นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วาระทางสังคม ร่วมกับ องค์กรกัลยาณมิตร
ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
ผศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความถอดเทปชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณราณี หัสสรังสี (คณะทำงานวาระทางสังคม)
กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน
ชุด ๓ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส"
โดยเราจะเน้นหนักในประเด็นวิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดภาคใต้ของสังคมไทย

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 812
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)


ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
บทบรรยายถอดเทป โดยนักวิชาการสามท่าน

ชุลีพร วิรุณหะ (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ตามที่ท่านอาจารย์นิธิได้นำเสนอให้เราได้ทราบถึงกรอบใหญ่ สำหรับดิฉันจะมานำเสนอ " วิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส " ซึ่งจะขอมองในด้านของความขัดแย้งระหว่างชุมชนปัตตานีกับชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในปริทรรศ์ของประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงเป็นการมองอย่างครอบคลุมโดยจะมองในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพราะข้อมูลหลังจากนั้นมีคนพูดกันมามากแล้ว สำหรับบางส่วนที่อาจารย์นิธิท่านได้กล่าวมาแล้ว ดิฉันก็จะขอข้ามข้อมูลตรงนั้นไป

ถ้าเราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ข้อเสนอของดิฉันไม่ต่างจากอาจารย์นิธิเท่าไรนัก ดังนี้

ข้อที่ ๑ คือ เราต้องทำการศึกษาโดยใช้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง

ข้อที่ ๒ คือ เราต้องยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐสุลต่านปาตานี
ไม่ควรปฏิเสธว่าไม่เคยมีรัฐเช่นนี้มาก่อน ซึ่งก็เป็นการเสนอต่อเนื่องจากที่ท่านอาจารย์นิธิได้พูดไว้บ้างแล้ว นอกจากจะยอมรับว่ามีอยู่แล้ว เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ที่เรียกว่ารัฐสุลต่านปาตานีนั้นมีตัวตนจริง มีจิตวิญญาณอยู่จริง และรู้จักด้วยว่าเขาเป็นใคร ซึ่งจุดนี้ที่ดิฉันอยากจะเน้นก็คือ เราต้องศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ถึงรัฐสุลต่านหน่วยนี้กับราชอาณาจักรสยาม และเป็นความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการสร้างรัฐชาติไทย ตรงจุดที่รัฐสองรัฐได้มาสัมผัสกัน สิ่งที่คู่กันไปเมื่อเราดูการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของความสัมพันธ์ ซึ่งดิฉันคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งมันเกิดขึ้นจากเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ เพราะรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปาตานีกับรัฐสยามในสมัยดั้งเดิมนั้น อาจจะเป็นแบบหนึ่ง แล้วในที่สุดรูปแบบความสัมพันธ์นั้น อาจจะเปลี่ยนไปในปัจจุบัน กระบวนการที่รูปแบบความสัมพันธ์มันเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กับกระบวนการที่รัฐชาติไทยได้เกิดขึ้น

ข้อที่ ๓ ส่วนที่เป็นองค์ประกอบหลักของความขัดแย้ง
ก็คือเรื่องของดินแดน เรื่องของเชื้อชาติ เรื่องของศาสนา ซึ่งโดยตัวมันเองตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน แต่มันจะเกิดในลักษณะของการค่อย ๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน จนกระทั่งมันกลายเป็นพื้นฐานของแนวคิดที่เรามักจะเรียกว่า "การแบ่งแยกดินแดน"

สำหรับดิฉันเองไม่อยากจะเรียกว่าเช่นนั้น ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่ต่อต้านรัฐไทยหรือการต่อสู้ของรัฐปาตานี สิ่งที่อยากจะนำเสนอก็คือ การชี้ให้เห็นว่ามันไม่ได้เกิดมาตั้งแต่เริ่มกำเนิดรัฐ มันไม่ได้อยู่ในสายเลือดของคนปัตตานีว่า เขาจะต้องมาต่อต้านรัฐไทย มันมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา มันเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กับที่รัฐไทยก็เติบโตขึ้น

ข้อที่ ๔ ความรู้สึกถึงความเป็นปัตตานีนิยมของรัฐปัตตานี
ดิฉันอยากให้เห็นว่า การเติบโตของความรู้สึกถึงความเป็นปัตตานีนิยมของรัฐปาตานี มันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกับการเกิดขึ้นของชาตินิยมไทย กล่าวคือมันอยู่ในกระบวนการเดียวกัน ถ้าคนไทยเกิดความรู้สึกถึงชาตินิยมและอยากสร้างรัฐชาติไทย ความรู้สึกอันนั้นจะผลักดันให้ชาวปัตตานีนั้นเกิดความรู้สึกชาตินิยมปัตตานีขึ้นมา มันเป็นกระบวนการเดียวกัน ทั้งหมดที่กล่าวเป็นภาพรวมที่ดิฉันจะนำเสนอให้รับทราบ

คำถามที่ไม่อยากให้ถามแต่ก็อยู่ในความอยากรู้ของทุกคนคือ " ดินแดนนี้เป็นของใคร " เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์ในการที่จะตั้งคำถามนี้ มันไม่มีประโยชน์ที่จะเอาคำถามที่อยู่บนแนวคิดของรัฐชาติที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วมาตั้งคำถาม มันเป็นอดีตไปแล้ว เนื่องจากบางคนพยายามจะเข้าไปค้นให้ได้ว่า ตอนก่อนที่จะเป็นรัฐปาตานี ตอนที่มันเป็นรัฐลังกาสุกะนั้นเป็นของไทยหรือไม่ ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น มันเป็นคนละช่วงเวลากัน วิธีคิดที่เอากรอบของปัจจุบันไปถามอดีตนั้นไม่ถูกต้อง ดิฉันอยากให้ดู Code นี้ ตั้งแต่โบราณมาก็มักจะคิดกันแบบนี้ ช่วงต่อของประวัติศาสตร์ทุกครั้งจะมีการคิดอย่างนี้เสมอ

ปัจจุบันก็ยังมีความคิดเช่นนี้อยู่ทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายปัตตานีเมื่อครั้งร้องทุกข์กับสหประชาชาติได้กล่าวว่า "หากคำนึงถึงปาตานีเมื่อไพศาลที่สุดนั้นเป็นเวลาก่อนอาณาจักรมะละกา ปาตานีครั้งนั้นครองดินแดนฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายูทั้งแดน ตั้งแต่ทางเหนือจนถึงสิงคโปร์ทางใต้ เพราะฉะนั้นปาตานีจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายูโดยไม่มีการขาดตอน" และกล่าวอีกต่อไปมากกว่านี้

ทางไทยเองก็ตอบโต้กลับไปทันที ตอนนั้นพระยารัตนภักดี ท่านข้าหลวงของปัตตานีในปีพ.ศ.๒๕๐๙ ท่านบอกว่า "อนึ่ง ควรเข้าใจด้วยว่าไทยปกครองดินแดนแหลมทองแหลมมลายู มาตั้งแต่สมัยก่อนกำเนิดชาติมลายูเสียอีก คือก่อนศาสนาอิสลามประมาณ ๑๐๐ ปี ต่อมาจึงมีชาวต่างแดนอพยพเข้ามา ดังนั้นควรระลึกถึงปัญหาด้วยว่าใครมาก่อนใคร เพราะฉะนั้นคนมลายูควรจะเข้าใจด้วยว่า คนไทยอิสลามในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลไม่ใช่มลายู แต่เป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม เหมือนกับคนไทยที่นับถือศาสนาคริสเตียน หรือคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทยในประเทศไทยทั้งนั้น ใครอยากไปอยู่มลายูก็ไปแต่ตัว แต่แผ่นดินไม่ให้"

นี่คือประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงกรอบคิดซึ่งตอนนั้นกำลังแรงมากในเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องในอดีต ณวันนี้คำถามแบบนี้มันควรต้องหยุด ในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นมันไม่มีประโยชน์อะไรที่พูดแบบนี้เพราะปัจจุบันมันควรต้องมองในกรอบใหม่

เวลาที่มองอดีต เราต้องไม่มองแบบมีเขตแดน เราต้องมองเรื่องศูนย์อำนาจ จะเห็นได้ว่ามีศูนย์อำนาจมากมายเต็มไปหมด ขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน รัศมีไม่เท่ากัน ตรงไหนที่ไม่มีศูนย์อำนาจก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคน มันมีชุมชน แต่ชุมชนตรงนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครเป็นพิเศษ การชี้ให้เห็นถึงลักษณะอย่างนี้ จะทำให้เราได้เข้าใจมากกว่าว่า ความสัมพันธ์ของคนมันจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของศูนย์อำนาจชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้นเวลาที่เราศึกษาเรื่องราวของปัตตานีบริเวณคาบสมุทรมลายูมันต้องศึกษาแบบเปิดกว้าง

ในกรอบคิดของเราต้องยกเลิกวิธีคิดแบบมีเส้นเขตแดนออกไปแล้วมองให้กว้าง ๆ แล้วบริบทที่ศึกษาต้องเป็นบริบทที่ศึกษาท้องถิ่นออกมา แต่อยู่ในมิติที่กว้างที่สุดเท่าที่จะศึกษาได้ ไม่ใช่มองเพียงแค่ว่าปัตตานีกับสยาม ปัตตานีกับมลายู แต่เป็นปัตตานีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือมากกว่านั้น จึงเป็นลักษณะของการศึกษาที่น่าจะดีกว่าหรือเป็นประโยชน์มากกว่า นี่เป็นประเด็นแรกที่กล่าวถึงว่าเราต้องศึกษาโดยใช้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง

ประเด็นที่ ๒ ที่จะพูดถึงก็คือ เราต้องยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐสุลต่านของปาตานี ซึ่งรัฐสุลต่านปาตานีมันไม่ได้เพิ่งเกิด เราจะรู้จักกันตอนที่ร่วมสมัยกับรัฐกรุงศรีอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการของรัฐนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตั้งแต่ดั้งเดิมมามันก็ไม่ใช่รัฐสุลต่านปาตานีและก็ไม่ใช่รัฐมลายู และก็ไม่ใช่ดินแดนของคนมลายูพวกเดียว และไม่ใช่ดินแดนที่ผู้คนนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก เพียงแต่มันค่อย ๆ พัฒนาการขึ้นมา การพัฒนาการของรัฐสุลต่านปาตานีมันจะขึ้นกับตัวแปรที่คล้าย ๆ กับที่ท่านอาจารย์นิธิได้เคยกล่าวไว้ กล่าวคือ

สำหรับความเชื่อโดยทั่วไปของคนไทย มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "รัฐมลายู" เพราะว่าเราจะเคยชินต่อภาพของอาณาจักรใหญ่ที่กว้าง ๆ มีพื้นที่ทำการเกษตรกรรม มีผู้ควบคุมที่ดินเกษตรกรรม เราชินกับประวัติศาสตร์ไทยที่มี การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนท้องถิ่น มีเสนาบดี มีผู้ปกครองหัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นใน ซึ่งเหล่านี้เป็นลักษณะของอาณาจักรเกษตรกรรมใหญ่ ๆ

แต่รัฐที่อยู่ทางคาบมลายูหรือคาบสมุทรไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐมลายูหรือรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นนครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานีไล่ลงไปจนถึงปลายแหลมมลายูจะมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนตรงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะการก่อตัวของชุมชนบริเวณนี้จะเล็กกว่า มันเป็นชุมชนปากแม่น้ำคือเกิดง่ายและสลายตัวง่าย มีความเป็นอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงรวมเป็นศูนย์อำนาจใหญ่ได้ยาก ลักษณะการเติบโตของรัฐพวกนี้จะสัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนหลายระลอก เมื่อมีผู้คนอพยพหลายระลอกทำให้เรามองได้ว่า จะมีผู้คนปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก มันไม่ได้เป็นแบบหนึ่งเดียว พลังพลวัตรของบริเวณนี้จะขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเล

จากสภาพทางภูมิศาสตร์ เราจะเห็นความแตกต่างกันระหว่างตัวอย่างของบริเวณรัฐเกษตรกรรมที่มีลุ่มแม่น้ำและพื้นที่ขนาดใหญ่ กับบริเวณคาบสมุทรที่มีเทือกเขาอยู่ตรงกลาง มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลออกทะเล ชุมชนจะอยู่ตรงปากแม่น้ำ และมีเป็นจำนวนมากเต็มไปหมด ไม่ได้มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่ ภาษาวิชาการเรียกว่า Riverside กล่าวคือ แม่น้ำ ๑ สายก็จะเป็นลักษณะ ๑ ชุมชน มีเทือกเขาอยู่ข้างหลัง ผู้คนที่อยู่ปากแม่น้ำก็จะติดต่อกับคนที่อยู่ข้างนอกและคนที่อยู่ข้างในด้วย

ชุมชนในปาตานีจะเกิดขึ้นในทำนองชุมชนหลากหลายมากกว่า มักมีคนตั้งคำถามกันมากกว่า " แล้วใครที่มาตั้งถิ่นฐานก่อนพวกอื่น ๆ " มันเป็นการยากลำบากที่จะบอกว่าเป็นใคร เพราะมันมีการอพยพหลายระลอกดังที่กล่าวมา ถ้าหากเท้าความไปถึงสมัยโบราณจริง ๆ ก็น่าที่จะเป็นการตั้งถิ่นฐานของพวกผู้คนสมัยยุคหินกลาง เราจะพบลักษณะของวัฒนธรรมหัวบิน มีชนเผ่าเงาะป่าซาไก มีพวกชาวเล ชาวถ้ำ

เราพบหลักฐานว่ามีลักษณะของคนที่เป็นมนุษย์ถ้ำมาอยู่เป็นระยะเวลานานมาก มีภาพเขียนสีอยู่ภายในถ้ำ ที่ถ้ำซาไกก็มีหลักฐานทางภาพสีบนผนังถ้ำเป็นภาพผีสาง ที่ถ้ำชาวเลก็มี เราจะเห็นว่าพวกเขาอยู่กันมานาน และมีการดำรงอยู่ทับซ้อนกัน มีตั้งแต่พวกที่อยู่ดั้งเดิม และมีการอพยพเคลื่อนย้ายลงมาของพวกออสโตรเอเชียติก มอญ เขมร และทับซ้อนด้วยพวกออสโตรนีเชีย พวกที่พูดภาษามาลายูนั้นจะมาทางทะเล อ้อมทะเลลงมาแล้วขึ้นบก มาตั้งถิ่นฐานปะปนร่วมกันไปทับซ้อนกันหลายระลอก

นอกจากนั้นยังตามมาด้วยลักษณะของวัฒนธรรมจากภายนอก คือจากชุมชนที่เป็นที่ตั้งฐานอยู่กินในถ้ำ แล้วก็เคลื่อนย้ายออกมาอยู่ข้างนอก ในที่สุดก็จะรวมตัวกันขึ้นเป็นรัฐ ตอนที่เป็นรัฐนี้การค้าทางทะเลสำคัญที่สุด ด้วยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เมืองเติบโตจนเป็นเมืองท่า และกลายเป็นรัฐในที่สุด

การค้าทางทะเลสมัยแรกมักจะเป็นการเดินเรือเรียบชายฝั่งนับตั้งแต่จากจีนลงมา และมันจะมาอ้อมตรงเวียดนาม วิ่งตัดอ่าวไทยและมาขึ้นบกตรงคอคอดกระ มีการอพยพฝูงสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย ข้ามไปลงอีกฝั่งหนึ่ง เราจะเห็นกลุ่มเมืองท่าเยอะมากบริเวณนี้ เราเรียกว่า เมืองท่าคอคอดกระ หรืออาณาจักรลังกาสุกะหรือลังกาสุขะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของชาวปัตตานี (กรุณาคลิกดูภาพประกอบ)

เมื่อก่อนหน้านี้ท่านอาจารย์นิธิกล่าวถึงเมืองยะหรั่ง เราจะพบว่าเมืองแรกของลังกาสุกะหรือศูนย์กลางของชุมชน ตัวเมืองอยู่ตรงกลางไม่ได้อยู่ติดทะเลแต่อยู่เข้าไปตอนใน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับเส้นทางการเดินบก ที่ข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า นับเป็นเส้นทางที่รองรับเส้นทางการค้าที่ข้ามจากฝั่งปัตตานีไปลงที่ไทรบุรี ข้อมูลนี้ก็จะได้จากหลักฐานทางตำนานเรื่อง "ฮิกายัต ปัตตานี (Hikayat Patani)" ,"ฮิกายัตบรมมหาวงศ์" และ "เซอร์จาเราะห์มาลายู" ต่างก็เล่าเป็นทำนองเดียวกันว่า มีศูนย์กลางอำนาจหนึ่ง เมืองหนึ่ง อยู่ตอนในของแผ่นดิน และที่สุดก็กล่าวถึงการย้ายเมืองตามตำนาน ทำให้เราทราบว่ามีการย้ายเมืองจากในแผ่นดินมาอยู่ที่ชายฝั่งทะเล

หากเราดูทิศทางของการค้าในระยะต่อมา การเดินเรือเพื่อขึ้นฝั่งคอคอดกระแล้วขึ้นบกไปลงอีกฝากหนึ่งเป็นการลำบากมาก จึงเปลี่ยนเป็นเดินเรือลงมาข้างล่างแล้วอ้อมแหลมมะละกา เมื่อมีการค้าเลียบชายฝั่งแทนที่การเดินขึ้นบกแล้วลงเรือซึ่งยุ่งยากมากกว่า จึงทำให้เกิดเมืองท่าเทียบชายฝั่งเข้ามาแทนที่ จึงทำให้เกิดเมืองท่าปัตตานีที่ " กรือเซะ " จัดว่าเป็น ยุคที่ ๒ ขึ้นมา แล้วจากตรงนี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐศรีวิชัย เป็นอาณาจักรที่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร และไม่ได้มีศูนย์กลางเดียว เป็นลักษณะของเมืองท่าหลาย ๆ เมืองที่มารวมกลุ่มกัน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " สมาพันธ์เมืองท่าการค้าศรีวิชัย " ลักษณะเด่นก็คือ มีการแตกตัวของเมืองท่ามากมาย ที่สำคัญคือ เป็นกลุ่มที่ชัดเจนว่ามีวัฒนธรรมของฮินดู - พุทธ เลยทำให้มีคนพยายามที่จะมองว่า ดินแดนตรงนี้เป็นพุทธมาก่อนอิสลาม ต่อจากนั้นไม่นานศาสนาอิสลามก็เข้ามา

การที่ศาสนาอิสลามเข้ามาถึงปัตตานีนั้น มันมีข้อขัดแย้งกันอยู่เยอะ เพราะบ้างก็ว่ามาจากจีน บ้างก็ว่ามาจากชวา แต่ส่วนใหญ่ก็จะเชื่อว่ามาจากอาหรับแล้วมาขึ้นท่าที่ " อาเจะห์ " ข้ามฝั่งมาที่มะละกาแล้วส่งต่อมาที่ปัตตานี ในศตวรรษที่ ๑๕ เมืองปัตตานีก็กลายเป็นอาณาจักรอิสลาม โดยมีผู้นำเป็นอิสลามแต่พลเมืองมีหลากหลาย เมื่อผู้นำนับถือศาสนาอิสลาม ลักษณะของตัวรัฐที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นรัฐสุลต่านหรือรัฐมลายูมุสลิม แต่ประชากรที่อยู่ด้านในก็ยังมีความหลากหลายเหมือนเดิม

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตรงนี้มีหลักฐานจากตำนานท้องถิ่นและตำนานของทางอยุธยาเอง ในพงศาวดารก็กล่าวไว้ตรงกันว่า มีรัฐสุลต่านปาตานีและมีสาแหรกวงศ์ของเขา มีผู้ปกครองติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๐๐ ปี ดิฉันอยากเน้นตรงที่ว่า รัฐสุลต่านปาตานีในสมัยที่เป็นยุครุ่งเรืองของการค้า มีลักษณะของความเป็นรัฐค้าขายชายฝั่งทะเล และมีลักษณะของการเมืองที่มีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชสำนักกับกลุ่มโอรังกายา ดังที่อาจารย์นิธิได้กล่าวไว้แล้ว

และยังมีลักษณะของร่องรอยชุมชนนานาชาติ มีการรับถ่ายทอดวัฒนธรรมรัฐชายฝั่งหรือวัฒนธรรมบาซีซี โดยมีศูนย์กลางมาจากชวา อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันมีความเป็น Malay Kerajaan คือความเป็นรัฐมลายูในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง คือมีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างราชากับข้าราชบริพาร รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับรัฐมลายูอื่นๆ แต่ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน

ดังนั้นในปัจจุบันหากเรามองว่าถ้าปัตตานีไม่ใช่ของไทยแล้ว ปัตตานีก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของมลายู ดังนั้นมาเลเซียเองจะมาเป็นผู้คุ้มครองปัตตานีก็ไม่น่าจะใช่ ในอดีตก็ไม่ใช่อย่างนั้นมาตลอด ปัตตานีก็คือปัตตานี เพราะฉะนั้นจากจุดที่ชุมชนโบราณเกิดขึ้นมาจนกลายเป็นรัฐสุลต่านปาตานีในศตวรรษที่ ๑๗ จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นรัฐอิสลาม แต่หากถูกถามว่า ดังนั้นมันจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกมุสลิมหรือไม่ เราเองคงตอบให้ไม่ได้ คนปัตตานีต้องเป็นผู้ตอบเองเท่านั้น

จากตำนาน ฮิกายัต ปัตตานี (Hikayat Patani) เราจะเห็นว่าคนปัตตานีเริ่มมองว่าตนเองเป็นมุสลิม แต่เขาไม่ได้มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายูมุสลิม โดยที่เขามองจากตัวของเขาเอง ข้อสนับสนุนนี้ได้มาจากงานศึกษาเรื่อง ฮิกายัต ปัตตานี (Hikayat Patani) ซึ่งกล่าวว่า " ฮิกายัตปัตตานีเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของรัฐบนคาบสมุทรมลายูชิ้นแรก ที่ไม่เกี่ยวโยงกับราชสำนักมะละกา และไม่ปรากฏว่ามีความพยายามที่จะแสดงตัวตนของปัตตานี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยเชื้อชาติและวัฒนธรรมมลายูมุสลิมที่เป็นเอกภาพ "

การที่ดิฉัน Code อันนี้ขึ้นมา ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ดั้งเดิมมา ความเป็นมลายู ความเป็นมุสลิมก็ดีนั้น ไม่ได้เป็นการหวงกั้นให้ปัตตานีมีความสัมพันธ์กับรัฐไทย มันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าเขาจะเป็นปัตตานี แต่เขาก็สามารถมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ ได้ โดยมีการค้าเป็นบริบทที่สำคัญกว่า โดยเฉพาะการค้าเครื่องเทศเช่นพริกไทย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองท่าปัตตานีเป็นเมืองท่าที่สำคัญได้ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ นั้น มันเนื่องมาจากการที่ตะวันตกได้เข้ามามีส่วนร่วมวงศ์ไพบูลย์ ในการค้าเครื่องเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตะวันตกที่เข้ามาโดยเฉพาะโปรตุเกสและดัชท์นั้น ไม่ได้ร่วมวงศ์ไพบูลย์เพียงอย่างเดียว เขาต้องการครอบครองเส้นทางการค้า ครอบครองเมืองท่าต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อโปรตุเกสสามารถโจมตีเมืองท่ามะละกาได้สำเร็จ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พ่อค้าอาหรับ พ่อค้ามุสลิม หรือแม้แต่พ่อค้ามาลายู พ่อค้าอินโด พ่อค้า South East Asia เองต่างก็ไม่อยากติดต่อค้าขายกับโปรตุเกส ดังนั้นพ่อค้าเหล่านั้นจึงพยายามหาเส้นทางใหม่ทางการค้า เส้นทางใหม่ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เส้นทางที่ขึ้นจากหมู่เกาะโมลุกกะผ่านชวาแล้วขึ้นมาที่คอคอดกระ หรือเลยขึ้นมาถึงเมืองอยุธยา จึงทำให้ปัตตานีอยู่ในสถานะที่รองรับเส้นทางการค้านี้พอดี และเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัตตานีกับอยุธยามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่เหนียวแน่นอย่างมากกับอยุธยา และมีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราจะมองเห็นถึงความสัมพันธ์อีกแง่มุมหนึ่งที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทางการค้า

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมาดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับสยามในสมัยจารีตว่าเป็นอย่างไร หากเราศึกษาลึกลงไปเราจะพบว่า ปัตตานีกับสยามมีความสัมพันธ์กันในระบบบรรณาการแน่นอน ในช่วงของรัฐจารีตนั้นความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันมันไม่มี มันมีแต่รัฐใหญ่กับรัฐเล็ก สมัยนั้นหากคุณเป็นชุมชนเล็ก คุณก็ต้องขึ้นอยู่กับชุมชนใหญ่เพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน หรือหาคนคุ้มครองเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มันเป็นเรื่องปกติของการที่มีศูนย์อำนาจทับซ้อนกัน แต่ก็เป็นอย่างที่อาจารย์นิธิเคยพูดไว้แล้ว่า มันไม่ได้เป็น Colony สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องมองว่ามันเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอะไรกับดินแดนเลย

ดังนั้นแม้ว่าความสัมพันธ์ปัตตานีกับสยามจะอยู่ในรูปแบบของรัฐบรรณาการ แล้วปัตตานีเองก็มีฐานะเหมือนเมืองขึ้นเพราะว่าเป็นรัฐเล็ก แต่ก็จะมีความสามารถในการปกครองตนเองข้างใน คือมี Local Autonomy และในขณะเดียวกัน หากเราถามอย่างชัดเจนว่า ปัตตานีในสมัยจารีตนั้นได้เป็นเมืองขึ้นของสยามหรือไม่ ดิฉันจะตอบว่า" ใช่ " แต่ถ้าถามอีกว่าปัตตานีเป็นดินแดนของสยามหรือไม่ ดิฉันจะตอบว่า " ไม่ใช่ " เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องของพื้นที่เลย มันเป็นความแตกต่างกันในเรื่องของอาณาเขตเท่านั้น

ในสมัยนั้นมันเป็นเรื่องของปริมณฑลแห่งอำนาจ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน มันเป็นเรื่องของศูนย์อำนาจเล็กใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันเท่านั้นเอง หากถามว่า ความสัมพันธ์แบบนั้นมันใช้ได้หรือไม่ ดิฉันว่ามันใช้ได้ทีเดียว เนื่องจากว่าปัตตานีกับสยามในสมัยจารีต มันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในเชิงการค้า ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่มาก จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างที่จะหลวม กล่าวคือสยามเองก็เห็นความสำคัญเชิงการค้ากับปัตตานี

เมื่อมีการก่อกบฎกันเป็นระยะ ๆ แต่จะไม่มีการลุยไปปราบเลย จะไม่ทำเหมือนสมัยรัตนโกสินทร์เลยซึ่งเป็นข้อสังเกตของดิฉันเองว่า ถ้าเราศึกษาในตัวเอกสารจริงๆแล้ว เราจะพบว่าในหลายครั้งที่ปัตตานีก่อกบฎในสมัยอยุธยา เป็นลักษณะการก่อกบฎที่แปลกดี เราอาจเรียกว่าเขาก่อกบฎแต่จริง ๆ แล้วเขาอาจไม่คิดว่า เขาเป็นฝ่ายก่อกบฎก็ได้ มันเป็นเพียงแค่การแข็งข้อเท่านั้น ไม่นานก็ขอคืนดี และสยามก็ให้คืนดี มันจะไม่ค่อยเหมือนกับสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งไปเลย

ในความสัมพันธ์รุ่นแรกตอนนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันจะหลวม มันจะอยู่บนผลประโยชน์ทางการค้า มีความยืดหยุ่น ไม่มีความตึงเครียดที่ถาวร ซึ่งลักษณะตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อระบบรัฐชาตินั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเรามีมุมมองที่ว่า ความสัมพันธ์ในอดีตมันเป็นความสัมพันธ์แบบนี้ เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบความสัมพันธ์ เมื่อรัฐชาติสมัยใหม่มันเริ่มกลายเป็นตัวแปรสำคัญขึ้นมา

ปัจจุบันนี้เรามักจะคิดว่า คนภาคใต้แตกต่างจากภาคอื่นและคนส่วนใหญ่ของประเทศ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ดูแตกต่างก็คือ เชื้อชาติมลายู ศาสนาอิสลาม และผืนแผ่นดินหรือ Home Land ของเขา แต่ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ มันไม่ได้ฝังตัวอยู่ในสังคม แต่ว่ามันถูกทำให้เกิดขึ้นด้วยกระบวนการทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้เกิดปฏิกริยา ระยะเวลาที่ถูกทำให้เกิดขึ้นนั้นไม่เกิน ๒๐๐ ปี

องค์ประกอบตัวแรกที่ว่าคือ ดินแดน กล่าวคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีไม่เหมือนเดิม ระยะเวลานี้โลกได้เริ่มเปลี่ยนไป ฐานความคิดจึงเปลี่ยนไป การที่จะคุมอำนาจปัตตานีอย่างหลวม ๆ นั้น รัฐไทยไม่ทำแบบนี้แล้ว รัฐไทยเริ่มคุมอำนาจปัตตานีอย่างเข้มงวดขึ้น และหากรัฐปัตตานีไม่ยอมรับอำนาจอันนี้ สยามก็พร้อมที่จะทำลายความแข็งแกร่งโดยการแบ่งแยกออกเป็น ๗ หัวเมือง

ตรงนี้มีช่องโหว่ของการศึกษาว่า ทำไมถึงได้มีการเปลี่ยนทัศนคติ โดยดิฉันพยายามที่จะมองทั้งความเสื่อมของราชวงศ์กลันตันและตัวแปรใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำให้สยามเปลี่ยนแนวความคิดในยุคต้น ๆ คือสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ มันเป็นองค์ประกอบที่มีปัจจัยหลายอย่างรายล้อมเข้ามาด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นได้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นก๊กต่าง ๆ มันชี้ให้เห็นว่า ระบบการปกครองแบบหลวม ๆ นั้นมันผูกพันอำนาจท้องถิ่นไว้ไม่ได้ ผู้ที่ขึ้นมาปกครองจึงคิดใหม่ทำใหม่

ความสนใจของพม่ากับเวียดนามที่ลงมามีบทบาทต่อบริเวณคาบสมุทรทำให้สยามนี้ต้องคิดกังวล ความสนใจของอังกฤษที่เริ่มเข้ามาตั้งเมืองท่าที่ปีนังและผลกระทบต่อรัฐไทรบุรี ทำให้สยามเกิดความคิดที่จะคุมคาบสมุทรให้เข้มงวดมากกว่าเดิม และความเสื่อมของรัฐที่อยู่ทางใต้เช่น ยะโฮ รีแอล และอาเจะห์ ทำให้ปัตตานีเหมือนกับจะกลายเป็นศูนย์กลางของรัฐมลายูได้โดยปริยาย เพราะว่าปัตตานีเป็นอู่อารยธรรมอิสลาม มีศักดิ์ศรีตรงนี้ค่อนข้างมาก

ที่สำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่า รูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในช่วงตอนต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้ความสำคัญของปัตตานีในฐานะเมืองท่านั้นหมดลง รวมทั้งบริเวณคาบสมุทรทั้งหมดก็เปลี่ยนไปด้วย บริเวณคาบสมุทรนั้นมันจะมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าคือ ทางน้ำสำคัญกว่าทางบก แต่พอสมัยต้นรัตนโกสินทร์ทางบกสำคัญกว่าทางน้ำ เพราะบริเวณคาบสมุทรจะกลายเป็นแหล่งผลิต พริกไทยเป็นตัวนำ ดีบุกกับยางพาราก็ตามมา ดังนั้นดินจะมีค่ากว่าน้ำ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่น้ำมีค่ามากกว่าดิน ตรงนี้เองที่ทำให้ Strategy หรือวิธีคิดของคนที่อยู่ตรงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับบริเวณคาบสมุทรตอนล่างเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง

เมื่อรัฐไทยเริ่มควบคุมอย่างแข็งแกร่งขึ้น จึงแบ่งดินแดนออกเป็น ๗ หัวเมือง และทั้งเจ็ดหัวเมืองจึงพยายามที่จะต่อสู้ เมื่อต่อสู้ไม่ได้จึงต้องยอมเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์นั้น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ก็ยังพอดำเนินไปได้คือการปรับตัวเข้าหากัน ปัญหาก็คือว่า สองรัฐคิดไม่เหมือนกันอีกแล้ว สยามคิดว่า เจ็ดหัวเมืองนี้เป็นของไทยแล้ว เพราะว่าเราไปตีเอามาแล้วแตกออกเป็นหัวเมือง แต่ว่า เจ็ดหัวเมืองนั้นกลับคิดว่าเขายังเป็นประเทศราชอยู่ เพราะว่าเขายังส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอยู่ แล้วเขาก็ยังคิดว่า แทนที่จะมีราชาเพียงองค์เดียวกลับเป็นการดีที่มีถึง ๗ พระองค์ คือมี ๗ หัวเมืองก็เรียกว่า เจ็ดพระยาเมืองและเขาเรียกตัวเขาเองว่าพระราชาทั้งนั้น จึงทำให้เกิดมุมมองที่ต่างกัน

ยิ่งสยามเอา เจ็ดหัวเมืองไปให้สงขลาดูแลโดยที่ไม่สนใจอะไรมากนอกจากจะ Exploit เจ็ดหัวเมืองนี้อย่างเดียวแล้วปล่อยให้ เจ็ดหัวเมืองนี้ปกครองกันเองข้างใน มันยิ่งทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่า เขายังเป็นประเทศราชอยู่ ขณะเดียวกันเมื่อรัชกาลที่ ๕ ท่านมีความกังวลเกี่ยวกับรัฐมลายู ท่านจึงพยายามชักชวนด้วยวิธีต่าง ๆ ให้รัฐมลายูสวามิภักดิ์กับไทยมากกว่าที่จะไปพึ่งกับอังกฤษที่อยู่อีกฝากหนึ่ง ทั้งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสถานะอย่างนี้จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

ดิฉันเชื่อว่ารัฐมลายูหลายรัฐมักจะถูกหลอกว่า จะสามารถรักษาความเป็นรัฐประเทศราชเช่นนี้ได้ตลอดไป เมื่อเหตุการณ์มันพลิกผัน เมื่อระบบเทศาภิบาลมันเกิดขึ้น ทุกคนก็ตกตะลึง ทำให้ทุกคนไม่ใช่เพียงแค่ปัตตานีเท่านั้นที่โกรธไทย กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรีก็โกรธมากเช่นกัน สุลต่านของไทรบุรีถึงกับโกรธมากว่า "ประเทศของฉัน คนของฉันถูกค้าขายเหมือนวัวควาย ไทยไม่มีสิทธิที่จะไปยกให้อังกฤษ" ส่วนสุลต่านตรังกานูหรือกลันตันเองก็บอกว่า "สยามนั้นเป็นขโมยเอาในสิ่งที่ไม่ใช่ของตนไปให้คนอื่น" ลักษณะแบบนี้ในปัตตานีก็เกิดขึ้นเช่นกันในกลุ่ม เจ็ดหัวเมือง กล่าวคือทฤษฎีกับการปฏิบัติมันไม่ตรงกัน

รัชกาลที่ ๕ สมัยที่ท่านเสด็จประพาสหัวเมือง ท่านพยายามชักชวนให้เห็นถึงประโยชน์ของบ้านเมืองว่า การทำเช่นนี้มันมีประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือ ประเทศก็ได้ประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง ราษฎรก็เอาไปส่วนหนึ่ง เมื่อระบบเทศาภิบาลคือการกระชับอำนาจรอบสองได้เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความรู้สึกถึงความสูญเสียดินแดนจึงเกิดขึ้น ในแง่หนึ่งสยามกลับมองว่า นี่เป็นการกำหนดพระราชอาณาเขตที่ต้องกระทำเพราะเรากำลังถูกรุกรานจากต่างชาติ

แต่สำหรับคนพื้นเมืองปัตตานีนั้นกลับมองว่า การกำหนดพระราชอาณาเขตนั้นหมายถึงการถูกตัดขาดจากโลกมลายูมุสลิมและต้องสูญเสียดินแดนไปเลย รวมทั้งสูญเสียอำนาจการปกครอง ถูกบังคับให้เป็นดินแดนของสยามโดยกำลัง เหตุการณ์ตรงนี้กลายเป็นสำนึกประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนปัตตานีใช้ในการอ้างสิทธิชอบธรรมในการต่อสู้ นั่นคือความเห็นของสุลต่านอับดุลกอดี แต่ถึงกระนั้นก็ดี หลังจากที่ถูกรวมเข้ามา ความไม่พอใจจึงอยู่ในเรื่องของ ดินแดน กล่าวคือองค์ประกอบตัวแรกได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่มันยังไม่ลามไปยังองค์ประกอบตัวอื่น คนที่ต่อต้านจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงกลุ่มผู้ปกครองเท่านั้น เพราะกลุ่มนี้จะเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้นการสูญเสียพระราชสมบัตินั้น ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนพลเมืองแต่มันเกี่ยวกับระดับผู้นำทั้งนั้นเลย

ณ จุดนี้มันจะเริ่มบานปลายก็ต่อเมื่อ หลังการสูญเสียดินแดน มันได้กระทบกับวัฒนธรรมของประชาชนเกิดขึ้น ดังนั้นในเรื่องแรกคือการต่อต้านเรื่องของดินแดน แต่พอถึงช่วงที่เชื้อชาติและศาสนา นับเป็นองค์ประกอบตัวที่สองและสามที่เข้ามาเป็นตัวแปร ซึ่งก็คือช่วงที่เกิดมีการใช้นโยบายชาตินิยมไทย การบูรณาการทางวัฒนธรรมของไทยตรงนี้ ทำให้เกิดเรื่องที่มันเคยอยู่ในระดับผู้นำกับผู้นำนั้นมันลงสู่มวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ใช้นโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้นมา

หลังจากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ของ หะยีสุหลง ของท่านผู้นำศาสนาเข้ามา จึงกลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นเรื่องของพระยาเมืองกับสยามเพียงอย่างเดียว ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของผู้นำศาสนาในฐานะผู้นำของชุมชน ที่ต้องการรักษาความเป็นเชื้อชาติมลายู และรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นอิสลาม มันได้ผูกพันเข้าด้วยกันตรงนี้ ดังนั้นหากเรามองในแง่ประวัติศาสตร์มันไม่น่าที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ แต่ตอนนั้นมันได้เกิดเหตุการณ์ต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ จนขยายวงแผ่กว้างออกไป เพราะว่ามันค่อยๆ ไปกระทบตัวองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างที่ดิฉันกล่าวมา คือจากเรื่องดินแดนก็ไปกระทบเชื้อชาติจนผูกเข้าด้วยกัน

ประมวล เพ็งจันทร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
ขอขอบคุณอาจารย์ชุลีพรมากนะครับ เนื่องจากอาจารย์นิธิท่านติดธุระต้องรีบเดินทาง ผมจึงขอให้ท่านผู้สนใจร่วมตั้งคำถามเพื่อเรียนถามอาจารย์นิธิ และตอบคำถามตามเวลาที่เหลืออยู่

ผู้ร่วมเสวนา
ผมขอเรียนถามอาจารย์นิธิว่า เมื่อผมพยายามเทียบเคียงบทบาทของผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนาในศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม ผมมองว่าพระนั้นเป็นการรวมเอาบทบาทของโต๊ะครูกับโต๊ะอิหม่ามเข้าด้วยกัน ผมจึงอยากที่จะทราบว่า ในสังคมของมุสลิมใน ๓ จังหวัดดินแดนภาคใต้ โต๊ะครูกับโต๊ะอิหม่ามแบ่งบทบาทในการเป็นที่พึ่งของชุมชนอย่างไร ถ้าชาวบ้านมีปัญหาจะวิ่งไปหาใคร และหาในเรื่องอะไร ขอบคุณครับ


ผู้ร่วมเสวนา

ดิฉันขอเรียนถามอาจารย์นิธิว่า ที่มีการฆ่าครู ฆ่าพระ เผาวัด ฆ่าทหารไทยที่ประจำอยู่ที่นั้น จุดประสงค์ของเขานั้นต้องการที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาอิสลามไปเลยหรือไม่ เผาวัดก็คือว่าอยากเปลี่ยนโบสถ์ไทยเป็นมัสยิดทั้งหมดอย่างเดียว หรือการฆ่าครูคนไทยก็เพื่อที่จะไม่ให้มีการสอนภาษาไทย ให้สอนแต่ภาษายาวีใช่หรือไม่

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ (นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ผมขอตอบคำถามท่านที่สองก่อนนะครับ เหตุการณ์ที่ท่านยกตัวอย่างถามมาทั้งหมดนั้นเป็นยุทธวิธีของเขา เป็นยุทธวิธีที่จะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น อย่างที่อาจารย์ชุลีพรพูดว่า ที่จริงปัญหาความแตกแยกแต่เดิมทีเดียวมันจำกัดตัวเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ และมีปัญหาทะเลาะกันเฉพาะเรื่องดินแดน แต่ตอนนี้มันขยายมาสู่เรื่องของศาสนา มาสู่เรื่องของเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ผมคิดว่าปัญหาในระยะยาวมันเป็นอันตรายต่อกลุ่มที่กระทำเองด้วย

กล่าวคือถ้าเราลองคิดเปรียบเทียบว่า ถ้าเราเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ตรงนั้น แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งได้ทำสิ่งเหล่านั้นแล้วมาบอกเราว่า สักวันหนึ่งเขาจะทำให้เราหลุดพ้นจากการกดขี่ของพวกคนไทย ผมถามว่า เราจะไว้ใจคนที่ใช้วิธีแบบนี้ได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นด้วยว่าพวกคนไทยกดขี่ก็จริง แต่การใช้วิธีเช่นนี้เพื่อสร้างรัฐใหม่ให้กับเรา ผมว่าคงไม่มีใครไว้ใจนัก เพราะหากใช้วิธีเช่นนี้แล้วเราจะหยุดกันเมื่อไหร่ ในระยะยาวไม่น่าจะได้ผล ผมยังเชื่ออยู่ว่าเป็นแค่ยุทธวิธีของเขาเท่านั้นเอง มันไม่เกิดผลที่จีรังยั่งยืนได้

ส่วนคำถามเรื่องโต๊ะครูกับอิหม่าม ผมขอตอบจากความไม่รู้จริงของผม อย่างแรก โต๊ะอิหม่ามเรามีในทุกมัสยิด แต่โต๊ะครูอาจมีเพียงบางชุมชน อย่างที่สอง โต๊ะครูต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ชาวบ้านยอมรับ เพราะโรงเรียนปอเนาะไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียน ดังนั้นการที่เราจะต้องส่งลูกไปเรียนจึงไปด้วยความศรัทธา ในขณะที่โต๊ะอิหม่ามอาจจะไม่ใช่

ผมเคยเจอชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งเมื่อครั้งที่ไปปัตตานี เผอิญในชุมชนนั้นมี ๒ มัสยิด ปรากฎว่า โต๊ะอิหม่ามทั้ง ๒ คนทะเลาะกันเอง ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ว่า คนหนึ่งมีอาชีพให้เงินกู้และมีการแย่งลูกค้ากัน เมื่อคุยกับชาวบ้าน เราก็พบว่าชาวบ้านก็ทราบดีว่าทั้งสองคนนี้ต่างมีปัญหา ความศรัทธาก็แยกกันไป ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว หากถามว่าเมื่อเกิดปัญหาชาวบ้านจะวิ่งไปหาใคร ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าไปหาในกรณีอะไร

ประมวล เพ็งจันทร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
ลำดับต่อไปจะเป็นการร่วมเสวนากับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในภาคแรกที่ได้รับฟังเป็นเหมือนกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพราะทั้งท่านอาจารย์นิธิและอาจารย์ชุลีพรท่านได้ให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร แต่ในช่วงต่อไปนี้จะเป็นการให้ภาพในปัจจุบันเพราะท่านอาจารย์ศรีศักรได้ลงพื้นที่ไปทำงาน ไปสัมผัสกับชาวบ้าน ไปเรียนรู้ข้อเท็จจริงในพื้นที่ จึงขอเรียนเชิญอาจารย์ศรีศักรได้บอกเล่าข้อเท็จจริงในปัจจุบันให้พวกเราได้รับรู้ต่อไป

(อ่านต่อบทความลำดับที่ 813 ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)

 



 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
240149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
มักมีคนตั้งคำถามกันมากกว่า " แล้วใครที่มาตั้งถิ่นฐานก่อนพวกอื่น ๆ " มันเป็นการยากลำบากที่จะบอกว่าเป็นใคร เพราะมันมีการอพยพหลายระลอกดังที่กล่าวมา ถ้าหากเท้าความไปถึงสมัยโบราณจริง ๆ ก็น่าที่จะเป็นการตั้งถิ่นฐานของพวกผู้คนสมัยยุคหินกลาง เราจะพบลักษณะของวัฒนธรรมหัวบิน มีชนเผ่าเงาะป่าซาไก มีพวกชาวเล ชาวถ้ำ เราพบหลักฐานว่ามีลักษณะของคนที่เป็นมนุษย์ถ้ำมาอยู่เป็นระยะเวลานานมาก มีภาพเขียนสีอยู่ภายในถ้ำ ที่ถ้ำซาไกก็มีหลักฐานทางภาพสีบนผนังถ้ำเป็นภาพผีสาง ที่ถ้ำชาวเลก็มี เราจะเห็นว่าพวกเขาอยู่กันมานาน และมีการดำรงอยู่ทับซ้อนกัน มีตั้งแต่พวกที่อยู่ดั้งเดิม และมีการอพยพเคลื่อนย้ายลงมาของพวกออสโตรเอเชียติก มอญ เขมร และทับซ้อนด้วยพวกออสโตรนีเชีย พวกที่พูดภาษามาลายูนั้นจะมาทางทะเล อ้อมทะเลลงมาแล้วขึ้นบก มาตั้งถิ่นฐานปะปนร่วมกันไปทับซ้อนกันหลายระลอก