ปาฐกถาวันที่ ๑๐ ธันวาคม
๒๕๔๘
มติพจน์สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
องค์ปาฐกประจำปี
๒๕๔๗ และ ๒๕๔๘ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
ปาฐกถาชิ้นนี้
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้แสดงให้กับประชาชน นักวิชาการ
ที่ได้มาร่วมชุมนุมกัน เพื่อวางพวงมาลาที่อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา ๑๐.๓๐ น.
จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
โดยมีวัตถุประสงค์ให้วันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็นวันปรีดี พนมยงค์ พร้อมกันไปด้วย
สำหรับพี่น้องประชาชนไทย ผู้รักในระบอบประชาธิปไตยและรักในสันติภาพ
โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลประกาศเป็นวันสำคัญ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 775
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
นายปรีดี พนมยงค์
มติพจน์สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: โดย ส.ศิวรักษ์
ขอแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ
ต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษานอกกระแสหลัก อย่างควรแก่การก้มศีรษะให้
สมแล้วที่เที่ยงคืนเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มวันใหม่ เราต้องเร่งความใหม่ให้ไปพ้นความเครอะคระ
ความเล่อล่า ความล้าสมัย ของมหาวิทยาลัยในกระแสหลัก
ทอมัส แบรี่ ซึ่งเป็นผู้รู้ทั้งทางด้านปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก ได้บอกพวกเรามาเมื่อไม่นานมานี้ว่า มหาวิทยาลัย คือสถาบันที่เป็นอันตรายอย่างที่สุดในโลก เพราะมหาวิทยาลัยผลิตนักคิดตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์ ให้พวกนี้เดินหน้าไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่ปัญหาจริงเกิดขึ้น โดยใช้ตรรกวิทยาตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์ และอ้างว่านั่นเป็นวิทยาศาสตร์ ที่มีความเป็นกลางทางคุณค่า โดยคนพวกนี้ปิดตาตัวเองหรือมองไม่เห็นประเด็นในทางจริยธรรม หรือมิติในทางศาสนธรรมเอาเลย
นักวิชาการพวกนี้ไม่คำนึงถึงคนพื้นเมือง ไม่เคารพคนกลุ่มน้อย โดยมองไม่เห็นเอาเลยว่าภาษาของคนพวกนั้นและวัฒนธรรมของเขาเหล่านั้น เป็นส่วนสำคัญในการที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน โดยที่ถ้าธรรมชาติขาดความสมดุลย์ ชีวิตบนโลกพิภพนี้จักเป็นไปได้ละหรือ
แบรี่เสนอให้ทุกมหาวิทยาลัยมีคณบดีทางด้านคุณธรรม เพื่อให้ครูบาอาจารย์ทั้งหมดมีจิตสำนึกทางการเมือง อย่างกล้าท้าทายผู้มีอำนาจ อันปราศจากความชอบธรรม ด้วยความกล้าหาญ สมกับความเป็นครูบาอาจารย์ ความข้อนี้นายปรีดี พนมยงค์ทำมาแล้วกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ จน พ.ศ. ๒๔๙๐
น่าเสียดาย ที่หลายคนคงเห็นว่านี่เป็นอุดมคติมากเกินไป จนมหาวิทยาลัยในบัดนี้เดินตามทางของโลกาภิวัตน์อย่างเชื่องๆ นำเอาตรรกะในทางเทคโนโลยีไปรับใช้ผลประโยชน์ทางด้านการเงิน จนสยบยอมในทางการเมืองอย่างน่าอัปยศยิ่งนัก ในแทบทุกมหาวิทยาลัย เงินยิ่งมาก มหาวิทยาลัยยิ่งเติบโต ยิ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ยิ่งต้องการความสำเร็จในทางส่วนของตน ในทางโภคทรัพย์และอำนาจ ยิ่งกว่าจะคำนึงถึงวิชาการอันบริสุทธิ์ หรือคุณงามความดี ที่ควรควบคู่ไปกับความรู้
ไอวัน อิลลิช ได้เตือนเรามากว่า ๓๐ ปีแล้วในเรื่อง Celebration of Awareness: A Call for Institutional Revolution (1973) และ De Schooling Society (1971) ว่าการเรียนการสอนแบบตะวันตกนั้นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้สะกดคนในสังคมอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นคนแหย เป็นคนเชื่อง เป็นคนที่ยอมอยู่ในระบบอย่างไม่กล้าหือ อิลิช บอกว่า ในมัธยมสมัย คนถูกบังคับให้ไปวัดสัปดาห์ละวัน ครั้นคนสมัยใหม่ปลดแอกออกจากศาสนาจักรได้ กลับต้องส่งเยาวชนไปวัดอย่างใหม่ ที่เรียกว่าโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สัปดาห์ละห้าวัน เพียงเพื่อให้อนุชนถูกล้างสมอง ให้ตกอยู่ใต้อุดมการณ์ที่ถือว่าความเจริญทางเศรษฐกิจสำคัญเหนืออื่นใด
การที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยืนหยัดอยู่ข้างทุกขสัจของสังคม แล้วหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้โดยอุบายวิธีที่แยบคายเพื่อดับทุกข์นั้นๆ ตามครรลองของการศึกษา หรือไตรสิกขา นี้แลคือการประยุกต์อริยสัจมาใช้ในสังคมร่วมสมัยอย่างน่าจับตามอง ยิ่งปีหน้าเราจะฉลองชาตกาลของภิกขุพุทธทาสครบศตวรรษในวันที่ ๒๗ พฤษภาคมด้วยแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจถึงอุดมธรรมที่ว่านี้ งานสมโภชนั้นก็จักล้มเหลว ดังงานของรัฐที่แล้วๆ มา โดยที่ในทางการเมืองด้วยแล้ว พุทธทาสต้องการธรรมิกสังคมนิยม เฉกเช่นนายปรีดี พนมยงค์ด้วยเหมือนกัน
การที่เรามาวางพวงมาลาที่หน้าอนุสรณ์สถานของท่านผู้นี้ เรามาแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อผู้ที่มีพระคุณในการถางทางให้เกิดรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ราษฎรได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ให้ได้เป็นเจ้าของประเทศ ไม่ต้องเป็นฝุ่นเมือง ไม่ต้องเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท หรือเป็นผู้อาศัยเจ้านายอยู่ในแผ่นดินอีกต่อไป
นายปรีดีรู้ดีว่าเพียงรัฐธรรมนูญเท่านั้นไม่เพียงพอ แม้การที่มีกฎหมายสูงสุด ให้ทุกๆ คนเท่าเทียมกันหมดภายใต้กฎหมายแม่บทนี้ จะสำคัญยิ่งนัก โดยเฉพาะก็ตรงที่พระมหากษัตริย์และขัตติยราชทั้งหมดก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นสามัญชนพลเมือง หากท่านเห็นว่าจำต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างอภิสิทธิชนกับสามัญชน เป็นที่น่าเสียดายที่โครงการที่ท่านร่างเสนอขึ้นภายในปีอภิวัตน์ ๒๔๗๕ นั้นเอง ไม่ได้รับความสำเร็จเอาเลย แม้จนบัดนี้
พร้อมกันนี้ นายปรีดีก็เล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ กล่าวคือ เมื่อคนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกในทางอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ แและเสมอภาพเสียแล้ว คนรุ่นใหม่ย่อมไปพ้นค่านิยมเดิมๆ ที่สะกดให้ผู้คนเคารพนับถือยศศักดิ์อัครฐานอันจอมปลอมต่างๆ แม้จนยอมรับการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐ หรือโดยชนชั้นบน ที่อ้างว่ากระทำการในนามของรัฐ
ฉะนั้นการที่ท่านตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี ๒๔๗๗ นั้น จึงนับได้ว่านี่คือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแห่งแรก ที่สร้างความเข้มแข็งทางจริยธรรมให้มหาชน แม้จนคนในชนบทที่ห่างไกลและยากจน ก็อาจเป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์ได้ โดยที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนี้ ได้กลายเป็นผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยมาไม่น้อยคน ไม่ว่าจะกุหลาบ สายประดิษฐ์, เตียง สิริขัณฑ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ
ยังครูอาจารย์ที่อุทิศตนเพื่อประชาธิปไตย ก็ควรแก่การยกย่องเชิดชู ไม่ว่าจะดิเรก ชัยนาม, เดือน บุนนาค, หรือวิจิตร ลุลิตานนท์ แต่คนที่เอ่ยนามมาบ้างแล้วนี้ ถูกลืมเสียเกือบหมด บางคนถูกฆ่า บ้างก็ถูกคุมขัง หาไม่ก็ต้องไปตายในต่างแดน นายปรีดีนั้นเล่า ก็ถูกประหารในทางบุคลิกภาพ อย่างเลวร้ายกว่าฆาตกรรมในทางร่างกายเสียอีก ฝรั่งใช้คำว่า character assassination คือท่านกลายเป็นปีศาจไป โดยข้อกล่าวหาว่าแย่งชิงประชาธิปไตยไปจากในหลวงรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นคำโป้ปดมดเท็จอย่างหน้าด้านๆ
ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ก็ข้อกล่าวหาที่ว่าท่านต้องการเป็นประธานาธิบดี โดยต้องการสถาปนาสาธารณรัฐ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างไม่มีใครเทียมเท่า ถ้าขาดท่านไปเสียคนหนึ่ง สถาบันกษัตริย์อาจปลาสนาการไปแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือในระยะเวลาไล่ๆ กันนั้นก็ได้ ยิ่งข้อกล่าวหาว่าท่านวางแผนลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ด้วยแล้ว นี่เป็นอนันตริยกรรมหรือจุดด่างทางประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยที่ร้ายแรงยิ่ง อย่างที่ถ้าไม่หาทางแก้ไขให้ดำเป็นขาว กงจักรจักกลายเป็นดอกบัวไม่ได้ คนไทยร่วมสมัยจักยังคงถูกครอบงำด้วยอาสัตย์ และความกึ่งจริงกึ่งเท็จ กึ่งดิบกึ่งดีอีกต่อๆ ไป โดยที่ความกล้าหาญทางจริยธรรมจักเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้คนไร้สัจธรรม
วันที่ ๙ มิถุนายนหน้านี้ จะเป็นวันสวรรคตครบ ๖๐ ปี ขององค์อดีตยุวราช เพื่อฉลองวัชรสมโภชแห่งการครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่มีพระกุศลจรรยาใดจะวิเศษไปยิ่งกว่าพระสัจวาจาที่ออกมาจากพระโอษฐ์ว่า ใครปลงพระชนม์พระบรมเชษฐาธิราช หาไม่ข่าวลือก็จะกระพือไปในทางอัปมงคลอย่างน่าเศร้าสลดใจ
ไอสูรย์ราชสมบัติจะเป็นฉัตรชัยในทางธรรมก็ต่อเมื่อเรามีธรรมราชา ที่ทรงยกย่องเชิดชูคุณงามความดีและบุรุษอาชาไนยของแผ่นดิน โดยที่เรายังไม่เคยได้ยินแม้แต่คำเดียวจากพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ที่ทรงสรรเสริญคุณของนายปรีดี พนมยงค์ แต่ถ้าเราเชื่อหนังสือ The Revolutionary King by Stevenson ดูเหมือนนั่นจะเป็นครั้งแรก ที่มีพระราชดำรัสกับเขาคนนั้น ถึงความสุจริตของนายปรีดีและกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ นั้น ก็รับสั่งว่านายปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์
ที่ข้าพเจ้าพูดถึงอดีตค่อนข้างมาก ก็เพราะถ้าเราเข้าใจอดีตอย่างชัดเจน เราจักเติบโตได้อย่างสมภาคภูมิ โดยที่สังคมไทยถูกสอนหรือสะกดให้ลืมอดีตอันเป็นผลงานของคณะราษฎรหรือสามัญชนก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเทียนวรรณ หรือคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งมีคุณูปการกับบ้านเมืองและผู้คนมาจนบัดนี้ แม้การประกาศสันติภาพครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคมนี้ รัฐบาลก็จัดงานอย่างไม่เต็มใจ ทั้งๆ ที่นั่นคือศักดิ์ศรีของขบวนการเสรีไทย ทั้งในและนอกประเทศ โดยที่ถ้าปราศจากขบวนการดังกล่าว เราคงเสียเอกราชไปเฉกเช่นญี่ปุ่นและเยอรมันเอาเลยด้วยซ้ำ
เราลืมบุญคุณของคนกู้ชาติ เฉกเช่นที่เราลืมวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกๆ ปี ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีตีกรุงศรีอยุธยาคืนมาได้จากพม่าข้าศึกนั้นแล แม้วันที่พระองค์ท่านถูกประหารชีวิต เราก็จำได้ในฐานะวันที่สถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่ โดยที่นี่ยังเป็นวันหยุดราชการของทุกๆ ปี ในขณะที่พวกเราหลายคนเสนอให้วันที่ ๒๘ ธันวาคม เป็นวันหยุดราชการเพียงปีเดียว ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ เพราะนั่นครบ ๒๐๐ ปี แห่งการประกาศอิสรภาพของไทย ดูสิว่าอีก ๔๐ ปี วันประกาศสันติภาพ ๑๖ สิงหาคม จะเป็นวันหยุดราชการไหม
เราลืมไปว่าวันหยุดราชการ ณ วันที่ ๖ เมษายนนั้น เป็นวันเลือด แม้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ก็เป็นสัญลักษณ์ของขัตติยมหาราชที่ให้โทษกับราษฎรไทยทั่วๆ ไปยิ่งกว่าให้คุณ มิใยต้องเอ่ยว่าพระนเรศวรนั้นมีคุณูปการในการปกครองบ้านเมืองจริงละหรือ เปรียบกับน้องชายท่านแล้ว ใครด้อยกว่าใคร เราไม่เคยพิจารณากันอย่างถ่องแท้เลย โดยไม่จำต้องกล่าวว่าการพระราชสงครามทุกครั้ง ไพร่พลล้มตายไปเท่าไรต่อเท่าไร ภรรยาเขาเป็นหม้ายกันอย่างไร มีใครยกย่องเชิดชูสามัญชนคนพวกนี้บ้างไหม
นิมิตดีก็ตรงที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีจุดยืนทางด้านการยกย่องคนธรรมดาสามัญ
ที่ชนชั้นปกครอง แม้จนมหาวิทยาลัยกระแสหลัก มองข้าม หรือเห็นว่าเป็นศัตรูของพวกเขาไปเอาเลย
การที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยกย่องเชิดชูสมัชชาคนจนนั้น มีมหาวิทยาลัยไหนกล้ากระทำไหม
ยังการอนุมัติดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์แด่ ดร. เจริญ วัดอักษร และ ดร. จินตนา
แก้วขาว นั้นเล่า ก็แหวกแวดวงของมหาวิทยาลัยน้ำเน่าออกมาอย่างสง่าผ่าเผย
มหาวิทยาลัยพวกนั้นมอบดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์แด่บุคคลในทางชาติวุฒิหรือวุฒิภาวะในทางการเมืองและในทางการค้า
ทั้งๆ ที่คนพวกนี้ปราศจากจุดยืนทางจริยธรรมใดๆ แทบทั้งสิ้น ที่จะมีใครยืนหยัดอยู่ฝ่ายผู้ยากไร้
หรือต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม ตลอดจนเพื่อความสมดุลย์ทางธรรมชาติ
ก็เกือบจะไม่มีเอาเลย
เราต้องไม่ลืมว่าสมาชิกสมัชชาคนจนกี่คนที่ถูกจับและยังมีคดีติดตัวไปตามๆ กัน เจริญ วัดอักษรนั้นถึงกับถูกฆ่า จึงน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัดปาฐกถาเป็นอนุสรณ์ถึงเจริญ วัดอักษร ทุกปี เฉกเช่นที่เรามีปาฐกถาโกมล คีมทอง มาแทบทุกปีจนร่วมสามทศวรรษเข้านี่แล้ว ทั้งหมดนี้คือขบวนการสร้างจิตสำนึกทางสัจจะ เพื่อก่อให้เกิดความกล้าหาญทางจริยธรรม
จินตนา แก้วขาวเอง แม้จะไม่ถูกฆ่า ก็ถูกจับ เฉกเช่นนักต่อสู้โดยสันติวิธีคนอื่นๆ ดังคนที่ต่อต้านท่อแก๊สทางสงขลา หรือคนบริสุทธิ์ที่ต้องตายไปเพราะรัฐบาลอันเลวร้ายอ้างว่า จะล้างยาบ้ายาม้าให้หมดไป รวมถึงหายนภัยในสามจังหวัดภาคใต้ โดยจะไม่ขอเอ่ยถึงนโยบายขายบ้านขายเมือง เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทพวกเขาจำนวนน้อย
การวิพากษ์วิวาทกันระหว่างอัปรีย์กับจัญไร ไม่อยู่ในวิสัยที่ข้าพเจ้าจะต้องเอ่ยถึงในที่นี้ แม้เมื่อวานนี้จะมีคนเป็นจำนวนมาก นั่นย่อมเป็นเรื่องของปริมาณ แม้ที่นี่เราจะมีคนร่วมด้วยเป็นจำนวนน้อย แต่เรามุ่งที่คุณภาพ เรามุ่งที่สัจภาวะ สมแล้วกับคำของมากาเรต มีด นักมานุษยวิทยาอังกฤษ ซึ่งกล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ ย่อมเริ่มจากกลุ่มคนจำนวนน้อยเสมอ
ขอได้โปรดพิจารณาวลีของเธอผู้นี้ แล้วรวมพลังกัน เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยที่เนื้อหาสาระอันสำคัญขึ้นอยู่กับความกล้าหาญทางจริยธรรมของราษฎร นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและองคาพยพต่างๆ ของรัฐ เวลานี้ เราพึ่งรัฐสภาและรัฐบาลไม่ได้อาเลย หมายความว่าสถาบันทางด้านบริหารและนิติบัญญัติรวนเรถึงขนาด แต่ถ้าอำนาจทางตุลาการ ทรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชไปจากเศรษฐกิจและการเมือง เราก็ยังพอมีความหวังได้
น่ายินดีที่ในช่วงนี้ ดูศาลจะแสดงความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างน่าก้มศีรษะให้ พร้อมกันนั้นก็ต้องขอเรียนเตือนผู้พิพากษาและตุลาการด้วยความเคารพว่า ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่เพ่งไปที่ตัวบทกฎหมายเท่านั้น น่าจะต้องใช้ปัญญาคุณกับกรุณาคุณเป็นหลักเกณฑ์ เพื่อไปพ้นกรอบความคิดของตะวันตก ที่สะกดเรามาเป็นเวลานาน
นายปรีดี พนมยงค์นั้น เป็นนักนิติศาสตร์คนสำคัญ ท่านเข้าใจความยุติธรรมที่อยู่นอกกรอบอันคับแคบของกฎหมาย ซึ่งมักล้าสมัย และมักรับใช้ชนชั้นบนยิ่งกว่าชนชั้นล่าง หวังว่าการเคารพสักการะรูปท่านคงมีความหมาย ยิ่งกว่าการเคารพรูปอนุสาวรีย์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม แม้ท่านผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของกฎหมายไทยสมัยใหม่ก็ตามที โดยเราต้องไม่ลืมว่า อนุสาวรีย์ที่หน้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ก็คือพาลชนคนสำคัญ เฉกเช่นอนุสาวรีย์ ป. พิบูลสงคราม และ ส. ธนะรัชต์ ด้วยเช่นกัน
คนไทยยังยกย่องคนเลว คนกึ่งดิบกึ่งดีกันมาก การที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแหวกแนวมาชวนกันเคารพรูปคนดี คนที่ควรแก่การบูชา จึงเป็นอุดมมงคลโดยแท้
แสดงที่ลานปรีดี
พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
นายปรีดีก็เล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ กล่าวคือ เมื่อคนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกในทางอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ แและเสมอภาพเสียแล้ว คนรุ่นใหม่ย่อมไปพ้นค่านิยมเดิมๆ ที่สะกดให้ผู้คนเคารพนับถือยศศักดิ์อัครฐานอันจอมปลอมต่างๆ แม้จนยอมรับการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐ หรือโดยชนชั้นบน ที่อ้างว่ากระทำการในนามของรัฐ
ฉะนั้นการที่ท่านตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี ๒๔๗๗ นั้น จึงนับได้ว่านี่คือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแห่งแรก ที่สร้างความเข้มแข็งทางจริยธรรมให้มหาชน แม้จนคนในชนบทที่ห่างไกลและยากจน ก็อาจเป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์ได้ โดยที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนี้ ได้กลายเป็นผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยมาไม่น้อยคน ไม่ว่าจะกุหลาบ สายประดิษฐ์, เตียง สิริขัณฑ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ