The Midnight University
มนุษยธรรมและสันติภาพ
โศกนาฏกรรมลำเค็ญของคนชายขอบ
เตือนใจ
ดีเทศน์ (กุญชร ณ อยุธยา)
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
บทความนี้เป็นการรวบรวมภาพชีวิตลำเค็ญของคนชายขอบทั้งสองภาคของประเทศ
ภาคเหนือและภาคใต้มาไว้ในที่เดียวกัน
เพื่อสะท้อนถึงปัญหามนุษยธรรมและการกดขี่ที่ยังมีอยู่ในเมืองไทย
๑. โลกนี้ยังมีรุ้ง
ความหวังบนดอยไตแลง เขียนโดย เตือนใจ ดีเทศน์
๒. หากไม่มีเสรีภาพ ก็ปราศจากสันติภาพ
เขียนโดย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
หมายเหตุ
: เรื่องแรกนำมาจากกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน
เรื่องที่สอง กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 737
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)
ชีวิตลำเค็ญของคนชายขอบทางเหนือ
(กรณีอพยพชาวไทยใหญ่)
๑. โลกนี้ยังมีรุ้ง ความหวังบนดอยไตแลง
เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์
รถติดปืนนำหน้า
รถฮัมวี่ 2 คัน รถขับเคลื่อนสี่ล้อ 9 คัน ปิดท้ายด้วยรถฮัมวี่อีก 1 คัน รวมเป็น
13 คัน ขบวนรถมุ่งสู่ดอยไตแลง ซึ่งแล่นขึ้นดอยสูงชัน จึงต้องเว้นระยะห่างกัน
เผื่อรถคันหน้าไม่มีแรงพอ อาจไหลลงมาชน พวกเราต้องคอยลุ้น ขอพระคุ้มครองให้ปลอดภัย
เมื่อแวะกินข้าวกลางวันที่หน่วยทหารก่อนถึงดอยไตแลง ดิฉันจึงขอเปลี่ยนมานั่งรถฮัมวี่
ซึ่งดูแข็งแรงมั่นคง และพบว่ารถฮัมวี่นั่งสบาย ไม่โยกคลอน ขึ้นดอยเก่งกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อหลายเท่า
ดิฉันและคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา นำโดย ส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เดินทางเข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากข้อร้องเรียนว่า มีการอพยพชาวไทยใหญ่ไปสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภาวะสู้รบ ที่ดอยไตแลง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีรองแม่ทัพภาคที่ 3 พลตรีมนัส เปาริก พร้อมคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมสมทบและอำนวยความสะดวก
เมื่อถึงดอยไตแลง เห็นชาวบ้านทั้งหญิง ชาย เด็ก เข้าแถวต้อนรับกันยาวเหยียด ผู้ชายนุ่งกางเกงขายาว เสื้อแขนยาวแบบไทยใหญ่ ใช้ผ้าด้ายทอมือสีธรรมชาติ คือ สีน้ำตาลอ่อน ผู้หญิงนุ่งซิ่น ใส่เสื้อแขนกระบอกสีสันสวยงาม เด็กๆ ก็มาต้อนรับด้วย มีช่อดอกไม้แบบพื้นบ้านมอบให้หัวหน้าคณะ
ชาวบ้านจัดการแสดงให้ชมอย่างงดงาม ทั้งการฟ้อนของผู้หญิง การรำดาบของวัยรุ่นชาย การเต้น "โต" ซึ่งใช้คนนำหน้าเชิดหัวและคนท้ายเป็นเท้าหลัง เป็นศิลปะที่ทั้งสองคนต้องรู้จังหวะกันอย่างดี
รองแม่ทัพภาคที่ 3 ได้บรรยายสถานการณ์ โดยใช้แผนที่ประกอบ สรุปได้ว่า ชาวไทยใหญ่มาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ.2543 จนมาถึงปีนี้ กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ เห็นว่าบริเวณนี้เป็นต้นน้ำลำธาร สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,500 เมตร มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ชาวไทยใหญ่อยู่กัน 4 หมู่บ้าน 392 ครัวเรือน ประชากร 1,818 คน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ป่าเป็นที่ทำกิน ทั้งยังมีโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียน 700 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3 มีหอพักสำหรับเด็กกำพร้า หอชาย 154 คน หญิง 64 คน ครู 20 คน มีวัด 1 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน มีพระเณรรวม 7 รูป
กองทัพภาคที่ 3 จึงขอให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่น่าจะมีที่ทำกินสะดวกกว่า ซึ่งชาวบ้านได้ย้ายไปหมดแล้ว เหลือแต่วัด โรงเรียน และหอพักเด็กกำพร้า ดิฉันได้แยกตัวออกไปดูหอพักเด็กชาย โดยเดินผ่านหมู่บ้านที่ชาวบ้านรื้อถอนบ้านไปแล้ว ดูเป็นหมู่บ้านร้างที่เห็นแล้วใจหดหู่ ได้คุยกับเด็กชายอายุราว 7 ขวบ ซึ่งนั่งกอดอกอยู่ตลอดเวลาด้วยดวงตาที่เศร้าหมอง ถามว่าพ่อหรือแม่ยังมีชีวิตอยู่ไหม ล่ามช่วยแปล ได้คำตอบว่า พ่อแม่ถูกทหารพม่าฆ่าตายหมด เด็กชายอายุ 13-17 ปี อีก 3 คนที่ดิฉันได้พบก็ตอบว่า ทั้งพ่อและแม่ถูกฆ่าตายหมด พี่น้องที่รอดมาได้หลบภัยอยู่ที่หอพักเด็กกำพร้าด้วยกัน
ในหมู่บ้านที่ได้ไปเยี่ยม เห็นพ่อบ้านกำลังนำใบค้อมาไพเป็นตับ เพื่อมุงหลังคาและบังเป็นฝาบ้าน เขาชี้ให้ดูบ้านหลังที่ลูกกระสุนปืนตกลงมาจนพังต้องสร้างใหม่ และอีกจุดหนึ่งที่ดินยุบเป็นแอ่ง วันที่เกิดเหตุชาวบ้านต้องหนีไปหลบที่วัด ซึ่งเป็นที่ปลอดภัยที่สุด พวกเขาจึงกลัวมาก ขอร้องทหาร อนุญาตให้วัด โรงเรียน และหอพักเด็กกำพร้าได้ตั้งอยู่ที่เดิม เพราะเป็นบริเวณที่ปลอดภัย
ดิฉันได้เข้าไปเยี่ยมบ้าน 2 หลัง ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงใบค้อ หลังแรกมีแม่กับลูก 2 คนนั่งอยู่ใกล้เตาไฟ ในกระท่อมมีเพียงหม้อหุงข้าวกับถ้วยชามไม่กี่ใบ ถามว่าวันนี้กินข้าวกับอะไร เขาตอบว่ากินกับหน่อไม้
หลังที่ 2 มีพ่อขาขาดนั่งอุ้มลูกน้อยอยู่บนแคร่ติดกับประตู แม่อยู่ข้างในกับลูกอีกคน ในส่วนที่เป็น "ห้องนอน" ซึ่งมีพื้นที่แคบๆ แค่พอที่พ่อแม่ลูกรวม 4 คนจะนอนได้พอดี ที่พื้นดินหน้าแคร่เป็นเตาเล็กๆ สำหรับหุงต้มวางอยู่ มองไปในหม้อเห็นมีข้าว กับอีกหม้อหนึ่งมีหน่อไม้ต้มเป็นอาหารหลักที่ธรรมชาติให้แก่คนยากในช่วงฤดูฝน ระหว่างทางในหมู่บ้านเห็นชายขาขาดอีก 3 คน
ปัญหาของชาวบ้านคือที่ทำกินจำกัด เพราะถูกควบคุมไม่ให้รุกผืนป่า น้ำไม่พอบริโภค ไม่มีอาชีพรองรับ ต้องไปรับจ้างหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งค่าแรงถูกและจ้างคนได้จำกัด ช่องทางให้ความช่วยเหลือสู่โรงเรียนและเด็กกำพร้าไม่สะดวก ทั้งเรื่องอาหาร สมุดหนังสือ วัคซีนป้องกันโรค การรักษาพยาบาล
คณะกรรมาธิการได้ประชุมร่วมกับรองแม่ทัพภาคที่ 3 ที่ฐานบ้านไม้ลัน ได้ข้อมูลว่ารัฐบาลไทยได้ตกลงกับรัฐบาลพม่าว่า "บริเวณสันชายแดนจะไม่มีกองกำลังใดๆ อยู่อีก" และ "ยังไม่มีสถานภาพใดๆ" องค์กรที่จะเข้าไปช่วยเหลือจึงทำงานยาก เพราะไม่มีช่องทางที่เปิดให้ตามกฎหมาย แต่เมื่อใดที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากภัยการสู้รบ ทหารไทยก็พร้อมจะช่วยเหลือ
เจ้ายอดศึกได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 20 ว่า "การต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศไทยใหญ่ได้ต่อเนื่องมาถึง 40 ปีแล้ว หลังจากที่ผู้นำไทยใหญ่ร่วมลงนามกับผู้นำพม่า เพื่อขอเอกราชจากอังกฤษ ในสัญญาปางโหลง แต่เนวินได้เข้ายึดประเทศไทยใหญ่เมื่อ พ.ศ.2505 ทำให้ปัญหาซับซ้อนตลอดมา ถ้าไม่มีไทยใหญ่ก็ไม่มีพม่าในวันนี้"
เจ้ายอดศึกได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองกำลังหลังจากที่ขุนส่าประกาศวางอาวุธ เมื่อ พ.ศ.2539 เขาบอกว่า "ปัญหาไทยกับพม่าจึงเป็นปัญหาระหว่างประเทศต่อประเทศ มิใช่เป็นเรื่องภายในของพม่า ซึ่งอาเซียนและสหประชาชาติควรเข้ามาช่วยแก้ไข"
เมื่อพวกเราเดินทางกลับ ก็เป็นเวลายามเย็นใกล้ค่ำ ฝนหยุดตกแล้ว ผืนป่าเป็นสีเขียวสดใส บนท้องฟ้ามีรุ้งกินน้ำ 2 ตัว ทาบทาอย่างงดงาม เสมือนเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ยังมีสายรุ้งแห่งความหวังและสันติภาพสำหรับดอยไตแลง ชาวไทยใหญ่ ชาวพม่า ชาวไทย และมนุษยชาติทั้งมวล
คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้เสนอต่อกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนี้
1. ขอให้ช่วยเด็กกำพร้าและเด็กนักเรียน โดยให้โรงเรียน หอพัก และวัด ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม ซึ่งเป็นที่ปลอดภัยจากวิถีการสู้รบ
2. ควรเปิดทางองค์กรเอกชน ให้เข้าไปช่วยเด็กในด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัยได้โดยสะดวก รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กที่พ่อแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตา อันเป็นการสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง
3. ควรกำหนดสถานภาพของหมู่บ้านดอยไตแลงให้เป็นสถานภาพผู้พลัดถิ่น ผู้ถูกคุกคามจากสงคราม เพื่อให้องค์การสหประชาชาติและองค์การสากล เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้
4. พื้นที่ที่ชาวบ้านย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่ตามคำแนะนำของกองทัพภาคที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อวิถีกระสุนจากภาวะสู้รบ เป็นการผลักดันให้เพื่อนมนุษย์เข้าสู่ภาวะอันตราย จึงควรคุ้มครองความปลอดภัยด้วย
5. คณะกรรมาธิการฯ เข้าใจถึงภารกิจหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายความสัมพันธ์ไทย-พม่าของรัฐบาล จึงควรมีฝ่ายนโยบายเข้ามาช่วยปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องถูกประณามจากประชาคมโลกอย่างที่เป็นอยู่
6. ขอความร่วมมือกองทัพภาคที่ 3 อำนวยความสะดวกให้คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าศึกษาพื้นที่ที่ชาวไทยใหญ่ลี้ภัยอยู่ในเขตแดนด้านอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่อาย อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเห็นความเป็นจริงและเสนอเป็นนโยบายของรัฐได้อย่างเหมาะสม(เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน 10/07/2548)
อิสรภาพ เสรีภาพ เป็นสิ่งหอมหวน หอมหวาน ในความรู้สึกของคนที่ถูกกักขังจองจำอย่างไร ความรู้สึกที่อัดอั้น ถูกกดทับมายาวนาน ของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็เป็นเช่นนั้น
วิถีมุสลิมมลายูที่หล่อหลอมผู้คนแถบนี้มาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ได้สร้างวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอันยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้เพียงการเรียนรู้อย่างผิวเผิน ความพยายามดูดกลืนผสมผสานผนวกรวมเข้ากับรัฐชาติ โดยใช้ความรุนแรง หรือโดยใช้เล่ห์กลอันแยบยลในอดีต รวมถึงการต่อต้านและการยอมจำนนก็ถูกหลอมรวมและกดทับไว้เช่นเดียวกัน
จนถึงปัจจุบัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีการยึดครอง ผนวกรวม เพื่อสร้างอาณาจักรหรือรัฐชาติขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ที่ผ่านมา โดยไม่ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฎกรรมที่ชาวบ้านบนดินแดนแถบนี้มิอาจรับได้ สงครามแย่งชิงดินแดนและครองความเป็นเจ้าคือการพล่าผลาญ ทำลายล้าง จนกลายเป็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และความทรงจำอันคับแค้นขมขื่น ในปัจจุบันเป็นเช่นไรในอดีตก็เป็นเช่นนั้น การรวบรวมแผ่นดินและผู้คนในสงครามต่างๆ ในอดีตไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใดในโลกคือความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมเลือนของชาวบ้านผู้ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม
การปกครองด้วยการกดขี่ที่ตามมา ภายหลังการยึดครองการผนวกรวมก็เช่นเดียวกัน คือสงครามย่อยระดับพื้นที่ที่สั่งสมเชื้อไฟแห่งการต่อต้านไว้ในระยะยาว ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ล้วนถูกจดจำไว้ในตำนานเล่าขาน ไม่ต้องอาศัยเอกสารอ้างอิงในห้องสมุดของรัฐแต่อย่างใด ผู้ปกครองใดก็ตามต้องยอมรับผลกรรมที่ผู้ปกครองในอดีตก่อไว้ จะละเลยปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตนมิได้กระทำไม่ได้ เพราะการสืบทอดอำนาจรัฐ ก็คือการสืบทอดความรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐในอดีตเช่นเดียวกัน
กาลเวลา คือเครื่องเยียวยาความบอบช้ำต่างๆ แต่การชดเชยและการชดใช้ให้กับผู้สูญเสีย จะช่วยเร่งคลี่คลายความทุกข์ทรมานเหล่านี้ได้ แต่ไม่เคยมีรัฐใดในโลกที่ตระหนักถึงวิถีทางอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ การพัฒนาใดๆ ไม่อาจสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ถ้าหัวใจของผู้คนได้ถูกจองจำไว้ในโครงสร้างของสังคมอันอยุติธรรม
เสรีภาพกับความใฝ่ฝันเป็นของคู่กัน การแบ่งแยกดินแดนกับความต้องการอยู่บนแผ่นดินที่มีเสรีภาพที่จะดำรงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อมนุษย์ทุกคนมีความใฝ่ฝันของตนเอง จึงต้องมีหลักประกันในเสรีภาพ มีสิทธิ์เสรีในชีวิตประจำวันท่ามกลางการเคารพในความแตกต่างของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ มีอิสรภาพที่จะเลือกวิถีการดำรงชีวิตที่สงบสุขตามความเชื่อและศรัทธา
เสรีภาพกับความใฝ่ฝันของนักวิทยาศาสตร์ในทางสร้างสรรค์และสันติควรถูกปกป้องเช่นไร ชาวบ้านทั่วไปก็ควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อความใฝ่ฝันถูกปิดกั้นและเสรีภาพถูกลิดรอน เมื่อนั้นความเป็นจริงก็ถูกกลบเกลื่อน การดิ้นรนยื้อแย่งแสวงหาเสรีภาพจึงบังเกิดขึ้น
การปกครองตนเองคือสุดยอดของการปกครอง เป็นอุดมคติและอุดมการณ์ของผู้เข้าใจในความเป็นมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ทุกศาสนาสอนเรื่องการปกครองตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้วคือการพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต การสร้างสรรค์ใดๆ จะง่ายดายยิ่งขึ้นถ้าประชาชนปกครองตัวเองได้ การเรียกร้องอิสรภาพในการดำรงชีวิต การเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เราควรจะแยกสองเรื่องนี้ให้ห่างไกลกันให้มากที่สุด
สงครามยึดครองหรือแบ่งแยก เป็นเรื่องของผู้ปกครอง สงครามเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมเป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ถูกกดขี่สูญเสีย เมื่อเกิดเสรีภาพและความยุติธรรม สงครามก็ยุติ เราต้องใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบเพื่อพิจารณาว่า อะไรคือเงื่อนไขของการปกป้องเสรีภาพและการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม การให้ความยุติธรรมต่อผู้ที่สูญเสียบอบช้ำ ผู้ที่ถูกเบียดขับอยู่บริเวณชายขอบ เป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรก เพราะเชื้อไฟของการต่อต้านก็ถูกจุดขึ้นบริเวณนี้
การก่อการร้ายเป็นเกมที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีประชาชนเป็นเบี้ยบนกระดาน ควันไฟแห่งสงคราม คือม่านหมอกที่บังตามิให้เรามองเห็นความเป็นจริง ไฟถูกจุดขึ้นโดยผู้เล่นเกมแต่ละฝ่าย ประชาชนชาวบ้านมิได้เป็นผู้จุดไฟ แต่อาจเป็นเชื้อไฟผสมโรงกับทุกฝ่ายได้ ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวเบื้องต้น
เงื่อนไขการดับไฟใต้ ต้องอาศัยสติปัญญาที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมของประชาสังคมทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกพื้นที่ การใช้ความรุนแรงใดๆ (รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเชื้อไฟให้ลุกลามระบาดไปทั่ว จนไม่อาจควบคุมได้ ผลแห่งความรุนแรงก็อาจควบคุมไม่ได้เช่นเดียวกันกับไข้หวัดนกที่กำลังหวาดวิตก
พลังแห่งสันติภาพ จึงเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่พอผลิตขึ้นได้ในปัจจุบัน พลังแห่งสันติภาพไม่ควรถูกทำให้ขาดแคลนโดยการผูกขาดของกลุ่มใดๆ รวมทั้งไม่ควรถูกบั่นทอนด้วยกระแสชาตินิยมแบบสามานย์ที่กำลังถูกกระพือโหมด้วยมนุษย์ไร้ปัญญาบางกลุ่ม
พลังแห่งสันติภาพที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาอันหลักแหลมที่หล่อหลอมขึ้นจากสถานการณ์จริงของคนกลุ่มเล็กๆ
และด้วยจิตใจอันกล้าหาญที่เปี่ยมด้วยการุณยธรรมเท่านั้น จึงจะนำความสงบสุขที่แท้จริง
กลับคืนมาบนดินแดนที่เมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพได้หว่านไปทั่วแล้ว
(8
พฤศจิกายน 2548)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อนาธิปไตย การเมืองแบบไร้รัฐ
การประท้วงดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วได้ถูกพรรณาหรือวาดภาพโดยสื่อกระแสหลักทั้งหลายในฐานะที่เป็นการก่อจลาจลอย่างรุนแรง.
นักอนาธิปไตยบางคนให้การสนับสนุนส่งเสริมการก่อตัวขึ้นมาของกลุ่ม Black blocs(กลุ่มทมิฬ)ในการประท้วงต่างๆ
ซึ่งผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายที่อยู่ในกลุ่มนี้ต่างสวมใส่ชุดพรางตัวสีดำ และคลุมหน้าของตนเอง
เพื่อหลีกเลี่ยงการชี้ตัวของตำรวจ และได้สร้างมวลชนขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน.
กลุ่มทมิฬในชุดดำนี้ทำหน้าที่เผชิญหน้ากับตำรวจ, จัดการกับเครื่องกั้นหรือสิ่งกีดขวางต่างๆ
และบางครั้งทำหน้าที่ในการทำลายทรัพย์สินของบริษัทต่างๆ ด้วย
(Anarchism
From Wikipedia, the free encyclopedia)