นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

บันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชนอีสาน
ชีวประวัติเตียง ศิริขันธ์
และขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน

ธันวา ใจเที่ยง : เขียน
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
ครูเตียง ศิริขันธ์ : ผู้ขันอาสาเพื่อแผ่นดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อและจิตวิญญาณ
เขียนโดย ธันวา ใจเที่ยง
โครงการศึกษานิเวศวิทยาชาวนา ๒ ฝั่งโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 810
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)


ครูเตียง ศิริขันธ์
ผู้ขันอาสาเพื่อแผ่นดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อและจิตวิญญาณ

หมายเหตุนำเรื่อง :
อ.ธันวา ใจเที่ยง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เขียนขึ้นเพื่อรำลึกครูเตียง พิมพ์ครั้งแรกในวารสารลำน้ำโขง ปีที่ 2 ฉบับที่ 17 ธันวาคม 2543 เรื่อง "ครูเตียง นักสู้จากภูพาน" ในขณะที่เป็นอาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏนครพนม ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเตียง ศิริขันธ์ ไม่มากนัก แต่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้นำแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ผู้จากไป จากไปอย่างยากลำบาก

ต่อมาเมื่อได้มาร่วมเป็นวิทยากรในงาน 60 ปี วันสันติภาพ และ 40 ปี วันเสียงปืนแตก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในวันที่ 28 ธันวาคม 2548 และได้รับเอกสารจาก ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ จึงได้ปรับและเขียนขึ้นใหม่อีกรอบ (8-9 มกราคม 2549) เพื่อเชิดชูเกียรติ คนดีศรีอีสาน แห่งสกลนคร สนับสนุนให้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเสรีไทย เทือกเขาภูพาน สกลนคร ขอบคุณอาจารย์ปรีชาและคณะ อย่างยิ่ง

เริ่มเรื่อง
ร้อยดาวร้อยเดือนมา ร้อยดวงมาเรียงเป็นวง ร้อยใจสายใยยาวภูเกี่ยวดาวมาไว้ดิน
ชาวนาผู้ขมขื่นเขาหยัดยืนขึ้นถือธง คือคนคงคู่คนเปล่งเสียงสู่เหนือภูพาน
คือผู้ที่อยู่ป่าเป็นแนวหน้ากลางป่าเขา คือดาวที่วาวเงาอันทอดดวงเพื่อปวงชน..
(คนภูเขา,วิสา คัญทัพ ในเทปแสดงสดคาราวาน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๗)

ย้อนหลังเมื่อราว 70 ปีที่แล้ว
การที่ครูหนุ่มจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ต้องลาออกจากอาชีพการเป็นพ่อพิมพ์ของชาติด้วยวัยเพียง 25 ปี เพื่อลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรทางตรงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ก็ด้วยความคับแค้นใจในความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำกันในสังคมอีสานในขณะนั้น โดยเฉพาะการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องขึ้นศาล ด้วยวัยเพียงเบญจเพศ เพียงเพราะในระยะนั้นมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีคนแอบชักธงรูปฆ้อนเคียวขึ้นสู่ยอดเสาของโรงเรียนเสียเท่านั้น

การที่เขาตัดสินใจลงสมัครเป็นผู้แทนที่บ้านเกิด ที่สกลนคร จึงเกิดจากแรงจูงใจ แรงจูงใจที่หากเป็นเพียงชาวนา เพียงชาวบ้านธรรมดา มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ กล่าวหาตลอด แม้แต่ตัวเขาเองที่ขนาดเป็นถึงผู้ช่วยครูใหญ่ จบการศึกษาสูง ยังถูกยัดข้อหา เขาหวังว่าการได้เป็นผู้แทน จะมีส่วนในการเข้าไปร่วมออกกฎหมายและผลักดันนโยบาย สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะให้กับประชาชนอีสาน หลังพ้นมลทิน จากข้อกล่าวหาดังกล่าว

เตียง ศิริขันธ์
เตียง ศิริขันธ์ คือ ผู้ที่ข้าพเจ้าได้หยิบยกเอามากล่าวถึงในที่นี้ ในสารเล็กๆแบบนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติ ของสามัญชนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนโดยเฉพาะชาวอีสาน ครูเตียง หรือ นายเตียง ศิริขันธ์ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ของชาวอีสานแห่งลุ่มแม่น้ำโขง เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ถนนมรรคาลัย ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 6 ของ นางอ้ม ศิริขันธ์และนายบุดดี ศิริขันธ์ (ขุนนิเทศพาณิช) หรือชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า "นายฮ้อยบุดดี" เพราะเป็นนายฮ้อยยุคค้าควายไทย-พม่า ซึ่งเป็นตำนานของนายฮ้อยทมิฬแห่งภาคอีสานผู้หนึ่ง บิดามีเชื้อสายลาวญ้อมาจากทางฝั่งเมืองมหาชัยก่องแก้ว ที่อยู่ลึกห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงจากท่าแขก ไปประมาณ 50 กิโลเมตร เช่นเดียวกับกลุ่มเจ้าเมือง (พระยาประจันตประเทศธานี) ผู้นำและคนรุ่นเก่าในเขตเมืองสกลนคร

นายเตียง เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล และจบการศึกษาสูงสุดระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชั้นสูงที่สุดในขณะนั้น ในปี 2473 ขณะที่มีอายุ 22 ปี ท่านเป็นนิสิตจุฬาฯรุ่นเดียวกันกับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร(1) หลังจากจบการศึกษาได้มาเป็นครูที่โรงเรียนหอวัง ก่อนที่ครูเตียงจะย้ายกลับอีสานมาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี กล่าวกันว่าต่อมา ที่นี่มีลูกศิษย์ได้ดำเนินรอยตามครูเตียง เป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพแห่งภาคอีสานและของประเทศหลายท่านอย่าง แคล้ว นรปติ (สว.ขอนแก่น) พ.อ สมคิด ศรีสังคม (สว.อุดรธานี)(2) เป็นต้น

ครูเตียง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2480 ด้วยวัยเพียง 27 ปี และได้ร่วมทำงานกับผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานที่มีแนวทางหรืออุดมการณ์เพื่อคนยากจน หลายๆคน เช่น นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) หรือเราคุ้นกันในนามของ "สี่รัฐมนตรีอีสาน"หรือ"ขุนพลอีสาน" และถือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากส่วนภูมิภาคที่โดดเด่นที่สุด ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้กับคนทุกข์ยาก เคียงบ่าเคียงไหล่ ท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และผู้ก่อตั้งคณะราษฎร

เตียง ศิริขันธ์และมิตรสหาย ยังได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า "พรรคสหชีพ". "พรรคสหชีพ" เป็นพรรคการเมืองแรกๆที่มีนโยบายเพื่อเกษตรกรและคนทุกข์ยากในสังคมไทย เพราะเบื้องหลังการเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของกลุ่มแกนนำเหล่านี้ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายอำนาจและรายได้ไปสู่ประชาชนระดับล่างให้มากที่สุด โดยเฉพาะหัวเมืองที่ถูกหยามเหยียดหมิ่นแคลนขณะนั้นอย่างอีสาน ซึ่งมีแนวทางใกล้เคียงกับ "พรรคแนวรัฐธรรมนูญ" ที่มี ท่านปรีดี พนมยงค์ "รัฐบุรุษอาวุโส" เป็นแกนนำ

ฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มของนายเตียง จึงพยายามนำเสนอแนวคิดกระจายความเจริญ-การพัฒนาไปสู่สังคมส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะผู้คนห่างไกลในต่างจังหวัด และมักอภิปรายโจมตีนโยบายการบริหารประเทศของผู้นำทหารที่มักจัดสรรงบประมาณให้กองทัพมากเกินไป แทนที่จะกระจายออกไปสู่งานการศึกษาและงานพัฒนาด้านอื่นๆในชนบท ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มผู้นำทหารตลอดเวลา

การเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยุคนั้น หาได้ใช้เงินซื้อเสียง เหมือนนักการเมืองยุคปัจจุบันไม่ มิหนำซ้ำในระหว่างไปหาเสียง ชาวบ้านกลับเป็นฝ่ายดูแลผู้สมัคร โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ให้กับประชาชน เมื่อปิดประชุม นายเตียง เดินทางกลับสกลนคร ไปร่วมกับชาวบ้านทำถนน ทำฝาย บ่อน้ำ จนชาวสกลนครในยุคนั้นได้พูดถึงกันติดปากว่า ถนนนายเตียง ฝายนายเตียง สะท้อนการเอาใจใส่ลงมือทำกับชาวบ้าน

ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงนายเตียง ตอนหนึ่งความว่า "บุคคลที่มีความสุจริต จริงใจ และบากบั่นในการทำหน้าที่ของตนนั้น เป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรเป็นผู้แทนราษฎรอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ข้าพเจ้าได้พบคุณสมบัติสาระสำคัญนี้ใน เตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนของชาวสกลนคร"(3)

รวมไปถึงอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ผู้ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ ครูแห่งวิทยาลัยครูเพชรบุรีพิทยาลงกรณ์ ศิษย์เก่ารุ่นน้องหลายปี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ของนายเตียง เคยทำงานร่วมด้วย และเป็นผู้เก็บต้นฉบับเอกสารทางวิชาการชิ้นสำคัญของประเทศไทย "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ของจิตร ก่อนที่จิตร ภูมิศักดิ์ (4) จะตายจากไปที่ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อต้นปี 2509 ก็ได้กล่าวถึงครูเตียงว่า "ในจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด…เตียง ศิริขันธ์ เป็นบุคคลที่ดี ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน เตียง ศิริขันธ์ เป็นนักรัฐธรรมนูญที่แท้จริง เขาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรชาวสยาม สมหน้าที่โดยสมบูรณ์" (5)

นอกจากการทำงานของพรรคสหชีพของกลุ่มนายเตียงและแนวรัฐธรรมนูญของท่านปรีดี จะมีแนวทางที่ใกล้เคียงและทำงานร่วมกันตลอดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ปรีดี กับนายเตียงเปรียบเหมือนครูกับลูกศิษย์ นายเตียงให้ความเคารพและนับถือท่านปรีดียิ่ง นายเตียงจะเรียกท่านปรีดีว่า "อาจารย์" หรือ "ท่านอาจารย์" ทุกคำ(6)

ดังนั้นระยะต่อมา หลังการบุกยึดประเทศไทยของทหารญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2484 ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะนั้น ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นแบบลับๆ เตียง ศิริขันธ์ ทราบแผนการนั้นแต่แรก เขาและกลุ่มเพื่อน ส.ส.อีสาน ในฐานะเป็นผู้นำประชาชนระดับล่างในภาคอีสานได้รับผิดชอบการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในภาคอีสานขึ้น ซึ่ง นับว่าเป็นขบวนการเสรีไทยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธ ลักษณะกองโจร โดยเฉพาะในแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร อันเป็นจุดแรก

เนื่องจากแถบเทือกเขา ภูพาน มีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เพราะเป็นป่า มีเงื้อมผาและซอกถ้ำไว้ซ่อนกายและเก็บอาวุธ เสบียง ในการเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยมีเตียง ศิริขันธ์ เป็นแม่ทัพ (กองทัพพลเรือน,ท.พ.ร.) ซึ่งมีกองกำลังพลเรือนประมาณกว่าหมื่นคน โดยส่วนใหญ่เป็นครูประชาบาลและชาวนา รวมไปถึง ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เคารพและศรัทธาต่อนายเตียง ที่ยินดีมาร่วมภารกิจกู้ชาติ โดยที่มิได้ค่าจ้างตอบแทน หรือเข็มกล้าหาญ เป็นชาวนาชนบทจนๆ เมื่อเสร็จนา พากันมาร่วมฝึกเป็นทหารเสรีไทยลับๆ อยู่ปลายนา ชายป่า ภายใต้การนำของนายเตียง ศิริขันธ์, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ, เป็นต้น

รวมไปถึงแกนนำคนสำคัญอย่าง นายสวัสดิ์และนายสวาสดิ์ ตราชู, นายสนิท ประสิทธิ์พันธุ์, นายถวิล สุนทรศาลทูล, นายครอง จันดาวงศ์, และทหารฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างพันตรีบาทหลวงฮอลิเดย์ ชาวอเมริกา, พันตรีเดวิด สไมเลย์ ชาวอังกฤษ, โดยอาศัยทุนสำหรับการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งจากการเสียสละส่วนตัวของนายเตียง และภรรยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนายสวาสดิ์และนายสวัสดิ์ ตราชู ผู้ทุ่มเทและเสียสละต่อขบวนการเสรีไทยมากตระกูลหนึ่ง รวมไปถึงเสบียงอาหารจากพี่น้องชาวนาในชนบทภาคอีสาน

มีการจัดตั้งฐานที่มั่นครั้งแรก ในเขตหมู่บ้านโนนหอม บ้านชาวผู้ไท ห่างตัวเมืองสกลนครไปราว 15 กิโลเมตร ออกไปทางจังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ.2485 นอกจากนี้ยังมีค่ายเสรีไทยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆในเขตป่าและบริเวณเทือกเขาภูพานในจังหวัดสกลนคร เช่น ค่ายดานนกยูง บ้านเต่างอย, ค่ายดงพระเจ้า, ค่ายบ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน, ค่ายบ้านตาดภูวงศ์ อำเภอวาริชภูมิ, ค่ายบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย, ค่ายบ้านภูสระคาม อำเภอวานรนิวาส, รวมไปถึงค่ายบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม, อันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และคณะศิษย์กว่า 30 รูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือด้วย และนายเตียง เองเคยเข้าไปกราบท่าน

นอกจากนี้นายเตียง ยังมีบทบาทนำในการจัดให้มีค่ายเสรีไทยอื่นๆกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน เช่น ที่นครพนม มหาสารคาม หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี และยังเป็นผู้นำในการสร้างสนามบินเสรีไทย ลับๆ ในเขต บ้านตาดภูวงศ์ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร และ บ้านนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อขนอาวุธของฝ่ายสัมพันธมิตร ไว้สำหรับการฝึกและเตรียมรบกับญี่ปุ่น

นายเตียง ศิริขันธ์ หรือ ชื่อลับ "พลูโต" ได้กล่าวต้อนรับมิตรสหาย ที่เดินทางเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ที่ค่ายลับแห่งหนึ่งแถบดงพระเจ้า สว่างแดนดิน ตอนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของพลพรรคเสรีไทย ประชาชนแห่งเทือกเขาภูพานว่า

"ยินดีต้อนรับพวกเธอทุกคนเข้าสู่ขบวนการ เราทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าขณะนี้โลกของเรากำลังทำสงครามกันเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอักษะกับฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายอักษะนั้นมีเยอรมันนี อิตาลี และญี่ปุ่น ฝ่ายสัมพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย และจีน ขณะนี้ฝ่ายอักษะกำลังจะแพ้สงคราม อิตาลียอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตร
ไปเรียบร้อยแล้ว...ไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเราก็ไม่พ้นถูกยึดครอง ท่าน "รูธ"(7) หัวหน้าใหญ่ของขบวนการของเราท่านเล็งเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อร่วมมือกับอังกฤษและอเมริกา เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพสู้กับฝ่ายพันธมิตร

ฉันได้รับบัญชาจากท่านรูธ หัวหน้าของขบวนการเสรีไทยที่รักชาติ ให้มารวบรวมพลพรรคเสรีไทยที่รักชาติ ทำการฝึกอาวุธเตรียมไว้สำหรับการขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นประเทศไทย ...บัดนี้พวกเธอทั้งหลายคงรู้แล้วสิว่า เรามาที่นี่เพื่ออะไร ขบวนการของเราต้องการผู้รักชาติมาร่วมกันทำงาน เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นภัย…(8)

นายเตียง ศิริขันธ์ ได้ฝึกนักรบเสรีไทยแบบกองโจร เพื่อพร้อมรบในวันดีเดย์หรือวันยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างนั้นนายเตียงได้เดินทางไปรับอาวุธของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆเพื่อเตรียมพร้อมรบ ที่ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับนายกฤษณ์ โตษยานนท์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายวิสุทธิ์ บุษยกุล, ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ยังส่งอาวุธและเวชภัณฑ์ ให้กับเสรีไทยอีสาน ตามป่าบนเทือกเขาภูพานหลายครั้ง แต่การรบยังมิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงคราม ก่อนที่จะถึงวันดีเดย์ เมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ในปี พ.ศ.2488

พลพรรคเสรีไทยจากภูพาน ได้เดินทางปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่นที่นครพนม และได้ร่วมเดินทางไปเข้าร่วมงานพิธีสวนสนามที่กรุงเทพฯจากท้องสนามหลวง ผ่านอนุสารีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของพลพรรคเสรีไทย ที่ร่วมรบกับทางฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้มีหลักฐานอ้างอิงที่ประเทศไทยจะไม่เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ที่จะต้องจ่ายค่าเสียหายมหาศาลจากสงครามในฐานะผู้แพ้สงคราม รวมไปถึงอาจถูกแบ่งเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้ อย่างเกาหลี แม้ทางรัฐบาลทหารของจอมพล ป. จะประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตร หรืออยู่ฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นก็ตาม

ท่านปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศสันติภาพและถือว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นการกระทำอันผิดไปจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฏหมายบ้านเมือง ถือว่าเป็นโมฆะไม่ผูกพันต่อประชาชนชาวไทย(9)

ภารกิจกู้ชาติคราวนั้นเตียง ศิริขันธ์ และผู้นำอีสานล้วนมีส่วนสำคัญยิ่ง ตั้งแต่คราวแรกๆ ที่เป็นผู้นำสำคัญในการต่อต้านญี่ปุ่น ที่เรียกว่า "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ก่อนที่จะมีการตั้งขบวนการเสรีไทย แม้ปฏิบัติการของพลพรรคเสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพานครั้งนั้น จะมิได้อะไรตอบแทน แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับที่ยิ่งใหญ่ คือ ความภาคภูมิใจที่ได้ตอบแทนคุณของแผ่นดินไทย

ต่อมาหลังเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ นายเตียงยังทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ด้วยความสามารถของท่านและแกนนำของพรรคสหชีพ อย่างนายจำลอง, นายถวิล, นายทองอินทร์, ทั้งในและนอกสภาฯ ทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลขณะนั้นหรือที่เรียกติดปากว่า "รัฐมนตรีอีสาน" นายเตียงได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ 3 สมัย 3 รัฐบาล คือรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ, รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, และรัฐบาลพลเรือเอกถวัลย์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์

อย่างไรก็ตามแม้ขบวนการเสรีไทยจะจบลง เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม แต่การขูดรีดคนพื้นเมือง ชาวนาชาวไร่มิได้เลือนหายไปจากดินแดนอินโดจีน มิหนำซ้ำอาจมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในลาว และเวียดนาม ภายหลังที่ฝรั่งเศส กลับเข้ารุกรานและแสดงตนเป็นเจ้าอาณานิคมอีก ทั้งๆที่เคยหนีหายไป ตอนที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ดังนั้นอาวุธเสรีไทย จึงได้ถูกลำเลียงไปสนับสนุนพี่น้องลาว ภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์ และพี่น้องเวียดนาม ภายใต้การนำของลุงโฮ "โฮจิมินห์"

โดยภารกิจการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชให้กับพี่น้องสองฝั่งโขง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายภารกิจอันสำคัญนี้ให้นายเตียง นายเตียงสนับสนุนและริเริ่ม ให้มีการตั้งขบวนการเสรีลาวขึ้น บริเวณเทือกเขาภูพาน และได้รับคนลาวมาฝึกอาวุธในค่ายเสรีไทย บนเทือกเขาภูพานภายใต้การดูแลของครูครอง จันดาวงศ์ ส.ส.สกลนคร รวมไปถึงบนดอนสววรค์ กลางหนองหาร ที่มีทหารในขบวนการเวียดมินห์ของ โฮจิมินห์มาร่วมฝึกเพื่อไปรบกับฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้อดีตเสรีไทยอีสานบางส่วน ยังได้ข้ามแม่น้ำโขงไปช่วยลาวและเวียดนามรบ(10)

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดแห่งสำนึกสันติภาพของประชาชนแห่งลุ่มแม่น้ำโขง รวมไปถึงความตั้งใจในงานช่วยเหลือพี่น้องของนายเตียง ศิริขันธ์ และกลุ่มผู้นำอีสาน คือ ในเดือนกันยายน 2490 ได้มีการก่อตั้ง ขบวนการสันติบาตเอเชียอาคเนย์ ขึ้น เพื่อต่อต้านการกลับคืนมาและร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชต่อฝรั่งเศส ให้กับพี่น้องอินโดจีน โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นประธาน มีเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นเลขาธิการ มีนายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นประชาสัมพันธ์ และนายเลอฮาย เป็นเหรัญญิก ซึ่งมีอาจารย์ปรีดี เป็นต้นคิด โดยได้รับการสนับสนุนยิ่งจากโฮจิมินห์ "ลุงโฮ" และเจ้าเพ็ดชะราช แต่ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝรั่งเศสและอเมริกายิ่ง

นอกจากนี้นายเตียง ยังได้ให้การช่วยเหลือขบวนการกอบกู้เอกราชของพี่น้องลาว "ลาวอิสระ" และพี่น้องเวียดนาม "เวียดมินห์" ปีละ 5 ล้านบาท(11) ซึ่งเตียง ศิริขันธ์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกอบกู้เอกราช ให้กับพี่น้องอินโดจีน แม้นท่านจะไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นวันแห่งชัยชนะของลุงโฮและเจ้าสุภานุวงศ์ วันที่พี่น้องทั้งสองประเทศเป็นเอกราชในปัจจุบัน ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปลายปี พ.ศ. 2490 คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน กลุ่มอำนาจเก่าหรือผู้ที่สูญเสียอำนาจภายหลังการภายแพ้สงครามของญี่ปุ่น คือ กลุ่มผู้นำทหาร ได้ทำการรัฐประหาร และกวาดล้างกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ รวมไปถึงสมาชิกของเสรีไทยทั้งหลาย อันเป็นการกระทำที่สากลประเทศในขณะนั้นมิได้ยอมรับและรับรอง นายเตียง ได้หลบหนีการจับกุมไปอยู่ภูพาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเก่าของเสรีไทยดังสมญานาม "ขุนพลภูพาน" และตระเตรียมขุมกำลังเสรีไทยเก่า ลงจากเขาภูพาน เพื่อที่จะกลับไปตอบโต้และยึดอำนาจจากกลุ่มเผด็จการทหารที่ทำการรัฐประหารอย่างไม่เป็นธรรม ให้กับท่านปรีดี และคณะ แต่ได้รับการขอร้องจากท่านปรีดี เพราะมิอยากให้ประวัติศาสตร์ของประเทศมัวหมองที่คนไทยต้องฆ่ากันเอง

นายเตียงเคารพอาจารย์ปรีดี จึงไม่จับอาวุธลุกสู้ และหลบอยู่บนเทือกเขาภูพาน ที่มีป่าเขาและถ้ำเป็นจำนวนมาก โดยได้รับการช่วยเหลือและดูแลจากชาวบ้านในจังหวัดสกลนคร ที่รักท่าน ต่อมาท่านได้ข้อกล่าวหาจากกลุ่มผู้นำรัฐบาลขณะนั้น หาว่าเป็น "กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน" เป็นข้อหาที่ต้องการกำจัดเสรีไทย กำจัดกลุ่มของท่านปรีดี ด้วยการอ้างการก่อตั้งองค์การสันติบาตอาเชียอาคเนย์ ทั้งๆที่แนวคิดดังกล่าวของท่านปรีดี พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มประเทศอินโดจีนเพื่อต่อรองกับประเทศตะวันตก ส่วนอาจารย์ปรีดี เดินทางไปลี้ภัย ที่จีน และฝรั่งเศส ตามลำดับ

4 มีนาคม 2492 เพื่อนรัฐมนตรีนักต่อสู้จากอีสาน เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, รวมไปถึงนักการเมืองหัวก้าวหน้าอย่างอดีตรัฐมนตรีทองเปลว ชลภูมิ ถูกตำรวจลูกน้องของ พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ แกนนำคณะรัฐประหารสังหารโหดที่ถนนพหลโยธิน หลังจากที่เตียง ศิริขันธ์ เดินทางลงจากภูพาน ออกมามอบตัวต่อสู้คดีไม่นาน เพราะเกรงผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการตามจับขุนพลภูพานแห่งสกลนคร "เตียง ศิริขันธ์" ของทางการ เขาได้ใช้วิธีทำร้ายร่างกายและจิตใจ กำนันและชาวบ้านที่รักและศรัทธาครูเตียง รวมไปถึงเพื่อนมิตรผู้เกี่ยวข้องกับท่านก็ถูกจับ ต่อมาท่านได้ถูกอุ้มหายสาบสูญไปจนกระทั่งถูกฆ่ารัดคอตายที่เขตพระโขนง และถูกนำไปเผาย่างศพ-ฝัง เมื่อ กลางเดือนธันวาคม 2495 ที่ป่า ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จังหวัดกาญจนบุรี ขณะมีอายุเพียง 43 ปี พร้อมกับข้อกล่าวหา "กบฎแบ่งแยกดินแดน" และ "คอมมิวนิวต์"

นี่คือชะตากรรม นี่คือบทเรียนอันเจ็บปวดของสามัญชนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนได้รับอย่างนายเตียงและขุนพลชาวอีสาน เช่นเดียวกันกับท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่มีคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ทั้งทางด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกอบกู้ประเทศชาติในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย หรือแม้กระทั่งเป็นผู้วางแนวคิดในการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนระดับล่าง แต่สุดท้ายก็ถูกการป้ายสีให้กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม

ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องเอาความจริงมาตีแผ่ เป็นสังคมแห่งความเป็นจริงมิใช่บิดเบือน บิดเบือนเพื่ออำนาจ เพื่อที่จะไม่ให้คนดีๆต้องถูกทำร้าย เฉกเช่นเดียวกับสามัญชนผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างที่แล้วๆมา ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล อดีตเสรีไทยบ้านโนนหอม สกลนคร กล่าวถึง ฯพณฯ เตียง ศิริขันธ์ ตอนหนึ่งความว่า

"นายเตียงทำทุกอย่างเพื่อชาติ แต่ต้องตายเพราะมีคนไทยที่เลวทราม และมีจิตใจโหดเหี้ยมเหมือนสัตว์ป่า หลอกเอาไปฆ่าด้วยการรัดคอ ชาติได้ทำอะไรแก่นายเตียงบ้าง สกลนครได้ให้อะไรแก่นายเตียงบ้าง…"(12)

ในปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่แม้บุคคลผู้นี้ที่ชื่อ ฯพณฯเตียง ศิริขันธ์ และพลพรรคเสรีไทย จะมีคุณูปการต่อประเทศชาติ ต่อสังคมพี่น้องลุ่มแม่น้ำโขง และต่อสกลนคร แต่กลับมิได้มีสิ่งใดๆไว้เป็นอนุสรณ์ ไว้เป็นที่รำลึกถึง แม้กระทั่งประวัติศาสตร์เสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพานอันยิ่งใหญ่ก็แทบจะมิได้มีที่ยืนบนสังคมไทย-สกลนคร ยังเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด หลบๆซ่อนๆอย่างกับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ

น่าเสียใจที่ลูกหลานชาวสกลนคร-อีสานทุกวันนี้ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเตียง ศิริขันธ์ คือใคร ชีวิตนายเตียงลำบากเพื่อคนไทยมามาก ต่อสู้กับเผด็จการต้องพเนจรอยู่ตามป่าเขา อยู่อย่างหลบลี้เพื่อคนไทยจะมิได้เป็นเมืองขึ้นของต่างชาติในการต่อต้านญี่ปุ่น เอาใจใส่และดูแลพี่น้องร่วมสายโลหิตแห่งอินโดจีนในยามที่พวกเขาทุกข์ยากเมื่อถูกมหาอำนาจกดขี่ ต้องอดอยากบางคราวข้าวมิได้กิน เดินฝ่าสายฝนและสายลมหนาวอันยะเยือก กลางภูพานเพียงลำพัง เพราะโดนข้อกล่าวหาอันจอมปลอม เพื่อกำจัดนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและคนยากไร้ในแผ่นดิน ที่มาจากดินแดนที่ราบสูง ต้องซมซานหนีไปตามซอกภูพาน

บั้นปลายสุดท้ายแทนที่คนเหนื่อยยากเพื่อคนไทยและสันติภาพแห่งมนุษยชาติ อย่างเตียง ศิริขันธ์ จะมีความสุขกับชีวิตและครอบครัวบ้าง กลับถูกอุ้มฆ่ารัดคอ และนำไปเผา-ฝัง อย่างโหดเหี้ยมที่สุด และแทนที่วีรกรรมของวีรชนแห่งอีสาน-เทือกเขาภูพาน จะได้รับเกียรติ กลับถูกปิดเงียบและบิดเบือนไปอย่างน่าเสียใจที่สุด

"ดวงดาวเจ้าพราวแสง อาจอ่อนแรงยามเหนื่อยล้า
เมฆฝนผ่านพ้นมา ดาวศรัทธายังส่องใจ
ดาวลับพายุผ่าน แต่ดาวนั้นยังเรืองไกล
ครู"เตียง" เหมือนจากไป แต่ดวงใจ คู่ภูพาน"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขอขอบพระคุณ
1) ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร นักวิชาการผู้รักษาและส่งเสริมประวัติศาสตร์เตียง ศิริขันธ์ และเสรีไทยภูพาน แห่งราชภัฏสกลนคร
2) ผศ.นิพนธ์ อินสิน อดีตอธิการบดีสถาบันราชภัฏสกลนคร
3) อาจารย์วิชาญ ฤทธิธรรม นักคิด นักเขียน มิตรสหายแห่ง คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
4) สมภพ บุนนาค ผู้เชิดชู-สดุดีนักสู้แห่งอีสาน
5) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร-มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
6) เสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพานทั้งที่มีชีวิตและที่จากไป (ขออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณผู้รักชาติรักประชาธิปไตย)

เอกสารอ้างอิง
ปรีชา ธรรมวินทร.(2547).ขบวนการเสรีไทยสกลนคร.เอกสารงานวิจัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.สกลนคร.

นายสีดอกกาว (นิยม รักษาขันธ์).(2543). บันทึกลับ เสรีไทยภูพาน.พิมพ์ครั้งที่ 2.(ปรีชา ธรรมวินทร และสมชาย พรหมโคตร,บรรณาธิการ) สถาบันราชภัฏสกลนคร.สกลนคร.

สรศักดิ์ งามขจรกิจกุล.(2532).ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมือง.พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.

สวัสดิ์ ตราชู.(2543).ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับขุนพล ภูพาน เตียง ศิริขันธ์.พิมพ์ครั้งที่ 2.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.

วิสุทธิ์ บุษยกุล.(2543).ครูเตียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก.ใน ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับขุนพล ภูพาน เตียง ศิริขันธ์.หน้า 56-72 พิมพ์ครั้งที่ 2.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.กรุงเทพฯ.

เสรี นวลมณี และวิสุทธิ์ บุษยกุล.(2543).เสรีไทยสกลนคร.สถาบันราชภัฏสกลนคร.สกลนคร

เชิงอรรถ
(1) วิสุทธิ์ บุษยกุล (2543) ใน "ครูเตียง ที่ข้าพเจ้ารู้จัก"
(2) สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สมัยแรกของประเทศไทย ทั้งสองท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภาอาวุโส อายุกว่า 80 แล้ว
(3) อ้างใน ปรีชา ธรรมวินทร (2547) ใน เสรีไทยสกลนคร หน้า 11 เอกสารวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร มอบให้ข้าพเจ้าด้วยตัวท่านเอง เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าชิ้นหนึ่งของเมืองไทย ข้าพเจ้าขอบคุณอาจารย์ปรีชา อย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ด้วย ทำให้ข้าพเจ้าทราบเรื่องราวเกี่ยวกับนายเตียง มากขึ้น อาจารย์ปรีชา คือ ผู้บุกเบิกและดูแล สืบทอด อุดมการณ์เสรีไทยภูพานในวงวิชาการการศึกษาไทย)

(4) เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ จะเป็นรุ่นน้องของเตียง ศิริขันธ์ ที่จุฬาฯ แล้ว หลังพ้นข้อกล่าวหา กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลังติดคุก 7 ปี จิตร เดินทางเข้าป่า ปลายปี 2508 บริเวณดงพระเจ้า อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ที่เตียง เคยตั้งกองกำลังเสรีไทย และจิตร ก็เสียชีวิต ณ อ้อมกอดแห่งเทือกเขาภูพานด้วย
(5) อ้างในปรีชา ธรรมวินทร เรื่องเดียวกัน
(6) วิสุทธิ์ บุษยกุล (2543) เรื่องเดียวกัน

(7) ท่านรูธ หมายถึง นายปรีดี พนมยงค์ ส่วน นายเตียง ศิริขันธ์ มีชื่อลับในขบวนการเสรีไทยว่า "พลูโต"
(8) นายสีดอกกาว ใน "บันทึกกลับ เสรีไทยภูพาน" (2543) (ปรีชา ธรรมวินทร และสมชาย พรหมโคตร, บรรณาธิการ) สถาบันราชภัฏสกลนคร
(9) ปรีชา ธรรมวินทร (2547) หน้า 48 เรื่องเดียวกัน

(10) นิยม รักษาขันธ์ (2543) อ้างในปรีชา ธรรมวินทร (2547) เรื่องเดียวกัน
(11) ปรีชา ธรรมวินทร (2547) หน้า 56 เรื่องเดียวกัน
(12) เสรี นวลมณี และวิสุทธิ์ บุษยกุล อ้างในปรีชา ธรรมวินทร (2547) เรื่องเดียวกัน


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
220149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
โดยภารกิจการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชให้กับพี่น้องสองฝั่งโขง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายภารกิจอันสำคัญนี้ให้นายเตียง นายเตียงสนับสนุนและริเริ่ม ให้มีการตั้งขบวนการเสรีลาวขึ้น บริเวณเทือกเขาภูพาน และได้รับคนลาวมาฝึกอาวุธในค่ายเสรีไทย บนเทือกเขาภูพานภายใต้การดูแลของครูครอง จันดาวงศ์ ส.ส.สกลนคร รวมไปถึงบนดอนสววรค์ กลางหนองหาร ที่มีทหารในขบวนการเวียดมินห์ของ โฮจิมินห์มาร่วมฝึกเพื่อไปรบกับฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้อดีตเสรีไทยอีสานบางส่วน ยังได้ข้ามแม่น้ำโขงไปช่วยลาวและเวียดนามรบ

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90