นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ทักษิณคุยกับประชาชน : ๑๘ กพ.๔๙
เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพบ
และเรื่องข่าวลือกับเอกสารปลอม

ถอดเทปโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหต
การถอดเทปรายการทักษิณคุยกับประชาชนนี้
คัดมาบางส่วนเฉพาะในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรี ได้เชิญบรรดาอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าพบ
และในส่วนของข่าวลือที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงเอกสารทางราชการปลอม
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 838
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



ทักษิณคุยกับประชาชน
วันที่ 18 กุมภาพันธุ์ 2549, 08.00-09.00 น.

ถอดเทปโดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

กรณีการเรียกพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
รวมถึงเรื่องเอกสารปลอม และข่าวลือ

หมายเหตุ : การถอดเทปรายการทักษิณคุยกับประชาชนนี้ คัดมาบางส่วนเฉพาะในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรี ได้เชิญบรรดาอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าพบ เพื่อชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาล จะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของข่าวลือที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงเอกสารทางราชการปลอม ในเรื่องเกี่ยวกับการโอนกองกำลังทหารต่างๆ ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้รับการถอดเทปมนำเสนอในที่นี้ด้วย

1. เรื่องการเชิญอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพบนายกรัฐมนตรี
…เมื่อวานนี้ผมได้เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีทั้งหมด 137 มหาวิทยาลัย มีอธิการบดีที่เข้ามาร่วมส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นตัวจริงมาส่วนใหญ่ ก็มีรองอธิการฯมาแทนอธิการฯบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นอธิการฯมาเอง ก็ขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ได้หันมาคุยกัน เพื่อหาแนวทางที่ดีสำหรับประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมต้องขอขอบคุณอธิการบดีที่ได้มาประชุมเมื่อวานนี้ และบรรยากาศการประชุมก็ค่อนข้างดีครับ

คือเราต้องการให้ทุกคนได้มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ผมมองว่า ความคิดที่แตกต่างในสังคมประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งสวยงาม แต่ความคิดที่แตกต่างนำไปสู่ความแตกแยกนั้นไม่ดีเลย ไม่ดีเลย องค์กรไหนถ้ามีความแตกแยกทางความคิด ไม่ใช่แตกต่างทางความคิด เป็นองค์กรที่อันตราย หมายถึงประเทศหรือองค์กรนั้นเสียหาย มีแต่จะอ่อนแอไม่มีทางแข็งแรง

ความคิดที่แตกต่างซึ่งทำให้เกิดมุมมองในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งหลาย เป็นสิ่งที่สวยงามและดีงามในระบอบประชาธิปไตย คือเราจะต้องเปลี่ยนอารมณ์มาเป็นปัญญาให้ได้ เราจะต้องเปลี่ยนความรู้สึกมาเป็นความรู้จริงๆให้ได้ เราจะต้องเปลี่ยนความไร้กติกามาเป็นกรอบของการมีกติกาให้ได้ แทนที่เราจะเสนอแต่ปัญหา เราต้องเสนอทางออกด้วย เราก็จะมีการเปิดใจกว้างที่จะรับความคิดที่แตกต่าง แต่ไม่เกิดความแตกแยกภายใต้กรอบกติกา ซึ่งอาศัยปัญญาและความรู้เป็นตัวตัดสิน

เมื่อวานนี้ พระราชเมธาภรณ์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านให้แนวของพระพุทธเจ้าไว้ดีครับ คือเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็คือความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือภาษาพระที่เป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า nothingness, impermanent, ไม่มีอะไรที่มันคงกะพันอยู่ต่อไป มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ตามยุคตามสมัย ตามความเหมาะสม แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นถ้าเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญา เปลี่ยนแปลงด้วยความรู้ คือการเปลี่ยนแปลงที่มีสตินั่นเอง

ทุกขังก็คือ ทุกข์ของตนเอง ทุกข์ของสังคม มันเกิดทุกข์. อนัตตาก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ว่ายึดเอาตัวเองคือความถูกต้อง ความรู้สึกหรืออารมณ์ตนเองถูกต้อง อะไรที่มันไม่ใช่ตรงกับของตัวเองคือผิดหมด มันไม่ใช่ ความจริงแล้วศาสนาพุทธสอนเอาไว้ชัดเจน

ฉะนั้นผมคิดว่า การที่อธิการบดีทั้งหลาย ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้เต็มไปหมด ถ้าสามารถที่จะมาช่วยกันหาทางออกให้ดีๆกับประเทศ มีข้อแนะนำที่ประกอบด้วยปัญญาและความรู้ แล้วรักษากรอบกติกานำความคิดที่แตกต่างซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดนั้นมาเสนอทางออกให้ประเทศ ผมคิดว่าประเทศเราจะรุ่งเรืองมาก

ผมพูดตลอดเวลาว่า องค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่บังเอิญว่าองค์ความรู้เหล่านั้นไม่ถูกสังเคราะห์รวบรวมอย่างเป็นระบบและนำมาใช้ เมื่อวานนี้ที่ผมเชิญท่านอธิการฯมาพบ มาประชุมกัน ความจริงว่าท่านอธิการฯก็เคยขอ เพื่อมาพบผมกันมาแล้ว แต่บังเอิญว่ายังไม่ได้นัด กรณีที่มีเรื่องที่มีข้อเสนอเยอะแยะไปหมดเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นจังหวะที่จะเชิญท่านอธิการฯท่านมา ไม่ใช่มาเพื่อการเมือง แต่เป็นการเมืองเพื่อบ้านเมือง เป็นการมองร่วมกันว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะให้เกิดสติปัญญาที่แท้จริงให้กับสังคม

เพราะวันนี้มีแต่อารมณ์และความรู้สึกของคนที่พูดเสียงดัง และก็อาจจะมีความยึดมั่นหรือมีอัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่น อันนี้ก็ต้องเป็นอะไรที่เราจะต้องหันกลับมา ผมก็เลยบอกว่าอยากจะขอให้ทุกๆมหาวิทยาลัย จะเป็นมหาวิทยาลัยเดี่ยวหรือจะรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อไปทำวิจัยหน่อยเพราะผมต้องการคำตอบทางวิทยาศาสตร์ ผมไม่ต้องการคำตอบด้วยอารมณ์ ผมไม่ต้องการความรู้สึกแต่ผมต้องการความรู้ ผมต้องการปัญญา

เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยมีปัญญา มีความความรู้อยู่เยอะแล้ว ขอให้ทิ้งอารมณ์และความรู้สึกเสีย ไปนั่งคิดอย่างมีปัญญาและมีความรู้โดยการทำวิจัย ศึกษาเปรียบเทียบก็ได้ เอาข้อศึกษาของคนอื่นมาสังเคราะห์ให้มันได้ความรู้เป็นปัญญาจริงๆ แล้วก็มีคำตอบซึ่งเราเรียกว่าคำตอบแบบนี้ หลังจากการวิจัยที่ถูกหลักวิชาแล้ว เราเรียกว่าคำตอบทางวิทยาศาสตร์ มีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่ใช่เพราะอารมณ์ชอบ ไม่ชอบ อารมณ์หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว อย่างนั้นเขาเรียกว่าไม่ได้ใช้ปัญญา

ก็เลยขอร้องว่าอธิการฯทุกท่าน ช่วยกลับไปคิดไปมองรัฐธรรมนูญ ในมุมมองของมหาวิทยาลัยเดี่ยวหรือกลุ่มมหาวิทยาลัยว่า เมื่อหลังจากที่ไปวิเคราะห์วิจัยแล้ว เปรียบเทียบกับประเทศนั้นประเทศนี้ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่า วิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน มันมีคำตอบไหมว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช่ว่าเมื่อวันก่อนบอกว่ารัฐบาลอ่อนแอกันมาก เดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็ล้ม ประเทศสู้เขาไม่ได้เพราะไม่มีความต่อเนื่อง และ สส.มาต่อรองกับนายกฯ เสร็จแล้วก็ต้องมาต่อรองนั่นต่อรองนี่ ทำให้ประเทศพัฒนาไปไม่ได้

เราก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ชอบละ ยกธงเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกธงเขียวเต็มไปหมด วันนี้อยู่ๆ ไอ้คนยกธงเขียวบอกว่าจะยกธงเหลืองเสียแล้ว เพราะว่ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไป รัฐบาลมีความต่อเนื่องมากเกินไป แข็งแรงเกินไป ก็เลยเป็นว่าสรุปแล้วเราใช้อารมณ์มากไปหรือเปล่า

ก็อยากจะฝากให้บรรดาผู้มีความรู้ทั้งหลายลองไปใช้ความรู้ ใช้วิชาการ ใช้หลักวิชาวิจัยอย่างชัดเจนว่า เอาล่ะรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะ ตรงประเด็นไหนที่คิดว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อันไหนดีแล้ว เหตุผลดีแล้วเพราะอะไร เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร โดยมีหลักวิชามีข้ออ้างอิงประกอบ แล้วเราก็จะนำข้อวิจัยเหล่านั้นมารวมกัน และมาสังเคราะห์ เมื่อสังเคราะห์อย่างมีวิชาการแล้วเราก็จะได้ตุ๊กตารัฐธรรมนูญฉบับที่มีการวิจัย มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์หมดแล้วนี่ เอาไปทำประชาพิจารณ์กับประชาชนได้

ประชาชนก็จะได้มีส่วนว่า อ้อ! นี่นะ ได้ศึกษากันเรียบร้อยแล้วว่า ข้อนี้มันดี ข้อนี้ไม่ดี ข้อนี้ต้องแก้ ข้อนี้ต้องตัด ข้อนี้ต้องเพิ่ม ข้อนี้ต้องลด เราก็จะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นแนวคิด เพื่อให้ประชาชนตัดสิน ประชาชนตัดสินอย่างไรเราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนบนพื้นฐานของความรู้ฝ่ายวิชาการ ที่เป็นความรู้จริง ไม่ใช่ความรู้สึกและอารมณ์

วันนี้ฝ่ายวิชาการบางท่านใช้อารมณ์และความรู้สึกตัดสิน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ปัญญาและความรู้ตัดสิน และต้องเข้าใจก่อนว่าเมื่อมีกติกาอยู่ เราต้องเคารพกติกา ถ้ากติกาไม่ดีเราค่อยไปปรับปรุงแก้ไขกติกา แต่ตราบใดที่มันเป็นกติกาที่เรารับรองไปแล้ว ทุกคนต้องรับกติกานั้น ถ้าไม่เช่นนั้นสังคมอยู่ด้วยกันอย่างสับสนวุ่นวายแน่นอน

ถ้าสังคมจะอยู่ด้วยกันอย่างมีสติ ก็ต้องมีกติกาที่ต้องเคารพกัน ถ้ากติกานั้นคนส่วนใหญ่มองแล้วว่ากติกานั้นไม่ค่อยดี ถ้าไม่ค่อยดีเรามาตกลงแก้ไขกติกากันเสีย เมื่อแก้ไขกติกาแล้วก็ต้องเคารพกติกา ไม่ใช่แก้มาแล้วกติกานี้แก้แล้วมันไม่ถูกใจ ผมไม่ฟัง ผมไม่ปฏิบัติ ผมจะเอาใจตัวผมเอง อันนี้มันไม่ได้ เพราะฉะนั้น การอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อวานนี้ได้พูดกับท่านอธิการฯทั้งหลาย ท่านก็น่ารักมาก ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ซึ่งจะกลับไปทำวิจัยกัน มีบางมหาวิทยาลัยจะขอไปทำเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ทำกลุ่มทำเดี่ยวได้ทั้งนั้น โดยที่ผมได้ให้สำนักงานอุดมศึกษาเป็นผู้ที่จะเอื้องบประมาณสำหรับการทำวิจัย ให้กับทางคณาจารย์ซึ่งจะกลับไปทำวิจัยด้วยกัน เราสังคมไทยจะได้มีแนวร่างของข้อแก้ไข ข้อปฏิรูปการเมือง ข้อร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาที่ไปทางวิชาการ มีฐานความรู้รองรับชัดเจน ไม่ได้เป็นฐานอารมณ์ความรู้สึก อันนี้ก็จะมีตัวตั้งที่ค่อนข้างชัดเจนครับ

หลังจากนั้นผมก็ได้พูดกับท่านอธิการฯอีก 2 เรื่อง, เรื่องที่หนึ่งก็คือเรื่องกองทุนกู้ยืม โดยที่เรียนก่อนผ่อนทีหลังดังที่ได้เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่นี้ คือพูดว่าเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าเรียนหนังสืออย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนมาเป็นอุปสรรคจากนี้ไป ก็ได้ขอความร่วมมือ

และทางมหาวิทยาลัยได้พูดเรื่องที่ว่า คือขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มสูญเสียการแข่งขันถ้าเปรียบเทียบกับทั่วโลกแล้ว มหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับ 200 อันดับแรกของโลก มีอยู่มหาวิทยาลัยเดียวคือ จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งติดอันดับที่ 121 เพราะในระดับของประเทศไทยอยู่สูงกว่าระดับร้อยแน่ ซึ่งอันนี้ไม่ค่อยดี อันนั้นคือเป็นหน้าเป็นตาแล้วคือติดอันดับ 121 จาก 200 อันนี้เราจะต้องทำให้มหาวิทยาลัยของเราอยู่ในอันดับต่ำกว่า 100 และจะต้องมีมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับ 200 มากกว่าหนึ่งมหาวิทยาลัย

ทางอธิการฯทั้งหลายก็บอกว่า อยากจะขอให้รัฐหาเงินมาอัดฉีดระบบการศึกษามากขึ้นหน่อย เพราะว่าระบบการศึกษาเราอ่อนแอ อันนี้ผมก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งจะลองปรึกษากันว่าเราจะหาเงินส่วนไหนมาเพื่อให้ระบบการศึกษาเราได้รับการพัฒนา มีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะรับมาทำครับ เพราะผมถือว่าเรื่องการศึกษาเป็นการลงทุนของประเทศที่จะสร้างคน อันนี้ถ้าลงทุนน้อยไป ได้คุณภาพไม่พอก็ต้องลงทุนมากขึ้นซึ่งจะไปดูต่อไป

ส่วนเรื่องที่ได้พูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องวิจัย วันนี้เรามีปัญหามากในเรื่องของการวิจัย เนื่องจากว่าเรามีคนความรู้เยอะแต่ไม่ทำวิจัย ผมถามว่าอะไรคือปัญหาที่นักวิจัยไม่ทำวิจัย ขอให้ทางอธิการฯไปประชุมกันและหาทางออก บอกรัฐบาลด้วยว่าจะแก้แรงจูงใจแบบไหน แก้ระเบียบแบบไหน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความก้าวหน้าของนักวิจัย เพราะว่านักวิจัยไม่ค่อยก้าวหน้าหรือเปล่า จึงหันไปเป็นนักบริหาร แทนที่จะเอานักวิจัยไปทำวิจัย

เพราะในต่างประเทศนักวิจัยเขาอยู่ในมุมของนักวิจัยของเขาเลย เขาสามารถจะไม่ต้องคิดอะไรมาก นั่งทำวิจัยอย่างเดียวแล้วเขาก็มีความก้าวหน้า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ในหลายมหาวิทยาลัยเขาไปได้ดีมากๆในเรื่องนี้ มีการจดสิทธิบัตรของนักวิจัยทั้งหลายในประเทศต่างๆ เยอะมาก ประเทศไทยเราจดน้อยมาก ประเทศไทยเราทั้งประเทศจดสิทธิบัติน้อยกว่าบริษัทขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเพียงบริษัทเดียวเสียอีก

บริษัทขนาดกลางค่อนข้างใหญ่นี่, บริษัท IBM ถือว่าค่อนข้างใหญ่, บริษัทขนาดกลางค่อนข้างใหญ่คือเล็กกว่า IBM หน่อย เขาจะขึ้นทะเบียนปีๆหนึ่งเป็นพัน แต่ของเราไม่มีเลยเรื่องการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ เรามีประมาณหกเท่าสิบต่อปี อันนี้น่าเป็นห่วงเพราะในโลกข้างหน้า เขาเป็นโลกสังคมฐานความรู้ สิทธิบัตรนั้นจะเป็นตัวทำเงิน แต่ปรากฏว่าของเราไม่มี เราไม่มียังไม่พอ ยังต้องจ่ายเงินให้เขาอีก เพราะว่าเวลาเขาเอาอะไรมาขายซึ่งสร้างบนพื้นฐานสิทธิบัตร เขาก็รับเงินไป

เหมือนคล้ายๆกับเบิร์ดร้องเพลง ถ้าใครเอาเพลงเบิร์ดไปเปิดหรือเอาไปใส่ในฟิล์มภาพยนตร์ ก็ต้องจ่ายสิทธิบัตรให้เบิร์ดแบบนี้ ก็เหมือนกันครับสมมุติเรื่องยา ใครเป็นคนคิดยาตัวนี้ได้ ถ้าเรากินยาชนิดนั้นเข้าไปก็ต้องไปจ่ายเขา เราไม่มีเลย เรามีแต่จ่ายไม่มีรับเลย อันนี้อันตราย

เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าวิจัยไทย ทำอย่างไรเรามีนักวิจัย เรามีองค์ความรู้เรามีคนมีความรู้ส่งไปเรียนเมืองนอกเยอะแยะ ซึ่งอธิการฯจุฬาก็บอกว่า วันนี้เราไม่สามารถเก็บเด็กเก่งเอาไว้ได้ เด็กเก่งบอกว่าไม่เอาแล้วไปอยู่เมืองนอกดีกว่า ก็เราเสียเด็กเก่งไปเยอะ แต่เล่าให้ฟังว่าสิงโคปผกะไปขโมยเด็กเก่งจากต่างประเทศเยอะแยะไปหมด แต่ของเราสูญเสียเด็กเก่งไปทุกวัน

ผมบอกว่า เอาช่วยคิดให้ผมหน่อยซิ เขาขโมยเราไป เราก็ต้องรักษาของเราไว้ จะไปขโมยคนอื่นมาบ้างก็ได้ ในเรื่องของการดึงดูดด้วยแรงจูงใจให้มาเป็นนักวิจัยในเมืองไทย เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิจัยที่เป็นคนไทยเท่านั้น คนอื่นก็ได้ถ้ามาวิจัยในประเทศไทย แต่ว่าสิทธิบัตรต้องเป็นของไทย เป็นขององค์กร อย่างเช่นสิทธิบัตรเขาจะแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างองค์กรกับนักวิจัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เราไม่มีนักวิจัยเอานักวิจัยจากต่างประเทศมา ภายใต้องค์กรของมหาวิทยาลัยไทยก็แบ่งสิทธิบัตรกันคนละครึ่ง ก็ดียังดีกว่าไม่มีเลย

ผมก็เลยให้ช่วยไปคิดให้ผมหน่อยเถอะ ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดมีวิจัย จนนำไปสู่การจดสิทธิบัตร ซึ่งการวิจัยมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกที่ผมพูดถึงนี่ก็คือเป็นการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ก็คือการได้ความรู้ใหม่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งนี่คือวิจัยต่อยอด หรือวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการ เป็นการวิจัยเพื่อทำให้ชาวบ้านทำเกษตรได้ผลผลิตดี ประหยัด วิจัยเพื่อการทำให้การแปรรูปสินค้าเกษตรมีมูลค่าดีขึ้น เหล่านี้คือการวิจัยสองระดับ เราขอสนับสนุนการวิจัยทั้งสองระดับ แล้วเรื่องบอกว่าไม่มีเงินไม่ต้องพูด ขออย่างเดียวว่า บอกแนวทางมาแล้วมันจะมีผลิตผลออกมา

โลกสมัยใหม่นี่ เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือความคิดที่จะนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยกลับคืนมามากกว่าเงินที่ใช้ นั่นต่างหากที่เป็นปัญหา คือถ้ามีความคิดที่จะใช้เงินแล้วไปทำเงินได้มากกว่าเงินที่ใช้ เงินมันมาเอง แต่ถ้าไม่มีความคิด จะใช้แต่เงินใช้แต่เงินไม่มีประโยชน์ เงินนั้นก็ไม่กลับมา อันนี้มันเป็นโลกสมัยใหม่

ผมก็เลยขอให้ท่านอธิการฯทั้งหลายไปคิดร่วมกัน คิดกันหลายๆมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระเบียบ กติกา แรงจูงใจ เพื่อให้นักวิจัยได้ทำงานมากขึ้น และนโยบายก็พร้อมที่จะสนับสนุนเป็นทุนให้เกิดการวิจัยที่เข้มแข็ง อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดมานานและกลุ้มใจมานานว่า ทำอย่างไรประเทศไทยถึงมีความรู้ คนมีความรู้เยอะแยะไป ทำไมจึงผลิตงานวิจัยไม่ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งฝากให้ท่านอธิการฯทั้งหลายไปช่วยคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวแน่นอน…

(เพิ่มเติม)...จากมติชน
เช็คยอดผู้บริหารมหาวิทยาลัยถกทักษิณ 110 แห่งส่งเข้าร่วมคึกคัก-36สถาบันเมิน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศก่อนการประชุมหารือเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 137 แห่ง เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ รองอธิการบดี หรือผู้แทนทยอยลงชื่อ

จากการตรวจสอบรายชื่อพบว่ามีผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือผู้แทนเข้าร่วมประชุม 110 คน แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ 78 แห่ง มีอธิการบดี หรือผู้แทนร่วมประชุม 67 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรัฐเดิม 25 คน จากทั้งหมด 26 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 34 คน จาก 40 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 8 คน จาก 9 แห่ง รวมแล้วมีอธิการบดีของรัฐเข้าร่วมประชุม 47 คน ในจำนวนนี้มีอธิการบดีที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมาหรือไม่ เช่น คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พระราชเมธาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนายปรีชา จรุงกิจอนันต์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นต้น

ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมมีถึง 20 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มรภ.จันทรเกษม มรภ.พิบูลย์สงคราม เป็นต้น

ส่วนอธิการบดี หรือผู้แทนมหาวิทยาลัยเอกชนเข้าร่วมประชุม 43 คน จาก 59 สถาบัน ในจำนวนนี้เป็นอธิการบดี 23 คน เช่น นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายจีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางจันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน นางรัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น ที่เหลือเป็นผู้แทน ทั้งนี้ แม้แต่นายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม แต่ได้ส่งนายสุรวุฒิ ประดิษฐานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมาแทน

สำหรับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่ส่งแม้แต่ตัวแทนเข้าร่วมการประชุม 16 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต ของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ของนายประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์

2. เรื่องเอกสารปลอมและข่าวลือแพ่รสะพัด
…อันนี้ผมได้รับเอกสารมาเลยครับ มีลายเซ็นผมด้วย ซึ่งถ้าคนทั่วไปอ่านแล้วก็คงไม่เชื่อว่า แต่ว่าบางคงก็อาจหลงเชื่อได้ อย่างเช่น มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการนำเอาหนังสือเวียนของรัฐบาลไปแก้เลข แก้อะไรต่างๆ แล้วพิมพ์ขึ้นมาใหม่ บอกว่าให้กองกำลังทหารไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียนรัฐมนตรีกลาโหม แม่ทัพทุกภาค หัวหน้าหน่วยกองกำลังทุกหน่วย เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ จึงให้ทหารทุกเหล่าโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ก็คือให้เขตทหารทุกจังหวัดไปขึ้นกับ อบจ.คือเป็นเรื่องที่แย่มากๆ ก็คือสรุปแล้วเป็นการปล่อยข่าว ว่ากำลังจะมีการโอนกองกำลังกองนั้น ตอนนี้ก็มีการปล่อยข่าวว่า รัฐบาลจะขายตรงนั้น ขายตรงนี้ รัฐบาลไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก ขนาดยามที่เราทรุดโทรมแย่ขนาดนั้น รัฐบาลยังมีวิธีการหาเงินเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ ไปใช้หนี้ IMF เร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี

รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายที่จะไปขายของอะไรเลย ไม่มีเลย อันนี้เป็นการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ธรรมดา เรื่องการกระจายอำนาจก็เป็นการกระจายอำนาจ ในสิ่งที่เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชน กระจายไปแล้ว รัฐจะเสียความมั่นคง รัฐจะเสียความสามารถในการพัฒนาประเทศเราก็ไม่เอา

ประชาชนต้องมีความสุขขึ้นถึงจะทำ อันนี้ก็คือสิ่งซึ่งทุกอย่างมันมีกรอบมีกติกา มีปัญญาในการคิด มีความรู้ในการตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นลักษณะของการทำอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมยกตัวอย่าง เป็นลายเซ็นของผมเองด้วยนะครับ ไปปลอมมา ไปก็อปปี้มาจากตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ อันนี้ก็ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า ช่วงนี้ข่าวลือทุกรูปแบบเยอะมาก การใส่ร้ายป้ายสีเยอะมาก ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักไว้นิดหนึ่งว่า

รัฐบาลของท่านใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างงาน เรื่องของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องของหนี้สินประเทศ เรื่องของฐานะประเทศ เรื่องของสวัสดิภาพ สวัสดิการประชาชน การจัดงบประมาณให้แม้กระทั่งประชาชน ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนให้งบประมาณประชาชน เรื่อง SML ก็ไปหมดแล้ว ให้ทุกอย่าง

เพราะฉะนั้นเรื่องข่าวลือนี้ ขอให้ท่านถือว่าขณะนี้ข่าวลือกำลังรุนแรงในทุกๆด้าน ก็ขอให้ท่านตั้งสตินิดหนึ่ง อย่าได้หลงเชื่อ ถ้าหากว่าไม่มั่นใจว่าจริงหรือไม่จริง ให้โทรถามได้เลยครับที่ 111 ซึ่งเป็นศูนย์ของรัฐบาลเพื่อรับทราบปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน หรือจะไปที่ 1212 ของพรรคไทยรักไทยก็ได้ครับ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รู้ข้อเท็จจริง อย่าไปหลงเชื่ออะไรง่ายๆ

ครับวันนี้ก็ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ซึ่งได้ติดตามรายการนายกทักษิณพบประชาชนมาตลอดเวลา ขอขอบคุณครับ…

(เพิ่มเติม)...จากกรุงเทพธุรกิจ

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน" ถึงข่าวลือการออกหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เรื่องจะโอนทหารไปสังกัดองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า เป็นเอกสารปลอมที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่สมควรนำขึ้นมาเป็นข้อพิจารณาและข้อคิด ซึ่งตนได้เห็นหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นได้ชัดว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อแกล้งทำลาย เมื่ออ่านดูแล้วก็รู้ว่าไม่ใช่ของจริง จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ แม่ทัพต่างๆ มาพบกันก็ยังหัวเราะ เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นเหมือนกับทำลายกองทัพ ทำลายเสาหลักของประเทศด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหน่วยทหารไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือตำบลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับกองทัพ และกองทัพไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ซีอีโอ ซึ่งชัดเจนว่าผู้ว่าฯ ซีอีโอ คุมทุกอย่างยกเว้นกองทัพ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่าใครจะมาคุมทหาร ผู้ว่าฯ ยังคุมไม่ได้เลย

ทั้งนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ทหารเกิดปฏิกิริยาต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับกรณีที่ครูไม่พอใจกับการที่รัฐบาลจะโอนย้ายไปสังกัด อปท.หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกับกองทัพ เรามั่นคงกว่านั้นมาก กองทัพมีความหนักแน่น ทั้งนี้กองทัพบกจะทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยต่าง ๆ เพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ตามข้อห่วงใยที่เกรงว่ากำลังพลไม่ทราบเรื่อง อาจจะเข้าใจผิดได้

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
180249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผมได้รับเอกสารมาเลยครับ มีลายเซ็นผมด้วย ซึ่งถ้าคนทั่วไปอ่านแล้วก็คงไม่เชื่อ แต่ว่าบางคงก็อาจหลงเชื่อได้ อย่างเช่น มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการนำเอาหนังสือเวียนของรัฐบาลไปแก้เลข แก้อะไรต่างๆ แล้วพิมพ์ขึ้นมาใหม่ บอกว่าให้กองกำลังทหารไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียนรัฐมนตรีกลาโหม แม่ทัพทุกภาค หัวหน้าหน่วยกองกำลังทุกหน่วย เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ จึงให้ทหารทุกเหล่าโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

The Midnightuniv website 2006