The Midnight University
วิกฤตในการจัดการทรัพยากร
๓ จังหวัดภาคใต้
นิเวศน์ชาตินิยมปะทะนิเวศน์ชาติพันธุ์
ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ
นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน
ครั้งที่ ๑
วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๘
เรื่อง
วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
ห้องประชุม ศศ.๒๐๑ อดุลวิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์,
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนโดย สสส.
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 725
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
ภาคบ่าย
แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักวิชาการและนักนโยบาย
อมรา พงศาพิชญ์
: ผู้ดำเนินรายการ
เรื่อง "มองภาพรวมวิกฤตการณ์จัดการทรัพยากร"
อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ
ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ศรีศักรเป็นอย่างยิ่งว่าเรากำลังเริ่มต้นขบวนการสมานฉันท์
เราเริ่มที่กรุงเทพฯก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในฐานะที่ผมมาจากมหาวิทยาลัยภูมิภาค
คือมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเวลานี้ก็ไปสอนที่อีสานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต้องเรียนให้ทราบว่าที่นั่นเรื่องราวเกี่ยวกับทางภาคใต้เราแทบจะไม่พูดถึงเลย
ไม่มีการนำเสนอข้อมูลให้กับสาธารณะได้รับทราบ
ถึงแม้ว่าที่เชียงใหม่จะมีชุมชนมุสลิมอยู่จำนวนไม่น้อย เท่าที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่าพี่น้องมุสลิมทางเชียงใหม่นั้น มีสำนึกทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่แตกต่างกับพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ จึงไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนร่วมในความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ส่วนทางที่อีสานกระแสความเข้าใจเรื่องภาคใต้ยิ่งน้อยลงไปมาก ถึงแม้ว่าปัญหาที่เขาเผชิญอยู่จะไม่ต่างกันเท่าใดนัก
ผมเห็นด้วยกับวิทยากรที่ได้กล่าวมาเมื่อตอนเช้าและอีกทั้ง ๒ ท่านในภาคบ่ายก็คือ ภาพที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นภาพของความขัดแย้งตามที่วิทยากรภาคเช้าได้บอกว่า เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิดและวัฒนธรรม ส่วนท่านอาจารย์ศรีศักรก็พูดชัดเจนว่า เป็นความขัดแย้งในเรื่องของแนวคิดในการพัฒนา ผมมองว่านอกเหนือจากความขัดแย้งในเรื่องของการพัฒนาและเรื่องนิเวศน์แล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ซึ่งผมจะอธิบายในตอนท้าย
ประการแรก ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ในรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องของความขัดแย้งในเรื่องของการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทั้งของภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาของชาวบ้านที่ดิ้นรนต่อสู้ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรป่า เรื่องราวคล้าย ๆ กัน คือชาวบ้านมีความรู้ มีความสามารถในการจัดการป่าชุมชนของเขา แต่ภายหลังที่รัฐมีการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ วัฒนธรรมและระบบกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน ทำให้แนวคิดเรื่องของการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่ได้รับความสนใจ
แม้ปัจจุบันนี้มีการเรียกร้องเพื่อให้ออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน ก็ยังไม่สามารถดำเนินการไปได้ทั้งๆที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา และแม้จะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมา เรามีรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ที่ระบุว่าให้คำนึงถึงสิทธิชุมชน แต่เราก็ยังไม่สามารถรณรงค์ให้ออกกฎหมายลูกหรือ พ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมาได้เลย
ชาวบ้านเคยรวบรวมรายชื่อมาได้ ๕๐,๐๐๐ ชื่อตามสิทธิของชาวบ้านเพื่อเสนอให้มีการออกกฎหมายได้ แต่เมื่อเสนอไปแล้วร่างดังกล่าวก็ถูกกักไว้และยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เช่นเดียวกับกรณีของพี่น้องชาวอีสาน ปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา ความจริงมันเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลท่าน พล.เอกชาติชาย คือปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ที่ต้องการจะพัฒนาให้เป็นโลกาวิสัยตามคำของท่านอาจารย์ศรีศักร
โดยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรน้ำได้นำมาใช้ประโยชน์ จึงมีแนวคิดกั้นน้ำสร้างเขื่อนขึ้นมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนองการเติบโตของเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยที่ไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมของคนที่อาศัยทำมาหากินกับแม่น้ำมูลจนทำให้เกิดความขัดแย้งโดยเดินขบวนเข้ากรุงเทพฯ มาทั้งที่ธรรมศาสตร์และจุฬาฯก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำได้จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นปัญหามาตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าทางภาคเหนือ เรื่องเขื่อนทางอีสาน และเรื่องทรัพยากรทางภาคใต้ ทั้งเรื่องป่า พรุ ภูเขา ทะเล ก็เห็นชัดเจนว่ารูปแบบไม่ต่างกัน
ประการที่สอง ผมคิดว่าเรื่องความขัดแย้งมันเป็นความขัดแย้งของความคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรซึ่งมี ๒ ลักษณะที่ต่างกัน โดยฝ่ายชาวบ้านจะมองว่าทรัพยากรนั้น มีความหมายต่อจิตวิญญาณของพวกเขา ทรัพยากรเป็นทรัพย์สินที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น เหมือนกับที่ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อเรื่องป่าว่ามีผีสถิตอยู่ ซึ่งหมายถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือพระเจ้าที่คอยดูแลป่า ชาวกะเหรี่ยงเองก็นับถือเทวาซึ่งก็เสมือนเป็นพระเจ้า
พี่น้องที่ปากมูลก็เช่นกัน เขาพึ่งพาน้ำเพราะเป็นส่วนสำคัญในชีวิต เขาเอาไว้ใช้จับปลาเพื่อแลกกับข้าว เกลือ หรือเอาไปทำบุญ หรือขายเอาเงินให้ลูกไปโรงเรียน หรือแม้กระทั่งใช้ดื่มกิน ถ้าเรากั้นน้ำให้มันหยุดด้วยเขื่อนจะเป็นการสร้างมลภาวะอย่างมากรวมทั้งสารพิษตกค้างต่าง ๆ มากมาย น้ำที่ถูกกั้นเหนือเขื่อนย่อมไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ที่ไหลตลอดเวลา ปลาก็อพยพขึ้นมาวางไข่ตามเกาะตามแก่งไม่ได้
เช่นเดียวกับพี่น้องภาคใต้ที่ป่าพรุถูกทำลายด้วยเหตุเดียวกัน แต่ภาครัฐกลับไม่เข้าใจ เขามองไม่เห็นว่าชาวบ้านมีความรู้ หรือเห็นว่าความรู้ชาวบ้านไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เชื่อในเรื่องผี วิญญาณ และพระเจ้า ตรงกันข้ามกับความรู้ตะวันตกที่เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุด
ประการที่สาม คือมันเป็นความขัดแย้งในเรื่องของความเข้าใจในเรื่องของกรรมสิทธิ์ ทรัพยากรในความหมายของชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่เป็นของปัจเจก เช่นเดียวกับชาวแม่มูลที่มองปลาว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของและมันว่ายทวนน้ำหรือตามน้ำโดยธรรมชาติ อาจมีเพียงพื้นที่ที่ปลาว่ายมาอาศัยอยู่ที่เรียกว่า "ลวง" หรือกรรมสิทธิ์ของกลุ่มชาวบ้านที่มีข้อตกลงร่วมกันในการใช้พื้นที่
แนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ของชุมชนก็มีในภาคใต้เช่นเดียวกัน ดังเช่นที่พรุหรือที่ทะเลสาบสงขลา "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของทะเลสาบสงขลา" ได้พูดถึงพื้นที่ที่เรามีกรรมสิทธิ์ของคนในชุมชนในพื้นที่หาปลา ซึ่งก็เหมือนคนในแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำมูลที่พูดถึงลวงในการหาปลา
เมื่อพูดถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ ฝ่ายรัฐจะมองเพียงว่า มีแค่กรรมสิทธิ์ของรัฐกับกรรมสิทธิ์ของปัจเจกเท่านั้น ต่างกับของชาวบ้านที่มองเป็นสมบัติสาธารณะหรือเป็นของหน้าหมู่ในความหมายของคนในภาคเหนือในป่าชุมชน หรือฝายที่เป็นของหน้าหมู่ของชาวนา ทุกคนมีสิทธิในการใช้ในการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกันและมีหน้าที่ในการดูแลรักษา เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแลด้วย
ที่ผ่านมาเราพูดถึงแต่กรรมสิทธ์ในความหมายของรัฐเท่านั้น ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ส่วนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นเมื่อเขามีสิทธิ์เขาก็รักษาของเขา ไม่ได้คำนึงถึงส่วนรวมหรือประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกัน และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ตามที่อาจารย์ศรีศักรกล่าวถึงว่าเราไม่เข้าใจความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรม และผมก็คิดว่าเรายังไม่เข้าใจเรื่องแนวคิดเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรของชาวบ้านว่า มีวิธีคิดในการแบ่งระบบ กรรมสิทธิ์อย่างไรบ้าง ในทางวัฒนธรรมเขามีวิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์กันอย่างไร
ในกรณีคนมุสลิมอาจจะมีระบบกรรมสิทธิ์ที่ไม่ใช่แค่เพียงสาธารณะ อาจจะมีอื่น ๆ ที่ซับซ้อนอีกมาก เช่นของตระกูล ของสุเหร่า คือจะมีระบบกรรมสิทธิ์ที่หลากหลายที่เรายังไม่เข้าใจ เพราะเรานึกว่ามันมีเพียงรัฐกับปัจเจกเท่านั้น ทรัพย์สินในทางมุสลิมเรียกว่า"ดุซง"หรือระบบดุซง อย่างกรณีผืนนาอาจจะมีระบบกรรมสิทธิ์ที่ซ้อนทับกันได้ เช่นในผืนนามีต้นตาล เจ้าของนาก็สามารถทำนาและอาจจะมีอีกคนที่มีกรรมสิทธิ์ในต้นตาลมาทำกินร่วมกันได้ ระบบเดิมของชาวบ้านมันมีความยืดหยุ่นให้สามารถแบ่งปันกันได้ในเครือญาติเดียวกันหรือในหมู่บ้านหรือในชุมชนเดียวกัน มันจึงลดความขัดแย้งและเอื้อประโยชน์ให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรร่วมกันอย่างทั่วถึง จึงลดความขัดแย้งลงไปมาก
การที่ผมมองเห็นปัญหาทั้ง ๓ ส่วนทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ผมเห็นปัญหาเดียวกันคือปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของแนวคิด ที่มีต่อเรื่องการจัดการของทรัพยากรซึ่งได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ ความหมาย ความรู้ และระบบกรรมสิทธิ์ที่ทำให้เกิดการปะทะทางความคิดและเกิดความขัดแย้ง ที่พูดมาทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้
ส่วนเรื่องแนวคิดในการพัฒนาที่อาจารย์ศรีศักรพูดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งเกี่ยวโยงกัน เพราะตั้งแต่เราเอาแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจเข้ามาตั้ง ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เอาแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรใหม่เข้ามาใช้จนนำไปสู่ความขัดแย้งดังกล่าว ยิ่งในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เมื่อรัฐมองเห็นป่า เห็นแม่น้ำก็คิดแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เมื่อมองเห็นปลาทางภาคใต้อุดมสมบูรณ์ก็เกิดแนวคิดจะทำให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางการส่งออกอาหารกระป๋องเป็นอันดับหนึ่งของโลก
สิ่งที่ผมคิดว่ามีนัยยะที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ในมิติทางประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ศรีศักรได้กล่าวมา มันสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในวิธีการ ๒ อย่างคือ
อย่างแรกคือนิเวศน์ชาตินิยม
อย่างที่สองคือนิเวศน์วัฒนธรรม
พี่น้องทั้งภาคใต้ อีสาน และเหนือ ต่างใช้แนวคิดแบบนิเวศน์วัฒนธรรมในการปรับตัว ในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน และพึ่งพาธรรมชาติโดยคำนึงถึงคุณค่าและความหมายบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน
แต่ถ้าเป็นการพัฒนาของรัฐจะเป็นเรื่องของนิเวศน์ชาตินิยม คือให้ความสำคัญของผลประโยชน์ของรัฐชาติโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของท้องถิ่น ตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดินเราใช้นโยบายบูรณาการเข้าสู่ส่วนกลาง ท้องถิ่นทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ถูกลดทอนความสำคัญลง นโยบายดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นนโยบายอาณานิคมภายใน คือเห็นส่วนกลางมีความสำคัญ เน้นการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลาง ให้ความสำคัญกับส่วนกลางในการวางแผน ให้ความสำคัญกับประวิติศาสตร์ของชาติ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของชาติมากกว่าที่จะให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือความรู้ท้องถิ่น
ในเรื่องท้องถิ่นเมื่อถูกลดทอนความสำคัญลงไป สิ่งที่เห็นชัดคือคนในท้องถิ่นที่ประกอบด้วยคนที่มีชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน กลายเป็นชนกลุ่มน้อยและกลายเป็นแพะรับบาปในทุกเรื่อง อย่างเช่นเมื่อเกิดน้ำท่วมก็กล่าวหาว่าชาวเขาทำลายป่า ไฟไหม้ป่าก็กล่าวหาชาวเขาเป็นคนทำ มันเป็นสูตรสำเร็จของภาครัฐในการหาผู้รับผิดชอบ เมื่อชาวบ้านประท้วงก็กล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจในผลประโยชน์ของชาติ ยิ่งถ้าเป็นพี่น้องมุสลิมก็ยิ่งถูกมองว่าเป็นคนอื่นที่มีศาสนาแตกต่างกัน
ดังนั้นนโยบายนิเวศน์ชาตินิยมจึงนับว่าอันตรายมากเพราะยิ่งทำให้ตอกย้ำความแตกต่าง ตอกย้ำปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น ตราบใดที่เรายังติดอยู่ในเรื่องนิเวศน์ชาตินิยม คือจัดการระบบนิเวศน์โดยไม่คำนึงถึงความรู้ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่เน้นไปที่การจัดการแบบรวมศูนย์ส่วนกลาง โดยเน้นประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
เมื่อถามถึงทางออก ผมคิดถึง 3 ส่วนด้วยกันคือ
1. เรื่องของการจัดการทรัพยากร เราควรคิดว่าทำอย่างไรจะให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากร คือมี Co-management มีการจัดการร่วมเรื่องแม่น้ำ การจัดการร่วมเรื่องป่า ทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้านใช้จารีต หรือกฎของชาวบ้านให้มาเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันภายใต้รัฐธรรมนูญมาตราที่ ๔๖ ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการร่วม ซึ่งมีการประกาศออกมาแล้วแต่ยังไม่มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ
2. เราควรเปลี่ยนบทบาทของนิเวศน์ชาตินิยมเป็นนิเวศน์ชาติพันธุ์ คือพยายามทำให้เห็นความสำคัญของความรู้ วัฒนธรรมและความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำอย่างไรเราจะสามารถเอาความรู้ที่พี่น้องมุสลิม พี่น้องชาวอีสาน พี่น้องชาวเขามีอยู่มาช่วยใช้เป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่
3. ทำอย่างไรที่จะให้มีเวทีอย่างนี้มีมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆทั้งทางอีสาน และทางภาคเหนือที่จะให้สังคมได้รับรู้ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และความต้องการในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตน รวมทั้งปัญหาของพวกเขา และเขาก็สามารถมาบอกปัญหาได้ว่าเขาต้องการอะไร
อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
ท่านอาจารย์ชยันต์ได้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งในเรื่องนิเวศน์ในหลายมุมมอง
โดยประเด็นแรกอาจารย์ได้พูดถึงความขัดแย้งที่เกิดจากการให้ความหมายความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากร
ซึ่งอาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านมองเรื่องการจัดการทรัพยากรแบบหนึ่งแต่ภาครัฐกลับมองว่า
สิ่งที่ชาวบ้านมองเป็นความไม่รู้ เป็นความไม่เข้าใจของชาวบ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีมองที่ต่างกัน
และการจัดการเอาทรัพยากรมาใช้ก็ต่างกัน
ประเด็นที่สองคือความขัดแย้งในเรื่องของกรรมสิทธิ์ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งกรรมสิทธิ์สาธารณะ กรรมสิทธิ์ปัจเจก กรรมสิทธิ์ของรัฐ กรรมสิทธิ์ชุมชนและกรรมสิทธิ์ทับซ้อน ความขัดแย้งอีกเรื่องคือการขัดแย้งเรื่องแนวคิดในการพัฒนาดังที่อาจารย์ศรีศักรได้พูดไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งเรื่องในการมองเรื่องการจัดการทางนิเวศน์ซึ่งอาจารย์ใช้ศัพท์ว่าเป็นการมองแบบนิเวศน์ชาตินิยม กับการมองแบบนิเวศน์ชาติพันธุ์ ซึ่งข้อแตกต่างค่อนข้างชัดว่าภาครัฐมักมองว่า ระบบนิเวศน์นั้นส่วนกลางจะเป็นผู้ดูแลเพื่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ระบบนิเวศน์จะต้องมีมุมมองของกลุ่มในพื้นที่วัฒนธรรมตรงนั้นรวมอยู่ด้วย
อาจารย์ได้เสนอทางออกไว้ด้วยว่า เราควรมีการจัดการร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายกลุ่มได้พยายามผลักดันมา แต่วันนี้มีการพูดคุยกันได้อย่างชัดเจนมาก และเราควรต้องตั้งออกมาให้ชัดว่า มีฝ่ายไหนบ้างที่ควรเข้ามาคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น และอาจารย์ยังเสนอให้เปลี่ยนแนวคิดเรื่องนิเวศน์ชาตินิยมมาเป็นนิเวศน์ทางชาติพันธุ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น อาจารย์ได้เอาประสบการณ์ของทางภาคอีสานเข้ามาวิเคราะห์ให้ฟังด้วย ซึ่งช่วยให้เรามองเหตุการณ์ทางภาคใต้ได้ชัดขึ้น
ต่อไปเป็นการเสนอของท่านพลตรีบุญชู เกิดโชค ซึ่งตอนนี้ท่านมารับหน้าที่ในภาคใต้เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านจะมาพูดเรื่องการจัดการทรัพยากรกับความยากจน ท่านมีประสบการณ์ในเรื่องการจัดการความขัดแย้งจากที่อื่นมาแล้วซึ่งท่านคงจะเล่าให้ฟังในลำดับต่อไป
วิกฤตในการจัดการทรัพยากร
๓ จังหวัดภาคใต้
อย่าเอารัดเอาเปรียบ
อย่าเหยียบย่ำ และอย่าสร้างเงื่อนไขสงคราม
เสียงจากข้าราชการซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่
รวมทั้งนักวิชาการและผู้ร่วมเสวนา
สนทนาร่วมกัน
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 726
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)
พลตรีบุญชู
เกิดโชค
ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่อง"การจัดการทรัพยากรกับความยากจน"
เมื่อผมมาภาคใต้ซึ่งมีอะไรที่คล้ายกับอิรักหลายเรื่อง อย่างเช่นมีสังคมหลายชนเผ่า
ซึ่งเราต้องยืนอยู่ตรงกลางประสานความเข้าใจให้ได้ ผมอยากจะเรียนให้ท่านอาจารย์นุกูลได้ทราบว่า
การพัฒนาไม่น่าจะถึงขั้นที่ว่า "การพัฒนาที่ดีที่สุดคือการไม่พัฒนา"
ผมว่าการพัฒนาที่ดีที่สุดคือการขยันให้น้อยลงหน่อย ค่อย ๆ ทำงาน อย่างผมเริ่มทำงานก็ได้ทาง
สกว.มาช่วยสังเคราะห์องค์ความรู้ให้ผมเรียนรู้ไปด้วย
ท่านซากิโต๊ะ ฟูโกดะ กล่าวว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการที่มีคนพูดว่า "ในสังคมใดก็ตามถ้าไม่มีการพัฒนามันจะมีความเท่าเทียมกัน ทั้งด้านการเมืองและทรัพยากรของคน ปัญหาทางด้านวัฒนธรรมความเชื่อก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น" ซึ่งอันนี้ท่านฟูโกดะค้านไม่เห็นด้วย ท่านยกตัวอย่างว่าแม้แต่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนารวดเร็วมาก และการพัฒนาประชาธิปไตยก็สมบูรณ์ แต่ก็ยังทิ้งคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไว้ข้างหลัง
ในส่วนของทางภาคใต้มีบางอย่างที่ใกล้เคียงกับภาคกลาง คือวิถีชีวิตพุทธกับมุสลิมเหมือนกันที่ความพอเหมาะพอดี และเราก็เข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงพอสมควร เรารู้ว่าความพอดีคือการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การบริโภคล้นเกิน ไม่เน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ในการพัฒนาทางภาคใต้มันก็มีอยู่ ๓ ส่วนด้วยกันคือ
๑. Emergency relief การช่วยเหลือแบบเร่งด่วน
๒. ส่วนที่เข้าไปพัฒนาแบบยั่งยืน
๓. ส่วนที่เข้าไปฟื้นฟู
ในทั้ง ๓ ส่วนนี้มีความเกี่ยวพันกับเรื่องอื่น ๆ ในระดับที่พอเพียงกัน และเราต้องมองทั้ง ๓ มิติให้เท่า ๆ กัน ผมอยากให้ชาวบ้านเข้าใจรัฐบ้างว่ามีจุดอ่อนมาก
เหตุการณ์สึนามิเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และอีก ๒ ปีผ่านไปผลกระทบของมันจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ปัจจุบันเรากำลังทำเรื่องคล้ายสึนามิ และบางเรื่องเราก็ทำคล้ายกับการฟื้นฟู แต่เรายังไม่รู้เลยว่าผลสุดท้ายของปัญหาภาคใต้จะเป็นอย่างไร แล้วเราก็คาดหวังว่ามันจะกลับไปเหมือนเดิม
ผมอยากสรุปว่า การทำงานพัฒนาในส่วนของ ศตจ.ปัจจุบันนี้ไม่ได้เร่งรีบทำ กลไกของ ศตจ. ก็คือศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของชาติ ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของท้องถิ่น โดยในงบประมาณที่ใช้ไปตรงนี้จะมีเงินเป็นก้อนให้กับผู้ว่าคร่าว ๆ ประมาณ ๑๐ ล้านบาท แบ่งไปตามอำเภอต่าง ๆ เฉลี่ยแล้วประมาณอำเภอละ ๘ แสนบาท ซึ่งต้องกันไว้อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นค่าการดำเนินการบริหารและการจัดการ ดังนั้นเงิน ๘ แสนบาทจึงเอาไว้จัดการคาราวานแก้จนล้วน ๆ เวลาผมไปที่สตูล พบว่าชาวบ้านที่นั่นทำบัญชีครัวเรือนกัน น่าชื่นชมมากและประสบความสำเร็จกันมาก
ในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน มันจะมีความเป็นชุมชน การเป็นสังคมเป็นหัวใจสำคัญ ก่อนหน้าที่ กอ.สสส.จชต.จะไปทำชุมชนสัมพันธ์โดยท่านรองนายกฯจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งช่วงนั้นผมเห็นว่ากำลังทำได้ดีมาก แต่บังเอิญต้องปรับเปลี่ยนออกไป แต่ผมก็เชื่อว่าจะมีการปรับตัวเข้ามาได้ดี ผมอยากเรียนพี่น้องภาคใต้ว่า ขอให้เตรียมตัวการกลับเข้าสู่ขั้นตอนการมีส่วนของชุมชนตรงนั้นให้ดี ผมเชื่อในแนวทางของท่านจาตุรนต์ที่ก้าวลงไปทำในตรงนั้น
สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตใช้คำพูดของท่านฟูโกดะมาปิดท้าย ท่านกล่าวว่า "ปลายทางของการพัฒนามันไม่ได้อยู่ที่ Human well being เฉย ๆ แต่มันอยู่ที่ Power of human well being ก็คืออยู่ที่การมีอำนาจของประชาชนนั่นเอง ไม่ใช่เพียงแค่การกินดีอยู่ดีเท่านั้น"
อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
ท่านพลตรีบุญชูได้ขอร้องให้เราเข้าใจคนกลุ่มน้อย โดยขอให้มองท่านเป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อยในห้องนี้
เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ท่านสรุปว่าทางฝ่าย
ศตจ.หรือศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนก็ได้พยายามทำงานอยู่ ก็เข้าใจแล้วว่าเราต้องไม่เร่งรีบ
ขณะเดียวกันก็ขอความเห็นใจและเข้าใจว่า รัฐก็มีจุดอ่อนและรัฐกำลังพยายามปรับตัวอยู่เหมือนกัน
ท่านชี้ให้เราเห็นว่า
งานที่เริ่มทำนั้นก็เพิ่งจะเริ่ม แล้วก็ไม่มีความแน่ใจเท่าไรว่า ขบวนการแก้จนจะเคลื่อนต่อไปอย่างประสบความสำเร็จมากหรือน้อย
แต่ว่าท่านก็ได้เคลื่อนต่อไปด้วยการกลับไปหาข้อเสนอที่ท่านจาตุรนต์ได้เคยเสนอไว้
โดยขอให้พวกเราเตรียมใจที่จะปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะพยายามกลับเข้าสู่สภาวะเดิมที่อาจจะไม่เหมือนเดิม
โดยยกตัวอย่างเรื่องสึนามิ แม้แก้ไปแล้วก็อาจจะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว เพราะฉะนั้นก็ขอความเห็นใจและความร่วมมือร่วมกัน
อีกหน่วยงานหนึ่งที่พยายามทำงานกับพวกเราเสมอ คืองานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี
คือคุณจินตวดี พิทยเมธากูลซึ่งเป็นหัวหน้างานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี
มาแสดงความคิดเห็นให้เราฟังเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่
คุณจินตวดี พิทยเมธากูล
หัวหน้างานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี
เรื่อง "การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่"
ดิฉันเองก็เป็นชนกลุ่มน้อยเพราะมาในนามท่านผู้ว่าปัตตานี และหน่วยงานของดิฉันก็มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรที่ท่านวิทยากรกล่าวมาทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำเสีย อวนลากอวนรุนก็เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมดจนได้รับฉายาว่า
"เจ้ากระทรวงดิน น้ำ ลม ไฟ" ตอนนี้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างเหน็ดเหนื่อยกันมาก ไหนจะต้องคอยระวังความปลอดภัยของตนเอง
ไหนจะต้องเร่งรีบทำงาน เพื่อให้ทันกับความต้องการของชาวบ้านและผู้บังคับบัญชา
จึงอาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไปบ้าง
เรื่องปัญหาทรัพยากรใน ๓ จังหวัดภาคใต้จะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ที่จังหวัดปัตตานีจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ที่ยะลากับนราธิวาสจะเป็นเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาที่หนักตอนนี้ก็คือที่อ่าวปัตตานีซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนทั้ง ๓ จังหวัด กำลังประสบกับเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ซึ่งวิทยากรในภาคประชาชนก็ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว แต่ในภาคราชการอาจถูกตั้งคำถามว่ามัวแต่ไปทำอะไรอยู่ ดิฉันจึงอยากอธิบาย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าหน่วยงานนี้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานมีอัตรากำลังแค่ ๔ คน ทำหน้าที่การเงิน ๑ คน นอกนั้นเป็นนักวิชาการรวมทั้งตัวดิฉันเองซึ่งจบทางด้านสิ่งแวดล้อมมา ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารและนักวิชาการมีแค่ ๓ คน ยังดีที่ปัจจุบันนี้ได้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาช่วยอีก ๑๐ คน ถึงกระนั้นก็ยังหนักอยู่ดี เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะรู้แต่เรื่องป่าไม้ แต่ปัญหาที่ปัตตานีจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบของดิฉันเคยอยู่ตั้งแต่ จ.ตรังจนถึง จ.นราธิวาส เป็นเวลา ๒๗ ปี
เมื่อมีปัญหาเรื่องปัญหาเรื่องสัตว์น้ำลดลง มันได้ไปกระทบเป็นปัญหาในส่วนอื่น ๆ ด้วย เมื่อสัตว์น้ำลดลง คนทำอาชีพประมงก็ลดน้อยลงไปด้วย ปัญหาครอบครัวก็เกิดขึ้น เมื่อพ่อบ้านและแม่บ้านต้องไปคนละทาง ปัญหายาเสพติดย่อมเกิดขึ้นกับเยาวชนแน่นอน เหมือนชุมชนบางนาที่ติดอ่าวปัตตานี จะพบว่าเด็กวัยรุ่นติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน อันเป็นผลพวงมาจากการแย่งชิงทรัพยากร
ในขณะเดียวกันตามที่คุณมะรอนิงกล่าวว่า
เขตอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุใหญ่ที่ปล่อยน้ำเสียลงอ่าวปัตตานี ซึ่งดิฉันก็มิได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้
เมื่อได้รับการร้องเรียนว่า ตอนนี้โรงงานอุตสาหกรรมกำลังปล่อยน้ำเสีย ดิฉันก็รีบไปตรวจสอบทันที
แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะทางโรงงานไม่ยินยอมให้เข้าไป กว่าจะยอมให้เข้าไปได้ก็ต่อเมื่อเขาได้จัดการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จึงเอาผิดตามกฎหมายไม่ได้
อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ โรงงานก็พยายามรายงานให้ถูกต้องตามระเบียบ คือเก็บน้ำเสียที่ปล่อยออกไป
นำไปตรวจที่ มอ. เป็นประจำทุกเดือน จึงได้รับการรายงานจากทางอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นการยืนยันว่าตรงตามมาตรฐานมาตลอด
ต้องแอบไปตรวจกันเอง ยังเคยแอบไปตรวจสอบกับท่านรองผู้ว่า ฯ ก็พบว่าน้ำเสียจริง
ๆ เห็นได้ว่าทางโรงงานมีวิธีหลีกเลี่ยงได้อย่างแยบยล ตรงนี้จึงเป็นจุดที่แก้ไขยากมาก
แม้ตัวดิฉันเองพยายามไปเก็บตัวอย่างมาด้วยตัวเอง ก็ได้รับการปฏิเสธว่าไม่มีพยานยืนยัน และดิฉันเก็บน้ำ ณ เวลาไหน ใครบอกได้ จึงต้องหาวิธีบอกท่านผู้ว่า ฯ ให้ใช้วิธีสร้างอาสาสมัครชุมชนขึ้นมา และสร้างเครื่องมือตรวจน้ำเสียอย่างง่ายให้กับชาวบ้านได้ตรวจสอบเอง เมื่อมีข่าวน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงมักมีคำถามตามมาว่า กรมทรัพยากร ฯ ไปทำอะไรอยู่ที่ไหน สาเหตุก็เป็นเช่นที่เล่ามา
นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องน้ำเสียจากนากุ้ง เคยมีปรากฏว่าน้ำเสียจากนากุ้งมีผลถึงกับทำให้ปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังตาย จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันเองระหว่างผู้เลี้ยงกุ้งกับผู้เลี้ยงปลากะพง จนดิฉันต้องไประงับเหตุ การหาหลักฐานก็ยุ่งยากเพราะจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าโคลนตรงนั้นเป็นน้ำเสียที่มาจากนากุ้งจริง จึงขอร้องให้กรมชายฝั่งเอาน้ำไปตรวจเพื่อเป็นคนกลางในการพิสูจน์ จนผลออกมายืนยันว่าเป็นโคลนของนากุ้งจริง มีเศษอาหารของนากุ้ง น้ำเสียนี้ก็มาจากนากุ้ง จนผู้เลี้ยงนากุ้งต้องยอมรับและเปิดการเจรจากันใหม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร
ผลเสียไม่เพียงแค่นั้น น้ำเสียที่ไหลจากนากุ้งได้ไปติดที่ป่าชายเลน ตรงป่าชายเลนมีดินกั้นอยู่ประมาณ 1 เมตรได้ กั้นน้ำไว้ สาเหตุที่กั้นไว้ก็เพื่อถมเป็นทางให้ชาวบ้านนำแพะเดินเข้าไปกินอาหารในป่าชายเลนได้ จึงเป็นเหมือนทางขวางน้ำไว้อยู่ ดิฉันจึงต้องใช้วิธีไปขอท่อจากทางหลวงชนบท ๓ - ๔ ท่อมาลอดใต้ดินกั้นเพื่อให้น้ำตรงนั้นผ่านได้ด้วยและให้แพะเดินผ่านได้ด้วยจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ จึงเห็นได้ว่าดิฉันต้องแก้ปัญหาแทบทุกเรื่อง
เรื่องน้ำในนากุ้งก็แล้ว คราวนี้เรื่องน้ำอุตสาหกรรมท่าเทียบเรือ ท่าเทียบเรือประมงที่ปัตตานีเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่มากท่าหนึ่ง การถ่ายเทของเสียทิ้งไม่เคยมีระเบียบเลย ปรากฏว่าที่อ่าวปัตตานีมีสารตะกั่วกับสารดีบุกสูงมาก เพราะมีการแอบทิ้งน้ำมันเครื่องกันลงไปจึงเป็นปัญหาขึ้น ดิฉันจึงแจ้งไปที่กรมควบคุมมลพิษ กลับได้รับคำตอบว่า ทางเราจะต้องการเงินสักเท่าไหร่ในการปรับปรุงแต่ทางเขาไม่อาจส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดำเนินการได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้ามา ตรงนี้จึงเป็นเงื่อนไขที่ว่าทำไมเราจึงสนองตอบต่อประชาชนได้ไม่เต็มที่
ในเรื่องป่าชายเลน รวมทั้งพรุลานควายก็มีปัญหา เรื่อยไปจนถึงปัญหาของอวนลากอวนรุน ตามกฎหมายกำหนดเขต ๓,๐๐๐ เมตรไม่ให้เข้ามาจับปลา แต่ในความเป็นจริงก็มีการลักลอบเข้ามาโดยตลอดเพราะไม่มีใครไปเฝ้าดู ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ มีการประท้วงครั้งใหญ่เรื่องอวนลากอวนรุนของอ่าวปัตตานีที่ศาลากลางจังหวัด จนต้องให้อธิบดีกรมประมงเข้ามาแก้ไข การจับอวนลากอวนรุนที่ลุกล้ำเข้ามา จับทีไรก็หลุดทุกครั้งเพราะอ้างว่าไม่รู้เรื่องแผนที่ ดังนั้นการประกาศเรื่อง ๓,๐๐๐ เมตรของกรมประมงมีปัญหาเพราะไม่มีแผนที่แนบท้าย การดำเนินคดีจึงหลุดมาตลอด
แม้ว่าจะออกตรวจจับโดยเรือตรวจการก็ทำได้ยากลำบากเพราะมีสายคอยเตือนผู้ลักลอบ พอเอาเรือตรวจการออกตรวจจับ ก็พบว่าอวนลากอวนรุนตรงนั้นได้หายไปหมดแล้ว อีกจุดหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ระบบราชการไม่เอื้ออำนวย อย่างเช่นเมื่อจับอวนลากอวนรุนได้แล้วก็ต้องเก็บของกลาง แต่ทางตำรวจปฏิเสธเพราะคันอวนลากอวนรุนมันยาวมากเป็น ๑๐ เมตรไม่มีที่เก็บ ท่านผู้ว่า ฯ จึงต้องให้หาเช่าที่เก็บ พอแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่เก็บเรือ ไม่สามารถทำได้ต้องให้เจ้าของเรือเป็นผู้เก็บเอง เราเอาเครื่องเรือออก แต่ทางเขาก็แก้ปัญหาโดยเอาเครื่องเรือใหม่มาใช้ หาคันลากใหม่มาใส่ ดำเนินการออกไปจับปลาตามเดิม รุ่งเช้าทางชาวบ้านก็มาฟ้องว่าเรือที่จับไปทำไมยังสามารถออกจับปลาได้อีก นี่ก็เป็นส่าเหตุสำคัญที่ไม่อาจแก้ไขได้
เราเคยแก้ปัญหาแม้กระทั่งว่าเอางบ ๔๐ ล้านออกมาซื้อเครื่องมืออวนลากอวนรุนของเขาทั้งหมดและให้เขาเลิกประกอบอาชีพ ก็สามารถแก้ปัญหาไปได้เพียงปีเดียว เขาก็กลับมาประกอบอาชีพอวนลากอวนรุนตามเดิมอีก เพราะว่าเราไปส่งเสริมอาชีพที่เขาไม่ถนัดเช่นการทำหัตถกรรม เขาทำไม่ได้ เขาเคยชินกับการเป็นชาวประมง สิ่งที่เขาทำได้ก็คืออาชีพอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น การเลี้ยงหอย ก็พยายามแก้ปัญหากันอีก ด้วยการส่งเสริมให้เขาเลี้ยงหอย เลี้ยงสาหร่าย ต่อมาก็ต้องมานั่งหาตลาดให้กับเขาอีก จะเห็นว่าปัญหาเยอะมากจริง ๆ แต่ทางดิฉันก็ต้องไม่ท้อ
ความอ่อนแอของภาครัฐก็เป็นต้นเหตุหนึ่งเช่นกัน อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนใหญ่ผู้นำ อบต. ไม่ว่าจะเป็นนายก ฯ ปลัด หรือเทศบาล ฯ ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมากนัก พอเวลาตั้งงบประมาณในการพัฒนา เขาก็จะตั้งงบประมาณแต่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นถนน จนเป็นเหมือนยาประจำบ้านของเขาเองที่คิดแต่เรื่องถนน เรื่องการขุดลอก หากพื้นที่ไหนถูกน้ำกัดเซาะก็จะขอเงินกับทางจังหวัดมาดำเนินการถมดิน เป็นเช่นนี้มาตลอดไม่ว่าจะเป็นการขอถมดิน ขอขุดลอก ขอทำเขื่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องขอผ่านจากทางสำนักงานทรัพยากร ซึ่งดิฉันก็ไม่เคยอนุญาตทุกครั้งไป ซึ่งดิฉันก็อธิบายว่า การถมทะเลผิดกฎหมาย การขุดลอกต้องขออนุญาต การถมดินก็ต้องทำ EIA ก่อน จนที่สุดก็ต้องโกรธกันไป
มันเห็นขัดว่าความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเขาไม่มี อย่างในปีที่ผ่านมาทางหมู่บ้านขาดแคลนน้ำเป็นจำนวนมากจึงมีการดำเนินการขอทำประปาหมู่บ้านกันถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ แห่ง แต่เมื่อมาดำเนินการขอผ่านดิฉัน ดิฉันก็มีหลักเกณฑ์ว่า ๑. ต้องมีแหล่งน้ำ ๒. แหล่งน้ำต้องไม่เป็นพิษ ๓. แหล่งน้ำต้องไม่มีการปนเปื้อน ๔. แหล่งน้ำต้องไม่เป็นสนิม และต้องมีแบบแปลนมาให้เรียบร้อย ในที่สุดก็ทำยากมาก จึงเปลี่ยนการของบมาเป็นถนนหมด ดิฉันต้องคัดค้านกับท่านผู้ว่า ฯ ว่าถ้าทุกแห่งทำถนนหมด ต่อไปถ้าหน้าแล้งชาวบ้านไม่มีน้ำใช้จะเอางบที่ไหน เขาก็กลับไปใหม่ คราวนี้อ้างว่าไม่มีใครมาทำประปาให้ ดิฉันจึงบอกให้เขาขอทหารช่างมาช่วยทำ เขาจึงต้องเลิกรากลับไป
ดิฉันจึงเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ ชยันต์ที่ว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็เพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในตรงนี้จริง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็อ่อนแอไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ดิฉันเคยทำวิจัยติดตามงานพลังมวลชน พลังแผ่นดินของกระทรวงมหาดไทย ได้สอบถามชาวบ้านว่า ถ้าเรามีปัญหาจะไปปรึกษาใคร ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่า ผู้นำศาสนา ดิฉันถามต่อว่า แล้วทาง อบต. ล่ะ เขาตอบว่า อบต. เป็นแหล่งหาผลประโยชน์
เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันต้องพิจารณาเรื่องการดูดทราย ทางนั้นอ้างว่า การที่มีการตื้นเขินเกิดขึ้นเพราะไม่มีการดูดทรายในแม่น้ำปัตตานี ดิฉันจึงชวนกันไปดู พอไปถึงก็พบว่า ที่ดูดทรายตั้งห่างจากโรงเรียนเพียง ๕ เมตร ดิฉันจึงไม่เซ็นอนุญาต ก็มีการให้ผู้หลักผู้ใหญ่มาต่อรอง ดิฉันก็ต้องอธิบายถึงเหตุผลของความปลอดภัยของชีวิตเด็กนักเรียนเป็นหลัก จนท่านต้องเลิกราไป นี่คือประสบการณ์ของคนทำงานในพื้นที่ทำงานอย่างยากลำบาก
ทั้ง ๗๕ จังหวัด เจ้าหน้าที่ทรัพยากร ฯ ที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ ๒ คนเองคือที่ปัตตานีกับที่นครปฐม และคิดว่าดิฉันคงต้องอยู่ที่นี่อีกนาน เพราะคงไม่มีใครมาเปลี่ยน ปัญหาที่ดิฉันประสบอีกอย่างคือ เจ้านายที่มาเยี่ยมเยียนผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าเป็นสายตรงก็ไม่เท่าไหร่ แต่ที่บ่อยมากคือมาจากสายอื่น ต้องคอยให้การต้อนรับจนไม่เป็นอันทำงานตามความรับผิดชอบของตนเองอย่างสมบูรณ์ได้
แม้ว่าดิฉันจะทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากขนาดนี้ แต่ดิฉันเองก็ยังไม่เข้าถึงใจประชาชนเลย เพราะภาระดิฉันเยอะมาก บางทีต้องปล่อยงานบางอย่างแล้ววิ่งไปจับอีกงานหนึ่ง จึงก้าวไปไม่ถึงใจเขาสักที อยากให้เกิดการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนมากเช่นกัน ในเรื่องปะการังเทียม ทางประมงใช้วิธีหาจุดพิกัดแล้วก็จัดการวางตามจุดพิกัดนั้น พอวางเสร็จแล้วชาวบ้านต้องมาประท้วงเพราะไปทำลายอวน แห เครื่องมือจับปลาของเขาจนหมด ดังนั้นทุกครั้งที่มีปะการังเทียมจึงต้องมีการให้มีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น คือให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้วกำหนดจุดให้วาง
อีกประการหนึ่งก็คือกฎเกณฑ์ของภาครัฐในเรื่องระเบียบมาก การจะเบิกจ่ายเงินแต่ละอย่างมีอุปสรรคมากมายเพราะมีระเบียบหยุมหยิมมากมาย ทำให้เกิดความล่าช้า ภาคประชาชนก็ไม่เข้าใจ อย่างโครงการบางโครงการก็เน้นขอรายละเอียดที่ทำได้ยาก เช่นขอโครงการฟื้นฟูทรัพยากรลุ่มน้ำ ทางนั้นขอดูรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน ๑๒๐ ล้านเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรลุ่มน้ำปัตตานี สายบุรี บางนรา โกลก ภายในพรุ่งนี้ ดิฉันทำไม่ได้ จึงไม่ส่งโครงการ ดิฉันจึงขอเสนอทางออกทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและแก้ไขการติดขัดเรื่องระเบียบราชการ แต่เพียงเท่านี้
อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
ขอขอบคุณคุณจินตวดีมาก ที่ทำให้เราเข้าใจในสภาวะของคนทำงานภาครัฐได้ชัดเจนขึ้น
คุณจิตวดีได้พูดถึงภาพรวมของปัญหาสิ่งแวดล้อมใน ๓ จังหวัดว่ามีระบบนิเวศน์ที่ต่างกัน
ปัตตานีเน้นเรื่องน้ำ แต่ทางยะลาคือเรื่องป่าไม้ และได้เล่าถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของทางภาครัฐเป็นอย่างดี
ขอให้พวกเราได้เข้าใจท่านมากขึ้น และก็เห็นใจที่ท่านต้องพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเรื่อย
ๆ ตลอดเวลา
ท่านทำให้เราเห็นปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง กับปัญหาของระบบราชการที่มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่ อบต. เองก็ทำงานเหมือนไม่เข้าใจชาวบ้าน และยังมีแนวคิดที่แตกต่างจากชาวบ้าน รวมทั้งผู้ที่มาเยี่ยมเยียนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทั้งสายตรงและไม่ตรง ซึ่งมากันบ่อยมากจนไม่เป็นอันปฏิบัติหน้าที่ ต้องเหน็ดเหนื่อยและน่าเห็นใจมาก
สุดท้ายท่านก็เสนอทางออกในการทำงานร่วมกับภาคประชาขน
เพราะว่าในบางเรื่องจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน อย่างเรื่องปะการังเทียม
ถ้าเริ่มให้การมีส่วนร่วมภาคประชาชนตั้งแต่ต้น ก็คงไม่มีปัญหาต้องมานั่งแก้ไขกันภายหลัง
สุดท้ายก็เป็นข้อซักถามของผู้ร่วมเสวนาและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
เท่าที่รับฟังปัญหามาทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลต่าง
ๆ ของคนในพื้นที่ นำไปให้ทางประชาชนข้างนอกได้รับรู้และเข้าใจ และก็หวังว่าการให้โอกาสในการแลกเปลี่ยนเป็นช่องทางที่จะทำได้ต่อไปมากขึ้นเรื่อย
ๆ เท่าที่ผมสังเกตเราจะพบว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่น ๆ ด้วย เพราะปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนมีคล้าย
ๆ กันทั่วประเทศ และเราต้องพยายามแก้ไขการคลี่คลายของปัญหาให้ได้ รวมทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติด้วย
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องระดมสมอง ระดมความสามารถของทุกภาคมาช่วยกัน
ดังนั้นข้อสรุปอันใหญ่เลยของผมก็คือ ทำอย่างไรการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนคือพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง และต้องลงไปสู่สังคมทุก ๆ ส่วนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ อันเป็นที่มาของความเข้าใจของพลังทรัพยากรที่เขามีอย่างถูกต้องทั้งหมด
อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
ดิฉันเองขอเสริมว่า ส่วนใหญ่มีข้อสรุปร่วมกันว่า ทุกคนอยากเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
เราอยากเห็นการให้ข้อมูลมากขึ้น ทางจุฬา ฯ เองก็มีข้อสรุปเหมือนกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ข้อมูลมากขึ้น
เราจะต้องพูดมากขึ้น ในทุกเรื่องทั้งที่คลุมเครือและที่ยังไม่กล้าพูด ดิฉันอยากถามพวกเราในที่นี้ว่าพร้อมหรือไม่ที่จะพูด
กล้าแสดงออกมากขึ้น และร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างภาคีทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ
ทั้งนักวิชาการและชาวบ้าน เพราะบางครั้งเราอาจยังมีความกลัวอยู่
อาจารย์เริงชัย ตันสกุล
ผมมาจากภาคใต้ จังหวัดสงขลา ผมเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด สงขลาเป็นเมือง ๓ น้ำ ๓
วัฒนธรรม ๓ ภาษา. ๓๐๐ กว่าปีที่ก่อตั้งเมืองของชาวมุสลิมที่อพยพจากเมืองซาเละ
ทางเหนือของเมืองจากาตาร์ หนีฮอลันดาขึ้นมาปักหลักอยู่ที่นี่ มีต้นตระกูลถึง
๔๐-๕๐ ตระกูล มีพลเมืองถึง ๑,๕๐๐ กว่าคน ซึ่งก็หมายรวมถึงท่านรอง ฯ ชวลิต และท่านอาจารย์ศรีศักรก็เป็นอีกท่านหนึ่ง
ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย "สิงห์" ทั้งหลายที่เรารู้จักดีในกรุงเทพ ฯ
ก็คือกิ่งหนึ่งของลูกชายของสุลต่านสุไลมาน ที่มาเป็นแม่ทัพเรือของอยุธยา
สงขลายังมีหลักเมืองอยู่มุมหนึ่งที่หน้าโรงพยาบาลประสาท จ. สงขลา ที่หลักเมืองนี้ยังใช้ ๓ ภาษาอยู่เลยคือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอารบิก เราอยู่มา ๓๐๐ ปีจึงมีความเชื่อเรื่องศาสนาและความเป็นอยู่ร่วมกันมานาน
ความเข้าใจเรื่อง Centralism นี้คนใต้ส่วนใหญ่รู้สึกดีตรงนี้ เพราะเขาถูกกดขี่ข่มเหงมานาน คนพัทลุงรู้ดี ดังนั้นคนส่วนใหญ่นิยมส่งลูกเรียนรัฐศาสตร์ เพื่อที่จะได้มาช่วยกันต่อสู้ในเรื่องนี้ มันมีที่มาที่ไปดังนี้คน ๕ จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึงกรุงเทพ ฯ เขาจะคิดถึงแต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เพราะอยู่ห่างกันแค่ ๒ ชั่วโมงของการเดินทาง และมีวัฒนธรรม ภาษาพูดเหมือนกัน คนในจังหวัดสงขลาจะเรียนภาษาจีนกันมาก แต่ในสมัยของผมกลับถูกห้ามสอนภาษาจีน และไม่นานก็มีการเปลี่ยนให้มาเรียนภาษาไทย จนต้องกลายมาเป็นเรียน ๒ ภาษารวมทั้งต้องเรียนศาสนาเพิ่มอีก
ที่เชียงใหม่กำลังริเริ่มปลูกยาง ผมเคยเตือนเขา เขาไม่ฟัง ผมว่าอีก ๕ ปี คนกรุงเทพคอยรับตะกอนจากคนเชียงใหม่เอาไว้ให้ดี ส่วนทางที่ภาคใต้เองก็มีโครงการต่าง ๆ มากมายที่ทั้งภาครัฐและนายทุนกำลังพยายามทำร่วมกัน ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกฎหมาย อย่างเช่น โรงงานแยกก๊าซ ฯ ไทย - มาเลย์ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และสร้างผลกระทบกับชาวบ้านมากมายเรื่องทรัพยากร จนเป็นเหตุกระทบกระทั่งกัน
ท่านป๋าเปรมเคยพูดไว้ว่า "จงอย่าเอารัดเอาเปรียบ อย่าเหยียบย่ำ และอย่าสร้างเงื่อนไขสงคราม" สุดท้ายผมอยากเตือนว่า หากเราทุ่มโครงการขนาดใหญ่ลงไปทั้งหมด อีกไม่นานเราก็จะเจอกับปัญหาเหมือนภาคตะวันออกที่ประสบความแห้งแล้ง เผชิญกับวิกฤตของการขาดแคลนน้ำแทน อยากให้เราเข้าใจ "ธรรมชาติ" ดังความหมายของท่านพุทธทาส
ผู้เข้าร่วมเสวนา
ประเด็นแรกที่ผมติดใจคือเรื่องคำ โดยเฉพาะคำว่า "คนกลุ่มน้อย" ซึ่งมีอยู่
๒ นัยยะคือ ๑. คือเป็นผู้ที่เบี่ยงเบนออกจากลุ่มใหญ่ที่เป็นคนไทย ๒. วิธีการของรัฐไทยคือพยายามให้คนกลุ่มน้อยมีความเป็นไทยมากขึ้น
ซึ่งทำให้เกิดมีทัศนคติของคนกลุ่มใหญ่แพร่เข้าไปแฝงอยู่ข้างใน ทำให้เป็นปัญหาของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
ซึ่งผมเสนอว่าอยากให้ตัดคำว่า "คนกลุ่มน้อย" ทิ้งไป และอีกประเด็นหนึ่ง
ผมมองว่าแนวคิด Centralism มันยังมีอยู่ทั่วไปทั้งคนกรุงเทพ ฯ ภาคเหนือ ภาคอีสาน
ดังนั้นเราจะสลายความคิดนี้ได้อย่างไร เพราะในทางกฎหมายเองก็พยายามให้เรานึกถึงแต่ความเป็นเชื้อชาติไทย
สัญชาติไทย ผมอยากให้สลายความคิดสากลนี้ทิ้งไป อยากให้เราได้สามารถบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่าเป็นเชื้อชาติอะไรเหมือนเช่นที่ประเทศจีน
พลตรีบุญชู เกิดโชค
ผมขอพูดเรื่องการมีส่วนร่วม ผมเคยบอกให้ทหารด้วยกันฟังว่า กุญแจสำคัญที่สุดในการมีส่วนร่วมในการทำงาน
นั่นคือ Human Rights ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก้าวเข้าสู่การเป็นเพื่อน ผมเห็นด้วยกับความเห็นเรื่องคนกลุ่มน้อย
ผมเองก็อยากเห็นคนในสังคมไทยกล้าพูดออกมาว่าเรามาจากเชื้อสายอะไร อีกเรื่องที่ผมอยากพูดคือในหมู่ทหารด้วยกันเอง
เขายังไม่มีความเข้าใจเรื่องสันติสุขเท่าไรนัก ส่วนใหญ่เข้าใจว่า การที่เราเอาของไปช่วยเหลือคนจะสามารถแลกกับสันติสุขได้
คุณจินตวดี พิทยเมธากูล
เรื่องคนกลุ่มน้อย เวลาที่ดิฉันทำงานเองก็ไม่พยายามมองว่าตนเองแตกต่าง และพยายามเข้าใจคนทุกคนในพื้นที่ที่ดิฉันทำงานอยู่
แม้ว่าตนเองจะเป็นคนไทย - พุทธ หากเราพยายามด้วยใจจริง ความร่วมมือ ความเป็นเพื่อนก็ตามมาอย่างมากมาย
และดิฉันก็พร้อมที่จะทำงานเพื่อคน ๓ จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างดี
อาจารย์นุกูล รัตนดากุล
ผมอยากจะฝากเอาไว้กับทุกคน ประเด็นแรกคือ ผมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นโอกาสที่เราได้รับรู้เรื่องราวต่าง
ๆ มากมาย รวมทั้งรู้จักประเทศไทยดีขึ้น ถ้าเราได้เรียนรู้ร่วมกัน ทุกอย่างก็จะเสมอภาคกันหมด
ประเด็นที่สองคือเรื่องที่มีการเสนอให้ถอดคำว่า คนกลุ่มน้อยออก และพยายามสลายความเป็นสัญชาติเดี่ยวออกไป
ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความเป็นเชื้อชาติดั้งเดิมของตน ผมว่าน่าสนใจมาก
ประเด็นที่สามเรื่องที่กล่าวกันไว้ว่า ถ้าประเทศจะพัฒนาจงหยุดการพัฒนา ไม่ได้มีความหมายว่าจะปฏิเสธการพัฒนา แต่มันแสดงออกถึงการเคารพการมีส่วนร่วม การเคารพในวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องรู้จักเกรงใจกัน เข้าใจในจารีตประเพณี และสุดท้ายผมอยากสรุปทั้งหมด ผมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้โลกด้วย ว่าเราจะอยู่ร่วมโลกอย่างสันติสุขได้อย่างไร
ผมคิดว่าวัฒนธรรมทั้งหมด ภูมิปัญญาทั้งหลายของคนเฒ่าคนแก่ที่มีอยู่ในแผ่นดิน มันแสดงถึงนวัตกรรมของการปรับตัวและวิวัฒนาการตามภูมินิเวศน์ว่า เราจะอยู่อย่างยั่งยืนและเป็นสุขได้อย่างไร ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เริงชัยที่ว่าทุกอย่างอยู่ที่ความจุของระบบ ฐานทรัพยากรนั้นเป็นเหมือนต้นทุน และมีกำลังการผลิตที่จำกัด และอาจจะมีภัยคุกคามมากดดันการผลิตของระบบ เช่น ภัยธรรมชาติ ที่ผ่านมามนุษย์เองก็พยายามจะร้อยเอาจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมเข้าไปจัดการทรัพยากร โดยผ่านทางจิตวิญญานก็เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งของมนุษย์
และผมก็เชื่อว่าถ้าปัญหามันเกิดมันจะมีการปรับตัวของมันเอง หากมีการสะสมปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบก็จะพังพินาศเอง แล้วมันก็จะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ผมเชื่อในการปรับตัวของธรรมชาติและมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผมว่ามนุษย์เป็นสิ่ง ๆ เล็กอย่างหนึ่งของเอกภพ หากเราทำความดี ผลดีย่อมบังเกิดกลับคืนมาแน่นอน
อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
ในโอกาสสุดท้ายนี้ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมรับฟังรวมทั้งวิทยากรทุกท่านที่อุตส่าห์เดินทางไกลมาให้ความรู้กับพวกเรา
ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
ราณี หัสสรังสี
ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน ในโอกาสต่อไปเราจะจัดเรื่อง "มหาอำนาจกับโลกมุสลิม
การเมืองของการก่อการร้าย" ในเดือนกันยายน ๒๕๔๘ นี้
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
นิเวศน์ชาตินิยม
นิเวศน์ชาตินิยม คือให้ความสำคัญของผลประโยชน์ของรัฐชาติโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของท้องถิ่น
ตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดินเราใช้นโยบายบูรณาการเข้าสู่ส่วนกลาง
ท้องถิ่นทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ถูกลดทอนความสำคัญลง
นโยบายดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นนโยบายอาณานิคมภายใน คือเห็นส่วนกลางมีความสำคัญ
เน้นการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลาง ให้ความสำคัญกับส่วนกลางในการวางแผน
ให้ความสำคัญกับประวิติศาสตร์ของชาติ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของชาติ มากกว่าที่จะให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือความรู้ท้องถิ่น
(อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ)