นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร


The Midnight University

บทวิเคราะห์เรื่องประโยชน์ของความรุนแรง
อ่านให้ทะลุเหตุการณ์จลาจลวัยรุ่นในฝรั่งเศส
ณรุจน์ วศินปิยมงคล
วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเหตุ
บทความนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
ความรุนแรงและความหมาย: ในบริบทของการจลาจลในฝรั่งเศส


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 768
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)




French riot policemen

ความรุนแรงและความหมาย: ในบริบทของการจลาจลในฝรั่งเศส (1)


บทเริ่มต้น
น้อยคนนักที่จะคิดว่าการเสียชีวิตไปของวัยรุ่น 2 สองคนที่ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อย (Minority) ในเขตยากจน (Clichy-sous-Bois) ชานกรุงปารีสจะกลายมาเป็นชนวนให้เกิดความโกลาหล (Chaos) ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในหลายทศวรรษที่ผานมา ในงานเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนจะนำเสนอการวิเคราะห์การจลาจลในฝรั่งเศสที่กลายมาเป็นความรุนแรงในมุมของ ลูอิส โคเซอร์ (Lewis A. Coser) นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันซึ่งมีมุมมองไปในแนวทางทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) (2) ที่เสนอทฤษฎีหน้าที่ในทางสังคมของความรุนแรง (Social Functions of Violence)

โคเซอร์ได้เสนอแนวความคิดว่าความรุนแรง (Violence) ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นปัญหาและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แท้ที่จริงแล้วมีหน้าที่ (Function) ที่สำคัญยิ่งในทุกสังคม ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า นักทฤษฎีในแนวขัดแย้งนี้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลง (Change) เป็นสิ่งปกติ (Normal) และไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา (Undesirable) แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Radical Change) ก็ตาม

ในงานเขียนของโคเซอร์ เขายกตัวอย่างการมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นของคนที่เคยถูกปฏิเสธความเท่ากัน (เช่น คนผิวสี) ก่อนจะเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ในยุคทศวรรษที่ 1960 - 70 ในสหรัฐฯ ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนของสถาบันหลักของหลายๆสังคมทั่วโลกทีเดียว

ในทัศนะของโคเซอร์ ความรุนแรงมีหน้าที่ในทางสังคมดังต่อไปนี้

1) เป็นเครื่องมือหรือเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Road to Achievement)
2) แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงอาจเป็นสัญญาณเตือน (Warning Signal) ว่ากำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสังคม
3) การใช้ความรุนแรงอาจนำมาซึ่งความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียว (Solidarity) ของกลุ่มหรือชุมชน

ความรุนแรง: ถนนสู่ความสำเร็จ
หน้าที่แรกของความรุนแรงในสังคม น่าจะเป็นสิ่งที่กลุ่มราชการโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทหารไทยบางกลุ่มในอดีตเข้าใจในประสิทธิภาพดี นั่นก็คือ การใช้ความรุนแรงในการเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และสำหรับผู้มีอำนาจเหล่านี้ความสำเร็จก็คือ "อำนาจ" ที่มากขึ้นและเด็จขาด และนี่คือลักษณะการใช้ความรุนแรงของผู้ที่เข้มแข็ง (The Strong)

แต่การใช้ความรุนแรงของผู้ที่อ่อนแอ (The Weak) เป้าหมายของการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นอำนาจ แต่บางครั้งเป็นแค่ การเรียกร้อง (Demand) การประท้วง (Protest) การแสดงความไม่เห็นด้วย (Disagreement) หรือการอยากให้สังคมรับรู้ (Recognition) ในจลาจลในฝรั่งเศส เป้าหมายของผู้เข้าร่วมชุมนุมมีหลายอย่างแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้อง การประท้วง และการอยากให้สังคมรับรู้ปัญหาของผู้ที่มีส่วนในการก่อความรุนแรงในครั้งนี้

หากถามว่าผู้ที่มีส่วนในการจลาจลที่ฝรั่งเศสในครั้งนี้ต้องการอะไร?

- ซิลล่า (Sylla) 18 (ตัวเลขหมายถึงอายุ) บอกว่า "พวกเราเผา (รถนับพันคัน) เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ (ข้อเรียกร้องของพวกเรา - ผู้เขียน) เป็นที่ได้ยิน"(3)
- เอชบี (HB) 17 ที่มีพ่อแม่มาจากแอลจีเรียให้สัมภาษณ์ว่า "พวกเขา (ตำรวจ) กำลังท้าทายพวกเราโดยการก่อกวนพวกเราซะอย่างนั้นเอง พวกเราจะไม่หยุดจนกว่าซาร์โคซี่ (รมว. มหาดไทย) จะลาออก"(4)
- เด็กผู้หญิงชาวมุสลิมคนหนึ่งบอกว่า "พวกเราแค่อยากให้พวกเขา (ตำรวจ, รัฐ) หยุดโกหกได้แล้ว ยอมรับมาเลยพวกเขาได้ทำมันและขอโทษพวกเราด้วย"(5)

เนื่องจากหน้าที่แรกของความรุนแรงนี้ มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ที่สองของการใช้ความรุนแรงในสังคม ผู้เขียนจึงคิดว่า สมควรอยู่ที่จะเริ่มถกถึงหน้าที่ในทางสังคมอันที่สองของความรุนแรง ซึ่งกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงนั้น สะท้อนถึงความไม่เป็นปกติหรือปัญหาในสังคม

ความรุนแรง: สัญญาณเตือนภัย
หน้าที่ที่สองของความรุนแรงในทางสังคมตามแนวทางของโคเซอร์คือ แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสังคม หากการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงสะท้อนปัญหาบางอย่างของสังคมจริง การใช้ความรุนแรงในการจลาจลของฝรั่งเศสสะท้อนถึงอะไร? นักสังคมวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส อลัน ทูเรน ได้ทำนายไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 แล้วว่าฝรั่งเศสจะต้องเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้น(6) แต่ปัญหามันติดอยู่ที่ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้นเอง ปัญหาที่ส่งผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นของชนกลุ่มน้อยในฝรั่งเศสมีหลายอย่าง และเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนพอสมควร

ชาวฝรั่งเศสที่เป็นชนกลุ่มน้อยนี้ ส่วนใหญ่มีรากเหง้าหรืออพยพมาจากประเทศอาหรับ หรือประเทศในแถบแอฟริกาตอนเหนือที่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เช่น ประเทศแอลจีเรีย โมร็อกโก หรือตูนิเซีย ซึ่งมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรฝรั่งเศสทั้งหมด(7) หรือ ประมาณ 7 ล้านคน ในขณะที่ในประเทศสหรัฐฯที่มีการใช้กฎหมายที่เรียกว่า Affirmative Action ที่มุ่งจะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น ของประชากรต่างสีผิวและต่างเพศ ผ่านกฎหมาย ระเบียบ และความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งจากรัฐและเอกชน ประเทศฝรั่งเศสกลับเข้าไปจัดการกับผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อยโดยใช้หลักการที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการปกครอง ซึ่งเกิดมาพร้อมๆกับการเกิดของรัฐหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 คือ การที่รัฐบาลฝรั่งเศสถือว่าทุกคนในฝรั่งเศสเป็นคนฝรั่งเศส ไม่ว่าจะมาจากไหน ผิวสี หรือ ศาสนาอะไร คนฝรั่งเศสทุกคนมีความเป็นคนฝรั่งเศส (French-ness) เท่าๆกัน(8)

ในขณะที่หลักการตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในหลักประชาธิปไตยแบบถึงแก่น ที่ฟังแล้วน่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง มันกลับปฏิเสธความเป็นจริงในสังคมไปอย่างน่าเสียดาย การที่รัฐไม่จัดเก็บข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ทำให้ภาพความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนกลุ่มนี้ ไม่ปรากฏอย่างประจักษ์(9) และการส่งเสริมกลุ่มชนในทางชาติพันธุ์ (Ethnic Groups) ที่ด้อยโอกาสให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองก็เป็นไปอย่างจำกัดภายใต้หลักการนี้

การกีดกันทางสีผิวและเชื้อชาติในสังคมฝรั่งเศส ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ชาวฝรั่งเศสกลุ่มนี้ประสบปัญหาอย่างมากในการหางาน ชาวอาหรับที่ยังใช้ชื่อที่ยังคงเค้าของบรรพบุรุษตนไว้ จะประสบปัญหานี้มากในตอนสมัครงาน ใบสมัครที่มีชื่อเหล่านี้อยู่จะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เมื่อถามวัยรุ่นที่เข้าร่วมการจลาจลคนหนึ่งถึงเรื่องงาน เขาเล่าว่า "งานก็พอจะมีอยู่หรอกนะที่สนามบินและที่โรงงานของซีตรอง แต่ถ้าคุณชื่อว่าโมฮัมเมด … นั่นเหรอ อย่างลองไปสมัครเลยดีกว่า"(10)

แม้ฝรั่งเศสจะมีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีมากและให้บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และบ้านพักให้กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้และคนยากจน แต่ใช่ว่าความรู้สึกไม่พอใจต่อสังคมโดยส่วนรวมนั้นจะน้อยลงไป ในทางการเมือง คนกลุ่มนี้อาจจะเรียกว่าเป็นพวกประชาชนชั้นสอง (Second-class Citizen) หรือพลเมืองชั้นล่างสุด (Underclass) เลยก็ว่าได้ และการที่คนไม่มีงานทำนั้นใช่ว่าจะเกี่ยวข้องเพียงแค่เรื่องปากเรื่องท้องอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงการมีความมั่นใจ (Self-confidence) และเคารพในตัวเอง (Self-esteem) และการมีพื้นที่ในสังคม (Social Position) ระดับกว้างอีกด้วย นอกจากนั้น การที่ชาวมุสลิมจำนวนมากกลุ่มนี้ไม่สามารถหางานทำได้ ก็เริ่มหันเข้าหาศาสนามากขึ้น ซึ่งก็ทำให้รัฐเริ่มมีความกังวลในแนวโน้มของคนกลุ่มนี้มากในระยะหลัง (11)

ความระแวงในศาสนาอิสลามโดยปกติก็จะพอมีอยู่แล้วในสังคมชาวคริสต์ เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่เคยต่อสู้กันมา แต่ความกังวลนี้เริ่มมีมากขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 และความระแวงนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่มีการก่อการร้ายในหลายๆประเทศในยุโรป ทำให้เริ่มมีความเข้มงวดในการเข้าไปตรวจสอบประชาชนกลุ่มนี้ จากการรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ตำรวจท้องถิ่นที่ความรับผิดชอบดูแลประชาชนตามเขตชานเมืองกลุ่มนี้ที่เป็นเขตยากจน มักจะเป็น พวกที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีอุปกรณ์ที่พร้อม และยังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ซึ่งทำให้ตำรวจกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มที่อย่างดีก็เรียกว่าซุ่มซ่าม หรืออย่างเลวก็เรียกว่าเหยียดผิวเลยก็ได้(12)

และก็เป็นที่รู้กันของคนที่อาศัยในละแวกนี้ว่าพฤติกรรมของตำรวจเหล่านี้นั้นมีปัญหาขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นหรือจับกุมอย่างไม่มีเหตุผล การข่มขู่ ก่อกวน และหากใครโดนจับก็อาจจะต้องถูกกักอยู่ที่โรงพักหลายชั่วโมงทีเดียวหากไม่พบหลักฐาน สิ่งนี้ทำให้ผู้คนกลุ่มนี้มีความเกลียดชังตำรวจท้องถิ่นมาก

นอกจากนั้น การที่รัฐยอมให้มีการขยายของชุมชนแออัด (Ghettoization) ตามชานเมืองอย่างกว้างขวางที่เป็นศูนย์รวมของ คนกลุ่มน้อย (Ethnic Minority) คนจน (Poor) ตกงาน (Unemployed) ที่มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์(13) ซึ่งคิดแล้วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 เท่า(14) การเข้าไปอยู่รวมกันของประชาชนจำนวนมากที่มีสภาพย่ำแย่เช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการผลักคนที่มีความไม่พอใจในสิ่งเดียวมาไว้รวมกัน ซึ่งก็คือรัฐที่เป็นตัวแทนของสังคมฝรั่งเศสโดยรวมนั่นเอง

ที่ทำให้แย่ไปกว่านั้นคือ ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของคนที่อยู่ในชุมชนเหล่านี้อายุต่ำกว่า 20(15) ที่เป็นลูกหลานรุ่นที่ 2 หรือ 3 ของผู้อพยพมาจากประเทศอาหรับหรือแอฟริกา ลูกหลานของชาวฝรั่งเศสกลุ่มนี้ ต้องเผชิญปัญหาไม่น้อยไปกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเลย แม้หลายๆคนจะได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนแบบฝรั่งเศส แต่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบสังคมฝรั่งเศสได้เต็มตัว ในขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขายังมีสายใยและความผูกพันกับประเทศแม่ของตนอยู่ วัยรุ่นพวกนี้กลับไม่อาจหาชาติพันธุ์ของตัวเองอย่างชัดเจน วัยรุ่นคนหนึ่งบอกว่า "ผมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสอย่างที่เป็นของซาร์โคซี่ (รมว. มหาดไทย) หรือนายกเทศมนตรีที่ผมไม่เคยเห็น แต่พอผมได้กลับไปเยี่ยมหมู่บ้านของพ่อแม่ผมในแอลจีเรีย ผมก็ไม่รู้สึกว่านั่นเป็นบ้านของผมเช่นกัน"(16)

นี่คือหนึ่งในหลายๆตัวอย่างของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่อาจหาอัตลักษณ์ของตัวได้ ปัญหาเรื่ออัตลักษณ์ของวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็เลยกลายมาเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ในการระเบิดความโกรธกริ้วออกมาอย่างรุนแรงหลังจากที่วัยรุ่น 2 คน ซาเยด เบนนา 17 (Zyed Benna) ที่มีเชื้อสายตูนีเซียและโบนา ทราวเร่ 15 (Bouna Traore) ที่เกิดในมอริทาเนียถูกไฟช๊อตจนเสียชีวิต และเชื่อกันว่าเหตุนั้นเป็นเพราะการที่วัยรุ่นทั้ง 2 คนนี้พยายามจะหลบตำรวจท้องถิ่นที่คอยก่อกวนเด็กๆเหล่านี้เป็นประจำ

ปัญหาและสภาพเหล่านี้เองที่ผสมผสานทำให้เกิดความรู้สึกอัดอั้น กดดันและไม่พอใจตำรวจ รัฐ และสังคมฝรั่งเศสโดยรวมที่ไม่ให้ความสนใจกับปัญหาต่างๆที่ชนกลุ่มน้อยพวกนี้ประสบ การจลาจลที่เริ่มจากชานกรุงปารีส จึงขยายไปยังเมืองต่างๆที่ประสบปัญหาเดียวกันอย่ารวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง

ความรุนแรง: การสร้างความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียว
หน้าที่ที่สามทางสังคมของความรุนแรงที่โคเซอร์เสนอไว้คือ การใช้ความรุนแรงอาจนำมาซึ่งความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียว (Solidarity) ของกลุ่มหรือชุมชน ในกรณีที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสนี้ ความรุนแรงที่ถูกใช้โดยรัฐผ่านตำรวจ ทั้งที่เป็นความรุนแรงแบบที่ใช้กำลัง (Physical Violence) เช่นการจับกุม ข่มขู่ ต่างๆนานา หรือการใช้กำลังผ่านระบบหรือโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม (Structural Violence) เช่น การตรวจค้นแบบไม่มีเหตุผล การแสดงความประพฤติในแนวเหยียดสีผิวหรือศาสนา และการปฏิเสธความเท่ากันทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐต่อสังคมโดยรวม และนี่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้มีชะตากรรมร่วมกัน

ความรู้สึกความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ รมว. มหาดไทยในพรรคฝ่ายขวาร่วมรัฐบาล นายนิโคลาส ซาร์โคซี่ (Nicolas Sarkozy)(17) ออกมากล่าวในแนวดูถูกเหยียดหยามผู้ออกมาประท้วงด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เขาเรียกผู้ออกมาชุมนุมว่า พวกสวะสังคม (Scum) พวกพยาธิที่น่ารังเกียจ (Vermin)(18) ความรุนแรงในทางคำพูด (Verbal Violence) ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังตอกย้ำความแตกต่างระหว่างสังคมของชนกลุ่มน้อยและสังคมของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

คำให้สัมภาษณ์ของวัยรุ่นคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกตรงนี้ดี "เขา (ซาร์โคซี่ ) น่าจะไปตายซะ (Fuck himself) … พวกเราไม่ใช่ตัวเชื้อโรค เขาบอกว่าเขาอยากจะจัดการกับพวกเรา เขาท้าทายเราในทีวี เขาควรจะบอกว่าเสียใจที่ได้ดูถูกดูแคลนพวกเรา แต่ตอนนี้มันสายไปแล้วล่ะ"(19)

สุดท้าย ความรุนแรงในการปราบปรามที่ผู้ก่อการจลาจลอย่างรุนแรงและขาดความรอบคอบ ก็เป็นอีกชนวนที่ทำให้ความรุนแรงนั้นขยายตัว เช่น การโยนแก๊สน้ำตาเข้ามัสยิดแห่งหนึ่ง (จะเป็นไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) ก็ทำให้ความขัดแย้งขยายวงไปสู่กรอบของศาสนาด้วย และปัจจัยเหล่านี้เอง ก็ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ในแถบชุมชนยากจนตามเมืองต่างๆในฝรั่งเศส

ความรุนแรง: ปัจจัยเสริม
นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยอยู่หลายหลายอย่างที่ทำให้การจลาจลในท้องถิ่นกลายมาเป็นความรุนแรงในระดับชาติ

อย่างแรกคือเชื้อเพลิงนี้ได้รับการหมักหมมมานานมากโดยไม่มีความพยายามจะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างที่สอง
การสื่อสารที่รวดเร็วฉับไวในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้ข้อมูลข่าวสารการจลาจลกระจายไปอย่างรวดเร็ว ผ่าน SMS ห้องแช๊ต เว๊ปไซต์และวีดีโอคลิ๊ป(20)

อย่างที่สาม
การจัดการที่หละหลวมของตำรวจในช่วงแรกๆที่เริ่มมีการใช้ความรุนแรง ทางฝ่ายรัฐนั้นไม่คิดว่าความรุนแรงดังกล่าว จะขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพราะก่อนที่จะเกิดการจลาจลในครั้งนี้ ในช่วงปีเดียวกัน ในฝรั่งเศสก็มีรถถูกเผาไม่ต่ำกว่า 80 คันต่อวัน(21)

อย่างที่สี่ การจลาจลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยากจะปราบปรามเพราะ การออกปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง มักจะไม่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆหรือให้สัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งว่า จะมีเหตุเกิดขึ้นที่ใด แต่จะออกปฏิบัติการเป็นกลุ่มเล็กๆที่เคลื่อนที่เร็วเหมือนการรบแบบกองโจร และจะออกก่อเหตุตามสถานที่ต่างๆที่ไม่มีการวางแผนกันก่อนล่วงหน้า(22)

สุดท้าย ต้องยกเครดิตให้กับ นายนิโคลาส ซาร์โคซี่ ที่ราดน้ำมันลงบนกองเพลิงที่มันลุกโชนอยู่แล้ว ให้มันลามทุ่งมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการออกมากล่าวในแนวดูถูกเหยียดหยามผู้ออกมาประท้วง ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ส่งท้าย
หากวิเคราะห์การใช้ความรุนแรงในการจลาจลในประเทศฝรั่งเศสในมุมมองของโคเซอร์ข้างต้น จะเห็นว่าความรุนแรงจะมีหน้าที่ในทางสังคมอยู่ 3 อย่าง

อย่างแรก ความรุนแรงถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเขตชานเมืองในฝรั่งเศสที่ต้องการให้สังคมรับรู้ปัญหาที่ตนประสบอยู่

อย่างที่สอง
การใช้ความรุนแรงในครั้งนี้รวมถึงก่อนหน้านี้ของชนกลุ่มน้อยที่มาจากแอฟริกาเหนือและประเทศอาหรับ สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายๆอย่างที่มันทับซ้อนกันอยู่ในนโยบาย หลักการ และสภาพสังคมของฝรั่งเศส

อย่างที่สาม
การใช้ความรุนแรงของรัฐผ่านตำรวจท้องถิ่น นำมาซึ่งความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มและชุมชนที่ประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งต่อมากลับก่อให้เกิดความรู้สึกที่ต่อต้านจนกลายมาเป็นความรุนแรงในที่สุด
ความรุนแรงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมใดๆก็ตาม แต่มันก็มีหน้าที่ในสังคมที่สำคัญมาก เฉกเช่นเดียวกับความตายที่ไม่มีใครพึงปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัวหรือคนที่ตัวเองรัก แต่ความตายนั้นกลับมีหน้าที่ที่สำคัญยิ่งในทางสังคมและชีววิทยา ในทางสังคม ความตายนั้นเป็นการสร้างความสมดุลและความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ส่วนในทางชีววิทยา หากไม่มีใครตายแล้วนี่ ไม่นานมนุษย์ก็คงล้นโลก และจะไปเบียดเบียนสัตว์โลกชนิดอื่นอย่างที่เราเริ่มจะทำอยู่ในปัจจุบันนี้

นอกจากนั้น หลายๆครั้ง ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล หาได้เกิดมาจากความบังเอิญไม่ ดังนั้น การเกิดของความรุนแรงจึงมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นเองจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพิจารณา หาใช่ที่ตัวความรุนแรงไม่ ความรุนแรงนั้นหากเปรียบไปแล้วเป็นเหมือนความเจ็บปวดที่มนุษย์ต้องเผชิญ หากร่างกายไม่ปกติ เช่น หากนาย ก. ปวดฟัน ความเจ็บปวดก็จะทำหน้าที่บอกนาย ก. ว่าตอนนี้ฟันของนาย ก. ไม่ปกติแล้ว หากนาย ก. ต้องการจะรักษา นาย ก. ต้องไปหาหมอฟันและถอนหรืออุดฟันซี่นั้นเสีย หาใช่การกินยาแก้ปวดฟันอย่างเดียวไม่ ดังนั้น ความเจ็บปวด แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็มีประโยชน์ เพราะหาก นาย ก. ไม่ปวดฟัน นาย ก. ก็คงไม่รู้ว่าตัวเองฟันผุ และหากปล่อยไปอาการก็อาจแย่และลุกลามไปมากกว่านั้น

ฉันใดฉันนั้น การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในสังคม จะสะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาในสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่การจะไปแก้ที่คนก่อความรุนแรงอย่างเดียวนั้น ก็เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุและปล่อยให้ต้นเหตุจริงๆของปัญหายังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ดีที่สุด นอกจากจะต้องระงับความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้มันขยายออกไปในวงกว้าง และเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังต้องมีการทำความเข้าใจไปถึงรากเหง้าและต้นตอของปัญหา และแก้ไขกันที่ตรงนั้น เพราะการดับไฟย่อมต้องดับแต่ต้นลม แต่หากการแก้ปัญหามุ่งแค่การจัดการกับเหตุความรุนแรงรายวันที่เป็นปลายของปัญหาแล้ว ไม่ช้าความรุนแรงที่มากขึ้นหรืออยู่ในรูปแบบใหม่ก็จะตามมา และคำว่าสันติก็คงไม่มีความหมายใดๆในโลกแห่งความเป็นจริง

หากจะย้อนกลับมาดูที่เมืองไทยบ้าง บางคนก็อาจจะพบว่า จริงๆแล้วยังมีคำถามหนึ่งที่ยังค้างคาใจสังคมอยู่ นั่นคือ รัฐบาลชุดนี้กำลังแก้ปัญหาที่ "ต้นตอ" ของปัญหาหรือไม่? นั่นคือ ต้นตอของความไม่พอใจ ความไม่เข้าใจ หรือความไม่เชื่อใจในรัฐไทย ของพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแค่กำลังตามกวาดล้างผู้ก่อความรุนแรงที่จริงๆแล้ว เป็นแค่ปลายเหตุของปัญหากันแน่?

(21 พฤศจิกายน 2548)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นในระว่างวันที่ 10 - 13 พ.ย. 2548
(2) หากพิจารณางานของโคเซอร์แล้ว ผู้อ่านจะเห็นว่างานของเขามีปัจจัย (Element) บางอย่างที่มาจากทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural-functional Theory) อย่างไรก็ตาม การเน้นที่การวิเคราะห์ไปในแนวทางขัดแย้งก็ยังถือว่าเป็นแนวทางหลักของเขา
(3) Henley, Jon. 2548. "We Hate France and France Hates Us," The Guardian UK. 9 พ.ย. ที่ http://www.guardian.co.uk
/france/story/0,,1637213,00.html. ดูเมื่อ 10 พ.ย. 2548
(4) Smith, Alex Duval. 2548 "We're not Germs or Louts. Sarkozy Should've Said Sorry," The Guardian UK. 6 พ.ย. ที่
http://www.guardian.co.uk/france/story/0,11882,1635468,00.html. ดูเมื่อ 10 พ.ย. 2548
(5) Bouteldja, Naima. 2548. "Explosion in the Suburbs," The Guardian UK. 7 พ.ย. ที่ http://www.guardian.co.uk/
comment/story/0,,1635795,00.html. ดูเมื่อ 10 พ.ย. 2548

(6) เพิ่งอ้าง
(7) Bennhold, Katrin. 2548. "Suburban Officers Criticized as Insensitive to Racism," The New York Times. 8 พ.ย. ที่ http://www.nytimes.com/2005/11/08/international/europe/08police.html?pagewanted=print. ดูเมื่อ 11 พ.ย. 2548
(8) Henley, Jon. 2548. "Founding Principle Called into Question," The Guardian UK. 8 พ.ย. ที่ http://www.guardian.co.uk/france/story/0,11882,1636671,00.html. ดูเมื่อ 10 พ.ย. 2548
(9) เพิ่งอ้าง
(10) Smith, Alex Duval. อ้างแล้ว

(11) Smith, Craig S. 2548. "Inside French Housing Project, Feelings of Being the Outsiders," The New York Times. 9 พ.ย. ที่ http://www.nytimes.com/2005/11/09/international/europe/09projects.html?pagewanted=print. ดูเมื่อ 11 พ.ย. 2548
(12) Landler, Mark และ Smith, Craig S. 2548. "French Officials Try to Ease Fear as Crisis Swells," The New York Times. 8 พ.ย. ที่ http://www.nytimes.com/2005/11/08/international/europe/08france.html?hp=&pagewanted=print. ดูเมื่อ 11 พ.ย. 2548
(13) Bouteldja, Naima. อ้างแล้ว
(14) Smith, Craig S. 2548. "France Has an Underclass, but Its Roots Are Still Shallow," The New York Times. 6 พ.ย. ที่ http://www.nytimes.com/2005/11/06/weekinreview/06smith.html?fta=y&pagewanted=print. ดูเมื่อ 11 พ.ย. 2548

(15) Bouteldja, Naima. อ้างแล้ว
(16) Smith, Alex Duval. อ้างแล้ว
(17) หลายคนเชื่อว่าการออกมาแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวครั้งนี้ ซาร์โคซี่ทำเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากฝ่ายขวาและพวกที่ต่อต้านการอพยพเข้ามาของคนกลุ่มน้อยในฝรั่งเศสในการฟาดฟันตำแหน่งประธานาธิบดีอนาคตกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นายโดมินิก วิลเลปิน (Dominique Villepin)
(18) Bouteldja, Naima. อ้างแล้ว
(19) Smith, Alex Duval. อ้างแล้ว
(20) Crampton, Thomas. 2548. "Two Teenagers From French Housing Projects Inspired Riots," The New York Times. 6 พ.ย. ที่ http://www.nytimes.com/2005/11/06/international/europe/06cnd-family.html?fta=y&pagewanted=print. ดูเมื่อ 11 พ.ย. 2548

(21) Landler, Mark และ Smith, Craig S. อ้างแล้ว
(22) Bennhold, Katrin. อ้างแล้ว

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ความรู้สึกความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ รมว. มหาดไทยในพรรคฝ่ายขวาร่วมรัฐบาล นายนิโคลาส ซาร์โคซี่ ออกมากล่าวในแนวดูถูกเหยียดหยามผู้ออกมาประท้วง ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เขาเรียกผู้ออกมาชุมนุมว่า พวกสวะสังคม พวกพยาธิที่น่ารังเกียจ (Vermin) ความรุนแรงในทางคำพูด ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังตอกย้ำความแตกต่างระหว่างสังคมของชนกลุ่มน้อยและสังคมของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

คำให้สัมภาษณ์ของวัยรุ่นคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกตรงนี้ดี "เขาน่าจะไปตายซะ (Fuck himself) พวกเราไม่ใช่ตัวเชื้อโรค เขาบอกว่าเขาอยากจะจัดการกับพวกเรา เขาท้าทายเราในทีวี เขาควรจะบอกว่าเสียใจที่ได้ดูถูกดูแคลนพวกเรา แต่ตอนนี้มันสายไปแล้วล่ะ"

R
related topic
071248
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง