นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วาระทางสังคม ร่วมกับ องค์กรกัลยาณมิตร
ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม
นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์

บทความถอดเทปชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณราณี หัสสรังสี (คณะทำงานวาระทางสังคม)
กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน
ชุด ๓ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส"
โดยเราจะเน้นหนักในประเด็นวิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดภาคใต้ของสังคมไทย

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 813
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)


ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
บทบรรยายถอดเทป โดยนักวิชาการสามท่าน

ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์)
เมื่อสักครู่นี้วิทยากรทั้งสองท่านได้ให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ในมุมกว้าง และได้ให้กรอบไว้ได้ดีมาก ผมจึงอยากที่จะสานต่อกรอบคิดนี้ จากมุมกว้างมาเป็นเรื่องใกล้ ๆ ตัว อาจารย์นิธิได้ให้ความรู้กับเราว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นการบันทึกในเรื่องราวที่มองไม่เห็นคนในท้องถิ่น นับเป็นเรื่องที่สำคัญ เราควรจะให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของคน ผมไม่อยากพูดคำว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานี ประวัติศาสตร์ยะลา ประวัติศาสตร์นราธิวาส ผมอยากที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์ของคนปัตตานี

หากเรามองดูแต่ตัวเมือง ตัวอาณาจักร มันมองไม่เห็นคน มันมองไม่เห็นการเคลื่อนไหว ขณะนี้เรายังไม่รู้จักคนปัตตานีเพราะเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ของเขา เรารู้ผ่านจากเรื่องเขตแดน การแบ่งดินแดน แต่หากถามว่าคนปัตตานีคือใคร นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ ประวัติศาสตร์ที่ผมจะพูดเป็นประวัติศาสตร์ในจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์สังคม

หัวใจของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่ที่ประวัติศาสตร์สังคม แล้วประวัติศาสตร์สังคมคงไม่สามารถก้าวเข้าไปถึงเหตุการณ์ในสมัยเมื่อ ๑๐๐ - ๒๐๐ ปี มันเป็นประวัติศาสตร์ที่สืบจากคนปัจจุบันเข้าไปหาคนในอดีตเท่าที่จะพอสืบได้ เราจะเห็นภาพได้เพียงระยะเวลา ๓ - ๔ ชั่วคนเท่านั้น โดยผ่านโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ตรงนี้ผมคิดว่าจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ปัจจุบัน เข้าใจคนและชุมชนในท้องถิ่นว่าเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีความเป็นอยู่อย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร ประวัติศาสตร์แบบนี้มันเป็นประวัติศาสตร์จากภายใน ไม่ได้มาจากภายนอก

ในทุกวันนี้เรารู้จักคนปัตตานีจากภายนอกทั้งนั้น ไม่ใช่จากภายใน เราใช้ประวัติศาสตร์จากข้างนอกมาตัดสินทั้งสิ้น ดังนั้นตรงนี้คือข้อมูลที่ขาดหายไป เพราะเราไม่ได้รับการอบรมให้เข้าหาข้อมูลวิธีนี้ ปัจจุบันที่เกิดเหตุขึ้นมานี้เพราะเราขาดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์สังคม เราจะพบว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สังคมและวัฒนธรรม เมื่อขาดการศึกษาเช่นนี้จึงทำให้ไม่เกิดความเข้าใจคนในท้องถิ่น

ตอนนี้เรามีพระราชกำหนดในการจัดการกับเหตุการณ์ร้าย เวลาเราไปสอบสวนเข้าจริง ๆ แล้ว จะพบว่าคนในท้องถิ่นดั้งเดิมเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ผู้ก่อความไม่สงบมาจากถิ่นอื่นทั้งนั้น คนในท้องถิ่นเองก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน เวลาซักถามอย่างไรก็จะได้รับคำตอบซ้ำ ๆ เช่นนี้ทุกที ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะบอกว่า ผู้ที่จะมาจัดการควบคุมผู้ก่อความไม่สงบได้ ก็มาจากถิ่นอื่นเช่นกันคือตำรวจ ทหาร ดังนั้นชาวบ้านจึงได้รับความเดือดร้อนตลอดเวลา ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเหตุการณ์ก่อการร้ายมาจากถิ่นอื่น ผู้ที่จะเข้าปราบปรามก็มาจากถิ่นอื่น เลยเกิดขบวนการจับผิดจับถูกเหมากันไป เมื่อขึ้นศาลทีไรก็ต้องปล่อยทุกที และเหตุการณ์มันก็รุนแรงขึ้นทุกวัน ตรงนี้ต่างหากคือหัวใจที่สำคัญ

เมื่อผมไปสัมผัสกับชุมชนปัตตานี เราจะได้ข้อมูลว่า ในอดีตคนในชุมชน ในหมู่บ้านเดียวกันนั้นจะรู้จักกันหมด เพราะโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนมุสลิมปัตตานีนั้นกระชับเหนียวแน่นมาก หากมีคนต่างถิ่นเข้าไปจะรู้ทันที แต่เวลานี้พวกเขากลับไม่รู้ว่าใครเป็นใครจริง ๆ เราจึงมักคิดไปว่าเขาโกหก พวกเขาจึงได้รับความเดือดร้อนจากข้อกล่าวหาที่ว่า เป็นพวกที่เข้าข้างผู้ก่อการร้าย จากสถิติการฆ่ากันตายในขณะนี้ ๘๐๐ กว่าคน นับเป็นคนมุสลิมที่ถูกฆ่าตากมากกว่าคนพุทธ คนมุสลิมถูกฆ่าตายมากกว่าตำรวจและทหาร มันได้กลายเป็นคำถามที่ต้องมาพูดถึงว่า อะไรมันเกิดขึ้นในปัตตานี

ผมอยากมองทางประวัติศาสตร์ปัตตานีว่า คนถิ่นอื่นที่เข้าไปก่อการร้ายในปัตตานีนั้นมาจากไหน เวลานี้เรามองประวัติศาสตร์ปัตตานีในรูปของ ๓ - ๔ จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ความเป็นอยู่ของคนมันไม่ได้แยกออกเป็นจังหวัด ๆ เขาแบ่งกลุ่มของเขาเป็นท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น หัวใจสำคัญอยู่ที่ท้องถิ่น เวลาเราไปสอบสวนเราจะพบว่า ท้องถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ ใน ๓ จังหวัดภาคใต้เขาไม่เหมือนกันเลย ต่างคนต่างมีวัฒนธรรมของเขาเอง มีกลุ่มของเขาเอง ถึงแม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงกันด้วยศาสนาก็ตาม

เราจะเห็นว่ามีความต่างกลุ่มกัน และกลุ่มเหล่านี้บางทีก็ไม่ได้เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะมันมีช่องว่างระหว่างวัย ผู้ที่เข้าไปก่อการร้ายเป็นเด็กหนุ่มสาวทั้งนั้น อายุจะอยู่ระหว่าง ๑๘ - ๒๕ ปี ข้อมูลที่ได้มาทุกครั้งที่มีการจับกุมจะเป็นเช่นนี้ทุกที ดังนั้นเวลาที่เราไปสอบถามเราจะพบว่ามันมีช่องว่างระหว่างวัย คนแก่เฒ่าจะไม่รู้ว่าคนหนุ่มสาวนั้นไปทำอะไรกัน เมื่อเวลาถูกจับได้หรือถูกฆ่าตายนั้น มักได้รับคำบอกเล่าว่า ทั้งหมดนั้นเป็นเด็กที่มีความประพฤติดีทั้งนั้น มันจึงกลายเป็นคำถามและปัญหาว่า มันมีอะไรที่เกิดขึ้น

ในท้องถิ่น ผมว่าท้องถิ่นปัจจุบันนี้ไม่ได้อยู่อย่างแบบเดิม ทั้ง ๓ จังหวัดภาคใต้ล้วนมีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว และความขัดแย้งที่สำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างวัย คนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างกัน ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า คนใน ๓ จังหวัดไม่พูดภาษาไทย พูดแต่ภาษายาวี เป็นการมองแบบเก่า เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันพูดภาษาไทยกันได้ทั้งนั้น ข้อมูลนี้เราต้องรับฟังเพื่อที่จะจัดการให้เกิดความถูกต้อง

เราขาดการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นมันประกอบไปด้วยท้องถิ่นต่างๆ ในเขตเมืองที่สัมพันธ์กับนิเวศน์ธรรมชาติ คนแต่ละท้องถิ่นจะรวมอยู่ในพื้นที่ทางธรรมชาติแบบเดียวกัน แม้จะมีหลายชุมชนที่ต่างกันทางชาติพันธุ์ด้วย เมื่อมาอยู่ด้วยกันจะมีกระบวนการบูรณาการทำให้คนที่มีความต่างทางชาติพันธุ์ ต่างศาสนากันกลายมาเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน เกิดเป็นความสำนึกทางชาติพันธุ์และสำนึกทางท้องถิ่น ตัวสำนึกทางท้องถิ่นคือตัวบูรณาการ

ดังนั้นในอดีตของปัตตานีนั้นมีทั้งคนจีน คนพุทธ คนมุสลิมอยู่ปะปนกัน น่าสังเกตว่าเขาอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีความขัดแย้ง เราต้องมาย้อนมาดูประวัติศาสตร์ว่าเขาอยู่กันด้วยอะไร และปัจจุบันนี้มันเป็นอะไร เมื่อเวลาเกิดเรื่องขึ้น เรามักมองว่าผู้คนเหล่านี้คือผู้ก่อการร้ายทั้งหมด ทำให้เราต้องใช้อำนาจและกำลังทหารเข้าไปปราบปราม แต่หารู้ไม่ว่าเขามีความเดือดร้อนยิ่งกว่าเรา เป็นคำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุอันนั้น เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ถึงจะรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน

โดยเหตุที่เราขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์สังคม ท้องถิ่นบางแห่งอยู่ในป่าเขา บ้างก็อยู่ในหุบเขา เขามีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง มีระบบเศรษฐกิจของเขาอีกแบบหนึ่ง แม้แต่ท้องถิ่นที่อยู่ในเขตทุ่ง เขตชายทะเล ต่างก็มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน คนเหล่านี้ต่างแยกกันอยู่ และอาจมีความขัดแย้งกัน แต่ขณะเดียวกันก็จะมีกลไกที่เชื่อมให้เขามีความสัมพันธ์กันในเรื่องศาสนาและพิธีกรรม ดังนั้นความเป็นท้องถิ่นที่อยู่ใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้นมีทั้งสัมพันธ์กันและขัดแย้งกัน แต่ที่เกิดขึ้นขณะนี้เราจะพบว่ามีความขัดแย้งภายในอยู่มาก โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าไม่สามารถควบคุมเด็กหรือลูกหลานของตนเองได้ เด็กรุ่นใหม่เองก็ได้รับแนวคิดแบบใหม่ ๆ ซึ่งอันนี้เราไม่ได้มีการศึกษาเลย เพราะฉะนั้นเวลานี้ถ้าเราจะทำอะไรลงไปควรหันกลับไปศึกษาดูเรื่องนี้ด้วย ตั้งคำถามตรงนี้ดู แล้วเราจะค้นคว้าประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่ยังไม่เห็นมีการศึกษาตรงนี้เลย

ท้องถิ่นใหญ่ ๆ ในปัตตานีนั้นต่างจากเขตมาเลย์ เพราะเขตนี้เป็นเขตสยามมลายู เขตที่ต่ำจากมาเลย์ลงไปก็เป็นเขตมลายู ประวัติศาสตร์มีชัดเจน มีข้อมูลยืนยันเมื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. ซึ่งท่านเน้นความสำคัญเรื่องประวัติศาสตร์มาก ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านได้มีโอกาสคุยกับท่านมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ท่านมหาเธร์กล่าวว่า มันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ท่านยอมรับว่า คนที่อยู่เขตปัตตานีเป็นสยามปัตตานี แต่คนทางโน้นก็เป็นมาเลย์ นี่คือข้อเท็จจริง

ดังนั้นเวลาผู้ใหญ่เขาพูดเชื่อมโยงกันอย่างนี้แสดงว่าเขาเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่คนส่วนนอกอาจมองไม่เข้าใจ มองว่ามันคนละเรื่องกัน แต่ข้อเท็จจริงนี้คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมคนสยามมลายูเวลาเดือดร้อนจึงหนีไปรัฐกลันตัน ที่หนีไปทางนี้เพราะเขามีความสัมพันธ์ทางชาติพันธ์ เขากลับไปหาพี่น้องของเขาที่จะดูแลให้ความปลอดภัยเขาได้ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ท้องถิ่นไหนเดือดร้อนก็จะอพยพไปหาท้องถิ่นอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน

อย่างในตำนานเมืองหริภุญไชยซึ่งเป็นคนมอญ ครั้งหนึ่งเมื่ออหิวาตกโรคระบาด คนหริภุญไชยจึงหนีไปอยู่เมาะตะมะ มันจะออกมาในรูปแบบนี้เสมอ ดังนั้นเรามักไปแบ่งเส้นตามฝรั่งตะวันตก เราจึงไม่เข้าใจเขา ได้แต่สงสัยกันว่า ทำไมคนจำนวนหนึ่งจึงหนีไปอยู่เขตมาเลย์ เป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นการที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติมากกว่า แต่ศักดิ์ศรีของดินแดนต่างกันนะครับ อาจารย์ชุลีพรได้พูดไว้แล้วเมื่อสักครู่ แต่ผมจะขอเสริมอีกว่า มันมีความสำคัญ เพราะเขตปัตตานีแต่เดิม มันมีศักดิ์ศรีของมัน เพราะมันเคยเป็นรัฐเก่าที่เรียกว่า " ลังกาสุกะ " มันเป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามภูมิภาค ไม่ใช่เขตชายทะเลอย่างเดียว และเป็นรัฐที่สำคัญด้วย ในระยะแรกอาจควบคู่กันกับมัชปาหิตซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของศรีวิชัย

ลังกาสุกะนี้มีความรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยนั้น ส่วนด้านที่ต่ำลงมานั้น มันไม่ใช่รัฐสำคัญ รัฐปัตตานีนี้แต่เดิมเขาก็ถือว่าเขาอยู่ในสยามประเทศ มีความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งหนึ่งเคยมีจดหมายจากเมืองจีนพูดถึงว่า จักรพรรดิ์จีนสั่งห้ามไม่ให้เสียมรังแกมาลีเออะ ซึ่งไม่น่าจะหมายถึงนครศรีธรรมราชกับปัตตานี แต่น่าจะหมายถึงเขตมะละกามากกว่า ดังนั้นหากพูดถึงเขตพื้นฐานเดิมของปัตตานีนั้นอยู่ในสยามประเทศ และคำว่าสยามปะเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นรัฐสยาม เพราะดินแดนสยามประเทศนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมาก แล้วไม่มีรัฐใดเป็นศูนย์กลางเหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์นิธิได้กล่าวไว้บ้างแล้ว

สุโขทัยก็เป็นจุดหนึ่ง อยุธยาก็เป็นจุดหนึ่ง สุพรรณภูมิ ล้านนาก็อีกจุดหนึ่ง ต่างก็เป็นอิสระในตัวเอง แต่ก็เชื่อมโยงกันในฐานะที่เป็นสยามประเทศ และเชื่อมโยงกันในเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ปัตตานีเองก็อยู่ในกลุ่มของมะโรงมหาวงศ์ซึ่งสัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช เวลาผมไปค้นคว้าข้อมูล ผมจะพบว่า คนปัตตานีจะบอกเสมอว่า เขาเป็นคนปัตตานีไม่ใช่คนมาเลย์ ดังนั้นมันมีภูมิหลังเช่นนี้

เมื่อลังกาสุกะย้ายตำแหน่ง ความเป็นปัตตานีมันจึงได้ย้ายเขตจากอำเภอยะรังหรือลังกาสุขกะเดิมมาที่ปัตตานีในปัจจุบันตรงริมอ่าว เราลองนึกภาพว่าลำน้ำปัตตานีนั้นมี ๒ สายด้วยกัน ลำน้ำปัตตานีนั้นเป็นสายยาวสายหนึ่งในเขตนี้ มีต้นน้ำอยู่ตรงเทือกเขาที่จะข้ามไปอะรอสะตา ลำน้ำนั้นผ่านจังหวัดยะลาลงมา เมื่อถึงยะรังมันจะแยกออกเป็น ๒ สาย สายหนึ่งไปออกเมืองปัตตานีในปัจจุบัน อีกสายหนึ่งออกกรือเซะเชื่อมต่อไปยังยะหริ่ง ตรงนั้นเป็นจุดเขตชายทะเลที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่เมืองย้ายจากตำแหน่งเดิมมาสู่เป็นเมืองท่า

ดังนั้นเมืองปัตตานีเองเกิดขึ้นจริงที่ตรงนี้ อยู่ใกล้กับกรือเซะและตัวกรือเซะเองก็คือมัสยิดประจำเมืองปัตตานี จึงมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก แต่คนทั่วไปไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้ เวลาที่เราพัฒนาเราไปลบเมืองเขาออก โดยเอาถนนตัดผ่านเข้าไป ความเป็นเมืองเลยพังหมดเลย ความเป็นปัตตานีจึงสิ้นไปด้วย

ต่อมาคนที่อยู่ในนั้นรุ่นใหม่ก็ผสมผสานกัน มันถึงได้เกิดตำนานเรื่องลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นมา เวลาเราพูดถึงตำนานลิ้มกอเหนียวเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้กลับเป็นเรื่องที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่โยงให้เห็นภาพของการเชื่อมเอาคนจีนกับคนมุสลิมว่ามีความสัมพันธ์กัน นักประวัติศาสตร์ส่วนกลางนั้นมักปฏิเสธว่า ตำนานเหล่านี้เชื่อไม่ได้ แต่ที่จริงตำนานเหล่านี้เป็นการสร้างขึ้นเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันหรือโต้ตอบกัน

ดังนั้นหากเรามองผ่านตำนานกรือเซะหรือลิ้มกอเหนี่ยว เราจะพบว่าปัตตานีนั้นหมายรวมเอาทั้งคนจีนและคนมุสลิมอยู่ร่วมกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีหลายเชื้อชาติทั้งพุทธ ทั้งจีน ตำนานเหล่านี้มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หากเรามัวแต่หา Origins ของมันว่าเริ่มตรงไหนถือว่าเป็นการไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งต้องผ่านตำนานเหล่านี้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ครั้งหนึ่งความขัดแย้งของคนมุสลิมกับคนจีนก็ผ่านมาในรูปของตำนานกรือเซะว่า ให้มีการยุติการสร้างตำนานกรือเซะ หากมีการสร้างอีกจะเกิดฟ้าผ่า ไฟไหม้เพื่อให้เกิดความเชื่อถือ แต่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้

เรื่องของตำนานท้องถิ่นเราจะเห็นว่ามันมีความขัดแย้งภายในอยู่ และมันมีกลไกที่จะเชื่อมโยงกันตลอดเวลา แม้กระทั่งเรื่องของคนพุทธก็เช่นกัน สมัยก่อนหากเราไปดูที่เขตโคกโพธิ์ หนองจิก ที่นั่นมี " วัดช้างไห้ " คนมุสลิมที่นั่นต่างพากันเคารพหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ เวลามีงานชักพระ คนมุสลิมเองก็ยังไปช่วยงานชักพระ เพียงแต่ไม่ได้เข้าวัดเท่านั้น เวลาคนมุสลิมมีงานอะไร คนไทยก็ไปช่วย ที่สำคัญคือทั้งคนมุสลิมและคนพุทธต่างก็มีผู้นำวัฒนธรรมที่เหมือนกันคือ มี Culture Hero เหมือนกัน

หากเราจะศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราอย่าไปมองตัวตนประวัติศาสตร์จริง ๆ แต่มองตัวตนสมมุติที่เขาถือว่าเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ ตัวอย่างตำนานเรื่องดาโต๊ะยาวที่อาจารย์นิธิเล่าถึงก็เป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เราควรต้องมองไปที่ศูนย์รวมจิตใจ มองไปที่สิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ขาดหายไป และทำให้คนมันขัดแย้งกัน

ความขัดแย้งนี้ผมคิดว่ามันเริ่มตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไปเปลี่ยนวัฒนธรรมของเขา แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนวทางจัดหลักสูตรที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาอย่างที่ไม่เข้าใจพื้นฐานการศึกษาของคนมุสลิม ในเรื่องการศึกษานั้น ศาสนาของคนมุสลิมถือเป็นวิถีชีวิต เขามีทั้งการศึกษาจากมัสยิด และจากปอเนาะ มีทั้งศึกษาทางโลกและศึกษาทางธรรมรวมอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกออกจากกัน

หากเราดูจากอุดมคติของคนมุสลิมเป็นจำนวนมากเราจะพบว่า เขาไม่ได้มองว่าชีวิตของเขาต้องการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือเป็นเศรษฐีเหมือนอย่างของเรา คนส่วนใหญ่อยากเรียนเพื่อที่จะเป็น " ช่าง " มากกว่า อุดมคติต่างกัน ดังนั้นเมื่อกระทรวงศึกษาจะเข้าไปจัดการการศึกษา เพื่อที่จะทำให้เป็นการศึกษาสามัญเป็นของรัฐ มันจึงเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เราไม่มามองปัญหาตรงนี้กันเลย เพราะสภาพแวดล้อมของเขาถูกทำลายเนื่องจากคนข้างนอกเข้าไปจัดการเขาอย่างไม่เข้าใจ มันเริ่มจากการศึกษาก่อน มันถึงได้มีปรากฏการณ์เรื่องเผาโรงเรียนขึ้นมา

นอกจากเรื่องการศึกษา ยังมีโครงการพัฒนาแบบใหม่ที่เอาลงไปใช้ วิธีการต่าง ๆ ของสภาพัฒน์นั้นได้สร้างความเสียหายอย่างมาก วิธีการของสภาพัฒน์นั้นเป็นการ Secularization โดยตรง คือการพัฒนาให้เป็นโลกวิสัยโดยที่ไม่คำนึงถึงศาสนา เราไปทำลายเขาอย่างถึงขีดสุด ชายทะเลก็ถูกยึดครอง ป่าเขาที่ชาวบ้านเคยอยู่อาศัยก็ถูกเปลี่ยนเป็นป่าสงวน และนี่คือสาเหตุอันหนึ่งที่คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ขัดแย้งกัน

เวลาเราไปถามคนรุ่นเก่า เราจะพบว่าเขาอยากมีวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ของเขา อยู่ที่นั่นและตายที่นั่น เขาจะมีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างสูง และเขาก็นิยมใช้ชีวิตแบบยั่งยืนและพอเพียงโดยยึดอาชีพประมงใช้แต่เพียงเรือกอและเท่านั้น เมื่ออุตสาหกรรมรุกเข้าไป กลายเป็นการนำเอาเรืออวนรุน อวนลากเข้าไปแย่งชาวประมงพื้นบ้านจับปลา ทำลายปลาเล็กปลาน้อยจนหมดสิ้น ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อน กลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมา คนรุ่นหนุ่มสาวเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก็รับไม่ได้ ทนไม่ไหวจึงพากันไปหากินที่มาเลเซียกันก็มาก เพราะอย่างไรก็เป็นสังคมมุสลิมเหมือนกัน คงอยู่กันอย่างเข้าใจ

ทุกวันนี้คนจากต่างถิ่นก็มาปะปนกับคนปัตตานีเป็นจำนวนมาก จึงอยู่ด้วยกันอย่างแปลกแยกกัน ไม่รู้จักกันเหมือนอย่างแต่ก่อน จึงทำให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นแยกกันออกมา ความขัดแย้งที่คนรุ่นหนุ่มสาวได้รับผลกระทบจึงกลายมาเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อการขึ้นมา

เรื่องการแบ่งแยกดินแดนนั้นมันมีมานานมากแล้ว แต่มันเริ่มมีโดยผ่านทางผู้นำเท่านั้น มันยังไม่ถึงชาวบ้าน แต่ปัจจุบันนี้มันรวมไปถึงชาวบ้านแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในสมัยก่อน ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา รัฐไทยไปแบ่งแยกดินแดนจาก ๓ จังหวัดภาคใต้มาเป็น ๗ หัวเมือง ตอนสมัยรัชกาลที่ ๑ ทำให้พวกเจ้าเมืองเองต่างทะเลาะกันเองเพราะผลประโยชน์ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการแตกแยกภายในก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เขตยะหริ่ง เขตปัตตานีต่างก็มีความแตกแยก เวลามองที่ปัตตานีอย่ามามองที่จาบังสิกออย่างเดียว ควรมองที่วังยะหริ่ง เราจะเห็นความแตกแยก

เรื่องความแตกแยกในหมู่ผู้นำหรือเจ้าเมือง ชาวบ้านไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเท่าไรนัก แต่ปัจจุบันนี้ปัญหามันได้ไปกระทบชาวบ้านแล้วเราเองก็ไม่พยายามที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราขาดการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ใกล้ตัวในระยะเวลา ๔๐ - ๕๐ ปี รวมกับการเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยขึ้นมา ผมสรุปเรื่องเหล่านี้ได้จากการที่ผมลงไปศึกษาที่ภาคใต้ ผมพบว่า

- คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ใน ๓ จังหวัดภาคใต้มีปัญหา
- เรื่องของช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ขึ้นมาที่ไม่คิดแบบเก่า ๆ
และเป็นผู้มีปมด้อย คนเหล่านี้กลับเป็นเหยื่อของการที่จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมา

เราอย่าลืมว่า รัฐเองก็มีการไปทำลายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของเขา การเอาระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมา มันไปทำลายโครงสร้างเดิมของเขา แต่เดิมมาชุมชนแต่ละแห่งของเขาจะมีองค์กรชาวบ้านที่เรียกว่า ซูรอ ในองค์กรซูรอนี้ก็จะดูแลคนในชุมชนของเขาอีกทีหนึ่ง และองค์กรซูรอจะมีโครงสร้างแบบเสมอภาค คนที่อยู่ในองค์กรนั้นอาจจะประกอบไปด้วย โต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู ผู้อาวุโส ครูสอนหนังสือ และผู้ใหญ่ต่างๆ ทุกคนต่างมีความเสมอภาคและมีการประชุมกันในมัสยิดและอยู่กันอย่างมีศีลธรรม

แต่ระบบการปกครองของเราเปลี่ยนมาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อำนาจไปอยู่ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.จนหมด เวลาผมลงไปคุยถึงปัญหา เขาจะสะท้อนว่าอยากได้ระบบเดิมกลับคืนมา เพราะเขาจะได้มาดูแลกันเองได้ เวลาชุมชนเหล่านี้ปลูกสร้างบ้าน เขาจะไม่ได้ปลูกแบบโดด ๆ มันจะเชื่อมโยงกันในท้องถิ่น ในชุมชนหนึ่งอาจจะมีเพียงชาติพันธุ์เดียว ในอีกชุมชนหนึ่งอาจจะมีหลายชาติพันธุ์ แต่ทั้งหมดนี้ก็จะถูกบูรณาการเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน ส่วนพวกผู้ใหญ่ในองค์กรจะสัมพันธ์กัน ดูแลผลประโยชน์ร่วมกัน

อย่างในเรื่องการจัดการน้ำ เมื่อท้องถิ่นหนึ่งมีการจัดการแต่ไปกระทบอีกท้องถิ่นหนึ่งทำให้เกิดความเสียหาย เขาจะมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน เขาอยู่กันแบบเข้าใจกันทั้งคนมุสลิมและคนไทยพุทธ มีกลไกที่จะขจัดความขัดแย้งกัน แต่เมื่อส่วนกลางลงไปจัดการศึกษา จัดการปกครองจึงเกิดปัญหาขึ้น และเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้าไปทำลาย

เมื่อทาง กอส. ลงไปศึกษา จะพบปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือการแย่งทรัพยากรในอ่าวปัตตานี ซึ่งทาง กอส. เองก็ได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาโดยการแนะนำและให้ข้อเท็จจริง ทำให้สามารถออกเป็นกฎหมายห้ามเรืออวนลาก อวนรุนเข้าไปทำลายสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานี รวมทั้งเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในเขตป่าด้วย จนได้รับการชมเชยจากชาวบ้าน ดังนั้นเวลาที่เราแก้ปัญหาเราต้องแก้ที่พื้นฐานตรงนี้ พัฒนาไปสู่พื้นฐานเดิมของเขา

ในขณะนี้สังคมไทยนั้นพัฒนาโดยลืมพื้นฐานเดิมของเรา แต่คนมุสลิมกลับพยายามรักษาพื้นฐานเดิมของเขาอยู่เพื่อให้เกิดดุลยภาพ ไม่ใช่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ตอนนี้ลุ่มน้ำสายบุรีถูกทำลาย อ่าวปัตตานีถูกทำลายยับเยิน ชายทะเลตั้งแต่ปานาเระจนถึงสายบุรีก็ถูกทำลายเช่นกัน แล้วเราจะให้ชาวบ้านเขาไปอยู่ที่ไหน ในเมื่อแหล่งหากินของเขาถูกทำลาย มันเกิดความขัดแย้งเช่นนี้เต็มไปหมด

และการขัดแย้งอันหนึ่งที่เกิดจากรัฐทำก็คือ ระบบการปกครอง ทำไมพวกที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจึงถูกยิง อย่างพวก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ดี เราต้องตั้งคำถามตรงนี้ และในหมู่คนมุสลิมเองก็ขัดแย้งกันด้วยผลประโยชน์ซึ่งซับซ้อนมาก แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลเลย ที่น่ากลัวที่สุดเวลาที่มีเรื่องเกิดขึ้น เราจะได้รับฟังข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์เพียงส่วนเดียว ซึ่งเป็นการโกหกคำโต ผมไม่ได้โทษนักข่าว แต่หมายถึงนักข่าวก็ได้ข่าวที่รัฐนำมาให้ทั้งสิ้น ผมอยากให้เรารับฟังความคิดเห็นของคนหลายกลุ่มบ้าง

คณะทำงาน กอส.นั้นประชุมคนทุกกลุ่ม ทั้งทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน พ่อค้า และรับฟังจากทุกฝ่าย ปรากฏว่าข้อมูลของแต่ละคนต่างก็มีอคติของเขา เพราะผลประโยชน์ของเขา แต่เราเข้าใจว่า ความขัดแย้งคืออะไร นี่คือสิ่งที่ กอส. พยายามทำ แม้แต่ตำรวจ ทหารที่ประจำการที่นั่นต่างก็ได้รับความเดือดร้อน จนกระทั่งมีนายทหารคนหนึ่งพูดบอกว่า ขณะนี้ผู้ก่อความไม่สงบเข้าถึงมวลชนแล้ว พอพูดคำว่า " เข้าถึงมวลชนแล้ว " หากผมเป็นทหารตำรวจผมจะพูดว่า " ตัวใครตัวมันแล้ว " ซึ่งผมคิดว่า ทหาร ตำรวจเวลานี้ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เดือดร้อนพอ ๆ กับคนที่ถูกฆ่าตาย เพราะเขาก็ถูกฆ่าตายเช่นกัน เขารบกับใครไม่รู้ ต่างก็ถูกยิงรายวัน นี่คือปัญหาที่ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งภายในเพียงอย่างเดียว แต่มีการโต้ตอบที่น่ากลัว

เวลาเรารับฟังข้อมูลนั้น เราจะฟังจากฝ่ายเดียวทั้งสิ้น ผมอยากจะตั้งคำถามว่า เมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอ บ้านระหานเป็นกลุ่มของคนมุสลิมหัวรุนแรงที่นั่น เกิดมีการยิงใส่โต๊ะอิหม่ามขึ้นมา คนมุสลิมบอกว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนที่บ้านตันหยงลิมอ มีการกราดยิงคนมุสลิมตายที่โรงน้ำชาก่อน คนมุสลิมก็เข้าใจว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ในที่สุดก็มีข่าวการอพยพย้ายไปมาเลเซียจำนวน ๑๓๑ คน แต่เวลาเราออกข่าว เมื่อคนที่ตายเป็นคนมุสลิม เราจะบอกว่านี่เป็นการกระทำของคนภายใน เมื่อคนที่ตายเป็นตำรวจ ทหาร ก็จะกลายเป็นวีรบุรุษไป

สังคมส่วนใหญ่ควรต้องฟังหลายฝ่าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้นั้นเป็นทฤษฏีที่เรียกว่า ข้าวยำ เพราะมันมีหลายกลุ่ม หลายเรื่อง มันเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างวัย มันเป็นเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ เราจะได้รับฟังข่าวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนนั้น ความจริงอาจเป็นเรื่องการค้ายาเสพติดก็มีอย่างมากมาย ส่วนเด็กที่ถูกชักชวนให้ก่อความรุนแรงอาจจะเป็นเหยื่อก็ได้ เพราะเรื่องยาเสพติดก็เป็นปัญหาใหญ่ และมีมากมาย รัฐบาลเองก็รู้ว่าใครเป็นหัวหน้าในการค้ายา แต่ทำไมไม่จับกุม ที่น่าเสียใจที่สุดคือทหาร ตำรวจถูกยิง ประชาชนถูกยิงทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม แล้วเราจะแก้กันอย่างไร

หากเราพยายามเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และให้แต่ละท้องถิ่นเขาจัดการกันเองอย่างมีศีลธรรมเหมือนดั้งเดิม เหมือนสมัยที่มัสยิดและปอเนาะมีความสำคัญ สังคมในปัตตานีนั้นแปลกกว่าที่อื่น คือมีบทบาทของปอเนาะมีสูงมาก ปอเนาะเป็นสถาบันรากเหง้าของเขา แต่มัสยิดเป็นโครงสร้างธรรมดาของสังคมทั่วไป เหมือนอย่างที่ชาวพุทธมีวัด ชาวคริสต์มีโบสถ์ แต่ปอเนาะมีความเป็นพิเศษและมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านอย่างมาก แล้วปอเนาะนี่เป็นแหล่งจรรโลงการนับถืออิสลามที่เคร่ง คนที่จะเป็นโต๊ะครูได้ต้องถูกยอมรับจากชาวบ้านซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราไม่ยอมเข้าใจ มักกล่าวหาว่า ปอเนาะเป็นแหล่งก่อการร้าย พอมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น ก็กล่าวหาปอเนาะเป็นผู้ก่อการทุกที เป็นเรื่องที่น่าประหลาดมาก กรรมการ กอส. เองก็มีหลายคนที่มาจากปอเนาะ ซึ่งล้วนก็เป็นคนดีทั้งนั้น และเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงเหล่านั้น

ดังนั้นการที่เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ อย่ามองประวัติศาสตร์จากข้างนอกเพียงด้านเดียว เราต้องมองประวัติศาสตร์จากข้างในที่ต้องมาจากคนข้างในจริง ๆ ที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม หลายท้องถิ่นที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ขัดแย้งกัน แต่มีกลไกที่จะเชื่อมโยงให้อยู่รวมเป็นท้องถิ่นเดียวกัน หากเราไม่เข้าใจเช่นนี้เราจะไม่รู้อะไรเลย

เวลาที่ผมเข้าไปทำงานในพื้นที่ในระยะแรก ผมคุยกับคนเฒ่าคนแก่เรื่องต่าง ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอถามเรื่องเหตุการณ์ก่อการร้าย เขากลับบอกว่า เขาไม่รู้ว่าเด็กเหล่านั้นมาจากไหน มันแสดงถึงการเกิด Generation Gap ช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้นทุกที เด็กเหล่านั้นมีวิถีคิดและมีพฤติกรรมอย่างไร มันดูเหมือนใกล้ความรุนแรงเข้าไปทุกที เมื่อเราไม่เข้าใจตรงนี้ การกระทำของเราในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกับกำลังจะไปค้น " คูโบ " ของเขา เรากำลังจะไปทำให้ศาสนาของเขาเป็นเรื่องของการเมือง

ผมคิดว่าศาสนาไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งกัน แต่เมื่อเราเข้าไปยุ่งในสถาบันที่สำคัญของมุสลิม ซึ่ง "คูโบ " ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วเราเข้าใจถึงความตายของคนมุสลิมหรือไม่ ตรงนี้ต้องระวังให้ดี เราต้องเข้าไปให้ถึงวิถีคิดของมุสลิมที่ว่า เขามีความคิดอย่างไรในเรื่องความตาย และทำไมความตายของคนมุสลิมจึงยก " จีฮาด ( Jihad ) " เป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่ก่อการร้ายแต่ละครั้ง เวลาที่เขาตาย เขาคิดว่าเขาทำจีฮาดเวลานี้มันเป็นเช่นนี้ไปทั่วโลกแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าไปก้าวก่ายกับสิ่งที่เป็นศาสนาและความเชื่อของพวกเขา ผมว่าความรุนแรงจะยิ่งมากขึ้น เพราะคนมุสลิมจะเกิดแรงผลักให้ต่อต้านมากขึ้น

ดังนั้นเวลาเราทำอะไรต้องระวังตรงนี้ เวลาเราจะทำอะไรเราไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลย เราไม่ศึกษากลุ่มคนในท้องถิ่นต่าง ๆ เราจึงไม่มีความเข้าในเรื่องวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาคนต่างถิ่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของเขา ทั้งทหาร ตำรวจ รวมทั้งย้ายคนอีสานเข้าไป มันคนละวัฒนธรรมกัน คนละภาษากัน มันมีหลายเรื่องที่ไปก้าวล่วงวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นทำไมเราไม่พยายามที่จะมามองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติใหม่ คือเสริมจากประวัติศาสตร์ที่อาจารย์นิธิและอาจารย์ชุลีพรพูด นั่นคือประวัติศาสตร์ในมุมกว้าง แต่สิ่งที่ขาดคือประวัติศาสตร์จากข้างใน และประวัติศาสตร์จากข้างใน มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ห่างไกล แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมเข้ากับปัจจุบัน กลุ่มของคนนี่สำคัญ และหัวใจที่สำคัญที่สุดคือ นิเวศน์วัฒนธรรม

ตัวอย่างคือ คนที่อยู่ในเขตอ่าวปัตตานีก็เป็นนิเวศน์วัฒนธรรมหนึ่ง คนที่อยู่หลายชุมชนในเขตรอบอ่าว ต่างใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันในการจับปลา เขารู้ว่าที่ตรงนี้มีหอย ปู ปลาชนิดไหนบ้าง แล้วเขาจะเผื่อแผ่ทรัพยากรซึ่งกันและกัน นั่นคือการปรับตัวยู่ร่วมกันของเขา มีความเป็นอยู่หลายชุมชน หลายชาติพันธ์อยู่ในพื้นที่สาธารณะเดียวกัน ล้วนใช้พื้นที่สาธารณะเดียวกันในการทำมาหากิน เขาจะมีกติการ่วมกันว่าเมื่อไหร่ควรจับมาก จับน้อย ฤดูไหนควรละเว้นการจับ

ในอดีตท้องถิ่นเข้มแข็ง คนส่วนมากจึงรู้จักกันหมด รู้ว่าใครเลวใครดี รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาสอดส่องดูแล แต่ปัจจุบันนี้ท้องถิ่นถูกทำลายมาตลอด ท้องถิ่นจึงอ่อนแอ เราต้องแก้ปัญหาที่ตรงนี้ ส่วนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาที่ลงไปใช้กับท้องถิ่นนั้นมันใช้ไม่ได้เลย เราต้องสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา วิธีการที่ถูกต้องคนท้องถิ่นเองต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง โดยการร่วมมือของคนในท้องถิ่นที่จะสร้างเป็นองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมา และถ่ายทอดให้เด็กรับรู้ ปัจจุบันนี้เราเอาครูจากที่อื่นมาสอนเด็กในท้องถิ่น การเรียนรู้จึงมาจากคนข้างนอกที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น

การที่มีครูเป็นคนท้องถิ่นนั้นสำคัญมาก เพราะว่า หนึ่งในผู้ที่มีความสำคัญขององค์กรชาวบ้านก็คือครู หากครูไม่มีสำนึกท้องถิ่น เราก็ทำอะไรลำบาก การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มันไม่ใช่โดยการผ่านการเรียนในห้อง เป็นการผ่านการเรียนเป็นกลุ่มโดยเชื่อมโยงด้วยกันเองจากประสบการณ์ เราต้องรื้อฟื้นการเรียนเช่นนี้ขึ้นมา การที่เราจะจัดการเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มันจำเป็นต้องมองให้เห็นชัด ต้องมองให้เห็นระบบนิเวศน์วัฒนธรรมแต่ละแห่งว่า เขาอยู่รวมกันอย่างไรได้หลายชุมชน หลายชาติพันธ์ เกิดความสำนึกร่วมในท้องถิ่นอย่างไร เขาแบ่งปันการใช้ทรัพยากรกันอย่างไร มีจารีตประเพณีและข้อห้ามกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือเกราะที่คุ้มกันของเขา แล้วเขาก็จะสามารถจัดการกับคนที่ไม่ดีในท้องถิ่นได้ เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้คนที่มาสร้างความเดือดร้อนคือคนจากถิ่นอื่นทั้งสิ้น

ผมจึงจากย้ำว่า เวลาที่เรามองประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราต้องมองจากข้างในออกมา รับฟัง เราจึงจะเข้าใจ หากเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาหลาย ๆ อย่าง สำหรับผมเองได้หันมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยนับถือคนในท้องถิ่นเป็นครู ในท้องถิ่นเองก็มีภูมิปัญญาและสติปัญญาของเขาเอง เราเรียนรู้จากเขา เราก็จะได้ความรู้อย่างใหม่กลับออกมา จึงเห็นเป็นอย่างยิ่งว่า มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ และที่สำคัญคือเราต้องเคารพและคารวะคนในท้องถิ่นกันบ้าง เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันเหมือนกันหมด

ประมวล เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ดำเนินรายการ)
ขอขอบคุณอาจารย์ศรีศักรมากครับที่ให้ความรู้กับเรา ต่อไปนี้เป็นการเปิดเวทีให้กับผู้มาเข้าร่วมเสวนาทุกท่านให้แสดงความคิดเห็น

ผู้ร่วมเสวนา
ผมเป็นคนอีสาน เป็นคนลาวยโสธร ได้รับความช้ำใจจากการถูกดูแคลนว่าเป็นคนลาวมาตลอด แต่พวกผมได้ทำกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นมา เพื่อบอกว่า เราไม่ต้องการเอาคนอีสานทั้งหมดนี้ไปขึ้นต่อเมืองลาว เรายังมีสำนึกของความเป็นรัฐไทย เป็นสยามประเทศอย่างเหนียวแน่น ไม่ต้องการแบ่งแยก แต่ปัตตานีกลับบอกอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการเป็นอิสระอย่างชัดเจน กรรมการ กอส.รู้ดีที่สุด และดูเหมือนว่าสนับสนุนความคิดนี้ด้วย แล้วเราจะไปสมานฉันท์กับใคร ส่วนทหาร ตำรวจที่รักชาติบ้านเมืองกลับโดนฆ่าตายทุกวัน ผมไม่เห็น กอส. แสดงความรู้สึกอะไรขึ้นมา มีแต่จะคอยหยิบเรื่องเหตุการณ์ตากใบมาพูด ตอกย้ำว่าคนที่ตายเป็นคนมุสลิม แล้วเช่นนี้คนมุสลิมก็อาจเกิดความแค้น การสมานฉันท์ก็คงไม่มี กอส.ไม่ยอมพูดความจริง ผมไม่เห็นว่าได้ทำอะไรให้บ้านเมืองเลย มีแต่จะไปวิ่งหาแต่ประเทศมาเลเซีย นี่คือความบกพร่องของ กอส.

และสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด ผมว่าพวกนักวิชาการเหล่านั้น เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าคำว่า " สันติ " มาใช้อย่างผิด ๆ คำว่าสันติในความหมายของพุทธศาสนานั้นหมายถึงว่า สันติของคนดี แต่ท่านไม่ได้ให้สันติกับโจร ไม่ได้ให้อภัยกับโจร ท่านยังแบ่งคนเป็น ๔ กลุ่มคือ ดอกบัว ๔ เหล่าซึ่งผมไม่ต้องอธิบายมาก ในดอกบัวเหล่าสุดท้าย ท่านก็ปล่อยให้เป็นผักเหยื่อปลาไป แม้พระสงฆ์ที่ปาราชิก ท่านยังไม่ให้เข้าร่วมโบสถ์ด้วยเลย แต่พวกเราไม่เช่นนั้น เมื่อเขายิงมา เรายังมานอบน้อมเขาอีก อย่างนี้ก็มีแต่จะตายกันเท่านั้นเอง

ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์)
นี่คือการสมานฉันท์อย่างหนึ่ง เพราะได้มีโอกาสพูดคุยแสดงความคิดเห็น คุณอานันท์ ปันยารชุนท่านใช้วิธีนี้ คือรับฟังผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับท่าน กรรมการ กอส. ทุกคนรับฟังอันนี้ เพื่อที่จะรู้ว่า ทุกคนมีความคิดอย่างไร หลังจากนั้นจึงค่อยเอามาประสานกันว่าจะยุติสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร กรรมการสมานฉันท์ทุกคนไม่ต้องการเผชิญหน้า แล้วกรรมการสมานฉันท์เองก็ไม่มีอำนาจในการจะไปยุติปัญหา กรรมการสมานฉันท์ ต้องการหาความกระจ่างจากคนทุกหลาย ๆ ฝ่ายเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสยามประเทศ นี่คือสิ่งที่เป็นกรรมการสมานฉันท์

ดังนั้นที่ท่านกล่าวมานั้น ผมดีใจ อย่างน้อยสิ่งที่ท่านพูดออกมานั้นทำให้เรารู้ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ เราควรมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อจะอยู่ร่วมกัน หากเราใช้วิธีต่อสู้กันด้วยปืนเพียงอย่างเดียว เรื่องมากมายจะเกิดขึ้น ที่แล้ว ๆ มาในโลกนี้มันไม่มีอะไรที่แก้ไขได้หมดทุกอย่าง เราต้องหันมาพูดความจริงที่เป็นอคติในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง นี่คือเรื่องที่สำคัญ การแสดงความเห็นใจของผมนั้นไม่ได้แสดงออกเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น ผมเองก็มีความเห็นใจในทหาร ตำรวจที่ต้องตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ ผมเห็นใจที่เขาต้องต่อสู้กับผู้ก่อการที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นใคร

ท่านเห็นเหตุการณ์ "ไมราย" ที่เกิดขึ้นไหม (เหตุการณ์ไมรายคือ เหตุการณ์ในสมัยสงครามเวียดนาม ไมรายเป็นชื่อหมู่บ้านที่ถูกทหารอเมริกันทิ้งระเบิดนาปาล์มลงไป ทำให้ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องตายเป็นจำนวนมาก-อธิบายเพิ่มเติม) ทหารอเมริกันยิงชาวเวียดนามตาย เพราะเขาอยู่ในภาวะ "Panic" คือความกลัว ทหารก็คนเหมือนกัน มีความกลัวเหมือนอย่างเรา ทหารต้องสู้กับใครที่ไม่รู้ตัวเลย มาจากไหนก็ไม่รู้ พอจนมุมเข้าก็ยิงกราดเลย

ตรงนี้คือความเดือดร้อน หากพูดอะไรที่ไม่ดีลงไป มันอันตรายมาก สิ่งที่ กอส. พูดก็เพื่อรักษาคนที่อยู่ในประเทศของเรา ผู้ก่อร้ายนั้น เราต้องจัดการให้ได้ แต่อย่าไปเหมาว่าเป็นคนมุสลิมทั้งหมด ผมอยากจะเรียกร้องในนามของกรรมการ กอส. เพื่อต้องการให้ทุกคนทำความเข้าใจว่า ในประเทศที่เราอยู่กันนี้ เรามีความหลากหลายทั้งชาติพันธ์และศาสนา เราเคยอยู่ร่วมกันมานาน การขัดแย้งนี้เราต้องรับฟังซึ่งกันและกัน เราจะทำอย่างไรให้คนในชาติมองอย่างเข้าใจว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว ต้องใช้กำลังจัดการเท่านั้น ตราบใดที่เราสร้างความเข้าใจให้คนในชาติไม่ได้ อันตรายจะเกิดขึ้น เหตุการณ์มันจะลุกลามมากเข้าไปอีก

อยากจะถามว่า การก่อการร้ายทั้งหมดใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้นเป็น "Terrorism" ที่น่ากลัวหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การะเบิดที่ยะลานั้นคนตายไม่มากนัก ซึ่งผิดกับการระเบิดในที่อื่นที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก การระเบิดแบบนั้น เราพอจะมองออกได้ว่าเขาต้องการจะต่อรองอะไรบางอย่าง เราต้องเข้าใจตรงนี้ และถ้าหากว่า การก่อการร้ายรุนแรงแบบนี้มันขยายตัวอออกจากเขตปัตตานีมาถึงกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯจะว่าอย่างไร

ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับอะไรก็ไม่รู้ อย่าให้เหตุการณ์เช่นนี้มันขยายออกไป เราต้องรีบขจัดเสียตรงนี้ ผมเชื่อว่า คนปัตตานีทั้ง ๓ จังหวัดนั้นไม่ต้องการแยกตนเองออกจากราชอาณาจักรไทย การที่ท่านอนันต์ไปคุยกับท่านมหาเธร์ ยังได้รับทราบมาว่า ท่านมหาเธร์ยังบอกว่า ดินแดนนี้เรียกว่า "สยามปัตตานี" คำว่า "สยาม" เราต้องเข้าใจว่า หมายถึงดินแดนที่คนหลายกลุ่ม หลายเหล่าอยู่ร่วมกัน แล้วมาเปลี่ยนเมื่อรัฐอยุธยาเป็นศูนย์กลางจึงเรียกว่า "รัฐสยาม" คนปัตตานีเองนับถือในสยามที่มีมานานแล้ว และเขาก็ไม่ใช่คนมาเลย์ เขามีศักดิ์ศรีของเขา

ปัตตานีเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง ในระยะแรกพุทธเข้ามา ฮินดูเข้ามา แล้วมาเป็นมหายาน ร่วมเป็นสมาพันธรัฐกับศรีวิชัย ตอนหลังจึงมาเป็นมุสลิม คนหลายกลุ่มหลั่งไหลเข้ามา เราต้องทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ว่าให้ความกระจ่างอะไรกับเราบ้างเพื่อที่จะหาข้อยุติ เพราะมิฉะนั้นแล้วมันก็จะเกิดความขัดแย้ง ผมมีความกลัวอย่างหนึ่งก็คือ ทหาร ตำรวจที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยไม่เข้าใจ

ผมชอบใจคำพูดของพลโทไวพจน์ ศรีนวล ท่านกล่าวว่า "บัดนี้ผู้ก่อความไม่สงบได้เข้าถึงมวลชนแล้ว" เมื่อเข้าถึงมวลชน ตำรวจ ทหารทุกคนรู้ดีว่า "เราจะรบกับใคร" วิธีที่ดีที่สุดคือ ผลักดันให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง แล้วเราเป็นผู้คอยหนุนช่วย ท้องถิ่นจะจัดการกันเองว่า คนไหนดี คนไหนเลว ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ หากเรายังไม่ทำตรงนี้ การแก้ปัญหาย่อมไม่มีทางเป็นไปได้

ผู้ร่วมเสวนา
ผมเป็นคนปัตตานี และเกิดที่วังยะหริ่งที่ท่านอาจารย์ศรีศักรได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่ ผมขอทำความเข้าใจสั้น ๆ ว่า ในเรื่องเหตุการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเราจะเอาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ที่เรายังไม่เกิดนั้นมาพูดกัน ผมว่ามันไม่ใช่โลกที่แท้จริง เรามาจากประวัติศาสตร์ที่เราเกิดแล้ว เราควรเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยท่านหะยีสุหลง เหตุการณ์ตรงนั้นเป็นความรู้สึกที่ชัดเจน เราจะทราบถึงความรู้สึกของคนใต้ว่า เขาคิดอย่างไร

ผมขอสมมุติว่า ผมเป็นข้าราชการตำรวจ เป็นชาวไทยพุทธ แต่ไปรับราชการที่ไม่ใช่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วผมไปวิสามัญฆาตกรรมใครสักคนหนึ่ง ความรู้สึกที่เขาเคืองแค้นเจ็บใจผมก็คือ พ่อ แม่ พี่น้อง และมิตรสหายของคนที่ตาย ในทางกลับกัน หากผมไปรับราชการที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผมเป็นคนไทยพุทธ แล้วผมไปยิงคนมุสลิมสักคนหนึ่งตายไป ความรู้สึกเจ็บปวดและคลั่งแค้นจะไม่เฉพาะพ่อแม่ญาติพี่น้องเท่านั้น แต่จะกลายเป็นความแค้นของคนมุสลิมทั้งหมด

ในกำปงนั้น ในท้องที่นั้น ถ้าเขารู้เรื่องที่ผมยิงคนมุสลิมตาย มันจะเจ็บปวดไปถึงขั้นที่ เขาจะช่วยกันป่าวร้องกันว่า " อาแวซีแยเป็นคนทำ " อาแวซีแยก็หมายถึงคนสยาม มหาเธร์ท่านก็เรียกว่า " ซีแย " ไม่ใช่สยาม คำว่าคนสยามเขาจะเรียกว่า อาแวซีแย หรือ ออรังซีแย เมื่อกล่าวคำว่า "อาแวซีแยยิงมุสลิมตาย " มันสะท้อนถึงความคิดแบ่งแยกเช่นนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว

ท่านหะยีสุหรงได้เสนอข้อเรียกร้องซึ่งถ้ารัฐบาลสมัยนั้นเปิดใจกว้างสักนิด พร้อมที่จะรับข้อเสนอนั้น แต่ในสมัยท่านเผ่า ศรียานนท์ ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับไม่สนใจข้อเสนอนั้น ทั้งยังนำท่านไปถ่วงทะเลจนตาย ในความรู้สึกของชาวบ้านครั้งนั้นย่อมรับไม่ได้ ท่านหะยีสุหรงเองท่านก็เป็นถึงโต๊ะครู มีลูกศิษย์ที่นับถือท่านมากมาย ทายาทของท่านก็มี เพื่อนพ้องท่านก็มาก จึงก่อให้เกิดการตั้งขบวนการ BRN , พูโล ต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อที่จะนำสิ่งที่เขาต้องการมาสู่ดินแดนภาคใต้ หรือมิฉะนั้นก็ไปอยู่กับมาเลเซียเลย

สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดนี้ ผมอยากเรียกว่ามันเป็นโรคมะเร็งมาช้านานแล้ว และมันก็เกิดมาเรื่อย ๆ ทุกรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่บางทีก็แก้แบบว่า ดึงเอามวลชนเข้ามา โดยออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้เข้ามามอบตัว ในไม่ช้าเหตุการณ์ก็ค่อยสงบลงเรื่อย ๆ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกิดขึ้น อยากจะเรียกว่าโรคเอดส์

ผมขออธิบายให้ทราบถึงข้อสงสัยในความหมายของ " โต๊ะครู " ต้องมีปอเนาะถึงจะเป็นโต๊ะครูได้ สถาปนาตนเองเป็นโต๊ะครู ทำหน้าที่สอนศาสนา โต๊ะครูคู่กับปอเนาะ ส่วนโต๊ะอิหม่ามคู่กับมัสยิด โต๊ะอิหม่ามเลือกโดยมะมุง คือได้รับเลือกโดยคนที่ไปละหมาด เมื่อตั้งมัสยิดขึ้นมา ชาวบ้านละแวกนั้นจะพากันช่วยเลือกผู้ที่จะเป็นโต๊ะอิหม่ามขึ้นมา ซึ่งเมื่อได้รับเลือก โต๊ะอิหม่ามต้องไปจดทะเบียนที่กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น ๆ

สำหรับกรณีของโต๊ะครู ต้องมีปอเนาะ ปอเนาะในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ต่างได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย สมัยก่อนตอนผมเด็ก ๆ เวลามีการนำหนังกลางแปลงไปฉาย จะต้องมีการพากย์เป็นภาษายาวี มิฉะนั้นไม่มีคนดู สินค้าที่นำมาขายก็ขายไม่ออก การศึกษาสมัยนั้นยังไม่เหมือนปัจจุบัน คนที่อายุ ๕๐ ปีขึ้นไปนั้นจะฟังภาษาไทยได้ แต่พูดไม่ได้ แต่เด็กสมัยนี้พูดภาษาไทยกันทั้งนั้น ดังนั้นคำว่าปอเนาะจึงมีอิทธิพลต่อชาวบ้านเป็นส่วนมาก

หากเราจะเรียนหนังสือในปอเนาะ เขาจะมีบ้านหลังเล็ก ๆ ให้เด็กที่มาเรียนได้พักอาศัย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชาย ไม่มีผู้หญิง สิ่งที่เขาเรียนกันก็มี ศาสนา ภาษายาวี คัมภีร์อัลกุรอาน เท่านั้นเอง ปัจจุบันปอเนาะได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีการเรียนภาษาไทยโดยครูคนไทย ดังนั้นผมอยากให้เข้าใจตรงนี้ว่า โรงเรียนปอเนาะกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามันต่างกัน อยากให้เข้าใจตรงนี้ด้วย

ส่วนเรื่องงผ้าฮิยาบ ในสมัยที่ผมเด็ก ๆ ผมก็ไม่เห็นพี่ ป้า น้า อาของผมคนไหนใส่กัน เวลาจะออกจากบ้านหรือออกตลาดก็เพียงแต่ใช้ผ้าคลุมศีรษะเท่านั้นเอง ฮิยาบเกิดขึ้นเมื่อสมัยที่โคไมนีปฏิวัติพระเจ้าชาร์แห่งอิหร่านออกไป แล้วโคไมนีพยายามที่จะสร้างศาสนาอิสลามขึ้นมาโดยใช้กฎกติกาของอัลกุรอาน ผมจำได้ว่า ทางโคไมนียังได้เชิญ " ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย " ให้ไปรับทราบและช่วยเผยแพร่การใส่ฮิยาบด้วย

สิ่งนี้เกิดขึ้นในจังหวัดของผมเป็นคนแรก โดยเผยแพร่ตามโรงเรียนปอเนาะต่าง ๆ โต๊ะครูเองก็บังคับให้เด็กใส่ฮิยาบตราบวันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ จึงกลายเป็นว่า การใส่ฮิยาบเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา อาศัยตามความมีในข้อบัญญัติของศาสนา ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนไม่ได้เคร่งเหมือนปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสมัยก่อนครั้งหนึ่งถึงกับระบุว่า หากคนมุสลิมจะรับราชการ จะใส่ฮิยาบไม่ได้ จึงมีปัญหาถกเถียงกัน ทาง ส.ส. เองก็พยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว จึงสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง

ส่วนเรื่องเรืออวนลากอวนรุนนั้น ก็เป็นตัวปัญหาที่สำคัญที่ทำให้พวกเราต้องไปทำงานที่มาเลเซีย เบื้องหลังของปัญหาก็คือ การทุจริต การคอรัปชั่น นายทุนที่ใช้อวนรุนนั้น ในความเป็นจริงก็มีกฎหมายอยู่แล้วว่า ห้ามอวนรุนมาหากินภายในชายฝั่งภายในระยะ ๕ กิโลเมตร แต่ว่าตำรวจน้ำที่รับเงินจากนายทุนมาก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องการละเมิดกฎนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินที่นั่นได้ จึงต้องอพยพไปหากินที่มาเลเซีย

ส่วนเรื่องทหารที่มาประจำการจากภายนอกนั้นก็มีส่วน รัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาโดยเอาทหารที่ไม่รู้ประเพณีและวัฒนธรรมของพวกเขามาดูแลเขา ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง มีนายทหารท่านหนึ่ง จริง ๆ แล้วท่านปรารถนาดีนะครับ ต้องการจะทำปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ ต้องการไปทำความรู้จักกับโต๊ะครูปอเนาะ ท่านก็เดินเข้าไปในปอเนาะโดยมีทหารนับสิบคนเดินเข้าไป ทั้งยังช่วยกันถ่ายรูปและสัมภาษณ์โต๊ะครูซึ่งท่านก็พูดภาษาไทยไม่เป็น อีกทั้งยังถ่ายรูปท่านและสัมภาษณ์ท่าน โต๊ะครูปอเนาะท่านนั้นจึงเกิดความระแวง เวลาทหารเขาไปเฝ้าที่ตลาดนัด เวลาที่เห็นคนสวมฮิยาบก็แปลกใจ จึงมองด้วยสายตาแปลก ๆ คนที่สวมฮิยาบก็มองทหารด้วยความระแวง จึงเป็นความที่ต่างคนต่างระแวงกันขึ้นมา

ผู้ร่วมเสวนา
เรื่อง ๓ จังหวัดภาคใต้นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนมุสลิมเองนั้นไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ยิ่งรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเข้าไปด้วย และทาง กอส. เองก็ยิ่งทำให้เกิดความยั่วยุและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เวลานี้พระราชกำหนดนั้นใกล้หมดอายุแล้วเห็นว่าจะขอต่ออายุอีก ดิฉันอยากเห็นว่าหากต่อ พรก. ต่ออีก ๓ เดือน แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ท่านนายก ฯ จะกล้าลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ เป็นเวลานานเป็นปี ๆ แล้วนะค่ะแต่เรายังแก้ปัญหาไม่ได้เลย ดิฉันสงสารและเห็นใจคนทางภาคใต้อย่างมาก คนบริสุทธ์ต้องตายเป็นจำนวนมาก ดิฉันอยากเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นสักที ดิฉันอยากเปรียบเทียบว่า เวลานี้ทาง ๓ จังหวัดภาคใต้เหมือนพฤษภาทมิฬกราย ๆ ค่ะ

ผู้ร่วมเสวนา
ดิฉันอยากขออนุญาตยกประเด็นเรื่องสื่อสักนิดหนึ่ง เพื่อขอชวนให้ที่ประชุมนี้ได้ช่วยกันคิดและช่วยกันทำด้วย เรามีอารมณ์ของสังคมของคนจำนวนหนึ่ง ปรากฏการณ์ของอารมณ์แบบนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง หากเรามองอย่างแท้จริงแล้วมันมีกระบวนการก่อเกิดของมัน ทั้งวิธีการที่คนเข้าไป Post แสดงความคิดเห็นตาม สื่อเสรี ตาม Website ต่าง ๆ อารมณ์ที่เห็นมันจะออกมาเป็นในลักษณะที่ไม่พอใจ โกรธแค้น แม้กระทั่งในสื่อทีวี เวลาที่มีการตั้งหัวข้อแสดงความคิดเห็นผ่าน SMS มันมีส่วนในการช่วยกระพือโหมอารมณ์แบบที่มันสุดกู่โดยไม่ยั้งคิดนั้นเยอะมาก

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า เราละเลยเรื่องสื่อเกินไปหรือไม่ กรรมการ กอส. ก็มักจะย้ำแต่จุดยืนที่ว่า ต้องการทำความจริงให้ปรากฏ แต่การทำความจริงให้ปรากฏบางทีก็ต้องการเครื่องมือที่จะสื่อสารถึงสาธารณะเข้าถึงประชาชนอีกจำนวนมาก เหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว ดิฉันเพิ่งเริ่มเห็นศูนย์ข่าวอิศราเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนนี่เอง ( www.Tjanews.org ) ซึ่งเป็นของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่พยายามที่จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งดิฉันก็ยังเห็นว่ามันเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์และบรรยากาศบางอย่าง ชีวิตและความทุกข์ ความสูญเสียของผู้คนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ที่เป็นจริงนั้นไม่เคยโผล่มาในสื่อระดับชาติ ให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง

ในขณะที่เราไม่มีพื้นที่ที่จะสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ประกอบกับตัวปัญหามันสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ข่าวที่มันปรากฏมาสู่การรับรู้ของคนในสังคมนั้น มันถูกเหลาให้บางลง ถูกลดทอนความจริงอันซับซ้อน เหลือเพียงแค่ตัวปรากฏการณ์เช่นว่า มันเกิดอะไรขึ้นในการฆ่านาวิกโยธิน เราลองสังเกตดูว่า วิธีการนำเสนอข่าวเหล่านี้ผ่านสื่อโดยเฉพาะ "โทรทัศน์" มันให้สีสันเหมือนเรากำลังดูหนังฆาตกรรมที่สะเทือนอารมณ์ มันชักจูงอารมณ์ มันโน้มน้าวความคิดของคนในสังคมไปหมดเลย

ดังนั้นคำถามที่ดิฉันทิ้งค้างอยู่ก็คือว่า "ทำอย่างไรที่เราจะขยายพื้นที่ที่เราจะสื่อสารข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนแบบนี้ออกไป โดยที่ไม่ได้ถูกเหลาให้บางลงเหลือเพียงแค่สีสันของปรากฏการณ์เท่านั้น ดิฉันอยากเพ่งเล็งผลกระทบเหล่านี้ไปที่สื่อโทรทัศน์โดยตรง และมีคำถามฝากถึง กอส. ด้วยว่า ก่อนที่ท่านจะสลายองค์กรลงใน ๒ - ๓ เดือนข้างหน้า ร่างแรงงานที่ท่านทำออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง ทำอย่างไรในเบื้องต้นที่จะ Educate สื่อมวลชน ทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อมวลชนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งในความซับซ้อนของปัญหาทั้งหมดนั้น และถ้าจะย่อย ก็สามารถย่อยให้มันถูก ไม่ใช่ย่อยข่าวจนไม่เหลืออะไรได้เรียนรู้อีกเลย ดิฉันอยากให้ กอส. ช่วยทำงานกับสื่อมวลชนหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อโทรทัศน์"

ผู้ร่วมเสวนา
ผมขอเรียนถามว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ภาคใต้นั้น มีองค์การก่อการร้ายสากลเข้ามาสนับสนุนหรือไม่ ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและการเงิน องค์การก่อการร้ายสากลได้แก่ นายโอซามา บินลาดิน ซึ่งเอาคนไปฝึกแล้วก็ส่งคนเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งสนับสนุนด้านการเงินด้วย

ประการแรก ผมอยากทราบว่าได้มามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ภาคใต้หรือไม่. ประการที่สอง ก่อนที่อาฟกานิสถานจะถูกอเมริกันทิ้งระเบิด คนไทยอิสลามก็เข้าไปเรียนศาสนาอิสลามที่นั่นก็หลายคน เมื่อเรียนจบก็เดินทางกลับประเทศไทย ผมอยากถามว่า คนเหล่านี้ทำอะไรอยู่ที่ภาคใต้. ประการที่สาม กรรมการ กอส. โดยท่านอานันท์ ปันยารชุนก็บอกว่าจะสมานฉันท์อย่างไรก็ตาม แต่ที่ผมเห็นคือ คนใน กอส. คนหนึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในเชิงสนับสนุนผู้ก่อการร้ายภาคใต้ จนกระทั่งชาวพุทธในปัตตานีโดยท่านเจ้าคณะจังหวัดถึงได้ออกมาพูดว่า ให้ยุบ กอส. เสีย ผมจึงฝากคำถามนี้ไปด้วย

อีกประการหนึ่งก็คือว่า การที่ท่านนายกฯไม่ยุบ กอส. เพราะเกรงว่า จะมีการให้สัมภาษณ์ตำหนิรัฐบาลตลอดเวลา และอีกอย่างก็คือ เหตุการณ์ในภาคใต้มีทางที่จะยุติไหม แล้วทำอย่างไรถึงจะให้ยุติได้ มีข้อเสนอจากบุคคลต่าง ๆ รวมทั้ง กอส.ก็มีข้อเสนอ แต่ท่านนายกฯ กลับไม่นำไปปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย

ผู้ร่วมเสวนา
ดิฉันเป็นมุสลิมชาวกรุงเทพฯที่ได้รับผลกระทบจากสื่อพอสมควร ดิฉันเห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาท่านนั้นที่กล่าวเรื่อง " สื่อ " ขึ้นมา จากสื่อที่ได้ออกข่าว หรือนำเสนอข่าวที่ดิฉันอยากเรียกว่า ข่าวจัดตั้ง ตรงนี้ ทำให้เมื่อเราชาวมุสลิมเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น ๆ พี่น้องชาวพุทธและท่านอื่น ๆ ก็จะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนมุสลิมถึงชอบความรุนแรง จริง ๆ แล้วเราจะเห็นว่าความชั่วความดีนั้นมีอยู่ทุกสังคม ทุกศาสนา อยากให้ทุกคนรู้จักแยกแยะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าความดีหรือไม่ อิสลามก็ไม่ได้สอนให้เกิดความชั่วร้าย แต่คนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เกิดความคิดชั่วร้ายขึ้น จึงอยากขอร้องทุกท่านว่า อย่าได้เหมารวมว่า คนมุสลิมทั้งหมดเป็นอย่างนั้น

ดิฉันอยากขอขอบคุณท่านอาจารย์วิทยากรที่ได้ทำงานและมานำเสนอว่า ข้อเท็จจริงเช่นนั้นคืออะไร ดิฉันทำงานกับกลุ่มสตรีอาสาสมัครที่ได้สัมผัสกับสตรีมุสลิมทั้งภาคใต้และภาคอื่น ๆ และสตรีในภาคใต้ที่เป็นมุสลิมและพุทธ ได้รับทราบจากการที่เราจัดสัมมนาให้เขาว่า ทั้งพุทธทั้งมุสลิมใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น เขาอยู่กันอย่างสงบสุขจากภายใน

ดิฉันอยากฝากถึงรัฐบาลว่า การที่จะนำการพัฒนานำความเจริญเข้าไปสู่ท้องถิ่นของเขา เราได้ศึกษาความต้องการของเขาตามความเป็นจริงหรือไม่ ความเจริญที่จะนำไปให้เขานั้นเป็นความเจริญที่รัฐบาลต้องการเห็น Maga Project ใหญ่ ๆที่ไปแย่งพื้นทำกินของเขาหรือไม่ เขาเกิดความเดือดร้อน เขาบอกอย่างเป็นเอกฉันท์กันเลยว่า ความเจริญที่รัฐบาลนำเข้าไปนั้น เขาเกิดความเดือดร้อน เขาชอบที่จะอยู่อย่างสงบสุขและประกอบอาชีพหากินแบบพอเพียงมากกว่า แต่ความเจริญเหล่านั้นกำลังที่จะเข้าไปทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขา

ลูกหลานของเขากำลังติดเกมส์ ติดคาราโอเกะ เข้าคลับ เข้าบาร์ ซึ่งเขาไม่ประสงค์หรือปรารถนาแม้แต่น้อย เหล่านี้มันเชื่อมโยงถึงระบบการศึกษาซึ่งดิฉันเองก็เป็นครู มันเชื่อมโยงถึงระบบการศึกษาว่า การศึกษาในภาคใต้นั้น แต่เดิมมาทำไมประชาชนมุสลิมส่วนหนึ่งไม่เรียนในโรงเรียนสามัญของรัฐบาล แต่กลับไปเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ก็เพราะว่ากิจกรรมในโรงเรียนสามัญของรัฐบาลนั้นมันขัดแย้งกับวัฒนธรรมความเชื่อ มันก่อให้เกิดความหวาดระแวงเกรงว่าลูกหลานของเขากำลังจะถูกทำลายในสังคม
ขณะนี้มันก็เริ่มเป็นจริงแล้ว เราจะพบว่ามันเกิด "ช่องว่างระหว่างวัย" จริง ผู้ใหญ่ไม่รู้เลยว่าเด็กนั้นทำอะไรกันอยู่ เพราะว่ามันเกิดแรงจูงหรือแรงผลักดันจากสังคมและการศึกษา ท้ายสุดดิฉันอยากฝากว่า ถึงแม้ดิฉันจะไม่ใช่มุสลิมที่ภาคใต้ แต่ก็เข้าใจคนข้างใน และก็เกิดความเข้าใจคนข้างนอกด้วยว่า พวกเขาเกิดความหวาดระแวง

เราเองที่รับสื่ออยู่ข้างนอกหากเราไม่สัมผัสกับคนที่อยู่ข้างในจริง ๆ เราก็ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไร ชักสับสนกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น แต่จากการที่เราได้สื่อสารได้สัมผัสกับคนที่อยู่ข้างในจริง ๆ ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมและหลาย ๆ ฝ่ายทั้งทหารและตำรวจรวมทั้งองค์กรอิสระบางองค์กรบางพื้นที่ ซึ่งเราได้ช่วยเข้าไปจัดการอบรมเพื่อที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของชาวมุสลิม เพื่อที่จะได้นำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ถูกต้องก็มี ต่างก็พยายามที่จะเข้าใจพร้อมที่จะทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หากเราพยายามทำความเข้าใจจากข้างใน ให้คนที่อยู่ข้างในเขามองกันเอง แล้วเราก็เพียงแต่ไปดูว่า เขาจะทำอะไร แล้วเราก็เป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลังในการหนุนช่วยหรือสนับสนุนส่งเสริมให้ มันน่าจะดีกว่าที่เราเอาอะไรจากข้างนอกที่เขาไม่พึงประสงค์เข้าไป

ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์)
การที่ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นกันมานี้ ประเด็นที่สำคัญคือเรื่อง "สื่อ" ทุกวันนี้ข้อมูลที่ออกไปมันเป็นเพียงด้านเดียว ซึ่งสื่อให้มหาชนและสังคมในชาตินั้นรับข้อมูลด้านเดียว มันเป็นเรื่องอันตรายมาก แต่ว่าเป็นการยากที่จะจัดการตรงนี้ เพราะมันถูกครอบงำโดยส่วนกลาง แต่ว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ เราก็ยังพอมีอยู่บ้าง โดยการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ และเราต้องช่วยกันจัดตามที่ต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยหลายอย่างที่ทำเรื่องท้องถิ่นนั้น ต้องร่วมกันจัดเวทีแบบนี้ โดยเอาคนหลากหลายกลุ่มรวมทั้งคนในพื้นที่ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยมาร่วมพูดคุยกัน

เราต้องร่วมรับฟังกันเพื่อที่จะได้ช่วยดูว่าจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร มิฉะนั้นหากปล่อยให้มีการเข้าใจผิดโดยไม่มีการพูดคุยกัน อาจถึงขั้นใช้ความรุนแรงกันก็ได้ อย่าให้เกิดการเผชิญหน้าแล้วฆ่ากันตายโดยไม่พูดคุยสร้างความเข้าใจกันก่อน ดังนั้นเราต้องช่วยกันให้มีเวทีเช่นนี้กันมาก ๆ และช่วยกันแพร่ความคิดเห็นเหล่านี้ออกไป เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น นี่ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญซึ่งที่ผ่านมาในหลาย ๆ ฝ่ายไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน เราเผชิญหน้าแต่สิ่งเหล่านี้กันมามาก

สิ่งที่ กอส. พยายามจะทำก็คือ การที่จะพยายามที่จะแยกการให้สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มโทรทัศน์ กลุ่มหนังสือพิมพ์ กลุ่มนิตยสาร เป็นกลุ่ม ๆ เพื่อทำความเข้าใจ แต่เมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เพราะว่าไม่มีพลังพอที่จะจัดการสิ่งเหล่านั้นได้ ดังนั้นเราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อที่จะช่วยกัน มิฉะนั้นแล้วอันตรายมันจะเกิดขึ้น

หากเรามองข้ามเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้ออกไป เราจะมองเห็นปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่อง " การแย่งทรัพยากร " ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากเพราะมันเป็นปัญหาไปทั่วราชอาณาจักร ผมลองมาว่า การเกิดความขัดแย้งที่ภาคใต้ที่เกิดจากการแย่งทรัพยากรจนเกิดความรุนแรง เกิด Generation Gap ไปทั่ว แล้วทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องก่อปัญหาความรุนแรงขึ้นนั้น นับเป็นนิมิตใหม่ที่แสดงถึงความรัก ความหวงแหนธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่แห่งอื่น ๆ ทรัพยากรถูกทำลายมากกว่านี้อีก แต่ชาวบ้านกลับไม่มีหนทางได้ต่อสู้แสดงความรู้สึกออกมา

ยกตัวอย่างในเขตภาคใต้ด้วยกัน ในฝั่งที่เป็นสึนามิในฟากอันดามัน พวกชาวเลถูกแย่งทรัพยากรยับเยิน ไม่มีที่อยู่อาศัย เงินที่ส่วนกลางช่วยส่งไปไม่เคยถึงชาวบ้านเลย แม้กระทั่งหลุมศพของคนชาวเลยังถูกแย่งที่เลย มันเป็นเช่นนี้ไปทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งภาคอีสานด้วย การแย่งทรัพยากรจากทุนนิยมนี้เป็นไปอย่างมากมายเหลือเกิน ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจเรื่อง " วิกฤตทรัพยากร " วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศชาติจะยิ่งมีมากกว่านี้อีก

ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้เท่านั้น เวลานี้เรากำลังเผชิญวิกฤตเหล่านี้ร่วมกัน มองเหตุการณ์อันนี้เป็นเหตุการณ์ที่จะร่วมกันแก้วิกฤตเหล่านี้อย่างไร จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมคิดว่า ควรที่จะจัดเป็นวาระแห่งชาติในเรื่องของการแย่งทรัพยากร แล้วเอา " กรณีศึกษาเรื่องภาคใต้ " มาวิเคราะห์ หากเราแก้ปัญหาเรื่องการแย่งทรัพยากรโดยคนข้างนอก มันจะนำไปสู่สิ่งที่เป็นเบสิค และนำไปสู่สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านกล่าวเรื่อง " เศรษฐกิจแบบพอเพียง " ได้

ชุลีพร วิรุณหะ (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ตามความคิดเห็นของดิฉันเอง การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มันทำให้เกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง แต่รัฐชาติเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันสลายไม่ได้ มันรื้อออกไม่ได้ รัฐชาติรื้อไม่ได้ฉันใด ความรู้สึกของคนในท้องถิ่นก็สลายไม่ได้ฉันนั้น ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้ามาคุยกัน นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากฝากข้อคิด

ในฐานะของนักประวัติศาสตร์นั้น ดิฉันไม่ได้คิดว่า เราควรต้องย้อนกลับเข้าไปในอดีต เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหวนย้อนกลับคืน เราเพียงแต่มามองกันว่า ทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้ หากเรามองตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เวลาแก้ปัญหาก็มักจะมองที่ " ผู้นำ " ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คนธรรมดาทุกคนจะต้องยื่นมือเข้าหากัน เราต้องแสดงความรู้สึกของตนเองออกไป ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องเปิดใจให้กว้างในการรับฟังปัญหาร่วมกัน

เราต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราจะรอให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแก้ปัญหาฝ่ายเดียวคงไม่ไหว เราต้องเอามวลชนกับมวลชนมาพูดกันเอง เปิดหนทางให้มวลชนกับมวลชนได้พูดกันเองให้ได้มากที่สุด อาจจะพอมีหนทางที่จะทำอะไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีการทะเลาะกันก่อนระหว่างมวลชน แต่หากเราพยายามพูดคุยกันไปนาน ๆ เข้า ในที่สุดมวลชนกับมวลชนก็จะพบว่า ตนเองอาจจะมีปัญหาคล้าย ๆ กัน

ประมวล เพ็งจันทร์ (ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ดำเนินรายการ)

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ผมคงต้องกราบขอประทานอภัยและต้องขอโทษท่านเป็นอย่างยิ่งในนามของผู้จัด ที่ไม่สามารถจัดสรรเวลาให้ทุกท่านได้พูดตามที่ต้องการ มีหลายท่านมาร่วมงานเสวนาที่นี่เพื่อหวังแสดงความคิดเห็น แต่เนื่องจากเวลาเรามีจำกัด ในฐานะที่ผมเป็นผู้กำกับเวทีและในนามของผู้จัดต้องกราบขอประทานอภัยด้วย

สำหรับประเด็นต่างที่ทุกคนร่วมกันเสนอ ผมคงไม่ต้องสรุปแล้ว เมื่อท่านผู้มีเกียรติท่านหนึ่งมีการนำเสนอประเด็นขัดแย้งกับ กอส. แต่ท่านอาจารย์ศรีศักรซึ่งเป็น กอส. ท่านหนึ่งกลับสงบเย็นนิ่ง และกล่าวตอบอารมณ์ที่นุ่มนวลอย่างเป็นมิตร ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศหนึ่งของสังคมไทย ในสังคมไทยเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องช่วยกันแก้ไข

วันนี้เรามาเรียนรู้ร่วมกัน และสิ่งที่เป็นความรู้ในวันนี้จะแบ่งปันให้กับทุกท่านที่แม้จะไม่ได้มาในวันนี้ และขอให้ช่วยกันกระจายวงเสวนาแบบนี้ออกไป ด้วยภาระที่สร้างสันติสุขให้กับสังคมไทยนั้น คงไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง พวกเราทุกคนในที่นี้ วันนี้ได้มาช่วยกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ด้วยการเริ่มต้นเรียนรู้ร่วมกันในสิ่งที่ตั้งชื่อว่า " ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส " ผมในนามของผู้จัดขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน และขอยุติเวทีเพียงแค่นี้และขอกราบขอบพระคุณครับ

 




 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
250149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
เราไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลย เราไม่ศึกษากลุ่มคนในท้องถิ่นต่าง ๆ เราจึงไม่มีความเข้าในเรื่องวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาคนต่างถิ่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของเขา ทั้งทหาร ตำรวจ รวมทั้งย้ายคนอีสานเข้าไป มันคนละวัฒนธรรมกัน คนละภาษากัน มันมีหลายเรื่องที่ไปก้าวล่วงวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นทำไมเราไม่พยายามที่จะมามองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติใหม่ คือเสริมจากประวัติศาสตร์ที่อาจารย์นิธิและอาจารย์ชุลีพรพูด นั่นคือประวัติศาสตร์ในมุมกว้าง แต่สิ่งที่ขาดคือประวัติศาสตร์จากข้างใน และประวัติศาสตร์จากข้างใน มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ห่างไกล แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมเข้ากับปัจจุบัน กลุ่มของคนนี่สำคัญ และหัวใจที่สำคัญที่สุดคือ นิเวศน์วัฒนธรรม