นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ผู้นำแห่งการสร้างธรรมิกสังคมชาวนาลุ่มน้ำโขง
ธันวา ใจเที่ยง
: มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธ์
โครงการศึกษานิเวศวิทยาชาวนา ๒ ฝั่งโขง
ปฏิวัติสังคมด้วยจิตวิญญาณ

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เขียนขึ้นเมื่อกลางเดือนมกราคม ๒๕๔๙
เนื่องในโอกาสงาน "สืบอีสาน สันติธรรม นำประชาธิปไตย"
ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ณ จังหวัดขอนแก่น
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 822
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ผู้นำแห่งการสร้างธรรมิกสังคมชาวนาลุ่มน้ำโขง

เมื่อเรากล่าวถึงขบวนการปฏิวัติทางสังคม หลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายพื้นที่ เรามักจะกล่าวถึงขบวนการปฏิวัติทางอำนาจ ด้วยอาวุธ ด้วยความรุนแรง อยู่เสมอ และมักนึกถึงภาพของ "เช กูวารา" นักปฏิวัติชื่อก้องโลก หรือ "จิตร ภูมิศักดิ์" นักรบของคนรุ่นใหม่ จนบางครั้งเมื่อกล่าวถึงเรื่อง "การปฏิวัติสังคม" มักเข้าใจเสียว่าเป็นเรื่องทางการเมืองอยู่ร่ำไป และบาทลงสุดท้ายมักจบลงด้วยความเจ็บปวดมิฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่ว่าไผจะเจ็บปวดหลายกว่ากัน

เช่น ความรวดร้าวของนักต่อสู้ทางการเมืองของคนอีสานเรา มิว่าจะเป็น ฯพณฯเตียง ศิริขันธ์, จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, หรือ แม้กระทั่งจิตร ภูมิศักดิ์ อดีตครูโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีพิทยาลงกรณ์เอง ที่มาจบชีวิตลง ในอ้อมกอดของเทือกเขาภูพาน ฝั่งวาริชภูมิ

กระนั้นขบวนการปฏิวัติทางการเมือง ก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน กับสังคมที่มีอันธชนเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดทางกาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม บางครั้งความรุนแรงก็อาจถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่สุดท้ายบาทเบื้องจบมิรู้จะจบไปเยี่ยงไร และมิทราบว่าเพลิงแค้นแห่งความเจ็บปวดที่ฝ่ายหนึ่งได้รับจะลุกโชนขึ้นมาถอนคืนเมื่อไหร่ ตามวิภาษวิธีที่นักปฏิวัติการเมืองแนวตะวันตก หลายคนเชื่อเยี่ยงนั้น แล้วสังคมแห่งสันติภาพหรือธรรมิกสังคมจะเกิดขึ้นเมื่อใด ฤาอาจไม่มีจริงในไบโอสเฟียร์แห่งนี้ "นิเวศวิทยาแห่งโลก" ที่มนุษย์ หลงถึงความยิ่งใหญ่ของตนตลอดมา?

ในประวัติศาสตร์แห่งสังคมอีสานลุ่มแม่น้ำโขง มีหลายต่อหลายครั้ง ที่เราพยายามต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ให้คนจนผู้ทุกข์ยากในแผ่นดิน ปลดแอกสภาพของการถูกกดขี่ และขูดรีดจนเกินไป ตั้งแต่คราวกบฏผู้มีบุญเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตั้งแต่เมื่อคนทางภาคอีสาน ถูกอพยพ-ผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของรัตนโกสินทร์ เกิดความคับข้องใจในความเป็นพลเมืองชั้นสอง และยังจดจำความหลังและความผูกพันกับทางเวียงจันทน์ ดังสะท้อนจากบทลำพื้นเวียง เมื่อถูกเก็บส่วยและขูดรีดทางเศรษฐกิจและจิตใจ จึงรวมตัวกันแสดงปฏิกริยาขึ้น เพื่อใฝ่หาสังคมที่ปราศจากการขูดรีดหรือสังคมอุดมธรรม

นอกจากนี้ในยุค 4 รัฐมนตรีอีสาน ผู้แทนราษฎรอีสานกลุ่มนี้ อย่าง นายเตียง ศิริขันธ์, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, หรือ นักการเมืองรุ่นต่อมา อย่างนายไขแสง สุกใส, นายแคล้ว นรปติ, พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นต้น พยายามเข้าไปต่อสู้เรียกร้องในสภาเพื่อให้รัฐส่วนกลางสนใจคนภาคอีสานบ้าง ดูแลคนยากจนในแผ่นดินบ้าง บางคราวก็สำเร็จ บางคราวก็ถูกตั้งข้อหาว่า "เป็นคอมมิวนิสต์" บางครั้งเป็น "กบฏแบ่งแยกดินแดน" แล้วถูกอุ้มฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ อันเป็นมูลเหตุสำคัญ ที่นำมาสู่ขบวนการปฏิวัติของประชาชนครั้งยิ่งใหญ่แห่งภาคอีสาน สืบมาในยุคสงครามประชาชน ที่เริ่มต้นด้วยเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว นครพนม ปี 2508

แต่ขบวนการปฏิวัติทางสังคมของกลุ่มชนชาวนาในภาคอีสาน เพื่อได้มาซึ่งสังคมอุดมธรรม "ธรรมิกสังคม" ที่ไร้การกดขี่ หาใช่แค่เรื่องการปฏิวัติทางกาย หรือทางวัตถุ เพื่อให้มีสิทธิมีเสียง มีเสรีภาพในการแสดงออก ลดการขูดรีดทางเศรษฐกิจ อันมักเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง หรือ การดำเนินชีวิตในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเรื่องของนิเวศวิทยาและธรรมชาติ นิเวศวิทยาแห่งความเป็นทุกขัง อันจะนำไปสู่การเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ธรรมิกสังคม หรือสังคมอุดมธรรมที่แท้จริงและมั่นคง นั่นคือ การปฏิวัติทางจิตใจ หรือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ เพื่อก่อให้เกิดสังคมอุดมธรรมขึ้นภายในจิตใจ

นักปฏิวัติอาวุโสในสงครามประชาชน 2 ฝั่งโขง วัย 77 ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ ที่บ้านไม้ 2 ชั้นริมห้วยบัง เมื่อต้นปี 2544 กับข้าพเจ้าว่า "หากมิสามารถกำจัดชนชั้นในจิตใจของตนเองได้ ก็ถือว่ามิใช่การปฏิวัติที่แท้จริง" อันเป็นคำพูดง่ายๆ แต่ลึกซึ้งของ คุณตาชม แสนมิตร ชาวนาอาวุโสแห่งบ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นักปฏิวัติทางสังคมแห่งลุ่มแม่น้ำโขง
ความแร้นแค้น และลำบากกาย อาจดูเหมือนเป็นสิ่งทนได้ยาก แต่ความจริงสิ่งเหล่านี้สำหรับชาวนาอีสานแล้ว มิเกินเลยที่เราจะมิสามารถทนได้กับสภาพทางนิเวศเช่นนี้ มีแต่คนเมืองกรุงเสียเท่านั้นดอกที่ทนกับสภาพความลำบากมิได้ และกล่าวหาว่าคนลาวอีสานล้าหลังกินกบกินเขียด แต่ความแร้นใจ ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาจเป็นสิ่งที่ทนได้ยากและนำไปสู่การเกิดขบวนการใฝ่หาสังคมอุดมธรรม และเกี่ยวโยงพันผูกไปถึงการปฏิวัติดังที่ได้กล่าวมา

ข้าพเจ้าคิดว่าเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้พื้นความคิดการใฝ่หาสังคมแห่งสันติธรรมของคนอีสานแถบลุ่มแม่น้ำโขงค่อนข้างชัดเจน และมีความสืบเนื่อง แต่สภาพความเป็นจริงทางนิเวศ มันโหดร้ายกว่านั้นมาก สภาพทางสังคม สภาพของหมู่บ้าน ปีแล้วปีเล่า มันมีการล่มสลาย มันมีการพรัดพราก มันมีการเกิด การแก่ การตาย ซ้ำซ้อนลงไปอีก เป็นความทุกข์ยาก ที่เกาะกัดเซาะหัวใจให้ปวดร้าว ที่มากกว่าการถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจ และการจำกัดสิทธิ์เสรี

แม้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเป็นสิ่งอันธรรมดา แต่เป็นความธรรมดาที่มิได้มีผู้ใดปฏิเสธสิ่งดังกล่าว เมื่อมันถึงตัว ถึงตัวและครอบครัว มักมีแต่ความโหยหาร่ำไห้ เป็นความทุกข์ยากที่ซ้อนซ้ำ เป็นฐานคิดที่สำคัญส่วนหนึ่ง ที่นำไปสู่การเกิดกลุ่มพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในทศวรรษ ที่ 2445 -2500 อันเป็นยุคเดียวกับหัวเมืองทางภาคอีสาน ได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัตนโกสินทร์ "ลาวในบังคับสยาม" กระนั้นการเห็นโทษภัยหรือเห็นกรงขังของอิสรภาพแห่งชีวิต หาได้เป็นสิ่งที่จะเห็นและเข้าใจกันทุกคน มีเพียงปราชญ์และนักคิดเสียเท่านั้น ที่จะออกมาเป็นผู้นำ และรวบรวมผู้คนแสวงหาเสรีภาพแห่งชีวิตและสังคม

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หรือ นายมั่น แก่นแก้ว เกิดเมื่อ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ หมู่บ้านชาวนาแห่งหนึ่ง ของ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ในสกุลของชาวนา นับเป็นผู้นำคนสำคัญของประวัติศาสตร์ชาวนาในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ในการแสวงหาเสรีภาพทางชีวิตและจิตใจ ในคราวยากลำบากของผู้คนในสังคมชาวนา ให้มีหลักยึดเหนี่ยว หลักใจ ที่เหลียวมองไปที่แห่งหนใด ของบ้านเมืองในยุคทศวรรษที่ 2440 หาได้มีทางออกไม่ ทั้งบ้านเมืองก็ยากลำบาก เพราะสังคมอีสานเริ่มสับส่าย โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปหัวเมือง ส่วนภูมิภาค ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการเข้าไปจัดการสังคมชาวนาอีสานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งการเก็บรีดส่วยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเข้มงวดขึ้น แต่การทำมาหากินยังแร้นแค้น ฝืดเคือง

ทางออกสิ่งหนึ่งที่คนในภาคอีสานพอที่จะประทังชีวิตและจิตใจ และเป็นสิ่งที่ยึดหนี่ยวได้คือ การเข้าวัดฟังธรรม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับงานบุญผเวส เพราะเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับเรื่องโลกหน้า โลกพระศรีอาริย์ หรือ ยูโทเปีย โลกแห่งความเสมอภาค ที่ไม่มีการขูดรีด ดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีความแห้งแล้ง นิเวศอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีศีลธรรม ไม่มีการเบียดเบียน อายุยืนนาน อันเป็นความใฝ่ฝันและความปรารถนาอันสูงสุด ของสังคมชาวนาอีสานภายใต้บริบทของสังคมขณะนั้น และบางครั้งอุดมการณ์สังคมพระศรีอาริย์ได้นำมาปลุก และรวมใจในการต่อต้านรัฐ และปฏิเสธอำนาจรัฐ ในนามกบฏผู้มีบุญ หรือกบฎชาวนา ที่ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักวิชาการประชาชนแห่งสยาม มักจะเอิ้นว่าเป็น ขบวนการ อนาธิปัตย์นิยมไทย

แต่การเดินทางสู่สังคมอุดมธรรมในขณะนั้นเป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธา และความหวังว่า หากได้ทำบุญและฟังเทศมหาชาติ แล้ว เมื่อเกิดชาติหน้า ชาติใด อาจได้พบหน้าพระผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่อย่างพระศรีอาริย์มาผายโผด เพื่อหนีไปให้ไกลจากสังคมแห่งความแห้งแล้ง แห่งความคับแค้นใจ แห่งความพรัดพรากแห่งชีวิต อาจดูเลื่อนลอย แม้จะเคยมีการนำด้วยกำลังอาวุธ ตั้งแต่กบฏชาวนา แต่นั่นมิใช่หนทางที่จะทำให้เป็นทางออกอย่างแท้จริง อาจสะท้อนกลับมาด้วยความเจ็บปวด รวมไปถึงการถูกรบกวนและกัดกร่อนจากนิเวศแห่งความเป็นทุกขังอีก มิจืดจาง ทุกยุคทุกสมัย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ผู้เป็นอาจารย์ ชายหนุ่มแห่งอุบลราชธานี น่าจะเป็นผู้นำที่สำคัญท่านหนึ่ง ในการนำและเปลี่ยนความฝันที่ดูเลื่อนลอยให้เกิดขึ้นจริงในสังคมชาวนา

สลัดเมืองสู่ป่า หนีศักดินาสู่ความสงบ
เมื่อแรกเริ่ม หลวงปู่มั่น ท่านบวชในสำนักของธรรมยุตใหญ่ "วัดศรีทอง" ที่กลางเมืองอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งธรรมยุตอีสาน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2436 ขณะมีอายุ 22 ปี หลวงปู่มั่น ท่านเห็นว่าการที่จะบวชเป็นพระและอยู่ตามเมือง ไต่เต้าให้เป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาราม มียศชั้นสูง หาได้ทำให้ได้มาซึ่งสังคมอุดมคติอันเป็นความปรารถนาและความหวังของชาวนาไม่

ความทุกข์ยากที่มีต่อตัวเองและสังคมชาวนาในขณะนั้นในเรื่องของพรัดพรากในระบบนิเวศ การขูดรีดทางจิตใจตัวเอง ย่อมมิสามารถที่จะกำจัดได้ หากยังอยู่ในธรรมเนียมของพุทธศาสนาแบบล้านช้างหรือแบบรัตนโกสินทร์ ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่วัดวาอาราม ที่เป็นกุฏิไม้ กุฏิปูน ให้ความสำคัญกับการท่องบ่นตำราหรือการศึกษาปริยัติธรรม อันเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของกลุ่มพระไทยสมัยนั้น มิว่าจะเป็นท่าน ดี พันธุโล หรือ ท่านม้าว เทวธัมมี ผู้นำเอาลัทธิธรรมยุติกนิกายมาเผยแพร่ในภาคอีสาน ก็ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาปริยัติธรรมเป็นหลัก

เพราะฉะนั้นพระอาจารย์มั่น จึงตัดสินใจหนีออกไปจากวัดกลางเมือง ที่เหมือนเป็นกำแพงและกรงขังอิสรภาพ ซึ่งวัด ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศศาสนาหรือเส้นทางสันติ ของเจ้าชายสิทธัตถะหรือท่านสมณโคดม ในสมัยยุคพุทธกาล

พระในอีสานยุคนั้น ยังมีความเข้าใจว่ามรรคผลนิพพาน หมดไปเสียแล้ว ไม่มีเสียแล้ว เพราะวัตรปฏิบัติของพระ ค่อนข้างใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นต้นว่าช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ช่วยถางไร่ทำสวน ร่วมงานบุญส่วงเฮือ ทำบั้งไฟแข่ง อันเป็นความงดงาม แต่การที่จะนำพาสังคมไปสู่ความดีงามอันสูงสุด แก้ปัญหาความแร้นแค้นในจิตใจ หาใช่เป็นทางนั้นไม่ เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้ออกมาจากเมือง เพราะหวังการมาท่องบ่น หรือ ไขว่คว้าฐานันดรศักดิ์ แต่เพื่อละทิ้งเมืองสู่ป่า ทิ้งศักดินา เพื่อความเสมอภาคกับประชาชนและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติไม่เบียดเบียน

พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์ ได้ตัดสินใจเดินทางไปแสวงหาสันติธรรมหรือสังคมใหม่ "สังคมอุดมธรรม" ในปี พ.ศ. 2445 โดยการเดินทางรอนแรมเรียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ออกมาทางองค์พระธาตุพนม ทิ้งวัดวาอารามใหญ่ อยู่เบื้องหลัง รอนแรมด้วยเท้า ไปอยู่ตามป่า ตามเงื้อมเขา ทั้งเมืองไทย เมืองลาว พม่า มีที่พักเป็นเพียง เสนาสนะป่า ใต้ร่มไม้ ตามถ้ำ ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศลาว

แม้กระทั่งเบื้องบาทสุดท้ายแห่งชีวิตท่าน ท่านทั้งสองถือว่าเป็นผู้บุกเบิกของการสร้างสังคมใหม่อย่างเป็นระบบในขณะนั้น และเป็นเรื่องใหม่ เวลาที่เดินทางผ่านไปพบผู้คนชาวบ้าน บ้างก็ตกใจกลัววิ่งหนีไปตามป่า ลูกเล็กเด็กแดง ร้องไห้ บางหมู่บ้านที่ชาวบ้านยังนับถือผีมาก ต้องคอยสอนและบอกวิธีให้มีการใส่บาตรและฮีตคองของพระธุดงค์ และในบางครั้งยังได้รับการต่อต้านจากพระศักดินาหรือพระฝ่ายปกครอง

อย่างในปี พ.ศ. 2470 พระอาจารย์มั่น เดินทางเข้ามาในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ขณะนั้น) ได้มีคำสั่งจากเจ้าคณะมณฑล ให้นายอำเภอและเจ้าคณะแขวงของอำเภออำนาจเจริญ และอำเภอม่วงสามสิบ จัดการขับไล่ท่านและคณะพระธุดงคกรรมฐาน และห้ามมิให้ประชาชนใส่บาตร

โพธิอุดมการณ์กับการนำสังคมสู่สันติธรรม
การเป็นผู้นำในการแสวงหาสังคมอุดมคติในยุคเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ต้องอดทน เด็ดเดี่ยว(*) พระอาจารย์มั่น ท่านธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ด้วยเท้าอย่างยากลำบาก ในสิ่งที่บุคคลธรรมดามิอาจทนได้ บางครั้งนอนอยู่ในป่าที่มีเสือมากมาย ในถ้ำที่มีปีศาจร้าย หรือ ภูมิจิตฝ่ายอธรรม เป็นสิ่งที่นับว่าเหลือเชื่อยิ่งนักของปุถุชนธรรมดา จะสามารถหลีกเร้นอยู่ตามลำพังคนเดียวกลางป่าได้ หากมิใช่ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า ความศรัทธาและเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์ที่เป็นธรรม และการไม่เบียดเบียน
(* แม้ในระยะแรกท่านพระอาจารย์มั่น จะเคยศึกษาธรรมะกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อุบลราชธานี และธุดงค์ร่วมกัน หลังจากนั้นต่างองค์แยกธุดงค์ไปตามลำพัง ต่อมาพระอาจารย์มั่นได้กลับเป็นผู้ มาแนะแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงให้กับพระอาจารย์เสาร์ ผู้เป็นอาจารย์ ทั้งสองท่านให้ความเคารพกันยิ่ง)

มีบางครั้งต้องเผชิญทุกขเวทนา กลางหุบเขาคนเดียวอย่างทรมานแสนสาหัส เช่น ในคราวหนึ่งที่ท่านรอนแรมธุดงค์คนเดียวมาทางถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ที่ร่างกายมีแต่อาการเจ็บไข้เวทนาสุดที่จะเอาชีวิตรอด แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความอดทน และธรรมโอสถ ในป่าเขา ที่บางครั้งข้าวก็มิได้กิน น้ำมิได้ดื่ม ในขณะที่ผู้บวชในพุทธศาสนาเมืองไทยส่วนมาก ปรารถนาความสะดวกสบาย ตามหัวเมืองใหญ่ และไหลไปตามระบบศักดินาและทุนนิยม

เจ้าชายสิทธัตถะ เดินทางสู่ป่า และไปบำเพ็ญเพียร "ค้นคว้า-วิจัย" อยู่ตามป่าเขา มิได้หมายความว่าจะเป็นการเอาตัวรอดเพียงคนหนึ่งคน เฉพาะตนเสียเท่านั้น การละทิ้งบ้านเมือง การละทิ้งอำนาจและความเป็นเจ้าชาย กลายเป็นเพียงชายพเนจรตามป่าเขา โกโรโกโส ก็เพราะเห็นว่าทุกข์เข็ญของราษฎรของประชาชนที่อยู่ขวางต่อหน้า ทุกข์เข็ญบนพื้นฐานหลักความจริงของนิเวศ มันมิสามารถที่จะปัดเป่า หรือแก้ไขได้ด้วยเรื่องของอาหาร เรื่องของอิฐหินดินปูน เรื่องของตึกรามอันใหญ่โต ด้วยคฤหาสน์อันหรู หรือยศฐาบันดาศักดิ์ที่สรรแต่งขึ้น

การจากเมืองสู่ป่าของพระองค์ ก็เพื่อหาแนวทางมาทำการเปลี่ยนแปลง แก้ไขความเดือดร้อนและทุกข์ยากให้กับสังคม และผู้คนเชิงสูง แต่บางกลุ่มคนที่แสวงหาอำนาจ เพื่อเป็นใหญ่ เพื่อสร้างและปกป้องผลประโยชน์ตน ต่างอ้างว่าเพื่อประชาชน แต่สุดท้ายฉกฉวยเอาสมบัติและทรัพยากรของชาติมาเป็นของส่วนตนส่วนตัว ในขณะที่พระองค์เมื่อพบแล้ว ก็เดินทางกลับมาแนะนำแนวทางสังคมอุดมคติให้กับประชาชนของพระองค์ ทั้งบิดา มารดา ชายา ปวงราษฎร โดยที่มิได้เรียกร้องสิ่งใดๆแม้เงินเพียงสตางค์แดงเดียว แต่กว่าที่จะถึง ต้องผ่านหนทางอันยากลำบาก เพราะไม่มีใครในยุคพุทธกาลทำสำเร็จมาก่อน

เช่นเดียวกันแม้ในสังคมไทย ในยุค 2450 พุทธศาสนาไทย จะประกาศว่ามีมรรคผลนิพพาน พระอรหันต์เคยมีในโลก แต่ในบริบทของสังคม-อีสานในขณะนั้น มิได้มีผู้ใดที่กล้าและเป็นผู้นำในการชี้นำแนวทางดังกล่าว การก้าวเดินสู่ความเป็นอริยบุคคลทำเยี่ยงใด ทุกอย่างเป็นเพียงเรื่องเล่า ทุกอย่างอยู่ในตำรา แม้ธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธในไทย ก็มักเป็นพิธีกรรมดังศาสนา พระมียศฐาบันดาศักดิ์ นิยมศึกษาพุทธเพื่อเป็นบันไดแห่งความก้าวหน้าในสังคมโลกมากกว่า ซึ่งมิใช่เรื่องผิด

แต่พุทธวิธีที่เป็นเสมือนแนวทางการปฏิวัติทุสังคม แนวทางที่จะอยู่ร่วมกันกับสังคม-นิเวศ อย่างไม่ทุกข์และไม่เบียดเบียน อย่างลึกซึ้ง กลับเป็นเพียงกระดาษแห่งการสอบผ่าน ที่จะทำให้คนในสังคมเปลี่ยนสถานภาพของตนเอง เพราะฉะนั้นพระอาจารย์มั่น ที่เดินทางจากเมืองสู่ป่า ทิ้งเส้นทางศักดินาสู่ความสงบ ทิ้งความสบายเบื้องต้น สู่ความยากลำบาก ไปตามป่าตามเขาผู้เดียว จึงต้องมีอุดมการณ์อย่างลึกซึ้งและความเพียรพยายามอย่างยิ่ง หากไม่แล้วก็จะล้มเลิกเสียกลางทาง และมิสามารถที่จะเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกเส้นทางแห่งอริยบุคคลอย่างแท้จริง

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับคณะนักปฏิวัติสังคม
องคาพยพของคณะพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ข้าพเจ้ามิอาจคาดคะเนหรือนับจำนวนได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆคือ มิได้หมายความว่าจะมีเพียงท่านหรือกลุ่มพระชาวนาไม่กี่รูป แต่นี่หมายถึงทั้งผืนแผ่นดินอีสานทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ตั้งแต่เหนือสุดอย่างเมืองเลย จนถึงใต้สุดอย่างสุรินทร์ หากการดำเนินสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และจริงจังมวลชนก็พร้อมที่จะเดินตาม

ชาย พรหมวิชัย หรือสหายสวรรค์ ชาวนาแห่งส่องดาว อดีตทหารพิทักษ์ จิตร ภูมิศักดิ์ บอกกับข้าพเจ้าเกี่ยวกับขบวนการชาวนาไทย ว่า "ชาวนาไทยที่ยังยากจน ทุกข์ยาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราไม่มีผู้นำ ถึงมีก็นำไปไม่ถูก อย่างข้าราชการและนายทุน มักจะขูดรีดเรา"

แต่ท่านอาจารย์มั่น คือผู้นำ ที่เป็นคนอีสานแท้ เกิดและเติบโตในภาคอีสาน มิได้รับทฤษฎี-ลัทธิการเมือง การปฏิวัติจากที่แห่งใด แม้อาจได้รับแนวปฏิบัติหรือคองธรรมยุต จากธรรมยุตกรุงเทพฯ ที่เน้นการปริยัติ แต่นั่นก็เลาๆ และในกรุงเทพฯเองอาจไม่มีใครที่มีความจริงจัง และมีอุดมคติและอุดมการณ์สูงปานนั้น เพราะฉะนั้นท่านมิเพียงแต่จะมีภาพแห่งการเป็นผู้นำในการปฏิวัติสังคมที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่คนในโลกควรที่จะศึกษาชีวิตและอุดมการณ์ของท่าน มิแพ้คนสำคัญของโลกท่านอื่นใดในศตวรรษนี้

การเดินทางธุดงค์ผ่านไปยังชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ล้วนพานพบผู้คน ชื่อเสียงแห่งความดีงาม ความเอาจริงเอาจังแห่งการแสวงหาโมกขธรรมของท่าน และปฏิปทาที่มุ่งสู่ความดีงาม เอาชนะความหวาดกลัวและความอ่อนแอของจิตใจ ข้อวัตรที่เรียบร้อย ดึงดูดให้กลุ่มชาวนาชาวไร่ หรือคนมีสกุลลุนชาติ ที่ต้องการที่จะฝากเป็นฝากตายกับท่าน เดินทางเข้าป่าตามหาท่าน เพื่อฝากตัวอยู่กับท่านมากมาย

แม้แต่ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ก็ละทิ้งการเล่าเรียนเปรียญธรรม กลับจากกรุงเทพฯเดินทางตามท่านพระอาจารย์มั่น ราวปี พ.ศ.2485 ถึงเสนาสนะป่า บ้านโคก สกลนคร หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ อดีตนายฮ้อยและผู้ใหญ่บ้านดงเย็น อุดรธานี ภายหลังจากได้สละทรัพย์สิน ไร่นา สาโท ให้ประชาชน ท่านก็บวช และเดินทางตามหาท่านอาจารย์มั่น ถึงเชียงใหม่ ศิษย์และคณะของหลวงปู่มั่นทั้งศิษย์โดยตรง และรุ่นหลาน รวมไปถึงผู้ยึดแนวทางพระธุดงค์กรรมฐาน "ธุดงควัตร 13" จึงมาก ค้ำจุนสังคมอีสานและสังคมประเทศไทยให้เป็นสังคมแผ่นดินธรรม "ธรรมิกสังคม" เช่น

หลวงปู่สิงห์ ขันตยาขโม, หลวงปู่แหวน สุจินโน, หลวงปู่เทสก์ เทสส์รังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม, หลวงปู่ดุลย์ อตุโล, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงพ่อชา สุภัทโท, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่คำดี ปภาโส, หลวงปู่สาม อกิณจโน, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ, พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ฯลฯ

การปฏิวัติทางจิตใจของพระธุดงค์ กับการปฏิวัติสังคมด้วยกำลังอาวุธและการเมือง
ความจริงหากมองผิวเผินแล้ว ในระหว่างปี พ.ศ. 2475 -2525 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าในสังคมภาคอีสานและหัวเมืองลุ่มน้ำโขง จะมีความพยายามในการต่อสู้ของกลุ่มผู้นำชาวนาอีสาน ด้วยพลังทางการเมืองเสียอย่างเดียว เพื่อพยายามให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ อันเท่าเทียม หรือเพื่อต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบและใส่ร้ายป้ายสีจากผู้มีอำนาจ ตั้งแต่กรณี ผู้นำอีสาน ยุค 4 รัฐมนตรี ในทศวรรษ 2470-2490 หรือยุคสงครามประชาชน ตั้งแต่ทศวรรษ 2500-2520 และผู้นำชาวอีสานที่มีอุดมการณ์อันเข้มแข็งจบลงด้วยความตาย กว่าที่คนชาวนาชาวไร่จะลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่กระนั้นสิทธิเสรีภาพ อาจทำให้กลุ่มทุนแทรกเข้ามาเปิบ พร้อมกับอ้างในนามของประชาชนและเอาเปรียบคนยากจนอีก

ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาเดียวกันดังกล่าว ตามป่าตามเขา ตามเงื้อมผา ขบวนการปฏิวัติทางสังคม-ทางจิตใจ ซึ่งเป็นการปฏิวัติขั้นสูงสุด เป็นไปอย่างเข้มข้นและดุเดือดมิย่อหย่อนไปกว่ากัน แต่สงคราม มิได้อยู่ที่ชีวิตและเลือดเนื้อ แต่อยู่ที่หัวใจตัวเอง เพื่อจริยธรรม-คุณธรรม การอดหลับอดนอน ผ่อนอาหาร เดินจงกลม นั่งภาวนา ตลอดรุ่งสาง กลางป่า บนหน้าผาสูงชัน ในป่าช้า ในดงที่มีสัตว์ร้าย ก็เพื่อเอาชนะความไม่ดีในจิตใจตนเอง ความไม่เข้าใจความเป็นจริงของกฏธรรมชาติหรือภาวะแห่งนิเวศ ทั้งระดับต้นและเบื้องปลาย ความอยากได้อยากมี อยากเบียดเบียน อยากโลภ เกินขีดจำกัดและความเหมาะสมของระบบนิเวศจะพึงรับได้ จนต้องเข่นฆ่าเบียดเบียน ปิดปากปิดเสียงของผู้คน "ชนชั้นในหัวใจ"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการปฏิวัติของบุคคลของท่านพระอาจารย์มั่น โดยมากมักเป็นกลุ่มพระชาวนาจากภาคอีสานเสียมาก ภายหลังที่ท่านเหล่านั้นสำเร็จกิจแห่งการปฏิวัติ เป็นสุปฏิปันโนควรแก่การกราบไหว้ ระหว่างที่ท่านครองตัว ยังมีชีวิตอยู่ มักทำตัวอย่างเรียบง่าย มิปรารถนายศฐาบันดาศักดิ์ พยายามบอกและทำตัวเป็นแบบอย่าง แก่ลูกหลานชาวนาและผู้คนทุกชนชั้น ให้ไม่เบียดเบียนกัน เมตตากัน ทั้งในครอบครัว ระหว่างครอบครัว ทั้งในประเทศตน ประเทศอื่น มิได้บอกหรือสอนให้เบียดเบียน คนยากจน หรือคนร่ำรวย ใครเป็นผู้ใหญ่ ให้มีพรหมวิหาร 4 เป็นผู้นำบอกธรรมระดับผู้นำ ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมาธิปไตย มากกว่าโครงสร้างและรูปแบบของระบอบการเมือง มิว่าจะเป็น ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ หรือราชาธิปไตย แต่ทุกระบอบควรมีธรรม เป็นตัวหล่อเลี้ยง

แต่เท่าที่ผ่านมา ทุกระบอบเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากผู้นำขาดธรรม ผู้นำมักหลงทิศหลงทาง หลงอำนาจ และผลประโยชน์ นำพาสังคมไปสู่ความวุ่นวาย อบายมุขและความโลภมิจบสิ้น

บุคคลที่เป็นสุปฏิปันโน อยู่ที่ใด ดูเหมือนว่าสังคมจะดีงาม ชุมชนร่มเย็น เช่น คราวที่หลวงปู่มั่น ไปอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ท่านก็สอนให้คนบ้านหนองผือรักษาศีล 5 ในวันศีลวันพระ แนะนำชาวนาไปวัดฟังธรรม ไม่ทำการเข่นฆ่าสัตว์หรือไปหากินยามกลางคืน ทุกเช้าชาวนาบ้านหนองผือออกมาใส่บาตรทุกหลังคาเรือน ทุกคนรู้จักจาคะ มีความเสียสละ ผู้นำอย่างผู้ใหญ่บ้าน ก็ดูแลง่าย เมื่อลูกบ้านมีศีลธรรม

แม้ลูกศิษย์ของท่าน ที่กระจายไปอยู่ตามชุมชนหรือหมู่บ้านชายป่าต่างๆ ย่อมทำให้ชุมชนนั้นร่มเย็น เช่น เมื่อหลวงปู่แหวน อยู่ที่ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ ชุมชนแถบนั้นก็ร่มเย็น หลวงปู่ขาว อยู่ถ้ำกลองเพล แถบหนองบัวลำภู ชุมชนแถบนั้นร่มเย็น หลวงปู่ชอบ อยู่เสนาสนะป่าโคกมน วังสะพุง หลวงปู่ฝั้น อยู่ถ้ำขาม พรรณานิคม หลวงปู่คำดี อยู่ถ้ำผาปู่ นาอ้อ เมืองเลย หลวงปู่หล้า อยู่ภูจ้อก้อ มุกดาหาร ต่างก็ร่มเย็น มิเพียงแต่ชาวบ้านและสังคมแถบนั้น ยังกระจายไปยังเขตอื่นจังหวัดอื่นใกล้ไกล รวมไปถึงเจ้านายชั้นสูง จากกรุงเทพฯ ต่างเดินทางไปหาความร่มเย็น เมตตากรุณา อบรมจิตใจให้ดีงาม จากพระชาวนา ที่เป็นเพียงพระบ้านป่าเมืองไกล ไร้ฐานันดร ส่งแผ่ความร่มเย็นไปทั่วทุกอณู

เมื่อสังคมเกิดความเดือดร้อน ท่านก็ออกจากป่าจากชุมชนหมู่บ้านมาสงเคราะห์ประชาชน สงเคราะห์รัฐ โดยเฉพาะด้านการเจ็บป่วยของประชาชน อันเป็นความทุกข์ยากทางนิเวศ ที่พวกท่านให้ความสำคัญเรื่องนี้ยิ่ง ดังจะเห็นจากการสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของพระธุดงคกรรมฐานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โรงพยาบาลอำเภอพรรณานิคม ที่ท่านหลวงปู่ฝั้น ให้การอุปถัมภ์ โรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกจังหวัดในเขตอีสานเหนือที่หลวงตามหาบัว สนับสนุน ทั้งอาคารและเครื่องมือแพทย์ ในระยะกว่า 20-30 ปีมาแล้ว มิรวมหนังสือและเทปธรรมะกว่าหมื่นๆที่แจกจ่ายฟรี

เมื่อรัฐและประเทศชาติเกิดความขัดสน โดยเฉพาะเกิดภาวะวิกฤติ ใน ปี 2540 กลุ่มพระธุดงคกรรมฐาน ที่อยู่อย่างสงบตามบ้านป่าในเขตอีสาน ต่างก็นำพาผู้คนชาวนาชาวไร่ ชนบท ชาวเมือง ออกมาช่วยชาติ หลังจากนั้นก็กลับป่ากลับนา โดยที่มิได้หวังยศฐาบันดาศักดิ์ ใดๆ

เมื่อท่านตายจากไปแล้ว กระดูกของท่านเปลี่ยนเป็นแก้วบริสุทธิ์ อันเป็นอนุสรสัญลักษณ์ อันสูงสุด ในการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์และทำความดี จรรโลงสังคมให้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้มีธรรมิกสังคมอยู่ไม่ขาดหาย ซึ่งสวนทางและเป็นคนละอย่างกับเป้าหมายและอุดมการณ์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกปัจจุบัน ที่เน้นแต่เรื่องการแข่งขัน ความโลภ ความรวย เอารัดเอาเปรียบกัน และทำลายธรรมชาติ

บ้านหนองผือกับความเป็น "ธรรมิกสังคมชาวนา"
ท่านพระอาจารย์มั่น นับว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงขจรขยายไปทั่วอันพอที่จะทำให้สามารถเลือกบริเวณที่อยู่ ที่ดีๆมีลาภสักการะมากๆ ตามเขตเมืองใหญ่ มิว่าจะเป็นกลางเมืองเชียงใหม่ เมืองอุดร ขอนแก่น หรือกลางเมืองสกล ได้นั่งรถโก้ หรือได้รับเงินทอง มียศศักดิ์มาก แต่อุดมการณ์และวิถีชีวิตของท่าน มิได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เลย ดูเหมือนธุดงค์วัตร 13 และขันธวัตร 14 จะเป็นสิ่งที่ท่านยึดถือ เป็นแนวทางจนบาทสุดท้ายแห่งชีวิต และเป็นหลักของการเป็นพระธุดงคกรรมฐาน อันจะนำไปสู่การมีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียง

สิ่งนี้ดูได้จากเมื่อคราวที่ท่านเดินทางไปอยู่เชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ได้มอบหมายให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง และให้ชั้นยศเป็นพระครูวินัยธร ด้วยความเกรงใจท่านเจ้าคุณฯ หลวงปู่มั่นก็รับไว้ แต่มินานถึงปี หลวงปู่มั่นท่านก็สละทิ้งยศและเดินทางหนีเข้าไปในป่า เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพภายในจิตใจ ให้ถึงเสรีภาพทางจิตใจ จิตใจมีเสรีภาพ อันสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าของท่าน

ดูเหมือนว่าการเข้าถึงเสรีภาพทางจิตใจ ที่อิสระจากการบีบคั้น ขูดรีด ด้วยความเห็นแก่ตัว ความกลัว ความขลาด ความอยากได้ ความเบียดเบียน ความอยากมี อันเป็นพื้นฐานของระบบทุนนิยม หรือ อำนาจนิยมของสังคมมนุษย์ ท่านจะให้ความสำคัญ มากกว่าสิ่งใด หลวงปู่มั่นเดินทางเข้าป่า ไปทำการปฏิวัติตามลำพังท่านเอง ในถ้ำเชียงดาว และสำเร็จภารกิจของการปฏิวัติ ในค่ำวันหนึ่งใต้ร่มไม้ ในชายป่าจังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นเมื่อคณะศิษย์อย่างเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมพร จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์เทสก์ เทสส์รังสี (ขณะนั้น) ได้นิมนต์ท่านกลับภาคอีสาน หลวงปู่มั่นเดินทางกลับภาคอีสาน เพื่อมาโปรดประชาชนและสั่งสอนคณะศิษย์ที่มีจำนวนมากที่ภาคอีสาน ผ่านลงมาทางนครราชสีมา ก่อนที่จะย้อนมาทางวัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี และเดินทาง มาจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านนามน บ้านโคก และบ้านนาสีนวล อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ก่อนที่จะเดินเท้าฝ่าดงป่าข้ามภูพานไปบ้านหนองผือ

ซึ่งแต่ละแห่งที่ท่านจำพรรษา มิปรากฏว่า เป็นวัดวาอารามที่ใหญ่โต มีผู้คนและญาติโยม เข้าออกมากมาย หรือ เป็นสถานที่ที่สามารถให้ลาภ ให้ยศฐาบันดาศักดิ์มาก ทั้งๆที่ในขณะนั้นเมื่อราวทศวรรษ 2480 ท่านเป็นบุคคลที่มีลูกศิษย์มากที่สุดในภาคอีสาน เพราะท่านเองมีส่วนอย่างยิ่งในการขยายวงศ์ธรรมยุตให้กระจายออกไปตามสังคมหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ด้วยความงดงามและปฏิปทาอันสูง และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุด สามารถที่จะเลือกได้ หรือเรียกร้องให้เขาสร้างบ้านเรือนหรือกุฏิให้ใหญ่โต หารถ หาเงินทองมาถวายให้ท่าน อย่างมิจบสิ้น แต่หลวงปู่มั่น มิเคยกระทำเยี่ยงนั้น ตั้งแต่เบื้องบาทแรกแห่งการเดินทางแสวงหาโมกขธรรม จนกระทั่งสำเร็จภารกิจ ท่านยินดีอยู่ในความเรียบง่าย ในชายป่า ในกุฏิเล็กๆ แต่สิ่งที่ท่านให้ความสำคัญ มากที่สุด คือ สังคมและชุมชนที่ท่านอยู่ต้องเอื้ออาทร แบ่งปัน ไม่มีการเบียดเบียน ทั้งระหว่างตน ระหว่างมนุษย์, มนุษย์กับธรรมชาติ, กับสรรพสัตว์ มีพรหมวิหาร มีศีลธรรม

ท่านเลือกที่จะพำนักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยเดินเท้าออกมาจาก อ.โคกศรีสุพรรณ บ้านหนองผือขณะนั้น (พ.ศ.2487-2492) หาใช่หมู่บ้านบ้านที่มีคนร่ำรวยไม่ หรือมีความสะดวกสบาย ไฟฟ้า รถรา ตึกอันใหญ่โต เป็นแต่เพียงหมู่บ้านชาวผู้ไท (เมืองวัง) เล็กๆกลางหุบเขาภูพาน ที่มีเพียงทางเกวียนและทางเดินเท้าเท่านั้นที่จะเข้าไปถึงหมู่บ้านนี้ กลางคืนมีเพียงแสงตะเกียงพอรำไร

ท่านเลือกมาจำพรรษาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสงบห่างไกลฝูงชนอันพลุกพล่าน สามารถอยู่กันได้อย่างร่มเย็น และไม่มีรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง บ้านหนองผือถือว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของหมู่บ้านไทย ท่านทิ้งการแข่งขัน เบียดเบียนจากเมืองใหญ่ มาอยู่ในชายป่า พร้อมทั้งภารกิจของการอบรมคณะศิษยานุศิษย์ท่านที่พักจำพรรษาด้วยกว่า 40 รูป มิว่าจะเป็น หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร, พระอาจารย์สุวัจ สุวโจ, พระอาจารย์คำพอง ติสโส, พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร, พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก, พระอาจารย์แว่น ธนปาโล, พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาธัมโม, พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต, พระอาจารย์ศรี มหาวิโร, พระอาจารย์วัน อุตโม, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมธโร, พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ฯลฯ ที่อยู่จำพรรษากับท่าน

รวมไปถึงคณะศิษย์ที่อยู่รอบใกล้เคียง ที่เดินทางเข้ารับการอบรมกับท่าน อย่างหลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่หลุย จันสาโร,หลวงปู่สิงห์ ขันยาคโม, ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโร), หลวงพ่อลี ธัมมธโร, หลวงปู่เทสก์ เทสสรังสี, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นต้น

หลวงปู่มั่น ท่านได้สอนให้ชาวบ้านเลิกการนับถือผี สอนให้ชาวหนองผือ รักษาศีล 5 ไม่ให้มีการเบียดเบียน รู้จักการแบ่งปันและให้ทาน ชาวนาบ้านหนองผือเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2548 ว่า แม้ชาวหนองผือในยุคนั้น จะเป็นหมู่บ้านเล็ก มีจำนวนครัวเรือนไม่มาก โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้นที่มีพระจำนวนมากมาจำพรรษา แต่บ้านหนองผือสามารถเลี้ยงได้ ผู้คนอยู่อย่างสงบ ไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเมืองร่มเย็น ชาวนาดูแลและจัดการชุมชนตัวเอง พึ่งพาตนเอง โดยที่มิได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมิต้องพึ่งรัฐ

ชาวหนองผือ ต่างช่วยกันตำข้าว เพื่อถวายพระ เพราะสมัยนั้นไม่มีโรงสี แต่ก็สามารถเลี้ยงพระ 40-50 รูปได้ ทั้งที่มีไม่กี่หลังคาเรือน เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงวันศีล ชาวบ้านพากันไหว้พระสวดมนต์ ไม่หาอยู่หากินตอนกลางคืน เพราะจะเป็นการเบียดเบียนสัตว์ ทุกเช้าพากันตักบาตร ทุกหลังคาเรือน อันเป็นฮีตคองที่หลวงปู่มั่นพาดำเนิน และยังสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ธรรมิกสังคมชาวนา เกิดขึ้นที่หนองผือ ซึ่งเกิดขึ้นบนฐานอันเป็นผลแห่งการปฏิวัติทางจิตใจ ท่านอาจารย์มั่น สอนให้กลุ่มชนที่มีความตั้งใจเป็นพิเศษ ในการพัฒนาตนในหมู่ที่เรียกว่าพระธุดงคกรรมฐาน ในการเดินจงกรมภาวนา พยายามลดสาเหตุและกำจัดต้นเหตุแห่งการเบียดเบียน แห่งการเกิดชนชั้น และเผด็จการ ที่อยู่ในจิตใจเป็นเบื้องแรก ภายในบริเวณเสนาสนะป่าบ้านหนองผือ พร้อมกับทำตัวเป็นแบบอย่าง และให้ชาวหนองผือ เลิกความเชื่อที่อาจทำให้ขัดขวางการเข้าถึงเสรีภาพแห่งจิตใจ เพราะการที่ยังพึ่งผี-เทวดา หรือวัตถุ อาจมิสามารถนำมาสู่เสรีภาพอย่างแท้จริง

ให้พยายามสร้างฐานที่ตั้ง เริ่มต้นตั้งหลักใจให้ได้ โดยการให้เลิกเบียดเบียนกัน เบียดเบียนสัตว์ ให้เอาจิตใจไปยึดกับความดีของตน การให้ทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นพื้น ก่อนที่จะพัฒนาไปในระดับสูงตามกาลที่เหมาะสม การที่ชาวหนองผือ ให้ทาน รักษาศีล แบ่งปัน มีน้ำใจ พึ่งพาตนเองได้ ในทัศนะและความเห็นของข้าพเจ้า นั่นคือ ธรรมิกสังคม สังคมที่เป็นธรรม หล่อเลี้ยงด้วยธรรม มิใช่ด้วยเงินตรา หรือทุนนิยมที่โลกและรัฐบาลกำลังสอนกันทุกวันนี้

พระอาจารย์มั่น อยู่ที่หนองผือ 5 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2487 -2492 นับว่าเป็นสถานที่ที่ท่าน จำพรรษานานที่สุด เมื่อท่านอาพาธ และทราบวาระที่จะต้องจากไป ท่านบอกให้คณะศิษย์พาท่านออกไปจากบ้านหนองผือ เนื่องจากตัวท่านเองมีคณะศิษย์มากและมีญาติโยมมาก หากท่านเสียชีวิตและจัดงานศพที่นั่นจะมีความยากลำบากต่อสรรพชีวิต เนื่องจากบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านที่เล็ก อาหารการกิน ไม่พอ ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนจากท่าน คือ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จะต้องล้มตาย เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พาท่านมาที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร ที่มีตลาด พร้อมกับสั่งเสียชาวหนองผือ ที่เดินเท้าเปล่าจากหุบภูพาน ตามมาส่งท่านเป็นบาทสุดท้าย

" เมือซะเด้อ…หมดท่อนี้ละเน้อ..เอาน้ำไปรดไม้แก่นล่อนให้มันป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ …ให้พากันเฮ็ดพากันทำตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั้นเด้อ อย่าลืมเด้อ..ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดทอนี้ละ"

ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ เมื่อต้นหนาว เดือนพฤศจิกายน 2492 อันเป็นบาทคำ ที่ตลอดชีวิตของนักปฏิวัติแห่งสังคมอีสานผู้นี้ ให้ความสำคัญกับธรรมมิกสังคมมากกว่าสิ่งใด และในงานฌาปนกิจศพของท่านคราวนั้น นายเตียง ศิริขันธ์ ในฐานะที่เป็นผู้แทนของชาวสกลนคร และศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่นมีบทบาทและเป็นธุระสำคัญยิ่ง ในการจัดงานศพให้กับผู้สร้างธรรมมิกสังคมชาวนาแห่งภาคอีสาน "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" เป็นหลักชัยแห่งความร่มเย็นและดีงามให้กับสังคมไทยสืบมา

เอกสารอ้างอิง

- คณะศิษยานุศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต. (2544).บูรพาจารย์.พิมพ์ครั้งที่ 1. มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต.กรุงเทพฯ.
- พระอาจารย์มหาบัว ญานสัมปันโน (2538). ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.กรุงเทพฯ.
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2537) วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม.พิมพ์ครั้งที่ 2.สำนักพิมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ

- เปรมวิทย์ ท่อแก้ว.(2534).การก่อตัวและขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2364-2473). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.


- ธันวา ใจเที่ยง.(2546).หมู่บ้านชาวนาปฏิวัติบนแผ่นดินอีสานตอนบน.พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนนงานวิจัย.กรุงเทพฯ.

- ธันวา ใจเที่ยง.(2545).บ้านหนองผือศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธธรรมแคว้นสองฝั่งโขง.เอกสารอัดสำเนา.โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนากลุ่มชน 2 ฝั่งโขง.นครพนม


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
030249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เพราะฉะนั้นพระอาจารย์มั่น จึงตัดสินใจหนีออกไปจากวัดกลางเมือง ที่เหมือนเป็นกำแพงและกรงขังอิสรภาพ ซึ่งวัด ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศศาสนาหรือเส้นทางสันติ ของเจ้าชายสิทธัตถะหรือท่านสมณโคดม ในสมัยยุคพุทธกาล
พระในอีสานยุคนั้น ยังมีความเข้าใจว่ามรรคผลนิพพาน หมดไปเสียแล้ว ไม่มีเสียแล้ว เพราะวัตรปฏิบัติของพระ ค่อนข้างใกล้ชิดกับชาวบ้าน เป็นต้นว่าช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ช่วยถางไร่ทำสวน ร่วมงานบุญส่วงเฮือ ทำบั้งไฟแข่ง อันเป็นความงดงาม แต่การที่จะนำพาสังคมไปสู่ความดีงามอันสูงสุด แก้ปัญหาความแร้นแค้นในจิตใจ หาใช่เป็นทางนั้นไม่ เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้ออกมาจากเมือง เพราะหวังการมาท่องบ่น หรือ ไขว่คว้าฐานันดรศักดิ์ แต่เพื่อละทิ้งเมืองสู่ป่า ทิ้งศักดินา เพื่อความเสมอภาคกับประชาชนและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติไม่เบียดเบียน

The Midnightuniv website 2006