นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมร่วมสมัย
พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๑)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ศ.ดร คณิต ณ นคร และ ไพโรจน์ พลเพชร

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ดำเนินรายการ

บทความวิชาการถอดเทปชิ้นนี้ เป็นกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
ซึ่งจัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ
ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.
(เนื่องจากบทความถอดเทปนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ต่อเนื่องกัน)
บทความลำดับที่ 816-817-818

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 816
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)




พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ (๑)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผู้ร่วมการอภิปราย ประกอบด้วย
- ศ.ดร.คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สมชาย หอมลออ สภาทนายความ
- ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อ.สุชาดา จักรพิสุทธิ์(แม่นยำ) :
สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน กิจกรรมวันนี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดการอภิปรายในหัวข้อ "พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ" แค่ชื่อเรื่องก็น่าสนใจแล้วว่า จินตนาคืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐธรรมนูญ

ภาคเช้าของวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและเครือข่ายพันธมิตรจำนวนหนึ่ง เราได้ไปจัดกิจกรรมที่ลานปรีดี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยอยากเล่าสู่กันฟังสำหรับคนที่ไม่ได้ไปร่วมงานในภาคเช้า คือกิจกรรมในภาคเช้าได้จัดมีการปาฐกถาโดยท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกี่ยวกับความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ

สำหรับกิจกรรมในภาคเช้า เป็นเรื่องที่เราได้กระทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว เนื่องจากวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ โดยเราเล็งเห็นความสำคัญของวันดังกล่าว กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนำเสนอ คือการร่วมกับประชาชนวางพวงมาลา ณ ลานปรีดี และมีการแสดงปาฐกถาเป็นปีที่ 2 เพื่อที่จะบอกกับสังคมไทยว่า รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แล้วการที่เราเลือกเอาลานปรีดีเป็นที่ประกอบกิจ เพราะเหตุว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลท่านหนึ่งที่มีคุณูปการให้กับสังคมไทยในเรื่องของประชาธิปไตย และการก่อเกิดรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เราส่วนใหญ่ยังไม่เกิด

ส่วนภาคบ่ายก็เป็นกิจกรรมต่อเนื่องกันมาที่สมาคมนักข่าวฯ ซึ่งต้องขอขอบคุณเพื่อนๆสมาคมนักข่าวฯ เพื่อนสื่อมวลชนทั้งหลาย ที่ช่วยนำเอาสาระ นำเอาปากเสียงของภาคประชาชนไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวงกว้างเสมอมา สำหรับเวทีภาคบ่ายวันนี้ในเรื่อง"พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ" เรามีวิทยากรหลายท่านด้วยกัน จะมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ณ ที่ประชุมแห่งนี้

ก่อนที่จะเข้าสู่รายการภาคบ่าย ขออนุญาตแนะนำ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม ที่จะกล่าวถึงที่มาที่ไป และวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ ขอเชิญอาจารย์ค่ะ

สมเกียรติ ตั้งนโม : กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
สวัสดีเพื่อนสื่อมวลชน นักศึกษา นักวิชาการ วันนี้เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากภาคเช้า ซึ่งเราและพี่น้องประชาชน ได้ไปวางพวงมาลาที่ลานปรีดี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยในช่วงเช้ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เชิญท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเป็นองค์ปาฐกในกิจกรรมดังกล่าว (สำหรับปาฐกถาของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้รับการเผยแพร่แล้วในบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 775 เรื่อง ปาฐกถาวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ มติพจน์สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ภาคบ่ายที่เรามาพร้อมกัน ณ ที่นี้ เราได้เชิญวิทยากรหลายท่าน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมมาร่วมกันอภิปราย ทั้งนี้เพราะแต่ละท่านเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางกฎหมาย ซึ่งจะมาพูดถึงกระบวนการยุติธรรมกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีศึกษาเกี่ยวกับสิทธิของคนที่จะพยายามปกป้องทรัพยากรของตนเองในท้องถิ่น กรณีตัวอย่างนี้ก็คือการต่อต้านโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูดและบ่อนอก

จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้รับความเคารพจากกระบวนการยุติธรรมตลอดสายมากน้อยเพียงใด ในที่นี้ขอเน้นว่า"กระบวนการยุติธรรมตลอดสาย" ซึ่งหมายความถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว นับจากตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา โดยดูจากกรณีตัวอย่างของผู้ที่พยายามปกป้องทรัพยากรของตนเอง

ดังนั้นแม้ว่าชื่อจะละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องส่วนตัวของคุณจินตนา แต่ในความเป็นจริงเราต้องการที่จะเน้นให้เห็นว่า กรณีตัวอย่างข้างต้นนั้น ของผู้ใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรของชุมชนนั้น ปัจจุบันมีอยู่ทั่วทั้งประเทศ และคนเหล่านี้ได้รับการเคารพในฐานะที่ปฏิบัติการตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 3 ซึ่งว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยโดยเฉพาะมาตร 46 มากน้อยเพียงใด
(มาตรที่ 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนในการจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ)

ต่อจากนี้ไป ผมขอมอบภาระหน้าที่บนเวทีให้กับ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ซึ่งจะเป็นพิธีกรดำเนินรายการต่อ และขอเชิญวิทยากรทุกท่านขึ้นบนเวทีได้เลยครับ

อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ผู้ดำเนินรายการ
สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน สำหรับคำพิพากษาจินตนา เป็นตัวอย่างของปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของความพิการในบางสิ่งบางอย่างที่เราสามารถเห็นได้ในกระบวนการยุติธรรม และนับวันจะมีปัญหาทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นมากมาย เรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้เป็นเรื่องที่คิดว่า เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนระดับรากหญ้า ที่จะรุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สำหรับวิทยากรบนเวทีซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเชิญมา ประกอบด้วย ศ.ดร.คณิต ณ นคร, คุณไพโรจน์ พลเพชร, คุณสมชาย หอมลออ, อาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ, และอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล, เพื่อไม่ให้เสียเวลาผู้มีเกียรติ ผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์คณิต ก่อนเลยครับ

ศ.ดร.คณิต ณ นคร :
ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่เชิญผมมาพูดเป็นครั้งที่ ๒ ทุกครั้งที่มหาลัยเที่ยงคืนจัดอภิปราย มักจะมีหัวข้อแปลก ๆ อย่างเช่นที่ผมเคยได้รับเชิญให้ไปพูดในคราวเรื่องของ"รัฐธรรมนูญในหล่มโคลน" แล้วเรื่องที่เชิญให้พูดก็เป็นเรื่อง"นิติธรรมอำพรางในศาลไทย" ซึ่งเราเคยได้ยินแต่"นิติกรรมอำพราง" แต่ก็เอาตัวรอดมาได้

ในคราวนี้ใช้ชื่อว่า "พิพากษาจินตนา" จินตนานี้คือว่าการคิดเอาหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องพูดในเชิงคิดเอา เพื่อที่จะได้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของเราคือคิดเอาจริง ๆ กล่าวคือ ถ้าเราจะบอกว่าศาลนั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ "ศาลพิจารณา"กับ"ศาลทบทวน" ทบทวนนั้นคือทบทวนข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายที่ถูกทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดของต่างประเทศจะไม่เป็นศาลพิจารณาสืบพยาน แต่เป็นการตัดสินข้อกฎหมาย

ศาลสูงสุดก็จะเป็นศาลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ บางประเทศก็จะเป็นระบบเปิด ท่านก็คงทราบว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีแค่ 9 คน และเขาจะหยิบคนที่เก่งขึ้นมาเรียกว่าระดับศาสตราจารย์มาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด และศาลสูงสุดของท่านก็มีหน้าที่ชี้ข้อกฎหมาย. ผมคิดว่า ศาลสูงสุดของทุกประเทศ หน้าที่หลักของท่านก็คือมีหน้าที่ต้องอ่านหนังสือ ต้องครองตัวเองให้ฉลาด เพื่อจะไปพิพากษาข้อกฎหมายได้

ศาลอีกชนิดหนึ่งที่ผมเรียกว่า"ศาลพิจารณา" หมายความว่าศาลนี้จะต้องเปิดการฟังพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นของทุกประเทศจะต้องเป็นศาลพิจารณา ฟังข้อเท็จจริง โดยมีข้อยุติอย่างไรและปรับตามข้อกฎหมาย รวมทั้งมีการพิพากษาลงโทษ

ในส่วนของศาลที่พิจารณาจะทำงานทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลพิจารณาของประเทศต่าง ๆ นั้นก็หลากหลาย ผมคิดว่าไม่ทุกประเทศ บางประเทศเท่านั้น หรืออย่างมากที่สุด ศาลพิจารณามี 2 ชั้น คือการพิจารณาในศาลชั้นต้น และการพิจารณาในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ถ้าเราอุทธรณ์ไปให้ศาลพิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็ต้องเปิดการพิจารณา ฟังพยานหลักฐาน ว่าที่โต้แย้งมานั้นมันเป็นอย่างไร ไม่มีประเทศไหนที่จะเป็นศาลพิจารณา 3 ชั้น

ในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ก็จะเน้นในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะต้องดี จะต้องประกอบไปด้วยองค์คณะที่ดี องค์คณะที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นองค์คณะในศาลชั้นต้นโดยปกติแล้วจะดี อย่างเช่นของเรา อย่างน้อยสอบผ่าน. ส่วนศาลคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เราเรียกว่าศาลแขวง ผู้พิพากษาที่จะเป็นผู้พิพากษาศาลแขวงนั้น ก็จะต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในการทำคดีความมามาก ถ้าจะเปรียบเทียบหมายความว่า ผู้พิพากษาศาลศาลแขวงจะต้องเป็นระดับหัวหน้าศาลแล้ว ไม่ใช่ที่มีอาวุโสใหม่ๆ เพราะจะต้องชี้ขาดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ศาลแขวงของเราก็ใช้ได้ แต่ยังมีข้อบกพร่องคือว่า ถ้าศาลแขวงในกรุงเทพ ฯ เข้าใจว่าใช้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโส แต่ถ้าศาลแขวงต่างจังหวัดก็จะใช้ผู้ที่มีอาวุโสหรือไม่อาวุโสก็ได้ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมของเรานั้น ในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดแตกต่างกัน

ที่นี้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ถ้าบางประเทศ ศาลที่พิพากษาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง จะมีศาลพิจารณาในชั้นที่สอง แต่เมื่อพ้นศาลอุทธรณ์ไปแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการทบทวนข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นศาลอุทธรณ์ ในประเทศต่าง ๆ จะมีมากกว่า แต่ของเราศาลอุทธรณ์เป็นศาลอุทธรณ์ที่ไม่ใช่ศาลอุทธรณ์ในคดีที่เราพิจารณาพิพากษาข้อเท็จจริง ถ้าเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายก็ไม่เป็นไร แต่ในกรณีข้อเท็จจริงจะต้องเปิดให้มีการพิจารณา

หลังจากการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ ของเราก็คือว่า เราจะอ่านสำนวนสิ่งที่ศาลชั้นต้นได้ทำมา แล้วเราก็จินตนากันไป แล้วก็ชี้ว่าผิดหรือถูก และถามว่าใช้ศาสตร์อะไรมาอธิบาย ผมยังมองไม่เห็น เพราะว่าการที่มีพยานมาปรากฏต่อหน้า ความหน้าเชื่อถือในการเบิกความ ความสามารถในการจดจำ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่เห็นเลย แล้วบอกว่าดีกว่า แต่ไม่เชื่อ ก็เลยกลายเป็นว่าศาลพิพากษาตามความเชื่อ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

ส่วนศาลฎีกา ในทางปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่เคยเปิดพิจารณาในข้อเท็จจริง ที่นี้สำหรับของเราตามกฎหมายให้ทำอย่างนั้นหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ถ้าศึกษากฎหมายให้ดี ศาลอุทธรณ์ก็เปิดการพิจารณาได้ และต้องเปิดด้วยถ้าเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้าเป็นข้อกฎหมายก็อาจเปิดเพื่อฟังแถลงการณ์ การแถลงการณ์ในชั้นศาลสูง จริงๆแล้วเป็นประโยชน์ ในต่างประเทศถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่ผู้พิพากษา แต่ของเราก็กลายเป็นว่า ถ้าเป็นการแถลงการณ์ก็รู้สึกว่าจะมาสอนหรืออย่างไร เพราะฉะนั้นหลักในเรื่องอุทธรณ์-ฎีกาของเรา ในเบื้องต้นผมคิดว่า มีหลักใหญ่ๆอย่างนี้

ถ้าจะมองในอดีต ที่เราเคยสัมผัสก็คือคดีของนางเชอรี่แอน ดันแคน สำหรับคดีนี้มีอยู่ 2 ภาค. ภาคแรก ศาลชั้นต้น ถ้าเป็นศาลพิจารณา ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษ ผมจะไม่พูดว่าผู้ที่ถูกลงโทษหรือยกฟ้องนี้ผิดหรือถูก เอาหลักวิชา ลงโทษก็มีเหตุผล เพราะได้เห็นได้ฟังได้อะไรต่าง ๆ ความเชื่ออย่างนี้เกิดจากศาสตร์ที่อธิบายได้ โดยตรรกศาสตร์ โดยสังคมวิทยา จิตวิทยา และศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ก็ปรากฏว่าพิพากษายืน ก็ยังพอใช้ได้ แต่พอถึงศาลฎีกากลับมีการตัดสินยกฟ้อง ผมก็พิจารณาว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรมาอธิบาย ทำไมถึงเชื่อต่างกัน อันนี้ก็คือหลักในการอุทธรณ์-ฎีกา

เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบในคดีนี้(หมายถึงคดีของนางจินตนา แก้วขาว) ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เท่าที่ผมอ่านดู ถ้าศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยข้อเท็จจริง ความจริงก็กระทำได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้เปิดเป็นศาลพิจารณา ก็นั่งๆอ่านอยู่ จะเรียกว่า Enlighten(ตรัสรู้)เอาเองก็ได้ ในรอบแรกผมคงจะชี้ให้เห็นในกระบวนการเท่านี้ครับ

อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล :
อาจารย์คณิตได้ให้ความรู้เรา ในเรื่องของการหลักของสากลว่า ศาลที่ทำหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผู้พิพากษาศาลจะต้องมีความรู้และเท่าทัน ต้องเป็นผู้มีความรอบรู้ ต้องฉลาด

ในส่วนประเด็นต่อมา ในทัศนะของคุณไพโรจน์ พลเพชร ซึ่งติดตามในเรื่องของสิทธิของประชาชนมาเป็นเวลานาน และปัจจุบันเป็นกรรมการคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯด้วย ทัศนะของคุณไพโรจน์ มองกรณีปรากฏการณ์เกี่ยวกับบทบาทของศาล ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิของผู้คนที่เดือดร้อน กรณีซึ่งได้รับผลกระทบจากภาครัฐก็ดี จะต่อสู้อย่างไร ผมขอเรียนเชิญคุณไพโรจน์ครับ…

ไพโรจน์ พลเพชร :
เรียนผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน พอดีได้เปิดเรคคอร์คดู เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดในหัวข้อ"พิพากษจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ"บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เห็นมีข้อชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นการพูดถึงเรื่องของคดีคุณจินตนา แก้วขาวคนเดียว แต่เป็นการพูดถึงคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน ทั้งๆที่มีหมายรับรองสิทธิอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ประการที่หนึ่ง ผมเข้าใจว่าประเด็นปัจจุบันที่คนสนใจเบื้องต้น คือว่า ถามว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญจะได้รับการประกันอย่างไร ที่จริงเรื่องนี้มีปัจจัยหลายอย่าง ถ้าดูจากตัวประชาชน ก็คือ ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สิทธิน่าจะเป็นจริง ถ้ามีพลังเข้มแข็งเพียงพอ การใช้สิทธิน่าจะบังเกิดการบรรลุผลได้

ประการที่สอง คือ มีบางเรื่องที่สิทธิถูกมอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการต่อ เช่น ไปออกกฎหมายลูกมากมายไปหมด และเป็นปัญหาของบ้านเมืองนี้มาตลอด ถ้าฝ่ายบริหารที่คุมอำนาจเสียอย่างไม่ยอมให้สิทธิประชาชน คนพวกนั้นไม่ยอมให้สิทธิเสียอย่าง จะเป็นอย่างไร อันนี้ก็คงไม่บังเกิดผลใดๆทั้งสิ้น

ประการที่สาม ที่จะพูดในวันนี้ก็คือว่า แล้วศาลยุติธรรมจะประกันสิทธิประชาชนได้เพียงไร ที่จริงรัฐธรรมนูญเราได้พูดไว้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เขียนในรัฐธรรมนูญ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจประชาชนหรือสิทธิประชาชน ควรจะมีแบบไหน ที่นี้สถานการณ์ในปัจจุบันมันเป็นอย่างไร? ที่ตั้งข้อสังเกตมาทั้งหมด จะขอลงรายละเอียดลึกลงไปดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ก็คือว่าตอนนี้อำนาจบริหารเข้มแข็งมาก การถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารทำไม่ได้เลย หรือถ้าจะทำได้ก็ทำได้น้อยเต็มที เพราะฉะนั้นต้องคิดใหม่ว่า สถาบันศาลในสถานการณ์ปัจจุบันที่อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ควรจะมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารมากน้อยได้ขนาดไหน

ตัวอย่างการตัดสินคดีเกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ. ก็คือการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ยิ่งใหญ่มาก คนอื่นตรวจสอบไม่ได้ แล้วแนวโน้มการเมืองที่บอกว่าฝ่ายการเมือง คือสภาฯทำหน้าที่ตรวจสอบ อันนี้ไม่ได้มีอยู่อีกต่อไปแล้วในความเป็นจริง เพราะว่าสภาฯกับฝ่ายบริหารและรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน. ไม่ว่าที่ไหนในโลก ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบโดยฝ่ายสภาฯ จึงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นศาลจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในภาพรวม เกี่ยวกับแนวโน้มการเมืองประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันเฉพาะสังคมไทยจริง ๆ ศาลจำเป็นต้องมาทำบทบาทในนี้ หรือให้ฝ่ายบริหารอยู่ในร่องในรอย ทั้งนี้เพื่อจะประกันให้เกิดสิทธิ เพราะศาลต้องทำหน้าที่อยู่ 3 เรื่องที่ผมมอง คือ

1. จะประกันสิทธิประชาชนได้อย่างไร ถ้าประชาชนใช้สิทธิจะได้รับประกัน ถ้าหากเกิดปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างสิทธิประชาชนกับอำนาจรัฐ ศาลจะตัดสินถึงขั้นไหนจึงจะประกันสิทธิประชาชนได้

2. ศาลจะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่อยู่ในร่องในรอยอย่างไร

3. ศาลจะใช้อำนาจอยู่บนฐานสิทธิของประชาชนอย่างไร นี้เป็นประเด็นสำคัญ

ถ้าดูในปัจจุบัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง เราต้องยอมรับอันหนึ่งว่า ผู้คนในวงการตุลาการก็อยู่ในวัฒนธรรมของไทย ที่ยังเชื่อว่าอำนาจรัฐใหญ่กว่าสิทธิของประชาชน นี่เป็นหัวใจใหญ่อีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก แล้วยังเปลี่ยนแปลงไม่มาก เพราะฉะนั้นผู้ปกครองทั้งหลายที่ใช้อำนาจอยู่ ยังเชื่อว่ารัฐเหนือกว่าสิทธิของประชาชน คือไม่ใช่สิทธิประชาชนเป็นฐานของอำนาจหรือการใช้อำนาจของรัฐ แต่อำนาจรัฐจะเหนือกว่า การกำกับดูแลตรวจสอบ คือไปกด นี้คือความคิดที่ต่างกัน

ที่นี้พอรัฐธรรมนูญพลิกความคิดอีกแบบ บอกว่าสิทธิของประชาชนต้องเป็นที่มาของฐานอำนาจ การใช้อำนาจของรัฐหรือการตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่ความคิดนี้ในสังคมไทย ผมเชื่อว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง กระบวนทัศน์แบบนี้ยังไม่เปลี่ยน เมื่อไม่เปลี่ยน การตัดสินคดีก็จะเกิดในทำนองที่ถือว่า อำนาจรัฐยังเหนือสิทธิของประชาชนเสียส่วนใหญ่ นี่เป็นประเด็นเบื้องต้นที่อยากจะเรียนให้ทุกท่านทราบ

หากจะถามว่าในระยะที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงบางหรือไม่ ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผมจะยกสัก 3-4 ประเด็น เพื่อให้ดูว่ามันมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง แล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม

กรณีแรก ซึ่งอยากยกขึ้นมาคือคดีพิจารณาเหตุการณ์จะนะ(ชื่ออำเภอหนึ่งใน จ.สงขลา) คดีท่อก๊าซที่มีการชุมนุมที่หาดใหญ่ แล้วประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ใช้สิทธิตามมาตรา 59 ว่า ถ้าผมอยู่ในชุมชน ถ้ามีโครงการใหญ่กระทบต่อคุณภาพชีวิต ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่วนได้เสียสำคัญของรัฐ ส่วนสำคัญส่วนตัวหรือของชุมชน ตัวเองมีสิทธิให้ความเห็นหรือเสนอแนะต่อรัฐ นี่เป็นสิทธิที่ประชาชนใช้ แล้วใช้เสรีภาพในการชุมชน
(มาตรา 44 : บุคคลย่อมมีเสรภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ…)

(มาตรา 56 : สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง…)


ตำรวจบอกว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นการก่อความวุ่นวาย ก็เกิดมีข้อโต้แย้ง การใช้สิทธิคุ้มครองชุมชนของตนเอง แล้วใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ กับการที่บอกว่ารัฐทำอย่างนี้ผิดกฎหมาย อันไหนควรจะยึดถือ ศาลควรจะตัดสินไปทางไหน การที่รัฐบอกว่าการทำอย่างนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา อันไหนควรจะยึด ศาลควรจะตัดสินอย่างไร ระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการที่รัฐบอกว่าอย่างนี้ไม่ถูก นี้เป็นข้อโต้แย้งสำคัญในคดีจะนะ

แล้วศาลก็พิพากษาออกมารับรองสิทธิประชาชน คือ รับรองว่า ถ้ามีโครงการกระทบต่อประชาชน ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความคิดเห็นสำคัญคือการแสดงโดยการเดินขบวน เพราะว่าการชุมนุมโดยการเดินขบวน เป็นการแสดงออกโดยหมู่ชนชนิดหนึ่ง เพื่อจะต่อสู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ ศาลก็ยืนยันหลักการนี้ ว่าประชาชนปกป้องสิทธิได้ มีการชุมนุมได้ ชัดเจน

เช่น การใช้เสียงพูดชุมนุม ไม่ใช่เป็นการก่อความวุ่นวาย การเดินขบวนแม้ว่าจะขัดขวางทำให้จราจรติดขัดบ้าง หรือยิ่งตำรวจสกัดทำให้เกิดรถติด มันไม่ใช่ความผิดของผู้ชุมนุม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีจะนะ เป็นที่ชัดเจนว่า ศาลรับว่าถ้าประชาชนใช้สิทธิชุมชนในการปกป้อง ต้องสามารถแสดงออกในการชุมนุมได้ ถ้าการแสดงออกนั้นไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นข้อโต้แย้งก็ยุติในศาลชั้นต้น ในอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ

แต่นี่เป็นข้อยุติที่สำคัญที่ว่า ระหว่างสิทธิของประชาชนกับการใช้อำนาจรัฐในการสลายการชุมนุม ศาลบอกว่าไม่ได้ อันนี้จึงเป็นประเด็นที่หนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยเชื่อว่าถ้ามีกลุ่มถือธงแดงและใส่เสื้อแดง เป็นความรุนแรง ที่นี้จะนะใช้สัญลักษณ์นี้ในการต่อสู้ ศาลบอกว่าเป็นแสดงให้รู้ว่าเป็นหมู่เดียวกัน และเพื่อจะบอกผู้อื่นและดูแลกันให้ได้ ตอนหลังพี่น้องก็ใช้สัญลักษณ์นี้กันมาก

ตอนนี้ที่ดังเป็นสัญลักษณ์เสื้อเหลือง(หมายถึงกลุ่มของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีต่อต้านรัฐบาลทักษิณ และการอ้างอิงถึงพระราชอำนาจ) ก็ไม่รู้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายหรือเปล่า แต่ว่าศาลพูดชัด ใครสนใจก็ไม่อ่านเอาเอง อันนี้เป็นศาลชั้นต้นของสงขลา

กรณีที่สอง ที่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลง คือในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพิพากษาลูกแป้งข้าวหมาก เนื่องจากลูกแป้งข้าวหมาก นำไปสู่การทำสุรา เรามีกฎหมายสุราบอกว่า การทำสุราผูกขาดได้เฉพาะรัฐเท่านั้น ดังนั้นใครที่จะทำลูกแป้งข้าวหมากจะต้องขออนุญาตรัฐ ไม่อย่างนั้นขายไม่ได้ เพราะบอกว่าลูกแป้งเป็นเชื้อที่จะทำสุรา การทำสุราต้องผูกขาดโดยรัฐหรือรัฐมีอำนาจอนุญาต ประชาชนไม่มีสิทธิ

ก็มีคนโต้แย้งเรื่องนี้ว่า ลูกแป้งข้าวหมากไม่น่าจะเกี่ยว เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นตามมาตรา 46 เมื่อเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น รัฐจะผูกขาดได้อย่างไร ที่จะไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิในภูมิปัญญาตนเอง สืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าว การที่รัฐใช้สิทธิผูกขาดไม่ถูก ประเด็นนี้เป็นการข้อโต้แย้งระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน ศาลก็วินิจฉัยว่า แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไปทำเหล้าได้ ขณะเดียวกันก็เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นควรสามารถสืบทอดได้ ไม่ต้องขออนุญาตฝ่ายรัฐในการขาย ประเด็นนี้ศาลพูดชัดว่าอำนาจรัฐกับประชาชนเป็นอย่างไร กับภูมิปัญญาท้องถิ่น รัฐจะเข้าไปแทรกแซงได้ขนาดไหนอย่างไร

กรณีที่สาม เป็นกรณีโรงโม่หินที่จังหวัดหนองบัวลำภู เนื่องจากมีการสัมปทานโรงโม่หิน ราษฎรก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน อันนี้ฟ้องไปที่ศาลปกครอง ฟ้องไปประเด็นที่ว่า ไม่เคยแจ้งให้ราษฎรทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร และมีผลกระทบอย่างไร เมื่อไม่แจ้งก็ไม่น่าจะถูกในการให้สัมปทาน ศาลปกครองจึงวินิจฉัยในประเด็นที่สำคัญ 2 ประเด็น ว่าการที่ประชาชนใช้สิทธิตามมาตรา 59 ในการตรวจสอบโครงการของรัฐที่ไปกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ศาลพูดไว้ 2 ประเด็น
(มาตรา 59 : บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับการคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ)

1. คุณต้องแจ้ง
2. ประเด็นที่ว่าประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องมีส่วนได้เสียหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ศาลปกครองยืนว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะคุณใช้สิทธิในการปกป้องชุมชน นี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิได้

กรณีที่สี่ เป็นประเด็นที่ศาลใช้ดุลพินิจเอง เมื่อสักครู่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่า รัฐใช้อำนาจถูกไม่ถูก แต่ประเด็นที่สี่มีกรณี 2 กรณี คือ

กรณีคุณจินตนา ศาลอ้างอิงรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลบอกว่า เมื่อสิทธิอย่างนั้น ศาลเลยต้องใช้อำนาจในการฟังข้อเท็จจริงอย่างซับซ้อน หมายความว่าถ้าประชาชนใช้สิทธิอย่างนั้น ศาลต้องพึงระวังในการใช้ดุลพินิจ คือนี่เป็นการตรวจสอบตัวเองของตุลาการว่าจะใช้ดุลพินิจแบบไหน ศาลชั้นต้นฟังอีกทางหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ฟังอีกทางหนึ่ง ผมจะชี้ให้เห็นว่า ศาลตระหนักว่าถ้าเขาใช้สิทธิแบบซับซ้อนอย่างนี้ ตัวเองจะใช้ดุลพินิจภายใต้สิทธิประชาชนอย่างไร ต้องฟังพยานหลักฐานอย่างระมัดระวัง

อีกประเด็นเป็นเรื่องของคุณกรณ์อุมา(กระรอก) เป็นการใช้ดุลพินิจของศาล เป็นคดีอาญา ศาลก็ใช้ดุลพินิจอีกว่า ถ้าเขาหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ศาลก็ใช้พินิจในการลงโทษให้รอลงอาญา แต่นี่เป็นตัวอย่างที่ยกมาเป็นเรื่องที่ตุลาการใช้อำนาจ โดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นที่ตั้ง

กระบวนการพิจารณา กระบวนการลงโทษบุคคล ที่ผมยกมาทั้งหมดเป็นสิทธิส่วนบุคคล รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าแดนอำนาจมีตรงนี้ คนตัดสินแดนอำนาจคือตุลาการ ถ้าคนตัดสินเข้าใจ แดนอำนาจก็จะขยายขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าใจแดนอำนาจก็หดแคบลงโดยอัตโนมัติ นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นอยู่ในตอนนี้

ถามว่าสองกระแสที่เกิดขึ้นเป็นในด้านบวก ควรส่งเสริม เป็นกระแสหลักของวงการตุลาการหรือไม่ ไม่ทราบ ผมสันนิษฐานว่าน่าเป็นกระแสรอง แต่แนวโน้มแบบนี้ควรได้รับการขยาย เพราะ ณ บัดนี้ อำนาจฝ่ายบริหารใหญ่โตเกินเหตุ ถ้าประชาชนมีพลังต่อรอง มีพลังในการต่อสู้ แดนอำนาจของรัฐก็จะหดไปเอง แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช้ จริงๆต้องใช้สถาบันตุลาการมากำหนดแดนอำนาจ

ที่นี้ทั้ง 4 กรณีที่ยกตัวอย่าง ทำไมมีการเปลี่ยนแปลง ประเด็นสำคัญต้องยกเครดิตให้กับคนที่ใช้สิทธิ ประเด็นที่ 2 คนที่ร่วมต่อสู้เวลาเกิดคดี นักกฎหมายบอกว่าต้องอ้างอิงรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด อย่างน้อยสภาทนายความ หรือใครหลาย ๆ คนที่พยามหยิบยกสิทธิตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้. แต่ตามความเคยชินดั้งเดิมของศาล ไม่เคยคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตัดสินคดี

การตัดสินที่พูดมาทั้งหมดเป็นการแหวกประเพณี สิทธิตามรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกฝ่าย คุณต้องเอาไปใช้ แต่ประเพณีดั้งเดิมไม่เคยใช้ ประเด็นที่เรายกขึ้นไปเป็นการพัฒนาความก้าวหน้า เมื่อเป็นอย่างนี้ต่อไปจะทำอย่างไร ผมมีความเห็นว่า…

1. ต้องขยายผล เพราะนี้เป็นการเปิดความคิดที่ว่า ตุลาการไม่มีอำนาจในการวางนโยบาย ไม่มีอำนาจตรวจสอบเหนือฝ่ายบริหาร อันนี้ต้องคิดทบทวนกันใหม่ ต้องคิดว่าจะถ่วงดุลแบบไหน หรือขยายได้มากกว่านั้น

2. คำพิพากษาที่พูดทั้งหมด จะทำอย่างไรให้มีการวิเคราะห์สังเคราะห์ จึงจำเป็นต้องนำเข้าไปอ้างอิงในทุกกรณี จึงต้องมีคนเข้าใจเรื่องสิทธิ

3. เห็นว่าการปฏิบัติการใช้สิทธิ เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีชีวิต และทำให้เกิดการยอมรับ มันไม่จำเป็นต้องถูกตัดสินโดยตุลาการอย่างเดียว จึงจะทำให้สิทธิของสังคมสมบูรณ์

ไพสิฐ พาณิชย์กล :
ในลำดับต่อไป ผมขอเรียนเชิญคุณสมชาย หอมลออ จากสภาทนายความฯ เป็นผู้อภิปราย คุณสมชายเป็นผู้ที่ทำงานมาเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งประเด็นนี้คิดว่าจะให้มุมมองและฉายภาพประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความพิกลพิการในกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ในหลวงได้มีพระราชดำรัสถึงสิ่งสำคัญทางกฎหมายซึ่งจะต้องหยิบยกขึ้นมาคิดกันต่อ และผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล เป็นเรื่องที่สมควรจะต้องทำ ในปัจจุบันมีกฎหมายในการให้อำนาจวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของศาลปกครอง แต่ในศาลยุติธรรมยังไม่กล้าเปิดให้มีการวิจารณ์ แต่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา อันนี้เป็นลู่ทางที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องหยิบฉวยโอกาสนี้ เพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะการตรวจสอบดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่จะมากำกับการใช้อำนาจของรัฐได้ ผมขอเรียนเชิญคุณสมชาย หอมลออครับ

(คลิกไปอ่านต่อ "พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ(2)" ได้จากที่นี่)


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
280149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ถ้าเราจะบอกว่าศาลนั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ "ศาลพิจารณา"กับ"ศาลทบทวน" ทบทวนนั้นคือทบทวนข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายที่ถูกทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดของต่างประเทศจะไม่เป็นศาลพิจารณาสืบพยาน แต่เป็นการตัดสินข้อกฎหมาย
ศาลสูงสุดก็จะเป็นศาลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ บางประเทศก็จะเป็นระบบเปิด ท่านก็คงทราบว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีแค่ 9 คน และเขาจะหยิบคนที่เก่งขึ้นมาเรียกว่าระดับศาสตราจารย์มาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด และศาลสูงสุดของท่านก็มีหน้าที่ชี้ข้อกฎหมาย. ผมคิดว่า ศาลสูงสุดของทุกประเทศ หน้าที่หลักของท่านก็คือมีหน้าที่ต้องอ่านหนังสือ ต้องครองตัวเองให้ฉลาด เพื่อจะไปพิพากษาข้อกฎหมายได้ (ศ.ดร.คณิต ณ นคร)