ่ายคุณทักษิณหรือพรรคไทยรักไทยรักเขามองว่า ประชาธิปัตย์เอง ถ้าผมดูจากแถลงการณ์ดูจากจดหมายเปิดผนึกก็คือ แนวร่วมของกลุ่มที่ออกมาบนท้องถนน
๐ ผมบอกคุณสรยุทธ์เลยครับว่า ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับทุกเรื่องของผู้ชุมนุม ตั้งแต่มีการจัดรายการเป็นรายสัปดาห์ แล้วก็มีการโจมตีนายกรัฐมนตรี ถามว่าเห็นด้วยทุกเรื่องไหม ก็เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่สิ่งที่เรายืนยันก็คือว่า เขามีสิทธิ์ไหมตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดง แล้วผมก็เตือนนายกบอกว่า เหตุการณ์ทั้งหลายไม่เกิดขึ้นหรอก ถ้าหากว่าไม่ไปปิดกั้นสื่อตั้งแต่ต้น
ถ้าสื่อสารมวลชนเปิดโอกาสความเท่าเทียมกัน
ให้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารครบถ้วน ปรากฏการณ์ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มันไม่เกิดขึ้น
ทีนี้ถามว่าบทบาทของเราคืออะไร เราก็ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมว่าตามจริงแล้ว
มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพรรคประชาธิปัตย์เลยด้วยซ้ำ ตั้งแต่คุณสนธิเคยพูดถึงการถวายคืนพระราชอำนาจ
การจะขอพระราชทาน
รัฐบาล นายกรัฐมนตรี การจะขอให้มีการปฏิรูปทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์เลย
- โดยตรง แต่โดยอ้อมอาจจะมี
๐ คือถ้าบอกว่าโดยอ้อม มันก็เกี่ยวข้องกับทุกคน คนไทยทุกคน แล้วสิ่งที่เรายืนยันก็คือว่า เราก็พยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่าย เคลื่อนไหวอยู่บนพื้นฐานของความสงบ อันนี้ต้องเล่าให้คุณสรยุทธ์ฟัง ตั้งแต่ตอนที่จัดที่สวนลุมฯ ถามว่าผมเกี่ยวข้องอะไรกับการชุมนุมไหม?
- คุณอภิสิทธิ์ ต้องพูดในนามพรรค หรือสมาชิกพรรค
๐ ผมพูดกับท่านผู้ว่าฯ ท่านผู้ว่าฯเนื่องจากสวนลุมฯ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ท่านผู้ว่าต้องช่วยดูแลให้มีความสงบเรียบร้อย แล้วก็คุณสรยุทธ์ย้อนกลับไปดูได้เลยครับว่า ผู้ว่าต้องจัดรองผู้ว่า ผมว่า 2 คนเป็นอย่างน้อย ไปดูสถานการณ์ทุกสัปดาห์ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจไปดูแลความเรียบร้อย
ผมบอกกับคุณอภิรักษ์ บอกว่าถึงอย่างไรผู้ว่าต้องระวังนะ มีงานอื่นยุ่งด่วนอะไรก็ตาม ต้องช่วยดูแลตรงนี้ และนี่คือความสัตย์จริง และถามคุณสรยุทธ์กลับไปครับ คือหน่วยงานไหน คนของฟากไหนบ้างที่มีการไปจัดตั้งคนเข้ามา เพื่อยั่วยุให้เกิดการทะเลาะกัน และวันที่เกิดเหตุการณ์ทะเลาะกัน บุคลากรของพรรคเช่นรองผู้ว่า กับท่านผู้ว่า เขาพูดคุยกับผมว่าจะทำอย่างไร ผมก็บอกว่าทำดีที่สุดให้เกิดความสงบเรียบร้อย แม้ในขณะนั้นเขาบ่นด้วยซ้ำว่า บางช่วงนี่ตำรวจบอกว่าต้องเปลี่ยนเวรถอนกำลังออกไป
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริง และคุณสรยุทธก็จะสังเกตครับว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา วันที่มีการชุมนุมของข้าราชการครู วันที่มีการชุมนุมของ กฟผ. พรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้เวทีของรัฐสภาหรือจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็นในการหาทางออก เพราะฉะนั้นนี่คือกติกา ปัญหาวันนี้มันอยู่ตรงนี้ต่างหากคือว่า คุณทักษิณเข้าใจระบอบประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ไหม? คุณทักษิณยังยึดติดอยู่กับตำราเดิมๆหรือเปล่า ที่บอกว่าประชาธิปไตย หมายถึงเฉพาะการเลือกตั้ง ใครไปชนะตรงนั้นก็ว่ากันไปตามใจชอบ ที่เหลือนี่ไม่มีแล้ว กระบวนการประชาธิปไตยมีแค่การเลือกตั้ง
นั่นมันไม่ใช่ยุคนี้ ยุคนี้เขาเป็นยุคที่ยอมรับแล้วว่า ความหลากหลาย ความซับซ้อนของสังคม ขบวนการทางประชาธิปไตยมันต้องต่อเนื่อง ถ้าความเข้าใจตรงนี้ไม่เกิดขึ้น แล้วก็ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้ง และความเข้าใจตรงนี้ไม่เกิดขึ้น และการเลือกตั้งไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงตรงนี้ ใครจะรู้ครับ ประเทศไทยก็ต้องอยู่ในวังวนของปัญหาแบบนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าหากว่าอยากให้มองเรื่องระบบ ผมก็เรียกร้องให้มองเรื่องระบบ และผมได้พูดมาตั้งแต่ต้นว่า ผมเห็นว่าระบบที่คุณทักษิณพยายามสร้างเป็นอันตรายต่อประเทศ ไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดขึ้น
5 ปีที่ผ่านมา ความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้นเท่าไหร่, 5 ปีที่ผ่านมา ความไม่สงบเรียบร้อยเพิ่มพูนขึ้น ลึกลงไปในสังคมเท่าไหร่
- ตกลงที่ผ่านมาคุณอภิสิทธิ์บอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลทำ
๐ รัฐบาลมีส่วนสำคัญนะครับ แถลงการณ์วันนี้ จดหมายเปิดผนึกวันนี้ แม้กระทั่งคำพูดของท่านนายกวันนี้ บางลักษณะของคำพูดมีลักษณะของการยั่วยุ
- รัฐบาลต้องทำอย่างไร ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์ต้องทำอย่างไร
๐ ผมเรียนก่อนครับว่าประเด็นแรกเชื่อเลยว่า การชุมนุมจะไม่ลุกลามบานปลายเช่นนี้ ถ้าเราปล่อยให้กลไกการตรวจสอบตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปการเมืองครั้งแรกเดินได้ เพราะทุกคนจะมองว่ามีที่พึ่ง แต่ตอนนี้จะไปพึ่งที่ไหนครับ โทรทัศน์ท่านนายกก็ไม่ยอมจะออกกับใคร และไม่ยอมให้คนอื่นออกด้วย ถ้าเกิดไม่ได้มีโอกาสที่จะมาชี้แจง แถลงไขมากกว่าเอาลัดเอาเปรียบกันโดยใช้อำนาจรัฐ โดยใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าไปแทรกแซงสื่อ องค์กรอิสระทั้งหลายถูกบิดเบือนอะไร ปัญหาของ คตง. ปัญหาของ ปปช. ปัญหาของ กกต.
และก็ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน สว.เขาพยายามเดินในระบบก็ถูกปิดช่องทางไป แล้วเขายังถูกพรรคไทยรักไทยประณามเขาเสียอีก หาว่าเขาเล่นนอกระบบ ทั้งๆที่เขาก็ใช้เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ
- คุณอภิสิทธิ์ บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่ตัดสินอย่างนั้น คุณอภิสิทธิ์บอกว่าแทรกแซงหรือ
๐ ผมบอกว่าช่องทางมันถูกปิดกั้นแล้ว คุณสรยุทธ์อย่าตกเป็นเหยื่อของระบบทักษิณ คือระบบทักษิณให้คนคิดเป็นเรื่องๆ คิดแยกส่วนไป ระบบทักษิณพยายามไม่ให้คนเห็นภาพใหญ่ มันเป็นกระบวนการต่อเนื่องมาหลายปี มันไม่ใช่การตัดสินใจกรณีใดกรณีหนึ่ง มันมาตั้งแต่กระบวนการสรรหา ระเบียบการสรรหา วิธีการไปตีความคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาจากการสรรหา ยาวมาเป็นระบบแบบนี้
- ถ้าคุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้าถึงวันนั้นมันจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เพราะผมจะให้ระบบตรวจสอบ
๐ สมมุติว่ามันเกิด สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ทำแน่นอนคือไปยั่วยุม็อบโดยคำพูดทั้งหลาย ซึ่งไม่ต้องมาย้อนหรอกครับว่า มีกี่คำพูด ที่ทำให้เกิดปัญหาหรืออารมณ์ที่มันร้อนแรงมากขึ้น
- เพราะฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ในอดีต เวลามีม็อบก็มีลักษณะคล้ายๆกัน คือยั่วยุ สมัยที่คุณอภิสิทธิ์ยังไม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค
๐ ผมก็เรียนว่าสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็มีครับ และบางทีก็ยอมรับว่าคนในรัฐบาลกระทบกระทั่งบ้าง แต่คุณสรยุทธ์จำได้ไหม คุณสรยุทธ์จัดรายการโทรทัศน์มาหลายปีแล้ว สมัยก่อนที่มีการชุมนุม ผู้นำการชุมนุมได้ออกโทรทัศน์ไหมครับ บางครั้งและบางรายการให้ออกแต่ผู้ชุมนุม กับ NGO กับอาจารย์มหาวิทยาลัย รัฐบาลบางทีเขาไม่เชิญเลย ผมถามคุณสรยุทธ์ว่าการจัดในช่วงหลังนี่ มีโอกาสอย่างนั้นไหมครับ ยอมรับไหมครับว่า สมมุติว่าทั้งสองฝ่ายต้องมาออก อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอฝ่ายรัฐบาลไม่ออก คุณสรยุทธ์ก็ไม่กล้าให้พวกผมออก
- มันไม่ใช่เรื่องของความไม่กล้ามาออก เพราะผมไม่สามารถจะซักข้อมูลรายละเอียดแทนได้
๐ จริงหรือครับ ถ้าอย่างนั้นทำไม กลต. ได้ออกฝ่ายเดียวละครับ
- ก็คือตอนนั้นเป็นการแถลงผลอย่างเป็นทางการ
๐ เราก็ต้องมีประเด็นที่จะต้องถกเถียงกัน ประเด็นของผมก็คือว่า อย่างสัปดาห์ที่แล้วเอาง่ายๆ กรณีคุณสุวรรณ คุณสิริโชค กติกาตรงไหนบอกล่ะครับว่า พออีกชั่วโมงหนึ่งคุณสุวรรณบอกว่ามาไม่ได้ แปลว่าคุณสิริโชคไม่มีสิทธิ์ ก็เป็นอย่างนี้ ก็เหมือนกับการที่นายกไม่ยอมเดินเข้าสภา เพราะรู้ว่าถ้าเดินเข้าสภาสู้ข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะในสภาได้ไปให้คำมั่นสัญญาแล้วว่า ต้องมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ทั่วประเทศ แต่คิดเสียว่าตอนนี้ให้ฝุ่นมันคลุ้งเสีย แล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง
ไม่เป็นไรหรอกครับว่าการเอารัดเอาเปรียบ มันเกิดขึ้นได้ แต่ผมก็ยืนยันครับว่า ผมไม่ได้มองแค่การเลือกตั้ง ภารกิจของผม เมื่อผมไม่เชื่อในระบบทักษิณ และผมคิดว่าระบบทักษิณ เป็นอันตรายต่อประเทศ ผมก็จะต่อสู้ตามกรอบของกฎหมาย ตามวิธีการด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่จะให้ระบบนี้มันพ้นออกไป เสียเปรียบอย่างไรก็สู้ และผมคิดว่าคนอีกจำนวนมากพร้อมจะสู้ เพราะมีความวิตกกังวลจริงๆว่า ระบบทักษิณนั้นอันตรายต่อประเทศอย่างรุนแรง
- คุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์จะไม่เกิดปัญหาจนลุกลาม แล้วก็ยกตัวอย่างว่า สมัยประชาธิปัตย์สามารถที่จะเชิญแกนนำมาฝ่ายเดียว ถูกไหมครับ
๐ ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นต้องไปเชิญเขาฝ่ายเดียว แต่ว่าให้โอกาสของการแสดงออกมันเท่าเทียมกัน
- อย่างที่คุณอภิสิทธิ์ก็มาวันนี้ ฝ่ายเดียวนะครับ ฝ่าย สว.แก้วสรร อันนี้ผมไม่ได้ไปพูดถึงคนอื่นนะ ผมพูดถึงรายการผม
๐ คุณสรยุทธ์อย่าเพิ่งพูดแยกส่วน คุณสรยุทธ์เคยไปเอาสถิติมากางดูไหม? ตลอด 5 ปี แล้วไปเปรียบเทียบกับระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกยุคทุกสมัยก่อนหน้านี้ไหม?
- คุณอภิสิทธิ์กำลังบอกภาพรวม แต่ผมกำลังต้องชี้แจงกับคุณอภิสิทธิ์ ว่า คุณสิริโชคกับคุณสุวรรณ อย่างที่บอกนี้ คือรูปแบบมันจะต้องเป็นรูปแบบของการตั้งคำถาม ซึ่งมีความสลับซับซ้อนของข้อมูล และฝ่ายหนึ่งเป็นคนตั้งประเด็น อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนที่ต้องมาตอบคำถาม แต่การแถลงของ กลต.คือการแถลงรายละเอียดผลสรุปของการตรวจสอบ ซึ่งผมก็ต้องทำหน้าที่ในรายการคือการถามว่า กลต.ในฐานะหน่วยงานของรัฐ คุณตรวจสอบอย่างนี้ใช่ไหม? ผมมีสิทธิ์สงสัย อย่างไร แล้วก็ตอบ และเป็นสิทธิ์ที่คนดูจะพิจารณา
วันนี้ผมก็ให้คุณอภิสิทธิ์มา แล้วด้วยความเคารพคุณอภิสิทธิ์ ก็สามารถที่จะให้พูดได้เต็มที่ ทีนี้กลับมาต่อที่คุณอภิสิทธิ์บอกคือ ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์ผมจะไม่ยั่วยุ แล้วว่าถ้ามันถึงเวลา ถ้ามันขึ้นมาอย่างนี้ คุณอภิสิทธิ์จะทำอย่างไร
๐ คือผมไม่เชื่อว่าถ้ากติกาประชาธิปไตยมันเป็นไปตามเจตนารมย์ สภาพปัญหาอย่างนี้จะเกิดขึ้น มันจะมีวิธีการในการคลี่คลาย วันนี้จะต้องยอมรับนะครับว่า ความพยายามที่จะไปปิดกั้นมาก มันทำให้เรื่องของข่าวลือ เรื่องของสื่อต่างๆ นำไปสู่ความสับสนมาก บางฝ่ายที่เขาไม่พอใจรุนแรง พอสื่อหลักซึ่งเขามองว่าถูกแทรกแซงเสนออะไร แม้จริงเขาก็ไม่เชื่อ แล้วก็มีสื่อประเภทที่เป็นสื่ออื่นๆ เช่น อินเตอร์เน็ต อีเมล์ต่างๆ เผยแพร่ข้อมูลอะไรเต็มไปหมด แล้วบางทีก็เชื่อกันไปหมด ซึ่งกล่าวหารัฐบาลรุนแรงมาก และบางเรื่องผมยังไม่เชื่อเลย
- ผมมองในมุมของเขา ฝ่ายไทยรักไทยก็ดี นายกก็ดี หลังๆนี่บอกว่าพูดอะไรคนก็ไม่สนใจ ทีวี หนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยข่าว กลุ่มนั้นออกแถลงการณ์ กลุ่มนี้แถลงการณ์ไม่เอานายก อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งเดือนหลังนี้ ทางฝ่ายนั้นก็บอกว่า สื่อถูกแทรกแซงได้อย่างไร ข่าวทุกช่วงมีแต่ข่าวการประท้วง ข่าวกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ออกมาต่อต้านรัฐบาล
๐ ถ้าเทียบเคียงกับสมัยก่อน ผมว่าคุณสรยุทธ์ตอบผมได้นะครับว่า การรายงานถ้าไม่นับในช่วงรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เรื่องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุม ยังกระทบกระทั่งกันอยู่เลยกับสื่อกระแสหลัก คงนึกออก แล้วก็ถามว่าการติดตามข่าวสารต่างๆที่ได้ฟังมา ก็อย่างที่ผมบอก
- ในช่วงหลังนี้นะครับ ฝ่ายนั้นเขาก็ร้องเรียนเหมือนกัน ว่าสื่อก็ไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขา มีแต่ออกข่าวการชุมนุม
๐ มันเป็นผลพวงที่ตามมา เป็นปฏิกริยาที่ตอบกลับ จึงเป็นประเด็นที่สังคมต้องคิดว่าความแตกแยก และการไม่สามารถจะใช้วิธีการในการหลอมความคิดที่แตกต่างให้เคารพซึ่งกันและกัน มันเกิดขึ้นจากอะไร และผมยืนยันว่ามันเกิดขึ้นเพราะระบบทักษิณ
- คุณอภิสิทธิ์กำลังบอกว่า ถ้าเลือกตั้งใครชนะกลับมาเหรอ สมมุติว่าเป็นคุณอภิสิทธิ์ คุณอภิสิทธิ์ก็จะทำแบบนี้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นคุณทักษิณจะทำอย่างที่ทำอยู่
๐ ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก
- อันนี้เป็นการวิเคราะห์ของคุณอภิสิทธิ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นของคุณอภิสิทธิ์ แต่วันนี้คุณยอมรับการตัดสินใจของคุณทักษิณไหม?
๐ ผมก็บอกว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ถามว่าอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไหม แต่ถ้าดีที่สุดผมคิดว่าเปิดสภา แสดงให้เห็นก่อนว่าระบบรัฐสภายังใช้ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อถึงประเด็นปัญหาที่ตัวเองตอบไม่ได้ ก็ใช้วิธีเลี่ยง
- ประชาธิปัตย์ก็ใช้ประเด็นที่จะเปิดสภานี่ไปรณรงค์หาเสียง
๐ มันคงจะไม่เหมือนกันหรอกครับ นี่คือประเด็นที่ผมอยากจะบอกคุณสรยุทธ์ว่า ระบอบประชาธิปไตยมันลึกซึ้งกว่าการที่ไปบอกว่า มีความขัดแย้งกัน เลือกตั้ง และเมื่อสักครู่นี้ที่ฟังท่านนายก ไม่ได้ให้เลือกระหว่างผมกับท่านด้วยนะ ให้เลือกระหว่างท่านกับคนที่ไปชุมนุม แล้วมันใช่หรือเปล่าครับ ผู้ชุมนุมเขามีโอกาสมาแข่งเลือกตั้งไหม ไม่ใช่เป้าหมายของเขาด้วยซ้ำ มันจึงเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง ว่าระบอบประชาธิปไตยมันต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
- คุณอภิสิทธิกำลังพูดถึงการชิงความได้เปรียบ ทางฝ่ายนั้นเขาบอกได้ไหมว่า ไหนบอกว่ารัฐบาลขาลงกำลังจะแย่ คนส่วนใหญ่บอกว่าให้ออกไป ไม่ยอมรับแล้ว เลือกตั้งให้เร็วที่สุดที่แหละ เขาไม่เป็นที่นิยม เขาจะไม่กลับมา
๐ คือการประเมินก็สุดแล้วแต่ ที่จริงคุณสรยุทธ์ก็คงจะไม่ได้ฟังจากผมในการประเมินที่ผ่านมา และคำพูดที่ผมใช้เวลาพูดถึงการเรียกร้อง ผมไม่ได้พูดถึงจำนวนมาก จำนวนน้อย ผมพูดถึงเหตุผลความชอบธรรม ก็ผมถึงถามคุณสรยุทธ์ไงว่าทักษิณลงเลือกตั้งแข่งกับพันธมิตรหรือเปล่า ไม่ใช่ พันธมิตรเขาไม่ยอมรับการตัดสินใจครั้งนี้
- แต่ว่าในที่สุดมันก็อาจจะเกิดการเลือกแบบนั้นขึ้นมา ว่าถ้าจะเอาแบบพันธมิตรก็อย่าเลือกทักษิณ
๐ ก็นี่ไงครับผมกำลังจะบอกว่า สังคมก็จะต้องไปตกอยู่ในกรอบความคิด กลายเป็นกรงความคิดที่คุณทักษิณพยายามยัดเยียดให้
- ทำไม คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่พร้อมที่จะอยู่กับพันธมิตรหรือ
๐ ผมเรียนว่า ผมยืนยันสิทธิของพันธมิตร แต่โดยสถานะของการเป็นพรรคการเมือง บทบาทของพรรคการเมืองกับพันธมิตรคงจะเหมือนกันไม่ได้ ที่เหมือนกันไม่ได้ก็เพราะพรรคการเมืองมีส่วนได้เสียโดยตรง กับการที่จะได้หรือไม่ได้อำนาจ พันธมิตรเขาเคลื่อนไหวเขาพูดชัดเจนครับ เขาเคลื่อนไหวสำเร็จใช่ว่า พลตรีจำลอง คุณสนธิ หรือใคร เขาไม่ได้มีผล แต่ว่าผมมีในฐานะเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง
- แต่ว่าอีกฝ่ายไทยรักไทยอาจจะมองว่า คุณอภิสิทธิ์ก็นั่งรอ เอาพันธมิตรลุย ถึงเวลาพรรคไทยรักไทยมีปัญหาปุ๊บคุณก็ขึ้น
๐ ทำไมถึงจะขึ้นล่ะครับ ถ้าพันธมิตรได้ตามข้อเรียกร้อง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์เลย นี่เป็นความพยายามที่พรรคไทยรักไทย พยายามยัดเยียดข้อหามาให้คนจำนวนมาก วันนี้นะครับพูดถึงการข่าวอะไรต่างๆ
- พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการนี้หรือ
๐ ผมคิดว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้ประโยชน์มากไปกว่าประชาชนที่ระบบการเมือง ที่มีการปฏิรูปตามที่เขาเรียกร้อง
- ไม่ หมายถึงคนที่จะได้อำนาจอันเนื่องมาจาก ไม่ใช่ประชาธิปัตย์
๐ ไม่ใช่ข้อเรียกร้องของเขาเลยนี่ครับ ข้อเรียกร้องของบางคน คือแต่ละท่านก็มีข้อเรียกร้องไม่เหมือนกัน ข้อเรียกร้องของบางท่าน ผมกับคุณทักษิณก็ตกงานพร้อมกัน
- คุณอภิสิทธิ์พูดถึงเหตุผลการยุบสภา ยอมรับ แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับและลงไปสู่กติกานั้น
๐ เป็นกติกาที่ซึ่งนายกจะสามารถเลือกใช้ได้
- ที่นี้คุณทักษิณพูดคืนนี้ว่า ประชาชนตัดสิน เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ถ้าเลือกตั้งจบต้องจบนะ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องยุตินะ
๐ คือถามว่าถูกไหม ก็ต้องตอบว่าอะไรจบ ถ้าเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม สมมุติผมแพ้ หรือสมมุติคุณทักษิณแพ้ผม ต้องจบในความหมายที่ว่า ใครแพ้ต้องเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านก็ไปทำหน้าที่ในสภา ก็ต้องยอมรับว่าเสียงน้อยกว่า ฝ่ายเสียงข้างมากก็ไปบริหารประเทศ แต่ถ้าบอกว่าใครชนะ จะเป็นคนทักษิณชนะหรือผมชนะ เข้าไปแล้วก็บิดเบือนเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ โกงกิน
- อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป ถูกไหมครับ
๐ ก็ถูกต้องครับ ประเด็นของผมในที่นี้ก็คือว่า ต้องระมัดระวังว่า
- ถ้าวันนั้นมีคนมาถามคุณอภิสิทธิ์ว่า เลือกตั้งจบ สมมุตินะ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ชนะก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างที่คุณอภิสิทธิ์ต้องการ บอกว่าผมจะทำอีกแนวหนึ่ง แต่ถ้าเกิดคุณทักษิณชนะ แล้วสมมุติยังเกิดการชุมนุมเพื่อขับไล่คุณทักษิณต่อ คุณอภิสิทธิ์จะแสดงท่าทีว่า
๐ ผมก็ต้องถามต่อว่า เขาจะชุมนุมขับไล่คุณทักษิณเรื่องอะไร ซึ่งผมไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่มีการชุมนุม และมาชุมนุมเรื่องอะไร ถ้าคุณทักษิณทำอะไร เป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกโดยชอบธรรม ก็ไปห้ามเขาไม่ได้
- คุณอภิสิทธิ์ก็เหมือนกับสนับสนุนต่อ
๐ ผมไม่ได้สนับสนุน
ไปบอกได้อย่างไรว่าผมสนับสนุน ผมไม่รู้ว่าเหตุและผลมันคืออะไร แต่ผมยกตัวอย่างง่ายๆว่า
ประเด็นหลายอย่างมันไม่จบ ข้อเรียกร้องในการตรวจสอบมันจะนำไปสู่อะไร
- ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทักษิณชนะเลือกตั้ง ถ้านะครับ
สมมุตินะครับวันนี้เพราะทุกอย่างกลับไปนับหนึ่งใหม่แล้ว ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเขาบอกว่า
คุณทักษิณไม่มีความชอบธรรมในการที่จะเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งความจริงเขาพูดอยู่แล้ว
ถ้าสมมุติอีกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ใจพันธมิตร ถ้าหากว่าเขาชนะพันธมิตรเคลื่อนไหวต่อ
คุณอภิสิทธิ์จะตอบว่า
๐ คือเราไปถ้าๆๆๆๆ เราไม่ทราบเหตุและผล พันธมิตรเขาอาจจะเคลื่อนไหวเรียกร้องก็ได้ว่า ในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ขอคนกลางได้ไหม? เหตุผลคือว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม มีผลประโยชน์ส่วนตัว ถูกไหมครับ อย่างเช่นผมยกตัวอย่างง่ายๆว่า แม้กระทั่งอย่างกลุ่มวังน้ำเย็นที่ผ่านมา เวลาเขาเรียกร้องมันก็มีคนที่พูดได้ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเขาเรียกร้องจริงๆ ในเรื่องของความเป็นอิสระของพรรคการเมือง อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะบอกว่า อิสระจากพรรคการเมืองของ สส.ในบางเรื่อง อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะบอกว่า ไม่ใช่นะ มันเป็นผลประโยชน์ของตัวเองเพราะอยากจะย้ายพรรค
ประเด็นก็คือว่า สมมุติใครก็ตามอาจจะเป็นกลุ่มพันธมิตร แต่เป็นกลุ่มใหม่ขึ้นมา เขาบอกว่าขอเรียกร้องให้คนที่เป็นกลางมาทำงานนี้ ถามว่าเขามีสิทธิ์ไหม? เขาก็มีสิทธิ์ และถ้านายกจะไปพยายามกล่าวหาเขาอีก เหมือนกับกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ผ่านมา บอกว่าพวกนี้เป็นพวกที่สูญเสียผลประโยชน์ พวกนี้เป็นพวกที่ก่อกวนหรืออะไรก็ตาม แล้วอารมณ์ของประชาชนเกิดรุนแรงขึ้นมาอีก เพราะว่าจริงๆ ประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง มันเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วอย่างนี้เป็นต้น
- แต่สถานการณ์ในวันนั้น เขาชนะการเลือกตั้งแล้ว อันนี้สมมุติอีกเหมือนกัน
๐ ทีนี้หลังจากการเลือกตั้ง ท่านนายกบอกว่าผมชนะการเลือกตั้งแล้ว ผมตัดสินใจแล้วว่าผมจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถามว่า แล้วถ้าเกิดมันมีประเด็นให้เห็นชัดเจนว่า สมควรจะแก้ หรือนายกอาจจะบอกว่าตอนเลือกตั้งไม่ได้พูดเรื่องนี้ พูดแต่เรื่องกฎหมู่กฎหมาย แล้วถามว่านายกจะมาสรุปเลยได้ไหมว่า ไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า คุณสรยุทธ์จะต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ระบอบประชาธิปไตยถามว่าการเลือกตั้งตัดสินอะไร ตัดสินว่าใครไปบริหารประเทศ แต่เลือกตั้งเสร็จแล้วไม่ได้หมายความว่า คนที่ได้รับอำนาจไปบริหารประเทศจะไปทำอะไรก็ได้ มีอยู่เท่านั้นก็พอ
- ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลา
๐ ถูกต้องครับ และก็บุคคลที่เป็นผู้นำอยู่ในระบอบประชาธิปไตยยุคสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่เข้าใจเงื่อนไขนี้ ก็จะบริหารบนความแตกแยก ก็จะบริหารอยู่ในความไม่เข้าใจ ก็จะบริหารเสร็จแล้วเนี่ยเพียงแต่รอวิกฤต หรือรอปัญหาที่มันจะปะทุขึ้นมาอีก
- มันไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งนี้ ถ้าเกิดเขาชนะ ประชาชนตัดสินแล้วว่า ให้เขาบริหารประเทศต่อไป ผู้ชุมนุมหยุด มันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นหรือ
๐ ก็หยุดในบางเงื่อนไข แต่ไม่ใช่บอกว่าเมื่อกลับเข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะไปทำอะไรก็ได้อีก ถูกไหมครับ? เพราะฉะนั้น อันนี้ถึงบอกว่าเราไม่รู้เงื่อนไขว่าจะมีการชุมนุมอีกหรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่ทราบ และผมก็เพียงแต่บอกว่า ถ้าคิดว่าคนที่เขาจะชุมนุมเขาไร้เหตุผล คุณสรยุทธ์ไม่คิดหรือว่าในสังคมไทย ปรากฏการณ์ที่มีความหลากหลายเหมือนกับการเรียกร้องในปัจจุบัน จะไม่สามารถตัดสินใจด้วยเหตุและผลได้
ถ้ามันเป็นเรื่องของ พูดง่ายๆว่า ไม่พอใจ ไม่ชอบหน้ากัน หรืออะไรต่างๆนี่ มาเรียกร้องๆๆอยู่ คุณสรยุทธ์จะเชื่อไหมครับว่าจะมีคณาจารย์มหาวิทยาลัย เชื่อไหมครับว่าจะมีวิกฤตแบบนี้ มันก็คงไม่ใช่อย่างนี้ และในที่สุดมันก็จะมีคำตอบในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นเราจะไปขีดเส้นบอกว่า เลือกตั้งเสร็จจบ ผมก็กลัวว่า อันนี้เหมือนกับมาบอกว่าเป็นระบบนะ วันนี้ใช้คำว่าระบบด้วย ระบบคือผมอ้างได้นะ จะกี่ล้านเสียงก็แล้วแต่ที่ชนะไป ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องการระบบแบบนั้น ถึงผมชนะผมก็จะไม่ไปบอกว่าคนเลือกผมมา 11-12 ล้านเสียง หรือ 19 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นไม่ฟังใคร
- เวลาที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ซึ่งวันนั้นคุณอภิสิทธิ์อาจจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ก็พูดในทำนองนี้ แต่ไม่ใช่ตัวเลขเท่านั้นเอง ถึงเวลาประชาชนก็จะตัดสินผมเอง
๐ แต่ว่าเคารพสิทธิที่จะแสดงออก ผมก็ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าดูภาพรวม วันนั้นถามว่ากลุ่มต่างๆได้มีโอกาสแสดงออกไหม? ตอบได้ว่า ได้มีโอกาสแสดงออก เพราะฉะนั้นอันนี้คือความแตกต่าง วันนี้ผมถึงบอกว่า มันมีหลายเรื่องและมันเป็นหลักคิดที่ต้องใช้กับทุกเรื่อง วันนี้เราอาจจะมาพูดถึงแต่ว่า ชุมนุมหรือไม่ชุมนุม เลือกตั้งไม่เลือกตั้ง ระบบทักษิณยังมาอีกหลายเรื่อง เรากำลังจะเอา กฟผ.เข้าตลาดหุ้น ซึ่งโอนอำนาจการผูกขาดไปสู่ภาคเอกชน เลือกตั้งเสร็จนายกจะบอกเลยไหมว่า เพราะฉะนั้นแปลว่าวิธีนี้ถูกต้องแล้ว
- คงไม่ใช่อย่างนั้น สื่อคงไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ประเด็น กฟผ. ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ พรรคชาติไทยว่าอย่างไร คุณจะแปรรูปแบบไหน ประชาธิปัตย์ว่าอย่างไง
๐ ทีนี้ถามว่าเวลาที่คุณสรยุทธไปใช้สิทธิ์ หย่อนบัตรเลือกตั้ง 2 เมษา สมมุติว่าคุณเห็นด้วยกับนายกทักษิณเรื่องแปรรูป แต่ไม่เห็นด้วยกับเรื่อง FTA คุณทักษิณชนะเลือกตั้งบอก ต้องแปรรูปหมด ต้องทำ FTA อันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ผมจะบอกก็คือว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการ คนที่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย คนที่มองเห็นการปกครองในยุคสมัยใหม่ เขาจะเลิกคิดทฤษฎีที่บอกว่า เลือกตั้งแล้วจบกัน
- ฝ่ายของไทยรักไทยก็จะบอกว่า ในระหว่างการทำงานเขาก็ฟังความเห็นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาไม่ฟัง
๐ ก็ต้องรอดู เพราะว่ายังมีกลไกบางอย่างที่ตรวจสอบอยู่ เช่นเรื่องของ กฟผ. ว่าในที่สุด ศาลปกครองก็ต้องไปชี้อะไรต่างๆ
- วันนี้ผมจะไม่พยายามไปพูดถึงประเด็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง คือว่าจะต้องไปเริ่มนับหนึ่งกัน วันนี้ถือว่าเป็นวันตัดสินใจทางด้านการเมือง ที่พันธมิตร เขาเรียกร้องให้นายกลาออก และปฏิรูปการเมืองก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง คุณอภิสิทธิ์เห็นด้วยไหม?
๐ ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญก็คือว่า ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด ว่าเราต้องการปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายอะไร และผมคิดว่าสิ่งที่ชัดเจนที่สุดแล้วก็คือว่า เขาเรียกร้องว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องทำงานได้ตามเจตนารมย์ เพราะฉะนั้นวิธีการใดก็ตามที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น พึงที่จะกระทำ ปัญหาก็คือว่า กลุ่มที่เขาเรียกร้องตรงนี้ เขาไม่เชื่อว่าคนที่ทำลายระบบตรงนี้ไป พร้อมที่จะแก้ไขเพื่อให้มันกลับมาทำงานใหม่
- คุณอภิสิทธิ์เห็นด้วยกับเขาไหม? ถ้าบอกว่ายุบสภาไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ทางเลือกที่ดีที่สุดของประชาธิปัตย์บอกแล้วว่า คือเปิดสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถูกไหมครับ? แต่ถ้าถามว่าให้นายกลาออก ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือว่า ก็จะต้องหานายกคนใหม่ซึ่งจะต้องมาจากการเลือกตั้ง แล้วก็มาปฏิรูปการเมือง
๐ ที่ผมเสนอรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ผมนี่ให้ความเป็นธรรมกับนายก ขนาดที่ว่าไม่ต้องออกก็ได้ แต่คุณต้องเปิดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเขาไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การสั่งการของคนๆเดียว ซึ่งกุมเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่อันนี้พรรคไทยรักไทยก็ปฏิเสธ หนทางนำไปสู่เป้าหมายมันทำได้หลายทาง แต่ว่าทางหนึ่งหรือว่าประเด็นหนึ่งที่เป็นสมมุติฐานที่สำคัญก็คือ คนที่มีส่วนได้เสีย คงไม่สามารถมากระทำบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเปิดช่องทาง
- อันนี้คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอ
๐ เพราะฉะนั้น ถามผมว่า ให้นายกลาออกแล้วทำอันนี้ ก็เป็นวิธีหนึ่ง
- เห็นด้วยไหม
๐ ผมบอกว่า ผมก็มีวิธีเหมือนกัน แต่ว่าเทียบกับยุบสภาแล้วไปฝากความหวังว่า เลือกตั้งเสร็จแล้ว จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องบอกว่าวิธีการของเขาตรงกว่า (ลาออกดีกว่า) แต่สำหรับผม ผมก็บอกว่ามีอีกช่องทางหนึ่งอยู่ตรงกลางนี่แหละ ไม่ต้องออกก็ได้ แต่เปิดทางให้คนมาแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธ
- ผมจะบอกได้ไหมว่า คุณอภิสิทธิ์พยายามที่จะบ่นหลายครั้งว่า ถูกผลักเข้าไปอยู่ในฝ่ายพันธมิตร ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์แปลว่าไม่ต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง
๐ ผมไม่ได้ติดใจหรอกครับว่า ผลักหรือไม่ผลัก เพราะผมถืออย่างนี้ว่า พันธมิตรเขาใช้สิทธิอันชอบธรรม และเขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง และหลายสิ่งที่เขาชี้ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพียงแต่ว่าผมกับพันธมิตรอยู่คนละสถานะ เพราะฉะนั้นความพยายามที่จะบอกว่าไปอยู่ด้วยกัน เป็นเพียงความพยายามที่จะ discredit หรือลดความเชื่อถือ เพื่อกล่าวหาว่า มีการเล่นนอกกติกา ซึ่งผมยืนยันว่าไม่มี แต่จะไปบอกว่าผมถูกผลักเข้าไป มันไม่ใช่ บางเรื่องที่เขาเรียกร้องในภาพใหญ่ ผมก็เห็นตรงกับพันธมิตรว่า คุณทักษิณมีความอันตรายอย่างไรต่อประเทศชาติ
- แต่ในรายละเอียด คุณอภิสิทธิ์หรือประชาธิปัตย์ก็ไม่เลือกที่จะบอกปฏิเสธว่า แนวทางนี้ไม่ใช่แนวทาง สมมุติว่าบางข้อของพันธมิตร ทางประชาธิปัตย์ก็เฉยถูกต้องครับ
๐ เหมือนอย่างนี้ครับคุณสรยุทธ์ ผมพูดง่ายๆเลย ชี้ให้เห็นเลยครับว่าอย่างเช่น เรื่อง กฟผ. เวลามีการเคลื่อนไหวต่อต้านชัดเจนเลยว่า ไม่มีการแปรรูปทุกรูปแบบ ประชาธิปัตย์จะไม่เคยพูด จะไม่เคยบอกว่ากระโดดไปเล่นด้วย เป็นเพราะว่าเขาค้านรัฐบาล ไม่ใช่! เราบอกแต่ว่า ต้องไม่ให้มีการแปรรูปและนำไปสู่การผูกขาด อันนี้ขอยกเป็นตัวอย่าง
ประเด็นที่สอง เวลาที่ข้าราชการครูเคลื่อนไหว ประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยกระโดดไปบอกว่า ไม่เอาแล้วกระจายอำนาจ เพราะเห็นว่ากลุ่มนี้จะไปเป็นพลังที่จะไปทำให้รัฐบาลมีปัญหาได้ เราก็ไม่ทำ ถูกไหมครับ อันนี้เป็นตัวที่มันยืนยันว่า ความคิดมีความแตกต่างได้
- อันนี้คือในนามพรรค แต่ในนามตัวบุคคล ก็มีการไปรวมกลุ่ม
๐ เขาก็ไปฟัง มีคนตั้งเยอะไปฟัง สส.พรรคไทยรักไทยก็ไปฟัง ไปฟังในฐานะประชาชน ไม่ได้ขึ้นเวทีในลักษณะของการที่จะไปเคลื่อนไหว แล้วก็ไม่มีส่วนในการตัดสินใจใดๆทั้งสิ้นของผู้ชุมนุม
- การที่ดูเหมือนว่า คุณอภิสิทธิ์บอกว่าเราในฐานะพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธมิตร ถูกไหมครับ? แต่วันนี้คุณอภิสิทธิ์บอกเองว่า เหมือนกับว่าเลือกทักษิณหรือเลือกพันธมิตร คุณอภิสิทธิ์บอกว่ารัฐบาลกำลังทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น
๐ คุณทักษิณพยายามตั้งโจทย์อย่างนั้น
- ซึ่งในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์จากการนี้ไหม?
๐ ผมไม่ได้คิดเรื่องการได้ประโยชน์เสียประโยชน์ เพียงแต่บอกสังคมก่อนว่าโจทย์วันนี้ อย่าไปบอกว่าเป็นเรื่องที่ว่า ระหว่างคุณทักษิณกับผู้ชุมนุม โจทย์วันนี้คือเส้นทางไหนสำหรับประเทศไทยถึงจะดีที่สุด
ปัญหาที่ผมยกตัวอย่างสำหรับที่คุณสรยุทธ์ถามผมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมก็บอกว่า เป็นเรื่องง่ายๆ ของศิลปะในการบริหารของยุคสมัยนี้ ทำไมแนวทางที่พวกผมเสนอว่าให้ประชาชนมาแก้รัฐธรรมนูญ นายกไม่ต้องลาออก ทำไมจึงปฏิเสธ วันนี้จึงเป็นเรื่องของการมองหาว่า ประเทศจะเดินหน้าด้วยวิธีไหน ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคุณทักษิณชนะเลือกตั้งเข้ามาได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ตราบเท่าที่คุณทักษิณไม่เปลี่ยนความเข้าใจของตัวเอง เรื่องระบอบประชาธิปไตย ปัญหาจะกลับมาใหม่ แล้วก็ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องตอบ
ประเด็นของผมคือว่า มันไม่ใช่เป็นปัญหาของเรื่องๆๆๆ มันเป็นปัญหาว่าเรามองวิธีการบริหารประเทศในยุคสมัยใหม่อย่างไร ผมไม่เชื่อเรื่องเศรษฐกิจผูกขาด ผมไม่เชื่อเรื่องการรวบอำนาจ ผมไม่เชื่อ
- อันนี้ก็เอาไปไว้ในการหาเสียงอีกเวทีหนึ่งครับ อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณอภิสิทธิ์ที่บอกว่า จดหมายถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยพาดพิง หลายข้อด้วยกัน เป็นต้นว่า
๐ ผมเอาสั้นๆเลย 2-3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งที่พาดพิงมาทำนองว่า เราไปกล่าวหาว่าการขายหุ้นในตลาดต้องเสียภาษี ถ้าจะกรุณาไปดูหนังสือที่เรายื่นให้กับกรมสรรพากร เราไม่ได้บอกว่าขั้นตอนการขายหุ้นในตลาดต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับกล่าวหาว่า ผมไปกล่าวหาว่าพ่อโอนให้ลูกต้องเสียภาษี ไม่ใช่ ไปดูซิครับ หนังสือของเราที่ยื่นให้กับกรมสรรพากร
เราบอกว่ามันมีปัญหาตอนโอนระหว่างบริษัท Ample Rich กับคุณพานทองแท้ และคุณพิณทองทา เพราะว่า 2 ท่านนี้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เช่นเดียวกันกับที่ กฟผ.ให้หุ้นกับพนักงานซึ่งต้องเสียภาษี และถูกหักภาษีไปแล้วด้วย
- อันนี้คือหนังสือ ผมในฐานะที่ติดตามข่าวโดยละเอียดผมเห็นอย่างที่คุณอภิสิทธิ์บอก คือบอกว่าถ้าใช้มาตราฐานเดียวกัน พนักงาน กฟผ. รับหุ้นในราคาพิเศษ ต้องเสียภาษีถือเป็นเงินได้พึงประเมิน และต้องจ่าย จ่ายไปแล้วด้วย. พานทองแท้ พิณทองทา รับหุ้น Ample Rich ที่ตัวเองเป็นกรรมการอยู่ในราคา 1 บาท แล้วไปขาย 49 บาท ส่วนต่างคุณต้องเสียภาษี อันนี้ไปยืนสรรพากร ถูกไหมครับ?
๐ ผมก็ถามคุณสรยุทธ์ว่า การที่มาบอกว่า
- แต่ผมถามต่อคือ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คุณอภิสิทธิ์คุมเขาได้ไหมว่า, ผมก็ได้ยินบางคนออกไปพูดเรื่องจริยธรรม เรื่องซื้อขายแล้วไม่ยอมเสียภาษี รวมๆไม่ได้เน้นตรงนี้
๐ คือเวลาเราบอกว่า เสียภาษีหรือไม่เสีย คุณสรยุทธ์ครับ ผมปราศรัยทุกเวที เวลาพบปะประชาชน ผมบอกว่าเรื่องใดที่คนอื่นไม่ต้องเสีย ถ้าคุณทักษิณปฏิบัติเหมือนกันหรือครอบครัวของคุณทักษิณปฏิบัติเหมือนกัน ต้องไม่เสีย
- สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นที่ไปพูด ไม่ได้พูดแบบนี้
๐ แต่อันนี้พูดนะครับ บอกว่านายอภิสิทธิ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี(ชี้ในเอกสารจดหมายเปิดผนึกของพรรคไทยรักไทย)อะไร เพราะฉะนั้นมาเรียกร้องได้อย่างไร
- อันนี้ที่พูดถึงคุณอภิสิทธิ์ว่า ได้เงินจากการขายที่ที่หัวหินให้คุณอภิสิทธิ์ คือพ่อของคุณอภิสิทธิ์ให้โดยธรรมจรรยาคือไม่ต้องเสียภาษี
๐ แล้วผมเคยโต้แย้งไหม เรื่องของการที่พ่อให้ลูก แล้วเอาผมไปเขียน คือประเด็นมันเห็นชัดครับว่า แล้วข้อกล่าวหาที่ผมกล่าวหาจริงๆว่า คนอื่นเขาเสียแล้วท่านไม่เสีย ไม่เห็นมีคำตอบเลย แล้วมาพูดรวมๆ มากล่าวหาว่าผมเสียภาษีไม่ถูกต้อง ครอบครัวเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็นี่ไง ใครขายหุ้นในตลาดก็ไม่เสีย โอนโดยธรรมจรรยาก็ไม่เสีย ผมไม่อยากเสียเวลาล่ะ ผมจะบอกว่าชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งที่ผมทำจริงท่านไม่เขียน ท่านมาพยายามยัดเยียดให้ผมพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็ชี้แจง และหาว่าผมบิดเบือน ไปล้มล้าง อันนี้เรื่องหนึ่ง
เรื่องที่สอง ก็มีเรื่องของการพูดถึงตัวกฎหมายเกี่ยวกับโทรคมนาคม ที่ไม่เคยคัดค้าน ไม่เคยอะไร และไม่เคยพูดถึง ผมขอเล่าให้ฟังว่า กฎหมายนี้จริงๆแล้วเริ่มต้น มันเป็นอย่างนี้แหละ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่วุฒิสมาชิกไปแก้เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วเราเตือนในขณะนั้นเพราะอะไรครับ เพราะเรารู้ว่ามันเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน บริษัทที่จะไม่ได้รับผลกระทบเหลือ 25 เปอร์เซนต์ขณะนั้นมีบริษัทเดียว คือบริษัทของนายก หรือครอบครัวนายก
- เดี๋ยวช้านิดหนึ่ง ตอนนั้นกฎหมายเข้าไป 49 เปอร์เซ็นต์
๐ แล้วมีการไปแปรญัตติเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ เราก็บอกว่าเป็นปัญหา เพราะว่ามันจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ วันนั้นรัฐมนตรีคือคุณวันนอร์ ก็บอกว่าไม่มีปัญหาหรอก ถ้ามีปัญหาอะไรผมรับผิดชอบเอง ก็ปรากฎว่าผ่านออกไป พอผ่านออกไปก็เป็นปัญหาอย่างที่เราวิเคราะห์ ก็เกิดการร้องเรียนอย่างที่เขาเขียน เลยมีการเสนอเข้ามาใหม่ให้เป็น 49 เปอร์เซ็นต์ ผมก็ไม่เคยปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ และก็พูดข้อเท็จจริงนี้
แต่ที่น่าสนใจคือตรงนี้คุณสรยุทธ์ครับ พอเป็น 49 เปอร์เซนต์เข้ามา ซึ่งหลายปีแล้วอันนี้ถูกต้อง ผมบังเอิญเข้าไปเป็นกรรมาธิการ ผมบังเอิญไปแปรญัตติและชนะในกรรมาธิการว่า ขออีกเรื่องหนึ่งเถอะในกฎหมายฉบับนี้ คือบริการ pre paid มีการกำกับได้ไหม? เพราะว่ามีปัญหา มันเกิดการฉ้อฉลกัน มีช่องทางลั่วไหลต่างๆ และก็ธุรกิจ pre paid คือจ่ายเงินก่อน มีปัญหามาก
เชื่อไหมครับ พอกฎหมายที่ผมแปรญัตติและชนะออกมาอย่างนี้ รัฐบาลหยุดกระบวนการนี้โดยสิ้นเชิง แช่ไว้เฉยๆเลยครับ ผิดวิสัยมาก กฎหมายเสร็จจากกรรมาธิการ ค้างอยู่ไม่ยอมหยิบยกขึ้นมาพิจารณา จนกระทั่งเลือกตั้งใหม่ เลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการก็มาล้มคำแปรญัตตินี้ลงไป แล้วก็มาจริงจังในการผลักดันตรงนี้อีกครั้งก็เป็นเวลาที่มีความสอดคล้องกับการเจรจาการขายหุ้น
- อันนี้คุณอภิสิทธิ์ตั้งข้อสังเกต แต่ที่มาที่ไปอย่างเขาบอกไหมว่า พรบ.โทรคมนาคม มันมีบริษัทอื่นเรียกร้องมาตั้งนานแล้ว และมันต้องออกมาเพราะมันต้องเปิดเสรี
๐ ก็เขาเล่าไม่จบไงว่าจริงๆแล้ว ผมก็พูดอย่างนั้น แต่พอถึงเวลาที่จะผลักดันออกมาก็ไม่ได้ทำจริงจัง แช่เอาไว้จนกระทั่ง
- อันนี้เป็นข้อกล่าวหาเขา ว่าคุณมีเจตนาแช่เอาไว้ แต่ตรงนี้เป็น 49 เปอร์เซนต์ซึ่งประชาธิปัตย์เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
๐ ก็เป็นไปตามนี้และเราไม่เคยพูดเป็นอย่างอื่น แต่ประเด็นที่ผมไปร้องกระทรวงพาณิชย์ มันไม่ใช่เรื่อง 49 หรือ 25 มันเป็นเรื่อง nominee เพราะอะไร เพราะความสำคัญคือว่า ถ้าจะแก้จาก 25 เป็น 49 เราจะต้องมั่นใจว่า 49 จริงๆ ไม่ใช่ 50 กับ 51 หรือ 60 กับ 70 แล้วไปแอบอยู่
- ในสถานการณ์ที่มันคุกฝุ่น มันก็ต้องมาว่ากัน
๐ ผมก็ไม่ว่าอะไร คุกฝุ่นนี่ได้ แต่ว่าผมเชื่อว่าคนที่ทำจดหมายฉบับนี้ รู้ข้อเท็จจริงว่าผมพูดอะไร ไม่พูดอะไร เพราะหนังสือที่ผมยื่นถึงกระทรวงพาณิชย์ก็ดี หนังสือที่ผมยื่นถึง กลต. หนังสือที่ผมยื่นถึงกรมสรรพากรก็ดี เป็นเอกสารที่เขาตรวจสอบได้ แต่เขาจงใจไม่ทำที่จะยอมรับข้อเท็จจริงนั้น แล้วมาบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้ก็คือกระบวนการตอกย้ำแนวคิดเดิมเท่านั้นเอง ออกแถลงการณ์ จดหมายเปิดผนึก แล้วก็ไม่มีโอกาสให้คนมาชี้แจง ซึ่งต้องขอขอบคุณคุณสรยุทธ์ที่ให้โอกาสผมวันนี้มาชี้แจง แต่ประเด็นหลังจากวันนี้ก็หายไปแล้ว
- ประเด็นอย่างนี้ก็จะใช้เป็นประเด็นรณรงค์หาเสียงได้
๐ คือการหาเสียง จะมานั่งเถียงกันในเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เราต้องมองอนาคต
- คุณอภิสิทธิ์บอก ฝ่ายค้านบอกเองว่าปัญหาคือนายก ถูกไหมครับ แล้วทำไมถึงบอกว่ารณรงค์ไม่ได้
๐ รณรงค์ได้ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถให้ข้อเท็จจริงกันได้ทั้งหมด คุณสรยุทธ์นึกออกนะครับว่า หลังจากนี้ไปเรื่องการหาเสียงก็มีประเด็นอื่นเข้ามาต่างๆมากมาย เอาล่ะไม่ว่ากัน ผมเพียงแต่บอกว่า นี่ไงประเด็นก็คือว่า ถ้าเรายังไม่ได้นักประชาธิปไตยที่เข้าใจว่า การเลือกตั้งมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการ จะไปทึกทักเอาว่าทุกอย่างได้คำตอบหมดแล้ว อันนี้ไม่ใช่
ที่พูดทั้งหมดนี้ ผมก็ต้องเรียนว่าผมไม่ได้คิดหรอกว่า แปลว่าคุณทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ผมไม่ได้คิดหรอก แล้วก็ถ้าคุณทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ตราบเท่าที่คุณทักษิณทำอย่างที่ได้ทำมา ปัญหาวันข้างหน้าก็รออยู่ ผมเพียงแต่เสียดายโอกาสของประเทศ ประเทศไทยควรจะเป็นประเทศซึ่งเป็นแบบอย่างของ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังก้าวกระโดด พร้อมกับเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมได้ โดยสอดคล้องกับพื้นฐานของประชาชนคนไทย
คำว่า"ไท"แต่เดิม หมายถึงความเป็น"อิสระ" การมีสิทธิ การมีเสรีภาพ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วันนี้เราต้องมาทบทวนว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราหลงประเด็นหรือเปล่า เราถูกยัดเยียดกรอบความคิดบางอย่างหรือเปล่า แล้วเราไปคิดถึงแต่เพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้าแต่เพียงอย่างเดียวหรือเปล่า ผมคิดว่าวันนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนำมาสู่การยุบสภา เหตุการณ์ที่นายกบอกว่าจะไม่เกิด ชาติหน้าตอนบ่ายๆ เป็นเพราะสังคมเขาตื่นแล้วส่วนหนึ่ง
แต่ว่าจะตื่นได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีคนที่รู้ทันกี่คนก็ต้องว่ากันไป แต่ผมมีความมั่นใจว่า วันข้างหน้าประชาชนจะมองเห็นสัจธรรม และในที่สุดระบบทักษิณ อาจจะผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่วันข้างหน้าไม่ผ่าน
- อันนี้ในระยะยาวของคุณอภิสิทธิ์ที่มอง
๐ แต่ผมก็เรียนว่า เป็นเรื่องธรรมดาครับในระบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งของระบบทักษิณคือการเอาเปรียบ ผมก็พร้อมที่จะสู้
- คุณอภิสิทธิ์กำลังบอกว่า ถ้าเกิดการเลือกตั้ง 2 เมษา หากว่าไทยรักไทยชนะ ก็แปลว่าคนทั่วไปยังไม่รู้ทันคุณทักษิณอย่างนั้นหรือ?
๐ ผมก็บอกว่า คนก็ยังมีความเชื่อบางอย่าง
- คุณไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนหรือเปล่า
๐ ไม่ใช่ไม่เคารพนี่ครับ ผมก็ปล่อยให้คุณทักษิณบริหารไง แต่ผมก็มีสิทธิ์ที่จะพูดทำนายเอาไว้ล่วงหน้าว่า สังคมไทยกำลังจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ายังเชื่อในสิ่งที่อยู่ในความคิดของคุณทักษิณยัดเยียดให้พวกเรา ผมก็มีหน้าที่ที่จะสื่อความหมายออกไป เพราะฉะนั้นจะต้องดูแล้วว่าหลังจากวันนี้ไป โอกาสความเท่าเทียมกันในการเสนอข้อมูลข่าวสาร จริงไหม? การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม จริงไหม?
แต่ว่าก็ต้องขออนุญาตเรียน พูดตรงไปตรงมาเลย ความจริงคนจะลงเลือกตั้งไม่ควรจะพูดอยู่แล้วเรื่อง กกต. แต่ต้องบอกว่าสัญญานวันแรกไม่ดีเท่าไหร่ กกต.น่าจะรู้เรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับกรอบเวลาของผู้สมัครอะไรต่างๆ มันทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
- ไหนๆก็ไหนๆ ผมดูจากแถลงการณ์ที่พอดีอยู่ในมือ แต่สรุปสาระสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ ดูเหมือนว่าเลือกตั้งเร็ว เขาต้องการที่จะสื่อความหมายไปทำนองว่า ให้ได้รัฐบาลที่สมบูรณ์ ก่อนถึงเดือนมิถุนายน อันเป็นวันที่เฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี
๐ เห็นด้วยครับ แต่ว่าวันสมัคร คือมันไม่จำเป็นเนื่องจากมันมีกระบวนการของมันตามวันสมัคร คือ 7 วันในการร้องคัดค้านอะไรต่างๆ มันมีทางแก้ของมันได้ หลายเรื่องก็เป็นระเบียบ คือผมก็เรียนว่า จะรับลูกกันเป็นทอดๆ
- แต่ 37 วันก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ยอมรับตรงนี้นะ
๐ เวลานี้ถ้าบอกว่าอยากได้รัฐบาลเร็วผมก็ไม่ขัดข้อง อยู่ในกติกาก็ว่ากันไป
- คุณอภิสิทธิ์พร้อมที่จะเป็นนายก
๐ ผมยืนยันครับ และผมยืนยันด้วยว่า วันนี้ประเด็นที่พูดว่าเลือกนายกหรือเลือกระบบ เป็นเรื่องจริง และผมบอกเลยว่าผมพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของระบบที่มีความชอบธรรม ภายใต้กติกาสมัยใหม่ที่ทั่วโลกเขายอมรับ ผมจะไม่ยอมให้คนที่ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตัวตลกในสายตาของต่างชาติ ในสายตาของคนที่เขามีจิตใจเป็นประชาธิปไตย
- ซึ่งจะตรงกันข้ามกับทางโน้นที่บอกว่า มีคนเขาชื่นชม ก็ว่ากันไปครับ แต่สุดท้ายผมขอถามคุณอภิสิทธิ์ในแง่มุมที่คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องลงไปแข่งขัน ซึ่งแน่นอนล่ะ ผมคาดว่าพรรคการเมืองต่างๆคงจะตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ทัน ก็คงจะมี 4 พรรคนี้ที่แข่งขันกัน แล้วจะต้องไปจับขั้วอะไรกันไหมครับ
๐ ยังไม่มีการพูดกัน ก็ปรารภพูดคุยกันในฐานะที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาด้วยกัน แต่ว่าแต่ละพรรคก็จะไปประชุม
- รู้สึกอย่างไรครับที่มีคนมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งมาด้วยนโยบายแท้ๆของตัวเอง แล้วมาเป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์มักจะมาเมื่อเกิดการล่มสลายของคู่ต่อสู้ หรือเกิดวิกฤตทางการเมือง แล้วประชาธิปัตย์ก็เข้ามาเสียบ
๐ ผมขอเรียนว่า ผมเคยพูดประเด็นนี้เอง ปราศรัยหลายครั้ง และผมก็บอกว่า เดิมทีผมก็หวังนะครับว่า คราวหน้าซึ่งหมายถึงคราวนี้ ถ้าได้มีโอกาสอย่างนั้น แต่ก็ต้องยอมรับอีกว่าวันนี้ แม้กระทั่งคู่ต่อสู้ก็ยอมรับเสียเองว่า เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องตั้งปรกติ ก็เป็นเงื่อนไขที่คนอื่นสร้าง ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์สร้าง แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง ก็ต้องมีความพร้อม
- ถามคุณอภิสิทธิ์ รู้สึกอย่างไรว่า ประชาธิปัตย์คอยดูว่าเขามีปัญหากันแล้วก็ตัวเองมา มันมีคำสบประมาทแบบนี้
๐ คือมันไม่ใช่บอกว่าไปรอดูอะไร การเคลื่อนไหว การตัดสินใจของเราทุกเรื่อง มันมีคำอธิบาย เหมือนกับที่ผมอธิบายเมื่อสักครู่ เกี่ยวกับจุดยืนที่เรามีต่อพันธมิตร และท่าทีที่เราได้แสดงออกมาก็เท่านี้เอง
- ตกลงอันนี้ก็คือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากนี้ไปก็จะเข้าสู่กระบวนการของการแข่งขัน แล้วก็พยายามที่จะติดต่อหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรักษาการณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคชาติไทย หัวหน้าพรรคมหาชน หรือว่าจะมีพรรคไหน ถ้าเขาสามารถที่จะเข้าตามเงื่อนไขที่สามารถจะลงเลือกตั้งในเวลาที่ค่อนข้างจะจำกัด แต่คุณอภิสิทธิ์ก็ยอมรับในเรื่องของเงื่อนเวลา
๐ คือผมบอกว่า การมีรัฐบาลเร็วก็เป็นเรื่องที่ดี
- แล้วก็ต้องบอกกับคุณอภิสิทธิ์ครับว่า ผมเคารพในคุณอภิสิทธิ์ โดยให้สิทธิในการแสดงความเห็น แต่ว่าถ้าคุณอภิสิทธิ์จะไม่เชื่อใจ ไม่เคารพในการทำหน้าที่ของผมก็ไม่เป็นไรนะครับ ผมก็จะยังทำหน้าที่ดำเนินรายการอย่างตรงไปตรงมา
๐ ผมคิดว่าคุณสรยุทธ์อย่าไปคิดว่าสิ่งที่ผมถามคุณสรยุทธ์เป็นเรื่องส่วนตัวหรืออะไร คุณสรยุทธ์ควรจะดีใจด้วยซ้ำว่า อย่างนี้เราพูดกันได้ แปลว่าคุณสรยุทธ์ก็มีสถานะในการเป็นนักประชาธิปไตย แต่ว่าสิ่งที่ผมจำเป็นต้องถามเพราะว่า ถ้าผมไปพูดถึงคนอื่นมันก็ไม่เป็นธรรมสำหรับเขา และผมคิดว่า
- คือผมก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะชี้แจง และนี่คือ"ถึงลูกถึงคน"คืนวันนี้ครับ ท่านผู้ชมขอให้ใช้ดุลพินิจครับ จากนี้ไปก็ยังยืนยันนะครับว่าจะติดตาม เกาะติดการเมืองอย่างเป็นธรรมที่สุด เพื่อให้สังคมนี้เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งครับ วันนี้ขอบคุณคุณอภิสิทธิ์ และขอลากันตรงนี้ครับ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อันนี้มันเป็นตัวบ่งบอกว่าพื้นฐานของผู้นำประเทศ เชื่อจริงหรือเปล่าเรื่องของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณสรยุทธ์ ซึ่งเมื่อสักครู่บอกให้ผมพูดถึงความรู้สึก ผมบอกว่าวันนี้ผมไม่ได้กังวลถึงความเลือกตั้ง แต่ว่าผมติดใจคำพูดของคุณทักษิณเมื่อสักครู่ว่า วันนี้เป็นเรื่องของการเลือกระบบ แต่ว่ามันไม่ใช่กฎหมู่กฎหมายอย่างที่คุณทักษิณพูด เพราะว่าคนที่เข้าไปแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ก็เป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในระบบทั้งนั้น แต่ระบบที่ต้องเลือกวันนี้ก็คือว่า "ระบบทักษิณ"หรือว่า"ระบบประชาธิปไตย"ตามเจตนารมย์เดิมของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด