ความรู้เศรษฐศาสตร์การเมือง
ธนกิจการเมือง
หลังปี ๒๕๔๔ ระบอบไทคูนคือรัฐ
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
คณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์
ประกอบด้วย
๑. ธนกิจการเมืองหลังปี ๒๕๔๔ ระบอบไทคูนคือรัฐ
๒. ธนกิจการเมืองพาชาติล่ม
ชี้ทางรอดสื่อต้องเสรี
(เรื่องที่ ๑ นำมาจากหนังสือพิมพ์มติชน เรื่องที่ ๒
นำมาจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขออนุญาตนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ณ ที่นี้
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 771
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
๑. ธนกิจการเมือง หลังปี ๒๕๔๔ ระบอบไทคูนคือรัฐ
ที่มา : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถาโดย ศ.ดร.ผาสุก
พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ธนกิจการเมือง"
ในงานสัมมนาประจำปี 2548 ของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่คณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 48
บทนำ ธนกิจการเมือง
คำว่า "ธนกิจการเมือง" (Money Politics) หมายถึง กระบวนการที่นักการเมืองใช้เงินเพื่อผันตัวเองเป็น
1 ในคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้ใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งดำเนินการและกำหนดนโยบาย
เอื้อให้ตนเองและพรรคพวกแสวงหารายได้และกำไรให้คุ้มกับการลงทุนที่เกิดขึ้น
แหล่งรายได้สำคัญที่ทำธนกิจการเมืองคือ เข้าเกาะกุมและจัดสรร ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
(Economic Rent) ซึ่งค่าเช่านี้ออกมาในรูปแบบ ใบอนุญาต สัมปทาน เงินอุดหนุน
และสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งอำนาจรัฐจะให้ได้ สิทธิต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักการเมืองและพรรคพวก
สามารถแสวงหากำไรในอัตราที่มากกว่าระดับปกติที่เกิดขึ้นในตลาดแข่งขันทั่วๆ
ไป
อีกนัยหนึ่งคือ การทำธนกิจการเมือง เป็นการพยายามเข้าถึงธุรกิจที่สามารถดำเนินการแบบผูกขาด หรือได้อภิสิทธิ์ที่คนอื่นไม่ได้ นอกจากนี้ นักการเมืองเหล่านี้มีโอกาสได้รับสินบน และถือโอกาสใช้ภาษีของประชาชนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและพรรคพวก โดยเงินรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกผันไปเพื่อลงทุนในทางการเมืองต่อไปอีก
ดังนั้นธนกิจการเมืองก็คือ การถือว่าการเมืองเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงการเมืองร่วมสมัยหลัง พ.ศ.2544 ขอเรียกว่าการเมืองในระบอบไทคูนคือรัฐ (Tycoon-นักธุรกิจที่มีเงินและอำนาจสูง)
พัฒนาการทางการเมือง
ยุคอำมาตยาธิปไตย
รูปแบบการทำธุรกิจการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงการเมืองร่วมสมัยหลัง พ.ศ.2544
เริ่มจากยุคอมาตยาธิปไตยและรัฐบาลทหาร แหล่งรายได้สำคัญคือการคอร์รัปชั่น
ประเภทการเก็บภาษีคอร์รัปชั่น รับส่วยจากธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับนักการเมือง
มีการเบียดบังรายได้ ภาษีประชาชน เพื่อใช้ในราชการลับ ค่าคอมมิสชั่นจากการซื้ออาวุธ
คุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย ผันที่สาธารณะเป็นของตัวเองและพรรคพวก สมัยนี้ต้นทุนค่า
k (ต้นทุนที่ลงไปเพื่อให้ได้อำนาจ เช่น การใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง และต้นทุนเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าทำการคอร์รัปชั่น
เช่น จ่ายให้ตำรวจ ผู้พิพากษา สื่อ) จะต่ำ เพราะสื่อและประชาสังคมถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้รัฐบาลทหาร
ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
ในยุคถัดมา สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบและเต็มใบ รูปแบบการคอร์รัปชั่นในยุคแรกยังคงอยู่
แต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น งบราชการลับหายไปเพราะเข้าสู่ยุคสงครามเย็น
เงินสินบนค่าออกใบอนุญาตเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็ว ยุคนี้พูดถึงบุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต
การแสวงหาค่าเช่า และการได้รับรายได้จากค่าเช่าเกิดขึ้นเป็นประวัติการณ์
เพราะลู่ทางทำกำไรมีสูง เงินงบประมาณประจำปีรั่วไหลเข้ากระเป๋านักการเมืองและข้าราชการประจำ
ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งโครงการเพื่อหาเงิน โดยที่โครงการไม่ได้ให้ประโยชน์กับประชาชนนัก
ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ
ยุคประชาธิปไตยเต็มใบหลังปี 2544 พบว่า ต้นทุนการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสูงขึ้น
นักการเมืองมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง และการซื้อเสียงแพร่กระจายทั่วไป
วงเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักการเมืองที่ประสงค์เข้าสู่อำนาจต้องหาเงินจำนวนมหาศาลมากองเอาไว้เพื่อดึง
ส.ส.มาสร้างมุ้ง ต่อรองให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้น ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯอาจจะต้องเป็นเอทีเอ็มเคลื่อนที่
นอกจากนี้ สมัยนี้ต้นทุนการถูกจับได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะ ป.ป.ป.ก่อนหน้านี้เอาผิดได้แค่ข้าราชการ
ไม่สามารถเอาผิดนักการเมือง แต่สมัยปัจจุบันสื่อมีเสรีภาพและมีอิสระในการแฉเรื่องคอร์รัปชั่น
และองค์กรประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น
ยุคไทคูนคือรัฐ
ยุคสุดท้าย วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และการเลือกตั้ง 2544 เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่ผู้วิจัยเรียกว่า
ไทคูนคือรัฐ หมายถึงภาวะที่การเมือง นักการเมือง และนักธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
นักธุรกิจขนาดใหญ่ที่รอดวิกฤต 2540 รวมตัวก่อตั้งพรรคการเมือง และประสบความสำเร็จในการยึดกุมรัฐสภา
ด้วยการควบรวมพรรคการเมืองเล็กๆ และชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยม ทำธนกิจการเมืองโดยที่การคอร์รัปชั่นแบบเดิมยังมีอยู่ต่อไป
แต่มีวิธีการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่ นพ.ประเวศ
วะสี เรียก
แม้รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสร้างชื่อให้ตัวเองเพราะชนะการเลือกตั้งปี 2544 ด้วยนโยบายประชานิยม ที่ให้ประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ดำเนินหลายๆ นโยบายที่มีเป้าส่งผลประโยชน์ให้ธุรกิจครอบครัวของคณะรัฐมนตรีโดยตรงและพรรคพวก
ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการทั่วโลกสนใจคือความพัวพันระหว่างคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย กับมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และอำนาจผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นในบรรดาบริษัทมหาชน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีหรือ ส.ส.ซีกรัฐบาล ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยตั้งแต่ 2544 นักวิชาการพบว่า บริษัทที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับนักการเมืองคนสำคัญ โดยเฉพาะหากมีสมาชิกในครอบครัวดำรงตำแหน่งในรัฐบาล มูลค่าของหุ้นจะเพิ่มในอัตราสูงกว่าบริษัทที่ไม่มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง
และพบว่า หากมีส่วนแบ่งของตลาดของบริษัทนั้นในแต่ละอุตสาหกรรม จะพบว่าสัดส่วนการผูกขาดตลาด หรือการมีส่วนแบ่งตลาดของบริษัทดังกล่าว สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ไม่มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยตอบสนองการเคลื่อนไหวของบริษัทที่มีสายสัมพันธ์สูงกับนักการเมืองฟากรัฐบาล เพราะมีการดำเนินนโยบายใหม่ๆ ที่ส่งผลดีกับกำไรของบริษัท
มีการตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2544 มีหลายนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลโดยตรงกับบริษัทในตลาด ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองระดับรัฐมนตรี เช่น สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี การลดหย่อนค่าสัมปทาน การจำกัดกิจการคู่แข่งรายใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาด การชะลอนโยบายที่ส่งผลเสียต่อบริษัทเหล่านี้ เช่น การชะลอเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในบางอุตสาหกรรม การหลีกเลี่ยงนำ พ.ร.บ.ต่อต้านการผูกขาดมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความเป็นจริงคือ ครอบครัวของนักการเมืองฟากรัฐบาลที่ทำธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นนับจากปี 2544 ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากด้วยว่า ความมั่งคั่งเหล่านี้บางส่วนถูกนำมาลงทุนทางการเมือง เพื่อเพิ่มอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจของทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นักธุรกิจ
กับ นักการเมือง
นักธุรกิจขนาดใหญ่ทุกแห่งพยายามพัวพันกับการเมือง ซึ่งไม่ใช่ของใหม่เพราะนักธุรกิจต้องการให้มีนโยบายเอื้อธุรกิจของตน
แต่ปรากฏการณ์ที่เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผันตัวเป็นรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายโดยตรงเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทยและสำหรับโลก
คือมีไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นเช่นนั้น คือ อิตาลี
ดังนั้น คำถามคือหากนักการเมืองกับคณะรัฐมนตรีเป็นคนละกลุ่มกัน นักธุรกิจทำได้แต่พยายามมีอิทธิพลกับนโยบายแต่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบายโดยตรง ในมิตินี้นักการเมืองมีโอกาสเป็นอิสระหรือเป็นไทต่อตัวเองในการกำหนดนโยบายได้บ้าง ทางทฤษฎี นักการเมืองจะฟังความเห็นของเทคโนแครตหรือนักวิชาการ หรือเปิดช่องให้ประชาสังคมได้แสดงความเห็นได้บ้าง แต่ในกรณีที่นักธุรกิจเป็นรัฐมนตรีหรือมีครอบครัวทำธุรกิจในเวลาเดียวกัน เมื่อนักการเมืองกับเจ้าของธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน การแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์สาธารณะก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
ในสภาวะปัจจุบันคอร์รัปชั่นประเภทค่าเช่าจากสัมปทานดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น จากการใช้อำนาจการเมืองเอื้อประโยชน์กับนักธุรกิจบางกลุ่ม เช่น โทรคมนาคม โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่านักธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่นอกวง อาจมีความสามารถหรือประสิทธิภาพสูงกว่าแต่ถูกกันออกไป หรือถ้าเข้าตลาดได้ โอกาสที่จะเติบโตก็มีไม่เท่านักธุรกิจที่อยู่ในวงใน ผลคือนักธุรกิจวงในมีโอกาสเพิ่มการผูกขาดในตลาด และท้ายสุดผู้บริโภคจะเป็นผู้รับผลลบจากราคาที่สูงขึ้นต่อคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน
ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ การที่นักการเมืองพยายามลดต้นทุนของการคอร์รัปชั่น ซึ่งความพยายามดังกล่าวส่งผลทางลบกลับสู่สังคมและการเมือง นั่นคือปัญหาการทับซ้อนผลประโยชน์ กรณีในตะวันตกเป็นเรื่องที่เห็นอย่างชัดเจนจึงมี พ.ร.บ.การควบคุมดังกล่าว นอกจากนั้น กลไกตลาดยังทำงานได้ผล เพื่อในการลงโทษผู้ทำผิดกติกา เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริหารองค์กรโกงแล้วถูกจับได้ ตลาดหลักทรัพย์จะทำให้มูลค่าหุ้นขององค์กรเหลือศูนย์ และผู้บริหารถูกลงโทษตามกระบวนการกฎหมาย แต่ในเมืองไทย กรณีบริษัทปิคนิค ผู้เกี่ยวข้องก็ยังคงมีปิคนิคกันต่อไป
สำหรับไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการทับซ้อนผลประโยชน์เพียงพอ ดังนั้น จึงมีเพียงสื่อ ประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่พยายามทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สำหรับนักการเมือง ต้นทุนในการอยู่ในอำนาจและไม่ให้ถูกจับได้นับวันจะสูงขึ้น จึงต้องสำรองทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจเงินเอาไว้มากๆ เพื่อใช้อย่างทันการณ์
ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสื่อกับการเมืองไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร 5 ปีที่ผ่านมาสื่อวิทยุโทรทัศน์ขณะนี้ไม่มีรายการวิจารณ์การเมือง
สิ่งพิมพ์อยู่ในภาวะลำบาก ถูกคุกคามหลายรูปแบบทั้งการโฆษณา การถูกควบรวมแบบไม่เป็นมิตร
การถูกแจ้งความหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายมูลค่ามหาศาล หากย้อนกลับไปดูคดีหมิ่นประมาท
3 คดีแรก เป็นปฏิกิริยาจากข้อวิจารณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัท 3 บริษัท
ในกลุ่มธุรกิจที่โยงกับนักการเมืองเฉพาะกลุ่ม
รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้องค์กรอิสระกำกับพฤติกรรมนักการเมืองและข้าราชการ แต่ล้วนถูกกัดเซาะจนทำงานไม่ได้ผลหรือการทำงานหยุดชะงัก ตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขาดเจ้าสำนัก ป.ป.ช.ชุดที่ 2 ทำผิดกฎหมายจนถูกผลักดันให้ถอนตัว ส่วนชุดที่ 3 ยังถกเถียงกันอยู่ว่าได้รับการสรรหาอย่างโปร่งใสหรือไม่ กทช.เกิดแล้ว แต่ กสช.ยังไม่เกิด ยังเป็นเสมือนวิญญาณเวียนว่ายหาที่เกิด
ในระยะยาว กระบวนการโลกาภิวัตน์จะช่วยให้ปัญหาการทับซ้อนทางผลประโยชน์และรัฐบาลส่วนมาก จะถูกแรงกดดันจากภายนอกให้ควบคุมปัญหานี้ มิเช่นนั้นอาจถูกขู่ว่าจะไม่มาลงทุน ดังนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามผลักดันให้เกิดสถาบันที่ป้องกันปัญหาทับซ้อนผลประโยชน์ ซึ่งสหรัฐก็เพิ่งมีกฎหมายป้องกันการทับซ้อนผลประโยชน์เมื่อ 20 ปีมานี้ ดังนั้น คาดการณ์ได้เลยว่าประเทศไทยก็จะต้องก่อตั้งสถาบันลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในอีกไม่ช้า
สรุป
ธนกิจการเมืองอาจเป็นผลดีหรือไม่เป็นผลดีกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ
คือส่งผลกระทบกับการกระจายรายได้ และสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และมีผลกระทบด้านลบกับสิทธิเสรีภาพของสื่อ
การพัฒนาการไปสู่ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันในกฎหมาย การเมืองแบบไทคูนผันตัวเป็นนักการเมืองเข้ากำหนดนโยบาย
จึงกำหนดค่าเช่าและจัดสรรค่าเช่าได้โดยตรง นั่นคือ สามารถหารายได้จากการใช้อำนาจรัฐด้วยวิธีการต่างๆ
หลายวิธี แต่ยังไม่มีสถาบันเหมาะสมที่จะควบคุมกิจกรรมการแสวงหาค่าเช่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ค่าเช่าที่มีประโยชน์
และลดทอนค่าเช่าที่ไม่มีประโยชน์ ระยะสั้น 5 ปีผ่านไปแล้ว ส่วน 5 ปีข้างหน้าผลกระทบทางลบยังมาไม่ถึง
สำหรับระยะยาว สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงแน่นอน ไม่ใช่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้จะเลวลง แต่หนทางสู่ประชาธิปไตยกลับมืดมัวลงไป เมื่อนักการเมืองพยายามลดต้นทุนของการคอร์รัปชั่น โดยพยายามควบคุมกำกับสื่อ ศาลยุติธรรม องค์กรอิสระ และองค์กรประชาชนที่ผลักดันประชาธิปไตย
ทางออกสถานเดียวคือต้องสนับสนุนให้สื่อมีเสรีภาพและรับผิดชอบอย่างแท้จริง
และสนับสนุนองค์กรประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยสามารถดำเนินการไปได้
(ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์มติชน)
๒. ผาสุก
พงษ์ไพจิตร เตือน "ธนกิจการเมือง" พาชาติล่ม ชี้ทางรอดสื่อต้องเสรี
วันนี้ (7 ธ.ค.
48) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาประจำปี 2548 เรื่อง
"ธนกิจการเมือง" โดย นางผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาฯ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ธนกิจการเมือง" (Money Politics) ว่า
ธนาคารโลกได้นำข้อมูลประเทศต่างๆ มาวิเคราะห์ พบว่า ประเทศที่ระดับการคอร์รัปชัน
หรือการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจสูง มักจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ
โดยยกตัวอย่างทวีปแอฟริกาและเอเชีย
อย่างไรก็ดี นางผาสุก ระบุว่า มีงานศึกษาที่โต้แย้งบทวิเคราะห์ดังกล่าว โดยยกตัวอย่างกรณี อินโดนีเซีย ที่มีการคอร์รัปชันสูง แต่มิได้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นต่ำลง เนื่องจากในสมัยรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี ซูฮาร์โต กดค่าแรงคนงานระดับล่าง จึงหลีกเลี่ยงปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่ปัญหาที่พบ คือ การกระจายรายได้เลวลง ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น หรือในประเทศเกาหลีใต้ที่มีการคอร์รัปชันสูง แต่เศรษฐกิจเจริญเติบโตในอัตราที่น่าทึ่งมาก เกิดจากเกาหลีใต้มีรัฐพัฒนาการ ใช้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม กำกับให้เกิดค่าเช่าที่มีประโยชน์ แต่ต้องไม่ลืมว่าในเกาหลีใต้สภาวะแวดล้อมและการกระจายรายได้เลวลงอย่างมาก
"บางคนอาจจะแย้งว่า แม้จะมีคอร์รัปชันมากมายแต่ถ้าเศรษฐกิจเติบโตก็ไม่เดือดร้อน ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น หากว่ามีการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์ธุรกิจบางกลุ่มเช่น โทรคมนาคม บันเทิง อสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล สายการบิน และอื่นๆ หมายความว่านักธุรกิจอื่นที่อยู่นอกวง อาจจะมีความสามารถสูงกว่าก็จะถูกกีดกัน เข้าตลาดไม่ได้ โอกาสเติบโตไม่เท่านักธุรกิจวงในซึ่งมีโอกาสเพิ่มการผูกขาดในตลาดสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้รับผลลบ ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน" นักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ ผู้นี้ ระบุ
นางผาสุก กล่าวอีกว่า รูปแบบของการทำธุรกิจการเมืองของนักการเมืองจากอดีตกับปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก เพราะนักการเมืองต้องปรับตัวตามสถานการณ์เมื่อระบอบการเมืองเปลี่ยนไป เช่น ปี 1960 นายพลตั้งตนเป็นรัฐบาล แหล่งรายได้การคอร์รัปชัน คือ เก็บส่วยจากเอกชน เก็บค่าคอมมิชชั่นจากการซื้ออาวุธ คุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมาย แต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 เป็นจุดเริ่มต้นยุคที่ไทคูน คือ รัฐ นักการเมืองกับนักธุรกิจไม่ใช่คนละกลุ่มอีกต่อไปแต่เป็นกลุ่มเดียวกัน นักธุรกิจขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมือง ชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยม และเข้าควบคุมรัฐสภา ด้วยการควบรวมพรรคเล็กๆ
นางผาสุก ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ตั้งแต่ปี 2544 ถือเป็นการเริ่มต้นของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ถึงแม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสร้างชื่อให้ตัวเองว่าชนะการเลือกตั้ง ด้วยนโยบายประชานิยมที่ให้ประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินนโยบายที่ให้ประโยชน์กับคณะรัฐมนตรี และพรรคพวกโดยตรง และยังมีความพัวพันระหว่างการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย กับมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่เพิ่มอำนาจการผูกขาดตลาดที่มากขึ้น ของบริษัทมหาชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง รัฐมนตรี ส.ส.
นักวิชาการผู้นี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า จากการค้นคว้าพบว่า บริษัทที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง โดยเฉพาะหากมีสมาชิกของครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีตำแหน่งในรัฐบาล มูลค่าของหุ้นจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าบริษัทที่ไม่มีสายสัมพันธ์ เพราะตลาดคาดว่าจะมีการดำเนินนโยบายใหม่ๆ ที่ส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทต่างๆ และว่า ในวงวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากปี 2544 มีหลายนโยบายทางเศรษฐกิจที่ส่งผลบวกโดยตรงกับบริษัทในตลาดที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในรัฐบาล เช่น การให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี ลดหย่อนค่าสัมปทาน จำกัดคู่แข่ง หรือ หลีกเลี่ยงใช้ พ.ร.บ.ต่อต้านการผูกขาดตลาด
นางผาสุก กล่าวอีกว่า นักรัฐศาสตร์ อเมริกา พบว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองสูงมาก เป็นรองแต่ประเทศรัสเซีย เท่านั้น และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ครอบครัวของนักการเมืองฟากรัฐบาลที่ทำธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นนับจากปี 2544 มีความเป็นไปได้สูงว่าความมั่งคั่งเหล่านี้จะนำมาถูกลงทุนทางการเมือง เพื่อเพิ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิขของทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ผลกระทบที่สำคัญที่สุดของการเมืองใหม่ คือ เรื่องการที่นักการเมืองพยายามลดต้นทุนของการคอร์รัปชัน ซึ่งความพยายามดังกล่าวจะส่งสะท้อนผลทางลบกลับสู่สังคมและการเมืองไทย คือการทับซ้อนผลประโยชน์ ในต่างประเทศแม้จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่มีกฎหมายควบคุมแน่นหนา และกลไกตลาดเข้มแข็ง เมื่อมีการจับได้ว่าผู้บริหารบริษัทเอนรอน ตบแต่งบัญชี ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐลงโทษทำให้มูลค่าหุ้นเอนรอนเหลือศูนย์ แต่ในเรื่องเดียวกันเกิดขึ้นกับบริษัทปิกนิกในประเทศไทย ผู้เกี่ยวข้องยังคงมีปิกนิกกันต่อไป ลูกหนี้ก็มีปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า นักธุรกิจทุกแห่งพยายามพัวพันกับการเมือง เพราะนักธุรกิจต้องการนโยบายเอื้อธุรกิจของตน แต่หากนักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นคนละกลุ่มกัน นักธุรกิจก็ทำได้เพียงส่งแรงผลักดันไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ นักการเมืองมีโอกาสเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายได้บ้าง แต่เมื่อนักการเมืองกับนักธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน การแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากผลประโยชน์สาธารณะอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะให้ความสนใจผลประโยชน์ครอบครัวก่อนสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน
นางผาสุก กล่าวว่า เมืองไทยกฎหมายควบคุมการทับซ้อนของผลประโยชน์ ยังมีไม่เพียงพอ แต่ในระยะยาวกระบวนการโลกาภิวัตน์จะลดปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์ และรัฐบาลไทยจะถูกต่างชาติกดดันให้ก่อตั้งสถาบันป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ เช่นเดียวกับสหรัฐที่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้มาแล้ว 20 ปี ดังนั้น สังคมไทยจึงมีเพียงสื่อ และภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่ปัญหาของสื่อ วิทยุและโทรทัศน์ไม่มีรายการวิจารณ์การเมือง ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในภาวะลำบาก ถูกบีบคั้น แจ้งความ หากรัฐบาลควบคุม ปิดกั้น ข้อมูลประชาชน ก็เอาเปรียบประชาชนได้ง่ายๆ
นักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ ผู้นี้ ระบุว่า ธนกิจการเมืองอาจจะเป็นผลดีหรือไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแต่ที่แน่ๆ คือ ส่งผลกระทบทางลบต่อการกระจายรายได้ และสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และยังมีผลกระทบด้านลบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ พัฒนาการระบบประชาธิปไ ตย และความเท่าเทียมกันในกฎหมาย การมีค่าเช่าที่สมบูรณ์ การเมืองไทยตั้งแต่ 2544 ไทคูนเข้ามากำหนดนโยบาย หารายได้จากการใช้อำนาจรัฐด้วยวิธีการต่างๆ หลากหลาย แต่ยังไม่มีวิธีการเหมาะสมที่จะกำกับควบคุมกิจกรรมแสวงหาค่าเช่า เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีค่าเช่าที่มีประโยชน์และลดทอนค่าเช่าที่ไม่มีประโยชน์
"ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 5 ปี แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลกระทบทางลบยังคงมองไม่เห็น แต่ระยะยาวกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงอย่างสูงขึ้น แน่นอนไม่ใช่แต่เพียงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้จะเลวลง แต่ลู่ทางสู่ประชาธิปไตยจะมืดมัวลงไป เมื่อนักการเมืองคงพยายามลดต้นทุนการคอร์รัปชัน โดยพยายามควบคุมกำกับสื่อ ศาลสถิตยุติธรรม ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ และองค์กรประชาชน
ทางออกสถานเดียว คือ ต้องให้สื่อมีเสรีภาพและรับผิดชอบอย่างแท้จริง พร้อมทั้งสนับสนุนให้องค์กรประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยให้สามารถดำเนินการต่อไปได้" นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย
(ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เมืองไทยกฎหมายควบคุมการทับซ้อนของผลประโยชน์ ยังมีไม่เพียงพอ แต่ในระยะยาวกระบวนการโลกาภิวัตน์จะลดปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์ และรัฐบาลไทยจะถูกต่างชาติกดดันให้ก่อตั้งสถาบันป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ เช่นเดียวกับสหรัฐที่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้มาแล้ว 20 ปี ดังนั้น สังคมไทยจึงมีเพียงสื่อ และภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่ปัญหาของสื่อ วิทยุและโทรทัศน์ไม่มีรายการวิจารณ์การเมือง ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในภาวะลำบาก ถูกบีบคั้น แจ้งความ หากรัฐบาลควบคุม ปิดกั้น ข้อมูลประชาชน ก็เอาเปรียบประชาชนได้ง่ายๆ
ธนกิจการเมืองอาจจะเป็นผลดีหรือไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือ ส่งผลกระทบทางลบต่อการกระจายรายได้ และสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ