The Midnight University
การเมือง
น้ำมัน และการทหารสหรัฐฯ
อเมริกันฉาวโฉ่ แต่ไม่เป็นข่าว
: คัดเลือกข่าวเพื่อตีแผ่
โดย
ภัควดี วีระภาสพงษ์
และ บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ข่าวที่คัดเลือกมานี้
นำมาจากรายงาน
"ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ๒๕๔๗-๒๕๔๘"
โดยเน้นที่เรื่องราวทางการเมือง น้ำมัน และการทหารของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และวิถีเศรษฐกิจของประชาชน
ทั้งต่อชาวอเมริกัน และประชากรส่วนอื่นๆของโลก
(ในส่วนของรายงาน"ข่าวที่ไม่เป็นข่าวฉบับสมบูรณ์" จะมีการนำเสนอบนเว็บไซต์แห่งนี้ในโอกาสต่อไป)
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 814
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
14.5 หน้ากระดาษ A4)
อเมริกันฉาวโฉ่ แต่ไม่เป็นข่าว : คัดเลือกข่าวเพื่อตีแผ่
นำมาจาก "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘"
จากโครงการ Project Censored มหาวิทยาลัย Sonoma State
สหรัฐอเมริกา
1. รัฐบาลบุชทำลายความโปร่งใสของธรรมาภิบาล
2. สื่อมวลชนกระแสหลักไม่นำเสนอข่าวสงครามอิรักอย่างรอบด้าน กรณีฟัลลูจาห์และจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต
3. นักข่าวต้องเผชิญอันตรายถึงชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน
4. คำสั่งของเบรเมอร์ทำลายเกษตรกรชาวอิรัก
5. ระบบขายน้ำมันแบบใหม่ของอิหร่านสะเทือนการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์
6. ผู้ร้ายตัวจริงเบื้องหลังกลโกงในโครงการ "น้ำมันแลกอาหาร"
7. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักเกี่ยวพันกับการว่าจ้างบริษัทเอกชนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม
8. อีกครั้งที่ผลการเลือกตั้ง "ที่น่าสงสัย" ไม่เป็นข่าว
9. สังคมสอดแนมกำลังคืบคลานเข้าสู่สหรัฐอเมริกา
10. แผนการของสหรัฐฯ กับแคนาดาในการผนวกรวมเขตอำนาจทางทหาร
11. สหรัฐฯใช้ฐานทัพอเมริกันในอเมริกาใต้เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้
การกีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน
รัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act--FOIA)
เปิดโอกาสให้พลเมืองสหรัฐฯ สามารถยื่นคำร้องขอดูข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลได้
และร้องเรียนต่อศาลสหรัฐฯ ได้ในกรณีที่หน่วยงานนั้นไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบัญญัติฉบับนี้
แต่ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ทุกชุดตั้งแต่รัฐบาลเรแกนเป็นต้นมา
ต่างหาหนทางทำให้กฎหมายฉบับนี้คลายความเข้มข้นลงเรื่อย ๆ
ในสมัยรัฐบาลบุชปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลใช้สิทธิ์ยกเว้นจาก FOIA กันเป็นว่าเล่นตามอำเภอใจ เช่น อ้างว่าเป็นเอกสารลับ เป็นเอกสารที่เป็นเอกสิทธิ์ระหว่างทนายความกับลูกความ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งโดยมากเป็นข้ออ้างข้าง ๆ คู ๆ ไปจนถึงการจงใจหน่วงเหนี่ยวล่าช้า หรือผู้มายื่นคำร้องขอดูข้อมูลไม่ได้รับคำตอบขั้นสุดท้ายเสียทีว่าดูเอกสารนั้นได้หรือไม่ ซักถามผู้มายื่นคำร้องขอดูเอกสารอย่างก้าวร้าว จำกัดคำนิยามของ "ตัวแทนจากสื่อมวลชน" ให้แคบลง อ้างว่าข้อมูลนั้นไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณชน รวมทั้งกลยุทธ์อื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งทั้งหมดนี้ให้ผลลัพธ์เดียวกันก็คือ สาธารณชนถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
สิบปีก่อน หน่วยงานรัฐบาลกลางมีพันธะต้องเปิดเผยเอกสารตามกฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่ามีเหตุผลทางเทคนิคที่จะปกปิดได้ก็ตาม นอกเสียจากว่าการเปิดเผยนั้นอาจนำมาซึ่ง "อันตรายที่มองเห็นแล้วล่วงหน้า" แต่ตามรายงานของแวกซ์แมน ในเดือนตุลาคม 2001 นายจอห์น แอชครอฟท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ มีบันทึกคำสั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ระงับการเปิดเผยข้อมูลในทุกกรณีที่มีเหตุผลทางเทคนิคให้ทำได้
รัฐบาลบุชยังเพิ่มอำนาจตนเองให้สามารถดำเนินปฏิบัติการลับมากกว่ารัฐบาลใด ๆ ในอดีต โดยไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของฝ่ายอื่น ๆ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายในรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติ (Patriot Act) กระทรวงยุติธรรมสามารถใช้คำสั่งลับเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัวของพลเมือง ดักฟังโทรศัพท์ สะกดรอยดูพฤติกรรม ฯลฯ ไปจนถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยว สอบปากคำและโยกย้ายสถานที่กักขังปัจเจกบุคคลคนใดก็ได้ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ก่อการฝ่ายศัตรู" ทั้งบุคคลที่เป็นพลเมืองอเมริกันและชาวต่างด้าวที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา
การกีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสภาคองเกรส
เมื่อเปรียบกับรัฐบาลชุดก่อน ๆ รัฐบาลบุชบริหารประเทศโดยถูกตรวจสอบจากสภาคองเกรสน้อยมากจนน่าสังเกต
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทั้งในรัฐสภาและวุฒิสภา
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งเกิดมาจาก การที่ฝ่ายบริหารเองไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบ
รัฐบาลบุชมักไม่ยอมให้สมาชิกของสภาคองเกรสเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบ
และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายบริหารคัดค้านอำนาจของสำนักงานตรวจสอบความโปร่งใสของการปกครอง ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ และไม่ยอมปฏิบัติตามกฎที่อนุญาตให้สมาชิกของคณะกรรมการรัฐสภาเข้าถึงข้อมูลจากฝ่ายบริหาร ทำให้สมาชิกรัฐสภาต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอบังคับใช้สิทธิ์นี้ภายใต้กฎหมาย อีกทั้งรัฐบาลยังเพิกเฉยหรือปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลของสมาชิกสภาคองเกรสที่จะนำมาใช้ตรวจสอบ รวมทั้งมีหลายครั้งที่ไม่ยอมให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการตรวจสอบเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน เป็นต้น
2. สื่อมวลชนกระแสหลักไม่นำเสนอข่าวสงครามอิรักอย่างรอบด้าน
กรณีฟัลลูจาห์และจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต
ภาค 1 ฟัลลูจาห์--อาชญากรรมสงครามที่ไม่เป็นข่าว
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาโอบล้อมโจมตีเมืองฟัลลูจาห์ครั้งใหญ่ ๆ ถึง
2 ครั้งด้วยกัน การโจมตีครั้งแรกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองกำลังผสมฝ่ายสหรัฐฯ
ก่อนการโจมตีครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ จึงให้ทางเลือกแก่ประชากรราว 300,000
คนในเมืองฟัลลูจาห์เพียง 2 ทางเท่านั้น นั่นคือ อพยพออกจากเมือง หรืออยู่ในเมืองต่อไปและตกเป็นเป้าการโจมตี
สหรัฐฯ จะถือว่าทุกคนที่อยู่ในเมืองเป็นผู้ก่อการร้ายฝ่ายศัตรู
ด้วยเหตุนี้ ประชากรราว 250,000 คน หรือ 83% ของทั้งเมืองจึงอพยพหนีตาย ประชาชนเหล่านี้ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีอาหาร น้ำหรือยารักษาโรค กองทัพสหรัฐฯ อ้างว่า มีกองกำลังฝ่ายศัตรูสองสามพันคนปะปนอยู่ในหมู่ประชากรที่เหลืออีก 50,000 คนในเมือง และปฏิบัติการโจมตีกวาดล้างอย่างไม่เลือกหน้า
บูร์ฮัน ฟาซา นักข่าวชาวอิรักกล่าวว่า "ทหารอเมริกันไม่มีล่ามไปด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงบุกเข้าไปตามบ้านและฆ่าประชาชนเพียงเพราะคนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ทหารอเมริกันบุกเข้ามาในบ้านที่ผมหลบอยู่กับประชาชน 26 คน และกราดยิงประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของทหาร ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นฟังภาษาอังกฤษไม่ออก"
อาบู ฮัมมัด ชาวเมืองฟัลลูจาห์ บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า เขาเห็นประชาชนพยายามว่ายข้ามแม่น้ำยูเฟรติสเพื่อหนีการโอบล้อมโจมตี "ทหารอเมริกันบนฝั่งแม่น้ำยิงพวกเขาทิ้งด้วยปืนไรเฟิล ทั้ง ๆ ที่บางคนชูธงขาวหรือเสื้อขาวไว้เหนือหัวเพื่อแสดงตัวว่าไม่ใช่นักรบ แต่พวกเขาก็ถูกยิงทิ้งหมด" แย่ยิ่งกว่านั้น "แม้แต่คนบาดเจ็บก็ถูกฆ่าทิ้ง" ชาวเมืองฟัลลูจาห์อีกคนเล่าว่า "ผมเห็นกองกำลังของสหรัฐฯ ขับรถถังทับคนที่บาดเจ็บ....มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง"
มีการประเมินตัวเลขขั้นต้นในเดือนธันวาคม 2004 ว่า ชาวอิรักอย่างน้อย 6,000 คน ถูกฆ่าตายในเมืองฟัลลูจาห์ อาคารบ้านเรือนในเมืองนี้ถูกทำลายไปถึง 1 ใน 3 การสังหารหมู่ในเมืองฟัลลูจาห์ยังกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในเมืองอื่น ๆ เช่น โมซุล, บาคูบา, ฮิลลาและแบกแดด ทำให้เกิดการลอบสังหารชาวอิรักที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดใหม่ไปอย่างน้อย 338 คน
คณะกรรมการสากลของสภากาชาดรายงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2004 ว่า นอกจากชาวเมืองฟัลลูจาห์จะขาดแคลนปัจจัยในการยังชีพแล้ว องค์กรทางด้านมนุษยธรรมยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปในเมือง ในโรงพยาบาลหรือในค่ายผู้ลี้ภัย อับเดล ฮามิด ซาลิม โฆษกขององค์กรกาชาดในแบกแดดบอกผู้สื่อข่าวว่า แม้การโจมตีจะผ่านไปถึงสามสัปดาห์แล้ว กองกำลังผสมของสหรัฐฯ ก็ยังไม่อนุญาตให้หน่วยบรรเทาทุกข์เข้าไปในเมือง
Louise Arbour ผู้ตรวจการใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับพลเรือนชาวอิรักที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบ และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง "การจงใจให้พลเรือนเป็นเป้าการโจมตี, การโจมตีอย่างไม่แยกแยะและเกินกว่าเหตุ, การสังหารผู้บาดเจ็บและการใช้โล่มนุษย์เป็นเป้ากำบัง"
แม้ว่าผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปทำข่าว แต่สื่อมวลชนกระแสหลักแทบไม่เอ่ยถึงประเด็นนี้เลย รวมทั้งมีรายงานข่าวน้อยมากที่ระบุถึงการโจมตีอย่างผิดศีลธรรม และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของกองกำลังสหรัฐฯ
ภาค 2 สื่อกระแสหลักเพิกเฉยต่อจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต
ในปลายเดือนตุลาคม 2004 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารด้านการแพทย์ของอังกฤษ
ระบุผลสำรวจว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 100,000 คน ถูกสังหารนับตั้งแต่กองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ
บุกอิรักในเดือนมีนาคม 2003 งานวิจัยนี้นำทีมโดย ดร. เลส โรเบิร์ตส์ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น
ฮอปกินส์
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังมีการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดี แต่หนังสือพิมพ์และรายการข่าวโทรทัศน์ในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดพร้อมใจกันเพิกเฉยไม่รายงานข่าวนี้ ในขณะที่ผลการวิจัยเป็นข่าวใหญ่พาดหัวในสื่อมวลชนนอกสหรัฐฯ เกือบทั่วโลก หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ อย่างลอสแองเจลิสไทมส์, ชิคาโกทรีบูน, นิวยอร์กไทมส์, วอชิงตันโพสต์ ฯลฯ ลงข่าวนี้ไว้ที่หน้าในเพียงสั้น ๆ ส่วนโฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเพียงว่า "เรานับแต่ตัวเลขบาดเจ็บล้มตายของทหารและพลเรือนสหรัฐฯ เท่านั้น"
3. นักข่าวต้องเผชิญอันตรายถึงชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ตามข้อมูลของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists--IFJ)
นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1980 เป็นต้นมา 2004 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับนักข่าว
ในช่วง 12 เดือน มีคนทำงานด้านสื่อถึง 129 คน ถูกฆ่าตาย และในจำนวนนี้มี 49
คน ที่ต้องเสียชีวิตในสงครามอิรัก นักข่าวจำนวนมากขึ้นถูกกักขังและข่มขู่โดยรัฐบาลชั่วคราวของสหรัฐฯ
ในอิรัก ความปลอดภัยของนักข่าวจะมีเฉพาะกับคนที่ฝังตัวไปกับกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้น
ส่วนนักข่าวที่ไม่ยอมฝังตัวไปกับกองทัพ ต้องเผชิญความเสี่ยงกับการตกเป็นเป้าโจมตี
การโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 8 เมษายน 2004 เมื่อกองพันทหารราบที่สามยิงถล่มเข้าใส่โรงแรมปาเลสไตน์ในกรุงแบกแดด ยังผลให้ช่างภาพสองคนเสียชีวิตและมีนักข่าวบาดเจ็บอีก 3 คน โรงแรมนี้เป็นศูนย์ข่าวที่มีนักข่าวและคนทำงานสื่อรวมกันประมาณ 100 คน เจ้าหน้าที่ของเพนตากอนรู้เรื่องนี้ดี และเคยรับรองก่อนหน้านี้ว่าจะไม่โจมตีอาคารหลังนี้ นักข่าวบางคนยืนยันว่า พวกเขามีการติดต่อกับทหารของกองทัพสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ด้วย
นอกจากนั้นยังมีการโจมตีนักข่าวอีกหลายครั้งในอิรัก
อาทิเช่น
22 มีนาคม 2003 นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ITN ของอังกฤษถูกสังหารระหว่างข้ามจากคูเวตเข้ามาในอิรัก
ช่างภาพชาวฝรั่งเศสและล่ามชาวเลบานอนหายสาบสูญไป
มิถุนายน 2003 หลังจากสหรัฐฯ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวในอิรักได้ไม่กี่วัน สำนักข่าวอัล-จาซีราก็ถูกกล่าวหาว่ารายงานข่าวบิดเบือน และถูกสั่งห้ามทำข่าวในอิรัก นักข่าวอัล-จาซีราคนใดที่ถูกพบว่าทำข่าวในอิรักจะถูกนำตัวไปกักขัง ช่างภาพชาวฝรั่งเศสและล่ามถูกกองทัพสหรัฐฯ คุมขังไว้ในระหว่างการโอบล้อมโจมตีเมืองฟัลลูจาห์ ต่อมาช่างภาพคนนี้ได้รับการปล่อยตัว ส่วนล่ามยังถูกกักขังต่อไป
8 เมษายน 2004 วันเดียวกับการโจมตีโรงแรมปาเลสไตน์ สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่สำนักข่าวโทรทัศน์อาบูดาบีและอัล-จาซีรา ทำให้ผู้สื่อข่าวของอัล-จาซีราเสียชีวิต
17 สิงหาคม 2004 ช่างภาพคนหนึ่งถูกทหารสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิตขณะกำลังถ่ายภาพคุกแห่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับอนุญาตแล้ว
4 มีนาคม 2005 นิโคลา คาลิปารี เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงชาวอิตาลีถูกกองทหารสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิต ขณะขับรถพานักข่าวหญิงชาวอิตาเลียน จูลีอานา สเกรนา ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากการถูกลักพาตัว ระหว่างทางไปสนามบินแบกแดด
ในทุกกรณีที่เกิดขึ้น กองทัพสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนน้อยมากและทหารที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิด
ในการอภิปรายครั้งหนึ่งระหว่างการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวของซีเอ็นเอ็น นายอีสัน จอร์แดน กล่าววิจารณ์ว่า ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ สร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อสื่อมวลชน และจงใจไม่ให้ความคุ้มครองต่อสื่อมวลชนที่ไม่ฝังตัวไปกับกองทัพ จอร์แดนกล่าวว่า เขารู้จักนักข่าว 12 คนที่ถูกกองทัพสหรัฐฯ สังหาร และถึงกับยืนยันว่า นักข่าวเหล่านี้ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างจงใจ หลังจากการอภิปรายครั้งนั้น จอร์แดนขอถอนคำพูดและถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งในซีเอ็นเอ็นที่ดำรงมาถึง 23 ปี
เพนตากอนต้องการให้นักข่าวยอมฝังตัวไปกับกองทัพ และแลกกับความปลอดภัยของตัวเองด้วยการรายงานข่าวและถ่ายภาพจากมุมมองที่เข้าข้างฝ่ายอเมริกันเท่านั้น ส่วนนักข่าวที่ไม่ยอมฝังตัวไปกับกองทัพและมองโลกด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ต้องแลกความเป็นอิสระในวิชาชีพด้วยอันตรายที่อาจถึงชีวิต
4. คำสั่งของเบรเมอร์ทำลายเกษตรกรชาวอิรัก
เกรก พาลาสต์เคยเขียนไว้ว่า รัฐบาลชั่วคราวที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้นในอิรักมีหน้าที่
"สร้างระบอบการปกครองใหม่เพื่อเก็บภาษีต่ำ ๆ ต่อธุรกิจใหญ่ ๆ และเทขาย...'กิจการของรัฐทั้งหมด'
ให้ผู้ประกอบการต่างชาติ"
ก่อนลาจากตำแหน่ง พอล เบรเมอร์ ผู้บริหารการปกครองชั่วคราวในอิรัก ลงคำสั่งทิ้งทวนไว้ถึง 100 รายการ ในจำนวนนั้นมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมอยู่ด้วย โดยเฉพาะใน "คำสั่งที่ 81" ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรชาวอิรักไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากสายพันธุ์ใหม่ที่จดสิทธิบัตรไว้ตามกฎหมายมาปลูกซ้ำได้อีก
พร้อมกับคำสั่งนี้ มีการดำเนินโครงการ "อบรมเกษตรกร" เพื่อเพิ่มผลผลิต ภายใต้โครงการราคา 107 ล้านดอลลาร์ เกษตรกรจะได้รับเครื่องมือและเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตรที่ให้ผลผลิตสูง แน่นอน วิธีนี้ย่อมทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ วิธีเพาะปลูกแบบเก่าย่อมสาบสูญไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา
ภายใต้หน้ากากของการช่วยเหลืออิรักให้พึ่งตัวเอง แท้ที่จริง สหรัฐฯ กำลังผ่าตัดระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านของอิรักทั้งหมด เพื่อแปลงให้กลายเป็นธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ตามแบบสหรัฐอเมริกา ในระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมนั้น เกษตรกรชาวอิรัก 97% ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้จากปีก่อนมาเพาะปลูก หรือไม่ก็ซื้อเมล็ดพันธุ์จากท้องถิ่น แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเกษตรทั้งหมดกำลังจะสูญหายไป และพร้อมกับเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตร ย่อมตามมาด้วยการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา แน่นอน ทั้งหมดนี้ย่อมนำเข้าจากบรรษัทข้ามชาติอย่าง มอนซานโต, คาร์กิล และดาว เคมิคัล
5. ระบบขายน้ำมันแบบใหม่ของอิหร่านสะเทือนการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์
ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักประโคมข่าวว่า อิหร่านอาจเป็นเป้าการรุกรานครั้งต่อไปของสหรัฐฯ
โดยอ้างเหตุผลถึงโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่วิลเลียม คลาร์ก
ในบทความชื่อ "Iran Next U.S. Target" ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมใน
Global Research.ca บอกว่า เหตุผลที่สหรัฐฯ ต้องการบุกอิหร่าน อาจเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอาวุธทำลายล้าง
ในช่วงกลางปี 2003 อิหร่านเริ่มขายน้ำมันเป็นเงินยูโรให้แก่สหภาพยุโรปและเอเชีย ซัดดัม ฮุสเซน ก็เคยพยายามทำแบบเดียวกันนี้ในปี 2000 และต้องเจอการลงโทษอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ เดี๋ยวนี้อิรักไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม แผนการของอิหร่านที่จะเปิดตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศเป็นเงินยูโร เป็นการคุกคามต่อการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งกว่าที่อิรักเคยทำมาก่อนมากมายนัก
ในขณะที่เงินดอลลาร์ยังเป็นเงินตรามาตรฐานในการซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ ในปี 2006 อิหร่านตั้งใจที่จะก่อตั้งตลาดค้าน้ำมันที่อำนวยการซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศกำลังพัฒนา โดยกำหนดราคาเป็นเงินยูโร หรือที่เรียกว่า "ปิโตรยูโร" นี่เท่ากับเป็นการท้าทายโดยตรงต่อการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ในตลาดน้ำมันโลก
ดังที่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เงินดอลลาร์นั้นมีค่าสูงกว่าความเป็นจริงมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะการผูกขาดความเป็น "ปิโตรดอลลาร์" ในการซื้อขายน้ำมัน ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นหนี้และขาดดุลการค้าอย่างมโหฬาร ค่าของเงินดอลลาร์จึงแข็งในลักษณะลวงตามากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น
น้ำมันส่วนใหญ่ในโลกซื้อขายกันที่ตลาดไนเม็กซ์ที่เมืองนิวยอร์ก และที่ตลาด IPE ในกรุงลอนดอน ซึ่งตลาดทั้งสองแห่งนี้เป็นของบรรษัทสัญชาติอเมริกัน การซื้อขายจึงกระทำกันเป็นเงินดอลลาร์ แผนการของอิหร่านจะเปิดทางให้มีการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกเป็นเงินยูโร ในระยะหลัง ๆ เงินยูโรค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกว่าเงินดอลลาร์ นี่อาจเป็นเหตุผลที่รัสเซีย, เวเนซุเอลา และบางประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปค แสดงความสนใจที่จะหันมาใช้ระบบปิโตรยูโรแทน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากตลาดค้าน้ำมันของอิหร่านประสบความสำเร็จ มันจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ เลิกซื้อเงินดอลลาร์มากักตุนเพื่อใช้ซื้อน้ำมัน การย้ายจากเงินดอลลาร์ไปหาเงินยูโรในตลาดน้ำมันโลกอาจทำให้ความต้องการปิโตรดอลลาร์ลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งเหวทันที และสั่นคลอนสถานภาพของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก
จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าสู่สหรัฐฯ รายใหญ่ และการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ หมายความว่า จีนกลายเป็นผู้ถือสำรองเงินตราสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (ญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งคือ 800 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจีนถือครองอยู่ 600 พันล้านดอลลาร์ ในรูปของตั๋วเงินคลัง) จีนย่อมขาดทุนมหาศาลหากยังครอบครองเงินตราของสหรัฐฯ ไว้จำนวนมาก ในกรณีที่ค่าเงินดอลลาร์ลดลงสู่ค่าเงินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่านี้
การรักษาตลาดอเมริกันเอาไว้เพื่อการส่งออก จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในนโยบายทางการเงินของจีน แต่ในขณะเดียวกัน จีนกำลังพึ่งพิงอิหร่านมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ รัฐบาลจีนระแวดระวังรักษาค่าเงินหยวนที่ผูกอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ (8.28 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์) การกำหนดค่าเงินตายตัวเช่นนี้ โดยนัยยะแล้ว เท่ากับเงินตราของทั้งสองชาติเป็นเงินสกุลเดียวกัน แต่รัฐบาลจีนก็แสดงความสนใจที่จะแยกค่าเงินหยวนออกจากเงินดอลลาร์ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงทันที มีความเป็นไปได้ที่จีนอาจชะลอการซื้อพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หากจีนไม่พอใจนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่ออิหร่าน
เราไม่อาจคาดหวังว่า สถานการณ์ที่คลอนแคลนแบบนี้จะทรงตัวอยู่ได้ตลอดไป จีนย่อมต้องหาวิธีประคองตัวไว้ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำถลำไปทางใดทางหนึ่ง หากเมื่อไรค่าเงินดอลลาร์เริ่มตกฮวบลง ปักกิ่งคงไม่ยอมถือดอลลาร์ไว้เฉย ๆ เป็นไปได้ที่จีนอาจพยายามรักษาสภาพลวงตาไว้ระยะหนึ่ง แต่นั่นขึ้นอยู่กับว่า จีนต้องการให้เป็นแบบนั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้จีนกำลังเริ่มหาทางระบายเงินทุนสำรองดอลลาร์ออกมาในตลาดโลก เพื่อซื้อน้ำมันสำรองเอาไว้ โดยเฉพาะความพยายามครั้งล่าสุดที่จะซื้อบริษัทยูโนแคลของสหรัฐฯ
สถานการณ์ที่ขัดแย้งในตัวเองตอนนี้ก็คือ ยิ่งสหรัฐฯ มีแผนการจะบุกอิหร่านมากเท่าไร ก็ยิ่งกดดันให้จีนทิ้งการสนับสนุนเงินดอลลาร์มากขึ้นเท่านั้น เพราะหากกองทัพสหรัฐฯ จู่โจมอิหร่าน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นในประชาคมโลก และเป็นไปได้ที่อาจกระตุ้นให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ จับมือกันทิ้งเงินดอลลาร์ครั้งใหญ่ เพื่อยับยั้งการทำสงครามตามอำเภอใจของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เพราะสงครามส่งผลกระทบต่อการผลิตและขนส่งน้ำมันตามปรกติในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปถึงเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมด้วย
ในทัศนะของวิลเลียม คลาร์ก หากสหรัฐฯ ตัดสินใจรุกรานอิหร่าน มันจะกลับกลายเป็นหายนะต่อเศรษฐกิจอเมริกัน เพราะในภาวะสงคราม มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่อิหร่านจะหยุดส่งออกน้ำมัน บีบให้จีนต้องทิ้งเงินดอลลาร์และหันไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นเงินยูโรแทน ยิ่งประกอบกับการผลิตน้ำมันในโลกผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว การก่อกวนใด ๆ ในระบบผลิตน้ำมันอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก แต่ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ จะไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
ในเดือนตุลาคม 2004 อิหร่านและจีนลงนามในข้อตกลงซื้อขายน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาล (70-100 พันล้านดอลลาร์) ปัจจุบัน จีนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านถึง 13% ดังนั้น หากสหรัฐฯ โจมตีอิหร่านจริง ๆ ย่อมก่อให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นวิกฤตการณ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งได้
6. ผู้ร้ายตัวจริงเบื้องหลังกลโกงในโครงการ
"น้ำมันแลกอาหาร"
สหรัฐฯ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติว่า มีการคอร์รัปชั่นในโครงการอาหารแลกน้ำมันของอิรัก
แต่ในบทความเรื่อง "The UN is Us: Exposing Saddam Hussein's silent partner"
ของจอย กอร์ดอน ที่ลงใน Harper's Magazine เมื่อเดือนธันวาคม 2004 กับ "The
oil for Food 'Scandal' is a Cynical Smokescreen' ของสกอต ริตเตอร์ จากสำนักข่าวอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษ
ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2004 กลับตีแผ่ให้เห็นว่า
การกล่าวหานั้น เป็นแค่ความพยายามที่จะกลบเกลื่อนการมีส่วนร่วมคอร์รัปชั่นของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง กอร์ดอนกล่าวว่า "ทุกวันนี้คงไม่น่าประหลาดใจนักว่า บทบาทเดียวที่สหรัฐฯ หวังให้สหประชาชาติเล่นในละครอิรักเรื่องยาวนี้ก็คือ การเป็นแพะรับบาป
จากการสืบค้นดูข้อมูลของสองนักข่าว ข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจอมปลอม การคอร์รัปชั่นในโครงการน้ำมันแลกอาหารนั้น มีอยู่อย่างมโหฬารจริง แต่หลักฐานไม่ได้ชี้นำไปหาสหประชาชาติ แต่ชี้ไปที่สหรัฐฯ เองต่างหาก เพราะในบรรดาสมาชิกสมัชชาความมั่นคงของสหประชาชาตินั้น สหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุด เป็นผู้กำหนดว่าจะจัดการกับรายได้จากน้ำมันอย่างไร นำเงินกองทุนไปใช้อะไรบ้าง ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของสาธารณชน สมัชชาความมั่นคงไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับสหประชาชาติ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มีการดำเนินงานที่เป็นอิสระจากองค์กรใหญ่ เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ เพียงแต่ปฏิบัติงานตามที่สมาชิกสมัชชากำหนดลงมาเท่านั้น
สื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐฯ อ้างว่า สหประชาชาติปล่อยให้ซัดดัม ฮุสเซนโกงเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมัน แต่ถ้าเราดูว่าใครที่เป็นคนควบคุมน้ำมันและจัดการเงินจริง ๆ ภาพที่ได้กลับแตกต่างออกไป การทำธุรกรรมทุกครั้งได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ อาทิเช่น กรณีที่บริษัทน้ำมันรัสเซียซื้อน้ำมันจากอิรัก ภายใต้โครงการนี้ในราคาถูกมาก แล้วขายในราคาตลาดให้บริษัทของสหรัฐฯ เป็นต้น มีการประเมินว่า 80% ของน้ำมันที่ลักลอบส่งออกจากอิรักอย่างผิดกฎหมายภายใต้โครงการนี้ ล้วนแล้วแต่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ทั้งสิ้น
การคอร์รัปชั่นยังทำลายความตั้งใจดีของโครงการนี้อย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ และอังกฤษใช้กลยุทธ์กดราคาให้ต่ำอย่างน่าเกลียด แทนที่จะกำหนดราคาก่อนการซื้อขายแต่ละครั้ง สองมหาอำนาจกลับไม่ยอมกำหนดราคาจนกว่าน้ำมันจะขายออกไปแล้ว มีผลให้ราคาน้ำมันในโครงการนี้ถูกไปถึง 40% เท่ากับฉ้อฉลเงินทุนที่จะนำไปใช้ในโครงการด้านมนุษยธรรมในอิรัก
การกล่าวหาสหประชาชาติเป็นแพะรับบาป เท่ากับยิงนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากกลบเกลื่อนความคดโกงของตัวเองแล้ว ยังใช้เป็นการโจมตีความน่าเชื่อถือของสหประชาชาติพร้อมกันไปด้วย รวมทั้งโจมตีนายโคฟี อันนันเป็นการส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่เลขาธิการสหประชาชาติไม่มีอำนาจที่จะสั่งห้ามหรือแก้ไขอะไรในโครงการนี้ได้เลย
7. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักเกี่ยวพันกับการว่าจ้างบริษัทเอกชนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม
รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อจัดส่งบุคคลมาทำงาน ซึ่งแต่เดิมทีเป็นหน้าที่ของบุคลากรของกองทัพ
ลูกจ้างของบริษัทเอกชนเหล่านี้ถูกส่งมาบรรจุในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พัศดี ตำรวจกองทัพ
ล่ามและนักสอบปากคำ เป็นต้น โดยเข้าทำงานตามฐานทัพสหรัฐฯ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอิรัก
เนื่องจากไม่ได้ขึ้นตรงต่อกองทัพ พนักงานเหล่านี้จึงไม่ขึ้นต่อกฎหมายของกองทัพด้วย คนเหล่านี้จำนวนมากมีประวัติโชกโชนในฐานะทหารรับจ้าง และทหารที่เคยปฏิบัติการให้รัฐบาลเผด็จการในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ในแอฟริกาใต้ ชิลีและยูโกสลาเวีย ล่าสุดมีการระบุว่า พนักงานรับจ้างจากบริษัทเอกชน มีส่วนพัวพันอย่างสำคัญในการทรมานนักโทษที่คุกอาบูกราอิบในอิรัก
เพนตากอนอ้างว่า จำเป็นต้องจ้างพนักงานจากบริษัทเอกชน ทั้งนี้เพราะจำนวนทหารประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ลดลงจาก 2.1 ล้านคน เหลือเพียง 1.4 ล้านคน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น แต่บริษัทเอกชนเหล่านี้มีความหละหลวมในการตรวจสอบประวัติของลูกจ้าง และส่งพนักงานจำนวนมากที่เคยมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทรมานและการลอบสังหาร มาทำงานให้กองทัพ
ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในการยิงต่อสู้กับทหารอิรักในปี 2004 คือ แกรี แบรนฟิลด์ เขาเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติการลับ ที่ทำงานให้รัฐบาลแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ มีภารกิจลอบสังหารสมาชิกสภาคองเกรสแห่งชาติแอฟริกันที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ น่าแปลกที่ฮาร์ทกรุ๊ป บริษัทต้นสังกัดของเขา ไม่รู้ประวัติเบื้องหลังของลูกจ้างคนนี้
บริษัทไททันมีสัญญาว่าจ้างจัดหาล่ามให้คุกอาบูกราอิบในอิรัก ผลการสอบสวนของกองทัพเกี่ยวกับการทรมานนักโทษได้ข้อสรุปว่า พนักงานของบริษัทไททันมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการทรมานผู้ถูกคุมขัง ซึ่งรวมถึงการทำร้ายร่างกายและอาจจะข่มขืนด้วย ในขณะที่ทหารอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายนักโทษ ถูกขึ้นศาลทหารและลงโทษกันไปเรียบร้อยแล้ว พนักงานจากบริษัทเอกชนเหล่านี้ยังไม่ต้องชดใช้ความผิดแต่ประการใด
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องว่างทางกฎหมาย ทหารในกองทัพอยู่ภายใต้กฎของศาลทหาร แต่พนักงานที่เพนตากอนจ้างมาถือเป็นพลเรือน จึงไม่ขึ้นต่อศาลของกองทัพ สภาคองเกรสจึงต้องปฏิบัติการวัวหายล้อมคอกด้วยการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมพนักงานบริษัทเอกชนเหล่านี้ แต่กฎหมายที่ออกมาก็ยังมีช่องโหว่ เพราะมันบังคับใช้เฉพาะพนักงานที่รับจ้างงานจากกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างของซีไอเอ อาจต้องเกิดกรณีแบบอาบูกราอิบอีกหลายครั้ง กว่าสภาคองเกรสจะล้อมคอกจนสำเร็จ
8. อีกครั้งที่ผลการเลือกตั้ง
"ที่น่าสงสัย" ไม่เป็นข่าว
นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อมานานแล้วว่า เอ็กซิทโพลล์ หรือการสำรวจผลหลังจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงออกมาจากคูหาเลือกตั้ง
เป็นการพยากรณ์ถึงผลการเลือกตั้งจริง ๆ ที่เชื่อถือได้ แต่ความแตกต่างอย่างผิดปรกติ
ระหว่างผลเอ็กซิทโพลล์และคะแนนเสียงเลือกตั้งจริง ๆ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี
2004 ทำให้ความน่าเชื่อถือนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม แม้ว่าจะมีหลักฐานจำนวนมากบ่งถึงความผิดพลาดทางด้านเทคโนโลยี
และความผิดปรกติของการนับคะแนนในรัฐที่เป็น swing state (รัฐที่ไม่ได้เป็นฐานคะแนนของพรรคใดพรรคหนึ่ง
และผลการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง) แต่ความคลาดเคลื่อนทั้งหมดนี้ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ในสื่อมวลชนกระแสหลักเลย
การนับคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งปี 2004 ระบุว่า จอร์จ ดับเบิลยู บุช ชนะด้วยคะแนนมากกว่า 3 ล้านเสียง แต่เอ็กซิทโพลล์คาดว่าจอห์น แคร์รีจะชนะด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 5 ล้าน ความคลาดเคลื่อนถึง 8 ล้านคะแนนนี้ สูงเกินกว่าจะเป็นความคลาดเคลื่อนตามปรกติ ตามสถิติแล้ว ความคลาดเคลื่อนควรมีไม่เกิน 1% แต่ผลคะแนนอย่างเป็นทางการคลาดเคลื่อนจากโพลล์มากกว่า 5% ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
ในหลาย ๆ เขตการเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงต้องเข้าแถวรอลงคะแนนถึง 3 ชั่วโมง ในบางรัฐมีเครื่องลงคะแนนถึง 77 เครื่องใช้การไม่ได้ มีเครื่องหนึ่งที่ลงผลคะแนนให้บุช 4,258 คะแนน ทั้ง ๆ ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 638 คน มีเขตการเลือกตั้งถึง 29% ที่มีเครื่องลงคะแนนน้อยกว่าในการเลือกตั้งปี 2000 ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงเพิ่มขึ้นถึง 25%
ในการเลือกตั้งปี 2000 คะแนนเสียงของชาวอเมริกันผิวดำถึง 1 ล้านคะแนนเสียงไม่ถูกเครื่องบันทึกไว้ ในปี 2004 เหตุการณ์นี้ก็เกิดซ้ำอีก จนอาจกล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกามีระบบเหยียดสีผิวในการลงคะแนน
9. สังคมสอดแนมกำลังคืบคลานเข้าสู่สหรัฐอเมริกา
วันที่ 13 ธันวาคม 2003 ประธานาธิบดีบุชลงนามในกฎหมายรัฐบัญญัติ อนุมัติการสืบราชการลับ
(Intelligence Authorization Act) เพิ่มงบประมาณแก่หน่วยงานข่าวกรอง ขยายขอบเขตในการตรวจสอบสถาบันการเงิน
และให้อำนาจเอฟบีไอในการสืบประวัติส่วนตัวของบุคคลที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาล
นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นต้นมา "บรรยากาศของความหวาดกลัว" ที่แผ่ปกคลุมสังคมอเมริกัน ทำให้รัฐบาลบุชได้โอกาสออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงขึ้นมาจำนวนมาก ในประเด็นนี้ แม้แต่สมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนก็ยังไม่สบายใจ เบตตี แมคคอลลัม ผู้แทนรัฐมินเนโซตา เคยแสดงความกังวลไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2003 เธอกล่าวว่า
กฎหมายเหล่านี้เป็นการคุกคามเสรีภาพของประชาสังคม "...ให้อำนาจเอฟบีไอในการขอดูข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ โดยไม่ต้องขออำนาจศาล รวมทั้งข้อมูลจากที่ทำการไปรษณีย์ ตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนขายรถยนต์ บริษัทเดินทางท่องเที่ยว โรงรับจำนำ และธุรกิจอื่น ๆ อีกมาก" นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลทางด้านการแพทย์ ศาล ทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ประวัติการเดินทาง การเป็นสมาชิกกลุ่มศาสนา ชื่อและที่อยู่ของสมาชิกในครอบครัว แม้กระทั่งการจับจ่ายซื้อของและประเภทหนังสือที่อ่าน
10. แผนการของสหรัฐฯ
กับแคนาดาในการผนวกรวมเขตอำนาจทางทหาร
นับตั้งแต่ก่อตั้ง NORAD (North American Aerospace Defense Command) ในปี
ค.ศ. 1958 สหรัฐฯ กับแคนาดามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติกันมาตลอด ข้อตกลงนี้จะหมดอายุลงในเดือนพฤษภาคม
2006 เพื่อเตรียมต่อสัญญาใหม่
ผู้บัญชาการกองทัพของสหรัฐฯ กับแคนาดาเสนอที่จะขยายความร่วมมือของสองประเทศให้ครอบคลุมถึงโครงการ "สตาร์วอร์ส" การรวมโครงสร้างบังคับบัญชาทางทหารข้ามประเทศ การอพยพเข้าประเทศ การบังคับใช้กฎหมายและงานข่าวกรอง โดยใช้ชื่อข้อตกลงว่า NORTHCOM แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนของแคนาดา Jean Chretien ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการนี้ แต่สหรัฐฯ กำลังหาทางตะล่อมให้แคนาดาโอนอ่อนตาม
โดนัลด์ รัมสเฟลด์ กล่าวว่า NORTHCOM จะมีเขตอำนาจทางทหารครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมไปถึงแคนาดาและเม็กซิโก บางส่วนของหมู่เกาะแคริบเบียน น่านน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกตลอดชายฝั่งของเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและแคนาดา รวมทั้งทวีปอาร์คติกที่เป็นดินแดนของแคนาดาด้วย
ภายใต้ NORTHCOM โครงสร้างบังคับบัญชาทางทหารของแคนาดา จะอยู่ภายใต้เพนตากอนและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 แคนาดามีข้อตกลงกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและมีการส่งมอบข้อมูลลับของพลเมืองแคนาดาให้สหรัฐฯ ความร่วมมือทางทหารจะทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีอำนาจเหนือดินแดนของแคนาดาด้วย
ในฝ่ายผู้นำของแคนาดาก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ระหว่างการประชุมสุดยอดนาโตในกรุงบรัสเซลส์ปีนี้ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของแคนาดา นายพอล มาร์ติน ประกาศว่า ประชาชนแคนาดาไม่ต้องการเข้าร่วมในโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธ ในขณะที่เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำสหรัฐฯ กลับกล่าวว่า "เราเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแล้ว"
ภายใต้ข้อตกลง NORTHCOM แคนาดาจะต้องยอมรับวิธีการชิงโจมตีล่วงหน้าของวอชิงตัน ซึ่งรวมถึงการใช้หัวรบนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตัว
ข้อตกลงในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้มีระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกด้วย สหรัฐฯ พยายามแผ่อิทธิพลทางทหารเข้าไปในทวีปอเมริกาใต้
11. สหรัฐฯใช้ฐานทัพอเมริกันในอเมริกาใต้เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้
สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอยู่ในเมืองมันตา ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานทัพอเมริกันสามแห่งในละตินอเมริกา
มิกูเอล โมรัน ประธานกลุ่ม Movimiento Tohalli ซึ่งต่อต้านฐานทัพอเมริกันในมันตากล่าวว่า "มันตาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติในทวีปนี้ ปราบปรามขบวนการประชาชน รวมทั้งหาทางรุกรานโคลอมเบีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา" ฐานทัพในเอกวาดอร์เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อปราบจลาจลในโคลอมเบีย สหรัฐฯ ต้องการหาทางเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในโคลอมเบียโดยตรง ทำให้ชาวเอกวาดอร์วิตกว่า สหรัฐฯ จะดึงประเทศของเขาเข้าไปพัวพันด้วย นอกจากนั้น ฐานทัพยังเป็นศูนย์กลางในการสกัดไม่ให้ชาวเอกวาดอร์อพยพเข้าสู่สหรัฐฯ ฐานทัพนี้มีสัญญาเช่าสิบปี องค์กรทางสังคมและแรงงานของชาวเอกวาดอร์จึงรวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญาเช่า
กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงในโคลอมเบีย โดยอาศัยบรรษัทเอกชนและองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปฉีดพ่นสารเคมีเพื่อทำลายไร่โคคา แต่สารเคมีนี้ยังทำลายข้าวโพด พืชไร่และธัญญาหารอื่น ๆ ที่เป็นอาหารของชาวโคลอมเบียด้วย อีกทั้งยังทำให้เด็กและผู้ใหญ่เกิดอาการภูมิแพ้ สารเคมีดังกล่าวนี้เป็นสารประกอบพื้นฐานในยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และใช้วิธีการฉีดพ่นที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหากเป็นในสหรัฐอเมริกาเองแล้ว ย่อมเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย
ในปี 2004 เพนตากอนเริ่มก่อสร้างศูนย์ส่งกำลังบำรุงอีก 3 แห่ง ในเอกวาดอร์ และให้เอฟบีไอฝึกอบรมทางทหารแก่ตำรวจเอกวาดอร์เพื่อ "ต่อต้านการก่อการร้าย" รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่โคลอมเบียเพื่อทำ "สงครามต่อต้านยาเสพย์ติด" แต่ปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้สามารถใช้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น ที่นำไปสู่การปราบปรามขบวนการประชาชนได้ ทั้ง ๆ ที่ชาวอเมริกาใต้ต่อสู้อย่างหนักมายาวนาน เพื่อไม่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในกิจการพลเรือนเหมือนในอดีต ซึ่งก่อให้เกิดภัยสยองและการกดขี่มากมายจนกลายเป็นรอยแผลในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้
กระนั้นก็ตาม การพยายามขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ หลายครั้งก็ให้ผลในทางตรงข้าม ผู้นำประเทศและประชาชนในอเมริกาใต้เริ่มแสดงเจตนารมณ์ที่จะมีอิสระในการดำเนินกิจการภายในประเทศของตนเอง และปฏิเสธการนำของสหรัฐอเมริกา แนวโน้มนี้ยิ่งเห็นชัดขึ้นเมื่อองค์การความร่วมมือของประเทศในทวีปอเมริกา (Organization of American States--OAS) ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้จัดตั้งกลไกตรวจสอบความเป็นประชาธิปไตยในทวีปอเมริกา
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
น้ำมันส่วนใหญ่ในโลกซื้อขายกันที่ตลาดไนเม็กซ์ที่เมืองนิวยอร์ก
และที่ตลาด IPE ในกรุงลอนดอน ซึ่งตลาดทั้งสองแห่งนี้เป็นของบรรษัทสัญชาติอเมริกัน
การซื้อขายจึงกระทำกันเป็นเงินดอลลาร์ แผนการของอิหร่านจะเปิดทางให้มีการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกเป็นเงินยูโร
ในระยะหลัง ๆ เงินยูโรค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกว่าเงินดอลลาร์ นี่อาจเป็นเหตุผลที่รัสเซีย,
เวเนซุเอลา และบางประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปค แสดงความสนใจที่จะหันมาใช้ระบบปิโตรยูโรแทน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากตลาดค้าน้ำมันของอิหร่านประสบความสำเร็จ มันจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น
ๆ เลิกซื้อเงินดอลลาร์มากักตุนเพื่อใช้ซื้อน้ำมัน การย้ายจากเงินดอลลาร์ไปหาเงินยูโรในตลาดน้ำมันโลกอาจทำให้ความต้องการปิโตรดอลลาร์ลดลง
ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งเหวทันที และสั่นคลอนสถานภาพของสหรัฐฯ
ในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก