The Midnight University
วิพากษ์การเมืองอเมริกันต่อปัญหาปาเลสไตน์
เอ็ดเวิร์ด ซาอิด
: ความฝันและมายาคติ
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ
หมายเหตุ : บทความแปลชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
ได้รับการแปลมาจากเรื่องมาจาก
Dreams and Delusions
ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 733
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)
ความฝันและมายาคติ
: เอ็ดเวิร์ด ซาอิด
Dreams and Delusions
by Edward Said
Al Ahram
30 สิงหาคม 2003
ปลายเดือนกรกฎาคม ทอม ดีเลย์ (Tom Delay) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐเท็กซัส (พรรครีพับลิกัน)
ผู้นำเสียงข้างมากในสภาที่มักได้รับการขนานนามว่า เป็นบุคคลหนึ่งใน 3-4 คนที่มีอิทธิพลที่สุดในวอชิงตัน
เขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรดแมปและอนาคตของสันติภาพในตะวันออกกลาง คำพูดของเขามุ่งหมายที่จะเป็นแถลงการณ์สำหรับการเดินทางไปเยือนอิสราเอลและประเทศอาหรับหลายประเทศในเวลาต่อมา
ซึ่งมีรายงานว่าเขาปราศรัยด้วยเนื้อหาเดียวกัน
ดีเลย์ประกาศตัวชัดว่า เขาคัดค้านการสนับสนุนโรดแมปของรัฐบาลบุช โดยเฉพาะเงื่อนไขในโรดแมปนั้นที่ให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ "มันจะกลายเป็นรัฐก่อการร้าย" เขาเน้นคำพูด โดยใช้คำว่า "ก่อการร้าย" ซึ่งกลายเป็นคำพูดติดปากไปเสียแล้วในวาทกรรมของทางการอเมริกัน โดยปราศจากการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม คำนิยามหรือคุณลักษณะที่เป็นรูปธรรมใด ๆ
เขายังกล่าวเสริมต่อว่า เขาได้ทัศนะเกี่ยวกับอิสราเอลมาจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเชื่อมั่นในฐานะ "ไซอันนิสต์1 ชาวคริสต์"(1) อันเป็นวลีที่มีความหมายว่า ไม่เพียงแต่สนับสนุนทุกอย่างที่อิสราเอลทำ แต่ยังสนับสนุนความถูกต้องทางเทววิทยาของรัฐยิว ในการทำสิ่งที่ทำอยู่แล้วต่อไป โดยไม่สนใจว่า "ผู้ก่อการร้าย" ชาวปาเลสไตน์สองสามล้านคนจะตกระกำลำบากขนาดไหนในกระบวนการนี้
จำนวนประชาชนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาที่คิดเหมือนดีเลย์ ว่ากันว่ามีถึง 60-70 ล้านคน และพึงสังเกตว่าหนึ่งในจำนวนนั้นมิใช่ใครอื่นไกล แต่คือ ยอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งเป็นคนที่อยู่ดีไม่ว่าดีก็กลายเป็นชาวคริสต์ที่คลั่งศาสนาสุดขั้ว และเชื่อว่าทุกถ้อยคำในพระคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายตามตัวอักษร บุชเป็นผู้นำของประชาชนเหล่านี้ แน่นอน เขาต้องอาศัยคะแนนเสียงเพื่อการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งตามทัศนะของผม เขาไม่น่าจะชนะการเลือกตั้ง เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีของตนกำลังสั่นคลอนเนื่องจากนโยบายในประเทศและต่างประเทศที่เฮงซวย
บุชและทีมนักวางแผนรณรงค์หาเสียงจึงพยายามดึงดูดฐานเสียงที่เป็นชาวคริสต์ปีกขวาจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันตกกลาง เมื่อรวมกันแล้ว ทัศนะของชาวคริสต์ปีกขวา (โดยจับมือกับแนวความคิดและอิทธิพลในการวิ่งเต้นของขบวนการอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่สนับสนุนอิสราเอลชนิดตกขอบ) ถือเป็นกลุ่มอิทธิพลที่น่าเกรงขามในการเมืองภายในของอเมริกัน และอนิจจา แต่นี่แหละเป็นเวทีหลักในอเมริกาที่มีการวิวาทะเกี่ยวกับตะวันออกกลาง เราต้องจำไว้เสมอว่า ในอเมริกานั้น ปัญหาปาเลสไตน์และอิสราเองถือเป็นประเด็นภายในประเทศ ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้เอง ไม่ว่าคำแถลงการณ์ของดีเลย์จะเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของพวกคลั่งศาสนา หรือเป็นคำพูดเรื่อยเปื่อยฟุ้งซ่านของคนที่ชอบเพ้อเจ้อไม่เข้าเรื่อง เราก็ลงความเห็นได้ทันทีว่ามันเป็นคำพูดไร้สาระที่ไม่พึงเก็บมาพิจารณา กระนั้นก็ตาม คำพูดแบบนี้กลับเป็นตัวแทนภาษาของอำนาจที่ไม่ถูกคัดค้านง่าย ๆ ในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีพลเมืองจำนวนมากมายมหาศาลปักใจเชื่อว่า ตนเองได้รับการชี้นำจากพระเจ้าโดยตรงทั้งในสิ่งที่เห็น เชื่อ และบางครั้งก็ลงมือกระทำด้วย
ว่ากันว่าจอห์น แอชครอฟท์ (John Ashcroft) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เริ่มงานแต่ละวันด้วยการประชุมสวดมนต์ ไม่เป็นไรหรอก คนเราอาจอยากสวดมนต์ รัฐธรรมนูญอนุญาตให้มีเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ แต่ในกรณีของดีเลย์ การที่เขาพูดต่อต้านประชาชนทั้งชนชาติ อันหมายถึงชาวปาเลสไตน์ โดยกล่าวหาว่าชาวปาเลสไตน์จะก่อตั้งประเทศทั้งประเทศเป็นรัฐ "ก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึงการเป็นศัตรูต่อมนุษยชาติตามคำนิยามของวอชิงตันในปัจจุบัน เท่ากับดีเลย์จงใจขัดขวางความก้าวหน้าของชาวปาเลสไตน์ในอันที่จะก้าวไปสู่การกำหนดอนาคตของตัวเอง และในแง่หนึ่งเท่ากับเขายัดเยียดซ้ำเติม ลงโทษทัณฑ์และความทุกข์ยากแก่ชาวปาเลสไตน์ โดยยืนอยู่บนเหตุผลทางศาสนาล้วน ๆ เขาถือสิทธิ์อะไร?
เมื่อพิจารณาดูความไร้มนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง และความโอหังแบบจักรวรรดินิยมที่แฝงอยู่ในจุดยืนของดีเลย์ จากจุดยืนในประเทศมหาอำนาจที่ห่างไกลนับหมื่นไมล์ คนอย่างเขา ซึ่งไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตที่แท้จริงของชาวอาหรับปาเลสไตน์พอ ๆ กับคนที่อยู่บนดวงจันทร์ แต่ยังกล้าเข้ามาขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งยืดเวลาของการกดขี่และความทุกข์ยากไปอีกไม่รู้กี่ปี เพียงเพราะเขาทึกทักว่า ชาวปาเลสไตน์ทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย
และเพราะอุดมการณ์แบบไซอันนิสต์ชาวคริสต์ของตน ซึ่งไม่มีทั้งหลักฐานหรือเหตุผลมากนัก ดังนั้น เมื่อผนวกกับการวิ่งเต้นของชาวอิสราเอลที่นี่ ยังไม่ต้องกล่าวถึงรัฐบาลอิสราเอลที่โน่น ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ๆ ชาวปาเลสไตน์จึงต้องจำทนต่ออุปสรรค และสิ่งกีดขวางเพิ่มขึ้นบนเส้นทางในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มันเป็นแบบนี้แหละ
สิ่งที่สะดุดใจผมเกี่ยวกับคำพูดของดีเลย์ ไม่เพียงแค่การไร้ความรับผิดชอบ มักง่าย ไร้อารยธรรม (คำที่ใช้กันจนพร่ำเพรื่อในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย) ในการเสือกไสไล่ส่งประชาชนนับพันนับหมื่นคนที่ไม่เคยทำอะไรผิดต่อเขาเลยแม้แต่น้อย แต่นอกจากนี้ มันยังเป็นคำพูดที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง แถลงการณ์ของเขา เช่นเดียวกับแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของวอชิงตันส่วนใหญ่ เท่าที่เกี่ยวข้องกับทัศนะ (และนโยบายที่มีต่อ) ตะวันออกกลาง ชาวอาหรับและอิสลาม ล้วนมีแต่มายาคติที่ไม่ต้องตรงกับความเป็นจริง และสิ่งนี้ยิ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับนามธรรมที่เข้มข้นขึ้น กระทั่งถึงขั้นไร้สติ ในช่วงนับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน
การขยายความเกินจริง อันเป็นกลวิธีในการสรรหาถ้อยคำเกินเลยยิ่งขึ้นทุกที ๆ เพื่อเอามาพรรณนาและพรรณนาซ้ำพรรณนาซ้อนถึงเหตุการณ์หนึ่ง เข้าครอบงำความคิดของสาธารณชน แน่นอน โดยเริ่มต้นที่ตัวบุชเองที่ออกแถลงการณ์ทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว อักษะของความชั่วร้าย แสงสว่างของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธานุภาพ และสิ่งที่ผมขอบังอาจเรียกว่า การพูดพล่ามอันน่าเอือมระอาไม่รู้ที่สิ้นสุดเกี่ยวกับความชั่วร้ายของการก่อการร้าย มันนำพาภาษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมมนุษย์ ไปสู่ระดับวิปริตขั้นใหม่ของการทำสงครามน้ำลายที่ไม่มีเหตุผลรองรับเลยอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้แต่งแต้มด้วยคำเทศนาอันเคร่งขรึมและแถลงการณ์เรียกร้องให้โลกส่วนที่เหลือหลีกเลี่ยงลัทธิสุดขั้ว ดำรงอยู่ในอารยธรรม มีเหตุผลและเป็นนักปฏิบัติ ราวกับนักวางนโยบายของสหรัฐฯ มีอำนาจบริหารไร้ขีดจำกัดจนสามารถออกบทบัญญัติให้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่นี่ รุกรานที่โน่น "สร้างประเทศใหม่" ที่นั่น โดยทั้งหมดนี้เนรมิตได้จากในห้องทำงานติดเครื่องปรับอากาศหรูหราในวอชิงตัน นี่หรือคือวิถีทางในการสร้างมาตรฐานเพื่อการเจรจาอย่างมีอารยะ และผลักดันคุณค่าแบบประชาธิปไตย รวมทั้งแนวความคิดที่เป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตยเองด้วย?
แก่นพื้นฐานประการหนึ่งในวาทกรรมของลัทธิบูรพาคตินิยม นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่
19 ก็คือ ภาษาอาหรับและชาวอาหรับมีข้อเสียทั้งในด้านความคิด จิตใจ และในด้านภาษาซึ่งไม่มีประโยชน์ในความเป็นจริง
ชาวอาหรับจำนวนมากก็หลงเชื่อทัศนะเหยียดผิวที่ไร้สาระนี้ ราวกับภาษาประจำชาติอย่างภาษาอาหรับ
ภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ เป็นตัวแทนที่สะท้อนความคิดจิตใจของผู้ใช้ภาษานั้นโดยตรง
ความคิดเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งในคลังแสงทางด้านอุดมการณ์อย่างเดียวกับที่เคยใช้ในศตวรรษที่
19 เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การกดขี่ของลัทธิอาณานิคม
อาทิเช่น "นิโกร" ไม่สามารถพูดจาถูกต้อง ดังนั้น ตามความคิดของโธมัส คาร์ไลล์(2)2 คนนิโกรจึงต้องเป็นทาสต่อไป หรือภาษา "จีน" เป็นภาษาที่ซับซ้อน ดังนั้น ตามความคิดของเอิร์นสต์ เรอนอง(3)3 ผู้ชายหรือผู้หญิงชาวจีนจึงเป็นคนสับปลับและควรควบคุมเอาไว้ ฯลฯ ฯลฯ สมัยนี้ ไม่มีใครยึดถือความคิดพวกนี้จริงจังอีกแล้ว ยกเว้นเมื่อเกี่ยวข้องกับชาวอาหรับ ภาษาอาหรับ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหรับศึกษา
ในบทความที่เขาเขียนเมื่อสองสามปีก่อน ฟรานซิส ฟูกุยามา ผู้เป็นเสมือนสันตะปาปาและนักปรัชญาของฝ่ายขวา ซึ่งโด่งดังขึ้นมาชั่วระยะสั้น ๆ ด้วยแนวความคิดพิลึกกึกกือเกี่ยวกับ "จุดจบของประวัติศาสตร์" เขาเขียนไว้ว่า กระทรวงต่างประเทศทำดีแล้วที่กำจัดผู้เชี่ยวชาญด้านอาหรับศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอาหรับ เพราะการเรียนรู้ภาษานั้นเท่ากับเรียนรู้ "มายาคติ" ของชาวอาหรับไปด้วย
ทุกวันนี้นักปรัชญาในกะลาครอบของวงการสื่อสารมวลชนทุกคน รวมทั้งนักวิจารณ์ที่มีอิทธิพลอย่าง โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) ก็นิยมพล่ามด้วยเนื้อหาแบบเดียวกัน โดยเสริมคำบรรยายทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชาวอาหรับว่า มายาคติประการหนึ่งในหลาย ๆ ประการของชาวอาหรับก็คือ "ความงมงาย" ที่ยึดถือร่วมกันว่า ชาวอาหรับเป็นชนชาติเดียวกัน ตามทัศนะของผู้ทรงอิทธิพลอย่างฟรีดแมนและฟูอัด อะจามี(4)4 ชาวอาหรับเป็นเพียงการรวมตัวกันหลวม ๆ ของชนเร่ร่อน ชนเผ่าที่ถือร่มธงแตกต่างกันไป โดยใส่หน้ากากเสแสร้งว่าเป็นวัฒนธรรมและชนชาติเดียวกัน
เราสามารถชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นมายาคติแบบบูรพาคตินิยมที่เพ้อเจ้อ มีสถานะไม่ต่างจากความเชื่อของลัทธิไซอันนิสต์ที่ว่า ปาเลสไตน์เป็นดินแดนว่างเปล่า ไม่เคยมีชาวปาเลสไตน์อยู่ที่นั่น ดังนั้น จึงไม่ถือว่าชาวปาเลสไตน์เป็นชนชาติ เราแทบไม่จำเป็นต้องโต้แย้งถึงความสมเหตุสมผลของสมมติฐานแบบนั้น ที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า เกิดมาจากความกลัวและความเขลา
แต่นี่ยังไม่หมด ชาวอาหรับมักถูกตำหนิเสมอมาถึงการไร้ความสามารถในการจัดการกับความเป็นจริง นิยมวาทศิลป์ยิ่งกว่าข้อเท็จจริง หมกมุ่นอยู่กับการสงสารตัวเองและการโอ้อวดยิ่งกว่าการบรรยายถึงความจริงอย่างรอบคอบ แฟชั่นใหม่ในตอนนี้คือการอ้างถึงรายงานของ UNDP(5)5 (โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ) เมื่อปีที่แล้วว่าเป็นการประณามตัวเองของชาวอาหรับ "อย่างเป็นภววิสัย" ดังที่ผมเคยชี้ให้เห็นแล้วว่า รายงานนี้ตื้นเขินและบกพร่องจนเปรียบเสมือนรายงานของนักศึกษาปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่า ชาวอาหรับสามารถพูดความจริงเกี่ยวกับตัวเอง
รายงานนี้ยังต่ำชั้นกว่างานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวอาหรับเอง ที่เขียนตั้งแต่เมื่อหลายศตวรรษก่อนอีกหลายขุม นับตั้งแต่ยุคอิบบัน คัลดุน(6)6 มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสิ่งที่ละไว้ เช่น บริบทของลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งผู้เขียนรายงานของ UNDP มองข้ามไปอย่างมักง่าย คงเพื่อพิสูจน์ว่า วิธีคิดของตนอยู่ในแนวทางเดียวกับลัทธิปฏิบัตินิยมแบบอเมริกัน
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ มักกล่าวว่า ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่เที่ยงตรงและไม่สามารถสื่อความหมายถึงเรื่องต่าง ๆ ได้ถูกต้องแม่นยำอย่างแท้จริง ในความคิดเห็นของผม ข้อสังเกตแบบนี้เป็นเจตนาร้ายทางอุดมการณ์ที่เห็นชัดจนไม่ต้องสร้างข้อโต้แย้งแต่อย่างใด แต่ผมคิดว่า เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่าอะไรที่เป็นแรงขับดันทัศนคติเช่นนั้นออกมา โดยดูจากตัวอย่างความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของลัทธิปฏิบัตินิยมแบบอเมริกัน ซึ่งจะให้ภาพเปรียบเทียบที่แสดงถึงความขัดแย้งอย่างชัดเจน และชี้ให้เห็นว่าผู้นำกับรัฐบาลปัจจุบันของเรา จัดการกับความเป็นจริงด้วยความรอบคอบและยึดมั่นในความเป็นจริงสักแค่ไหนกันเชียว
ผมหวังว่าความย้อนแย้งอย่างน่าเยาะหยันที่ผมกำลังจะถกถึงต่อไปนี้ คงให้ภาพที่ชัดเจนในพริบตา ตัวอย่างที่ผมนึกถึงในใจก็คือ การวางแผนของอเมริกันที่มีต่ออิรักหลังสงคราม มีคำอรรถาธิบายถึงเรื่องนี้อย่างน่าขนลุกขนพองในนิตยสาร ไฟแนนเชียล ไทมส์ ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม ทำให้เราได้รู้ว่า ดักลาส ลีธ (Douglas Leith)และพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ (Paul Wolfowitz) ผู้มีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลโดยไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง และอยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่สายเหยี่ยวที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาลบุช ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นเป็นพิเศษกับพรรคลิคุดของอิสราเอล พวกเขาจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาในเพนตากอน "ซึ่งรู้สึกมาตลอดว่า นี่ [หมายถึงสงครามและผลพวงในภายหลัง] ย่อมไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ มัน [หมายถึงเรื่องทั้งหมด] จะต้องใช้เวลาสัก 60-90 วัน เพื่อกลับลำและส่งลูกต่อ...ให้ชาลาบีและสภาแห่งชาติชาวอิรัก จากนั้นกระทรวงกลาโหมจะได้ล้างมือจากเรื่องทั้งหมดและถอนตัวอย่างรวดเร็ว ราบรื่นและว่องไว แล้วเราก็จะมีอิรักประชาธิปไตยที่เชื่องเชื่อต่อความต้องการและความปรารถนาของเราทุกประการ มันก็แค่นั้นเอง"
แน่นอน ตอนนี้เรารู้แล้วว่า สหรัฐอเมริกาทำสงครามบนรากความคิดนี้ และการยึดครองทางทหารที่กระทำต่ออิรักตั้งอยู่บนสมมติฐานแบบจักรวรรดินิยม ที่ห่างไกลจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ประวัติของชาลาบีที่เคยเป็นผู้ให้ข่าวกรองและนายธนาคารก็ไม่ดีสักเท่าไร และถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องเตือนความจำแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นในอิรักนับตั้งแต่การโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน
ความปั่นป่วนวุ่นวาย นับตั้งแต่การปล้นหอสมุดและพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงของกองทัพสหรัฐฯ ในฐานะกองกำลังที่เข้าไปยึดครอง) ความพินาศของโครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นปฏิปักษ์ของชาวอิรัก --ซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด-- ที่มีต่อกองกำลังแองโกล-อเมริกัน ความไร้เสถียรภาพและความขาดแคลน เหนืออื่นใด คือความไร้ประสิทธิภาพเยี่ยงปุถุชน --ผมขอย้ำคำว่า "ปุถุชน"-- อย่างเหลือเชื่อของการ์เนอร์, (พอล) เบรเมอร์ (หัวหน้าคณะบริหารการปกครองอิรักของสหรัฐ) รวมทั้งบรรดาสมัครพรรคพวกและทหารทุกคนในการจัดการปัญหาอิรักหลังสงครามได้อย่างย่ำแย่
ทั้งหมดนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงลัทธิปฏิบัตินิยมและสัจจนิยมแต่เพียงเปลือกนอกของวิธีคิดแบบอเมริกัน ที่อวดอ้างว่าแตกต่างตรงกันข้ามกับวิธีคิดของประชาชาติจอมปลอมที่ด้อยกว่าอย่างชาวอาหรับ ซึ่งมีแต่มายาคติและภาษาที่ผิดพลาด
ความจริงของเรื่องทั้งหมดก็คือ ความเป็นจริงไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของปัจเจกบุคคล (ไม่ว่ามีอำนาจสักแค่ไหน) อีกทั้งความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับบางชนชาติ และบางวิธีคิดมากกว่าชนชาติและวิธีคิดอื่น ๆ สภาพการณ์ของมนุษย์กอปรขึ้นจากประสบการณ์และการตีความ และไม่มีทางที่อำนาจจะครอบงำได้โดยสิ้นเชิง อีกทั้งมันยังเป็นบริบทที่มีร่วมกันของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในประวัติศาสตร์ ความผิดพลาดร้ายแรงของวูล์ฟโฟวิทซ์และลีธ มีต้นตอมาจากความโอหังที่บังอาจเอาภาษานามธรรมและเขลาอย่างที่สุด มาแทนที่ความเป็นจริงอันซับซ้อนและแข็งขืน ผลลัพธ์อันน่าประหวั่นยังเห็นได้ทนโท่
เพราะฉะนั้น นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจงอย่ายอมรับการปลุกระดมทางอุดมการณ์ ที่ยกภาษาและความเป็นจริงให้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของมหาอำนาจอเมริกัน หรือที่เรียกกันว่า วิสัยทัศน์แบบตะวันตก แก่นกลางของเรื่องทั้งหมดยังคงเป็นลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งทึกทักเอาเองว่ามีภารกิจในการกำจัดบุคคลชั่วร้ายอย่างซัดดัมให้พ้นไปจากโลก ในนามของความยุติธรรมและความก้าวหน้า (แต่ลงท้ายแล้วมีแต่ความกลวงเปล่า)
ข้ออ้างแบบนักลัทธิแก้ต่อการรุกรานอิรักและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกัน ที่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับการต้อนรับน้อยที่สุดอย่างหนึ่งนับตั้งแต่จักรวรรดิอังกฤษที่ล่มสลายไปเมื่อสมัยก่อน มิหนำซ้ำยังผลิตวาทกรรมอันหยาบกระด้างและบิดเบือนข้อเท็จจริงกับประวัติศาสตร์ด้วยความปลิ้นปล้อนจนน่าตกใจ มันกำลังเป็นคำป่าวประกาศของบรรดานักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่ย้ายไปอยู่ในอเมริกา ซึ่งไม่มีจรรยาบรรณพอที่จะพูดออกมาตรง ๆ ว่า ใช่ เราเหนือกว่าและสงวนสิทธิ์ในการสั่งสอนบทเรียนแก่พวกชาวพื้นเมืองที่ไหนก็ตามในโลก ที่เราเห็นว่าน่ารังเกียจและล้าหลัง ทำไมเราถึงมีสิทธินั้นนะหรือ?
ก็เพราะพวกชาวพื้นเมืองขนดกรุงรังที่เรารู้จักมาตั้งแต่สมัยปกครองด้วยจักรวรรดิตลอด 500 ปี และตอนนี้เราต้องการให้อเมริกาเจริญรอยตาม คนพื้นเมืองพวกนั้นล้มเหลวมาตลอด ล้มเหลวในการทำความเข้าใจว่าเราคืออารยธรรมที่เหนือกว่า คนพวกนั้นยึดติดอยู่กับความงมงายและความคลั่งลัทธิ เป็นทรราชสันดานชั่วที่สมควรได้รับการลงทัณฑ์ และเรา โดยบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า คือผู้ได้รับเลือกให้ประกอบภารกิจนี้ ในนามของความก้าวหน้าและอารยธรรม
ถ้าหากมีคนไหนในบรรดาสื่อมวลชนนกหลายหัวตีหลายหน้า (ซึ่งรับใช้เจ้านายมาไม่รู้กี่คนต่อกี่คน จนไม่มีหลักศีลธรรมอะไรหลงเหลืออีกแล้ว) สามารถอ้างข้อเขียนของมาร์กซ์และนักปราชญ์เยอรมันมาสนับสนุนความคิดของตนได้ ก็จะยิ่งดูฉลาดภูมิฐานขึ้น แม้ว่าคนเหล่านี้เคยประกาศต่อต้านลัทธิมาร์กซิสต์และไม่เคยรู้หรือเรียนภาษาอะไรเลย นอกจากภาษาอังกฤษก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นแค่ลัทธิเหยียดผิว ไม่ว่าจะตกแต่งให้ดูดีเพียงไรก็ตาม
ปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ลึกกว่า และน่าสนใจกว่าที่บรรดานักอภิปรายและนักประชาสัมพันธ์เพื่อมหาอำนาจอเมริกันเคยจินตนาการถึง ประชาชนทั่วโลกกำลังประสบภาวะสับสนของการพลิกคว่ำทางความคิดและคำศัพท์ นักวางนโยบายชาวอเมริกันกำลังทำให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่และ "ลัทธิปฏิบัตินิยม" แบบอเมริกันกลายเป็นบรรทัดฐานสากล ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ดังที่เราเห็นแล้วในตัวอย่างเรื่องอิรักที่ผมอ้างถึงข้างต้น มีแต่ความเลอะเลือนและมาตรฐานเหลื่อมซ้อนในการใช้คำอย่าง "สัจจนิยม" "ปฏิบัตินิยม" รวมทั้งคำอื่น ๆ อย่าง "ฆราวาส" (secular) และ "ประชาธิปไตย" ซึ่งจำเป็นต้องคิดใหม่และประเมินค่าใหม่หมด
ความเป็นจริงนั้นซับซ้อนและมีหลายแง่มุมเกินกว่าจะยอมจำนนอยู่ภายใต้สูตรสำเร็จตื้นเขินอย่าง "ผลลัพธ์คืออิรักประชาธิปไตยที่เชื่องเชื่อต่อเรา" เหตุผลแบบนี้ไม่มีทางผ่านการทดสอบจากความเป็นจริง ความหมายไม่ใช่สิ่งที่สามารถยัดเยียดจากวัฒนธรรมหนึ่งเข้าไปในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เช่นเดียวกับไม่มีภาษาและวัฒนธรรมหนึ่งใดหนึ่งเดียว ที่เป็นเจ้าของความลับในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในฐานะชาวอาหรับและชาวอเมริกัน ผมขอเสนอให้พิจารณาว่า เราปล่อยให้มีการโหมประโคมคำขวัญเกี่ยวกับ "เรา" และวิธีการ "ของเรา" ในการถกเถียง โต้แย้งและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมานานเกินไปแล้ว ความล้มเหลวที่สำคัญประการหนึ่งของปัญญาชนทั้งชาวอาหรับและชาวตะวันตกในทุกวันนี้ก็คือ พวกเขายอมรับคำศัพท์อย่าง ฆราวาสนิยม และ ประชาธิปไตย โดยปราศจากการโต้แย้งหรือตรวจสอบให้เข้มงวดเพียงพอ ราวกับทุกคนรู้ดีแล้วว่าคำเหล่านี้หมายถึงอะไร ในปัจจุบัน อเมริกามีประชากรที่เป็นคนคุกมากที่สุดในโลก การได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คุณไม่จำเป็นต้องชนะคะแนนเสียงจากประชาชน แต่ต้องใช้เงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ สิ่งเหล่านี้ผ่านบททดสอบของ "ประชาธิปไตยเสรีนิยม" ได้อย่างไร?
ดังนั้น แทนที่จะวางเงื่อนไขในการวิวาทะไว้ที่ถ้อยคำเปราะบางฉาบฉวยไม่กี่คำอย่าง "ประชาธิปไตย" และ "เสรีนิยม" โดยไม่ตั้งข้อสงสัย หรือที่แนวความคิดที่ไม่มีการตรวจสอบอย่าง "การก่อการร้าย" "ความล้าหลัง" และ "ลัทธิสุดขั้วทางศาสนา" เราควรผลักดันให้มีการถกเถียงที่ละเอียดถี่ถ้วนกว่านี้ เข้มข้นกว่านี้ โดยที่คำต่าง ๆ มีนิยามจากหลายแง่มุมและตั้งอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมเสมอ
อันตรายอันใหญ่หลวงก็คือ วิธีคิดด้วย "คาถาวิเศษ" แบบอเมริกันของคนอย่างวูล์ฟโฟวิทซ์, เชนีย์และบุช กำลังถูกเผยแพร่ให้เป็นเสมือนมาตรฐานสูงสุด สำหรับทุกชนชาติและทุกภาษาต้องปฏิบัติตาม ในทัศนะของผม หากว่าอิรักเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เราต้องไม่ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้ง่าย ๆ โดยไม่มีการโต้แย้งอย่างจริงจังและวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง และเราต้องไม่ยอมถูกข่มขู่ให้เชื่อว่า อำนาจของวอชิงตันน่าเกรงขามจนขัดขืนไม่ได้
และในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลาง การถกเถียงต้องถือว่าชาวอาหรับกับชาวมุสลิม และชาวอิสราเอลกับชาวยิวเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ผมขอเรียกร้องทุกคนให้เข้าร่วมและไม่ปล่อยให้พื้นที่ทางค่านิยม คำนิยาม และวัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่ที่ขาดไร้การโต้แย้ง พื้นที่นี้ย่อมไม่ใช่สมบัติของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวอชิงตันไม่กี่คน เช่นเดียวกับที่มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ปกครองชาวตะวันออกกลางไม่กี่คน มันเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่มนุษย์มีภารกิจในการสร้างสรรค์และสร้างใหม่ และไม่ว่าจักรวรรดิจะขู่คำรามสะท้านสะเทือนแค่ไหน ก็ไม่สามารถปกปิดหรือปฏิเสธความจริงอันนี้ได้
เชิงอรรถ
(1) Zionism ขบวนการทางการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1897 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนาประเทศของชาวยิวขึ้นในดินแดนของชาวปาเลสไตน์
(2) Thomas Carlyle (1795-1881) นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาการเมืองชาวสก๊อต มีชื่อเสียงจากการเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส เขามักวิพากษ์วิจารณ์ผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์ลัทธิประโยชน์นิยม และเชิดชูอดีตในยุคกลาง แม้ว่ามีความเห็นอกเห็นใจคนยากไร้อย่างแท้จริง แต่ในงานเขียนช่วงหลัง ทัศนะของเขาเป็นปฏิปักษ์กับแนวความคิดแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ
(3) Ernest Renan (1823-92) นักประวัติศาสตร์และนักนิรุกติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นนักลัทธิบูรพาคตินิยมคนหนึ่ง ที่ซาอิดยกมาศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือ Orientalism
(4) Fouad Ajami ศาสตราจารย์ชาวปาเลสไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์
(5) หมายถึงโครงการ Arab Human Development Report ของ UNDP ร่วมกับ Arab Fund for Social Development โครงการนี้เริ่มในปี ค.ศ. 2002 เป็นการสร้างงานวิจัยโดยมีแนวคิดว่าต้องเขียนโดยชาวอาหรับเพื่อชาวอาหรับ เน้นที่การปฏิรูปสังคมจากภายในและการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอย่างรอบด้าน งานวิจัยฉบับแรกในปี ค.ศ. 2002 ที่ซาอิดอ้างถึง มีชื่อหัวข้อว่า Creating Opportunities for Future Generation ส่วนงานวิจัยฉบับที่ 2 ที่ออกมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 มีหัวข้อคือ Building a Knowledge Society ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.undp.org/rbas/ahdr
(6) Ibn Khaldun (1332-1406) นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้วางรากฐานปรัชญาประวัติศาสตร์ที่ปลอดพ้นจากความศรัทธาทางศาสนา
+++++++++++++++++++
ภาคผนวก
เอ็ดเวิร์ด ดับเบิลยู. ซาอิด (Edward W. Said)
24 กันยายน
2003 ที่ผ่านมา โลกสูญเสียปัญญาชนคนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง เอ็ดเวิร์ด ดับเบิลยู.
ซาอิด นักคิดชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย ในวัยเพียง
67 ปี
เอ็ดเวิร์ด ซาอิด นับเป็นหนึ่งในปัญญาชนแบบคลาสสิกที่มีความรอบรู้ทั้งทางด้านวรรณคดี ดนตรี ปรัชญา ศิลปะ การเมืองและสังคม ชนิดหาตัวจับยากในยุคปัจจุบัน เชี่ยวชาญทั้งภาษาอาหรับ อังกฤษและฝรั่งเศส และเป็นนักเล่นเปียโนฝีมือเยี่ยม งานเขียนของเขาทะลวงกรอบความคิดและเปิดภูมิประเทศใหม่ทางด้านวิชาการ ส่วนบทบาททางการเมืองก็โดดเด่นจนนับได้ว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ชีวประวัติของซาอิดมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของเขาในกาลต่อมา เพราะเขาเติบโตในสองวัฒนธรรม ทั้ง "ตะวันออก" และ "ตะวันตก" เขาเป็นชาวปาเลสไตน์ที่เกิดในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปาเลสไตน์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ บิดาเป็นนักธุรกิจฐานะมั่งคั่งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ครอบครัวของซาอิดย้ายไปอยู่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ในปี ค.ศ. 1947 หลังจากสหประชาชาติแบ่งแยกนครเยรูซาเล็มออกเป็นสองส่วน คือส่วนของชาวยิวและส่วนของชาวอาหรับ
ซาอิด เรียนโรงเรียนอเมริกันในกรุงไคโรและเรียนต่อในวิทยาลัยวิกตอเรีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1951 เขาย้ายมาศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน แล้วศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาวรรณคดีอังกฤษในปี ค.ศ. 1964 ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี เขาทำงานเป็นผู้ช่วยสอนในภาควิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จนได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 1970 ซาอิดเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนี้จวบจนเสียชีวิต
ผลงานทางวิชาการเล่มแรกของซาอิดคือ Joseph Conrad and the Fiction of Autobiography (1966) ซึ่งสืบเนื่องจากวิทยานิพนธ์ของเขา ในงานเขียนชิ้นนี้ ซาอิดเริ่มสำรวจแนวความคิดที่จะนำไปสู่ทฤษฏีเกี่ยวกับวัฒนธรรมและจักรวรรดินิยม
ไม่กี่ปีต่อมา ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของซาอิดและวงการวิชาการยุคปัจจุบันก็ปรากฏออกมา นั่นคือ Orientalism (1978) ในหนังสือเล่มนี้ ซาอิดใช้วิธีการวรรณกรรมปริทัศน์ (literature review) ต่อผลงานของผู้เชี่ยวชาญทางด้านบูรพาคดีศึกษา อาทิเช่น เบอร์นาร์ด ลูว์อิส (Bernard Lewis), เอ็ดเวิร์ด เลน (Edward Lane), ซิลแวสตร์ เดอ ซาซี (Silvestre de Sasy), เอิร์นสต์ เรอนอง (Ernest Renan), ฯลฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่า การแบ่งโลกออกเป็น "ตะวันออก" และ "ตะวันตก" แท้ที่จริงแล้วเป็นการ "สร้าง" ขึ้นมาโดยนักคิดในยุโรปและอเมริกา โดยมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับลัทธิล่าอาณานิคมทั้งในยุคเก่าและยุคใหม่ ซาอิดแสดงให้เห็นว่า แนวความคิดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องเหลวไหล แต่มันกลับถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองในการครอบงำความคิดและขยายอำนาจ
Orientalism ของซาอิดทำให้ปัญญาชนชาว "ตะวันตก" ต้องหันมาสำรวจแนวความคิดของตัวเองที่มีต่อ "ตะวันออก" กันใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ "โลกอิสลาม" และทำให้ปัญญาชนชาว "ตะวันออก" ตระหนักว่า ตนเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของชาวยุโรปและอเมริกัน จนทำให้การมองตัวตนและวัฒนธรรมของตนเอง แม้กระทั่งการนิยามตัวเอง ต้องมองผ่านแว่นความคิดแบบ "ตะวันตก" หนังสือเรื่อง Orientalism ยังถือเป็นการเปิดฉากแนวคิดที่แพร่หลายในปัจจุบันที่เรียกกันว่า แนวความคิดยุคหลังอาณานิคม (post-colonial)
ผลงานอื่น ๆ ของซาอิดยังมีมากมาย อาทิเช่น The Question of Palestine (1979), Covering Islam (1981), ฯลฯ ผลงานในยุคหลังได้แก่ Musical Elaborations (1991), Cultural Imperialism (1993) เป็นต้น นอกจากนี้ ซาอิดยังเขียนวิจารณ์ดนตรีให้ The Nation และเขียนบทความทางสังคม-การเมืองให้ CounterPunch และ Al Ahram อย่างสม่ำเสมอจวบจนเสียชีวิต
บทบาททางด้านการเมืองที่ทำให้ซาอิดเป็นที่รู้จัก คือการวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลอย่างเผ็ดร้อนในประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1977-1991 ซาอิดทำหน้าที่เป็นสมาชิกอยู่ในสมัชชาแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestine National Conference) ซึ่งเป็นรัฐสภาลี้ภัย เขาลาออกจากตำแหน่งนี้เมื่อรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคลูคีเมีย
ในปี ค.ศ. 1993 หลังจากมีการลงนามในข้อตกลงออสโลระหว่างอิสราเอลกับขบวนการพีแอลโอของนายยัสเซอร์ อาราฟัต ซาอิดขมขื่นกับข้อตกลงนี้มาก เขาวิพากษ์วิจารณ์อาราฟัตอย่างรุนแรงและกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้นำชาวปาเลสไตน์คนนี้ตลอดมา
ซาอิดไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกรัฐของชาวปาเลสไตน์กับชาวยิว เขามีความเห็นว่า สองชนชาตินี้ควรสร้างรัฐชาติร่วมกันมากกว่า "ผมมองไม่เห็นหนทางอื่น นอกจากต้องเริ่มพูดนับแต่บัดนี้ถึงการอยู่ร่วมกันในดินแดนที่ผลักดันพวกเราให้มาเผชิญหน้ากัน และต้องเป็นการอยู่ร่วมกันในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยที่พลเมืองแต่ละคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน"
เขาเขียนลงนิวยอร์คไทมส์เมื่อปี ค.ศ. 1999 "ไม่มีทางประนีประนอมกันได้ นอกเสียจากประชาชนทั้งสองชนชาติ สองชุมชนแห่งความทุกข์ทรมาน จับมือกันคลี่คลายปัญหาและยอมรับว่า ความมีอยู่ของสองชาตินี้เป็นข้อเท็จจริงทางโลก ไม่ใช่ทางศาสนา และจัดการปัญหานี้ในแนวทางดังกล่าว"
การต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน ทำให้ซาอิดก่อศัตรูมากมาย เขาได้รับคำข่มขู่เอาชีวิตหลายครั้ง ในปี ค.ศ. 1985 เขาอยู่ในรายชื่อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนาซีของสันนิบาตเพื่อการป้องกันตนเองของชาวยิว (Jewish Defense League) และห้องทำงานที่มหาวิทยาลัยถูกวางเพลิง
นอกจากนี้ เขายังต้องเผชิญกับการกล่าวร้ายตลอดเวลา ฝ่ายตรงข้ามพยายามขุดคุ้ยประวัติชีวิตของเขาเพื่อหาจุดด่างพร้อย เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์กับการที่มีครอบครัวฐานะดี การที่ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ในปาเลสไตน์ขณะถูกรุกรานและยึดครอง รวมทั้งการที่สมาชิกบางคนในสมัชชาแห่งชาติปาเลสไตน์มีความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อการร้าย
ซัลแมน รัชดี เคยกล่าวถึงซาอิดว่า เขา "อ่านโลกอย่างพินิจพิเคราะห์ดุจเดียวกับที่เขาอ่านหนังสือ"
อเล็กซานเดอร์ ค็อคเบิร์น (Alexander Cockburn) กล่าวไว้อาลัยต่อซาอิดว่า "...เอ็ดเวิร์ดเป็นปัญญาชนในจารีตแบบศตวรรษที่ 19 เทียบเท่ากับ (เอมิล) โซลา หรือวิกเตอร์ อูโก"
ดานิเอล บาเรนบอยม์ (Daniel Barenboim) ชาวยิวที่เป็นเพื่อนสนิทของซาอิดและร่วมกันก่อตั้งชมรมตะวันตก-ตะวันออก (West-Eastern Divan) เพื่อให้นักดนตรีหนุ่มสาวชาวอิสราเอลและอาหรับมาเรียนรู้และเล่นดนตรีร่วมกัน กล่าวไว้อาลัยว่า "เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่แลเห็นความเชื่อมโยงและเคียงคู่ขนานระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเขามีญาณหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังตระหนักว่าความคู่ขนานและขั้วตรงข้ามหาใช่ความขัดแย้งไม่"
ยัสเซอร์ อาราฟัต กล่าวสดุดีว่า "การจากไปของเขา เท่ากับมนุษยชาติได้สูญเสียอัจฉริยะอันโดดเด่น ผู้สร้างคุณูปการอย่างแข็งขันทั้งในด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการสร้างสรรค์"
โรเบิร์ต ฟิสค์ (Robert Fisk) นักหนังสือพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาตะวันออกกลางกล่าวไว้อาลัยว่า "เอ็ดเวิร์ดเป็นคนที่หาตัวจับยาก เขาเป็นทั้งปูชนียบุคคล (icon) และเป็นนักต่อต้านปูชนียบุคคล (iconoclast)"
เกี่ยวกับคำไว้อาลัยการมรณกรรมของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด เพิ่มเติม คลิกดูได้จากที่นี่ (Click)
../midarticle/newpage47.html
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การที่เขาพูดต่อต้านประชาชนทั้งชนชาติ
อันหมายถึงชาวปาเลสไตน์ โดยกล่าวหาว่าชาวปาเลสไตน์จะก่อตั้งประเทศทั้งประเทศเป็นรัฐ
"ก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึงการเป็นศัตรูต่อมนุษยชาติตามคำนิยามของวอชิงตันในปัจจุบัน
เท่ากับดีเลย์จงใจขัดขวางความก้าวหน้าของชาวปาเลสไตน์ในอันที่จะก้าวไปสู่การกำหนดอนาคตของตัวเอง...
เมื่อพิจารณาดูความไร้มนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง
และความโอหังแบบจักรวรรดินิยมที่แฝงอยู่ในจุดยืนของดีเลย์ จากจุดยืนในประเทศมหาอำนาจที่ห่างไกลนับหมื่นไมล์
คนอย่างเขา ซึ่งไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตที่แท้จริงของชาวอาหรับปาเลสไตน์พอ
ๆ กับคนที่อยู่บนดวงจันทร์ แต่ยังกล้าเข้ามาขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์
รวมทั้งยืดเวลาของการกดขี่และความทุกข์ยากไปอีกไม่รู้กี่ปี เพียงเพราะเขาทึกทักว่า
ชาวปาเลสไตน์ทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย