The Midnight University
จักรพรรดินิม
๑๐๑
บทนำว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง
จักรพรรดินิยมกับการตักตวงประโยชน์โลกที่สาม
สมเกียรติ
ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความชิ้นนี้นำมาจากต้นฉบับเรื่อง
Imperialism
101
Chapter 1 of Against Empire เขียนโดย Michael Parenti
สำหรับนักศึกษา และผู้สนใจที่ต้องการค้นคว้าจากต้นฉบับ สามารถคลิกไปดูได้ที่
http://www.historyisaweapon.org/defcon1/imperialism.html
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 819
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
16.5 หน้ากระดาษ A4)
Imperialism
101
จักรพรรดินิยมกับการตักตวงประโยชน์โลกที่สาม
บทแรก : ว่าด้วยการต่อต้านจักรวรรดิ์
(Chapter 1 of Against Empire)
ลัทธิจักรพรรดินิยมนับว่ามีพลังอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกในรอบ
4-500 ปีที่ผ่านมา ลัทธิดังกล่าวได้แบ่งแยกผืนแผ่นดินทั้งหลายออกจากกันเป็นส่วนๆ
ขณะเดียวกันก็กดขี่บีฑาคนพื้นเมือง และได้ทำลายอารยธรรมของคนเหล่านั้นลงเกือบหมดด้วย
กระนั้นก็ตาม มันก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจอย่างจริงจังนักจากบรรดานักวิชาการ,
นักข่าว, และรวมถึงผู้นำทางการเมืองต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกเมินเฉยจนถึงที่สุด หัวเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับลัทธิจักรพรรดินิยมยังเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลในการพิจารณาถึงจักรวรรดิ์ต่างๆ ที่ได้กลายเป็นเครือจักรภพทั้งหลายขึ้นมา และอาณานิคมทั้งหลายกลับกลายเป็นเขตแดนหรือเขตอำนาจปกครอง (หรือในกรณีของเปอโตริโก ก็เป็นส่วนหนึ่งของ"เครือจักรภพ" ด้วยเช่นกัน) การแทรกแซงของกองกำลังจักรพรรดินิยมกลายเป็นสาระสำคัญของการป้องกันชาติ และธำรงรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง สำหรับในบทความชิ้นนี้ จริงๆแล้วต้องการจะสำรวจเพื่อหาคำตอบว่า ลัทธิจักรพรรดินิยมคืออะไร?
ลัทธิจักรพรรดินิยมท่องไปทั่วโลก
โดยคำว่า"จักรพรรดินิยม" ผู้เขียนหมายความถึง กระบวนการอันหนึ่งซึ่งผลประโยชน์ทางการเมือง
เศรษฐกิจของประชาชาติหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า ได้ทำการริบหรือยักยอกทรัพย์สินของคนอื่น
เพื่อความร่ำรวยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผืนแผ่นดิน แรงงาน และตลาดของคนอีกพวกหนึ่ง
เหยื่อในช่วงแรกๆของลัทธิจักรพรรดินิยมยุโรปตะวันตกก็คือ บรรดาชาวยุโรปทั้งหลายด้วยกันเอง. เมื่อ ประมาณ 800 ปีมาแล้ว ไอร์แลนด์กลายเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษ ที่ซึ่งต่อมาภายหลังต่อมา ถูกรู้จักกันในฐานะจักรวรรดิ์อังกฤษ(British empire). ปัจจุบันส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์ยังคงตกอยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศดังกล่าว
เหยื่อชาวคอเคเชียนช่วงต้นอื่นๆ ยังรวมถึงชาวยุโรปตะวันออกด้วย คนของกษัตริย์ Charlemagne (ค.ศ.742-814)ต้องทำงานจนตาย ในเหมืองแร่ของพระองค์ในช่วงแรกของคริสตศตวรรษที่ 9 คนเหล่านี้คือบรรดาชาวสลาฟ(slavs)ทั้งหลาย. ชาวยุโรปตะวันออกได้ถูกทำให้เป็นทาสอยู่บ่อยๆและแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น คำว่า"slav" จึงกลายเป็นคำพ้องกับคำว่า servitude (ความเป็นทาส). อันที่จริง ศัพท์คำว่า"slave" ได้รับมาจาก "Slav" นั่นเอง ยุโรปตะวันออกถือเป็นต้นตอแรกๆอันหนึ่งของการสั่งสมทุน จนกระทั่งกลายเป็นต้องพึ่งพาต่อการผลิตทั้งหมดของตะวันตกในคริสตศตวรรษที่ 17
ตัวอย่างซึ่งเป็นภัยอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะของลัทธิจักรพรรดินิยมภายในยุโรปด้วยกันเองอันหนึ่งก็คือ การรุกรานของนาซีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ธุรกิจของเยอรมันถูกผูกขาด(โดยผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย) และรัฐนาซีมีโอกาสปล้นสะดมทรัพยากรต่างๆ และตักตวงผลประโยชน์จากแรงงานของยุโรปที่ถูกครอบครอง รวมถึงแรงงานทาสภายในค่ายกักกันอันโหดร้าย(concentration camps)
แรงผลักดันที่มีอำนาจเหนือกว่าของชาวยุโรป, อเมริกาเหนือ, และอำนาจจักรพรรดินิยมญี่ปุ่นต่างมุ่งตรงต่อแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา. โดยในคริสตศตวรรษที่ 19 บรรดาประเทศที่ทรงอำนาจเหล่านี้ไม่เพียงมองประเทศในโลกที่สาม ในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตอทางด้านวัตถุดิบและแรงงานทาสเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดของสินค้าจากโรงงานผลิตด้วย
และในคริสตศตวรรษที่ 20 บรรดาประเทศอุตสาหกรรมไม่เพียงส่งออกสินค้าเท่านั้น แต่ยังส่งออกเงินทุนต่างๆ ซึ่งมาในรูปของเครื่องจักร เทคโนโลยี การลงทุน และการให้กู้ยืม. การกล่าวว่าพวกเราได้เข้าสู่ขั้นตอนการส่งออกด้านเงินทุนและการลงทุน มิได้มีนัยะว่าการปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติได้ยุติลงแล้ว เป็นแต่เพียงมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง นั่นคือการปล้นสะดมด้วยพลังอำนาจได้เพิ่มเติมมากขึ้น
เกี่ยวกับความคิดอันหลากหลายของจักรพรรดินิยม ซึ่งขจรขจายอยู่ทั่วไปในปสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ ทัศนะเด่นๆก็คือว่ามันไม่มีอยู่. จักรพรรดินิยมไม่ได้รับการตระหนักหรือยอมรับในฐานะที่เป็นแนวคิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอนว่าไม่เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา. ใครสักคนอาจพูดถึง"จักรพรรดินิยมโซเวียต" หรือ"จักรพรรดินิยมอังกฤษในคริสตศตวรรษที่ 19" แต่ไม่ใช่จักรพรรดินิยมอเมริกา
ส่วนใหญ่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์ในประเทศนี้ จะไม่เคยมีโอกาสได้รับทุนเพื่อทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับจักรพรรดินิยมอเมริกา บนพื้นฐานที่ว่า การทำวิจัยดังกล่าวไม่ได้เป็นวิชาการ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกกล่าวหาสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจจักรพรรดินิยมประเทศหนึ่ง. ในประเทศนี้ บุคคลใดก็ตามซึ่งพูดคุยเกี่ยวกับจักรพรรดินิยมอเมริกา ปรกติแล้วจะถูกคิดว่าเป็นคนปากโป้งที่พูดจาไร้สาระและโง่เง่า
พลวัตเกี่ยวกับการแผ่ขยายของทุน
จักรพรรดินิยมเป็นเรื่องที่เก่าแก่กว่าลัทธิทุนนิยม. จักรวรรดิ์เปอร์เซีย,
มาซิโดเนีย, โรมัน, และมองโกล, ทั้งหมดนี้ดำรงอยู่นับศตวรรษก่อน Rothschilds
และ Rockefellers. บรรดาจักรพรรดิ์และผู้พิชิตส่วนใหญ่แล้วได้ให้ความสนใจในการปล้นสะดม
เก็บค่าเช่าหรือเงินภาษีในฐานะผู้ปกครองและเครื่องบรรณาการ ทั้งในรูปของทองคำและเกียรติยศ
จักรพรรดินิยมระบบทุน(Capitalist imperialism)แตกต่างไปจากรูปแบบในช่วงต้นๆเหล่านี้ ในวิธีการที่มันสะสมทุนขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยผ่านการตักตวงประโยชน์ทางด้านแรงงาน และการแทรกซึมเข้าไปในตลาดโพ้นทะเล. จักรพรรดินิยมระบบทุนลงทุนในประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงและครอบงำเศรษฐกิจของประเทศอื่น รวมไปถึงวัฒนธรรมและเรื่องทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการโครงสร้างทางการเงิน และโครงสร้างทางการผลิตเข้าสู่ระบบสากลของการสั่งสมทุน
ข้อบังคับที่เป็นแกนหลักของลัทธิทุนนิยมก็คือการแผ่ขยาย บรรดานักลงทุนทั้งหลายจะไม่ใส่เงินของพวกเขาเข้าไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่างๆ เว้นเสียแต่พวกเขาสามารถที่จะถอนทุนคืนได้มากกว่าเงินที่ลงทุนไปจำนวนมาก. กำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นไปพร้อมกับการเจริญเติบโตในอุตสาหกิจ นายทุนจะแสวงหาหนทางต่างๆของการทำกำไรมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะทำให้เงินยังคงมากขึ้นเรื่อยๆ นายทุนจักต้องลงทุนเสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร และสร้างสมความแข็งแกร่งเท่าที่จะเป็นไปได้ในการเผชิญหน้ากับอำนาจการแข่งขัน และตลาดต่างๆซึ่งไม่อาจคาดเดาได้. ด้วยธรรมชาติการขยายตัวของมัน ลัทธิทุนนิยมมีความโน้มเอียงเพียงเล็กน้อยที่จะอยู่นิ่งๆกับบ้าน
เกือบ
150 ปีมาแล้ว Marx และ Engles ได้อรรถาธิบายถึงชนชั้นนายทุนว่า "เที่ยวไล่ล่าไปทั่วผิวหน้าของโลก
มันทำรังไปทุกที่ ตั้งรกรากไปทุกหนแห่ง และสร้างสายสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ
มันสร้างโลกใบหนึ่งขึ้นมาตามจินตภาพของมัน"
บรรดาผู้แผ่ขยายได้โถมทำลายสังคมทั้งมวลลง ประชาชนที่อยู่อย่างพอเพียงเลี้ยงตนเองได้
ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยกำลังสู่การเป็นแรงงานรับจ้างที่ไร้สิทธิและอำนาจ ชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายและวัฒนรรมพื้นบ้านได้ถูกแทนที่ด้วยตลาดขนาดใหญ่,
สื่อสารมวลชน, สังคมบริโภค. ที่ดินต่างๆของสหกรณ์ถูกเข้าแทนที่โดยธุรกิจการเกษตร
การทำฟาร์มแบบโรงงาน หมู่บ้านทั้งหลายถูกแทนที่ด้วยเมืองโกโรโกโสต่างๆ ซึ่งโดดเดี่ยวอ้างว้าง
ดินแดนที่เคยเป็นอิสระก็ถูกแทนที่ด้วยอำนาจอธิปไตยจากศูนย์กลาง
ลองพิจารณาถึงตัวอย่างหนึ่งในกรณีต่างๆ นับจำนวนพัน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์
Los Angeles Times รายงานถึงข่าวพิเศษชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับป่าเขตฝนต่างๆ ของบอร์เนียวทางตอนใต้ของแปซิฟิค.
โดยพยานหลักฐานในตัวของมันเอง ผู้คนซึ่งอยู่ที่นั่นมีวิถีการดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง
มีความพึงพอใจและมักน้อย. พวกเขาล่าสัตว์ จับปลา และเพาะปลูกธัญพืชเป็นอาหารในป่าทึบ
มีการทำสวนและแปลงผลไม้บริเวณป่าละเมาะ
แต่ทว่าวิถีชีวิตทั้งหมดเหล่านี้ ได้ถูกลิบไปจนหมดเกลี้ยงอย่างไร้ความเมตตา โดยบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่บริษัท ซึ่งได้มาทำลายป่าฝนเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวไม้เนื้อแข็งสำหรับผลกำไรต่างๆอย่างรวดเร็ว ผืนแผ่นดินของชนพื้นเมืองได้กลับกลายแปรเปลี่ยนไปสู่ผืนดินแห่งความหายนะทางนิเวศวิทยา และพวกเขาเองได้ถูกเปลี่ยนไปสู่แรงงานที่ไร้อำนาจ มีชีวิตอยู่ในเมืองที่ไม่ต่างไปจากสลัมด้วยบ้านผุๆ ถูกบังคับใช้แรงงานด้วยค่าจ้างเพียงแค่อยู่รอด - แค่การมีงานทำหรือหาคนจ้างงานได้ ก็ถือว่าเป็นการประสบโชคแล้ว
บรรดาบริษัทจากอเมริกาเหนือและยุโรป
ได้เข้ายึดครองและควบคุมทรัพยากรและแร่ธาตุถึงสามในสี่ของเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา.
แต่การไล่ล่าทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เหตุผลเพียงข้อเดียว สำหรับการแผ่ขยายของทุนโพ้นทะเล
มันยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกในการที่จะลดต้นทุนการผลิตต่างๆ และเพิ่มพูนผลกำไรสูงสุด
โดยการลงทุนในประเทศต่างๆด้วยตลาดค่าแรงที่ถูกกว่า. บริษัทการลงทุนต่างประเทศของสหรัฐฯงอกงามขึ้น
84 เปอร์เซนต์นับจากปี ค.ศ.1985-1990 (อันนี้เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น), การเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นมากนี้
อยู่ในประเทศทั้งหลายที่มีค่าแรงถูก อย่างเช่น เกาหลีใต้, ไต้หวัน, สเปน, และสิงคโปร์
เนื่องมาจากค่าแรงต่ำ, มีการเก็บภาษีไม่มากนัก, การรักษาประโยชน์ทางด้านแรงงานไม่มี,
สหภาพแรงงานอ่อนแอ, และไม่มีการปกป้องคุ้มครองเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอัตราผลกำไรของบริษัทอเมริกันในประเทศโลกที่สามจึงมีมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า
50 เปอร์เซ็นต์. ธนาคาร Citibank หนึ่งในสถาบันการเงินที่ใหญ่สุดของอเมริกา
ได้มาซึ่งผลกำไรประมาณ 75 เปอร์เซนต์จากบริษัทต่างๆที่อยู่โพ้นทะเล
ขณะที่อัตราผลกำไรที่บ้านเมืองตน บางครั้งมีความเจริญเติบโตในเชิงที่ซบเซามาก ผลกำไรจากต่างประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมโหฬาร ซึ่งได้ไปสนับสนุนการพัฒนาสิ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบรรษัทข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า multinational หรือ transnational corporation. ทุกวันนี้บรรษัทข้ามชาติประมาณ 400 แห่ง ได้เข้าควบคุมสินทรัพย์ลงทุนประมาณ 80 เปอร์เซนต์ของตลาดโลกเสรี และกำลังขยายตัวออกไปครอบคลุมประเทศคอมมิวนิสต์ที่ปลดระวางแล้วในยุโรปตะวันออก
บรรษัทข้ามชาติได้พัฒนาสายการผลิตโลกขึ้นมาอันหนึ่ง อย่างเช่นบริษัท General Motor มีโรงงานหลายแห่งที่ผลิตรถยนต์ รถบรรทุก และอะไรอื่นๆอีกกว้างขวางเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบทางด้านยานยนต์ในคานาดา, บราซิล, เวเนซูเอล่า, สเปน, เบลเยี่ยม, ยูโกสลาเวีย, ไนจีเรีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, และประเทศต่างๆอีกนับโหล. แหล่งที่มาอันหลากหลายนี้ ทำให้บริษัท GM สามารถทนทานต่อการสไตรค์หรือการโจมตีในประเทศหนึ่ง โดยการขยับฐานการผลิตไปยังอีกประเทศหนึ่ง, เล่นกับคนงานต่างๆในหลายๆประเทศที่ต่อสู้กัน เพื่อที่จะกดค่าแรงและกีดกันการเรียกร้องผลประโยชน์ และขุดเซาะทำลายยุทธศาสตร์ของสหภาพแรงงานต่างๆ
ไม่จำเป็น
เพียงแค่การบังคับ (Not Necessary, Just Compelling)
มีนักเขียนบางคนได้ตั้งคำถามทำนองว่า ลัทธิจักรพรรดินิยมเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอันหนึ่งสำหรับลัทธิทุนนิยมหรือไม่
โดยชี้แจงว่า ทุนตะวันตกจำนวนมาก ได้มีการลงทุนในประเทศตะวันตกต่างๆ เป็นส่วนใหญ่
ไม่ใช่ในประเทศโลกที่สาม. ถ้าหากว่าบรรดาบริษัททั้งหลายสูญเสียการลงทุนของตัวเองในประเทศโลกที่สาม
พวกเขาให้เหตุผล จำนวนมากของพวกเขาจะยังคงอยู่รอดในตลาดยุโรปหรืออเมริกาเหนือได้หรือไม่
ในการตอบคำถามนี้ ควรจะหมายเหตุลงไปว่า ลัทธิทุนนิยมอาจสามารถอยู่รอดได้โดยปราศจากลัทธิจักรพรรดินิยม - แต่มันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโน้มเอียงที่เป็นเช่นนั้น. มันไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงการละทิ้งอุตสาหกิจต่างๆ ที่สามารถทำกำไรจำนวนมากในประเทศโลกที่สามแต่อย่างใด. ลัทธิจักรพรรดินิยมอาจไม่ใช่เงื่อนไขความจำเป็นสำหรับนักลงทุนที่จะอยู่รอด แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวโน้มซึ่งมีอยู่แต่เดิมอันหนึ่ง และการแตกกิ่งก้านสาขาตามธรรมชาติไปสู่ลัทธิทุนนิยมแบบก้าวหน้า ความสัมพันธ์กับจักรพรรดินิยมไม่ใช่เพียงหนทางเดียวที่จะไล่ล่าหรือมุ่งหาผลกำไร แต่พวกมันเป็นหนทางที่ทำเงินและสร้างผลกำไรได้สูงที่สุด
ลัทธิจักรพรรดินิยมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลัทธิทุนนิยมหรือไม่ อันที่จริงไม่ใช่คำถาม. หลายสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นจริงๆ แต่ก็ยังคงเป็นที่ปรารถนาอย่างสูงอยู่ ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นที่ชื่นชอบมาก และได้รับการปฏิบัติไปตามนั้นอย่างกระฉับกระเฉง. บรรดานักลงทุนโพ้นทะเลทั้งหลาย ต่างค้นหาแรงงานราคาถูกของประเทศโลกที่สาม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็น และเงื่อนไขการให้ผลกำไรสูงสุดอื่นๆ อีกหลากหลาย ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจต่างๆ
ผลกำไรสูงเป็นพิเศษอาจไม่มีความจำเป็นใดๆกับความอยู่รอดของลัทธิทุนนิยม และความอยู่รอดไม่ใช่ทั้งหมดที่บรรดานายทุนทั้งหลายสนใจ. ผลกำไรสูงเป็นพิเศษเป็นที่ชื่นชอบมากกว่ากำไรที่ได้มาธรรมดาต่างๆ. นั่นอาจไม่มีความจำเป็นที่จะผูกพันกันระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิจักรพรรดินิยม ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีความเชื่อมโยงกันใดๆในเชิงบังคับ
อย่างเดียวกันนี้เป็นจริงกับพลวัตทางสังคมอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ความมั่งคั่งไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ฟุ่มเฟือยหรูหรา. สัดส่วนที่สูงกว่าอันหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินความร่ำรวยของชนชั้นผู้ครอบครอง อาจถูกใช้เพื่อการลงทุนมากกว่าการบริโภคส่วนตัว. ความมั่งคั่งร่ำรวยมากอาจอยู่รอดด้วยเงินที่ไม่มากมายอะไรนัก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ว่า ส่วนใหญ่ของพวกเขาชอบที่จะอยู่อย่างไร
ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชนชั้นที่มั่งคั่งร่ำรวย โดยทั่วไปได้แสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบอันหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุด. แม้กระนั้น เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว วัตถุประสงค์ทั้งมวลเกี่ยวกับการได้มาซึ่งความร่ำรวย ได้ทำให้เกิดการหนีห่างแรงงานคนอื่นๆไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลีกเลี่ยงรูปแบบใดๆทั้งหมดของงานหนักที่เต็มไปด้วยความลำบาก ความไร้คุณค่า และน่าเบื่อ ไปสู่โอกาสที่พิเศษและสนุกกว่าสำหรับวิถีการดำเนินชีวิตที่ฟุ่มเฟือย การดูแลสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ ความปลอดภัย การมีเวลาว่าง และโอกาสต่างๆสำหรับการมีอำนาจและการมีชื่อเสียง
ขณะที่จริงๆแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นใดๆเลย พวกมันถูกทำให้ยึดติดอย่างร้อนรน สำหรับคนเหล่านั้นซึ่งครอบครองมันอยู่ - ดังที่ถูกเห็นได้โดยมาตรการรุนแรงต่างๆ ที่ให้การรับรองชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม สำหรับเมื่อไรก็ตามที่พวกเขารู้สึกถึงการถูกคุกคามเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ ความเสมอภาค หรือการใช้อำนาจประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน
มายาคติเกี่ยวกับความด้อยพัฒนา
ผืนแผ่นดินที่ยากจนข้นแค้นของเอเชีย, แอฟริกา, และลาตินอเมริกา, ต่างเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พวกเราในฐานะประเทศโลกที่สาม
ซึ่งแยกและแตกต่างไปจากประเทศโลกที่หนึ่งของยุโรปและอเมริกา อันเป็นประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย
และปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่รัฐต่างๆทางฝ่ายคอมมิวนิสท์ อันเป็นกลุ่มประเทศโลกที่สองได้ตายดับไปแล้ว
ความยากจนของประเทศโลกที่สาม ซึ่งเรียกว่า"ความด้อยพัฒนา" ได้รับการปฏิบัติโดยบรรดานักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่มีมาแต่เดิมอันหนึ่ง. พวกเราได้รับการเชิญชวนให้เชื่อว่า มันยังดำรงอยู่เสมอที่ว่า ประเทศยากจนทั้งหลายที่ยากจนก็เพราะ ผืนแผ่นดินของพวกเขามักจะขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือผู้คนของประเทศเหล่านั้นไม่ได้ทำการผลิต หรือได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
อันที่จริง ผืนแผ่นดินของเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาได้ทำการผลิตสิ่งล้ำค่าทางด้านธัญญาพืชอันยิ่งใหญ่ รวมไปถึงแร่ธาตุต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ชนชาวยุโรปจึงท่องไปทั่วและสร้างปัญหาด้วยการขโมยและปล้นสะดมพวกเขา ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้กลับกลายเป็นสถานที่ยากจนเพราะการสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง ประเทศโลกที่สามที่จริงแล้วร่ำรวย เพียงผู้คนของประเทศเท่านั้นที่ยากจน - และมันเป็นเช่นนี้เนื่องมาจากการถูกช่วงชิงปล้นสะดม ซึ่งพวกเขาต่างต้องพยายามอดกลั้น
กระบวนของการยื้อแย่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศโลกที่สาม เริ่มต้นขึ้นมาหลายศตวรรษก่อน และยังคงเป็นอยู่เช่นนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทุกวันนี้. อันดับแรก บรรดาเจ้าอาณานิคมทั้งหลายได้ทำการสกัดทองคำ, เงิน, และกรรโชกเอาขนสัตว์, ผ้าไหม, และเครื่องเทศ ต่อมาก็บีบเค้นเอาฝ้าย, ป่าน, ผ้าดิบ, ไม้ท่อน, อ้อย, น้ำตาล, เหล้ารัม(ทำจากอ้อย), ยาง, ยาสูบ, โกโก้, กาแฟ, ใยฝ้าย, ทองแดง, ถ่านหิน, ปาล์มน้ำมัน, ดีบุก, งาช้าง, ไม้มะเกลือ, และหลังจากนั้นต่อมาอีก, มีการรีดเอาน้ำมัน, สังกะสี, แมงกานีส, ปรอท, แพลทินัม, โคบอลท์, บอคไซท์, อลูมิเนียม, และยูเรเนียม. โดยไม่มองข้ามว่า ความโหดร้ายดั่งนรกของการแย่งยื้อชุดกระชากทั้งหมด ในการลักพาผู้คนนับล้านๆไปใช้เป็นแรงงานทาสด้วย
ตลอดช่วงหลายศตวรรษของการเป็นอาณานิคม ทฤษฎีจักรพรรดินิยมที่เป็นไปเพื่อรับใช้ตนเองได้ถูกปั่นและชักใย. ข้าพเจ้าสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาที่ผู้คนในเขตร้อนต่างเกียจคร้านและเฉื่อยชา ซึ่งไม่ได้ทำงานหนักเท่าพวกเราที่เป็นผู้ซึ่งโยกย้ายเข้ามาจากเขตภูมิอากาศที่ค่อนข้างสบาย. ตามข้อเท็จจริง พลเมืองของเขตที่มีบรรยากาศอบอุ่น(เขตร้อน) ค่อนข้างมีความสามารถในการทำการผลิตอย่างน่าทึ่ง มีการสร้างสมอารยธรรมที่โออ่างดงาม ก่อนยุโรปจะโผล่พ้นจากยุคมืด
และทุกวันนี้พวกเขาทำงานได้ยาวนานบ่อยๆ, ผ่านแต่ละชั่วโมงไปด้วยความยากลำบาก เพื่อไปสู่บทสรุปของความขาดแคลนและความไม่เพียงพอ. กระนั้น ทัศนคติที่ตายตัวระยะแรกๆเกี่ยวกับ"ชนพื้นเมืองที่เกียจคร้าน"ยังคงฝังตรึงอยู่กับเรา. ในทุกๆสังคมทุนนิยม, คนยากจน ทั้งที่อยู่ในบ้านเมืองเราและพวกที่อยู่โพ้นทะเล - ปรกติแล้ว จะถูกประณามสำหรับสภาพเงื่อนไขของตัวพวกเขาเอง
พวกเราได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้คนในโลกที่สามถูกหน่วงทางวัฒนธรรมให้เชื่องช้าในท่าทีและทัศนคติของพวกเขา, รวมไปถึงขนบธรรมเนียม, และความสามารถเชิงเทคนิคต่างๆ. มันเป็นความคิดความเห็นที่ง่ายๆและสะดวกที่ได้รับการโอบอุ้มโดยคนเหล่านั้น ซึ่งต้องการที่จะบรรยายถึงการลงทุนต่างๆของตะวันตก ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการที่เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยผู้คนที่ล้าหลังให้สามารถช่วยเหลือตัวพวกเขาเองได้
มายาคติอันนี้เกี่ยวกับ"ความล้าหลังทางวัฒนธรรม" มันย้อนยุคกลับไปถึงสมัยโบราณ เมื่อบรรดาผู้ชนะทั้งหลายใช้มันเพื่อแก้ตัว และให้เหตุผลการกดขี่หรือทำให้คนพื้นเมืองต้องตกเป็นทาส. มันถูกใช้ประโยชน์โดยเจ้าอาณานิคมชาวยุโรปมาตลอด 5 ศตวรรษหลังมานี้ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน
คุณสามารถอ้างว่า อะไรคือจุดสูงสุดทางวัฒนธรรมของชาวยุโรปได้ไหม? นับจากคริสตศตวรรษที่ 15 - 19 ยุโรปคือผู้นำหน้าในหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างเช่น การแขวนคอผู้คนเป็นจำนวนมาก, การฆาตกรรม, และอาชญากรรมที่รุนแรงต่างๆ อีกทั้งยังมีตัวอย่างเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เป็นกามโรค, ไข้ทรพิษ, โรคไทฟอยด์, วัณโรค, กาฬโรค, และโรคที่สร้างความเดือดร้อนทางกายภาพอื่นๆ นอกจากนี้สังคมยังเกิดความไม่เท่าเทียมและความยากจน(ทั้งในเขตเมืองและชนบท) การปฏิบัติอย่างเลวร้ายกับผู้หญิงและเด็กๆ และบ่อยมากทีเดียวที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง, ภาวะความเป็นทาส, โสเภณี, การกระทำอันเป็นโจรสลัด, การฆ่าหมู่ทางศาสนา, และการสอบสวนด้วยการทรมาน. คนเหล่านั้นซึ่งที่อ้างว่าตะวันตกเป็นอารยธรรมที่ก้าวหน้ามากที่สุด ควรที่จะตระหนักถึง"ความสำเร็จ"เหล่านี้เอาไว้ในใจด้วย และอย่างจริงจังมากขึ้น
เราอาจหมายเหตุลงไปว่า ยุโรปชอบที่จะบอกกล่าวถึงประโยชน์และข้อได้เปรียบในการเดินเรือและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ. ปืนคาบศิลาและปืนใหญ่, ปืนกลสมัยโบราณและปืนที่ติดตั้งบนเรือ และทุกวันนี้ ขีปนาวุธต่างๆ, เฮลิคอปเตอร์, เรือปืน, เรือรบ, เครื่องบินรบที่ใช้ทิ้งระเบิด, เป็นปัจจัยการตัดสินเมื่อตะวันตกเผชิญหน้ากับตะวันออก และซีกโลกเหนือเผชิญกับซีกโลกใต้
อำนาจปืนไฟที่เหนือกว่าไม่ใช่วัฒนธรรมที่สูงกว่า ซึ่งได้นำพาให้บรรดาชาวยุโรป และยูโร-อเมริกาเหนือทั้งหลายดำรงอยู่ในฐานะตำแหน่งสูงสุด ซึ่งทุกวันนี้ยังคงธำรงรักษาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวนั้นได้ด้วยอำนาจ แม้ว่าจะไม่ใช่อำนาจบีบบังคับเพียงลำพังก็ตาม
ได้มีการกล่าวกันว่า ผู้คนในอาณานิคมค่อนข้างที่จะล้าหลังในเชิงชีววิทยา และมีวิวัฒนาการน้อยกว่าบรรดาเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย. ระดับที่ต่ำกว่าและความดุร้ายป่าเถื่อนเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของวิวัฒนาการที่ด้อยกว่าของพวกเขาทางด้านยีนส์ แต่พวกเขามีความด้อยกว่าทางด้านวัฒนธรรมด้วยใช่ไหม?
ในหลายๆส่วนของสิ่งที่ปัจจุบันนี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็นโลกที่สาม ผู้คนได้พัฒนาทักษะที่น่าประทับใจในทางสถาปัตยกรรมขึ้นมา, วิชาการทางด้านพืชสวน, งานแกะสลัก, การล่าสัตว์, การตกปลา, การผดุงครรภ์, การแพทย์, และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย. ขนบธรรมเนียมทางสังคมของพวกเขา บ่อยครั้งไปไกลมาก มันมีความสง่างามและความมีมนุษยธรรม และมีลักษณะของการยึดถืออำนาจบาตรใหญ่และกดข่มน้อยกว่าทุกสิ่งที่พบได้ในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน
แน่นอน เราจะต้องไม่ทำให้มันโรแมนติกจนเกินไปเกี่ยวกับสังคมพื้นเมืองเหล่านี้ มีบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวถึง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโหดร้ายและปฏิบัติการที่ไม่ปรกติของพวกเขาเอง แต่โดยทั่วไป ผู้คนของพวกเขาพึงพอใจกับสุขภาพมากกว่า, มีชีวิตที่เป็นสุขกว่า, ด้วยเวลาว่างที่มากกว่าพลเมืองของยุโรปส่วนใหญ่
ทฤษฎีอื่นๆชอบที่จะพูดถึงเรื่องที่แพร่หลายกว้างๆ
อย่างเช่น พวกเรามักได้ยินถึงเรื่องความยากจนของโลกที่สาม ทั้งนี้เนื่องมาจากการมีประชากรล้นเกิน
การมีผู้คนมากจนเกินไป และมีเด็กมากเกินไปกว่าจะเลี้ยงดูได้ เป็นต้น. อันที่จริง
ตลอดหลายศตวรรษหลังมานี้ ผืนแผ่นดินโลกที่สามมีการตั้งรกรากอยู่กันอย่างหนาแน่นมากว่าส่วนต่างๆของยุโรป.
อินเดียมีประชากรต่อเอเคอร์น้อยกว่า - แต่ยากจนกว่า - ฮอล์แลนด์, เวลส์, อังกฤษ,
ญี่ปุ่น, อิตาลี, และประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆอีกสองสามประเทศ. ยิ่งไปกว่านั้นชาติอุตสาหกรรมของโลกที่หนึ่ง
(ไม่ใช่ชาติที่ยากจนของโลกที่สาม) ซึ่งได้กลืนกินทรัพยากรของโลกถึงประมาณ 80
เปอร์เซ็นต์อย่างตะกละตระกลาม และวางท่าคุกคามอย่างยิ่งต่อนิเวศวิทยาของโลกใบนี้อยู่ตลอดเวลา
นี่ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่า ประชากรที่ล้นเกินเป็นปัญหาที่จริงจังอันหนึ่งสำหรับระบบนิเวศวิทยาของดาวเคราะห์ดวงนี้.
การจำกัดความเจริญเติบโตของประชากรในทุกๆประเทศ จะช่วยลดทอนปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกได้
แต่มันจะไม่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับความยากจน - เพราะประชากรล้นเกินในตัวของมันเองมิใช่เป็นสาเหตุของความยากจน
แต่มันเป็นผลพวงที่ตามมาต่างๆของมัน. ความยากจนมีแนวโน้มแผ่ไปถึงครอบครัวผู้คนจำนวนมาก
เพราะเด็กๆคือต้นตออันหนึ่งของครอบครัวผู้ใช้แรงงานและรายได้ และเป็นตัวสนับสนุนหนึ่งในโลกยุคเก่า
Frances Moore Lappe และ Rachel Schurman พบว่า ประเทศโลกที่สามต่างๆประมาณ 70 ประเทศ มี 6 ประเทศคือ จีน, ศรีลังกา, โคลอมเบีย, ชิลี, พม่า, และคิวบา - และรัฐเคราล่าในอินเดีย ที่มีการจัดการเกี่ยวกับอัตราการเกิดของทารกต่ำลงถึงหนึ่งในสาม. ประเทศเหล่านี้พอใจไม่เพียงการแผ่ขยายทางด้านอุตสาหกรรมที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น และยังพึงใจในรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น และรวมถึงโปรแกรมวางแผนเกี่ยวกับครอบครัวขยายด้วย
เงื่อนไขปัจจัยที่ประเทศเหล่านี้มีร่วมกันก็คือ การศึกษาของสาธาณชนและการดูแลสุขภาพ, การลดทอนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, การแก้ไขปรับปรุงเรื่องของสิทธิสตรี, การช่วยเหลือทางด้านอาหาร, และในบางกรณีมีการปฏิรูปที่ดินด้วย. ในอีกด้านหนึ่ง, อัตราความอุดมสมบูรณ์ได้ถูกทำให้ต่ำลง ไม่ใช่โดยการลงทุนต่างๆของบรรดานายทุน และความเจริญงองกงามทางเศรษฐกิจอันนั้น แต่เนื่องมาจากการทำให้สังคม-เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ว่าจะในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก และเป็นไปร่วมกันกับการปรากฏตัวขึ้นมาของสิทธิสตรี
การเปลี่ยนไปสู่ความยากจนอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
สิ่งที่เรียกว่า"ความด้อยพัฒนา"เป็นชุดหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม
ที่ถูกยัดเยียดให้กับประเทศต่างๆในเชิงบังคับ. ด้วยการปรากฏตัวขึ้นมาของเจ้าอาณานิคมตะวันตก
ผู้คนทั้งหลายของประเทศโลกที่สาม อันที่จริงถูกทำให้ถดถอยไปจากการพัฒนา ซึ่งบางครั้งเป็นเวลานานหลายศตวรรษ
จักรพรรดินิยมอังกฤษในอินเดีย ถือเป็นตัวอย่างที่ให้ความรู้ในเรื่องนี้ตัวอย่างหนึ่ง
ในปี ค.ศ.1810 อินเดียเป็นประเทศส่งออกสิ่งทอต่างๆไปยังอังกฤษ มากกว่าที่อังกฤษส่งออกไปยังอินเดีย. และในช่วงปี ค.ศ.1830 การไหลเลื่อนทางการค้าได้พลิกกลับ. อังกฤษได้ตั้งกำแพงภาษีศุลกากรขึ้นมาเป็นอุปสรรค เพื่อปิดกั้นสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ของคนอินเดีย และได้ทำการทุ่มสินค้าทั้งหลายของพวกตนเข้าไปในตลาดอินเดีย ปฏิบัติการอันหนึ่งที่ได้รับการหนุนหลังโดยเรือปืนอังกฤษ และอำนาจทางการทหาร
ภายใต้ความยุ่งยากเป็นเวลาหลายปี ศูนย์กลางสิ่งทอที่ยิ่งใหญ่ของเมืองดักกาและมัดราส ได้ถูกเปลี่ยนไปสู่เมืองล้าง นั่นคือปราศจากความคึกคักและแทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย. ชาวอินเดียได้ถูกส่งกลับไปสู่ผืนแผ่นดินเพื่อเพาะปลูกฝ้าย ที่จะถูกนำไปใช้ในโรงงานสิ่งทอต่างๆของอังกฤษ. ในข้อเท็จจริง อินเดียถูกลดทอนลงสู่การเป็นวัวตัวหนึ่ง ที่ถูกให้นมโดยบรรดานักการเงินอังกฤษ
ในช่วงปี ค.ศ.1850 หนี้สินของอินเดียได้งอกขึ้นมาถึง 53 ล้านปอนด์. นับจาก ค.ศ.1850 ถึง 1900 รายได้ต่อหัวของประชากรได้ตกลงมาซึ่งเกือบจะสองในสามเลยทีเดียว. มูลค่าและค่าตอบแทนทางด้านวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ของชาวอินเดียได้ถูกบีบบังคับให้ส่งไปยังประเทศอังกฤษ ในช่วงระหว่างเวลาส่วนใหญ่ของคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งในแต่ละปีมีปริมาณมากขึ้นยิ่งกว่ารายได้ทั้งหมดของของคนอินเดีย 60 ล้านคนที่เป็นแรงงานทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรม. ความยากจนข้นแค้นขนานใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย นั่นไม่ใช่สภาพเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิมของประเทศนี้แต่อย่างใด. จักรพรรดินิยมอังกฤษได้กระทำในสองสิ่งด้วยกันคือ
อย่างแรก, ได้ไปหยุดยั้งการพัฒนาของอินเดีย และ
อย่างที่สอง คือ ได้ไปบีบบังคับให้ประเทศอินเดียต้องด้อยพัฒนา
ในทำนองเดียวกัน กระบวนการต่างๆที่ทำให้เกิดการหลั่งเลือดและความเศร้าโศกได้เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศโลกที่สาม. ความมั่งคั่งอย่างมากที่ได้มา มันเตือนใจเราว่า เดิมทีนั้นมันมีประเทศที่ยากจนจริงๆอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ. ประเทศต่างๆอย่าง บราซิล, อินโดนีเซีย, ชิลี, โบลิเวีย, ซาเอียร์(สาธารณรัฐในภาคกลางของแอฟริกา), เม็กซิโก, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ยังคงความมั่งคั่งร่ำรวยในด้านทรัพยากรอยู่. บางผืนแผ่นดินได้ถูกปล้นสะดมมาโดยตลอด ดังที่ถูกผลาญทำลายในทุกๆด้าน. แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของประเทศโลกที่สามไม่ได้ด้อยพัฒนา แต่ถูกตักตวงผลประโยชน์มากจนเกินไป(the Third World is not "underdeveloped" but overexploited.) เจ้าอาณานิคมตะวันตกและการลงทุน ได้สร้างให้เกิดมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ตกต่ำยิ่งกว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การอ้างถึงสิ่งที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษกระทำกับชาวไอริช, Frederick Engels เขียนในปี ค.ศ. 1856 ว่า "บ่อยมากแค่ไหนที่คนไอริชเริ่มที่จะบรรลุถึงบางสิ่งบางอย่าง และทุกๆครั้งพวกเขาได้ถูกบดขยี้ในทางการเมืองและทางด้านอุตสาหกรรม. โดยการกดขี่อย่างไม่หยุดหย่อนผ่อนปรน พวกเขาได้ถูกเปลี่ยนไปสู่ประชาชาติที่ยากจนข้นแค้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ" อันนี้เป็นเช่นเดียวกันกับประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่
ชาวอินเดียนเผ่ามายันในกัวเตมาลา มีสิ่งบำรุงเลี้ยงและอาหารจำนวนมาก รวมทั้งสภาพเงื่อนไขที่ดีกว่าเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพในราวต้นคริสตศตวรรษที่ 16 ก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึง หลังจากการเข้ามาของชาวยุโรป พวกเขาต้องตกระกำลำบากและต้องประสบกับความยากจนข้นแค้นอย่างทุกวันนี้. พวกเขามีช่างแกะสลักจำนวนมาก, สถาปนิก, ช่างฝีมือ, และผู้เชี่ยวชาญการทำสวนมากกว่าทุกวันนี้. สิ่งที่ถูกเรียกว่า"ความด้อยพัฒนา"ไม่ใช่เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์มาแต่เดิม แต่เป็นผลผลิตอันหนึ่งเกี่ยวกับการตักตวงผลประโยชน์มากจนเกินไปของลัทธิจักรพรรดินิยม ความด้อยพัฒนาในตัวของมันเองเป็นรพัฒนาการอย่างหนึ่ง
ลัทธิจักรพรรดินิยมได้สร้างสิ่งซึ่งข้าพเจ้าใช้ศัพท์คำว่า"maldevelopment" นั่นคือ อาคารสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นทางการสมัยใหม่ และโรงแรมหรูหราในเมืองหลวง ซึ่งได้เข้ามาแทนที่บ้านเรือนของคนยากคนจน, คลินิกศัลยกรรมตกแต่งสำหรับคนที่มั่งคั่งร่ำรวย เข้ามาแทนที่โรงพยาบาลต่างๆของคนที่ใช้แรงงาน, พืชผลที่ทำการส่งออกด้วยเงินสดสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร ได้เข้าแทนที่อาหารสำหรับตลาดท้องถิ่น, ทางด่วนที่มุ่งจากเหมืองแร่และฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ไปสู่โรงสกัดแร่และท่าเรือ ได้เข้ามาแทนที่ถนนต่างๆในชนบทที่ล้าหลังสำหรับคนเหล่านั้นซึ่งหวังว่าจะใช้มันไปหาหมอหรือครูของพวกเขา
ความมั่งคั่งร่ำรวยได้ถูกแปรเปลี่ยนจากผู้คนในโลกที่สาม สู่ชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจของยุโรป และอเมริกาเหนือ(และเมื่อไม่นานมานี้คือ ญี่ปุ่น)โดยการปล้นสะดมอย่างตรงไปตรงมา โดยการตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับภาษีที่สร้างความวอดวายและค่าเช่าที่ดิน การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำกับคนยากจน และการบีบบังคับให้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว
ประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม ได้ถูกปฏิเสธเกี่ยวกับเสรีทางการค้า และโอกาสที่จะพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง รวมไปถึงตลาด และความสามารถทางด้านอุตสาหกรรม. การพอยังชีพตนเองและการจ้างงานตนเองได้ให้ที่ทางแก่แรงงานรับจ้าง. นับจากทศวรรษที่ 1970-1980 แรงงานรับจ้างจำนวนมากในประเทศโลกที่สาม ได้งอกเงยขึ้นจาก 72 ล้านคนไปเป็น 120 ล้านคน และอัตราดังกล่าวกำลังเร่งตัวมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ผู้คนนับร้อยล้านคนในประเทศโลกที่สามปัจจุบัน ดำรงอยู่อย่างขาดแคลนในหมู่บ้านที่ห่างไกล และอยู่ในสลัมตามเมืองต่างๆอย่างแออัด พวกเขาต้องตกอยู่ในความหิวโหยทุกข์ทรมาน, ป่วยเป็นโรค, และไม่รู้หนังสือ, บ่อยครั้งเป็นเพราะผืนแผ่นดินที่พวกเขาครั้งหนึ่งเคยใช้เพื่อการไถหว่าน ปัจจุบันได้ถูกควบคุมโดยบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรต่างๆ ซึ่งใช้ประโยชน์มันเพื่อการทำเหมืองแร่ หรือเพื่อการเกษตรส่งออกในเชิงพาณิชย์ อย่างเช่น กาแฟ, น้ำตาล, และเนื้อสัตว์, แทนที่การปลูกถั่ว, ข้าว, และข้าวโพต สำหรับใช้บริโภคตามครัวเรือน
จากการศึกษาประเทศยากจนที่สุดราว 20 ประเทศ ซึ่งเรียบเรียงมาจากสถิติที่เป็นทางการพบว่า จำนวนมากของผู้คนที่อาศัยอยู่ในส่วนที่เรียกว่า"ความยากจนที่แท้จริง" หรือความขาดแคลนสุดๆ(rockbottom destitution), คนซึ่งยากจนข้นแค้นที่สุดของความยากจน กำลังเกิดขึ้นประมาณ 70,000 คนต่อวัน และควรจะสูงขึ้นถึง 1.5 ล้านคนต่อวันในปี ค.ศ.2000 (San Francisco Examiner, June 8, 1994)
ลัทธิจักรพรรดินิยมบีบคั้นให้เด็กนับล้านๆคนทั่วโลก ต้องมีชีวิตอยู่อย่างฝันร้ายและน่าอกสั่นขวัญแขวนสุดๆ สุขภาพทางกายและจิตของพวกเขาถูกทำลายอย่างรุนแรง โดยการตักตวงประโยชน์อย่างไม่หยุดหย่อน. ภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งบนจอโทรทัศน์ในรายการ Discovery (24 เมษายน 1994) รายงานว่า ประเทศต่างๆอย่างรัสเซีย, ไทย, และฟิลิปปินส์, ส่วนใหญ่ของคนส่วนน้อยได้ถูกขายไปเป็นโสเภณี เพื่อช่วยประคับประคองฐานะครอบครัวที่เข้าตาจนทั้งหลายให้อยู่รอด
ในประเทศต่างๆอย่างเม็กซิโก, อินเดีย, โคลอมเบีย, และอียิปต์, เด็กๆถูกบังคับและกดขี่ให้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความย่ำแย่ทางด้านสุขภาพ โดยการใช้แรงงานตั้งแต่เช้าจรดเย็นในไร่นาและในโรงงาน รวมไปถึงเหมืองแร่เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเพียงเล็กน้อยต่อชั่วโมงเพื่อการดำรงชีวิต พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเล่น ไม่มีโอกาสใช้จินตนาการ ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือไม่ได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพ
ในอินเดีย เด็กจำนวน 55 ล้านคนถูกบีบบังคับให้ทำงาน นับเป็นหมื่นคนต้องใช้แรงงานในโรงงานทำแก้วซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาโดยประมาณ. ในโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เด็กอายุ 4 ขวบต้องตรากตรำทำงานหนักนับตั้งแต่ตี 5 ไปจนกระทั่งมืดค่ำ หายใจเข้าหายใจออกในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน และทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง, ป่วยเป็นวัณโรค, รวมถึงโรคต่างๆที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย บริษัททั้งหลายได้ทำการล็อบบี้ให้มีการลดการจำกัดอายุ สำหรับการกะเกณฑ์แรงงานเข้าสู่ตลาด เข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้แรงงานต่างๆ. การไล่ล่าแสวงหาผลกำไรกำลังกลายเป็นการพร่าผลาญ กาย จิต วิญญาณ และเป็นการไล่ล่าของความชั่ว
ทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนา
(Development Theory)
เมื่อเรากล่าวว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งด้อยพัฒนา เรากำลังส่อนัยว่ามันล้าหลังและเชื่องช้าในบางเรื่อง
ซึ่งประชาชนของประเทศนั้น แสดงให้เห็นความสามารถเพียงเล็กน้อยที่จะบรรลุผลสำเร็จ
และวิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า. ความหมายแฝงในเชิงลบของ"ความด้อยพัฒนา"เป็นเหตุให้องค์การสหประชาชาติ,
นิตยสารวอลล์สตรีท, และบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เกิดความเชื่อและแรงจูงใจที่จะอ้างถึงประเทศโลกที่สามต่างๆ
ในฐานะชาติที่กำลังพัฒนา(developing nations), ศัพท์คำหนึ่งซึ่งมีลักษณะค่อนไปทางดูถูกหรือสบประมาทน้อยกว่าคำว่า"ด้อยพัฒนา"(underdeveloped)
แต่มันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพอๆกัน
ข้าพเจ้านิยมใช้คำว่า"โลกที่สาม"(Third World)เพราะ "การพัฒนา"ดูเหมือนจะเป็นเพียงคำพูดที่ดูสละสลวยคำหนึ่งของการกล่าวถึง"ความด้อยพัฒนา แต่ได้เริ่มที่กำลังกระทำบางสิ่งเกี่ยวกับมันอย่างเชื่องช้า". มันยังคงส่อนัยะที่ว่า ความยากจนเป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์มาแต่เดิมอันหนึ่ง และไม่มีอะไรที่ถูกยัดเยียดหรือกำหนดขึ้นมาโดยลัทธิจักรพรรดินิยมทั้งหลาย. มันยังเสนอแนะอย่างผิดๆด้วยว่า ประเทศทั้งหลายเหล่านี้กำลังพัฒนา ซึ่งอันที่จริงแล้ว เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศของพวกเขา ปรกติแล้ว มันกำลังเลวลงไปโดยตลอด
ทฤษฎีที่มีอิทธิพลของช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ผ่านมา ได้ถูกสาธยายออกมาอย่างชัดแจ้งและซ้ำๆโดยบรรดานักเขียนต่างๆ อย่าง Barbara Ward และ W.W.Rostow และแพร่สะพัดอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา รวมถึงส่วนอื่นๆของโลกตะวันตก ซึ่งยังคงยึดมั่นว่า มันเป็นหน้าที่ของประชาชาติที่ร่ำรวยทั้งหลายของซีกโลกเหนือ ที่จะช่วยยกระดับประชาชาติที่ล้าหลังของประเทศซีกโลกใต้ นำเอาเทคโนโลยีไปสู่พวกเขาและสอนสั่งอุปนิสัยต่างๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานแก่พวกเขาด้วย. นี่เป็นเรื่องราวที่ทันสมัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ"ภารกิจของคนขาว" ซึ่งเป็นความคิดจิตเพ้อฝันแบบจักรพรรดินิยม อันเป็นที่ชื่นชมกันมาก
ตามบทภาพยนตร์แนวการพัฒนา ซึ่งนำเรื่องโดยการลงทุนต่างๆของตะวันตก จะทำให้เซกเตอร์หรือภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ล้าหลังของประเทศที่ยากจนทั้งหลาย สามารถที่จะปลดปล่อยคนงานของพวกเขา ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับการจ้างงานที่ดีกว่าในเซกเตอร์สมัยใหม่ด้วยค่าแรงที่สูงกว่า. ขณะเดียวกัน ก็มีการสั่งสมทุนต่างๆ, การประกอบธุรกิจจะลงทุนซ้ำอีกครั้งเพื่อสร้างผลกำไร ด้วยเหตุดังนั้นจึงยังคงก่อเกิดผลผลิตเพิ่มมากขึ้น, ซึ่งรวมถึงงานต่างๆ, กำลังซื้อของผู้คน, และตลาดเพิ่มขึ้น. ในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การวิวัฒน์ทางเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นได้
ทฤษฎีการพัฒนานี้ หรือ ทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่(modernization theory) บางครั้งมันได้รับการเรียกขานว่า เป็นภาระความสัมพันธ์เล็กๆน้อยๆต่อความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในโลกที่สามคือรูปแบบการตักตวงผลประโยชน์ที่เข้มข้นอันหนึ่งของลัทธิทุนนิยมแบบพึ่งพา. สภาพเงื่อนไขทางเศรษฐกิจทำให้มันเกิดภาวะเลวร้ายลงอย่างรุนแรง โดยความเจริญเติบโตเกี่ยวกับการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ. ปัญหาไม่ใช่เรื่องของผืนแผ่นดินอันยากจนข้นแค้น หรือประชากรที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่เป็นการตักตวงผลประโยชน์ของคนต่างชาติและความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้น. บรรดานักลงทุนทั้งหลายเดินทางไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อยกระดับประเทศนั้น แต่พวกเขาไปเพื่อเพิ่มพูนความร่ำรวยให้ตัวของพวกเขาเองมากกว่า
ผู้คนในประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการได้รับการสอนสั่งว่าจะทำฟาร์มอย่างไร. พวกเขาต้องการผืนดินและเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำนาทำไร่. พวกเขาไม่ต้องการให้ใครมาสอนว่าจะตกปลาอย่างไร แต่พวกเขาต้องการเรือและตาข่ายจับปลา รวมถึงช่องทางที่จะเข้าถึงชายฝั่ง, อ่าว, และท้องทะเลกว้าง. พวกเขาต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยุติการทิ้งของเสีย และสิ่งปฏิกูลที่เป็นพิษลงในท้องน้ำ. พวกเขาไม่ต้องการได้รับการจูงใจให้เชื่อมั่นว่า พวกเขาควรจะใช้มาตรฐานทางด้านความสะอาด, การอนามัย, และการสาธารณสุขต่างๆอย่างไร. พวกเขาไม่ต้องอาสาสมัครองค์กรสันติภาพใดๆ ที่จะมาบอกกับพวกเขาเพื่อให้รู้จักการต้มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาไม่สามารถเสาะหาไฟมาได้ หรือไม่มีทางที่จะเข้าถึงฟืน
พวกเขาต้องการสภาพเงื่อนไขต่างๆที่ยินยอมให้พวกเขามีน้ำสะอาดได้ดื่มกิน และซักเสื้อผ้า รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน. พวกเขาไม่ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่มีดุลยภาพจากอเมริกาเหนือ. ปรกติแล้วพวกเขารู้ว่า อาหารอะไรเป็นที่ต้องการแก่การบริโภคและการโภชนาของพวกเขาที่ดีที่สุด. พวกเขาต้องการได้ผืนแผ่นดินและแรงงานของพวกเขาคืนมา เพื่อว่าจะได้ทำงานเพื่อตัวของพวกเขาเอง และเพาะปลูกธัญญาพืชสำหรับการบริโภคอย่างเพียงพอ
มรดกแห่งการครอบงำของจักรพรรดินิยม ไม่เพียงเป็นความทุกข์ยากแสนเข็ญและความขัดแย้งอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยเครือข่ายหนึ่งของบริษัทระหว่างชาติต่างๆ ซึ่งพวกมันได้ถูกเฝ้าดูโดยบริษัทแม่ต่างๆ ที่มีฐานอยู่ในอเมริกาเหนือ, ยุโรป และในประเทศญี่ปุ่น. ถ้ามันจะมีความประสานกลมกลืนหรือการบูรณาการใดๆ มันก็เกิดขึ้นท่ามกลางชนชั้นนักลงทุนโลก, ซึ่งไม่ใช่ในท่ามกลางเศรษฐกิจของท้องถิ่นของประเทศยากจนเหล่านี้แน่นอน
เศรษฐกิจของประเทศโลกที่สามยังคงแยกย่อย และไม่ถูกบูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้งในระหว่างพวกเขากันเองและภายในพวกเขากันเอง รวมถึงในการไหลเลื่อนของทุนและสินค้า และยังรวมถึงเรื่องเทคโนโลยีและองค์กร. โดยสรุป สิ่งที่เรามีคือโลกเศรษฐกิจใบหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความต้องการทางเศรษฐกิจของผู้คนหรือประชากรบนโลกใบนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ลัทธิจักรพรรดินิยมใหม่
: ผิวหน้าครีม
บางครั้งการครอบงำของจักรพรรดินิยมได้รับการอธิบาย ในฐานะการกำเนิดจากความปรารถนาภายในอันหนึ่ง
สำหรับการมีอิทธิพลครอบงำและการแผ่ขยาย, "การบังคับเอาอาณาเขตหรือดินแดนหนึ่งมาครอบครอง".
ในข้อเท็จจริง ลัทธิจักรพรรดินิยมเหนือดินแดน ไม่ได้เป็นวิธีการที่ยังคงมีอยู่หรือเป็นการกระทำโดยทั่วไปอีกต่อไปแล้ว.
เปรียบเทียบกับคริสตศตวรรษที่ 19 และต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เมื่อตอนที่พลังอำนาจต่างๆของยุโรปได้แบ่งแยกโลกของเราใบนี้ออกเป็นส่วนๆ
ทุกวันนี้มันแทบไม่มีการปกครองในแบบอาณานิคมหลงเหลืออยู่ พันเอก Blimp มรณกรรมและถูกฝัง
ถูกแทนที่โดยคนที่อยู่ในสูทของนักธุรกิจ
มากกว่าจะถูกทำให้เป็นอาณานิคมตรงๆโดยอำนาจพลานุภาพของจักรพรรดินิยม ประเทศที่อ่อนแอกว่าได้รับความยินยอมให้มีอธิปไตย ขณะเดียวกันทุนทางการเงินของตะวันตกยังคงผูกขาด ควบคุมส่วนแบ่งของราชสีห์เกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆที่มีผลกำไรสำหรับพวกเขา ความสัมพันธ์อันนี้ดำงอยู่ภายใต้ชื่อเรียกอันหลากหลาย เช่น "จักรวรรดิ์ที่ไม่เป็นทางการ"(informal empire), "ลัทธิอาณานิคมที่ปราศจากอาณานิคม"(colonialism without colonies), "ลัทธิอาณานิคมใหม่"(neocolonialism), และ"ลัทธิจักรพรรดินิยมใหม่"(neoimperialism)
บรรดาผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯและนักธุรกิจทั้งหลาย ท่ามกลางผู้ปฏิบัติการต่างๆในยุคแรกๆ ต่างก็เป็นจักรวรรดิ์ชนิดใหม่อันนี้, ที่เด่นและสะดุดตามากที่สุดคือในคิวบา นับตั้งแต่ช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ถูกพรากหรือยื้อแย่งเกาะดังกล่าวด้วยกำลังจากสเปนไปในสงครามปี ค.ศ.1898, ในท้ายที่สุด พวกเขาก็ให้คิวบาเป็นอิสระอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันชาวคิวบามีรัฐบาลของพวกเขาเอง, รัฐธรรมนูญ, ธงชาติ, เงินตรา, และกองกำลังรักษาความมั่นคงของตนเอง. แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ ยังคงอยู่ในมือของสหรัฐฯ ดังที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยของเกาะ, รวมไปถึงเรื่องน้ำตาล, ยาสูบ, และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, และการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญ
ผลประโยชน์ต่างๆของนายทุนสหรัฐในประวัติศาสตร์ ได้ให้ความสนใจในการเข้ายึดครองอาณานิคมน้อยกว่าการได้มาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย พวกเขาชอบที่จะฉกฉวยขโมยทรัพย์สินของประชาชาติอื่น โดยปราศจากความรู้สึกยุ่งยากใจ โดยการเข้ายึดครองและบริหารจัดการประชาชาติต่างๆด้วยตัวของพวกเขาเอง. ภายใต้ลัทธิจักรพรรดินิยมใหม่ ธงชาติยังอยู่ที่บ้าน ขณะที่ดอลล่าร์ขจรไปทั่วทุกหนแห่ง บ่อยครั้งได้รับการช่วยเหลือด้วยดาบ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พลังอำนาจของยุโรปคล้ายๆ กับอังกฤษและฝรั่งเศสที่รับเอายุทธศาสตร์ของลัทธิจักรพรรดินิยมใหม่มาใช้, พวกเขาสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากในวันเวลาแห่งสงคราม และเผชิญหน้ากับการต่อต้านของประชาชนอย่างรุนแรงจากภายในประเทศโลกที่สามต่างๆ พวกเขาตัดสินใจอย่างไม่เต็มใจนักเกี่ยวกับความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจโดยอ้อม ว่าจะต้องลดความได้เปรียบทางการเมืองและเศรษฐกิจลง ให้น้อยลงกว่าเมื่อตอนที่มีการปกครองอาณานิคมอย่างสมบูรณ์
พวกเขาพบว่า การถอนตัวจากการปกครองอาณานิคมในลักษณะรุกรานอย่างชัดแจ้ง มันเป็นการดีกว่า ทั้งนี้เพราะความยุ่งยากต่างๆเกี่ยวกับปัจจัยชาตินิยมภายในประเทศอาณานิคมทั้งหลายก่อนหน้านั้น ที่ได้ระดมพลและสร้างความรู้สึกและอารมณ์ต่อต้านจักรพรรดินิยมขึ้นมามันลดน้อยลงนั่นเอง
แม้ว่าจะมีการสถาปนารัฐบาลใหม่ขึ้น แต่ก็ยังคงไกลห่างจากความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ปรกติแล้วเจ้าอาณานิคมใหม่มันพึงพอใจกับความถูกต้องตามกฎหมายในสายตาของประชาชน มากกว่าการบริหารจัดการแบบอาณานิคมเก่า ซึ่งได้ถูกควบคุมโดยพลังอำนาจของจักรพรรดินิยม ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้จักรพรรดินิยมใหม่ รัฐบาลท้องถิ่นได้รับเอาต้นทุนต่างๆของการบริหารประเทศมาเป็นของตน ขณะที่ผลประโยชน์ทั้งหลายของจักรพรรดินิยมเป็นอิสระจากความเอาใจใส่หรือการเพ่งเล็งในการสั่งสมทุน ซึ่งนั่นคือสิ่งทั้งหมดที่พวกเขาต้องการที่จะทำ
หลังจากวันเวลาและช่วงปีของลัทธิอาณานิคม ประเทศโลกที่สามพบว่า มันยุ่งยากมากแค่ไหนในการที่จะปลดปล่อยตัวเอง ให้หลุดพ้นจากความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกับเจ้าอาณานิคมก่อนหน้านั้น และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสลัดตัวเองให้หลุดออกจากปริมณฑลของโลกทุนนิยม. บรรดาประเทศต่างๆเหล่านั้นที่พยายามจะหยุดยั้งเรื่องดังกล่าว ต้องตกอยู่ในสภาพการลงโทษทางเศรษฐกิจ และปฏิบัติการทางทหารโดยพลังพลานุภาพของมหาอำนาจไม่ประเทศใดก็ประเทศหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันปรกติแล้วคือ มหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
บรรดาผู้นำของประเทศใหม่ๆ อาจกู่ก้องร้องตะโกนคำขวัญต่างๆเกี่ยวกับการปฏิวัติ กระนั้นก็ตาม พวกเขาพบว่าตัวพวกเขาเองถูกล็อคอยู่ในวงจรหรืออิทธิพลของทุนนิยมโลก ต้องให้ความร่วมมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบรรดาประเทศโลกที่หนึ่งทั้งหลายสำหรับการลงทุน การค้า และความช่วยเหลือ. ด้วยเหตุดังนั้น พวกเราจึงเป็นพยานรู้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ของบรรดาผู้นำทั้งหลายของประชาชาติโลกที่สาม ซึ่งเป็นอิสระใหม่ๆ ที่ได้ประณามกล่าวโทษลัทธิจักรพรรดินิยม ในฐานะที่เป็นต้นตอเกี่ยวกับความป่วยไข้ของประเทศพวกเขา ขณะที่บรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยในประเทศเหล่านี้ ก็ประณามกล่าวโทษบรรดาผู้นำเดียวกันพวกนี้ในฐานะผู้ให้ความร่วมมือกับลัทธิจักรพรรดินิยม
ในกรณีตัวอย่างต่างๆซึ่งมีอยู่มากมาย ชนชั้นนายหน้า(comprador)ได้ปรากฏตัวขึ้นมา หรือได้รับการแต่งตั้งในฐานะที่เป็นเงื่อนไขอันดับแรกสำหรับความเป็นอิสรภาพ ชนชั้นนายหน้าคือหนึ่งในพวกที่ร่วมมือในการผันเปลี่ยนประเทศของตนไปสู่ฐานะการเป็นรัฐลูกค้า สำหรับผลประโยชน์ต่างประเทศทั้งหลาย. รัฐลูกค้าคือรัฐซึ่งเปิดให้กับการลงทุนบนเงื่อนไขต่างๆอันเป็นที่นิยมชมชอบแน่ๆ ต่อบรรดานักลงทุนจากต่างประเทศ
ในรัฐลูกค้า บริษัทนักลงทุนต่างๆพึงพอใจกับการช่วยเหลือตรงไปตรงมา และการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ยินยอมให้มีการเข้าถึงวัตถุดิบต่างๆ และแรงงานราคาถูก มีการเก็บภาษีเพียงเบาบางหรือการยกเว้นภาษี และไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคหรือปกป้องสิ่งแวดล้อม. กฎหมายคุ้มครองต่างๆซึ่งมีอยู่ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีผลบังคับใช้
ทั้งหมด โลกที่สามเป็นบางสิ่งบางอย่างของสวรรค์นักลงทุน ชีวิตมีความเป็นอยู่อย่างที่เป็นในยุโรปและอเมริกาในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ด้วยอัตราผลกำไรที่มหาศาล ซึ่งสูงกว่ารายได้ที่หามาได้ในทุกวันนี้ในประเทศที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆทางเศรษฐกิจที่เข้มงวด ชนชั้นนายหน้าได้รับการตอบแทนที่ดีสำหรับความร่วมไม้ร่วมมือต่างๆ บรรดาชนชั้นนำพึงพอใจกับโอกาสต่างๆที่จะจัดวางกระเป๋าสตางค์ของตน เพื่อรอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศซึ่งถูกส่งมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ความมีเสถียรภาพได้ถูกทำให้มั่นใจโดยการสถาปนา หรือการจัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคง มีการติดอาวุธและฝึกฝนโดยสหรัฐอเมริกา ด้วยเทคโนโลยีต่างๆรุ่นล่าสุดของความน่าเกรงขามและการควบคุมปราบปราม. อย่างไรก็ตาม ลัทธิจักรพรรดินิยมก็ยังคงอยู่ในความเสี่ยง การบรรลุผลสำเร็จของอิสรภาพโดยนิตินัย ในท้ายที่สุด ได้ไปสนับสนุนความคาดหวังต่างๆเกี่ยวกับอิสรภาพที่แท้จริงโดยพฤตินัย
รูปแบบต่างๆของการปกครองตนเอง ได้กระตุ้นปลุกปั่นความปรารถนาอันหนึ่งสำหรับผลพวงของการปกครองตนเอง บางครั้งผู้นำประชาชาติที่ปรากฏตัวขึ้นมาคือผู้รักชาติคนหนึ่งและนักปฏิรูป มากกว่านายหน้าผู้ให้ความร่วมมือ ด้วยเหตุดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจากลัทธิอาณานิคมไปสู่ลัทธิอาณานิคมใหม่ จึงไม่อาจหลุดรอดไปจากความเสี่ยงทั้งหลายจากบรรดานักจักรพรรดินิยม และแสดงให้เห็นเครือข่ายอันหนึ่งของอำนาจบีบคั้นประชาชนโลก
(ต้นฉบับจาก http://www.historyisaweapon.org/defcon1/imperialism.html)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ทฤษฎีที่มีอิทธิพลของช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ผ่านมา ได้ถูกสาธยายออกมาอย่างชัดแจ้งและซ้ำๆโดยบรรดานักเขียนต่างๆ อย่าง Barbara Ward และ W.W.Rostow และแพร่สะพัดอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา รวมถึงส่วนอื่นๆของโลกตะวันตก ซึ่งยังคงยึดมั่นว่า มันเป็นหน้าที่ของประชาชาติที่ร่ำรวยทั้งหลายของซีกโลกเหนือ ที่จะช่วยยกระดับประชาชาติที่ล้าหลังของประเทศซีกโลกใต้ นำเอาเทคโนโลยีไปสู่พวกเขาและสอนสั่งอุปนิสัยต่างๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานแก่พวกเขาด้วย. นี่เป็นเรื่องราวที่ทันสมัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ"ภารกิจของคนขาว" ซึ่งเป็นความคิดจิตเพ้อฝันแบบจักรพรรดินิยม อันเป็นที่ชื่นชมกันมาก