The Midnight University
ความเชื่อและวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม
3 R กับการฝ่าข้ามกำแพงไปเพื่อสันติภาพ
ดร.
สุกรี หลังปูเต๊ะ
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา
หมายเหตุ
ความเชื่อและวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม
บทความชิ้นนี้
มาจากจากการสัมมนาพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส ประจำปี ๒๐๐๕
ซึ่งจัดโดย สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เมื่อวันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘
ณ บ้านชุมพาบาล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
เพื่อให้พระสงฆ์ นักบวช และพี่น้องคริสตชน ได้ร่วมเรียนรู้ เข้าใจและสมานฉันท์
ต่อสถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 743
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)
โครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่ใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องโครงสร้างทางสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งผมจะพูดในลักษณะที่เป็นพัฒนาการความเชื่อและศาสนาโครงสร้างทางสังคมใหม่ซึ่งทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ก็คือ
วิถีชีวิตมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับวิถีชีวิตมุสลิมที่อื่น
และสถานการณ์ปัจจุบัน เรามีทางออกและทางเลือกอะไรบ้างกับเหตุการณ์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น
สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีการถดถอยของความรู้ เพราะว่าเราไม่ค่อยกล้าที่จะคิดออกนอกกรอบ ไม่ค่อยกล้าที่จะคิดมากไปกว่าที่ครูสอนเรา เราถูกสอนมาเพื่อไม่ให้คิดมากไปกว่าที่ครู ที่อุสตาซ ผู้เฒ่าผู้แก่สอนเรา การนำเสนอของผมอาจเป็นการนำเสนอผ่านมุมมองจากกรอบของมุสลิมที่ผมนับถือศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดภาคใต้ เราคิดว่าองค์ความรู้ใหม่ที่น่าจะพัฒนาร่วมกันใน 3 - 4 ศาสนาใหญ่ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วครับ เพราะฉะนั้นเพื่อจะได้มาซึ่งแนวทางออกหรือทฤษฎีใหม่ในการแก้ไขปัญหา
ถ้าหากว่ามาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในอดีตนั้นทางคริสต์เองก็มองว่ามุสลิมก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับคริสตัง มุสลิมเองก็มองไม่ได้ต่างไปจากที่ท่านทั้งหลายเคยมอง เรามองว่าท่านคือคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามเรา คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถมานั่งด้วยกันได้เพราะเรามีความเชื่อต่างกัน เพราะฉะนั้น เรามีภารกิจร่วมกัน เรามีหน้าที่ร่วมกันนั่นก็คือนำมาซึ่งสารของสัจธรรม พาคนที่ไม่ได้รับความจริง พาคนที่ไม่ได้รับความถูกต้อง มาสู่ความจริง ความถูกต้อง ไปสู่ทางรอด ไปสู่สรวงสวรรค์ ไปสู่ความสันติภาพที่ยั่งยืน
ในมุมมองมุสลิมนั้น คนที่ปฏิบัติจริงๆ ก็คือคนในระดับรากหญ้า ในขณะที่คนที่มีโอกาสนำมาซึ่งกฎใหม่ๆ เพื่อให้คนมุสลิมทั้งหลายเอาไปใช้นั้น เป็นคนที่อยู่อีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะมีคนระดับที่ปฏิบัติงานจริงๆ กับคนที่อยู่ในระดับนโยบาย ถ้าจะดูรายละเอียดก็คือ อิหม่ามก็ทำหน้าที่ของอิหม่ามไป สัตบุรุษในมัสยิดก็ทำของเขาไป ไม่ค่อยมีโอกาสได้มาทำหน้าที่ร่วมกัน
สมมุติว่าปัญหาภาคใต้ของไทย ปัญหาของประเทศไทยที่เราเจอกันอยู่ปัจจุบันนี้ จากภาพ (แรดถูกคนสองคนยก) ถ้าแต่ละศาสนาลองจับคนละข้าง เท้าคนละข้าง คริสเตียนดูแลเท้าหนึ่งและแบก พี่น้องที่เป็นพุทธสักเท้าหนึ่งแล้วก็แบก มุสลิมแบก ผมคิดว่าแรดตัวนี้คงไม่หนักขนาดนี้
ที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบแข่งขัน คนที่พ่ายแพ้ไม่ได้รับรางวัล เป็นคนที่ไม่สามารถเสนอหน้าต่อสาธารณชน แต่คนที่ชนะนี่ มือเท้าสะเอวแล้วก็ดูคนอื่นว่า เอ๊ะ ทำไมไม่ได้ที่หนึ่งเหมือนกับฉัน ในขณะที่คนได้ที่สอง เป็นคนที่ไม่ค่อยยอมรับชัยชนะของคนอื่น และคนที่ได้ที่สามก็งงว่าได้ที่สามได้อย่างไร นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในสังคมของผม เป็นสังคมมุสลิมก็จริง แต่เป็นสังคมมุสลิมที่อยู่ในกรอบของสังคมไทย ซึ่งผมมองว่าคงไม่ต่างกันมากนักกับสังคมไทยโดยภาพรวม ดังนั้นท้ายที่สุด ภาพนี้จึงเกิดขึ้น คือเราขาดทีมเวิร์ค
ถ้าผมมองในมุมมองของอิสลามก็คือ ปัจจัยภายในที่เป็นปัจจัยระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง เราก็มีหลาย School of Thought เราคงไม่ใช่ลักษณะของนิกาย แต่ว่าเป็นแนวความคิดที่แตกต่างกัน มีชีอะห์ มีซุนนี เราต่างสร้างรางรถไฟคนละเส้น ชีอะห์ก็สร้างทางของชีอะห์ไป ซุนนีก็สร้างทางของซุนนีไป ผลสุดท้ายก็ต่อกันไม่ติด ปรากฏว่ามาไม่ถึงบ้าน นี่คือเหตุผลหนึ่งซึ่งผมมองว่าการทำงานในวันนี้ การแก้ปัญหาก็ดี การทำงานร่วมกันก็ดี การสร้างความสมานฉันท์ก็ดี ถ้าเกิดภาพนี้ขึ้นมาเราจะเหนื่อย เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ เราต้องทลายกำแพงให้ได้
กำแพงที่กั้นระหว่างภายในตัวเราเอง ถ้าเป็นมุสลิมก็ภายใน School of Thought ภายในสำนักคิด สำนักคิดที่มีอยู่ในศาสนาของเรา เรากำลังทำหน้าที่ในการพยายามทำให้กำแพงนี้ล้มลง แล้วกลายเป็นสะพานที่จะสานต่อทำให้เกิดการเสวนาร่วมกันระหว่างกลุ่มหนึ่งกับอีกกลุ่มหนึ่ง
ถ้ามองภายนอกก็คือ ระหว่างมุสลิมกับคริสตชน และกับพุทธศาสนิกชน ซึ่งผมมองว่าวันนี้วิกฤตที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด คงจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่คนไทยจะต้องมาร่วมกันตระหนัก ที่จะสร้างวิกฤตเหล่านั้นให้เป็นโอกาส เราคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันน่าจะเป็นโอกาสสำหรับเราทุกๆ คน ทุกๆ ศาสนาด้วย ถ้าเราสามารถทลายกำแพงนี้ได้ ผมมั่นใจเหลือเกินว่ากำแพงนี้จะเป็นสะพานที่ค่อนข้างจะมั่นคง
วันนี้ผมกำลังมาทำหน้าที่เป็นสะพานที่จะเชื่อมต่อพี่น้องมุสลิมที่เชื่อในอัลเลาะห์และศาสดามูฮัมหมัด กับพี่น้องที่เชื่อมั่นในคริสต์ศาสนา ผมสามารถทำได้หรือไม่นั้น มุสลิมเชื่อว่าให้เราพยายาม ที่เหลือเป็นหน้าที่ของพระเจ้า ความพยายามอยู่ที่เรา แต่การอนุมัตินั้นอยู่ที่พระเจ้า
ในวิกฤตของประเทศไทย ผมไม่กล้าที่จะบอกว่ามุสลิมทั้งโลกเป็นแบบนั้น มุสลิมด้วยกันเอง ถึงแม้เราจะมีความเชื่อใน "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์อัลเลาะห์" และมูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์ เรายังมีความหลากหลายในตัวของเราเอง มีความแตกต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเชื่อในประเพณีและวัฒนธรรม มุสลิมในโลกอาหรับและมุสลิมในแอฟริกา มุสลิมในยุโรปกับมุสลิมในประเทศไทย มีความแตกต่างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเยอะมาก
บางคนมีความคิดว่า ทำไมมุสลิมต้องคลุมผม ทำไมต้องไปเลียนแบบสาวอาหรับด้วย แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วมิติของการคลุมผมเป็นเรื่องของศาสนา แต่ว่าจะคลุมสีอะไร จะคลุมลายกนก หรือว่าจะคลุมลายบาติก จะคลุมลายอะไรก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับมิติของวัฒนธรรมประเพณี ตรงนี้เองผมมองว่าเป็นความสวยงามของท้องถิ่น ถ้าหากว่าภาพนี้เกิดขื้น อิหม่ามก็ดี กรรมการกลางจังหวัดก็ดี บรรดาผู้อาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ทางศาสนา หรือมุสลิมที่มีโอกาสในการทำงานกับรัฐ แล้วลงมาคลุกคลีกับคนที่ทำงานในระดับรากหญ้าจริงๆ ผมว่าเราจะได้เจอคำตอบตรงนี้มากมาย เพราะฉะนั้นการทำงานในอนาคต จากวิกฤตที่เกิดขึ้นสอนให้เรารู้ว่า ต่อไปนี้เราจะนั่งอยู่ในห้องและคิดว่าคนอื่นคิดเหมือนเราไม่ได้อีกแล้ว เราต้องลงไปในพื้นที่และมองว่าสิ่งที่เราคิดนั้น คนอื่นคิดเหมือนเราสักประมาณ 1 เปอร์เซนต์ถึงไหม
ดูจากลายนิ้วมือของคนทุกคนเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังจะบอกเราทุกคนว่า คนทุกคนมีความเป็นที่หนึ่งที่คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ แต่เราจะค้นเจอสิ่งเหล่านั้นหรือไม่เท่านั้นเอง หน้าที่ของเราทุกๆ คน คนที่เชื่อในพระเจ้า ผมมองว่าเราจะทำอย่างไรให้อำนาจของพระเจ้าที่ให้เรามีอำนาจในการทำงาน ให้คนแต่ละคนค้นเจอความจริงของตัวเองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เท่านั้นเอง และให้ค้นเจอว่า จริงๆ แล้วคนเราทุกคนเป็นที่หนึ่ง โดยที่หนึ่งของแต่ละคนก็เป็นที่หนึ่งของแต่ละความสามารถไป ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ผมคิดว่า คนเราทุกคนจะมีความสุขมากขึ้น การที่จะไปสู่จุดนั้นได้ก็คือจะต้องยอมรับในความแตกต่าง ความหลากหลายความสามารถที่แต่ละคนมีต่างกัน
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามุสลิมมีภรรยาได้หลายคน ท่านศาสดามีภรรยาหลายคน แล้วเราก็สามารถมีภรรยาหลายคน จริงๆ แล้ว เคร่งครัดมากครับ เงื่อนไขในการมีเกินกว่าหนึ่งนั้นยากมากๆ สำหรับคนที่จะเป็นมุสลิมที่ดี เพราะหากว่าคุณพลาดโอกาสในการบริการ ในการปรนนิบัติให้ดีนั้น โอกาสที่คุณจะได้เข้าสวรรค์ก็จะน้อยกว่าการที่คุณมีภรรยา 1 คน ไปดูรายละเอียดในการเป็นสามีที่ดี ในการเป็นคุณพ่อที่ดีมันไม่ง่ายเลยครับ ในทางสวรรค์ถ้ามีภรรยาเพิ่มมา 1 คน หมายความว่ามีประตูเหล็กมากั้นอีก 1 ช่อง มีสองคนก็เพิ่มมาอีกช่องหนึ่งทำให้ประตูที่จะเข้าสวรรค์แคบลงๆ ไม่ใช่ง่ายๆ
ผมคิดว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด สามารถแก้ได้โดยวิธีนี้วิธีเดียว ถ้าคนทุกคนสามารถกอดกันบนพื้นฐานของความรักที่ไม่จำเป็นต้องยึดถือในลักษณะที่เหมือนกัน แต่สามารถที่จะรักกันได้ เพราะบทบาทหนึ่งของมูฮัมหมัดที่ถูกส่งมา ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า พระเจ้าบอกกับเราว่า "และฉันไม่ได้ส่งสูเจ้าไป (เป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วยการปฏิเสธ) เว้นเสียแต่ว่าเป็นการส่งเพื่อนำมาซึ่งความโปรดปรานสำหรับมวลมนุษยชาติทั้งจักรวาล" นี่เป็นคำตรัสของพระเจ้าที่ส่งมูฮัมหมัดมา เมื่อ 1,400 กว่าปี เป็นความจริงที่เราจะต้องค้นหาให้เจอโดยเฉพาะคนที่เป็นมุสลิม หน้าที่ของมูฮัมหมัดไม่ใช่ที่จะเอาดาบไปไล่แทง ไล่จ้วง ไล่ตัดคอคนนั้นคนนี้ แต่นำมาซึ่งความโปรดปราน ความปรานี ความเมตตา ให้เกิดบน ณ แผ่นดินนี้ ซึ่งคงไม่ต่างจากภารกิจหน้าที่ของพระเยซู
เพราะฉะนั้นผมคิดและเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ปัญหาทั้งหมดถ้าต้องการแก้ต้องแก้ด้วยหัวใจ ถ้าหากต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง เราคงไม่สามารถละเลยความจริงนี้ไปได้ เพราะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นและเป็นความจริงที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไป เพราะมันเกิดขึ้นแล้วและเป็นประวัติศาสตร์
โครงสร้างสังคมเดิม
: พัฒนาการความเชื่อและศาสนา
ผมมองว่าการเดินทางมาของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ก็คือ การเดินทางมาของคัมภีร์ที่ทำให้คนในพื้นที่นั้นมีอารยธรรมมีวัฒนธรรมขึ้นมา
แต่ก่อนหน้านั้นคนมีความเชื่อถือในผีสางเทวดานางไม้ เจออะไรที่มีความรู้สึกว่ายิ่งใหญ่ก็ไหว้
เหมือนกับสังคมไทยในปัจจุบันที่เจออะไรที่แปลกประหลาดก็ขอหวย นี่คือสังคมที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้
เป็นสังคมที่เคยเกิดขึ้นก่อนที่ศาสนาต่างๆ จะเดินทางเข้ามาถึงที่นี่
จากเดิมที่บรรพบุรุษของเราเชื่อในภูตผีปีศาจซึ่งไม่มีในคัมภีร์ เพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้ที่คนเอาไปใช้บ้างไม่ใช้บ้างไม่ใช่เป็นความเชื่อแล้ว แต่เป็นสิ่งที่มันตกทอดมาและรู้สึกว่ายังขลังอยู่ ก็ใช้ไป ต่อมาการเดินทางเข้ามาของพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายแถบภาคใต้ทำให้ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูมาถึงที่นี่ และเกิดการเลื่อมใสในศาสนานี้ของคนกลุ่มนั้นจึงทำให้มีคนที่มีหน้าตาผิวพรรณอย่างเราๆ นี่แหละ
ตอนนั้นมีคนที่เชื่อในภูตผีปีศาจและก็มีศาสนาหนึ่งเดินทางเข้ามาคล้ายๆ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ เช่น พระพรหม พระวิษณุ ตรีมูรติ ฯลฯ นั่นคือภาพของคนในสมัยนั้น ไม่ใช่ภาพของคนอินเดีย แขกอินเดีย และเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่ เป็นคนที่มีหน้าตาอย่างเรา แต่เป็นพราหมณ์-ฮินดู และเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ศาสนาพุทธก็เดินทางมาตามเส้นทางเดียวกันกับของคนที่เดินทางมาทำมาค้าขาย และมีคนกลุ่มหนึ่งไปเลื่อมใสศาสนาพุทธขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อศาสนาอิสลามเดินทางเข้ามาในพื้นที่
ผมจะโฟกัสเฉพาะในโลกมลายู แหลมมลายู และ 3 จังหวัดภาคใต้ เมื่ออิสลามเดินทางเข้ามาก็มีคนกลุ่มหนึ่งหันไปเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม ปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นกับท่านทั้งหลาย นั่นก็คือว่า มีคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ ในขณะที่ท่านยังมีพี่น้องมีพ่อแม่ที่ยังเป็นพุทธอยู่ ในช่วงเวลานั้นบรรพบุรุษของผมที่เป็นมุสลิม ตอนที่กล่าวคำว่าอัลเลาะห์ พ่อแม่พี่น้องของเขาก็ยังเป็นพราหมณ์เป็นพุทธอยู่แต่เขาเลือกที่จะเป็นมุสลิม และนานเข้า 100 ปี 200 ปี คนเราเมื่อเชื่อในสิ่งเดียวกันก็ต้องมีสังคม มีมัสยิด มีโบสถ์ มีวัดขึ้นมา ก็ต้องแยกตัวออกมาจากพี่น้องเพื่อที่จะมามีชมรมมีสังคมร่วมกัน ทำให้เกิดชุมชนใหม่ขึ้นมาเพราะฉะนั้นวิถีชีวิตทำให้เราเกิดประชาคมใหม่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
อิสลามานุวัตร (Islamology)
ในส่วนของอิสลามนั้นมีอยู่ 2 ทฤษฎี
- ทฤษฎีที่หนึ่งคือ ทฤษฎีอินโดปาร์ค (Indo - Pak Theory)
- ทฤษฎัที่สองคือ ทฤษฎีอาหรับ (Arab Theory)
หรือแม้กระทั่ง ยอร์ช เซเดย์ ของฝรั่งเศสก็พยายามจะพูดถึงขบวนการ ซึ่งไม่ใช่การเดินทางมาของคนที่นำศาสนาอิสลามมาจากอาหรับโดยแท้ แต่ว่ามาพำนักพักอาศัยที่อินเดีย เหตุผลที่ท่านเหล่านี้บอกว่า อิสลามที่มีอยู่ในพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดหรือในมาเลเซีย มาจากอินเดีย ก็เพราะเขาเห็นพฤติกรรม วิถีชีวิตที่ยังคงมีสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตแบบฮินดู พราหมณ์ พุทธ อยู่ เวลาขึ้นบ้านใหม่
ผมยังจำได้ว่า คุณพ่อผมจะสร้างบ้านใหม่ เอามะพร้าวผูกไว้ที่เสากลาง มีผ้าสีน้ำเงินสีขาวสีแดงผูกไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในคำสอนของอิสลาม แต่มีคนปฏิบัติอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในภาคใต้แหลมมลายูมองว่า ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ซึ่งผมมองแตกต่างกันออกไป มันไม่ใช่การยืมเอามาจากอินเดีย แต่มาจากการที่คนเหล่านั้นเคยเป็นพราหมณ์เป็นฮินดูเป็นพุทธมาก่อน จึงยังมีสิ่งหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้มองในส่วนที่ผสมปนเประหว่างอารยธรรมกับวัฒนธรรมอินเดีย และอีกอย่างหนึ่งเขามองว่ามีเส้นทางค้าขายจากอินเดียมาบริเวณเหล่านี้อยู่แล้ว
แต่ในขณะเดียวกันมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ผมมองว่าหลายๆ คนในพื้นที่จะพอใจในทฤษฎีที่สองมากกว่า ด้วยเหตุผล 2 - 3 ประการ เรียกว่า Arab Theory ประการแรกทฤษฎีบอกว่าอิสลามไม่ได้เดินทางมาจากเมกกะ แต่มาจากอาหรับเยเมน มีสิ่งยืนยันที่ให้เราเห็นว่ามาจากอาหรับเยเมนจริงๆ ด้วยก็คือ ผ้าคลุมที่เราใส่กันในภาคใต้ไม่ใช่ผ้าถุงแบบอินเดีย ถ้าผ้าถุงแบบอินเดียเราจะเห็นมีสีขาวหรือแบบอินเดียๆ แต่ปรากฏว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้กลายเป็นผ้าถุงลายแบบเยเมน เป็นบาติกไปเลย แสดงว่าวิกฤตของการบูรณาการกับวิถีชีวิตประเพณีในชุมชนเปลี่ยนมากทำให้เกิดผ้าถุงแบบใหม่ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นผ้าถุงลายสก็อตอะไรต่างๆ ไม่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตหรือวิถีนุ่งผ้าถุงแบบเยเมน และวิธีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานเราไม่ได้อ่านแบบมุสลิมที่อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน หรือชมพูทวีป
ประการที่สอง สำนักคิด ซึ่งมีผลต่อการให้คนที่นี่เป็นคนที่คิดแบบนั้นแบบนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักและบัญญัติ แต่ปรากฏว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดก็ดี หรือคนไทยทั้งประเทศส่วนใหญ่หรือคนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ส่วนใหญ่นับถือสำนักคิดชาบีญีร์ ซึ่งท่านชาบีญีร์เป็นชาวอียิปต์ แต่ขณะเดียวกันอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ จะเป็นอีกสำนักคิดคือ มานีกีร์ หรือว่า ฮานาฟีร์ เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ Arab Theory ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาของอิสลาม
เมื่ออิสลามเดินทางเข้ามาเกิดอะไรขึ้น จากเดิมที่เขาเคยเชื่อในคัมภีร์เวตาลอุปนิษัทในช่วงที่เป็นพราหมณ์ - ฮินดู พอมาเป็นพุทธผ่านพระไตรปิฎก แต่พออิสลามเดินทางเข้ามาอัลกุรอานก็เดินทางเข้ามากลายเป็นธรรมนูญชีวิตฉบับใหม่ จากเดิมที่เขาเชื่อในธรรมนูญชีวิตฉบับก่อนๆ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน กลายเป็น Code of Life
ทีนี้เมื่ออัลกุรอานกลายเป็นธรรมนูญชีวิต กลายเป็นคัมภีร์แห่งชีวิต อิสลามก็กลายเป็น Way of Life ใหม่ จากเดิมที่เชื่อในพระเจ้าที่ไม่จำกัด (ยุคก่อนพราหมณ์ - ฮินดู) และมีพระเจ้ามาในจำนวนจำกัดแต่ว่ามีชื่อชัดเจน (ยุคพราหมณ์ - ฮินดู) มีพระพรหม พระอิศวร พระวิษณุ อะไรต่างๆ และมาเชื่อในความเชื่อที่ไม่มีพระเจ้าในพุทธศาสนา
ระบบชีวิตในอิสลาม
เมื่อเป็นมุสลิม สิ่งหนึ่งที่มุสลิมแตกต่างจากวิธีคิดเดิมก็คือ ระบบชีวิตที่แต่เดิมอาจมีอิทธิพลจากอวตาร
ความคิดเกี่ยวกับนิพพาน มาเชื่อในระบบชีวิตที่ว่ามีโลกหน้า การศึกษาก็มีมิติมีปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างจากเดิม
การแต่งกายก็แตกต่างจากเดิม ภาษาก็แตกต่างจากเดิม มุสลิมยอมรับพระเจ้าเป็นพระเจ้าสูงสุด
มีพระมูฮัมหมัดเป็นพระศาสดา เขาจะมีโลก 3 โลกที่ค่อนข้างชัด คือ
- โลกแห่งวิญญาน,
- โลกดุนยาหรือโลกปัจจุบัน, และ
- โลกอาคิเราะฮฺ คือโลกสุดท้าย โลกที่ยั่งยืน โลกที่ถาวร
แต่หลักก็คือต้องเชื่อในพระเจ้า เพราะรักษาไว้ซึ่งสัญญาที่เคยให้ไว้กับพระเจ้าในโลกที่เรายังไม่กำเนิดมาเป็นคน ซึ่งคงไม่แตกต่างจากท่าน ผมมั่นใจว่าต้องมีส่วนที่เหมือนกันมากกว่าส่วนที่ต่างกัน เพราะในหลักการแล้วเรามีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน แต่ว่าอรรถาธิบายต่างกัน
ศาสนบัญญัติ 5 ประการ
เพราะฉะนั้นจากตรงนี้มาทำให้เกิดภาพ ภาพของมุสลิมแต่ละคนจะต้องมีหลักศาสนบัญญัติหรือหลักปฏิบัติที่จะต้องทำเป็นกิจวัตรหรือต้องทำเมื่อมีความสามารถ
มีอยู่ 5 ประการ ที่เราเรียกว่ากฎอิสลาม หรือหลักอิสลาม จะเป็นมุสลิมจะต้องทำสิ่งเหล่านี้
5 อย่าง
ประการที่หนึ่งคือ การกล่าวปฏิญาณ ฉันขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากอัลเลาะห์ และฉันขอปฏิญาณว่า พระมูฮัมหมัดเป็นศาสดาของพระอัลเลาะห์ มุสลิมมองว่า นี่ขอพูดตามตรงเลยนะครับว่า เรายอมรับในศาสดาของท่านแต่ท่านไม่ยอมรับในศาสดาของเรา นี่คือสิ่งที่มุสลิมส่วนใหญ่เขามองกัน มองว่าเรายอมรับในศาสดาของพี่น้องชาวคริสต์ แต่ชาวคริสต์ ชาวยิวไม่ยอมรับในศาสดาของเรา นี่คือสิ่งที่พี่น้องมุสลิมพูดกันอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ในอิสลามเรามีคำสอนของอัลกุรอานบอกว่า "ไม่มีการบังคับขู่เข็ญกันในศาสนา" เป็นคำในคัมภีร์อัลกุรอาน "ไม่มีการบังคับขู่เข็ญกันในการเลือกศาสนา" ถ้าหากว่าเราจะนำสารของศาสนาของเราไปเผยแพร่ธรรม ถ้าหากเขารับบนพื้นฐานที่มีเงื่อนไข คงไม่มีความสุขมากไปกว่าเขาได้สิ่งเหล่านั้นและใจเขาอยู่กับพระศาสนา แต่ถ้าเขารับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เงื่อนไขของเขาก็คือการกลับเข้าหาพระเจ้า ผมมองว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์กว่า
และอีกอย่าง มุสลิมจะอ่านบทหนึ่งเวลาละหมาด "และสำหรับท่านคือศาสนาของท่าน สำหรับเราคือศาสนาของเรา" ตรงนี้ผมมองว่าเป็นการให้เกียรติ คือ พูดถึงท่านก่อน ก่อนที่จะพูดละความเป็นอีโก้ ความเป็นอัตตา ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า สำหรับท่านคือศาสนาของท่าน และสำหรับฉันคือศาสนาของฉัน คือให้เกียรติกับท่าน. ท่านเชื่อ เคารพ ศรัทธา ท่านก็ปฏิบัติของท่านไป เราศรัทธาของเราก็ปฏิบัติตามศาสนาของเราไป นี่คือคำสอนของอิสลามที่แท้จริง
จำเป็นที่จะต้องมองระหว่างอิสลามกับคนที่เราเรียกว่ามุสลิม มุสลิมมีโอกาสทำผิดทำพลาดแต่เมื่อทำผิดพลาดบางครั้งก็ถูกตีความว่านี่คือคำสอนของศาสนาอิสลาม ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านมองว่าพี่น้องคริสต์เป็น minority มากๆ เลยในประเทศไทย แต่เมื่อดูในระดับโลกท่านทั้งหลายเป็น majority ไป เราพี่น้อง 3 - 4 จังหวัดที่เป็นมุสลิมอาจจะเป็น majority แต่ 76 จังหวัดเราเป็น minority พอในอาเซียนเรากลายเป็น majority อีกที พอในเอเชียเรากลายเป็น minority พอในระดับโลกเรากลายเป็น biggest majority มีพี่น้องคริสต์เยอะและมุสลิมเป็นอันดับสอง
เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่มีความสวยงามในตัวของมัน เพียงแต่ว่าเราจะเน้นบทบาทอย่างไร พี่น้องชาวพุทธในประเทศไทยก็เป็น majority บทบาทของเขาก็ต้องดูแล minority ใช่ไหม ต้องดูแลสิทธิของ minority ด้วย และ minority ก็ต้องให้เกียรติคนส่วนใหญ่ด้วย และในขณะเดียวกันพี่น้องชาวพุทธในประเทศไทยก็กลายเป็น minority ทันทีเมื่อเทียบกับคนทั้งโลก
ความเป็น majority และ minority ในประเทศไทยก็ดี ในพื้นที่เล็กหรือใหญ่ก็ดี ผมมองว่ามันเป็นการที่สอนให้เรารู้บทบาทของตัวเองว่าเมื่อเราเป็น majority เราก็ต้องรู้จักตัวเองว่า เราต้องดูแลคนส่วนน้อย เราไม่ต้องไปลิดรอนสิทธิคนส่วนน้อย แต่เมื่อเราอยู่ในสถานภาพ minority เราก็ต้องพยายามให้เขารู้จักเรา ว่าเราก็มีสิทธิจะทำอะไรบนพื้นฐานของกรอบรัฐธรรมนูญระหว่างกัน
ผมมีความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญไทยมาตราที่ 1 เป็นกาวใจให้คนทุกกลุ่มอยู่แล้ว แบ่งแยกมิได้ ถือสัญชาติไทยทั้งหมด แต่มีมาตรา 38 ที่คนไทยทุกคนสามารถจะเลือกนับถือศาสนาและปฏิบัติ ตรงนี้ก็เป็นเสน่ห์ของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ผมเรียนจากอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยชิคาโก อาจารย์ท่านบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อ่านแล้วรู้สึกว่ามีความลึกซึ้ง ท่านชอบมาก ทำไมเราไม่เอาสิ่งที่เป็นความสวยงามของประเทศไทยให้คนในประเทศไทยมีความรู้สึกอย่างนั้นด้วย
เปรียบหลักศาสนบัญญัติ
5 ประการ กับการปลูกบ้านมุสลิม
ศาสนบัญญัติ ผมจะเปรียบเทียบว่านั่นคือการปลูกบ้านหลังหนึ่ง เรามีอยู่ 5 ประการ
ในการที่จะเป็นมุสลิมที่ดี การเป็นมุสลิมคือ การกล่าวปฏิญาณเป็นขั้นแรก ซึ่งผมมองว่าเป็นการถือโฉนด
ถือเอกสารสิทธิ ถ้าเราจะสร้างบ้านหลังหนึ่ง ถ้าโฉนดนี้ยังเป็นของคนอื่น ก็คงไม่มีความสุขเพราะชื่อยังเป็นของคนอื่นอยู่
เพราะฉะนั้นการจะปลูกบ้าน ประการแรกคือ ที่ดินต้องเป็นของเรา เราจึงกล่าวปฏิญาณ
พอกล่าวปฏิญาณเสร็จเราก็ต้องละหมาด การละหมาดวันละ 5 เวลา จริงๆ แล้วสามารถทำได้ถึง
100 เวลาก็ได้ แต่ละหมาดที่ถูกบังคับก็คือ 5 เวลา
การละหมาดเปรียบเสมือนเสาของบ้าน เรามีโฉนดอย่างเดียวยังไม่พอ เราจะสร้างบ้านก็ต้องมีเสา นี่คือภาพที่ผมกำลังเปรียบเทียบว่าเป็นการปลูกบ้านของมุสลิมหลังหนึ่ง ในหลักการของอิสลาม การละหมาดเป็นสิ่งที่ทำให้สกัดกั้นกับความชั่ว คือ การละหมาดเป็นยาที่จะทำให้เราไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ถ้าหากคนที่ไปปฏิบัติการณ์ในพื้นที่ไปก่อการร้าย ผมคิดว่าถ้าเขาละหมาดเขาไม่กล้าทำเพราะอิสลามฆ่าคนไม่ได้
ถ้าฆ่าคนๆ หนึ่ง คนๆ หนึ่งจะไปแก้แค้นก็ไม่ได้ ต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐไปลงโทษ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการฆ่าลูกโซ่ การฆ่าคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราไม่สามารถจะอนุมัติได้ แต่ขณะเดียวกันเราเห็นว่านายนั่นนายนี่ที่เป็นมุสลิมไปฆ่าคนอื่น ถามว่าถ้าเขาละหมาดเขากล้าทำไหม ผมคิดว่าเขาไม่กล้าทำ
เมื่อเรามีเอกสารสิทธิมีโฉนด มีเสาของบ้าน การละหมาดคือเสาของบ้าน การถือศีลอดจึงเปรียบเหมือนหลังคาของบ้าน การถือศีลอดเป็นสิ่งที่ยังบังคับขั้นต้นๆ ของมุสลิมทุกคน การถือศีลอดก็คือการลองใช้ชีวิตแบบคนจนที่ไม่มีอาหารกิน ดูซิว่าจะเป็นอย่างไร ช่วงถือศีลอดเราจะมีเวลามากขึ้นในการทำงานในการปฏิบัติ และมีสมาธิมากขึ้นในการทำละหมาดเพราะใจจะไม่ว่อกแว่ก
และการบริจาคทานเปรียบเทียบได้กับผนังบ้าน การบำเพ็ญฮัจย์เปรียบได้กับการมีเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน มุสลิมที่ไม่มีตังค์ไปทำฮัจย์ก็ไม่ต้องไป ไม่มีตังค์จ่ายทานก็ไม่ต้องจ่าย การละหมาดที่เปรียบเหมือนเสาของบ้านเป็นสิ่งจำเป็นของมุสลิม นี่คือสิ่งที่มุสลิมต้องตระหนัก เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน 3 - 4 จังหวัด หรือที่ไหนก็ดี ถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เขาจะซีเรียสทันที
นักศึกษามุสลิมเวลาไปเรียนที่ไหนถ้าไม่มีห้องละหมาดเขาจะเรียกร้องทันที เพราะเป็นบ้านของเขาที่ต้องสร้างให้เสร็จ แต่การไปทำฮัจย์ถ้าเขามีตังค์เขาก็ไป ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไป เหตุผลที่ไปทำฮัจย์ประการที่หนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ ไปเห็นความเหมือนของคนที่มีความแตกต่าง คนทุกคนอยู่ในผ้าชุดเดียวกันทั้งหมด ทำให้เรามีความรู้สึกว่า คนที่เป็นเจ้าขุนมูลนายที่ต้องไหว้เคารพ แต่พอไปอยู่ที่มัสยิดฮาลอที่มักกะ เขากับเรามีค่าเท่ากัน
การศึกษาของอิสลาม
ในเรื่องของการศึกษา นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการจัดการศึกษาใน 3
จังหวัดภาคใต้โดยแท้ และมันได้กลายเป็นเงื่อนไขของความไม่มั่นคง ศาสตร์ - การแบ่งศาสตร์
ในระบบการศึกษาไทยเมื่อไปจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดที่มีมุสลิม กับศาสตร์ที่มุสลิมมอง
การแบ่งศาสตร์ในทรรศนะของมุสลิมมันไม่สามารถปรับเข้าหากันได้
หมายถึงว่า เราแบ่งศาสตร์ออกเป็น 2 ศาสตร์ก็คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับศาสนา กับการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาชีพ มุสลิมทุกคนจะต้องเรียน นี่คือหลักการเรื่องการศึกษา พยายามมองถึงมิติของความเหมือน ก่อนไปดูในเรื่องของความแตกต่าง ทำให้เรามีความรู้สึกว่าถึงแม้เราจะต่างกัน แต่เราก็มีส่วนที่เหมือนกันมากมาย
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการศาสนาขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องรู้ มุสลิมถึงแม้ว่าเขาจะมีความต้องการเป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นทหาร อะไรก็แล้วแต่ แต่ทุกคนจะต้องรู้ศาสนาเพราะเราไม่มีนักบวช นักพรต ในศาสนา คุณจะไปอาศัยคนอื่นทำนั่นทำนี่ไม่ได้ คุณต้องทำเอง คุณต้องรู้เอง แต่ไม่ใช่รู้ขนาดต้องเป็นวิชาชีพของคุณ ไมใช่ รู้ในสถานภาพที่คุณเองควรบอกกับตัวเองว่าสามารถประกอบศาสนกิจขั้นพื้นฐานได้ ไม่ใช่ละหมาดไม่เป็น ถือศีลอดไม่เป็น ไปทำฮัดจ์ก็ทำไม่ถูก ไม่ใช่ อย่างน้อยที่สุดบ้านหนึ่งหลัง 5 ประการคุณต้องทำเป็น หลังจากนั้นถ้าคุณคิดว่าคุณอยากเอาดีทางศาสนา หรือไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ก็ไปเรียนทางวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาชีพไป
ถามว่าถ้าคนกลุ่มหนึ่งอยากเรียนทางด้านศาสนาต่อ และต้องการให้ศาสนาเป็นวิชาชีพสำหรับเขา เขาก็ยังไม่ใช่นักบวชนักพรต แต่เขาคือผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งหลักธรรมคำสอนให้คงอยู่จนวันสิ้นโลก เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็เลยตั้งสถานที่ขึ้นมา ถ้าในเมืองไทยก็สถาบันที่เราเรียกว่า ปอเนาะ นั่นเอง ปอเนาะแบบโบราณ นะครับ ไม่ใช่ปอเนาะที่มีการสอนทั้งสามัญและศาสนา เพราะปอเนาะที่มีการสอนสามัญ คือปอเนาะที่เกิดมาในช่วงหลังที่ได้รับการยื่นข้อเสนอว่า ถ้าคุณสอนสามัญไปด้วย รัฐจะให้เงินสนับสนุน เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนหนังสือไทยด้วย
แต่ที่ผมพูดถึงปอเนาะแบบเดิมคือ ปอเนาะที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวิชาศาสนาไว้ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเดินทางเข้ามาของอิสลาม ปอเนาะเหล่านี้คือปอเนาะดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 128 แห่ง เพราะในศาสนาของเรา จะหาคนที่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนาน้อยลงทุกที เพราะส่วนใหญ่พอเรียนไปสักช่วงหนึ่ง เขาก็อยากเป็นวิศวกร อยากเป็นหมอ ไม่อยากจะพัฒนาวิชาชีพด้านศาสนา ต้องไปเรียนภาษาอาหรับเพิ่มเติม และอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความสนใจเป็นพิเศษ นี่คือภาพการจัดการศึกษาการแบ่งศาสตร์ตามทรรศนะอิสลาม
แต่เมื่อรัฐเข้าไปจัดการศึกษาในชุมชนมุสลิม มีวิชาสามัญและวิชาศาสนา ปรากฏว่าวิชาสามัญและวิชาศาสนายังเป็นวิชาการ 2 วิชาการ 2 แขนง ที่มาเจอกันไม่ได้เหมือนกับเหรียญ 2 ด้านที่ไม่มีโอกาสเจอกัน ซึ่งถ้ารัฐบาลเข้าใจตรงนี้ จัดการศึกษาแทนที่จะเอาหัวหรือก้อย แต่จัดการศึกษาให้เป็นเหมือนเผือกกวน เผือกกวนนี่อร่อยเพราะเผือกหรือน้ำตาล เราบอกไม่ได้ เพราะความหวานของน้ำตาลมันเข้าไปในตัวเผือก และความอร่อยความมันของเผือกมันอร่อยเพิ่มขึ้นเพราะน้ำตาล เมื่อมันถูกผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาที่มุสลิมต้องการก็คือ เผือกกวน แต่ปัจจุบันนี้มันยังเป็นขนมชั้นอยู่ คือมันยังเข้ากันไม่ได้ หากรัฐต้องการเข้าไปจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้ารัฐสามารถเข้าใจได้ว่ามุสลิมต้องการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งก็คือวิชาสามัญนั่นแหละ กับศาสตร์ที่เป็นศาสตร์วิชาชีพ ซึ่งก็คือวิชาสามัญที่เขาต้องการพัฒนาให้สูงขึ้น แต่ให้ยอมรับว่าวิชาศาสนาก็คือวิชาชีพหนึ่งเช่นเดียวกัน เขาจะมีความสุขมากกว่านี้ และจะไม่มีปัญหาว่าทำไมมุสลิมไม่ส่งลูกเข้าไปเรียนโรงเรียนของรัฐ
โรงเรียนของรัฐตัวเลขลดลงทีละนิดๆ แต่ของอิสลามโรงเรียนเอกชนที่เป็นปอเนาะและบูรณาการมาเป็นโรงเรียนอิสลามสอนศาสนามีคนไปเรียนเยอะแยะ เพราะเขากลัวว่าลูกหลานของเขาจะไม่มีศาสนา และเผอิญว่าโรงเรียนของรัฐเมื่อมีการจัดสาระการเรียนรู้ออกเป็น 8 กลุ่มสาระ ทั้งๆ ที่สังคมไทยเป็นสังคมศาสนา สังคมพุทธ แต่ปรากฏว่าวิชาศาสนาไปอยู่ในสาระสังคมแค่นิดเดียว
ทำไมไม่ใส่ให้อยู่ในสาระศาสนาไปเลยล่ะ ศาสนาอื่นๆ จะได้ให้มีความเข้าใจในศาสนาที่ให้ความสำคัญกับหลักคำสอนและวิถีปฏิบัติด้วย คือสอนแล้วให้ปฏิบัติด้วยจะได้หมดปัญหาเสียที แต่ปรากฏไปอยู่ในสาระสังคม แล้วพอจัดไปจัดมาวิชาอิสลามศึกษาได้แค่ 2 ชั่วโมง เด็กเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าวันจันทร์ถึงวันศุกร์ได้เรียนวิชาศาสนาสัปดาห์ละแค่ 2 ชั่วโมง แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีความรู้สึกสูญเสียไหม เขารู้สึกสูญเสียแน่ๆ ถึงแม้ว่าเรียนที่โรงเรียนปอเนาะหรือเรียนทั้งสองอย่างคุณภาพไม่ค่อยดี ครูก็ไม่ได้มาตรฐานเท่าไร เอาอย่างนี้ดีกว่าส่งไปแล้วลูกของเราพอจะได้รู้เรื่องศาสนาบ้าง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เขาเดินทางมาเรียนในโรงเรียนลักษณะนี้ และนับวันจะเพิ่มขึ้นทุกที
แต่ถ้ารัฐเข้าใจตรงนี้และไปจัดให้ลงตัวว่า คนในพื้นที่ทั้งที่เป็นมุสลิมและคริสเตียน ต่างก็ต้องการเรียนวิชาศาสนากี่เปอร์เซ็นต์กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจัดให้เขาไป เพราะยิ่งถ้าเขาได้เรียนวิชาศาสนาผมมั่นใจว่าโอกาสที่เขาจะเป็นคนดีก็มากขึ้น อยากให้เรามองทั้งระบบเสียทีเพื่อที่เราจะได้คนที่มีคุณภาพ มีพื้นฐานศาสนาที่เป็นวัคซีนสำหรับตัวเองในการที่จะอยู่ในสังคมใดก็ได้ และก็มีวิชาชีพสำหรับเขา ถ้าเขาเลือกที่จะมีวิชาชีพด้านศาสนาก็ให้เขา
คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่ก็ดี ลองไปดูว่าการจัดการศึกษาที่เขาต้องการเป็นอย่างไรและให้สอดคล้องกับการศึกษาของชาติ ซึ่งผมมองว่าคงไม่แตกต่างจากกันมากนักเพียงแต่ว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงเท่านั้นเอง
การแต่งกายของพี่น้องมุสลิม
เรื่องประเพณีการแต่งกาย มีอยู่ 2 หลักการ การแต่งกายตามศาสนา กับการแต่งกายตามประเพณี
การแต่งกายของผู้ชาย
อิสลามเปิดโอกาสให้มุสลิมผู้ชายต้องปกปิด"เอารัต" คือ บริเวณที่ต้องปกปิดให้มิดชิด
หมายความว่า มีบริเวณของร่างกายที่สามารถเปิดให้คนอื่นมองได้ ผู้ชายจากหัวเข่าขึ้นมาถึงสะดือ
ถามว่าถ้าไม่ใส่เสื้อไม่ใส่ถุงเท้า โอเคไหม โอเคครับตามหลักการศาสนา ผ่านครับ
จะบอกว่าเขาเป็นคนไม่ดีไม่ได้
แต่ตามหลักประเพณีล่ะเขาผ่านไหม ถ้าประเพณีของคนที่นี่ต้องใส่ถุงเท้าใส่เสื้อปกปิดร่างกายด้วย ถึงแม้เขาจะผ่านเกณฑ์หลักการว่าด้วย"เอารัต"ตามหลักการศาสนา แต่ตามหลักประเพณีเขาไม่ผ่านก็ถือว่าเขาไม่ใช่มุสลิมที่ดี เพราะเขาจะต้องให้เกียรติกับประเพณีที่เขาอยู่ด้วย
การแต่งกายของผู้หญิง
สำหรับสตรี มีความคิดเห็นแตกต่างหลายสำนักคิดด้วยกัน บางสำนักคิดก็เปิดได้เฉพาะใบหน้า
ปาก และมือ บางสำนักคิดก็ปิดมากกว่านั้น บางสำนักคิดก็เปิดมากกว่านั้น แต่สำนักคิดส่วนใหญ่ก็คือ
เปิดเฉพาะใบหน้า ปากและฝ่ามือ ทีนี้จะเป็นผ้าสีขาว ผ้าสีดำ ผ้าสีลายๆ ก็ขึ้นกับศิลปวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ต่างๆ
ถ้าไปดูในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ผ้าคลุมก็เป็นผ้าลายๆ เสื้อผ้าสีสันลายๆ บ้าง
เป็นผ้าบาติกบ้าง เพราะความเป็นบาติกมาก่อนอิสลามจะมาด้วยซ้ำไป
บาติกที่เขาเขียนกันมันเป็นมรดกตกทอดให้กับพี่น้องมลายูมุสลิมก่อนที่อิสลามจะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ด้วยซ้ำไป
เพราะในอดีตนั้นกว่าจะเป็นลายเช่นบาติกได้ มันมีพิธีกรรมทางฮินดูมากมาย ลายเส้นจุดแรกที่จะขีดจะเขียนจะต้องดูวันดูเดือนดูปี
ต้องดูว่าคนที่จะลงลายเส้นคนแรกต้องเป็นพรหมจรรย์หรือไม่ มีรายละเอียดมาก
มาย พอๆ กับการตีกริช
กริชปัตตานีนี่แพงมาก เหตุผลเพราะว่ากริชปัตตานีกว่าจะตีขึ้นมาได้ ต้องนับวันนับเดือนนับปี และคนที่จะตีได้ต้องถือบวชครบกี่วันๆ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็นคำสอนของอิสลามนะครับ แต่เป็นแนวปฏิบัติที่ได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู - พราหมณ์ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกัน บางทีพี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิมมองว่า มุสลิมเคร่งมาก มุสลิมทำไมปกปิดตัวเองเหลือเกิน ไม่ยอมเปิดโอกาสไม่ยอมเปิดใจอยู่กับคนอื่น
จริงๆ แล้วอิสลามมองว่า การปกปิดร่างกายตามหลักการศาสนาและตามประเพณีนั้น เป็นการดูแลตนเองและเป็นการดูแลคนที่อยู่ข้างๆ เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ "ไซตอน" (ซาตาน) มาทำกิจกรรมระหว่างเราเองและคนข้างๆ เรา
ภาษา : ความงามแห่งพหุภาษา
เรื่องภาษา ผมเสียดายเหลือเกินว่าภาษากลายเป็นเงื่อนไขเรื่องความมั่นคงไปได้อย่างไร
จนกระทั่งรัฐบาลพอช่วงเวลาหนึ่งไม่อนุญาตให้ลูกหลานของพี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้เรียนรู้ภาษามลายูในโรงเรียน
เพราะเขาบอกว่าถ้ายังสอนภาษามลายูต่อไป ความรักชาติจะลดน้อยลง เพราะถ้าเรามองว่ามันคือเงื่อนไขความมั่นคง
มันก็คือเงื่อนไขความมั่นคง แต่ถ้าเราคิดว่านั่นคืออัตลักษณ์คือความจริงที่มีอยู่ในตัวตนของเขา
เราอย่าให้เขาหลอกตัวเองอย่าให้เขาโกหกตัวเองเลย ลองคิดดูซิครับ เด็กเกิดมาคำๆ
แรกที่เขาได้ยินคือภาษามลายูน่ะ เช่น คำว่า "มาแก" ที่แปลว่า "กิน"
ภาษามลายูที่คนใน 3 จังหวัดพูดเป็นภาษามลายูที่ยังหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก เพราะภาษามลายูในประเทศมาเลเซียปัจจุบันนี้คือภาษามลายูที่ใช้ a b c d แล้วครับ ไม่ใช่อักษรแบบอาหรับแล้ว แต่ที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลนิดหน่อย คนกลุ่มนี้ใช้ภาษามลายูตัวอักษรยาวีเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลกด้วย ผมจึงมองว่ามันไม่ใช่เงื่อนไขความมั่นคง ถ้าเขาพูดภาษามลายูแล้วเขาจะไปอยู่มาเลเซีย เขาจะอยากตั้งรัฐเอง มันไม่น่าจะใช่แล้วครับ
แต่ถ้าเรามองว่าแทนที่เขาจะขอเอกสิทธิ์ขอสิทธิพิเศษในการสอนภาษาเหล่านี้ เราให้เลยซิครับ ไม่ดีหรือ เราน่าจะมีความรู้สึกดีขึ้น ถามว่า ถ้าเราเป็นลูกต้องขอทุกอย่างกว่าพ่อจะให้นี่เราก็รักพ่อนิดๆ หน่อยๆ แต่พ่อที่อ่านใจเราได้ เป็นพ่อที่เข้าใจลูกน่ะ แต่นี่ลูกขอ และขอกว่าจะได้ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความรุนแรงด้วยกว่าจะได้ในสิ่งที่อยากจะได้
จะเห็นว่าภาษามลายูเป็นภาษาที่อยากจะให้รัฐมาช่วยดูแลหรือทะนุบำรุง เพราะปัจจุบันผมดูแล้ว 3 - 4 จังหวัด ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปผมว่าไม่น่าจะเกิน 20 ปี ภาษามลายูหายแน่ เพราะปัจจุบันประโยคหนึ่งประโยคมีคำไทยปนอยู่เยอะมาก และคนที่พูดภาษายาวีได้นั้นโอกาสที่จะพูดได้พหุภาษาจึงมีมาก แค่โรงเรียนกิตติวิทย์ที่หาดใหญ่ และโรงเรียนพนธ์วิทยาที่หาดใหญ่ ใช้ 2 ภาษา ต้องสมัครล่วงหน้าเป็นเทอมครับลูกๆ กว่าจะได้เรียน
แต่ 4 จังหวัด มี 4 ภาษาในตัวของเขาเองอยู่แล้ว ภาษามลายูพูดที่บ้านอยู่แล้ว ภาษาไทยคนไทยทุกคนจะต้องเรียนรู้อยู่แล้ว ภาษาอาหรับเป็นภาษาของศาสนาเขาอยู่แล้ว เขาต้องอ่านอัลกุระอานอยู่แล้ว ภาษาอังกฤษเราต้องเรียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทักษะพื้นฐานที่รัฐสามารถพัฒนาคนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาพหุภาษาได้ ผมเคยเสนอว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด ถ้ารัฐให้ความสำคัญ ณ วันนี้ รัฐสามารถเอางบประมาณไปจัดได้เลยพหุภาษา 4 ภาษา
สถานการณ์ปัจจุบัน :
ทางออกและทางเลือก
เรื่องหลักการของศาสนาซึ่งมีอยู่เป็นบรรทัดฐาน แต่แนวปฏิบัติเนื่องจากหลายคนยังไม่ได้เรียนรู้ยังไม่ได้ศึกษา
มันจึงยังเกิดภาพที่ว่า หลักการที่แท้จริงไม่ถูกนำมาปฏิบัติ และคนที่รู้ก็มีน้อยกว่าคนที่ไม่รู้
ในอัลกุระอานก็บอกไว้ชัดเจนว่า จะเท่าเทียมกันหรือระหว่างคนที่รู้กับคนที่ไม่รู้
ในเมื่อยังไม่ได้เรียน เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีอยู่และเราดูสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันซึ่งบางทีเราเองก็ตอบไม่ได้ว่ามาจากอะไร
มีที่มาที่ไปอย่างไร
มีทฤษฎี 2 ทฤษฎี
- ทฤษฎีที่หนึ่งเป็นทฤษฎีที่ผมพยายามศึกษาขึ้นมาเอง คือ ทฤษฎี 3 R
- ทฤษฎีที่สอง ผศ.ดร.อิบรอฮิม ณรงค์รักษาเขต จาก มอ.ปัตตานี พัฒนาขึ้นมา คือ ทฤษฎี 3 B
ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อโรงเรียนของรัฐหลายแห่งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ขานรับกันอย่างดีที่จะให้ลูกหลานของเขาเรียนภาษามลายู ผมว่าเงื่อนไขก็ลดลงไป ถูกกดให้ต่ำลง เพราะฉะนั้นเชื้อชาติ สีผิว อาจจะใช่ที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ทุกกรณีเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติสีผิวนั้นสามารถหาข้อยุติได้ไม่ยากนัก
R ตัวที่สอง Religious คือ ศาสนา ถามว่าเป็นเพราะศาสนาใช่ไหมที่ทำให้เขารบกันทะเลาะกัน เราก็เห็นภาพว่า จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ปานาเระก็ดี โคกโพธิ์ก็ดี หรือที่นราธิวาส ยะลา เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันและเป็นภูมิปัญญาที่ผมคิดว่าน่าจะลงไปทำวิจัยกันมากๆ ให้เห็นภาพว่าพี่น้องที่เป็นพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกันได้อย่างไร และเป็นเสน่ห์ของพื้นที่อย่างมาก
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดพรหมประสิทธิ์ทำให้ภาพเหล่านี้กลายเป็นภาพที่หลายคนกำลังกลัว เป็นผีที่กำลังจะหลอกว่า ต่อไปนี้พุทธกับมุสลิมอยู่กันยากแล้ว เพราะพระถูกฆ่าและวัดถูกเผาแล้วใครจะทำถ้าไม่ใช่มุสลิม พื้นฐานง่ายๆ อย่างนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา แต่ถามจริงๆ เถอะว่ามันเป็นประเด็นของความขัดแย้งทางศาสนาไหม ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่าไม่ใช่เพราะประเด็นศาสนา ถามว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้นำศาสนา อิหม่ามก็ดี หรือจุฬาราชมนตรี หรือท่านสังฆราช เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะจังหวัด มาคุยกัน ผมว่าคุยกันไม่นานหรอกครับ แป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว
แต่ตัวที่ผมเป็นห่วงที่สุดคือ R ตัวสุดท้ายคือ Resource ตัวผลประโยชน์ ทรัพยากรที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ ซึ่งตัวนี้เป็นตัวที่แฝงอยู่ในตัวที่หนึ่งและสอง แฝงอยู่ในตัวของคนที่มีเชื้อชาติ มีสีผิว เป็นคนไทยเชื้อสายไทย เชื้อสายมลายู เชื้อสายจีน เมื่อผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ทรัพยากรมาเกี่ยวข้อง เงินตรามาเกี่ยวข้อง หูอื้อ ตาดูอะไรไม่เห็นแล้วครับ แม้กระทั่งศาสนาเดียวกัน พระเจ้าองค์เดียวกัน ทะเลาะกันอยู่นั่นแหละครับ ตัวที่หนึ่งและสองผมไม่กลัวเท่าไร ผมกลัวตัวที่สาม นี่แหละที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คนกลุ่มที่หนึ่งและสองด้วยซ้ำไป
สถานการณ์ปัจจุบัน มองผ่านทฤษฎี
3B
ในส่วนซึ่งสอดคล้องกับอาจารย์อิบรอฮิม หัวหน้าภาควิชาการศึกษาที่ มอ.ปัตตานี
ท่านใช้ B ที่หนึ่งคือ Background เรามีประวัติศาสตร์ มีแบ๊คกราวน์ที่แตกต่างกัน
เรามีเรื่องราวของศรีวิชัย ของมะลังสุกะ อะไรมากมาย ในสมัยนครรัฐที่ทุกคนจะต้องยอมรับ
และปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีการตีเมืองกันเป็นว่าเล่น ก็คงต้องให้อภัยกันไป
ในอดีตนครศรีธรรมราชไปตีปัตตานี ปัตตานีไปตีกลันตัน ตีไปตีมาในสมัยนครรัฐ มันเกิดขึ้นธรรมดาอยู่แล้ว
แต่ตอนนี้สมัยรัชกาลที่ 9 เราต้องให้อภัยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไป แบ๊คกราวน์ผมว่าไม่ใช่แล้วสำหรับปัจจุบัน
B ตัวที่สอง Believe ก็คือ Religious ของผม เป็นเพราะความเชื่อไหมล่ะ ความเชื่อที่มีความแตกต่างระหว่างความเชื่อเดิมๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ความเชื่อใหม่ๆ ที่มีคนกลับใจไปสู่ศาสนาใหม่ๆ เป็นตรงนี้ไหม ลึกๆ ผมว่าน่าจะไม่ใช่ แต่สิ่งที่ผมกลัวก็คือ B ตัวที่สาม Benefit นี่แหละที่บางทีแฝงอยู่ในตัวคนที่สวมหมวกที่เป็นอิหม่ามเป็นโต๊ะครูก็ได้ และบางทีก็อยู่ในคนที่มีความสำนึกในชาติพันธุ์ก็มี แต่ถ้ามีความสำนึกในชาติพันธุ์แต่เขาไม่มีผลประโยชน์ที่ทับซ้อน ไม่มีผลประโยชน์ที่เขาอยากจะได้มันก็จบแค่นั้นไป แต่ถ้ามีความสำนึกขึ้นมา มีความต้องการจะให้ศาสนาตัวเองดีที่สุดขึ้นมา และมีผลประโยชน์มาพ่วงท้าย ผมว่าไปเลยครับ เรียบร้อยเลย
ประเด็นใน 3 จังหวัด ถ้าเราไปดูในรายละเอียด มันเป็นทั้งผลประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคเอ็นจีโอ ผลประโยชน์ทั้งสิ้น สิ่งที่ กอส.พยายามทำก็คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ตัวที่ 1 และ 2 ทั้ง R และ B แต่ที่ กอส.ทำไม่ได้ก็คือ Resource และ Benefit กอส.ไม่มีโอกาสไปแก้ปัญหาผลประโยชน์ซึ่งเราไม่รู้ว่าอยู่ในคราบสีอะไร คนใส่หมวกสีอะไร คนที่นุ่งชุดอะไร เพราะชุดนั้นสามารถนำมาใส่และถอดได้ บอกว่ามีคนใส่ชุดดาวะห์ไปยิงนั่นยิงนี่ วันเสาร์อาทิตย์ไปซื้อที่หน้ามัสยิดกลางที่ยะลาก็ได้ ที่ปัตตานีก็ได้ สวมใส่ แล้วขี่จักรยานยนต์ เขาก็มองไม่รู้แล้วว่ามุสลิมจริงไม่จริง ทำได้ทั้งนั้น
แต่เมื่อทำแล้วใครเสีย มุสลิมเสีย เมื่อมุสลิมเสียใครเสียต่อ ศาสนาอิสลาม ผมไม่ได้จะแก้ตัว แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่มุสลิมทำจริงผมก็ยอมรับว่าทำจริง และคงต้องยอมรับว่ามีจริงๆ คนที่ต้องการแบ่งแยกแต่ส่วนน้อย แต่น่าเสียดายว่าเงินที่ลงไปเป็นหมื่นล้านที่ลงไปแก้ปัญหา แทนที่จะดึงคนที่อยู่ตรงกลางดึงมาอยู่กับเรา กลับกลายเป็นส่งเงินไปผลักเขาให้อยู่ไกลจากเรา เพราะประชาชนอยู่ในสภาพเหมือนกับแซนด์วิช ที่เราบีบไส้ที่อยู่ตรงกลาง มีขนมปังฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ก่อการ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐ บีบแล้วใครอยู่ตรงกลางครับ ประชาชน ถ้าเราลองไปถามคนในพื้นที่ บางทีเขากลัวและไม่ได้ตอบตามที่เขาอยากจะพูด
หลักการสมานฉันท์
ทีนี้เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็ต้องแก้ปัญหา มุสลิมทุกคนจะต้องคิดว่าปัญหาคือโอกาสที่พระเจ้าจะให้เราเข้าสวรรค์
ถ้าเกิดไม่มีภารกิจเราก็คงไม่มีงานที่ต้องกระทำ ผมได้ฟังและเห็นแนวพระราชดำรัสที่ให้เข้าใจ
เข้าถึง และพัฒนา ผมคิดว่าทางออกคือ พระราชดำรัสนี้ และเผอิญไปตรงกับคำสอนของอิสลามที่เกี่ยวข้องกับหลักการสมานฉันท์
ในทรรศนะของอิสลามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุระอาน "และที่จริงพระเจ้าได้สร้างมนุษย์มาให้มีผู้ชายและผู้หญิง
พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเผ่าพันธุ์ให้มีสีผิวที่แตกต่างกัน เพื่อรู้จักซึ่งกันและกัน"
ไม่ใช่เพื่อรบกัน ไม่ใช่เพื่อจ้วงแทง ผมได้คอนเซ็พท์เลย ทั้งมุมมองของพระเจ้าอยู่หัว มุมมองของอิสลาม และมุมมองที่ กอส.ทำ หลักการสมานฉันท์คล้ายๆ กับเป็นตัวเดียวกัน เพียงแต่ว่าพระองค์ท่านใช้คำว่าเข้าใจก่อน. 'เข้าใจ' เพื่อที่จะสามารถ 'เข้าถึง' และเมื่อเข้าถึงแล้วจึงสามารถ 'พัฒนา' แต่อิสลามหลักคำสอนคือ ต้องรู้ก่อน เข้าถึงก่อน
ที่ผมใช้ว่า 'รู้เรา รู้เพื่อน' ผมใช้คำว่า รู้เรา รู้เพื่อน เพราะคำภาษาอาหรับที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานที่พระเจ้าบอกว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์มาเป็นผู้ชายผู้หญิง มีเผ่าพันธุ์สีผิวแตกต่างกันเพื่อให้รู้จักซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ใหญ่กว่ารอให้เด็กๆ มาทำความรู้จัก ไม่ใช่ ทั้งสองฝ่ายต้องเดินทางคนละครึ่งและเจอกัน และรู้จักซึ่งกันและกัน ทุกฝ่ายต้อง Active ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขะมักเขม้น แต่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย ไม่สำเร็จ การสมานฉันท์ขั้นต้นไม่สำเร็จ เมื่อขั้นที่หนึ่งสำเร็จ ขั้นที่สองต้อง 'เข้าใจซึ่งกันและกัน' หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายต้องทำหน้าที่เดินเข้าหา ต้องรู้จักและเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อเรา และคิดอย่างไรต่อเรา ทำอย่างไรให้เราเข้าไปนั่งในใจเขาได้ จึงจะเกิดขั้นที่สามได้ คือ ช่วยเรา ช่วยเพื่อน
ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาในโลกนี้ เราจึงจำเป็นต้องทำให้โลกนี้เป็นโลกแห่งพาหนะที่ทำให้เกิดสันติวิธีขึ้นมาให้ได้ ต้องหาวิธีแห่งสันติเพื่อจะประทานชีวิตเราในโลกนี้ ให้ดิ้นรนให้ลมหายใจสุดท้ายได้รับการยอมรับจากพระเจ้าว่า เรายังเป็นคนที่ใฝ่สันติภาพอยู่ นี่คือมุมมองของอิสลาม แต่อย่างไรก็ตาม สันติภาพบนโลกนี้เป็นสันติภาพชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ใช่สันติภาพที่ยั่งยืนถาวร เพราะเราเชื่อในโลกหน้าที่ถาวรและเป็นโลกสุดท้าย แต่สันติวิธีที่เราทำที่เราแสวงหาในโลกนี้จะนำพาไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ที่เราเรียกว่า สรวงสวรรค์ ดังนั้นชื่อหนึ่งของสรวงสวรรค์ของพระเจ้าในทรรศนะของอิสลามจึงชื่อว่า ดารุส - สลาม ที่เป็นสร้อยนามของปัตตานี ดารุส - สลาม หรือ บรูไน ดารุส - สลาม หมายความว่า ดินแดนแห่งสันติภาพ เป็นชื่อหนึ่งของสวรรค์ในคัมภีร์อัลกุรอาน ดังนั้นการที่ปัตตานีใช้คำว่า ดารุส - สลาม แสดงว่าวิสัยทัศน์ของเจ้าเมืองปัตตานีสมัยนั้นต้องการแสวงหาสันติภาพ
ญิฮาดในทรรศนะของอิสลาม
ญิฮาดในทรรศนะของอิสลามมี 2 ระดับ ญิฮาดที่เอาปืน เอาดาบ ไปทิ่มแทงใคร เป็นญิฮาดขั้นต่ำ
คือสงครามขั้นต่ำ แต่ญิฮาดขั้นสูงหรือญิฮาดใหญ่ คือ การชนะใจตนเอง ในทรรศนะของอิสลาม
ท่านศาสดาบอกหลังกลับจากสงครามบอกว่า ที่ผ่านมาเป็นญิฮาดเล็ก แต่ญิฮาดใหญ่
คือ ญิฮาดในใจของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราต้องทำเพื่อไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและมั่นคงในสรวงสวรรค์
ตัวเลือกที่จะให้เราทบทวนในวันนี้ก็คือ เรามีความต่าง ความที่เราไม่เหมือนกัน
เมื่อเรามีตัวเลือก 2 ตัวคือ 'ความเหมือนในความไม่เหมือน' และ 'ความไม่เหมือนในความเหมือน'
เราจะเลือกตัวไหน
ความเหมือนในความไม่เหมือน นั่นหมายความว่า เราเน้นความเหมือนก่อน ความเหมือนในความไม่เหมือน กับความไม่เหมือนในความเหมือน ถามว่าเราจะเน้นตัวหนึ่งตัวใดเป็นหลักไหม ถ้าหากว่าเราให้ความสำคัญกับความเหมือนก่อน เราดูมาตราที่หนึ่งก่อน ว่าเราทุกคนเป็นคนไทย เราทุกคนถือสัญชาติไทย มีบัตรประชาชนไทย แบ่งแยกกันไม่ได้. แต่ในความไม่เหมือนกัน มาตรา 38 เปิดโอกาสให้กับเรา ท่านสามารถมีศูนย์มิสซัง สามารถมีศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย นี่คือความไม่เหมือนที่เรามี
แต่ถ้าเราเริ่มต้นที่ความแตกต่างเสียตั้งแต่แรก เราก็ไม่มีโอกาสได้เจอกัน เพราะเราถ้าเห็นความแตกต่างเสียแล้วก็ยากที่จะดึงมาให้เจอกันใหม่ได้ แต่ถ้าเราเจอกันก่อนแล้วค่อยกลับไปทำภารกิจของตน ใครเห็นทางไหนก็ไปทางนั้น วิธีการของแต่ละคนก็ต่างกันตรงนี้
ผมมองว่า เราต้องเห็นภาพของความเป็น Unity ความเป็นเอกภาพของคนไทยทั้งประเทศก่อน โดยไม่ต้องให้คนนอกมาบงการหรือบังคับเราว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และเราก็เลือกทางเดินของเราเองตามความเชื่อของเราที่มีปรากฏในรัฐธรรมนูญของเรา ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นทุกคนก็จะมีความสุขกับการเป็นที่หนึ่งในแบบของตน ไม่มีใครดีกว่าหรือด้อยกว่ากัน ถึงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่สามารถมีหัวใจเดียวกันได้
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
สันติภาพบนโลกนี้เป็นสันติภาพชั่วครู่ชั่วยาม
ไม่ใช่สันติภาพที่ยั่งยืนถาวร เพราะเราเชื่อในโลกหน้าที่ถาวรและเป็นโลกสุดท้าย
แต่สันติวิธีที่เราทำที่เราแสวงหาในโลกนี้จะนำพาไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ที่เราเรียกว่า
สรวงสวรรค์ ดังนั้นชื่อหนึ่งของสรวงสวรรค์ของพระเจ้าในทรรศนะของอิสลามจึงชื่อว่า
ดารุส - สลาม ที่เป็นสร้อยนามของปัตตานี ดารุส - สลาม หรือ บรูไน ดารุส - สลาม
หมายความว่า ดินแดนแห่งสันติภาพ...
ญิฮาดในทรรศนะของอิสลามมี 2 ระดับ ญิฮาดที่เอาปืน เอาดาบ ไปทิ่มแทงใคร เป็นญิฮาดขั้นต่ำ
คือสงครามขั้นต่ำ แต่ญิฮาดขั้นสูงหรือญิฮาดใหญ่ คือ การชนะใจตนเอง ในทรรศนะของอิสลาม
ท่านศาสดาบอกหลังกลับจากสงครามบอกว่า ที่ผ่านมาเป็นญิฮาดเล็ก แต่ญิฮาดใหญ่
คือ ญิฮาดในใจของเรา