การเมืองภาคประชาชนในโลกตะวันตก
โลกาภิวัตน์แบบที่ภาคประชาชนต้องการ
พิภพ
อุดมอิทธิพงศ์
นักวิชาการ และนักแปลอิสระ
หมายเหตุ
บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่โดยคุณพิภพ
อุดมอิทธิพงศ์
ผู้แปลหนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เขียนโดย นาโอมี ไคลน์
เรื่องราวของการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลกกับอำนาจทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 765
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)
จากสัญลักษณ์สู่สาระ
หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน
เราต้องการทางออกที่เป็นรูปธรรมจากความคลั่งศาสนา
และความคลั่งเศรษฐกิจยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ
ตุลาคม 2544
กลุ่มพันธมิตรออนตาริโอเพื่อต่อต้านความยากจน
ในกรุงโตรอนโต ซึ่งเป็นเมืองที่ดิฉันอาศัยอยู่ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย
ได้ท้าทายต่อตรรกะที่ว่า การประท้วงต่อต้านบรรษัทตายไปแล้วตั้งแต่วันที่
11 กันยายน ด้วยการ "ปิดล้อม" ย่านการค้าที่สำคัญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นั่นไม่ใช่การเดินขบวนอย่างสุภาพนุ่มนวล แผ่นโปสเตอร์ที่โฆษณากิจกรรมนี้เป็นรูปภาพตึกระฟ้าที่มีเส้นสีแดงขีดรอบ
เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่เป้าหมายสำหรับปฏิบัติการทางตรง ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นราวกับเหตุการณ์
11 กันยายน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอน
แกนนำของกลุ่มเคลื่อนไหวรู้ดีว่า การโจมตีอาคารสำนักงานและอาคารตลาดหุ้นในตอนนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนชอบใจนัก โดยเฉพาะในเมืองซึ่งอยู่ห่างจากกรุงนิวยอร์กทางเครื่องบินเพียงชั่วโมงเดียว แต่ถึงอย่างนั้น กลุ่มพันธมิตรออนตาริโอเพื่อต่อต้านความยากจน ก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบเท่าใดมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว การประท้วงครั้งสุดท้ายของกลุ่มการเมืองนี้ ได้แก่การ "ขับไล่เชิงสัญลักษณ์" เพื่อให้รัฐมนตรีด้านที่อยู่อาศัยแห่งแคว้นออตาริโอลาออก (พวกเขาย้ายเฟอร์นิเจอร์จากที่ทำงานของรัฐมนตรีท่านนี้ออกมากองที่ถนน) ซึ่งคุณคงพอจะคาดเดาได้ว่า พวกเขาได้รับแรงสนับสนุนจากสื่อมวลชนมากเพียงใด
การรณรงค์ที่มุ่งโจมตีสัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมที่ทรงพลัง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด
ๆ เลยสำหรับกลุ่มพันธมิตรออนตาริโอเพื่อต่อต้านความยากจน ช่วงเวลากลางคืนยังคงหนาวเหน็บลงไปเรื่อย
ๆ ในขณะที่ความถดถอยด้านเศรษฐกิจดูจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า
คนจำนวนมากจะตายตามท้องถนนในช่วงฤดูหนาว เหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อฤดูหนาวที่แล้วและฤดูหนาวก่อนหน้านั้น
นอกจากจะมีการหาที่อยู่อาศัยให้พวกเขาเพิ่มมากขึ้นได้ในทันที
แต่สำหรับกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน เหตุการณ์ 11 กันยายน สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย อย่างน้อยในทวีปอเมริกาเหนือ การรณรงค์ที่มุ่งโจมตีสัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมที่ทรงพลัง แม้จะโดยสันติวิธีก็ตาม ก็ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางสัญลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แม้การโจมตีด้วยเครื่องบินครั้งนั้น เป็นการก่อการร้ายอย่างน่าสยดสยองและน่าสะพรึงกลัว แต่มันก็เป็นสงครามในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปต่างเข้าใจได้ในทันที ดังที่นักวิจารณ์กล่าวว่า ตึกแฝดทั้งสองไม่ได้เป็นแค่อาคารทั่วไป หากเป็น "สัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมอเมริกัน"
แน่นอน พวกเขาไม่มีหลักฐานมากมายนักมายืนยันว่า เศรษฐีชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นคนที่ชาวสหรัฐต้องการตัวมากที่สุด มีความโกรธแค้นต่อระบอบทุนนิยมอย่างไร (แต่ถ้าพิจารณาถึงเครือข่ายการส่งออกของนายอุสมา บินลาเดน ที่ค่อนข้างกว้างขวาง ตั้งแต่การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจนถึงท่อส่งน้ำมัน ดูเหมือนว่าเขาไม่น่าจะเป็นผู้ต่อต้านระบอบทุนนิยมเอาเลย) แต่สำหรับขบวนการที่บางคนเรียกว่า พวก "ต่อต้านโลกาภิวัตน์" ส่วนคนอื่น ๆ เรียกว่า พวก "ต่อต้านทุนนิยม" (แต่ดิฉันอยากเรียกแบบรวม ๆ ว่า "ขบวนการ" เฉย ๆ มากกว่า)
มันเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านบรรษัท สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการแทรกแซงวัฒนธรรมกระแสหลัก รูปแบบการจู่โจมของกองโจร การเลือกยี่ห้อและเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งประกอบรวมกันเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของขบวนการ กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงบรรษัทข้ามชาติ ได้ใช้เหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เพื่อชี้นำว่านักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ที่เล่นสงครามกองโจร ตอนนี้ต้องเจอกับสงครามจริง ๆ เสียแล้ว บทความหลายชิ้นแสดงความไว้อาลัยตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลก อย่างเช่น "การต่อต้านโลกาภิวัตน์กลายเป็นอดีตไปแล้ว" ซึ่งเป็นข่าวพาดหัวอย่างแพร่หลาย ตามความเห็นของหนังสือพิมพ์ The Boston Globe ขบวนการเหล่านี้ "อยู่ในสภาพแตกเป็นเสี่ยง ๆ " นี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า
การเคลื่อนไหวของพวกเราเคยถูกประกาศให้ตายไปก่อนหน้านี้แล้ว อันที่จริง เป็นพิธีกรรมปรกติที่จะประกาศมรณกรรมให้พวกเรา ทั้งก่อนและหลังการเดินขบวนครั้งใหญ่แต่ละครั้ง การกล่าวหาว่ายุทธศาสตร์ของพวกเราไม่น่าเชื่อถือ มีความแตกแยกในกลุ่มพันธมิตร และเหตุผลของพวกเราเป็นเรื่องบิดเบือน แต่กระนั้น กลุ่มผู้เดินขบวนกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 50,000 คนในกรุงซีแอตเติลเป็น 300,000 คนโดยประมาณในกรุงเจนีวา
ในขณะเดียวกัน คงเป็นเรื่องโง่เขลาที่จะเสแสร้งว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ดิฉันฉุกคิดขึ้นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ในระหว่างชมภาพสไลด์ที่ปะติดปะต่อขึ้นมาเองก่อนเกิดการโจมตีในอเมริกา มันเป็นภาพพจน์ของการเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทที่ถูกบรรษัทนำไปใช้ประโยชน์ด้านการตลาด ภาพแรกเป็นภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ใช้สีพ่นข้อความบนกระจกหน้าร้าน Gap ในระหว่างการประท้วงองค์การค้าโลกที่กรุงซีแอตเติล ส่วนภาพต่อมาเป็นภาพกระจกหน้าร้าน Gap ที่ติดตั้งใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยใช้สีดำพ่นคำว่า "อิสรภาพ" และภาพต่อมาเป็นภาพจากเกม State of Emergency ของเครื่องเล่มเกมโซนี่ ซึ่งเป็นภาพของนักอนาธิปัตย์มาดเท่กำลังขว้างก้อนหินใส่ตำรวจปราบจลาจลผู้ชั่วร้าย ซึ่งมีหน้าที่ปกป้ององค์กรการค้าแห่งอเมริกาที่กุขึ้นมาเอง
ความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจของดิฉันก็คือ ภาพต่าง ๆ จากสงครามเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้กำลังถูกลบเลือนความสำคัญไปในทันที ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เหมือนกับรถเด็กเล่นและตุ๊กตานักต่อสู้ในฉากภาพยนตร์ที่ขายความหายนะ
เหตุใดจึงเลือกใช้การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์
แม้ว่าภูมิทัศน์เหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไป หรือเพราะเหตุที่มันเปลี่ยนแปลงไป
มันก็อดทำให้ย้อนนึกถึงไม่ได้ว่า เหตุใดขบวนการเหล่านี้จึงเลือกใช้การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ตั้งแต่ต้น
การตัดสินใจของกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านความยากจนแห่งออนตาริโอที่จะ "ปิดล้อม"
ย่านธุรกิจ มีพื้นฐานมาจากเหตุปัจจัยเฉพาะบางประการ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น
ๆ ที่พยายามผลักดันให้มีการอภิปรายทางการเมืองถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจ
ประชาชนที่กลุ่มพันธมิตรนี้เป็นตัวแทนรู้สึกว่า พวกเขาถูกทอดทิ้ง ถูกกีดกันออกจากกระบวนทัศน์ที่เป็นอยู่ ถูกทำให้หายไป และถูกทำให้มองว่าเป็นปัญหาของพวกแบมือขอเงิน หรือพวกคอยเช็ดกระจกรถที่ต้องถูกปราบปรามด้วยกฎหมายใหม่ ๆ ที่เข้มงวด พวกเขารู้ดีว่า สิ่งที่ต้องเผชิญไม่ได้เป็นแค่ศัตรูทางการเมืองในระดับท้องถิ่น หรือกฎหมายการค้าบางฉบับ แต่ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจ คำสัญญาที่ว่างเปล่าของระบอบทุนนิยมที่มุ่งเปิดเสรี และเชื่อมั่นว่าผลประโยชน์จะค่อย ๆ ซึมลงสู่ชนชั้นล่าง
ด้วยเหตุนี้เอง ความท้าทายสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ก็คือ เราจะรวมตัวจัดตั้งเพื่อต่อต้านอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่จนไร้ขอบเขต และดูเหมือนมีอิทธิพลครอบคลุมทุกแห่งหนได้อย่างไร จะใช้สถานที่ใดเพื่อแสดงพลังแห่งการต่อต้าน สำหรับคนที่ไม่มีแม้แต่โรงงานให้ปิดล้อม ในเมื่อชุมชนถูกถอนรากถอนโคนตลอดเวลา แล้วพวกเราจะยึดหลักอะไรในการต่อสู้ ในภาวะที่ระบบที่ทรงอำนาจอย่างมากกลับเป็นความจริงเสมือน ไม่ว่าจะเป็นการค้าอัตราแลกเปลี่ยน ราคาหุ้น ทรัพย์สินทางปัญญาและข้อตกลงการค้าที่ซับซ้อนเหลือเกิน
คำตอบสั้น ๆ อย่างน้อยสำหรับช่วงก่อนเหตุการณ์ 11 กันยายนได้แก่ คุณก็เล่นงานทุกอย่างที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นตรายี่ห้อของบรรษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียง ตลาดค้าหุ้น ที่ประชุมของผู้นำโลก ข้อตกลงการค้าบางฉบับหรือในกรณีของกลุ่มโตรอนโต พวกเขาเล่นงานธนาคารและบริษัทแม่ของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลจักรที่ขับเคลื่อนวาระทางเศรษฐกิจ อะไรก็ได้ที่แม้จะดูฉาบฉวย แต่ทำให้นามธรรมกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ทำให้สิ่งที่ใหญ่โตมโหฬารลดขนาดลงมาเท่ามนุษย์ พูดสั้น ๆ พวกเขาแสวงหาสัญลักษณ์ และหวังว่ามันจะกลายเป็นภาพอุปมาอุปไมยของการเปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่สหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามการค้าต่อต้านประเทศฝรั่งเศส ที่หาญกล้าสั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมนจากสหรัฐอเมริกา นายโจเซ่ โบเว่และสมาพันธ์เกษตรกรแห่งฝรั่งเศส ไม่สามารถเรียกความสนใจจากคนทั้งโลกได้ ด้วยการป่าวร้องถึงภาษีศุลกากรนำเข้าที่สหรัฐกำหนดขึ้น เพื่อจำกัดการนำเข้าชีสโรฆฟอร์ด สิ่งที่พวกเขาทำคือ การ "กำจัดในทางยุทธศาสตร์" ต่อร้านแมคโดนัลด์
นักเคลื่อนไหวหลายคนได้เรียนรู้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่า พวกเขาสามารถเรียกความสนใจของชาวตะวันตกต่อกิจการในระดับนานาชาติได้ ด้วยการเชื่อมโยงการรณรงค์ของตนเองเข้ากับตรายี่ห้อที่มีชื่อเสียง ซึ่งกลายเป็นอาวุธเพื่อทำลายความคิดที่คับแคบอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะสร้างปัญหาให้บ่อยครั้ง การเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทนี่เองที่ส่งผลให้พวกเขาได้เข้าถึงโลกอันลี้ลับของการค้า และการเงินนานาชาติ องค์การค้าโลก ธนาคารโลก และบางคนถึงขนาดเริ่มตั้งคำถามกับระบอบทุนนิยมเองด้วยซ้ำไป
การก่อการร้ายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงต่อชาวอเมริกัน
ยุทธวิธีเช่นนี้กลายเป็นเป้าที่ถูกโจมตีง่ายดายเช่นเดียวกัน ภายหลังเหตุการณ์
11 กันยายน นักการเมืองและนักวิชาการทั่วโลกพากันสร้างภาพว่า การก่อการร้ายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงต่อชาวอเมริกัน
และการต่อต้านบรรษัทที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกระจกหน้าร้านสตาร์บัคส์
แล้วลามปามไปจนถึงตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
ปีเตอร์ บายอาร์ท บรรณาธิการของนิตยสาร New Republic ฉวยโอกาสที่มีการส่งข้อความเข้ามาในวงสนทนาทางอินเตอร์เน็ตของนักต่อต้านบรรษัท ซึ่งตั้งคำถามว่า การโจมตีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เป็นฝีมือของ "พวกเราคนใดคนหนึ่งหรือไม่" จากนั้นเขาก็สรุปว่า "ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ส่วนหนึ่งเป็นขบวนการที่มีแรงจูงใจมาจากความเกลียดชังต่อสหรัฐอเมริกา" ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมในภาวะที่สหรัฐอเมริกากำลังถูกโจมตี
เรดจินอล
เดล เขียนในหนังสือพิมพ์ The International Herald Tribune โดยเปรียบเทียบผู้ประท้วงว่าเป็นเหมือนนักก่อการร้าย
"แม้ว่าพวกเขาไม่ได้ออกไปเข่นฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์เป็นพัน ๆ คนอย่างโจ่งแจ้ง
แต่นักประท้วงที่ต้องการขัดขวางการประชุมของ IMF หรือองค์การค้าโลก เท่ากับพวกเขากำลังพยายามยัดเยียดวาระทางการเมืองของตน
โดยใช้วิธีข่มขู่คุกคาม ซึ่งเป็นเป้าหมายโดยพื้นฐานของการก่อการร้าย"
ในโลกที่ยังพอมีสติสัมปชัญญะ เมื่อเกิดการก่อการร้ายขึ้น แทนที่จะมัวใส่ไฟกัน
พวกเขาน่าจะตั้งคำถามมากกว่าว่า เหตุใดหน่วยข่าวกรองของสหรัฐจึงมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการสืบหาข่าวของกลุ่ม
Reclaim the Streets และศูนย์สื่ออิสระ (Independent Media Centers) แทนที่จะพุ่งความสนใจไปยังเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่กำลังวางแผนสังหารหมู่
โชคร้ายที่ดูเหมือนเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การปราบปรามนักเคลื่อนไหวที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์
11 กันยายน มีแต่จะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ มีการสอบหาข้อมูลในระดับลึกมากขึ้น
มีการแทรกแซงขบวนการและมีการใช้ความรุนแรงของตำรวจมากขึ้น
การให้เงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
กำลังถูกใช้เป็นสินบน
สิ่งที่ดิฉันกลัวก็คือ การโจมตีเช่นนี้จะทำให้ขบวนการของเราสูญเสียชัยชนะทางการเมืองไป
เงินทุนที่หลายฝ่ายรับปากจะให้เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตโรคเอดส์ในอัฟริกากำลังสูญหายไป
พร้อม ๆ กับพันธะสัญญาที่จะเพิ่มการยกเลิกหนี้ ในปัจจุบัน การให้เงินช่วยเหลือกำลังถูกใช้เป็นสินบนให้กับประเทศที่ตกลงเข้าร่วมสงครามกับสหรัฐอเมริกา
พร้อม ๆ กันนั้น การค้าเสรีซึ่งเคยเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาต่อสาธารณชนมาโดยตลอด กำลังถูกสร้างภาพใหม่อย่างรวดเร็ว โดยทำให้มันกลายเป็นหน้าที่ของผู้รักชาติ เหมือนกับการช็อปปิ้งและการเล่นเบสบอล ตามความเห็นของนายโรเบิร์ต โซลิค ผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา โลกของเราต้องการการรณรงค์อย่างใหม่เพื่อ "ต่อสู้กับการก่อการร้ายด้วยการค้า"
"การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ"กับ"การค้าเสรี"เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหมือนกัน
นายไมเคิล เลวิส นักเขียนด้านธุรกิจได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ New York
Times ชี้ว่า"การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ"กับ"การค้าเสรี"เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหมือนกัน
โดยเขาอธิบายว่า นักการค้าที่ตายไปควรได้รับยกย่องว่า "ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์
แต่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งอิสรภาพ
พวกเขาทำงานหนักเพื่อปลดปล่อยคนอื่น
ๆ จากภาวะที่ยากลำบาก แม้จะโดยไม่ตั้งใจ ทำให้พวกเขาถือเป็นทางเลือกด้านจิตวิญญาณจากพวกเคร่งศาสนาแบบจารีต
ซึ่งเป็นพวกที่ดำเนินธุรกิจด้วยการปฏิเสธอิสรภาพส่วนบุคคล โดยอ้างอำนาจสมมติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่า"
เส้นแบ่งแห่งการต่อสู้ถูกขีดขึ้นมาแล้ว นั่นคือ"การค้ามีคุณค่าเท่ากับเสรีภาพ" ส่วนการต่อต้านการค้าหมายถึง"ลัทธิเผด็จการ"นั่นเอง
ในฐานะขบวนการ อิสรภาพของพลเรือน ความก้าวหน้าของเราและยุทธศาสตร์แบบเดิมกำลังถูกตั้งคำถาม แต่วิกฤตการณ์เช่นนี้ก็ช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้เช่นกัน ดังที่หลายคนชี้ให้เห็นว่า ปัญหาท้าทายของขบวนการเพื่อความยุติธรรมในสังคมได้แก่ การแสดงให้เห็นว่า"ความยุติธรรม"และ"ความเท่าเทียม"เป็นยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนที่สุดเพื่อต่อต้านความรุนแรงและลัทธิเคร่งจารีต แล้วมันจะส่งผลอย่างไรในทางปฏิบัติ
"สงครามแบบใหม่"กับระบบสาธารณูปการที่ซอมซ่อ
คนอเมริกันเองกำลังตระหนักอย่างรวดเร็วว่า การมีระบบสาธารณสุขที่รับภาระหนักเกินไป
จนไม่สามารถแม้แต่จะจัดการกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงหากมีการระบาดของเชื้อแอนแทร็คขึ้นมาจริง
ๆ แม้จะมีคำสัญญามานับทศวรรษแล้วว่า จะคุ้มครองแหล่งน้ำของสหรัฐอเมริกาให้ปลอดภัยจากการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ
แต่กรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งมีภาระมากมายก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย แหล่งอาหารของเรายิ่งมีความเสี่ยงมากกว่า
ผู้สุ่มตรวจอาหารสามารถตรวจได้แค่ร้อยละหนึ่งของอาหารที่นำเข้า ซึ่งแทบไม่ได้ช่วยลดความกลัวต่อ
"การก่อการร้ายด้านเกษตร" ที่เพิ่มขึ้นเลย
ใน "สงครามแบบใหม่" นี้ ผู้ก่อการร้ายสามารถค้นหาอาวุธได้จากระบบสาธารณูปการที่ซอมซ่อของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา หากยังในประเทศยากจน ซึ่งลัทธิเคร่งจารีตได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ในภาวะที่หนี้สินและสงครามได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เฒ่าหัวงูที่บ้าคลั่งอย่างนายบินลาเดน มีโอกาสเข้ามาฉวยโอกาส และเริ่มให้บริการขั้นพื้นฐานอันควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน โรงเรียน สถานีอนามัย และระบบอนามัยพื้นฐานอื่น ๆ
ในประเทศซูดาน นายบินลาเดน เป็นผู้สร้างถนนที่ช่วยให้มีการก่อสร้างท่อน้ำมันทาลิสมานจนสำเร็จลงได้ ช่วยให้รัฐบาลมีเงินทุนที่จะทำสงครามปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างโหดเหี้ยม นักบวชมุสลิมหัวรุนแรงในปากีสถาน ซึ่งเป็นคนล้างสมองพวกผู้นำฏอลีบัน เติบใหญ่มีอำนาจได้ก็เพราะว่าเข้ามาถมช่องว่างกว้างใหญ่ของสวัสดิการด้านสังคม ในประเทศซึ่งมีการใช้เงินงบประมาณร้อยละ 90 เพื่อการทหารและชำระหนี้ พวกเขาใช้เงินเพียงน้อยนิดเพื่อการศึกษา สิ่งที่ madrassas เสนอให้ ไม่ได้มีแค่การศึกษาแบบให้เปล่า แต่ยังเสนออาหารและที่พักอาศัยแก่เด็กยากจนด้วย
ในการทำความเข้าใจ ถึงการแพร่ขยายของการก่อการร้ายทั้งในประเทศซีกโลกเหนือและใต้ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและภาคสาธารณะ แล้วท่าทีของนักการเมืองเท่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเล่า ก็เหมือนกับที่เคยเป็นมา พวกเขายังคงออกกฎหมายพักชำระภาษีให้กับภาคธุรกิจ และมุ่งแปรรูปกิจการภาคบริการต่อไป. ในวันเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ The International Herald Tribune พาดหัวข่าวว่า "แนวรบใหม่ของการก่อการร้าย: ห้องตรวจรับไปรษณีย์" ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลในประเทศสหภาพยุโรป ได้ตกลงร่วมกันที่จะเปิดตลาดไปรษณีย์เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับเอกชน
โลกาภิวัตน์แบบใด
ที่เราต้องการ?
ข้ออภิปรายถกเถียงว่าโลกาภิวัตน์แบบใดเป็นสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่เรื่อง
"ล้าสมัยไปแล้ว" หากไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมเท่าขณะนี้ต่างหาก
กลุ่มรณรงค์หลายกลุ่มกำลังเสนอข้อถกเถียงร่วมกันบนพื้นฐานของ "ความมั่นคงร่วมกัน"
ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่น่าสนใจต่อแนวคิดด้านความมั่นคงอันคับแคบ บนพื้นฐานของการสร้างรั้วล้อมพรมแดน
และการใช้เครื่องบินรบบี 52 ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยคุ้มครองความมั่นคงเอาเสียเลย
กระนั้น เราก็ไม่ควรทำตัวไร้เดียงสาเกินไปจนเชื่อว่าภัยคุกคามที่มุ่งสังหารผู้บริสุทธิ์ จะปลาสนาการไปโดยผ่านการปฏิรูปด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว เราต้องการความยุติธรรมด้านสังคมด้วยเช่นกัน พร้อม ๆ กับความยุติธรรมสำหรับเหยื่อของการโจมตีทำร้ายเหล่านี้ และมาตรการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรมไม่ไห้เกิดการโจมตีทำร้ายขึ้นอีก
การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามระดับนานาชาติอย่างแท้จริง และมันไม่ได้เริ่มต้นจากการโจมตีเป้าหมายในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่สนับสนุนการทิ้งระเบิดโจมตีประเทศอัฟกานิสถานอาจทำเช่นนั้นอย่างไม่เต็มใจ เพราะสำหรับคนบางกลุ่ม ระเบิดดูจะเป็นอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่พวกเขามี แม้มันจะโหดร้ายและขาดความแม่นยำ แต่การขาดทางเลือกเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงต่อต้านของสหรัฐอเมริกา ต่อมาตรการระดับนานาชาติที่มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งกว่าสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
อย่างเช่น การเสนอให้จัดตั้งศาลอาญานานาชาติ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็ต่อต้าน เนื่องจากกลัวว่าวีรบุรุษสงครามของตนเองอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หรือกรณีสนธิสัญญาเพื่อยุติการทดสอบอาวุธปรมาณูอย่างรอบด้าน สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่สนับสนุน ทั้งสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยกับระเบิด อาวุธขนาดเล็ก และข้อตกลงอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งอันที่จริงจะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาในประเทศที่มีการใช้กำลังทหารอย่างแพร่หลาย อย่างเช่น ประเทศอัฟกานิสถานได้
ในขณะที่ประธานาธิบดีบุชเชิญชวนให้ทั้งโลกเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา โดยลดบทบาทขององค์การสหประชาชาติและศาลโลกลง พวกเราในขบวนการเคลื่อนไหวจะต้องแสดงออกเพื่อปกป้องกรอบความคิดของทางเลือกแบบพหุภาคี โดยปฏิเสธการตราหน้าว่าพวกเราเป็นพวก "ต่อต้านโลกาภิวัตน์" อย่างสิ้นเชิง
"พันธมิตร"
ของนายบุช ไม่ได้เป็นตัวแทนของปฏิกิริยาของโลกที่มีต่อการก่อการร้ายอย่างแท้จริง
หากเป็นเพียงกระบวนการแพร่ขยายนโยบายการต่างประเทศของประเทศหนึ่ง ไปยังประเทศอื่น
ๆ ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในแง่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ตั้งแต่ในโต๊ะเจรจาขององค์การค้าโลกไปจนถึงที่ประชุมในกรุงเกียวโต เราสามารถสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้ใหม่
โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกระแสต่อต้านอเมริกัน หากเป็นการผลักดันให้เกิดกระแสของนานาชาตินิยมอย่างแท้จริง
การหลั่งไหลของความช่วยเหลือและความสนับสนุนภายหลังโศกนาฎกรรมวันที่ 11 กันยายน
แตกต่างอย่างไรเล่าจากเป้าหมายในทางมนุษยธรรมที่ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหลายต้องการบรรลุถึง
คำขวัญตามท้องถนนอย่างเช่น "ประชาชนต้องมาก่อนผลกำไร" "โลกไม่ได้มีไว้ขาย"
แสดงออกถึงความรู้สึกและความจริงร่วมกันสำหรับคนจำนวนมาก
ภายหลังการเริ่มต้นของการก่อการร้าย
พวกเขาตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงเลือกจะกู้วิกฤตของสายการบินมากกว่าจะช่วยคนงานซึ่งกำลังสูญเสียงานที่ทำไป
มีความกังวลมากขึ้นถึงความไร้เสถียรภาพของการค้าเสรีอย่างที่เป็นอยู่ กระแสความชื่นชมต่อผู้ทำงานภาคสาธารณะทุกประเภทได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เป็น "สามัญ" สิ่งที่อยู่ในภาคสาธารณะ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
โดยไม่เกี่ยวกับบรรษัทการค้า กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น
ๆ
ผู้ที่มุ่งทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิด (โดยไม่ได้มุ่งเอาชนะคะคานเพียงอย่างเดียว)
ควรฉวยโอกาสเชื่อมโยงปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมเหล่านี้เข้ากับภาคสังคมส่วนอื่น
ๆ เพื่อให้ความต้องการของมนุษย์มีความสำคัญเหนือผลกำไรของบรรษัท ไม่ว่าจะเป็นความต้องการด้านการบำบัดรักษาโรคเอดส์
ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัย
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในยุทธศาสตร์ของการปฏิบัติงาน
ซึ่งมุ่งให้เกิดสาระอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าเป็นการหวังผลเชิงสัญลักษณ์ โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นแล้ว
กว่าหนึ่งปีมาแล้ว การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายนอกที่ประชุมสุดยอด
และเพื่อต่อต้านบรรษัทการค้าบางแห่ง เริ่มเผชิญกับแรงท้าทายภายในขบวนการเคลื่อนไหวเอง
การทำสงครามในเชิงสัญลักษณ์ยังให้ผลที่ไม่น่าพึงพอใจเท่าไร การทุบกระจกร้านแมคโดนัลด์และการจัดประชุมในสถานที่ซึ่งห่างไกลออกไปทุกที
แล้วยังไงล่ะ มันก็ยังคงเป็นแค่ปฏิบัติการในเชิงสัญลักษณ์ เป็นเพียงแค่กระพี้
เป็นเพียงแค่สงครามตัวแทน
ความไม่พึงพอใจแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้นแล้ว
ก่อนเหตุการณ์ 11 กันยายน ความไม่พึงพอใจแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้นแล้ว และนำไปสู่การเสนอทางเลือกใหม่
ๆ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่รากเหง้าของความอยุติธรรม
ตั้งแต่การเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดินไปจนถึงการชดเชยให้กับแรงงานทาส และประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม
ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ภารกิจดังกล่าวยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ปัญหาท้าทายคือการขับเคลื่อนวาทกรรมจากการอภิปรายถึงนิยามของโลกาภิวัตน์อันคลุมเครือ เพื่อนำไปสู่การอภิปรายโต้เถียงอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ในยุคของ "ความเจริญที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดหมาย" ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถูกบอกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกไปจากการตัดค่าใช้จ่ายภาคสาธารณะลง ยกเลิกกฎหมายแรงงาน ยกเลิกการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนถูกมองว่าเป็นกำแพงการค้าอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงการลดเงินสนับสนุนต่อโรงเรียน ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ พร้อมที่จะทำการค้า เหมาะสมต่อการลงทุนและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ภารกิจของเราในตอนนี้คือการประเมินคำสัญญาที่หวานหูของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมักอ้างว่าจะนำมาซึ่งความเจริญมั่งคั่งโดยรวม การพัฒนาเพิ่มมากขึ้นและระบอบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น โดยเทียบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินตามนโยบายเหล่านี้ เราจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์อย่างที่เป็นอยู่ พัฒนาขึ้นบนฐานความสูญเสียของมนุษย์ และระบบนิเวศในท้องถิ่น
ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นระดับโลกกับประเด็นในท้องถิ่น
บ่อยครั้งที่เราไม่ได้ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นระดับโลกกับประเด็นในท้องถิ่น
แทนที่จะทำเช่นนั้น บางครั้งเรามักทำงานเคลื่อนไหวอย่างแบ่งแยกเป็นสองส่วน
ในด้านหนึ่งเราจะเห็นนักเคลื่อนไหวด้านโลกาภิวัตน์ระดับนานาชาติ มุ่งต่อสู้ในประเด็นที่ดูไกลตัว
ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับประเด็นในการต่อสู้ของประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวในประเด็นที่สะท้อนถึงผลกระทบของโลกาภิวัตน์ในท้องถิ่น
พวกเขาจึงมักถูกเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ ว่าเป็นแค่นักศึกษาหรือนักกิจกรรมมืออาชีพที่หลงผิด
ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นองค์กรชุมชนหลายพันแห่งที่ต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานเพื่อความอยู่รอด หรือต่อสู้เพื่อปกป้องบริการสาธารณะในขั้นพื้นฐานที่สุด การเคลื่อนไหวของพวกเขาก็มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นไปเพื่อประเด็นในท้องถิ่นล้วน ๆ ซึ่งไม่มีความสำคัญมากนัก และเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดนักเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าส่วนใหญ่ จึงรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจไปในที่สุด
ทางออกที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การผสานพลังทั้งสองเข้าด้วยกัน ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันจะต้องศึกษาจากขบวนการเคลื่อนไหวในท้องถิ่นนับพัน ๆ แห่งมากยิ่งขึ้น พวกเขาต้องต่อสู้ในประเด็นผลกระทบต่อท้องถิ่น อันเนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนไร้บ้าน ค่าแรงที่ทรงตัว ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของประชากรในคุก การเอาความผิดในทางอาญาต่อผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัย ความเสื่อมโทรมลงของโรงเรียนรัฐ และการทำลายแหล่งน้ำ
ในขณะเดียวกัน ขบวนการในท้องถิ่นที่ต่อต้านการแปรรูป และการเปิดเสรีทางการค้าในพื้นที่ของตนเอง จะต้องเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของตนให้เข้ากับขบวนการขนาดใหญ่ในระดับโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเด็นในท้องถิ่นเชื่อมโยงกับวาระทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ที่กำลังถูกบังคับให้ปฏิบัติตามทั่วโลกอย่างไร สิ่งที่เราต้องการคือกรอบการเมืองที่จะช่วยจัดการกับอำนาจและการควบคุมของบรรษัทที่มีต่อนานาชาติ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดตั้งและการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น
วาทกรรมด้านการเมืองที่ไม่กลัวต่อความหลากหลาย
หัวใจหลักของการกระบวนการนี้คือ การพัฒนาวาทกรรมด้านการเมืองที่ไม่กลัวต่อความหลากหลาย
และไม่พยายามยัดเยียดแม่แบบเพียงหนึ่งเดียว ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเมืองที่หลากหลาย
เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มีความเป็นอคติในทุกระดับ โดยมุ่งรวมศูนย์ ควบคุมจัดการจากส่วนกลาง
และทำให้ทุกอย่างเป็นแบบเดียวกันหมด เป็นเหมือนสงครามที่กระทำต่อความหลากหลาย
ในการต่อต้านกระบวนการนั้น เราจำเป็นต้องมีขบวนการที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่มีต่อความหลากหลายอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ความหลากหลายด้านนิเวศ ความหลากหลายด้านเกษตรกรรม และแน่นอนว่า ต้องรวมไปถึงความหลากหลายด้านการเมืองเช่นกัน นั่นคือการเคลื่อนไหวด้านการเมืองที่มีความหลากหลาย เป้าหมายไม่ใช่เพื่อทำให้เกิดกฎเกณฑ์และผู้ปกครองที่อยู่ห่างไกลออกไป หากเพื่อสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยจากรากฐานขึ้นมา
การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ เราจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่มาจากเชียปาส, ปอร์โต อัลเลเกร, เกราลา แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะท้าทายระบอบจักรวรรดินิยมไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมความเป็นพหุนิยม ความก้าวหน้า และระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาจากรากฐานขึ้นมา
ในปี 2541 เบนจามิน บาร์เบอร์ ได้เขียนอธิบายถึงการต่อสู้ในระดับโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในหนังสือ Jihad vs. McWorld ของเขา ภารกิจของเราซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การชี้ให้เห็นว่า เรายังมีมากกว่าสองโลกที่เป็นอยู่ เราจะต้องแสดงให้เห็นถึงโลกต่าง ๆ ที่มองไม่เห็น ซึ่งอยู่ระหว่างลัทธิที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างบ้าคลั่ง หรือที่เรียกว่าโลกของแมคโดนัลด์ กับโลกที่พัฒนาตามความคลั่งศาสนาหรือที่เรียกว่าโลกของยีฮัด
พลังของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้แก่การนำเสนอทางเลือกที่แท้จริงเพื่อก้าวออกจากกระบวนการที่ทำให้ทุกสิ่งเหมือนกันหมด และการควบคุมรวมศูนย์ ซึ่งถูกผลักดันตามกระแสโลกาภิวัตน์ อาวุธลับที่สำคัญคือการไม่ยอมให้ภาคใดภาคหนึ่ง หรือประเทศประเทศหนึ่งมีอำนาจอย่างรวมศูนย์ และป้องกันไม่ให้ผู้นำทางความคิดคนใดคนหนึ่งควบคุมความคิดทั้งมวล
ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกที่มีความหลากหลายอย่างแท้จริง ซึ่งมีรากฐานอยู่ในทุกแห่งหนและนำทฤษฎีด้านเศรษฐกิจที่เป็นนามธรรมมาปฏิบัติใช้ให้เป็นจริงในท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องไปเคลื่อนไหวอยู่ภายนอกที่ประชุมสุดยอดทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องไปเผชิญหน้าท้าทายโดยตรงกับสถาบันด้านการทหาร และอำนาจด้านเศรษฐกิจที่ทรงพลังกว่าอย่างมากมายมหาศาล แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาสามารถปฏิบัติการจากภายนอกและโอบล้อมเข้ามาในทุกทิศทาง
เพราะดังที่เราได้เห็นแล้วว่า
เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง พวกเขาเรียนรู้วิธีที่จะควบคุมการประท้วง
และสร้างกำแพงที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีกำแพงใดที่จะยิ่งใหญ่มากพอจะควบคุมขบวนการเคลื่อนไหวด้านสังคมที่แท้จริง
เพราะมันมีรากฐานอยู่ในทุกแห่งหน
สงครามในเชิงสัญลักษณ์กำลังใกล้ถึงจุดจบ
บางทีสงครามในเชิงสัญลักษณ์กำลังใกล้ถึงจุดจบ เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว
ดิฉันไปที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน เพื่อไปเขียนถึงการรณรงค์ต่อต้านแรงงานทาสของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
ซึ่งมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยไนกี้ ดิฉันได้พบนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งชื่อ
ซารา เจคอบสัน เธอบอกดิฉันว่า ไนกี้ไม่ใช่เป้าหมายของการรณรงค์ของเธอ หากเป็นเครื่องมือ
เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเข้าถึงระบบเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่และมักจะไม่มีรูปร่างชัดเจนแน่นอน
"มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่จะสร้างสรรค์การเคลื่อนไหวของเรา"
เธอบอกอย่างร่าเริง
เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่พวกเราที่อยู่ในการเคลื่อนไหวของขบวนการทั้งหลายได้ใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ของฝ่ายตรงกันข้าม
ไม่ว่าจะเป็นตรายี่ห้อสินค้า อาคารสำนักงาน และโอกาสปรากฏเป็นข่าวจากการชุมนุมในที่ประชุมสุดยอดของพวกเขา
พวกเราใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับการเคลื่อนไหว และเป็นเครื่องมือให้การศึกษากับสาธารณะ
แต่สัญลักษณ์ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของเรา หากเป็นเพียงคานงัด เป็นที่จับ
สัญลักษณ์เป็นแค่หน้าต่างของโอกาส และถึงเวลาแล้วที่เราต้องเคลื่อนตัวผ่านหน้าต่างออกไป
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
นายไมเคิล เลวิส นักเขียนด้านธุรกิจได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ New York Times ชี้ว่า"การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ"กับ"การค้าเสรี"เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหมือนกัน โดยเขาอธิบายว่า นักการค้าที่ตายไปควรได้รับยกย่องว่า "ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ แต่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งอิสรภาพ พวกเขาทำงานหนักเพื่อปลดปล่อยคนอื่น ๆ จากภาวะที่ยากลำบาก แม้จะโดยไม่ตั้งใจ ทำให้พวกเขาถือเป็นทางเลือกด้านจิตวิญญาณจากพวกเคร่งศาสนาแบบจารีต ซึ่งเป็นพวกที่ดำเนินธุรกิจด้วยการปฏิเสธอิสรภาพส่วนบุคคล โดยอ้างอำนาจสมมติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่า"
เส้นแบ่งแห่งการต่อสู้ถูกขีดขึ้นมาแล้ว นั่นคือ"การค้ามีคุณค่าเท่ากับเสรีภาพ" ส่วนการต่อต้านการค้าหมายถึง"ลัทธิเผด็จการ"นั่นเอง