The Midnight University
เขียนถึงนิธิ นิธิไม่ได้เขียน
นิธิ : บรรพชนโพส์ตโมเดิร์นและนักเร่งปฏิกริยา
แพทย์
พิจิตร
ผู้เขียนเรื่อง
เวลาของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
องอาจ
เดชา
ผู้เก็บความคำบรรยายเรื่อง
เราต้องช่วงชิงอำนาจการปกครองมาอยู่ในมือประชาชน
หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้รวบรวมมาจากงานเขียน ๒ ชิ้น ดังนี้
๑. เวลาของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
๒. เราต้องช่วงชิงอำนาจการปกครองมาอยู่ในมือประชาชน
ทางกองบรรณาธิการ ขอขอบพระคุณผู้เขียนทั้งสองท่านเอาไว้ ณ ที่นี้
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 754
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
คนแคระบนบ่ายักษ์
แพทย์ พิจิตร / มติชนรายวัน 4 พย.48
๑. เวลาของศาสตราจารย์
ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันเวลาผ่านไป ใครจะว่ารวดเร็วก็ได้ หรือจะว่าช้าก็ได้อีก แต่เวลามันอาจดำเนินไปอย่างที่มันเป็น
ซึ่งเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เวลาอาจจะดำรงอยู่อย่างอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์
หรือในมุมกลับกัน เวลาอาจเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ เพราะปราชญ์บางสำนักเชื่อว่า
เวลามีอยู่จริงเหนือความเป็นไปของมนุษย์ ขณะเดียวกันปราชญ์อีกสำนักหนึ่งเชื่อว่า
ถ้ามนุษย์ตายหมดโลก เวลาก็จะไม่มีความหมาย ไม่มีความสลักสำคัญอีกต่อไป
ถ้าเวลาเป็นสิ่งที่กำหนดโดยมนุษย์ ก็คงจะเป็นไปตามสิ่งที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยเขียนไว้นานแล้วเป็นเวลาเกือบสี่ทศวรรษ ตั้งแต่พุทธศักราช 2509 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านอาจารย์นิธิยังทำปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้นการเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของเผด็จการ ส-ถ-ป ซึ่งเป็นคำย่อที่อาจารย์นิธิใช้สื่อเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (จากข้อเขียนชื่อ "หน้าว่างในประวัติศาสตร์")
ในฐานะนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี อาจารย์นิธิย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องครุ่นคิดพินิจนึกถึงเรื่อง "เวลา" และยามที่คนเราครุ่นคิดจริงจังในการพยายามเข้าใจหรืออธิบายเรื่องราวของ "เวลา" ก็เท่ากับว่า "ปรัชญาประวัติศาสตร์" มันได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว อาจารย์นิธิเขียนเกี่ยวกับ "เวลา" ไว้ในบทความที่ชื่อว่า "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" ดังนี้คือ
"เวลาคืออะไรไม่มีใครรู้ (นั่นหมายความว่าเวลาอาจจะมี แต่ไม่มีใครรู้จัก หรือเวลาไม่มีก็ได้เหมือนกัน) แต่เวลาที่เรารู้จักกันนั้น คืออาการเคลื่อนไหวของโลก เวลา 1 ปี คืออาการที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบโดยประมาณ และจากเวลา 1 ปีนี้ เราก็อาจแบ่งออกเป็นเวลาย่อยๆ ได้มากมาย เช่น 1 เดือน 1 วัน 1 ชั่วโมง ฯลฯ ซึ่งอาจจะใช้แบ่งโดยตามใจเราหรือโดยอาศัยโลกเป็นหลัก ได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาจึงเป็นแต่เพียงสิ่งที่มนุษย์ในสังคมกำหนดขึ้น โดยอาศัยการเคลื่อนไหวของโลกเป็นหลักเท่านั้น"
บางคนอาจจะเชื่อว่าเราสามารถที่จะกำหนดเวลา "ตามใจเรา" แต่ "เวลาของเรา" ที่ว่านี้ ก็ยังหาได้สอดคล้องต้องตามกันไม่ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกัน มันก็หาได้ขัดแย้งกับคำอธิบายเรื่องเวลาข้างต้นของอาจารย์นิธิไม่ เพราะดูเหมือนท่านจะเล็งเห็นความเป็นไปของ "เรา" ไว้แล้ว ดังที่คำที่ท่านได้อธิบายต่อทันทีจากข้อความที่เพิ่งยกอ้างไปในเชิงอรรถที่ 4 ว่า "มนุษย์ในฐานะของคนเพียงคนเดียวก็หาได้ใช้เวลาเหมือนเวลาที่สังคมใช้ไปทุกอย่างไม่ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่า เวลา 1 ชั่วโมง มีความยาวนานผิดกันในระหว่างคนสองคน"
ดังนั้น ยิ่ง "เรา" หมายถึงคนหลายคน เวลา 1 ชั่วโมง 1 วัน 1 เดือน 1 ปี ฯลฯ จึงย่อม "มีความยาวนานผิดกัน" ตามคำท่านว่าไว้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การที่ใครสักคนหนึ่งกำหนดเงื่อนเวลาแห่งประวัติศาสตร์ขึ้นมาให้คนทุกคนทั้งสังคมต้องยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือโรคระบาด วิกฤตใต้ ก็ย่อมดูจะท้าทายสิ่งที่อาจารย์นิธิได้ว่าไว้ถึง "ความยาวนานที่ผิดกัน" ของแต่ละคน แต่ละมาตรฐานความเข้าใจของแต่ละคน
เวลาของคนคนหนึ่งก็คือ เวลาของคนคนนั้น หาจำต้องเป็นเวลาของคนอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาของสังคม หรือเวลาของโลก และแม้แต่ "เวลาของโลก" ก็หาได้มีความ "สัมบูรณ์" ไม่ เพราะความเชื่อในเรื่องความสัมบูรณ์นั้น มันคือความคิดความเชื่อในความรู้ที่อาจารย์นิธิเรียกว่า "ความรู้ความจริงเนื้อแท้" อาจารย์นิธิอธิบายเกี่ยวกับเรื่องความรู้ความจริงเนื้อแท้โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยไว้ว่า
"สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจจะไม่ได้ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเลย แต่หลักฐานที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันอันเป็นเครื่องมือของนักประวัติศาสตร์เพื่อสืบค้นความจริงในอดีต และระบบเหตุผลที่มนุษย์เลือกใช้เพราะเห็นว่าเป็นของดีที่สุด พิสูจน์ให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงทำยุทธหัตถีจริง และนี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงของโลก หรือความจริงสัมพัทธ์ อันมีลักษณะผูกพันกับความจริงข้ออื่นๆ
และเมื่อสืบสาวไปเรื่อยๆ จะพบว่าความจริงสัมพัทธ์ทุกอันจะต้องมีรากฐานอยู่บน "สมมติฐาน" อันใดอันหนึ่ง ผิดกับความจริงเนื้อแท้ ซึ่งเราคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นอิสระ เป็นความจริงโดยตัวของมันเอง ถึงไม่มีความจริงข้ออื่น ความจริงเนื้อแท้ก็คือความจริงอยู่นั่นเอง และไม่ว่าจะสืบสาวไปอย่างไรก็จะไม่พบสมมติฐานเลย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเนื้อแท้เป็นอย่างไร เพราะยังไม่เคยมีใครพบตัวมัน สิ่งที่กล่าวเป็นเพียงแต่การ "เก็ง" อย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่าโลกเรานี้หาความจริงไม่ได้ จึงถูกต้องในแง่นี้ เพราะสิ่งที่เราถือว่าเป็นความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น"
จากที่อาจารย์นิธิเขียนเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้วว่า "สิ่งที่เราถือว่าเป็นความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น" อาจทำให้หลายคนใน พ.ศ. นี้ ตีความได้ว่า ท่านเป็นบรรพบุรุษของโพสต์โมเดิร์นเมืองไทยก็เป็นได้ ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องสนุกและแปลกดี ที่อาจารย์นิธิจะกลายเป็นโพสต์โมเดิร์นไปกับเขา หลังจากที่อะไรๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในเมืองถูกกระแสโพสต์โมเดิร์นโหมกระหน่ำซัดกลืนเข้าไป ในช่วงที่โพสต์โมเดิร์นกำลังเป็นกระแส ยิ่งถ้าได้สัมผัสกับเชิงอรรถแห่งประวัติศาสตร์ (ในสายตาของผู้เขียน) ของท่านในบทความที่ท่านเขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2509 อันเป็นเชิงอรรถที่ 5 ในบทความ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" อันมีใจความว่า :
"5. เปลโต ศาสดาแห่งทฤษฎีความจริงเนื้อแท้ ได้เปรียบไว้ว่ามนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในถ้ำ ซึ่งมีแสงสว่างเพียงสลัวๆ จากปากถ้ำเท่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ มนุษย์จึงไม่อาจแลเห็นสิ่งที่อยู่ในถ้ำได้ตามที่เป็นจริง สิ่งที่มนุษย์แลเห็นเป็นเพียงแต่เงาของความจริงเท่านั้น และมนุษย์จะไม่มีวันก้าวไปถึงปากถ้ำเพื่อได้แสงสว่างสำหรับมองดูสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริงเลย
ความคิดเช่นนี้ได้กลายเป็นความคิดที่เป็นรากฐานของชาวตะวันตก ซึ่งได้อุทิศชีวิตและแรงงานลงไปแล้วเป็นอันมากเพื่อจะตะเกียกตะกายไปสู่ปากถ้ำ เพื่อจะได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่จริงๆ จนแม้ปัจจุบันก็ยังคงทุ่มเทความพยายามอยู่ เพราะไม่มีใครเคยไปถึงปากถ้ำได้ ผลพลอยได้จากความพยายามเหล่านี้คือ ความเจริญของมนุษยชาติอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าแม้ทฤษฎีของเปลโตเป็นจริง ผู้เขียนบทความนี้ (ตัวอาจารย์นิธิ) สงสัยว่ามนุษย์จะค้นหาความจริงเนื้อแท้เพื่ออะไร และด้วย "เงาของความจริง" นี้ เราควรพยายามนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขอันถาวรในโลก เพราะอย่างน้อยที่สุด "เงาของความจริง" ก็ได้ให้ความหวังแก่มนุษยชาติแล้วว่า
เราจะทำโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นได้สำเร็จถ้าเราจะมองย้อนหลังไปหาบรรพบุรุษของเราซึ่งอยู่ถ้ำจริงๆ และตัวเราซึ่งออกมานอกถ้ำเอาชนะความมืดด้วยพลังไฟฟ้า และบางครั้งกำลังยืนหัวเราะเยาะธรรมชาติต่อหน้าทะเลสาบ ภูเขา น้ำตก ฯลฯ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน"
จากข้อความในเชิงอรรถนี้ที่มีความยาวกว่าเชิงอรรถปรกติ โดยเฉพาะ "เชิงอรรถ" ของอาจารย์นิธิ ผู้เขียนเห็นว่ามันมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจ "จุดยืนทางวิชาการ" ของอาจารย์นิธิที่เริ่มปรากฏสู่สาธารณชนตั้งแต่มีการตีพิมพ์บทความดังกล่าวเมื่อพุทธศักราช 2509 จนถึงปัจจุบัน!
อาจารย์นิธิในขณะนั้น ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่เชื่อใน "ความรู้ความจริงที่เป็นเนื้อแท้" และท่านก็ไม่เข้าใจว่า คนเราจะค้นหาความจริงพรรค์นั้นไปเพื่ออะไร เพราะดูมันจะสร้างปัญหามากกว่าจะช่วยให้มนุษย์โลกอยู่กันได้อย่างสันติสุข
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจ เราคงต้องพิจารณาเชิงอรรถดังกล่าวภายใต้บริบทของมันด้วย จะพิจารณาแต่เนื้อหาในเชิงอรรถนี้โดยลำพังย่อมไม่สามารถตัดสินชี้ชัดลงไปได้อย่างชอบธรรมนัก ดังนั้น เราจึงจำต้องกลับไปดูว่า อาจารย์นิธิใส่เชิงอรรถดังกล่าวนี้ไว้ข้างหลังข้อความตอนใดในบทความของท่าน ข้อความที่เป็นบริบทของเชิงอรรถที่ 5 มีใจความดังต่อไปนี้คือ
"ประวัติศาสตร์กับความจริงเนื้อแท้ (หัวข้อ) ในบรรดาความรู้ต่างๆ ของมนุษย์ที่ได้สั่งสมมานับด้วยเวลา 10,000 ปีนี้ เราอาจเข้าใจว่านั่นคือความจริง เป็นต้นว่า ความรู้ที่ว่าโลกมีสัณฐานกลม ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 93 ล้านไมล์ มีน้ำหนักประมาณ 6,586,242,500,000,000,000,000 ตัน มีปริมาตร 1,083,319,780,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ฯลฯ แต่ที่แท้จริงแล้ว โลกเราอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้กันในปัจจุบันนี้ก็ได้ (การกล่าวเช่นนี้ไม่เชิงจะนับได้ว่าเป็นคำกล่าวของพวกสเก๊ปติค ซึ่งไม่ยอมเชื่ออะไร)
เพียงแต่ว่าในชั่วระยะเวลานี้ เราสามารถรู้ได้เพียงเท่านี้ ด้วยเครื่องมือที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยังไม่ดีพอ และสักวันหนึ่งในอนาคต เมื่อมนุษย์อาจประดิษฐ์เครื่องมือในการค้นหาความจริงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ความรู้เกี่ยวกับโลกที่เรามีอยู่ปัจจุบันก็จะต้องเปลี่ยนไปอย่างที่ได้เคยเปลี่ยนมามากต่อมากแล้วในอดีต
จะเห็นได้ว่าความรู้ซึ่งเราถือว่าเป็นความจริงนั้น หาใช่ความจริงที่เป็นอยู่จริงๆ ไม่ ความจริงนี้เราเรียกว่าความจริงเนื้อแท้ ความจริงที่เรารู้อยู่ในปัจจุบันนี้ อาจไม่มีความสัมพันธ์กับความจริงเนื้อแท้ หรือมีความสัมพันธ์กันอยู่แต่เพียงเลือนราง เราก็ไม่อาจรู้ได้ และกฎที่ว่านี้ใช้ได้ทั่วไปหมดในทุกแขนงวิชา ไม่ว่ายีโอฟิสิกส์ วรรณคดี มานุษยวิทยา เคมี หรือประวัติศาสตร์"
จะเห็นได้ว่า จุดยืนทางความคิดของอาจารย์นิธิคือ ปฏิเสธความเชื่อมั่นอย่างหลับหูหลับตาในการมีอยู่ของความรู้ความจริงอันสัมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ท่านก็ไม่ใช่คนประเภทที่ไม่ยอมเชื่ออะไรเลยแบบหัวชนฝาอย่างพวกสเก๊ปติค (sceptic)
ว่ากันมาพอหอมปากหอมคอ ท่านทั้งหลายก็คงพอจะประจักษ์แล้วว่า บรรพบุรุษตัวจริงของจริงของโพสต์โมเดิร์นเมืองไทยคงไม่สามารถเป็นใครอื่นได้ นอกจากคนที่ชื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ! ยักษ์ใหญ่แห่งวงสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
๒. เราต้องช่วงชิงอำนาจการปกครองมาอยู่ในมือประชาชน
- นิธิ เอียวศรีวงศ์
โดย : องอาจ เดชา - วันที่ : 10/10/2548
"เพราะว่าประชาธิปไตยในขณะนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจ ยังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ขบวนการประชาชน
ต้องวางยุทธศาสตร์ให้แน่ชัด ในเรื่องการช่วงชิงอำนาจในการปกครองให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนให้มากขึ้น"
ศ.นิธิ นักวิชาการผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในงานเวทีสภาประชาชนภาคเหนือ
ที่สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ "14 ตุลา วันประชาธิปไตย
: เสรีภาพและสันติสุข"
ศ.นิธิ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดพร้อมกล่าวปฐกถา โดยได้เสนอยุทธวิธีการช่วงชิงอำนาจในการปกครองของรัฐ ให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชน ให้กับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 10 องค์กร
ย้ำ "ขบวนประชาชน"
คือ สถาบันทางการเมือง
ศ.นิธิ กล่าวว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เราจะพบว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยใช้กระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมีเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตยในโลกทุกแห่งปัจจุบันนี้
ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย ซึ่งขอเรียกว่า "ขบวนการประชาชน" ได้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง
แต่ไม่มีใครพูดถึงขบวนการประชาชน
"ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นสถาบันทางการเมือง ที่เกิดขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเกิดขึ้นทุกแห่งในโลก และได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญ และมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีเพียงรูปแบบเดียว นับตั้งแต่ขบวนประชาชนกลางถนน เช่น การเดินขบวนบนถนนราชดำเนิน เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 หรือย้อนกลับไปยังเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2516 โดยเฉพาะขบวนประชาชนบนถนนราชดำเนิน ปี 2516 ของประเทศไทย ได้เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาหลายแห่งด้วยกัน หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เกิดขบวนการล้มล้างอำนาจเผด็จการในประเทศกรีก และขบวนการประชาชนกลางถนนในกรีกนั้น มีคำขวัญที่ตะโกนกันว่า "BANGKOK" กันบนท้องถนน คือได้เอาแบบอย่างขบวนการประชาชนบนถนนราชดำเนิน ในกรุงเทพฯไปใช้จนได้ผล สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการในประเทศกรีกลงได้"
ศ.นิธิ กล่าวว่า หลัง 14 ตุลา ได้เกิดขบวนการประชาชนตามมาอีกหลายแห่ง ไม่ว่าขบวนการประชาชนทุบเขื่อนปากมูล ขบวนการกลางป่า ที่ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน แม้กระทั่งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ การตั้งวนเกษตร ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมเหล่านี้ถือว่าเป็นขบวนการประชาชนทั้งสิ้น เพื่อเป็นการหลบหลีกผลการตัดสินใจของคนอื่นที่มีอำนาจ ซึ่งพยายามจะให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว นี่ถือว่า เป็นขบวนการประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากเราดูทั้งประเทศ จะพบว่ามีขบวนการประชาชนในหลายรูปแบบ เป็นพันๆ แห่ง และมีความสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยด้วย
หัวใจคือ กระจายอำนาจสู่ภาคประชาชน
ศ.นิธิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึงบัดนี้ เชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตอนนี้
มันเปลี่ยนไปแล้ว คือไม่ใช่แค่เรื่องต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการเลือกตั้ง แต่จะมีการขยับเข้ามาในด้านเนื้อหามากขึ้น.
ระบอบการเลือกตั้งที่ได้มาหลัง 14 ตุลา 2516 เชื่อว่ายังคงเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าจะถูกรัฐประหารเมื่อปี
2534 จากกลุ่มคนที่มีอาวุธเข้ามายึดอำนาจไป แต่ในความเป็นจริงพบว่า มันอยู่ไม่ได้
ใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็เลิกเลย ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ตนเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งในเมืองไทยนั้นมีความมั่นคงแน่นอน
แต่ยังไม่พอ เพราะว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจ ยังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ขบวนการประชาชน ต้องวางยุทธศาสตร์ให้แน่ชัด ในเรื่องการช่วงชิงอำนาจในการปกครองให้เข้ามาอยู่ในมือประชาชนให้มากขึ้น
จะพัฒนาขบวนการประชาชนกันได้อย่างไรนั้น อย่างแรก จะต้องมีการกระจายอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คืออำนาจในการจัดการและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางสังคม ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และทรัพยากรทางวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการให้กับชุมชนท้องถิ่น
"แต่ที่ผ่านมา รัฐมักจะกระจายแต่งบประมาณจากส่วนกลาง แต่ไม่เคยกระจายอำนาจในการจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ การให้เงินอย่างเดียวนั้นไม่ได้เรียกว่าการกระจายอำนาจ แต่เป็นการซื้ออำนาจ เป็นการหวงอำนาจมากกว่า ฉะนั้นการกระจายงบประมาณ จึงต้องมาพร้อมกับอำนาจในการจัดเก็บภาษี และอำนาจในการจัดเก็บภาษี ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องเป็นอำนาจในท้องถิ่น ไม่เช่นนั้น ไม่สามารถจัดการดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นได้ เพราะทุกวันนี้ รัฐได้ใช้ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นเครื่องมือในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ที่ถูกอยู่ใต้การปกครอง"
เน้นสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม
ศ.นิธิ กล่าวว่า วัฒนธรรมนั้นมีพลังและความสำคัญอย่างมาก หากเราปล่อยให้คนอื่นเข้ามาจัดการกับวัฒนธรรมของบ้านเราอย่างนี้
เราจะต้องยอมจำนนอยู่ตลอดไป ฉะนั้นการศึกษา ไม่ว่าวิธีการศึกษา กระบวนการศึกษา
ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ส่วนกลางเข้าไปกำหนดบทบาทการจัดการศึกษาทั้งระบบ
ไม่ใช่ว่าทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาการศึกษาจะต้องถูกรวมศูนย์ ตั้งแต่สุไหงโกลกยันถึงเชียงราย
แต่คนท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจในการกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่าว่าทุกคนนั้นเป็นคนไทย
และนิยามกันเองว่า คนไทยแปลว่าอะไร ซึ่งเราต้องนิยามกันเองว่า คนไทยคืออะไร
"คนที่เป็นชาวมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ในภาคใต้ เขาก็เป็นคนไทย แต่เขาขอใช้สิทธินิยามว่า เป็นคนไทยแบบเขานั้นเป็นอย่างไร แม้ชาวเขาที่อยู่บนดอย เขาก็มีสิทธิที่จะนิยามว่า เป็นคนไทยแบบเขานั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องมีอำนาจในอัตลักษณ์ของตนเอง แม้กระทั่งศาสนา ประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างของสังคม"
เสนอสร้างแนวร่วมคนชั้นกลาง
ทั้งนี้ ศ.นิธิ กล่าวว่า ในขณะนี้ ชนชั้นปกครองมีการแบ่งแยกมากขึ้น เพราะฉะนั้น
ภาคประชาชนจะต้องสร้างแนวร่วมกับกลุ่มที่กำลังถูกเบียดขับออกไป นั่นหมายถึงคนชั้นกลาง
คืออย่าไปรังเกียจคนชั้นกลาง เพราะว่าในขณะนี้คนชั้นกลางมีจำนวนไม่น้อยที่กำลังเสียเปรียบ
กำลังถูกเบียดขับไปจากกระบวนการตัดสินใจ ขบวนการภาคประชาชนจะต้องเข้าไปร่วมงานกันกับกลุ่มคนชั้นกลางให้มากขึ้น
"ขบวนประชาชนจะต้องเข้าใจการทำงานของทุนนิยมด้วย
ซึ่งการทำงานของทุนนิยมนั้น จริงๆ แล้ว มันมีช่องโหว่มากมาย เราสามารถอาศัยช่องโหว่นั้นเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนได้
เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจทุน และพยายามมองหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบทุน และเข้าไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด"
ศ.นิธิ ได้พูดถึงประเด็น การผูกขาดของนายทุนที่เข้าไปรวบสื่อเอาไว้ในมือ โดยได้กล่าวว่า
สื่อส่วนกลางในเวลานี้ ทั้งในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีเจ้าของเพียง
5 รายเท่านั้น ซึ่งน่ากลัวมาก และในเมืองไทยกำลังมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น.
อาจารย์ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ว่า ขณะนี้ สื่อส่วนกลางมักจะอยู่ในมือของทุนอย่างหนาแน่น
เพราะทุนนิยมมันคิดแต่จะทำกำไร ฉะนั้นสื่อที่อยู่ในมือทุน จึงมีความจำเป็นที่จะยอมทำในสิ่งที่ขัดผลประโยชน์ของตัวเองในบางครั้งบางคราว
เช่น กรณีที่มีการเทคโอเวอร์สื่อในเครือมติชน กับบางกอกโพสต์
"ขอให้สังเกตให้ดีว่า โทรทัศน์ที่เคยสยบยอมต่ออำนาจตลอดมา ในช่วงนั้นโทรทัศน์จะออกมาเสนอข่าวที่เป็นศัตรูกับฝ่ายที่เทคโอเวอร์ แม้กระทั่งช่องโทรทัศน์ที่นายทุนซึ่งทำธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของ ยังต้องรายงานข่าวออกมาในลักษณะที่เข้าข้างมติชนและบางกอกโพสต์ เพราะอะไรหรือ ไม่ใช่เพราะว่ารักมติชน หรือบางกอกโพสต์ เพราะมันรักประชาธิปไตย หรือเหตุเพราะมันรักประชาชนหรือ ไม่ใช่หรอก, แต่เพราะว่า กระแสสังคม กระแสของประชาชนในขณะนั้นรุนแรง จนกระ ทั่งว่าถ้าโทรทัศน์ของทุน ไม่ออกมาเสนอข่าวอย่างนั้น หวั่นกลัวว่าจะโดนกระแสต่อต้านของภาคประชาชนไปด้วย กำไรก็จะหดนี่คือจุดอ่อนของทุน"
ศ.นิธิ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจกลไกตลาดของระบบทุน เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ แต่ในเวลานี้ คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงระบบทุน มักจะพูดถึงประโยชน์ส่วนตัวกันหมด ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะยังมีคนเข้าไปอยู่ในระบบทุน ทำการตลาดเพื่อสังคม หรือที่เรียกว่า Social Marketing เหมือนกับกรณีของพรรคกรีน ในประเทศยุโรป สามารถเข้าไปสร้างกลไกทำให้พืชผลการผลิตที่มีสารพิษปนเปื้อนทั้งหลาย แทบจะขายในยุโรปไม่ได้เลย ดังนั้น เราจะต้องคิดกันว่าเราจะใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวในขบวนประชาชนได้อย่างไร เพื่อขยายอำนาจของภาคประชาชน
นอกจากนั้น อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า ขบวนประชาชนจะต้องมีการพัฒนารูปแบบองค์กรให้มีประสิทธิภาพ มีอำนาจในการจัดองค์กร มีความอิสระเสรีให้ได้ รวมทั้งจะต้องคิดถึงเครือข่ายองค์กรทั้งในระดับชาติ และในระดับนานาชาติว่าจะมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร "นี่คือภารกิจของเรา ที่จะสานต่อจิตวิญญาณของ 14 ตุลา ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งเรียกร้องประชาธิปไตย เพียงแค่การเลือกตั้งนั้นไม่ได้ แต่จะต้องช่วยกันคิดและลงมือกันว่า ทำอย่างไรถึงจะให้อำนาจของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยนั้นให้ได้"
แน่นอน พัฒนาการของประชาธิปไตยแบบนี้ ย่อมกระทบต่อรัฐชาติอย่างแน่นอน เพราะว่ารัฐชาติในขณะนี้ยังชอบรวมศูนย์อำนาจทั้งหมด แต่หากประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ รัฐชาติก็จะต้องยอมปรับตัวด้วย และยอมรับความหลากหลายให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นรัฐชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างศตวรรษที่ 19 เรายังคงมีความเป็นชาติอยู่เหมือนเดิม แต่ว่าสำนึกที่มีต่อรัฐชาตินั้นจะแตกต่างกันไป
ฉะนั้น ถ้าเราจะรำลึกถึง 14 ตุลา วันประชาธิปไตย ก็อยากให้เรารำลึกถึงภารกิจของเรา ที่จะต้องช่วยกันขยายพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่แต่เพียงหลักการและรูปแบบ ที่ซึ่งเนื้อหาความเป็นจริงนั้น ประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่ได้ให้อำนาจแท้จริงแก่ประชาชนเลย"
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเนื้อแท้เป็นอย่างไร เพราะยังไม่เคยมีใครพบตัวมัน สิ่งที่กล่าวเป็นเพียงแต่การ "เก็ง" อย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่าโลกเรานี้หาความจริงไม่ได้ จึงถูกต้องในแง่นี้ เพราะสิ่งที่เราถือว่าเป็นความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น"