นานาสาระจากปากของนักวิชาการอาวุโส
พูดกันคนละเรื่อง
- เอกภาพทางความคิด
เสน่ห์
จามริก
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประเวศ วะสี
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
นิธิ เอียวศรีวงศ์
อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
บทความนี้รวบรวมมาจากปาฐกถามและบทความต่างๆ
ซึ่งนักวิชาการอาวุโสทั้งหลาย
ได้นำเสนอในที่ต่างๆ ประกอบด้วย
๑. เสน่ห์ จามริก
: หมดเวลาตั้งคำถาม คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ ?
๒. ประเวศ วะสี : ดับไฟใต้ สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ ร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม
๓. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาตินิยมในโลกาภิวัตน์
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 767
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)
๑. เสน่ห์
จามริก : หมดเวลาตั้งคำถาม คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ ?
เมื่อวันที่
1 ธันวาคมที่ผ่านมา ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ได้เดินทางมาให้กำลังใจแก่ขบวนธรรมชาติยาตรา ที่เดินเท้ามาถึงที่วัดเกาะแก้ว
ต.จอมทอง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งออกเดินเท้ามาตั้งแต่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2548 เป็นต้นมา โดยตั้งจิตปณิธานว่าจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ
เพื่อรณรงค์ให้คนทั้งประเทศเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาป่าผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่
ไม่แต่เฉพาะชุมชนเท่านั้นที่จะร่วมดูแลรักษา หากแต่คนทั้งประเทศก็สามารถมีส่วนช่วยกันปกปักรักษาป่าชุมชนด้วย
โดยตั้งจิตภาวนาให้กฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชนเป็นรูปร่าง ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
ศ.เสน่ห์ได้กล่าวปาฐกถาเพื่อให้กำลังแก่ขบวนธรรมชาติยาตราในครั้งนี้ด้วย พร้อมกับเน้นย้ำว่า ป่าชุมชนคือแหล่งทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่จะต้องรักษาไว้ ที่คนทั้งประเทศจะต้องร่วมมือร่วมใจรักษาไว้ ไม่แต่เฉพาะเพื่อรักษาอดีตไว้เท่านั้น แต่หากหมายถึงการรักษาไว้เพื่ออนาคตของคนทั้งประเทศด้วย
เสน่ห์
จามริก
ผมได้รับคำเชิญให้มาร่วมงานธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนคนทั้งประเทศ และผมได้อ่านข้อแถลงเหตุผลในการที่เรามาร่วมธรรมชาติยาตราตรงนี้
มีคำหนึ่งที่ผมติดใจ แล้วก็รู้สึกสบายใจที่บอกว่าการคิดเรื่องป่าชุมชน ไม่ใช่เรื่องของคนในชุมชน
แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ตรงนี้ผมว่าเป็นหลักคิดที่เป็นคุณูปการอย่างสูง
เป็นจุดที่จะทำให้เกิดแนวทางที่มีความถูกต้องชอบธรรม และน่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนับสนุนร่วมมือของคนในวงกว้างต่อไปอีก
ปัจจุบันพอเราพูดถึงทุน เรามักจะนึกถึงเงิน แต่ต้นทุนของชุมชน คือ ภูมิปัญญา เป็นจิตวิญญาณและความรู้สึกนึกคิดร่วมกันที่จะอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรที่เป็นต้นทุนชีวิต ถือเป็นต้นทุนชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วประเทศและคนทั้งโลกด้วย ป่าของประเทศไทยไม่ใช่ป่าธรรมดา หรือเป็นป่าผืนเล็ก ๆ แต่เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มาก
สมัยก่อนฝรั่งแผ่อำนาจเข้ามาเพื่อที่ครอบครองดินแดนและตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ มองทรัพยากรเป็นเพียงต้นไม้ วิธีการที่มาครอบครองคือการเอาไม้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การเข้ามาครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ก็อ้างหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ในแง่การตักตวงผลประโยชน์
สำหรับชุมชน ป่าไม่ใช่แค่เนื้อไม้ แต่มีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ในทางตรงกันข้ามชาวบ้านที่ดูแลรักษานั้นมีความรู้ ภูมิปัญญาในการจัดการป่าอีกแบบหนึ่ง จะใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ในเรื่องปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต เช่นเรื่องของอาหารการกิน ที่อยู่ โดยเฉพาะยารักษาโรคเท่านั้นเอง ขณะที่ผู้นำประเทศมองป่าในแง่ของการตักตวงผลประโยชน์ ไม่ต่างจากการครอบงำจากภายนอก
การที่กลุ่มผู้นำระดับประเทศกับพี่น้องในชุมชน รวมไปถึงนักวิชาการมีมุมมองในการมองป่าที่แตกต่างกัน จึงทำให้เป็นปัญหามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี อาจจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ก็กลายเป็นเครื่องมือของผลประโยชน์ภายนอก เห็นชัดเจนว่าสังคมเรามีปัญหาช่องว่างอย่างมาก
ผมไปที่ไหนก็พูดว่าป่าไม่ใช่มีแต่ต้นไม้ แต่มีทรัพยากรชีวภาพอันหลากหลายด้วย มีส่วนประกอบสำคัญคือชุมชนที่ทำให้ความหลากหลายยังคงอยู่ คนกับป่าอยู่มาหลายชั่วคนแล้ว ผมเรียนรู้จาก อ.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผมก็รู้ว่าป่าทุกวันนี้ท่านเรียนว่าป่ารุ่น 2 หมายความว่าไม่ใช่ป่าดั้งเดิม ป่าที่ยืนยาวทุกวันนี้เกิดจากการฟื้นฟูและพัฒนาจากภูมิปัญญาของชุมชน
ทำไมป่ากับคนอยู่กับป่าจึงอยู่ด้วยกันได้ เพราะคนก็ใช้ป่าเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีปัจจัยสี่ครบครันหมด แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีภูมิปัญญาที่จะบูรณะป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีการขยายพันธุ์ ปลูกพืชพันธ์ใหม่ขึ้น เมื่อมีพืชก็จะมีสัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เวลามาตั้งคำถามแล้วว่าคนกับป่าอยู่ด้วยได้หรือไม่ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระบรมราโชวาทว่า การที่กรมป่าไม้มาขีดเส้นบนป่าสงวน ตอนที่ออกกฎหมายป่าสงวนปี 2507 แล้วไล่คนออกจากป่าใครนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายนั้นมีไว้เพื่อทำให้คนมีความสงบสุข แต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อบังคับคน ถ้ามาบังคับคนก็เป็นเผด็จการ ไม่มีความยุติธรรม
แท้ที่จริงนักวิชาการกรมป่าไม้ก็เป็นเหยื่อของการถ่ายทอดความรู้จากภายนอก ก็อยากให้เข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน และอยากให้พี่น้องนักวิชาการป่าไม้เคารพภูมิปัญญาของพี่น้องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้วย
ปัจจุบัน ป่าชุมชนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะทรัพยากรป่าของเราเป็นป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เรามีภูมิปัญญาเป็นต้นทุน ทรัพยากรชีวภาพนี้กำลังเป็นที่หมายปอง และกำลังจะถูกช่วงชิงจากชาติมหาอำนาจ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อรักษาป่าชุมชนจึงมิใช่แค่การต่อสู้เพื่อการดำรงวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีตเท่านั้น หากแต่ทั้งชุมชนและคนในสังคมก็จะต้องเห็นความสำคัญเพราะเป็นการปกป้องทรัพยากรชีวภาพที่เป็นสมบัติของชาติด้วย
หากเราเพิกเฉยก็จะมีคนอื่นเอาทรัพยากรของเราไปทำประโยชน์ เช่น นำสมุนไพรไปจดสิทธิบัตร และหาประโยชน์ได้สบาย หรือ มะละกอของเราตอนนี้อยู่ดีๆ เขาก็เอามะละกอที่กลายพันธุ์ จีเอ็มโอมาให้ แล้วก็จะผูกขาดเมล็ดพันธ์ เราก็ต้องไปซื้อเมล็ดพันธ์จากเขา. ยา และอาหารกำลังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ความจริงคุณทักษิณไม่ได้คิดขึ้นมาใหม่ แต่เขามีความสามารถที่จะทันโลกและนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศ แต่ยังเป็นผลประโยชน์ในวงแคบ เราต้องทำให้เป็นผลประโยชน์ในวงกว้างและสร้างสรรค์ด้วย
ป่าบ้านเราไม่ได้แบ่งเป็นผืน ๆ แต่เป็นป่าเป็นผืนเดียวกัน เพียงแต่การปกครองพื้นที่มาแบ่งป่าเป็นตำบล อำเภอเท่านั้นเอง ความจริงเราร่วมสายน้ำเดียวกัน จุดแข็งเรื่องป่าชุมชนคือการสร้างเครือข่าย เราจึงต้องร่วมมือกัน คนกับป่าจึงมีส่วนเกื้อกูลกับสังคมภายนอกด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังทำโครงการใหญ่ที่จะกระตุ้นการกระจายอำนาจสู่ท่องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ผมรู้ว่าไม่มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ไม่มีใครที่จะทักท้วง เพราะทุกคนสยบต่ออำนาจหมด ป่าชุมชนถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี ป่าชุมชนนั้นเราพูดมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ผมเคยเขียนปฏิญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนเมื่อปี 2534- 2535 และระดมพี่น้องป่าชุมชนต่างๆ มาร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนขึ้นเป็นครั้งแรก และดีใจที่มีการสืบสานเรียกร้องเรื่อง พ .ร.บ.ป่าชุมชนกันมาจนถึงวันนี้
การที่พี่น้องทำกิจกรรมธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะความรู้ทางวิชาการนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ที่จะทำให้เป็นตัวตนขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยพลังของพี่น้อง ลำพังพี่น้องในชุมชนเดียวก็ไม่พอ จะรักษาป่าเฉพาะชุมชน หรือรักษาสายน้ำเฉพาะช่วงไม่ได้ เช่น โรงงานทำน้ำตาลที่ขอนแก่นปล่อยน้ำเสียออกมา ปลาก็เน่าทั้งแม่น้ำ
ผมคิดว่าเราต้องทำความรู้ให้เป็นพลังและขยายเครือข่ายขึ้น ขบวนการของป่าชุมชนนั้นเริ่มต้นมาดีอยู่แล้ว มีฐานความรู้ งานวิจัยที่หนักแน่น เราต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งของขบวนการที่แท้จริง ปัญหาทางรัฐสภาเราอย่าไปกังวล เพราะรัฐสภาเป็นสถานที่ซึ่งคนเข้าไปใช้เพื่อสนองผลประโยชน์ส่วนตัวค่อนข้างมาก รัฐบาลไทยของเราเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ เห็นประโยชน์เฉพาะหน้า
ดังนั้นป่าชุมชนจึงอยู่ลำพังไม่ได้
ต้องประสานความร่วมมือกัน มองไปข้างหน้า เราไม่แค่พูดว่าคนอยู่กับป่าได้หรือป่าอยู่กับคนไม่ได้
แต่สามารถพูดได้ว่าทั้งคนทั้งป่าสามารถเกื้อกูลต่อประเทศชาติได้ และป่าชุมชนเป็นของคนทั้งประเทศ
หมายเหตุ เรียบเรียงจาก ปาฐกถา ศ.เสน่ห์ จามริก ณ วัดเกาะแก้ว ต.จอมทอง อ.เมือง
จ.พิษณุโลก/ธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนคนทั้งประเทศ / 1 ธันวาคม 2548
(ข้อมูลจาก : สำนักข่าวประชาธรรม)
๒. ประเวศ
วะสี : ดับไฟใต้ สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ ร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม (Social
Contract)
ความรุนแรงที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะดำรงอยู่ต่อไป
นอกเหนือไปจากต้องพยายามจับคนร้ายให้ได้แล้ว ควรจะสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ
เช่นว่า ถ้าผู้ใดยุติการใช้ความรุนแรงภายในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ไป และมาร่วมพัฒนาโดยสันติวิธี
รัฐบาลจะนิรโทษกรรมไม่จับกุมคุมขัง เหมือนเมื่อคราวยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์เมื่อ
25 ปีก่อน
คำว่าร่วมพัฒนา หมายถึง กระบวนการทำพันธะสัญญาทางสังคม (Social Contract) เรื่องนี้ต้องการทำความเข้าใจ ซึ่งจะขออธิบายดังต่อไปนี้
ในหมู่คนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องที่ค้างคาใจอยู่ลึกๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา จะพูดแต่เรื่องกระจายอำนาจการปกครอง จะทำไม่ได้หรือแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการถอนสิ่งที่ค้างคาใจในส่วนลึกออก สิ่งที่ค้างคาใจคืออะไร? สำหรับคนไทยมุสลิม มี 2 เรื่อง คือ
(1) ต้องการมีชีวิตทางศาสนา จึงมีความกลัวว่าระบบการศึกษาของรัฐ หรือที่เรียกว่าการศึกษาสามัญจะไปทำลายความเชื่อในศาสนาอิสลามของลูกหลานของเขา ทำให้จำกัดตัวอยู่กับการเรียนทางศาสนาที่โรงเรียนปอเนาะ การขาดโอกาสทางการศึกษาสามัญ กระทบโอกาสในการทำงานและการมีรายได้ ทำให้ตกอยู่ในความยากจน แต่เขาก็ยอมจนมากกว่ายอมให้กระทบกระเทือนชีวิตทางศาสนา แต่ความยากจนก็เกิดสภาพบีบคั้นต่อชีวิต จิตใจ และสังคม เป็นพื้นฐานให้บางคนถูกชักนำไปในทางสุดโต่งรุนแรงได้
(2) ขาดความยุติธรรมจากข้าราชการที่ไม่ดี การขาดความยุติธรรมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่บีบคั้นทางจิตใจและสังคมอย่างรุนแรง ซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น. สำหรับคนไทยพุทธ เป็นคนส่วนน้อยในท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม การเป็นคนส่วนน้อยย่อมมีความไม่สบายใจ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นใจคนส่วนน้อย หรือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการบีบคั้น คนไทยพุทธส่วนน้อยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังพออุ่นใจอยู่ได้ก็ตรงที่มีกลไกของรัฐที่เป็นพุทธถ้าพูดถึงการกระจายอำนาจการปกครองหรือให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไงเสียคนไทยมุสลิมก็ต้องได้รับการเลือกตั้ง ถ้าการปกครองเป็นการปกครองโดยคนไทยมุสลิม คนไทยพุทธส่วนน้อยก็กลัวจะถูกกดขี่ ความกลัวนี้จะได้รับความเห็นใจจากทางราชการ และจากคนไทยพุทธทั่วประเทศ ฉะนั้นจะไปพูดเรื่องการปกครองตัวเองของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รับเสียงคัดค้านระงม เรื่องนี้ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ จะไปออกกฎหมายบังคับอย่างใดๆ ก็ไม่ทำให้หายกลัว จึงไม่ใช่หนทางที่จะเดิน
เรื่องทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ ที่นั่นคนขาวส่วนน้อยปกครองคนดำส่วนใหญ่ ด้วยการเหยียดผิวอย่างรุนแรง ทำอย่างไรๆ คนขาวก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเลือกเมื่อไร คนดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็จะต้องขึ้นมามีอำนาจ แล้วก็อาจจะมาฆ่าคนขาว ความขัดแย้งจึงดำรงอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีทางออก จนกระทั่งมีกระบวนการสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจ ว่าถ้าคนดำขึ้นมามีอำนาจก็จะเคารพสิทธิของคนขาวซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และมีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ประกอบกับมี นายเนลสัน แมนเดลา ผู้นำคนผิวดำที่ทั้งคนขาวและคนดำให้ความเชื่อถือไว้วางใจว่า เป็นผู้ยึดมั่นในอภัยวิถีและสันติวิธี แอฟริกาใต้จึงมีทางออกด้วยสันติวิธี และมีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติระหว่างคนดำกับคนขาวสืบมา
ฉะนั้น ทางออกจึงไม่ใช่ออกกฎหมายกระจายอำนาจ หรือจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ แต่อยู่ที่กระบวนการสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจ ซึ่งขอเรียกว่ากระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม (Social Contract) ระหว่างกัน ระหว่างใครกับใคร? คำตอบคือ ระหว่าง 3 ฝ่ายด้วยกันคือ
o คนไทยพุทธส่วนน้อย
o คนไทยมุสลิมส่วนใหญ่
o ภาครัฐ
เราต้องส่งเสริมการสานเสวนา
(Dialogue) ระหว่าง ๓ ฝ่าย
เดี๋ยวนี้มีเทคนิคที่ทำให้คนมีความคิดเห็นต่างกันมาคุยกันด้วยมิตรไมตรี ไม่เน้นการโต้เถียง
เพราะการโต้เถียงเป็นเรื่องตื้นเกินและไม่ยกระดับจิตสำนึก แต่เน้นการฟังอย่างลึก
(Deep listening) ซึ่งทำให้เข้าไปสู่จิตใจส่วนลึก เข้าไปสัมผัสกับเมล็ดพันธุ์แห่งความดี
ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคนทุกคนไม่ว่าชาติใด ภาษาใด การสานเสวนาทำให้เกิดความเข้าใจร่วม
และความไว้วางใจกัน ถอดชนวนความกลัวลึกๆ ออกไปจากหัวใจและตกลงกันได้ โดยมีพันธะสัญญากัน
ดังเช่น
o ชาวไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยจะได้รับการเคารพสิทธิ
o ชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีสิทธิที่จะมีชีวิตทางศาสนาอิสลาม จะไม่มีการกระทำใดๆ จากภาครัฐที่ไปลบล้างความเชื่อทางศาสนา มีการจัดระบบการศึกษาที่คนมุสลิมจะได้ศึกษาทั้งทางศาสนาอิสลาม และการศึกษาสามัญเพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนมุสลิม
o ภาครัฐ จะต้องมีกลไกคัดสรรข้าราชการดีๆ ที่ซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถส่งเสริมการพัฒนาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มชน ทั้งพุทธและมุสลิม หรือกลุ่มวัฒนธรรมอื่นใด
พันธะทางใจต่อกันนี้มีคุณค่ามหาศาล ทำให้ฝ่าความยากลำบากต่างๆ ได้ แต่ต้องการกระบวนการสานเสวนาที่ละเอียดอ่อนและถูกต้อง เกิดไม่ได้โดยการสั่งให้เกิดหรือกระบวนการสุกเอาเผากิน แต่ต้องทำโดยการมีความเคารพต่อกันของทุกฝ่าย เมื่อมีความเข้าใจร่วม ไว้วางใจกัน และหายกลัว จะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาใหม่ๆ ร่วมกันอีกมากมาย เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน
การที่จะเกิดกระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางช่วยประสานงาน ก็ กอส. นั่นแหละ เพราะเป็นองค์กรอิสระที่มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม ภาคราชการ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ อยู่ในนั้นอยู่แล้ว กอส. ควรส่งเสริมกระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม ระหว่างคนไทยพุทธ คนไทยมุสลิม และภาครัฐ ดังกล่าวข้างต้น แต่จะทำได้รัฐบาลต้องสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ
องค์กรสื่อที่จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนานโยบายดับไฟใต้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการกระตุ้นและประสานให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมกันขบคิดถึงนโยบาย มาตรการ และกลไก ในการดับไฟใต้ให้ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งบัดนี้ผมได้นำเสนอว่านอกเหนือจากการพยายามจับคนร้ายให้ได้ ในขณะเดียวกันควร
๑. สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ
๒. ร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม
ในกระบวนการร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม
ควรมีการสื่อสารให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ให้คนทั้งหมดมีความชื่นชมร่วมกันในความก้าวหน้าและผลสำเร็จ
ความชื่นชมร่วมกันจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้นได้อีกมากในสังคมไทย
(ข้อมูลจาก : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)
๓. นิธิ
เอียวศรีวงศ์ : ชาตินิยมในโลกาภิวัตน์
รู้กันมานานแล้วว่า
โลกาภิวัตน์ในระดับที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทำให้ชาติไร้ความหมายในทางปฏิบัติไปในหลายมิติ
โดยเฉพาะชาติที่ถูกนิยามโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนของชาติ แม้กระนั้นผมก็ยังอดสับสนไม่ได้เมื่อได้ข่าวว่า
เจ้าของบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทยเทขายหุ้นให้แก่ฝรั่งนอร์เวย์ไปหมด
จนกระทั่งบริษัทนั้นกลายเป็นบริษัทฝรั่งเต็มตัว
ผมซื้อบริการของบริษัทนี้ เพราะไม่ชอบเจ้าของบริษัทคู่แข่ง แต่คราวนี้ผมต้องเลือกระหว่างจะให้เงินของผมแก่ฝรั่งดี หรือแก่คนที่ผมไม่ชอบซึ่งเป็นคนไทยดี สำนึกชาตินิยมแบบที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กบอกว่า ต้องเลือกคนไทยไว้ก่อน อย่างน้อยก็เป็น "พวก" เดียวกัน แต่ประสบการณ์จริงในชีวิตทำให้อดถามตัวเองไม่ได้ว่า "มึงเป็นพวกเดียวกับเขาจริงหรือวะ" จึงชักจะไม่แน่ใจเหมือนกัน แม้จะแน่ใจว่าไม่อาจนับตัวเองเป็น "พวก" เดียวกับนายทุนนอร์เวย์ได้ก็ตาม
สิ่งเดียวที่ผมมีเหมือนกับนายทุนไทยคือ อะไรที่จับต้องไม่ได้และนิยามไม่ได้ นั่นคือ "ความเป็นไทย" นอกจากนั้นแล้วไม่มีอะไรที่เหมือนกันสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต, การมองโลก, ระบบคุณค่า, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง-อุดมการณ์, แม้ว่าพูดภาษาไทยเหมือนกัน แต่ก็ "พูดกันคนละภาษา". ตรงกันข้ามเสียอีก ผมออกจะเชื่อว่า นับนายทุนไทยกับนายทุนฝรั่งเป็น "พวก" เดียวกัน ยังง่ายเสียกว่า เพราะเขามีอะไรต่อมิอะไรเหมือนกันมากมาย แม้ไม่ได้ร่วม "ความเป็นไทย" กันก็ตาม
อย่างน้อยตอนที่นายทุนเทหุ้น ขายกันไปขายกันมานั้น ไม่มีใครเขาถามหา "ความเป็นไทย" กันหรอก เขาถามว่า "ให้ราคาเท่าไร" ต่างหาก และนี่เป็นบรรทัดฐานแรกที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อขาย ทั้งนี้เพราะทุนโลกาภิวัตน์ย่อมไม่มีชาติ
ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงหนึ่งของพัฒนาการทุนนิยม ชาติยังเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองทุน ตอนนั้นทุนจึงมีชาติ แต่เมื่อได้สร้างกลไกระหว่างประเทศ (ทั้งระดับเทคโนโลยีไปจนถึงระดับองค์กรและวัฒนธรรม) ที่ให้ความปกป้องคุ้มครองทุนได้แล้ว ชาติก็เป็นเพียงเครื่องมือที่หมดความจำเป็นไปแล้วสำหรับทุน
ทุนจึงไม่จำเป็นต้องมีชาติ ทุนมีแต่ "ฐาน" การลงทุน นายทุนไทยที่ใหญ่ๆ ล้วนเคยโอนทุนไปลงในประเทศอื่นเพื่อหา "ฐาน" การลงทุนที่ให้กำไรได้มากทั้งนั้น เขาบอกแก่ประชาชนซึ่งยังอยากมีชาติไว้ปกป้องตนเองว่า การลงทุนต่างประเทศให้ผลดีแก่ชาติ เขาบอกหนักแน่นเสียจนเราไม่เคยถามว่า "ยังไง"
ฐานการลงทุนที่ดี
ในทรรศนะของทุน
แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดว่า "ฐาน" การลงทุนที่ดีในทรรศนะของทุนคืออะไร
ก็จะเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับชาติแต่อย่างใด
- "ฐาน" การลงทุนที่ดี หมายถึงมีความมั่นคงทางการเมือง แต่ความมั่นคงทางการเมืองไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ แต่หมายความว่านโยบายหลักจะต้องไม่เปลี่ยน รวมทั้งการต่อสู้ทางการเมืองต้องไม่ขยายไปสู่ท้องถนน หรือการปฏิวัติทางชนชั้น อย่างไรก็ตาม การเมืองที่เป็นระเบียบถึงขนาดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ฉะนั้นจึงสะดวกกว่าหากจะมีรัฐบาลที่อยู่ไปได้นานๆ เพราะเส้นสายที่ลงทุนซื้อเอาไว้ก็จะยังคงอยู่ตลอดไป
เหตุดังนั้นทุนจึงไม่รังเกียจรัฐบาลเผด็จการที่มีความสามารถครองอำนาจไปได้นานๆ แม้ว่าความสามารถนั้นจะหมายถึงการเข่นฆ่าประชาชนของตนเองอย่างไร ก็ไม่เป็นที่รังเกียจของทุน ขอแต่อย่าให้ถูกนานาชาติแซงก์ชั่นเท่านั้น (เช่นอย่าฆ่าคนกลางถนน แต่ช่วยอุ้มไปก่อนแล้วค่อยฆ่า เป็นต้น)
- ทุนชอบ "ฐาน" ที่เน้นนโยบายพัฒนา เพราะนโยบายพัฒนาคือการเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน และคือการให้อภิสิทธิ์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน ไม่ใช้มาตรการอะไรเพื่อปกป้องสาธารณประโยชน์ภายใน ลืมคำนี้ไปเลยยิ่งดี เพราะทำให้เกิดการแข่งขันที่ "เป็นธรรม" แก่ทุกฝ่าย
- "ฐาน" ที่ดียังหมายถึงสังคมที่มีปัจจัยเกื้อหนุนการทำกำไรจากทุนที่ดีด้วย เช่นหากลงทุนในอุตสาหกรรมชั้นต่ำ ก็ต้องการแรงงานราคาถูก หากลงทุนในอุตสาหกรรมชั้นสูงก็ต้องการแรงงานฝีมือที่มีการศึกษาดี เป็นสังคมที่มีความสงบเรียบร้อยพอที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังทุนของตนเกินไป หากไม่อย่างนั้นก็ต้องมีตำรวจไว้ขาย คือสามารถซื้อบริการของตำรวจเป็นพิเศษได้
ในประเทศไทย เราไม่ได้ให้ความหมายของชาติอย่างชัดเจนว่าหมายถึงประชาชน จึงยิ่งเปิดโอกาสให้ทุนซึ่งไม่ได้ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ สามารถเอารัดเอาเปรียบประชาชนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น จนแทบจะสรุปกันดื้อๆ เลยว่า หากคนไทยบางคนรวยขึ้น ชาติไทยก็รวยขึ้น. ถ้าชาติหมายถึงประชาชน สถิติก็สามารถชี้ให้เห็นว่าชาติได้อะไรจากการที่คนไทยบางคนรวยขึ้น นโยบายที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนไปสังเวยธุรกิจของคนส่วนน้อย ย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ยิ่งกว่านี้ ชาติที่หมายถึงประชาชนยังมีพลังทางศีลธรรม ที่จะต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบทั้งของทุนภายในและทุนต่างชาติด้วย เพราะผลประโยชน์ของชาติต้องหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ของชาติลอยๆ ที่จับต้องไม่ได้
ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ใช่ระหว่างนายทุนฝรั่งหรือนายทุนไทย
แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระหว่างนายทุนกับประชาชนต่างหาก ทำอย่างไรประชาชนจึงจะไม่ถูกนายทุนซึ่งไม่มีชาติเอารัดเอาเปรียบ
ฉะนั้น ผมจึงยังคงใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัทเดิม ซึ่งกลายเป็นของฝรั่งไปแล้ว
ไม่ว่าจะใช้บริการของบริษัทไทยหรือฝรั่ง ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง คือใช้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ
หมดธุระก็วางหูทันที
(ข้อมูลจาก มติชนรายวัน
31.10.2548)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
"ฐาน"
การลงทุนที่ดี หมายถึงมีความมั่นคงทางการเมือง แต่ความมั่นคงทางการเมืองไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ
แต่หมายความว่านโยบายหลักจะต้องไม่เปลี่ยน รวมทั้งการต่อสู้ทางการเมืองต้องไม่ขยายไปสู่ท้องถนน
หรือการปฏิวัติทางชนชั้น อย่างไรก็ตาม การเมืองที่เป็นระเบียบถึงขนาดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
ฉะนั้นจึงสะดวกกว่าหากจะมีรัฐบาลที่อยู่ไปได้นานๆ เพราะเส้นสายที่ลงทุนซื้อเอาไว้ก็จะยังคงอยู่ตลอดไป
เหตุดังนั้นทุนจึงไม่รังเกียจรัฐบาลเผด็จการที่มีความสามารถครองอำนาจไปได้นานๆ
แม้ว่าความสามารถนั้นจะหมายถึงการเข่นฆ่าประชาชนของตนเองอย่างไร ก็ไม่เป็นที่รังเกียจของทุน
ขอแต่อย่าให้ถูกนานาชาติแซงก์ชั่นเท่านั้น (เช่นอย่าฆ่าคนกลางถนน แต่ช่วยอุ้มไปก่อนแล้วค่อยฆ่า
เป็นต้น)