นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



กระฎุมพี ประชาธิปไตย การเมืองร่วมสมัย
เรารักในหลวงถึงวาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วยบทความที่เคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ๔ เรื่อง คือ
๑. เรารักในหลวง (นิธิ เอียวศรีวงศ์)
๒. ธรรมราชยาตรา (บทความที่ ๒-๔ : เกษียร เตชะพีระ)
๓. ที่เรียกว่าถวายพระราชอำนาจคืน
๔. วาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 834
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)




เรารักในหลวง วาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วยบทความที่เคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ๔ เรื่อง คือ
๑. เรารักในหลวง (นิธิ เอียวศรีวงศ์)
๒. ธรรมราชยาตรา (บทความที่ ๒-๔ : เกษียร เตชะพีระ)

๓. ที่เรียกว่าถวายพระราชอำนาจคืน

๔. วาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน

เรื่องที่ ๑. เรารักในหลวง (นิธิ เอียวศรีวงศ์)
เรื่องที่ผมจะคุยต่อไปนี้ล้วนลอกขี้ปากของครูผมคนหนึ่งมา ผมพบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในการสนทนากันนี้น่าสนใจ และเกินสติปัญญาที่ผมจะคิดได้เอง จึงอยากนำมาเล่าต่อ

ผมคิดอยู่นานว่าจะอ้างชื่อของครูดีหรือไม่ ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าไม่อ้างดีกว่า ตัวท่านเองก็เขียนหนังสือมาก จนผมตามอ่านไม่หมด ฉะนั้น ถ้าท่านเขียนไว้แล้ว คนที่เคยอ่านก็คงรู้แล้วว่าผมลอกเขามา ถ้าท่านยังไม่ได้เขียนสักวันหนึ่งท่านก็คงเขียน และก็รู้กันว่าผมลอกเขามาอยู่นั่นเอง

ที่ต้องออกตัวเป็นจ้าละหวั่นแต่ต้นนั้น ไม่ใช่เพราะเรื่องมันน่ากลัวหรืออันตรายอะไรหรอกนะครับ อันที่จริงครูผมท่านพูดไว้นิดเดียว แต่ผมเอามาขยายความเอาเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายแก่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงสนทนา แถมยังเติมอะไรลงไปตามใจชอบเสียอีก ฉะนั้น ถึงอย่างไรผมก็ต้องรับผิดชอบเต็มประตูอยู่นั่นเอง

คงเคยเห็นป้ายที่ติดหลังรถยนต์ - ซึ่งน่าสังเกตด้วยนะครับว่าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล - หรือบางครั้งก็บนแผ่นหลังของหญิงชายที่สวมเสื้อยืดสีเหลือง ข้อความมีว่า "เรารักในหลวง" หรือบางแห่งก็รู้ขนบธรรมเนียมดีกว่านั้น กลายเป็น "เรารักพระเจ้าอยู่หัว" คำว่า "รัก" บางทีก็ไม่เป็นตัวอักษร หากเป็นรูปหัวใจสีแดงแทน

ย้อนไปเพียงร้อยปีที่แล้ว คนไทยสมัยนั้น ไม่ว่าจะมีความรู้สึกต่อพระเจ้าอยู่หัว คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม คงไม่กล้าใช้คำกริยาว่า "รัก" กับพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันขาด เพราะคำว่า "รัก" เป็นทั้งกริยาและความรู้สึกที่มีต่อคนเสมอกับเรา... ถ้าเชื่อเหมือนผมว่าความรักไม่ได้เป็นธรรมชาติ หากเป็นวัฒนธรรม ฉะนั้น ความรู้สึกรักในแต่ละวัฒนธรรมและยุคสมัยจึงต่างกัน... และคำนี้ในภาษาไทยอย่างน้อยนับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา หมายถึงกิริยาและความรู้สึกที่เราอาจมีต่อคนที่เท่าเทียมกับเรา

แล้วทวยราษฎรจะไปมีกิริยาและความรู้สึกที่เท่าเทียมกับพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างไร

จริงอยู่หรอกครับว่า คนขับรถเจ้าคุณอาจไป "รัก" กับลูกสาวเจ้าคุณได้ในนวนิยายรุ่นแรกๆ ของไทย แต่นั่นหมายถึงความรู้สึกระหว่างมนุษย์ที่ถอดเอาสถานภาพออกไปแล้ว และกลับมาเป็นมนุษย์ซึ่งล่อนจ้อนจากสังคมเท่ากัน อันเป็น "สาร" สำคัญที่นวนิยายสื่อให้แก่ผู้อ่าน

แม้ผู้ตั้งพระสมัญญานามแด่พระพุทธเจ้าหลวงจะใช้คำว่า พระเจ้าอยู่หัว เป็น "ที่รัก" ของราษฎร แต่ไม่มีใครกล้าใช้คำนี้กับพระเจ้าอยู่หัว ที่ใกล้ที่สุดที่จะเปล่งออกมาในภาษาไทยได้ก็คือ "พระปิยมหาราช"... เป็นเสียงแขกที่สลัดนัยะสำคัญแห่งความเท่าเทียมของคำว่า "รัก" ในภาษาไทยออกไปเสีย

ยังมีอีกคำหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ยินใครใช้กับพระเจ้าอยู่หัวบ่อยนัก นอกจากพวกผู้ดีเก่าหรือผู้ดีใหม่ที่มีอำนาจทางสังคมและการเมือง นั่นคือ "สงสาร" เช่น คุยการเมืองกันแล้วพูดถึงการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแย่งอำนาจกันทางการเมืองว่า "สงสารพระเจ้าอยู่หัว" หรือ "สงสารในหลวง"

คำนี้ยิ่งแล้วใหญ่นะครับ เพราะกิริยาและความรู้สึกอย่างนี้เป็นสิ่งที่คนไทยสมัย ร.5 คิดไม่ถึงว่า เราจะมีต่อพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างไร เพราะสงสารมักเป็นความรู้สึกที่มีต่อคนที่ด้อยกว่า ราษฎรทำได้แค่ "เห็นพระทัย" พระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ถึงกับ "สงสาร"

แม้แต่คำว่า "ในหลวง" แต่ก่อนก็ไม่ใช่คำที่ราษฎรจะใช้เรียกพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นคำที่เฉพาะข้าราชบริพารใกล้ชิดเท่านั้นใช้เรียก แต่เวลานี้ คำว่า "ในหลวง" กลับเป็นคำที่ผู้คนใช้มากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมักเรียกสมเด็จพระศรีนครินทราฯ ว่า "สมเด็จย่า" มีเพลงร้องที่อ้างถึงพระเจ้าอยู่หัว ว่า "พ่อ" ได้เต็มปากเต็มคำ

การนับญาติกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยคิดแม้แต่เป็นพระญาติจริงๆ ก็ไม่พึงเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่าน้อง, ว่าหลาน, ว่าเขย ฯลฯ แต่คนไทยปัจจุบันกลายเป็นเจ้ากันไปทั้งเมือง ความรู้สึกผูกพันกลายเป็นความรู้สึกของเครือญาติ

ในญี่ปุ่น เจ้าฟ้าหญิงอาจเษกสมรสกับชายสามัญชนได้เป็นครั้งแรก แม้ต้องทรงสละอิสริยยศก็ตาม แต่ถ้ามองย้อนกลับไปยังขนบธรรมเนียมอันเคร่งครัดของราชบัลลังก์ดอกทานตะวัน ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก หากชาวญี่ปุ่นกลับต้อนรับการเษกสมรสอย่างราบเรียบ ไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไรเลย...เหมือนลูกสาวของคนที่เราเคารพแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปเท่านั้น

ในอังกฤษ ข่าวอื้อฉาวของเจ้าฟ้าชายและหญิง กลับทำให้คนอังกฤษกลุ่มที่ไม่นิยมสถาบันกษัตริย์ และพลอยไม่ชอบพระบรมราชินีนาถ หันกลับมา "รัก" และ "สงสาร" พระองค์มากขึ้น (แม้ว่าบางคนยังอาจรังเกียจสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิมก็ตาม) คือรู้สึกเห็นใจในความทุกข์และความเดือดร้อนพระทัยของพระองค์ เหมือนที่ผู้คนอาจรู้สึกอย่างนั้นได้กับ "สุภาพสตรีบ้านถัดไป" ซึ่งประสบชะตากรรมเดียวกันนั่นเอง

สังเกตนะครับว่านี่เป็นความรู้สึกแบบ "กระฏุมพี" คือคนชั้นกลางในเมืองนั่นเอง มองมนุษย์เหมือนกันหมด ต่างกันก็แต่ฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น ฉะนั้น ไม่ว่าเลือดจะสีอะไร ก็อาจมีความรู้สึกต่อคนคนนั้นได้ไม่ต่างจากรู้สึกต่อคนเลือดอีกสีหนึ่ง ความผูกพันที่กระฏุมพีมีต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่ความผูกพันอย่างข้าทาสกับนาย แต่เป็นความผูกพันกับคนที่ถือว่าเป็นหัวหน้าของกลุ่มกระฏุมพีด้วยกัน

กระฏุมพีมองเจ้านายเป็นหัวหน้าของตน และคาดหวังพฤติกรรมของเจ้านายอย่างเดียวกับที่ตัวคาดหวังจากคนที่ตัวรัก และศรัทธาในหมู่กระฏุมพีด้วยกัน ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เจ้านายทั้งโลกถูกทำให้เป็นกระฏุมพีไปหมด. เราอาจเรียกความรู้สึกอย่างนี้ว่า ความ "จงรักภักดี" ได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ เพราะความจงรักภักดีก็เหมือนความรู้สึกอีกหลายอย่างของมนุษย์ คือเป็นวัฒนธรรม ฉะนั้น จึงแปรเปลี่ยนเนื้อหาไปได้เรื่อยๆ และผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่แตกต่างจาก "ความจงรักภักดี" ที่คนโบราณมีต่อกษัตริย์ของตัวด้วย

ฉะนั้น กระฏุมพีเป็นคนเปลี่ยนเจ้านายให้เป็นพวกเดียวกับตัว หรือเจ้านายเปลี่ยนเองจึงไม่สำคัญนัก เพราะเจ้านายย่อมต้องการความจงรักภักดีจากราษฎร และกระฏุมพีหรือคนชั้นกลางเป็นส่วนสำคัญที่สุดของราษฎรทั้งหมด จึงเป็นธรรมดาที่เจ้านายกลายเป็นหัวหน้าของกระฏุมพีไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะพอพระทัยหรือไม่ก็ตาม

ในฐานะหัวหน้าของกระฏุมพีนี่แหละครับ ที่ผมคิดว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะด้านที่ถูกเรียกกว้างๆ ว่า "ศีลธรรม" เพราะศีลธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในฐานอำนาจของเจ้านายคือ "ศีลธรรม" แต่สมัยก่อนนี้ เจ้านายมี "ศีลธรรม" ชุดหนึ่ง ในขณะที่ประชาชนอื่นๆ มีศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งเลย

พระเจ้าฮายัม วูรุค ในตำนานเรื่องหนึ่งของชวา ทรงหักหลังคนมาเนืองนองก่อนขึ้นครองราชสมบัติ เป็นชู้เมียเขาจึงเป็นฆาตกรฆ่าผัวเสียด้วยเลย เป็นกษัตริย์แล้วก็ทรงมีสนมนับไม่ถ้วน ไม่ทรงซื่อสัตย์ต่อใครจริงสักคน ทั้งหมดเหล่านี้นักวิชาการเขาอธิบายว่า เนื้อเรื่องเช่นนี้ทำให้ชาวชวาเชื่อว่า พระองค์เป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น จึงทรงอยู่เหนือศีลธรรมของมนุษย์

ความรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษของผมไม่พอจะรู้ได้ว่า ราษฎรในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่เจ็ดรู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนพระราชินีและสำเร็จโทษพระราชินีถึง 7 พระองค์ ตอนองค์แรกราษฎรไม่พูด องค์ 2 ก็ไม่พูดอีก องค์ 3 ก็ยังเฉย แล้วสี่ห้าหกเจ็ดล่ะครับ? ผมสงสัยว่า อาจไม่ถึงขนาดชาวชวาโบราณแต่ก็คงเห็นว่าเจ้านายใช้ศีลธรรมคนละชุดกับตัว ฉะนั้นจึงไม่ใช่ธุระ

แต่เมื่อเจ้านายกลายเป็นหัวหน้ากระฏุมพี ศีลธรรมก็กลายเป็นชุดเดียวกับของกระฏุมพี ความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติทางศีลธรรมของกระฏุมพีจึงกลายเป็นความคาดหวังของผู้คน

ผมใช้คำว่า "อุดมคติ" เพื่อจะบอกว่า ในความเป็นจริงนั้นกระฏุมพีไม่ได้ประพฤติตามอุดมคติอย่างนั้นหรอกครับ แต่เขาอยากให้หัวหน้าของเขาประพฤติสิ่งที่เขาไม่ได้ประพฤติ เช่นกระฏุมพีอาจจะมากชู้หลายเมีย แต่อุดมคติของเขาคือเมียเดียวและความซื่อสัตย์ต่อเมียอย่างไม่บกพร่องใดๆ เจ้านายที่จะได้รับความ "จงรักภักดี" จากกระฏุมพีอย่างเต็มหัวใจต้องทำอย่างนั้นได้

กรณีอื้อฉาวของมกุฏราชกุมารอังกฤษนั้น ถ้าท่านทรงเป็นแค่ประธานบริษัทสักแห่ง ก็เรื่องเล็กนะครับ แต่เพราะท่านทรงเป็นมกุฎราชกุมาร จึงทำให้คนอังกฤษกลืนไม่ค่อยลง

โอรสของราชาธิบดีประเทศเพื่อนบ้านของเราแห่งหนึ่ง ถูกนินทาว่าแอบขนรถหรูเข้าประเทศโดยไม่เสียภาษี ทั้งๆ ที่นักการเมืองของเขาก็มักทำอย่างนั้นอยู่เสมอ และใครๆ ก็ลือกันให้แซดไป แต่ถ้าเป็นเจ้านายแล้ว จะลือและนินทากันมากกว่าหลายเท่านัก

พระสวามีของพระราชินียุโรปอีกประเทศหนึ่ง แอบกินสินบนบริษัทเครื่องบินอเมริกัน ก็นินทากันจนแทบจะไม่อยากให้ใครเห็นพระพักตร์ อันที่จริงเรื่องการกินสินบนก็เป็นสิ่งที่กระฏุมพีปฏิบัติกันแพร่หลายพอสมควร แต่อุดมคติของศีลธรรมไม่อนุญาตให้ทำได้ เจ้านายจึงทำไม่ได้ ส่วนกระฏุมพีทำได้บ้างถ้าแน่ใจว่าไม่มีใครจับได้

เรื่องอุดมคติของศีลธรรมกระฏุมพีจะเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ของชนชั้นเจ้านายทั้งโลก เพราะกลายเป็นกระฏุมพีแล้วไม่ได้เป็นกระฏุมพีธรรมดา แต่กลับถูกบังคับให้เป็นอุดมคติที่ไม่มีใครทำได้เลย

เรื่องที่ ๒."ธรรมราชยาตรา" (เกษียร เตชะพีระ)
1) พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในระบบบูรณาการ (ซีอีโอ) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2546

"อีกปีสองปี เศรษฐกิจจะดีขึ้น ท่านอย่างมาก 10 ปี เพราะว่าเป็นผู้ว่าฯก็ต้องอายุแถวๆ 50 มีผู้ว่าฯน้อยกว่า 50 หายาก. 10 ปีเมืองไทยน่าจะเจริญ ทุจริตก็จะเจริญ เพราะฉะนั้นท่านต้องห้ามทุจริตไม่ให้ขึ้น แล้วท่านจะเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอที่มีประสิทธิภาพ ท่านรองนายกฯท่านอยู่ได้อีก 20 ปี หรืออาจจะอยู่ได้อีก 2 เดือนเราก็ไม่รู้ เพราะว่าเป็นนักการเมือง แต่ท่านไม่ใช่นักการเมือง ท่านเป็นซีอีโอ แต่ซีอีโอมีเกษียณ และกฎหมายบอกต่ออายุไม่ได้ มีแต่ต่ออายุข้าราชการสำนัก ที่จะต่ออายุได้ เพราะว่ามีกฎหมายที่ข้าราชการสำนักต่ออายุได้ ถึงเท่าไรก็ได้ เพราะไม่ทราบว่าลองไปพูดว่าผู้ว่าฯแข็งแรงให้ต่ออายุ เพราะว่าผู้ว่าฯซีอีโอต้องเป็นคนที่สุจริต ทุจริตไม่ได้ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง ให้มีอันเป็น พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็น ถ้าไม่ทุจริต ถ้าสุจริตและมีความตั้งใจในธรรม ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ถ้าอายุมากแล้วก็แข็งแรง แล้วสุจริตประเทศไทยจะรอดพ้นอันตรายอย่างมาก เพราะว่าผู้ที่ทำด้วยความตั้งใจเพียงแค่นี้จะให้พรให้อายุยืนเท่าไรๆ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐบาลยังไม่ให้ต่ออายุ"
(มติชนรายวัน, 2 พฤศจิกายน 2546, น.2)

2) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
บรรยายเรื่อง "ภาครัฐและเอกชนร่วมต้านทุจริต" เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2547

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้ว่าราชการซีอีโอ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ว่าถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป...ในฐานะที่ได้ถวายงานมากว่า 20 ปี ไม่เคยได้ยินพระราชกระแสรับสั่งครั้งใดที่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้เลย...

"ของดีๆ ในบ้านเมืองของเรามีดี เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม Good Governance ในหลวงทรงประกาศมา 57 ปีแล้ว ตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด เราประชาชนคนไทยอยู่ใกล้ของดีไม่เห็น แต่พอ Good Governance เกิดขึ้นมาก็ตื่นเต้น บ้าเห่อกัน ก็มาแปลเป็นธรรมาภิบาล ธรรมรัฐ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอีกว่ามันแปลว่าอะไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า Good Governance คือธรรมะ ไม่ต้องแปลธรรมาภิบาลอะไรให้เวียนหัว บูรณาการ ซีอีโออะไร ไม่ต้องแปล ธรรมะคือความดี พระองค์ทรงใช้ศาสตร์ของความในการครองแผ่นดิน 57 ปี ทรงใช้คำๆ เดียวเท่านั้นเอง ทศพิธราชธรรม"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองการณ์ไกล จะทรงตรัสอะไรคิดหลายตลบ พระองค์ท่านให้เวลา 10 ปีขจัดการโกงกิน ยาวกว่านายกฯ ที่จะขจัดความยากจน 6 ปี..."
(ไทยโพสต์, 17 มีนาคม 2547)

3) บทความและคำให้สัมภาษณ์ของ ธีรยุทธ บุญมี เมื่อต้นปี พ.ศ.2548
"สังคมการเมืองไทยพัฒนามาถึงจุดที่ส่งผลสะเทือนถึงสถาบันสำคัญทุกสถาบัน พสกนิกรทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชนต้องช่วยกันระวังไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นสีดำ จนกระทบกระเทือนสถาบันที่ทุกคนเทิดทูนจงรักภักดี สังคมไทยมีลักษณะพิเศษคือพระมหากษัตริย์เป็นธรรมราชา ทรงทศพิธราชธรรมปกครองแผ่นดินโดยธรรมด้วย สังคมไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยกัน ด้วยการยึดหลักความเป็นธรรม ถ้าสังคมไม่มีหลักความเป็นธรรม ประเทศไทยก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้

"การเผด็จอำนาจเบ็ดเสร็จแบบสีเทาซุปเปอร์ชิลด์ ถ้ามีลักษณะถาวรจะทำให้ทับเส้นทับซ้อนมีมาก จนเข้ามาแทนที่หลักแห่งความเป็นธรรม การที่สังคม ค่านิยม คุณธรรม ศีลธรรมคนไทยเป็นสีเทาไปหมด ย่อมบั่นทอนสภาวะ ทางสัญลักษณ์ของสังคมแห่งธรรมราชา สังคมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยหลักทศพิธราชธรรม ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยเพิ่งเคยได้ยินพระราชกระแสรับสั่ง แสดงพระราชกังวลในเรื่องคอร์รัปชั่นโดยตรง ได้เห็นองคมนตรีและบุคคลใกล้ชิดสถาบันต้องออกมากล่าวคัดค้านการคอร์รัปชั่น การรณรงค์ให้เมืองไทยใสสะอาด (นี่เป็นข้อสังเกตทางวิชาการล้วนๆ ไม่มุ่งให้ร้ายคนกลุ่มใด เพราะคนไทยทุกคนจงรักภักดี จึงควรทำความเข้าใจ ประเมินความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์นี้ให้ดี)"
(มติชนรายวัน, 28 กุมภาพันธ์ 2548)

"การที่จะล้มพรรคไทยรักไทย การตรวจสอบคอร์รัปชั่นต้องถึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จึงจะล้มได้"
(มติรายวัน, 21 มีนาคม 2548)

4) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ปาฐกถา "ตอบแทนคุณแผ่นดิน สร้างถิ่นไทยใสสะอาด" เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2548

"คนดีมีคุณลักษณะอย่างไร คนดีต้องซื่อสัตย์ สุจริต ต้องรู้จักคำว่าเสียสละ ต้องรู้จักคำว่าจงรักภักดี ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยเฉพาะคำว่าซื่อสัตย์สุจริต คนดีที่ซื่อสัตย์สุจริตต้องเข้าใจลึกซึ้งว่า ความซื่อสัตย์ที่มีอยู่ในตัวเรามันไม่พอ แต่คนดีที่ซื่อสัตย์สุจริตต้องดูแลคนรอบข้างให้มีความซื่อสัตย์ด้วย ถึงจะเป็นคนดีที่สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นคนคนนั้นก็เป็นคนดีที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ดีจริง

"นอกจากคนดีแล้ว องค์กรต่างๆ ต้องบริหารงานอย่างโปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบ การบริหารต้องมีมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน หรือหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย การบริหารงานโดยยึดถือประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง อันนี้ไม่ใช่คนดี

"การทำให้ประเทศไทยใสสะอาดนอกจากจะต้องหาคนดีแล้ว ยังต้องกีดกันคนไม่ดี ต้องตีแผ่คนไม่ดี ถ้ารู้ว่าคนไหนเป็นคนไม่ดี ต้องประกาศให้คนรู้ว่าเขาเป็นคนไม่ดี ต้องไม่คบหาสมาคมกับคนไม่ดี ต้องบังคับใช้กฎหมายกับคนไม่ดี คนที่ร่ำรวยมาและมีทรัพย์สินเงินทองโดยมิชอบ เราต้องไม่ให้เกียรติ ต้องไม่เคารพยกย่อง เพราะเงินไม่ใช่เครื่องมือวัดความดี

"อันนี้เป็นที่ต้องทำและพยายามทำ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะไม่ใสสะอาด เราต้องกีดกันคนไม่ดีเพื่อไม่ให้เขามาสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองอีก

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทเมื่อ 36 ปีก่อนในเดือนธันวาคม ผมขออนุญาตอัญเชิญพระบรมราโชวาทดังกล่าวมาอ่าน:- "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้หมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

"ทั้งหมดนี้ผมพูดมานี่เป็นเรื่องยากที่จะทำ ต้องใช้ความกล้า ต้องใช้ความเสียสละ การประณามคนไม่ดี การไม่เคารพคนไม่ดี เป็นวัฒนธรรมที่คนไทยไม่ชอบทำอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้ไปพูดกล่าวหาเขา ไม่ได้พูดเรื่องเท็จหรือไม่จริง แต่พูดในสิ่งที่พิสูจน์ได้ แต่วัฒนธรรมของสังคมไทยมีสิ่งที่ทำให้ยากที่จะไปชี้ว่าคุณไม่ดีนะ แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่ยึดสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถจัดการคนไม่ดีได้

"หลายคนคงเคยได้ยินพระบรมราโชวาทนี้มาแล้ว บางคนได้อ่านเป็น 10 ครั้ง เป็น 100 ครั้ง จนสามารถท่องได้จำได้ แต่ไม่มีใครเอามาปฏิบัติ เป็นเรื่องน่าเสียดาย

"หากมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดและสำนักงาน ก.พ.ไปคิดว่า จะทำอย่างไรไม่ให้คนไม่ดีมาปกครองบ้านเมือง ทำอย่างไรที่จะควบคุมคนไม่ดี ผมคิดว่าความสำเร็จที่จะทำให้ประเทศไทยใสสะอาดก็มี เพราะถ้าเรามีคนไม่ดีอยู่ในองค์กรสำคัญ จะเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง เราไม่มีทางจะใสสะอาดได้เลย"
(มติชนรายวัน, 10 ธันวาคม 2548, น.2)

5) ข้อเสนอของธีรยุทธ บุญมี เมื่อ 22 มกราคม พ.ศ.2549
"เสนอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นเสาหลักจริยธรรมของสังคม ประสานภาคประชาชนเพื่อป้องกันคอร์รัปชั่น..."
(มติชนรายวัน, 23 มกราคม 2549, น.2)

เรื่องที่ ๓."ที่เรียกว่าถวายพระราชอำนาจคืน" (เกษียร เตชะพีระ)
"เมื่อเดินทางถึงหน้าทำเนียบ ขบวนของนายสนธิได้อาศัยเครื่องกระจายเสียงของกลุ่มนายสมาน (ศรีงาม) ปราศรัยโจมตีนายกรัฐมนตรี โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

ข้อแรก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

ข้อที่สอง
เรียกร้องให้ปลดล็อคเงื่อนไข ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน และ
ข้อสุดท้าย เรียกร้องให้ประชาชนขับไล่นายกฯทักษิณออกไป
"ม็อบสนธิสลายแล้ว", เว็บข่าวประชาไท, 14 ม.ค.2549

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ หลังจากสถาบันกษัตริย์ยอมสละอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปอยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

"ถวายพระราชอำนาจคืน" ได้กลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำอนุรักษนิยมกับพันธมิตรเฉพาะกาล อันจะถูกอัญเชิญขึ้นท่องบ่นทุกครั้งที่เผชิญโจทย์ใหญ่ ซึ่งต้องหาทางขจัดปัดเป่าให้พ้นไปจากสังคมการเมืองไทย โดยในกระบวนการนั้นจำต้องรื้อปรับจัดระเบียบการเมืองใหม่ ด้วยไม่มากก็น้อย

เท่าที่ผ่านมา มีวาระโอกาส "ถวายพระราชอำนาจคืน" เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่

- พ.ศ.2490-92
คณะราษฎร + กลุ่มปรีดี + เสรีไทย
- พ.ศ.2516 และ 2535 คณะปฏิวัติ และ คณะ รสช.ของทหารการเมือง
- พ.ศ.2519 ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย + คอมมิวนิสต์ในเมือง
- พ.ศ.2540 นักเลือกตั้ง
- พ.ศ.2549 ที่ตื่นเต้นน่าจับตายิ่งในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อปัจจุบัน คือความพยายาม "ถวายพระราชอำนาจคืน" ครั้งใหม่เพื่อแก้โจทย์ใหญ่แห่ง พ.ศ.2549 นั่นคือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ากุมอำนาจการเมือง + ทุนโลกาภิวัตน์
ฐานคติที่ทำให้การ "ถวายพระราชอำนาจคืน" เป็นไปได้ทางแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวพันแนบแน่นกับการตีความว่า ระบอบรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คืออะไร? ได้มาอย่างไร?

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ค้นคว้าศึกษาการปฏิวัติ 2475 จนช่ำชองได้สรุปทฤษฎีกำเนิดรัฐธรรมนูญของตำรากฎหมายสมัยนั้นไว้ว่ามี 3 แบบ กล่าวคือ

ลักษณะของรัฐธรรมนูญ
(1) CHARTER หรือพระบรมราชานุญาต
กำเนิด เกิดจากเจตนาของผู้ปกครองฝ่ายเดียว ดังนั้น การกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจ จะให้พระราชอำนาจของผู้ปกครองอยู่สูงสุดเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับเมจิ ค.ศ.1889

2) CONVENTION หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ราษฎรร่างเองทั้งหมด หรือตั้งสภาราษฎรขึ้นมาร่าง เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1787

3) PACT หรือข้อตกลง
สัญญา ผู้ปกครองกับราษฎรแสดงเจตนาร่วมกันหลังการปฏิวัติ เมื่อตกลงกันได้จึงจัดให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ค.ศ.1688, รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ.1830
(เรียบเรียงปรับปรุงจากข้อประมวลสรุปของ ณัฐพล ใจจริง ใน "การรื้อสร้าง 2475" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้", ศิลปวัฒนธรรม, 27:2 (ธันวาคม 2548), เชิงอรรถ 7 หน้า 107-08)

เมื่อมาประยุกต์เข้ากับกรณีรัฐธรรมนูญสยาม มีความเห็นแตกต่างขัดแย้งเป็น 2 ฝ่าย ตามการสังเคราะห์สรุปของ ณัฐพล ใจจริง ในบทความข้างต้น (หน้า 83) ได้แก่

1) ฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 เห็นว่ารัฐธรรมนูญสยาม (ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และ 10 ธันวาคม 2475) เป็น PACT ที่เกิดจากการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย กล่าวคือ (พระมหากษัตริย์ + คณะราษฎร - รัฐธรรมนูญ)

2) ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ 2475 หรือที่เรียกกันตอนนั้นว่า "รอยัลลิสต์" กลับเห็นว่ารัฐธรรมนูญสยามเป็น CHARTER ที่เกิดจากพระมหากษัตริย์พระราชทานแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น (พระมหากษัตริย์ - รัฐธรรมนูญ)

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงหากถือตามฝ่ายแรกว่ากำเนิดแห่งระบอบรัฐธรรมนูญไทยเป็น PACT การ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ก็มิอาจเป็นไปได้ ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ ลำดับเหตุผลข้อถกเถียงไว้อย่างพิสดารในบทความ "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" (พิมพ์ครั้งแรก 10 ธันวาคม พ.ศ.2516) ดังมีข้อความสำคัญบางตอนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า

"เจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว (หมายถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม-ผู้เขียน) ก็ตรงกับพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทสำคัญแห่งการเปลี่ยนรากฐาน ได้โอนพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย บุคคลใดไม่อาจละเมิดแม่บทสำคัญอันเป็นการเปลี่ยนระบอบรากฐานของระบอบดังกล่าวนั้นได้..."

พระราชประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยมีอิสระประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นปรากฏความในพระราชปรารภ (หมายถึงพระราชปรารภแห่งธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงร่างขึ้นโดยพระองค์เองและไม่มีการแก้ไข-ผู้เขียน) ดังต่อไปนี้

"จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

"ส่วนการที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีบทเฉพาะกาลโดยมีสมาชิกประเภทที่ 2 จำนวนกึ่งหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นนั้น ก็โดยความจำเป็นในระหว่างหัวต่อหัวเลี้ยวจากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย... แต่เมื่อกำหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คงเหลือประเภทเดียว คือประเภทที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งสมกับพระราชประสงค์ให้ประชากรของพระองค์ดำรงอิสราธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะได้คืนพระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาส่วนใดส่วนหนึ่ง..."

"ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. มีปัญหาว่าจะควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพหลฯและข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ประมุขรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้นได้เขียนไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้

ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้นตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก ข้าพเจ้ากราบทูลว่าเมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะโปรดเกล้าฯสำหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปให้มีความใดเติมไว้ในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง รับสั่งว่า มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ ไปก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ..."

"พระยาพหลฯกราบบังคมทูลว่าการทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นจะทรงทำอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์จะส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯกราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพพระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้..."

ส่วนตัวแทนปัจจุบันของทรรศนะตรงข้าม ผู้เขียนเห็นว่า:-

- ระบอบรัฐธรรมนูญสยามเกิดจากพระบรมราชานุญาตพระราชทานให้แก่ประชาชน (CHARTER) ต่างหาก
- ฉะนั้น พระราชอำนาจจึงมิเพียงสามารถยักย้ายถ่ายโอนคืนไปยังพระมหากษัตริย์ได้เท่านั้น
- หากได้เกิดการถ่ายโอนคืนไปยังพระมหากษัตริย์เช่นนั้นจริงๆ หลายรอบหลายครั้งแล้วด้วย
- กระทั่งกล่าวได้ว่าในทางหลักการแล้วพระราชอำนาจมิเคยหลุดพ้นจากพระองค์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา...

กลับได้แก่อดีตอาจารย์ใหญ่นิติศาสตร์ ผู้กำลังบริการทางกฎหมายแก่รัฐบาลชุดปัจจุบัน!?!

เรื่องที่ ๔."วาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน" (เกษียร เตชะพีระ)
ในย่อหน้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ในตำรากฎหมายมหาชน แต่งโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าฯ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน ผู้แต่งได้ประมวลสรุปทัศนะของเขาว่าด้วย ที่สถิตแห่งอำนาจอธิปไตยในระบอบรัฐธรรมนูญไทยไว้ว่า :-

"...แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยว่า อำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน อันต่างจากรัฐธรรมนูญของชาติอื่นที่ถือว่าประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

"เหตุที่รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติเช่นนี้ก็เนื่องมาจากสองเหตุหลักคือ เหตุทางประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทยอันเกิดจากการ "สั่งสม" ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชนดังกล่าวแล้วเป็นประการแรก

"และประการที่สอง ในทางกฎหมายเองก็ต้องสืบสาวย้อนไปจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็จะเห็นได้ว่า ก่อนวันนั้น อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ครั้นเมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อำนาจนั้นแทนปวงชน ซึ่งในทางกฎหมายต้องถือว่า ทั้งพระมหากษัตริย์และประชาชนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกัน

"ด้วยเหตุนี้ ในทางกฎหมายนั้น เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชนนั้น กลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475

"ดังนั้น ผลสำคัญประการแรกทางกฎหมายระหว่างประเทศก็คือ รัฐบาลนานาชาติไม่ต้องรับรองรัฐบาลไทยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องระดับภายใน แต่ในระดับสูงสุด คือสถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ และทรงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่กลับคืนมาเป็นของพระองค์ท่านด้วย ส่วนคณะรัฐประหารนั้นไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเลย แต่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นตามความเป็นจริงเท่านั้น

"หากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจทางกฎหมายอยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่อำนาจในความเป็นจริงอยู่ที่คณะรัฐประหาร

"ผลประการที่สองก็คือ เมื่อคณะรัฐประหารประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อจัดทำเสร็จแล้ว ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อให้รัฐธรรมนูญนี้มีผลเป็นกฎหมายเมื่อลงพระปรมาภิไธย ก็เท่ากับพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีก

"กล่าวโดยสรุปก็คือ อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายนั้น ถ้าไม่อยู่ที่พระมหากษัตริย์ก็อยู่ที่พระมหากษัตริย์กับประชาชนเท่านั้น"
(อ้างจากกฎหมายมหาชนเล่ม 2 : การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย, 2537, หน้า 189-90 อนึ่ง ผู้เขียนได้จัดย่อหน้าเพิ่มเพื่อแยกแยะประเด็นสำคัญให้ชัดเจน)

หากตีความระบอบรัฐธรรมนูญไทยตามทัศนะข้างต้น ก็หมายความว่า :-

ระบอบรัฐธรรมนูญสยามเกิดจากพระมหากษัตริย์ทรงสละพระราชอำนาจและพระบรมราชานุญาตพระราชทานให้แก่ประชาชน (CHARTER)

ฉะนั้น พระราชอำนาจจึงมิเพียงสามารถยักย้ายถ่ายโอนคืนไปยังพระมหากษัตริย์ได้เท่านั้น

หากได้เกิดการถ่ายโอนพระราชอำนาจคืนไปยังพระมหากษัตริย์เช่นนั้นจริงๆ หลายรอบหลายครั้งเมื่อคณะทหารชุดต่างๆ ทำการรัฐประหารแล้วด้วย

กระทั่งกล่าวได้ว่า ในทางหลักการแล้วพระราชอำนาจมิเคยหลุดพ้นจากพระองค์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

และในทางกลับกัน ประชาชนก็มิเคยถือครองอำนาจอธิปไตยด้วยลำพังตัวเองโดยสิทธิ์ขาดเลยนับแต่ 2475 มาเช่นกัน, จะมีก็แต่ประชาชนได้ถือครองอำนาจอธิปไตยร่วมกับพระมหากษัตริย์ หรือมิฉะนั้นก็หลุดมือไปมิได้ถือครองเมื่อคณะทหารทำรัฐประหารเท่านั้น!

การตีความเช่นนี้ทำให้กล่าวได้ว่าในระบอบประชาธิปไตยไทย ประชาชนไทยเสมอเสมือนหนึ่งอยู่ในสภาพไม่บรรลุวุฒิภาวะทางการเมือง (political immaturity) ไปตลอดกาล เพราะไม่อาจถือครองอำนาจอธิปไตยได้ด้วยลำพังตนเอง, ประชาชนจะถือครองอำนาจอธิปไตยได้ก็ต่อเมื่อมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเสมือนผู้ใหญ่คอยช่วยกำกับดูแลทางการเมือง (political tutelage) เท่านั้น

และเมื่อใดประชาชนเผชิญโจทย์ใหญ่ของบ้านเมืองชนิดที่เหลือวิสัยตนจะแก้ไขได้ ก็ย่อมสมเหตุสมผลและเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะหันไปหาผู้ใหญ่ และขอร้องให้ทรงช่วยแก้ปัญหาให้ เหมือนเด็กเล็กลูกหลานที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ปกครองดูแลตัวเองโดยอิสระไม่ได้ทั่วไป ด้วยการถวายพระราชอำนาจคืน

ดังที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ รวมทั้งผู้ชุมนุมที่ร่วมลงชื่อทั้งหลายได้กราบบังคมทูลไว้ท้ายคำยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ความตอนหนึ่งว่า :-

"ปวงข้าพระพุทธเจ้าไม่มีหนทางใดและสถาบันใดจะเป็นที่พึ่งเพื่อแก้ไขปัดเป่าปัญหาของชาติ ที่อุกฉกรรจ์ร้ายแรงหนักหน่วงเช่นนี้ได้ จำต้องขอพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลขอถวายฎีกาต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อันเปรียบประดุจดังพระบิดาของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ เป็นที่เทิดทูนเคารพเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติบ้านเมืองมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ยามที่บ้านเมืองมีทุกข์เข็ญ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทุกข์ร้อนด้วยอำนาจการปกครองอธรรมและฉ้อราษฎร์บังหลวง

"ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอกราบบังคมทูลถวายฎีกาต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อทรงพระกรุณาปัดเป่าทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์ อันเกิดจากน้ำมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สุดแท้แต่พระองค์จะทรงพระกรุณาวินิจฉัย..."
(อ้างจากมติชนรายวัน, 5 ก.พ. 2549, น.2)

โจทย์ใหญ่ในการพยายามถวายพระราชอำนาจคืนของคุณสนธิ, คุณสโรชา และประชาชนผู้ร่วมลงชื่อครั้งนี้มิใช่จำกัดแคบแค่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว หากได้รับอรรถาธิบายขยายความกว้างขวางออกไปในคำสัตย์ปฏิญาณถวายคืนพระราชอำนาจแด่ในหลวง ที่เขากล่าวนำให้ผู้ชมกล่าวตามในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 8 ณ เวทีลีลาศ สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศกก่อน ตอนหนึ่งว่า :-

"...การเมืองใหม่กลายเป็นการเมืองผูกขาดของเงินที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้รัฐบาลที่มาจากพันธมิตรกลุ่มทุนใหม่เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ผู้นำของรัฐบาลใหม่ที่มาจากพันธมิตรของกลุ่มทุนใหม่ เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยความอหังการ มะมังการ เย่อหยิ่ง จองหอง และไม่สนใจขนบประเพณีใดๆ กับทั้งมีพฤติกรรมในลักษณะละเมิดพระราชอำนาจมากที่สุด เท่าที่เคยมีมากลุ่มทุนผูกขาดที่เข้าครองอำนาจรัฐได้ใช้อำนาจรัฐนั้นปกป้อง และขยายฐานทางธุรกิจของตนเองด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และบิดเบือนการใช้อำนาจหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งฉ้อฉลนำทรัพย์สมบัติของแผ่นดินมาแบ่งปันกันในหมู่พวกพ้อง โดยอาศัยนวัตกรรมของลัทธิเสรีนิยมใหม่จนก่อให้เกิดสภาพผูกขาดทางธุรกิจ ที่จะเป็นวัฏจักรนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองให้กระชับแน่นขึ้นอีก..."
(อ้างจาก สนธิ ลิ้มทองกุล และสโรชา พรอุดมศักดิ์, เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรนับถวายคืนพระราชอำนาจ, 2549, หน้า 341)

จึงในปีที่ 60 แห่งรัชกาลปัจจุบัน และในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา เสียงเรียกร้องเคลื่อนไหวให้ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ก็กังวานกึกก้องขึ้นอีกครั้ง อันชวนให้หวนระลึกถึงความตอนหนึ่งในพระราชปรารภในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก (2539) ดังขออัญเชิญมาแสดงไว้ในที่นี้ว่า :-

"มาถึงตอนเรื่องต้นมะม่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือ ข้าราชบริพาร "นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจารึกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ" อนึ่ง พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่เก้าวิธีอีกด้วย"
อ้างจากพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก, หน้า (7)

ใช่หรือไม่ว่า ที่กำลังดังกังวานอยู่ตอนนี้คือเสียงเรียกร้องหา political tutelage กันอีก อันสะท้อนอาการ political immaturity เรื้อรัง แถมเป็น self-inflicted political immaturity มากกว่าอื่น?

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
130249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

"...การเมืองใหม่กลายเป็นการเมืองผูกขาดของเงินที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้รัฐบาลที่มาจากพันธมิตรกลุ่มทุนใหม่เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ผู้นำของรัฐบาลใหม่ที่มาจากพันธมิตรของกลุ่มทุนใหม่ เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยความอหังการ มะมังการ เย่อหยิ่ง จองหอง และไม่สนใจขนบประเพณีใดๆ กับทั้งมีพฤติกรรมในลักษณะละเมิดพระราชอำนาจมากที่สุด เท่าที่เคยมีมากลุ่มทุนผูกขาดที่เข้าครองอำนาจรัฐได้ใช้อำนาจรัฐนั้นปกป้อง และขยายฐานทางธุรกิจของตนเองด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และบิดเบือนการใช้อำนาจหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งฉ้อฉลนำทรัพย์สมบัติของแผ่นดินมาแบ่งปันกันในหมู่พวกพ้อง โดยอาศัยนวัตกรรมของลัทธิเสรีนิยมใหม่จนก่อให้เกิดสภาพผูกขาดทางธุรกิจ ที่จะเป็นวัฏจักรนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองให้กระชับแน่นขึ้นอีก..."

The Midnightuniv website 2006