นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


กรุณาคลิกที่แบนเนอร์เพื่ออ่านแถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


The Midnight University




ฐานความรู้เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป (๖)
วิพากษ์ยับกรณีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลเจ้ารัฐบาล

หมายเหตุ
ข้อมูลในหน้านี้รวบรวมมาจากประชาไทออนไลน์ และหนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
อันหน้าอดสูอีกหน้าหนึ่งของชีวประวัติการเมืองไทย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 839
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณษคำฟ้อง ๒๗ สว.

รวบรวมโดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. วิพากษ์ยับ 'ศาลรัฐธรรมนูญ'
ประชาไท - 17 ก.พ. 49
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับพิจารณาความผิดการขายหุ้นของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209 ด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 เสียง ไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ 28 ส.ว.โดยอ้างว่า ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจน ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของตุลาการ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากคำตัดสิน

นักวิชาการ อดีตตุลาการ หวั่นคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ ปลุกการเคลื่อนไหวนอกระบบ
นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแสดงความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับพิจารณาความผิดการขายหุ้นของนายกรัฐมนตรีว่า หากพิจารณาจากข้อมูลการส่อทุจริตที่ปรากฎในสังคม และเปรียบเทียบกรณีการรับพิจารณาความผิดมาตรา 208 ของ 10 รัฐมนตรีที่เข้าเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบริษัทเอกชนเมื่อปี 2544 น่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณากรณีนี้ จึงมองว่าการไม่พิจารณาแสดงถึงการถูกปิดกั้นกลไกตามรัฐธรรมนูญ และอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวนอกระบบมากขึ้น เพราะทั้งฝ่ายร้องและผู้ถูกร้องขาดโอกาสชี้แจง ขณะที่ประชาชนก็ไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง

"การชี้แจงในศาลมันก็ดี ดีในแง่ที่ว่าประชาชนจะได้ฟังว่าอะไรกันแน่ แต่เมื่อมันไม่มีโอกาสอย่างนี้แล้วนี่ ก็ยังค้างคาใจ ประชาชนก็ยังค้างคาใจอยู่ว่าตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ แล้วก็ฝ่ายที่เชื่อว่าไม่มีอะไร ตรงไปตรงมาก็จะมีอิทธิพลมากขึ้น สามารถขยายฐานได้มากขึ้น คนก็เชื่อมากขึ้นว่ามันคงมีอะไรไม่ชอบมาพากล" นายสุจิต กล่าว

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อไปว่า การรับพิจารณาคำร้องหรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาจากมาตรฐานเดียวกัน คือ เจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อการตรวจสอบกรณีนี้ไม่สามารถใช้กระบวนการทางศาลได้ จึงเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้ ส.ส.พรรครัฐบาล ร่วมลงชื่อกับฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชัดเจนในหลายข้อสงสัยให้กับสังคม

ด้าน นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า "หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัย น่าจะทำให้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีการชี้แจงทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นหัวใจของการพิจารณาคดีได้ปรากฏต่อสาธารณะ ดีกว่าที่ให้ฝ่ายใดขึ้นเวทีเอาข้อเท็จจริงซึ่งถูกโต้แย้งเสมอว่า จริงครึ่งเดียวบ้าง คิดเอาเองบ้าง ซึ่งสภาวการณ์อย่างนี้ทำให้สังคมไทยเดินไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง"

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า "เรื่องดังกล่าวในทางกฎหมายอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะรับไว้โดยไม่ต้องกังขาใดๆทั้งสิ้น เรื่องดังกล่าวไม่ใช่คำร้องตามปรกติ แต่เป็นคำร้องที่องค์กรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ คือสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ได้เข้าชื่อกันอย่างถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบโดยวุฒิสภาแล้ว เมื่อดูเนื้อหาคำร้องไม่ปรากกฎว่ามีข้อสงสัยใดๆ ที่จะไม่เข้าใจว่าผู้ร้องว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ ทั้งคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว"

"ผมรู้สึกผิดหวังมากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ แม้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งที่เห็นได้ว่าความรุนแรงของการวินิจฉัยว่าไม่รับเรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร ความขัดแย้งที่มีอยู่จะสูงมากขึ้น ผมคิดว่าฝ่ายที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง จะผลักดันให้เกิดการเผชิญหน้าต่อไป ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเป็นคำวินิจฉัยที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ผมคิดว่ามีเหตุที่ยืนยันในทางกฎหมายว่าคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเป็นคำวินิจฉัยที่น่าจะไม่ชอบด้วยเหตุผล และตรรกะทางกฎหมายหลายประการ"

ส่วนเรื่องทางออกในกรณีดังกล่าวนั้น นายสุรพล กล่าวว่า ทางออกในเรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะมีอยู่น้อยมาก การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินการอยู่นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและรอ ป.ป.ช.อีกนานและจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยบานปลายออกไปเรื่อยๆ จำนวนคนซึ่งสนับสนุนและคัดค้านทั้ง 2 ด้านจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก และความรุนแรงดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนไทยปรารถนาจะเห็น กระบวนการอย่างอื่นสุดท้ายจะไม่มีการตัดสินให้จบสิ้นได้ หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าตนเองทำถูกต้องแล้ว และยืนยันจะดำรงตำแหน่งต่อไป รวมทั้งมีคนสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่อีกฝ่ายหากเห็นว่าจำเป็นต้องถอดถอนก็จะดำเนินการต่อไป กระบวนการทั้ง 2 ด้านถูกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฝ่ายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องชัดเจน วิธีที่ดีที่สุดคือรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตนยังไม่เห็นทางออกอื่นที่จะนำสังคมไทยออกจากวังวนแห่งความขัดแย้งได้ คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าระบบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพึ่งพา ไม่สามารถระงับปัญหาของสังคมได้อีกต่อไป

28 ส.ว.ตั้งหลักสู้ต่อ ด้านวิปฝ่ายค้านโดดร่วมวง
ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. หนึ่งใน 28 ส.ว. ที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กล่าวว่า ศาลมีหน้าที่รับเรื่องไว้พิจารณา ตรงไหนไม่ชัดเจนก็ควรจะเรียกผู้ร้องไปสอบถามเพิ่มเติมได้ ผมยืนยันว่าเนื้อหาคำร้องเขียนไว้ชัดเจน ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปนั้นทาง 28 ส.ว.จะขอหารือกันก่อนดำเนินการต่อไป

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อสังคมยังกังขาถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของนายก วิปฝ่ายค้าน จึงมีมติออกมาคือ เราจะสนับสนุนเรื่องนี้จนกว่าจะเข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยจะประสานข้อมูลจาก 27 ส.ว. และหากจำเป็น เราจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง เพราะเรื่องนี้ถือว่าเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ และเป็นการพิสูจน์แนวทางการปฎิรูปทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

ภาคประชาชนเตรียมเคลื่อนไหวนอกสภา
ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย นายแพทย์เหวง โตจิราการได้นำพวงหรีดดำไปวางไว้ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการประท้วงหลังมีคำตัดสินไม่รับคำร้องของ 28 ส.ว. พร้อมระบุว่าจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนลาออก

น.พ.เหวง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบ ข้ออ้างของ 8 ตุลาการที่ว่าไม่มีหลักฐานนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะคำร้องของ 28 ส.ว.ยื่นมาชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม ไม่ใช่รอให้ ส.ว.หาหลักฐานไปให้ครบทั้งหมด แล้วจะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม

"การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นนั้น เพียงแค่คำให้สัมภาษณ์ของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายกรัฐมนตรีที่ว่า การขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แค่นี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านายกฯเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น" นพ.เหวง กล่าว

นายบำรุง คะโยธา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ในฐานะประชาชนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังคงแสดงจุดยืนว่า จะเคลื่อนไหวอย่างสันติต่อไป โดยแต่ละเครือข่ายจะเปิดเวทีให้ข้อมูลข่าวสาร กระจายให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าพวกเราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจะพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ด้าน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง แกนนำเครือข่ายประชาชนขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนต่างคาดหวังกับศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อำนาจรับเข้าครอบงำองค์กรอิสระแบบเบ็ดเสร็จ ที่ผ่านมาเราก็พูดตลอดว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาก็มีการแทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระครั้งแล้วครั้งเล่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจในมือ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะยิ่งกระตุ้นประชาชนให้เคลื่อนไหวนอกสภามากขึ้น และต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันว่าองค์กรอิสระจะไม่ถูกครอบงำอีก เพราะในพ.ศ.นี้ จะหวังพึ่งคนในระบบคงจะยาก

ขณะที่ นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกมาเปิดเผยว่า องค์กรภาคประชาชน(NGO) จะเดินหน้าตรวจสอบการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป โดยจะร่วมกับพันธมิตรอีก 5 องค์กรเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกรณีซุกหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN) ต่อกองปราบปราม ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.

"เรามีมาตรการเสริมที่จะชี้ให้เห็นถึงความผิดในการซุกหุ้น(SHIN) ผมไม่สนใจผลวันนี้ แต่สิ่งที่จะทำต่อไปจะชี้ให้เห็นว่า มีการแทรกแซงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาคนทั่วไปก็รู้แต่ไม่มีใครกล้าไปแจ้งดำเนินคดี" นายวีระ กล่าว

2. 27ส.ว.ข้องใจหลักการศาลรธน. ยุติยื่นซุกหุ้น2 ชัยอนันต์ชี้เหมือนยุคมาร์กอส
แฉระดับนำ รีดสุวรรณภูมิ 6พันล้าน ตุลาการข้างมากยันไม่ลาออก
27 ส.ว.มีมติหยุดเคลื่อนไหว ไม่ยื่นศาล รธน.ซ้ำอีก ปมซุกหุ้นภาค 2 เพราะหมดหวังแล้ว ไม่วายข้องใจหลักการของศาล ยกกรณี รมต.ยุค ปชป.โดนร้อง ศาลยังรับคำร้องไว้และพิจารณาถึง 14 นัด ตุลาการข้างมากลอยหน้าถามลาออกเพื่ออะไร นักวิชาการยังดาหน้าถล่ม ซัดปิดหนทางดับความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ผลักไสให้คนออกไปชุมนุมมากขึ้น "ชัยอนันต์"ระบุคล้ายฟิลิปปินส์ยุค"มาร์กอส" ทีดีอาร์ไอชี้การเมืองยุคไร้ยางอาย

27ส.ว.ยุติซุกหุ้น 2 - ไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญซ้ำ
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 เสียง ไม่รับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 27 คน ที่เข้าชื่อกันเพื่อขอให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 96, 216 และ 209 หรือไม่นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่อาคารรัฐสภา 2 นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. พร้อมคณะรวม 27 คน ได้เข้าหารือร่วมกันภายในห้อง 114 เพื่อกำหนดท่าทีการดำเนินการหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยใช้เวลาหารือนาน 4 ชั่วโมง จากนั้นนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. นายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา นายวิญญู อุฬารกุล ส.ว.สกลนคร นายนิวัฒน์ พ้นชั่ว ส.ว.ระยอง นายพรหมจารี รัตนเศรษฐ ส.ว.นครราชสีมา นายมนตรี สินทวิชัย ส.ว.สมุทรสงคราม ร่วมกันแถลงข่าว

นายแก้วสรรแถลงว่า ที่ประชุมใช้เวลานานในการพิจารณาเรื่องนี้ และมีมติร่วมกันว่า เห็นควรยุติการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเปิดช่องให้ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องใหม่ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีข้อมูลแสดงถึงพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องเพียงพอก็ตาม แต่คณะผู้ร้องได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วเห็นว่า ช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้เป็นไปไม่ได้ จึงเห็นควรยุติการใช้สิทธินี้

ยังข้องใจมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ
"อย่างไรก็ตาม คณะผู้ร้องขอยืนยันว่า การใช้สิทธิครั้งนี้ถูกต้องและสอดคล้องตามหลักเกณฑ์และกติกา ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญและแนววินิจฉัยที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งตามแนวปฏิบัติก็ต้องรับไปแล้วเรียกหลักฐาน หรือนายกฯมาชี้แจง ที่สำคัญพวกผมกระทำโดยสุจริตเพื่อมุ่งแก้ไขความขัดแย้ง และวิกฤตของบ้านเมืองตามครรลองประชาธิปไตย วันนี้ถือว่าการดำเนินการในนามคณะ 27 ส.ว. ยุติลงแล้ว ส่วน ส.ว.คนใดจะเคลื่อนไหวอย่างไร ถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคลที่สามารถทำได้" นายแก้วสรรกล่าว

นายแก้วสรรกล่าวว่า คำร้องของคณะ 27 ส.ว. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิเสธคำร้อง หากเปรียบเทียบกับกรณีที่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2544 ถูกร้องเรียนให้วินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องนี้ไว้ และใช้เวลาพิจารณาถึง 14 นัด ขณะที่คำร้องของคณะ 27 ส.ว.ครั้งนี้กลับถูกปฏิเสธ ซึ่งต้องถามศาลรัฐธรรมนูญถึงหลักการรับวินิจฉัยคำร้อง

เมื่อถามว่ามีการประเมินการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายแก้วสรร กล่าวว่า ต้องเคารพเสียงข้างมาก แต่ขณะเดียวกัน ต้องให้เสรีภาพกับเสียงข้างน้อย ถ้ามีเหตุผลในอนาคต เสียงข้างน้อยก็กลายมาเป็นเสียงข้างมากได้ แต่เสียงข้างน้อยไม่มีสิทธิไปด่าเสียงข้างมาก และเสียงข้างมากก็ไม่มีสิทธิไปปิดปากเสียงข้างน้อย หากจะด่ากันต้องถอดสูท ส.ว.แล้วขึ้นเวที

"พจมาน"ประคอง"แม้ว"เจ็บเข่า
ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ไม่ยอมตอบข้อถามผู้สื่อข่าวเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว.ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีอาการเดินกะเผลก โดยระบุว่าเอ็นหัวเข่าอักเสบ

จากนั้น ในเวลา 13.30 น. พล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานให้แพทย์ประจำตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณจากโรงพยาบาลพระราม 9 ให้มาตรวจอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า โดยแพทย์ระบุว่า สะบ้าเอ็นข้อเข่าของ พ.ต.ท. ทักษิณอักเสบ และได้ใช้ผ้าพันให้แล้ว กระทั่งเวลา 14.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางออกจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบ เพื่อไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีต้อนรับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและภริยา อย่างเป็นทางการ ที่กองบัญชาการ กองทัพอากาศ โดยมีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นผู้ประคองขึ้นรถ

ไทยรักไทยขู่ขับ 27 ส.ว. ถ้าไม่ยุติเคลื่อนไหว
ที่ จ.สกลนคร นายสาคร พรหมภักดี ส.ส.สกลนคร เขต 4 และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ ส.ว.ดังกล่าว ดังนั้น ส.ว.ทั้ง 27 คน ต้องยุติบทบาท แต่กลับไม่ยอมรับมติของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง ดังนั้น ตนเตรียมล่ารายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาในสัปดาห์หน้า เพื่อขับ ส.ว.27 คน ให้พ้นตำแหน่งก่อนวาระ เนื่องจากทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสาครเพิ่งไปปราศรัยต่อกลุ่มครูที่ จ.สกลนคร ระบุว่าตนขอขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเนื่องจากหมดความชอบธรรมแล้ว

"อภิสิทธิ์"ผิดหวังศาลรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว. ว่า ยังไม่ทราบว่า ส.ว.จะดำเนินการอย่างไร แต่เป็นห่วงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทนที่จะเป็นผู้ไต่สวนในเรื่องการร้องเรื่องคุณสมบัติ แต่กลับมาบอกว่าให้ผู้ร้องนำเอกสารหลักฐานมาแสดงด้วย ทำให้หากจะยื่นคำร้องอีกครั้งต้องรวบรวมเอกสารมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม น่าผิดหวังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังคำตัดสิน พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าอาจจะต้องเป็นนายกฯในสมัยที่ 3 เพราะหาทายาททางการเมืองยังไม่ได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้เรื่องเดียว อนาคตทางการเมือง ทุกคนมีสิทธิจะทำนายทายทัก เมื่อก่อนเห็นเสียงแข็งว่าจะไม่ยุบสภาแน่นอน แต่ทำไมเดี๋ยวนี้เที่ยวขู่ ส.ส.ตัวเองว่าจะยุบ

ประชาธิปัตย์ยกร่างอภิปราย"แม้ว"เสร็จแล้ว
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ได้ประชุมแกนนำพรรค อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยกร่างญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 185 ซึ่งจะต้องใช้จำนวนเสียง ส.ส. 200 คน แต่ขณะนี้ฝ่ายค้านมีรวมกันไม่ถึง 200 เสียง

หลังการหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า จะได้รายชื่อครบ 200 คน หรือไม่ขึ้นอยู่กับพรรคไทยรักไทย ซึ่งฝ่ายค้านจะไปทวงถาม พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ อย่างแน่นอน เพราะเคยบอกว่าหากเสียงไม่พอ จะให้ ส.ส.พรรคไทยรักไทยมาร่วมลงชื่อกับฝ่ายค้าน ซึ่งอยากจะดูว่านายกฯจะรักษาคำพูดหรือไม่

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ได้ยกร่างเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเสร็จแล้ว และได้ส่งให้พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนพิจารณาในรายละเอียดก่อนจะส่งกลับมาให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลงนาม แล้วจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป โดยญัตติดังกล่าวมี 4 หน้า มีเนื้อหาที่จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นชัดว่า พฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นสะสมต่อเนื่องและสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ต้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อทำประโยชน์ต่อตัวเองและครอบครัว

ตุลาการข้างมากไม่สนเสียงไล่
ด้านนายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ที่ตัดสินไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว. กล่าวว่า ผู้สนใจสามารถดูเหตุผลที่ไม่รับพิจารณาได้จากคำวินิจฉัยส่วนตน ซึ่งทำเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังตรวจความเรียบร้อยอยู่ เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับตุลาการเสียงข้างมากเรียกร้องให้ 8 ตุลาการลาออก นายอุระกล่าวว่า จะให้ลาออกเพื่ออะไร ไม่ได้ทำผิดแล้วจะให้ลาออกเพื่อรับผิดชอบอะไร

นายมานิต วิทยาเต็ม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องความชัดเจนนั้นเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมองต่างมุม แต่ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้พอสมควร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเรียกร้องให้พิจารณาตัวเองเพื่อรับผิดชอบ นายมานิตกล่าวว่า เกรงว่าในประเทศนี้จะเหลือคนทำงานกันอยู่ไม่กี่คน ตนอยากทำความเข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ ที่ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ได้ยานี้แล้วจะทำให้ตาย ประเทศไทยไม่ได้อยู่ได้ด้วยศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ได้ด้วยคนทั้ง 60 ล้านคน และยืนยันว่าไม่ได้ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเพราะใกล้ชิดกับรัฐบาลนี้

อจ. มหาวิทยาลัยธรรมาสตร์เสียดายศาลรัฐธรรมนูญไม่แก้ปัญหา
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว. จะผลักให้คนไปเจอกันที่สนามหลวง หรือที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามากขึ้น ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัย แต่วันนี้กลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาให้สังคมไทย ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ยุติลง ถือเป็นการปฏิเสธการแก้ไขปัญหาของสังคมด้วยสันติวิธี

นายสุรพลกล่าวต่อว่า ทางเดียวที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในขณะนี้คือ นำเรื่องเข้าสู่องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ถูกร้องผิด หรือแปลว่าผู้ร้องถูก แต่จะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การไต่สวนที่รอบคอบ เปิดเผย และเป็นกลาง ถ้าศาลมีข้อยุติอย่างไรก็เชื่อว่าสังคมจะยอมรับได้ เพราะถือเป็นกระบวนการที่จบลงแล้ว แต่วันนี้ไม่มีทางออกอื่น นอกจากการตัดสินว่าจำนวนคนของฝ่ายใดมากกว่ากัน

อธิการบดี มธ. ยังกล่าวถึงกรณีที่ 27 ส.ว. เดินหน้าถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้ปัญหายุติลง ไม่ว่าจะถอดถอนสักกี่คนก็ไม่ช่วยอะไร เพราะปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้ง ณ เวลานี้คือ กรณีการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทีดีอาร์ไอชี้ทำลายโอกาสประชาชน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำลายโอกาสและทางเลือกเดียวของประชาชนให้ไม่มีกลไกในการตรวจสอบ ซึ่งตนเองได้อ่านคำร้องของ ส.ว.ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเขียนอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย มีเหตุชวนให้สงสัยว่านายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้อง บงการ ในกรณีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น และจากนี้คงเหลือเพียงการเมืองภาคประชาชนเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในยามประชาชนสิ้นหวัง

"การเมืองในสภาถูกปิดแล้ว ทางศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกปิดกั้น และสื่อถูกแทรกแซง การออกมาเคลื่อนไหวเป็นทางเลือกสุดท้ายของเขา และเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นการใช้อำนาจประชาธิปไตยของประชาชนอย่างชอบธรรมโดยแท้จริง ที่รัฐบาลกำลังแทรกแซงเหมือนที่แทรกแซงคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มันไม่ถูกต้อง การเมืองควรใจกว้าง ไม่ใช่เบรกจนทำให้แตกแยก บทบาทองค์กรตอนนี้ตายไปหมดแล้ว เหลือส่วนน้อยอย่างพวก ส.ว. 27 คน แต่ก็ไม่สามารถทัดทานพวกมากลากไป จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไร้ยางอาย"

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การถกเถียงกันโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องมงคล และแสดงความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังคงมีศาลที่ใหญ่กว่า มีประชาชนที่ควรต้องดูว่าเสียงข้างมาก จะมีความชอบธรรมพอที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมหรือไม่

"ชัยอนันต์"ระบุคล้ายยุค"มาร์กอส"
ที่โรงแรมอิมพิเรียล ควีนปาร์ค นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญที่ดีในสายตาของนักรัฐศาสตร์" ว่า ในสภาพการณ์ทุกวันนี้ ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ทุกอย่างจบ แต่หากยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่จะมีการประท้วงชุมนุมตลอดเวลา เชื่อว่าจะยังมีการประท้วงมากขึ้นเนื่องจากองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ตนเองได้ ประชาชนจะต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น การทำงานของรัฐบาลทุกเรื่องจะถูกจับจ้องโดยสายตาประชาชน. เรื่องที่ดี โครงการที่ดี อาจถูกมองด้วยสายตาที่ไม่บริสุทธิ์

"สังคมไทยจะคล้ายประเทศฟิลิปปินส์ ในยุคมาร์กอส (นายเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) ที่มีการเผชิญหน้ามากขึ้น เพราะคนหาทางระบายออกเนื่องจากรู้สึกอึดอัด" นายชัยอนันต์กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผอ.ศูนย์วิจัยธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า สถานการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เวลานี้เป็นสีดำสนิท เพราะคดีซุกหุ้นภาค 1 นายกฯมีภาพสีเทา แต่ขณะนี้ดำสนิทเพราะนายกฯไม่ตอบคำถามที่ประชาชนอยากรู้ ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญควรลาออกได้แล้วเพราะมี 2 มาตรฐาน ขาดความเป็นกลาง

ศ.ดร.ชัยอนันต์ยังกล่าวด้วยว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผู้รับเหมาในสนามบินสุวรรณภูมิ มาบอกกับตนว่าถูกรีดภาษีโดยตรงโดยคนระดับนำ สั่งมาให้เรียก 5% แต่บางคนกลับสั่งมาเพิ่มขึ้น 30-50% และบางคนบอกอยากได้ 6,000 ล้าน เป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปไม่รู้

"กล้านรงค์"ชี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมไต่สวน
ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ธุรกิจการเมืองกับการตรวจสอบการประพฤติมิชอบ" โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ปาฐกถา

นายกล้านรงค์กล่าวถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของ 27 ส.ว. ว่า ประเด็นที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลไต่สวน ซึ่งศาลระบบไต่สวนนั้นจะต้องลงไปไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเอง โจทก์และจำเลยเป็นเพียงผู้ช่วยศาล ศาลมีสิทธิที่จะเรียกเอกสารต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาว่าเป็นศาลไต่สวน แต่ในการพิจารณานั้นใช้ระบบกล่าวหา กรณีซุกหุ้นภาค 1 นั้น ตนไม่มีโอกาสได้สืบสวนสอบสวนคัดค้านพยาน หากศาลลงไปไต่สวนสืบสวนข้อเท็จจริงเอง ศาลอาจเรียกมาซักถามเองก็ได้ เรื่องก็จะไม่จบอย่างนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเวทีถกปมซุกหุ้น
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "กระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ" จัดโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มนักศึกษารักประชาชน โดยนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. กล่าวว่า ในโลกนี้ถ้ากฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ ประเทศจะฉิบหายประสบกับความหายนะ ต่างชาติจะเข้ามาฮุบกิจการคนไทยหมด คนไทยจะกลายเป็นผู้ถูกใช้แรงงานกันทั้งประเทศ เป็นขบวนการทำให้สิ้นชาติ มองกันให้ลึกๆ

"วันนี้ที่ลุกขึ้นมาไม่ใช่มาเรียกร้อง ตอนนี้ไม่ใช่นายกฯทักษิณโกงหรือไม่โกง แต่ที่ทำทุกวันนี้เป็นการกู้แผ่นดิน ทั้งนี้ ฝากคณาจารย์และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.ว่าให้นำเรื่องนี้เป็นแบบอย่างและเป็นบทเรียน เพื่อต่อไปจะได้แก้ไขกฎหมายที่เป็นช่องว่างทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน" นายแก้วสรรกล่าว

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ระบุ คำร้องชัดเจนขัดมาตรา 209
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจกับ ส.ว.ฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งที่ออกมาระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องก็ถือว่าจบ และไม่ควรออกมาแสดงความเห็นอีกนั้น ขอเรียนว่าเรากินข้าว ไม่ใช่กินแกลบ ตนเคารพศาลแต่ศาลก็อาจทำผิดได้ ดังนั้น จะต้องดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยของศาลและตุลาการเสียงข้างมากว่า มีคำวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งคงจะออกมาภายใน 2-3 วันนี้ ส่วนตัวเห็นว่าคำร้องของกลุ่ม ส.ว.นั้น คนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อ่านแล้วก็เข้าใจได้ไม่ยากว่านายกฯทักษิณมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายขัดมาตรา 209 ซึ่งตามกฎหมายถ้ามีพฤติการณ์ ศาลก็จะต้องรับเรื่องไปพิสูจน์ โดยเชิญพยานบุคคลและพยานเอกสารมาตรวจสอบ ไม่ใช่คิดแทนผู้ถูกกล่าวหา น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญปิดช่องทางนี้ และทำให้ข้อสงสัยที่มีต่อนายกฯดำรงอยู่ต่อไป

"เวลานี้เหลือช่องทางเดียวในการตรวจสอบนายกฯ คือประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อถอนถอนนายกฯ แต่ค่อนข้างใช้เวลานานไม่ต่ำกว่าครึ่งปี อาจลากยาวเป็นปี เพราะประธานวุฒิสภายังต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.วินิจฉัยซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.ยังไม่เกิด ที่สำคัญผู้ที่จะตัดสินเรื่องนี้คือวุฒิสภา ซึ่งเวลานี้เรายังไม่เห็นโฉมหน้า ส.ว.ชุดใหม่และไม่รู้ว่าจะเป็นที่พึ่งได้หรือไม่" นายวรเจตน์กล่าว

ซัดศาลรัฐธรรมนูญทำผิดซ้ำซาก
ด้านนายบรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทำผิดซ้ำซากกับครั้งตัดสินคดีซุกหุ้นปี 2544 เป็นการสร้างตราบาปให้กับศาล ทั้งนี้ การที่นายกฯเรียกอธิการบดีมหาวิทยาเข้าพบ ตนมองว่าเป็นการซื้อเวลา ลดกระแสและสร้างความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งต่อเท่านั้น

นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้บ้านเมืองมีแต่ศรีธนญชัยที่ชนะ เพราะแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) กระทรวงการคลัง ก็ไม่สามารถพึ่งพาตรวจสอบได้ การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาขาดจิตสำนึก และคุณธรรม

จากหนังสือพิมพ์มติชน


แถลงการณ์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ส.ว. 27 คน

คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2549 เรื่องคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 27 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 96, ม. 216, และ ม. 209 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 8 ต่อ 6 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่าคำร้องมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดๆ ของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารจัดการเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของบริษัทหรือนิติบุคคลที่เป็นการต้องห้ามตาม ม. 209 นั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่าการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้

ประการแรก การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นขั้นตอนเบื้องต้นว่าคำร้องดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแต่อย่างใด เพียงแสดงข้อมูลและเหตุผลที่รับฟังได้ว่าคดีมีมูลก็เป็นการเพียงพอแล้ว

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างว่าคำร้องมิได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำใดของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหารก้าวก่ายเกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการนั้น แต่ในคำร้องของ ส.ว. ได้อ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีและบุตรเกี่ยวกับการจัดการหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งตามหลักกฎหมายพยานนั้นก็ถือเป็นคำรับที่ผูกมัดตัวเองและสามารถนำมารับฟังได้ แต่เหตุใดในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่นำมาพิจารณาประกอบ

ประการที่สอง การกระทำความผิดตาม ม. 209 วรรค 2 เป็นกรณี "ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการอันใดอันมีลักษณะเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้น" ก็เป็นข้อห้ามในการมีส่วนร่วมที่มิได้ดำเนินการโดยตรงแต่เป็นการกระทำในลักษณะทางอ้อม หรือหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น การโอนหุ้นให้ลูก หรือบุคคลใกล้ชิด โดยที่ตนเองยังมีอำนาจแท้จริงในการตัดสินใจ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส.ว. ยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความผิดตาม ม. 209 จึงเท่ากับเรียกร้องให้พิสูจน์ความผิดที่มีลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากในการนำพยานหลักฐานมายืนยันอย่างชัดแจ้ง ต้องไม่ลืมว่า ส.ว. มิใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน แต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติ หากยึดการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ก็จะเป็นผลให้การดำเนินการกับนักการเมืองหรือบุคคลอื่นใด ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่สามารถเป็นผลขึ้นจริงได้ ไม่เพียงกับในปัจจุบันแต่จะรวมถึงในอนาคตด้วย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง กับการแสวงประโยชน์ทางธุรกิจก็จะไม่มีความหมายใดเลย

ประการที่สาม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหน้าที่มีบทบาทในการค้นหาความจริงในข้อพิพาทต่างๆ ดังที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ใน ม. 265 ในการเรียกเอกสาร บุคคล เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ มาให้ปากคำหรือดำเนินการอื่นใดอันจะเป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยคดี ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่มีหน้าที่เพียงรับฟังพยานหลักฐานของคู่กรณีแต่เพียงอย่างเดียว

การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าคำร้องของ ส.ว. ไม่มีความชัดเจนจึงไม่รับคำฟ้องมาวินิจฉัยจึงขัดกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องมีบทบาทในการแสวงหาความจริงให้ปรากฏว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

นอกจากเหตุผลทั้ง 3 ข้อแล้ว พึงตระหนักว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันทางการเมือง ที่จะเป็นกลไกในการแสวงหาข้อยุติในความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กรต่างๆ ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม อันจะทำให้การเมืองระบอบประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีคำถามต่อความชอบธรรมของผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

การยกคำร้องของ ส.ว. โดยศาลรัฐธรรมนูญนอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะไม่เป็นผลดีอย่างใดกับสังคมไทยเลยเพราะเท่ากับได้ปิดประตูของการต่อสู้โดยใช้เหตุผล และกระบวนการทางรัฐธรรมนูญให้เหลือน้อยลง และรวมถึงความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันแห่งนี้ที่จะลดต่ำลงไปอีก ภายหลังจากที่ได้เกิดความกังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยในคำร้องของ ส.ว. 27 คนใหม่ โดยให้การพิจารณาดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤตการณ์ของสังคมในขณะนี้

คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (18 กุมภาพันธ์ 2549)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
กอบกุล รายะนาคร
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร
ศักดิ์ชาย จินะวงศ์
นัทมน คงเจริญ
ลักคณา พบร่มเย็น


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
190249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

น.พ.เหวง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบ ข้ออ้างของ 8 ตุลาการที่ว่าไม่มีหลักฐานนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะคำร้องของ 28 ส.ว.ยื่นมาชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม ไม่ใช่รอให้ ส.ว.หาหลักฐานไปให้ครบทั้งหมด แล้วจะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม
"การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นนั้น เพียงแค่คำให้สัมภาษณ์ของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายกรัฐมนตรีที่ว่า การขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แค่นี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านายกฯเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น" นพ.เหวง กล่าว

The Midnightuniv website 2006