นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ความเข้าใจในเรื่องราวของชาวมุสลิมเบื้องต้น
การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดกับแนวคิดมุสลิม
อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ
(อับดุลสุโก ดินอะ)
ผช.ผจก.โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

หมายเหต
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน ซึ่งได้พยายามสรุปให้เห็นเหตุการณ์
การลุกขึ้นมาประท้วงของชาวมุสลิมทั่วโลก
เกี่ยวกับการเขียนภาพการ์ตนล้อเลียนท่านศาสดามูฮัมหมัด
และได้พยายามอธิบายถึงแนวคิดมุสลิมร่วมสมัยที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม
ในส่วนของภาคผนวก ได้ย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดแห่งองค์พระศาสดามูฮัมหมัด

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 833
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดกับแนวคิดมุสลิม
โดย อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีทุกท่าน

แม้ว่าหนังสือพิมพ์เดนมาร์ก จะตีพิมพ์ภาพการ์ตูนมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2005 ที่ผ่านมา แต่กระแสการต่อต้านแดนโคนม กลับมาบานปลายและลุกลามใหญ่โต เมื่อปลายเดือนมกราคม 2006 นี้เอง เมื่อวารสารของนอร์เวย์ ตีพิมพ์การ์ตูนซ้ำอีกครั้ง และระบาดไปยังหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับในยุโรป จนประเทศในอาหรับออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อเนื่องด้วยการบอยคอตสินค้า และตามมาด้วยการประท้วงที่ลุกลามใหญ่โตจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ลำดับเหตุการณ์
กันยายน 05 - เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มขึ้นจากหนังสือพิมพ์จูแลนด์-โพสเทน สัญชาติเดนมาร์ก ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด จำนวน 12 รูป เมื่อเดือนกันยายน ปี 2005 หลังจากนำเผยแพร่ออกมา ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากประเทศมุสลิม โดยได้ทำการประท้วงด้วยวิธีทางการทูตตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม

ภาพการ์ตูนเหล่านี้เริ่มมาจากบรรณาธิการข่าววัฒนธรรมหนังสือพิมพ์แดนโคนม เชิญนักวาดการ์ตูน 12 คน มาวาดรูปภาพศาสดามูฮัมหมัด ในมุมมองของตัวเอง ซึ่งทุกคนจะได้รับเงินตอบแทนเป็นจำนวนประมาณ 5,000 บาท

มกราคม 06 - สถานการณ์กลับบานปลายมากยิ่งขึ้น เมื่อปลายเดือนมกราคม 2006 วารสารของนอร์เวย์ ตีพิมพ์การ์ตูนเจ้าปัญหานี้อีกครั้ง ส่งผลให้ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางบางแห่ง เรียกทูตกลับประเทศ ขณะที่บางแห่งสั่งปิดสถานทูตของตนเองในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

นอกจากนี้ กระแสการ์ตูนล้อเลียนศาสดายังทวีความรุนแรงไม่หยุด เมื่อหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี และสเปน ยังคงตีพิมพ์ภาพการ์ตูนเหล่านี้ จนทำให้หลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมตัวกันบอยคอตสินค้าจากเดนมาร์ก และจากหลายประเทศในยุโรป

2 กุมภาพันธ์ 2006 นายกรัฐมนตรีแอนเดอร์ส ฟอจ ราสมุสเสน แห่งเดนมาร์ก เริ่มทนทานกระแสกดดันจากประเทศมุสลิมไม่ไหว ออกมาขอโทษอย่างไม่เป็นทางการผ่านสถานีโทรทัศน์อัลอะรอบียะห์ แต่ทางด้านหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่มีทีท่าจะออกมาขอโทษแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อ

สหภาพยุโรป หรืออียู ยืนยันในแถลงการณ์ระบุว่า ประเทศในยุโรปมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยในแถลงการณ์ไม่มีการพูดถึงคำขอโทษ หรือแสดงความเสียใจต่อสิ่งทีเกิดขึ้นแต่อย่างใด

5 กุมภาพันธ์ 2006 กระแสต่อต้านเดนมาร์กลับเพิ่มมากขึ้น และมีผู้คนรวมตัวประท้วงมากยิ่งขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลาง เรื่อยมาจนถึงประเทศมุสลิมในเอเชียใต้ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลุกลามรุนแรงไปจนถึงขั้นเผาสถานทูตของเดนมาร์กในเลบานอน และซีเรีย และมีผู้ประท้วงเสียชีวิตถึง 3 คน

6 กุมภาพันธ์ 2006 แม้กระทั่งมุสลิมในไทยเองเช่นกันได้ออกมารวมตัวประท้วงด้านหน้าสถานทูตเดนมาร์ก ในประเทศไทย เช่นเดียวกับมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของโลก อย่างนิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอีกหลายประเทศในยุโรป

กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศมุสลิมจำนวน 14 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อัฟกานิสถาน แอลจีเรีย บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน จอร์แดน ลิเบีย โมร็อกโก โอมาน ปากีสถาน กาตาร์ ซูดาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์

อิหร่านประกาศจัดการแข่งขันวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว รัฐบาลเตหะรานได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการค้าทุกประเภทกับเดนมาร์ก

7 กุมภาพันธ์ 2006 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช, โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ, และประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค แห่งฝรั่งเศส ได้มีการโทรศัพท์ไปแสดงความสมานฉันท์กับกับนายกรัฐมนตรี แอนเดอร์ส ฟอจ ราสมุสเสน ของเดนมาร์ก

8 กุมภาพันธ์ 2006 ตำรวจอัฟกานิสถานยิงผู้ประท้วงเสียชีวิตอีก 4 คน
กลุ่มตอลีบันออกแถลงการณ์ให้รางวัลคนที่สามารถสังหารผู้วาดการ์ตูนเป็นทองคำ 100 กก.และให้คนที่สังหารทหารนอร์เวย์ เดนมาร์ก และเยอรมนีเป็ฯทองคำ 5 กก.

9 กุมภาพันธ์ 2006 นักการศาสนาอิหร่านระบุผู้ที่ตีพิมพ์การ์ตูนจะต้องถูกลงโทษ
มาเลเซียสั่งปิดหนังสือพิมพ์ซาราวัก ทริบูนที่ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดาซ้ำ

กระแสต่อต้านเดนมาร์ก และอีกหลายประเทศในยุโรปในครั้งนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง ทำให้หลายๆ คนต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่า ทางเดนมาร์กและอีกหลายประเทศในยุโรปเองจะออกมาแก้เกมเช่นไร รวมถึงประเทศมุสลิมเองจะใช้ไม้ไหนในการต่อต้านเรื่องราวนี้
(โปรดด ูhttp://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000017186)

กระแสหลักปี 2006 :
มุสลิมสุดโต่ง(Muslim"s Extreme) การยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism )
"อิสลามานุวัตร" (Islamization)

ตั้งแต่เหตุการณ์ณ์ 11 กันยายน 2001 ที่สหรัฐอเมริกา ถึงเหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้ผู้เขียนมีทัศนะว่าโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations )ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ 2 แบบที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ความขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างทั้งสองนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมโลกทั้งมวล รวมทั้งประเทศไทย

"การปะทะระหว่างอารยธรรม"ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ. ฮันติงตัน เชื่อว่า "ความแตกแยกระดับมหาภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก ... การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง. ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันให้ความสนใจอย่างไม่เป็นมิตรเอามากๆ กับอิสลาม มากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

มุสลิมสุดโต่ง, การยึดมั่นในหลักการอิสลาม, และอิสลามานุวัตร
คำว่ามุสลิมสุดโต่ง((Muslim"s Extreme) การยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism ) "อิสลามานุวัตร" (Islamization) เริ่มมีใช้มากขึ้นในสื่อทั้งไทยและเทศและแน่นอนปี 2006 อาจจะเป็นปีทองของคำเหล่านี้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะ 2 คำแรกที่ผู้อ่านมีทัศนคติที่ไม่ดี ดังนั้นการติดอาวุธให้กับผู้อ่านและนักวิจัยจึงเป็นเรื่องจำเป็น

คำว่า "ฟันดะเมนทะลิสม์" (Fundamentalism)โดยภาษาแล้วหมายถึงการยึดติดอยู่กับหลักการสำคัญหรือยึดติดอยู่กับคำสอนพื้นฐาน
"ฟันดะเมนทะลิสม์" มีสองความหมายด้วยกัน

- ความหมายหนึ่ง
ของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ก็คือการยึดมั่นในหลักการที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า "อิตติบะอ์"หรือการยึดมั่นทั้งในลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์. ยุคปัจจุบันเป็นยุคของเสรีภาพทางศาสนา ถ้าใครบางคนกล่าวว่าเขายึดถือศาสนาของเขาตามตัวอักษรก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้าน เพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติตามเสรีภาพทางศาสนาของเขา

- ในขณะความหมายที่สองของ "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ถูกแปลในความหมายว่าหมายถึงการใช้กำลังบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนาของตนเอง ดังนั้นผู้เขียนมีทรรศนะว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์ในความหมายที่สอง"จะขัดกับเจตนารมณ์และเหตุผลของอิสลามทันที

แนวความคิดที่สองของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" นี้เองได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ยุคปัจจุบันเรียกกันว่า "ลัทธิสุดโต่ง" (Extremism) หรือลัทธิก่อการร้ายอิสลาม ทั้งๆที่ความจริงแล้วคำว่า "ลัทธิสุดโต่ง" หรือ "ลัทธิก่อการร้าย" นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเอง

ความเป็นจริงหลักคำสอนของอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ มันไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่จะถือว่าอิสลามเป็นที่มาของคำว่าลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่ง ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า "ศาสนาที่ถูกประทานแก่ฉันเป็นศาสนาแห่งความกรุณาปรานีและใจกว้าง"

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าในคำภีร์กุรอานของอิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่และได้รับความเดือดร้อน ภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด

การก่อการร้ายมิใช่การ"ญิฮาด" มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า"ฟะซาด"
คำว่า"ฟะซาด"ในภาษาอาหรับ(หมายถึง - การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเองแต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพราะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า :

"เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า "จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน"
พวกเขากล่าวว่า "เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆต่างหาก" แท้จริง
พวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (กุรอาน 2:11-12)

อิสลามต้องการให้มนุษย์ทั้งหมดทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในความสันติและความสมานฉันท์ อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม และอิสลามใช้ให้มุสลิมมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่น อัลลอฮได้ตรัสความว่า

"อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม(60:8)

ที่ประชุมภายใต้วัตถุประสงค์พิเศษของผู้นำชาติมุสลิมที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ตามคำร้องขอของ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซิส แห่งซาอุดิอารเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2005 ที่ผ่านมา ได้ประกาศ "ปฏิญญาเมกกะฮ์" ยอมรับว่ามีมุสลิมหลายคนและหลายกลุ่มมีแนวคิดสุดโต่ง

เป้าหมายของการประชุมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายทั้งนี้ผู้นำของ 57 ชาติสมาชิกองค์การที่ประชุมอิสลาม (OIC) ได้เน้นแนวทางสันติของอิสลาม โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาวิธีคิดแบบสุดขั้วของกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งพยายามตอบคำถามกรณีที่มีผู้พยายามนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย โดยที่ประชุมเน้นเป็นพิเศษถึงเรื่องการ "ฟัตวา" (Fatwas) หรือการชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ว่า ต้องดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับเท่านั้น โดย "ซาอุด อัล-ไฟซาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซาอุดิอารเบีย เสนอให้จัดตั้ง "สถาบันนิติศาสตร์อิสลาม" ของ OIC "ให้เป็นองค์กรอ้างอิงสูงสุด.... เพื่อกำหนดวิธีการที่จะระงับการตีความและการชี้ขาดที่แตกต่างกัน จนขยายกลายเป็นความขัดแย้ง"

ใน "ปฏิญญาเมกกะฮ์ดังกล่าว" ได้เรียกร้องให้ชาติมุสลิม "ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคำสอนที่บิดเบือนหลักการสันติของอิสลาม" และสร้าง "สามัคคีมหาประชาชาติ" เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและสนับสนุนข้อเสนอของซาอุดิอารเบีย ให้จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
(โปรดดู http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=453&Itemid=58)

การนำเอาลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่งมาใช้ในนามของอิสลามเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับอิสลาม และมุสลิมที่ใช้วิธีการก่อการร้ายหรือใช้ลัทธิสุดโต่งในนามของอิสลามนั้น ก็ถือว่าเป็นการนำเอาอิสลามไปใช้ในทางที่ผิด ( บรรจง บินกาซัน สรุปจาก : Principles of Islam โดย วาฮิดดุดดีน คาน คัดลอกจาก ไทยมุสลิมช็อป)

อิสลามานุวัตร
อีกคำหนึ่งคือกระแสอิสลามานุวัตร (Islamization current) เป็นกระแสหรือวาทกรรมทางปัญญาของปัญญาชนมุสลิมสมัยปัจจุบัน กระแสดังกล่าวเป็นการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ อันหลากหลายตามความถนัดของนักวิชาการมุสลิมในหลายสาขาวิชา ท่ามกลางกระแสการอิสลามานุวัตรนักวิชาการทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์อิสลามานุวัตรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับอิสลามานุวัตร อย่างไรก็ดีความคลุมเครือในบัญญัติคำศัพท์ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการจำกัดความหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นในการทำความเข้าใจ

"อิสลามานุวัตร" (Islamization) ถูกจำแนกว่าเป็นกระบวนการองค์รวมของการกล่อมเกลาทางศาสนา บ้างก็บอกว่าเป็นมรรควิธี(Method)ที่จะนำมาซึ่งสังคมใหม่ ที่อุทิศให้กับหลักคำสอนของอิสลามในทุกแง่มุม ความจริงอิสลามานุวัตรเป็นประวัติศาสตร์ทางปัญญาของอิสลาม ซึ่งปัญญาชนมุสลิมในอดีตถึงปัจจุบันได้เพียรพยายามทำตามแบบอย่างท่านศาสดากล่าวคือการกระทำใด ๆ ก็ตามให้สอดคล้องกับหลักการคำสอนของพระเจ้า

ในขณะที่ปัจจุบันอิสลามนุวัตรถือว่า เป็นกระบวนการการสังเคราะห์ (Synthesis) ที่นักวิชาการมุสลิมร่วมสมัย ได้พยายามคิดค้นและแสวงหาทางออกให้กับสังคมมุสลิม ที่กำลังประสบวิกฤติการพัฒนาตามแบบฉบับของอิสลาม อิสลามานุวัตรจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการสังเคราะห์แนวทางการพัฒนา เพื่อให้สอดประสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีต้นแบบการพัฒนามาจากแนวทางการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตก ที่เน้นแนวทางการพัฒนาเชิงประจักษ์ (Emperical) เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific) หรือการเน้นแนวทางการพัฒนาแบบโลกียนิยม (Secularism) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการการทำให้เป็นแบบวิถีโลก(Secularization) ที่ต้องการลดความสำคัญและอิทธิพลของศาสนาออกไปจากชีวิตความเป็นจริงในด้านหนึ่ง
(โปรดดู //www.midnightuniv.org อิสลามศึกษา: อิสลามานุวัตร และ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ นิพนธ์ โซะเฮง : อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี)

สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านน่าจะได้รับความรู้อีกแง่มุมหนึ่งจากศัพท์ของคำว่า: มุสลิมสุดโต่ง((Muslim"s Extreme) การยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism ) "อิสลามานุวัตร" (Islamization) ซึ่งเป็นกระแสหลักปี 2006

+++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก : ประวัติย่อ ศาสดามุฮัมมัด
อัลลอฮ์ได้ดำรัสความว่า
"และเรามิได้ส่งเจ้า (ศาสดามุฮัมมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ชาวโลกทั้งผอง" (21 : 107)

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) เกิดที่มหานครมักกะหฺ (เมกกะ) ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๗ (บ้างก็ว่า ๑๒) เดือนร็อบีอุลเอาวัล ในปี ค.ศ. ๕๗๐ ในตอนแรกเกิดวรกายของมุฮัมมัด (ซล) มีรัศมีสว่างไสวและมีกลิ่นหอม เป็นสุภนิมิตบ่งถึงความพิเศษของทารก

ปีที่ท่านเกิดนั้นเป็นปีที่อุปราชอับร็อฮะหฺแห่งอบิสสิเนีย (เอธิโอเปียปัจจุบัน) กรีฑาทัพช้างเข้าโจมตีมหานครมักกะหฺ เพื่อทำลายกะอฺบะหฺอันศักดิ์สิทธิ์ แต่อัลลอหฺได้ทรงพิทักษ์มักกะหฺ ด้วยการส่งกองทัพนกที่คาบกรวดหินลงมาทิ้งลงบนกองทัพนี้ จนไพร่พลต้องล้มตายระเนระนาด เนื้อตัวทะลุดุจดั่งใบไม้ที่ถูกหนอนกัดกิน อุปราชอับร็อฮะหฺจึงจำต้องถอยทัพกลับไป

บิดาของมุฮัมมัดคือ อับดุลลอหฺ เป็นบุตรสุดท้องของอับดุลมุฏฏอลิบ แห่งเผ่ากุเรช ผู้ได้รับเกียรติให้คุ้มครองบ่อน้ำศัมศัมริมกะอฺบะหฺ อับดุลลอหได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่มุฮัมมัด(ซล)ยังอยู่ในครรภ์ของอะมีนะหฺ สตรีแห่งเผ่าศุหฺเราะหฺ ฺผู้เป็นมารดา อับดุลมุฏฏอลิบผู้เป็นปู่ได้ขนานนามว่า มุฮัมมัด แปลว่าผู้ที่ได้รับการสรรเสริญ เป็นนามที่ยังไม่มีผู้ใดใช้มาก่อนเลย

เมื่อเกิดได้เพียงไม่นาน ท่านก็ต้องไปอยู่กับแม่นมรับจ้างซึ่งมีนามว่า ฮะลีมะหฺ แห่งเผ่าซะอัด ซึ่งมีสามีชื่อว่า อะบูกับชะหฺ ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกมหานคร ทั้งนี้เป็นเพราะประเพณีดั้งเดิมของชาวอาหรับ เมื่อต้องการให้บุตรของตนเติบโตขึ้นในชนบท เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวอาหรับพื้นเมืองที่แท้จริง

และแล้วมุฮัมมัดก็ต้องสูญเสียมารดาตอนที่มีอายุ ๖ ขวบ ท่านจึงอยู่ในความอุปการะของท่านปู่ ต่อมาอีกสองปี ท่านปู่ก็สิ้นชีวิตไปอีกคน ท่านจึงอยู่ในความดูแล ของอะบูฏอลิบผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นผู้มีเกียรติคนหนึ่งในเผ่ากุเรชเช่นกัน

เมื่ออายุ ๒๕ ปี ท่านก็ได้แต่งงานกับนาง ค็อดีญะหฺผู้มีอายุแก่กว่าถึง ๑๕ ปี สิ่งแรกที่ท่านนบีมูฮัมมัด (ซล) ได้กระทำภายหลังสมรสได้ไม่กี่วันก็คือการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ซึ่งในสมัยนั้นน้อยนักที่จะมีผู้ทำเช่นนั้น ต่อมาการปลดทาสได้กลายเป็นบทบัญญัติอิสลาม ทั้งสองได้ใช้ชีวิตครองคู่กันเป็นเวลา ๒๕ ปีมีบุตรีด้วยกัน ๔ คน ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺเสียชีวิตปี ค.ศ. ๖๑๙ ก่อนมุฮัมมัดจะลี้ภัยไปยังเมืองยัธริบ ๓ ปี

เมื่ออายุ ๓๐ ปี ท่านได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหพันธ์ ฟุดูล อันเป็นองค์การพิทักษ์สาธารณภัยประชาชน เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน กิจการประจำวันของท่าน ก็คือ ประกอบแต่กุศลกรรม ปลดทุกข์ขจัดความเดือดร้อน ช่วยเหลือผู้ตกยาก บำรุงสาธารณกุศล

เมื่ออายุ ๓๕ ปี ได้เกิดมีกรณีขัดแย้งในการบูรณะกะอฺบะหฺ ในเรื่องที่ว่าผู้ใดกันที่จะเป็นผู้นำเอา อัลฮะญัร อัลอัสวัด (หินดำ) ไปประดิษฐานไว้สถานที่เดิมคือที่มุมของกะอฺบะหฺ อันเป็นเหตุให้คนทั้งเมืองเกือบจะรบราฆ่าฟันกันเองเพราะแย่งหน้าที่อันมีเกียรติ หลังจากการถกเถียงในที่ประชุมเป็นเวลานาน บรรดาหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ ก็มีมติว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นคนแรกที่เข้ามาใน อัลมัสญิด อัลฮะรอม ทางประตูบนีชัยบะหฺในวันนั้นจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะทำอย่างไร

ปรากฏว่า มุฮัมมัด (ซล) เป็นคนเดินเข้าไปเป็นคนแรก ท่านจึงมีอำนาจในการชี้ขาด โดยท่านเอาผ้าผืนหนึ่งปูลง แล้วท่านก็วางหินดำลงบนผืนผ้านั้น จากนั้นก็ให้หัวหน้าตระกูลต่าง ๆ จับชายผ้ากันทุกคน แล้วยกขึ้นพร้อม ๆ กัน เอาไปใกล้ ๆ สถานที่ตั้งของหินดำนั้น แล้วท่านก็เป็นผู้นำเอาหินดำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม

เมื่ออายุ ๔๐ ปี ท่านได้รับว่าวะฮฺยู (การวิวรณ์) จากอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้า ในถ้ำฮิรออฺ ซึ่งอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งนอกเมืองมักกะหฺ โดยฑูตญิบรีลเป็นผู้นำมาบอกเป็นครั้งแรก เรียกร้องให้ท่านรับหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาของอัลลอหฺดั่งที่ศาสดามูซา(โมเสส) อีซา(เยซู)เคยทำมา นั่นคือประกาศให้มวลมนุษย์นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ท่านได้รับพระโองการติดต่อกันเป็นเวลา ๒๓ ปี พระโองการเหล่านี้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มเรียกว่าคัมภีร์อัลกุรอาน

ในตอนแรกท่านเผยแพร่ศาสนาแก่วงศาคณาญาติและเพื่อนใกล้ชิดเป็นการภายในก่อน ท่านค็อดีญะหฺเองได้สละทรัพย์สินเงินทองของท่านไปมากมาย และท่านอะบูฏอลิบก็ได้ปกป้องหลานชายของตนด้วยชีวิต ต่อมาท่านได้รับโองการจากพระเจ้าให้ประกาศเผยแพร่ศาสนาโดยเปิดเผย ทำให้ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ชาวกุเรชและอาหรับเผ่าอื่น ๆ ที่เคยนับถือท่าน พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูกับท่านอย่างรุนแรง ถึงกับวางแผนสังหารท่านหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ชนมุสลิมถูกค่ำบาตรไม่สามารถทำธุรกิจกับผู้ใด จนต้องอดอยากเพราะขาดรายได้และไม่มีที่จะซื้ออาหาร อบูซุฟยาน แห่งตระกูลอุมัยยะหฺ และ อบูญะฮัล คือสองในจำนวนหัวหน้ามุชริกูนที่ได้พยายามทำลายล้างศาสนาอิสลาม

สาวกกลุ่มหนึ่งต้องหนีออกจากมักกะหฺเข้าลี้ภัยในอบิสสิเนีย กษัตริย์นัญญาชี(เนเกช)แห่งอบิสสิเนียที่นับถือคริสตศาสนาก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ภายหลังท่านเองก็เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อพวกมุชริกูนคุกคามท่านรุนแรงยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. ๖๒๒ ท่านและสาวกเป็นร้อยจึงต้องอพยพหนีไปอยู่ที่นครยัธริบ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ ๔๕๐ กม. ตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากการเผยแผ่ศาสนาในมักกะหฺ ๑๓ ปี การอพยพนี้เรียกว่า ฮิจญ์เราะหฺ ซึ่งศักราชของอิสลามก็เริ่มนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองยัธริบฺที่ได้รับศาสนาอิสลามก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็ได้ต้อนรับท่านนบีและผู้อพยพจากมักกะหฺเสมือนพี่น้องของตนเอง

นครยัธริบก็ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น อัล-มะดีนะหฺ อัล-นะบะวียะหฺ หรือ มดีนัต อัล-นะบีย์ ซึ่งแปลว่า เมืองแห่งศาสนฑูต ท่านนบีได้ทำสัญญากับชาวยิวในเมืองมดีนะหฺว่าจะเป็นพันธมิตร ไม่ทำความเดือดร้อนแก่กัน นครมดีนะหฺจึงกลายเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรอิสลามตั้งแต่นั้นมา

แม้ว่าท่านจะลี้ภัยไปอยู่มดีนะหฺแล้ว ท่านก็ยังถูกชาวมุชริกูนจากมักกะหฺยกพลมารุกรานโจมตีนครมดีนะหฺไม่ขาดสาย ทำให้ท่านนบี(ซล)ต้องเกณฑ์ไพร่พลออกต่อสู้ข้าศึกนอกเมืองหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี ศึกสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นได้แก่สงครามบะดัร (๑๗ เดือนรอมฎอนปี ฮ.ศ. ที่ ๒ ตรงกับ ๑๕ มีนาคม ปี ค.ศ. ๖๔๔) เมื่อท่านนบีได้นำพลจำนวนเพียง ๓๑๔ คนออกสกัดกั้นกองคาราวานค้าขายของอบูซุฟยานและอบูญะฮัลที่ขนสินค้าเดินทางกลับมาจากซีเรีย กองคาราวานนี้มีผู้คนมากกว่า ๑๐๐๐ คน ถึงกระนั้นก็ตาม ทัพของศรัทธาชนก็ได้รับชัยชนะ ทำให้พวกมุชริกูนต้องกระจัดกระเจิงหนีกลับไปมักกะหฺ อบูญะฮัลตายในสงครามนี้

ด้วยเหตุนี้ อบูซุฟยานจึงรวบรวมไพร่พลจากมักกะหฺกลับมาหมายโจมตีเมืองมะดีนะหฺอีกครั้ง วันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม ๖๒๕ กองทัพของอบูซุฟยานที่มีไพร่พล ๓๐๐๐ คน ก็มาถึงที่อุฮุด ท่านนบีก็ได้นำทัพซึ่งมีไพร่พลเพียง ๑๐๐๐ คนออกสกัดกั้น ความจริงท่านนบีได้เตรียมกองทัพทั้งหมด ๑๕๐๐ คน แต่อีก ๕๐๐ คนซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอุษมานถอยกลับเข้าเมืองมะดีนะหฺ สาเหตุก็เพราะว่าอุษมานเป็นญาติใกล้ชิดกับอบูซุฟยาน และไพร่พลในกองทัพของอุษมานก็เป็นพวกมุนาฟิกูนเป็นส่วนมาก

ในวันที่ ๒๓ สองกองทัพก็ประจัญบานกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ในที่สุดชาวมุชริกูนก็ถอยทัพกลับไป ชาวมุสลิมเสียชีวิตไป ๗๐ คน ท่านนบีเองก็ได้รับบาดเจ็บ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๖๒๗ อะบูซุฟยานได้ระดมพลจากเผ่าอาหรับต่าง ๆ ในอาราเบียถึง ๑๐ ๐๐๐ คน แล้วกรีฑาทัพเข้าโจมตีเมืองมะดีนะหฺ อนึ่งอะบูซุฟยานยังได้ติดต่อให้ชาวยิวเผ่าต่างๆในกรุงมะดีนะหฺช่วยบุกโจมตีด้านในอีกแรงหนึ่งด้วย ท่านนบีจึงสั่งให้มีการขุดคูรอบๆเมืองมะดีนะหฺเพื่อป้องกันข้าศึก ตามคำเสนอของซัลมาน ชายเฒ่าจากเปอร์เซีย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกสงครามนี้ว่า สงครามคอนดัก (คู) เมื่ออบูซุฟยานเห็นว่ากองทัพของตนไม่สามารถจะเข้าเมืองมดีนะหฺได้ ก็ตั้งค่ายริมคูเพื่อหาวิธีอยู่ แต่ต่อมาเกิดมีพายุพัดมาอย่างรุนแรงจนเตนท์ต่างๆและข้าวของล้มระเนระนาด จะปรุงอาหารก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถจะหาวิธีอื่นใดนอกจากจะต้องถอยทัพกลับ ท่านนบีจึงนำทัพเข้าโจมตีค่ายของเผ่ากุร็อยเศาะหฺที่ผิดสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่แรก

เมื่อชาวมุชริกูนเอาชนะรัฐอิสลามไม่ได้ ก็ได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๖๒๘ เรียกสัญญาสงบศึกครั้งนั้นว่า สัญญา ฮุดัยบียะหฺ

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ๖๒๙ ชาวมักกะหฺได้ละเมิดสัญญาสงบศึก ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. ๖๓๐ ท่านนบีจึงนำทหาร ๑๐๐๐๐ คนเข้ายึดเมืองมักกะห ท่านจึงประกาศนิรโทษกรรมให้ชาวมักกะหฺเกือบทั้งหมดยกเว้นบางคน ในจำนวนนั้นมีอัลฮะกัม แห่งตระกูลอุมัยยะหฺที่ท่านนบีประกาศให้ทุกคนบอยคอตเขา

การนิรโทษกรรมครั้งนี้มีผลให้ชาวมักกะหฺซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน จึงพากันหลั่งไหลเข้านับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก

ท่านนบีมูฮัมมัด(ซล) ได้สิ้นชีวิตที่เมืองมดีนะหฺ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนร็อบีอุลเอาวัล ฮ.ศ.ที่ ๑๑ ซึ่งตรงกับ ๘ มิถุนายน ปี ค.ศ. ๖๓๒ รวมอายุได้ ๖๓ ปี

อธิบายคำศัพท์
มุชริกูน = ชนผู้ตั้งภาคี หมายถึง พวกชาวมักกะหฺที่บูชาเจว็ดแต่ศรัทธาในอัลลอหฺในเวลาเดียวกัน
มุนาฟิกูน = พวกสัปหลับที่อ้างว่าตนเป็นมุสลิมแต่ในใจเป็นผู้ปฏิเสธ ในเมืองมดีนะหฺสมัยท่านศาสดามีพวกนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
120249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ฮันติงตัน เชื่อว่า "ความแตกแยกระดับมหาภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก ... การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง

The Midnightuniv website 2006