The Midnight University
การต้อนรับประธานาธิบดีบุช"อย่างเผ็ดร้อน"ในอาร์เจนตินา
จักรวรรดิ์นิยมอเมริกากับการเจรจาในอาร์เจนตินา
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ
หมายเหตุ
เรื่องราวเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศทวีปอเมริกา ๔-๖ พฤศจิกายน ๒๐๐๕
เรียบเรียงจาก
Ezequiel Adamovsky, "Bush in Argentina: Bringing Imperialism Back to
Public Debate"
(November 05, 2005) ZNet http://www.zmag.org
ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 744
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 3.5 หน้ากระดาษ A4)
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประธานาธิบดีบุชหวังว่าจะสามารถผลักดันการเจรจารอบใหม่ของเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (FTAA หรือในภาษาสเปนคือ ALCA) ให้ลุล่วง แต่ประธานาธิบดีบุชต้องผิดหวัง ไม่เพียงแต่ความพยายามของเขาจะล้มเหลว การมาเหยียบบนแผ่นดินอาร์เจนตินา ยังทำให้เมืองตากอากาศแห่งนี้แปรสภาพกลายเป็นสนามรบระหว่างขบวนประท้วงกับตำรวจปราบจลาจล ทั้งเมืองคลุ้งไปด้วยแก๊สน้ำตาและยางรถยนต์ที่ถูกเผา
ประธานาธิบดีบุชรู้ตัวมาก่อนว่า เขาไม่เป็นที่ต้อนรับนักในอาร์เจนตินา ขบวนองครักษ์คุ้มกันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงขนกันมาถึง 2000 นาย เขาพยายามใช้ประธานาธิบดีวิเซนเต ฟอกซ์ ของเม็กซิโก เป็นหุ่นเชิดเพื่อเป็นคนกลางเจรจากับผู้นำประเทศอื่น ๆ หลีกเลี่ยงที่จะจับมือหรือเผชิญหน้าตรง ๆ กับประธานาธิบดีอูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา และแม้ว่าประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร จะถูกกีดกันจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประธานาธิบดีแห่งคิวบากลับมี "หัตถ์ของพระเจ้า" เสนอตัวมาประท้วงแทนอย่างนึกไม่ถึง
จอร์จ บุช ต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่นำขบวนด้วยประธานาธิบดี, ว่าที่ประธานาธิบดี, สุดยอดนักฟุตบอล, นักดนตรี, เจ้าของรางวัลโนเบล และผู้ประท้วงอีกหลายหมื่นคน ที่พร้อมใจกันจัดกิจกรรมตลอดสัปดาห์ เพื่อเป็นเวทีคู่ขนานในนามของ "การประชุมสุดยอดของประชาชน"
แน่นอน ไฮไลท์ของการประท้วงอยู่ที่การมาถึงของรถไฟขบวน "ALBA express" (ALBA เป็นคำย่อของข้อเสนอเขตการค้าทางเลือกในทวีปอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีชาเวซเสนอเป็นคู่แข่งกับ ALCA) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน บนรถไฟประกอบด้วยสุดยอดนักฟุตบอล ดีเอโก มาราโดนา, ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโบลิเวีย เอโว โมราเลส, นักร้องชาวคิวบา ซิลวิโอ โรดิเกซ พร้อมกับศิลปิน, นักเขียน, นักดนตรี, นักแสดงและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก 5 โบกี้ โดยมีเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวอาร์เจนตินา อดอลโฟ เปเรซ เอสกีวัล รอรับอยู่ที่สถานีรถไฟ
ดีเอโก มาราโดนา ผู้เป็นเสมือนเทพเจ้าในอาร์เจนตินา อาจเป็นความน่าประหลาดใจในการประท้วงครั้งนี้ เขามาพร้อมกับร่างผอมสะโอดสะองผิดหูผิดตาไปจากความอ้วนฉุจนต้องหามเข้าโรงพยาบาลเมื่อไม่กี่ปีก่อน ชื่อเสียงของมาราโดนากำลังกลับมาโด่งดังอีกครั้งในอาร์เจนตินา แต่ไม่ใช่ในฐานะนักฟุตบอล เขากำลังอยู่บนเส้นทางอาชีพใหม่ของการเป็นพิธีกรรายการทอล์คโชว์ที่กำลังฮิตในประเทศบ้านเกิด รายการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้ โดยมีแขกรับเชิญคนแรกคือ เปเล่ แต่แขกรับเชิญคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาคือ ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา
มาราโดนาโคจรมาพบและกลายเป็นเพื่อนกับฟิเดล คาสโตรได้ ก็เพราะเขาเดินทางไปรักษาอาการติดโคเคนที่ประเทศคิวบา มาราโดนาประกาศว่า คาสโตรเป็นเสมือนเพื่อนและพ่อที่ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้เขา "สำหรับผม เขา (คาสโตร) คือพระเจ้า" มาราโดนารักษาตัวอยู่ในคิวบานานถึง 4 ปี จนมีบ้านและไร่อยู่ที่นั่น เขาประกาศมาตั้งแต่ไปสัมภาษณ์คาสโตรแล้วว่า เขาจะเดินขบวนประท้วงประธานาธิบดีบุช เพราะ "บุชทำให้ผมอยากอ้วก" ครั้งนี้ดีเอโกไม่ได้ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง เขาทำอย่างที่พูดไว้จริง ๆ
ขบวนคนดังทั้งหลายเคลื่อนตัวจากสถานีรถไฟเข้าสู่เมืองมาร์เดลปลาตา เพื่อสมทบกับกลุ่มแม่แห่งปลาซาเดมาโย (Mothers of Plaza de Mayo) กลุ่มสตรีนักเคลื่อนไหวที่เป็นตำนานและสัญลักษณ์ของการประท้วงความอยุติธรรมในอาร์เจนตินา กลุ่มสตรีวัยชรากลุ่มนี้เกิดมาจากการรวมตัวกันของแม่ที่ลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคมืดทมิฬที่สุดของทศวรรษ 1970 (จำเป็นต้องบอกอีกหรือไม่ว่า รัฐบาลเผด็จการนี้ได้รับการหนุนหลังจากมหาอำนาจประเทศใด?)
เมื่อคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมากถูก "อุ้ม" หายไป ภัยสยองครอบคลุมทั้งประเทศจนไม่มีใครกล้าเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วแม่ผู้เจ็บปวดกลุ่มหนึ่งก็พร้อมใจกันโพกผ้าคลุมศีรษะสีขาว ถือรูปลูกชายลูกสาวที่หายไปมานั่งประท้วงที่ปลาซาเดมาโยหน้าทำเนียบรัฐบาล ความกล้าหาญของพวกนางนี่เองที่จุดประกายให้ชาวอาร์เจนตินากลับมาต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง
แต่หากขบวนของมาราโดนาเป็นริ้วธงสีสันของการประท้วง กระสุนปืนใหญ่ที่แท้จริงย่อมเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากประธานาธิบดีอูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา ศัตรูตัวฉกาจของบุชคนนี้กล่าวปราศรัยสองชั่วโมงในสนามกีฬาแห่งชาติ ที่ประดับด้วยรูปของเช เกวาราและนักต่อสู้เพื่อเอกราชคนอื่น ๆ ของละตินอเมริกา อัดแน่นไปด้วยประชาชนหลายหมื่นคน คำปราศรัยของเขาถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ประณาม "ลัทธิจักรวรรดินิยม", "เสรีนิยมใหม่", "ทุนนิยม" และการครอบงำของสหรัฐฯ
แต่ชาเวซไม่ได้หยุดแค่นั้น เขาอ้างถึงมาร์กซ์, เหมาเจ๋อตง, เช เกวารา, โรซ่า ลักเซมเบิร์ก และแน่นอน ย่อมขาดคาสโตรไปไม่ได้ ชาเวซเรียกร้องหาสังคมยุคหลังทุนนิยม ซึ่งเขาเรียกว่า "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" มาราโดนาพร้อมกับทุก ๆ คนปรบมือโห่ร้องจนสนามกีฬาแทบถล่ม
ตลอดการประชุมสุดยอด มีขบวนประท้วงตามท้องถนนในเมืองมาร์เดลปลาตา ในบูเอโนสไอเรส ในเมืองใหญ่น้อยของอาร์เจนตินากว่า 200 เมือง แม้กระทั่งสหภาพครูก็ประท้วงด้วยการหยุดการสอน การประท้วงยังลามไปถึงเมืองหลวงของอุรุกวัย จนมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ อีกทั้งมีรายงานการประท้วงในบราซิล ในเวเนซุเอลา และในเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ในละตินอเมริกา
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2005 โดยหนังสือพิมพ์ Clarin หนังสือพิมพ์กระแสหลักฉบับสำคัญของอาร์เจนตินา มีผลลัพธ์ออกมาว่า มีประชาชนเพียง 9% เท่านั้นที่เชื่อว่า การประชุมสุดยอดแบบนี้จะให้ผลดีต่อประชาชน ในด้านความนิยมต่อตัวบุคคลนั้น อูโก ชาเวซได้คะแนน "ภาพพจน์เชิงบวก" ถึง 38% ในขณะที่จอร์จ บุชได้ไม่ถึง 5% หนังสือพิมพ์ถึงกับกล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมแบบใหม่
ภาพลบของรัฐบาลอเมริกันในอาร์เจนตินากำลังกลายเป็นสามัญสำนึกของคนทั่วไป แม้แต่สื่อมวลชนกระแสหลักที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ก็ยังแสดงความรู้สึกแบบนี้เหมือนเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องอธิบายด้วยซ้ำ
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังและโกรธแค้นรัฐบาลสหรัฐฯ ในหมู่ประชาชนละตินอเมริกา ก็คือนโยบายที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ และนายทุนการเงินที่คอยหนุนหลังประธานาธิบดีอย่างจอร์จ บุช การรุกรานอิรักก็เป็นประเด็นหนึ่งที่แสดงถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ มุ่งแต่จะเข้าควบคุมและครอบครองทรัพยากรของชนชาติอื่น และส่งเสริมระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างไม่สนใจไยดีต่อประชาชน
อาร์เจนตินาและละตินอเมริกามีบทเรียนเจ็บปวดจาก "การค้าเสรี" มาไม่น้อย เพราะภูมิภาคนี้มักตกเป็นหนูทดลองแก่นโยบายใหม่ ๆ ของวอชิงตัน ในยุคทศวรรษ 1990 อาร์เจนตินาเป็นสนามทดลองของวอชิงตันและไอเอ็มเอฟ ทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตัดลดงบประมาณและสวัสดิการด้านสังคม เปิดเสรีแก่เงินทุนต่างชาติ นโยบายเหล่านี้สร้างฟองสบู่ขึ้นมาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แล้วแตกออกเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม กลายเป็นบาดแผลที่ยังเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ สหรัฐฯ มองไม่เห็นลู่ทางสดใสเลยที่จะผลักดัน FTAA ให้ก้าวไปข้างหน้า เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาที่รัฐบาลบุชใฝ่ฝันหา ถูกขัดขวางจากประเทศขนาดใหญ่ในทวีปนี้ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกตลาดร่วม Mercosur ที่ประกอบด้วยบราซิล, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย, ปารากวัยและเวนซุเอลา
แม้แต่รัฐบาลเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวคือประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์แห่งอาร์เจนตินา ก็ดูเหมือนจะแอบสนับสนุนการประท้วงของประชาชนอยู่กลาย ๆ อย่างน้อยก็มุ่งหวังที่จะใช้การประท้วงนี้เป็นแรงกดดันให้วอชิงตันโอนอ่อนในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาของตน เคิร์ชเนอร์ปล่อยให้สมาชิกพรรคบางคนเข้าร่วมในการประท้วงทั้งบนท้องถนนและในสนามกีฬา
แม้แต่ในคำปราศรัยเปิดการประชุม เคิร์ชเนอร์ก็ยังพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ไอเอ็มเอฟและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ รวมทั้งฉันทามติวอชิงตัน ต้อง "แสดงความรับผิดชอบ" ต่อ "โศกนาฏกรรม" ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เคิร์ชเนอร์ยังเจาะจงวิจารณ์ไอเอ็มเอฟที่พยายามบังคับใช้มาตรการแบบเดิม ๆ ต่ออาร์เจนตินาอีกในขณะนี้ เคิร์ชเนอร์จึงพยายามเจรจากับรัฐบาลบุช เพื่อให้บุชช่วยสนับสนุนการผ่อนคลายเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ โดยแลกกับการเปิดเจรจา FTAA รอบใหม่ แต่สัญญาณทุกอย่างบ่งบอกว่า การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จหรือมีความคืบหน้าใด ๆ เลย
รัฐบาลอาร์เจนตินาและประเทศในอเมริกาใต้อื่น ๆ กำลังเผชิญกับทางสองแพร่ง ในด้านหนึ่ง พวกเขาถูกกดดันจากวอชิงตันและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ กับอีกด้านหนึ่งคือขบวนการประชาชนที่พร้อมจะลุกฮือยิ่งขึ้นทุกที ๆ เส้นทางของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้จะไปทางไหน คงต้องติดตามกันต่อไป
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
Ezequiel Adamovsky, "Bush in Argentina: Bringing Imperialism Back to
Public Debate"
(November 05, 2005) ZNet http://www.zmag.org
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Free Documentation
License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.
ลิขซ้าย 2548, 2549,
2550 : สมเกียรติ
ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org