นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ธรรมะลีลา ลีลาธรรมะ
ทะไลลามะในนิวยอร์ก - พุทธทาสกับยูเนสโก
รายงานข่าวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนา
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน

รายงานข่าวบนหน้าเว็ปเพจนี้ เคยตีพิมพ์แล้ว ประกอบด้วย
๑. องค์ทะไลลามะในนิวยอร์ก เขียนโดย ฉัตรสุมาลย์ (ภิกษุณีธัมมนันทา)
๒. ยูเนสโก ยกย่องท่านพุทธทาสเป็นบุคคลสำคัญของโลก (มติชนรายงาน)

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 735
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)




องค์ทะไลลามะในนิวยอร์ก
ฉัตรสุมาลย์ (ภิกษุณีธัมมนันทา)
สืบเนื่องจากการประชุมสภาศาสนาโลกที่ชิคาโกในปี ค.ศ.1993 ที่ชิคาโก ซึ่งจัดเป็นงานช้าง มีผู้คนมาร่วมประชุมกว่า 7,000 คน เป็นการประชุมที่สืบเนื่องจากการประชุมครั้งแรกเมื่อ 100 ปีก่อน เท่าที่จำได้จากประเทศไทยนอกจากผู้เขียนแล้ว ก็มีท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกที่ได้รับเชิญ แต่ท่านส่งผู้แทนไปอ่านบทความของท่าน ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้นด้วยเช่นกัน

เนื่องจากเป็นการประชุมผู้นำศาสนาทั่วโลกจึงมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง เกิดองค์กรทางศาสนาอีกหลายหน่วยงานจากการประชุมครั้งนั้น เพราะต่างคนต่างแน่ใจว่า จะรอให้มีการประชุมสภาศาสนาโลกครั้งต่อไป ต้องรออีก 100 ปี พวกเราที่ไปร่วมงานในคราวนั้นก็คงไปอยู่ในที่ต่างๆ ที่ไม่อาจจะติดต่อกันได้แล้ว

ศานติสภา (Peace Council) เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น โดยมีศูนย์กลางการทำงานอยู่ที่ วิสคอนซิน ด้วยเหตุผลที่ว่ากรรมการที่ร่วมจัดงานสภาศาสนาโลกหลายคนอยู่ที่นั่น โดยมีจุดประสงค์ที่จะสานต่องานการสร้างสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก โดยเข้าไปจัดการประชุมในจุดต่างๆ ของโลกที่มีความขัดแย้ง เพื่อร่วมรับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่าย เพื่อเสนอทางออกที่จะคลี่คลายไปสู่สันติ

กรรมการศานติสภาเป็นผู้นำทางศาสนาที่มาจากหลากหลายศาสนา สำหรับศาสนาพุทธนั้น ได้ทูลเชิญองค์ทะไลลามะเข้าร่วม แต่ใน 12 ปีที่ผ่านมา ท่านได้แต่ส่งผู้แทนมาเข้าร่วม แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ท่านเสด็จมาร่วมด้วยพระองค์เอง

กรรมการศานติสภาชาวพุทธคนอื่นได้แก่ สัมธองริมโปเช เป็นพระภิกษุชาวทิเบต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คาลอน ตริปา คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชาวทิเบตผลัดถิ่นในอินเดีย สมเด็จมหาโฆษะนันทะ แห่งเขมร และ ภิกษุณีธัมมนันทา เป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาท นอกนั้นเป็นผู้นำศาสนาในศาสนาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 20 คน

นอกจากกรรมการศานติสภาแล้ว ยังมีคณะทำงาน (trustee) อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานร่วมกันในศานติสภา ในการประชุมทางศาสนานั้น สังเกตว่ากรรมการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย กรรมการศานติสภามีความตระหนักในเรื่องนี้ จึงค่อนข้างที่จะระมัดระวังในสัดส่วนกรรมการหญิงชายให้ได้สมดุลกันด้วย ในจำนวนกรรมการศานติสภา 20 ท่านนั้น เป็น สตรี 6 ท่าน

ในการประชุมที่ผ่านมา เคยไปประชุมที่ชิอาพาส ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและชนพื้นเมือง โดยมีกรรมการศานติสภา คือบิชอป รุยซ์ การ์เซีย ในเม็กซิโกเป็นผู้จัดงาน

สำหรับประเทศไอร์แลนด์ นางไมรีด แมคไควร์ กรรมการศานติสภา เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานใน ค.ศ.2003 เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นระหว่างชาวคริสต์ทั้งสองฝ่ายในประเทศ

ต้นปี 2547 กรรมการศานติสภาก็ได้มาจัดงานในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยภิกษุณีธัมมนันทาเป็นผู้ประสานงาน

ปีนี้(2548) ศาสตราจารย์ ฮยุง กยุง ชอง นักเทวศาสตร์สตรี สอนประจำอยู่ที่ Union Theological Seminary ในนิวยอร์ก เป็นผู้ประสานและจัดงาน เมื่อ สมเด็จเท็นซิน กยัตโส องค์ทะไลลามะทรงรับปากว่าจะมาร่วมงาน จึงกลายเป็นงานใหญ่ ทางรัฐบาลอเมริกันให้ความคุ้มครองเต็มที่ ต้องมีการปิดอาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบวัตถุระเบิด ฯลฯ

ในวันที่ 26 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่องค์ทะไลลามะมีหมายกำหนดการที่จะมาร่วมประชุมกับคณะกรรมการศานติสภา ในตอนบ่ายสองโมง ตอนกลางวัน โปรเฟสเซอร์ชอง เจ้าภาพ นิมนต์ท่านธัมมนันทาขึ้นไปฉันอาหารร่วมกับท่านสัมธองริมโปเช นายกรัฐมนตรีของทิเบต และเกเช่ เทธอง เลขานุการส่วนพระองค์ขององค์ทะไลลามะ พร้อมกับคณะผู้ติดตามองค์ทะไลลามะ เป็นพระภิกษุ 3 รูป และอุบาสก 3 คน ส่วนองค์ทะไลลามะนั้นเป็นแขกของประธานวิทยาลัย เสวยพระกระยาหารกลางวันอยู่ในอาคารชั้นที่ 7 ขณะที่พวกเราขึ้นบนชั้นดาดฟ้า

เวลาบ่ายสองโมงตรง องค์ทะไลลามะเสด็จมาถึงห้องประชุม มีตำรวจนอกเครื่องแบบของสหรัฐมาอำนวยความปลอดภัยในห้องประชุม 4 คน กรรมการจัดงานนำแผ่นโลหะเล็กๆ มีอักษร P หมายความว่า "ผ่าน" มาติดที่ป้ายชื่อของภิกษุณี เพื่อให้เข้าเฝ้าองค์ทะไลลามะได้ใกล้ชิด ขณะที่ประชุมนั้น องค์ทะไลลามะ เป็นหวัด จะมีอาการไอเป็นระยะๆ เวลาท่านไอหนักๆ เข้าท่านเอาจีวรขึ้นมาคลุมพระเศียรทีเดียว

คณะกรรมการแนะนำตนเองแต่ละคนจนรอบโต๊ะ ท่านรับสั่งตอบเป็นภาษาอังกฤษบ้าง บางครั้งรับสั่งเป็นภาษาทิเบต ก็จะให้ล่ามแปลทันที หลังจากการประชุมกับกรรมการศานติสภามีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ท่านทรงทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์ท่าน ในกรณีที่ท่านอาจจะจดจำผู้คนไม่ได้ทั้งหมด เกเช่ เทธอง เลขานุการประจำตัวของท่านจะเข้ามากระซิบทูลข้อมูลให้ท่านได้ทรงทราบ เมื่อเห็นภิกษุณีธัมมนันทา ท่านตรงเข้ามาหาทันที และรับสั่งว่า ทางฝ่ายทิเบตกำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการบวชภิกษุณี ท่านอยากเห็นความร่วมมือของคณะสงฆ์ในระดับนานาชาติ เพื่อจะได้เป็นการทำงานของคณะสงฆ์โดยรวม

เมื่อเสร็จจากการประชุมตรงนี้ เวลา 16.00 น. มีงานพิธีใหญ่ในโบสถ์ ตรงนี้เปิดให้คนนอกเข้ามาร่วมพิธีด้วย ปรากฏว่าผู้คนล้นหลาม ตำรวจต้องทำงานหนักในการดูแลความปลอดภัย คณะกรรมการเดินแถวคู่ มีหน่วยงานของทาเนนบอม ซึ่งทำงานด้านสันติภาพ และเป็นเจ้าภาพร่วม จัดงานได้อย่างมีสีสัน

ระหว่างกรรมการที่เดินเข้าสู่โบสถ์เป็นคู่ๆ จะมีนักศึกษา ถือป้ายรูปปลา สลับ ให้สีสันมาก นอกจากนั้น ยังมีนักศึกษาแต่งตัวเป็นคนกวาดถนน กวาดในโบสถ์อยู่ทั้งสองด้าน ด้านละ 4 คน คนกวาดถนนเหล่านี้ แต่งตัวรุ่มร่ามและสวมหน้ากากต่อขาไม้สูง ต่อจากขบวนของคณะกรรมการ จึงถึง องค์ทะไลลามะ ตามเสด็จด้วยพระภิกษุชาวทิเบตและคณะผู้ติดตาม องค์ทะไลลามะทรงชอบใจคนกวาดถนนมาก ท่านหัวเราะก๊าก จนนักศึกษาที่แต่งตัวเป็นคนกวาดถนนถอดหน้ากาก และถวายความเคารพ

ในโบสถ์แห่งนี้ สามารถจุคนได้ 3,000 คน ปรากฏว่าคนแน่นทุกที่นั่ง ตลอดจนอัฒจันทร์ชั้นบน

กรรมการจัดงานเตรียมการอย่างดี มีสูจิบัตรพร้อมชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน แต่ละคนที่จะต้องพูด จะมีแฟ้มเอกสารระบุว่า จะต้องนั่งตรงไหน และจะลุกขึ้นพูดเมื่อใด ที่ไหน เพราะในส่วนของโบสถ์นั้น มีจุดให้พูด 3 จุด ตรงกลาง เป็นจุดที่องค์ทะไลลามะจะมีรับสั่งกับฝูงชนที่ตั้งใจมาชื่นชมบารมี คนอื่นๆ จะพูดจากโพเดียมทางด้านซ้ายหรือขวาของตัวโบสถ์

ตรงจุดที่นั่งด้านข้างและด้านหลังตำแหน่งที่องค์ทะไลลามะประทับ จะได้ยินเสียงไม่ถนัด เพราะระบบเสียงเจาะจงให้ผู้ฟังทางด้านหน้ามากกว่า พวกเราที่นั่งอยู่กับองค์ทะไลลามะจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ยินนัก

เนื่องจากทรงพระประชวร องค์ทะไลลามะ ใช้เวลารับสั่งเพียง 10 นาที โดยรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ พอจับความได้ว่า สันติภาพนั้นต้องเริ่มจากตัวเราเอง เนื้อหาหลักของการประชุม คือ Peace is possible ท่านก็ทรงยืนยันว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นการแก้ปัญหาความรุนแรงที่ยั่งยืน ในหมู่ผู้ฟัง สังเกตว่ามีชาวทิเบตที่อยู่ในนิวยอร์กมาถวายการต้อนรับอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนพยายามถวายผ้าขตะ ขณะที่ท่านเสด็จพระราชดำเนินผ่าน

ภิกษุณีธัมมนันทา ได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานด้านสันติภาพ ได้กล่าวยืนยันว่า สันติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ได้กล่าวถึงนิมิตของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ตั้งแต่ พ.ศ.2499 ที่กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมที่มีแต่การสู้รบกัน โดยอาศัยน้ำนมของแม่เป็นสิ่งที่เยียวยาความทุกข์ยาก ความเกลียดชัง และความรุนแรง

คณะทำงานประทับใจมากเมื่องานเสร็จสิ้นลงภายใน 1 ชั่วโมงตามกำหนด ทุกคนที่ก้าวขึ้นมาพูดมีความรับผิดชอบที่จะพูดตามเวลาที่กำหนด ไม่มีการพูดเกินเวลาแม้เพียงครึ่งนาที

เนื่องจากโบสถ์นั้นชื่อ Riverside พิธีปิดลงโดยการที่นักศึกษาหญิงผิวดำมาร้องเพลง Down by the Riverside ทุกคนลุกขึ้นยืนและมีส่วนร่วมในการตบมือประกอบเพลง บรรดาพระภิกษุและภิกษุณีที่ร่วมอยู่ในที่ประชุม ยืนด้วยอาการสงบ ดูเหมือนองค์ทะไลลามะ แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อย และไม่สบายก็ดูจะประทับใจกับเพลงนี้ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมกับบรรยากาศอย่างเต็มที่

กรรมการศานติสภา ยังประชุมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 ต่อเพื่อพิจารณาว่า การประชุมครั้งต่อไปจะเป็นประเทศใด


"ยูเนสโก" ยกย่องท่านพุทธทาสเป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับเป็นคนไทยลำดับที่ 18 ที่องค์การยูเนสโกเคยประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ซึ่งในโอกาสสำคัญดังกล่าวทางรัฐบาลโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จะมีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ซึ่งการเฉลิมฉลองไม่ใช่การจัดมหรสพ แต่เป็นการจัดกิจกรรมทางวิชาการ เผยแพร่ข่าวสารข้อมูลการประชุมเสวนาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งในการเผยแผ่หลักธรรมของพุทธทาส ซึ่งก็คือหลักธรรมของพุทธศาสนานั่นเอง

นายสันติสุข โสภณศิริ กรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันให้มีการเสนอชื่อท่านพุทธทาสต่อองค์การยูเนสโกครั้งนี้ เปิดเผยประวัติโดยสังเขปว่า ท่านพุทธทาส นามเดิมคือ เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ณ วัดอุบล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2469 โดยมีพระครูโสภณเจตสิการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ"

เดินทางศึกษาธรรมต่อที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก และเรียนภาษาบาลีได้เปรียญ 3 ประโยค ต่อมาได้เดินทางกลับบ้านเกิด และสร้างสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2475 ให้ชื่อว่า "สวนโมกขพลาราม" แปลว่าสวนป่าเป็นกำลังหลุดพ้นจากทุกข์

ต่อมาเมื่อปี 2487 ได้ย้ายสวนโมกขพลารามมายังสถานที่แห่งใหม่คือวัดธารน้ำไหลในปัจจุบัน ได้อุทิศตนเพื่องานพระศาสนาและทำงานมุ่งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้พบสันติสุขตามปณิธานที่ตั้งไว้ มีผลงานทางธรรมไว้มากมาย เช่น หนังสือและเทปบันทึกเสียง ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทำให้ได้รับการนับถือยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็นสมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อพุทธศาสนา

พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ) มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริอายุ 87 ปี 67 พรรษา


 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

Free Documentation License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.

ลิขซ้าย 2548, 2549, 2550 : สมเกียรติ ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org

 

R
related topic
101148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง