The Midnight University
บางส่วนจากบันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
ทบทวนสารคดีบีบีซี.เรื่องอำนาจของฝันร้าย
Review : The Power of Nightmares
พิภพ
อุดมอิทธิพงศ์ : นำการสนทนา
นักแปลและนักวิชการอิสระ
บันทึกการประชุมนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
เป็นบทสนทนากันเรื่อง ภาพยนตร์สารคดี The power of nightmares
วันที่ ๒๒ ตุลาคม
๒๕๔๘ เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.
ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก เชียงใหม่
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 791
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12.5 หน้ากระดาษ A4)
บสงส่วนจากการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
สนทนาถึงภาพยนตร์สารคดีเรื่อง
The Power of Nightmares
โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
๑. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักวิชาการอิสระ
๒. อ. จันทร์เพ็ญ ศิลาวงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๓. ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๔. สุทธินี จิตมณี หน่วยวิจัยนิเวศวิทยาแมลงในแหล่งน้ำไหล ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่
๕. ชลนภา อนุกูล ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
๖. ณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
พิภพ : หนังเรื่อง The Power of Nightmares นี้มี
๓ ตอน ตอนหนึ่งมีประมาณชั่วโมงหนึ่งได้ หลัก ๆ พูดถึงแนวคิด ๒ กระแส ก็คือ
แนวคิด Neo-conservatives (นีโอคอนเซอร์เวทีฟ) อีกสายหนึ่งคือ Radical Islam
(แรดิคอล อิสลาม) และทั้ง ๒ สายคนที่เขียนเรื่องนี้ ปรารถนาดีต่อโลกเหมือนกัน
คือ อยากจะสร้างสันติภาพ เห็นว่าโลกกำลังเลวร้ายทุกขณะ จึงอยากจะทำให้เกิดความดีขึ้น
แต่ว่าสุดท้ายผลลัพธ์มันกลับตรงกันข้ามกับที่อยากให้เป็น ผลลัพธ์มันกลับมีการฆ่าฟัน
การรุกรานประเทศอื่น และมีความกลัวเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องการ
เพราะว่ามันทำให้ มันเป็นดอกผลที่ทำให้คนสยบกับระบบ ทำให้นักการเมืองกลายเป็น
" manager of public life" เป็นผู้จัดการชีวิตสาธารณะ
หนังมี ๓ ตอน ตอนแรก เขาใช้ชื่อตามเพลง "baby it's cold outside" ล้อเลียนกับเพลง เพลงนี้เป็นเพลงที่ดังในยุคประมาณ ๑๙๓๐'s - ๑๙๔๐'s เขาย้อนไปในยุคตรงนั้น มันเป็นยุคประมาณกลาง ๆ ๑๙๓๐'s เศรษฐกิจดี เขาใช้ชีวิตแบบสวิงสวาย บริโภค นักศึกษาก็ไปงานบอล โตขึ้นก็พูดเรื่องรถยนต์ จะขับรถอะไร ยังไง
จันทร์เพ็ญ : เขาใช้คำว่า "individualism"
พิภพ : คล้าย ๆ เป็นปัจเจก เป็นอะไรมากขึ้น ในสภาพสังคมในอเมริกาในยุโรป ในนี้เขาพูดถึงในอเมริกาก็เป็นแบบนั้น ยุคนั้นเขาพูดถึงคน ๒ คน คนหนึ่งเป็นผู้นำแนวคิดที่เรียกว่าเป็น "Radical Islam" ในยุคหลังของ Radical Islam (แรดิคอล) อิสลาม ผลผลิตก็คือ บิน ลาเดน พวก suicide bombers พวกที่ไปฆ่าตัวตาย ไประเบิด เขาบอกว่าต้นกำเนิดมาจาก Sayed Kotb ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่เห็นว่าสังคมอเมริกันมันเสื่อม คนเห็นแก่ตัว เอาแต่เที่ยว เอาแต่กิน สูญเสียคุณค่าร่วมไป ทำให้สังคมแตกแยก เป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะฉะนั้นมันต้องมีเหมือนกับศาสนาหรือความเชื่อที่เป็นแกนกลางขึ้นมา เพื่อให้ยึดเหนี่ยวคนเข้ามาด้วยกันเพราะสังคมแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะฉะนั้นต้องสร้าง myth ที่เรียกว่าเป็น รหัสยนัย ขึ้นมา เพื่อจะสะกดคนให้เชื่อเรื่องแบบเดียวกัน
คนที่เป็นผู้นำมุสลิม มุสลิมสุดโต่ง แรดิคอล มุสลิม เป็นคนอียิปต์ ชื่อว่า Sayed Kotb (เซเย็ต โคโตป) ตามประวัติเขาบอกว่า ไปเรียนที่อเมริกาประมาณ ๑๙๔๐'s กว่า ๆ ที่ไว้หนวดเหมือนญี่ปุ่น เขาเข้าไปเรียนในอเมริกา เขาเห็นสภาพสังคมอเมริกันที่มันเสื่อม และวัฒนธรรมอเมริกันแบบนี้ แพร่ไปในอียิปต์ แพร่ไปในโลกมุสลิมทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรม เขาเห็นว่าต้องทำให้อิสลามกลับมามีบทบาทในทางการเมืองและสังคมมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ การสร้าง Islamic state หรือรัฐอิสลามขึ้นมา ซึ่งตรงกันข้ามกับในรัฐแบบอเมริกาที่เป็นรัฐแบบฆราวาส (Secular state)
ในขณะเดียวกัน ตรงข้ามกับพวก radical Muslim ก็คือ พวก Neo-conservatives คนที่เป็นผู้นำก็คือ Strauss เขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก อันนี้น่าสนใจ มีเกร็ดที่น่าสนใจว่า University of Chicago เป็นมหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นสดมภ์หลักทางความคิดในหลายด้าน เช่น คนหนึ่งที่สำคัญคือ Milton Friedman เขาได้รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ และถือเป็นต้นธารสำคัญของแนวคิด Neo-liberalism ซึ่งเป็นพื้นฐานของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน
มีสารคดีที่นำเรื่องนี้ของ PBS ที่อเมริกาทำชื่อเรื่อง"Commanding Height" (http://www.pbs.org/wgbh/commandingheights /hi/story/) พูดถึงเรื่องผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกว่า รากเหง้ามันมาจากไหน และกระบวนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ ๒ กระแสระหว่างฝ่าย Keynesian และ Milton Friedman ซึ่งดูเหมือนว่าฝ่ายหลังจะชนะอย่างค่อนข้างราบคาบ แต่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเพราะ เป็นเศรษฐศาสตร์แบบที่ไปกระตุ้นด้านมืดหรือความโลภ ความอยากบริโภคของมนุษย์
ธรรมดาเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ มันไม่มีความโลภ มันก็ขับเคลื่อนไปไม่ได้ ที่นี้ Strauss สอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก แล้วเขาก็มีบทบาทสำคัญในการที่เป็นผู้นำความคิด ซึ่งมามีอิทธิพลในตอนหลังที่เขาตายไปแล้ว คือกลุ่ม Neo-conservatives พวกนี้เห็นว่าสังคมอเมริกันเสื่อม สังคมอเมริกันมันแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการก็คือการสร้างศาสนาใหม่ขึ้นมา เป็นคุณค่าร่วมกันเป็นระบบคุณค่าที่ยึดเหนี่ยวคนเข้าหากัน มันจะต้องมี myth (มายาคติ)ขึ้นมา
Myth ที่ Strauss (สเตราส์) บอกว่าสำคัญก็คือเรื่องของความขัดแย้งระหว่าง"ความชั่วร้ายกับความดี" และเขาบอกว่าชาติอเมริกาต้องเป็นฝ่ายดี ต้องไปทำลายฝ่ายที่ชั่วร้ายในประเทศอื่น เขาเชื่อแบบนี้ และความเชื่อเรื่องความต่างระหว่างความดีกับความชั่วทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้เกิดสงคราม ทำให้เกิดการต่อสู้ ทำให้คนกลัว มีการตอบโต้กันไปมา และเป็นต้นตอของชื่อรองของวิดีโอก็คือ "The Rise of the Politics of Fears" คือความรุ่งเรืองของการเมืองของความกลัว ก็คือคนจะยิ่งกลัวมากขึ้น
สเตราส์ เห็นว่ามันจะต้องมี myth ตรงนี้ขึ้นมา myth ที่ว่าก็คือ เราเป็นคนดี เกร็ดในหนังบอกว่า สเตราส์ชอบดูหนังคาวบอย หนังคาวบอยฝ่ายดีจะใส่ชุดขาว แล้วก็ชักปืนไวกว่าฝ่ายชั่ว สามารถยิงให้ฝ่ายชั่วตายก่อน สเตราส์เขาจะชอบดูหนังแบบนี้ และอิทธิพลของ สเตราส์ นี้สำคัญมากเพราะว่า มันสืบทอดมาจนถึงยุคบุชผู้ลูก บุชปัจจุบันด้วย เพราะว่าคนอย่างโดนัลด์ รัมเฟลด์เป็นรัฐมนตรีกลาโหม คนอย่างพอล วูฟโฟวิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม. โดนัลด์ รัมเฟลด์เป็นผลผลิตมาจากยุคดังกล่าว เขาได้รับอิทธิพลมาจาก สเตราส์, พวกนีโอ-คอน
จากนั้นเขาเล่าย้อนไปถึงฝ่าย radical Islam โคโตปกลับไปที่อียิปต์และเข้าร่วมกับกลุ่ม Muslim Brotherhood (กลุ่มพี่น้องมุสลิม) ประเด็นหลักของเขา ก็คือ การสร้างรัฐอิสลาม ตอนนั้นก็มีการโค่นล้มรัฐบาลของนายนัสเซอร์ นัสเซอร์นายกฯ คนสุดท้ายที่ฝ่ายอังกฤษเลือกให้เป็น และกลุ่ม Muslim Brotherhood ก็สามารถโค่นเขาลงได้ แต่คนที่โค่นกลับไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ที่จะสร้างรัฐฆราวาส ก็เลยขัดแย้งกัน ตอนท้ายโคโตปโดนจับกุม สุดท้ายเขาโดนประหาร เมื่อปี ๑๙๖๖
แม้ตัวเขาจะตาย แต่มีคนที่ได้รับอิทธิพลเขามาก มีอยู่คนหนึ่งชื่อว่า "ซาวาหิรี" สำคัญตรงที่ว่าเป็นคนที่ทำงานร่วมกับบิน ลาเดนในสมัยที่เข้าไปกอบกู้อัฟกานิสถาน จากเงื้อมเงาของโซเวียตที่เข้าไปยึดครองอัฟกานิสถาน รัฐบาลอเมริกันก็เห็นว่าเอาเรื่องนี้มาเป็น myth เพื่อสะกดคนของตัวเองได้ ตอนนั้นโดนัลด์ รัมเฟลด์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายเจอร์รัล ฟอร์ด ก็มีการสร้างภาพสหภาพโซเวียตอย่างน่ากลัว กล่าวหาว่ามีอาวุธทำลายล้างสูง (เหมือนข้อหาที่ตั้งให้กับซัดดัม ฮุสเซ็นในเวลาต่อมาเลย) และเป็นภัยคุกคามโลก ตามแนวของพวกนีโอคอนที่ต้องสร้างศัตรูที่น่ากลัวขึ้นมา
และในเวลาต่อมาสมัยรัฐบาลนายเรแกนเป็นประธานาธิบดี เขาก็เห็นว่าอย่างนั้นเราต้องไปรุกราน ต้องไปสู้กับพวกโซเวียตในอัฟกานิสถาน กลุ่มกองโจรที่สนับสนุนโดยโซเวียต ในเรื่องนี้ คนทำเก่งมาก เพราะสามารถหา footage เก่า ๆ ได้ เท่าที่ผมอ่านประวัติ อดัม เคอร์ติสท์คนทำสารคดีชิ้นนี้เก่งมาก ตรงที่เขาสามารถหา footage เก่า ๆ มาประกอบสารคดีได้ ได้เยอะมากซึ่งน่าสนใจมาก หนึ่งเขาเป็นคนเก่ง เขาสามารถหา footage ตรงนี้มาได้ และอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจในวิดีโอของอดัม เคอร์ติสท์ เรื่องนี้ ก็คือ sources เขาเป็น first hand ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด คนที่สัมภาษณ์เป็นอดีตผู้นำ CIA เป็นเจ้าหน้าที่ CIA เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม เป็นอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีฝ่ายความมั่นคง อะไรต่าง ๆ คนที่เขาสัมภาษณ์แล้วออกมา confirm เนื้อหาที่เขายืนยัน
จันทร์เพ็ญ : ที่บอกว่าไม่มีหลักฐานอะไรตรงนู้น ไม่มีหลักฐานอะไรตรงนี้ แต่ละคนบอกอย่างนั้นเลยน่ะ
พิภพ : ใช่ แล้วคนบอกนี่ ไม่ใช่เป็นนักข่าวน่ะ เป็นเจ้าของเรื่องเลย CIA บ้าง เช่น กรณีที่สหรัฐไปช่วยกลุ่มกองโจรในอัฟกันเพื่อต่อสู้กับโซเวียต คนนี้เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายของ CIA และเป็นคนที่รับผิดชอบงานในยุคนั้นด้วย เขาบอกเลย รัฐบาลอเมริกันให้เป็นพันล้าน แล้วเข้าไปโซเวียต ไปแทรกซึม ให้เงินไปฝึกกองกำลังติดอาวุธของบิน ลาเดน เพราะเป็นคนที่รับผิดชอบตอนนั้น
บิน ลาเดนเป็นชาวซาอุดิอารเบีย เป็นลูกคนรวย ความคิดของบิน ลาเดนคือ มันต้องเป็น Islamic State ต้องเป็นรัฐอิสลาม สังคมถึงจะสงบสุข แล้วเขาจะสร้างให้ทุกแห่งหนเป็นรัฐอิสลาม รัฐที่ไม่ใช่อิสลาม คือรัฐที่ corrupt รัฐที่มันฉ้อฉล รัฐที่มันเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นทุกรัฐต้องเป็นรัฐอิสลามให้หมด เขาเชื่อในความคิดนี้ เหมือนกับซาวาหิรีที่เป็น mentor (ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์และไว้ใจได้)ของเขา และเป็นผู้ได้รับอิทธิพลแนว radical Islam มาจากโคตอป
บิน ลาเดนออกไปในประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อสู้ ประเทศแรกที่เขาไปคือ อัฟกานิสถาน ที่อัฟกานิสถานคนที่เป็นผู้นำ ก็คือ ซาวาหิรีเป็นผู้นำด้านทหารด้านยุทธวิธี แต่ไม่มีเงิน คนที่มีเงินคือ บิน ลาเดน. บิน ลาเดนได้ทำการฝึกทหารขึ้นมา และได้เงินจาก CIA มาสนับสนุนตรงนี้อีก เหตุผลอันหนึ่งที่คนคัดค้านสงครามในอัฟกานิสถาน เพราะจริง ๆ สหรัฐนี่แหละไป ฝึกพวกฏอลิบัน พวกกองโจรทั้งหลาย ตอนที่รัฐบาลบุชประกาศจะโจมตีอัฟกานิสถาน มันหาอัฟกานิสถานในแผนที่ไม่เจอ มันเป็นเรื่องโจ๊ก ไม่รู้เรื่องจริงไม่จริง แต่เขาบอกว่ามันประชุมเสธฯ กันแล้ว หาไม่เจอว่าอัฟกานิสถานอยู่ตรงไหน แต่เห็นว่าต้องลุยมัน เป็นการสร้าง myth สร้างความกลัวขึ้นมา ถ้าอเมริกาไม่ทำสงคราม คนจะไม่มีความกลัว คนจะไม่รู้สึกว่ามันมีคุณค่าร่วมกัน คือ อเมริกาเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นประชาธิปไตย
จันทร์เพ็ญ : ทำให้คนอื่นเป็นผู้ร้าย
พิภพ : ต้องมีศัตรู ถ้าผู้ร้ายไม่ยอมก็ฆ่ามันเสีย จะได้เหลือแต่พระเอก ทั้งโลกก็จะมีแต่พระเอก มีแต่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหมด คือ แนวคิดที่สเตราส์ เขาคิดว่ามันต้องมีพระเอกกับผู้ร้าย อเมริกาต้องเป็นพระเอก เป็นผู้ร้ายไม่ได้ เป็นพระเอกทำไง ก็ต้องไปแสดงแสนยานุภาพทำให้คนที่มันร้าย คนไม่เชื่อก็ฆ่ามันซะ จริง ๆ ผมเพิ่งดูหนังเรื่องหนึ่ง ของไมเคิล มัวร์ เขาเป็นคนทำ ฟาเรนไฮต์ ๙๑๑ หนังชื่อ "Canadian Bacon"
มันเป็นหนังกึ่งคอมเมดี้ เขาทำล้อเลียนประธานาธิบดีอเมริกา สงครามเย็นก็หมดไปแล้ว โซเวียตก็ล้มไปแล้ว กำแพงเบอร์ลินก็พังไปหมดแล้ว มันไม่มีศัตรูแล้วนี่ ทำไง พวกที่ปรึกษาก็คุยกันไปคุยกันมา ก็บอกเฮ้ย แคนาดาไง เพราะแคนาดาเป็นประเทศที่สุขสงบเป็นประเทศสวัสดิการดี ลึก ๆ คนอเมริกันมันอิจฉาแคนาดาอยู่แล้ว ไปบุกแคนาดา ทำให้มันดูเป็นประเทศที่ชอบทำสงคราม ประเทศที่ชั่วร้าย จะได้หาเรื่องทำสงครามกับแคนาดา หนังไม่ได้ทำแบบทื่อ ๆ ทำแบบคอมเมดี้ ไมเคิล มัวร์ เป็นคนทำหนังตลกน่ะ บางเรื่องก็เวอร์ บางเรื่องก็น่าสนใจ
ทีนี้ขอย้อนกลับมา ตัวซาวาหิรีซึ่งได้รับอิทธิพลจากโคโตป เขาได้ร่วมมือกับบิน ลาเดนไปฝึกพวกผู้ก่อการร้าย พวกอะไรต่าง ๆ ผลงานล่าสุด ก่อนที่เขาจะบอมบ์ที่นิวยอร์ค เขาไปบอมบ์สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาที่ซูดาน ซึ่งอันนั้นเขายอมรับว่าเขาทำ แต่ว่าประเด็นก็คือ ที่บอกว่าเป็นผลงานของกลุ่มอัลกออิดะห์ ชื่ออัลกออิดะห์แต่ก่อนไม่มี และคนที่ตั้งให้คือ รัฐบาลอเมริกันนี่เอง เขาไปจับคนที่เคยทำงานกับบิน ลาเดนมาเพื่อสอบสวน และนายคนนั้นบอกว่าชื่อกลุ่มอัลกออิดะห์ อเมริกาบอกว่างั้นเอาชื่อนี้ อัลกออิดะห์
พอหลังจากเกิด ๙๑๑ แถลงข่าวกันใหญ่ บิน ลาเดนคงดีใจมาก เพราะว่าอยู่ ๆ ก็ดัง จริงไม่จริงไม่รู้ ประเด็นคือว่า แนวคิดเรื่อง Radical Islam ใครที่ไม่ใช่อิสลามต้องฆ่าหมด ไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนา ต้องฆ่าหมด Neo-con ก็มีบทบาทในทางการเมือง ในอเมริกามากขึ้นเรื่อย ๆ โดนัลด์ รัมเฟลด์ ที่เป็นสาวกของนีโอ-คอนก็เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหม และมีบทบาทส่งทหารไปบอมบ์ประเทศอื่น ก็มีบทบาทเรื่อย ๆ จนมาถึงยุคของเรแกน เรแกนนี่ชัดเจนว่าเป็นนีโอคอน เพราะว่านโยบายในช่วง ๓๐ - ๔๐ ปีของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาก็คือ การโจมตีประเทศอื่น
ถ้าอ่านหนังสือของนอม ชอมสกี้ จะเห็นชัด ว่า เรื่องของการบุกเกรเนดาร์ บุกคิวบา บุกนิคารากัว ล่าสุดที่หมายหัวคือฮูโก ชาเวส ของเวเนซูเอลามา ฮูโก ชาเวส เป็นคนที่น่าสนใจมาก น่าสนใจกว่าทักษิณเยอะ เป็น populist prime minister เหมือนกัน แต่น่าสนใจกว่า ต้องไปหาหนังสือมาอ่าน เป็นคนที่พวก World Social Forum เชิญไปพูด เขาเป็นประธานาธิบดีของเวเนซูเอลา เป็นคนที่สหรัฐต้องการ และต้องการโค่นลงแต่ว่าโค่นไม่ลง โค่นไม่ลงเพราะว่าคนหนุน คนหนุนจนเหลือเชื่อมาก และล่าสุดตอนที่เกิดพายุแคทรินาที่เข้ามาแล้วราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ฮูโก ชาเวส พูดเลยนะว่า เดี๋ยวจะเอาน้ำมันไปแจกพวกอเมริกัน เวเนซูเอลาเป็นประเทศโอเปคด้วยไง ประเทศส่งออกน้ำมัน เขามีน้ำมันเยอะ เป็นคนน่าสนใจ ถ้าเราอ่านหนังสือของนอม ชอมสกี้ หรือหลาย ๆ คนจะเห็นว่า อเมริกาเป็นประเทศที่บุกรุกประเทศอื่นมากที่สุดในโลก
เขาต้องเป็นพระเอก ประชาธิปไตยดีที่สุด เวลาบางทีเราพูดถึง "สันติภาพ" ก็เป็น "สันติภาพ" ในความหมายของคนอเมริกัน สิ่งที่ดีกับคนอเมริกันเอง สิ่งที่เขาเรียกว่า "ประชาธิปไตย" ซึ่งจริงไม่จริงก็อีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งถ้าไปดูวิดีโอไมค์ มัวร์ ยิ่งเห็นเลย ฟาเรนไฮด์ ๙๑๑ ใช่ไหม ที่พูดถึงเรื่องโกงเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งที่มีการโกงกัน ซึ่งถ้าจริงก็น่ากลัว ในอเมริกานี้แหละ เขาโกงบัตรเลือกตั้งเลย
ส่วนตอนที่ ๒ ของวิดีโอเรื่อง The Power of Nightmares เขาใช้ชื่อว่า Phantom victory (ชัยชนะหลอน) ชัยชนะซึ่งไม่มีจุดจบ หาจุดจบไม่ได้ มันไม่ได้เรียกว่า เป็นชัยชนะ ก็ไล่ถึงยุคเรแกนที่ผมว่า ส่งทหารออกไปรุกรานประเทศอื่น รุกรานเกรเนดาร์ก็เกิดในยุคนี้ ที่รุกรานอัฟกานิสถานก็เกิดในยุคนี้ ยุคของเรแกน อันนี้ก็เล่าไปแล้ว
ตอนที่
๒ เป็นช่วงที่เขาพูดถึงเรื่องแนวคิดค่อนข้างมาก นีโอ-คอนคิดแบบนี้ แรดิคอลอิสลามคิดแบบนี้
ใครไม่ใช่อิสลาม ใครไม่ทำตามขนบธรรมเนียมของอิสลาม ผิดหมดต้องถูกประหาร ถูกฆ่าตาย
อีกอันหนึ่งที่สำคัญ เขาพูดถึงบทบาทของสื่ออย่างน่าสนใจ ว่าสื่อก็เป็นตัวที่ช่วยกระพือคุณค่าแบบนี้ว่า
คนอเมริกันต้องไปรุกรานประเทศอื่น การรุกราน การทำสงครามกับประเทศอื่นเป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะฉะนั้น มันต้องมีศาสนาขึ้นมาตรงนี้ ซึ่งสื่อมีบทบาทสำคัญมาก ที่ส่งเสริมในแง่ดังกล่าว
พอหมดของยุคบุชผู้พ่อ เป็นยุคที่คลินตันขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จริง
ๆ บุชเขาลงเทอม ๒ แต่ว่าเขาไม่ได้รับเลือกตั้ง ช่วง ๑๙๙๐'s กว่า ๆ บุชผู้พ่อเป็นบุชที่ทำสงครามอ่าว
แต่จุดหนึ่งที่พวกนีโอคอนไม่เห็นด้วยกับบุชเลย ก็คือว่า บุชผู้พ่อปล่อยซัดดัม
คือยึดอิรักได้แล้ว สู้สำเร็จแล้ว แต่กลับปล่อยให้ซัดดัมอยู่ในอำนาจต่อ เพราะบุชผู้พ่อไม่ได้คิดที่จะทำสงครามถึงขั้นที่จะถอดซัดดัมออก
ซึ่งพวกนีโอคอนไม่เห็นด้วยมาก นีโอคอนเห็นว่าต้องถอด สู้จนมันตายไปข้างหนึ่ง
คือมันเป็นคนเลว ปล่อยให้มันอยู่ได้ไง เราเป็นคนดี เราต้องจัดการมันเสีย
ทีนี้พอคลินตันขึ้นมา พวกนีโอคอนไม่ชอบ ไม่ชอบแน่ ๆ เพราะว่ามันเรียบง่ายเกินไป มันไม่มีนโยบายจะไปรบกับใคร จริง ๆ ยุคคลินตันก็ไปรุกรานประเทศอื่นเหมือนกัน แต่น้อยกว่ายุคเรแกนหรือยุคก่อนเรแกนมาก พวกนีโอคอนก็เลยต้องขุดเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาจนกระทั่ง เรื่องที่เรารู้ ๆ กัน ก่อนหน้าเรื่องลูวินสกี ก็มีเรื่องที่เขาโกงเรื่องที่ดิน เพราะคลินตันเขาเป็นทนายกับภรรยาเขา ฮิลารี เขาเคยอยู่ในรัฐอคันซอว์ เขาเป็นผู้ว่าการรัฐอคันซอว์ ก็ไปขุดประวัติเขามาว่า เขาเคยมีข้อหาเรื่องคอรัปชั่น แต่สุดท้ายมันพิสูจน์ไม่ได้ และก็มี ก่อนที่ลูวินสกีจะออก มีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาที่ออกมาบอกว่าคลินตันไปทำอะไรเขา อะไรแบบนี้ ก็ออกมา แต่หาหลักฐานไม่ได้ จนพวกนีโอคอนที่ตั้งใจหาเรื่องคลินตันเกือบจะถอดใจแล้ว ก็เลยมาจบที่ลูวินสกี ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีมาก เนื่องจากมีภาพที่คลินตันกอดลูวินสกี ตอนไปหาเสียง
ลูวินสกีเป็นนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว
ตอนที่เขาไปหาเสียงเขาก็กอดกับลูวินสกี และใช้เวลาสนทนาค่อนข้างนานกับลูวินสกี
มันก็มีหลักฐานหลาย ๆ อย่างซึ่งมันทำให้คนอเมริกันเชื่อ แต่ว่าคลินตัน ก็ยังไม่แพ้อยู่ดี
กระบวนการ impeachment เขาไม่สำเร็จ เพราะคนอเมริกันกลับรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่อง
substantial (แก่นสาร)ของการเป็นผู้ปกครอง ซึ่งทำให้พวกนีโอคอนยิ่งโมโห ยิ่งกังวลมาก
แสดงว่าคนอเมริกันมันไม่ concern กับเรื่องที่มันเป็น value ของสังคม มันเป็น
scandal (เรื่องอื้อฉาว)ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมา สุดท้ายมันมาพลิกล๊อคที่บุชผู้ลูก
มาชนะการเลือกตั้งครั้งต่อมา
ตอนที่ ๓ ของเรื่อง The Power of Nightmares เขาใช้ชื่อว่า "The Shadows
in the Cave" เงาในถ้ำ ที่เขาใช้ชื่อเรื่องว่า เงาในถ้ำเพราะว่า เขาพยายามเปิดโปงให้เห็นว่าสิ่งที่อเมริกันบอกว่าอัลกออิดะห์เป็นอะไรต่าง
ๆ มันเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น แล้วมีการจับกุม อย่างที่กวนตานาโม ที่กวนตานาโม
เป็นเคสน่าสนใจมาก ในแง่ international law น่ะเพราะว่า ในแง่ international
law อเมริกาเขาไม่มีสิทธิ ไม่มี legal ground น่ะ ที่จะไปจับคนพวกนี้แล้วไปขัง
บางคนถูกจับแบบไม่มีหลักฐาน ก็แค่ว่าอาจจะโยงบ้างอะไรนิดหน่อย ก็โดนจับ ถูกขังลืมเลย
ไม่ถูกปล่อย รู้สึกปีที่แล้วถ้าจำไม่ผิด มีคนอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกปล่อยออกมา
เพราะรัฐบาลอังกฤษเขาไปแทรกแซง
ถ้าโยงกับภาคใต้ของไทย ก็แบบเดียวกัน นั่นคือคนที่ถูกกระทำ หาความยุติธรรมไม่ได้ เมื่อหาความยุติธรรมไม่ได้ ความขัดแย้งก็ไม่สงบ ไม่มีทางที่จะยุติ ผมได้พิมพ์บทความนี้ออกมา เขาเขียนดีมาก เขาเป็นลูก พ่อแม่เขาอยู่ที่ตำบลตันหยงลิมอ ที่นาวิกโยธิน ๒ คนถูกฆ่าตายไป คนนี้เขียนดีมาก ผมพิมพ์รูปมาด้วย ผมว่าเด็กน่ารักดี ตาใสแป๋ว คือ พ่อแม่เขาโดนจับ แม่เขาเป็นช่างเย็บผ้า ทำงานเย็บผ้าในบ้าน เสร็จแล้วก็มีกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุมาขอผ้าเขาไป ต่อมามีการพบว่าผ้าของเขาถูกใช้เพื่อผูกตานาวิกโยธิน ๒ คน เท่านั้นเอง ตำรวจก็กล่าวหาว่าแม่เขามีส่วน ก็จับไปขัง ไม่ให้ประกัน นี่ยังถูกขังอยู่ เพราะใช้ พรก.ฉุกเฉินอยู่ ทหารมีสิทธิที่จะจับโดยไม่ต้องขึ้นศาล ไม่มีการไต่สวน เป็นความอยุติธรรม
และอีกคนหนึ่งเขาให้ข้าวกับวัยรุ่นกิน มะม่วงดองหรืออะไรเนี่ย ในที่เกิดเหตุ เขาไปพบมะม่วงดองอยู่ และบ้านคนนี้อยู่ตรงข้ามกับศาลาที่นาวิกโยธินโดนสังหาร ก็ติดร่างแหไปด้วย โดนจับไปทั้งพ่อทั้งแม่ ส่วนลูกเขายืนตาแป๋วอยู่เนี่ย ตรงนี้ประเด็นคือ ความยุติธรรมมันไม่มี ที่คุณอานันท์ ที่หมอประเวศเคยบอก คือ ตราบใดที่คนที่ภาคใต้ไม่รู้สึกว่ามีความยุติธรรม มันก็ไม่มีวันสงบ มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม นายกฯ ลงพื้นที่ไป วิ่งไปตามเด็กมาคุย เด็กมันก็ไม่คุย นายกฯ ต้องยื่นเงินให้ จริง ๆ เด็กเขาก็ไม่มาคุยอยู่ดี เวลาทหารลงไปเขาก็ปิดบ้านหมด ถามว่าทำไมถึงปิด เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม สื่อก็ไม่ค่อยเสนอ เขาถึงตั้งเป็นศูนย์ข่าวอิศราขึ้นมา ซึ่งผมว่าดีมาก เพราะว่าข่าวมันไม่ออก
จันทร์เพ็ญ : ข่าวออกด้านเดียว
พิภพ : เหมือนที่อเมริการุกรานประเทศอื่น ข่าวมันออกมาด้านเดียว คือ ซัดดัมเลว แล้วมันต้องโค่นล้มและอเมริกาก็ชอบธรรมที่จะทำตรงนั้น ถามว่า อเมริกาชอบธรรม แล้วทำไมไม่ปฏิบัติตามกติกาที่มันมี ผ่านองค์การสหประชาชาติ ผ่านอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็คงรู้ ๆ กัน เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่อเมริกาไม่เคยเถียง เพราะไม่คิดจะเถียง มันคิดว่ามันถูกอยู่แล้ว มันทึกทักว่ามันจริงอยู่แล้ว มันก็ไม่เคยคิดจะเถียงในเรื่องพวกนี้
ยุคหลัง ๙๑๑ ก็เป็นการตอกย้ำ myth ตรงนี้ว่ามันมีความกลัวการก่อการร้าย ๆ จะต้องเกิดขึ้น เดี๋ยวจะต้องโดนบอมบ์ มันก็จะมีการไล่กว้านจับคนที่จะมาขึ้นศาล ปรากฏว่าไม่มีใครที่เคยถูกตัดสินคดีเลย มันเหมือนเรื่องโจ๊ก บางที เขาไปค้นบ้านของคนที่เป็นมุสลิม ไปเจอวิดีโอที่พวกนี้ถ่ายไว้ตอนไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์มา แล้วมันก็พูดในวิดีโอ "This is Disney Land" อะไรต่าง ๆ ปรากฏว่าทหาร อัยการเอาหลักฐานวิดีโอชิ้นนี้ ไปเป็นหลักฐานประกอบคดีในศาลเพื่อที่จะฟ้องร้องคนที่เป็นมุสลิม แล้วก็มีการแต่งเติมเป็นการใหญ่
อย่างตอนที่ช่วงท้ายของวิดีโอ เขาคงลืมปิดกล้อง คงสะพายอยู่ มันก็เลยถ่ายเงาคน ตอนที่เดิน ผู้เชี่ยวชาญของ CIA ก็บอกว่า นี่เป็นการนับก้าวว่าจะไปวางระเบิด แล้วมีอยู่ฉากหนึ่งเข้าไปในถ้ำ ในถ้ำคล้ายอินเดียนน่าโจนส์ ในถ้ำมีถังขยะอยู่ใบหนึ่ง แล้วกล้องบังเอิญมันถ่ายผ่านถังขยะ แล้วก็ไปถ่ายตรงถัง เขาก็บอกเป็นการให้สัญญาณกับพวกผู้ก่อการร้ายว่าจะวางระเบิดตรงถังขยะอะไรแบบนี้ เขาไปค้นที่บ้าน เขาไปเจอไดอะรี่ แล้วมันมีขีดคล้าย ๆ รูปเรือบินขยัก ๆ อะไรต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญของ CIA ก็บอกว่านี่เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องบินเอแวค เป็นเรื่องการใส่ความเหมือนกับที่ภาคใต้เป็นการใส่ความ
ก็แค่ให้เศษผ้าไปเขาก็ไม่ใช่รู้เรื่อง ว่าอะไร ยังไง ก็ไปใส่ความเขาไปใหญ่ ลองอ่านดูต่อซิ เขาให้มะม่วงไปนิดเดียว แต่สำนวนที่เขียนเขาบอกว่า เขาให้มะม่วงเป็นกิโล มันก็แบบเดียวกัน การสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา
ชลนภา : "The Shadows in the Cave" ทฤษฎีเกี่ยวกับเพลโต มันเป็นถ้อยคำ ลักษณะว่าความจริงที่ปกติคนเห็นเหมือนเงาบนผนัง จะมองเห็นความจริงต้องหันกลับออกไปนอกถ้ำ อะไรทำนองนั้น
พิภพ : อันนี้น่าสนใจ ส่วนที่ 3 ก็จะเป็นเรื่องนี้ เรื่องการไต่สวนคดี เรื่องที่พิสูจน์ว่าหลักฐานมันเมคขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ แล้วเขาก็ย้อนไปอังกฤษซึ่งก็เหมือนกัน อย่างพยานที่กันไว้ ก็เป็นพวกผู้ก่อการร้าย พวกอาชญากรระดับนานาชาติด้วย อัยการอเมริกันก็กันไว้เป็นพยาน เพื่อที่จะปรักปรำคนอื่นอะไรต่าง ๆ ปรักปรำว่ามีที่ตั้งของผู้ก่อการร้ายทั้งหลายในอเมริกา
ตอนที่ทหารสหรัฐฯ เข้าไปที่ภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน แล้วมันมีเทือกเขาโตรา โบรา โดนัลด์ รัมเฟลด์ออกมาแถลงเป็นจริงเป็นจัง เทือกเขาโตรา โบรา เป็นกองบังคับการอย่างใหญ่ เขาวาดแผนที่ด้วยนะ เขาคงให้ช่างวาดแผนที่ แต่ละชั้นมีอะไร มีเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้า มีปากประตูใหญ่ มีที่ซ่องสุมกำลัง มีช่องอากาศใหญ่ อะไรต่าง ๆ สื่อก็เอาไปออกเป็นเรื่องเป็นราวเลย เขาบอกว่า อัลกออิดะห์มีเครือข่ายอยู่ใน ๕๐ - ๖๐ ประเทศ สื่อก็เอาไปออก ซึ่งมันไม่มีหลักฐานอะไร พอไปค้นเทือกเขาโตรา โบรา ก็เจอแต่ก้อนหิน เจอแต่ที่เก็บลังเก็บกระสุนเก่า ๆ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร มันเป็นโจ๊ก
ซึ่งผมว่าเหมือน กรณีที่กล่าวหาว่าอิรักมี weapon of mass destruction ไปดูเลยในสื่อ จนกระทั่งสงครามจบมันยังหาไม่เจอ มันเป็นเรื่องแบบนี้ ฉะนั้น มันโยงมากับสิ่งที่วิดีโอเขาเสนออีกเรื่องหนึ่ง คือ หลักการที่พวกสิ่งแวดล้อมใช้มาก่อน คือในปี ๑๙๖๐ กว่า คนเริ่มตื่นตัวเรื่องทรัพยากรหายาก โลกร้อนขึ้น แต่มันไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ ความก้าวหน้าทางดาวเทียม มันคงไม่มากพอ ทางนักสิ่งแวดล้อมเขาก็เสนอว่าต้องใช้หลัก precautionary principle "กันไว้ก่อน" ว่างั้นเถอะ ถึงไม่มีหลักฐานแต่เราก็ควรที่จะตื่นตัว ระวังตัว ไม่มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ
ทางบุชหรือแบลร์ก็เอาหลัก precautionary principle มาใช้ ก็คือ มันไม่มีหลักฐานหรอกว่าจะมีการก่อการร้ายหรืออะไร แต่ว่าเขาบอกว่าก็ต้องระวังไว้ก่อน กันไว้ก่อน แต่บางเรื่องที่กันไว้ก่อนจนมากเกินไป พวกนีโอคอนเห็นว่าหลักการนี้ใช้ได้เลยและเขาเห็นว่า เราแต่ละคนต้องยอมสูญเสียเสรีภาพของตัวเอง เพื่อรักษาคุณค่าทางสังคม เพื่อให้สังคมเข้มแข็งไว้ มันก็เข้าหลักกับเรื่องกันไว้ก่อน ในอเมริกาถึงออก patriot act ออกมา ในอังกฤษก็ออกกฎหมายทำนองนี้เหมือนกัน ในเมืองไทยก็ออก พรก.ฉุกเฉินก็แบบเดียวกันกับ patriot act ก็คือกันไว้ก่อน พอสงสัยปุ๊บจับปั๊บเลย ไม่ต้องไต่สวน เพื่อมันจะได้ไม่เกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ นี่เป็นหลัก precautionary principle ที่เขาว่า
ชลนภา : เขานำเสนอเรื่องการสร้างความกลัวเพื่อผลประโยชน์อะไรสักอย่าง
พิภพ : ใช่ คือ เขาบอกว่าแต่ก่อนนี้ ผู้นำจะสร้างภาพฝัน อย่างอเมริกา คุณค่าแบบอเมริกันมีครอบครัวที่อบอุ่น ตอนหลังมันไม่เวิร์ก คนรู้สึกมุขมันเก่า จะหามุขใหม่ ก็คือ เรื่องความกลัวซึ่งมุขใหม่ มันเวิร์ก เพราะในปัจจุบันมันก็เวิร์กจริง ๆ ที่ภาคใต้แบบเดียวกันเลย เขาก็สร้างภาพให้มันน่ากลัวตลอดเวลา
สุทธาธร : มันกลายเป็นเรื่องตายไปกันใหญ่
พิภพ : มันไม่จบ ความขัดแย้งในที่อื่น ๆ ก็เหมือนกัน ในอาเจะห์ อินโดนิเซียก็เหมือนกัน รัฐบาลทำเองเลย ทหารวางระเบิดเอง จริง ๆ ภาคใต้เราก็แบบเดียวกัน อย่างช่วงก่อนที่เขาไปฆ่าพระ ประเด็นคือไม่มีทหารประจำที่วัดหรือแถวนั้นเลย ทำไม? อะไร? ยังไง? ตรงนั้นเขาบอกพื้นที่นั้นไม่มีทหาร ถามว่าทำไมไม่มีทหาร เจ้าอาวาสที่วัดพรหมประสิทธิ์บอกว่า ทหารบอกว่าไม่มีงบ ก็เลยไม่มีทหารแถวนั้นเลย เขายิงพลุสัญญาณอะไรกัน ยังจับไม่ได้เลย เขาเผาเสร็จ ฆ่าพระเสร็จ ฟันพระตาย ฟันเด็กวัดตายไป ๒ คน เขาก็จุดพลุสัญญาณ
ชลนภา : เพราะว่าหลาย ๆ กรณีรู้สึกว่าชาวบ้านสงสัยว่าเป็นคนเขาทำเองหรือว่าทหารทำ เพราะอย่างที่เขาบอก อยู่ ๆ มีคนยิงตรงร้านน้ำชา แล้วอยู่ ๆ ก็มีรถทหารวิ่งเข้ามา เขาก็จับไว้ก่อน ต้องการรอการพิสูจน์ แต่ว่าไม่รู้ใครทำแล้วตอนนี้
พิภพ : หรือเขาอาจจะปล่อยให้ทำ ไม่ได้ทำเองแต่ว่าปล่อยให้ทำ ซึ่งก็น่าสนใจ ลำพังทหารถ้าลงไปเยอะจริง ๆ ก็น่าจะปราบอยู่ระดับหนึ่ง แต่อันนี้มันเกิดรายวัน น่าสงสัย มันเหมือนกันอะไรไม่ได้เลย ที่หมู่เกาะโมลุกะ หมู่เกาะเครื่องเทศ มันขัดแย้งระหว่างคริสต์กับมุสลิม ปรากฏว่าจริง ๆ ไม่ใช่พวกคริสต์หรือมุสลิมทำหรอก ทหารมันทำเอง คือพวกคริสต์ในอินโดฯ ส่วนใหญ่จะเป็นจีน และจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจดีกว่า จีนก็ขยันทำงาน มีเงิน เศรษฐกิจดีกว่า มันก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว เหมือนจีนกับไทย จีนกับแขกในเมืองไทย มีเรื่องแบบนั้นอยู่ แต่เรื่องที่มันจุดชนวนจริง ๆ มันมีคนมุสลิมคนหนึ่งโดนฆ่าตาย ผมจำสาเหตุไม่ได้ชัดเจน
จากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ เหมือนน้ำผึ้งหยดเดียวลามไปจนกระทั่งพวกคริสต์โดนโจมตี เขาบอกว่าจากสนามบินไปข้างในเมือง ประเภทต้องลงเรือบ้าง ขึ้นรถบ้าง ถึงจะไปได้ เพราะถ้าไปแต่รถ เดี๋ยวโดนกับระเบิด โดนลอบยิงตลอด แล้วมันมีคนที่ถูก displace สองสามแสนคน คือ ต้องหนี ถ้าไม่หนีก็โดนความรุนแรง มันเหลือเชื่อเพราะว่ามันมีคนที่อินโดฯ เขาพูดให้ผมฟัง อย่างเช่น ที่อินโดฯ จริง ๆ มีคนศาสนาอื่นเยอะนะ พุทธนี่มีตั้งห้าหกล้าน คริสต์นี่คงหลายล้าน ฮินดูก็เยอะ อย่างบาหลีเป็นฮินดู เมืองเมดานอยู่ตรงข้ามมาเลย์ เขาบอกเมดาน คริสต์กับมุสลิมก็ครึ่ง ๆ ไม่เคยมีเรื่องมีราวอะไรกันเลย จริง ๆ ตัวรัฐบาลกลางอินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์เพราะตราบใดที่มันยังสู้กันอยู่ พวกเขาก็สบาย แต่ถ้ามันสงบซิลำบาก มันไม่มีจุดที่คนจะต้องเลือกเขา
ประเด็นอีกอันหนึ่งที่วิดีโอไม่ได้พูด แต่เป็นประเด็นคลาสสิคว่า แล้วใครเป็นคนตัดสินใจว่าอันไหนดำ อันไหนขาว? อย่าง EIA สำรวจแล้ว เสนอมา ๕ ทาง บอกข้อดี ข้อเสีย ประเด็นคือ ใครตัดสิน การตัดสินขึ้นอยู่กับอะไร? ประเด็นอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างเป็น subjective เป็นเรื่องของอัตวิสัย คือ คนที่ตัดสินมีอิทธิพล คือไม่มีอะไรในโลที่เป็นภววิสัย ทุกอย่างมันเป็นเรื่อง subjective คือมีคนตัดสินทั้งนั้น
คนที่พูดเรื่องนี้ ก็คือ ฮาวาร์ด ซิน (Howard Zinn) น่าสนใจ เขาจะคล้าย ๆ กับนอม ชอมสกี้ แต่ประวัติเขาหวือหวากว่ามาก เขาเป็นอาจารย์ แต่ว่าประวัติเขา เขาเป็นกรรมกรแท้ ๆ เลย ขับสิบล้อ แต่ตอนหลังเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก่อนที่เขาจะไปเป็นอาจารย์ เขาเคยเป็นทหารไปทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่น เขาเล่าประวัติเขา เขาทิ้งระเบิด มันก็หลายร้อยกิโลลงมา เขาก็ไม่รู้หรอกว่าข้างล่างเกิดอะไรขึ้น ทหารมันถูกเทรนแบบนี้ ถ้าให้เห็นภาพว่าจริง ๆ เกิดอะไรขึ้น จะบอมบ์ไม่ค่อยลง
เขาตั้งชื่อชีวประวัติ ชื่อวิดีโอเรื่องนี้ว่า "You can't be neutral on a moving train" คุณเป็นกลางไม่ได้บนรถไฟที่มันวิ่ง นักวิชาการบอกว่าเราเป็นกลาง เขาบอกเราเป็นกลางไม่ได้เพราะทุกคนอยู่บนรถไฟ เป็นกลางได้ไง เป็นกลางไม่ได้ ฮาวาร์ด ซิน บอกเลย objective ไม่มี ทุกอย่างเป็น subjective หมด ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์ คือ ซินเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ ซินบอกเลยว่า มันไม่มีประวัติศาสตร์ที่เป็นภววิสัย
เขาก็เลือกเรื่องขึ้นมาเขียน ทุกอย่างมันเป็น subjective หมด มันไม่มีอะไรที่เป็น objective ในโลก เขาน่าสนใจมาก เพราะโดยประวัติอย่างนอม ชอมสกี้ ครอบครัวเขาเป็นเชื้อสายยิว ไม่ถึงกับเป็นกรรมาชีพ แต่ซินนี่ชัดมาก เป็นลูกคนจน เป็นลูกกรรมกร ขึ้นมาเป็นศาสตราจารย์ เป็นนักประวัติศาสตร์ หนังสือที่เขาเขียนมีชื่อเสียงมาก อย่างเช่น "People's History of America" เขาเขียนประวัติศาสตร์ แต่ว่าแทนที่จะเขียนประวัติศาสตร์แบบพงศาวดาร ก็เล่าเรื่องของพวก Native American พวกคนพื้นเมือง อย่าง Columbus day เวลามันฉลองกัน โคลัมบัส มันเลวร้ายยังไง ชาวบ้านเอาผลไม้ให้ แต่โคลัมบัสจับคนเหล่านี้มาฆ่าหมด
ชลนภา : ประวัติศาสตร์ไพร่
พิภพ : อะไรแบบนี้ น่าสนใจ ประเด็นเรื่องดี ชั่ว ขาว ดำ มันอยู่ที่ว่าใครตัดสิน ทุกอย่างในโลกเป็นสีเทาๆหมด อันไหนที่ขาวกับดำ ไม่มี หลายอย่างโคตรจะเทาเลย บางทีพ่อแม่บังคับเราเรียนนั่นเรียนนี่ โคตรจะเทาเลย จริงรึเปล่า บางอย่างเราไม่เห็นด้วยเลย เทามากเลย มันไม่มีขาวกับดำ
ชลนภา : จริง ๆ เรื่องมันตรงกับเรื่อง Fuzzy logic เลยเพราะพูดถึงตรรกศาสตร์ของสีเทาว่าค่าความจริงจะมีหลาย step ไม่มี ๐ กับ ๑เท่านั้น แต่ระหว่าง ๐ กับ ๑ มันมี infinity อยู่ คือ ตอนแรกที่เขาเสนอเรื่อง Fuzzy logic นี้ออกมา คนเสนอชื่อ ร๊อปปี้ เอ ซาเด เขาเป็นคนอิหร่าน แต่เผอิญไปสอนที่อเมริกา แล้วจริง ๆ เขามาทางทฤษฎีคอมพิวเตอร์ เขาเก่งมากอยู่แล้ว ตอนที่เขาเสนอว่าค่าความจริงหลายระดับ เขาโดน attack หมดเลย ฝรั่งรับไม่ได้เลยว่า ค่าความจริงมีหลายระดับ ตรรกศาสตร์จะมีแค่ ๐ ๑ ถูก ผิด true or false ถึงแม้ตอนหลังมีช่วงหนึ่ง คนเสนอ ตรรกศาสตร์ ๓ ค่า ก็มี ๐ ๑ ๑/๒ แต่ว่าร๊อปปี้เป็นคนแรกที่บอกว่า มีหลายระดับ
อย่างเขายกแอบเปิ้ลหรือส้มนี่ก็ได้ สรุปจุดนี้สีเขียวหรือสีเหลือง คือเราจะบอกได้แค่ว่าสีเหลืองกี่เปอร์เซนต์ สีเขียวกี่เปอร์เซนต์ เขาบอกธรรมชาติเป็นแบบนี้หมดเลย เพราะฉะนั้น ๐ ๑ อธิบายธรรมชาติไม่ได้ อธิบายปรากฏการณ์ไม่ได้ เหมือนอธิบายส้ม มันต้องใช้ fuzzy อธิบาย ทำนองนี้ ตอนแรกที่เขาเสนอ ไม่มีคน get เขาเลย เขาเดินสายอภิปรายทั่วอเมริกา ปี ๖๐ หรือ ๗๐ ช่วงนั้น เสร็จแล้วปรากฏว่า มีนักวิจัยญี่ปุ่นไปได้ยินเขาพูด ก็เลยเชิญมาที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็พัฒนาเรื่อง fuzzy logic ขึ้นมา
หรือแม้กระทั่ง ระบบออกตัวหรือเบรคของรถไฟฟ้าใช้ fuzzy คือออกตัวจริง ๆ เราจะไม่รู้ มันมีความเร่งเกิดขึ้น มีอะไรมาดันหลังคนแทบไม่รู้สึก ตอนจอดก็แทบไม่รู้สึก อะไรแบบนี้ ตอนนั้น นิวยอร์ก ก็มีทำรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ไม่รู้จัก fuzzy เลย ญี่ปุ่นเขาจะรู้จัก fuzzy ในนาม fuzgy คือมีคนไปคิดประเด็นที่ว่า ตอนหลัง fuzzy logic ดังขึ้นเรื่อย ๆ
คำไทยไม่ค่อยมีเพราะคำว่า fuzzy จริง ๆ แปลว่า เบลอ มันเป็นคำไม่ดี มันเป็นคำ negative ไงในภาษาไทย แต่ว่าบางตำรา fuzzy แปลว่า intelligent คือสามารถที่จะตัดสินใจได้ มี intelligent เหมือนมนุษย์อะไรแบบนี้ ก็คือ มันก็แล้วแต่ ตอนแรกคนไม่คิดเลย เพราะคนมันเหนียวแน่นมี ๐ ๑ อะไรแบบนี้ คือ มันมาแล้วเหมือนกัน fuzzy logic อยู่ในสายของพวก AI (Artificial intelligent) เยอะขึ้น แต่ในกรอบวิธีคิดแบบดั้งเดิมก็ไม่รู้ ของไทยก็น่าจะเยอะ เช่น ความจริง หรือการเข้าถึงความจริงมีได้หลายระดับ
..................................................................................
(หมายเหตุ : การสนทนาต่อจากนี้ ทางกองบรรณาธิการได้ตัดออกไปเพื่อความเป็นเอกภาพของหัวเรื่องที่นำเสนอบนหน้าเว็ปนี้)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com