นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วาระทางสังคม ร่วมกับ องค์กรกัลยาณมิตร
ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บรรยาย
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความถอดเทปชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณราณี หัสสรังสี (คณะทำงานวาระทางสังคม)
กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน
ชุด ๓ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส"
โดยเราจะเน้นหนักในประเด็นวิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดภาคใต้ของสังคมไทย

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 811
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)


ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
บทบรรยายถอดเทป โดยนักวิชาการสามท่าน

ราณี หัสสรังสี (คณะทำงานวาระทางสังคม)
งานเสวนาที่จัดอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้านชุด ๓ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ ๓ โดย

- ครั้งแรกที่จัดคือเรื่อง " วิกฤตการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
- ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่อง " มหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย " และ
- ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ คือเรื่อง " ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส " โดยเราจะเน้นหนักในประเด็นเรื่อง " วิธีเข้าใจประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดภาคใต้ของสังคมไทย " โดยวิทยากรคือ

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ท่านเป็นนักวิชาการอาวุโส มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์
ท่านที่สอง ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโสของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ
ท่านที่สาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชุลีพร วิรุณหะ อาจารย์ประจำภาควิชาประวิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำเนินรายการโดย ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ต่อไปขอเรียนเชิญ ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานวาระทางสังคมกล่าวเปิดงาน

อมรา พงศาพิชญ์ (คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประธานคณะทำงานวาระทางสังคม)
ขอต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านในนามของประธานคณะทำงานวาระทางสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยกันจัดงานเสวนาในครั้งนี้ โดยเรามีเจ้าภาพร่วมกันจัดงานหลายฝ่ายซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และมีศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมด้วย

คณะทำงานวาระทางสังคมเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการ โดยเกิดจากการรวมกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสังคม และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่มีความห่วงใยเรื่องพัฒนาการของสังคมและเรื่องปัญหาของสังคมไทย มาร่วมกันคิดแก้ปัญหาในเรื่องที่เราเห็นว่ามีความสำคัญ ดังนั้น จึงเป็นการร่วมกันในการทำงานเป็นช่วง ๆ ตามประเด็นที่เรามองว่าเป็นเรื่องที่เราต้องการมาพูดคุย และการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อจัดเวทีเสวนา หรือทำโครงการวิจัย หรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราคิดว่าจะช่วยให้ปัญหานั้นคลี่คลายไปได้ด้วยดีในทิศทางที่โดยสงบสุขและสันติภาพ

เหล่านี้เป็นความพยายามเล็ก ๆ ของกลุ่มคนที่ห่วงใยสังคม ซึ่งจะพยายามจัดงานในลักษณะนี้อยู่เรื่อย ๆ ตราบใดที่เรามองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่พวกเราเห็นว่าต้องการความเข้าใจ โดยพยายามจัดเวทีเพื่อนำความรู้มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยน ซึ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ บัดนี้นับว่าได้เวลาแล้ว จึงขอเรียนเชิญผู้ดำเนินรายการเริ่มงานเสวนาต่อไป

ประมวล เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ดำเนินรายการ)
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน ชุดกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ ๓. เท่าที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมเรานั้นเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ เราค่อนข้างจะมีความรู้ที่ดีกับประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นประวัติศาสตร์ของการมีอำนาจในสังคมของผู้มีอำนาจ แต่ในวันนี้เรากลับพบว่า เราขาดแคลนความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาให้กับสังคมไทย

ผมพบว่าสังคมไทยเราอุดมด้วยความรู้ในหลายสาขาวิชาไม่ขาดตกบกพร่อง แม้กระทั่งความรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ด้วย แต่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมความรู้ทั้งหลายที่เรามีจึงนำมาแก้ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้ ทั้งที่ปัญหาทุกวันนี้เป็นปัญหาที่วิกฤตและรุนแรงมาก ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้านจึงพยายามที่จะเชิญชวนทุก ๆ ท่านที่มาในที่นี้มาร่วมกันเสวนาเพื่อจะมาดูว่า เราจะมีวิธีการที่จะศึกษาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งถูกละเลยเพิกเฉยตลอดมากันอย่างไร ดังนั้นในเวทีนี้จึงน่าจะเป็นเวทีที่ทำให้เราได้ช่วยกันคิด ช่วยกันเรียนรู้ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะศึกษากันอย่างไร

หัวข้อการเสวนาในครั้งนี้จึงกำหนดในหัวข้อว่า " ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส " ซึ่งก็คือภูมิภาคหรือท้องถิ่นที่พวกเราทุกคนแม้จะรู้สึกอย่างไรก็ตามที แต่เราก็ควรต้องให้ความสนใจกับภูมิภาคหรือท้องถิ่นใน ๓ จังหวัดนี้ ทุกคนที่มาเป็นจำนวนมากในวันนี้ล้วนเป็นสิ่งยืนยันความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ดังนั้นผมจึงขอเรียนเชิญท่านศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความรู้กับเราเป็นท่านแรก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนที่ผมจะเสนอภาพสังเขปหรือ Outline ของประวัติศาสตร์ปัตตานีซึ่งก็หมายความรวมไปทั้ง ๓ จังหวัดภาคใต้ ในทัศนะของผมเห็นว่า ปัญหาของประวัติศาสตร์ปัตตานีที่มีการพูดกันโดยทั่ว ๆ ไปมีอยู่ ๒ อย่างด้วยกันคือ

อย่างที่ ๑ เรายังศึกษากันน้อยเกินไป เหมือนอย่างที่อาจารย์ประมวลเกริ่นนำเมื่อสักครู่ว่า ยังมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน้อย ซึ่งที่จริงแล้วมันก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ภาคอีสาน ประวัติศาสตร์ภาคเหนือที่มีการศึกษากันไม่มากนัก ทางแก้ของปัญหานี้ก็คือ เราก็ต้องควรศึกษากันให้มากขึ้น

อย่างที่ ๒ ก็คือ แม้เราจะศึกษากันมากขึ้นก็ตาม แต่เรามักมองไม่เห็นคนระดับล่าง ๆ ของสังคมที่อยู่ในระดับท้องถิ่น เราจะเห็นแต่ชนชั้นนำ เช่น เจ้าเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้ที่เคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่เรามองไม่เห็นการตั้งถิ่นฐานของคน เรามองไม่เห็นบริเวณตำบล หมู่บ้าน หรือประชาชนโดยทั่ว ๆ มากนัก วิธีแก้ก็คือ มีการหันไปศึกษาเรื่องนี้กันมากขึ้น ปัจจุบันก็มีคนทำการศึกษาอย่างนี้อยู่ เช่นเป็นต้นว่า มีการศึกษาเรื่องการตั้งถิ่นฐานของคนในอีสาน มีการศึกษาการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการคนระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน เราจะเห็นว่า เริ่มจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในลักษณะนี้กันมากขึ้น

ผมมองว่า ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของประเทศไทยนั้น แท้จริงแล้วน่าจะอยู่ที่ " กรอบการศึกษา " มากกว่า กล่าวคือ เราคิดว่าท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะปัตตานี เชียงใหม่ หรืออีสาน มันเป็น"Historical entity " มันเป็นหน่วยในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอิสระและสมบูรณ์ในตัวเองไหม เพื่อที่เราจะศึกษาหรือหากเราพึงศึกษาปัตตานีเฉพาะในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งในประเทศไทย โดยตัวมันเองเป็น Historical entity อันหนึ่งไหม

เหมือนอย่างที่เราศึกษาพม่า เรารู้สึกว่าพม่าเป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์อันหนึ่งที่เราจะศึกษาใช่ไหม แล้วปัตตานีเราจะคิดว่าเป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์ที่เราจะศึกษาโดยสมบูรณ์ในตัวมันเองได้หรือไม่ โดยไม่ได้ตั้งคำถามนี้ แต่ผมก็เชื่อว่านักวิชาการไทยส่วนใหญ่จะตอบโดยอัตโนมัติว่า " ไม่ " ด้วยเหตุผลเพราะว่า มันขัดกับความมั่นคงของรัฐ

เรามักจะมองว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว หากจะศึกษาปัตตานีก็ต้องศึกษาในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย หรือมิฉะนั้นงานศึกษาท้องถิ่นที่ทำในประเทศไทยส่วนใหญ่มันไม่ได้เกิดจากการศึกษาของคนในท้องถิ่นเอง แต่มันเกิดจากการศึกษาที่คนข้างนอกเข้าไปศึกษาข้อมูล โดยอาศัยประวัติศาสตร์ของภาคกลางเข้าไปหาประวัติศาสตร์ปัตตานี เข้าไปหาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช เข้าไปหาประวัติศาสตร์ของล้านนา เราจะเห็นได้ว่าความรู้ตรงนี้มันไม่ได้เกิดมาจากข้างในท้องถิ่นเอง

ดังนั้นมันจึงมีคำตอบในตัวว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั้งหลายมันไม่เป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ในตัวมันเองที่เราพึงจะศึกษาได้ พอเราศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางแล้ว เราจะพบว่า มันไม่ค่อยลงตัวในทุกภาคไม่ใช่เฉพาะในปัตตานีเท่านั้น เช่นเป็นต้นว่า มันขาด Continuity คือมันขาดความสืบเนื่อง

ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ก็จะมีการศึกษาโดยเริ่มจากการเป็นรัฐอิสระก่อน ต่อมาก็มีพม่ามาปกครอง ต่อมาก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของไทย จะพบได้ว่า เราจะมีความสนใจเพียง ๒ ตอนคือตอนที่มันเป็นรัฐอิสระ กับตอนที่มันตกเป็นเมืองขึ้นของไทย ส่วนที่มันตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้ง ๒๐๐ ปีนั้นเรามักไม่ค่อยสนใจ แท้จริงแล้วระยะเวลานานถึง ๒๐๐ ปีนั้นน่าสนใจมาก หากเรามองเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นรัฐล้านนาในฐานะรัฐในหุบเขา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะที่มีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น มันมีอยู่ในประเทศจีนและเลยไปถึงยูนนาน

รัฐในหุบเขาเหล่านั้นต่างเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น อำนาจของพม่ามันไม่ได้แผ่มาเฉพาะแต่ในล้านนาอย่างเดียว ยังแผ่เลยไปที่เชียงตุงและอื่น ๆ อีก ซึ่งเป็นชะตากรรมที่รัฐในหุบเขาต้องเผชิญกับอำนาจที่เมืองตองอู เมืองอังวะ และเมืองหงสาวดีที่อยู่แถวลุ่มน้ำอิระวดีและสาละวินเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เราพบว่าประวัติศาสตร์ตรงนี้มันจะหายไป ไม่มีใครไปศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ๒๐๐ ปีตรงนี้ เพราะเรามักถือว่า ประวัติศาสตร์ช่วงตรงนี้ไม่เกี่ยวกับเรา เราจะพบได้ว่าเราไม่สามารถที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าท้องถิ่น ในฐานะที่มันเป็นหน่วยหนึ่งของประวัติศาสตร์ของภาคกลางแต่เพียงอย่างเดียวได้ เราต้องมองมันใหม่ในฐานะที่เป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองพอที่เราจะศึกษามันโดยอิสระได้

ในที่สุดเราก็แก้ปัญหานี้โดยการเรียกมันว่าเป็น " ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น " แต่คำถามที่ตามมาทันทีก็คือว่า " ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของใคร " เช่นล้านนานั้น เราจะถือว่าเป็นท้องถิ่นของใครกันแน่ ในเมื่อมันเคยเป็นท้องถิ่นของเมืองอังวะมาก่อน ไม่ได้เคยเป็นท้องถิ่นของกรุงศรีอยุธยาแต่เพียงอย่างเดียว อย่างภาคอีสานก็เคยเป็นท้องถิ่นของเวียงจันทร์ด้วยเป็นต้น

คำถามต่อมาคือ " ใครเป็นศูนย์กลาง " และ " เป็นศูนย์กลางด้านไหน " เพราะว่าในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รัฐต่าง ๆ มันไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่เพียงศูนย์กลางเดียว มันมีหลายศูนย์กลางและมีมากทีเดียว เช่น รัฐล้านนานั้นศูนย์กลางทางการค้านั้นไม่ใช่อยุธยาอย่างที่เข้าใจกัน ศูนย์กลางคือเมืองเมาะตะมะ ดังนั้นความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น มันก่อให้เกิดคำถามต่าง ๆ ตามมาเป็นอันมากว่า ท้องถิ่นของใคร ใครเป็นศูนย์กลางของเมืองนั้น และก็เป็นด้านไหนบ้าง มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากน้อยแค่ไหน

บางทีเราก็ตัดศูนย์กลางอื่นออกไปเลย เช่น ภาคอีสานแม้ว่าจะตกอยู่ในความครอบครองของไทยเป็นเวลานานแล้ว แต่สำนึกถึงความเป็นศูนย์กลางของเวียงจันทร์ทางด้านจิตใจยังอยู่กับคนอีสานนานมาก หากใครได้อ่านประวัติของอาจารย์มหาศิลา วีรวงศ์ ซึ่งที่จริงท่านเป็นคนร้อยเอ็ดโดยกำเนิด มิใช่คนฝั่งลาวแต่อย่างใด ความสำนึกในความรู้สึกเรื่องของเวียงจันทร์เป็นศูนย์กลางของท่านนั้นแรงมาก จนกระทั่งไปกำหนดชะตาชีวิตของท่าน โดยทำให้ท่านต้องรู้สึกที่จะต้องเข้าไปกู้เอกราชให้ลาว ทำให้ท่านต้องกลายเป็นนักปราชญ์ของคนลาวในที่สุด เราจะเห็นได้ว่าจากเสียงเรียกร้องในจิตใจของท่านแม้ว่าจะเกิดในแผ่นดินไทยก็ตาม ท่านได้เลือกที่จะเป็นคนลาว มันบ่งชี้ถึงความเป็นศูนย์กลางของคนเวียงจันทร์ในตัวท่านอย่างชัดเจน

เมืองปัตตานีก็มีความชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน ผมไม่เชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นศูนย์กลางของเมืองปัตตานี แม้ว่าในอดีตกรุงศรีอยุธยากับปัตตานีจะเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน ทั้งในเชิงมิตรภาพและในเชิงที่เคยเป็นศัตรูกัน รวมทั้งการค้าขายระหว่างกันก็มีมาก แต่ก็มิใช่เป็นจุดเดียว เมืองปัตตานียังค้าขายกับเมืองอื่น ๆ อีกเช่นกัน

เพราะฉะนั้นปัญหาของกรอบการศึกษาที่ผิดในทัศนะของผม ซึ่งกระทบการศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากอะไร ผมมีคำตอบอยู่ว่า " มันเกิดขึ้นเพราะการที่ประเทศไทยเรานั้น ไม่เคยมีประวัติศาสตร์แห่งชาติที่แท้จริง " จนกระทั่งถึงนาทีนี้ เราก็ยังไม่เคยมีประวัติศาสตร์แห่งชาติที่แท้จริง ที่เราเรียกกันว่าเป็นประวัติศาสตร์ไทยโดยสอนกันมาตั้งแต่ชั้นประถมจนจบชั้นมหาวิทยาลัยนั้น มันคืออะไรกันแน่

มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติไทยแต่อย่างใด มันเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติ เป็นรัฐราชสมบัติอันหนึ่ง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะเป็นอยุธยาหรือบางกอกอย่างไรก็ตามแต่ มันเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เผอิญในช่วง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมาคือในสมัยราชวงศ์จักรีเป็นต้นมา มันอาศัยจังหวะที่เกิดความเสื่อมโทรมในศูนย์อำนาจใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งพม่าหรือฝั่งเวียดนาม รัฐมาลายูในขณะนั้นต่างก็แตกสลายกลายเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยกันหมด ไม่มีมหาอำนาจใหญ่ ๆ เช่น มะละกาหรือยะโฮว์ที่จะเป็นผู้มาต้านทานอำนาจได้ ในช่วง ๒๐๐ ปีจึงทำให้รัฐราชสมบัติแห่งนี้ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างนั้น สามารถขยายอาณาเขตออกไปได้กว้างขวางมาก

จนกระทั่งต้องมาเผชิญกับอำนาจฝรั่งซึ่งเข้ามาสถาปนาศูนย์อำนาจใหม่ขึ้นที่สิงคโปร์ ที่ปัตเตเวีย ที่ฮานอย และที่ย่างกุ้ง ซึ่งกลับไปหา pattern เก่าของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันเฉียงใต้ โดยประวัติศาสตร์เอเชียตะวันเฉียงใต้เป็นเรื่องของศูนย์อำนาจที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ กระจายอยู่ในภูมิภาคนี้ และแผ่อำนาจเข้ามาซ้อนทับกันในดินแดนทั่วทั้งหมด ในดินแดนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันเฉียงใต้

หลังจากที่ฝรั่งเข้ามาตั้งสถาปนาอำนาจตนเองในศูนย์ต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็เริ่มที่จะขยายอำนาจเข้ามาแผ่ทับกันกับศูนย์อำนาจบางกอกเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐราชสมบัติแห่งนี้ต้องค่อย ๆ หดตัวลงมาโดยถูกบีบจากฝรั่ง แล้วก็เริ่มการปฏิรูปอย่างที่เราเคยเรียนรู้กันมาแล้ว ทำการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา โดยการรวมเอารัฐราชสมบัติอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นล้านนา อีสาน หรือปักษ์ใต้ หรือรัฐหัวเมืองมลายู ซึ่งรัฐเหล่านี้ก็คือรัฐราชสมบัติทั้งนั้น เมื่อรวมเอารัฐเหล่านี้มาได้แล้ว ก็ดำเนินการปกครองภายใต้กรอบของรัฐสมัยใหม่ที่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง นี่คือ สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติที่ใช้แกนกลาง คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเท่านั้นเอง

ถ้าเราจะมีการสร้างประวัติศาสตร์ประชาชาติขึ้นมา เราก็คงไม่อาจปฏิเสธมรดกที่รัฐราชสมบัติหลาย ๆแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอยุธยาและในบางกอกได้ทิ้งไว้ให้แก่เรา ซึ่งมีมากมายหลายอย่าง แต่เราต้องไม่เอาประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมาเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งมันไม่ใช่ เราต้องไม่ถือว่าประชาชาติไทยเป็นตัวสืบเนื่องของรัฐราชสมบัติ มันต้องมีจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นตัวแบ่งแยกระหว่างรัฐราชสมบัติกับรัฐที่เป็นประชาชาติไทย ประวัติศาสตร์ทั้งสองอันจะต้องมีจุดที่ชี้ให้เราเห็นได้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สืบมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้มันก็ไม่มีประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติไทย มันจะมีแต่เพียงประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติที่สืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

และจุดที่เป็นจุดแตกหักและเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ผมคิดว่า นั่นก็คือการกำเนิดประชาชาติที่แท้จริง ซึ่งรากเหง้าของประชาชาติไทยนั้น ส่วนหนึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็มาจากรัฐราชสมบัตินั่นเอง แต่มันต้องมีจุดแตกหักหรือจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการที่จะทำให้รัฐราชสมบัติต่าง ๆ เข้ามารวมกันขึ้นเป็นประชาชาติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผมถือว่ามันสำคัญมากที่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเล่าประวัติศาสตร์ของการเกิดขึ้นของประชาชาติไทยที่ดึงเอารัฐราชสมบัติต่าง ๆ มารวมกัน จะโดยอำนาจหรืออย่างไรก็ตาม ก็ควรที่จะต้องมองถึงภาพของการเข้ามารวมกันอย่างเท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่โดยมีใครเหนือใคร

ผมขอยกตัวอย่างเช่น วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยตัวของมันเองเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเกิดรัฐประชาชาติไทย อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่มันมีการพัฒนาของแนวคิดของการกระทำที่จะเกิดประชาชาติไทยขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ฉะนั้น หากเราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติไทยแล้วสอนเรื่องเกี่ยวกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ควรที่จะสอนเคียงคู่กันไประหว่างสิ่งที่เราเรียกว่า Modernization ซึ่งกระทำโดยรัชกาลที่ ๕ โดยระบอบปกครองของรัฐราชสมบัตินั้น เคียงคู่กันไปกับการเกิดขึ้นของแนวคิดและการกระทำของกลุ่มคนที่ค่อย ๆ สร้างและขยายความคิดเรื่องรัฐประชาชาติลงมาในบ้านเมือง ไม่ใช่สอนแต่เพียงเรื่อง Modernization อย่างเดียว แล้วเอา Modernization นั้นสืบต่อจนมาถึงปัจจุบัน

ในตัวของมันเอง มันมีรอยแตกระหว่างการเปลี่ยนประเทศให้ทันสมัยกับการเกิดขึ้นของรัฐแบบใหม่อีกชนิดหนึ่งพร้อม ๆ กัน นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าในเวลาที่เราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ประชาชาติไทยนั้น มันจะแตกต่างอย่างไรกับการเรียนประวัติศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าคณะราษฎรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ซึ่งเมื่อก่อนเราได้ถือว่าเป็นวันชาติของเรา แต่มันเป็นการปฏิวัติประชาชาติที่ขาดมิติทางวัฒนธรรม

คณะราษฎรไม่ได้สนใจเรื่องของวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ สืบมาจนกระทั่งคณะราษฎรสลายตัว แท้จริงแล้วหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คืออีก ๓ - ๔ ปีต่อมา เด็กมัธยมในสมัยนั้นยังใช้หนังสือพระราชพงศาวดารสำหรับเป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์อยู่เลย มันไม่น่าจะเป็นไปได้ในเมื่อมีความพยายามที่จะสร้างประชาชาติขึ้นมาแล้ว เรายังเอาอดีตของอีกรัฐหนึ่งมาบอกให้เด็กเรียนหนังสือ มันแสดงถึงว่าคณะราษฎรนั้นไม่ได้มีมิติทางด้านวัฒนธรรมเลย

ยกเว้นกรณี จอมพล ป. พิบูลสงครามที่ท่านพยายามจะสร้างวัฒนธรรม แต่บังเอิญเป็นแค่วัฒนธรรมของเผด็จการไพร่เท่านั้นเอง คำว่า " เผด็จการไพร่ " ผมไม่ได้หมายความในเชิงไม่ดี ผมใช้คำว่าไพร่ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ " เจ้า " ซึ่งก็หมายถึงว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามที่อยู่ในคณะราษฎรก็พยายามสถาปนามิติทางวัฒนธรรมของเผด็จการไพร่ขึ้นมา แทนเผด็จการเจ้าเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงทำให้ไม่เกิดประวัติศาสตร์ประชาชาติขึ้นมาในสังคมไทย

ประวัติศาสตร์ประชาชาตินั้นต้องหมายถึงอะไรบ้าง มันต้องหมายถึงการที่ประชาชนในรัฐราชสมบัติต่าง ๆ ซึ่งมีอดีตที่แตกต่างกัน และก็ไม่ได้มีอดีตที่แตกต่างกันอย่างเดียว มันรวมถึง การมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีภาษาที่แตกต่าง มีศาสนาที่แตกต่าง มีแม้แต่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่าง ดังนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะพูดได้เลยว่า คนกรุงเทพฯ กับคนปัตตานีอยู่ในระบบเศรษฐกิจสังคมอันเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้วมันอยู่กันคนละระบบเลย เราต้องยอมรับในความแตกต่างเหล่านี้

แต่รัฐราชสมบัติเหล่านี้หรือรัฐโบราณทั้งหลายเหล่านี้ เห็นประโยชน์ในการที่จะเข้ามาร่วมกันอยู่ในประชาชาติเดียวกัน แม้ว่าในอดีตพวกเขาจะเห็นหรือไม่ก็ตาม แต่เราต้องสอนประวัติศาสตร์ให้เขาเห็นว่ามันมีประโยชน์ เราต้องดำเนินนโยบายทางการเมืองให้เห็นว่า การที่เราร่วมอยู่ในประชาชาติไทยนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ประชาชาติจึงแตกต่างจากประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติ และตราบเท่าที่เราไม่มีกรอบความคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาชาติแบบนี้แล้ว ผมคิดว่าเป็นการยากที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานี จริง ๆ และผมคิดว่าเป็นการยากที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์อีสาน ยากที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ยากที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง ม้ง เย้าด้วยซ้ำไป ถ้าเราคิดแต่เพียงว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชาติไทย ซึ่งมันไม่มีอยู่จริงตั้งแต่อดีตสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ต่อจากนี้ไปผมจะเสนอ Outline หรือสังเขปประวัติศาสตร์ดินแดนที่เคยเป็นปัตตานีในสมัยหนึ่ง ในฐานะที่มันเป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นอิสระและสมบูรณ์โดยตัวของมันเองตามทัศนะของผม โดยเริ่มต้นที่หากเราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานี เราควรจะต้องให้ความสำคัญกับความเป็นรัฐชายฝั่งทะเลที่มีความสัมพันธ์กับการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก และการค้าระหว่างประเทศนั้นมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่เคยอยู่นิ่ง

ศูนย์กลางทางการค้าเลื่อนจากที่ต่าง ๆ เปลี่ยนหน้าผู้ทำการค้าอยู่เรื่อย ๆ ฉะนั้นเราจะต้องมองว่าเป็นรัฐชายฝั่งที่สัมพันธ์กันกับสภาพการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในทะเลจีนตอนใต้กับฝั่งมหาสมุทรอินเดียอยู่ตลอดเวลาว่า มันปรับเปลี่ยนตัวมันเองอย่างไร ศูนย์อำนาจของรัฐชายฝั่งปัตตานีจะอยู่ไม่ไกลจากทะเลเท่าไรนัก ดินแดนแถบนี้ขาด Concentration of Population คือขาดการกระจุกตัวของประชากรขนาดใหญ่ เราลองนึกภาพของทะเลสาบเขมร ซึ่งมันมีความอุดมสมบูรณ์พอที่มันจะมีการกระจุกตัวของประชากรเป็นจำนวนมากไว้ในที่เล็ก ๆ ซึ่งทำให้มีการปกครองได้ง่าย

รัฐปัตตานีขาดสิ่งเหล่านี้ ขาดสิ่งที่เหมือนกับทะเลสาบเขมร ขาดแหล่งชลประทานขนาดใหญ่แบบ " เจาะเซ " ของพม่า ที่จะเป็นแรงดึงดูดประชากรให้มาอยู่ด้วยกันในอาณาเขตที่ไม่กว้างใหญ่ทำให้สามารถควบคุมประชากรได้อย่างทั่วถึง รัฐชายฝั่งทะเลจะขาดสิ่งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ปัตตานีแห่งเดียว และน่าจะเป็นไปได้ว่า คงจะมีการเคลื่อนย้ายประชากรที่รวดเร็วมากด้วย

แนวคิดนี้เป็นความคิดของนักศึกษาฝรั่ง ซึ่งเมื่อศึกษาจากศรีวิชัยแล้วเราจะพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ของรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ในศรีวิชัยนั้น จะเป็นประชากรที่เดินเรือเก่ง แล้วก็จะมีการแห่กันไปตามเมืองท่าที่มีการค้าขายดีและสามารถทำกินได้ดี พอเมืองที่อยู่อาศัยเสื่อมถอยลง ประชากรเหล่านั้นก็สามารถเคลื่อนย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว เมืองปัตตานีในช่วงหนึ่งก็น่าที่จะมีลักษณะแบบเดียวกันนี้ คือเป็นเมืองท่าที่มีคนพร้อมที่จะอพยพเข้ามาอยู่ และมีคนที่พร้อมที่จะอพยพออกทันที แล้วแต่สภาพทางเศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่เมืองปัตตานีรุ่งเรืองที่สุด คงจะมีประชากรเป็นจำนวนมากพอที่จะสามารถสร้าง " ยะรัง " ซึ่งแต่เดิมจะมีชื่อเรียกอย่างไรไม่ทราบ แต่ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอยะรัง ซึ่งคาดว่าจะเป็นเมืองโบราณที่ใหญ่มากที่สุดของภาคใต้ก็อาจเป็นได้ แสดงว่าจะต้องมีประชากรที่มากพอที่จะเอาแรงงานไปสร้างเมืองให้ใหญ่ขนาดนั้นได้ อย่างไรก็ตามแต่ เมืองชายฝั่งทะเลซึ่งมีประชากรอยู่ที่ไม่มากนักและเคลื่อนย้ายประชากรได้อย่างรวดเร็วแบบนี้ จะมีขีดความสามารถในการป้องกันตนเองได้ยากมากจากการคุกคามของโจรสลัด จากการคุกคามของรัฐใหญ่อื่น ๆ ก็ยาก เพราะฉะนั้นรัฐที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลรวมทั้งปัตตานีด้วย จึงหาวิธีการในการที่จะสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง ๓ ประการด้วยกันคือ

ประการที่ ๑ คือ ร่วมกับรัฐอื่น ๆ ในการทำเป็นสหพันธรัฐ เพื่อหาประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศเช่น ในสมัยศรีวิชัยเพื่อที่จะได้ไม่ถูกรัฐใหญ่รังควาน แต่วิธีนี้ก็ไม่อาจใช้ได้เสมอไป เพราะศรีวิชัยเองก็เคยถูกรุกรานจากมหาอำนาจอย่างอินเดีย คือพวกทมิฬมาแล้ว

ประการที่ ๒ คือ พยายามสร้างตนเองขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ ซึ่งก็ไม่อาจทำได้ง่าย ๆ นัก ต้องอาศัยจังหวะบางอย่างเท่านั้นที่คุณจะสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดเพียงศูนย์เดียว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของรัฐชายฝั่งทะเลในคาบสมุทรมาลายูบ่อยนัก มันไปเกิดขึ้นที่มะละกาจากความบังเอิญหลายอย่าง หากถ้าคุณทำได้สำเร็จอย่างมะละกา คุณก็จะสามารถดึงเอาประชากรอีกจำนวนมากเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของคุณได้ และสามารถใช้ประชากรเหล่านั้นช่วยในการป้องกันตนเองได้ ทั้งประชากรที่เคลื่อนย้ายทางทะเลได้บ่อยและประชากรที่อาศัยอยู่ส่วนในของแผ่นดินซึ่งก็มีความสำคัญเช่นกันเมื่อมีการค้าของป่าเพิ่มมากขึ้น

ประการที่ ๓ คือ การสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการแต่ไม่ใช่เป็น Colony พยายามอย่าไปเทียบกับเมืองขึ้นของฝรั่ง เพราะรัฐเล็ก ๆ เหล่านี้จะสร้างความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับศูนย์อำนาจเกิน ๑ ศูนย์เสมอ ไม่มีใครที่จะไปสร้างความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับศูนย์เดียว แนวทางปฏิบัตินี้ทำกันมาแต่โบราณ คือสร้างความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับรัฐใหญ่หลาย ๆ รัฐไปพร้อม ๆ กัน เมืองปัตตานีหรือรัฐชายฝั่งแบบนี้จะมีการติดต่อกับรัฐอื่น ๆ หลายรัฐกว้างขวางมาก พ่อค้าโพ้นทะเลเองต่างก็จะพากันหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังพบว่ามันมีความสัมพันธ์มาไกลมาก อย่างเช่น แถวปัตตานีเองก็พบความสัมพันธ์กับทวารวดีเป็นต้น อย่างน้อยเราก็พบว่ามีอิทธิพลทางศิลปะที่ให้แก่กันและกันซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่กว้างขวางมาก ดังนั้น รัฐที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลอย่างปัตตานีนี้จะค่อนข้างอ่อนไหวง่ายกับวัฒนธรรมที่หลั่งไหลมากับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งวัฒนธรรมฮินดู มหายาน เถรวาท และอิสลาม

นอกจากนี้ในเขตเมืองของปัตตานีเอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เราพบว่า มีประชากรอาศัยอยู่หลายเผ่าพันธุ์มาก อาทิเช่น จีน อาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย ชวาและประชาชนจากหมู่เกาะอินโดนีเซียซึ่งไกลไปถึงสุลาเวสีก็มี เราจะเห็นว่ามีหลายกลุ่มมากที่เข้ามาค้าขายกับปัตตานี ทั้งนี้ยังไม่นับพ่อค้ามาลายูที่มาจากรัฐอื่น ๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออกของคาบสมุทรมาลายูรวมทั้งฝรั่งอีกหลายชาติและญี่ปุ่นด้วย แสดงว่ามันเป็นรัฐที่มีความอ่อนไหวในทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ความเชื่อ เทคโนโลยี และคนที่จะมากระทบกับเมืองได้ง่ายมาก

ทางด้านความสัมพันธ์ของประชากรที่อยู่ส่วนในของแผ่นดิน เรามีข้อมูลการศึกษาและความรู้ทางด้านนี้น้อยมาก เพราะหลักฐานที่เราเห็นมันจะเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับทางต่างประเทศมากกว่า เราจะไม่ค่อยพบหลักฐานที่อ้างถึงประชากรส่วนในของแผ่นดินมากนัก แต่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญพอสมควรทีเดียว เพราะเมื่อตอนที่ปัตตานีมีชื่อเสียงในศตวรรษที่ ๑๗ รัฐปัตตานีไม่น่าจะเป็นแค่รัฐชายฝั่งโดด ๆ อย่างเดียว มันน่าจะมีความสัมพันธ์กับส่วนในอยู่พอสมควรด้วย อย่างน้อยที่สุดประชากรที่อยู่ส่วนในของแผ่นดินน่าจะเป็นฐานประชากรที่สำคัญเพราะว่ามันเคลื่อนย้ายได้ช้ากว่าประชากรที่มาทางทะเล

ในระบอบปกครองของเขา จะมี"รายา"หรือ"สุลต่าน"อยู่เหนือกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำ ซึ่งเรียกเป็นภาษามาลายูว่า "โอรังกายา (Orung Kaya)" พวกโอรังกายาหรือชนชั้นสูงเหล่านี้ ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในการปกครอง เช่นเป็น"ลักษมานา"ซึ่งก็เป็นเหมือนแม่ทัพเรือ เป็น"บันดาฮารา"ซึ่งก็เกี่ยวข้องด้านการค้าการคลัง และที่พบในหลักฐานทั่ว ๆ ไปของรัฐมาลายูต่าง ๆ ก็คือว่า ตำแหน่งเหล่านี้สืบตระกูลซึ่งก็หมายถึงอำนาจที่ฝั่งแน่นมาช้านาน เมื่อเทียบกับรัฐไทย เราจะพยายามระวังไม่ให้มีการสืบตระกูลของขุนนางอย่างยาวนานมากนัก เพื่อป้องกันไม่ให้ท้าทายอำนาจผู้ปกครองแผ่นดินได้

แต่สำหรับรัฐมาลายูแล้ว ตำแหน่งเหล่านี้กลับเป็นตำแหน่งที่สามารถสืบตระกูลได้ จึงพบได้ว่าพวกโอรังกายาเหล่านี้ มีอำนาจคุมกำลังคนในส่วนในของแผ่นดินอยู่ส่วนหนึ่ง พวกโอรังกายาบางพวกก็มีอำนาจมากพอที่จะท้าทายอำนาจของรายาหรือสุลต่านได้ด้วย เพราะคุมกำลังคนเหมือนกัน ในขณะที่รายาอาจจะคุมกำลังคนที่อยู่ในปากอ่าว พวกโอรังกายาอาจคุมกำลังคนข้างในซึ่งก็อาจมีกำลังคนพอ ๆ กัน แต่สิ่งที่โอรังกายาขาดไปคือ สิ่งที่ภาษามาลายูเรียกว่า "เดาลัด" ซึ่งหมายถึง ราชสมภารบารมี ดังนั้นสุลต่านหรือรายาจึงมีเดาลัดหรือราชสมภารบารมีที่โอรังกายาไม่มี

ปัจจุบันคำว่า"เดาลัด"มีความหมายถึงอำนาจอธิปไตย อย่างเช่นคำว่า " เกอเดาลาตัน " แปลว่าอธิปไตย ซึ่งมันเป็นความคิดใหม่ซึ่งเมื่อก่อนนี้มันไม่มี เราจะเห็นว่ามันมีอำนาจลี้ลับบางอย่างที่เรียกว่าราชสมภารบารมีของสุลต่านที่ทำให้มีการสืบต่อราชวงศ์มาได้อย่างยาวนาน. "เดาลัด" อาจจะแสดงออกในทางวัตถุก็ได้เช่น การมีกริช มีมรดกตกทอดมาจากสุลต่านองค์ก่อน ๆ รวมทั้งทางด้านจิตวิญญาณหรืออภินิหารต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกโอรังกายาจะต้องยอมต่อสุลต่าน แม้ว่าตัวสุลต่านเองอาจจะไม่มีอำนาจมากไปกว่าโอรังกายาก็ว่าได้

ในศตวรรษที่ ๑๗ นั้น รัฐปัตตานีเคยมีรายาเป็นผู้หญิงครองราชย์ติดต่อกันถึง ๓ คน นักศึกษาฝรั่งคนหนึ่งชื่อ Anthony Reed อธิบายว่า ที่ต้องให้มีผู้หญิงครองราชย์ติดต่อกันถึง ๓ คนก็เพื่อป้องกันการแย่งอำนาจกันของพวกโอรังกายา และมีการตกลงประนีประนอมกันว่า ตกลงให้มีการมอบอำนาจให้ผู้หญิงปกครอง เพื่อป้องกันไม่ให้สุลต่านนั้นมีความสามารถที่จะสะสมกำลังได้มากกว่าพวกโอรังกายา

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนที่มีอยู่ภายในของกลุ่มชนชั้นนำในปัตตานีเอง หลังจากที่ราชวงศ์ราชวังสาหมดอำนาจลง ราชวงศ์ที่สืบต่อมาคือราชวงศ์กลันตัน แต่เดาลัดของราชวงศ์กลันตันนั้น มีไม่เท่ากับราชวงศ์ราชวังสา เพราะฉะนั้นมันจึงมีแนวโน้มการแย่งอำนาจกันจากพวกโอรังกายาโดยตรงมากขึ้น หรือการที่ไทยเข้าไปมีอำนาจในเวลาต่อมา อาจเป็นตัวช่วยเร่งให้เกิดการแย่งอำนาจกันเองในกลุ่มเหล่านั้นก็เป็นไปได้ หากเราย้อนกลับไปดูเรื่องการกบฏ เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วเป็นการแย่งอำนาจกันระหว่างกลุ่มที่เป็นเชื้อสายสุลต่านบ้าง กับกลุ่มที่เป็นโอรังกายาบ้าง เพื่อเป็นการขอคำรับรองจากไทย ไทยก็ใช้ประโยชน์จากความแตกแยกอันนี้ เพื่อคืบคลานเข้าไปมีอำนาจเหนือปัตตานีมากขึ้น

บทบาทอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มของครูสอนศาสนา เราจะพบว่าครูสอนศาสนาของรัฐมาลายูเหล่านี้ โดยเฉพาะรัฐปัตตานีหรือที่รัฐอื่น ๆ ด้วย ต่างก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของราชสำนัก ซึ่งต่างจากรัฐไทย ที่ผู้ครองแผ่นดินเป็นผู้ที่เชิญพระเข้ามาในราชสำนัก แต่ทางปัตตานีนั้นความสัมพันธ์ระหว่างครูสอนศาสนากับราชวงศ์เป็นไปในเชิงปรปักษ์กันอยู่ มีการเล่าไว้ใน "ฮิกายัต ปัตตานี" (Hikayat Patani) ว่า เมื่อรายาประชวร ทางครูสอนศาสนาเป็นผู้ขอเสนอตัวมารักษาเอง โดยมีข้อตกลงว่าหากรักษาหายแล้ว ทางรายาต้องนับถือศาสนาอิสลาม แต่ตัวรายาเองเมื่อได้รับการรักษาหายแล้วกลับไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามตามสัญญา ต้องมีการต่อรองกันถึง ๓ ครั้งกว่าจะยอมรับนับถือ เราจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรายากับครูสอนศาสนามันไม่ได้ราบรื่นนัก มันมีความเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะมองครูสอนศาสนาอิสลามในปัตตานีแบบเดียวกับที่เรามองพระในสังคมไทยไม่ได้

พระในสังคมไทยนั้นค่อนข้างที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระมหากษัตริย์ จนกลายมาเป็นองค์กรที่แนบแน่นกับองค์กรชั้นปกครองเรื่อยมาจนปัจจุบัน ก็ได้รับความสำคัญเสมือนเป็นกรมเป็นกระทรวงไป แต่ในรัฐอิสลามกลับแตกต่างกัน กลุ่มครูสอนศาสนาเป็นองค์กรหรืออีกอำนาจหนึ่งที่เป็นอิสระจากผู้ปกครอง เราไม่พบว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ปัตตานีได้เปลี่ยนมาเป็นอิสลามแล้ว แต่เราพบร่องรอยในเรื่องเล่านิทานชาวบ้านถึงความสัมพันธ์ที่เป็นปฏิปักษ์ระหว่างครูสอนศาสนากับสุลต่านตลอดมา เช่น

ดาโต๊ะคนหนึ่งชื่อโต๊ะปันจัง ได้ทำการค้าขายสินค้าที่ไม่ถูกอนุญาตให้ขายจนต้องถูกสุลต่านตัดสินประหารชีวิต เมื่อโต๊ะปันจังเสียชีวิต และมีการนำร่างนั้นใส่โรงศพ ร่างของโต๊ะปันจังก็ยาวขึ้นมาจนใส่โรงศพไม่ได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนสักกี่ครั้งก็ใส่ไม่ได้อยู่ดี จนชาวบ้านเรียกกันว่าโต๊ะยาว นั่นเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ของทั้ง ๒ ฝ่ายได้เป็นอย่างดี แม้รัฐปัตตานีจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม

หลังจากนั้นเมื่อรัฐไทยเข้าไปมีอำนาจในรัฐปัตตานี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสยามได้เข้าไปทำลายทั้งสุลต่านและทั้งโอรังกายา จนประชาชนไม่มีที่พึ่งไม่รู้จะต่อรองอำนาจกับรัฐสยามอย่างไร ประชาชนก็ต้องหันไปหาครูสอนศาสนา ซึ่งครูสอนศาสนาเองก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ อย่างกรณีของครูบาศรีวิชัยที่เรารู้จักกันดี ลูกศิษย์ของท่านที่ท่านทำการบวชให้ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นคนชายขอบ เมื่อรัฐไทยออกกฎหมายว่า หากไม่ใช่พระอุปัชฌาย์จะทำการบวชคนไม่ได้ แต่จะเอาข้อบังคับนี้ไปบอกกับคนกะเหรี่ยงนับพัน ๆ คนย่อมไม่เป็นที่เข้าใจ ก็ยังมีการฝืนอำนาจอยู่ดี

รัฐปัตตานีก็เช่นกันเมื่อไม่มีสุลต่านหรือโอรังกายา พวกชาวบ้านก็ต้องหันมาพึ่งครูสอนศาสนาซึ่งก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างครูสอนศาสนากับชาวบ้านเป็นการอยู่อย่างเกื้อกูลกันมากมาโดยตลอด จึงทำให้ครูสอนศาสนาเข้ามามีบทบาทเด่นเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐไทย ทั้งก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

การที่คนต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมกันเป็นรัฐประชาชาติก็ควรที่จะมีความเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพเหมือนกัน มีอำนาจในการดูแลตนเองและปกครองตนเองในระดับหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นแทนที่เราจะพูดเรื่องการแข็งข้อต่อรัฐของปัตตานีเพียงอย่างเดียว และเอาเรื่องแข็งข้อของปัตตานี หรือ Insurgency (การจลาจล การกบฎ)มาเป็นเรื่องของการต่อต้านอำนาจรัฐไป มันยังมีเรื่องที่ควรจะพูดเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีอีกมาก

ทุกครั้งที่เราพูดถึงการแข็งข้อ เรามักไปเชื่อมโยงเรื่องการแข็งข้อกับกบฏในสมัยรัฐราชสมบัติอยู่เสมอ มันมีประสบการณ์ร่วมของประชาชนชาวปัตตานีกับประชาชนอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยซึ่งเราไม่เคยสนใจเลย แน่นอนว่าสิ่งที่กระทบกับชาวปัตตานีย่อมแตกต่างจากที่อื่น ซึ่งมีลักษณะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน แต่มันกระทบจากเหตุอันเดียวกัน เราชอบยกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ยกตัวอย่างตอนที่ยุวชนปัตตานีสู้กับญี่ปุ่น แต่มันยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ อีกที่คนปัตตานีเผชิญร่วมกับคนไทยในประชาชาติไทยอีกหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านปฏิรูปการปกครอง มีการส่งข้าหลวงลงไป เมื่ออำนาจทางการเมืองและการปกครองจากส่วนกลางแผ่ขยายลงไป มันเกิดอะไรขึ้นในอีสาน มันเกิดอะไรขึ้นในทางเหนือ มันเกิดอะไรขึ้นที่ปัตตานี เราเคยสนใจเรื่องนี้บ้างหรือไม่ สนใจที่จะทราบกันบ้างไหมว่ามันกระทบอะไรกับใครบ้าง ใครได้บ้าง ใครเสียบ้างในสังคมปัตตานี และประชาชนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เมื่อการคมนาคมแผนใหม่เข้าไปได้กระทบต่อคนท้องถิ่นนั้นอย่างไรบ้าง เราไม่สนใจประสบการณ์ร่วมของชาวปัตตานีที่มีกับประชาชนไทยในประชาชาติไทยอื่น ๆ เลย

ผมคิดว่านี้เป็นส่วนสำคัญที่หากเราอยากพูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานี ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ประชาชาติไทยต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้ เช่น การทำสวนยาง การทำเหมืองแร่ การทำสวนผลไม้ การขยายตัวของเศรษฐกิจตลาดในปัตตานีว่า มันเกิดขึ้นกับคนในปัตตานีอย่างไรบ้าง ประสบการณ์ภายใต้นโยบายเผด็จการทางวัฒนธรรมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระทบอะไรต่อปัตตานีบ้าง

เรื่องนโยบายเผด็จการทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นมิใช่พียงกระทบแต่ชาวปัตตานีในเรื่องถูกบังคับให้เอาผ้าคลุมศีรษะออก ถูกบังคับให้พูดภาษาไทย ถูกบังคับให้นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น คนไทยในที่อื่น ๆ ก็ถูกบังคับในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่เช่นกัน ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เรามองเห็นว่า นโยบายเผด็จการทางวัฒนธรรมนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบต่อสังคมไทยทุกส่วนอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า หากเราเรียนเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน เราคงไม่พยายามที่จะผลักดันนโยบายเผด็จการทางวัฒนธรรมซ้ำอีกทีหนึ่งในตอนนี้ เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องนี้จึงทำให้เรามองไม่เห็นว่า ประชาชนทั่วทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะชาวปัตตานีเท่านั้น ต่างเดือดร้อนกับเผด็จการทางวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างไรบ้าง หลังนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งไหลเข้าไปของทุนภายนอก ทั้งที่เกิดขึ้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ คนเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เผชิญกับนโยบายพัฒนาประชาชาติไทยอย่างไรบ้าง

ส่วนประสบการณ์หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญมาก เราเคยคิดถึงเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่ว่า มันเกิดอะไรขึ้นที่ปัตตานีหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาผ่านไปแล้ว มันมีการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายกลุ่มหลายลักษณะอย่างไรบ้าง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ ๑๔ ตุลานำมาให้ เรื่องเหล่านี้ต่างหากถ้าเราได้ศึกษาเราจะเกิดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ประชาชาติร่วมกันได้

มันมีความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของคนปัตตานี ประเภทที่ถูกจับเพราะมีการแข็งข้อ และประเภทที่ไม่ได้มีการแข็งข้อด้วยอาวุธ แต่เป็นการแข็งข้อโดยอาศัยเครื่องมือคือกฎหมาย ซึ่งหมายถึงว่าเรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแข็งข้อได้ตามวิธีที่ถูกต้อง ดังนั้นในปัตตานีจึงมีการแข็งข้อทั้งในเรื่องที่ผิดกฎหมายและการแข็งข้อที่ถูกกฎหมาย เราน่าจะมองเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเหล่านี้ของคนปัตตานีว่า มันเป็นการปรับตัวของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุอุดมคติของรัฐประชาชาติ รัฐปรับตัวอย่างไรบ้าง ประชาชนปรับตัวอย่างไรบ้างในการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นรัฐประชาชาติ

เมื่อเกิดสภาพใหม่รัฐก็ต้องปรับตัว ประชาชนก็ต้องปรับตัวเพื่อที่จะมาอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคกันได้ หากเรามัวแต่มองว่าการแข็งข้อเป็นเรื่องกบฏที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยรัฐราชสมบัติ เราจะไม่มีวันเข้าใจการเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้เลย แล้วก็ไม่มีวิธีอื่นในการจัดการกับการเคลื่อนไหวเหล่านี้นอกจากการปราบปรามเท่านั้น แต่ถ้าเรามองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐด้วยต้องปรับตัวเข้าหากัน ภายใต้รัฐประชาชาติอันเดียวกัน หากเรามองแบบนี้เราจะเห็นทางออกอื่น ๆ อีกมากนอกจากการปราบปราม เราจะเห็นทางออกต่อปัญหาในปัตตานีทั้งในอดีตและในปัจจุบันได้เยอะมาก อย่าไปมองแต่เพียงเรื่องของการกบฏแต่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเรามองว่าเป็นยุคสมัยที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวเข้าหากัน ภายใต้ความเป็นรัฐประชาชาติเดียวกัน เราจะเห็นทางออกมากมาย

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงแต่เราได้ถูกละเลยตลอดมาคือ การเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่การแข็งข้อ แต่เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ โดยอาศัยสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแกนหลักของรัฐประชาชาติ เราจะเป็นรัฐประชาชาติไม่ได้ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย การที่เมืองไทยไม่ยอมเป็นประชาธิปไตยก็เพราะเราไม่ยอมที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติ เผด็จการจึงอ้างความรักชาติมาริดรอนสิทธิของเราตลอดมา แต่ถ้าเราเป็นรัฐประชาชาติ เราจะเป็นประชาธิปไตย

สิทธิในระบอบประชาธิปไตยที่ชาวปัตตานีได้เคลื่อนไหว และน่าจะมีเรื่องให้เราได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ได้อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอ่าวปัตตานีให้ปลอดจากการคุกคามของทุน เรืออวนลากอวนรุน การเคลื่อนไหวของประชาชนในการรักษาแม่น้ำสายบุรี การเคลื่อนไหวของประชาชนในการประท้วงการสังหารหมู่ประชาชนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยทหารนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวตามสิทธิประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญไทยให้การรับประกันเอาไว้

แม้กระทั่งเรื่อง "ข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง" ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านไม่ได้เสนอมาเอง แต่รัฐบาลสมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขอร้องให้หะยีสุหลงช่วยเสนอต่อรัฐบาลทีว่า จะทำอย่างไรที่จะรักษาความสงบในภาคใต้ได้ ท่านหะยีสุหลงก็ทำเหมือนเป็นประชาพิจารณ์ออกมา กล่าวคือให้ผู้นำชาวบ้านทั้งหลายมาประชุมร่วมกัน แล้วก็ทำข้อเสนอเป็นจำนวน ๑๔ ข้อ ยื่นเสนอหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

แต่ยังไม่ทันไรก็เกิดรัฐประหารขึ้น คณะรัฐประหารก็กล่าวหาว่า ทั้ง ๑๔ ข้อนี้เป็นข้อเรียกร้อง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเป็นเพียงคำตอบที่สมัยรัฐบาลชุดเก่าให้ทำมาเพื่อเสนอความเห็น แต่ทางคณะรัฐประหารกลับกล่าวหาว่าเขากบฏและถูกฆ่าตายในที่สุด ทำไมเราไม่คิดบ้างว่า การเรียกร้องนั้นมันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มันเป็นข้อเสนอของผู้นำศาสนาจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีใครศึกษาให้เข้าใจกัน หรือให้ความสนใจว่ามันเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี

เหล่านี้เป็นข้อเสนอของผมที่ว่า หากเราอยากศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีในฐานะที่มันเป็นหน่วยทางประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง ดังนั้นสังเขปหรือ Outline ของมันนั้น น่าที่จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง

ประมวล เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ดำเนินรายการ)
สำหรับประเด็นแนวคิดทางประวัติศาสตร์และกรอบคิดของการศึกษาประวัติศาสตร์ที่อาจารย์นิธินำเสนอมานั้น ในเวทีนี้จะเปิดโอกาสให้เราร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลำดับต่อไป ดังนั้น ผมขอเรียนเชิญอาจารย์ชุลีพร วรุณหะ ซึ่งอาจารย์มีประเด็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จะมานำเสนอให้เราได้รับทราบในวงเสวนา

(อ่านต่อบทความลำดับที่ 812 ประวัติศาสตร์ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
230149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
หลังจากที่ฝรั่งเข้ามาตั้งสถาปนาอำนาจตนเองในศูนย์ต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็เริ่มที่จะขยายอำนาจเข้ามาแผ่ทับกันกับศูนย์อำนาจบางกอกเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐราชสมบัติแห่งนี้ต้องค่อย ๆ หดตัวลงมาโดยถูกบีบจากฝรั่ง แล้วก็เริ่มการปฏิรูปอย่างที่เราเคยเรียนรู้กันมาแล้ว ทำการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา โดยการรวมเอารัฐราชสมบัติอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นล้านนา อีสาน หรือปักษ์ใต้ หรือรัฐหัวเมืองมลายู ซึ่งรัฐเหล่านี้ก็คือรัฐราชสมบัติทั้งนั้น เมื่อรวมเอารัฐเหล่านี้มาได้แล้ว ก็ดำเนินการปกครองภายใต้กรอบของรัฐสมัยใหม่ที่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง นี่คือ สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐราชสมบัติที่ใช้แกนกลาง คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเท่านั้นเอง