นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร


The Midnight University

การศึกษานิติศาสตร์ไทย
Legal Pluralism
กับอนาคตวิชาการนิติศาสตร์ไทย

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เป็นข้อเขียนของ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล
ซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเคยนำเสนอบทถอดเทปแล้วในเรื่องเดียวกัน
สนใจคลิกไปอ่านบทความดังกล่าวได้จากที่นี่


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 769
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)




Legal Pluralism

Legal Pluralism กับ อนาคตวิชาการนิติศาสตร์ไทย


บทนำ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และครบรอบ 14 ปีของการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ จึงสมควรที่จะทำการตรวจสอบถึงสถานะภาพขององค์ความรู้ในทางวิชาการในระดับสถาบัน เพื่อที่ชี้ให้องค์กรหรือสถาบันในทางวิชาการได้เห็นหรือเห็นแนวโน้มที่จะต้องเตรียมตัวดำเนินการประการหนึ่งประการใดที่สมควรกับการเป็นสถาบันหรือองค์กรในทางวิชาการอีกต่อไป

ส่วนหนึ่งขององค์กรทางวิชาการที่ขาดเสียมิได้และใช้เป็นจุดเด่นหรือจุดขายในทางวิชาการก็คือ ระบบฐานข้อมูล ความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆอย่างมีพลัง เรียกรวมๆว่า จะต้องเป็นองค์กรหรือสถาบันที่ต้องมีความสามารถอย่างดีเยี่ยมในเชิงของการจัดการความรู้ (K M. Knowledge Management) ในด้านต่างๆ

และในฐานะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่น หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ตัวแทนในทางวิชาของภูมิภาคหรือของท้องถิ่นที่น่าจะมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับภูมิภาคหรือท้องถิ่นมากที่สุดและดีที่สุด และในโอกาส 40 ปีการหันมาทบทวนบทบาทกับสิ่งที่ได้กระทำโดยผิดพลาดไปก็ดี การหันกลับมาให้ความสำคัญกับประเด็นหรือเรื่องราวต่างๆที่ยังไม่ได้ทำ รวมถึงสิ่งที่ควรจะต้องทำเมื่อมองต่อไปในอนาคตแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (รวมถึงสถาบันวิชาการในภูมิภาคอื่นๆด้วย) ที่จะต้องกระทำเพื่อให้สมกับระดับของความเป็นวิชาการ

ความเป็นวิชาการของนิติศาสตร์ไทย และสภาพปัญหา?
มีคำถามมากมายต่อความเป็นวิชาการของนิติศาสตร์ไทย ประเด็นหลักของคำถามมีอยู่หลายประการดังต่อไปนี้

1. กระบวนการเรียน- การสอนกฎหมายของประเทศไทยมีลักษณะเป็นศาสตร์หรือไม่
2. กฎหมายที่นำมาสอนมาเรียนกันนั้นมีความเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับสังคมไทยมากน้อยเพียงใด
3. วิธีการที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้นเป็นวิธีการที่สอนให้ผู้เรียนสามารถที่จะเข้าใจความเป็นธรรมซึ่งเป็นรากฐานของกฎมาย และเห็นถึงโลกในความเป็นจริงของสังคมที่ไม่เป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด


4. ได้มีการพัฒนาวิธีคิดที่เรียกว่านิติวิธีที่สามารถอธิบาย หรือตอบคำถามใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง บ้างหรือไม่

5. มีงานวิจัยหรืองานวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับสนับสนุนกระบวนการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด

6. มีวัฒนธรรมทางวิชาการที่เชื่อมกับสังคมวงกว้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

หลังจากได้พิจารณาคำถามหลักในหกประการดังกล่าวแล้ว ถ้าตอบอย่างใจเป็นกลางตรงไปตรงมาแล้วเราจะเห็นได้ว่า ระดับของความเป็นศาสตร์มีอยู่ค่อนข้างน้อยและมีข้อจำกัด และอาจจะไม่ทันกาลในสัดส่วนที่สถาบันการศึกษาผลิตผู้สำเร็จการศึกษาออกมาในลักษณะที่เป็นปริมาณมากๆ ซึ่งอันที่จริงในปัญหานี้มีการพูดคุยถกเถียงกันเป็นระยะๆในวงวิชาการนิติศาสตร์ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ค่อยที่จะได้รับความสนใจเท่าที่ควร ไม่ว่าจะในระดับนโยบายหรือในระดับสถาบันที่เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์

และที่เป็นข้อสังเกตในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและของเอกชนเร่งเปิดหลักสูตรนิติศาสตร์กันมากขึ้น ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จนน่าจะเป็นประเด็นในอนาคตของการคิดถึงประเด็นทางกฎหมายสำหรับสังคมไทย ที่มีผู้ผ่านการเรียนกฎหมายมากมาย แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เหมือนจำนวนคนที่เรียนกฎหมาย (ในทางตรงกันข้าม ความเหลือเฟือทางด้านอุปทานของผู้ที่จบทางด้านกฎหมาย น่าที่จะมีแนวโน้มที่จะผลักให้ความขัดแย้งมีสูงยิ่งขึ้น หากไม่หาหนทางที่จะทำให้ผู้ที่จบทางกฎหมายเห็นทางออกของความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องลงท้ายด้วยการฟ้องคดีเท่านั้น)

อันที่จริงมีความพยายามที่จะผลักดันให้วงวิชาการนิติศาสตร์ในสังคมไทย ยกระดับความเป็นศาสตร์ ความเป็นวิชาการให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่จะมีความเป็นเทคนิคในการใช้เล่ห์เหลี่ยมช่องว่างในทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว

ความพยายามที่จะยกระดับความเป็นวิชาการหรือความเป็นศาสตร์ในทางกฎหมาย (หรือถ้าจะให้เข้าใจในความหมายทั่วๆไปก็คือ ความสามารถในการที่จะอธิบายหรือทำให้เราเข้าใจความจริงเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของสังคมไทยและสังคมอื่นๆ) นั้น เห็นได้จากในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนทางนิติศาสตร์ ได้พยายามที่จะให้ความสำคัญกับแนวคิดทฤษฎีในทางกฎหมาย มีการให้ความสำคัญกับการวิจัยในทางกฎหมายมากขึ้น

มีความพยายามที่จะเสนอแนะหรือผลักดันให้วงการวิชาการนิติศาสตร์ สามารถที่จะนำเอากระบวนการในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ในแนวทางอื่นๆมาเป็นเครื่องมือ และวิธีการในการศึกษาหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น แต่ก็มีปัญหาที่ส่งผลกระทบสืบเนื่องมา ทั้งในแง่ที่เป็นข้อถกเถียงทางทฤษฎีที่นำมาใช้ และในเชิงความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความสอดคล้องกับสภาพทาง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่หลากหลายหรือไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความขาดแคลนลักษณะความเป็นวิชาการของวงการนิติศาสตร์ไทย ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการถกเถียงในเชิงรากฐานทางปรัชญาและวิธีคิดในทางกฎหมายเสียเลย ยังพอที่จะมีประเด็นที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปพัฒนาในกระบวนการเรียนการสอนต่อไปได้ ซึ่งจะขอยกเป็นกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างประเด็นปัญหาที่จะชี้ให้เห็นดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 ประเด็นปัญหาทางวิชาการที่ว่าด้วยกระบวนการคิด หรือที่เรียกในวงการกฎหมายที่รู้จักคำๆนี้อยู่บ้างแต่ไม่มากคือ คำว่า "นิติวิธี" (legal Methodology) ในประเด็นนี้มีการให้ความสำคัญน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการมีตำราหรือเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่มากนัก เช่น

- มีปรากฏอยู่ในหนังสือ คู่มือการศึกษากฎหมายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักกฎหมายทั่วไปตามคำสอน ของ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ สมยศ เชื้อไทย [1]
- มีปรากฏในหนังสือ "ความเป็นมา และหลักการใช้นิติวิธีในระบบซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์" ของ ผ.ศ. ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ [2]
- มีปรากฏอยู่ในหนังสือ "กฎหมายมหาชน เล่มที่ 1 : วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ" ของ
ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ[3]

ที่พยายามอธิบายความหมายคำว่านิติวิธีว่าคืออะไร ซึ่งนิติวิธีควรที่จะต้องเป็นประเด็นหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเรียนการสอนนิติศาสตร์ แต่การเรียนการสอนปัจจุบันแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนนี้เลย

ตัวอย่างที่ 2 เป็นประเด็นในเชิงเนื้อหาของแนวคิดทฤษฎีที่วางรากฐานความคิดในทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในกรณีที่มีการศึกษาในทางกฎหมาย (ที่มีการอธิบายแนวคิดทางทฤษฎีประกอบ) มักจะเริ่มต้นกันที่ แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยรัฐ อำนาจรัฐ หน้าที่ของรัฐ

แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยสิทธิ (ของปัจเจก) แนวคิดว่าด้วยนิติรัฐ เป็นหลัก การเน้นหนักในทางทฤษฎีทางด้านนี้มากเกินไปโดยไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีแนวคิดอื่นๆที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความคิดหลักที่ครอบงำความคิดของนักกฎหมายที่เป็นผลผลิตที่เกิดจากการเรียนการสอนภายใต้ปัญหาทางแนวคิดทฤษฎีเช่นนี้คือเป็นนักกฎหมายที่นิยมรัฐหรือพึ่งพิงกับอำนาจรัฐ โดยไม่เห็นถึงข้อจำกัดหรือผลในทางลบของอำนาจรัฐ หรือเน้นให้ต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐผ่านทางเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเกินไป

ตัวอย่างหลักวิชาการที่อิงในทฤษฎีว่าด้วยรัฐได้แก่ กลุ่มกฎหมายอาญา กลุ่มกฎหมายมหาชน กลุ่มกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทั้งหลาย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงบทบาทของภาครัฐทั้งสิ้น

และในทางตรงกันข้าม แนวคิดที่มีการเรียนการสอนในกฎหมายเอกชน ที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานาน อาทิเช่น แนวคิดเรื่อง สิทธิ-เสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน สิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีรากฐานความคิดมาจากการคุ้มครองสิทธิของขุนนาง และพ่อค้า ให้เป็นผู้มีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันเป็นที่มาของรากฐานของระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยม ตัวอย่างกลุ่มวิชาที่อิงแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจก ได้แก่

กลุ่มกฎหมายเอกชน ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับอิทธิพลทางแนวคิดของกฎหมายมหาชน ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของหลักกฎหมายเอกชน ที่เข้ามามีบทบาทมากเกิน ไม่ยอมรับหรือเปิดกว้างสำหรับกลุ่มชนอื่นๆ ที่มีอยู่จริงๆ ในโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งเท่ากับยอมรับให้ความไม่เท่าเทียมในทางโครงสร้างดำรงอยู่ต่อไป โดยมีกฎหมายเอกชนเป็นหลักประกันของโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม และคงสภาพที่ไม่เป็นธรรมไว้ต่อไป

ดังนั้น เมื่อเป้าหมายของหลักสูตรนิติศาสตร์ซึ่งมีอยู่ 2 ระดับคือ

- เป้าหมายแรกที่ต้องการที่จะสอนให้ผู้เรียนทราบถึงว่า กฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไรบ้าง (What the law is ?) และ
- กฎหมายที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร ( What the law should to be ?)

หากกระบวนการในการเรียนการสอนรวมถึงเนื้อหา ไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบกันว่า ได้ให้ความสำคัญกับวิธีคิดหรือนิติวิธีบ้างหรือไม่ ไม่ได้ติดตามประเมินความเหมาะสมในเชิงทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานว่ายังเพียงพอหรือสอดคล้องกับสภาพทาง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมไทยในแต่ละช่วงเวลามากน้อยเพียงใด การที่จะสร้างนักกฎหมายให้บรรลุถึงเป้าหมายทั้งสองก็เป็นการยาก

ในขณะเดียวกัน นอกจากการมีหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นการไม่เพียงพอ สถาบันที่จัดการเรียนการสอน ยังคงมีภารกิจอีกอย่างที่ต้องทำคือ การศึกษาค้นคว้าวิจัยในทางกฎหมาย เพื่อป้อนกลับเข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอน หรือเพื่อตอบคำถามต่อสังคม ถ้าหากไม่ได้มีการติดตามประเมินทั้งสองส่วน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่าง หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน องค์กร / สถาบันที่จัดการเรียนการสอน กับสังคม

ภายในวงการวิชาการนิติศาสตร์ไทยเองก็ทราบถึงสภาพข้อจำกัดเช่นนี้

วิชาการนิติศาสตร์ไทยจะออกจากสภาพวังวนเช่นนี้อย่างไร
วังวนเช่นนี้เป็นวังวนที่เกิดในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทย แต่ถ้าหากเราเชื่อในการเลียน และศึกษาบทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ประสบการณ์ดังกล่าวน่าที่จะช่วยให้เราได้เห็นลู่ทาง ที่สามารถจะนำมาปรับใช้สำหรับกรณีปัญหาของเราได้ อย่างน้อยๆ ก็ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่นำไปสู่การหาทางออกจากวังวน

ในวงวิชาการนิติศาสตร์ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นต้นแบบของระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลหรือระบบคอมมอนลอว์ ต่างก็มีขบวนการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการในด้านต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะแต่นักวิชาการทางกฎหมายเท่านั้น ที่พยายามแสวงหาทางออกใหม่ๆ ให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยกระทำผ่านกิจกรรมทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การประชุมสัมมนา หรือไปถึงขนาดพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักวิชา

เท่าที่เป็นประสบการณ์ของวงวิชาการของกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีการพัฒนาเป็นการศึกษาในด้านต่างๆ นอกจากจะมีแนวการศึกษาในทางนิติศาสตร์โดยแท้แล้ว ยังมีแนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในแนวกฎหมายเปรียบเทียบ แนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย(Legal History Study) ข้อเท็จจริงในทางสังคมวิทยาทางกฎหมาย(Legal Sociology) และข้อเท็จจริงในทางมานุษยวิทยาทางกฎหมาย (Legal Anthropology)

และภายใต้แนวทางการศึกษาเหล่านี้ ก็ทำให้มีการพัฒนาวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ในทางกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย เช่น แนวคิดแบบพหุนิยมทางกฎหมาย (Legal Pluralism) แนวคิดแบบกฎหมายสังคม(Law and Society) แนวคิดแบบนิติศาสตร์แนววิพากษ์ (Critical Jurisprudence) แนวคิดแบบกฎหมายกับการพัฒนา(Law and Development) ฯลฯ

แนวทางการศึกษาทางนิติศาสตร์แนวใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาดังที่กล่าวข้างต้น ต่างมีพัฒนาการที่มุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ในบางครั้งก็เสริมกัน แต่ในบ้างครั้งดูจะเป็นความขัดแย้งกัน ดังนั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของรากฐานความคิดในแต่ละแนวโดยสังเขป เพื่อเป็นฐานข้อมูลในเชิงประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาแนวคิด Legal Pluralism สำหรับในวงวิชาการกฎหมายไทย เพื่อสบัดให้หลุดไปจากวังวนของความไม่รู้ วังวนแห่งความคับแคบ วังวนของการรักษาหรือคงสถานภาพเหนือคนอื่นๆ ผ่านทางกฎหมาย จึงขอเสนอาพแนวทางการศึกษากฎหมายดังต่อไปนี้

แนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในแนวกฎหมายเปรียบเทียบ
ความพยายามทางวิชาการในทางกฎหมายที่จะเข้าใจกฎหมายที่ใช้อยู่ในสังคม วัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ กระทำด้วยการศึกษาเรียนรู้ในเชิงเปรียบเทียบ หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายเปรียบเทียบ (Comparative Law) การเปรียบเทียบกฎหมายเป็นการศึกษาระบบของกฎหมายที่ใช้อยู่ในสังคมอื่นๆ เพื่อต้องการประโยชน์ที่จะนำเอาสิ่งที่ได้จากการเปรียบเทียบนั้นมาปรับใช้ หรือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พัฒนาการทางความคิดของกฎหมายเปรียบเทียบนี้ อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง

แนวทางแรก เป็นการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนนิติบัญญัติ (Legislative comparative law) ซึ่งจะมีลักษณะที่เป็นการเปรียบเทียบ เพื่อเป้าหมายของการแสวงหาแนวทางที่จะนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาในทางกฎหมายที่ไม่สามารถจะแก้ได้โดยกฎหมายที่มีอยู่เดิม จึงแสวงหาแนวทางใหม่ๆที่หยิบยืมจากสังคมหรือประเทศหรือจากระบบกฎหมายอื่นๆ ซึ่งได้ทำกันมาเป็นเวลานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป

แนวทางที่สอง เป็นการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในฐานะที่เป็น สาขาวิชาหนึ่งในการศึกษากฎหมาย (Scholarly comparative law) กฎหมายเปรียบเทียบในฐานะสาขาวิชาหนึ่งในทางกฎหมายนี้ เริ่มต้นในกลางศตวรรษที่ 19 และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปเช่นกัน

พัฒนาการของวิชากฎหมายเปรียบเทียบนี้ไปไกลถึงขั้นที่สามารถที่จะสร้างนิติวิธีในทางกฎหมายเปรียบเทียบขึ้นมาต่างหาก จินตนาการหนึ่งที่เป็นความต้องการของนักกฎหมายเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงนักกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งในประเทศยุโรป แต่เป็นนักกฎหมายเปรียบเทียบ คือ

หวังว่า สักวันหนึ่งสังคมมนุษย์ที่มีความแตกต่างทั้งทางวัฒนธรรม พัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการมีกฎระเบียบที่หลากหลายสามารถที่จะลดความแตกต่างเหล่านั้นลงได้ ด้วยการมีกฎหมายที่ใช้ร่วมกันของมนุษยชาติ (common law of mankind, world law)[4] โดยวิชากฎหมายเปรียบเทียบสามารถเปลี่ยนความแตกต่างดังกล่าว และนักกฎหมายเปรียบเทียบจะช่วยกันสร้างกฎหมายดังกล่าวขึ้น

ร่องรอยของความคิดที่จะสร้างหรือมีกฎหมายสากลที่สามารถใช้ร่วมกันได้เราอาจจะเห็นได้จากพยายามที่จะมีการจัดทำ และบังคับใช้กฎหมายแพ่งสากล (Uni - Droit) ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และในกรณีล่าสุดได้แก่ กรณีของความพยายามที่จะจัดทำ และผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และอยู่ในระหว่างการลงประชามติเพื่อให้การรับรอง เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ร่วมกันในสหภาพยุโรป เป็นต้น

ในความพยายามเช่นนี้ของการเคลื่อนไหวทางวิชาการ เป็นการมุ่งไปในทางการมีระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับเดียว เป็นส่วนหนึ่งของระบบคิดแบบรวมศูนย์ (Centralism) เป็นส่วนหนึ่งของระบบคิดแบบ ปฎิฐานนิยม (positivism) ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวทางแบบพหุนิยม (Pluralism) ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับแนวทางที่ Legal Pluralism มุ่งจะทำ (ดังจะได้กล่าวต่อไป )

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในแนวกฎหมายเปรียบเทียบ สำหรับในประเทศไทย พอที่จะเริ่มมีการเรียนการสอนในวิชานี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท การศึกษาในเชิงการเปรียบเทียบจะเป็นช่องทางประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้หลุดพ้นไปจากคำถามและแนวทางการศึกษาแบบเดิมๆ ที่ไม่เพียงพอสำหรับคำถามหรือปัญหาที่ปรากฏขึ้นใหม่ๆ

แนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริง
การศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริง ไม่ถูกนับว่าเป็นวิธีการศึกษานิติศาสตร์แท้ๆ แบ่งออกได้เป็น 3 ด้านดังต่อไปนี้คือ

- การศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย ( Legal History Study)
- การศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงในทางสังคมวิทยาทางกฎหมาย ( Legal Sociology )
- การศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงในทางมานุษยวิทยาทางกฎหมาย ( Legal Anthropology)

การที่ระบบกฎหมายใดๆสามารถที่จะพัฒนาแนวทางในการจัดการความรู้(KM)ขึ้นมา ดังตัวอย่างที่ระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ในตะวันตก ได้พัฒนาการจัดการความรู้ดังข้างต้นทั้ง 3 แนว ถ้าจะตีความหรือวิเคราะห์แนวทางตามที่ได้ยกให้เห็นเป็นตัวอย่างดังกล่าว เพื่อเป็นกรณีศึกษา เราสามารถที่จะสะท้อนและเปรียบเทียบกับวงวิชาการนิติศาสตร์ไทย ได้ดังนี้

ประการแรก การมีแนวทางการศึกษาหลายๆแนวทางดังกล่าว เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามที่เป็นทั้งการวิเคราะห์ ประเมินผลการทำงานของระบบกฎหมายในระบบเดิม และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ได้คิดว่ากฎหมายของรัฐเท่านั้นที่จะตอบตำถามต่างๆได้

ประการที่สอง
มีความพยายามที่จะทำให้เกิดการบรูณาการของเครื่องมือ ในการแสวงหาความรู้ของศาสตร์ต่างๆ เข้าหากันอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกันสำหรับวงวิชาการไทยคือ คำว่า Interdisciplinary แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางกฎหมาย กลไกของรัฐ
ความพยายามในการบรูณาการดังที่กล่าวมานี้กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ เป็นการใช้แนวทางในการพัฒนาระบบการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ โดยตั้งอยู่บนกระบวนการแสวงหาความรู้ที่อิงอยู่กับแนวทางของปรัชญาประยุกต์ เพื่อแสวงหาความจริงอย่างเป็นองค์รวม รอบด้าน เพื่อเสนอแนวทางที่เป็นทางออกที่ดีกว่า

และที่สำคัญก็คือ กระบวนการแสวงหาความรู้ดังกล่าวมีปฏิบัติการจริงๆร่วมไปกับสังคม ไม่ได้ตัดขาดไปจากสังคม มีการทำงานทางการศึกษาค้นคว้าร่วมกับหน่วยงานในภาครัฐ และองค์กรพัฒนาต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการมีกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การมีงานสัมมนา การมีเวทีแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการในวงกว้าง มีการเผยแพร่ความคิดข้อค้นพบต่างๆมากมาย มีการหยิบเอางานทางวิชาการไปใช้อย่างจริงจัง

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ใช่หรือไม่ที่ทำให้ระบบกฎหมายของประเทศที่เรียกได้ว่าพัฒนาแล้ว เป็นระบบกฎหมายที่สามารถให้คำตอบและดำรงคงอยู่คู่กับสังคมได้ เพราะมีทางเลือก ทางออกในทางกฎหมายที่สร้างสรรขึ้นด้วยกระบวนการในการจัดการความรู้ โดยแนวทางและวิธีการที่มีพลังในการทำความเข้าใจ หรือคาดการณ์ปรากฏการณ์ต่างๆทั้งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งที่กำลังเป็นปัญหา และแนวโน้มที่กำลังจะมาถึง ได้อย่างมีพลังมีเหตุมีผล หรือใกล้ความจริงมากที่สุด และแนวคิดต่างๆที่พัฒนาขึ้นมาก็สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงบางส่วนของทั้งสามแนวทางที่จะช่วยให้สามารถเข้าใจพัฒนาการของ Legal Pluralism

แนวคิดที่ว่าด้วยการศึกษากฎหมายในเชิง Legal Pluralism เป็นแนวคิดที่ต่อยอดและแตกสาขามาจาก แนวทางการศึกษากฎหมายในเชิงข้อเท็จจริงทางมานุษยวิทยา ซึ่งเริ่มมีการศึกษาในแนวทางนี้ตั้งแต่ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1860 เป็นต้นมา แต่ในการศึกษาในยุคแรกนี้เป็นการศึกษากฎหมายในเชิงมานุษยวิทยา ที่เข้าไปศึกษาว่า ในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกฎหมายแบบตะวันตก ชนเผ่าพื้นเมืองเดิมสามารถที่จะดำรงอยู่ได้อย่างไร และใช้กฎหมายอะไร

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อคำถามเป็นเช่นนี้ แนวทางของการศึกษาจึงไม่ใช่การไปดูกฎหมายที่เป็นทางการของภาครัฐ หากแต่ต้องลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงๆ ซึ่งยังไม่เคยมีงานศึกษาใดดำเนินการมาก่อน เพราะเป็นแนวทางใหม่ ในทางกฎหมายเองก็เป็นแนวทางที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในทางแนวความคิด ทฤษฎีที่ใช้ วิธีการศึกษา ประชากรที่ศึกษา ซึ่งทำให้พบความหลากหลาย ความซับซ้อนของลำดับของการบังคับใช้กฎหมาย สถาบันต่างๆที่เข้ามาทำหน้าที่ในการระงับข้อพิพาท ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมักจะอยู่นอกระบบของรัฐที่เป็นทางการ

ความสลับซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้นักมานุษยวิทยาทางกฎหมาย ต้องพยายามในการทำความเข้าใจหรือหาคำตอบ และวิธีการที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของการที่มนุษย์ดำรงอยู่ได้ ภายใต้กฎกติกาและวิธีการระงับความขัดแย้งที่หลากหลายนั้น สามารถที่จะอธิบายได้ด้วยแนวคิด Legal Pluralism ซึ่งเท่ากับเป็นการเสนอว่าในความเป็นจริงมันมีการใช้กฎกติกาต่างๆ อยู่มากมาย ไม่ได้มีเฉพาะกฎหมายของรัฐเท่านั้น

ดังนั้นกฎหมาย กฎ กติกาต่างๆที่มีใช้อยู่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร มีวิธีการเงื่อนไขในการใช้อย่างไร และมีผลอย่างไร จึงเป็นความสนใจอย่างหนึ่งของนักมานุษยวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักมานุษยวิทยาทางกฎหมาย โดยแนวคิดนี้เพิ่งที่จะเริ่มเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1970 และภายหลังจากนั้น นักวิจัยทางด้านมานุษยวิทยาทางกฎหมายก็ได้ขยายขอบเขตของการศึกษา และพัฒนา ทั้งในทางแนวคิดทฤษฎีที่จะใช้ในการอธิบาย และข้อมูลเชิงประจักษ์ ออกไปอย่างกว้างขวาง

โดยไม่ได้ยึดติดกับการที่จะต้องศึกษาหรือให้ความสนใจแต่ประเทศที่ตกอยู่ในภาวะที่เป็นอาณานิคมประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาในประเทศอุตสาหกรรมด้วย อีกทั้งยังได้ขยายการศึกษาวิจัยออกไปในทางด้านระหว่างประเทศ และในประเด็นของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงในระยะหลังได้ขยายขอบเขตการศึกษาออกไปโดยติดตามศึกษาผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ด้วยเช่นกัน[5]

แม้ Legal Pluralism จะเป็นสาขาที่แตกมาจากแนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงในทางมานุษยวิทยาทางกฎหมาย แต่จากกระบวนการทำงานในทางด้านนี้ มีข้อสังเกตว่ามีการนำเอาแนวทางการศึกษานิติศาสตร์ในแนวทางอื่น (เช่น กฎหมายเปรียบเทียบ การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ทางกฎหมาย และแนวทางอื่นๆ )เข้ามาร่วมในการศึกษาด้วย

นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันแนวการศึกษาในแนวทาง Legal Pluralism นี้ ได้ขยายหรือแพร่หลายออกไปยังพื้นที่ต่างๆมากมาย อาทิเช่น ในยุโรปแทบจะเรียกได้ว่า Legal Pluralism เป็นสิ่งที่รู้จักแพร่หลาย ในทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีจุดเริ่ม และจุดเน้น หรือแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย

Legal Pluralism สามารถสะท้อนสถานะวิชาการของนิติศาสตร์ไทยได้อย่างไรบ้าง?
ประการแรก หากแนวทางที่ Legal Pluralism ใช้เป็นแนวทางในเชิงการบรูณาการศาสตร์ทั้งหลายเข้ามา เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ แนวทางของ Legal Pluralism จะช่วยทำให้ วงการนิติศาสตร์ไทย สามารถมีระบบข้อมูลในทางกฎหมายอย่างน้อยๆข้อมูลที่สำคัญ จำเป็น ที่ทันสมัย และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ สะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทย ที่สามารถบอกแนวโน้มอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันวงการนิติศาสตร์ไทยไม่มีข้อมูลกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดของราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ควรจะนำเอาแนวทาง Legal Pluralism มาพัฒนาระบบฐานข้อมูลทางกฎหมายเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ควรที่จะรีบเร่งต้องดำเนินการคือ

1. ข้อมูลในเชิงมานุษวิทยาทางกฎหมายทั้งหมดของ ทั้งชุมชนในเขตเมือง และชนบท
2. ข้อมูลเกี่ยวกับบรรดากฎระเบียบต่างๆที่มีลักษณะเป็นกฎหมายท้องถิ่น ที่เคยมีการบังคับใชู่จนถึงปัจจุบันนี้ ว่ามีอยู่อย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องของประชาชน ชุมชน โดยทั่ว ๆ ไป รวมถึงบรรดากฎระเบียบต่างๆในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางการค้าขายต่างๆ ด้วย
3. ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่างๆ นอกระบบทางการที่เป็นของรัฐ

ประการที่สอง แนวทาง Legal Pluralism จะช่วยทำให้วงวิชาการนิติศาสตร์ไทย ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและมีข้อมูลที่เป็นชุดที่เกี่ยวกับสังคมไทย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการที่จะพัฒนาแนวความคิด ทฤษฎี ข้อเสนอ ทางออกที่ปฏิบัติได้จริง

ประการที่สาม แนวทาง Legal Pluralism จะเป็นการช่วยต่อยอดให้ในส่วนของนิติศาสตร์แนวดั่งเดิมกระแสหลัก ให้มีความทันสมัย ให้สามารถที่จะผลักดัน สานข้อเสนอของแนวทางการแก้ไขปัญหาเดิมๆของวงการนิติศาสตร์ต่อให้เป็นจริงขึ้น

อาทิ เช่น ข้อเสนอของแนวทางการพัฒนาของกลุ่มนักกฎหมายมหาชน ที่ต้องการจะผลักดันเรื่อง นิติรัฐ ซึ่งหากสามารถทำให้สังคมได้รับรู้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับสังคมไทยอย่างแท้จริง จับต้องได้ มีรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดี (รวมถึงรูปแบบที่เป็นบทเรียนของความล้มเหลว) มีเวทีของการสร้างสำนึกของความเป็นธรรมในแง่มุมอื่น ที่ไม่ใช่เริ่มจากตัวบทกฎหมายของรัฐ ก็จะช่วยทำให้แนวทางข้อเสนอนั้น สามารถที่จะปฏิบัติได้เป็นจริงยิ่งขึ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การจะมีนิติรัฐได้นั้น จะต้องช่วยกันสร้าง เงื่อนไขทางสังคม แนวทางที่กลุ่มกฎหมายมหาชนเสนอนั้น เป็นการเสนอบนกรอบความคิดเชิงโครงสร้าง ที่เน้นโครงสร้างรัฐระดับบน แต่การจะนำเอาแนวทางดังกล่าวไปสู่ภาคการปฏิบัติจะต้องใช้กรอบคิดในลักษณะที่เป็นในเชิง Micro และตั้งอยู่บนความเป็นพหุนิยม ต้องไม่เริ่มจากความเป็นรูปแบบที่เป็นทางการ ต้องไม่ใช่และไม่ใช้ระบบกฎหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องทิ้งมายาคติทางกฎหมายที่ว่า กฎหมายเดี่ยวสำหรับทุกๆคน( One Law for All ) แต่จะต้องเป็นกฎหมายในระบบพหุนิติสังคมรัฐ หรือ Legal Pluralism Socio-State

ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของวิธีคิดของนิติศาสตร์กระแสหลักแนวดั่งเดิมที่ชัดที่สุด คือ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในการนำรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ ซึ่งยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ Legal Pluralism ซึ่งมิได้มีจำกัดแต่ในทางด้านกฎหมายมหาชน หรือมิติทางด้านสังคมเท่านั้น ในทางกฎหมายเอกชนเอง ในทางกฎหมายระหว่างประเทศก็นำแนวทาง Legal Pluralism ไปใช้ด้วย ในกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องปรกติในระบบกฎหมายต่างประเทศ [6] ดังที่เป็นที่รู้จักกันในนามของอนุญาโตตุลาการ หรือในแนวทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่กำลังใช้อยู่จริงๆในสังคมไทยในเวลานี้

ทางเลือกของวงวิชานิติศาสตร์ไทย
ข้อที่น่าสงสัยในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการศึกษานิติศาสตร์ ออกจะสงสัยอยู่ในทีว่า วงวิชาการนิติศาสตร์ไทยเคยมีโอกาสได้เลือกทางเดินจริงๆจังๆบ้างหรือไม่ หรือในบางจังหวะที่พอจะกระทำได้ ก็ไม่ได้ใช้จังหวะดังกล่าวให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่าในส่วนของสถาบันการศึกษา ไม่ค่อยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรนิติศาสตร์มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมาก โดยสิ่งที่เรียกกันว่า "ความรู้" ( ? ) เดิมๆในทางกฎหมายไม่สามารถที่จะให้ทางออกกับปัญหาเหล่านั้นแก่สังคมได้

สภาพปัจจุบันของนิติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน คือไม่มีความเป็นศาสตร์พอที่จะสามารถอธิบายสังคมไทยในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ ความไร้รากทางสังคมในเชิงกฎหมาย การปฎิเสธข้อมูลที่เป็นรากฐานจริงๆของชุมชน ที่ไม่ได้อยู่ในสารบบของทางราชการสร้างขึ้น หรือปฎิเสธไม่รับเอาข้อมูลที่ไม่เข้ากับสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นิติศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยระบบอำนาจของกฎเกณฑ์ของสังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นการศึกษาการใช้อำนาจในการตัดตีนให้เข้ากับเกือก เพราะชุดความรู้ที่เรียกว่านิติศาสตร์นั้นปฎิเสธความเป็นอยู่ที่เป็นอยู่จริงๆของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ความเป็นธรรมจึงมีได้เฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้นักกฎหมายเป็นคนที่คอยชี้ว่า อะไรเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม และมีกลไกที่คอยกดขี่บังคับให้ประชาชนยอมรับ

นับวันสภาพเช่นนี้เมื่อพลังของประชาชนเติบโตขึ้น การเข้าถึงข้อมูลต่างๆและการหยิบยกเอาข้อมูลมาใช้มีมากขึ้น สภาพเช่นนี้จะยิ่งทำให้นิติศาสตร์ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ถูกท้าทายมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นหากนิติศาสตร์ไม่พัฒนา ไม่สามารถที่จะให้คำตอบที่มีเหตุมีผล ไม่สามารถที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้แล้ว ความชอบธรรมที่จะเป็นศาสตร์ก็จะไม่เหลืออีกต่อไป

ในปัจจุบันระบบกระบวนการยุติธรรมภายใต้กระแส การปฎิรูปการเมือง ที่นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรที่ใช้อำนาจทางกฎหมายเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปฎิรูประบบราชการ พร้อมทั้งการมีบทบัญญัติหลายๆฉบับที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ก็ดี หน่วยงานก็ดี จะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ในการทำงาน ปรับรูปแบบ วิธีการในการปฎิบัติราชการ

ซึ่งหมายความว่าความคิดในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฎิบัติงานจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยไม่สามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทัน จึงทำให้ส่วนราชการต่างๆพยายามที่จะหาวิธีในการปรับองค์กรความรู้ ซึ่งวงวิชาการนิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยหรือในเชิงสถาบันแทบจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ยกเว้นบางส่วนของบุคคลกร ดังจะเห็นได้จากกรณีการก่อตั้งสถาบันพระปกเกล้า การสร้างหลักสูตรอบรมความรู้กฎหมายมหาชนชั้นสูง การสร้างหลักสูตรระยะสั้นสำหรับกฎหมายบางเรื่องที่สำคัญๆ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน ในภาคประชาชนก็หลุดพ้นจากความกลัวอำนาจตามกฎหมาย ที่ตนเองรู้สึกว่าไม่มีเหตุผลที่ดีพอ หรือไม่มีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นในทางด้านบทบัญญัติกฎหมาย ดังที่มีปรากฏการณ์ให้เห็นในรูปของการลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าอาจจะโดยกระบวนการยุติธรรมภายใต้อำนาจนิยมเข้าจัดการ เช่นในกรณีของผู้นำการเรียกร้องทั้งหลาย มักจะโดนดำเนินคดีในข้อหาเล็กๆน้อยๆ เพื่อทำการข่มขู่ให้ยุติบทบาทหรือสร้างความไม่ชอบธรรมแก่การเรียกร้องดังกล่าว[7] ผลที่ตามมาก็คือมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นแหล่งขององค์ความรู้ทางกฎหมายอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังที่ได้กล่าวมาข้าง ได้สะท้อนให้เห็นนัยที่สำคัญประการหนึ่งในทางวิชาการ กล่าวคือ เริ่มที่จะมีความหลากหลายของแหล่งความรู้ในทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ความรู้ทางกฎหมายไม่ได้มีมาจากแหล่งเดียว และมีผลต่อไปในแง่ที่ว่ากระบวนการในการให้เหตุผลก็ดี การบังคับใช้กฎหมายก็ดี มีระบบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าระบบที่เป็นมาแต่เดิม ความหลากหลายทั้งแหล่งความคิด ความหลากหลายของกระบวนการที่เหมาะสมในการใช้อำนาจที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ความหลากหลายเช่นนี้เป็นรากฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายที่เรียกว่า Legal Pluralism

เมื่อมาถึงเวลานี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอายุครบ 40 ปี สาขาวิชานิติศาสตร์ มีอายุครบ 13 ปี ในขณะที่มีสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเปิดสอนทางนิติศาสตร์ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคมีอยู่มากมาย รวมทั้งที่เป็นของเอกชนและของรัฐ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก การเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณของสถาบันเช่นนี้ โดยไม่มีการมาทบทวนทิศทาง จุดเน้น ว่าจะไปทางไหน เพื่อประโยชน์ของประชาชนกลุ่มไหน(นอกจากประโยชน์ในรูปของเงินที่สถาบันการศึกษาที่ได้รับไปแล้วในขณะนี้) และที่สำคัญก็คือ องค์ความรู้ทางนิติศาสาตร์ทั้งที่เป็นของไทยและสากลที่เป็นรากฐานสำคัญของสถาบันที่ทำหน้าที่ในการจัดการความรู้เป็นความรู้ที่เหมาะสม สอดคล้อง และสามารถที่จะแก้ปัญหาสำคัญๆของสังคมไทยและของมนุษยชาติ ได้หรือไม่ อย่างไร เป็นประเด็นชวนให้วงนิติศาสตร์ไทยช่วยกันคิด

บรรณานุกรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ, ความเป็นมา และหลักการใช้นิติวิธีในระบบซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2546.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่มที่ 1 : วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2536.

ปรีดี เกษมทรัพย์ , สมยศ เชื้อไทย, คู่มือการศึกษากฎหมายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักกฎหมายทั่วไปตามคำสอน สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2534.

ไพสิฐ พาณิชย์กุล, กฎหมายกับการเบียดบังคนจน, สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่www.geocities.com/midnightuniv/

ไพสิฐ พาณิชย์กุล , คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ,เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องแนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน ,กระทรวงยุติธรรม และเนติบัณฑิตยสภา โดยการสนับสนุนนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) , 2546

Outline of Research Programme Project Group "Legal Pluralism" at the Max Planck Institute for Social Anthropology, Halle/Saale April 2002.

Peter De Cruz, Comparative Law in a Changing World, Cavendish Publishing Limited, The Glass House, Wharton Street, London , 1995.

Robert Wolfe "See you in Geneva? Pluralism and centralism in legal representations of the trading system" School of Policy Studies , Queen's University, Kingston, Ontario ( April 2004)

--------------------------------------------------------

เชิงอรรถ
[1]ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ , สมยศ เชื้อไทย คู่มือการศึกษากฎหมายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักกฎหมายทั่วไปตามคำสอน สำนักพิมพ์ประกายพรึก 2534
[2]ผ.ศ. ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ "ความเป็นมา และหลักการใช้นิติวิธีในระบบซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์วิญญูชน ( 2546 )

[3] ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ "กฎหมายมหาชน เล่มที่ 1 : วิวัฒนาการทางปรัชญาและ
ลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ" คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์ นิติธรรม ( 2536 )
[4] Peter De Cruz " Comparative Law in a Changing World " Cavendish Publishing Limited, The Glass House , Wharton Street, London , 1995 (P. 12-15 )

[5]Outline of Research Programme Project Group "Legal Pluralism" at the Max Planck Institute for Social Anthropology, Halle/Saale April 2002
[6] Robert Wolfe "See you in Geneva? Pluralism and centralism in legal representations of the trading system" School of Policy Studies , Queen's University, Kingston, Ontario ( April 2004)

[7] โปรดดูรายละเอียด " กฎหมายกับการเบียดบังคนจน " ไพสิฐ พาณิชย์กุล สาขาวิชานิคิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน www.geocities.com/midnightuniv/
หรือ ใน " คนจนภายใต้กฎหมาย " เอกสารประกอบการสัมมนา " แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน" จัดโดยกระทรวงยุติธรรม และเนติบัณฑิตยสภา โดยการสนับสนุนนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) 2 ก.ค. 2546


 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

แนวคิดที่ว่าด้วยการศึกษากฎหมายในเชิง Legal Pluralism เป็นแนวคิดที่ต่อยอดและแตกสาขามาจาก แนวทางการศึกษากฎหมายในเชิงข้อเท็จจริงทางมานุษยวิทยา ซึ่งเริ่มมีการศึกษาในแนวทางนี้ตั้งแต่ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1860 เป็นต้นมา แต่ในการศึกษาในยุคแรกนี้เป็นการศึกษากฎหมายในเชิงมานุษยวิทยา ที่เข้าไปศึกษาว่า ในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกฎหมายแบบตะวันตก ชนเผ่าพื้นเมืองเดิมสามารถที่จะดำรงอยู่ได้อย่างไร และใช้กฎหมายอะไร

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อคำถามเป็นเช่นนี้ แนวทางของการศึกษาจึงไม่ใช่การไปดูกฎหมายที่เป็นทางการของภาครัฐ หากแต่ต้องลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงๆ ซึ่งยังไม่เคยมีงานศึกษาใดดำเนินการมาก่อน เพราะเป็นแนวทางใหม่ (คัดลอกมาจากบทความ)

R
related topic
081248
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง