นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
Centralism กับการเหยียบย่ำวัฒนธรรมมุสลิม
ศรีศักร วัลลิโภดม

ที่ปรึกษาโครงการท้องถิ่นศึกษา
คณะทำงานวาระทางสังคม กรณี ๓ จังหวัดภาคใต้

โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ครั้งที่ ๑
วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๘
เรื่อง วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
ห้องประชุม ศศ.๒๐๑ อดุลวิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์,
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนโดย สสส.

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 724
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)




ภาคบ่าย
แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักวิชาการและนักนโยบาย
อมรา พงศาพิชญ์ : ผู้ดำเนินรายการ

เรื่อง "มองลึกชุมชนท้องถิ่น ๓ จังหวัดภาคใต้ในมิติความเปลี่ยนแปลง"
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ที่เรามาประชุมกันในวันนี้ถือว่าเป็นการเกื้อหนุนขบวนการสมานฉันท์ ผมไม่ได้หมายถึงกรรมการสมานฉันท์ แต่หมายถึงขบวนการสมานฉันท์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ได้หาข้อยุติเรื่องความขัดแย้ง เพราะว่าเราไม่ได้มีอำนาจ เราช่วยหยุดความขัดแย้งไม่ได้ แต่ช่วยให้เกิดความเข้าใจได้

กระบวนการสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่สร้าง Enlightenment คือให้ความกระจ่างแก่คนในสังคมทั้งประเทศ ความกระจ่างนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง ที่แล้วมาเราไม่มีกระบวนการแบบนี้ วันนี้เราจะพบว่าผู้ที่มาให้ข้อมูลเป็นคนจากภายในทั้งสิ้น เมื่อก่อนผมต้องเป็นฝ่ายนำเสนอ และก็มักจะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่าเป็นมือที่สามบ้าง คิดแทนชาวบ้านบ้าง น่าจะทำกันแบบนี้คือเอาคนในพื้นที่มาพูดถึงปัญหาของเขาเลย แล้วให้คนตัดสิน จะช่วยขจัดมือที่สาม และผมขอลดตัวลงมาเป็นแค่ที่พี่เลี้ยงหรือผู้ประสานงานเท่านั้น แต่ตัวผมได้เปรียบเพราะผมเรียนรู้จากชาวบ้าน การฟังชาวบ้านจากท้องถิ่นมาพูดเองทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นและมีชีวิตชีวามาก

ความคิดนี้กรรมการสมานฉันท์เริ่มทำ โดยเฉพาะท่านอานันท์ ปันยารชุน พยายามจะเอาคนหลายกลุ่มมาพูด ทั้งนอกทั้งใน ทั้งกลุ่มเล็กใหญ่ เพื่อหาข้อความเป็นจริง หาว่าความเป็นจริงนั้นคืออะไร เราจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดขึ้นก็เพราะความเป็นจริงมันถูกจำกัด ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ที่ออกไปส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ปลายเหตุทั้งสิ้น เมื่อรัฐลงไปเกี่ยวข้องก็แก้ที่ปลายเหตุ

อย่างเช่นว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะการแบ่งแยกดินแดน จึงต้องใช้การปราบปราม การออกพระราชกำหนด ประกาศกฎอัยการศึก หรือแม้แต่การเอาเงินไปช่วยเพราะมองว่าคนใต้ยากจน มีปัญหาเดือดร้อนก็เปิดตลาดนัดวันศุกร์ ล้วนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ การจะเข้าไปดูที่ต้นเหตุมันยากเพราะเราเอาข้อมูลจากปลายเหตุมาคิดไม่ได้

ดังนั้นสิ่งที่เราเริ่มต้นคือฟังข้อมูลจากหลาย ๆ ฝ่ายเพื่อนำมาสู่ต้นเหตุ อย่างน้อยเราก็เห็นต้นเหตุอย่างหนึ่งคือ ความวิกฤติทางด้านทรัพยากร และวิกฤตินี้ก็เกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ แต่ทำไมถึงเกิดความขัดแย้งที่ภาคใต้ขึ้นมา ผมว่าน่าจะมาจากการพัฒนา ต่อคำที่ว่าการพัฒนาประเทศคือการหยุดพัฒนา และอาจารย์อมรายังเสริมว่าเรามาถึงทางตัน เราควรต้องมาตีความการพัฒนาให้เข้าใจ

ถ้าเรามองภาพการพัฒนา เราจะเห็นการปะทะกันระหว่างคน ๒ กลุ่ม ๒ สังคม คือสังคมใหญ่กับสังคมย่อย สังคมใหญ่เป็นสังคมมหาชนที่มีรัฐเป็นองค์กรใหญ่ กับสังคมท้องถิ่นที่เป็นสังคมเล็ก ๆ การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง เราต้องมองว่าเปลี่ยนแปลงโดยใคร ตั้งแต่เรามีสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงล้วนมาจากข้างนอกทั้งสิ้น ไม่มีคนในมารับรู้เลย ทุกอย่างออกมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้คนส่วนใหญ่พอรับได้เพราะสังคมคนไทยทั่วเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธ แต่ทางภาคใต้สังคมส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งต่างกันในแง่ของการมองโลก สมัยจอมพลสฤษดิ์ ใช้การพัฒนาแบบส่วนกลางเป็นใหญ่ (Centralism) ซึ่งทำให้โลกทัศน์ของคนไทยแต่เดิมเพี้ยนไป โลกทัศน์ของคนไทยแต่เดิมหรือคนมุสลิมเหมือนกันทั่วโลก เป็นโลกทัศน์ที่มองให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติดังเช่นที่วิทยากรพูดรอบเช้า

ในการทำให้เป็นโลกาวิสัย ก็คือการพยายามที่จะผลักคนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติออกไป เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย เพราะทุกแห่งที่มีการพัฒนาเขาจะตัดมิติทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมออกไปหมด แต่สิ่งเหล่านี้นำมาใช้กับคนมุสลิมไม่ได้ เพราะชาวมุสลิมมองศาสนาเป็นวิถีชีวิต (Way of life) แต่ชาวพุทธไม่ได้มองศาสนาของตนแบบเป็นวิถีชีวิต สังคมคนไทยให้ความสำคัญกับไสยศาสตร์เป็นวิถีชีวิตมากกว่า เราส่วนใหญ่ไม่มีมิตินี้เลย และใช้กระบวนการนี้ไปข่มผู้อื่นเรื่อยๆ แล้วกระบวนการนี้มาด้วยทัศนคติแบบใหม่

คนไทยปัจจุบันนี้ในทั่วประเทศมีโลกทัศน์แบบไม่มีมิติทางจิตวิญญาณ (spirituality) ไม่มีมิติทางศาสนา พูดกับคนมุสลิมไม่รู้เรื่องเพราะเรารุดหน้าทางโลกไปตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์มา ๔๐ ปี เวลาการพัฒนาลงมาก็ทำให้ขาดมิติทางจิตวิญญาณไป สังคมไทยไม่เคยเป็นทาสต่างชาติมาก่อน คนไทยจึงมีทัศนคติแบบ Centralism ส่วนกลางเป็นใหญ่ ส่วนกลางถูกหมด ดังนั้นถ้าเราไม่แก้ตรงนี้เราจะไม่มีทางเข้าใจ

ด้วยเหตุนี้กรรมการสมานฉันท์จึงพยายามพูดถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ตราบใดที่เรายังพยายามมองเป็น Centralism เราจะไม่เข้าใจปัญหา. Centralism นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชแล้ว ซึ่งพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมาท่านใช้ความเป็น Centralism อย่างเข้าใจ จนมาถึงสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม สิ่งที่ทำให้เป็น Centralism มากที่สุดคือ การเปลี่ยนคำว่าสยามเป็นไทย โดยเอาคำว่าไทยเป็นเรื่องเชื้อชาติ และทุกอย่างต้องเป็นใหญ่จากส่วนกลาง

ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เรามีทัศนคติเป็น Centralism และบ้าวัตถุนิยมเป็นโลกาวิสัย ซึ่งเป็นอันตราย ผิดกับคนมุสลิมที่ยังมองโลกแบบเดิมเหมือนเราเมื่อ ๔๐ ปีก่อน คือมองความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้ง ๓ มิตินี้ร้อยรัดรวมกันเป็นวัฒนธรรม เป็นองค์รวมแยกกันไม่ออก ในโลกทัศน์ของมุสลิมทุกอย่างเป็น Way of life ทุกอย่างกำหนดที่พระเจ้า และสิ่งของต่างๆทุกอย่างเป็นส่วนรวม แต่พอเรามาเป็นโลกาวิสัยทุกอย่างไม่ใช่ของพระเจ้า

ในกฎหมายตราสามดวงยังกล่าวว่า แผ่นดินนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์ และประทานมาให้เราใช้ และถ้าไม่ใช้ประโยชน์ก็ต้องคืนไป แต่ที่เราทำตอนนี้คือไปออกเอกสารสิทธิ์กลายเป็นปัจเจกบุคคล ดังนั้นสิ่งที่เป็นของส่วนรวมกลับถูกยื้อแย่งเป็นของปัจเจกบุคคล ทำให้สังคมไทยบ้าการเป็นปัจเจกบุคคล เมื่อยิ่งมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีลงมาก็ยิ่งเสียหายมากขึ้น คนไทยอยู่เป็นกลุ่มไม่เป็น แต่คนมุสลิมอยู่กันเป็นกลุ่มครอบครัวเพื่อการดำรงอยู่ เหล่านี้จึงเป็นการปะทะระหว่างการมองโลกและทัศนคติ รวมไปถึงค่านิยม

หัวใจของวัฒนธรรมมีอยู่ ๓ อย่างคือ ๑.โลกทัศน์ ๒. ทัศนคติ ๓. ค่านิยม แต่ค่านิยมของพวกเราเน้นวัตถุนิยม จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นเมื่อคนในสังคมใหญ่มองสังคมเล็กแบบนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกัน การที่เรามามองปัญหาวิกฤติการณ์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้จึงเป็นการช่วยมองปัญหาทั้งประเทศด้วย เพราะท้องถิ่นทุกแห่งถูกทำลายหมดจากระบบเดิม แต่ในเมื่อจรรยาภาพของคนในท้องถิ่นที่เป็นพุทธจะไม่มีทางที่จะเกิดการต่อต้าน แต่พอมาเกิดในสังคมมุสลิมจึงเกิดวิกฤติการณ์นี้ขึ้นมา

การพัฒนาที่เอาความคิดข้างนอกเข้าไปครอบเข้าไปจัดการถือเป็น force change คือ การบีบให้เปลี่ยนตามที่รัฐต้องการ ซึ่งเป็นนิสัยของ formalist แต่ fair change ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย แต่ ๔๐ ปีผ่านมาแล้วไม่เคยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นมาร่วมด้วยเลย โลกทัศน์นี้แก้ยากมาก

ผมลองเอาโลกทัศน์ของนักวิชาการไทยไปคุยกับคนมุสลิม โดยถามว่า ผู้หญิงเป็นโสเภณีถูกกฎหมายได้หรือไม่ การพนันเราจะทำอย่างถูกกฎหมายได้หรือไม่ เรามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่คนมุสลิมบอกว่า ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว เขามองเป็นขาวกับดำ แต่เรามองเป็นสีเทาค่อนข้างดำ ด้วยเหตุนี้การเอาการพัฒนาลงไปจึงเกิดการต่อต้าน แต่รัฐกลับใช้อำนาจของความเป็นใหญ่ไปจัดการกับเขาโดยที่เขาไม่มีความต้องการ นี่คือความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นสาเหตุใหญ่ที่สำคัญ

และอีกสาเหตุที่สำคัญคือ การเข้าไปแย่งทรัพยากร ซึ่งทำเช่นนี้มาทั่วประเทศ แต่พอมาที่นี่กลับเกิดการต่อต้านอย่างมาก เมื่อคนมุสลิมต่อต้านกลับกล่าวหาว่าเป็นเรื่องการก่อการร้ายแยกดินแดน ปราชญ์มุสลิมท่านให้เราสังเกตว่า กรณีวางระเบิดรายวันนั้นเป็นลักษณะการก่อการร้ายเหมือนเช่นที่อเมริกา หรือที่อังกฤษหรือไม่ น่าจะเป็นการวางระเบิดเพื่อต่อรองกันมากกว่า ไม่น่าจะเป็นแบบ terrorisms ที่ตายกันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ตอนก่อนที่จะมีการยกเลิก ศอ.บต. การฆ่าฟันกันแทบจะไม่มี มีการวางระเบิดโรงเรียน มีการวางระเบิดตามเส้นทางคมนาคมจริง แต่การฆ่าฟันกันแบบปัจจุบันไม่มี แต่หลังจากยกเลิก ศอ.บต. และเกิดการอุ้มคนหายขึ้นมา ก็เกิดการต่อต้านเหมือนต่อรองว่า อยากให้เลิกการอุ้มมิฉะนั้นจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ เลยกลายเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ

เราควรกลับมาทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้ดี ถ้าตราบใดที่สังคมมหาชนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติแบบ Centralism ยังไม่เข้าใจคนภาคใต้ เราจะไม่มีทางยุติวิกฤตินี้ได้เลย ภาพที่เกิดเป็นข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งทุกวันเป็นภาพสถิต ไม่เคลื่อนไหว ที่เป็นปลายเหตุตอกย้ำเสมอว่า คนในดินแดนภาคใต้ ๑ ล้าน ๕ แสนคนต้องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ เบื้องหลังยังมีเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย จะมีใครกล้าบอกออกมาว่า ผู้ที่ถูกจับได้แล้วกล่าวหาว่าเป็นโจรแบ่งแยกดินแดนนั้น เบื้องหลังคือการขัดผลประโยชน์เรื่องค้ายาเสพติดเท่านั้นเอง

ทำไมฝ่ายรัฐกับฝ่ายค้านรัฐบาลจึงไม่กล้าพูดออกมา ข้อมูลที่อาจารย์นุกูลนำมาบอกเล่า อย่างเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด เราจะมองเห็นว่า สังคมมุสลิมตอนนี้เป็นภาวะเขาควาย คือปรับตัวทางด้านวัตถุนิยมไม่ได้ เพราะต้องการอยู่แบบเดิม อยู่แบบเดิมก็ไม่ได้ เพราะขัดแย้งในเรื่อง Generation Gap เด็กรุ่นใหม่ไม่ฟังคนเฒ่าคนแก่อีกต่อไป ไม่สนใจศาสนาด้วย เกิดความวุ่นวายไปทั่ว คนที่เราจะมองว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน เราควรต้องมองว่าเขากำลังถูกบดขยี้จากทุกฝ่าย เขากำลังเจ็บปวด

ปรากฏการณ์ก่อการร้ายนี้น่าจะมาจากคนนอกท้องถิ่นกลุ่มอื่นที่ข้ามถิ่นมา คนในท้องถิ่นเองไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครรู้ พอเราจะลงมือช่วยเขา คนข้างนอกก็มาก่อการอีก ตำรวจทหารก็เข้ามาช่วยอีก เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คนในท้องถิ่นแย่ลูกเดียว ไม่มีความสงบในชีวิต สิ่งเหล่านี้มันเป็นประเด็นที่ต้องมาช่วยกันแก้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น

ขณะนี้ในกรรมการสมานฉันท์มีผู้ที่เป็นฝ่ายศีลธรรมของมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นปอเนาะ มัสยิด และผู้รู้ต่างๆมาเป็นกรรมการสมานฉันท์ด้วย เมื่อก่อนนี้ไม่มีใครกล้าพูด แต่ตอนนี้เขากล้าพูดขึ้นมากเพราะเขาเกิดความมั่นใจขึ้นมา คนเหล่านี้คือหลักทางศีลธรรม หลักทางการมองชีวิต ทำไมไม่เอามาเป็นส่วนร่วมในการปกครองหรือในการใช้อำนาจ

แต่ในทางตรงกันข้ามกลับกล่าวหาปอเนาะว่าเป็นแหล่งซ่องสุมผู้คนทำการก่อการร้าย ภาพออกมาเช่นนี้ตลอดเวลา วันนี้เราควรเริ่มแลเห็นความจริงเหล่านี้กันบ้าง ข้อมูลจากข้างในทำให้เราเห็นว่า มันมีโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน การมองโลกต่างกัน ถ้าเราแก้เราจะแก้ด้วยวิธีอะไร ถ้าจะพัฒนาให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีการพัฒนาแบบ fair change ที่ไหนที่จะพัฒนาแล้วได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างภาคเหนือได้ลงการพัฒนาไปเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่พอมี FTA มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมามากมาย คนภาคเหนือกลับเดือดร้อน แต่เมื่อลงมาภาคใต้รัฐอาจสามารถพัฒนาได้เพียงแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องยอมรับวิถีชีวิตของคนภาคใต้ด้วย

เราต้องทบทวนตัวเราเองด้วยว่าในกระแสการพัฒนา สังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา ๔๐ ปี ห่างไกลจากเขมร ลาว พม่า เวียดนามอย่างมาก แต่เราไปไกลเรื่องวัตถุขาดการพัฒนามิติทางจิตวิญญาณ ที่มุสลิมพยายามจะพูดคือต้องการให้เราหันมามองมิติทางจิตวิญญาณ และทางศาสนาบ้าง ในเมื่อมันเป็นไปได้ยากเราควรมาขบคิดกันว่า เราจะปรับตัวกันอย่างไร ซึ่งตอนนี้มันเป็นการปะทะกันระหว่างสังคมใหญ่กับสังคมเล็กในรูปแบบของนิเวศน์วัฒนธรรมที่ถูกทำลาย กับการลุกล้ำของนิเวศน์ทางเศรษฐกิจการเมือง

อย่างเมื่อเช้าที่ท่านวิทยากรชาวบ้านอธิบายเรื่องพรุลานควาย นั่นคือระบบนิเวศน์ของพรุ คนที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของพรุมีตั้งหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งดูแลทางหัวพรุ กลุ่มหนึ่งดูแลทางท้าย คนเหล่านี้อยู่อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันดูแลรักษา เขาอยู่กันแบบพอเพียง แบบเศรษฐกิจยั่งยืน ทุกอย่างเป็นทรัพยากรของพระเจ้า แบ่งกันทำ เอื้ออาทรต่อกัน นั่นคือระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ได้แบบยั่งยืน เราควรทบทวนเรื่องเหล่านี้ก่อนที่เราจะทำการพัฒนาขนาดใหญ่

การเริ่มต้นการพัฒนา เราต้องเอาหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย สังคมภาคใต้ไม่ใช่แต่เพียงคนพุทธกับมุสลิมเท่านั้น ยังมีคนจีนรวมอยู่ด้วยซึ่งเคยอยู่มาช้านานเช่นกัน อย่างศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยวกับกรือเซะที่อยู่ใกล้ๆกัน น่าจะบ่งบอกว่าเป็นความประนีประนอมกันระหว่างคนจีนกับคนมุสลิมที่พบกันครึ่งทาง ทางรัฐกลับไปสร้างกรือเซะขึ้นมาในทางบิดเบือน ไม่เข้าใจ ดังนั้นเราจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนิเวศน์วัฒนธรรมเหล่านี้ด้วย

ผมสนใจคำพูดของผู้ว่าท่านหนึ่งที่กล่าวว่า ผู้ที่ก่อความไม่สงบนั้นสอนประวัติศาสตร์ แต่ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสอนเศรษฐศาสตร์ ท่านหมายความว่า กลุ่มหนึ่งสอนให้มนุษย์เป็นกลุ่มก้อนร่วมกัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับสอนมนุษย์ให้เป็นปัจเจกชนให้แย่งชิงกัน มันสะท้อนให้เห็นแล้วว่าความเข้าใจมันแตกต่างกัน นี่คือความล้มเหลวของการปกครองท้องถิ่นมาตลอด เพราะเมื่อเราเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเป็นการแบ่งหมู่บ้านเป็นอำเภอ เป็นตำบลขึ้นมา เป็นการเอาพื้นที่ทางการบริหารครอบพื้นที่ทางวัฒนธรรม มันจึงเกิดปัญหาขึ้นมา

องค์กรของชุมชนที่เคยอยู่อย่างเสมอภาค เช่นปอเนาะหรือแม้กระทั่งครูที่มีสถานภาพเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน พอเราเปลี่ยนตรงนี้ ครูกลายเป็นคนนอกขึ้นมาทันที ระยะหลังขบวน secularization (การทำให้เป็นโลกียวิสัย) ของการศึกษาไปกระทบกับคนมุสลิมซึ่งเขาไม่มี secularization ขนาดนั้น มันไปเป็นเรื่องศาสนา มันนำไปสู่การขัดแย้งจนต้องเผาโรงเรียนกันตลอดเวลา เพราะว่าเราพยายามจะทำให้เป็นโลกวิสัยซึ่งคนมุสลิมรับไม่ได้ นั่นคือเริ่มต้นของ secularization ที่อันตรายมาก เวลาพัฒนาเราควรต้องมองสิ่งเหล่านี้

ถ้าจะให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเข้าใจตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เอาระบบ Top - down ลงมา เพียงแต่สมัยนั้นไม่มีปัญหามากนัก เพราะคนที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านมาจากคนท้องถิ่น แต่พอสมัยท่านนายกคึกฤทธิ์ท่านนำเงินผันเข้า เมื่อเงินกับอำนาจมาอยู่ด้วยกันพร้อมกับคนต่างถิ่นเข้ามา มี อบต. เสริมเข้ามาอีก ระบบเดิมก็พังทลาย เงินที่ผันเข้ามามาถึงมือชาวบ้านหรอก มันเข้าไปอยู่ในมือของผู้มีอิทธิพลทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้คนมุสลิมปฏิเสธ

อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่าชุมชนมุสลิมนั้นต้องการสุเหร่าคือสภาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหลายระดับตั้งแต่ปอเนาะ มัสยิด ทำกันอย่างเสมอภาคเพื่อท้องถิ่น ก็คล้ายกับสังคมไทยแต่เดิมที่ดูแลกันเองคุมกันเอง จัดการเรื่องน้ำ เรื่องทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างดี แต่ปัจจุบันนี้รัฐไปเปลี่ยนหมด เมื่ออำนาจลงไปเวลานี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ถูกฆ่า อบต.ก็ถูกฆ่า มันเพราะอะไรกัน มันสะท้อนถึงความล้มเหลวในการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นร่มเย็นเป็นสุขได้ แต่กลับถูกดึงไปสู่รัฐสภาหมด

ด้วยเหตุนี้กรรมการสมานฉันท์จึงเสนอว่า ควรมีการ share power คือกระจายอำนาจในการปกครอง ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้รู้ในท้องถิ่นจะได้มีโอกาสเสนอแนะว่า อะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรผิดศีลธรรมหรือไม่ คนในท้องถิ่นรู้จะได้รู้ดีว่าใครชั่วใครเลว ตรงนี้รัฐตอบสนองได้ แต่ทุกวันนี้รัฐลงไปจัดการเองจนเสียหายไปหมด

จุดอ่อนที่เราพลาดไปในสังคมไทย ๔๐ ปี คือเราขาดการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เราจะพบว่าปัจจุบันมีแต่คนพูดถึงมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งเราต้องเห็นภาพประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นความเข้าใจเชิงลึก แต่ประวัติศาสตร์นั้นต้องไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามคิดขึ้น ควรเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ตัวอย่างพรุลานควายเราต้องเห็นภาพว่าคนเหล่านั้นมาอยู่อย่างไร รวมตัวกันอย่างไร ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายหลายชุมชน ต่างมาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมสร้างภูมิปัญญาจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างไร จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น สำคัญที่สุดคือเราต้องมองภูมิปัญญาของเขาด้วยที่อุตส่าห์สร้างร่วมกันมาอย่างยาวนาน เรื่องวัฒนธรรมอย่าพูดกันลอย ๆ ต้องมีบริบทของประวัติศาสตร์ และมีบริบทของสังคมโดยเฉพาะสังคมนี้ เพราะวัฒนธรรมเป็นผลผลิตของสังคมไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

ถ้าเราเข้าใจใน ๓ อย่างนี้ (๑.โลกทัศน์ ๒. ทัศนคติ ๓. ค่านิยม) เราถึงจะนำความเข้าใจความหลากหลายของสังคมวัฒนธรรมและความเข้าใจในโลกทัศน์ของทุกสังคม มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันได้ ๔๐ ปีที่ผ่านมาเราขาดการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ สมัยจอมพลสฤษดิ์เราศึกษาแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศึกษาศาสตร์ ศึกษากันแบบแยกส่วน มองไม่เห็นสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจจึงมีแต่เรื่องเศรษฐกิจแต่มองไม่เห็นสังคม ปัจจุบันพยายามจะมีเรื่องวัฒนธรรมก็เป็นวัฒนธรรมแบบลอย ๆ

กรรมการสมานฉันท์ก็ดี คณะวิจัยทั้งจากจุฬาฯและธรรมศาสตร์ก็ดี และจากฝ่ายต่างๆที่ได้มารับฟังข้อมูลในวันนี้ ถือว่าเรากำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเข้าใจให้เกิดความกระจ่าง เมื่อเกิดความกระจ่างเราก็จะเรียนรู้ว่าต้นเหตุเป็นอย่างไร แล้วเราค่อยจัดการในสิ่งเหล่านั้นไป

อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์
อาจารย์ศรีศักรท่านชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทางภาคใต้นั้นมันเป็นปัญหาของความขัดแย้งของวัฒนธรรมจากส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ แล้วสิ่งที่ปรากฏในระยะหลังนี้นั้นก็คือ การแสดงให้เห็นว่า มันมีปัญหาเรื่องของการปรับตัวของชาวบ้านที่ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

รวมทั้งความล้มเหลวของการที่รัฐนำนโยบายการปกครองส่วนท้องถิ่นลงไปแต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะ ว่าขาดความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในบริบทของสังคมภาคใต้ ฉะนั้นคงเป็นที่ชัดเจนว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพื่อจะทำความเข้าใจกับปัญหาทางภาคใต้ ข้อเสนอของอาจารย์ทำให้เราได้ภาพในขณะนี้ที่ค่อนข้างชัดเจน พอจะให้เราได้เดินทางต่อไปในอนาคต

ภาคบ่าย (ต่ออาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ)

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

การเปลี่ยนแปลงแบบนี้คนส่วนใหญ่พอรับได้เพราะสังคมคนไทยทั่วเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธ แต่ทางภาคใต้สังคมส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งต่างกันในแง่ของการมองโลก สมัยจอมพลสฤษดิ์ ใช้การพัฒนาแบบส่วนกลางเป็นใหญ่ (Centralism) ซึ่งทำให้โลกทัศน์ของคนไทยแต่เดิมเพี้ยนไป โลกทัศน์ของคนไทยแต่เดิมหรือคนมุสลิมเหมือนกันทั่วโลก เป็นโลกทัศน์ที่มองให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ

ในการทำให้เป็นโลกาวิสัย ก็คือการพยายามที่จะผลักคนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติออกไป เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย เพราะทุกแห่งที่มีการพัฒนาเขาจะตัดมิติทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมออกไปหมด แต่สิ่งเหล่านี้นำมาใช้กับคนมุสลิมไม่ได้ เพราะชาวมุสลิมมองศาสนาเป็นวิถีชีวิต (Way of life)

R
related topic
031148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง