นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

เศรษฐศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรม
ศตวรรษแห่งความยากจน - ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ประกอบด้วย
๑. ศตวรรษแห่งความยากจน ๒. ไม่เชื่อย่าลบหลู่

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 748
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)



Juan Somavia is
Director-General of the International Labour Organization
based in Geneva.

๑. ศตวรรษแห่งความยากจน
ปีใหม่กำลังจะมา นั่นหมายความว่าเหลือเวลาอีกเพียง 9 ปีเท่านั้น คนจนหลายพันล้านคนบนโลกนี้จะเริ่มเงยหน้าอ้าปากได้ เพราะโครงการที่จะลดความยากจนในโลกลง (Millenium Development Goals) ของสหประชาชาติ ก็จะบรรลุกำหนดเวลา

นายฮวน โซมาเวีย ผู้ว่าการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เขียนบทความบอกว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น มีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 80 บาท ถึงมีงานทำก็หนีความยากจนไม่พ้น เพราะได้ค่าแรงต่ำมาก อีกจำนวนมากกว่ามากไม่มีงานทำหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ (underemployed) การพัฒนาในประเทศต่างๆ อาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นก็จริงอยู่หรอก แต่ภาพรวมไม่ได้สวยอย่างนั้น เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขของคนไม่มีงานทำในโลกเพิ่มขึ้นถึง 26%

และคนที่ต้องเผชิญกับอนาคตไร้งานและความยากจนที่สุดคือ คนหนุ่มสาวจำนวนพันล้านคนเศษ ซึ่งเวลานี้ไม่มีงานทำหรือทำได้ไม่เต็มที่... 85% ของคนเหล่านี้อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ตัวเลขคนหนุ่มสาวตกงานกลับเพิ่มขึ้นจาก 11.7% เป็น 13.8%

ยิ่งกว่านี้ "การพัฒนา" ในแนวที่ว่านี้ ก็ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สมดุล เช่น ใน พ.ศ.2547 เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นถึง 5.1% แต่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% เท่านั้น ถ้าอาศัยสถิติปีนี้ซึ่งเศรษฐกิจดี อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อกำลังแรงงานของโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านคน การพัฒนาก็จะจ้างงานเพิ่มขึ้นได้เพียง 10% ของจำนวนนั้นเท่านั้น

โลกข้างหน้าไม่ได้สุกสว่างอย่างที่นักการเมืองเนรมิตหลอนเราหรอกครับ แต่มืดมนอนธการอย่างน่าสยดสยองทีเดียว ถ้ารู้จักจินตนาการไปยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคนจนซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที นายฮวน โซมาเวีย จึงเสนอทางออกไว้ว่า จำเป็นจะต้องส่งเสริมวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่หลับหูหลับตาส่งเสริมไปเรื่อยเหมือนบีโอไอ.บ้านเรา แต่ต้องเอาปริมาณของตำแหน่งงานเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ

ในขณะเดียวกัน นายฮวนก็ย้ำอีกด้านหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กันไว้ด้วยว่า การผลิตนั้นจะต้องเน้นตลาดท้องถิ่นอันเป็นที่ซึ่งผู้คนทั้งที่เป็นแรงงานและนายจ้างมีชีวิตอยู่นั่นเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผลิตและการบริโภคอยู่ในที่เดียวกัน ฉะนั้น การเพิ่มการผลิตจึงเท่ากับเพิ่มรายได้และเพิ่มการบริโภคไปในตัว โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่ตลาดต่างประเทศเป็นลมหายใจ

นั่นคือวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ใช่โอท็อป ซึ่งมุ่งแต่จะข้ามหัวคนท้องถิ่นไปสู่ตลาดที่มองไม่เห็นข้างนอก จึงต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดที่ตัวไม่รู้จัก และจ้างแรงงานได้ไม่มาก

น่าประหลาดที่ข้อเสนอของผู้ว่าการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ คือข้อเสนอของประธานเหมา ซึ่งไม่มีใครเชื่อถืออีกแล้ว บวกกับข้อเสนอของปราชญ์ชาวบ้านอีสาน ซึ่งไม่มีใครสนใจจะฟังมากกว่าอ้างถึงเพื่อเรียกคะแนนเสียง อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งสองด้าน แต่ผมเชื่อว่า แค่นั้นยังไม่พอที่จะทำให้คนจนซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีลดลงได้ เพราะรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่วิถีชีวิตและวิธีคิดของคนในสมัยปัจจุบัน หรือเรียกอย่างสรุปก็คืออยู่ที่วัฒนธรรมต่างหาก ฉะนั้น ถ้าไม่แก้ลงไปถึงระดับวัฒนธรรม ก็ยากที่จะแก้ได้สำเร็จ

ขอยกเป็นตัวอย่าง การจ้างงานมากๆ นั้นดีแน่ แต่ไม่ใช่คำตอบ เพราะจ้างเท่าไรก็ไม่พอ อันที่จริง โลกยุคสมัยที่ทุกคนมีงานทำคือโลกยุคสมัยที่ยังไม่มีการจ้างงานอย่างแพร่หลาย (พูดสั้นๆ คือก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) งานที่ทำอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรงแก่ตนเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของครอบครัวหรือของเผ่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้น จึงทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีความหมายในชีวิตทั้งแก่ตนเองและครอบครัวหรือเผ่าที่ตัวต้องมีชีวิตอยู่

เช่น คุณยายที่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน นอกจากช่วยปลดแรงงานของแม่ไปสู่ไร่นาแล้ว ยังช่วยส่งผ่านสิ่งดีงามทั้งหลายที่ยึดถือกันในสังคมแก่หลานตัวน้อยอีกด้วย เมียเอสกิโมช่วยกัดรองเท้าของผัวด้วยฟันตัวเอง เพื่อให้นิ่มพอจะสวมใส่ได้สะดวกในการล่าแมวน้ำ (จริงหรือไม่ผมไม่ทราบนะครับ แต่อ่านเจอมาอย่างนี้) ร้านชำหนึ่งร้าน ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีงานทำเหมือนกันหมด นับตั้งแต่ อาเตี่ย, อาซิ้ม, อาม้า, อาหมวย, อาตี๋ เช่นเดียวกับการทำวนเกษตรของท่าน วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งเลี้ยงได้ทั้งครอบครัว แถมยังเป็นฐานสร้างอนาคตที่ลูกๆ อาจเลือกเองได้ด้วย

นั่นคือยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ "จ้าง" งานตัวเอง และนั่นก็ไม่ใช่ยุคสมัยที่ไกลโพ้นในอดีต ส่วนใหญ่ของประชากรโลกในทุกวันนี้ก็ยัง "จ้าง" งานตัวเอง แม้ในประเทศไทย ก็ยังมีคนทำอย่างนี้อยู่จำนวนมาก เกือบถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

การจ้างงานแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยมุ่งเอาโลก (ที่มีกำลังซื้อ) ทั้งโลกเป็นตลาด ลักษณะการผลิตแบบนี้ค่อยๆ ขยายออกไปกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ขยายไปยังประเทศต่างๆ นอกยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ

แม้ว่าในระยะต่อมา การจ้างงานนำมาซึ่งรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในหมู่ลูกจ้าง แต่นั่นก็เกิดขึ้นเพียงในไม่กี่ประเทศของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการขยายสิทธิทางการเมืองมาถึงแรงงานแล้ว แต่ลูกจ้าง-แรงงานส่วนใหญ่ของโลกหาได้ประสบโชคอย่างเดียวกันไม่ ถ้าดูมาตรฐานการครองชีพบางด้าน อาจกล่าวได้ว่าเลวลงอย่างน่าตกใจ และที่แน่นอนก็คือชีวิตหาความมั่นคงไม่ได้เอาเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ โดยเฉพาะในสอง-สามทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่แล้วนี้ก็คือ เกิดการกระจุกตัวของรายได้และทรัพย์สินในประเทศต่างๆ และในระดับโลก ยิ่งลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือลัทธิรวยได้รวยเอาแพร่ระบาด (แม้ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีผู้นำที่อยากรวยเอาๆ คนเดียว) การกระจุกตัวดังกล่าวก็ยิ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ผลก็คือคนกลับมีงานทำน้อยลง เพราะเขาลดต้นทุนการผลิตกันด้วยการลดแรงงาน หรือขยับออกไปผลิตในประเทศซึ่งแรงงานราคาถูกเสียจนการมีงานทำไม่ได้ช่วยให้หายจน (เพราะประเทศที่รับจ้างทำของด้วยกันก็ต้องแข่งกันกดราคาแรงงาน) ฉะนั้น การตกงานจึงขยายไปสู่คนชั้นกลางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสหรัฐเวลานี้ แม้แต่คนที่จบปริญญาโทยังตกงานจำนวนมาก เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานอเมริกันยึดเอางานบางเวลา (part-time jobs) เป็นงานอาชีพประจำ กว่าครึ่งหนึ่งต้องทำงานสองจ๊อบขึ้นไป

ก็มันจนลงไงครับ เนื่องจากส่วนใหญ่ของทรัพย์สินไหลไปกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็น่าประหลาดเหมือนกันที่ว่า ทั้งๆ ที่ผู้คนจนลงอย่างไม่ทั่วหน้า คือคนชั้นล่างและลามมาถึงคนชั้นกลาง แต่คนอเมริกันกลับเลือก นายจอร์จ บุช เป็นประธานาธิบดี เช่นเดียวกับที่คนไทยเลือก คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ อย่างท่วมท้น

ผมจึงคิดว่า ภาวะเศรษฐกิจในกระเป๋า และปริมาณความสุขในใจของคนนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องมือของการตัดสินใจทางการเมืองเท่ากับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต และวิธีคิดซึ่งนอนอยู่ที่ก้นบึ้งของหัวใจคน นั่นก็คือคนอเมริกันได้มอบความฝันของตัวให้แก่คนทั้งโลก คนจีนประมาณ 300 ล้านคนหรือกว่านั้น ซึ่งมีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง หลับตาลงเมื่อไรก็มองเห็นภาพที่ไม่ต่างจากที่คนอเมริกันมองเห็น อินเดียอีกไม่รู้จะกี่ล้าน รวมทั้งไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย ไม่เว้นแม้แต่ลาว, เขมร และชาวแอฟริกา

แต่วิถีชีวิตในอุดมคติอเมริกันแบบนั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลก และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ และบัดนี้ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ทำให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสังคมแห่งความสงบสุขด้วย แม้กระนั้นก็เป็นความฝันที่ผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆ ช่วยกระพือและหล่อเลี้ยงไว้ด้วยคำโฆษณา, ระบบการศึกษา และการบิดเบือนคุณค่าต่างๆ ของสังคม เพื่อทำให้ประชาชนเพ้อฝันกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนต้องสยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่ตัวเผชิญอยู่ในชีวิต

หากคริสต์ศตวรรษนี้จะไม่ใช่ศตวรรษแห่งความยากจนข้นแค้นอย่างสาหัสชนิดที่มนุษย์ไม่เคยเจอมาก่อน จำเป็นต้องเริ่มด้วยการถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมแห่งความฝันเลื่อนลอยนี้เสียก่อน การสร้างงานจ้างให้มีเพิ่มมากขึ้นด้วยการเน้นตลาดในท้องถิ่น จึงสามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ รวมทั้งเป็นนโยบายสาธารณะที่มั่นคงตลอดไป

สำนึกที่ควรทำให้แพร่หลายก็คือ โลกเรามีทรัพยากรจำกัด แต่ก็เพียงพอสำหรับทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นสุข การมีวัตถุปรนเปรอชีวิตน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำ เพราะเอาเข้าจริง ส่วนใหญ่ของความสุขของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีและกับการรู้เท่าทันตนเองต่างหาก

ผมขอย้ำนะครับว่า ถ้าเราไม่คิดเรื่องความยากจนของคริสต์ศตวรรษนี้เสียแต่ตอนเริ่มศตวรรษในบัดนี้ และเริ่มลงมือทำกันโดยเร็ว นี่จะเป็นศตวรรษแห่งความยากจนโดยแท้

คิดเพียงนิดเดียวก็จะเห็นว่า คนที่คุยโวถึงความมั่งคั่งอู้ฟู่ด้วยวัตถุศฤงคารของสังคมไทย ถ้าเขาไม่โง่เสียเอง เขาก็คิดว่าผู้ฟังโง่

๒. ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
แม้คติพจน์ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เป็นคติพจน์ใหม่ ซึ่งผมไม่เคยได้ยินเมื่อเป็นเด็ก แต่เมื่อได้ยินครั้งแรก ผมก็เห็นด้วยทันที เพราะตรงกับคติที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ครั้นฟังไปนานเข้าๆ ก็จับความหมายที่เขาใช้กันในปัจจุบันได้ชัดขึ้น แล้วจึงรู้สึกว่าไม่ได้ตรงกับคติที่คนรุ่นผมถูกสอนมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

คติที่ผมเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก และความหมายที่เขาใช้กันในปัจจุบัน ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ให้เสรีภาพในความเชื่อ คือไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เชื่ออย่างไรก็เชื่ออย่างนั้นไปเถิด ขอแต่อย่าลบหลู่เป็นใช้ได้

ที่ต่างกันก็ตรงลบหลู่นี่แหละครับ คือลบหลู่ใคร

คติเก่าถือว่าไม่ควรไปลบหลู่ความเชื่อของคนอื่น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคืออย่าลบหลู่คนอื่น เพราะเขาเชื่ออะไรที่เราไม่เชื่อ แต่การที่เราไม่เชื่อ หรือเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ไม่พึงแสดงออกในลักษณะลบหลู่คนที่เขาเชื่อ สรุปก็คืออย่าลบหลู่คน แต่จะลบหลู่ผีหรือพระเจ้าที่ไหนก็เป็นเรื่องในใจของคุณ แม้แต่จำเป็นต้องแสดงความไม่เชื่อของตัวออกมาให้ปรากฏ ก็ไม่ควรทำในลักษณะลบหลู่คน (ที่เขาเชื่อ)

แต่คติพจน์ที่ใช้กันในปัจจุบันกลับมีความหมายว่า อย่าลบหลู่ผีหรือเทพซึ่งเราอาจไม่เชื่อเป็นอันขาด เพราะหากผีหรือเทพเหล่านั้นเฮี้ยนจริง ก็จะบันดาลภัยพิบัติให้แก่ผู้ลบหลู่ได้ และเราไม่มีวันรู้แน่ว่าผีหรือเทพองค์ใดบ้างที่เฮี้ยนจริง ความหมายอย่างนี้ที่แท้จริงแล้วไม่มีความหมาย เพราะถ้าเชื่อในความเฮี้ยนของสิ่งเหล่านั้นจริงก็แสดงว่าเชื่อ ไม่ใช่ไม่เชื่อ ฉะนั้น จึงควรพูดว่า "เชื่อแล้วอย่าลบหลู่" ซึ่งแสดงความเหลวไหลของคติพจน์ได้ประจักษ์แจ้งดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ต้องการพูดเรื่องความหมายทางตรรกะของคติพจน์เท่ากับอยากชี้ให้เห็นว่า ในคติเก่าที่สอนให้ไม่ลบหลู่ความเชื่อคนอื่นนั้น มีจุดมุ่งหมายทางสังคมเป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องของมารยาททางสังคม การรู้จักรักษาน้ำใจคนอื่น เพื่อทำให้เรามีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกับคนอื่นๆ. แต่ความหมายของคติพจน์ในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสังคม แต่เกี่ยวกับการ "กันเหนียว" ให้แก่เนื้อหนังของตัวเอง อย่าเสี่ยงกับความปลอดภัยของตัวเองโดยไม่จำเป็น

ดูเหมือนยิ่งให้เสรีภาพในความเชื่อมากขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ เพราะเมื่อเราพูดถึงเสรีภาพ เราต้องมีสำนึกถึงคนอื่นหรือสังคม ไม่ใช่เสรีภาพของเราคนเดียว ฉะนั้น การป้องกันความปลอดภัยให้แก่เนื้อหนังของตัวคนเดียว จึงไม่เกี่ยวกับเสรีภาพ หากเป็นเรื่องของสำนึกที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งตามลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดโต่ง ไม่ได้สำนึกถึงการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ เลย

"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ตามคติเก่าหมายถึงการให้ความเคารพแก่เพื่อนมนุษย์ ในขณะที่ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ในคติปัจจุบันหมายถึงให้ความเคารพแก่เทพและผีดะไปหมดไม่เลือกหน้า

ฉะนั้น "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ตามคติเก่าจึงกินความรวมไปถึงการไม่ลบหลู่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของคนอื่นด้วย แม้แต่คนที่เขานับถือเป็นพิเศษ ก็พึงหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นกับเขาหรือแม้แต่ความเชื่อที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่นเชื่อว่าโลกแบน หากเขายึดมั่นอย่างเอาจริงเอาจัง ก็ต้องระวังไม่ไปต่อต้านคัดค้านความเชื่อของเขาในลักษณะ "ลบหลู่"

ผมคิดว่า ความแตกต่างด้านความหมายของ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ในคติเก่ากับคติใหม่ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสำนึกผู้คนที่มีต่อ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" และ "สิ่งสาธารณ์"

อะไรที่มนุษย์เคยถือว่า "ศักดิ์สิทธิ์" ที่จริงแล้วก็คือ สิ่งที่อยู่พ้นไปจากผลประโยชน์เฉพาะตัว เฉพาะหน้า และไม่ถาวรคือเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลา เช่น พระสยามเทวาธิราช (ถ้ามีจริง) ย่อมปกป้องคุ้มครองสยามประเทศ แม้อาจด้วยวิธีทำลายผลประโยชน์ของบางคน และเสริมผลประโยชน์ของคนนั้นในโอกาสที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ของสยาม อันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว เช่นเดียวกับผีเรือนย่อมคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยของสายตระกูล ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว. และแน่นอนว่า พระผู้เป็นเจ้าของศาสนาต่างๆ หรือพระนิพพานของชาวพุทธ ย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์เฉพาะตัวทางโลกย์ของศาสนิก

ในทางตรงกันข้าม "สิ่งสาธารณ์" ก็คืออะไรที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว เฉพาะหน้า และไม่ถาวร

แต่คนไทยปัจจุบันเอา "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" และ "สิ่งสาธารณ์" มาปนกันจนแยกไม่ออก ในที่สุด "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ก็ถูกกลืนหายไปกับ "สิ่งสาธารณ์" จนหมด ด้วยอำนาจแห่งความโลภ, โกรธ, หลง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในหมู่มนุษย์ ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ทั้งหลายถูกแปรความไปในทาง "สาธารณ์" จนไม่เหลือความ "ศักดิ์สิทธิ์" อีกเลย

ความกลัวต่อความเฮี้ยนของผีหรือเทพที่เราไม่เชื่อ ไม่ได้หมายความว่าผีหรือเทพนั้น "ศักดิ์สิทธิ์" ในความหมายที่ผมกล่าวถึง แต่ที่เคารพยำเกรงก็เพราะอำนาจ "สาธารณ์" ของผีหรือเทพองค์นั้นต่างหาก ก็กลัวไข่ดันบวมนี่ครับ

ผมไม่ทราบว่าเมื่อ "พระเจ้าตายแล้ว" ตามคำพูดของฝรั่งมีความหมายว่าอย่างไร เพราะไม่เคยตามไปอ่าน แต่ความหมายที่ผมเข้าใจเอาเองก็อย่างนี้แหละครับ คือพระเจ้าในความหมายของ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ได้ตายไปแล้ว เหลือแต่พระเจ้าในความหมายของ "สิ่งสาธารณ์" เท่านั้น และในความหมายนี้แหละที่ไม่ใช่แค่พระเจ้าที่ตายแล้ว แต่พระนิพพาน, เทพฮินดู และเซียนทั้งหลายก็พากันตายไปหมดเหมือนกัน แม้แต่คอมมิวนิสต์ยังสิ้นใจตามไปด้วย

พระเจ้าคงไม่ได้หมายถึงตาแก่เครายาวที่นั่งอยู่บนฟ้า แต่หมายถึงหลักการนามธรรมที่เป็นคุณค่าอันสูงสุดที่มนุษย์สามารถบรรลุได้ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของสรรพสิ่ง อะไรที่เป็นหลักการนามธรรมทั้งหลายไร้ความหมายในปัจจุบันไปหมด เหลือแต่เครื่องมือรักษาไข่ดันของแต่ละคนเท่านั้น

พระพิฆเนศนอกจากเป็นเทพแห่งความสำเร็จ (ผู้ขจัดอุปสรรค) แล้ว ยังเป็นเทพแห่งศิลปะด้วย เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็นับถือพระพิฆเนศกัน มีทั้งรูปบูชาและรูปห้อยคอขายกันให้เกร่อ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพแปลหนังสือก็มีรูปพระพิฆเนศองค์เล็กๆ ไว้ติดตัวเสมอ เขาอธิบายว่าเนื่องจากเขาทำงานด้านศิลปะจึงควรมีเทพแห่งศิลปะไว้บูชา

การแปลหนังสือให้ดีนั้นต้องทำสองอย่างคือแปลให้ถูกเป็นอย่างแรก และแปลอย่างมีศิลปะเป็นอย่างที่สอง

และอย่างที่สองนี่แหละครับที่ไม่ง่ายเลย ไม่ใช่แค่รู้สองภาษาอย่างดีเท่านั้น แต่ต้องดีถึงขนาดที่จับและเรียกใช้คำ, วลี, ประโยค, สำนวน ฯลฯ ที่ได้น้ำหนักและนัยะของความหมายให้พอดีด้วย เหมือนกับการทำงานทางศิลปะอื่นๆ คือไม่ได้ระบายอะไรที่พลุ่งออกมาจากใจดิบๆ เท่านั้น แต่เป็นใจที่ถูกขัดเกลาและกล่อมเกลาด้วยการแสวงหาความรู้, การครุ่นคิด และการฝึกฝนมาอย่างหนัก

ปัญหาคือจะบูชาพระพิฆเนศกันอย่างไร จะให้เกิดผลจริง จึงมีอยู่ทางเดียวคือการสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปะ ทั้งในแง่ความรู้, ความคิด และความรู้สึก เพื่อให้ไวทั้งการรับและส่งสารทางศิลปะ บูชารูปพระพิฆเนศอย่างเดียวจึงไม่ช่วยอะไร และบางทีรูปพระพิฆเนศอาจเป็น "ภูเขาขวางกั้น" ไม่ให้บุกเบิก ไปไม่ถึงแดนแห่งศิลปะด้วย เพราะสาวกไปติดอยู่ที่องค์พระพิฆเนศเท่านั้น

พระพิฆเนศจึงกลายเป็นเพียงเทพองค์หนึ่ง ไม่ใช่หลักการนามธรรมที่อยู่เหนือไข่ดัน เป็นเทพที่ขจัดอุปสรรคไม่ต่างจากต้นกล้วยสองปลีที่ให้หวยได้ ในทำนองเดียวกับพระพิฆเนศนะครับ ผมคิดว่าหลักการนามธรรมทั้งหลายที่ "ศักดิ์สิทธิ์" หรืออยู่เหนือไข่ดันของแต่ละคนนั้น ตายไปหมดแล้ว

จุดมุ่งหมายของระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่จริงแล้วมีสองมิติคือ มิติของปัจเจก ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพและโอกาสจะพัฒนาศักยภาพของตนเองไปถึงที่สุด และ มิติทางสังคม ซึ่งหมายถึงความสงบสุขและความเป็นธรรมที่ทุกคนในสังคมพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่เขาจะสามารถใช้ประโยชน์ในมิติที่หนึ่งได้จริง

แต่เป้าหมายในมิติที่สองของระบอบประชาธิปไตยในโลกกำลังสูญสิ้นความหมายไปอย่างรวดเร็ว เพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่บอกอย่างเดียวกับที่นางแทตเชอร์บอกว่า สังคมน่ะไม่มีอยู่จริงหรอก คุณอยากได้กฎหมายอะไรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวก็บอกมาเลย อย่ามาอ้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงดีกว่า. ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบปกครองที่ดีที่สุดแก่บุคคล เพราะเปิดโอกาสให้บุคคลปกป้องคุ้มครองหรือขยายผลประโยชน์ส่วนตัวได้เต็มที่ แต่จะเป็นระบอบปกครองที่ดีที่สุดแก่สังคมหรือไม่ ก็ไม่จำเป็น เพราะสังคมไม่มีอยู่จริง

คำพูดของอดีตประธานาธิบดีแมกไซไซที่ว่า เพราะเขามีน้อย กฎหมายจึงต้องให้เขามาก จึงฟังดูไม่เป็น "ประชาธิปไตย" เลย. และอย่างที่บอกข้างต้นนะครับ คอมมิวนิสต์ก็ตายแล้ว เหมือนประชาธิปไตยเช่นกัน ด้วยเหตุดังนั้น จึงมี "สาธารณรัฐประชาชน" ซึ่งมีประชาชนที่ยากจนอย่างแสนสาหัสอยู่กล่นเกลื่อนมากเสียกว่าประชาชนที่มั่งคั่งอย่างเหลือประมาณ

ก็จริงหรอกครับว่า แมวดำหรือแมวขาวก็จับหนูได้เหมือนกัน แต่ถ้าหนูมีความหมายแคบแต่เพียงความไพบูลย์ทางเศรษฐิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวกับความเป็นนามธรรมทางสังคมเลยแล้ว ยังขืนเรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์ไปทำไม นอกจากเพื่อเผด็จอำนาจไว้เด็ดขาดและถาวรเท่านั้น


 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

Free Documentation License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.

ลิขซ้าย 2548, 2549, 2550 : สมเกียรติ ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org

 

R
related topic
211148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง