The Midnight University
อนุสติเรื่องน้ำมัน
กับ ปัญหาความยากจน
มหาอำนาจ
น้ำมัน ตลาด และความวอดวายของคนจน
กรรณิการ์
กิจติเวชกุล
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการอิสระ และ นักแปลอิสระ
หมายเหตุ
บทความวิชาการ ๒ ชิ้นต่อไปนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศมหาอำนาจ
ซึ่งพยายามค้นหาแหล่งพลังงานน้ำมันใหม่ๆ
และการเจรจาการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรมต่อบรรดาประเทศยากจน
ทางกองบรรณาธิการพิจารณาว่า
บทความทั้งคู่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน
ในประเด็นเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบประเทศโลกที่สาม จึงได้นำเสนอตามลำดับดังนี้
๑. เคน ซารา-วิโว
อนุสติเรื่องน้ำมัน และ
๒. การเข้าถึงตลาด คือคำตอบต่อปัญหาความยากจน?
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 843
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7.5 หน้ากระดาษ A4)
ภาพจาก www.kensarowiwa.com
น้ำมันเหนือชีวิต
เคน ซารา-วิโว และพวกอีก 8 คน ไม่ได้เป็นวีรบุรุษเฉพาะของชาวโอกานิ แต่เขาเป็นวีรบุรุษสามัญชนของโลก
โดยเฉพาะในหมู่ชนที่หาญกล้าลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิด มีการรำลึกถึง
เคน ซารา-วิโว และพวก มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก จากอินเดียถึงไอร์แลนด์ จากปากีสถาน
บังคลาเทศ ถึง อังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เคน ซารา-วิโว และเพื่อน ๆ ของเขามาจากดินแดนโอกานิในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ประเทศไนจีเรีย คงจะเป็นโชคร้ายของดินแดนนี้ที่ ราวทศวรรษ 50, เชลล์ บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาขุดพบว่า มันเป็นแหล่งน้ำมันดิบสำรองขนาดใหญ่ ซึ่งอาจสูงถึงราว 10% ของโลก ทำให้ไนจีเรียเป็นประเทศแอฟริกาที่ส่งออกน้ำมันดิบสู่สหรัฐมากที่สุด สามารถสร้างรายได้กับประเทศกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่บริษัทน้ำมันต่างชาติและรัฐบาลเผด็จการทหารของไนจีเรียร่ำรวยจากน้ำมันที่ขุดไปจากดินแดนของชาวโอกานิ มหาเศรษฐีของไนจีเรียต่างมีอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่โต รวมถึงบัญชีเงินฝากจำนวนมหาศาลในธนาคารใหญ่ ๆ ของโลกทั้งสิ้น ชุมชนชาวโอกานิกลับยากจนลง ไม่มีแม้แต่สาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งการรักษาพยาบาล หรือกระทั่งน้ำสะอาด
เคน ซารา-วิโว นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ร่วมมือกับชาวโอกานิ จัดการเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อต้านบริษัทเชลล์ ในเดือนมกราคม 2536 มีชาวโอกานิมาร่วมมากกว่า 300,000 คน
"การเดินรณรงค์ครั้งนี้เพื่อต่อต้านกับการทำลายล้างด้านสิ่งแวดล้อม
เป็นการต่อต้านการแย่งชิงทรัพยากรที่ไม่จ่ายแม้แต่ค่ารอยัลตี้(ค่าสัมปทาน)ให้กับชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของ
เป็นการต่อต้านเชลล์และเป็นการต่อต้านรัฐบาลกลางของไนจีเรีย ซึ่งทั้งสองสมคบกันทำลายชาวโอกานิ"
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ความลำบากยากแค้น จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรของชาวโอกานิเป็นที่ประจักษ์ในสายตาโลก
เคน ซารา-วิโว และพวกถูกรัฐบาลไนจีเรียข่มขู่ ทำร้าย และจับกุมคุมขังอยู่หลายครั้ง
จนในที่สุดก็ส่งพวกเขาเข้าสู่การพิจารณาของศาลพิเศษและพิพากษาประหารชีวิต ด้วยการแขวนคอในข้อหาที่ถูกใส่ร้ายว่าฆ่าคนตาย รัฐบาลอังกฤษของนายจอห์น เมเจอร์ ในขณะนั้นประณามการพิพากษาครั้งนั้นว่า "การฆาตกรรมด้วยกระบวนการยุติธรรม" และขับไนจีเรียออกจากประเทศในเครือจักรภพ
ฝันร้ายของไนจีเรีย
หลังความตายของ เคน ซารา-วิโว
10 ปีหลังจาก เคน ซารา-วิโว และเพื่อน ๆ จากไปอย่างอยุติธรรม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์
น้ำมันดิบยังคงเป็นคำสาป ชุมชนโอกานิยังถูกขังลืมอยู่ในวัฏจักรของความยากจน
คนไม่มีงานทำ สภาพแวดล้อมถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีจนไม่สามารถทำการเกษตรและประมงได้เลย
ไม่มีความยุติธรรมในสังคม ขณะที่ความรุนแรงมีแต่จะทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว
ล่าสุด รายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กองกำลังทหารไนจีเรียได้สาดกระสุนเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วงคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันของ เชฟรอน บรรษัทน้ำมันของสหรัฐ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 1 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย
ไม่แปลก ที่การต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีของเคน ซารา-วิโว จะเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการก่อวินาศกรรม จับอาวุธขึ้นสู้กับกองกำลังของรัฐบาลกลาง และ กองกำลังรักษาความปลอดภัย ของแหล่งขุดเจาะน้ำมันและท่อน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ จนนักวิเคราะห์หลายรายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ไนจีเรียกำลังจะเป็นอ่าวเปอร์เซีย 2 หรือไม่
ในอดีต เวเนซูเอล่า เคยเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ แต่เมื่อประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวช ขึ้นสู่ตำแหน่งและประกาศไม่ยอมก้มหัวให้สหรัฐฯ การหาแหล่งน้ำมันใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่ง จากการประมาณการล่าสุด ชี้ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สหรัฐฯจะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากแอฟริกามากถึง 25-30% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไนจีเรียและแอฟริกาตะวันตก และยิ่งต้องเผชิญกับปัญหาการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก การจะฮุบแหล่งน้ำมันเหล่านั้นก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉะนั้นยุทธศาสตร์ของสหรัฐจะต้องหาทางกระจายการพึ่งพิงแหล่งน้ำมันให้มากที่สุด
มูลนิธิเฮอร์ริเธท สถาบันอเมริกันเอนเตอร์ไพรส์ และศูนย์ศึกษาเพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นขุมความคิดของนีโอ-คอนในรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอแนวความคิดให้ อ่าวกินีทางแอฟริกาตะวันตก เป็น "อ่าวต่อไป" (the Next Gulf) เพื่อคานน้ำหนักกับอ่าวเปอร์เซีย โดยที่ไนจีเรียจะเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่สำคัญของสหรัฐฯ ไม่ว่าชุมชนลุ่มน้ำไนเจอร์จะพอใจหรือไม่ก็ตาม
เป็นเพียงแค่แหล่งน้ำมันดิบ
ไม่เพียงน้ำมันดิบของไนจีเรียเท่านั้น บริษัทเชฟรอนของสหรัฐ ระบุว่า ก๊าซธรรมชาติของไนจีเรียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐ
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สหรัฐต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์กับแอฟริกา
"การเสริมสร้างความสัมพันธ์" ที่ว่านั้นคืออะไร ? สหรัฐเพิ่มกองกำลังเข้าไปในประเทศไนจีเรียอย่างลับ ๆ เรื่องแดงออกมาเมื่อมีชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อไม่นานมานี้ หลังการสืบทราบพบว่า เขาเป็นนายทหารอเมริกันที่ถูกส่งเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับ "ยูคอม" กองกำลังร่วมสหรัฐและสหภาพยุโรปในไนจีเรีย เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับกองกำลังสหรัฐและรัฐบาลไนจีเรีย
"ชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่การเพิ่มกองกำลัง แต่มันเป็นการเพิ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพไนจีเรียด้วย" นี่คือความวิตกกังวลของแพทริค นัคบันตอน ผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำไนเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
เลดัม มิตี ประธานกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความอยู่รอดของชาวโอกานิ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยนำโดย เคน ซารา-วิโว กล่าวว่า "นโยบายของสหรัฐฯก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับอ่าวเปอร์เซียในตะวันออกกลาง ดังนั้น เมื่อสหรัฐฯหันมาจับจ้องที่อ่าวกินี จุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่อยู่ที่น้ำมันเป็นศูนย์กลาง ความเลวร้ายจะเกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะมันยากมากที่จะขุดเจาะน้ำมันสักบาร์เรลโดยที่ไม่สูญเสียชีวิต"
อนุสติเตือนใจ
ก่อนน้ำมันโลกขึ้นราคา
10 ปีให้หลังการจากไปของ เคน ซารา-วิโว และเพื่อน ๆ ลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ไม่เพียงไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
แต่จะยิ่งเลวร้ายในอัตราเร่ง เมื่อการแย่งชิงทรัพยากรและความโลภยังคงเป็นสรณะของมนุษย์.
ปัญหานี้ ส่งผลให้รัฐบาลไนจีเรียไม่สามารถอยู่นิ่งได้ แต่ความใหญ่โตของปัญหาทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองกำลังรัฐบาลก็ได้ปะทะกับกองกำลังติดอาวุธของชนเผ่าต่าง ๆ กว่า 2,000 คน ที่อยากมีสิทธิในการปกครองตนเอง (และแน่นอนคือสิทธิในการครองแหล่งน้ำมันดิบ) ที่ได้เข้าไปยึดเมือง Port Harcourt ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทน้ำมันข้ามชาติหลายแห่ง
ชนเผ่าเหล่านี้ อาศัยรายได้มาจากการลักลอบขโมยน้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมัน ซึ่งกระทำโดยคนที่เคยทำงานกับบริษัทน้ำมันเหล่านั้นมาก่อน การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน และบางครั้งก็ทำการลักพาตัวผู้บริหารในบริษัทน้ำมันระดับสูง เพื่อเรียกค่าไถ่ และนำรายได้ส่วนใหญ่ มาใช้เป็นทุนสนับสนุนเพื่อเรียกร้องเอกราชของตนเอง
หากปัญหาของไนจีเรียไม่สามารถยุติลงได้ในเร็ววัน ผลที่จะตามมาคือ การล้มตายของผู้คน ซึ่งคาดกันว่าได้เสียชีวิตไปแล้วนับพันคน และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก ที่จะต้องหดหายไปวันละกว่า 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นส่วนที่ไนจีเรียสามารถผลิตได้
2. การเข้าถึงตลาด"
คือคำตอบต่อปัญหาความยากจน?
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก Mark Engler, "Is Market Access
the Answer to Poverty?"
http://www.tompaine.com/articles/20051214/hong_kong_phooey.php
http://www.democracyuprising.com
ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการประชุมองค์การการค้าโลกในฮ่องกงเมื่อครั้งที่ผ่านมา
แขวนอยู่กับประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ ความเต็มใจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป
ที่จะปฏิบัติตามโวหาร "การค้าเสรี" ที่ตนเองเทศนาแก่ผู้อื่น และยอมตัดเงินอุดหนุนภาคการเกษตร
ซึ่งสูงถึงวันละเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเหล่านี้พร่ำพูดเรื่องคุณความดีของการเปิดตลาดแก่ประเทศยากจน
แต่ตัวเองกลับมีนโยบายปากว่าตาขยิบที่สุด
การเจรจาจะถือว่าสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม คำถามสำคัญที่ผู้วิจารณ์ระบบโลกาภิวัตน์บรรษัท (corporate globalization) ทั้งในโลกที่หนึ่งและซีกโลกใต้ สมควรตั้งคำถามอย่างยิ่งก็คือ "การเข้าถึงตลาด" (market access) เป็นคำตอบต่อการแก้ปัญหาความยากจนจริง ๆ หรือ?
รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้ชัยชนะในการคัดค้านข้อตกลงการค้าด้านเดียวในแคนคูนเมื่อปี ค.ศ. 2003 ต้องผลักดันอย่างหนักในฮ่องกง เพื่อให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกายอมลดการให้ทุนอุดหนุนทางด้านเกษตรกรรมลงบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลบุชไม่เต็มใจทำมาตลอด สถาบันอย่างธนาคารโลกและหนังสือพิมพ์ The New York Times ปวารณาตัวสนับสนุนประเทศยากจนโดยอ้างว่า การเข้าถึงตลาดในโลกที่หนึ่งเป็นหลักชัยของการพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน
ข้ออ้างนี้ทำให้ผู้ที่วิจารณ์ "ตลาดเสรี" ทั่วโลกเกิดความกระอักกระอ่วนใจ แน่นอน ทุนอุดหนุนภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบ แต่การยกเลิกทุนอุดหนุนเหล่านี้เป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจริงหรือ? การสนับสนุนเป้าหมายเดียวกันกับคนอย่างพอล วูลโฟวิทซ์ ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน เป็นสิ่งที่พึงระแวงระวังหรือไม่?
ในอดีต คำถามเรื่องการเข้าถึงตลาดเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้ว ในปี ค.ศ. 2002 OXFAM องค์กรต่อต้านความยากจนระดับหัวแถว ออกรายงานในชื่อว่า "Rigged Rules and Double Standards" และดำเนินการรณรงค์ในแคมเปญชื่อ "Make Trade Fair" ในรายงานฉบับนี้นำเสนอข้อแนะนำมากมายเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนา แต่เมื่อเผยแพร่เอกสารนี้ทางสื่อมวลชน ประเด็นเรื่องการเข้าถึงตลาดกลับกลายเป็นประเด็นหลัก OXFAM ประสานเสียงให้โวหารของธนาคารโลกโดยอ้างว่า "เพื่อ [ให้] กลไก [ของการค้า] ทำงาน ประเทศยากจนจำเป็นต้องมีช่องทางเข้าถึงตลาดของประเทศร่ำรวย การเข้าถึงตลาดได้มากขึ้นสามารถช่วยให้ประเทศยากจนเหล่านี้เร่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นการขยายโอกาสให้คนยากจนด้วย"
OXFAM จุดชนวนวิวาทะขึ้นมาโพลงใหญ่ ด้วยการวาดภาพกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางอื่นว่าเป็น "โลกาภิวัตน์โฟเบีย" (globophobes) ตัวแทนของขบวนการสังคมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักวิจารณ์จุดยืนทางการค้าของชนชั้นนำในรัฐบาลของตน เป็นกลุ่มแรกที่ออกมาตอบโต้ วอลเดน เบลโล ผู้อำนวยการองค์การ Focus on the Global South วิจารณ์ OXFAM ว่า "นี่เป็นการวาดการ์ตูนล้อเลียน [ผู้วิจารณ์การค้าเสรี] อย่างตื้นเขินที่สุดพอ ๆ กับนิตยสาร Economist"
นับว่ายังดีที่ในภายหลัง OXFAM ยอมถอนคำวิจารณ์ที่สาดใส่พันธมิตรในขบวนการโลกาภิวัตน์อย่างไม่มีเหตุผล และในระยะหลัง OXFAM เองก็ลดเสียงเรียกร้องเรื่องการเข้าถึงตลาดลง หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการต้านทานการบุกรุกของโลกาภิวัตน์บรรษัทที่เข้ามาย่ำยีประเทศยากจน
มีเหตุผลอันดีที่เราไม่ควรโดดขึ้นขบวนสนับสนุน "การค้าเสรี" และการยุติเงินอุดหนุนอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง ประการแรก ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนการส่งออกสินค้าเกษตรจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ "หลุดพ้นจากความยากจน" เหมือนที่ฝ่ายการค้าเสรีอ้างไว้ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
หลายประเทศที่พึ่งพิงการพัฒนาแบบเน้นการส่งออก ต้องประสบความเสียหาย เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ อันเป็นปัญหาที่เกิดมาจากอุปทานล้นเกิน ดังที่รายงานฉบับหนึ่งของ OXFAM ในปี 1992 เรื่อง The Trade Trap ระบุไว้ว่า "กลุ่มประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ เช่น กาแฟ, น้ำตาลหรือฝ้าย ติดอยู่ในกับดัก: ยิ่งผลิตมาก ราคาก็ยิ่งตกต่ำ"
การยุติเงินทุนอุดหนุนจำนวนมหาศาล อาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้โลกที่หนึ่งไม่สามารถ "ทุ่มตลาด" ด้วยสินค้าราคาต่ำจนบิดเบือนราคาในตลาดโลก แต่มันก็ไม่ได้ช่วยมากสักเท่าไร ต่อให้สหรัฐฯ, ยุโรปและญี่ปุ่น ยอมยกเลิกการสนับสนุนโดยสิ้นเชิงก็ตาม-ซึ่งความจริงก็เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองอยู่แล้ว
นักวิชาการที่สนับสนุนการค้าอย่าง Nancy Birdsall รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Dani Rodrik และ Arvind Subramanian เขียนไว้ในบทความที่เพิ่งตีพิมพ์ใน Foreign Affairs ว่า จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำนายว่า "ราคาตลาดโลกจะขึ้นมาเพียง 2-8% สำหรับข้าว, น้ำตาลและข้าวสาลี 4% สำหรับฝ้าย และ 7% สำหรับเนื้อวัว ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีของราคาสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลก จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยทีละบวกหนึ่งเท่านั้น"
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความไม่แน่นอนของตลาดส่งออกสินค้าเกษตร จะยังคงเป็นยาพิษสำหรับเกษตรกรยากจนที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นกัน คำทำนายที่มองโลกในแง่ดีที่สุดของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัว 100 ดอลลาร์ ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นแค่ 60 เซนต์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการค้า ดังนั้น ตลาดเสรีจึงแทบไม่ใช่ยาครอบจักรวาลสำหรับการพัฒนาเลย
เกษตรกรรายย่อยอยู่ในสถานะเสียเปรียบที่สุด ที่จะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปิดเสรี ในขณะที่พ่อค้าคนกลางต่างหากที่จะสูบผลกำไรไป เมื่อต้องแข่งขันกับบรรษัทธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ที่ครอบงำตลาด และมีอิทธิพลทางการเมือง (ยังไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการมีเทคโนโลยีเก็บรักษาผลผลิตไว้เมื่อราคาต่ำ) สุดท้ายผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้ย่อมพบว่า ตนเองต้องเล่นเกมที่กรรมการขี้โกงตลอดเวลา
ยิ่งกว่านั้น ดังที่นักเศรษฐศาสตร์แม้แต่สายเสรีนิยมอย่าง ดีน เบเกอร์ ไปจนถึงสตีเฟน โรช แห่งมอร์แกน สแตนลีย์ ชี้ให้เห็นว่า การที่สหรัฐอเมริกายังดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่ยั่งยืน และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเช่นนี้ เงินดอลลาร์ที่มีมูลค่าเกินจริงย่อมดิ่งหัวลงภายในไม่กี่ปีนี้ค่อนข้างแน่นอน นี่หมายความว่าตลาดนำเข้าของสหรัฐฯ ย่อมหดตัวลง ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนการแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ย่อมต้องแข่งขันชิงดีกันอย่างดุเดือด เพื่อแก่งแย่งส่วนแบ่งตลาดที่หดเล็กลง
กล่าวในทางการเมืองแล้ว การคล้อยตามธนาคารโลกและ นิวยอร์กไทมส์ โดยมุ่งเน้นแต่การเข้าถึงตลาด เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นไปจากนโยบายทางเลือกอื่น ที่อาจช่วยผู้ผลิตรายย่อยโดยตรงได้มากขึ้น กล่าวคือ ทางออกที่ขบวนการสังคมในซีกโลกใต้พยายามรณรงค์กันในขณะนี้ นั่นคือ การใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดเพื่อลดทอนอำนาจของธุรกิจการเกษตร การกดดันให้มีการปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค และรักษาเงื่อนไขระหว่างประเทศที่ส่งเสริม "การอนุเคราะห์เป็นพิเศษ" เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนที่ประชากรตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย สามารถสร้างหลักประกันด้านอาหารให้แก่ประชาชนของตนได้
ต่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถกดดันจนประเทศพัฒนาแล้วยกเลิกการให้ทุนอุดหนุนด้านการเกษตร แต่การเข้าถึงตลาดก็มีราคาที่ต้องจ่ายออกไป เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ประเทศร่ำรวยย่อมเรียกร้องให้คู่ค้าเปิดประเทศในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ กดดันให้ประเทศยากจนต้องแปรรูปสาธารณูปโภค อาทิเช่น น้ำและไฟฟ้า รวมทั้งสร้างข้อจำกัดไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาคุ้มครองอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของตน
ข้อตกลงใน WTO ยังหมายถึงการตัดลดตาข่ายรองรับทางสังคมของรัฐบาลลง ซึ่งเคยช่วยคุ้มครองเกษตรกรจากภาวะเอาแน่นอนไม่ได้ของตลาดโลก การสนับสนุนโลกาภิวัตน์ของบรรษัทไม่ใช่ราคาที่ประเทศกำลังพัฒนาพึงต้องจ่าย เพื่อยุติความหน้าไหว้หลังหลอกของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ในท้ายที่สุด คนจนจะยังคงเป็นผู้แพ้ต่อไป ตราบที่ระบบเศรษฐกิจ "การค้าเสรี" ยังก้าวไปข้างหน้า เมื่อดูจากความเป็นจริงข้อนี้ "การเจรจาการค้าที่ล้มเหลว ย่อมดีกว่าข้อตกลงการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่อำพรางตัวเองว่าเป็นการพัฒนา"
(Mark Engler เป็นนักเขียนในนิวยอร์กซิตี เป็นนักวิเคราะห์ในกลุ่ม Foreign Policy in Focus มีเว็บไซท์ http://www.democracyuprising.com Kate Griffiths เป็นผู้ช่วยวิจัยเพื่อเขียนงานชิ้นนี้)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เคน ซารา-วิโว นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ร่วมมือกับชาวโอกานิ จัดการเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อต้านบริษัทเชลล์ ในเดือนมกราคม 2536 มีชาวโอกานิมาร่วมมากกว่า 300,000 คน"การเดินรณรงค์ครั้งนี้เพื่อต่อต้านกับการทำลายล้างด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการต่อต้านการแย่งชิงทรัพยากรที่ไม่จ่ายแม้แต่ค่ารอยัลตี้(ค่าสัมปทาน)ให้กับชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของ เป็นการต่อต้านเชลล์และรัฐบาลกลางของไนจีเรีย ซึ่งทั้งสองสมคบกันทำลายชาวโอกานิ" หลังจากที่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้ความลำบากยากแค้น จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรของชาวโอกานิเป็นที่ประจักษ์ในสายตาโลก เคน ซารา-วิโว และพวกถูกรัฐบาลไนจีเรียข่มขู่ ทำร้าย และจับกุมคุมขังอยู่หลายครั้ง