นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

เนื่องในวาระรำลึกครบรอบ ๑๗ ปี เหตุการณ์ ๘-๘-๘๘
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ไทยรักพม่า"
โดยศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ และศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
History Department And Centre for Southeast Asian Studies
University of Wisconsin - Madison, USA

เนื่องในวาระรำลึกครบรอบ 17 ปี
เหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า (8-8-88)
วันที่ 7 สิงหาคม 2548 ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ

หมายเหตุ : ปาฐกถา "ไทยรักพม่า" จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
(Thai Action Committee for Democracy in Burma- TACDB) และ
เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี
(Asian Network for Free Elections- ANFREL)
ปาฐกถาชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ โดยผ่านการตรวจสอบของผู้เป็นองค์ปาฐกแล้ว

(ในส่วนของปาฐกถาที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ ได้รับมาจากคุณสุภัตรา ภูมิประภาส)


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 808
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)


ปาฐกถาพิเศษเรื่อง"ไทยรักพม่า"
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล (๗ สิงหาคม ๒๕๔๘)

นมัสการพระคุณเจ้า และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
มิงกะละบา
ขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติมาร่วมรำลึกเหตุการณ์ 8-8-88 ซึ่งพลิกโฉมประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของพม่าอย่างสิ้นเชิง นี้เป็นครั้งแรกที่ผมมาร่วมงานรายการนี้ พอมาแล้วไม่ค่อยแน่ใจว่าสิ่งที่จะพูดนี้จะผิดวิกหรือเปล่า เพราะว่าโดยส่วนตัวผมคงจะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ผู้รู้เรื่องเหตุการณ์ 8-8-88 เป็นอย่างดี และสิ่งที่จะพูดก็ไม่ใช่หนักไปในเรื่องที่เกี่ยวกับพม่า แต่จะเป็น academic comment เกี่ยวกับความนึกคิดของคนไทยที่มีต่อพม่า

เรามารำลึกถึงความกล้าหาญของนักศึกษาประชาชนพม่าในเหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อน ชวนให้เราตระหนักถึงความเสียสละ กล้าเป็นกล้าตายเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่ากิจการงานที่คนตัวเล็กๆอย่างเราท่านทำกันอยู่ทุกวี่วัน แต่เหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อนก็ชวนให้เราสลดหดหู่กับความโหดร้ายน่ารังเกียจของอำนาจ ที่สามารถทำลายชีวิตทีละชีวิต ๆ รวมกันนับร้อยนับพัน เพียงเพื่อรักษาอำนาจ

คนที่มีอำนาจทางการเมืองมักจะคิดว่าตนเองมีคุณสมบัติพิเศษสูงส่งกว่าสามัญชนเดินถนน การทำลายชีวิตคนธรรมดาเพื่อค้ำจุนภารกิจและอำนาจของตนเองจึงชอบธรรมในสายตาของพวกเขา คนพวกนี้มีอยู่ทุกประเทศ ในหลายกรณีพวกเขาอยู่ในคราบของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ผู้นำที่ประชาชนเคารพรัก

เหตุการณ์ 8-8-88 เมื่อ 17 ปีก่อน ชวนให้เราคิดว่าทำไมการทำลายล้างขนาดนั้น ด้วยฝีมือของกลุ่มเผด็จการทหารคล้ายประสบการณ์ของไทยเองเมื่อปี 2516, 2519 และ 2535 แต่ทว่าโหดร้ายยิ่งกว่า น่ารังเกียจน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า ทำไมสังคมไทยไม่ใส่ใจเหตุการณ์ 8-8-88 ในประเทศเพื่อนบ้านสักเท่าไรนัก นี่คือปัญหาใหญ่สำหรับวันนี้

ยกเว้นคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคมไทยอย่างหลายๆท่านในที่นี้ ซึ่งลงแรงในกิจกรรมต่าง ๆมากมายทั้งในกรุงเทพ ตามชายแดนไทย-พม่า และในประเทศต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจำนวนมาก และเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า แต่ทำไมคนอีกจำนวนมากในสังคมไทยไม่สนใจ

คำอธิบายอย่างแรกเป็นลักษณะทั่วไปที่สังคมไทยกระทำต่อเพื่อนบ้านอื่น ๆ และเป็นเหตุผลที่ไม่ต่างจากอีกหลายสังคมที่ไม่เคยสนใจสังคมอื่น นั่นคือความรักชาติแบบแคบ ๆ และเห็นแก่ตัว คำอธิบายอีกอย่างเน้นลักษณะเฉพาะที่สังคมไทยมีต่อพม่า นี่คือสองหัวข้อใหญ่ สองประเด็นใหญ่สำหรับวันนี้

ท่านที่รู้ภาษาไทยเห็นหัวข้อในวันนี้ "ไทยรักพม่า" คิดไหมครับว่าหัวข้อนี้ชวนให้นึกถึงอะไรบ้าง? หัวข้อนี้มาจากวลีที่คล้ายๆกันอีก 2 วลีที่รู้จักกันดีในสังคมไทย ได้แก่ "ไทยรักไทย" และ "ไทยรบพม่า"

"ไทยรักไทย" ในที่นี้ไม่ใช่ชื่อของพรรคการเมือง แต่ชื่อของพรรคการเมืองต่างหากสะท้อนความรักชาติและชาตินิยมไทยที่มีเป็นปกติ หรือดาษดื่นเป็นปกติในหมู่คนไทย ความรักชาติและชาตินิยมแบบแคบ ๆ เห็นแก่ตัว เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายต่างประเทศ และท่าทีของสาธารณชนที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย

คำถามก็คือไทยไม่รักแค่ไทยได้ไหม ไทยรักพม่าด้วยได้หรือไม่

"ไทยรบพม่า" เป็นชื่อของผลงานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2460 และ 2463 "ไทยรบพม่า" เป็นตัวอย่างสำคัญของลัทธิอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความนึกคิดของสังคมไทยที่มีต่อพม่า

หนังสือเล่มนี้ และชื่อหนังสือนี้ "ไทยรบพม่า" มีผลต่อท่าทีความรู้สึกนึกคิดที่รัฐและสังคมไทยปฏิบัติต่อชาวพม่ามาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่สังคมไทยมีต่อพม่า เราคงต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความนึกคิดของสังคม ให้กลายเป็นรักพม่าให้ได้สักวันหนึ่ง คำถามก็คือ ทำไมประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 สังคมนี้จึงถูกสรุปรวบยอดได้ด้วยวลีสั้นๆแค่ 3 คำ -- "ไทยรบพม่า"

ผมขออภิปราย ความนึกคิดของสังคมไทยที่มีต่อพม่าใน 2 ประเด็นนี้ คือ ไทยรักไทย และไทยรบพม่า ทีละประเด็น เริ่มต้นจาก "ไทยรักไทย" ในกรณีนี้ผมตระหนักดีว่ากำลังพูดกับคนที่คิดไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ แต่คงต้องส่งเสียงนี้ให้กับสังคมไทยวงกว้างอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

นับจากเหตุการณ์ 8-8-88 เมื่อ 17 ปีก่อน มีมิตรสหายจำนวนหนึ่งเห็นอกเห็นใจเข้าช่วยเหลือมิตรชาวพม่าที่ตกอยู่ในอันตรายและได้รับความยากลำบาก แต่สาธารณชนไทยไม่ใยดี ไม่แคร์กับชะตากรรมของชาวพม่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเท่าไรนัก

สื่อมวลชนของไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนภาษาไทยสะท้อนระดับความเมินเฉยนี้ได้เป็นอย่างดี คือ ติดตามสนใจข่าวนี้บ้าง ไม่มากนัก และภายในเวลาไม่นานก็เป็นแค่ข่าวต่างประเทศ ซึ่งสื่อมวลชนไทยนั้นไม่ให้ความสำคัญเท่าไรที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนไทยเข้าร่วมคิด เข้าร่วมเกี่ยวข้อง เข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนพม่า สื่อมวลชนไทยเห็นเรื่องนี้เป็นข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่ง

นโยบายของรัฐจึงไม่ถูกทัดทาน ไม่ถูกผลักดันจากสาธารณชนไทย นโยบายของรัฐซึ่งยึดติดอยู่กับ constructive engagement [พัวพันแบบสร้างสรรค์] ซึ่งเป็นแค่ถ้อยคำลวงสวยหรูของนโยบายแบบไทยรักไทยและไทยรบพม่า จึงไม่ถูกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าผมไม่ได้กำลังพูดถึงคำว่าไทยรักไทยในฐานะรัฐบาลนี้เท่านั้น เพราะนโยบาย constructive engagement ใช้มาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลปัจจุบันเสียอีก

นอกจากนี้เราคงจำกันได้ถึงท่าทีของสาธารณชนต่อการยึดสถานทูตพม่าเมื่อปี 2542 ท่าทีต่อสาธารณชนต่อการยึดโรงพยาบาลที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2543 ความเกลียดชังและสะใจต่อการใช้มาตรการรุนแรง บอกให้เรารู้ว่าอารยธรรมและเมตตาธรรมจำกัดอยู่แค่เส้นพรมแดนของประเทศเท่านั้น
"ไทยรักไทย" ไม่ใช่แค่ชื่อของพรรครัฐบาลไทยขณะนี้ แต่ในนัยที่กว้างไปกว่านั้น คือ ความนึกคิด (คำว่า "ความนึกคิด" ในที่นี้มาจากภาษาอังกฤษ mentality) คำว่า "ไทยรักไทย" ในนัยยะกว้างกว่านั้น คือ mentality แบบชาตินิยมที่คับแคบ และเห็นแก่ตัวของสังคมไทย

อาจมีปฏิกิริยาทันทีว่าอันนี้ไม่ใช่แค่ของไทย แต่ทุกประเทศก็รักแค่ประเทศของตัวเองเหมือนกันทั้งนั้น ปฎิกิริยาทำนองนี้ไม่ได้ตอบอะไรเลย เป็นการแก้ตัวที่ไม่ตกด้วยซ้ำไป เป็นความจริงที่ว่าความรักแค่ประเทศตัวเองนี้มีอยู่ในทุกประเทศ และนั่นแหละคือปัญหาใหญ่

สังคมไทยแม้กระทั่งผู้มีการศึกษา มักคิดถึงความเลวร้ายของลัทธิชาตินิยมเฉพาะในแง่ความหลงชาติและการเหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อื่น ซึ่งนักวิชาการบางทีเรียกว่าชาตินิยมสุดขั้ว ชาตินิยมคับแคบ แต่สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาจำนวนมากไม่ตระหนักพอว่าความรักชาติที่เราท่านมีอยู่เป็นปกติก็คับแคบเช่นกัน คือสามารถกลายเป็นความคับแคบเห็นแก่ตัวได้ทุกวินาที โดยไม่จำเป็นต้องล้ำสุดขั้วไปสู่ความหลงชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเหยียดเชื้อชาติอื่น

ยามใดที่รัฐพูดถึงเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์หรือความผาสุกของประชาชนชาติอื่น สังคมไทยไม่เคยสงสัยเลยว่าผลประโยชน์เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ สังคมไทยมักคิดว่าความรักชาติชนิดนี้ถูกต้องดีอยู่แล้ว

ความรักชาติแบบไม่คับแคบมักถลำสู่ความรักชาติแบบคับแคบโดยไม่รู้ตัวในกรณีที่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและในกรณีที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ อาจมีปฏิกิริยาอีกว่า ประเทศอื่นๆก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด นั้นแหละคือปัญหาใหญ่ เพราะทุกประเทศเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

ความน่ากลัวของ mentality แบบชาตินิยมอยู่ตรงที่ว่าเราท่านทุกๆคนรวมทั้งตัวผมเองมีอยู่คนละหลายๆดีกรีโดยไม่รู้ตัว และเรามักไม่นึกว่าความรักชาติแบบนี้ สามารถกลายเป็นความเห็นแก่ตัวและคับแคบที่อันตรายและน่าวิตกไม่น้อยไปกว่าความรักชาติแบบหลงชาติและคับแคบที่เรารู้จักกันดี ความน่ากลัวของ mentality แบบนี้ก็คือ mentality แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสัตว์สังคม หมายความว่า มนุษย์ปกตินั้นต้องแสวงหาสังกัดรวมหมู่ เราไม่สามารถและไม่ต้องการเป็นปัจเจกชนที่ไร้สังกัด สังกัดรวมหมู่ของสังคมสมัยใหม่เรียกว่า "ชาติ" ความน่ากลัวของชาตินิยมที่คับแคบแบบนี้จึงอยู่ที่ว่าเราไม่มีก็ใม่ได้ ถือว่าเราผิดปกติมนุษย์ ครั้นเรามีก็อาจเป็นปัญหา

ขอออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง เมื่อเช้าระหว่างที่ผมนั่งทบทวน note อยู่ ผมนอนไม่หลับ เปิดทีวีดูตอนตีห้า มีรายการสนทนาธรรมโดยพระคุณเจ้า(พระสงฆ์)รูปหนึ่ง รายการลีลาชีวิตหรืออะไรนี่แหละ หัวข้อที่พระคุณเจ้าเทศน์เมื่อเช้านี้คือเรื่อง "สันตินิยม" สั้น ๆ แค่ห้านาที พระคุณเจ้าบอกว่ามีบางประเทศที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการเป็นจักวรรดินิยมจึงเที่ยวก่อสงครามไปทั่ว ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมากมาย เสร็จแล้วท่านก็ตบท้ายว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค้นพบสันตินิยมมาตั้ง 2,500 กว่าปีแล้ว และตัวอย่างของประเทศที่มีสันตินิยมก็มีอยู่แล้วในโลกนี้ ได้แก่ สังคมไทย

คนทุกประเทศคิดอย่างนี้เหมือนกันหมด นั่นแหละคือปัญหา

ไทยรักไทย คือ สภาวะทั่วไปที่แทบทุกสังคมมีอยู่เป็นอยู่ คุณเปลี่ยนคำว่าไทยเป็นชื่อประเทศอื่นๆ ทุกสังคมมีอยู่เป็นอยู่เหมือนกันหมด เพราะมนุษย์เราต้องมีสังกัด แต่เราไม่ตระหนักว่าการมีสังกัดนั้นในบางจังหวะในบางโอกาสกลับเป็นปัญหาอย่างยิ่ง

ไทยรักไทย คือ สภาวะทั่วไปที่แทบทุกสังคมมีอยู่เป็นอยู่ แต่มีระดับของอารยธรรม และความมีสติตระหนักรู้ถึงอันตรายของมันต่างๆกัน มีความตระหนักรู้ว่าเราจะต้องต่อสู้กับความคับแคบเห็นแก่ตัวของชาติตนเองในระดับที่ต่างกัน

ไทยรักไทย เป็น mentality พื้นฐานที่ส่งผลต่อเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆในโลกทั้งหมด ไม่ใช่แค่พม่า แต่ทว่าความแตกต่างที่สังคมไทยมีต่อประเทศต่าง ๆ นั้นแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์เฉพาะ ตามปัจจัยเฉพาะที่สังคมไทยมีต่อประเทศนั้นๆ เช่น ไทยมักเห็นลาวเป็นประเทศน้อง(ไม่เท่าเทียม) ที่ชอบก่อความรำคาญ ไทยมักเห็นเวียดนามเป็นคู่แข่งบารมีกับไทย ไทยมักเห็นเขมรเป็นพวกแปรพักตร์ลอบกัด ไว้ใจไม่ได้
แล้วพม่าล่ะ

ลักษณะเฉพาะของ mentality ที่ไทยมีต่อพม่า สรุปรวบยอดได้ด้วยวลีสั้นๆ คือ "ไทยรบพม่า" ดังได้กล่าวแล้วว่า วลีนี้เป็นชื่อหนังสือประวัติศาสตร์อันทรงอิทธิพลของสังคมไทย นักประวัติศาสตร์ไทยทราบกันดีว่าเป็นผลงานสำคัญของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่งผลต่อลัทธิอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ และต่อสังคมไทยอย่างสูง และส่งผลเด็ดขาดต่อความรับรู้เข้าใจที่สังคมไทยมีต่อพม่า

อันที่จริง สังคมไทยกับพม่า มีความสัมพันธ์สารพัดอย่างเยอะแยะมายาวนาน มีทั้งรบ มีทั้งค้า เราค้ากันเยอะ คนทั้งสองสังคมข้ามไปข้ามมา สอบถามเพื่อนพม่าที่อยู่ที่นี้ก็ได้เกี่ยวกับ "โยเดีย" ซึ่งมีอยู่ในพม่าตั้งเยอะ เป็น community ใหญ่ สังคมไทยกับพม่ามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเยอะ หลายระดับ ทั้งในระดับศูนย์กลางของรัฐศักดินา ระหว่างเจ้าเมือง ระดับแคว้น ระดับเมือง ไปจนถึงท้องถิ่นและชายแดน แต่ความสัมพันธ์หลายระดับหลายแง่มุม ทั้งรบกันทั้งป็นมิตรกัน กลับถูกสรุปรวบยอดตัดตอนและลงกล่อง (packaged) อย่างชัดเจนและง่ายๆ ว่าเป็นการรุกรบไปมาระหว่างสองประเทศ - "ไทยรบพม่า"

ประเด็นสำคัญของหนังสือ "ไทยรบพม่า" คือ ลำดับสงครามที่ไทยมีต่อพม่า เรียงมาทีละครั้ง ๆ ส่วนมากไทยนี้รักสงบ พม่าชอบมารังแก อย่างไม่มีเหตุผล ชอบมาแสวงอำนาจ แต่ถึงกระนั้นไทยก็รบไม่ขลาด โรมรันพันตูจนพม่าพ่ายไปหลายรอบ แม้ไทยเสียกรุงถึงสองครั้ง แต่วีรบุรุษของชาติไทยก็กอบกู้ได้แทบทันท่วงที และตอบโต้ได้อย่างสาสม

สังคมไทยจึงทั้งเกลียด แต่ก็กลัวและเกรงพม่าอย่างมาก ชนชั้นนำไทยมักคิดว่าตนเองมีอารยธรรมสูงส่งกว่าพม่า ชนชั้นนำพม่าสมัยศักดินาก็คิดแบบเดียวกัน คือคิดว่าตัวเองมีอารยธรรมที่สูงส่งกว่าชนชั้นนำไทย แต่ชนชั้นนำไทยก็กลัวและเกรงความโหดร้ายหรือความเข้มแข็งของพม่าด้วย

อันที่จริงความเกลียดชัง กลัวและเกรงที่มีต่อพม่านี้ มีมาก่อนหนังสือไทยรบพม่า คือจะโทษหรือให้เครดิตต่อพระบิดาประวัติศาสตร์ไทยมากไปก็ดูจะเกินไปหน่อย นั่นคือ ชนชั้นนำกรุงเทพฯมีท่าทีนี้มาตั้งแต่หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้ง พ.ศ. 2310 นั่นคือชนชั้นนำไทยมีท่าทีชนิดดังกล่าวมาแต่สมัยอังวะเป็นศัตรูของอยุธยาและกรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศพม่ากับประเทศสยามหรือไทย

ถ้าเช่นนั้นความเกลียดกลัวเกรงพม่ากลายมาเป็นตัวแบบแห่งอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ชาตินิยมได้อย่างไร

นักวิชาการไทยคงตอบว่าเป็นการถ่ายทอดส่งผ่าน mentality ของสังคมไทยแบบเดิม แบบยุคศักดินา มาสู่สังคมไทยสมัยใหม่ ยุคสมัยที่มีรัฐชาติ แต่ในที่นี้ผมขอเสริมปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไทยรบพม่าเป็นแบบฉบับของอุดมการณ์ชาตินิยมในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ เพราะว่า "ไทยรบพม่า" เป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกๆของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ภายใต้อุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม เป็นผลผลิตของสยามหลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่ เป็นผลผลิตของรัฐสมัยใหม่ที่พยายามอธิบายความยิ่งใหญ่ของสยาม ความพยายามและความต้องการอธิบายความยิ่งใหญ่ของสยามถูกผลิตขึ้นอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อ สยามพยายามแข่งกับมหาอำนาจยุโรปแล้วแพ้ หมายความว่าสยามผลิตประวัติศาสตร์นิพนธ์ชนิดนี้ขึ้นมา ก็ต่อเมื่อหลังจากประสบความพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดที่สุด ในเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อพยายามจะชิงดินแดนลาวกับฝรั่งเศสแล้วสยามแพ้

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็น awakening เป็นการปลุกให้ชนชั้นนำสยามตื่นขึ้นมาจากภวังค์ความหลงตัวเองที่คิดว่า ตนเองจะพอทัดทานฝรั่งเศสได้ ตื่นขึ้นมาจากความไว้ใจหวังว่าอังกฤษจะยื่นมือเข้ามาช่วย ตื่นขึ้นมาด้วยความตระหนกว่าตนทัดทานไม่ได้เลย และตระหนกตกใจว่าตนเองแพ้จนแทบจะเสียเอกราชให้กับมหาอำนาจยุโรป วิกฤตการณ์นี้มีผลมหาศาลต่อ mentality ของชนชั้นนำไทย ต่อความรับรู้ของโลกและสถานะของตนในโลกยุคอาณานิคม

สยามจึงต้องการประวัติศาสตร์แบบใหม่ ชนิดใหม่ ที่อธิบายอดีตและสถานะของตนในโลกอย่างที่ปัจจุบันขณะนั้น (คือในช่วงหลัง ร.ศ.112) ต้องการ

ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-พม่าที่รับรู้มาอย่างมากมายในพระราชพงศาวดารจึงถูกหล่อหลอมด้วยทัศนะ ความนึกคิดทางประวัติศาสตร์ และ Agenda ทางประวัติศาสตร์แบบหลัง ร.ศ.112 คือ หลังจากผ่านวิกฤติ และด้วยความตระหนกจากเหตุการณ์ร.ศ.112

กล่าวในแง่นี้ ผมขอเสนอสำหรับท่านที่สนใจว่า "ไทยรบพม่า"ทั้งเล่มและวาทกรรมไทยรบพม่าทั้งหมดเป็นเพียง allegory (ภาพเสมือน?) ของความสัมพันธ์หรือความเกรงและกลัวที่ชนชั้นนำไทยมีต่อมหาอำนาจยุโรป แต่แสดงออกผ่านเรื่องของความสัมพันธ์หรือความเกรงและกลัวที่ชนชั้นนำไทยมีต่อพม่า

"ไทยรบพม่า" เป็น allegory ของประวัติศาสตร์ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (anti-colonial history) แบบสยาม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าดังที่เป็นมาในอดีต ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์แบบไทยรบพม่า จึงเป็นเพียงตัวแทน เพื่ออธิบายความนึกคิดของชนชั้นนำสยามต่อลัทธิอาณานิคมฝรั่งแบบหลัง ร.ศ.112

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า จึงอยู่ภายใต้กรอบของเรื่อง (narrative) ที่ไม่ใช่เรื่องของไทยกับพม่าเสียทีเดียว แต่กลับอยู่ภายใต้กรอบ narrative ของการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม ถือเอาพม่าเป็นตัวแบบ (ตัวแทน?) ความพยายามมาล่าอาณานิคมสยาม และถือเอาความสำเร็จของสยามที่ทัดทานพม่า เป็นตัวแบบการอธิบายว่าสยามต่อสู้และรอดพ้นการคุกคามของมหาอำนาจมาได้อย่างไร

ประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า กับประวัติศาสตร์ของไทยต่อต้านอาณานิคม จึงเป็นกระจกของกันและกัน เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน ให้ความหมายแก่กันและกัน พม่าที่ไทยรบด้วยจึงไม่ใช่พม่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นแค่ "ตัวตายตัวแทน" ของฝรั่งนักล่าอาณานิคมปลายศตวรรษที่ 19

เรื่องตลก (irony) ก็คือ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพม่ายุคหลังอาณานิคม พม่าถือเอาฝรั่งนักล่าอาณานิคมเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง พม่าไม่เคยถือว่าไทยเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งเลย ไม่เคยถือเอาไทยเป็นคู่ปรับตัวฉกาจเลย แต่ไทยกลับถือเอาพม่าเป็นตัวตายตัวแทนของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก สังคมไทยคิดต่อพม่าภายใต้กรอบ "ไทยรบพม่า"โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า พม่าในกรอบนั้นไม่ใช่พม่าที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่ allegory ของอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยขณะนั้นพยายามเข้าใจ

แล้วเราจะเอาอย่างไรกับประวัติศาสตร์ เอาอย่างไรกับอดีต

ในกรณีวิกฤติความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ ยามใดที่มีผู้อธิบายความขัดแย้งด้วยประวัติศาสตร์ มักถูกตอบโต้ว่า อดีตเป็นอดีตผ่านไปแล้ว จะยกขึ้นมาทำไมไม่รู้จักจบจักสิ้น

ในกรณีใดๆก็ตามเกี่ยวกับพม่าไม่ว่าจะเกี่ยวกับฝ่ายนักศึกษา และกลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศพม่า หรือเป็นการโจมตีจากหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า สื่อมวลชนไทยและสาธารณชนไทยมักจะกลับไปอ้างประวัติศาสตร์เป็นประจำ กลับไม่ยอมให้อดีตเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว

ท่าทีที่เราควรมีต่ออดีต ไม่ว่ากรณีใด ควรจะเป็นทำนองเดียวกันคือ เข้าใจอดีตเพื่อเปลี่ยนประวัติศาสตร์

เข้าใจอดีตหมายความว่า เราต้องกล้าเผชิญหน้า ไม่ปิดบัง ไม่หลีกเลี่ยง ว่ากันตามเนื้อผ้าเท่าที่เราศึกษาวิเคราะห์ตีความได้ เพื่อพยายามเข้าใจถึงผลที่อดีตนั้นมีมาถึงปัจจุบัน (มากน้อยก็ตามแต่กรณี) แต่เราจะต้องเปิดโอกาสที่จะให้มีการวิเคราะห์ตีความอดีตนั้นจากหลากหลายมุม อย่าเป็นทาสความรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างและบงการโดยอำนาจใดๆ อย่าเป็นทาสความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ก่อน

เราต้องเข้าใจว่าความรู้เกี่ยวกับอดีตนั้นเปลี่ยนแปลงได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องปกติ เพราะทัศนะมุมมองของสมัยที่ศึกษาประวัติศาสตร์เปลี่ยนอยู่เสมอ จึงเกิดคำถามใหม่ๆ เกิดการวิเคราะห์ตีความอดีตที่เดิมคิดไม่ถึง การเปลี่ยนความรู้ประวัติศาสตร์ที่หลายคนกลัวนักกลัวหนาว่าเป็นเรื่องน่าวิตก ที่จริงเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้นตราบเท่าที่สังคมกล้าเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยทัศนะมุมมองที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคเป็นฐานสำคัญ นี่ไม่ใช่บิดเบือนอดีตแต่ทำให้เราเข้าใจอดีตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล้าคิดใหม่ ๆ กล้าที่จะตีความใหม่ ๆ นั่นคือการเข้าใจอดีต

แต่จากนั้นแล้วอย่าตกเป็นทาสอดีต ถ้าไม่อยากถูกประวัติศาสตร์หลอกหลอน ถ้าอยากให้อดีตเป็นอดีตผ่านเลยไปจริงๆ เราต้องกล้าเปลี่ยนปัจจุบันและสร้างอนาคตอย่างเข้าใจอิทธิพลของอดีตส่งทอดมาถึงเราในปัจจุบัน เราต้องกล้าสร้างปัจจุบันและอนาคตที่กำหนดความหมายใหม่ ๆ ให้กับอดีต กล่าวอีกอย่างก็คือท่าทีต่ออดีตไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ก็ตามเราต้องเป็นนายของประวัติศาสตร์ เราต้องไม่ใช่แกล้งลืม หรือมองข้ามอดีต

ในกรณีพม่า อย่าปกปิด ปิดบัง เผชิญหน้าดีกว่า แต่เราต้องกล้าคิดรู้ อย่าเชื่อความรู้ที่มีมาก่อนอย่างง่ายๆ อย่าตกเป็นทาสของอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดการตีความหรือความรู้ประวัติศาสตร์มาถึงเรา เราต้องกล้ารู้เพื่อเปลี่ยนปัจจุบันและอนาคตไปในทางที่พึงประสงค์ รัฐและสังคมไทยอยากให้เราตกอยู่ใต้ความหลงผิดทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าไทยรบพม่า เราต้องเผชิญหน้ารับรู้แล้วอย่ายึดติด อย่าตกเป็นทาสความคิดของไทยรบพม่าอีกต่อไป

อย่ารักษาความรักชาติแบบแคบๆ และเห็นแก่ตัวแบบไทยรักไทย เราต้องอยากเปลี่ยนทัศนะท่าทีความสัมพันธ์และนโยบายที่เป็นมา

หัวข้อของวันนี้ที่ตั้งว่า "ไทยรักพม่า" อาจเป็นวลีที่ฟังดูตลกพึลึกสำหรับสังคมไทย ในขณะที่วลีอย่าง "ไทยรักไทย" และ "ไทยรบพม่า" กลับไม่ตลก ไม่พึลึก

วลี "ไทยรักพม่า" อาจดูเป็นเรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง แต่เราเคยคิดไหมว่าวลี "ไทยรักไทย" และ "ไทยรบพม่า" ต่างหากที่เหลวไหลน่ารังเกียจ มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเป็นทาสประวัติศาสตร์แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเป็นนายของประวัติศาสตร์แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเปลี่ยนปัจจุบันและเพื่ออนาคตที่ดีกว่าหรือเปล่า

ส่งท้าย
เหตุการณ์ 8-8-88 ผ่านมา 17 ปีเต็ม บางคนอาจมองด้วยความหดหู่ว่า เป็นโศกนาฎกรรมที่โลกกำลังจะลืม

ปัจจัยที่จะทำให้โศกนาฏกรรมในอดีตหนึ่งๆ ถูกลืมเลือนไปได้หรือไม่ อยู่ที่ว่าโศกนาฏกรรมนั้นยังมีผลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบันของสังคมนั้นๆแค่ไหน เหตุการณ์ 8-8-88 จะยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่าแค่ไหน เป็นปัจจัยที่จะตัดสินว่าสังคมพม่าและสังคมโลกจะลืมเหตุการณ์นี้หรือเปล่า ไม่ว่ารัฐจะพยายามปกปิดและพยายามจะลืม หรือไม่ว่าสังคมพม่าอาจจะต้องจดจำเหตุการณ์นั้นอย่างเงียบ ๆ ก็ตาม

นี่หมายความว่าอย่างไร? ในเมื่อหัวข้อของวันนี้เป็นการพูดถึงการเกี่ยวข้องกันของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ผมพูดถึงพม่าในสังคมไทยและความสัมพันธ์ไทยกับพม่าไปแล้ว ผมขอชวนให้พวกเราคิดถึงกรณีเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่ง -- อินโดนีเซีย

คนไทยมักนึกถึง 6 ตุลา [2519/1976]ว่าโหดเหี้ยม คนพม่านึกถึง 8-8-88 ซึ่งโหดกว่าไม่รู้กี่เท่า แต่สงครามกลางเมืองที่อินโดนีเซียในปี 1965 และการกวาดล้างมหาโหดยิ่งกว่าพม่า โหดจนบรรยายไม่ได้ คนประมาณ 500,000 คนตายในสงครามกลางเมืองและการกวาดล้างครั้งนั้น

หลังปี 1965 ตลอดยุค New Order ของซูฮาร์โต รัฐพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์อย่างจงใจ เขียนประวัติศาสตร์ใหม่อย่างจงใจ พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้สังคมอินโดนีเซียลืมเหตุการณ์ 1965 ในแบบอื่นๆ ยอมให้มีอยู่เพียงแค่ความทรงจำแบบที่รัฐต้องการเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ Lubang Buaya ที่มีนายพลหกคนถูกฆ่าตาย หรือการกวาดล้างขนานใหญ่ไปทั่วสังคมอินโดนีเซียหลังจากนั้น (1)

ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ที่รัฐพยายามสร้างขึ้น กลับหัวหางกลับความเป็นจริงจนหมดสิ้น ตลอดเวลา 33 ปี (สองเท่าของเหตุการณ์ 8-8-88 ถึงปัจจุบัน) นับจาก 1965 จนถึง 1998 ที่ระบบซูฮาร์โตล้มลง ข้อเท็จจริงและความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 1965 ถูกกำหนดโดยรัฐแทบทั้งหมด ผู้คนจำนวนมากคิดว่าสังคมอินโดนีเชียคงไม่มีทางที่จะเข้าใจและจดจำโศกนาฎกรรมในปี 1965 ได้อีกแล้ว สังคมอินโดนีเซียตลอดยุคซูฮาร์โต อยู่ใต้เงาหลอนของเหตุการณ์ในปี 1965 ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครสามารถพูดออกมาได้ตรง ๆ ชาวอินโดนีเซียตลอดเวลา 33 ปีไม่ได้ลืมเหตุการณ์ในปี 1965 แต่เขาพูดออกมาไม่ได้ นี่ยังไม่พูดถึงว่าตลอดยุคซูฮาร์โตรัฐยังก่อกรรมทำเข็ญอื่นๆอีกมาก รวมทั้งในติมอร์ตะวันออก (2)

ถ้าใครไปอินโดนีเซียทุกวันนี้จะพบว่า มีงานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ 1965 เกิดขึ้นมากมาย กล่าวอีกอย่างก็คือ เหตุการณ์ที่ผ่านไป 33 ปีก่อนที่ซูฮาร์โตจะล้ม กลับมาเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในอินโดนีเซียทุกวันนี้อีก เพราะเหตุการณ์ 1965 มีความสำคัญต่อสังคมอินโดนีเซียตลอดเวลา ตลอดสามสิบกว่าปีภายใต้ระบอบซูฮาร์โต ถึงแม้ผู้คนจะไม่พูดถึงเลยก็ตาม

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ 1965 ได้ถูกรื้อฟื้นในอินโดนีเซียคืออะไร? อันนี้ผมคิดว่าจะมีนัยต่อกรณี 6 ตุลา 2519 ของไทย และกรณี 8-8-88 ของพม่าด้วย ปัจจัยสำคัญก็คือว่า พลันที่ระบอบซูฮาร์โตล้มในปี 1998 การเมืองอินโดนีเซียพลิกผันอย่างมหาศาลในเวลาสั้นๆ สังคมอินโดนีเซียจึงต้องการคำอธิบาย ต้องการเข้าใจความผันผวนทางประวัติศาสตร์ขนาดนั้น เพื่ออธิบายปัจจุบันอันเต็มไปด้วยความหวังแต่ก็เต็มไปด้วยความสับสนเช่นกัน
ไม่มีใครคาดคิดว่าระบอบซูฮาร์โตจะล้ม ต้นปี 1997 ผมมีโอกาสได้ฟังการบรรยายและสนทนากับ Goenawan Mohamad ซึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เทมโป้ เป็นนักวิจารณ์ระบอบซูฮาร์โต้คนสำคัญก่อนที่เทมโป้จะถูกปิดลง เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้เชียวชาญเกี่ยวกับระบอบซูฮาร์โตดีที่สุดคนหนึ่งในโลก

มีการถามเขาว่า เป็นไปได้ไหมที่ระบอบซูฮาร์โต้จะล้ม เขาตอบว่าไม่มีทาง ซูฮาร์โตครองอำนาจจนตาย และระบอบ New Order จะได้รับการสืบทอดโดยทายาทที่ซูฮาร์โตตั้งขึ้น เราเห็นไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น เพียงปีกว่านับจากผู้เชี่ยวชาญท่านนี้พยากรณ์ไว้ ระบอบซูฮาร์โต้ก็ล้ม
ผมอธิบายเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่เพื่อสบประมาทผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นแน่

เหตุการณ์ 8-8-88 ผ่านมาตั้ง 17 ปีแล้ว แต่เราสามารถพูดอีกอย่างได้ว่า ผ่านมานานแค่ครึ่งเดียวของกรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ทันทีที่ซูฮาร์โต้ล้มลง สังคมอินโดนีเซียกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ 1965 อีกครั้งทันที แล้วเหตุการณ์ 8-8-88 ล่ะ?

มีสำนวนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันว่า It can't get any worse than this แปลเป็นไทยก็คือ มันแย่เสียจนไม่มีทางแย่ไปกว่านี้แล้ว ผมเชื่อว่า พม่า can't get any worse than this, sooner or later, the regime will go ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่มีคนตายอีก และผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมเชื่อว่า พม่าใหม่ที่สดใสแต่แสนจะสับสนจะเกิดขึ้น ถึงเวลานั้นเหตุการณ์ 8-8-88 จะเป็นประเด็นศูนย์กลางประเด็นหนึ่งของการสร้างสังคมใหม่ในพม่า

เมื่อใดที่พม่าใหม่อันแสนจะสดใสและสับสนเกิดขึ้น เหตุการณ์ 8-8-88 จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกเรียกกลับมาเป็นศูนย์กลางอันหนึ่งของสังคมพม่า เพื่อพยายามเข้าใจปัจจุบันของ ณ เวลานั้นที่จะเกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ 8-8-88 ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบันของสังคมพม่า

สังคมไทยมีทางเลือกว่าจะรักแค่ไทยและจะรบกับพม่า หรือจะรักพม่าด้วย เพื่อช่วยให้พม่าใหม่ที่สดใสแต่แสนจะสับสนเกิดขึ้น สังคมไทยมีทางเลือก และไม่ว่าจะเลือกทางไหนสังคมไทยจะได้รับผลตามที่ตนเองเลือก


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2508 นายพลแห่งกองทัพอินโดนิเซีย 6 คนถูกสังหารในเหตุการณ์การต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารของนายพลซูฮาร์โต เหตุการณ์นี้ทำให้ซูฮาร์โตฉวยโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งจับกุมผู้นำฝ่ายต่อต้านจำนวนมาก และสั่งกวาดล้างจับกุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินโดนิเซีย รวมทั้งผู้ที่ต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนจำนวนกว่า 500,000 คนที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกฆ่าตายภายในระยะเวลา 2 ปีของการกวาดล้างปราบปรามตามคำสั่งของซูฮาร์โต

(2) สัปดาห์ก่อนนี้เอง รัฐสภาอินโดนีเซียพึ่งผ่านกฎหมายจัดตั้ง Truth Commission [กรรมาธิการสืบค้นความจริง]ขึ้นในอินโดนีเชีย เพื่อชำระล้างสะสางกรณีโศกนาฏกรรมการทารุณกรรมที่ระบบซูฮาร์โต้ได้กระทำขึ้นในติมอร์ตะวันออก แต่ mandate (อาณัติ อำนาจที่ได้รับมอบหมาย) จากรัฐสภาอินโดนีเชียกว้างกว่ากรณีติมอร์ตะวันออก คือ ถ้ามีมูล ให้กรรมการชุดนี้ก้าวล่วงเข้าไปสอบกรณีโศกนาฏกรรมอื่น ๆ นอกเหนือกรณีติมอร์ตะวันออกด้วย

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
200149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnight University web 2006

"ไทยรบพม่า" เป็น allegory ของประวัติศาสตร์ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (anti-colonial history) แบบสยาม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าดังที่เป็นมาในอดีต ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์แบบไทยรบพม่า จึงเป็นเพียงตัวแทน เพื่ออธิบายความนึกคิดของชนชั้นนำสยามต่อลัทธิอาณานิคมฝรั่งแบบหลัง ร.ศ.112

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า จึงอยู่ภายใต้กรอบของเรื่อง (narrative) ที่ไม่ใช่เรื่องของไทยกับพม่าเสียทีเดียว แต่กลับอยู่ภายใต้กรอบ narrative ของการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม ถือเอาพม่าเป็นตัวแบบ (ตัวแทน) ความพยายามมาล่าอาณานิคมสยาม และถือเอาความสำเร็จของสยามที่ทัดทานพม่า เป็นตัวแบบการอธิบายว่าสยามต่อสู้และรอดพ้นการคุกคามของมหาอำนาจมาได้อย่างไร