นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



เสรีภาพที่ลักลั่นและไม่ชอบธรรม
ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดา กับการเมืองเรื่องการสร้างภาพตัวแทน
ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
(ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวายอิ -มานัวอา, สหรัฐอเมริกา)

หมายเหตุ
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เพื่อนำเสนอมุมมองของพี่น้องมุสลิม
ที่มีต่อภาพการ์ตูนล้อเลียนพระศาสดามุฮัมหมัด และการประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมทั่วโลก
ผู้เขียนได้เสนอมุมมองเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
และยังได้เสนอทางออกที่ควรจะเป็นอันเป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนด้วย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 835
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดา กับการเมืองเรื่องการสร้างภาพตัวแทน
ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี (
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่)

เกริ่นนำ:
ผู้เขียนคาดหวังว่าท่านผู้อ่านคงได้ติดตามสถานการณ์อยู่บ้างถึงที่มาที่ไป และสถานการณ์การประท้วงที่ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นการเมืองระดับโลกไปแล้วในขณะนี้เกี่ยวกับการ์ตูนสิบสองภาพที่ล้อเลียนท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ดังนั้น จึงขอข้ามที่จะเอ่ยถึงความเป็นมาดังกล่าว

หากมองความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ได้เกิดคำถามมากมายจากความไม่เข้าใจกันทั้งสองฟาก ดังเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โลกตะวันตกตั้งคำถามว่า "ทำไมพวกเขาจึงเกลียดชังเรา" และประธานาธิบดีบุช ก็ได้ตอบ (คล้าย ๆ กับที่นายกฯ ของเราตอบเรื่องขายหุ้นเจ็ดหมื่นล้าน) ว่า "ก็มันอิจฉาความมีเสรีภาพและประชาธิปไตยของเรานะซิ"

จนกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดกรณีการประท้วงอย่างรุนแรงของโลกมุสลิมที่บานปลายกระจายไปทั่วทุกมุมโลกขณะนี้ และชาวตะวันตกก็ไม่เข้าใจและเกิดคำถามขึ้นอีกว่า "ทำไมพวกเขาจึงเกลียดชังเรา ทำไมพวกเขาไม่เข้าใจความมีเสรีภาพในการแสดงออก และทำไมพวกเขาจึงไม่มีวัฒนธรรมแห่งความตลกขบขันเอาเสียเลย"

บทความนี้จึงเป็นความพยายามที่ลองทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว จากมุมมองของมุสลิมคนหนึ่งที่เรียนมาทางสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งเพื่อที่จะลองตอบข้อสงสัยของเพื่อนต่างศาสนา และเพื่อทำความเข้าใจและรู้จักตัวเองให้มากขึ้นว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงไหนของความขัดแแย้งดังกล่าว และควรจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร เพื่อจัดการความขัดแย้งที่จะมีมาอีกอย่างสร้างสรรค์ตามหลักคำสอนของอิสลามที่ยืนยันให้เราเป็นประชาตัวอย่างของความดีงาม ทั้งนี้เพราะตามคำสอนของท่านร่อซูล (ซ.ล.) ที่ว่า "ผู้ที่รู้จักตัวเอง จะรู้จักพระผู้เป็นเจ้า" (หรือในทำนองกลับกัน หากเราไม่รู้จักตัวเอง เราก็จะไม่มีวันที่จะเข้าถึงและรู้จักพระผู้เป็นเจ้า)

ภาพตลก ๆ แต่ทำไมจึงไม่ตลก
ผู้เขียนลองนั่งคิดคำนวณเป็นตัวเลขเล่น ๆ ว่าจากตัวเลขประชากรมุสลิมทั่วโลกที่มีประมาณ 1,500 ล้านคนนั้น หากตัดคนที่อยู่ในวัยเด็กออกไปประมาณ 15% ที่มีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องทำการละหมาดวันละ 5 ครั้ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำคัญที่มุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติ ดังนั้น ทั่วทั้งโลกจะมีมุสลิมที่ต้องละหมาดในแต่ละวันถึงประมาณ 1,300 ล้านคน และในจำนวนนี้หากมีมุสลิมเพียงครึ่งเดียว คือ 650 ล้านคน ที่ปฏิบัติละหมาดอย่างสม่ำเสมอวันละ 5 ครั้ง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคนเขียนการ์ตูน และเพื่อนต่างศาสนาจะทราบหรือไม่ว่า ในขณะที่ผู้ที่กำลังอ้างความชอบธรรมว่าการล้อเลียน จาบจ้วง และดูหมิ่นเหยียดหยามท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล) เป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกที่มีความชอบธรรมในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ในขณะเดียวกัน มีชาวมุสลิมกำลังกล่าวขอพรและสรรเสริญรำลึกถึงท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ในทุกเวลาของการละหมาดแต่ละวัน

ดังนั้น ในวันหนึ่ง ๆ มุสลิม 650 ล้านคน ที่ทำการละหมาด วันละ 5 ครั้ง จะมีการกล่าวสรรเสริญรำลึกถึงท่านศาสดาเป็นจำนวน 3,250 ล้านครั้ง ต่อวันทั่วโลก หรือ คิดเป็นรายชั่วโมงได้ 135 ล้านครั้ง ต่อชั่วโมง ดังนั้น ในวันหนึ่ง ๆ มุสลิม 650 ล้านคน ที่ทำการละหมาด วันละ 5 ครั้ง จะมีการกล่าวสรรเสริญรำลึกถึงท่านศาสดาเป็นจำนวน 3,250 ล้านครั้ง ต่อวันทั่วโลก หรือ คิดเป็นรายชั่วโมงได้ 135 ล้านครั้ง ต่อชั่วโมง หรือ คิดเป็นจำนวนถึง 2.25 ล้านครั้ง ในทุก ๆ 1 นาที

ซึ่งผู้เขียนไม่คิดว่ายังจะมีมนุษย์ผู้ใดในโลกที่ได้เสียชีวิตไปแล้วถึง 1,400 กว่าปี แต่ยังคงมีผู้คนรำลึกและกล่าวสวดขอพรสดุดีสรรเสริญให้อย่างมากมายในอัตราเช่นนี้ในทุก ๆ วัน (ไม่ได้นับรวมการละหมาดซุนนะฮ์--กระทำโดยสมัครใจ--อีกหลายครั้งในแต่ละเวลา ที่จะทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า) และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

และผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งในประเทศเดนมาร์กและโลกตะวันตก อาจจะไม่ทราบว่า การลบหลู่จาบจ้วงต่อท่านศาสดาในศาสนาอิสลามไม่ว่าจะเป็นท่านศาสดาองค์ใดก็ตาม เช่น นุฮ (โนอา) อิบรอฮีม (อับราฮัม) มูซา (โมเสส) อีซา (เยซู) หรือ มุฮัมหมัด (ซ.ล.) เป็นบาปใหญ่ในทัศนะอิสลาม ผู้ที่เป็นมุสลิมทุกคนจะต้องให้ความเคารพและยอมรับต่อศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกท่านอย่างเสมอกัน ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอ่านได้กล่าวว่า

"จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ว่า เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮแล้ว และได้ศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานแก่เรา และสิ่งที่ถูกประทานแก่อิบรอฮีม และอิสมาอิล และอิสฮาก และยะอกูบ และบรรดาผู้สืบเชื้อสาย (จากยะอกูบ) และศรัทธาต่อสิ่งที่มูซา และอีซา และนบีทั้งหลายได้รับจากพระเจ้าของพวกเขา โดยที่เราจะไม่แยกระหว่างคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเขา และพวกเรานั้น เป็นผู้ที่นอบน้อมต่อพระองค์" (อัล-กุรอ่าน, 3: 84)

ดังนั้น การ์ตูนตลกเพียงสิบสองช่อง จึงได้กลายเป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก และเป็นการแลกกับเสรีภาพในการแสดงออกที่นอกจากจะไม่ฉลาดเอาเสียเลยแล้ว ยังเป็นการอ้างเหตุผลที่หยาบมาก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเจ็บปวด และอารมณ์โกรธแค้นที่แพร่สะพัดไปในหมู่พี่น้องมุสลิมทั่วทุกมุมโลกขณะนี้นั้น ผู้เขียนอยากจะลองเชิญชวนพี่น้องมุสลิมในทุกกัมปงได้ลองมาตั้งสติ เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะได้หาแนวทางตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ในโอกาสต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาอื่น ๆ จะถูกลบหลู่

การ์ตูน: วัฒนธรรมตลกขบขัน หรือการสร้างภาพตัวแทนของอำนาจ
ก่อนอื่นผู้เขียนเห็นว่า เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจบทบาทและการกลไกการทำงานของภาพการ์ตูน เพราะเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกมึนงงว่าทำไมโลกมุสลิมจึงตลกไม่เป็น และทำไมสังคมมุสลิมจึงเป็นสังคมที่ไม่มีอารมณ์ขันเป็นวัฒนธรรมเอาเสียเลย ดังที่ มาร์โค ชาวอิตาลี ได้สะท้อนความรู้สึกว่า "เรา ชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอิตาลี สร้างเรื่องขบขันได้กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ศาสนา หรือแม้แต่พระผู้เป็นเจ้า และประเพณีความขบขันคือแหล่งที่มาสำคัญของเสรีภาพเสมอ"

นอกจากนั้น ยังมีสตรีชาวเดนมาร์กคนหนึ่งได้ยืนยันว่า การมีอารมณ์ขันนั้นเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ว่าสิ่งที่จะนำมาใช้สร้างอารมณ์ขบขันจะเป็นศาสดาหรือพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาใด ๆ ก็ตาม เพราะสิ่งสุดยอดของมนุษย์คือ การได้มีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ดังนั้น เธอจึงได้ยกตัวอย่างโดยนำภาพการ์ตูนล้อเลียนพระเยซูมาแสดงให้ดูเป็นจำนวนสองภาพ คือ ภาพแรกขณะท่านกำลังเตะลูกฟุตบอลกับเด็ก ๆ และเธอบรรยายใต้ภาพว่า "ในขณะที่ความจริงพระเยซูไม่เคยเตะลูกฟุตบอล"

และภาพที่สอง เป็นภาพพระเยซูกำลังแสดงทอร์คโชว์ และบรรยายใต้ภาพว่า "ในขณะที่ความจริงพระเยซูไม่เคยแสดงทอร์คโชว์" สิ่งที่เธอต้องการบอกสังคมมุสลิมจากภาพทั้งสองก็คือ แม้แต่พระเยซู หรือศาสดาอื่น ๆ สังคมของเธอก็ได้นำมาล้อเลียนได้ และไม่เห็นมีใครเดือดร้อนวุ่นวายเหมือนพวกมุสลิม แต่น่าเสียดายที่เธอไม่ได้วิเคราะห์การสร้างภาพตัวแทนของพระเยซูที่เธออ้าง กับการสร้างภาพตัวแทนของศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) จากการ์ตูนสิบสองช่องของเดนมาร์ก ซึ่งให้ความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงต่อผู้รับสาร

จากมุมมองของวัฒนธรรมศึกษา การเขียนภาพการ์ตูนดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องพื้น ๆ ของภาพตลก ๆ เพียงสิบสองภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตก ที่ต้องการผลิตอารมณ์ขบขันให้กับชาวโลกเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องของอุดมการณ์อำนาจโดยแท้จริงในการสร้างภาพตัวแทน "ผู้อื่น" บนฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ปราศจากความเท่าเทียมกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและโลกอิสลาม

เพราะในการมองภาพทุกครั้ง ผู้มองต้องมีการถอดรหัสภาพ ตีความหมาย และฝังมันเข้าไปในสมองว่าภาพนั้นเป็นตัวแทนของอะไร ภาพการ์ตูนสิบสองช่องล้อเลียนท่านศาสดา (ซ.ล.) จึงมีพลังเพื่อสร้างภาพตัวแทนในลักษณะการเหมารวมว่าอิสลาม คือ

- ศาสนาแห่งความป่าเถื่อน (ในขณะที่ตะวันตกเป็นผู้มีอารยะ)
- อิสลามคือศาสนาที่นิยมความรุนแรง (ในขณะที่ตะวันตกเป็นผู้รักสันติและมีเหตุผล)
- อิสลามเป็นศาสนาแห่งการกดขี่ผู้หญิง (ในขณะที่ตะวันตกเป็นผู้ที่เคารพในสิทธิสตรี)
- และประการสำคัญ อิสลามเป็นศาสนาแห่งการปิดกั้น (ในขณะที่ตะวันตกเป็นผู้ที่มีเสรีทางความคิดอย่างเต็มที่)

ดังนั้น ความเข้าใจของเพื่อนต่างศาสนาที่ไม่ได้ศึกษาและเข้าใจอิสลามอย่างแท้จริง จึงมีแต่ภาพตัวแทนศาสนาอิสลามที่มีความหมายคับแคบและบิดเบือน เพราะอิสลามถูกถอดรหัสเป็นศาสนาที่อันตรายและคุกคามสังคมโลก และภาพดังกล่าวได้เข้าไปฝังอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของผู้คนโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่เคยได้ยินเพื่อนต่างศาสนาจำนวนมาก ที่มาสารภาพให้ฟังในภายหลังว่า "ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมตนจึงมีความรู้สึกที่ไม่ดีและรู้สึกกลัวคนที่เป็นมุสลิม ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อได้รู้จักแล้วก็ไม่เห็นจะน่ากลัวเหมือนที่คิด"

ในขณะที่ภาพพระเยซูที่ถูกนำมาล้อเลียนนั้น ถอดรหัสได้ชัดเจนว่า ช่างเป็นภาพที่แสนจะอบอุ่นของผู้ใหญ่ที่มีความรัก ความเมตตาต่อเด็ก และเข้าถึงใกล้ชิดเด็ก ดังนั้น การสร้างความหมายให้กับโลกมุสลิมโดยผ่านภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) จึงแตกต่างกับการสร้างความหมายให้กับโลกคริสเตียนผ่านภาพการ์ตูนล้อเลียนพระเยซูโดยสิ้นเชิง

พลังอำนาจของภาพการ์ตูนกับการสร้างภาพตัวแทน ได้ฝากบทเรียนที่สำคัญให้กับประวัติศาสตร์โลก จากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสมัยนาซีเยอรมันก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเราทราบดีว่าเหตุการณ์สยดสยองในครั้งนั้นได้เริ่มจากภาพการ์ตูนต่อต้านล้อเลียน จาบจ้วงชาวยิว

และตามด้วยหนังสือของ เมน คร้าฟ และคริสตอลนาช และมีใครบ้างที่ออกมายอมรับว่า กระทำโดยฮิตเลอร์และนาซีเยอรมันคือ เสรีภาพของสื่อที่มีความชอบธรรม จึงมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ขณะนี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับการผลิตซ้ำความเกลียดชังต่อชาวยิวในสมัยนาซี และใครจะรับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า "พวกมุสลิมคือตัวมะเร็งร้ายของเดนมาร์ก!"

ข้อถกเถียงเรื่อง เสรีภาพ กับความชอบธรรมในการตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียน?
ความจริงแล้ว การอ้างความชอบธรรมถึงเสรีภาพในการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลกตะวันตกเสียทั้งหมด และก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งในแวดวงวิชาการและสื่อมวลชนว่า การอ้างสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกดังกรณีการพิมพ์การ์ตูนสิบสองช่องนั้น มีความชอบธรรมหรือไม่ในเมื่อไปขัดแย้งกับคุณค่าบางอย่างของผู้อื่น ทั้งนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังเช่น การถกเถียงของสื่อในประเทศอังกฤษ ชื่อ การ์ดเดี่ยน อันลิมิเตท

ฟิลิปส์ เฮนส์เชอร์ เห็นว่าสื่อมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการตีพิมพ์การ์ตูนดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นการจาบจ้วงต่อศาสนา. ก่อนอื่นเฮนส์เชอร์ยอมรับว่าภาพการ์ตูนทั้งหมดนั้นเป็นการจาบจ้วงอย่างร้ายแรงต่อศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) กำลังโพกผ้าคลุมผมที่มีข้อความพิมพ์เป็นภาษาอาหรับติดอยู่ว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ และมุฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ" พร้อมกับมีลูกระเบิดผูกติดอยู่ที่ศีรษะของท่าน แต่เฮนส์เชอร์เห็นว่ามันก็ไม่ได้เป็นความจริงไม่ใช่หรือ หากจะมีใครบอกว่าอิสลามเป็นศาสนาที่นำสู่การใช้ระเบิดพลีชีพ หรือสอนให้คนนิยมการก่อการร้าย

เฮนส์เชอร์มองว่า ภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวอาจจะดูเป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกไม่คุ้นเคยนัก และเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจที่พวกเขาต้องถูกจาบจ้วงต่อความเชื่อทางศาสนา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การใช้การ์ตูนเดนมาร์กในโลกมุสลิมขณะนี้โดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านประเทศเดนมาร์ก โดยใช้วิธีการที่สุดโต่งทั้งหลายเป็นเรื่องที่เราควรท้าทายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีเป้าหมายเพียงเพื่อที่จะกดดันให้มีการจำกัดเสรีภาพของสื่อในเรื่องราวของศาสนาในโลกตะวันตก พร้อม ๆ กับการการปิดกั้นสื่อในบ้านของตัวเอง

เฮนส์เชอร์เรียกร้องว่า ทำไมผู้คนจึงเกือบลืมไปว่าระบบกฏหมายของตะวันตกได้รับการมองว่าเป็นตัวแบบที่ดีที่สุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลประการเดียวที่สำคัญที่สุดคือ การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้ ในขณะที่โลกมุสลิมแทบจะไม่มีวัฒนธรรมของการโต้แย้งในเรื่องสำคัญ ๆ เลย

เฮนส์เชอร์เห็นว่า หากแรงกดดันของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยในโลกมุสลิม สามารถสำแดงพลังอย่างมีประสิทธิผลต่อประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปเช่นเดนมาร์กแล้ว พวกมุสลิมก็จะมีความฮึกเหิมที่จะเข้ามากำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษต่อไป ดังนั้น หากมีใครในโลกมุสลิมที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าในเรื่องศาสนาหรือเรื่องอื่น ๆ โลกตะวันตก จะเป็นที่แห่งเดียวที่พวกเขามองเห็นและเรียนรู้ได้ เสรีภาพในการตีพิมพ์ภาพล้อเลียนครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและมีความชอบธรรม

ในขณะที่ แกรี่ ยัง โต้แย้งกลับไปว่า, เมื่อปี 2545 ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์นิวสเตทส์แมน ของประเทศอังกฤษ ได้ตีพิมพ์รูปธงสัญลักษณ์ของชาวยิว พร้อมกับข้อความโจมตีความเห็นแก่ตัวของชาวยิว ปรากฏว่าสำนักงานของหนังสือพิมพ์ถูกประท้วงจากชาวยิว และได้เรียกร้องให้มีการขอโทษ และทางสำนักพิมพ์ได้ออกมาขอโทษอย่างรวดเร็ว แล้วเหตุใดการเรียกร้องของชาวมุสลิมในกรณีการ์ตูนล้อเลียนศาสดา จึงสมควรได้รับการตอบรับที่แตกต่างจากชาวยิว ในขณะที่ ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ยอมรับโดยสากลแล้วว่า ภาพการ์ตูนดังกล่าวเป็นการจาบจ้วงต่อศาสนาอิสลาม แล้วทำไมกรณีการจาบจ้วงต่อศาสนาของชาวยิว จึงไม่มีการปกป้องต่ออุดมการณ์เสรีภาพในการแสดงออก แต่กลับยอมแลกเสรีภาพนั้นด้วยการเซ็นเซอร์ด้วยเหตุผลทางศาสนา

หรือเมื่อสามปีที่ผ่านมานี้เอง ทำไมหนังสือพิมพ์แดนนิชเดลี่ จึงปฏิเสธไม่ยอมตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสนาคริสต์ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่ตลกและอาจจาบจ้วงผู้อ่าน และในปี 2546 นักเขียนการ์ตูนชาวเดนมาร์กชื่อ คริสโตเฟอร์ ซีลเลอร์ ได้นำภาพการ์ตูนเกี่ยวกับการกลับมาของพระเยซูคริสต์นำเสนอต่อหนังสือพิมพ์เจลแลนดส์โพสเทน แต่เขาได้รับการตอบกลับจากบรรณาธิการว่า "ผมไม่คิดว่าผู้อ่านของเจลแลนดส์โพสเทน จะชื่นชอบภาพการ์ตูนเหล่านี้ ผมคิดว่าอาจถูกผู้อ่านประท้วงด้วยความโกรธผมจึงไม่ขอตีพิมพ์มัน"

แกรรี่ ยัง ยืนยันว่า สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออกนั้น ไม่ได้หมายถึงการมีสิทธิจาบจ้วงผู้อื่น หรือการไม่ต้องห่วงใยใส่ใจกับความรู้สึกของผู้อื่น ดังนั้น การที่สนับสนุนให้คนมีเสรีภาพในการทำบางสิ่ง กับการประณามในสิ่งที่เขาได้ทำ (หากละเมิดต่อผู้อื่น) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด

หากเราเห็นว่าการมีเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นคุณค่า และอุดมการณ์ที่สำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเห็นว่าการมีความเชื่อที่ต่อต้านการเหยียดศาสนาหรือเหยียดเผ่าพันธุ์ ก็จะต้องเป็นคุณค่าและอุดมการณ์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ถึงแม้ว่าการ์ตูนเหล่านี้ได้พาดพิงถึงศาสดา แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการกล่าวถึงจุดเปราะบางที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยแท้ เพราะเกิดขึ้นในสภาพการณ์ชีวิตประจำวันที่ชาวมุสลิมในยุโรป กำลังถูกรุมเร้าด้วยนโยบายที่เลือกปฏิบัติ และการดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นพวกก่อการร้าย ภาพการ์ตูนดังกล่าว จึงเป็นการเติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังที่มีต่อชาวมุสลิม
ดังนั้น ในทัศนะของแกรรี่ ยัง สิทธิในการจาบจ้วงจึงต้องควบคู่ไปกับสิทธิความรับผิดชอบในสิ่งที่ตามมา ไม่ว่าการจาบจ้วงนั้นจะเป็นการกระทำต่อปัจเจกบุคคลหรือต่อชุมชน แกรี่ ยัง เห็นว่า ถึงแม้ว่า ฝ่ายมุสลิมได้มีการตอบโต้อย่างรุนแรงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นและสมควรต้องประณาม ในขณะที่มุสลิมส่วนใหญ่ได้ใช้การตอบโต้โดยสันติวิธี ได้แก่ การเรียกเจ้าหน้าที่ทางการทูตกลับประเทศ การยื่นหนังสือเรียกร้องการขอโทษ หรือการบอยคอตสินค้า เป็นต้น

แกรรี่ ยัง ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขานึกถึงคำพูดของ สตีฟ บิโก นักต่อสู้ชาวอัฟริกันที่ว่า "พวกคนผิวขาวนั้นไม่ได้กำลังเตะเราอยู่เท่านั้น แต่พวกเขากำลังสอนเราด้วยว่า ควรจะตอบโต้อย่างไรเมื่อเราถูกเตะ"

ความขบขันและเสรีภาพในสังคมมุสลิม
ศาสนาอิสลามมักจะถูกสร้างภาพเสมอว่าเป็นศาสนาที่ไม่มีอารมณขัน และไม่ให้ผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงออก จึงทำให้อิสลามเป็นศาสนาที่ล้าหลังกว่าโลกตะวันตก ภาพดังกล่าวดูจะเป็นจริงอยู่มาก หากมองจากมุมที่มีประเทศมุสลิมจำนวนไม่น้อย ที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของคำสอนของศาสนา ที่ยังคงเปิดกว้างให้เสรีภาพกับผู้คนทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ที่อยู่การปกครองของสังคมมุสลิม

ในขณะที่ชาวตะวันตกได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าสังคมมุสลิม ช่างขาดแคลนอารมณ์ขันเสียเหลือเกินนั้น พวกเขาคงลืมไปว่าในโลกตะวันตก ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องเล่าของท่านนัสรุดดินเป็นจำนวนมากมาย ท่านนัสรุดดิน เป็นนักปรัชญามุสลิมที่มีชื่อเสียงและชาญฉลาด อาศัยอยู่ในเอเชียกลางช่วงยุคกลาง เรื่องราวของท่านเป็นที่รู้จักและจดจำโดยทั่วไปในดินแดนแถบเปอร์เชีย อาหรับ และตุรกี ในลักษณะเรื่องสั้นชวนขำคล้ายกับเรื่องเล่าขำ ๆ ในหมู่พุทธนิกายเซ็น เรื่องราวของนัสรุดดินจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นความสำเร็จที่สุดอันหนึ่งของประวัติศาสตร์ และอภิปรัชญา

เรื่องเล่าส่วนใหญ่ของนัสรุดดินอาจจะเป็นลักษณะเรื่องตลกขบขัน และถูกเล่าครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเป็นอมตะ ตามร้านน้ำชาและกองคาราวาน ในบ้านและคลื่นวิทยุในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตาม เราอาจจะทำความเข้าใจเรื่องราวของนัสรุดดินในลักษณะการแฝงให้ข้อคิดที่ลุ่มลึก นัสรุดดินจึงให้ทั้งความตลกขบขัน และแง่มุมเชิงศีลธรรมพร้อม ๆ กันไป และยังมีแง่มุมเชิงจิตวิญญาณในการที่จะช่วยยกระดับ และปลุกจิตสำนึกของมนุษย์เพื่อให้รู้จักตัวเองและเข้าใจเพื่อนมนุษย์

นอกจากนั้น เรื่องสั้นของนัสรุดดินมักจะมีลักษณะเสียดสีโจมตีโดยไม่มีความเกรงกลัวผู้ใด ถึงแม้ว่าผู้ฟังจะเป็นถึงสุลต่าน หรือเจ้าผู้ครองเมืองที่มีความฉ้อฉลสูงสุดในสมัยของท่าน นัสรุดดินจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์เรื่องชวนขันเชิงเสียดสี และความรู้สึกขบถของประชาชนต่อราชวงศ์ที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองในภูมิภาคแถบนี้ งานล่าสุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์งานเขียนของนัสรุดดิน โดยเปอร์เทฟ นาอิลี โบราท็อฟ ได้ชี้ให้เห็นว่า มีเรื่องราวจำนวนมากของนัสรุดดินที่สะท้อนถึงความไม่ชอบธรรมทางการเมือง หรือการท้าทายต่อระเบียบแบบแผนและค่านิยมในสังคมในยุคนั้น

และนี่คือบางเรื่องที่ผู้เขียนขอหยิบยกมาให้ท่านผู้อ่านเพื่อเป็นตัวอย่าง
มีผู้ปกครองที่ฉ้อฉลท่านหนึ่งได้กล่าวแก่นัสรุดดินว่า "ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีตนั้น มักจะได้รับเกียรติด้วยการตั้งชื่อสมญานามให้โดยมีคำว่า '......จากพระผู้เป็นเจ้า' ดังเช่น ผู้เป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นที่ยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น ดังนั้น ท่านช่วยตั้งชื่อให้ฉันสักชื่อหนึ่งซิ" นัสรุดดินจึงตอบไปว่า "ได้ซิ ฉันขอตั้งชื่อท่านว่า ผู้เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม )จากพระผู้เป็นเจ้า"

ในหนังสือ ชื่อ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทัศนะอิสลาม" ซึ่งเขียนโดย เชค อับดุสสลาม อัล บาสุนี ได้พยายามแก้ไขความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกตามคำสอนของศาสนาอิสลาม เชค อับดุสสลาม อัล บาสุนี ได้ชี้ให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว ศาสนาอิสลามได้ส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องสิทธิของการมีเสรีภาพในการแสดงออก อิสลามมีระบบที่ประกันการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจสรุปให้เห็นได้ดังนี้

- ห้ามไม่ให้มีการข่มขู่ การคุมขัง ทรมานทำร้าย หรือการลงโทษด้วยวิธีการใด ๆ ต่อมุสลิมที่เขาแสดงความคิดเห็นโดยชอบด้วยกฎหมาย

- ชุมชนมุสลิมจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในการที่จะสนับสนุนและปกป้องมุสลิมที่แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ตราบที่มันเป็นไปเพื่อความถูกต้องและเหมาะสม

- มุสลิมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องรัฐหากมีการถูกกดขี่ใด ๆ เกิดขึ้น โดยที่ระบบการศาลตัดสินจะต้องมีความเป็นอิสระแยกออกจากเจ้าหน้าที่อื่น ๆ แม้กระทั่งแยกออกจากผู้ปกครอง

- อิสลามไม่ยอมรับการถูกยัดเยียดด้วยความคิดเห็นหนึ่งความคิดเห็นใด ในขณะที่มีความคิดเห็นอื่น ที่อาจจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน

- มุสลิมจะต้องยอมรับและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ โดยปราศจากการระแวงสงสัยถึงการกระทำและความจริงใจของผู้อื่น

- อิสลามรับประกันความง่ายดายในการเข้าถึงผู้ปกครอง และการแสดงความคิดเห็นต่อผู้ปกครอง

- อิสลามส่งเสริมและให้รางวัลแก่มุสลิมที่มีพูดความจริง เพื่อธำรงความยุติธรรม และให้ข้อแนะนำที่ดีต่อผู้อื่น

ดังนั้น สิ่งที่แตกต่างระหว่าง"ระบอบอิสลาม"กับ"ประชาธิปไตยตะวันตก" คือ ในขณะที่ประชาธิปไตยตะวันตกนั้น ถือว่าประชาชนเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของกฏหมาย แต่อิสลามถือว่าเจ้าของอำนาจอธิไตยที่แท้จริงนั้นคือ พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และได้วางหลักการต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ผ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และแบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ดังนั้น เสรีภาพในทัศนะของอิสลามจึงได้รับการประกันจากองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่จากมนุษย์ด้วยกันเอง เพื่อพิทักษ์ความเสมอภาค และความยุติธรรมโดยที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของมนุษย์ด้วยกันเอง

บทสรุป และแนวทางการตอบโต้เชิงสร้างสรรค์
ในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่างมีการติดต่อสื่อสาร และการเคลื่อนย้ายไปหากันอย่างรวดเร็วนั้น ได้ทำให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาการไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ พัฒนาการดังกล่าวสะท้อนได้ชัดจากเติบโตอย่างรวดเร็วของศาสนาอิสลามในยุโรปและอเมริกา จนทำให้มุสลิมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศยุโรปแทบทั้งหมด รวมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และในแต่ละประเทศนั้นมีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนหลายล้านคน

จากบทเรียนกรณีการจาบจ้วงศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) โดยใช้ภาพการ์ตูนสิบสองช่องโดยการอ้างยึดมั่นในคุณค่าเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่ยี่หระและเคารพต่อชนกลุ่มอื่นที่กำหนดคุณค่าที่ต่างออกไป จนนำมาซึ่งการต่อต้านขยายวงไปทั่วโลกนั้น ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า เรื่องของความอ่อนไหวทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมืองเรื่องอัตลักษณ์นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทุกฝ่ายจะต้องให้การระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติ

ในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง ที่ยึดมั่นและใส่ใจในศาสนาเช่นเดียวกับท่านผู้อ่าน จึงใคร่ขอ ลองนำเสนอแนวคิดเบื้องต้น เพื่อนำสู่การกำหนดท่าทีต่อการตอบโต้เชิงสร้างสรรค์ตามแนวทางอิสลามเท่าที่ผู้เขียนเข้าใจ และมีภูมิปัญญาที่จำกัดทางด้านความรู้ทางศาสนา ดังนี้

1) ผู้เขียนมีความเห็นเช่นเดียวกันกับมุสลิมโดยทั่วไปว่า ผู้ที่เป็นมุสลิมจะต้องไม่นิ่งเฉยและเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องตอบโต้การจาบจ้วงดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามอีกครั้งหนึ่งของโลกตะวันตก ที่ต้องการจะสถาปนาอาณานิคมทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้อื่นต้องยอมรับในคุณค่าความหมายเดียวกับตน แม้แต่เรื่องราวตลกชวนหัวที่หยาบแสนหยาบ ก็ยังต้องการผูกขาดให้ผู้อื่นมีวัฒนธรรมของอารมณ์ขันเช่นเดียวกับตน ภายใต้ข้ออ้างของเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการตอบโต้ของพี่น้องมุสลิมควรต้องเป็นไปอย่างมีสติและสร้างสรรค์ ด้วยความมีขันติธรรมและสันติธรรม การตอบโต้โดยการใช้วิธีการรุนแรงอย่างสุดโต่งและเต็มไปด้วยอารมณ์นั้น นอกจากไม่ใช่วิธีการที่อิสลามส่งเสริมแล้ว ยังรังแต่จะช่วยผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของอิสลามที่ตะวันตกต้องการจะสื่อให้กับชาวโลก

ดังที่มีชาวเดนมาร์กคนหนึ่งชื่อ รูเน่ เวสเตอร์การ์ด ได้สะท้อนความในใจออกมาให้เราได้ยินว่า "ตอนแรกผมได้เข้าใจว่าเหตุใดภาพการ์ตูนจึงเป็นการจาบจ้วงต่อชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพการล้อเลียนศาสดาที่ใช้ลูกระเบิดโพกติดอยู่บนผ้าสะระบั่น แต่เมื่อเราได้เห็นการประท้วงที่รุนแรง การเผาธงชาติ เผาสถานทูตหลายแห่ง พร้อม ๆ กับโบกธงเขียวของอิสลามในขณะที่ตะโกนว่า อัลลอฮุ อัคบัร ดังนั้น มันเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจตรงไหนที่ชาวตะวันตกมักจะโยงอิสลามกับความรุนแรง?"

2) มุสลิมควรที่จะต้องทำงานให้หนักมากขึ้น ในการที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามต่อเพื่อนต่างศาสนา และเชิญชวนพวกเขาได้ศึกษาชีวิตและประวัติศาสตร์ของท่านศาสดา (ซ.ล.) ดังโองการจากอัล-กุรอ่าน ซูเราะฮ์อันนะฮ์ล์ อายะฮ์ที่ 125 ซึ่งมีใจความว่า "จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้น พระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่หลงทางจากทางของพระองค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง"

3) การแสวงหาพันธมิตรต่างศาสนา
เราต้องไม่ลืมว่า ยังมีเพื่อนต่างศาสนาในทั่วทุกมุมโลกที่รักความเป็นธรรม และเข้าใจการที่เราถูกลบหลู่เหยียดหยาม ทั้งนี้เพราะเขาเหล่านั้นก็อาจเคยตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับพวกเราชาวมุสลิมขณะนี้ ดังที่เราเคยได้ยินข่าวเป็นระยะ ๆ ดังตัวอย่างเช่น กรณีเพื่อนชาวพุทธถูกลบหลู่โดยพิมพ์รูปพระพุทธรูปติดสินค้าโดยไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม หรือ อี เอช คราอิล ชาวออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า "เสรีภาพของสื่อไม่ได้มีไว้เพื่อการกระทำการที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้ว่าฉันเป็นคนที่ไม่มีศาสนา แต่ฉันก็เห็นว่าการจาบจ้วงลบหลู่ผู้อื่นที่มีความเชื่อที่ต่างกันออกไปนั้น เป็นสิ่งที่ฉันยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง"

ผู้เขียนได้ฟังวิทยุกัมปงออนแอร์ที่ออกอากาศในเรื่องกรณีการ์ตูนภาพล้อเลียน และพบว่ามีชาวพุทธจำนวนหลายคนได้โทรศัพท์เข้ามาในรายการ เพื่อแสดงความเห็นใจเราชาวมุสลิม สิ่งนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมไม้ร่วมมือ ระหว่างศาสนา การแสวงหาพันธมิตรจากทุกฝ่ายนั้นน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เพิ่มพลังของการต่อสู้เชิงสร้างสรรค์ ผู้เขียนเห็นว่าการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อการที่ศาสนาหนึ่งศาสนาใด หรือมนุษย์คนหนึ่งคนใด ถูกจาบจ้วงลบหลู่ หรือถูกละเมิดสิทธินั้น น่าจะเป็นคุณค่าที่เป็นสากลของมนุษย์ทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา ที่ทุกคนจะต้องร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันในการต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม

พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอ่านได้กล่าวไว้ว่า "ผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย! จงปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮเถิด แท้จริงอัลลอฮนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้ อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน" (กุรอ่าน, 5: 8)

4) ในขณะเดียวกัน เราผู้ที่เป็นมุสลิมคงจะต้องมีความระมัดระวังเช่นเดียวกันในการที่จะดูถูกกล่าวหา หรือล้อเลียนผู้อื่นที่มีความเชื่อ หรือนับถือศาสนาที่ต่างจากเรา แอนดรู แมคคินซี ชาวอเมริกัน ได้กล่าวเชิงตำหนิมุสลิมว่า "ฉันเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นช่างไร้เหตุผลสิ้นดี มีจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนที่มุสลิมและสำนักพิมพ์ของอิสลาม ได้ล้อเลียนชาวอเมริกันหรือผู้อื่นอย่างไม่ให้เกียรติเลย"

ดังนั้น เราควรที่จะต้องจดจำอยู่เสมอในสิ่งที่อิสลามสอนเราว่า "ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา" และในโองการสุดท้ายของซูเราะฮ์อัล-กาฟิรูน ที่มุสลิมเราคุ้นเคยกันทุกคนคือ "สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน"

ผู้เขียนขอดุอาอ์จากเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ให้มุสลิมทุกคนที่มีความเจ็บปวด และอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจในภาพล้อเลียนท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ที่เรารักเหนือมนุษย์ผู้ใดในโลก ได้ฝ่าฟันความยากลำบากทางจิตใจที่เป็นหนึ่ง ในการทดสอบจากองค์พระผู้เป็นเจ้าไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ และด้วยวิธีการที่สันติอันเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า "อิสลาม" และขอให้เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ทรงเปิดนำทางให้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ช่วยให้เพื่อนต่างศาสนา รวมทั้งพี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้หันมาเข้าใจแก่นของอิสลาม ที่สอนให้เรามีแต่ความรัก ความเอื้อาทร และมีจิตใจที่มีแต่การบริการต่อเพื่อนมนุษย์ทุกหมู่เหล่า เพราะด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้เราเข้าถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังคำสอนของอิสลามที่ว่า

"ผู้ใดที่ปฏิบัติดีต่อผู้อื่น นั่นคือเขากำลังปฏิบัติดีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า"

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
140249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออกนั้น ไม่ได้หมายถึงการมีสิทธิจาบจ้วงผู้อื่น หรือการไม่ต้องห่วงใยใส่ใจกับความรู้สึกของผู้อื่น ดังนั้น การที่สนับสนุนให้คนมีเสรีภาพในการทำบางสิ่ง กับการประณามในสิ่งที่เขาได้ทำ (หากละเมิดต่อผู้อื่น) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด
หากเราเห็นว่าการมีเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นคุณค่า และอุดมการณ์ที่สำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเห็นว่าการมีความเชื่อที่ต่อต้านการเหยียดศาสนาหรือเหยียดเผ่าพันธุ์ ก็จะต้องเป็นคุณค่าและอุดมการณ์สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

The Midnightuniv website 2006