The Midnight University
The
Myth of 'The Clash of Civilizations'
มายาคติของ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"
เอ็ดวาร์ด ซาอิด : บรรยาย
สฤณี
อาชวานันทกุล
: แปล
บทบรรยายเชิงวิพากษ์ของเอ็ดวาร์ด
ซาอิด ต่อหนังสือของแซมมวล ฮันติงตัน เรื่อง
การประทะระหว่างอารยธรรม
หนึ่งในบทบรรยายที่ดีที่สุดของซาอิด
ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มดังกล่าว
และชี้ให้เห็นความเข้าใจผิดและอคติของนักคิดสายเหยี่ยวในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโลกอิสลาม
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 807
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
16.5 หน้ากระดาษ A4)
มายาคติของ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"
สฤณี อาชวานันทกุล
: นักวิชาการอิสระ
บทนำ
Edward Said ผู้ตีแผ่มายาคติของ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปัญญาชนและผู้นำทางความคิดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจ
ยังเลือกที่จะแยกแยะและตอกย้ำ "ความแตกต่าง" ระหว่างวัฒนธรรม ที่บางส่วนถูกสร้างขึ้นโดยอคติในอดีต
และชี้ว่านั่นเป็นที่มาของความขัดแย้งระดับชาติ แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจต่อความหลากหลาย
ความมีชีวิตชีวาไม่หยุดนิ่ง และเสน่ห์ของแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งนับวันก็ยิ่งจะตีกรอบหรือให้นิยามยากขึ้นทุกที
จากการผสมผสานของเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกที่แคบลง และมีพรมแดนระหว่างวัฒนธรรมที่เลือนรางลงเรื่อยๆ
ตอนนี้ในวงการที่เกี่ยวกับศิลปะและศิลปะเชิงพาณิชย์ เช่นดนตรี ภาพยนตร์ การออกแบบ สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม เราเห็นการเติบโตอย่างน่าตื่นเต้นและมหัศจรรย์ของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้อีกต่อไปว่า เป็นงานที่สะท้อนหรือเกิดจากวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง - และยิ่งงานเหล่านี้เกิดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นชัดขึ้นทุกทีว่า การให้นิยาม "วัฒนธรรม" ประหนึ่งว่ามันเป็นระบบแบบแผนตายตัว โดดเดี่ยวเป็นอิสระจากวัฒนธรรมอื่น และไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ ที่เป็นได้อย่างมากเพียงแค่ความพยายามของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามสร้าง "วัฒนธรรมทางการ" เพื่อครอบงำความคิดของผู้อื่น หรือสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของตัวเอง
สำหรับประเทศไทย ในภาวะที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างสื่อและค่านิยมสมัยใหม่ (เช่น ทัศนคติ "ทนได้แต่ไม่ยอมรับ" ที่สังคมไทยมีต่อกลุ่มเกย์ ปรากฏการณ์ "เห่อของนอก" และพฤติกรรมอยู่ก่อนแต่งในหมู่วัยรุ่น) และ "ความเป็นไทย" กระแสหลักที่เราถูกปลูกฝังในโรงเรียนมาช้านานว่าเป็นสิ่งสูงค่าควรอนุรักษ์ (เช่น มารยาทไทย เพลงไทยเดิม และความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ปรากฏเด่นชัดและเคลื่อนห่างจากกันขึ้นเรื่อยๆ นั้น เราควรตั้งคำถามว่า สมควรแก่เวลาหรือยัง ที่เราจะเลิกอาลัยอาวรณ์ "วัฒนธรรมไทย" ที่เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงมโนภาพที่ถูกสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วหันมาวิเคราะห์ อภิปรายกันอย่างจริงจังว่า มีอะไรบ้างใน "ความเป็นไทย" ที่เราควรละทิ้งหรือปรับเปลี่ยน เพื่อให้อยู่รอดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างสันติ และให้โอกาสชนกลุ่มน้อย และคนกลุ่มใหม่ๆ ในประเทศ ที่ไม่เคยมีบทบาทในวาทกรรม "ความเป็นไทย" เช่น กลุ่มเด็กวัยรุ่น ชาวไทยมุสลิมภาคใต้ และแรงงานอพยพ ได้มีสิทธิมีเสียงและพื้นที่ทางสังคม มีอัตลักษณ์ของตัวเองที่ไม่ถูกครอบงำหรือต่อต้านโดย "วัฒนธรรมทางการ" และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของทั้งวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง
จะดีเพียงใด หากทุกอารยธรรมในโลกเลือกใช้วิธีประนีประนอมกัน เช่นโดยหลักการ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ที่โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน นำมาใช้จนสำเร็จ ในการบรรลุข้อตกลงร่วมกับนานาประเทศในเอเชียและแอฟริกา เพื่อการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม เมื่อพ.ศ. 2498 ทั้งๆ ที่ประเทศผู้ลงนามสัญญามาจากทั้งค่ายสังคมนิยมและทุนนิยม มีวัฒนธรรมแตกต่างกันมากมาย
หนึ่งในนักคิดผู้ทรงอิทธิพลจำนวนน้อยที่มุ่งเน้นความหลากหลาย และการประนีประนอมระหว่างวัฒนธรรม แทนที่การใช้กำลังเข้าปะทะกัน คือ เอ็ดวาร์ด ซาอิด (Edward Said) ปัญญาชนชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ ผู้เสียชีวิตลงด้วยโรคลูคีเมียด้วยวัยเพียง 67 ปี เมื่อ พ.ศ. 2546
ตลอดชีวิตของเขา ซาอิดต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ตลอดจนเขียนบทความและหนังสือมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมไม่ได้เป็นสิ่งแน่นอนตายตัว
อย่างที่หลายคนเข้าใจ และตีแผ่แนวคิดอันมุ่งร้ายของมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ในการแบ่งแยกโลกออกเป็น
"ตะวันตก" และ "ตะวันออก" ที่เขาเรียกว่า "บูรพาคติ"
(Orientalism) หนังสือของซาอิดชื่อนี้ เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อวงการบูรพาคดีศึกษา
(Eastern Studies) ทั่วโลก และส่งอิทธิพลก้าวไกลในหลากหลายสาขาวิชา ดังคำอธิบายในบทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ดังต่อไปนี้:
"...[ในหนังสือเรื่อง Orientalism] ซาอิดใช้วิธีการวรรณกรรมปริทัศน์ (literature
review) ต่อผลงานของผู้เชี่ยวชาญทางด้านบูรพาคดีศึกษา อาทิเช่น เบอร์นาร์ด
ลูอิส (Bernard Lewis), เอ็ดเวิร์ด เลน (Edward Lane), ซิลแวสเตอร์ เดอ ซาซี
(Silvestre de Sasy), เอิร์นสต์ เรอนอง (Ernest Renan), ฯลฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่า
การแบ่งโลกออกเป็น "ตะวันออก" และ "ตะวันตก" แท้ที่จริงแล้วเป็นการ
"สร้าง" ขึ้นมาโดยนักคิดในยุโรปและอเมริกา โดยมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับลัทธิล่าอาณานิคมทั้งในยุคเก่าและยุคใหม่
ซาอิดแสดงให้เห็นว่า
แนวความคิดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องเหลวไหล แต่มันกลับถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองในการครอบงำความคิดและขยายอำนาจ
Orientalism ของซาอิดทำให้ปัญญาชนชาว "ตะวันตก" ต้องหันมาสำรวจแนวความคิดของตัวเองที่มีต่อ
"ตะวันออก" ใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ "โลกอิสลาม"
และทำให้ปัญญาชนชาว "ตะวันออก" ตระหนักว่า ตนเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของชาวยุโรปและอเมริกัน
จนทำให้การมองตัวตนและวัฒนธรรมของตนเอง แม้กระทั่งการนิยามตัวเอง ต้องมองผ่านแว่นความคิดแบบ
"ตะวันตก" หนังสือเรื่อง Orientalism ยังถือเป็นการเปิดฉากแนวคิดที่แพร่หลายในปัจจุบันที่เรียกกันว่า
แนวความคิดยุคหลังอาณานิคม (post-colonial)"
หนึ่งในบทบรรยายที่ดีที่สุดของซาอิด กล่าววิพากษ์วิจารณ์หนังสือขายดีชื่อ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"
(The Clash of Civilizations) ได้อย่างถึงแก่น และชี้ให้เห็นความเข้าใจผิดและอคติของนักคิด
"สายเหยี่ยว" ในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ "โลกอิสลาม"
ไว้ดังต่อไปนี้:
มายาคติของ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"
The Myth of 'The Clash of Civilizations'
เอ็ดวาร์ด ซาอิด
เรื่องที่ผมจะบรรยายในวันนี้เกี่ยวกับบทความ และหนังสือที่เขียนโดยแซมมวล ฮันติงตัน
(Samuel Huntington) ชื่อ "การปะทะระหว่างอารยธรรม" (The Clash of
Civilizations) เมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในวารสาร Foreign
Affairs ชื่อบทความลงท้ายด้วยเครื่องหมายคำถาม และผู้เขียนประกาศในประโยคแรกว่า
การเมืองของโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ สามปีหลังจากนั้น ฮันติงตันขยาย - บางคนอาจบอกว่า
"เป่าลม" - บทความนี้เป็นหนังสือ ลบเครื่องหมายคำถามทิ้ง ตีพิมพ์ในชื่อ
"ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรม และระเบียบโลกอุบัติ" (The Clash of
Civilizations and The Emerging World Order) ผมคิดว่าบทความเก่านั้นดีกว่าหนังสือ
หมายความว่ายิ่งฮันติงตันเพิ่มเนื้อหามากขึ้นเท่าไหร่ เหตุผลของเขาก็ยิ่งแย่ลง
ดังนั้นผมจะเน้นเฉพาะบทความ แต่จะกล่าวถึงหนังสือบ้างเป็นครั้งคราว
ตอนที่ฮันติงตันอ้างว่า "การเมืองโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่" นั้น เขาหมายความว่า ความขัดแย้งในอดีตของโลกเรา เป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์สามค่าย คือระหว่างประเทศโลกที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม ในขณะที่รูปแบบการเมืองใหม่ที่เขามองเห็น จะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่แตกต่างกัน และขัดแย้งกันในตัว เขาบอกว่า "ความแตกแยกระดับมหภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก"
เขาอธิบายต่อไปว่า การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่แล้วเขาก็ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันให้ความสนใจอย่างไม่เป็นมิตรเอามากๆ กับอิสลาม มากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด รวมทั้งอารยธรรมตะวันตกด้วย ผมคิดว่า ที่บทความของเขาตกเป็นเป้าสนใจขนาดนี้ เป็นผลจาก จังหวะเวลาที่บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ มากกว่าเนื้อหาสาระในนั้น
...แก่นของวิสัยทัศน์ของฮันติงตัน
ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้เป็นคนต้นคิด คือแนวคิดว่าโลกเรามีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมอย่างไม่หยุดหย่อน
เป็นแนวคิดที่สอดเข้ามาอย่างง่ายดายในช่องว่างทางการเมือง แทนที่สงครามทางความคิดและคุณค่า
ที่สลายไปพร้อมๆ กับสงครามเย็น ซึ่งฮันติงตันเองเป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ
ดังนั้นผมจึงคิดว่า ไม่เป็นการเกินเลยถ้าผมจะเสนอว่า
สิ่งที่ฮันติงตันเสนอในงานของเขา ซึ่งเขียนให้ผู้มีอิทธิผลทางความคิดและนโยบายอ่านนั้น
จริงๆ แล้วเป็นแค่การรีไซเคิลทฤษฎีสงครามเย็น ซึ่งเสนอว่าความขัดแย้งในโลกปัจจุบันและอนาคต
จะยังเป็นความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ (ideological) เป็นหลัก ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจหรือสังคม
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อุดมการณ์ของตะวันตก จะยังคงเป็นเป้าหลักหรือศูนย์กลาง
ที่อารยธรรมอื่นโคจรอยู่รอบๆ เรื่อยไป ในความคิดของฮันติงตัน
ดังนั้น ในทางปฏิบัติ สงครามเย็นจะยังดำเนินอยู่ต่อไป เพียงแต่คราวนี้มันจะเกิดขึ้นหลายด้านด้วยกัน โดยมีระบบความคิดและคุณค่าขั้นพื้นฐาน เช่นอิสลามและลัทธิขงจื๊อ ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อครองอำนาจ หรือครอบงำอารยธรรมตะวันตก จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ฮันติงตันทิ้งท้ายทั้งบทความและหนังสือของเขา ด้วยการเสนอวิธีการที่ตะวันตกควรต้องทำเพื่อรักษาความเข้มแข็ง และทำให้ศัตรูของตนอ่อนแอและแตกแยกกัน
ฮันติงตันเสนอว่า "ตะวันตกต้องใช้ประโยชน์จากความแตกต่าง และความขัดแย้งระหว่างรัฐขงจื๊อ และรัฐอิสลาม เพื่อสนับสนุนอารยธรรมกลุ่มอื่นๆ ที่เห็นดีเห็นงามกับคุณค่า และผลประโยชน์ของตะวันตก เสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรระหว่างประเทศ ที่สะท้อนคุณค่าและผลประโยชน์เหล่านี้ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของรัฐที่มิใช่ตะวันตก ในสถาบันเหล่านั้น" นี่เป็นทัศนคติที่ก้าวร้าว และส่งเสริมการแทรกแซงอารยธรรมอื่น เพื่อให้พวกเขาเป็นตะวันตกมากขึ้น
ความเชื่อของฮันติงตันว่าอารยธรรมอื่นๆ ต้องปะทะกับตะวันตกอย่างแน่นอน และความคลั่งชาติอันเข้มข้นของใบสั่งที่เขาบอกว่า ตะวันตกต้องทำตามเพื่อรักษาชัยชนะนั้น มันดุเดือดเสียจนคนอ่านต้องสรุปสถานเดียวว่า เขาอยากให้สงครามเย็นดำเนินต่อไปในรูปแบบอื่น แทนที่จะเสนอแนวคิดที่อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์โลกในปัจจุบัน หรือช่วยให้วัฒนธรรมต่างๆ ประนีประนอมกัน
ฮันติงตันอ้างว่า ความขัดแย้งไม่เพียงแต่จะดำรงอยู่ต่อไปเท่านั้น แต่ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมจะเป็นยุคสุดท้ายในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่ เราควรมองงานของเขาว่าเป็น "คู่มือ" เล่มค่อนข้างสั้นและหยาบ ที่สอนศิลปะการรักษาจินตภาพของภาวะสงคราม ให้คงอยู่ในความรู้สึกของชาวอเมริกันและชนชาติอื่นๆ ผมจะพูดยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า งานของฮันติงตันถกประเด็นจากมุมมองของผู้วางแผนในกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และผู้บริหารบริษัทในธุรกิจการทหาร ซึ่งอาจสูญเสียอาชีพไปชั่วคราวหลังสงครามเย็นจบสิ้นลง แต่ตอนนี้ได้ค้นพบอาชีพใหม่ให้กับตัวเอง
หลายสิ่งที่ฮันติงตันพูดถึงหรืออธิบาย ทำให้คนอ่านเข้าใจผิด ซึ่งผมคิดว่าอาจเป็นเพราะเขาสนใจที่จะเขียนใบสั่งด้านนโยบาย มากกว่าจะศึกษาประวัติศาสตร์ หรือวิเคราะห์วัฒนธรรมต่างๆ อย่างจริงจัง ข้อสรุปของเขาส่วนใหญ่มาจากความเห็นชั้นที่สองหรือสาม [เช่น อ้างอิงนักหนังสือพิมพ์หรือนักประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่บทวิจัยทางวิชาการ] เขาไม่ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ และความเข้าใจอันมหาศาล ที่ตอนนี้เรามีเกี่ยวกับวัฒนธรรม ว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร
แหล่งข้อมูลของฮันติงตัน ไม่ใช่วัฒนธรรมต่างๆ หากเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" จำนวนหยิบมือเดียวที่เขาเลือกเอง เพราะพวกเขาล้วนตอกย้ำมุมมองชวนทะเลาะ ในถ้อยแถลงของคนที่อ้างตัวว่าเป็นโฆษกของวัฒนธรรมโน่นนี่ สิ่งหนึ่งที่ส่อข้อเท็จจริงนี้คือชื่อบทความและหนังสือ คือ "การปะทะระหว่างอารยธรรม" ซึ่งไม่ใช่ประโยคของฮันติงตันเอง แต่คิดโดยเบอร์นาร์ด ลูอิส (Bernard Lewis) ในหน้าสุดท้ายของบทความเรื่อง "ต้นตอแห่งความแค้นของมุสลิม" (The Roots of Muslim Rage) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Atlantic Monthly ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2533 เขาบอกว่า
"ถึงตอนนี้ทุกคนคงประจักษ์แล้วว่า เรากำลังเผชิญกับขบวนการและอารมณ์ร่วมในอิสลาม ที่แผ่ขยายอยู่เหนือประเด็นและนโยบายต่างๆ ของรัฐ นี่เป็นการปะทะระหว่างอารยธรรม เป็นการตอบรับอย่างไร้เหตุผล แต่เกิดขึ้นจริงในอดีต ของคู่แข่งโบราณ ต่อประเพณีจูเดโอ-คริสเตียน (Judeo-Christian) ของเรา (เมื่อไหร่ที่คุณได้ยินคำว่า "เรา" คุณควรวิ่งหนีไปเลยนะครับ) วิถีชีวิตทางโลกย์ในปัจจุบันของเรา และการขยายตัวของทั้งสองกระแสไปทั่วโลก เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะข่มใจ ไม่ถูกยั่วยุให้ตอบโต้คู่แข่งนั้น ด้วยวิธีในอดีตที่ไร้เหตุผลพอๆ กัน"
หมายความว่าเราไม่ควรทำอะไรบ้าๆ แบบพวกเขา และแน่นอนครับ ลูอิสเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยกย่องมากในสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council of Foreign Relations) ในบทวิจารณ์หนังสือของวารสาร New Yorker ฯลฯ แต่วันนี้ มีน้อยคนที่จะกล้าเสนอแนวคิดอันเต็มไปด้วยอคติ และเหวี่ยงแหอย่างของลูอิส เกี่ยวกับชาวมุสลิมกว่าหนึ่งพันล้านคน ที่กระจัดกระจายอยู่ตามทวีปต่างๆ ห้าทวีป พูดภาษาต่างกันหลายสิบภาษา มีประเพณีและประวัติศาสตร์ต่างกันมากมาย ลูอิสอ้างว่าชาวมุสลิมเหล่านี้ล้วนรู้สึกเคียดแค้นความสมัยใหม่ของตะวันตก ราวกับว่าจริงๆ แล้วคนหนึ่งพันล้านคนเป็นคนคนเดียวกัน และอารยธรรมตะวันตกเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนไปกว่าประโยคบอกเล่าหนึ่งประโยค
แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นก่อน คืออธิบายว่า ฮันติงตันสานต่องานของลูอิสอย่างไร เพราะเขาเสนอความคิดบูรพาคติ (Orientalist) แบบคลาสสิค คือความคิดที่ว่าอารยธรรมต่างๆ ล้วนมีขนาดมโหฬาร เป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous) และตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ภาวะสองขั้วระหว่าง "เรา" และ "เขา" (duality between us and them) นั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่จะต้องย้ำว่า ฮันติงตันเหมือนกับลูอิสตรงที่ไม่ใช่คนเขียนความเรียงแบบเป็นกลาง หรือเป็นภาววิสัย หากเป็นนักโต้แย้ง (polemicist) ผู้ใช้วาทศิลป์ซึ่งไม่เพียงแต่อาศัยเหตุผลจากอดีตที่สนับสนุนสงครามเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเหตุผลเหล่านั้นต่อไปอีกด้วย
ฮันติงตันไม่ใช่ตุลาการระหว่างอารยธรรม ที่เขาเสนอว่าเขาอยากเป็น หากเป็นคนแบ่งพรรคแบ่งพวก ชูอารยธรรมหนึ่งว่าอยู่เหนืออารยธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ฮันติงตันใช้วิธีเดียวกับลูอิสในการนิยาม "อารยธรรมอิสลาม" คือการใช้วิธีย่อขนาด (reductive) ราวกับว่าลักษณะที่สำคัญที่สุดของอารยธรรมนี้ คือสิ่งที่เขาเรียกว่า ลัทธิต่อต้านตะวันตก (anti-Westernism) ผมหมายความว่า การที่ชาวมุสลิมมีอย่างอื่นทำ นอกเหนือจากการคิดถึงตะวันตกอย่างเกลียดชังนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญสำหรับเขาเลย แต่จากข้อเขียนเขา คุณรู้สึกว่าชาวมุสลิมคิดอยู่เรื่องเดียว คือจะทำลายตะวันตกอย่างไร จะวางระเบิดและทำลายล้างโลกทั้งใบได้อย่างไร
เมื่อก่อน ลูอิสพยายามให้เหตุผลต่างๆ นาๆ เพื่อสนับสนุนความคิดของเขาว่า อิสลามไม่เคยปรับตัวให้ทันสมัย ไม่เคยแยกสถาบันศาสนาออกจากรัฐ ไม่สามารถเข้าใจอารยธรรมอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย ชาวอาหรับ ชาวมุสลิมเดินทางไปทั่วทวีปเอเชียและแอฟริกา ก่อนชาวยุโรป และค้นพบอารยธรรมต่างๆ นานก่อนมาร์โค โปโล และโคลัมบัส แต่ฮันติงตันไม่แยแสประเด็นเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย สำหรับเขาแล้ว อิสลาม ขงจื๊อ ฮินดู ญี่ปุ่น สลาวิก (Slavic) ออร์โตด็อกซ์ (Orthodox) ละตินอเมริกา และแอฟริกาที่ยังคงอยู่ เป็นอารยธรรมที่เป็นอิสระจากกัน และด้วยเหตุนั้นก็มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง ที่ฮันติงตันต้องการจัดการ (manage) ไม่ใช่แก้ไข (resolve)
ดังนั้น ฮันติงตันจึงเขียนในฐานะผู้จัดการวิกฤติ ไม่ใช่นักศึกษาวัฒนธรรมหรืออารยธรรม ไม่ใช่ผู้ประนีประนอม แก่นข้อเขียนของเขาคือความรู้สึกเหมือนที่เราเห็นในงานเขียนยุคสงครามเวียดนาม ความรู้สึกว่าได้ตัดผ่านรายละเอียดมากมายที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้งานของฮันติงตันได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม จากผู้วางนโยบายยุคหลังสงครามเย็น เขาใช้เวลาอ่านบทวิเคราะห์วิจัยทางวิชาการ และประสบการณ์มากมาย ย่อยทั้งหมดนั้นเป็นความคิดสั้นๆ ที่จำง่ายเหมือนสโลแกนโฆษณา แล้วก็บอกว่านั่นเป็นความคิดที่ปฏิบัติได้จริง และมีเหตุผลชัดเจน
นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วหรือ ในการเข้าใจโลกปัจจุบัน? เป็นเรื่องฉลาดหรือไม่ ที่จะย่อโลกลงเป็นแผนที่ฉบับเข้าใจง่าย แล้วส่งมันต่อให้นายพล และนักกฎหมาย เอาไปใช้เป็นใบสั่งสำหรับการทำความเข้าใจ และดำเนินนโยบาย? การทำแบบนี้จะไม่ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ยืดเยื้อ และฝังรากลึกยิ่งขึ้นจริงหรือ? มันทำอะไรบ้างที่ช่วยลดการปะทะกันระหว่างอารยธรรม? เราต้องการเห็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมหรือไม่? ความคิดแบบนี้กระพือลัทธิคลั่งชาติ และความกระหายเลือดที่ตามมา ใช่หรือไม่? ไม่ควรหรือที่เราจะตั้งคำถามว่า ทำไมคนๆ หนึ่งจึงทำอย่างนี้? เขาอยากเข้าใจ หรืออยากกระทำ? อยากบรรเทา หรืออยากทำให้ความขัดแย้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น?
ผมอยากเริ่มสำรวจสถานการณ์โลกด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า เดี๋ยวนี้การใช้นามธรรมขนาดใหญ่ที่คลุมเครือเกินไป และปรับเปลี่ยนได้ง่ายในความเห็นของผม เช่น "ตะวันตก" หรือ "วัฒนธรรมญี่ปุ่น" หรือ "วัฒนธรรมสลาวิก" หรือ "อิสลาม" หรือ "ลัทธิขงจื๊อ" ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เหล่านี้เป็นฉลาก (label) ที่ยุบศาสนา สีผิว และชาติพันธุ์เฉพาะต่างๆ รวมกันเป็นมโนคติกว้างๆ ที่ไม่เป็นมิตร และยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง...
ขอยกตัวอย่างสักสองเรื่องให้ทุกท่านเห็นนะครับ ภาษาของอัตลักษณ์กลุ่ม (group identity) ปรากฏขึ้นเด่นชัดตั้งแต่ช่วงกลาง ถึงช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า เป็นหนึ่งในผลิตผลสุดท้ายของการแข่งกันล่าอาณานิคมในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ของมหาอำนาจในยุโรปและอเมริกา ที่กินเวลานานหลายสิบปี ในการแย่งชิงพื้นที่แอฟริกา ทวีปที่เรียกกันว่า "ทวีปมืด" (Dark Continent) นั้น ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม และโปรตุเกส ไม่ได้ใช้แต่เพียงอำนาจกองทัพทหาร แต่ใช้ทฤษฎีและวาทศิลป์มากมาย ในการแสดงความชอบธรรมของการปล้นของพวกเขา
อุบายทำนองนี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นแนวคิดของฝรั่งเศส เกี่ยวกับ "ภารกิจทำให้เจริญ" (la mission civilizatrice) ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า วัฒนธรรมและชาติพันธุ์บางกลุ่ม มีเป้าหมายในชีวิตสูงส่งกว่ากลุ่มอื่นๆ "ความจริง" ข้อนี้มอบ "สิทธิ" ในการล่าอาณานิคม ให้กับกลุ่มที่มีอำนาจกว่า ก้าวหน้ากว่า เจริญกว่า ไม่ใช่เพื่อแสวงหาอำนาจหรือปล้นสะดม ซึ่งเป็นส่วนประกอบปกติของการล่าอาณานิคม แต่ในนามของอุดมคติอันสูงส่ง
นิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของโจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) เรื่อง "หัวใจของความมืด" (The Heart of Darkness) สะท้อนคตินี้อย่างแดกดันและน่ากลัว ในถ้อยคำของคนเล่าเรื่อง: "การพิชิตโลก ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงการยึดมันมาจากคนที่สีผิวต่างจากเรา จมูกแบนกว่าเรานั้น เป็นเรื่องไม่สวยงามเท่าไหร่นัก ถ้าคุณพินิจพิเคราะห์มันจริงๆ สิ่งที่ทำให้เรารับมันได้คือความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่การเสแสร้งอย่างสะเทือนอารมณ์ แต่เป็นความเชื่อและศรัทธาที่ไม่เห็นแก่ตัวในความเชื่อนั้น ที่คุณยอมก้มหัว และเสียสละให้"
ตรรกะแบบนี้ทำให้เกิดผลตามมาสองอย่าง
ประการแรก มหาอำนาจจักรวรรดินิยมต่างคิดค้นทฤษฎีของตัวเองเกี่ยวกับพรหมลิขิตของวัฒนธรรม
(cultural destiny) เพื่อมอบความชอบธรรมให้กับการล่าอาณานิคมของพวกเขา อังกฤษ
เยอรมัน เบลเยียม และอเมริกาล้วนมีทฤษฎีดังกล่าว คติที่ไถ่บาปตัวเองเหล่านี้ทำให้การแข่งขันและปะทะกัน
ดูมีเกียรติและภูมิฐานขึ้น ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ที่แท้จริงที่คอนราดมองเห็นค่อนข้างชัด
คือการแผ่อำนาจตัวเอง ครอบครองดินแดน สะสมทรัพย์สมบัติ และความภาคภูมิใจในตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด
ผมเชื่อต่อไปอีกว่า สิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า การเมืองหรือวาทศิลป์ของอัตลักษณ์ ซึ่งจัดวางคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ในระดับชาติพันธุ์ ศาสนา รัฐชาติ หรือวัฒนธรรม) ไว้เป็นศูนย์กลางของโลกนั้น สืบแนวคิดมาจากยุคการล่าอาณานิคมปลายศตวรรษที่สิบเก้า และการเมืองหรือวาทศิลป์นี้ก็ได้ปลุกปั่นแนวคิดว่าโลกอยู่ในภาวะ "สงคราม" ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในบทความของฮันติงตัน ในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์นิพนธ์ ทฤษฎีที่ว่าแต่ละอารยธรรมเป็นโลกปิด มีอาณาเขตของตัวเองและพื้นที่พิเศษชัดเจน ถูกนำไปใช้กับแผนที่โลก โครงสร้างอารยธรรม ความเชื่อว่าแต่ละชาติพันธุ์มีชะตากรรม จิตวิทยา และลักษณะสังคม (ethos) เฉพาะของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น เรอนอง (Renan) กล่าวว่าชะตากรรมของชนชาติจีนคือเป็นผู้รับใช้ ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นคนว่านอนสอนง่าย และต้องเป็นผู้รับใช้ ชนผิวดำต้องเป็นผู้ใช้แรงงานของมนุษยชาติ เพราะพวกเขามีร่างกายกำยำใหญ่โต และทำงานหนักได้ - ความคิดเหล่านี้ล้วนไม่ได้ตั้งอยู่บนความกลมกลืน แต่บนการปะทะกันหรือความขัดแย้งในโลก
สิ่งที่เกิดขึ้นประการที่สองคือ ชนชาติที่ด้อยกว่า ผู้ตกเป็นเป้าของลัทธิจักรวรรดินิยม ต่างตอบโต้ด้วยการต่อต้านผู้เอารัดเอาเปรียบที่มาตั้งรกรากในถิ่นฐานของเขา ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ขบวนการต่อต้านคนผิวขาว เริ่มขึ้นตั้งแต่นาทีแรกที่พวกเขาเหยียบดินแดนอัลจีเรีย แอฟริกาตะวันออก อินเดีย และประเทศอื่นๆ หลังจากนั้น ก็เกิดการต่อต้านระลอกที่สองเข้ามาสานต่อระลอกแรก โดยจัดตั้งขบวนการทางวัฒนธรรมและการเมืองเพื่อพยายามปลดแอกตัวเองให้เป็นอิสระจากอำนาจจักรวรรดิ ช่วงเวลาที่วาทศิลป์เรื่องความชอบธรรมของจักรวรรดินิยม กำลังแพร่หลายอยู่ในมหาอำนาจยุโรป และอเมริกานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วาทศิลป์ตอบโต้เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคม วาทศิลป์ที่พูดถึงเอกราช เอกภาพ และอธิปไตยของชาวแอฟริกัน เอเชีย อาหรับ หรือมุสลิม
ตัวอย่างเช่นในอินเดีย ภายในยี่สิบปีหลังจากพรรคคองเกรสจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2423 พรรคนี้สามารถทำให้ชนชั้นสูงในอินเดียเชื่อมั่นว่า อิสรภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสนับสนุนการใช้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ อุตสาหกรรม และธุรกิจของชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้เป็นของ "เรา" เท่านั้น และการสนับสนุนโลกของเราในการสู้กับโลกของเขา - สังเกตการสร้าง "เราและเขา" - เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ "เรา" ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
เราเห็นตรรกะที่คล้ายกันนี้ในยุคเมจิของญี่ปุ่น และวาทศิลป์เกี่ยวกับ "ของเรา" นี้ก็เป็นหัวใจของขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทั้งหลาย คือลัทธิชาตินิยม ซึ่งบรรลุเป้าหมายไม่นานหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง ล้มล้างอาณาจักรของจักรวรรดินิยมภายในเวลาประมาณยี่สิบปี นำอิสรภาพมาสู่หลายสิบประเทศหลังจากนั้น ประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย อินโดนีเซีย ประเทศอาหรับส่วนใหญ่ สามประเทศอินโดจีน อัลจีเรีย เคนยา ฯลฯ ล้วนอุบัติขึ้นในโลก บ้างอย่างมีระเบียบเรียบร้อย บ้างจากผลของการพัฒนาภายในอย่างในกรณีของญี่ปุ่น หรือเป็นผลของสงครามอาณานิคม และสงครามกู้ชาติอันรุนแรง
ดังนั้น ทั้งในยุคล่าอาณานิคม และยุคหลังอาณานิคม วาทศิลป์ที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะด้านอารยธรรมหรือวัฒนธรรมพัฒนาไปสองทิศทาง ทิศแรกคือคติแบบยูโทเปีย [โลกในอุดมคติ] ที่เชื่อในแบบแผนการผสมผสาน และความกลมกลืนระหว่างชนชาติทั้งมวลในโลก อีกทิศคือคติตรงข้ามที่เชื่อว่า วัฒนธรรมทั้งหลายต่างมีลักษณะเฉพาะตัวที่หวงแหน จนต้องต่อต้านและทำสงครามกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด
ตัวอย่างของคติแบบยูโทเปียคือภาษา และสถาบันต่างๆ ของสหประชาชาติ ที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งตามมาด้วยความพยายามหลายครั้งที่จะจัดตั้งรัฐบาลโลก ที่ตั้งอยู่บนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ข้อจำกัดอำนาจอธิปไตยโดยสมัครใจ และการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและเชื้อชาติต่างๆ ที่กลมกลืน
ตัวอย่างของคติแบบที่สองคือทฤษฎีและการปฏิบัติของสงครามเย็น และแนวคิดเรื่องการปะทะระหว่างอารยธรรม ที่ดูเหมือนจะจำเป็น หรือเป็นความจริงแท้แน่นอนสำหรับโลกที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมาย แนวคิดนี้มองว่า วัฒนธรรมและอารยธรรมต่างๆ ล้วนแยกเป็นอิสระจากกัน เช่น แก่นของอิสลามเป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่แก่นของตะวันตกก็เป็นอิสระจากอารยธรรมอื่นๆ เช่นกัน
ผมไม่อยากขัดเคืองใครนะครับ ในโลกอิสลาม มีการเคลื่อนไหวและวาทศิลป์ที่ฟื้นฟูความคิดที่ว่า อิสลามและตะวันตกอยู่ตรงข้ามกันแต่ดั้งเดิม เหมือนกับที่ในแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และประเทศอื่นๆ เราเห็นขบวนการที่เน้น "ความจำเป็น" ที่จะต้องกีดกันหรือฆ่าฟัน (ในกรณีของบอสเนีย) คนกลุ่มอื่นที่ไม่เป็นที่ปรารถนา อาทิเช่น ขบวนการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ และแนวคิดในลัทธิไซอันนิสม์ (Zionism) ที่อ้างว่าปาเลสไตน์ควรเป็นดินแดนของชาวยิวเท่านั้น และชาวปาเลสไตน์ที่ไม่ใช่ยิว สมควรอาศัยอยู่ในที่ที่ต่ำต้อยกว่า...
ในแต่ละค่ายอารยธรรม เราจะสังเกตว่ามีผู้แทนของวัฒนธรรมนั้นๆ ที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นโฆษกอย่างเป็นทางการ คนที่มอบบทบาทการอธิบายคุณสมบัติ "ของเรา" หรือ "ของเขา" ให้กับตัวเอง การกระทำเช่นนี้ต้องอาศัยการย่น ย่อ และขยายความอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในชั้นแรก คำประกาศว่าวัฒนธรรมหรืออารยธรรม "ของเรา" คืออะไร หรือควรเป็นอะไรนั้น ย่อมต้องผ่านกระบวนการโต้เถียงภายในเรื่องนิยามก่อน นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผมจึงคิดว่า ยุคปัจจุบันของเรานั้นไม่ใช่ยุคแห่งการปะทะระหว่างอารยธรรม แต่เป็นการปะทะระหว่างนิยาม (clash of definitions) มากกว่า
ใครก็ตามที่เข้าใจแม้เพียงน้อยนิดว่ากลไกของวัฒนธรรมทำงานอย่างไร รู้ดีว่าการนิยามวัฒนธรรม และการตีกรอบว่าสมาชิกของวัฒนธรรมคือใครบ้างนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่โต้แย้งกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น แม้ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ต้องผ่านการคัดเลือก ทบทวน อภิปราย คัดสรร และยกเลิกตลอดเวลา แนวคิดเรื่องความดีและความเลว การเป็นสมาชิกหรือไม่เป็น ลำดับชั้นของคุณค่าต่างๆ ต้องมีการกำหนด และถกเถียงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนั้น แต่ละวัฒนธรรมยังให้นิยามว่า "ศัตรู" ของพวกเขาคือใคร ที่อยู่นอกเหนือวัฒนธรรม และเป็นอันตรายคุกคามความอยู่รอด ที่สมาชิกของวัฒนธรรมนั้นพึงจงเกลียดจงชังและต่อสู้
ทว่าในความเป็นจริง วัฒนธรรมต่างๆ ไม่เหมือนกัน [แต่ละประเทศ] มี "วัฒนธรรมทางการ" (official culture) ที่ถูกนิยามโดยพระ นักวิชาการ และรัฐ วัฒนธรรมนี้ให้นิยามความรักชาติ ความจงรักภักดี ขอบเขต และสิ่งที่ผมเรียกว่า สมาชิกภาพ (belonging) วัฒนธรรมทางการนี้ประกาศตนในนามคนทั้งหมด แต่สิ่งที่ฮันติงตันไม่พูดถึงเลยในแนวคิดเรื่องการปะทะระหว่างอารยธรรม คือข้อเท็จจริงที่ว่า นอกเหนือจากวัฒนธรรมทางการแล้ว ยังมีวัฒนธรรมต่อต้าน วัฒนธรรมทางเลือกที่อยู่นอกคอกหรือนอกรีตมากมายหลายกระแส ที่มีแนวต่อต้านทางการในสาระสำคัญ เป็นคู่แข่งของวัฒนธรรมทางการ เราอาจเรียกวัฒนธรรมเหล่านี้ว่า "วัฒนธรรมต่อต้าน" (the counter-culture) ซึ่งรวมธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าคนนอก คนจน แรงงานอพยพ ปัจเจกชนสุขนิยม (Bohemians) กรรมกร คนขวางโลก และศิลปินหลากหลายประเภท
วัฒนธรรมต่อต้านเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ และการโจมตีสิ่งที่เป็นทางการหรืออยู่ในกระแสหลัก ไม่มีวัฒนธรรมใดๆ ในโลก ที่เราสามารถเข้าใจได้ หากไม่ตระหนักถึงแหล่งยั่วยุอันสร้างสรรค์ที่ดำรงอยู่ตลอดเวลา นั่นคือวัฒนธรรมต่อต้านที่คอยตอแยวัฒนธรรมทางการ ใครที่มองข้ามความปรวนแปรในตะวันตก อิสลาม หรือขงจื๊อในแต่ละวัฒนธรรม และคิดเอาเองว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างบริบูรณ์ จะมองไม่เห็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาและอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรม
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อาร์เธอร์ ชเลซิงเกอร์ (Arthur Schlesinger) เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "การแตกแยกของอเมริกา" (Disuniting of America) ซึ่งเปรียบเสมือนเสียงวิงวอน เรียกร้องให้คนเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของอเมริกา ซึ่งสำหรับชเลซิงเกอร์หมายถึงประวัติศาสตร์ [กระแสหลัก] ของแบงครอฟท์ (Bancroft) อาดัมส์ (Adams) และ[นักประวัติศาสตร์]คนอื่นๆ นั้น กำลังสลายลงเป็นอะไรที่ต่างจากเดิมมาก ชเลซิงเกอร์บอกว่า กลุ่มใหม่ๆ ในสังคมอเมริกันต้องการเห็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนไม่แต่เฉพาะชาติอเมริกา ที่ก่อตั้งและปกครองโดยชนชั้นสูงและเจ้าของที่ดิน แต่อเมริกาที่ทาส คนรับใช้ กรรมกร และแรงงานอพยพผู้ยากไร้ มีบทบาทสำคัญที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เรื่องราวของคนเหล่านี้ ซึ่งถูกปิดปากโดยวาทกรรมกระแสหลักที่มาจากกรุงวอชิงตัน
ธนาคารแห่งกรุงนิวยอร์ค มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิว อิงแลนด์ และอุตสาหกรรมอันร่ำรวยแห่งภาคกลางและตะวันตกนั้น ได้เข้ามาก่อกวนพัฒนาการอันเชื่องช้า และความสงบเงียบของประวัติศาสตร์ฉบับทางการ พวกเขายิงคำถามมากมาย สอดแทรกประสบการณ์ของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และทวงสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ของผู้หญิง ของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและแอฟริกัน และของชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ
ในโลกอิสลามวันนี้ มีการถกเถียงที่คล้ายกัน ที่น้อยคนจะสังเกตเห็น ท่ามกลางเสียงโวยวายที่เราเห็นบ่อยครั้งในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับอันตรายของอิสลาม ลัทธิอิสลามหัวรุนแรง และขบวนการก่อการร้าย อิสลามก็เหมือนวัฒนธรรมระดับโลกอื่นๆ คือมีความหลากหลายมากมาย ทั้งวัฒนธรรมกระแสหลัก และกระแสต่อต้าน ผมคิดว่า ทัศนคติอันเต็มไปด้วยข้อสงสัย และความแคลงใจเกี่ยวกับอำนาจเก่าแก่นี่เอง ที่เป็นลักษณะของโลกหลังสงครามโลก ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก ฮันติงตันอธิบายลักษณะนี้ไม่ได้ ก็เลยต้องหันไปพึ่งแนวคิดเกี่ยวกับการปะทะระหว่างวัฒนธรรม หรืออารยธรรมแทน
นักทฤษฎีอย่างฮันติงตันมองว่า อัตลักษณ์ของอารยธรรมเป็นสิ่งที่ตายตัวถาวร เหมือนห้องที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ในบ้านของคุณ นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ไม่แต่เฉพาะในโลกอิสลามเท่านั้น แต่ในอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก การเน้นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม เป็นการกระทำที่ละเลยการถกเถียงที่ไม่มีวันสิ้นสุด เรื่องการให้นิยามวัฒนธรรมหรืออารยธรรมภายใน รวมทั้งในอารยธรรมตะวันตกด้วย การถกเถียงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความคิดเรื่องอัตลักษณ์ถาวร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์เหล่านั้น เป็นเรื่องเหลวไหล นี่คือสิ่งที่ฮันติงตันเชื่อว่าเป็นธรรมชาติของการเมือง [เป็นบ่อเกิดของ]การปะทะระหว่างอารยธรรม
ถ้าเราให้ความสนใจมากเกินไปกับการจัดการ และเอาแว่นขยายส่องการปะทะระหว่างวัฒนธรรม เราจะมองไม่เห็นความจริงที่สำคัญกว่า นั่นคือการแลกเปลี่ยนและสนทนาระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ อันยิ่งใหญ่แต่มักไม่ค่อยถูกกล่าวถึง มีวัฒนธรรมใดบ้างในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อาหรับ ยุโรป เกาหลี อินเดีย จีน ที่ไม่ได้ติดต่อกับวัฒนธรรมอื่นอย่างลึกซึ้ง เข้มข้น และยาวนาน? ไม่มีเลย
ความข้อนี้เป็นจริงสำหรับแวดวงวรรณกรรมเช่นกัน เช่น มีแฟนนักอ่านของการ์เซีย มาร์เกซ (Garcia Marquez) นากิบ มาห์ฟูซ (Naguib Mahfuz) และเคนซาบุโร โอเอะ (Kenzaburo Oe) มากมายเกินขอบเขตของภาษาและประเทศ วงการวรรณกรรมปริทัศน์ (comparative literature) ของผมมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมข้ามชาติ ในแง่ของการประนีประนอมและความกลมกลืนระหว่างกัน แม้จะมีอุปสรรคด้านรัฐชาติ และอุดมการณ์อันทรงพลังขวางกั้นอยู่ ความร่วมมือกันแบบนี้คือสิ่งที่ผู้ป่าวประกาศเรื่องการปะทะระหว่างวัฒนธรรมมองไม่เห็น นั่นคือการอุทิศตนชั่วชีวิตของเหล่านักวิชาการ ศิลปิน นักดนตรี นักคิด และศาสดา ให้กับความพยายามที่จะปรับความเข้าใจกับสังคมหรือวัฒนธรรมอื่น ที่ดูแปลกและไกลตัวเหลือเกิน
ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ส่งเสริมสปิริตของความร่วมมือกัน และการแลกเปลี่ยนกันอย่างมีมนุษยธรรม - ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงการแสดงความรับผิดชอบและทำงานให้แก่กันและกัน ไม่ใช่แค่ความปลาบปลื้มยินดีอย่างไร้เหตุผล หรืออาการเห่อของแปลกๆ จากต่างประเทศ - เราก็จะหนีไม่พ้นการตีฆ้องร้องป่าวแบบฉาบฉวย อ้างว่าวัฒนธรรมของเราสูงส่งกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ทั้งหมดในโลก
งานวิจัยที่สำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษากลไกของวัฒนธรรม ซึ่งเขียนโดยเทอเรนซ์ เรนเจอร์ (Terrence Ranger) และอีริค ฮ็อบส์บอห์ม (Eric Hobsbawm) บอกเราด้วยว่า แม้แต่ประเพณีก็เป็นสิ่งที่คนสามารถสร้างได้ ความคิดที่ว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมเป็นสิ่งมั่นคงตายตัวนั้น ถูกหักล้างด้วยความคิดนี้ ที่อธิบายเรื่องการคิดค้นและสร้างประเพณีขึ้นเป็นแบบแผนปฏิบัติ ดังนั้น ประเพณีต่างๆ ไม่ใช่สิ่งสวยงามคงทน แต่เป็นนามธรรมที่คนสามารถสร้าง ทำลาย และปรับเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย
ผมเคยเสนอข้อโต้แย้งในงานเขียนของผมหลายชิ้นก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่ฮันติงตัน และชาวยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น "อิสลาม" นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมบูรพาคติ เป็นจินตภาพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกระพือความรู้สึกเกลียดชัง และต่อต้านอาณาบริเวณในโลกที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งยวด เพราะเป็นแหล่งน้ำมัน เป็นบริเวณที่ติดกับคริสตจักร และเป็นบริเวณที่แข่งขันกับโลกตะวันตกมาช้านานในประวัติศาสตร์ แต่สำหรับชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในโลกอิสลาม อิสลามเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง อิสลามในอินโดนีเซีย และอิสลามในอียิปต์นั้น แตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล [ไม่ต่างจากถ้าเปรียบเทียบศาสนาพุทธในไทย กับพุทธในญี่ปุ่น และพุทธในทิเบต - ผู้แปล]
ในทำนองเดียวกัน เราเห็นความปรวนแปรของการดิ้นรนที่จะตีความ และให้นิยามกับอิสลามในอียิปต์ ประเทศซึ่งอำนาจทางโลกย์ของสังคม กำลังขัดแย้งกับขบวนการประท้วงทางศาสนา และนักปฏิรูปสังคม เกี่ยวกับหลักอิสลาม ในกรณีแบบนี้ สิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายที่สุด แต่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมากที่สุด คือพูดว่า "ดูสิ นั่นคือโลกอิสลาม โลกที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรง เห็นไหมว่าพวกเขาแตกต่าง ไร้เหตุผลขนาดไหนเมื่อเทียบกับเรา"
แต่สิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุด
และผมอยากจะสรุปการบรรยายตรงนี้ สิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดในแนวคิดเรื่องการปะทะระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรม
คือสมมุติฐานว่าแต่ละวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอยู่อย่างเป็นอิสระจากกัน ทั้งๆ ที่เรามีหลักฐานท่วมท้นที่พิสูจน์ว่า
โลกเราวันนี้เป็นโลกแห่งการผสมปนเป การอพยพย้ายถิ่นฐาน และการข้ามพรมแดนระหว่างกัน
หนึ่งในวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา เกิดจากความสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ว่าไม่มีวัฒนธรรมหรือสังคมใดๆ ที่บริสุทธิ์เป็นหนึ่งเดียว
66666666666
ชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ เช่นชาวแอฟริกาเหนือในฝรั่งเศส ชาวแอฟริกันในคาริบเบียน
และชาวอินเดียในอังกฤษ ล้วนเป็นหลักฐานที่หักล้างความเชื่อที่ว่า อารยธรรมที่ภาคภูมิใจในเชื้อชาติอันบริสุทธิ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวเอง
จะสามารถดำรงอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมใดในโลกอีกแล้วที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว
ความพยายามใดๆ ที่จะแยกส่วนวัฒนธรรมเหล่านี้ออกเป็นชิ้นๆ เป็นการทำร้ายความหลากหลาย
ความซับซ้อนขององค์ประกอบต่างๆ และความเป็นลูกผสม
ยิ่งเรายืนกรานจะแยกวัฒนธรรมออกจากกันเท่าไหร่ เรายิ่งเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเราเอง และคนอื่นมากขึ้นเท่านั้น ผมคิดว่าอารยธรรมที่แปลกแยกนั้น เป็นไปไม่ได้เลยในโลกแห่งความจริง คำถามที่แท้จริงคือ ท้ายที่สุดแล้ว เราอยากทำงานในอารยธรรมที่แยกออกจากกัน หรือเราควรเดินตามทางที่ประสานงานกันแต่ยากยิ่งกว่า ที่มองอารยธรรมต่างๆ ว่าประกอบกันเป็นหลุมขนาดมหึมาหลุมหนึ่ง ที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งมองเห็นทั้งรอบวง แต่เราสามารถหยั่งรู้และศึกษามันได้
เมื่อแลดูความเป็นจริงอันน่าหดหู่ ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ และระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ รอบตัวเราแล้ว ผมรู้สึกว่าข้อเสนอที่บอกว่าพวกเราในยุโรปและอเมริกา ซึ่งฮันติงตันเรียกว่า "ตะวันตก" ควรรักษาอารยธรรมของเราด้วยการกีดกันคนอื่นๆ ออกไป เพิ่มช่องว่างระหว่างชนชาติต่างๆ เพื่อขยายเวลาแห่งความเกรียงไกรของเรานั้น เหมือนเสนอให้เราหดหัวเป็นนกกระจอกเทศอยู่ในรู เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ที่บทความของฮันติงตันได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs และผู้วางนโยบายภาครัฐหลายๆ คน สนใจบทความนี้ เพราะมันช่วยอเมริกาให้สามารถขยับขยายมโนคติของสงครามเย็น ไปสู่ยุคใหม่และสำหรับผู้ฟังกลุ่มใหม่ แต่มโนคติที่มีประโยชน์กว่านี้มากคือมโนคติหรือความสำนึกของโลกใหม่ (a new global mentality or consciousness) ที่มองเห็นอันตรายที่เรากำลังเผชิญ จากมุมมองของมนุษยชาติทั้งมวล
อันตรายเหล่านี้ครอบคลุมอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก การอุบัติขึ้นของสภาพอารมณ์อันบ้าคลั่งระดับศาสนา ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น และระดับชาติ เช่นในบอสเนีย รวันดา เลบานอน เชชเนีย และประเทศอื่นๆ การลดลงของอัตราการรู้หนังสือ และภาวะการไม่รู้หนังสือโฉมใหม่ที่ตั้งอยู่บนการสื่อสารแบบอิเล็คทรอนิคส์ ทีวี และอินเตอร์เน็ต ตลอดจนการแยกส่วนและสูญสลายของเรื่องราวการปลดปล่อยและหลุดพ้นอันยิ่งใหญ่ [ในประวัติศาสตร์มนุษย์] สมบัติอันล้ำค่าที่สุดที่เรามี เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อันร้ายแรงเหล่านี้ ไม่ใช่ความรู้สึกว่าควรปะทะกัน แต่เป็นความรู้สึกร่วมของชุมชน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความหวัง ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับที่ฮันติงตันปลุกเร้า
ผมอยากอ้างอิงคำพูดของกวีผู้ยิ่งใหญ่นาม ไอมี ซีแซร์ (Aime Cesaire) ที่ผมใช้ในหนังสือเล่มหนึ่งของผมชื่อ "ว่าด้วยวัฒนธรรมและจักรวรรดินิยม" (On Culture and Imperialism) ซีแซร์พูดว่า "ภารกิจของมนุษย์ที่เพิ่งจะเริ่มขึ้น คือการพิชิตความรุนแรงที่ฝังรากลึกอยู่ในกิเลสของเรา ไม่มีชนชาติใดๆ ที่ผูกขาดความงดงาม ความฉลาดเฉลียว และกำลัง มีพื้นที่สำหรับคนทุกคน ณ สถานที่แห่งชัยชนะของเรา"
ความรู้สึกแบบนี้แผ้วถางหนทางที่จะนำไปสู่การสลายอุปสรรคทางวัฒนธรรม และสลายความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัว แบบที่กีดกันสำนึกโลกอันอ่อนโยน (benign globalism) ที่ได้อุบัติขึ้นแล้วในขบวนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี และในความสนใจสากลต่อสิทธิมนุษยชน ในแนวคิดระดับโลกที่เน้นประชาคมและการแบ่งปัน แทนที่การครอบงำของสีผิว เพศ หรือชนชั้น
ดังนั้น ผมคิดว่าทุกคนควรเข้าใจว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะนำชุมชนของอารยธรรมในโลก ให้หวนคืนสู่ยุคป่าเถื่อนที่เต็มไปด้วยการดิ้นรนอย่างเห็นแก่ตัว ไม่ใช่คำอธิบายว่าอารยธรรมทำงานอย่างไร หากเป็นการยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน และปลุกปั่นลัทธิคลั่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการเลยแม้แต่น้อย
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เราเห็นความปรวนแปรของการดิ้นรนที่จะตีความ
และให้นิยามกับอิสลามในอียิปต์ ประเทศซึ่งอำนาจทางโลกย์ของสังคม กำลังขัดแย้งกับขบวนการประท้วงทางศาสนา
และนักปฏิรูปสังคม เกี่ยวกับหลักอิสลาม ในกรณีแบบนี้ สิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายที่สุด
แต่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมากที่สุด คือพูดว่า "ดูสิ นั่นคือโลกอิสลาม
โลกที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรง เห็นไหมว่าพวกเขาแตกต่าง ไร้เหตุผลขนาดไหนเมื่อเทียบกับเรา"
แต่สิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุด
และผมอยากจะสรุปการบรรยายตรงนี้ สิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดในแนวคิดเรื่องการปะทะระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรม
คือสมมุติฐานว่าแต่ละวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอยู่อย่างเป็นอิสระจากกัน ทั้งๆ ที่เรามีหลักฐานท่วมท้นที่พิสูจน์ว่า
โลกเราวันนี้เป็นโลกแห่งการผสมปนเป การอพยพย้ายถิ่นฐาน และการข้ามพรมแดนระหว่างกัน
หนึ่งในวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา เกิดจากความสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ว่าไม่มีวัฒนธรรมหรือสังคมใดๆ ที่บริสุทธิ์เป็นหนึ่งเดียว