นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

อุดมศึกษาชุมชนธรรมชาติของอินเดีย
วิศวภารตี - ศานตินิเกตัน : อุดมศึกษาที่ไร้กำแพง
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 732
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




วิศวภารตี - ศานตินิเกตัน
Visva Bharati - Santineketan
การเดินทางท่องไปในโลกอุดมศึกษาอินเดียของผู้เขียนได้เดินทางมาถึงเป้าหมายปลายทางที่วิศวภารตี ศานตินิเกตัน
ที่ก่อตั้งขึ้นโดยท่านมหากวี รพินทรนาถ ฐากูร

จากสถานีรถไฟพลปูร์ สามล้อถีบได้พาผู้เขียนไปสู่ศานตินิเกตัน ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟไป 3 กิโลเมตร. ศานตินิเกตัน พื้นที่อันสงบเงียบ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ซึ่งการเรียนรู้แบบอินเดียยังหลงเหลือกลิ่นไอของความเป็นอินเดียให้ชาวต่างแดนเช่นผู้เขียนได้สัมผัส สามล้อถีบพาผู้เขียนผ่านหมู่บ้าน ผ่านชุมชนไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าน่าจะเกินระยะทาง 3 กิโลเมตรที่บอกไว้ เมื่อถามเขาว่า "ถึงศานตินิเกตันแล้วหรือยัง" เขาบอกว่า "ถึงแล้วต้องการจะให้ไปส่ง ที่ไหน" เมื่อไม่รู้ว่าจะให้ไปส่ง ณ จุดไหนดี จึงขอให้สามล้อถีบพาไปรอบ ๆ บริเวณที่เป็นวิศวภารตี ศานตินิเกตัน

วิศวภารตี ศานตินิเกตัน ตั้งอยู่อย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมไม่มีอะไรบ่งบอกให้รู้ว่า อาณาบริเวณของศานตินิเกตันเริ่มต้นและสิ้นสุดลง ณ ที่ใด เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่มีป้ายและไร้กำแพง

ความเป็นคนช่างคุยของชายสูงอายุผู้ถีบสามล้อ ซึ่งดูเหมือนจะมีความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของวิศวภารตี ศานตินิเกตัน เขาทำตัวเหมือนเจ้าของบ้านที่พยายามเชิญชวนแขกชมทุก ๆ ส่วนแห่งบ้านของเขา ชายชราผู้ถีบสามล้อเอ่ยถึงผู้ก่อตั้งวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ด้วยภาษาท้องถิ่นของเขาว่า "คุรุเทพ"

ความเป็นคุรุเทพของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ที่สถิตอยู่ในใจของชายชราผู้ถีบสามล้อรับจ้าง ได้ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ที่สามล้อรับจ้างผู้นี้กำลังพาผู้เขียนเข้าไปสัมผัส ไม่ใช่เพียงแต่สัมผัสกับบรรยากาศและอาคารสถานที่ แต่สัมผัสกับสถาบันอุดมศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย…สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีป้ายและไร้กำแพง

สถาบันอุดมศึกษาที่ผู้ไปเยือนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าไปถึงแล้วหรือยัง หรือเมื่อจากมาก็ยังไม่รู้ว่าได้ออกมาพ้นเขตแดนแห่งการเรียนรู้ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้แล้วหรือยัง

วิศวภารตี ศานตินิเกตัน เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่งนัก สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากความเป็นครู เป็นกวี เป็นปราชญ์ และที่สำคัญคือเป็นอินเดีย ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร บุคคลที่ชายชราผู้ถีบสามล้อรับจ้างเรียกขานโดยชื่อว่า คุรุเทพ

ด้วยจิตที่เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้และควรที่มนุษย์จะได้เรียนรู้ด้วยจิตที่เบิกบาน ท่านรพินทรนาถ ฐากูร จึงคิดที่จะสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขึ้น ณ จุดที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ว่า วิศวภารตี ศานตินิเกตัน. ท่านเริ่มต้นด้วยการสร้างโรงเรียนที่ตั้งชื่อว่า "พรหมจารยาศรม" ขึ้นในปี ค.ศ. 1901 โรงเรียนแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นโดยมีตัวท่านเป็นครู และมีนักเรียนเพียงแค่ 5 คน โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีอาคารที่จะมากำหนดห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ แต่มีต้นไม้ที่ให้ร่มเงาเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทั้งครูและศิษย์นั่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ภายใต้ร่มไม้ที่มีนักเรียน 5 คน นั่งล้อมรอบครู การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ก็เริ่มขึ้น นี่มิใช่การเรียนรู้ของเด็กนักเรียน 5 คนกับครู 1 คน แต่นี่เป็นการเรียนรู้ที่ผลิดอก ออกผลมาเป็นวิศวภารตี สถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญยิ่งของอินเดียในยุคปัจจุบัน

การเกิดขึ้นของวิศวภารตี
ภายหลังจากที่ท่านรพินทรนาถ ฐากูร ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. 1913 ชื่อเสียงของท่านได้แพร่ขยายออกไปเป็นที่รู้จักกันทั้งในและนอกประเทศอินเดีย ท่านได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะการเดินทางไปในประเทศเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศไทย

การเดินทางไปในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น ท่านมหากวีได้สัมผัสกับความงดงามแห่งวิถีชีวิตในวัฒนธรรมที่ได้สร้างสมถ่ายทอดสืบต่อกันมา จนกลายมาเป็นมรดกที่ประมาณค่ามิได้ เป็นมรดกที่ควรจะได้ส่งมอบต่อ ๆ กันไป

ในปี ค.ศ. 1916 หลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ท่านมหากวี ได้ปรารภที่จะสร้างศานตินิเกตันให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของประชาชนซีกโลกตะวันออก โดยไม่มีพรหมแดนของรัฐ หรือวัฒนธรรมมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น ศานตินิเกตันควรที่จะเป็นศูนย์รวม ที่วัฒนธรรมแห่งตะวันออก จะได้ไหลมารวมกันเพื่อให้อนุชนได้ร่วมกันเรียนรู้และสัมผัสได้ซึ่งคุณค่า แห่งมรดกทางวัฒนธรรมตะวันออก

ในปี ค.ศ. 1917 ท่านมหากวีได้ประกาศเจตจำนงค์ของท่านในการจัดตั้งศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของมนุษยชาติขึ้นที่ศานตินิเกตัน ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้นี้ ท่านไม่ปรารถนาจะเรียกว่า College หรือ University ตามคตินิยมที่ชาวอังกฤษเข้ามาสร้างไว้ แต่ท่านมหากวีมีความภูมิใจที่จะเรียกศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้นี้ว่า "วิศวภารตี"

พร้อม ๆ กับการประกาศเจตนารมณ์แห่งการจัดตั้ง วิศวภารตี ท่านมหากวีได้กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของวิศวภารตีไว้ดังนี้

เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของวิศวภารตี ศานตินิเกตัน

1. เพื่อศึกษาจิตของมนุษย์ในการประจักษ์แจ้งความเป็นจริงในแง่มุมต่าง ๆ จากหลากหลายมุมมอง

2. เพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อกันและกัน ระหว่างวัฒนธรรมของชาวตะวันออกที่งอกงามมาจากรากเหง้าอันเดียวกัน ผ่านการศึกษาอย่างจริงจังบนรากฐานของวัฒนธรรมนั้น ๆ

3. เพื่อศึกษาเรียนรู้ตะวันตกจากรากฐานของวิถีชีวิต และแนวความคิดของชาวเอเชีย

4. เพื่อแสวงหาสัจธรรม อันเป็นบทเรียนที่จะได้รับรู้ร่วมกันระหว่างชาวตะวันออกและชาวตะวันตก เพื่อที่ว่า ที่สุดแห่งบทเรียนนั้นคือความรู้รวมกันอันจะเป็นพลังหนุนส่งให้เกิดสันติภาพขึ้นบนโลกใบนี้ ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันอย่างอิสระ ของชาวโลกทั้ง 2 ซีก

เพื่อที่จะให้เป้าหมายอันเป็นวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ประการนี้ปรากฏเป็นจริง ศานตินิเกตัน จะเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันทั้งในทางด้านศานา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปของชาวฮินดู พุทธ เชน มุสลิม ซิกข์ คริสเตียน และอารยธรรมอื่น ๆ ณ ที่นี้จะเป็นพื้นที่แห่งการศึกษาค้นคว้าของชาวตะวันออก ที่พร้อมจะเรียนรู้วิถีของชาวตะวันตกในทุกแง่มุม ที่จำเป็นต่อการประจักษ์แจ้งแห่งจิตวิญญาณ และเป็นการสร้างสมานฉันท์ระหว่างนักคิดและนักวิชาการชาวตะวันตกและชาวตะวันออก โดยไม่มีพรมแดนของเชื้อชาติและสัญชาติมาเป็นเครื่องกีดกั้น

ในปี ค.ศ. 1921 วิศวภารตีได้ถูกจัดตั้งเป็นสถาบันทางการศึกษาภายใต้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น และเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ด้วยความเป็นสถาบันการศึกษาที่แนบแน่นอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชนและธรรมชาติ วิศวภารตีที่ศานตินิเกตันได้ประจักษ์ว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเรียนรู้จากชุมชนและธรรมชาติ ด้วยความตระหนักเช่นนี้จึงทำให้เกิดวิศวภารตี ศรีนิเกตันขึ้นในปี ค.ศ. 1922

การเกิดขึ้นของศรีนิเกตัน (Srinikatan)
เพื่อการเรียนรู้ที่จะตอบสนองวิถีชีวิตและชุมชน วิศวภารตี จึงได้จัดตั้งสถาบันฟื้นฟูชนบท (The Institute of Rural Reconstruction) ขึ้นในปี ค.ศ. 1922 ที่ตำบลซูรุล (Surul) ซึ่งอยู่ห่างจากศานตินิเกตันไป 3 กิโลเมตร และสถานศึกษาแห่งนี้ได้กลายมาเป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 ของวิศวภารตี ที่ถูกตั้งชื่อว่า "ศรีนิเกตัน"

ศรีนิเกตัน มีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกอบรม ประชาชนชาวชนบทในด้านวิชาชีพ ศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ที่ถูกศึกษาค้นพบไปสู่ประชาชน ในบทบาทหน้าที่เป็นเช่นนี้ ศรีนิเกตัน จึงเป็นส่วนของการนำความรู้ไปสู่ประชาชน เป็นการคืนความรู้สู่วิถีชีวิตในชนบท ภารกิจของศรีนิเกตันคือ การช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้เขามีพื้นที่ในการเรียนรู้ และมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนของตนเองด้วยตัวเขาเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลือจากข้างนอก

ดังนั้นการศึกษาที่เป็นภารกิจของศรีนิเกตัน จึงเป็นการศึกษาปัญหาของชุมชนกับประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ด้วยเป้าหมายที่จะแสวงหาวิถีแห่งการออกจากปัญหา และสร้างพลังของชุมชนให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรื้อฟื้นวิถีชีวิตในชนบทให้มีชีวิตและพลัง รูปแบบการศึกษาที่ศรีนิเกตันจึงต้องเป็นรูปแบบใหม่ แตกต่างไปจากที่ศานตินิเกตัน กระบวนการเรียนรู้ที่ศรีนิเกตัน เป็นกระบวนการเรียนปัญหาและสาเหตุที่ชาวชนบทเผชิญอยู่ เป็นการเรียนรู้ของชุมชน ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้ ของชุมชน

เมื่อปีการศึกษา ค.ศ. 1934 ศานตินิเกตันได้มีนักศึกษาใหม่คนหนึ่งชื่อ"ปรียทรรศนีย์ อินทิรา" มาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อเข้ามาศึกษาศิลปะ เธอผู้นี้เป็นบุตรีของท่านบัณฑิต ยาวหระ ลาล เนห์รู ผู้นำกระบวนการชาตินิยม (Congress) อยู่ในขณะนั้น

แม้ว่าปรียทรรศนีย์ อินทิรา จะศึกษาไม่จบ เพราะสาเหตุมาจากคุณแม่ของเธอป่วย และต้องเดินทางไปรักษาสุขภาพที่ประเทศอังกฤษ และเธอในฐานะลูกสาวต้องติดตามไปดูแลคุณแม่ แต่การที่เธอได้มาเป็นศิษย์ของคุรุเทพรพินทรนาถ ฐากูร ในช่วงเวลาหนึ่งปีนั้น ทำให้เธอมีความรู้สึกและมองเห็นคุณค่าของการศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางที่คุรุเทพของเธอได้เสนอไว้

ต่อมาเมื่อปรียทรรศนีย์ อินทิรา ได้กลายมาเป็นอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เธอก็ได้มาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย (Chancellor) ของวิศวภารตี และมีบทบาทที่สำคัญในการทำให้รูปแบบแห่งการเรียนรู้ที่วิศวภารตี เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นอินเดีย

ในปัจจุบันนี้ "อานันทภาวนา" อันเป็นหอพักที่ปรียทรรศนีย์ เคยพักอยู่ก็ยังได้รับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี เมื่อผู้เขียนสอบถามสามล้อถีบว่า หอพักที่นางอินทิรา คานธี พักอยู่ที่ไหน เขารีบพาผู้เขียนไปชมอานันทภาวนา ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ ที่สถานที่แห่งนั้นเคยเป็นที่พักของอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย

จากห้องเรียนใต้ร่มไม้กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ
ในปี ค.ศ. 1951 วิศวภารตีได้ถูกประกาศให้เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐบาลกลาง (Central University) และมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติ (An Institution of National Importance) ที่จัดเป็นประเภทมหาวิทยาลัยวิทยาเขตเดี่ยว ที่มีการเรียน การสอน และเป็นที่พักอาศัยอยู่ในที่เดียวกัน (A unitary, Teaching and residential University)

สถานะความเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกตราขึ้นโดยกฎหมาย ทำให้สถานภาพของวิศวภารตี เปลี่ยนแปลงไปในสายตาของนักวิชาการและประชาชนทั่วไป นักวิชาการอินเดีย แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ให้ความสำคัญต่อสถาบันการศึกษานี้มากนัก แต่เมื่อวิศวภารตีมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐบาลอินเดีย และมีความสำคัญระดับชาติ ทำให้นักวิชาการต่างรู้สึกว่าสถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันชั้นนำ และมีความเชื่อมั่นในบทบาทและภารกิจของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปต่างก็มีความรู้สึกว่า วิศวภารตีเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่น่าภาคภูมิใจ และปรารถนาให้บุตรหลานของตนได้ไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้

ทั้งโดยสถานภาพทางกฎหมาย และโดยความรู้สึกสำนึกของประชาชน ทำให้วิศวภารตี ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการบริหารจัดการใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ระบบการบริหารและระบบการศึกษาถูกรื้อปรับให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ใหม่ แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของวิศวภารตี ที่ถูกกำหนดไว้โดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร ผู้ก่อตั้ง

มาถึง ณ วันนี้วันที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของวิศวภารตีทั้งที่ศานตินิเกตัน และศรีนิเกตัน การศึกษาเรียนรู้ ณ ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้นี่ บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ยังมีเสน่ห์และมนต์ขลังยิ่งนัก

ในด้านวิชาการ วิศวภารตีได้แบ่งส่วนแห่งการศึกษาเรียนรู้ออกเป็นคณะ (Faculty) และสถาบัน (Institution) เหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของอินเดีย หากแต่ชื่อเรียกคณะหรือสถาบันนั้นยังเรียกเป็นภาษาอินเดียตามที่ท่านผู้ก่อตั้งเคยเรียกคือ ใช้คำว่า "ภาวนา" (Bhavana) แทนคำว่า คณะ (Faculty) หรือสถาบัน (Institution)

คำว่า ภาวนา ที่ท่านรพินทรนาถ ฐากูร เรียกนี้ช่างมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะได้สื่อแสดงให้รู้ถึงวิถีแห่งการเรียนรู้แบบอินเดียโบราณ ที่เชื่อว่าความรู้อันแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการภาวนา การภาวนาคือกระบวนการที่ทำให้สมอง (ความคิด) จิต (ความรู้สึก) และวิญญาณ (ความตระหนักรู้) ได้ผสานกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดพลังในการหยั่งถึงซึ่งความเป็นจริงที่เป็นสากล

ในปัจจุบันนี้วิศวภารตี ทั้งที่ศานตินิเกตันและศรีนิเกตัน มีการแบ่งส่วนการศึกษาออกเป็น 13 ส่วน ดังนี้

1. วิทยาภาวนา (Vidya-Bhavana)
2. ศึกษาภาวนา (Siksha-Bhavana)
3. กาลภาวนา (Kala-Bhavana)
4. ศังคีตภาวนา (Sangit-Bhavana)
5. รพินทรภาวนา (Rabindra-Bhavana)
6. วินัยภาวนา (Vinaya-Bhavana)
7. ผลิ-สังฆธนา วิภาค ภาวนา (Palli-Samqathana Vibhaga-Bhavana)
8. ผลิศึกษาภาวนา (Palli-Siksha-Bhavana)
9. บาทภาวนา (Patha-Bhavana)
10. ศึกษาศาสตร์ (Siksha-Satra)
11. อุตรศึกษาสาธนา (Uttar-Siksha Sudana)
12. ศึกษาจารจา (Siksha-Charcha) และ
13. ศูนย์ศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์การเกษตร (Agro-Economic Research Centre)
ทั้ง 13 หน่วยงานนี้มีการศึกษาในรายละเอียดดังนี้

วิทยาภาวนา (Vidya - -Bhavana)
(สถาบันมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ - Institute of Humannities and Social Science)

วิทยาภาวนา ประกอบด้วย 14 ภาควิชา คือ
1. ภาควิชาประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ, วัฒนธรรม และโบราณคดี
2. ภาควิชาภาษาอาหรับ เปอร์เซีย และอูรดู
3. ภาควิชาภาษาเบงกอลี
4. ภาควิชาภาษาจีน
5. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์
6. ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษายุโรปสมัยใหม่
7. ภาควิชาภูมิศาสตร์
8. ภาควิชาภาษาฮินดี
9. ภาควิชาประวัติศาสตร์
10. ภาควิชาอินเดีย-ธิเบตศึกษา
11. ภาควิชาภาษาญี่ปุ่น
12. ภาควิชาภาษาโอริยา
13. ภาควิชาปรัชญาและศาสนาเปรียบเทียบ
14. ภาควิชาภาษาสันสกฤต บาลี และปรากฤต

ศึกษาภาวนา (Siksha - Bhavana)
(สถาบันวิทยาศาสตร์ - Institute of Science)

ศึกษาภาวนาหรือสถาบันวิทยาศาสตร์ แบ่งการศึกษาออกเป็น 8 สาขาวิชา คือ
1. สาขาวิชาชีวเทคโนโลยี
2. สาขาวิชาพฤษศาสตร์
3. สาขาวิชาเคมี
4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์
5. สาขาวิชาคณิตศาสตร์
6. สาขาวิชาสถิติ
7. สาขาวิชาฟิสิกส์
8. สาขาวิชาสัตวศาสตร์

กาลภาวนา (Kala -Bhavana)

กาลภาวนาหรือสถาบันศิลปกรรมศาสตร์ (Institute of Fine Arts) แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 สาขาวิชา คือ
1. สาขาวิชาจิตรกรรม
2. สาขาวิชาประติมากรรม
3. สาขาวิชาภาพพิมพ์
4. สาขาวิชาออกแบบ
5. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์

วินัยภาวนา (Vinaya -Bhavana)

วินัยภาวนาหรือสถาบันศึกษาศาสตร์ (Institute of Education) แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 สาขาวิชา คือ
1. สาขาวิชาการศึกษา
2. สาขาวิชาพลศึกษา

สังคีตภาวนา (Sangit-Bhavana)

สังคีตภาวนา หรือสถาบันดนตรีและศิลปะการแสดง (Institute of Music Performing Arts) แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 สาขาวิชา คือ
1. วิชาเอกรพินทรสังคีต (Rabindra Sangit)
2. วิชาเอกนาฏศิลป์ (Dance)
3. วิชาเอกการละคอน (Drama)
4. วิชาเอกดนตรีคลาสสิคฮินดู (ขับร้อง) {Hindusthani Classic Music (Vocal)
5. วิชาเอกดนตรีคลาสสิคฮินดู (เครื่องดนตรี) (Hindusthani Classic Music Instrumental)

ผลิ-สังฆธนา วิภาค (Palli - Samgathana Vibhaga)

ผลิสังฆธานาวิภาค หรือสถาบันฟื้นฟูชนบท (Institute of Rural Reconstruction) เป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ที่ศรีนิเกตัน เป็นส่วนของการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีวิชาการและภาคปฏิบัติ ทั้งในระดับประกาศนียบัตรและระดับปริญญา

ในระดับการศึกษาเพื่อปริญญาตรีและโท มี 3 สาขาวิชาคือ
1. สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
2. สาขาวิชาพัฒนาชนบท และ
3. สาขาวิชามานุษยวิทยา
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรในหลาย ๆ สาขาวิชา

ผลิศึกษาภาวนา (Palli-Siksha -Bhavana)

ผลิศึกษาภาวนาหรือสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตร (Institute of Agricultural Science) แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ภาควิชา คือ
1. ภาควิชาพืชศาสตร์ ปฐพีวิทยา วิศวการเกษตร พฤกษวิทยาและสัตววิทยา (Department of Agricultural Engineering, Plant Physiology and Animal Science = ASEPAN)


2. ภาควิชาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร, พืชสวน และพฤษศาสตร์การเกษตร
(Department of Crop Improvement, Horticulture and Agricultural Botany = CIHAB)

ประกาศนียบัตรวิชาชีพสิ่งทอ
ประกาศนียบัตรวิชาชีพไม้แกะสลัก
ประกาศนียบัตรวิชาชีพหัตถกรรม (ผ้าบาติก, เครื่องหนัง, ฯลฯ)

เป็นเวลา 2 วันเต็ม ๆ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของวิศวภารตี ทั้งที่ศานตินิเกตัน และศรีนิเกตัน เป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบอินเดีย การเรียนรู้ที่อดีตยังมีอยู่ในปัจจุบัน และปัจจุบันก็เป็นเหมือนอดีต

ณ ศานตินิเกตัน ภาพของครูที่ยืนอยู่ด้านหน้า มีนักเรียนระดับประถม, มัธยม นั่งล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลมภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น เสียงท่องบทเรียน เสียงร้องเพลงของนักเรียน ผสานกลมกลืนกับเสียงนก ที่อาศัยอยู่ในหมู่แมกไม้ เป็นภาพ เป็นเสียง ที่ผู้ไปเยี่ยมชมศานตินิเกตันในยามเช้าจะได้พบเห็นเป็นปกติ

อาณาบริเวณที่ผู้เขียนยืนดูบรรยากาศดังที่กล่าวมานั้น เป็นเขตที่มีชื่อเรียกว่า "บาทภาวนา" (Patha - Bhavana) เป็นการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา บรรยากาศที่สัมผัสได้นั้นช่างเหมาะสมกับความหมายของชื่อเรียกเสียเหลือเกิน เป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ด้วยการภาวนาให้เกิดรากฐานที่มั่นคงแห่งชีวิต

การศึกษาเรียนรู้ภายใต้ร่มไม้นี้ ยังเป็นไปเหมือนเมื่อครั้งที่ท่านคุรุเทพยังมีชีวิตอยู่ ห้องเรียนจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ของแต่ละวัน ยกเว้นวันพุธซึ่งเป็นวันหยุด การเรียนรู้ในยามเช้านี้เป็นไปตามความเชื่อที่ว่า ยามเช้าเป็นช่วงที่จิตผ่องใสเบิกบาน เป็นสถานะที่เหมาะสมสำหรับการรับรู้ที่งดงาม และการเรียนรู้จะต้องเป็นไปด้วยจิตใจที่เบิกบาน การเรียน การร้องรำทำเพลง จึงเป็นไปด้วยกัน พร้อม ๆ กัน ภายใต้บรรยากาศที่โปร่งสบายด้วยธรรมชาติ ที่งดงามรอบ ๆ ตัวของผู้เรียน

การเรียนภายใต้ร่มไม้นั้นท่านคุรุเทพได้เคยอธิบายไว้ว่า อย่างน้อย ๆ มีเหตุผลที่ดี 2 ประการ คือ

1. นักเรียนได้เรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่สวยงามตามฤดูกาลของธรรมชาติ และ
2. มีความเปิดเผยโปร่งใสให้ผู้อื่นได้ร่วมรับรู้ว่า ครูกำลังสอนอะไรและนักเรียนกำลังเรียนรู้อะไร

เหตุผลทั้ง 2 ประการนี้สำคัญมากในคติแห่งการเรียนรู้แบบอินเดีย ข้อแรกทำให้เกิดการเรียนรู้ความเป็นจริง เป็นไปภายใต้ความสวยงามของธรรมชาติ ทำให้ความรู้เกี่ยวกับความจริงเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกที่งดงาม เข้าใจกฎธรรมชาติ, แดด, ฝน, ลม, ใบไม้ผลิ, ใบไม้ร่วง,ความเปลี่ยนแปลงวงจรชีวิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ย่อมเป็นสัญญาณให้รู้ว่า ความรู้เป็นสาธารณะและเป็นของสาธารณะ มิใช่เป็นของคนใดคนหนึ่งเป็นการจำเพาะ และความรู้ที่เป็นสาธารณะนี้ ย่อมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อมนุษยชาติ มากกว่า ความรู้ที่เป็นสมบัติของปัจเจกบุคคล

ที่ศานตินิเกตัน การศึกษาระดับประถมและมัธยม ไม่ได้ถูกแยกออกไปจากอุดมศึกษา ทุก ๆ ระดับ ต่างเป็นไปภายใต้บรรยากาศเดียวกัน ต่างแต่เพียงว่า ในระดับอุดมศึกษาการเรียนรู้จะแยกไปตามคณะที่เรียกกันว่า ภาวนา ที่แบ่งเป็นส่วน ๆ ของพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับธรรมชาติของการเรียนรู้ในแต่สาขาวิชา

ส่วนที่ศรีนิเกตัน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของนักศึกษาและประชาชนทั่ว ๆ ไปจากชุมชนต่าง ๆ ลักษณะของการเรียนรู้แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของวิชาชีพ ที่ต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบการศึกษา เช่น การเรียนวิชาชีพทอผ้า ก็เป็นไปภายในอาคารที่มีเครื่องมือทอผ้า มีครูซึ่งเป็นชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ามาคอยดูแลให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน

ด้วยเวลาที่จำกัด ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเฉพาะในส่วนของการทอผ้า ตัดเย็บเครื่องหนัง การทำกระดาษ และเครื่องปั้นดินเผา แต่ได้ทราบจากคณะผู้บริหารที่ศรีนิเกตันว่ามีการศึกษาวิชาชีพอื่นอีกหลายสาขา

ทั้งที่ศรีนิเกตัน และศานตินิเกตัน ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสความหมายของชื่อที่เรียกว่า "วิศวภารตี" และทำให้ระลึกนึกถึงคำว่า "ตโปวนา" อันเป็นชื่อเรียกสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียโบราณยุคพระเวท

ตโปวนา มีความหมายว่า ป่าอันเป็นพื้นที่ฝึกฝนอบรมขัดเกลามนุษย์ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อเป็นมนุษย์ที่ไม่มีพิษภัยต่อสรรพสิ่ง และมีแต่ความเป็นมนุษย์ที่เกื้อกูลต่อสรรพสิ่ง วิศวภารตี ไม่ว่าที่ศานตินิเกตันหรือที่ศรีนิเกตัน ล้วนเป็นพื้นที่แห่งการอบรมภาวนาให้มนุษย์ได้มีโอกาสกำจัดความหยาบกระด้างที่มีอยู่ภายในตัวตนของตนเองออกไป ให้เหลือไว้แต่ความละมุน อ่อนโยน ไม่สาก ไม่ระคาย เมื่อต้องไปสัมผัส-สัมพันธ์กับผู้อื่น

วิศวภารตีที่ท่านคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร ได้สถาปนาไว้ ช่างมีความหมายแห่งตโปวนา ที่เป็นพื้นที่ขัดเกลาความหยาบกระด้างให้ลดน้อยลง แล้วเพิ่มพูนความนุ่มละมุนในจิตใจของผู้ได้เข้าไปสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้ การได้ไปเยือนวิศวภารตีทำให้ได้ประจักษ์ว่า ความอ่อนโยน นุ่มนวลภายในจิตใจของท่านมหากวี ผู้รจนาคีตัญชลี ยังมีเหลืออยู่ในทุกอณูอากาศของวิศวภารตี

และนี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศเช่นนี้ในยามที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งบนโลกใบนี้เต็มไปด้วยความอยาก ความปรารถนา อันเร่าร้อนและวุ่นวาย การได้มาสัมผัสกับวิศวภารตี-ศานติเกตัน ทำให้ได้รู้ว่า ยังมีสถาบันอุดมศึกษาที่สงบเย็นตามความหมายแห่งชื่อว่า "ศานตินิเกตัน"


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

Visva Bharati - Santineketan
เพื่อที่จะให้เป้าหมายอันเป็นวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ประการนี้ปรากฏเป็นจริง ศานตินิเกตัน จะเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันทั้งในทางด้านศานา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปของชาวฮินดู พุทธ เชน มุสลิม ซิกข์ คริสเตียน และอารยธรรมอื่น ๆ

ณ ที่นี้จะเป็นพื้นที่แห่งการศึกษาค้นคว้าของชาวตะวันออก ที่พร้อมจะเรียนรู้วิถีของชาวตะวันตกในทุกแง่มุม ที่จำเป็นต่อการประจักษ์แจ้งแห่งจิตวิญญาณ และเป็นการสร้างสมานฉันท์ระหว่างนักคิดและนักวิชาการชาวตะวันตกและชาวตะวันออก โดยไม่มีพรมแดนของเชื้อชาติและสัญชาติมาเป็นเครื่องกีดกั้น

R
related topic
091148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง